การรณรงค์ให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารในสังคมไทยเดินทางมาจนถึงยุคสมัยที่หลายพรรคการเมืองประกาศให้เป็นนโยบายหาเสียง แม้กระทั่งในการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2562 บางพรรคการเมืองเชื่อว่า นโยบายการปฏิรูปกองทัพโดยข้อเสนอให้ยกเลิกเกณฑ์ทหารและใช้ระบบสมัครใจเพื่อสร้างกองทัพอาชีพ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนเป็นกอบเป็นกำ[1]
ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ มีจำนวนพรรคการเมืองที่ตอบรับข้อเรียกร้องดังกล่าวมากขึ้น แม้ว่าพรรคการเมืองต่างๆ มีรายละเอียดข้อเสนอที่แตกต่างกัน บางพรรคการเมืองมีการเสนอให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ขณะที่บางพรรคเสนอให้ลดการเกณฑ์ทหาร ขณะที่บางพรรคไม่มีนโยบายและใช้เป็นประเด็นกล่าวหาทางการเมือง[2] แต่สถานการณ์เช่นนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่เป็นประเด็นสาธารณะที่จำเป็นต้องถกเถียงทางการเมือง ซึ่งเราพอจะสรุปแนวทางของพรรคการเมืองอย่างคร่าวๆ ได้ดังต่อไปนี้
- พรรคเพื่อไทย ชูยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร เป็นแบบสมัครใจ เปลี่ยนค่ายทหารเป็นวิทยาลัย มีใบประกอบวิชาชีพตามถนัด เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณกองทัพมีประสิทธิภาพ
- พรรคไทยสร้างไทย สนับสนุนให้ยกเลิกการจับใบดำใบแดง เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ โดยทุกเหล่าทัพมีทหารเกณฑ์รวมกันประมาณ 100,000 คน ในจำนวนนี้อาสาเข้ามาเป็นทหารประมาณ 5 หมื่นคน และจับได้ใบแดงอีก 5 หมื่นคน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าความต้องการจริง จึงเห็นภาพพลทหารไปรับใช้ตามบ้านผู้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นการใช้งานผิดประเภทและเกินความจำเป็น
- พรรคก้าวไกล เสนอยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้ใช้ระบบสมัครใจ
- พรรคเสรีรวมไทย ยกเลิกการเกณฑ์ทหารให้ใช้ระบบอาสาสมัคร ลดอายุประจำการเหลือ 1 ปี และเน้นใช้เทคโนโลยีแทนกำลังคน
- พรรคชาติพัฒนากล้า มองว่าควรทำให้กระบวนการในการเกณฑ์ทหารเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ที่ดี เป็นอาชีพหนึ่ง ตำแหน่งหน้าที่ดี ก้าวหน้า เพื่อให้ผู้ที่อยากเป็นทหารมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องมีการเกณฑ์ทหาร
- รวมไทยสร้างชาติ ชูแนวทางทหารอาสาสมัคร ลดการเกณฑ์ทหารลง 70%
ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ ไม่พบว่ามีนโยบายเรื่องการเกณฑ์ทหารไม่ว่าจะยกเลิกหรือรับอาสาสมัคร
เพื่อที่จะแสวงหาทางเลือกและทำให้การถกเถียงก้าวหน้าไปอย่างสร้างสรรค์ นอกเหนือไปจากตัวแบบและปัจจัยทางสถิติที่ได้เสนอไปในบทความการเกณฑ์ทหาร : จากรวมศูนย์อำนาจ สู่ส่วนต่อขยายความเหลื่อมล้ำ เราอาจจะมองเห็นโอกาสใหม่จากประสบการณ์ในประเทศอื่น เพื่อเป็นแนวทางในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงจากบังคับเกณฑ์สู่ระบบอาสาสมัคร
