Focus
- ธรรมชาติสร้างให้มนุษย์และสังคมมนุษย์อยู่กับสิ่งที่เป็นคู่ตรงกันข้าม หากสามารถจัดการความร่วมมือ และเกิดเอกภาพได้ของคู่ตรงกันข้าม มนุษย์และสังคมมนุษย์ก็จะพบกับความเจริญรุ่งเรือง
- ในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย คู่ตรงข้ามที่สำคัญตลอดมา คือ ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา เช่น พรรคการเมืองในแนวอนุรักษนิยมเป็นพรรคฝ่ายขวา และพรรคสังคมนิยมเป็นพรรคฝ่ายซ้าย
- ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในระบอบประชาธิปไตย ผลัดกันแพ้-ชนะ ในบางประเทศ พรรคฝ่ายซ้ายได้อำนาจรัฐยาวนานกว่าฝ่ายขวา แต่บางประเทศ รวมถึงประเทศไทย พรรคฝ่ายขวาครองอำนาจยาวนานกว่าพรรคฝ่ายซ้าย (ที่มีอยู่น้อยมาก) แต่ในยามที่พรรคขั้วตรงกันข้ามเป็นรัฐบาลร่วมกัน ในระยะเวลาที่ยาวนาน ประเทศก็เจริญรุ่งเรืองอย่างเห็นได้ชัด ดังเช่น กรณีเยอรมนี
- การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านลงมติเป็นเอกฉันท์ (เอกภาพอย่างเต็มที่) ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 นั้น ควรจะนำไปสู่ผลผลิตที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้จริง
บทนำ
ในทางคู่ตรงกันข้าม ทั้งในธรรมชาติและสังคมมนุษย์ สัตว์โลกได้ใช้ประโยชน์จากร่างกายของตนทั้งสองด้านร่วมกัน ตามประสงค์มาตั้งแต่กำเนิดของชีวิต อาทิ มือซ้ายกับมือขวา และขาซ้ายและขาขวา ถูกสมองทั้งสองซีกคือขวา-ซ้าย สั่งการให้ทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์ในชีวิตประจำวันและในระยะยาว มนุษย์ที่สมบูรณ์ย่อมไม่ตัดมือหรือเท้าข้างใดข้างหนึ่งทิ้งไป แต่ฝึกปรือและใช้ประโยชน์จากมันทั้งสองให้เต็มที่เพื่อยังประโยชน์สูงสุดของมนุษยชาติ
การเมืองไทย ในแง่มุมของฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา จะเป็นเช่นความในตอนท้ายของย่อหน้าที่กล่าวข้างต้นนี้ ได้หรือไม่?!?!
แม้ว่าข้างขวาและข้างซ้ายของมนุษย์ย่อมถือว่าสำคัญเท่าเทียมกัน แต่สังคมมนุษย์โดยส่วนใหญ่ในระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมา มักจะให้คุณค่ากับความเป็นข้างขวามากกว่าข้างซ้าย อาทิ เราถูกพ่อแม่ฝึกหรือฝึกฝนตนเองให้ใช้มือขวาอย่างถนัดมือในการยึดจับสิ่งของสำคัญๆ เขียนหนังสือ ป้อนอาหารเข้าปาก จับมือกันกับผู้อื่น และอื่นๆ อีกมากมายในแต่ละวัน แต่ใช้มือซ้ายจับถือสิ่งของที่สำคัญน้อย ใช้ล้างก้น จับต้องสิ่งสกปรก และอื่นๆ ที่มีความสำคัญรองลงไป มือซ้ายจึงไม่ได้รับภาระและการให้ความสำคัญมากเท่ากับมือขวา จนมือขวาแข็งแรง ชำนาญ และมีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่มากกว่ามือซ้ายที่เป็นรองและมักจะอ่อนแอกว่าอย่างเป็นปกตินิสัย (ยกเว้นคนจำนวนไม่มากนักที่ถนัดซ้ายมากกว่าขวา) ตามรูปการณ์ดังกล่าว มือขวาจึงได้รับการให้ความสำคัญมาก่อน และทรงเกียรติกว่ามือซ้ายที่ถูกปฏิบัติอย่างต่ำต้อยด้อยค่า
ในทางศาสนาซึ่งถือเป็นเรื่องสูงส่งก็เช่นกัน ดังเช่น ศาสนาพุทธ พระสารีบุตรผู้มีความเป็นเลิศในทางปัญญาอันถือเป็นสภาวะสูงสุดของการบรรลุธรรม เป็นสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า ในขณะที่พระโมคคัลลานะผู้ได้อภิญญาหกและมีฤทธิ์มากเป็นสาวกเบื้องซ้าย และในพิธีกรรมสำคัญของพุทธศาสนา ศาสนิกชนต้องเดินวนขวาเสมอ ในศาสนาคริสต์ ณ สรวงสวรรค์ พระเยซูทรงประทับนั่งอยู่ทางเบื้องขวาของพระผู้เป็นเจ้า และในเหตุการณ์หรือภารกิจสำคัญๆ พระเยซูทรงใช้มือขวาอันมีนัยของความสำคัญยิ่งกระทำการออกไป ทั้งยังให้ความหวังต่อการบรรลุภารกิจของพระศาสนากับเหล่าผู้ติดตามทางเบื้องขวามากกว่าเบื้องซ้าย ส่วนศาสนาอิสลามก็เช่นกัน ในวิถีชีวิตประจำวัน ท่านศาสดา นบีมูฮัมหมัด นิยมให้ชาวอิสลามใช้มือหรือเท้าขวากระทำการอันเป็นเกียรติไปก่อน แล้วจึงตามด้วยการกระทำของข้างซ้าย จึงจะถือว่าเป็นสิ่งดีงามของการใช้ชีวิตในสังคม แต่กระนั้น ไม่ว่าพุทธ คริสต์ หรืออิสลาม เมื่อถึงวาระหรือโอกาสอันสำคัญ การพนมมือไหว้ ที่มือซ้ายและมือขวาร่วมมือกัน โดยประกบเข้าหากัน เพื่อคารวะบูชาให้แก่ความจริงหรือสิ่งที่มีค่าสูงสุด คือ สิ่งพ้นออกไปจากความเป็นตัวตนของเราหรือตัวกูของกู ก็มีให้เห็นว่า เกิดขึ้นได้กับผู้นับถือศาสนาทั้งสามที่บรรลุธรรม อันเป็นสากลของศาสนานั้นๆ ในระดับที่สูงขึ้นๆ!!
