ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สูทสีกรมท่าตัวโปรดของนายปรีดี พนมยงค์

22
มกราคม
2566

ภาพจำหนึ่งอันคุ้นเห็นเนืองๆ ของ นายปรีดี พนมยงค์ ขณะลี้ภัยทางการเมืองในต่างแดนตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2490 เรื่อยมาจวบจนทศวรรษ 2520 นั่นคือภาพของชายชราสวมสูทสีกรมท่า บางทีก็สวมหมวกและถือไม้เท้า โดยเฉพาะห้วงยามที่เขาพำนักอยู่ประเทศฝรั่งเศส นับจากต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1970 (ตรงกับ พ.ศ. 2513) ตราบสูญสิ้นลมหายใจเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1983 (ตรงกับ พ.ศ. 2526)

แม้การสวมชุดสูทของ นายปรีดี อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ต่อสายตาใครอื่น หาใช่สิ่งสลักสำคัญน่าสนอกสนใจ และคงไม่มีประเด็นอะไรให้น่าศึกษาค้นคว้า หากผมกลับมิได้มองเช่นนั้นเลยสักนิด เพราะสายตาของผมได้ค้นพบว่า ภาพ นายปรีดี พนมยงค์ ในชุดสูทนั้นสามารถสะท้อนถึงชีวิตของอดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 7 และบริบททางประวัติศาสตร์อย่างชวนขบคิด 

ภายหลังการอสัญกรรมของนายปรีดีล่วงผ่านไปไม่นานนัก ทางหนังสือพิมพ์ สยามใหม่ ได้มาเยือนบ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส และสัมภาษณ์ปากคำของ ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล บุตรสาวคนหนึ่งของเขา แล้วนำมารายงานในหัวเรื่อง บันทึกชีวิตสมถะ ปัจฉิมวัยที่กรุงปารีส เผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ฉบับประจำวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2526 ซึ่งเนื้อความส่วนหนึ่งเอ่ยถึงการแต่งกายของนายปรีดีว่า 

“เสื้อผ้าที่ท่านสวมใส่ก็มีอยู่น้อยชุด หากอยู่ภายในบ้าน ท่านมักสวมกางเกง เสื้อเชิ้ตทับด้วยเสื้อไหมพรม และผ้าพันคอปกป้องความหนาวเย็น” 

และ

“แต่หากออกไปไหนมาไหนนอกบ้าน ก็มักจะใส่สูทสีกรมท่าตัวโปรดที่ตัดที่สิงคโปร์เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว สวมหมวกและถือไม้เท้า ตั้งแต่มาอยู่ที่ฝรั่งเศส ท่านไม่เคยตัดสูทที่นี่เลยเพราะราคาแพง เมื่อครั้งอยู่ที่จีนเคยตัดเพียงชุดเดียว ส่วนเสื้อเชิ้ตนั้นนานๆ จะซื้อสักตัวหนึ่ง”

ควรกล่าวด้วยว่าเดิมทีชุดสูทถือเป็นเครื่องแบบของสุภาพบุรุษชาวอังกฤษที่นิยมสวมใส่กันในราชสำนัก ต่อมามีบุคคลสำคัญชื่อ โบ บรัมเมลล์ (Beau Brummell) พยายามบุกเบิกให้ชุดสูทกลายเป็นเสื้อผ้าที่ประชาชนทั่วไปสามารถสวมใส่กันได้

สำหรับสังคมไทยการแต่งชุดสูท หรือชุดสากลได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมของชาวตะวันตก ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 น่าจะเริ่มต้นในกลุ่มชนชั้นนำระดับสูงและกลุ่มของราชทูต ซึ่งจะต้องแต่งกายด้วยชุดสูทเมื่อคราวเดินทางไปร่วมงานพิธีสำคัญในต่างประเทศ ดังเราคงจะเคยเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 5 ขณะทรงชุดสูทสากล

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงชุดสูทสากล
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงชุดสูทสากล

