ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

50 ปี 14 ตุลาฯ กับอนาคตของประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญไทย

27
ตุลาคม
2566

Focus

  • การรัฐประหารที่เกิดขึ้นถึง 13 ครั้ง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทำให้ประชาธิปไตยหยุดชะงัก โครงสร้างอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจมีการผูกขาดสูง และประเทศมีปัญหาการกระจายผลประโยชน์และอำนาจไปยังคนส่วนใหญ่
  • ในพ.ศ. 2566 อันเป็นวาระครบรอบ 50 ปี ของการรำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่ประชาชนชาวไทยได้ร่วมกันขับไล่เผด็จการทหารเพื่อเรียกคืนประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ สังคมไทยจึงจำเป็นต้องสถาปนาระบบการปกครองอีกครั้ง ด้วยสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
  • การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรนำไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้าน อาทิ กระจายอำนาจ การรื้อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การรื้อมรดกคณะรัฐประหาร การล้างวัฒนธรรมอำนาจนิยม การปรับเปลี่ยนให้อำนาจตุลาการยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น การปฏิรูปความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เหมาะสมระหว่าง สถาบันการเมือง สถาบันศาสนา สถาบันกษัตริย์ และประชาชน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข

 

รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ภาพโดย สถาบันปรีดี พนมยงค์
รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ
ภาพโดย สถาบันปรีดี พนมยงค์

 

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่ประชาชนชาวไทยได้เรียกคืนประชาธิปไตยในทางการเมืองการปกครอง ได้ล่วงผ่านมาแล้วเป็นเวลา 50 ปี แต่กระนั้น สังคมไทยของเราก็ยังไม่สามารถสถาปนาระบอบการปกครองโดยกฎหมายได้ ด้วยเหตุที่มีผู้มีอภิสิทธิ์อยู่เหนือกฎหมายเกิดขึ้นมากมาย อาการล้มลุกคลุกคลานของระบอบการปกครอง โดยกฎหมายและประชาธิปไตยไทยที่ไม่ปกติ เป็นผลมาจากการอยู่ภายใต้วงจรของการฉีกรัฐธรรมนูญเป็นระยะๆ แล้วก็ร่างขึ้นมาใหม่

สังคมไทยจำเป็นต้องสถาปนาระบบการปกครองอีกครั้ง โดยหลักนิติธรรมและนิติรัฐ ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยประชาชนให้จงได้ และโดยการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง

การฉีกหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครอง (รัฐธรรมนูญชั่วคราว) ถึง 9 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองถึง 10 ฉบับ มีรัฐประหารมากถึง 5 ครั้ง หลังเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำให้เกิดความเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญมิใช่กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ แต่เป็นเพียงเครื่องมือของชนชั้นนำอำนาจนิยมในการแย่งชิงและสถาปนาอำนาจของตนด้วยการทำลายหลักการแห่งการปกครองโดยกฎหมายและมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่คณะรัฐประหารอีกด้วย

การล่มสลายลงของระบบเผด็จการทหารและอำนาจนิยมหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว แม้ว่าพลังของขบวนการนักศึกษาประชาชนได้ทำให้ผู้นำเผด็จการหนีออกนอกประเทศ แต่โครงสร้างของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมก็ได้รับการสั่นคลอนเพียงเล็กน้อย ประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้น ระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมาได้เพียง 3 ปี ก็เกิดการนองเลือดและรัฐประหารขึ้นมาอีกในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ระบอบเผด็จการทหารอำนาจนิยมนั้น ดำรงอยู่ในสังคมอย่างยาวนานต่อเนื่องยาวนาน 26 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีการผูกขาดสูงให้ลดการผูกขาดลง กระจายผลประโยชน์และอำนาจไปยังคนส่วนใหญ่ ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีที่เป็นธรรม สิ่งเหล่านี้จะเป็นหลักประกันให้ระบอบประชาธิปไตยมีความมั่นคง