พัฒนาการของการมีฝ่ายซ้าย (Left-wing) และฝ่ายขวา (Right-wing) ในทางการเมืองก็เช่นกัน มันก็มีอคติแบบข้างต้น มานมนานแล้ว ไม่ว่าจะในระบอบเผด็จการหรือประชาธิปไตยที่ใช้สภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภาเป็นที่ทำงานของผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ในการเมืองระดับต่างๆ พวกฝ่ายซ้ายคือตัวแทนของผู้ด้อยอำนาจและเป็นคนยากคนจนที่มีอยู่จำนวนมหาศาล เช่น กรรมกร ผู้เปราะบางที่ตกขอบในสังคม ส่วนพวกฝ่ายขวาคือ ฝ่ายเจ้าและเหล่าทหาร ขุนนางผู้ทรงเกียรติ คนร่ำรวย เจ้าของทุน เจ้าของกิจการ และนักธุรกิจ เป็นต้น โดยทั้งสองฝ่ายนิยมแยกกันนั่งคนละฝั่ง
ในระดับสากล พรรคการเมืองในแนวอนุรักษนิยม เป็นพรรคของผู้มีอำนาจในสังคมดั้งเดิมและให้ความสำคัญกับคนข้างบนๆ ที่ส่วนใหญ่มักจะสุขสบายมากกว่าคนข้างล่างผู้ทุกข์ยาก จึงมักเรียกกันว่าพรรคฝ่ายขวา ทหารที่เป็นชาตินิยม ฟาสซิสต์ รวมทั้งผู้ที่รับใช้ผู้มีอำนาจในสังคมดั้งเดิมก็เช่นกัน ก็จะถูกจัดอยู่ในพวกฝ่ายขวา ส่วนพรรคสังคมนิยมเป็นพรรคที่เป็นตัวแทนของมวลชนคนไร้สมบัติและคนยากคนจนทั้งหลาย จึงมักเรียกกันว่าพรรคฝ่ายซ้าย รวมทั้งขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ทำให้คนเสมอภาคกัน และลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงๆ จังๆ เพื่อยกเลิกความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่เป็นอยู่ก็มักจะเป็นขบวนการของชาวฝ่ายซ้าย ไม่ว่าจะซ้ายเก่าหรือใหม่ก็ตาม ที่ทำงานร่วมกับชาวอนาธิปัตย์ (Anarchist) และชาวเสรีนิยม (Libertarian) ขบวนการต่อสู้ดังกล่าวนี้ ต้องการได้อำนาจรัฐและใช้มันเพื่อปลดปล่อยการครอบงำและการเอารัดเอาเปรียบจากชาวฝ่ายขวาที่อาจมีอำนาจรัฐอยู่เดิมในเวลานั้น หรืออยู่เหนือฝ่ายซ้ายโดยสถานภาพทั่วๆ ไปในสังคม
ในทางอุดมการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ชื่อพรรคหมายเอาประชาชนเป็นใหญ่ แต่เป็นพรรคแนวขวา (Rightist) โดยกำเนิด บางสมัยที่ประชาธิปไตยเฟื่องฟูก็จะเอนเป็นไปพรรคแนวขวากลาง (Center-right) แต่ดำรงอยู่ไม่นาน พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคแนวขวากลางโดยกำเนิด สมัยการก่อตั้งในนามพรรคไทยรักไทย พรรคนี้มีฝ่ายซ้ายผู้สนใจการร่วมมือกับเกษตรกรไปร่วมงานอยู่อย่างแข็งขัน แต่ฝ่ายซ้ายที่สนใจการร่วมมือกับกรรมกรกลับแทบไม่มี (หรือพอจะมีแต่หามีเรี่ยวแรงพอไม่) พรรคชาติพัฒนาเป็นพรรคแนวขวา รวมทั้งพรรคประชากรไทย แต่บางสมัยในอดีต ทั้งสองเป็นพรรคแนวขวาตกขอบ (Far-right) พรรคของชนชั้นกลางเกิดใหม่ของไทยในยุคนี้ เช่น พรรคอนาคตใหม่ โดยพื้นฐานในทางองค์ประกอบของแกนนำและสมาชิกพรรค ดูจะเป็นพรรคแนวขวากลาง (Center-right) แต่กลับมีท่วงทำนองการเคลื่อนไหวแบบฝ่ายซ้ายอยู่มิใช่น้อย แต่ก็มิใช่ซ้ายกลาง (Center-left) ในแบบสังคมประชาธิปไตยเสียทีเดียว แต่ก็ดูมีศักยภาพในการปฏิวัติประชาธิปไตยกระฎุมพี (Bourgeois-democratic revolution)
ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์พรรค ในอนาคตเราคงจะทราบชัดเจนมากขึ้นๆ ว่าพรรคอุดมการณ์แนวใดทำอะไรแก่สังคมไทยได้เพียงใด
ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย: ความร่วมมือในระดับสากล ตัวอย่างพรรคและการเป็นรัฐบาลในต่างประเทศ และประเทศไทย
หลังสงครามโลกครั้งที่สองใน พ.ศ. 2491 สหประชาชาติได้ประกาศใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาฉบับนี้ผลิตขึ้นได้ด้วยคณะผู้ยกร่างปฏิญญาที่เป็นความร่วมมือของตัวแทนจากประเทศฝ่ายขวา คือ ประเทศทุนนิยมเสรีที่สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นแกนนำ และประเทศฝ่ายซ้าย คือ ประเทศสังคมนิยมที่รัสเซียและจีนเป็นแกนนำ สาระที่ได้มีทั้งส่วนที่เห็นพ้องกันโดยพื้นฐาน และส่วนอื่นที่แบ่งกันนำเสนอจากฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย และส่วนที่แต่ละฝ่ายยอมให้เป็นไปตามปรารถนาของฝ่ายตรงข้าม พอสมน้ำสมเนื้อ แม้จะมิได้เห็นด้วยนักกับความคิดตรงข้ามทั้งหมดก็ตาม
ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในระบอบประชาธิปไตย แบบที่รัฐสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ประเทศในแนวทุนนิยมสวัสดิการและทุนนิยมการตลาดเพื่อสังคม เช่น กลุ่มสแกนดิเนเวียน (สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์) ประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ พรรคฝ่ายซ้ายส่วนใหญ่ในประเทศได้อำนาจรัฐร่วมกันยาวนานกว่าฝ่ายขวา แต่ก็ไม่เป็นเช่นนี้เสมอไป นอกดินแดนแถบนั้น ดังเช่น ในเยอรมนีพรรคฝ่ายขวาได้อำนาจรัฐยาวนานกว่าฝ่ายซ้าย ส่วนประเทศในแนวทุนนิยมเสรี เช่น สหรัฐอเมริกา พรรคลูกผสมฝ่ายซ้ายกับขวากลาง (คือพรรคเดโมแคร์ท) ได้อำนาจรัฐยาวนานกว่าฝ่ายขวา (คือพรรครีพับลิกัน) เล็กน้อย (ประมาณ 56 ปี) แต่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น พรรคฝ่ายขวาได้อำนาจรัฐยาวนานกว่าฝ่ายซ้ายในระยะเวลาที่ค่อนข้างมาก ในประเทศไทยที่ทุนนิยมเสรีเป็นใหญ่เช่นกัน นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ยกเว้นในช่วงของคณะราษฎร พรรคฝ่ายขวาทั้งผ่านการเลือกตั้งและฝ่ายขวาแบบเผด็จการทหารที่ยึดอำนาจมาได้ เป็นรัฐบาลยาวนานกว่าพรรคฝ่ายซ้าย (ที่มีอยู่น้อยมาก) ในระยะเวลาที่ค่อนข้างมากเช่นกัน
กล่าวเป็นการเฉพาะ ในเชิงความร่วมมือเป็นรัฐบาลร่วมกันของฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ในรอบ 15 ปี ที่ผ่านมา ประเทศเยอรมนี เมื่อก่อนสมัยนายกรัฐมนตรีหญิงเหล็ก Angela Merkel ครองอำนาจ ฝ่ายขวาคือ พรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแคร์ทและพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (CDU-CSU) ฝ่ายหนึ่ง กับฝ่ายซ้ายคือ พรรคสังคมประชาธิปไตย (SPD) อีกฝ่ายหนึ่ง ก็ขับเคี่ยวกันอย่างเอาถึงพริกถึงขิง แต่เมื่อมีการรวมประเทศยุโรปต่างๆ เข้าเป็นสหภาพยุโรปได้ประมาณหนึ่งทศวรรษ สถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และคะแนนเสียงที่ได้รับจากการเลือกตั้ง บีบให้ทั้งสองฝ่ายตรงข้ามที่เคยตั้งรัฐบาลร่วมกันครั้งหนึ่งในยุคทศวรรษที่1960 กลับมาร่วมมือกันอีกครั้ง และเป็นรัฐบาลร่วมที่ยาวนานมากขึ้น นับจาก ค.ศ. 2005 เป็นต้นมา สภาผู้แทนยินยอมให้หญิงเหล็ก Angela Merkel เป็นนายกรัฐมนตรีถึงปัจจุบันรวมสี่สมัยเข้าไปแล้ว ปล่อยให้มีฝ่ายค้านเสียงข้างน้อยที่ทำอะไรแก่ทั้งสองฝ่ายคู่กัดที่กลับมาเป็นคู่รักกันพักใหญ่แล้วไม่ได้ ศักยภาพของเยอรมนี ภายใต้บารมีของรัฐบาลร่วม มีส่วนทำให้การนำสหภาพยุโรปของเยอรมนีดำเนินไปได้อย่างมีน้ำหนัก และประเทศนี้ได้รับการตอบแทนกลับมาจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปอย่างสมน้ำสมเนื้อ (แต่ขณะนี้ สถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการร่วมมือกัน ก็กำลังสั่นคลอนการร่วมเป็นรัฐบาล และมีแนวโน้มที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายจะหย่าจากกันในอีกไม่ช้า)
ในประเทศไทย หากพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันนี้ และในทางอุดมการณ์ของพรรคการเมืองและการเข้าร่วมของทหารกับพรรครัฐบาล เราพอจะกล่าวโดยประจวบเหมาะหรืออนุโลมได้ว่า พรรคร่วมรัฐบาลเป็นพรรคฝ่ายขวาและพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นพรรคฝ่ายซ้าย เพราะบุคลากรของพรรคร่วมรัฐบาล (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรรมการบริหารพรรค และ สส.) เป็นตัวแทนฝ่ายขวาอยู่มากโข และบุคลากรของพรรคฝ่ายค้านก็เป็นตัวแทนฝ่ายซ้ายอยู่มากโขเช่นกัน แม้จะไม่เป็นเช่นนั้นทั้งหมด ในแต่ละขั้วก็ตาม รวมถึงนโยบายพรรคของทั้งสองฝ่ายก็บ่งบอกว่า ให้คุณค่ากับสิ่งใดที่สังกัดความเป็นขวาและซ้ายตามที่กล่าวแล้วมากกว่ากัน
อย่างไรก็ตาม ทั้งในทางทฤษฎีและการปฏิบัติ หากในความขัดแย้งมีความร่วมมือเกิดขึ้นได้ ในความร่วมมือก็มีความขัดแย้งเกิดขึ้นได้เช่นกัน ท่ามกลางวิกฤตการณ์เมืองไทยที่ดูเหมือนว่าจะดำรงต่อไปอีกนานนั้น ในห้วงคำนึงของข้าพเจ้า พลันกลับมีแสงสว่างอันเป็นความหวังขึ้นมาอย่างน่าประหลาดใจแต่ก็เป็นความหวังยิ่งประการหนึ่ง ก็เมื่อคราวที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านขั้วตรงกันข้าม ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 โดยการผลักดันในเรื่องนี้มาจากพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคอนาคตใหม่ตามด้วยพรรคเพื่อไทย และจากรัฐบาลอยู่บ้าง คือ พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นเล็กน้อย สมาชิกสภาฝ่ายรัฐบาลชนะฝ่ายค้านด้วยการปฏิเสธ ไม่ร่วมมือในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ได้สำเร็จ ด้วยคะแนนเสียงที่ห่างกันไม่มากนัก
รายละเอียดที่มากขึ้นของสองเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ที่ได้สะท้อนถึงความเป็นและไม่เป็นเอกภาพของขั้วตรงข้าม เป็นดังนี้คือ[1]
