ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความยอกย้อนของการอธิบายสถานะพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ในฐานะรัฐธรรมนูญ

2
พฤศจิกายน
2566

Focus

  • กฎหมายแม่บทที่อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวงเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญ แต่สังคมไทยก็มีความเห็นแตกต่างกัน ว่ารัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามหรือประเทศไทยคือฉบับใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ (1) ศิลาจารึกสมัยสุโขทัย หรือ (2) ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยามที่พยายามตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือ (3) พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
  • ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 อาจเป็นผลมาจากความพยายามเรียกร้องให้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองประเทศของคณะเจ้านายและข้าราชการเมื่อ ร.ศ. 103 (พ.ศ. 2427) ที่มี 20 มาตรา และแบ่งเป็น 5 เรื่อง คือ (1) สถานะของพระมหากษัตริย์ภายในพระราชอาณาเขต (2) ขอบเขตของพระราชอาณาเขต (3) กลไกการสืบสันตติวงศ์ (4) กลไกการสำเร็จราชการแผ่นดิน และ (5) กลไกเกี่ยวกับการประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน
  • หลักเกณฑ์กลางในการพิจารณาความเป็นรัฐธรรมนูญก็คือ การเป็นกฎหมายที่กำหนดระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดในรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจต่างๆที่มีต่อกัน ดังนั้น ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 อาจตีความว่าเป็นรัฐธรรมนูญได้ แต่มิได้มีนัยที่ชัดเจนในทางประชาธิปไตย และหากรวมถึงร่างรัฐธรรมนูญของฉบับพระยากัลยาณไมตรีสมัยรัชกาลที่ 7 ด้วยแล้ว ก็ยังเป็นเพียงการจัดสรรอำนาจรัฐมากกว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเช่นกัน

 

ในการศึกษาประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยแม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย แต่ในวงวิชาการมักจะมีการนำเสนอข้อถกเถียงหรือเอกสารหลักฐานในลักษณะเป็นการตั้งคำถามถึงความพยายามร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกเสมอ เพื่ออธิบายประวัติศาสตร์แนวคิดการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญไทย ตัวอย่างเช่น หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ที่ได้อธิบายว่า ศิลาจารึกเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย และนอกจากศิลาจารึกแล้ว เอกสารทางการเมืองที่มักจะถูกพูดถึงในฐานะความพยายามเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยคือ ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม ซึ่งมีความพยายามตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างไรก็ดีตามความเห็นของผู้เขียน การอธิบายสถานะของร่างพระราชกฤษฎีกาเป็นรัฐธรรมนูญมีข้อสังเกตที่น่าสนใจและควรแก่การนำมาถกเถียง ถึงความยอกย้อนในการอธิบายสถานะของร่างพระราชกฤษฎีกานี้

 

ทำความเข้าใจพระราชกฤษฎีกาที่ 1

ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม หรือที่จะเรียกกันต่อไปว่าร่างพระราชกฤษฎีกานี้ ไม่ปรากฏแน่ชัดว่ามีการร่างขึ้นเมื่อใด แต่จากการสันนิษฐานของคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยได้ให้ความเห็นว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 น่าจะทำขึ้นในช่วง ร.ศ. 113 หรือ พ.ศ. 2437 โดยเป็นช่วงปีที่ 26 ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ[1] ซึ่งเป็นเสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศและผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในศาสตร์หลายสาขา ซึ่งส่วนหนึ่งมีการสันนิษฐานว่ามูลเหตุในการพยายามยกร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ขึ้นมาเป็นผลมาจากความพยายามเรียกร้องให้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองประเทศของคณะเจ้านายและข้าราชการ ซึ่งได้จัดทำคำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 (พ.ศ. 2427)[2]

เนื้อหาของร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ประกอบไปด้วยบทบัญญัติของกฎหมายจำนวน 20 มาตรา โดยสามารถจัดประเภทได้เป็น 5 เรื่อง ได้แก่ เรื่องที่หนึ่ง สถานะของพระมหากษัตริย์ภายในพระราชอาณาเขต เรื่องที่สอง ขอบเขตของพระราชอาณาเขต เรื่องที่สาม กลไกการสืบสันตติวงศ์ เรื่องที่สี่ กลไกการสำเร็จราชการแผ่นดิน และเรื่องที่ห้า กลไกเกี่ยวกับการประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน ในแต่ละมาตราของร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จะมีชื่อมาตรากำกับไว้ อาทิ มาตรา 1 ราชอิสริยยศ ซึ่งเป็นการระบุเกี่ยวกับราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์สยามเหนือดินแดนและแสดงพระราชอาณาเขตของสยาม ตัวอย่างของบทบัญญัติในลักษณะนี้ อาทิ