เมื่อประเมินจากสภาวะแวดล้อมทั้งของไทยและระหว่างประเทศแล้ว โอกาสหวนกลับไปสู่ระบอบการปกครองภายใต้อำนาจเผด็จการทหารเต็มรูปเหมือนในช่วง พ.ศ. 2490-2516 นั้นคงยากที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ หากจะเกิดการรัฐประหารอีก ก็คงจะมาในรูปของการใช้อำนาจขององค์กรอิสระหรือตุลาการอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อล้มล้างอำนาจของรัฐสภาที่มาจากประชาชน การปิดความเสี่ยงจากการรัฐประหารโดยองค์กรอิสระหรือตุลาการ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่บิดเบี้ยวหลักการประชาธิปไตยอันเป็นมรดกของรัฐประหารจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ การกระจายอำนาจให้ประชาธิปไตยให้หยั่งราก กินได้ และมีคุณภาพ การรื้อยุทธศาสตร์ 20 ปี การรื้อมรดกคณะรัฐประหาร การล้างวัฒนธรรมอำนาจนิยม การปฏิรูปประเทศผ่านกระบวนการประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้นเพื่อให้ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีความเข้มแข็งมั่นคงก้าวหน้า เป็นการลดความเสี่ยงในการหวนกลับสู่ระบอบรัฐประหารและระบอบเผด็จการทหารอำนาจนิยมอีกครั้งหนึ่ง

การเร่งดำเนินการรื้อถอนมรดกระบอบอำนาจนิยมและซากทัศนะเผด็จการ ย่อมอาศัยรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแบบเปิดกว้างที่มีการส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากคนทุกกลุ่มทุกชนชั้น รวมทั้ง ต้องร่วมกันตรวจสอบให้รัฐบาลโปร่งใส ทำตามสัญญาประชาคม ไม่ฉะนั้นจะเป็นเงื่อนไขหรือมีการสร้างเงื่อนไขให้รัฐบาลต้องสิ้นสุดก่อนเวลาอันควร

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใหม่ต้องสถานปนาอำนาจสูงสุดของระบบรัฐสภา (The Supremacy of Parliament) การลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้นั้น สังคมไทยต้องร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิลงประชามติให้มากที่สุด เพื่อให้การเริ่มต้นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

จากการรัฐประหาร 13 ครั้งในประเทศไทยหลังการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 2475 เราอาจสรุปขั้นตอนของการก่อเกิดและการรัฐประหารได้ดังต่อไปนี้

1. สร้างความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กล่าวหาว่า มีการทุจริตคอร์รัปชันหรือใช้อำนาจไม่เป็นธรรม หรือไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ หรืออ้างว่าระบบการเมืองปกติไม่สามารถแก้ปัญหาการบริหารงานหรือโครงการของรัฐบาลได้ กลายเป็นเงื่อนปมที่ฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยขยายผลเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหักโค่นรัฐบาลได้หรือเปิดประตูแห่งโอกาสในการแทรกแซงระบอบประชาธิปไตย โดยอำนาจขององค์กรอิสระอย่างไม่ชอบธรรมได้ โดยสถานการณ์อาจไม่สุกงอมถึงขั้นต้องรัฐประหารยึดอำนาจในขณะนี้

2. กองทัพเข้ายึดอำนาจ และปราบปรามผู้ต่อต้านจนสำเร็จ รวมทั้งฉีกรัฐธรรมนูญทำลายระบบปกครองโดยกฎหมาย ให้หัวหน้ารัฐประหารใหญ่กว่ากติกาสูงสุดของประเทศ

3. กษัตริย์หรือผู้แทนพระองค์ลงนามรับรองรัฐประหาร (ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม)

4. องค์กรตุลาการตีความรับรองการรัฐประหารให้คณะรัฐประหารเป็น ‘รัฏฐาธิปัตย์’ และ ร่างรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ ส่วนใหญ่หลังการรัฐประหาร มักจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและนำไปสู่การนองเลือดเสมอ หากไม่เกิดทันทีหลังการรัฐประหาร หลังจากนั้นระยะหนึ่งก็จะเกิดขึ้น รัฐประหารไม่นองเลือดจึงแทบไม่มีอยู่จริงในการเมืองไทย สถาบันการรัฐประหารได้ถูกสถาปนากลายเป็นสถาบันการเมืองอย่างหนึ่งในประเทศไทย

เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี 14 ตุลาฯ ฝ่ายประชาธิปไตยทั้งหลาย จึงต้องร่วมกันรื้อถอนความเป็นสถาบันของการรัฐประหารออกไปและสร้างเสริมความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองของประชาชนขึ้นมาแทน ในฐานะกลไกหลักในการปกครองประเทศ

การสร้างฉันทามติไม่เห็นด้วยและต่อต้านการรัฐประหารและปฏิเสธทัศนะปรปักษ์ประชาธิปไตย ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนเป็นเรื่องสำคัญต่อความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์อันประกอบไปด้วยประชาธิปไตยทางการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางสังคมและวัฒนธรรม จะนำสู่ความเจริญก้าวหน้า และพัฒนาสู่ความรุ่งเรืองของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างเสมอภาค ลดการผูกขาด เพิ่มการแข่งขันและแบ่งปันความสมบูรณ์พูนสุขและสันติธรรมย่อมบังเกิดขึ้นในสังคมไทย รวมทั้ง แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ยกระดับการเติบโตให้เต็มศักยภาพ แก้ปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและปัญหาวิกฤติหนี้สินให้ประสบความสำเร็จ

หากไม่มีวิกฤตการณ์ทางการเมืองและตามมาด้วยการรัฐประหารสองครั้งในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งมีรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีคุณภาพสูง ประเทศไทยของเรา ณ พ.ศ. นี้ ก็อาจสามารถก้าวข้ามพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลางและเริ่มต้นเข้าสู่ประเทศรายได้สูง กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประชาชนก็จะมีระบบรัฐสวัสดิการอย่างถ้วนหน้าไปแล้วก็ได้ โครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีการผูกขาดสูง เหลื่อมล้ำสูง ศักยภาพการแข่งขันและการยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนจึงเป็นทางเลือกที่น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด ดีที่สุด สำหรับอนาคตของประเทศชาติ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยทุกกลุ่มทุกฝ่าย

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน จะต้องนำไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้าน ซึ่งหมายรวมถึงการปฏิรูปกองทัพ เพื่อให้ทหารเป็นทหารอาชีพ แก้ปัญหาวังวนของการทำรัฐประหารซ้ำซากในประเทศไทย การปรับเปลี่ยนให้อำนาจตุลาการยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น รวมทั้งการปฏิรูปความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เหมาะสมระหว่างสถาบันการเมือง สถาบันศาสนา สถาบันกษัตริย์ และประชาชน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข

เหตุการณ์เคลื่อนไหวประชาธิปไตยและเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 14 ตุลาคม 2516 นั้น ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่ขบวนการนักศึกษาประชาชน นอกกลุ่มชนชั้นนำสามารถเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อสู้ จนสามารถสร้างเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญได้ ทำให้สังคมและเศรษฐกิจเปิดกว้างและมีเสรีภาพมากขึ้น ความกล้าหาญและเสียสละของวีรชน 14 ตุลาฯ จึงเป็นสิ่งที่พวกเราในฐานะอนุชนรุ่นหลังพึงรำลึกถึง ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ เคยกล่าวไว้ว่า “การพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม ให้มั่นคงไว้และพัฒนายิ่งขึ้นนั้น จึงเป็นกตเวทีสําคัญยิ่งที่สาธุชนผู้รักชาติพึงปฏิบัติ”

ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ไว้อีกว่า “สาธุชนที่รักชาติโดยยกชาติเหนือประโยชน์ส่วนตัวก็ย่อมใช้ทัศนะจากจุดยืนหยัดในมวลราษฎรวินิจฉัยเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคมได้ เพราะวีรชนทั้งหลายนั้น มิใช่มีแต่บุคคลที่มีเหล่ากําเนิด หรือมีฐานะแห่งชนชั้นวรรณะหนึ่งใด โดยเฉพาะหากวีรชนเหล่านั้นมีเหล่ากําเนิดและมีฐานะทางเศรษฐกิจ และทางการเมืองชนิดต่างๆ ซึ่งมีทั้งคนจน กรรมกร ลูกจ้าง ชาวนา ข้าราชการชั้นผู้น้อย คนพอทําพอกิน ผู้มีทุนน้อย และนายทุนรักชาติที่ยกชาติเหนือประโยชน์ส่วนตัวและทุกชนชาติไทย (National minorities) ที่มีสัญชาติไทย ดังนั้น เจตนารมณ์ของวีรชนทั้งหลายนี้ จึงต้องการรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ ทั้งในทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางทรรศนะอันเป็นคติธรรม ใช้เป็นหลักนําในการปฏิบัติเพื่อความไพบูลย์ของทุกชนชั้นวรรณะและทุกชนชาติที่รักชาติ ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ตั้งแต่ยุคปฐมกาลเป็นต้นมา แสดงให้เห็นตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในหลายบทความ และหลายปาฐกถาแล้วว่า เศรษฐกิจเป็นรากฐานสําคัญแห่งมนุษยสังคม ส่วนระบบการเมืองเป็นแต่เพียงโครงร่างเบื้องบนที่จะต้องสมานกับความต้องการทางเศรษฐกิจของมวลมนุษย์ในสังคม” (จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม โดย ปรีดี พนมยงค์)

ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ยังได้วิเคราะห์อีกว่า “ถ้าหากรัฐธรรมนูญอันเป็นแม่บทแห่งกฎหมายสอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจนั้น วิกฤตการณ์ทางสังคมก็ไม่เกิดขึ้น และประเทศชาติก็ดําเนินก้าวหน้าไปตามวิถีทางวิวัฒน์ (Evolution) อย่างสันติ ถ้าหากรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจของสังคม วิกฤตการณ์ก็ต้องเกิดขึ้นตามกฎธรรมชาติแห่งข้อขัดแย้งระหว่างสองสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์กัน ถ้าสาธุชนที่รักชาติพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า มูลเหตุที่วีรชนได้พลีชีพ และสละความสุขสําราญส่วนตัวเรียกร้องรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้น ก็สืบมาจากมวลราษฎรไทยได้รับความอัตคัดขัดสนอย่างแสนสาหัส แต่ระบบการเมืองที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ หรือมีเพียงแต่ชื่อว่ารัฐธรรมนูญนั้น ขัดแย้งความต้องการทางเศรษฐกิจของมวลราษฎร วีรชนจึงได้พลีชีพและสละความสําราญส่วนตนเพื่อปรารถนาให้ชาติไทยมีระบบการเมืองโดยระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่สมานกับความต้องการทางเศรษฐกิจของมวลราษฎรและเพื่อให้ทุกชนชาติร่วมกันเป็นเอกภาพแห่งประเทศไทย”

กล่าวโดยสรุป ในวาระครบรอบ 50 ปี 14 ตุลาฯ สังคมไทยจำเป็นต้องสถาปนาระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอีกครั้ง โดยการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังต้องรื้อยุทธศาสตร์ 20 ปี รื้อมรดกคณะรัฐประหาร ล้างวัฒนธรรมอำนาจนิยม ปฏิรูปประเทศผ่านกระบวนการประชาธิปไตย รื้อถอนความเป็นสถาบันของการรัฐประหารให้หมดไป และสร้างเสริมความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองของประชาชนให้แข็งแกร่งขึ้นมาแทน ในฐานะกลไกหลักในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศ

หมายเหตุ : บทความนี้ปรับปรุงและตั้งชื่อใหม่โดยกองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ จากเอกสารเรื่อง “ดร.อนุสรณ์ ชี้ครบ 50 ปี 14 ตุลาฯ ต้องรื้อมรดก ‘คณะรัฐประหาร’ แก้ร่างรธน.ใหม่โดยปชช.” เผยแพร่โดยมติชนออนไลน์ วันที่ 14 ตุลาคม 2566

ที่มา : มติชนออนไลน์. (14 ตุลาคม 2566). “ดร.อนุสรณ์ ชี้ครบ 50 ปี 14 ตุลาฯ ต้องรื้อมรดก ‘คณะรัฐประหาร’ แก้ร่างรธน.ใหม่โดยปชช.,” สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2566.