เหตุการณ์แรก แสดงถึงความไม่เป็นเอกภาพของขั้วตรงข้าม (รัฐบาลและฝ่ายค้าน) หรือความเป็นสุดโต่งอย่างยิ่ง คือการที่สภาล่มสองครั้งในการประชุมเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 กล่าวคือ แม้ว่าในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะเคยมีมติเห็นชอบให้ตั้ง กมธ. ด้วยคะแนนเสียง 236 ต่อ 231 งดออกเสียง 2 จากองค์ประชุม 469 คน แต่ในคืนวันเดียวกันนั้น เมื่อฝ่ายรัฐบาลจะมีการขอให้ลงมติกันใหม่ การประชุมก็ล่ม เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อองค์ประชุมสมาชิกไม่ครบ (ผู้เข้าประชุมเหลือเพียง 92 เสียง ไม่ถึงครึ่งจากจำนวน สส. ที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย 499 ในขณะนั้น จากยอดเต็มตามรัฐธรรมนูญ 500 คน) แม้ในวันรุ่งขึ้น วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เรียกประชุมอีกครั้งเพื่อการนี้ แต่ที่ประชุมก็ล่ม (ไม่ครบองค์ประชุม) อีกครั้ง แต่ในที่สุดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 สส. ฝ่ายรัฐบาลก็แทบเข้าประชุมเพียงฝ่ายเดียว เพราะฝ่ายค้านแทบทั้งหมดไม่เข้าประชุม โดยมี สส. ฝ่ายค้านเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายรัฐบาลจำนวน 10 ราย ทำให้ที่ประชุมครบองค์ เพื่อที่ฝ่ายรัฐบาลขอยืนยันมติไม่ให้ตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว และประสบความสำเร็จ ด้วยคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ 244 ต่อ 5 เห็นชอบ และงดออกเสียง 6 ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ จากองค์ประชุม (เกินองค์ประชุม 12 คน โดยองค์ประชุมอย่างน้อย ต้องอยู่ที่ 249 คนจาก สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะนั้น 498 คน) สะท้อนถึงความไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาลและฝ่ายค้านอย่างสิ้นเชิง
เหตุการณ์ที่สอง ในอีกไม่กี่วันต่อมา การมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ของทั้ง สส. ฝ่ายค้านและรัฐบาล เมื่อคืนวันที่ 18 ธันวาคม 2562 ในเรื่อง ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยเห็นด้วย 445 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง จากผู้เข้าประชุม 446 คน (การประชุมในวันนั้น ประธานสภาและรองประธานสภาร่วมอยู่ในที่ประชุมทั้งสามท่าน แต่การประกาศผลการลงคะแนนโดยผู้ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมในช่วงการลงคะแนนนั้น คือ นายสุชาติ ตันเจริญ ไม่ตรงกับคะแนนหน้าจอแสดงผลการลงมติเล็กน้อย โดยประธานในที่ประชุมประกาศว่ามติที่ประชุมเห็นด้วย 445 เสียง ไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียงคือผู้อยู่บนบัลลังก์ทั้งสามท่าน คือ ประธานสภาและรองประธานสภา - ตั้งข้อสังเกตโดยผู้เขียน) กลับเป็นสิ่งสะท้อนความเป็นเอกภาพอย่างยิ่งของขั้วตรงข้ามทั้งสอง และนับว่าเป็นนิมิตหมายอันดี แห่งความร่วมมือกันที่ควรจะมีต่อไปเพื่อพัฒนารัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดกว่าทุกฉบับในอดีตให้สำเร็จ
เหตุการณ์ที่สองที่เกิดขึ้นจริงในความร่วมมืออย่างเป็นเอกฉันท์ในรัฐสภาของคู่กัดหรือคู่ขัดแย้งหลักในสังคม ในการจะพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ท่ามกลางความขัดแย้งอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อเอาชนะกันในทางการเมืองขณะนี้นั้น จึงนับว่ามีความเป็นไปได้ที่หาได้ยากยิ่ง ดังวิภาษวิธีที่กล่าวถึงแล้ว ในบทความของผู้เขียน เรื่อง วิภาษวิธีของการ “อยู่ไม่เป็น” ในการสร้างสรรค์ประเทศไทย[2] ทั้งๆ ที่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว สามารถตั้งโดยเสียงข้างมากจำนวนไม่มากเสียง (เช่น เกินครึ่งเล็กน้อย) ของฝ่ายค้านและการร่วมมือกับ สส. พรรคประชาธิปัตย์ จำนวนหนึ่งที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่พรรคนี้ได้หาเสียงไว้ โดย สส. พรรครัฐบาลอื่นๆ ไม่ลงคะแนนเสียงให้หรืองดออกเสียง ก็เพียงพอแล้ว
ในฐานะผู้สนใจทั้งความขัดแย้งและความร่วมมือของคู่ปรปักษ์ ก็นับเป็นเรื่องที่ข้าพเจ้า (และอาจรวมถึงอีกหลายๆ ท่านที่คิดคล้ายกัน) ยังคงใจเต้นระทึกพร้อมกับการวิตกกังวลมิใช่น้อย ด้วยว่าการเมืองแห่งความร่วมมือจะดำเนินไปสักห้วงเวลาหนึ่งของการรังสรรค์รัฐธรรมนูญใหม่ (อาจจะ 1 – 2 ปี) อย่างไร จนกระทั่งมีศักยภาพต่อเนื่องให้ได้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับใหม่ที่ดีสุดออกมา เนื่องเพราะต้องฝ่าปราการหลายชั้น!
