รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 นํามาซึ่งความชะงักงันของระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ได้มีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นในสมัยหลังสงครามโลก รัฐประหารครั้งนี้ทําโดยนายทหารที่มิได้มีชื่อเสียงในวงการเมืองมาก่อน ดังเช่น พลโท ผิน ชุณหะวัณ พันเอก กาจ กาจสงคราม พันเอก เผ่า ศรียานนท์ พันเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม มิได้มีส่วนร่วมโดยตรงในตอนแรก แต่ฝ่ายรัฐประหารก็ได้ชักชวนเข้ามาภายหลัง ทั้งนี้เพราะเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับนับหน้าถือตาในวงการทหาร แต่ก็มิได้เข้ามาเป็นหัวหน้ารัฐบาลในตอนแรก เพราะเกรงว่าจะไม่เป็นที่รับรองของบรรดามหาอํานาจ โดยเฉพาะตะวันตก เช่น สหรัฐฯ หรืออังกฤษ ซึ่งยังนิยมชมชอบฝ่ายของนายปรีดี พนมยงค์ อยู่ (ทั้งยังได้ช่วยให้นายปรีดี พนมยงค์ หลบหนีออกไปต่างประเทศ คือ สิงคโปร์ อีกด้วย)[1]
คณะรัฐประหารได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 และนํา “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490” หรือที่มีฉายาว่า “ฉบับใต้ตุ่ม” ออกมาใช้แทนเป็นการชั่วคราว โดยจะให้มีการร่างฉบับถาวรใหม่ (เข้าทํานองของสองฉบับแรกภายหลังการปฏิวัติ 2475) แต่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มนี้ได้ยกเลิกหลักการความเป็นประชาธิปไตยเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการกําหนดให้มี 2 สภา คือ วุฒิสภา ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง ทั้งยังไม่ห้ามข้าราชการประจําดํารงตําแหน่งทางการเมืองอีกด้วย ในเวลาเดียวกัน ลักษณะของความเป็นอนุรักษ์นิยมก็สะท้อนให้เห็นในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ กําหนดอายุของผู้สมัครไว้ถึง 35 ปี
เราจะเห็นได้ว่า ทันทีภายหลังการรัฐประหาร 2490 นั้น ประเทศไทยหาได้กลับไปสู่ระบบอํานาจนิยมโดยฉับพลันไม่ ดังที่กล่าวมาแล้ว แม้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งถูกดึงให้มาเป็นผู้นําของทหารที่ทําการยึดอํานาจ ก็หาได้เข้าดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีในทันทีไม่ (อันเนื่องมาจากการเกรงว่าจะไม่ได้การรับรองจากประเทศมหาอํานาจตะวันตก) นายควง อภัยวงศ์ กลับได้รับการเชิญเข้ามาทําหน้าที่บริหารแทน เพื่อให้เห็นว่า ยังมีการปกครองโดยฝ่ายพลเรือน และเป็นประชาธิปไตยในรูปแบบอยู่ ยังมิได้ยกเลิกการมีพรรคการเมือง ทั้งยังให้มีการเลือกตั้งทั่วไปด้วยเมื่อ 29 มกราคม 2491
แต่จากสถานการณ์ของการใช้อํานาจเข้ายึดกุมการปกครอง การแพร่ข่าวลือกล่าวร้ายทางการเมืองของนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม (โดยเฉพาะในเรื่องการอ้างถึงเรื่องของกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8) ก็ทําให้นักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมและอํานาจนิยมเท่านั้นที่กลายเป็นผู้ครองเวทีการเมืองไป ในขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมและสังคมนิยมตกต่ําไม่สามารถโผล่ออกมาเล่นการเมือง ในระบอบที่เริ่มถูกจํากัดนี้ (การเลือกตั้งทั่วไป 2491 นั้น ปรากฏว่าเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนมาใช้สิทธิเพียง 26.54% ซึ่งเป็นสถิติที่ต่ําที่สุดไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งที่เคยมีมาก่อนหรือมีตามมาทีหลัง)[2]