สุรชาติ บำรุงสุข นำเสนอรูปแบบการเกณฑ์ทหารทั่วโลกว่ามีอยู่ 5 ประเภท ได้แก่ 1. ระบบที่ทุกคนต้องเป็นทหารทั้งหมด เช่น ประเทศอิสราเอล 2. ระบบจับฉลาก เช่น ประเทศไทย 3. ระบบทหารอาสาสมัคร (All-volunteer Force: AVF) เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา 4. ระบบการเกณฑ์ตามเงื่อนไขชนชั้น (ระบบโบราณในยุโรป) และ 5. ระบบที่บุคคลพลเรือนเข้ารับการฝึกแล้วนำอาวุธเก็บไว้ที่บ้าน สำหรับการเรียกใช้เมื่อเกิดสงคราม เช่น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์[3]
ในปัจจุบันประเภทที่ 4 ซึ่งใช้ระบบการเกณฑ์ตามเงื่อนไข แทบจะไม่หลงเหลืออยู่บนโลกแล้ว อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบรัฐชาติที่ก้าวผ่านรัฐโบราณมาสู่รัฐประชาชาติ ที่มีศูนย์กลางของความเป็นชาติเปลี่ยนมาสู่มือของประชาชน ขณะที่ระบบพลเรือนเข้ารับการฝึกแล้วนำอาวุธเก็บไว้ที่บ้านก็ปรากฏว่ามีอยู่อย่างจำกัด และมักจะสามารถทำได้ในประเทศที่ยึดแนวทางความเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัดมาอย่างยาวนานเช่น สวิตเซอร์แลนด์
ขณะที่ระบบกำหนดทุกคน (โดยเฉพาะเพศชาย) ต้องเป็นทหารทั้งหมด มักถูกใช้ในประเทศที่เผชิญความตึงเครียดทางการเมืองสูง เช่น สาธารณรัฐเกาหลี หรือ อิสราเอล แต่สำหรับประเทศไทย เราใช้ระบบการจับฉลาก ด้วยการบังคับให้ชายไทยทุกคนที่ไม่ได้รับการเกณฑ์งดเว้นต้องเข้ารับการคัดเลือกเกณฑ์ทหาร
สำหรับรูปแบบของการระดมพลที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ จะเป็นการกล่าวถึงอีกรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากขึ้น นับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา นั่นคือรูปแบบอาสาสมัคร โดยเริ่มต้นครั้งแรกในสหรัฐ จากที่สหรัฐต้องเผชิญเงื่อนไขและอุปสรรคหลายประการ อาทิ ความล้มเหลวในสงครามเวียดนาม กระแสการต่อต้านสงครามของคนรุ่นใหม่ในสหรัฐ ความตกต่ำของความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล เป็นต้น ที่สุดนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบการเกณฑ์ทหารของสหรัฐในยุคของริชาร์ด นิกสัน (Richard Milhous Nixon) เป็นประธานาธิบดี ในปี 1973 และจนถึงปี 2006 ในเวลาเดียวกับที่สหรัฐทำสงครามอยู่ในอิรักและอัฟกานิสถาน มีทหารอเมริกันอยู่ในประเทศอิรักจำนวน 137,000 นาย และ ประเทศอัฟกานิสถาน 20,000 นาย ในจำนวนกว่า 157,000 นายนี้ ล้วนเป็นทหารอาสาสมัคร
จากงานเขียนเรื่อง I Want You!: The Evolution of the All-Volunteer Force โดย Bernard Daniel Rostker สรุปสาเหตุของการเปลี่ยนจากระบบเกณฑ์ทหารมาสู่อาสาสมัครของสหรัฐ 5 ประการ ได้แก่
ประการที่หนึ่ง สหรัฐมีบรรทัดฐานของการเป็นกองทัพอาสาสมัครรองรับ
ประการที่สอง ขนาดของประชากรชายที่เข้าเกณฑ์ทหารในทศวรรษที่ 1960 มีจำนวนมาก และความต้องการของกองทัพมีไม่มาก ประกอบกับเงื่อนไขสำคัญ คือ ระบบการเกณฑ์ทหารของกองทัพสหรัฐได้สูญเสียความชอบธรรมและการสนับสนุนในหมู่ประชาชน