ปราการแรก ทั้งสองฝ่ายก็ยังเห็นต่างและทะเลาะกันในเรื่องอื่นๆ อีกจิปาถะ ทั้งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปถึงเรื่องใหญ่ แบบไม้จิ้มฟันยังเรือรบ โดยเฉพาะเรื่องคอขาดบาดตายในทางการเมือง แบบที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเร็วๆ นี้ อันอาจกระทบต่อความหนักแน่นและอดทนในการร่วมกันแก้ปัญหารัฐธรรมนูญปัจจุบัน และการสร้างสรรค์รัฐธรรมนูญไทยในอนาคต
ปราการต่อๆ มา หากผลการทำงานของคณะกรรมาธิการชุดนี้ ในระยะเวลา 120 วัน จะสามารถนำไปสู่การเสนอให้ต้องแก้ไขบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 256 ที่แม้ สส. จะออกเสียงยินยอมแก้ไขเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทน แต่วุฒิสมาชิกซึ่งอยู่ฝ่ายรัฐบาลโดยความเป็นมา อย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง จาก 250 เสียง ก็จะต้องให้ความร่วมมือกับสภาผู้แทนราษฎรในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเงื่อนไขที่ฝ่ายสภาผู้แทนเองที่ สส. ของพรรคการเมืองที่มีอำนาจน้อยในสภาตามคุณสมบัติที่กำหนด ต้องร่วมสนับสนุนในระดับหนึ่งด้วย
หลายปราการเหล่านี้ อาจจะนำไปสู่กระบวนการของความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ต้องพังทลายลงไปในที่สุด หรือไม่ก็เนิ่นช้าออกไปอย่างที่จะกำหนดเวลาเสร็จสิ้นได้ยาก
ในฐานะที่กฎหมายก็คือ ผลผลิตร่วมแบบหนึ่งในสังคมที่ฝ่ายต่างๆ ต่อสู้กันและได้มา ตามนัยของความเป็นเอกภาพของคู่ตรงข้ามในสังคม โดยอาศัยช่องทางรัฐสภา และกฎหมายที่ได้มาอย่างเป็นเอกภาพและโดยฐานของความเป็นเอกฉันท์ (เอกภาพอย่างเต็มที่) ด้วยนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง เพราะไม่มีความเป็นปฏิปักษ์กันเลย สะท้อนความก้าวหน้าของสังคม (ในส่วน) ที่เกิดจากความเห็นพ้อง หาใช่การพยายามลบล้างต่อกัน ทั้งความเป็นเอกฉันท์ของคู่ปรปักษ์ในเรื่องใดๆ นั้น หากดำเนินต่อไปอย่างมีคุณภาพ ดังเช่นกรณี การก้าวเดินของการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อสร้างใหม่ของรัฐธรรมนูญนั้น ก็น่าจะนำไปสู่สาระอันเป็นเลิศในอนาคตของเรื่องรัฐธรรมนูญที่เห็นชอบด้วยกันนั้น และมากกว่าเพียงเป็นบท (Thesis) หรือกฎหมายที่ได้ผลิตขึ้นมาจากความขัดแย้งที่หาจุดร่วมแบบเต็มร้อยมิได้ แต่ได้มาจากการลงคะแนนเสียงแบบข้างมากชนะข้างน้อยอย่างเศษเสี้ยว
ฉะนั้น ขบวนการทางการเมืองและขบวนการอื่นๆ ในสังคมของประชาชน และกองเชียร์ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งดูเหมือนยังมิได้ปรบมือต้อนรับความร่วมมือดังกล่าวให้ดังกระหึ่มบรรยากาศการเมืองสาธารณะ (หรือยังตกตะลึงอยู่ไม่หายว่า สภาผู้แทนที่กำลังทะเลาะกันหน้าดำคร่ำเครียดในหลายเรื่อง กลับมีมติร่วมตั้งคณะกรรมาธิการในเรื่องนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ได้อย่างไร!?) นั้น จึงโชคดีที่ สส. ได้ร่วมมือกันแล้ว ในระดับหนึ่งคือการเบิกโรงของความร่วมมือ ภาคประชาชน อันเป็นพลังอำนาจนอกเวทีรัฐสภา จึงควรต้องช่วยกันเสริมสร้างบรรยากาศเชิงบวกของการที่จะทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (Constructive destruction) ในตัวรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาและความเป็นรัฐธรรมนูญเพื่ออนาคตต่อไป (แม้ว่าในอนาคต ทั้งสองฝ่ายจะมีความเห็นต่างในสาระของรัฐธรรมนูญแสดงออกมา อันพึงประนีประนอมได้ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม)
ขบวนการประชาชน ในฐานะปัจจัยภายนอกรัฐสภา จึงควรร่วมมือกัน และช่วยกันให้กำลังใจและความหวังต่อคณะกรรมาธิการของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งสภาผู้แทนและวุฒิสภา ในกิจกรรมขั้นต่อๆ ไป ได้ทำงานร่วมกันไปอย่างมีคุณภาพ เปิดกว้าง และต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อมิให้เป็นเพียงการร่วมมือกันแบบพอเป็นพิธีกรรมหลอกๆ หรือแบบไฟไหม้ฟาง แต่พึงต้องเป็นไปอย่างจริงใจและแข็งขัน พร้อมต่อการรับผิดชอบร่วมกันต่ออนาคตของพรรค อนาคตอันรุ่งโรจน์ของประชาธิปไตยและประชาชนรุ่นต่อๆ ไป และผลของการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่จะเกิดความก้าวหน้าและความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ
บทเรียนและอุทาหรณ์
