“ความเท่าเทียมทางเพศ” ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่การรับสิทธิในการเลือกตั้งโดยเสมอภาคเท่าเทียม จนไปถึงการรับรองสิทธิในความเท่าเทียมทางเพศ การรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกำหนดห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยอาศัยเหตุเนื่องจากเพศของบุคคล อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกันกับกฎหมายหลายๆ ฉบับที่ในกฎหมายกับในความเป็นจริงแตกต่างกัน สิทธิความเสมอภาคทางเพศก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ในทางกฎหมายกับในความเป็นจริงอาจจะเดินสวนทางกันอยู่ ด้วยปัจจัยเชิงสังคมวัฒนธรรมต่างๆ ที่อยู่ภายในสังคม
ทรรศนะทางสังคมที่ยังไม่ตระหนักถึงความเสมอภาคทางเพศ
สิทธิความเสมอภาคทางเพศนั้นเช่นเดียวกันกับสิทธิต่างๆ ภายใต้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย กล่าวคือ สิทธิทั้งหลายนั้นไม่ใช่เพียงแค่จะต้องมีการรับรองในฐานะสิทธิทางการเมืองและสิทธิทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่สังคมประชาธิปไตยสมบูรณ์คนในสังคมจะต้องมีทรรศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยด้วย ปัญหาของสังคมไทยที่ผ่านมาคือ ทรรศนะทางสังคมเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศยังคงไม่เป็นจริงมากเท่าใดนัก
จากการสำรวจของธนาคารโลกในปี พ.ศ. 2561 ระบุว่า ในประเทศไทยมีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นทั้งในเรื่องการเข้าถึงโอกาสในการทำงาน การรับบริการของรัฐ การศึกษาหรือการฝึกอบรม และบริการด้านสาธารณสุข ตลอดจนการซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ โดยจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดพบว่า ร้อยละ 60 ของกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender) ร้อยละ 30 ของกลุ่มเลสเบี้ยน และร้อยละ 20 ของกลุ่มเกย์ ถูกเลือกปฏิบัติในการทำงาน และมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า ใบสมัครของตนถูกปฏิเสธด้วยเหตุแห่งการมีอัตลักษณ์เป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ[1]
นอกจากนี้ UNDP และ Love Frankie ได้ทำการสำรวจเกี่ยวรูปแบบการถูกเลือกปฏิบัติเนื่องจากการเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ พบว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยมีแนวโน้มจะถูกเลือกปฏิบัติได้อย่างน้อย 7 รูปแบบ ได้แก่ (1) โดนล้อเลียนหรือดูถูกหรือต่อว่า (2) ถูกทอดทิ้งจากกลุ่ม/สังคม (3) โดนไล่ออกจากงานหรือสูญเสียโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ (4) โดนล่วงละเมิดทางเพศ (5) โดนทำร้ายร่างกาย (6) โดนให้ออกจากที่อยู่อาศัย และ (7) โดนตำรวจมาตรวจจับ โดยรูปแบบการเลือกประบัติที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด 4 อันดับ คือ รูปแบบที่ (1) – (4)[2]
ส่วนหนึ่งของกระบวนการเลือกปฏิบัติดังกล่าวเกิดขึ้นในสภาวะที่สังคมกำลังอยู่ในระหว่างการเรียนรู้และพยายามปรับตัว สถานการณ์ดังกล่าวน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นบ้าง แต่อุปสรรคใหญ่ของสังคมนั้นมาจากปัจจัยเชิงวัฒนธรรมอื่นๆ ที่เข้ามาผสมโรง ทำให้การก่อให้เกิดทรรศนะทางสังคมที่ตระหนักถึงความเสมอภาคทางเพศไม่เกิดขึ้น อาทิ การกีดกันสิทธิในการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือการยังไม่ตระหนักถึงคุณค่าของมนุษย์ที่มีความหลากหลายในสังคมอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงระหว่างเพศในสังคมซ้ำๆ
