ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ทหารและกองทัพในบริบทของรัฐธรรมนูญไทย

13
ธันวาคม
2565

ทหารและกองทัพเป็นตัวแสดงสำคัญตัวหนึ่งในการเมืองไทย โดยเฉพาะในช่วงนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา บทบาทของทหารและกองทัพในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นและกลายมาเป็นสถาบันที่มีความสำคัญถึงขนาดถูกกำหนดบทบาทไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการย้ำเตือนความสำคัญของทหารและกองทัพ รวมถึงเป็นการสร้างตำแหน่งแห่งที่ให้กับทหารและกองทัพในสังคมไทยโดยผูกพันไว้กับรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายที่กำหนดโครงสร้างและรูปร่างหน้าตาของประเทศ (รัฐ) ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาในเชิงวัฒนธรรม ทหารและกองทัพเป็นสถาบันที่มีอิทธิพลมากและเป็นผู้เล่นสำคัญในการเมืองไทย

 

ทหารและกองทัพกับรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร

 

ภาพเหตุการณ์ รัฐประหาร พ.ศ. 2490 ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม
ภาพเหตุการณ์ รัฐประหาร พ.ศ. 2490
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม

 

นับตั้งแต่การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยามในปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 13 ฉบับ  โดยนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2490 บทบาทของกองทัพได้มีความสำคัญท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอน ณ ขณะนั้น ในฐานะตัวแปรสำคัญที่เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมืองไทยและเป็นจุดเริ่มต้นของวัฏจักรแห่งความชั่วร้าย[1]

เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองได้เปิดบทบาทให้ทหารเข้ามามีส่วนสำคัญในทางการเมืองไทย ทหารและกองทัพได้เริ่มต้นฝังตัวเป็นส่วนหนึ่งในรัฐธรรมนูญไทย ปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492[2] โดยกำหนดบทบาทของทหารและกองทัพไว้ในบทบัญญัติเรื่องหน้าที่ของชนชาวไทยและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในรัฐธรรมนูญไทย

ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ได้มีบทบัญญัติที่สำคัญเกี่ยวกับทหารและกองทัพปรากฏอยู่ใน 4 ลักษณะ ได้แก่

  • เรื่องที่ 1 การกำหนดหน้าที่ให้บุคคลเป็นทหาร[3]
  • เรื่องที่ 2 การกำหนดความจำเป็นในการมีกองกำลังทหารให้มีเท่าที่จำเป็น[4]
  • เรื่องที่ 3 การกำหนดให้ทหารเป็นของชาติโดยอยู่ในบังคับบัญชาของพระมหากษัตริย์ไม่ขึ้นต่อเอกชน คณะบุคคลหรือพรรคการเมืองใดๆ[5] ซึ่งรวมถึงการกำหนดมิให้เอกชน คณะบุคคล และพรรคการเมืองจะนำทหารไปเป็นเครื่องมือไม่ได้[6] และ
  • เรื่องที่ 4 การกำหนดบทบาทหน้าที่ของทหารพึงใช้เพื่อการรบหรือการสงคราม หรือเพื่อปราบปรามการจลาจล และจะใช้ได้ก็แต่โดยกระแสพระบรมราชโองการ[7]

บทบัญญัติทั้ง 4 เรื่องนี้ได้กลายมาเป็นต้นแบบให้กับรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา ให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับทหารและกองทัพในลักษณะเดียว  อย่างไรก็ดี ในบางช่วงเวลาบทบัญญัติในลักษณะดังกล่าวอาจจะมีเนื้อหาแตกต่างไปบ้างและบางเรื่องอาจจะไม่ได้ถูกบัญญัติเอาไว้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอิทธิพลทางการเมืองของทหารและกองทัพในเวลานั้นๆ แต่สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของทหารและกองทัพได้ถูกผนวกไว้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการเมืองสำคัญตามกฎหมายที่กำหนดโครงสร้างและรูปร่างหน้าตาของรัฐ พึงสังเกตไว้ว่า การเข้ามามีบทบาทของทหารในทางกฎหมายมักจะมาภายหลังจากการมีรัฐประหาร อาทิ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 หรือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ก็ลอกเรียนแบบตามๆ กันมา

