ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความเข้าใจที่แตกต่างของคนหลายรุ่นต่อรัฐสวัสดิการ

11
กรกฎาคม
2566

Focus

  • ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “รัฐสวัสดิการ” ได้ก้าวสู่การเป็นแนวความคิดกระแสหลักในสังคมไทย ผ่านการเคลื่อนไหวของหลายขบวนการ พรรคการเมือง และในช่องทางสาธารณะ แต่ผู้คนแต่ละช่วงวัยก็มีความคิดและความสงสัยต่อประเด็นรัฐสวัสดิการแตกต่างกัน
  • “กลุ่มคนรุ่นใหม่” อายุ 15-25 ปี เป็นกลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดรัฐสวัสดิการอย่างเด่นชัด ด้วยผลประโยชน์ทางอุดมการณ์ และทางเศรษฐกิจการเมืองที่สอดคล้องกับประเด็นด้านรัฐสวัสดิการ “กลุ่มคนวัยทำงาน” สนับสนุนรัฐสวัสดิการลดจากกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือถอนตัวออกไป เพราะความเปราะบางในทางเศรษฐกิจ ภาระในชีวิตประจำวัน สถานะทางเศรษฐกิจสังคมที่ตีบตัน รวมกับประสบการณ์ทางการเมือง ส่วน “กลุ่มผู้สูงอายุ” ก็มีปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและสมรรถภาพ ความไม่คุ้นเคยในการใช้เทคโนโลยีที่เข้ากับสังคมดิจิทัล และการเผชิญกับความยากลำบากในการรับรู้สิทธิและโอกาสต่างๆ เป็นต้น
  • รัฐสวัสดิการจึงต้องการการออกแบบสังคมที่ปลอดภัย การออกแบบขบวนการเคลื่อนไหวที่โอบรับคนทุกกลุ่ม และการรื้อฟื้นจินตนาการความเป็นหนึ่งเดียวกันในสังคม 

 

เมื่อเราพูดถึงหลักคิดเรื่อง “รัฐสวัสดิการ”  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “รัฐสวัสดิการ” ได้ก้าวสู่การเป็นแนวความคิดกระแสหลักในสังคมไทย ในขบวนการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงาน ขบวนการภาคประชาชน ในนโยบายของพรรคการเมือง การพูดถึงในทางสาธารณะ และกลายเป็นความปกติใหม่ของสังคม 

แนวคิดรัฐสวัสดิการ เริ่มก้าวเข้าแทนที่ แนวคิดสวัสดิการแบบสงเคราะห์ หรือระบบเศรษฐกิจแบบตัวใครตัวมันภายใต้กลไกตลาดเสรีที่สร้างความเหลื่อมล้ำมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา จากประสบการณ์ของผู้เขียนอีกไม่นานแรงผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการจะหนักแน่นและชัดเจนมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจปฏิเสธได้ถึงช่องว่างของความเข้าใจเรื่อง “รัฐสวัสดิการ” ในสังคมไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้อมูล เรื่องทฤษฎี แต่มีความเกี่ยวพันกับจุดยืนและประสบการณ์ทางสังคม ในบทความนี้จึงชวนวิเคราะห์ช่องว่างระหว่างช่วงวัยที่ยังทำให้เกิดความสงสัยต่อประเด็นรัฐสวัสดิการ

 

กลุ่มคนรุ่นใหม่

“กลุ่มคนรุ่นใหม่” เป็นกลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดรัฐสวัสดิการอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อายุระหว่าง 15-25 ปี พวกเขามีทั้งผลประโยชน์ทางอุดมการณ์ และผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจการเมืองที่สอดคล้องกับประเด็นด้านรัฐสวัสดิการ 