ความเสมอภาคทางเพศที่ไม่ใช่แค่มิติหญิงชาย : การปรับวิธีคิดเกี่ยวกับเพศเสียใหม่
การทำความเข้าต่อประเด็นความเสมอภาคทางเพศในปัจจุบัน ควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจ “เพศ” เสียใหม่ โดยในปัจจุบันเมื่อพูดถึงเรื่องความเสมอภาคทางเพศแล้ว อาจจะต้องมีการทำความเข้าใจและอธิบายความหมายเกี่ยวกับเพศเสียใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอธิบายเพศในปัจจุบันไม่ควรถูกอธิบายผ่านเพศโดยกำเนิด (คิดจากฐานคิดว่าเพศมีแค่หญิงชายและใช้อวัยวะเพศเป็นเกณฑ์) แต่ควรทำความเข้าใจบทบาทเกี่ยวกับเพศในแง่ของเพศสภาพ (Gender) และเพศวิถี (Sexuality) ของบุคคลมากกว่า ซึ่งทำให้เพศมีความหลากหลายมากขึ้น อาทิ เลสเบี้ยน เกย์ และไบเซ็กชวล ซึ่งจะตรงกับความเป็นจริงของสังคมที่ในปัจจุบันเพศไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพศหญิงหรือเพศชายอีกต่อไป
ฉะนั้น เมื่อการทำความเข้าใจและอธิบายความหมายเกี่ยวกับเพศเสียใหม่แล้ว จะเห็นได้ว่ามิติของความเสมอภาคทางเพศจึงไม่ใช่แค่มิติความเสมอภาคระหว่างเพศหญิงและเพศชายอีกต่อไป แต่ควรพิจารณาความเสมอภาคทางเพศบนมิติของความหลากหลายและโอบรับความหลากหลายที่เพิ่มมากขึ้น
การอธิบายกรอบคิดเรื่องเพศในลักษณะนี้รัฐควรจะต้องนำไปปรับเปลี่ยนในเชิงนโยบาย รวมไปถึงมุมมองของรัฐที่มีต่อเรื่องเพศเสียใหม่ นอกจากนี้การจะรองรับความเสมอภาคดังกล่าวได้นั้น กฎหมายก็ไม่ควรเป็นอุปสรรคในการรับรองสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งกฎหมายใดที่ขัดขวางหรือจำกัดสิทธิดังกล่าวก็ควรจะต้องถูกแก้ไขให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน
แม้สังคมจะก้าวไปข้างหน้า แต่กฎหมายล้าสมัยยังคงถูกใช้บังคับอยู่
กฎหมายเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่คอยย้ำเตือนต่อวัฒนธรรมความไม่เสมอภาคทางเพศ และคอยขัดขวางการสร้างทรรศนะทางสังคมที่ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ในปัจจุบันมีกฎหมายบางฉบับที่ยังเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงไทยที่สมรสกับชายต่างด้าว อาทิ กฎหมายสัญชาติซึ่งกำหนดให้สามีต่างด้าวที่ประสงค์จะต้องพำนักอยู่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี ในขณะที่ภรรยาต่างด้าวของชายชาวไทยไม่ถูกกำหนดให้ต้องปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน[3] ความไม่เท่าเทียมดังกล่าวทำให้คู่สมรสของผู้หญิงมีความยุ่งยากมากกว่าคู่สมรสของผู้ชาย
อีกกรณีหนึ่งคือ การจดทะเบียนสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เพศกำเนิดเป็นเพศเดียวกัน ซึ่งยังไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิดังกล่าวเอาไว้ ทำให้เจ้าหน้าที่ทะเบียนปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ กรณีดังกล่าวนี้เป็นภาพสะท้อนของกฎหมายที่ล้าสมัยที่ยังดำเนินอยู่ในสังคมไทย
ปัจจุบันการสมรสเท่าเทียมได้ถูกผลักดันทั้งจากฝ่ายการเมือง ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป โดยพยายามผลักดันให้รัฐบาลและพรรคร่วมผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว แต่รัฐบาลพยายามเลี่ยงที่จะไปออกกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิต ซึ่งสถานะที่แตกต่างนี้นำไปสู่หนทางของการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมบนพื้นฐานทางเพศเช่นกัน[4]
แม้กฎหมายจะรับรองความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย แต่สังคมทำให้ผู้หญิงไม่เท่ากับผู้ชาย