รูปแบบอันเป็นทางการของประชาธิปไตยโดยจํากัดนั้นดํารงอยู่จนกระทั่งปี พ.ศ. 2494 เมื่อมีการรัฐประหารเงียบโดยคณะรัฐประหารชุดเดิม อันนํากลับไปสู่การห้ามมีพรรคการเมือง แต่ในช่วงระยะเวลา 4 ปีนั้นก็ได้มีปรากฏการณ์ที่ทําให้ระบอบประชาธิปไตยที่เริ่มทรุดลงตั้งแต่ 2490 นั้นยิ่งทรุดลงหนัก นั่นคือ การที่รัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ถูกบังคับ “จี้” ให้ออกจากตําแหน่ง (8 เมษายน 2491) และนําจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ทําให้เกิดความปั่นป่วนทางการเมืองมากยิ่งขึ้น เช่น มีความพยายามที่จะยึดอํานาจของฝ่ายทหารบกด้วยกันเอง คือ กบฏเสนาธิการทหาร 1 ตุลาคม 2491 ตามมาด้วยกบฏวังหลวง 26 กุมภาพันธ์ 2492 อันเป็นความพยายามของนายปรีดี พนมยงค์ ด้วยความสนับสนุนของเสรีไทยและทหารเรือบางส่วนที่จะยึดอํานาจคืน ตามมาด้วยกบฏแมนฮัตตัน มิถุนายน 2494 อันเป็นการ ก่อการของนายทหารเรือระดับกลาง ซึ่งก็นําไปสู่การรัฐประหารเงียบพฤศจิกายน 2494 ดังที่กล่าวข้างต้น เป็นลําดับของเหตุการณ์ในช่วงของ 4 ปีที่ไทยจะเข้าสู่ระบบอํานาจนิยมอย่างเต็มที่
กล่าวโดยย่อ รัฐประหาร 2490 เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อหนึ่งที่สําคัญในการเมืองไทย เป็นการตัดอํานาจของฝ่ายเสรีนิยมและสังคมนิยม อันเป็นการตัดโอกาสของความเป็นประชาธิปไตยของไทยในยุคหลังสงคราม แม้จะยังเปิดเวทีให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเล่นเกมประชาธิปไตยชั่วคราว แต่ในที่สุดการปกครองไทยก็เข้าสู่ระบบอํานาจนิยม นักการเมืองต้องลี้ภัยไปต่างประเทศกันไม่น้อย อดีตผู้แทนราษฎรที่เคยมีบทบาทนํามาก่อนก็ค่อย ๆ ถูกกีดกันออกไป และท้ายที่สุดก็มีการกําจัดโดยการทําลายชีวิตอย่างเปิดเผยภายหลังกบฏวังหลวง
เช่น การยิงทิ้ง 4 รัฐมนตรี นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (อุบลราชธานี) นายถวิล อุดล (ร้อยเอ็ด) นายจำลอง ดาวเรือง (มหาสารคาม) นายทองเปลว ชลภูมิ์ เป็นต้น[3]
น่าสังเกตว่า เมื่อการเมืองไทยเข้าสู่ระบบอำนาจนิยมอีกครั้งหนึ่งนั้น นายทหารที่เข้ามามีบทบาทในช่วงหลัง 2490 จะมีลักษณะที่แตกต่างจากนายทหารรุ่นหลัง 2475 ดังจะเห็นได้จาก (จอมพล) ผิน ชุณหะวัณ และ คณะพรรคที่ทำการยึดอำนาจ (เผ่า-สฤษดิ์) ส่วนใหญ่เป็นนายทหารที่ได้รับการศึกษาในประเทศ ไม่มีประสบการณ์จากสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างรุ่นผู้ก่อการ 2475 ดังนั้นจึงมีความคิดในเรื่องการปกครองที่แตกต่างไปในแง่ของการที่จะใช้ระบบผู้นำแบบเด็ดขาด นายทหารเหล่านี้มิได้มีความชื่นชมและผูกพันกับระบอบประชาธิปไตยที่ตนเองมองว่าเป็นของต่างประเทศเท่าไรนัก และการก้าวขึ้นมามีบทบาทก็ไต่เต้ามาในระบบราชการทหารปกติ ซึ่งเป็นระบบที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่ไม่น้อย เป็นผลให้ระบอบประชาธิปไตยไทยหยุดชะงักการเติบโต อันจะเป็นมรดกตกทอดที่ยาวนานทีเดียวจนเกือบตลอดยุคของรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (2501-2506) และรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร (2506-2516)
เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสภาพของการเมืองภายหลังการยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร จะขอลำดับเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญบางประการไว้ในเบื้องแรกนั้นการยึดอำนาจมาพร้อมด้วยข้ออ้างว่า ฝ่ายทหารจะเข้ามาเพื่อขจัดรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และไม่สามารถจัดการกับผู้กระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ได้ แต่ฝ่ายทหารก็มิได้มุ่งหวังจะยึดอำนาจเป็นของตนเอง จึงเชิญฝ่ายพลเรือนขึ้นมาตั้งรัฐบาล แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม (ซึ่งมีผู้ลงพระนามเพียงองค์เดียว คือ กรมขุนชัยนาทนเรนทร โดยที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกท่าน คือ พระยามานวราชเสวี มิได้ลงนาม)
