ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ต้นแบบการทำงานของอิสสระ

4
ตุลาคม
2565

นางชวนชื่นรอต้อนรับนายปรีดีที่สนามบินน้ำท่าเรือคลองเตย
หลังจากที่นายปรีดีเดินทางกลับจากการเป็นทูตสันถวไมตรี

 

นางชวนชื่น พนมยงค์ ผู้เป็นมารดาของดร.อิสสระ เป็นน้องสาวที่มีความผูกพันใกล้ชิดกับ นายปรีดี พนมยงค์ ทำให้ดร.อิสสระให้ความเคารพรักคุณลุงปรีดีอย่างสูง และมีนายปรีดีเป็นต้นแบบในการเป็นผู้ประพฤติธรรม เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี เป็นนักประชาธิปไตย เป็นนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนที่มองการณ์ไกล มีความสามารถ รอบรู้ มีความซื่อสัตย์สุจริต อุทิศตนและทำประโยชน์ให้แก่ประเทศ

ในช่วงที่นายปรีดีพำนักที่กรุงปารีส ดร.อิสสระได้ไปกราบเยี่ยมคุณลุงปรีดีที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีสหลายครั้ง และได้ติดต่อกับคุณลุงทางจดหมายเสมอ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ท่านให้ช่วยค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างละเอียดเพื่อประกอบการเขียนหนังสือ เช่น ให้ช่วยค้นข้อมูลเรื่องทุนสำรองเงินตรา และดัชนีค่าครองชีพ ฯลฯ รวมถึงให้เป็นธุระจัดการพิมพ์หนังสือ เช่น “อนุสรณ์นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร” ตามบันทึกวิธีการของนายปรีดีที่กำหนด โดยในการสอบทานได้ให้ตรวจปรูฟหลายครั้ง หลังจากเห็นชอบแล้วจึงให้สั่งพิมพ์ได้แสดงถึงความละเอียดและความพิถีพิถันในการทำหนังสือของนายปรีดี ซึ่งตรงกับลักษณะการทำงานของดร.อิสสระที่มีความละเอียดและพิถีพิถันในการเขียนงานต่างๆ การค้นคว้าข้อมูล การสอบทานและตรวจสอบข้อเขียนหลายรอบ เพื่อให้งานออกมามีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด

 

“ขอชมเชยว่าหลานได้ใช้ความคิดและการทำงานอย่างเป็นระบบ เอาการเอางาน ขอให้หลานอี้ดรักษาความดีนี้ไว้ให้ตลอดไป และให้พัฒนายิ่งขึ้น ไม่เฉพาะการงานของลุงเท่านั้น แต่เพื่อการงานส่วนรวมในหน้าที่ทางการรัฐ และการงานส่วนรวมของประเทศชาติ”

นายปรีดี พนมยงค์

 


จดหมายจากนายปรีดีถึงหลานอิสสระ 4 ธันวาคม 2513

 


บันทึกวิธีการพิมพ์

 


บันทึกวิธีการพิมพ์

 

PRIDI BANOMYONG
(PRIDI PHANOMYONG, PRIDI PANOMYONG, LUANG PRADIT,
LUANG PRADIST MANUDHARM)
173. AV. ARISTIDE BRIAND
92160 ANTONY. FRANCE
TEL. 660-55-64

วันที่ 22 พฤษภาคม 2525

อิสสระหลานรัก

โดยที่ปราโมทย์ พึ่งสุนทร เป็นเพื่อนรักที่ซื่อสัตย์ของลุง ลุงจึงได้รับเป็นภาระจัดพิมพ์หนังสือ “อนุสรณ์นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร” เพื่อแจกในงานศพของปราโมทย์ บัดนี้ลุงได้จัดทำหนังสือนั้นขึ้นเสร็จแล้ว จึงได้แจ้งให้ลูกที่บรรลุนิติภาวะแล้วของปราโมทย์ทราบตามสำเนาหมาย เลข ๑ ที่ลุงได้แนบมาพร้อมกับจ.ม.ฉบับนี้