ความไม่เท่าเทียมทางเพศปรากฏอยู่ในหลายลักษณะ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมที่กำหนดบทบาทของผู้หญิงให้อยู่ในสถานะที่ด้อยกว่า อาทิ กรณีผู้หญิงมุสลิมในภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษา หลักประกันทางสังคม การบริการทางสุขอนามัย และโอกาสทางเศรษฐกิจ ฯลฯ เนื่องจากวัฒนธรรมประเพณีและสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ อีกทั้งผู้หญิงส่วนใหญ่ยังคงเป็นฝ่ายแบกรับภาระในการวางแผนครอบครัว[5]
ในกรณีพื้นฐานที่สุด ความเหลื่อมล้ำทางเพศปรากฏอยู่ในรูปแบบของการควบคุมเรื่องการแต่งกาย อาทิ ในกรณีของข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 20 กำหนดให้ในเวลาว่าความ ทนายความหญิงต้องใส่กระโปรงและเสื้อสีสุภาพไม่ฉูดฉาด ซึ่งหากทนายความผู้หญิงคนใดฝ่าฝืนอาจจะถูกลงโทษหรือได้รับผลร้าย เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืนมรรยาททนายความ โดยข้อบังคับดังกล่าวถูกใช้มาเป็นระยะเวลากว่า 36 ปีแล้ว[6]
แม้ว่าในปัจจุบันข้อบังคับดังกล่าวจะถูกวินิจฉัย โดย คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ให้มีการดำเนินการแก้ไขข้อบังคับดังกล่าว[7] แต่กรณีนี้อาจจะไม่เพียงพอ เพราะท้ายที่สุด เมื่อเข้าสู่ห้องพิจารณาคดีผู้พิพากษายังคงเป็นตัวแปรสำคัญในฐานะผู้ควบคุมความสงบเรียบร้อยภายในห้องพิจารณาคดี ซึ่งบางครั้งผู้พิพากษาอาจจะเห็นว่าการใส่กระโปร่งของทนายความหญิง อาจจะขัดกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในห้องพิจารณา รวมถึงในปัจจุบันสภาทนายความอยู่ในระหว่างการฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการดังกล่าว[8]
ความเสมอภาคที่แท้จริงต้องได้รับการสนับสนุน
ความเสมอภาคไม่ควรจำกัดอยู่เพียงแค่สิทธิทางกฎหมาย แต่การยกระดับชีวิตของบุคคลควรลงไปถึงมิติทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายต่างๆ ควรจะเริ่มต้นจากการมองเห็นความต้องการของผู้หญิง (ผู้ชายในบางบริบท และผู้มีความหลากหลายทางเพศ) ให้มากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น การเป็นแม่ทำให้ผู้หญิงมีต้นทุนของการใช้ชีวิตที่สูงกว่าผู้ชายในหลายๆ ด้าน ตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุดคือ ผู้หญิงต่อบทบาทของการเป็นแม่ในชีวิตประจำวัน อาจจะมีผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่มีรูปแบบการเดินทางเป็นการแวะหลายต่อ เช่น ผู้หญิงที่ต้องออกจากบ้านไปทำงาน โดยหนึ่งในเป้าหมายของการเดินทางคือ การแวะไปส่งลูกที่โรงเรียน ซึ่งหากผู้หญิงคนนั้นเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ทันทีที่มีการเดินออกสถานีรถไฟฟ้าเพื่อแวะส่งลูก ค่าโดยสารรถไฟฟ้าก็จะต้องนับหนึ่งใหม่ และถ้าในช่วงเย็น ต้นทุนก็อาจจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะนอกจากกลับจากที่ทำงานแล้ว อาจจะต้องแวะรับลูก และแวะซื้ออาหารหรือของใช้เข้าบ้าน ในขณะที่ผู้ชายอาจจะตรงดิ่งจากที่ทำงานกลับบ้านเลย เป็นต้น[9]
ฉะนั้นการออกแบบนโยบายจึงควรพิจารณาต้นทุนการใช้ชีวิตที่เกิดขึ้นกับคนเพศนั้นๆ ประกอบร่วมด้วย เพราะผู้หญิงอาจจะต้องคำนึงถึงภาระและต้นทุนในการเลี้ยงลูก หรือคนที่มีเพศหลากหลายอาจจะต้องคำนึงถึงสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขที่เพิ่มเติมกว่าผู้หญิงหรือผู้ชายในบางบริบท อาทิ การแปลงเพศ เป็นต้น[10]
ทางออกและหนทางสู่สังคมเสมอภาคทางเพศ