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังถือว่าเป็น “ชั่วคราว” โดยที่ฝ่ายทหารยินยอมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็นผู้ร่างโดยตรง (เสร็จ 2492) และภายหลังการรัฐประหารเพียง 2 เดือนกว่า ก็มีการเลือกตั้งทั่วไป (29 มกราคม 2491) ดังที่กล่าวมาแล้ว ทั้งฝ่ายอํานาจนิยมผู้ยึดอํานาจมาได้ กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ร่วมในการยึดอํานาจ ดูเหมือนจะยังพยายามให้ปรากฏรูปแบบของการปกครองประชาธิปไตยในไทยอยู่ แต่ในทางปฏิบัตินอกเหนือจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมและอํานาจนิยมแล้ว นักการเมืองอื่นก็ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้โดยสะดวก ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งที่มีประชาชนไปใช้สิทธิน้อยนี้ พรรคประชาธิปัตย์จึงได้ 53 ที่นั่ง กลุ่มผู้ที่ลงสมัครโดยอิสระได้ 30 ที่นั่ง พรรคประชาชน (ของนายเลียง ไชยกาลที่แยกออกมาจากประชาธิปัตย์) ได้ 12 ที่นั่ง และ พรรคธรรมาธิปัตย์ (ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม) ได้ 5 ที่นั่ง รวมทั้งหมด 100 ที่นั่ง จะเห็นได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ของนายควง อภัยวงศ์มีเสียงข้างมากเพียงเล็กน้อย และก็น่าสังเกตอีกว่าทางฝ่ายกลุ่มที่ สนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้นได้รับเลือกตั้งเข้ามาน้อยมาก แม้ว่าฝ่ายเสรีนิยมและสังคมนิยมจะไม่ได้เข้ามาแข่งขัน และแม้ว่าหลวงวิจิตรวาทการที่เป็นฝ่ายอํานาจนิยมและเป็นมันสมองในการปลุกระดมความคิดลัทธิชาตินิยมก็ไม่ได้รับเลือกตั้งเข้าสภา ยิ่งย้ําให้ฝ่าย อำนาจนิยมเห็นชัดว่า รูปแบบการปกครองประชาธิปไตยไม่เอื้ออํานวยต่อฝ่ายตนเท่าใดนัก
จากการที่มีการเลือกตั้ง และนายควง อภัยวงศ์ ก็ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเป็นครั้งที่ 4 (21 กุมภาพันธ์ - 8 เมษายน 2491) ก็ทําให้รัฐบาลไทยได้รับการรับรองจากมหาอํานาจตะวันตกโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และอังกฤษ แต่ภายในระยะเวลาอันสั้นที่ฝ่ายพลเรือนอนุรักษ์นิยมได้ทําหน้าที่ให้มหาอํานาจรับรองแล้ว ฝ่ายอํานาจนิยมก็บีบให้รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ต้องออกจากตําแหน่งด้วย “การจี้” (6 เมษายน) และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็กลับมาดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 8 เมษายน 2491 (หลังจากที่ต้องออกจากอํานาจไปถึงเกือบ 4 ปี) จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนักการเมืองคนแรกของโลกที่เป็นฝ่ายที่เข้ากับอักษะและร่วมมือกับญี่ปุ่นโดยตรงที่สามารถกลับเข้ามาครองอํานาจได้ภายหลังสงคราม และเราก็จะเห็นได้ว่า จากภูมิหลังนี้ทําให้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดูจะกระตือรือร้นในการประกาศสนับสนุนนโยบายการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐฯ ในทันที พยายามอย่างยิ่งที่จะพิสูจน์ให้มหาอํานาจตะวันตกเห็นว่า นโยบายต่างประเทศของไทยนั้น สนับสนุนค่ายเสรีประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ในช่วงบรรยากาศของสงครามเย็น และการต่อสู้ขับเคี่ยวของขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนและอินโดจีน และด้วยนโยบายต่างประเทศในแนวนี้ ทําให้ได้รับความสนับสนุนอย่างแข็งขันจากสหรัฐฯ อันมีส่วนทําให้ฝ่ายอํานาจนิยมสามารถอยู่ในตําแหน่งไปได้อีกเป็นเวลานาน (จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516)
