ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ท่านปรีดี พนมยงค์ กับทหารของชาติ

4
ตุลาคม
2567

Focus

  • ศาสตราจารย์ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ บุคคลสำคัญด้านกฎหมาย ผู้มีบทบาทในด้านกฎหมายและงบประมาณของสังคมไทย ในบทความนี้ได้เสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นการช่วยเหลือทหารที่ปลดประจำการของรัฐบาลภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ ผ่านหลักฐานชั้นต้น

 


ศาสตราจารย์ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ

 


บันทึกโน้ตข้อความและหนังสือสำคัญ

 

เมื่อประมาณห้าสิบปีมานี้ หรือหลังจากที่เกิดการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 แล้วไม่นานนัก ได้มีการปล่อยข่าวในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงของคนในเครื่องแบบว่า ท่านปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสเมื่อครั้งดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี[1]  ได้สั่งปลดนายทหารประจําการเป็นจํานวนมาก ทําให้นายทหารเหล่านั้น ซึ่งได้เสียสละเพื่อชาติมาแล้วต้องตกระกําลําบากกระแสข่าวนั้นยังระบุว่า ทางการไม่ได้จัดพาหนะขนส่งทหารที่ถูกปลดประจําการกลับภูมิลําเนาเดิมดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา

การปล่อยข่าวเพื่อทําลายท่านปรีดีดังกล่าว เป็นการกระทําของผู้มีอํานาจในบ้านเมืองที่เกรงว่า ท่านปรีดีซึ่งขณะนั้นลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างแดน[2]จะกลับมามีอํานาจอีก ด้วยการสนับสนุนของนายทหารระดับสูงที่คุมกําลังบางคนซึ่งได้ร่วมงานกู้ชาติด้วยกันมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จึงต้องทําให้ทหารทั้งหลายรู้สึกเกลียดชังและต่อต้านท่าน

 


ทหารไทยในเชียงตุงช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2

 

แต่โดยความเป็นจริงนั้นการปลดทหารประจําการหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่สองได้สิ้นสุดลงเป็นเรื่องปกติธรรมดา และทุกประเทศไม่ว่าจะแพ้หรือชนะสงครามก็ทํากันอย่างนี้ทั้งนั้น การปลดทหารประจําการสมัยรัฐบาลท่านปรีดี พนมยงค์ จึงมิใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด ส่วนที่กระแสข่าวระบุว่ารัฐบาลของท่านไม่ได้จัดพาหนะขนส่งทหารที่ถูกปลดประจําการกลับภูมิลําเนาเดิมนั้น ก็เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะในเวลานั้นสงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งยุติได้ไม่นาน ประเทศไทยยังอยู่ในภาวะคับขัน

ยานพาหนะที่ทางราชการมีอยู่ขณะนั้น จึงไม่เพียงพอกับความต้องการทางทหาร ดังที่พลเอก จิร วิชิตสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลท่านปรีดี พนมยงค์ได้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรดังนี้

ในการพิจารณาในเรื่องที่จะชดเชยหรือให้ความสะดวกทหารนี้ เราพิจารณาพลทหารก่อนนายทหาร เราพิจารณาในครั้งนั้นก็ว่าพวกทหารที่จะต้องปลดปล่อยเป็นจํานวน มาก ในการที่จะปลดไปนั้นทางการได้ให้เงินเดือนล่วงหน้าหนึ่งเดือน เงินเบี้ยเลี้ยงประกอบด้วยเงินเพิ่มหนึ่งเดือนสําหรับเพื่อจะให้ผู้นั้นติดตัวไปที่บ้าน แล้วก็ได้ให้เสื้อผ้าหนึ่งชุดที่จะให้ติดตัวไป แต่เรื่องเสื้อผ้าต้องขอออกตัวบ้าง ไม่มีเสื้อผ้าใหม่ ก็ยอมให้ชุดที่ผู้นั้นแต่งติดตัวไป