หรือยังมีกรณีของ หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ เทวกุล (ภายหลังได้รับสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย) ที่จะต้องไปรับตำแหน่งอัครราชทูตพิเศษประจำกรุงวอชิงตัน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1912 (ตรงกับ พ.ศ. 2555) โดยขณะพำนักอยู่ที่กรุงลอนดอนเพื่อเตรียมความพร้อมก่อน หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์สั่งตัดชุดสูทที่จะสวมใส่ในงานพิธีรายงานตัวต่อประธานาธิบดี แต่พอถึงวันจะออกเดินทาง ชุดสูทที่สั่งตัดเสร็จไม่ทันตามกำหนดเวลา เป็นเหตุให้หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ต้องเลื่อนตั๋วเรือไปสหรัฐฯ ที่จองไว้แล้ว เรือลำนั้นคือ เรือไททานิก (RMS Titanic) หม่อมเจ้าชาวสยามจึงมิได้ร่วมเผชิญเหตุการณ์เรือแล่นชนภูเขาน้ำแข็ง

หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ เทวกุล
หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ เทวกุล

เมื่อล่วงสู่ทศวรรษ 2460 และเรื่อยไปถึงทศวรรษ 2470 คนไทยเริ่มบริโภคสินค้าที่เป็น “ของนอก” หรือนำเข้ามาจากต่างประเทศ ประกอบกับการรับชมภาพยนตร์ตะวันตกจึงทำให้เกิดแฟชั่นการแต่งกายแบบสากลขึ้นแพร่หลาย มีแหล่งตัดเสื้อผ้าชุดสากลซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจของพ่อค้าชาวอินเดียย่านพาหุรัด และมีบริษัทของชาวอินเดียมุสลิมจากทางตอนใต้ที่เข้ามาตัดชุดสูทและชุดขนสัตว์ย่านสีลม นอกจากนี้ ก็มีกิจการขายเสื้อผ้าสากลของพ่อค้าชาวจีนย่านสำเพ็ง และร้านแถวสามยอด บริเวณถนนเจริญกรุง

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คนไทยหันมานิยมแต่งกายด้วยชุดแบบสากลกันอย่างมาก มิหนำซ้ำ ยังมีการเปิดโรงเรียนสอนตัดเสื้อชายแห่งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2476 คือ โรงเรียนสอนตัดเสื้อวัดสุทัศน์ ครั้นช่วงทศวรรษ 2480 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการประกาศรัฐนิยมซึ่งมีข้อกำหนดว่าด้วยเครื่องแต่งกาย และมุ่งเน้นให้คนไทยแต่งกายแบบชุดสากล 

อย่างไรก็ดี เมืองไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดภาวะขาดแคลนเสื้อผ้าจนก่อปัญหาค่อนข้างวิกฤต กระทั่งหลังสงครามโลกสิ้นสุดลงแล้ว คนไทยจึงหันมาเอาใจใส่เรื่องการแต่งกายอีกหน

การสวมชุดสูทก็ได้รับความนิยมในสังคมไทยยิ่งนัก เพราะเป็นชุดที่แสดงถึงความเหมาะสมในการร่วมงานพิธีการและดูสุภาพเรียบร้อย โดยเฉพาะชุดสูทโทนสีเข้มกับเสื้อเชิ้ตสีขาว 

บุคคลแห่งคณะรัฐบาล นักการเมือง และนักธุรกิจ จะแต่งชุดสูทจนกลายเป็นภาพลักษณ์และภาพจำมาตราบปัจจุบันนี้ ชุดสูทมักถูกเชื่อมโยงให้เข้ากับบทบาทของนักการเมือง รวมถึงก่อให้เกิดถ้อยคำเปรียบเปรยทางการเมืองอยู่หลายคำ