กล่าวโดยย่อ วิธีการยึดอํานาจจะมีรูปแบบโดยย่อดังนี้ คือ ภายในประเทศใช้กําลังทหารยึดอํานาจในนามของประชาชน เมื่อยึดอํานาจได้แล้วก็จะตั้งพลเรือนที่น่าเชื่อถือผู้หนึ่ง (เช่น ควง อภัยวงศ์ พจน์ สารสิน ธานินทร์ กรัยวิเชียร ตลอดจน อานันท์ ปันยารชุน) ขึ้นมาดํารงตําแหน่งชั่วคราว ดําเนินการให้มีรูปแบบของประชาธิปไตยอยู่บ้างในบางส่วน หลังจากนั้นก็จะเข้ามากุมอํานาจโดยตรง ส่วนในด้านการต่างประเทศก็ปรับตัวให้เข้ากับมหาอํานาจที่มีอิทธิพลอยู่ในขณะนั้น
และรัฐประหาร 2490 ก็เป็นการเริ่มประเพณีของการเมืองไทยที่นักวิชาการบางท่านได้ขนานนามว่า “วัฏจักรแห่งความชั่วร้าย” นั่นคือ การเมืองที่ถูกครอบงําโดยคณาธิปไตยทหาร คณะทหารเหล่านี้จะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในลักษณะของ “พรรคพวก” ที่มีผลประโยชน์และความคิดเห็นร่วมกัน สามารถใช้องค์กรทหารที่มีความได้เปรียบทางกําลังอาวุธ และระเบียบวินัยเป็นเครื่องสนับสนุนอํานาจ อาศัยความร่วมมือจากระบบราชการที่ก็ต้องการรักษาไว้ซึ่งอิทธิพลและผลประโยชน์ของตน ดึงความช่วยเหลือและสนับสนุนจากข้าราชการพลเรือนจํานวนมากพร้อม ๆ กับอาศัยการที่สังคมไทยยังขาดพลังอื่น ๆ นอกระบบราชการที่จะมาคานอํานาจของข้าราชการทหารและพลเรือน ไม่ว่าจะเป็นพลังของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง (พรรคการเมืองหรือนักการเมือง) พลังทางเศรษฐกิจ (พ่อค้านักธุรกิจ) หรือพลังที่นอกเหนือไปจากนั้นอีกเช่น พลังนักศึกษา (ซึ่งจะเป็นปรากฏการณ์ ในไทยหลังจากสมัยนี้) ตลอดจนพลังกรรมกร หรือ “ประชาชน”
ความอ่อนแอและความล้มเหลวของประชาธิปไตยไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ มักจะมีการพิจารณากันว่า เป็นความอ่อนแอของนักการเมืองฝ่ายพลเรือน (ไม่ว่าจะเป็นนายปรีดี พนมยงค์ พลเรือตรี ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ หรือนายควง อภัยวงศ์) ซึ่งไม่สามารถจะทัดทานพลังของฝ่ายทหารได้ “รัฐบาลพลเรือน” มีฐานสนับสนุนที่อยู่ในวงแคบ คือ ในหมู่ข้าราชการพลเรือน (และทหารเรือ) และก็มีอยู่อย่างจํากัดในวงของตนเองเสียด้วย ทําให้ขาดพลังที่จะต่อรองกับฝ่ายทหาร (บก) ความคับแคบของฐานการเมืองนี้อยู่เฉพาะผู้ได้รับการศึกษาและก็อยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ในระดับของคนชั้นสูง ขาดฐานสนับสนุนที่กว้างขวางจากมวลชน ยกเว้นพรรคการเมือง เช่น พรรคสหชีพ ที่ได้กล่าวมาแล้วที่พยายามสร้างฐานของตนในต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอีสาน แต่พรรคสหชีพก็เหมือนพรรคการเมืองไทยอื่น ๆ เกือบทั้งหมดที่มีเวลาจํากัดในการทํางานและสร้างพรรคของตนให้เป็นพรรคการเมืองอย่างแท้จริง หลังการรัฐประหาร 2490 พรรคนี้ก็ถูกปราบปรามหนักถึงขนาดผู้นํา ของพรรคถูกสังหารทิ้งอย่างทารุณโหดร้าย ซ้ําความพยายามที่จะขยายฐานการเมืองในต่างจังหวัดและในชนบท ก็ยังถูกใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีและกล่าวหาในแง่ของ “ท้องถิ่นนิยม” หรือไปไกลขนาดที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวก “แบ่งแยกดินแดน” หรือเป็น “คอมมิวนิสต์” กล่าวโดยย่อแล้ว นักการเมืองพลเรือนหรือรัฐบาลพลเรือนประสบปัญหาเรื่องเงื่อนไขของเวลามาก ไม่สามารถจะพิสูจน์ผลงานและความสามารถของตนได้