ท้ายที่สุด หนทางของการเสริมสร้างความเสมอภาคทางเพศต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดยพิจารณาปัจจัย 3 ด้าน ประกอบกัน ได้แก่ (1) การสร้างความตระหนักรู้และความรับรู้เกี่ยวกับเพศในสังคม โดยต้องลงไปแก้ที่หลักสูตรการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศในวิชาสุขศึกษา หลักสูตรควรตอบสนองและทำให้เกิดความเข้าใจและตระหนักเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น (2) การแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติทางเพศ และ (3) การกำหนดนโยบายใหม่ๆ เพื่อเสริมพลังและให้ตอบโจทย์แก่ประชาชนในทุกๆ ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม
[1] ธนาคารโลก, ‘การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศไทย’ (ธนาคารโลก, 17 พฤศจิกายน 2561) <http://documents.worldbank.org/curated/en/527451521822208295/pdf/124554-v1-THAI- Executive-Summary-Thai-23-March-format.pdf> สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2561 อ้างใน จิตราภรณ์ วนัสพงศ์ และปิยะวรรณ แก้วศรี, ‘รายงานการศึกษา การทบทวนความก้าวหน้าของการบังคับใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558’ (เสนอต่อกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) 2563) 20.
[2] UNDP และ Love Frankie, ‘ผลการสำรวจระดับชาติเกี่ยวกับทัศนคติด้านรสนิยมทางเพศอัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกทางเพศในประเทศไทย’ (นำเสนอในการสัมมนา Being LGBTI in Asia: Thailand Country Dialogue ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 21 – 22 มิถุนายน 2561) อ้างใน เพิ่งอ้าง 20.
[3] ดวงพร เพชรคง, ‘ความเท่าเทียมระหว่างเพศ’ (สภาผู้แทนราษฎร, ไม่ปรากฏวันที่) https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/elaw_parcy/download/article/article_20181012153459.pdf อ้างใน เพิ่งอ้าง 19.
[4] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘รักเราไม่เท่ากัน : พิจารณามุมมองของ สมรสเท่าเทียม และ จดทะเบียนคู่ชีวิต’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 15 มิถุนายน 2565) https://pridi.or.th/th/content/2022/06/1137 สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2566.
[5] (เชิงอรรถ 1) 19.
[6] iLaw, ‘ทนายหญิงจะใส่กางเกงว่าความได้แล้ว? ย้อนไทม์ไลน์ สภาทนายความ-เนติฯ ไม่แก้ข้อบังคับแต่งกาย’ (iLaw, 8 ธันวาคม 2565) https://ilaw.or.th/node/6330 สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2566.
[7] ประชาไท, ‘วลพ. มีคำสั่ง สภาทนาย - เนติบัณฑิตฯ แก้กฎระเบียบ ให้ 'ทนายหญิง' สวมกางเกง - กระโปรง ว่าความได้’ (ประชาไท, 1 ธันวาคม 2565) https://prachatai.com/journal/2022/12/101681 สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2566.
[8] วศินี พบูประภาพ, ‘สภาทนายความยื่นฟ้อง วลพ. หลังมีคำวินิจฉัยให้แก้กฎการแต่งกายเท่าเทียม’ (Workpointtoday, 7 สิงหาคม 2565) https://workpointtoday.com/220807-lgbtlawyers/ สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2566.
[9] บุญวรา สุมะโน, ‘เมืองที่มองไม่เห็นคนกว่าครึ่ง’ (the101.world, 8 มีนาคม 2565) https://www.the101.world/women-in-bangkok/ สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2566.
[10] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘เศรษฐกิจที่คิดคำนึงถึงผู้หญิง : มองเรื่องของผู้หญิงในระบบเศรษฐกิจไทย’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2 สิงหาคม 2565) https://pridi.or.th/th/content/2022/08/1194 สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2566.