นอกจากนี้ พึงสังเกตว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจกับทหารและกองทัพเอาไว้มาก แต่นัยดังกล่าวนั้นมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลต่อตำแหน่งแห่งที่ของทหารและกองทัพในการเมืองไทย

 

 

ทหารและกองทัพในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย

นอกจากบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว รัฐธรรมนูญยังประกอบไปด้วยมิติเชิงวัฒนธรรมในฐานะข้อกำหนดของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมหนึ่งๆ[8] การพิจารณารัฐธรรมนูญในมิตินี้จึงเป็นการพิจารณาระเบียบในความเป็นจริงของสังคมหนึ่งว่ามีลักษณะเป็นเช่นไร

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยได้อธิบายว่า ทหารและกองทัพเป็นอิทธิพลหรืออำนาจที่ไม่มีกฎหมายหรือประเพณีรองรับอย่างหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในระบอบการปกครองใดๆ ยกเว้นเผด็จการ ทหารและกองทัพจะมีส่วนแบ่งของอำนาจนิดเดียวเสมอ[9]

ลักษณะดังกล่าวนี้สอดคล้องกับลักษณะของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยที่เกี่ยวกับทหารและกองทัพ กล่าวคือ เมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันอื่นๆ ในการเมืองไทย ทหารจะมีอำนาจอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยอำนาจที่กำหนดไว้จะมีลักษณะเป็นการบ่งชี้ในเชิงความสำคัญ แต่ไม่ได้มีอำนาจพิเศษใดๆ รองรับ อาทิ ในรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเมียนมาร์ได้รองรับอำนาจพิเศษของกองทัพในการเข้ามาบริหารประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉินเอาไว้[10]

เมื่อพิจารณาในเชิงวัฒนธรรมไทยทหารและกองทัพเป็นประดิษฐกรรมใหม่ของรัฐไทยที่พึ่งเกิดขึ้นมาได้ไม่นานในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือรัชกาลที่ 5 ในฐานะเป็นกลไกหนึ่งในการก่อตั้งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 

อย่างไรก็ดี นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทหารและกองทัพเป็นสถาบันการเมืองที่พิเศษกว่าสถาบันอื่นๆ เพราะแม้ว่ากองทัพจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ[11] ซึ่งเป็นกลไกของการเป็นรัฐสมัยใหม่[12] แต่ทหารและกองทัพเป็นกลุ่มตัวแสดงทางการเมืองที่พิเศษกว่าข้าราชการทั่วๆ ไป กล่าวคือ ทหารและกองทัพไม่มีขอบเขตอำนาจเหนือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งภายในประเทศ ในขณะเดียวกันกองทัพแม้จะมีอำนาจตามกฎหมายหรือประเพณีน้อย แต่มีการสะสมอิทธิพลอย่างรวดเร็ว และอิทธิพลของทหารและกองทัพนั้นถูกมองแตกต่างจากข้าราชการทั่วไปที่อาจจะถูกมองว่าฉ้อฉล แต่ทหารและกองทัพกลับถูกสังคมมองในแง่ที่ดีกว่า โดยสังคมมองว่ากองทัพไม่ใช่ผู้ปกครองแต่อยู่ในสถานะของผู้ปกป้อง (เปรียบเสมือนพ่อขุน) ซึ่งคนไทยบางส่วนก็ยินดีและยอมรับการใช้อำนาจของทหารและกองทัพไปใช้ในการขจัดข้าราชการที่ฉ้อฉล[13]

