ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

แม่สอดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

29
ธันวาคม
2565

ย้อนไปช่วงวันที่ 16-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ทางมูลนิธิปรีดี พนมยงค์และสถาบันปรีดี พนมยงค์จัดโครงการเยี่ยมชมถนนเสรีไทย ณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ร่วมเดินทางไปกับคณะดังกล่าว

 

ป้ายชื่อ “ถนนเสรีไทย”

 

“ถนนเสรีไทย” เป็นถนนสายตัดใหม่ยาวประมาณ 9 กิโลเมตร ปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 มีการผลักดันให้ตั้งชื่อถนนเพื่อเป็นเกียรติประวัติแด่เหล่าวีรชนและสมาชิกขบวนการเสรีไทย พร้อมทั้งรำลึกถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แน่นอนทีเดียวว่าจังหวัดตากและอำเภอแม่สอดนับเป็นอีกพื้นที่สำคัญยิ่งยวด นั่นเพราะ นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้มอบหมายให้สมาชิกของขบวนการเสาะหาชัยภูมิอันเหมาะสมในเขตจังหวัดตากไว้ตั้งค่ายสำหรับปฏิบัติการฝึกอาวุธของพลพรรคต่อต้านญี่ปุ่นและรับร่มสัมภาระจากเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตร

ไม่เพียงแค่การไปเยี่ยมชมถนนเสรีไทยเท่านั้น ทางมูลนิธิปรีดี พนมยงค์และสถาบันปรีดี พนมยงค์ยังจัดกิจกรรมมอบทุนการศึกษา สนับสนุนสื่อการเรียนการสอนให้แก่โรงเรียนและนักเรียนในเขตอำเภอแม่สอดจำนวน 7 โรงเรียนด้วย 

ผมจึงปรารถนานำเสนอเรื่องราวสะท้อนบรรยากาศช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในอำเภอแม่สอด ซึ่งเป็นเมืองชายแดนพม่าที่กองทัพญี่ปุ่นพยายามเดินทางเข้าไปยึดครอง จึงทำให้ปรากฏนายทหารญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยในแม่สอด

 

แม่สอดในอดีต
แม่สอดในอดีต

 

ข้อมูลจากหลักฐานชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจคือ บันทึกของ นายสวงษ์ เสมดี ตอนที่เขาไปรับราชการตำแหน่งศึกษาธิการประจำอำเภอแห่งนี้นับแต่ปี พ.ศ. 2487 เป็นต้นมา เนื้อความตอนหนึ่งมีว่า

 

“ปัจจุบันในประเทศไทย ยิ่งอำเภอแม่สอด เหตุการณ์กำลังตึงเครียด  มีทั้งทหารยี่ปุ่น แขกอินเดีย เข้ามายุ่มย่ามไปหมด ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ใช้เครื่องบินแบบต่างๆ เข้ามาทำลาย เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม เวลาประมาณ 17.30 น. ยิงโรงเรียนข้างสนามบินที่อยู่ในความควบคุมของเราพรุนหมด  จำเป็นต้องขออนุญาตปิดชั่วคราว การติดต่อทั่วไปแทบจะขาดกัน ข่าวคราวทางบ้านไม่ได้รับเลย”

 

นายสวงษ์มิวายเอ่ยถึงเรื่องเงินในระหว่างสงคราม

 

“เรื่องการเงินเวลาที่เกิดสงครามคงจำได้ว่า กระแสเงินย่อมปั่นป่วนไหลขึ้นไหลลงเหมือนกระแสน้ำทะเล ชาติใดมีอำนาจเป็นฝ่ายชนะ เงินของเขาก็มีราคา ฝ่ายแพ้ก็ลดราคา เช่นฝ่ายญี่ปุ่น เงินลดต่ำที่สุด (เงินญี่ปุ่นในพะม่าร้อยรูปีเท่ากับยี่สิบสตางค์ของเงินไทย) ใครที่รวยเงินญี่ปุ่นมากๆ โอดเลยทีเดียว เงินนั้นกลายเป็นกระดาษชำระไม่มีค่า การสงครามเวลารบกัน พวกบุกไปถึงไหนย่อมทำธนบัตรของเขาเป็นของเราใช้ตลอดเรื่อยไป ใครที่หวังเป็นมหาเศรษฐีสงครามย่อมมีเงินของฝ่ายชาติที่บุกมาในดินแดนนั้นมาก และถ้าฝ่ายนั้นแพ้ พ่อค้าหงิกเลยเพราะหมุนเงินไม่ทัน... สงครามครั้งนี้ดีว่าประเทศไทยฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ถือว่าเป็นคู่สงครามด้วย จึงหนักเป็นเบา แต่รัฐบาลก็จำเป็นต้องจำกัดเงินเฟ้อเพื่อให้เงินภายในประเทศมีพอกับเงินสำรอง”

 

ครั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 พอวันถัดมาทางแม่สอดก็เริ่มรับทราบข่าวคราว ดังเสียงเล่าของนายสวงษ์

 