ในฐานะพลเมืองไทยที่ตื่นตัวในทางประชาธิปไตย และประชาชนที่พึงเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตน ท่ามกลางความเรื้อรังของวิกฤตการณ์เมืองไทยร่วมหนึ่งทศวรรษครึ่ง นับตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา เรามีบทเรียนมาแล้วหลายเรื่องรวมทั้งการทำรัฐธรรมนูญใหม่ และแม้โดยกรอบความคิดหลักๆ ในทางการเมือง ชาวประชาธิปไตยจำนวนมาก มักจะพาตนเข้าไปสังกัดกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปแล้ว (ทั้งผู้ที่มั่นคงกับพรรคนั้นตลอดชีวิต และผู้ที่เปลี่ยนพรรคอยู่บ้างหรืออยู่เรื่อยๆ !) ก็ตาม แต่เราก็จึงมิควรเอาตนเองเข้าสังกัดกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่สังกัดในขณะนั้น อย่างสุดโต่ง ตลอดเวลา และในทุกกรณี แต่ในบางโอกาส สู่ประโยชน์ร่วมในอนาคต ก็พึงทำจิตว่างที่จะพิจารณาปรากฏการณ์อย่างเป็นกลาง (ยอมรับข้อเสียหรือจุดอ่อนของฝ่ายตน ยอมรับข้อดีหรือจุดแข็งของฝ่ายตรงข้าม และอยู่เหนือความขัดแย้ง) และเดินสายกลาง นั่นคือ ละการดำรงตนอย่างสุดโต่งกับด้านใดด้านหนึ่งที่มีอยู่ตลอดเวลาเสียบ้าง ปล่อยให้กระแสแห่งความถูกต้องในความรู้และความจริงตามกฎธรรมชาติที่ประชาชนย่อมได้อานิสงส์ในที่สุดขึ้นเป็นใหญ่ คือ อยู่เหนือกรอบความคิดอันจำกัดตนและบกพร่องของแต่ละฝ่าย เพราะว่าในฐานะเจ้าของอำนาจมวลรวมอธิปไตย ในภาวะวิกฤตที่ร้ายแรงและยาวนานเกินควร ประชาชนควรมีวิจารณญาณร่วมในระดับที่สูงขึ้นที่จะเห็นคุณค่าของความเป็นตรงกันข้ามของสิ่งที่อยู่คู่กัน และที่จะใช้พลังอำนาจของทั้งสองฝ่ายที่ถนัดไม่เหมือนกันนัก (โดยพื้นฐานหรือองค์ประกอบ) แต่มีคุณค่าแก่ส่วนรวมอย่างต่างนัยกัน ในรูปแบบหรือกลไกการทำงานที่เหมาะสมแก่สถานการณ์ ให้สามารถแก้ไขปัญหาการตีบตันของประเทศ และเสริมกันและกันเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวมให้ได้ อย่างไรก็ตาม สภาวะการบรรลุธรรมของนักการเมือง เช่นที่กล่าวนี้ หากมิใช่วุฒิสมาชิกอิสระ แบบไม่มีพรรคสังกัด แต่เป็นนักการเมืองที่สังกัดพรรคแล้ว จะเกิดขึ้นได้อย่างบริบูรณ์ ก็เมื่อพรรคการเมืองที่บุคคลนั้นสังกัด สนับสนุนการเดินสายกลางด้วย มิเช่นนั้นแล้ว การแตกแยกในพรรคการเมืองอาจเกิดขึ้น และอาจเป็นผลเสียต่อความมั่นคงของพรรคการเมืองนั้นๆ
ข้อเสนอเบื้องต้นต่อความร่วมมือของฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา (ในเสื้อคลุมของความเป็นฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล) ในการศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และหลักการและกระบวนการสร้างสรรค์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ข้าพเจ้าใคร่ขอเสนอความเห็นดังนี้ โดยข้อเสนอข้อที่หนึ่งถือเป็นสิ่งเชื่อมต่อไปสู่ข้อเสนอที่สองถึงสิบที่พึงเกิดขึ้นและคำนึงถึงในการสร้างสรรค์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- ความร่วมมือของฝ่ายค้านและรัฐบาลอย่างเป็นเอกฉันท์ ในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 นั้น นับเป็นภารกิจเชิงสะพานสืบต่อที่สำคัญจากมติของที่ประชุมสภาผู้แทนในวันนั้น และถือเป็นสัญญาประชาคมฉบับสำคัญและก้าวหน้าที่เกิดขึ้นมาใหม่อย่างไม่คาดฝัน ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้ว ที่สองฝ่ายประกาศให้ประชาชนทั้งประเทศไทยได้รับรู้และเป็นสักขีพยาน หาใช่การตกลงในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในห้องประชุมรัฐสภาโดยลำพังของนักการเมืองกันเองไม่ ฉะนั้นกระบวนการของการทำให้การศึกษาและพิจารณาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการชุดนี้ได้ผลกระทบเชิงบวกอย่างแท้จริง ก็จำเป็นที่คณะกรรมาธิการ และ สส.ทั้งหมดในสภา ดำเนินการไปอย่างมีสัจจะวาจาและสร้างสรรค์ การหักหาญกันอย่างสุดโต่งที่อาจทำให้ความร่วมมือล้มเหลวจึงควรหลีกเลี่ยง แต่การประนีประนอมในระหว่างการแสดงความเห็น สมควรมีหลักยึดที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งอยู่บนหลักการประชาธิปไตยสากลเป็นใหญ่และรูปแบบประชาธิปไตยสำหรับสังคมไทยที่ต้องปรับคล้อยตามหลักสากลเป็นรอง พร้อมกับการถือเอาเป้าหมายแห่งความรุ่งโรจน์ของคุณภาพชีวิตประชาชนและระดับที่สูงขึ้นของการพัฒนาประเทศ ย่อมจะช่วยให้การประนีประนอม อย่างสมเหตุสมผลของการอิงอาศัยกันและกันของจิตนิยมและวัตถุนิยมในการสร้างสรรค์อริยรัฐมีความเป็นไปได้
- การส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาและจินตนาการ รวมทั้งการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญอันพึงประสงค์เพื่อนำข้อมูล ความคิด และจินตนาการ ที่ได้และสร้างขึ้นมา ไปใช้ประโยชน์ในการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งจำเป็น
- การจัดประกวดร่างรัฐธรรมนูญ อาจทั้งฉบับหรือรายหมวดที่พรรคการเมือง บุคคล และองค์การของประชาชนต่างๆ สามารถนำเสนอได้ จะช่วยให้คณะผู้ยกร่างมีข้อมูลและความคิดเห็นที่มีคุณค่ายิ่ง