การมีอิทธิพลแต่ไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายหรือประเพณีมากเช่นสถาบันอื่นๆ ทำให้ทหารและกองทัพไม่ถูกตระหนักถึงอิทธิพลที่แผ่ขยายออกไปเท่ากับข้าราชการกลุ่มอื่นๆ ฉะนั้น ทหารและกองทัพบ่อยครั้งจึงหลุดลอยไปจากการถูกตรวจสอบ[14]

ในทางกลับกัน อิทธิพลของทหารจะได้รับการยอมรับเสมอตราบเท่าที่ทหารไม่กลายเป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายหรือประเพณี เพราะจะทำให้สถานะของทหารกลายมาเป็นผู้ปกครอง และทหารจะไม่กลายเป็นผู้มีอิทธิพลที่เข้ามาควบคุมการใช้อำนาจ แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจที่ฉ้อฉล ในลักษณะเช่นนี้การเมืองไทยจึงไม่ยอมรับอำนาจของทหาร ซึ่งทำให้ความนิยมในทหารลดลง[15] จนในท้ายที่สุดจึงมีความพยายามขจัดทหารออกจากอำนาจ ดังเช่นในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การพยายามขับไล่รัฐบาลทหารของจอมพล ถนอม กิตติขจร หรือการที่มีสมาชิกวุฒิสภามาจากทหารและกองทัพในปัจจุบัน ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความเห็นว่าไม่เหมาะสม

เมื่อพิจารณาบทบาทของทหารและกองทัพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับต่างๆ ประกอบกับรัฐธรรมนูญในมิติวัฒนธรรมไทย จะเห็นได้ว่า แม้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้นทหารและกองทัพอาจมิได้มีอำนาจมาก แต่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้นได้สร้างตำแหน่งแห่งที่ให้กับทหารและกองทัพในฐานะสถาบันอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ แม้จะไม่ได้มีอำนาจเช่นเดียวกันสถาบันอื่นๆ

อาทิ สภาผู้แทนราษฎร ศาล คณะรัฐมนตรี หรือบรรดาองค์กรอิสระ แต่กระบวนการนี้ได้ยกระดับความสำคัญของทหารและกองทัพให้เป็นส่วนหนึ่งในสถาบันภายใต้รัฐธรรมนูญ ประกอบกับเมื่อพิจารณาในมิติวัฒนธรรมการเมืองไทยจะเห็นได้ว่า ในระเบียบแห่งอำนาจในสังคมไทย ทหารและกองทัพมีส่วนสำคัญที่เป็นอิทธิพลในฐานะของผู้ปกป้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกป้องประชาชนจากอำนาจอันฉ้อฉลของข้าราชการ ซึ่งรวมถึงนักการเมืองต่างๆ

สิ่งนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ทหารเป็นผู้เล่นสำคัญในทางการเมืองไทย ทั้งในฐานะผู้ปกป้อง และไม่ถูกตรวจสอบภายใต้กระบวนการต่างๆ อีกด้วย

 

[1] ดู ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ‘รัฐประหาร 2490: หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการเมืองไทย’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 6 พฤศจิกายน 2563). สืบค้นเมื่อ 8 ธันวาคม 2565.

[2] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 เป็นรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นมาภายหลังจากรัฐประหารล้มล้างการปกครองของรัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์.

[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 มาตรา 57.

[4] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 มาตรา 58.

[5] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 มาตรา 59.

[6] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 มาตรา 61.

[7] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 มาตรา 60.

[8] นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาติ เมืองไทย แบบเรียน และอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม รัฐ และรูปการจิตสำนึก (พิมพ์ครั้งที่ 4, มติชน 2563) 115.

[9] เพิ่งอ้าง 131.

[11] นิธิ เอียวศรีวงศ์ (เชิงอรรถ 8) 132.

[12] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, การเป็นสมัยใหม่กับแนวคิดชุมชน (สร้างสรรค์ 2557) 9 และ 27.

[13] นิธิ เอียวศรีวงศ์ (เชิงอรรถ 8) 132-133.

[14] เพิ่งอ้าง 133 - 134.

[15] ดู เพิ่งอ้าง.