ยุคนั้น ยังมีอีกบุคคลหนึ่งผู้สร้างแฟชั่นการสวมชุดสูทที่แตกต่างสะดุดตาคือ เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) แน่นอนว่า ภาพลักษณ์ของเขาส่งอิทธิพลมาสู่คนหนุ่มชาวไทยมิใช่น้อย

ช่วงทศวรรษ 2490 (หรือทศวรรษ 1950) เป็นห้วงยามที่ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยทางการเมืองไประหกระเหินในต่างแดน ซึ่งช่วงระยะหนึ่งก็พำนักอยู่สิงคโปร์ ที่นั่น นายปรีดี ได้สั่งตัดชุทสูทสีกรมท่าขึ้นตัวหนึ่ง ซึ่งต่อมากลายเป็นสูทตัวโปรดของเขา

น่าเสียดายเหลือเกิน ที่ยังตามแกะรอยไม่พบว่า นายปรีดี สั่งตัดสูท ณ ร้านใดในเกาะสิงคโปร์ แม้ต่อมา นายปรีดี จะพำนักอยู่เมืองจีนเนิ่นนานถึง 21 ปี แต่เขาเคยสั่งตัดชุดสูทเพียงชุดเดียวเท่านั้น ครั้นย้ายมาพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสแทนเมื่อปี ค.ศ. 1970 (ตรงกับ พ.ศ. 2513) จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี ค.ศ. 1983 (ตรงกับ พ.ศ. 2526) เขาก็ไม่เคยสั่งตัดสูทในฝรั่งเศสสักชุดเดียว ทั้งๆ ที่ฝรั่งเศสเป็นเมืองแห่งแฟชั่นการแต่งกายและเลื่องลือในด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าอย่างประณีตงดงาม คงเพราะการตัดชุดสูทที่นั่นราคาแพงลิบลิ่ว

นายปรีดี พนมยงค์
นายปรีดี พนมยงค์

ภาพยามปัจฉิมวัยของ นายปรีดี ในฝรั่งเศสจึงมักเป็นภาพชายชราชาวเอเชียสวมชุดสูทสีกรมท่าตัวเก่าๆ ซึ่งเคยตัดเมื่อ 30 กว่าปีก่อนในสิงคโปร์ ทั้งๆ ที่บุคคลผู้นี้เคยครองตำแหน่งระดับสูงเป็นถึงมันสมองและผู้นำเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยาม เคยเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารบ้านเมือง

การสวมสูทสีกรมท่าตัวเก่า จึงน่าจะสะท้อนถึงความสมถะของ นายปรีดี พนมยงค์ ที่ยึดถือปณิธานมุ่งเน้นประโยชน์ของการใช้สอยเสื้อผ้าเสียมากกว่าการตามแฟชั่น ครั้นเมื่อนายปรีดีถึงแก่อสัญกรรม จากคำบอกเล่าของบุตรีคนสุดท้อง ดุษฎี พนมยงค์ ได้เล่าให้ฟังว่า ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้สั่งให้นำสูทตัวโปรดดังกล่าวมาสวมใส่ให้กับนายปรีดีเป็นวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

 

เอกสารอ้างอิง

  • โดม ไกรปกรณ์. “การค้าเสื้อผ้าในสังคมกรุงเทพฯสมัยรัชกาลที่ 6 ถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2.” วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีที่ 17 (มกราคม-ธันวาคม 2557).
  • “บันทึกชีวิตสมถะ ปัจฉิมวัยที่กรุงปารีส.” ใน มิตรกำสรวล เนื่องในมรณกรรมของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: โครงการ "ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย", 2526. หน้า 475-481.
  • อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. ผจญไทยในแดนเทศ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: แซลมอน, 2560.
  • อินทิรา ซาฮีร์. เครือข่ายพ่อค้าผ้าชาวอินเดียในสังคมไทยระหว่าง พ.ศ. 2400-2490. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546.
  • Antongiavanni, Nicholas. The Suit: A Machiavellian Approach to Men's Style. New York: HarperCollins Publishers, 2006.