นอกจากนั้นทางกองทัพช่วยเหลือให้ผ้าขาวม้าและผ้าอื่น ติดตัวไปด้วย ในการส่งนั้นตกลงว่าจะส่งถึงที่ตําบลที่รับพวกนั้นเข้ามา ตอนหลังก็มีเหตุขัดข้องบ้างก็เป็นความจําเป็นบ้าง คือที่จะขนส่งทางรถไฟ แต่เราขาดรถไฟ บางคนก็ต้องไปทางอื่นบ้างความจริงทหารเราพิจารณาและช่วยเหลือทางอื่นอยู่บ้าง คือทํามาแต่ครั้งก่อนที่จะปลดครั้งนี้ด้วยซ้ํา รวมความว่าเราได้พิจารณาอย่างเห็นอกเห็นใจทั้งนั้น[3]

จากคําชี้แจงของ พลเอกจิร วิชิตสงคราม ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่ารัฐบาลท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ดูแลทหารที่ถูกปลดประจําการอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทําได้ตาม สถานการณ์ของบ้านเมืองในขณะนั้น

อนึ่ง การกระทําและการแสดงออกบางอย่างของท่านปรีดีฯ ยังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าท่าน เข้าใจเห็นใจ และปรารถนาดีต่อทหารที่ได้รับใช้ชาติ ด้วยความเสียสละมาแล้ว ดังจะกล่าวต่อไปนี้

 


นายปรีดี พนมยงค์

 

หลังจากที่เข้าดำรงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2489 แล้ว ท่านปรีดี พนมยงค์ เห็นว่าทหารที่ถูกปลดประจําการ ควรจะได้รับเงินชดเชยจากทางราชการ และทางการควรเพิ่มเงินบํารุงความสุขให้ทหารประจําการนอกเหนือจากเงินอื่น ๆ ที่ให้ได้รับเช่นเดียวกับข้าราชการฝ่ายพลเรือน จึงได้สั่งการให้กระทรวงการคลังพิจารณา

ดําเนินการในเรื่องดังกล่าว ต่อมารัฐบาลของท่านได้จัดทําร่างพระราชบัญญัติอนุญาต

ให้รัฐบาลจ่ายเงินไปพลางก่อนพุทธศักราช 2489 เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร[4] รัฐบาลจึงได้ตั้งรายจ่ายรายการเงินชดเชยทหารที่ปลดประจําการ และรายการเพิ่มค่าบํารุงความสุขทหารและตํารวจไว้ในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้

สําหรับรายการเงินชดเชยทหารที่ปลดประจําการนั้น ได้ตั้งไว้เป็นเงิน 8,189,000 บาท (สําหรับระยะเวลา 2 เดือน) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1. เป็นค่าพาหนะกลับภูมิลําเนาเดิม 2,291,459 บาท
2. จ่ายเป็นเงินก้อน ให้แก่ทหารที่ถูกปลดตามเกณฑ์ ดังนี้
ก. ต่ํากว่านายร้อย 5,084 คน ๆ ละ 600 บาท เป็นเงิน 3,002,400 บาท
ข. นายร้อย 1,485 คน ๆ ละ 1,500 บาท เป็นเงิน 2,217,500 บาท
ค. นายพัน 14 คน ๆ ละ 3,000 บาท เป็นเงิน 42,000 บาท

ส่วนรายการเพิ่มเงินบํารุงความสุขทหารและตํารวจได้ตั้งไว้เป็นเงิน 2,700,000 บาท    (สําหรับระยะ 2 เดือน)[5]

ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎร ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้แถลงเหตุผลมีข้อความตอนหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับการช่วยเหลือทหาร ตํารวจ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาก ดังนี้

“...พลทหารและตํารวจ ย่อมเป็นกําลังสําคัญของชาติในการรักษาความสงบเรียบร้อย ย่อมมีความจําเป็นที่จะให้การครองชีพของเขาดีขึ้น จึงเห็นว่าควรจะเพิ่มเงินเดือนชั่วคราวให้แก่พลทหารและตํารวจ ซึ่งได้ตั้งมาแล้ว…”

นอกจากนี้ ท่านยังได้กล่าวแสดงความรู้สึกเห็นใจทหารที่ถูกปลดประจําการ ดังนี้

“...ที่นี้ รายการที่ 4 เงินชดเชยทหารที่ถูกปลด นี่ก็เป็นการยุติธรรม กล่าวคือ ทหารนั้นเวลารบทัพจับศึก เราก็ใช้รบทัพ ครั้นเวลาเราปลดแล้วจะไม่ส่งให้เขากลับภูมิลําเนาเดิมนั้นก็เท่ากับว่าถึงเวลาใช้ก็ใช้ ถึงเวลาเลิกใช้เสือกไสให้กลับไป ดังนั้น เพื่อให้ทหารเหล่านี้กลับไปยังบ้านเกิดของเขาและมีเงินพอสมควร เขาจะได้กลับไปประพฤติเป็นพลเมืองดี…”