- สนับสนุนต่อการเปิดโอกาสให้ตัวแทนประชาชนในหลากหลายการรวมตัวและเครือข่ายต่างๆ ได้มีส่วนกำหนดชะตากรรมของรัฐธรรมนูญ และชะตากรรมของตนตามโอกาสในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ทั้งหลาย (มิใช่เพียงต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เท่านั้น) และการเสนอแนะต่อแนวทาง สาระของการปรับปรุงแก้ไข และร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใหม่ หรือการยืนยันบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเดิม (บางส่วนที่อาจจะยังคงอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) ก็ตาม ในหลายๆ ช่องทาง รวมทั้งการประชุมสัญจรไปยังพื้นที่และหน่วยงานสำคัญๆ และการถ่ายทอดสดการประชุมในบางโอกาสของคณะกรรมาธิการ และสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้รับทราบ
- การเปิดโอกาสให้มีความร่วมมือจากต่างประเทศ ทั้งในนามรัฐบาลและองค์การของประชาชนที่มีประสบการณ์อันมีคุณค่าหรือเป็นเยี่ยมในทางประชาธิปไตย ในหลายๆ ช่องทางและวาระโอกาส เพื่อสนับสนุนและเข้าช่วยเหลือประเทศไทย จะช่วยให้ได้ความรู้ ความจริง และข้อเสนอต่อรัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์ ทั้งในทางการได้มา เนื้อหา และการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มีความสมบูรณ์มากขึ้น
- สมควรอาศัยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลลสมัยใหม่ ทั้งในเชิงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) การจัดการทางอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อทุกแหล่งและเรื่องราว (Internet of things) เท่าที่จะทำได้ ให้เป็นประโยชน์ในกิจกรรมการสร้างสรรค์รัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ อาทิ การประมวล การจำแนกแยกแยะ การวิเคราะห์ การเปรียบเทียบ การระดมสมอง การสังเคราะห์ การประเมิน และการยกร่างให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับอัจฉริยะแห่งอนาคต
- รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบประชาธิปไตยในกระบวนการของการได้มาและสาระที่ปรากฏ จึงขาดสง่าราศี ขาดความน่าศรัทธา และขาดความศักดิ์สิทธิ์ ที่จะรักษา เคารพ และเทิดทูนไว้ให้เป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยแห่งชาติต่อไปในอนาคตระยะยาว จำเป็นต้องสร้างรัฐธรรมนูญใหม่มาใช้แทน จึงขอสนับสนุนให้ประเทศไทยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งกันเองของประชาชนผู้เสนอตัวในจังหวัดต่างๆ (ตามแนวการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540) แล้วให้ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองอีกครั้งหนึ่ง หรือทางเลือกที่ด้อยลงมาคือ อาจให้มีคณะกรรมการเฉพาะกิจที่สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้ง ดำเนินการสรรหาตัวแทนจังหวัดอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา และให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติรายชื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญรอบสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง (เช่น เสนอชื่อตัวแทนแต่ละจังหวัดโดยกรรมการสรรหา 3 ชื่อ และเลือกโดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้เหลือเพียง 1 ชื่อต่อจังหวัด) และนอกจากสมาชิกของสภาร่างรัฐธรรมนูญจากจังหวัดต่างๆ แล้ว ก็อาจมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากฐานของความเป็นวิชาชีพ และให้สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งจำนวนหนึ่ง ร่วมสมทบเป็นสมาชิกของสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรืออาจแต่งตั้งให้มีผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว แต่เป็นเพียงที่ปรึกษาของสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ไม่ควรที่คณะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมาจาก สส.. และคนของพรรคการเมืองเท่านั้น เพราะอาจทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง
- การทำประชามติของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จะช่วยปลดล็อกกติกาต่างๆ ที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และช่วยสร้างสรรค์สาระใหม่ๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มิได้กล่าวถึง จึงขอสนับสนุนและเรียกร้องให้มีการทำประชามติย่อยเป็นระยะๆ ในหัวข้อเรื่องที่สำคัญ ในบางประเด็น ในเชิงพื้นที่ และในภาพรวม คือหากต้องการรัฐธรรมนูญที่มีคุณภาพมากกว่าฉบับใดๆ ที่ผ่านมา ก็ไม่ควรทำประชามติเพียงครั้งเดียวเพื่อรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่จำต้องทำมากครั้งขึ้น เพราะเพื่อให้ได้ข้อเห็นชอบหรือสรุปความเห็นที่แม่นยำตามความประสงค์ของประชาชนในหัวข้อสำคัญๆ ที่เป็นกังขา แม้จะต้องเสียงบประมาณมากขึ้นก็ตาม