นอกเหนือจากข้อจํากัดในแง่ของฐานสนับสนุนแล้ว “รัฐบาลพลเรือน” ยังถูกมองว่าขาดความสามัคคีปรองดองกัน นักการเมืองพลเรือนได้รับการตราว่าเป็นพวกที่มีการทะเลาะเบาะแว้งขัดแย้งแย่งชิงกันเองอย่างสูง ขาดวินัยและความสามัคคีเช่นที่มีในหมู่ “รัฐบาลทหาร” ดังนั้น ในสมการนี้ ก็คือ รัฐบาลพลเรือนเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่เป็นฝ่ายที่อ่อนแอ มีแต่ความแตกแยก จึงทําให้รัฐบาลทหารที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับประชาธิปไตย แต่เป็นฝ่ายเข้มแข็ง มีแต่ความสามัคคี สามารถเข้ามายึดกุมอํานาจทางการเมืองได้ สมการการเมือง ดังกล่าวดูเผิน ๆ ก็คงไม่ผิดจากข้อเท็จจริงนัก ดังที่เราจะเห็นได้ว่านักการเมืองพลเรือน (ทั้งที่เป็นข้าราชการพลเรือนและไม่ได้เป็นข้าราชการก็ตาม) ไม่สามารถจะทํางานร่วมกันได้นัก อาจจะร่วมกันได้ในระยะแรก ๆ ดังเช่นกรณีของการต่อต้านญี่ปุ่นหรือการเจรจาสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตร เช่นที่พอจะเห็นความร่วมมือของ นายปรีดี พนมยงค์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายควง อภัยวงศ์ แต่ในระยะเวลาไม่เท่าไรก็แตกแยกกันออกมาเป็นกลุ่มเสรีนิยม-สังคมนิยม และกลุ่มอนุรักษ์นิยม ไม่สามารถจะประนีประนอมทางการเมืองกันได้อีกต่อไป มีการขับเคี่ยวกันในระบอบรัฐสภาอย่างรุนแรง ซึ่งการต่อสู้เช่นนี้ในวิถีทางประชาธิปไตยก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองจะต้องเป็นตัวแทนความคิดหรือผลประโยชน์ของกลุ่มของตน (ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายเสรีนิยม-สังคมนิยมในปีกของนายปรีดี พนมยงค์ หรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมในปีกของนายควง อภัยวงศ์) แต่จากการที่สังคมไทยยังขาดพลังประชาธิปไตยที่จะสนับสนุนให้ระบบดำเนินไปได้ด้วยดี การต่อสู้ขัดแย้งกันของสองกลุ่มนักการเมืองพลเรือนนี้ ก็เป็นการเปิดโอกาสให้พลังอำนาจนิยมของทหารสามารถจะกลับมาสู่อำนาจด้วยข้ออ้างต่าง ๆ นานา
ที่มา: ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, “รัฐประหาร 2490,” ใน ประวัติการเมืองไทย: 2475-2500, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544), น. 455-465.
[1] ดู สุพจน์ ด่านตระกูล, นักการเมือง รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ลี้ภัยการเมืองรัฐประหาร 2490 (กรุงเทพฯ : ประจักษ์การพิมพ์, 2516).
[2] ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) (กรุงเทพฯ : ช. ชุมนุมช่าง, 2517), น. 601.
[3] ดู หัด ดาวเรือง, เบื้องหลังสังหารโหด 4 อดีตรัฐมนตรี (พระนคร : โรงพิมพ์อักษรสาส์น, 2508).
- รัฐประหาร 2490
- ควง อภัยวงศ์
- จอมพล ผิน ชุณหะวัณ
- พันเอก กาจ กาจสงคราม
- พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์
- จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- ปรีดี พนมยงค์
- รัฐธรรมนูญ 2489
- รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม
- วุฒิสภา
- ทองอินทร์ ภูริพัฒน์
- ถวิล อุดล
- จำลอง ดาวเรือง
- ทองเปลว ชลภูมิ์
- อำนาจนิยม
- จอมพล ถนอม กิตติขจร
- พรรคประชาธิปัตย์
- พรรคประชาชน
- หลวงวิจิตรวาทการ
- รัฐบาลพลเรือน
- รัฐบาลทหาร
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