 

ราชอิศริยยศ มาตรา ๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปนพระเจ้าแผ่นดิน ฤาพระเจ้ากรุงสยาม เปนบรมราชาธิราชแห่งมลาวประเทศ มลายู ประเทศกเหรี่ยง ฯลฯ ผู้ทรงพระคุณอันมหาประเสริฐ”[3]

 

บทบัญญัติในมาตรา 1 นี้เป็นการระบุเกี่ยวกับราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์สยามเหนือดินแดนและผู้คน รวมถึงแสดงพระราชอาณาเขตของสยาม หรือ

 

อมฤตราช มาตรา ๖ พระเจ้าแผ่นดินเปนอมฤตราช เพราะเหตุว่ามีมกุฎราชกุมารเปนผู้สืบขัตติยสันตติแลแผ่นดินไม่ไร้พระเจ้าแผ่นดินได้ ด้วยราชประเพณีอันนี้เท่านั้น”[4]

 

บทบัญญัติมาตรานี้สะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านรัชกาลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์โดยไม่ขาดตอน จากพระมหากษัตริย์สู่มกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงประเพณีการสืบราชสมบัติของสยามในอดีตที่ไม่ได้มีแนวทางที่ชัดเจนในลักษณะนี้

ลักษณะดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างของบทบัญญัติและเรื่องที่มีการบัญญัติเอาไว้ในร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ฉบับนี้

 

รัฐธรรมนูญคืออะไร

ย้อนกลับมาพิจารณาเกี่ยวกับการเป็นรัฐธรรมนูญของร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 นี้ ในทางวิชาการมีการแสดงความเห็นต่างๆ นานาว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 นี้เป็นรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างของความเห็นนี้ปรากฏในบทความของ ดร. วิษณุ เครืองาม ที่ระบุว่า “...ผู้เขียนเองมีความเห็นไปในทางว่าร่างพระราชกฤษฎีกานี้เป็นร่างรัฐธรรมนูญ...”[5]

ในทางวิชาการนั้นอะไรจะเป็นรัฐธรรมนูญมีประเด็นที่อาจจะถกเถียงได้ในหลายลักษณะ อย่างไรก็ดี การที่เอกสารทางการเมืองใดจะมีสถานะเป็นรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ไม่ได้สำคัญว่าเอกสารนั้นจะต้องมีชื่อเป็นรัฐธรรมนูญ เพราะแม้แต่คำว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้ในปัจจุบันโดยแปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า “constitution” ก็เป็นคำที่เพิ่งจะเกิดขึ้นมาในภายหลัง[6]

ในการพิจารณาว่าเอกสารทางการเมืองใดจะมีสถานะเป็นรัฐธรรมนูญนั้น มีหลักเกณฑ์กลางๆ ที่อาจจะนำมาพิจารณาความเป็นรัฐธรรมนูญได้ก็คือ เอกสารทางการเมืองนั้นควรจะต้องเป็นกฎหมายที่กำหนดระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดในรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจเหล่านี้ต่อกันและกัน[7] โดยไม่ได้มีสาระสำคัญอยู่ที่ระบบการปกครอง เพราะหากย้อนกลับไปพิจารณาบริบทของไทยในอดีต แนวคิดเกี่ยวกับการมีรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมาตั้งแต่ภายใต้การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์[8] ในบริบทเช่นนี้เอกสารทางการเมืองหลายๆ ฉบับอาจจะกลายเป็นเอกสารที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญได้ ซึ่งอาจรวมถึงพระราชกฤษฎีกาที่ 1 นี้ด้วย

เมื่อพิจารณารายละเอียดของพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ในแง่ของเนื้อหาที่ประกอบด้วยเนื้อหา 5 เรื่องดังกล่าวแล้วข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า เป็นเรื่องของการจัดการกำหนดระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดในรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจเหล่านั้น ซึ่งความเห็นในลักษณะนี้ก็สอดคล้องกับนักวิชาการรัฐธรรมนูญคนสำคัญอย่าง ดร. วิษณุ เครืองาม[9] อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมีความเห็นแตกต่างจาก ดร. วิษณุ เครืองาม ในประเด็นนี้ ดังจะได้กล่าวถึงในหัวข้อต่อไป

 