การตั้งคำถามกับประเด็นความไม่เท่าเทียมในมิติต่างๆ ตั้งแต่มิติทางเศรษฐกิจที่ต่อต้านกลุ่มทุนผูกขาด การเพิ่มอำนาจของประชาชนธรรมดาในชีวิตประจำวัน ผ่านการทำให้การศึกษาฟรี การรักษาพยาบาลฟรี และเงินบำนาญ ทั้งในและนอกระบบประกันสังคม ล้วนเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่สนับสนุนแนวคิดรัฐสวัสดิการ และจริงจังกับแนวคิดนี้มากขึ้น 

พวกเขาล้วนปรารถนาให้การเปลี่ยนแปลงมาถึง เพราะดอกผลที่พวกเขาจะได้รับคือการที่คนธรรมดาจะสามารถวิ่งไล่ตามความฝันได้อย่างเสรี และมีทางเลือกในชีวิตที่มากขึ้น ความน่าสนใจอยู่ที่แรงสนับสนุนไม่ได้มาจากเฉพาะกลุ่มที่เผชิญกับความยากลำบากด้วยฐานะทางเศรษฐกิจเท่านั้น กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มาจากครอบครัวระดับกลางหรือระดับสูง ก็มีแนวโน้มในการทำความเข้าใจและสนับสนุนแนวคิดรัฐสวัสดิการมากขึ้นด้วย ผ่านฐานความคิดที่ว่าสังคมที่เสมอภาคจะปลอดภัยกับทุกชนชั้นมากกว่า

 

กลุ่มคนวัยทำงาน

“กลุ่มคนวัยทำงาน” อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางความคิด แม้เราจะมีคลื่นการสนับสนุนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมหาศาล แต่ฝั่งตรงข้ามที่มีอำนาจทั้ง ระบบราชการ เรือนจำ ศาล ทหาร ตำรวจ รวมถึงอำนาจทุน ไม่เอาด้วย กลุ่มคนวัยทำงานที่สนับสนุนรัฐสวัสดิการจึงลดจากกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเกิดจากความเปราะบางในทางเศรษฐกิจ ภาระในชีวิตประจำวัน จนถึงสถานะทางเศรษฐกิจสังคมที่ตีบตัน รวมกับประสบการณ์ทางการเมืองที่ทำให้พวกเขาถอนความเชื่อออกจากความคิดด้านรัฐสวัสดิการ

ยังมีประเด็นที่น่าสนใจว่า ผู้หญิงในวัยทำงานในไทยมีแนวโน้มสนับสนุนรัฐสวัสดิการมากกว่าผู้ชาย ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ผู้หญิงอาจพบข้อจำกัดในเรื่องของเงินเดือนที่ไม่เท่าเทียม และโอกาสในการเข้าถึงตำแหน่งที่สูงขึ้น พร้อมกับภาระในครัวเรือน ผู้หญิงวัยทำงานจึงไม่แสดงความเป็นอื่นต่อแนวคิดรัฐสวัสดิการมากเท่ากับผู้ชายในวัยทำงาน

นอกจากนี้ บางครั้งคนวัยทำงานส่วนหนึ่งอาจพบว่าความสามารถทางเทคนิคและความรู้ในสาขางานของพวกเขา ไม่ได้รับการเอาใจใส่หรือไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกับบุคคลอื่น ซึ่งอาจส่งผลให้พวกเขารู้สึกไม่มั่นใจในการแข่งขันกับผู้อื่นและไม่ได้รับความเท่าเทียมในทางอาชีพ ดังนั้นความมั่นใจในการส่งเสียงเรียกร้องจึงต่ำลงโดยเปรียบเทียบกับช่วงวัยก่อนหน้านี้ และเรื่องสำคัญคือสถานะทางสังคมที่มีความชัดเจนมากขึ้นกว่าตอนที่เป็นคนรุ่นใหม่  บางครั้งกลุ่มคนที่มีฐานะทางสังคมสูงหรือมีความสำเร็จในอาชีพ อาจได้รับประโยชน์เพิ่มเติมหรือโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกับผู้อื่น ทำให้คนวัยทำงานส่วนหนึ่งรู้สึกว่ามีความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสหรือสิทธิทางสังคม และสร้างความรู้สึกเจียมเนื้อเจียมตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