- การแก้ไขสาระสำคัญทั้งปวงที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ทั้งฉบับ เพื่อสร้างสรรค์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ดีที่สุดก็ดี จำเป็นต้องมีบทบัญญัติและกระบวนการบังคับใช้ที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะได้มาเป็นฉบับสุดท้ายที่จะไม่ก่อให้เกิดรัฐประหารที่จะมาฉีกรัฐธรรมนูญได้อีก
- การกำหนดกติกาและขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินการตลอดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ถูกหลักวิชาการ ย่อมนำไปสู่การได้รัฐธรรมนูญที่มีคุณภาพสูง (เนื้อหาถูกต้องตามหลักการหรือมาตรฐานประชาธิปไตยสากล สามารถปฏิบัติได้จริงในทุกมาตรา และมีผลกระทบเชิงคุณค่าของการปฏิบัติ คือ การยังประโยชน์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของประชาชนได้ในระยะยาว) ฉะนั้นกติกาและขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ และช่วยกันพิจารณาจากหลายๆ ฝ่ายก่อนการอนุมัติ รวมทั้งการให้ภาคประชาชนเข้าร่วมวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดกว้างก็เป็นเรื่องสำคัญ
พนมมือทั้งซ้ายและขวาของท่านและพวกเราเข้าหากันเถิด ด้วยข้าพเจ้าเชื่อว่า หากฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่เปรียบเสมือนสมองและอวัยวะสองซีกของประชาชน มีสปิริตของการเป็นนักกีฬาในทางวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของการแข่งขันทางการเมืองในระบอบรัฐสภา ทั้งสองฝ่ายย่อมมีคุณค่าและสามารถดำรงอยู่เพื่อสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวมได้อเนกอนันต์ ทั้งที่ทำเองโดยแต่ละฝ่าย และทำร่วมกันอย่างวิภาษวิธีของทั้งสองฝ่าย
นอกจากนี้ ในยุคสมัยแห่งสังคมดิจิทัลที่อาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในทางข้อมูลข่าวสาร มาช่วยอย่างแรงฤทธิ์ แต่เทคโนโลยีที่เมื่อก่อนเรียกกันว่าเครื่องจักรกล ก็มิใช่ปัจจัยใหม่ แต่ก็มีพลังมากกว่าเดิมอย่างมาก จึงเป็นไปได้มากขึ้นที่การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญและรายการอื่นๆ ที่สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ จะไปเร็วขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ด้วยการอาศัยพลังแห่งความก้าวหน้าหรือนวัตกรรมของเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำคัญ
การวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดดย่อมจะเป็นไปได้ในหลายกิจกรรมในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และเป็นไปได้มากขึ้นที่ฝ่ายซ้ายและขวาจะต่อสู้แข่งขันกัน และร่วมมือกันในทางการเมืองและนอกเหนือการเมืองอย่างสูสีกันมากขึ้น โดยฝ่ายซ้ายคงมิใช่ผู้ด้อยค่าแบบเก่าก่อนในอดีต แต่เทคโนโลยีก็ควรถูกใช้อย่างเหมาะสมและชาญฉลาด อย่างที่ปัญญามนุษย์จะออกแบบและควบคุม (Intelligent design and control) มันได้ เพื่อใช้มันเป็นเครื่องมือ เติมเต็มความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์ทั้งในทางปัญญา จิตใจ และร่างกาย มิใช่ปล่อยให้เทคโนโลยีครอบงำและเป็นนายเหนือมนุษย์ในทุกมิติ อย่างที่อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อความเป็นมนุษยชาติผู้ประเสริฐให้ลดน้อยถอยลงไป!!
ที่มา :
- ข่าว “ประชุมสภา : สภาล่มรอบ 2 ในรอบ 2 วัน ยังตั้ง กมธ. ศึกษาผลกระทบ ม. 44 ไม่ได้” , 28 พ.ย. 2562, ใน https://www.bbc.com/thai/thailand-50313105 - วันสืบค้น 28 มกราคม 2563.
- ข่าว “ประชุมสภา : รัฐบาล “พลิกโหวต” คว่ำญัตติตั้ง กมธ. ศึกษาผลกระทบ ม.44”, 4 ธ.ค. 2562, ใน https://www.bbc.com/thai/thailand-50639978 - วันสืบค้น 28 มกราคม 2563.
- โชคชัย สุทธาเวศ. (13 ก.พ. 2564). “ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในทางการเมืองกับรัฐธรรมนูญไทยฉบับใหม่,” ประชาไท. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566.
อ้างอิง
- โชคชัย สุทธาเวศ “วิภาษวิธีของการ “อยู่ไม่เป็น” ในการสร้างสรรค์ประเทศไทย”, ใน https://prachatai.com/journal/2019/11/85372.
- พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ], มหาวรรค ภาค ๑. ธัมจักกัปปวัตตนสูตร ๑.
- รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560.
- Georg Wilhelm Friedrich Hegel: The Science of Logic [Wissenschaft der Logik], translated by George di Giovanni, New York: Cambridge University Press, 2010.
[1] โปรดดูประกอบข่าว “ประชุมสภา : สภาล่มรอบ 2 ในรอบ 2 วัน ยังตั้ง กมธ. ศึกษาผลกระทบ ม. 44 ไม่ได้” , 28 พ.ย. 2562, ใน https://www.bbc.com/thai/thailand-50313105 - วันสืบค้น 28 มกราคม 2563) และ “ประชุมสภา : รัฐบาล “พลิกโหวต” คว่ำญัตติตั้ง กมธ. ศึกษาผลกระทบ ม. 44”, 4 ธ.ค. 2562, ใน https://www.bbc.com/thai/thailand-50639978 - วันสืบค้น 28 มกราคม 2563).