“ไม่นึกเลยว่าควันของมหายุทธสงครามครั้งนี้จะจางลงได้ เราอยู่แม่สอดได้ทราบข่าวนี้ตั้งแต่ 17 ส.ค. 2488 ปรากฏว่าฝ่ายญี่ปุ่นยอมรับข้อเสนอสันติภาพของฝ่ายสัมพันธมิตร มีสัก 5 ข้อ อะไรบ้างก็ไม่ทราบ ฝ่ายทางการของเราก็มีโทรเลขด่วนแจ้งแก่ข้าราชการ ราษฎร มิให้ทำการเย้ยหยันญี่ปุ่น…”

 

จะเห็นว่า แม้จะเคยรบราฆ่าฟันกันเพื่อปกป้องประเทศชาติ แต่เมื่อทำสัญญาสงบศึกและประกาศสันติภาพแล้ว ทางการไทยก็ไม่อยากให้คนไทยไปข่มเหงน้ำใจฝ่ายผู้แพ้เยี่ยงกองทัพญี่ปุ่น ถือว่าอโหสิให้กัน

 

นายสวงษ์ เสมดี
นายสวงษ์ เสมดี

 

แท้จริง นายสวงษ์ เสมดี เป็นคนจังหวัดสมุทรปราการ พอเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนวัดราชาธิราช และสำเร็จประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษมัธยม เขาก็เข้ารับราชการครูในโรงเรียนประชาบาล ตำบลราชาเทวะ 1 (วัดกิ่งแก้ว) ณ จังหวัดบ้านเกิด การงานเจริญก้าวหน้าขึ้นเรื่อยจนกระทั่งปี พ.ศ. 2484 นายสวงษ์ได้เดินทางไกลมายังภาคเหนือเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการประจำกิ่งอำเภอสามเงา จังหวัดตาก

 

ที่ว่าการอำเภอแม่สอด
ที่ว่าการอำเภอแม่สอด

 

พอล่วงถึงปี พ.ศ. 2487 ขณะอายุประมาณ 34 ปี ก็ได้ย้ายมารับตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอแม่สอด ราวกับโชคชะตาลิขิตให้ นายสวงษ์ กับแม่สอดมีความผูกพันกันแน่นแฟ้น ประหนึ่งเขาเป็นคนของที่นี่ เพราะปฏิบัติงานอย่างขันแข็งอยู่ในตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอตราบจนเกษียณอายุราชการ เป็นบุคคลที่ชาวแม่สอดเคารพนับถือ มักได้รับการขอให้ไปเป็นเถ้าแก่สู่ขอเจ้าสาวและปูที่นอนให้แก่คู่สมรส

นายสวงษ์ กลายเป็นคนแม่สอด แม้จะไม่ได้โดยกำเนิด แต่เขาก็ฝากลมหายใจโรยรินสุดท้ายที่อำเภอแห่งนี้เมื่ออายุราว 80 ปี

ท่านศึกษาธิการสวงษ์ มีความสามารถทางด้านการเล่นดนตรีไทยและขับร้องเพลงไทยเดิม ในยามว่างเขาชอบปลูกผักพืชผักสวนครัว เลี้ยงไก่และม้า ทั้งยังส่งเสริมให้ชาวแม่สอดรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เขาเองก็พยายามหารายได้พิเศษมาจุนเจือครอบครัวของตนด้วยการทำแท่นประดับเขาสัตว์และตัวสัตว์ออกจำหน่าย ด้วยฝีมือประณีตสวยงาม เขาจึงคว้ารางวัลชนะเลิศในการประกวดที่จัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

 

บรรยากาศเมืองแม่สอดในอดีต
บรรยากาศเมืองแม่สอดในอดีต

 

ยังมีปากคำความทรงจำของชาวแม่สอดที่ไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรทำนองที่ว่า เคยคลุกคลีหรือเคยรับจ้างช่วยทำงานให้พวกทหารญี่ปุ่นในตัวเมือง

ผมเกริ่นไว้แต่ต้นว่า แม่สอดเป็นหนึ่งในพื้นที่ปฏิบัติการเสรีไทย สืบเนื่องจาก นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าใหญ่ของขบวนการ และ นายพึ่ง ศรีจันทร์ รัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้เป็นหัวหน้าภาคเหนือตอนล่าง ได้มีคำสั่งให้จัดตั้งกลุ่มคนเพื่อปฏิบัติการลับต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในเขตจังหวัดพิษณุโลก, อุตรดิตถ์, สุโขทัย และตาก ส่วนพวกปฏิบัติการสายต่างประเทศที่พยายามกระโดดร่มเข้ามานั้น นายพึ่ง จะเน้นดูแลพวกปฏิบัติการทางสายสหรัฐอเมริกา จึงกำหนดให้ นายใหญ่ ศวิตชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ ดูแลพวกปฏิบัติการทางสายอังกฤษ ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่เข้ามาในพื้นที่จังหวัดตากและแม่สอด

 

ถนนอินทรคีรีในตัวเมืองแม่สอด
ถนนอินทรคีรีในตัวเมืองแม่สอด

 