เนื่องจากลุงป้าอยู่ห่างไกล ลุงจึงขอให้หลานช่วยแบ่งเบาภาระของลุงในการจัดพิมพ์หนังสือดังกล่าวนั้น ลุงหวังว่าหลานคงจะช่วยได้ เพราะการพิมพ์หนังสือ เล่มนั้นต้องการความประณีตและต้องการเสร็จโดยไม่ชักช้า เพื่อทายาทของปราโมทย์จะได้จัดการปลงศพของปราโมทย์ให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อพวกเขาจะได้จัดสรรปันส่วนมรดกโดยความเป็นธรรมต่อไป

๑. ขอให้หลานติดต่อกับแม่เอิบ (วิชัยลักษณ์) ให้ช่วยพิมพ์หนังสืออนุสรณ์ปราโมทย์ตามบันทึกวิธีการที่ลุงแนบมาพร้อมจดหมายฉบับนี้

๒. ลุงได้สอดจดหมายแม่เอิบมาในซองนี้ เมื่อหลานอ่านแล้วขอให้ปิดผนึกซองนำไปมอบให้แม่เอิบด้วย พร้อมทั้งต้นฉบับหนังสืออนุสรณ์ 1 ชุดและสำเนาสำหรับโรงพิมพ์ 1 ชุด

๓. ลุงได้มอบเงินค่าพิมพ์ไว้ที่ดุษฎี เป็นจำนวน 25,000 บาท ถ้าแม่เอิบต้องการค่าพิมพ์เท่าใด ก็ขอให้หลานหรือแม่เอิบแจ้งขอเบิกที่ดุษฎี

ลุงได้แจ้งให้ดุษฎีทราบแล้วว่า ถ้าค่าพิมพ์มีราคาสูงกว่านั้นก็ขอให้ดุษฎีออกทดรองไปก่อน แล้วลุงจะใช้ให้ภายหลัง

โอกาสนี้ ลุงขอขอบใจมายังหลานอีกครั้งหนึ่ง และขอส่งความรักและคิคถึงมายังแม่ชื่น, หลานอิสสระ, หลานผาณิต และหลานเล็กๆ ทุกคน

ปรีดี

 


จดหมายจากลุง (นายปรีดี) ถึงหลานอี๊ด

 

ชานกรุงปารีส

วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2517

อี๊ด หลานรัก

ก่อนอื่นลุงได้ทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ด้วยความยินดีมากในการที่หลานได้รับการเลื่อนชั้นเป็นข้าราชการชั้นพิเศษ ซึ่งลุงเห็นว่าเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่หลานได้รับเลื่อนชั้น คราวนี้ได้เป็นไปตามความสามารถของหลานจริงๆ ทั้งในทางวิชาการและในทางปฏิบัติ ซึ่งนอกจากที่ลุงแสดงความยินดีแล้วลุงก็ขอชมเชยมาด้วย ขอให้หลานอ่านจดหมายนี้ให้แม่ชื่นฟังว่าลุงขอแสดงความยินดีมายังแม่ชื่นด้วยในการที่หลานได้รับการเลื่อนชั้นด้วยความสามารถของหลานเองดังได้กล่าวมาแล้วนั้นด้วย ลุงขอถือโอกาสอวยพรให้หลานมีความสุข ความเจริญ ประสบศิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคลจงทุกประการ

ลุงมีเรื่องรบกวนและแจ้งให้หลานทราบดังต่อไปนี้

1. ลุงได้ส่งบทความที่แก้ไขแล้วเรื่องปาฐกถาของลุงที่เมืองตูรส์แก่นักเรียนไทยในฝรั่งเศส และบทความตอบสารานียกรนั้นมาพร้อมจดหมายนี้โดยทาง ป.ณ. ประเภทสิ่งตีพิมพ์ เพื่อรวมพิมพ์เป็นเล่มเดียวกัน