อีกตอนหนึ่ง ท่านได้กล่าวว่า

กระทรวงกลาโหมได้พิจารณาถึงหน่วยกําลังว่า มีนายทหารที่ต้องปลดไปเป็นจํานวนหลายคน ก็เป็นธรรมดาที่นายทหารเหล่านั้นได้เล่าเรียน หรือฝึกมาในทางทหาร ในทางอาชีพเราต้องให้ทุนเขาบ้างเพื่อจะได้เป็นทุนบ้าง เพื่อจะได้เป็นทุนต่อไป จริงอยู่สําหรับพวกอื่นอาจประกอบอาชีพที่ตนถนัดได้ หรือพวกที่ ร่ําเรียนกฎหมายก็อาจจะเป็นทนาย แต่ทหารออกไปไม่มีใครจ้างให้หัดทหารก็จําเป็นต้องหาทุนให้บ้าง เพื่อเขาจะได้ตั้งเนื้อตั้งตัว ในการนี้ได้กําหนดไว้ว่าสําหรับผู้ที่ต่ํากว่านายร้อย แต่สําหรับนายร้อย นายพัน และนายพลนั้น ก็นึกว่าเป็นการชอบธรรมแล้วที่จะให้เขาพอมีทุนไปก่อสร้างตัวบ้างพอสมควร

ยิ่งกว่านั้น ท่านรัฐบุรุษอาวุโสยังได้คิดที่จะช่วยเหลือให้นายทหารสัญญาบัตรที่ถูกปลดประจําการในครั้งนั้นได้มีงานทําด้วย  ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอนุญาตให้รัฐบาลจ่ายเงินไปพลางก่อน (ฉบับที่2) พุทธศักราช 2489 สมาชิกสภาผู้แทนท่านหนึ่งได้ถามรัฐบาลว่ามีแผนการจะให้ทหารที่ถูกปลด  ประจําการ ประกอบอาชีพเป็นหลักฐานอย่างไรหรือไม่ ท่านปรีดีฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้ชี้แจงดังนี้

ข้าพเจ้าขอชี้แจงให้ได้ทราบว่าได้เตรียมการที่จะช่วยทหารที่ได้ปลดเป็นกองหนุนไป โดยเฉพาะพวกนายทหารคิดไว้ว่า ในองค์การข้าวซึ่งเราจําเป็นต้องใช้ผู้คนในการไปช่วยท้องถิ่นต่าง ๆ นี้ กําลังปรึกษากับรัฐมนตรีพาณิชย์อยู่ ถ้าเราต้องการจํานวนเท่าใดแล้ว เรามาอบรมพอเป็นสังเขปเพื่อปฏิบัติงานได้นั่นวิธีหนึ่ง แล้ววิธีการสหกรณ์หรือทางที่จะใช้ไปในท้องถิ่นเรา กําลังคิดเหมือนกันและแลเห็นอกผู้ที่ปลดไปนี้อย่างจริงใจ”[6]

แต่น่าเสียดายว่า ท่านปรีดีฯ ยังไม่ทันได้ช่วยเหลือให้นายทหารเหล่านั้นได้มีอาชีพเป็นหลักฐานตามที่ตั้งใจไว้ ท่านได้กราบถวายบังคมลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียก่อน เนื่องจากถูกมรสุมทางการเมืองโหมกระหน่ําอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ถูกนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามป้ายสีว่าพัวพันกับกรณีสวรรคตของล้นเกล้าฯ ร.8 ประกอบกับได้ตรากตรําทํางานรับใช้ประเทศชาติด้วยความเหนื่อยยากในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านจึงต้องการพักผ่อนและเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินตามระบอบประชาธิปไตย

เมื่อพิจารณาการกระทําและการแสดงออกของท่านปรีดี พนมยงค์ ดังได้กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าท่านรัฐบุรุษอาวุโสเข้าใจ เห็นใจ และปรารถนาดีต่อทหารของชาติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าแม่ทัพนายกองทั้งหลาย

 

เอกสารอ้างอิง

  • อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ, “ท่านปรีดี กับทหารของชาติ” ใน ปรีดีสาร ฉบับวันสิทธิมนุษยชน วันธรรมศาสตร์. (กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2543), น. 26-29.