ประการที่สาม สงครามในเวียดนามไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และเมื่อสงครามยืดเยื้อ การเกณฑ์ทหารก็เพิ่มสูงขึ้นขณะที่การผ่อนผันกลับถูกยกเลิก
ประการที่สี่ คนหนุ่มสาวของสหรัฐในเวลานั้นเชื่อว่าพวกเขาไม่มีพันธะผูกพันทางศีลธรรมกับรัฐ และ
ประการสุดท้าย กองทัพประสบปัญหาวินัยของกำลังพลที่มาจากระบบเกณฑ์ทหารในสงครามเวียดนาม[4] เหตุผลที่กล่าวมาส่งผลต่อความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงของสหรัฐในที่สุด เราจะพบว่าหลังจากปี 1973 เป็นต้นมา มีการลดลงของการใช้แนวทางการเกณฑ์ทหารอย่างสำคัญระหว่างปี 1970-2009 โดยในงานของ Hall[5] พบว่าในทศวรรษ 1970 ประเทศที่ใช้ระบบอาสาสมัครมีเพียงร้อยละ 20 แต่เมื่อถึงปี 2009 พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจนถึงร้อยละ 55 (ข้อมูลนี้มาจากฐานข้อมูลของ Economic Freedom of the World (EFW) ซึ่งมองว่าการเกณฑ์ทหารเป็นตัวแปรหนึ่งที่ขัดขวางเสรีภาพทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการถูกบังคับให้ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง)
สถานการณ์ใหม่ของระบบการเกณฑ์ทหารและอาสาสมัคร
ข้อมูลล่าสุด (ปี 2023) จาก World Population Review แสดงให้เห็นระดับการเกณฑ์ทหารด้วยการบังคับในประเทศต่างๆ
จากรูปภาพแสดงให้เห็นว่า ในปัจจุบันประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่จะเลือกใช้แนวทางอาสาสมัคร เช่น จีนและสหรัฐ ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาสมรรถนะของกองทัพไว้ได้ ในส่วนของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (The North Atlantic Treaty Organization: NATO) และออสเตรเลีย เลือกใช้ระบบอาสาสมัคร โดยพลเมืองเลือกทำงานเป็นทหารในฐานะอาชีพหนึ่งซึ่งเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมอย่างสูง
ขณะที่ระบบบังคับเป็นทหาร เรายังพบว่ามีบางประเทศเลือกใช้แนวทางนี้ นั่นคือกำหนดให้ผู้ชาย (บางประเทศรวมถึงผู้หญิง) ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตต้องเข้าทำงานในกองทัพ (มีระยะเวลาตั้งแต่ 1-3 ปี) ระบบนี้มักจะเกิดขึ้นในประเทศที่มีความต้องการทางทหารสูงพร้อมๆ กับเป็นระบบอำนาจนิยมสูง เช่น รัสเซียกำหนดให้ผู้ชายช่วงอายุ 18-27 ปี ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร และทำงานในกองทัพเป็นเวลา 12 เดือน ขณะที่อิหร่าน กำหนดระยะเวลาการทำงานให้กองทัพเป็นเวลา 18-24 เดือน ส่วนไทยกำหนดระยะเวลาที่ยาวนานกว่านั้นคือ 24 เดือน โดยให้ชายไทยทุกคนที่ไม่ได้รับการยกเว้นเข้าเกณฑ์ทหารด้วยการจับฉลากเมื่ออายุครบ 21 ปี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มีหลายประเทศที่มีการระงับการเกณฑ์ทหารในทางกฎหมาย แต่ยกเว้นไว้หากประเทศเกิดสถานการณ์เร่งด่วน เช่น อาร์เจนตินา สโลวาเกีย เอกวาดอร์ เป็นต้น