ต้นปี พ.ศ. 2488 นายทหารสายอังกฤษชุดปฏิบัติการ “เนโรเนียน” ลอบกระโดดร่มเข้ามาในเมืองไทย ได้แก่ ร้อยตรีอรุณ สรเทศน์ ใช้รหัสลับ “ไก่ฟ้า” และ ร้อยตรีหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธ์ ใช้รหัสลับ “ขุนช้าง” ทั้งสองกระโดดร่มลงที่แถวสุโขทัยด้วยความผิดแผน จึงทำให้ทหารญี่ปุ่นในค่ายละแวกนั้นพบเห็น สมาชิกขบวนการที่มารับต้องรีบพาหลบหนีไปทางอุตรดิตถ์ ผ่านแต่ละเมืองก็ได้แวะพบสมาชิกขบวนการ จวบจนเข้ามาในเมืองตาก แวะพักชั่วคราวที่บ้านในตรอกบ้านจีนของ นายหมัง สายชุ่มอินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าเสรีไทยของจังหวัด ก่อนจะออกไปพักค้างแรมหนึ่งคืนอยู่กับ นายบุญธรรม อินทรวรรณโน ผู้ใหญ่บ้านประดางริมแม่น้ำปิง (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอวังเจ้า)

ก่อนหน้านั้น นายหมัง มอบหมายให้ ผู้ใหญ่บุญธรรม เสาะหาพื้นที่สำหรับตั้งค่ายใหญ่ของพลพรรคปฏิบัติการเสรีไทยเตรียมไว้แล้ว นั่นคือ หมู่บ้านม้งบนดอยห้วยเหลือง ตำบลแม่ท้อ ระหว่างเมืองตากกับแม่สอด 

ผู้ใหญ่บุญธรรม นำทางพา ร้อยตรีอรุณ และ ร้อยตรีหม่อมเจ้าการวิก บุกเข้าป่าเขตระหว่างวังเจ้ากับแม่สอด ผ่านนาโบสถ์และนอนค้างกลางป่าหนึ่งคืน พอเที่ยงของอีกวันก็ถึงหมู่บ้านม้งดอยห้วยเหลือง นายทหารเสรีไทยสายอังกฤษตัดสินใจตั้งค่ายฝึกฝนอาวุธต่อสู้ทหารญี่ปุ่น มีกองบัญชาการบริเวณผาวอกใกล้ๆ หมู่บ้าน ค่ายดอยห้วยเหลืองถ้ามองลงมาจากเครื่องบินจะเห็นเป็นเพียงหมู่บ้านม้งเท่านั้น มีความมิดชิด แทบมองไม่ออกว่าจะมีกองกำลังฝึกฝนอาวุธอยู่ในไร่ข้าวโพดและชายป่า ทางหนีทีไล่ก็ดี สามารถรับสัญญาณวิทยุจากขบวนการเสรีไทยในกัลกัตตา ประเทศอินเดียได้เยี่ยมยอด

ไม่นานเท่าใดนัก พลพรรคของค่ายดอยห้วยเหลืองก็เพิ่มขึ้นเป็นราวๆ 300 นาย พร้อมรบกับทหารญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่บ้านบุญธรรม ก็รับหน้าที่คอยเป็นผู้ติดต่อส่งข่าวสารระหว่างค่ายบนหมู่บ้านม้งกับผู้ปฏิบัติการในตัวเมืองตาก 

กระทั่งตอนที่ กำนันเขียน ชูโฉม แห่งตำบลแม่สลิด (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอบ้านตาก) บุกเข้าไปทำลายแพของทหารญี่ปุ่น ก็ต้องหลบหนีการตามล่าขึ้นไปซุ่มซ่อนตัวอยู่ในค่ายบนดอยห้วยเหลืองเช่นกัน 

อำเภอแม่สอดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 น่าจะมีข้อมูลรายละเอียดอีกมากมายรอคอยการสืบค้นให้กระจ่างแจ่มชัด เพียงแต่อาจยังมิได้บันทึกเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไว้ให้รอบด้าน ทว่าตามที่ผมได้เพียรสาธยายมานั้น ก็คงพอจะเผยให้เห็นภาพของเมืองแห่งนี้ในห้วงยามที่นายทหารญี่ปุ่นเข้ามาเดินตบเท้าและชักดาบซามูไร รวมถึงความเคลื่อนไหวต่อสู้ของขบวนการเสรีไทยอยู่บ้าง

 

เอกสารอ้างอิง 

  • พยุง ย. รัตนารมย์. “ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น และเสรีไทยในจังหวัดตาก.” ใน วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2541. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541. หน้า 71-86.
  • แม่สอดหนึ่งร้อยปี. อนุรักษ์ พันธุรัตน์ บรรณาธิการ. ตาก: ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอแม่สอด โรงเรียนสรรพวิทยาคม, 2541.
  • วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. ตำนานเสรีไทย The FreeThai Legend. เริงชัย พุทธาโร บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546.