 

กลุ่มผู้สูงอายุ

อย่างที่เราทราบกัน “กลุ่มผู้สูงอายุ” แม้จะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์โดยตรงต่อการมีรัฐสวัสดิการ แต่พวกเขาก็เป็นกลุ่มที่ตั้งคำถาม หากสังคมมีการปรับเปลี่ยนไปในทางที่เท่าเทียมมากขึ้น ดังนั้นการวิเคราะห์จุดยืนทางสังคมของผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่สำคัญด้วยเช่นเดียวกัน โดยในเบื้องต้นสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้

ประการแรก การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและสมรรถภาพ  ผู้สูงอายุบางคนอาจพบว่าสภาพกายและความสามารถทางกายภาพลดลง เมื่อเทียบกับวัยหนุ่มสาว นั่นอาจส่งผลให้พวกเขามีความกังวลเกี่ยวกับการเข้าร่วมกิจกรรมและการได้รับโอกาสต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ทำให้พวกเขาเริ่มรู้สึกแปลกแยกกับการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม 

ประการถัดมา การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้สร้างช่องทางใหม่ในการสื่อสารและเข้าถึงข้อมูล แต่ผู้สูงอายุบางคนอาจไม่มีความคุ้นเคยหรือความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่เข้ากับสังคมดิจิทัล ซึ่งอาจทำให้พวกเขารู้สึกห่างไกลหรือไม่เท่าเทียมกับการเรียกร้องผ่านเทคโนโลยี ผู้สูงอายุบางคนอาจต้องเผชิญกับความยากลำบากในการรับรู้สิทธิและโอกาสต่างๆ ทางเศรษฐกิจ เช่น การหางานหรือรายได้ที่เพียงพอในช่วงวัยที่ไม่สามารถทำงานได้ เรื่องนี้อาจทำให้พวกเขารู้สึกห่างไกลจากกิจกรรมทางการเมืองและสังคม เช่นเดียวกันกับสภาพแวดล้อมและอุปสรรคทางกายภาพ ผู้สูงอายุอาจพบว่าสภาพแวดล้อมและสถานที่สาธารณะไม่เหมาะสมหรือไม่เข้ากับความต้องการของพวกเขา และ

ประการสุดท้าย พวกเขาอาจรู้สึกว่าสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของพวกเขาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

ในท้ายที่สุด เราจะเห็นได้ว่า ในช่วงวัยที่ผู้คนเริ่มถอนตัวออกจากการสนับสนุนรัฐสวัสดิการ พวกเขาไม่ได้เชื่อว่ารัฐสวัสดิการเป็นระบบที่แย่หรือไม่จำเป็น แต่เกิดจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปกีดขวางการสร้างจินตนาการแบบที่พวกเขาเคยมี ดังนั้นการออกแบบสังคมที่ปลอดภัยโดยพื้นฐาน การออกแบบขบวนการเคลื่อนไหวที่โอบรับคนทุกกลุ่มที่สนับสนุนให้สามารถมีส่วนร่วมในสังคมได้ การรื้อฟื้นจินตนาการความเป็นส่วนหนึ่งเดียวกันในสังคม จะนำพาให้เกิดขบวนการที่ท้าทายสังคมได้ต่อไป หากเป็นเช่นนี้ได้ รัฐสวัสดิการก็จะไม่เป็นอื่นกับผู้คนทุกช่วงวัยในสังคม

 

เอกสารอ่านเพิ่มเติม :

  • Thammaboosadee S, (2021) Political Transition and the rise of New Generation : A Case Study of New Generation Politicians and Political Activist in Thailand 2018-2020  (n.p. :Institute of East Asian Studies Thammasat University, 2021) 
  • ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี. แด่ทุกต้นกล้าความฝัน : ประวัติศาสตร์ กรณีศึกษา และเส้นทางการต่อสู้สู่รัฐสวัสดิการ. (กรุงเทพฯ :มติชน, 2566).