คราวนี้เมื่อพิจารณา เฉพาะในกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบอาสาสมัคร ข้อมูลที่น่าสนใจคือหลายประเทศเป็นประเทศที่มีความจำเป็นในการใช้กำลังทหารสูง อาทิ ออสเตรเลีย ซึ่งยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหารตั้งแต่ปี 1973 สหรัฐอเมริกาดังที่ได้เสนอไปแล้ว แต่ยังสงวนสิทธิ์ในการสุ่มเกณฑ์ทหารบุคคลอายุตั้งแต่ 18-25 ปี หากเกิดกรณีที่จำเป็น กรณีใช้อาสาสมัครยังรวมไปถึงประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เบลเยียม อังกฤษ สเปน เป็นต้น
งานศึกษาเรื่อง Ending Military Conscription เขียนโดย Poutvaara และ Wagener พบว่าแนวโน้มของการยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหาร ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปลายศตวรรษที่ 20 เนื่องจากบทเรียนทั้งในอังกฤษและสหรัฐ ชี้ให้เห็นว่าระบบการเกณฑ์ทหารเป็นรูปแบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ การยกเลิกระบบนี้จึงคุ้มค่าแม้ว่าจะมีปัญหาในการเปลี่ยนผ่านและอาจส่งผลเสียต่องบประมาณของรัฐบาลในการจัดการระบบใหม่ แต่ก็แลกมาด้วยกองทัพคุณภาพสูง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระบบทหารอาสาสมัครจะได้รับความนิยมมากขึ้นในหลายประเทศ แต่แรงจูงใจในการยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหารมาสู่ระบบสมัครใจก็พบว่ามีความแตกต่างกัน เมื่อเราพิจารณาจากเงื่อนไขในการยกเลิกในหลายประเทศก็พบว่า ปัจจัยในแง่สัดส่วนการใช้งบประมาณของกองทัพต่อประชากร ความต้องการยกระดับประสิทธิภาพกองทัพ เป็นส่วนสำคัญ
นี่จึงเป็นข้อโต้แย้งที่ดีต่อผู้ที่ต้องการรักษาระบบการเกณฑ์ทหารเอาไว้ด้วยเหตุผลว่า หากยกเลิกจะลดประสิทธิภาพความมั่นคง ซึ่งไม่เป็นความจริง คำตอบที่น่าพอใจมากกว่าคือประสิทธิภาพของกองทัพไม่ได้ขึ้นกับจำนวนทหารที่ถูกบังคับเกณฑ์มา มากเท่ากับคุณภาพของกองทัพและการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่เกิดขึ้นให้เห็นแล้วในหลายประเทศ
บทความที่เกี่ยวข้อง :
[1] อิทธิพล โคตะมี. (2563). คำพอง เทพาคำ: มันเป็นเรื่องศักดิ์ศรีผู้แทนฯ.
[2] ว๊อยซ์. (2566). เลือกตั้ง 66 เปรียบเทียบนโยบายเกณฑ์ทหาร พรรคไหนยกเลิก-พรรคไหนเงียบงัน.
[3] สุรชาติ บำรุงสุข. (2561). สุรชาติ บำรุงสุข: ปฏิรูประบบกำลังพลทหาร/ทหารเกณฑ์ vs ทหารอาสา. มติชนสุดสัปดาห์.
[4] Bernard D. Rostker. (2006). I Want You!: The Evolution of the All-Volunteer Force.
[5] Hall, J. (2011). The Worldwide Decline in Conscription: A Victory for Economics?.
- ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร
- เลือกตั้ง 66
- การเลือกตั้ง
- ภีรดา
- การปฏิรูปกองทัพ
- การเกณฑ์ทหาร
- พรรคเพื่อไทย
- พรรคไทยสร้างไทย
- พรรคก้าวไกล
- พรรคเสรีรวมไทย
- พรรคชาติพัฒนากล้า
- พรรครวมไทยสร้างชาติ
- พรรคภูมิใจไทย
- พรรคพลังประชารัฐ
- พรรคประชาธิปัตย์
- สุรชาติ บำรุงสุข
- Poutvaara
- Wagener
- อิทธิพล โคตะมี
- คำพอง เทพาคำ
- Bernard D. Rostker
- Bernard Daniel Rostker
- Hall
- World Population Review
- Economic Freedom of the World