ขอให้หลานติดต่อกับปาลและปราโมทย์ พึ่งสุนทร กับคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ปรึกษากันเพื่อจัดทำเป็นเล่มที่มีปกสวยน่าอ่าน โดยปรึกษากับศิลปินผู้เชี่ยวชาญการออกปก แล้วพิจารณาด้วยความพินิจพิเคราะห์อย่าให้มีคำผิดได้เพราะเป็นเรื่องเทคนิค ถ้าหากศูนย์นิสิตนักศึกษาหรือองค์การนักศึกษา ม.ธ. จะรับเป็นผู้จัดพิมพ์ก็ให้มอบไปได้ แต่ถ้าไม่สะดวกก็ขอให้มอบสำนักพิมพ์สามัคคีธรรม เพื่อนของปาลจัดพิมพ์ตามขนาดเรื่อง “ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส” ส่วนรูปของลุงที่หน้าปกนั้นได้ส่งมาพร้อม จ.ม. นี้แล้ว

2. ได้ส่งสำเนาถึงคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ซึ่งลุงได้ส่งตรงไปยังคุณปราโมทย์ พึ่งสุนทร เพื่อขอให้มอบแก่คุณสุพจน์ฯ อีกทางแล้ว ในจดหมายนั้นก็ให้หลานพิจารณาถึงความรู้สึกของนักเรียนในต่างประเทศที่มีต่อปกหนังสือว่ามีความสำคัญเพียงใด

3. ส่วนปาฐกถาของลุงที่เยอรมันเมื่อวันที่ 12 เดือนนี้นั้น ลุงกำลังพิจารณาปรับปรุงจากฉบับชั่วคราวซึ่งบรรณารักษ์สมาคมนักเรียนในเยอรมันได้จดไว้ เมื่อเรียบร้อยแล้วลุงจะส่งตามมาคราวหลัง

4. หนังสือเรื่องลุงผู้วางแผนเศรษฐกิจฉบับของคุณเดือนนั้น มีผู้ต้องการมากก็คงจะเนื่องจากการทำปกและการพิมพ์มีส่วนช่วยอยู่ด้วย นอกจากสาระภายใน ถ้ามีโอกาสขอให้หลานปรึกษาคุณปราโมทย์ช่วยจัดส่งมาให้ลุงอีก 10 เล่ม ส่วนฉบับว่าด้วยการเปลี่ยนชื่อสยามเป็นไทยนั้น ลุงแจกหมดแล้วจึงต้องการอีก 10 เล่ม นอกจากนี้เรื่องประชาธิปไตยกับรัฐธรรมนูญเบื้องต้นก็แจกหมดแล้ว ลุงต้องการอีก 10 เล่ม ขอให้หลานปรึกษาคุณปราโมทย์ช่วยส่งมาให้ลุงทาง ป.ณ. อากาศด้วย

5. ขอให้หลานปรึกษาญาติมิตรว่าบทความต่างๆ ของลุงในระยะหลังๆ นี้ ควรจะจัดทำเป็นเล่มรวมสรรนิพนธ์ไว้ทำขนาดและเล่ม, หน้าปก ให้น่าอ่านอย่างไรบ้างและเรื่องอย่างไรบ้างก็ขอให้ญาติมิตรช่วยบอกมาด้วย

ลุง

 

นอกจากนี้ คุณสิริ ปกาศิต  คุณบุญธรรม ทองไข่มุกต์  คุณประสงค์ สุขุม และ ดร.สุธี สิงห์เสน่ห์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาก็เป็นแบบอย่างในการทำงานของดร.อิสสระ (สองท่านแรกเป็นผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ช่วงที่เริ่มทำงานที่กองงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และสองท่านหลังเป็นผู้บังคับบัญชาในช่วงที่กลับมาทำงานที่สำนักงบประมาณหลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาเอก) ทั้ง 4 ท่านเป็นผู้ที่มีฝีมือ มีความสามารถในการทำงาน และปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

 


ดร.อิสสระ ; ดร.สุธี สิงห์เสน่ห์ และ คุณบัณฑิต บุณยะปานะ
ไปดูงานด้านงบประมาณที่สหรัฐอเมริกา



ที่มา : ชีวิต “อิสสระ” เกร็ดประวัติศาสตร์ผ่านชีวิต “อิสสระ”  (กรุงเทพฯ: เนติกุลการพิมพ์.2564), สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565.