ทำความเข้าใจสถานะของพระราชกฤษฎีกาที่ 1

การอธิบายความเป็นรัฐธรรมนูญของร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม หากพิจารณาเฉพาะหลักเกณฑ์การเป็นรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายกำหนดระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดในรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจเหล่านั้น นัยดังกล่าวเป็นการอธิบายรัฐธรรมนูญในบริบทปัจจุบัน แต่เมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้เป็นเอกสารเก่า ในการพิจารณาสถานะความเป็นรัฐธรรมนูญอาจจะต้องย้อนกลับไปพิจารณาบริบทเวลานั้นประกอบด้วย

หากย้อนกลับไปทำความเข้าใจในช่วงเวลานั้นคือ ประมาณ พ.ศ. 2411 – 2468 ซึ่งเป็นช่วงเวลาภายใต้รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ความรับรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญหรือ “คอนสติตูชัน” มีสาระสำคัญเชื่อมโยงอยู่กับแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยและเป็นผลผลิตของแนวคิดแบบเสรีนิยม[10] ดังจะเห็นได้จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในจดหมายเหตุรายวัน เล่มที่ 2 วันที่ 13 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2454 จะพบว่า พระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับคุณลักษณะของการปกครองโดยมีคอนสติตูชันมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร โดยทรงอธิบายยึดโยงอยู่กับลักษณะการปกครองแบบประชาธิปไตยทั้งในเชิงเนื้อหาและกระบวนการประชาธิปไตย อาทิ การเลือกตั้ง การมีรัฐสภา และการมีพรรคการเมือง ซึ่งพระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยกับการมีรัฐธรรมนูญในบริบทเช่นนี้ ณ ช่วงเวลานั้น[11]

พระราชาธิบายดังกล่าวข้างต้นสะท้อนให้เห็นนัยของชนชั้นนำสยามที่มองว่า  รัฐธรรมนูญเป็นรูปแบบการเมืองการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสถาบันการเมืองที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจด้วยการมีรัฐสภา แต่สะท้อนการเกรงการเสียอำนาจสมบูรณ์ที่รวมศูนย์อยู่กับพระมหากษัตริย์[12]

นอกจากนี้ แนวคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของชนชั้นนำสยามมองว่า รัฐธรรมนูญเป็นเพียงกฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองของประเทศ ก่อตั้งองค์กรต่างๆ และเป็นเครื่องมือของกษัตริย์ในการจัดระเบียบการปกครองการปฏิรูป กำหนดอำนาจให้ชัดเจน และกระชับอำนาจให้กษัตริย์เท่านั้น[13] โดยไม่ได้มีนัยของการเป็นกฎหมายกำหนดอำนาจสูงสุดที่เป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพแต่อย่างใด เพราะอำนาจสูงสุดยังคงยึดโยงอยู่กับสถานะของพระมหากษัตริย์

ในประเด็นนี้ชี้ให้เห็นว่า แม้ในทางทฤษฎีอาจถือเอาได้ว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้เป็นความพยายามร่างรัฐธรรมนูญในประเทศไทย แต่การอธิบายในลักษณะดังกล่าวอาจจะไม่สอดคล้องกับความรับรู้ของชนชั้นนำไทยในเวลานั้น รวมถึงการอธิบายในลักษณะดังกล่าวมีความยอกย้อนในการอธิบาย กล่าวคือ เมื่อพิจารณาโดยตลอดแล้วเนื้อหาของร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ไม่ได้มีนัยชัดเจนที่สะท้อนคุณค่าของความเป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด ประกอบกับหากได้พิจารณาตัวอย่างของร่างรัฐธรรมนูญฉบับพระยากัลยาณไมตรี (Francis B. Sayre) หรือ Outline of Preliminary Draft เอกสารทางการเมืองฉบับนี้มีความใกล้เคียงกับแนวคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมากกว่า แม้ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญตามแนวทางแบบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เนื่องจากเอกสารดังกล่าวพยายามอธิบายถึงการจัดโครงสร้างของรัฐและความสัมพันธ์ทางอำนาจ