 


[1] ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม - 21 สิงหาคม 2489

[2] ในขณะที่เกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2489 รัฐบาลที่บริหารราชการแผ่นดินตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ คือ รัฐบาลที่มี ฯพณฯ พลเรือตรีถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านปรีดีฯ มิได้มีตําแหน่งในรัฐบาลหรือตําแหน่งการเมือง ใดๆ จึงไม่น่าจะต้องหลบหนีไปไหน แต่คณะรัฐประหารภายใต้การนำของพลโทผิน ชุณหะวัณ ได้ส่งกําลังทหารไปค้นทำเนียบท่าช้างในตอนกลางดึกของคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เพื่อควบคุมตัวท่าน เพราะเห็นว่าท่านเป็นหัวหน้าเสรีไทยที่ได้ทําการกอบกู้เอกราชของประเทศไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จึงมีสมัครพรรคพวกมากอีกทั้งได้รับการเชื่อถือจากผู้นำประเทศมหาอํานาจที่ได้ร่วมต่อสู้กับญี่ปุ่นด้วยกันมา และเป็นที่ทราบกันดีว่าท่านเป็นนักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงมีอุดมการณ์ที่ตรงกันข้ามกับอุดมการณ์ของระบบเผด็จการทหาร ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐประหารจึงถือว่าท่านเป็นฝ่ายตรงกันข้ามและต้องกำจัดท่าน แต่พระเจ้ายังคุ้มครองคนดี ท่านจึงรอดพ้นจาก การจับกุมของคณะรัฐประหารอย่างหวุดหวิด

[3] สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รายงานการประชุมสภาผู้แทน (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุด 5 หน้า 100

[4] รัฐบาลท่านปรีดี พนมยงค์ เข้าบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2489 ซึ่งเป็นระยะต้นปีงบประมาณ 2489 แต่ขณะนั้น พระราชบัญญัติงบประมาณประจําปี 2489 ยังไม่ประกาศใช้และโดยที่การจัดทํางบประมาณประจําปีต้องใช้เวลาพอสมควร ประกอบกับมีความจําเป็นเร่งด่วนคนที่จะต้องใช้จ่ายเงินในการบริหารราชการแผ่นดินในระหว่างที่ยังไม่ประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณประจําปีนั้น รัฐบาลจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอนุญาตให้รัฐบาล จ่ายเงินไปพลางก่อน พุทธศักราช 2489 สภาผู้แทนราษฎร

[5] สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 18/2489 วันที่ 1 เมษายน 2489      (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 14 หน้า 11

[6] ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยโดยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา เมื่อสงครามโลกครั้งนั้นสิ้นสุดลงแล้ว ประเทศไทยและบริเตนใหญ่ได้ทําสัญญากันที่สิงคโปร์เมื่อวันที่  1 มกราคม 2489 เพื่อเลิกสถานะสงครามระหว่างประเทศทั้งสอง สัญญา ดังกล่าวซึ่งรู้จักในนามของ “สัญญาสมบูรณ์แบบ” มีข้อกําหนดข้อหนึ่งว่าประเทศไทยจะต้องส่งข้าวให้แก่บริเตนใหญ่เปล่า ๆ (ไม่มีค่าตอบแทน) ต่อมา รัฐบาลท่านปรีดีฯ ได้เจรจาแก้ไขสัญญาดังกล่าวกับบริเตนใหญ่เป็นผลสําเร็จ โดยเปลี่ยนจากการที่ประเทศไทยต้องส่งข้าวให้เปล่า เป็น บริเตนใหญ่รับซื้อเวลาประเทศไทย 1,200,000 ต้น เพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีดังกล่าว รัฐบาลได้ตั้งหน่วยงานขึ้นหน่วยหนึ่งสังกัดกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ทําหน้าที่ซื้อข้าวส่งให้บริเตนใหญ่ หน่วยงานดังกล่าวมีชื่อว่า “องค์การข้าว”