รัฐธรรมนูญฉบับพระยากัลยาณไมตรีประกอบไปด้วยเนื้อหาสำคัญ 10 เรื่อง โดยกำหนดให้อำนาจสูงสุดของประเทศยังเป็นของพระมหากษัตริย์ (มาตรา 1) เพียงจัดให้มีนายกรัฐมนตรีขึ้นมาเพื่อแบ่งเบาพระราชภาระเท่านั้น เนื่องจากพระมหากษัตริย์มีอำนาจในการแต่งตั้งและปลดนายกรัฐมนตรีได้ (มาตรา 2) และให้มีคณะรัฐมนตรีขึ้นคณะหนึ่งจากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยนายกรัฐมนตรีทำงาน (มาตรา 4) แต่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการลงมติปัญหาต่างๆ (มาตรา 5) โดยพระมหากษัตริย์สามารถมีพระบรมราชวินิจฉัยในปัญหาต่างๆ ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามทุกกรณี (มาตรา 6) และพระองค์มีคณะอภิรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษา (มาตรา 7) และมีองคมนตรีสภาตามพระราชอัธยาศัย (มาตรา 8) นอกจากนี้ยังให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดในทางตุลาการ (มาตรา 10) และนิติบัญญัติ (มาตรา 11) รวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยคำแนะนำและความยินยอมขององคมนตรีสภา (มาตรา 12)[14] ซึ่งจะเห็นได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้มีลักษณะเป็นการจัดสรรอำนาจรัฐมากกว่า ดังจะเห็นได้จากการจัดแบ่งโครงสร้างการใช้อำนาจรัฐออกเป็น 3 ฝ่าย ดังเข้าใจตามหลักการแบ่งแยกอำนาจแบบที่เข้าใจกันในปัจจุบันที่ประกอบด้วยอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยที่อำนาจทั้งสามยังคงยึดโยงอยู่กับพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นลักษณะของรัฐธรรมนูญภายใต้แนวคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มุ่งเน้นการกระชับอำนาจ

ดังจะเห็นได้ว่า การอธิบายร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่อาจจะถกเถียงกันได้ว่า เป็นการพิจารณาจากมุมมองไหน เพราะหากพิจารณาในบริบทของการอธิบายรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์ปัจจุบัน ก็อาจจะถือได้ว่า ร่างพระราชกฤษฎีกานี้เป็นรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าพิจารณาในบริบททางประวัติศาสตร์แล้ว อาจมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับความเป็นรัฐธรรมนูญของร่างพระราชกฤษฎีกา 1 ได้

หมายเหตุผู้เขียน :
บทความนี้สรุปสาระสำคัญมาจากหัวข้อ การเสนอมุมมองต่อร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ในฐานะความพยายามทำรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ใน เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, “ข้อสังเกตต่อทรรศนะของ วิษณุ เครืองาม เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม” (อยู่ระหว่างกระบวนการเผยแพร่)

 

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสาร ร.5 อ.2/8 เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม.

หนังสือภาษาไทย :

  • ปิยบุตร แสงกนกกุล. รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2559.
  • ประพัฒน์ ตรีณรงค์. พัฒนาการรัฐธรรมนูญไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. 2533.
  • พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามงกุฎราชวิทยาลัย. 2517.
  • วิษณุ เครืองาม. บทวิเคราะห์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม. ใน วารสารกฎหมายปกครอง 14(2). 2538.
  • สนธิ เตชานันท์. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย: ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม. ใน วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 8(1). 2521.
  • หยุด แสงอุทัย. หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน. 2539.

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :


[1] ไชยันต์ ไชยพร, (11 มีนาคม 2564), “ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม (1),” โพสต์ทูเดย์ [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2566 และประพัฒน์ ตรีณรงค์, พัฒนาการรัฐธรรมนูญไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักงานส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2533), น.13.

[2] วิษณุ เครืองาม, “บทวิเคราะห์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม,” (2538) วารสารกฎหมายปกครอง 14(2) : น.185.

[3] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, เอกสาร ร.5 อ.2/8 เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม. คงการสะกดตัวอักษรตามเอกสารต้นฉบับ.

[4] เรื่องเดียวกัน.

[5] วิษณุ เครืองาม, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, น. 171.

[6] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, (27 มิถุนายน 2564), “รัฐธรรมนูญคืออะไร: ความหมายและที่มาของคำ,” สถาบันปรีดี พนมยงค์ [online] สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2566.

[7] หยุด แสงอุทัย, หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป, พิมพ์ครั้งที่ 9, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน 2539), น.39.

[8] ปิยบุตร แสงกนกกุล, รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2559), น.14

[9] วิษณุ เครืองาม, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, น.182.

[10] สนธิ เตชานันท์, “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย: ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม” (2521) วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 8(1) : น.51.

[11] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามงกุฎราชวิทยาลัย, 2517), น.48-62.

[12] ปิยบุตร แสงกนกกุล, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 8, น.18.

[13] เพิ่งอ้าง, น.27

[14] กษิดิศ อนันทนาธร, (1 ธันวาคม 2563), “ร่างรัฐธรรมนูญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อน 2475,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2566.