Focus
- การเปลี่ยนองค์ประกอบของรัฐบาลจาก 8 พรรคการเมืองฝ่ายค้านเดิมเป็น 11 พรรคการเมืองที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลใหม่เปลี่ยนไปจากแนวนโยบายของ 8 พรรคการเมืองดังกล่าว
- นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลใหม่เป็นหลักการกว้างๆ ที่แยกมิติทางเศรษฐกิจกับการเมือง และสิทธิมนุษยชนออกจากกัน และพบว่านโยบายต่างประเทศของรัฐบาลใหม่สนใจการวางบทบาทของไทยในด้านเศรษฐกิจ แต่มีความคลุมเครือและความไม่ชัดเจนในจุดยืนทางสิทธิมนุษยชน
- รัฐบาลใหม่ไม่ได้วางจุดยืนของประเทศไทยที่สอดคล้องกับภูมิทัศน์ทางการเมืองของโลกที่เปลี่ยนไป และการที่ประเทศไทยจะเป็น “เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย” ตามที่ สส. บางคนกล่าวถึงระหว่างการอภิปรายนั้น ความเป็นจริงดังกล่าว ดูจะยังคงห่างไกลเมื่อเทียบกับนโยบายการต่างประเทศของไทยในอดีต
ท่ามกลางสงครามกลางเมืองในประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกับไทยยาวที่สุดอย่างเมียนมา สงครามการค้าของ 2 มหาอำนาจ (สหรัฐ-จีน) วิกฤตความมั่นคงในอนุภูมิภาคตั้งแต่จาการ์ต้า มะนิลา ฮานอย ฮ่องกง ไทเป ไปจนถึงคาบสมุทรเกาหลี ฯลฯ
เป็นเรื่องอันนับว่าน่าผิดหวังที่นโยบายการต่างประเทศซึ่งนำโดยรัฐบาลใหม่ของไทย ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการแถลงนโยบายไปเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา ไม่ปรากฏการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในทางการเมือง
เนื้อหาของนโยบายรัฐบาลครั้งนี้ มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับบันทึกความเข้าใจร่วมกันของกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมที่พยายามจัดตั้งรัฐบาลตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566
โดยในบันทึกความเข้าใจที่ลงนามโดยพรรคการเมืองฝ่ายค้านเดิม 8 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคเป็นธรรม พรรคพลังสังคมใหม่ และ พรรคเพื่อไทรวมพลัง ซึ่งแถลงในวันที่ 22 พ.ค. 2566 ข้อที่ 23 ระบุว่า “ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของ อาเซียน และรักษาสมดุล การเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ” ซึ่งสะท้อนถึงจุดยืนของไทยหากมีการตั้งรัฐบาลของกลุ่มพรรคการเมืองที่ปฏิเสธอำนาจเก่าสำเร็จ
รายงานชิ้นนี้นำเสนอข้อสังเกตต่อนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งขาดมิติทางการเมืองและความชัดเจน อันแตกต่างไปจากรัฐบาลอดีตที่เป็นจุดอ้างอิงของรัฐบาลล่าสุดนี้ อันที่มาจากพรรคการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตย อาทิ รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หรือ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
จุดยืนที่หายไป พร้อมกับการสลับขั้วข้ามค่ายการเมือง
แม้จะเข้าได้ว่า ข้อตกลงที่ 23 ในบันทึกความเข้าใจร่วมกันของพรรคการเมืองฝ่ายค้านเดิม จะหายไปจากนโยบายรัฐบาลใหม่ที่เป็นการสลับขั้วข้ามค่ายทางการเมือง จำนวนถึง 11 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย ,พรรคภูมิใจไทย, พรรคพลังประชารัฐ, พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคประชาชาติ, พรรคชาติพัฒนากล้า, พรรคเพื่อไทรวมพลัง, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคพลังสังคมใหม่, พรรคท้องที่ไทย และพรรคใหม่ แต่แนวทางที่เคยชัดเจนและทะเยอทะยานก็มลายหายไปเช่นกัน
มีความกังวลตามมาว่า ฐานะทางการเมืองบนเวทีนานาชาติของไทยจะเป็นอย่างไร หรืออาจจะซ้ำรอยความตกต่ำที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะช่วงท้ายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไทยพยายามแสดงบทบาทนำในอาเซียนต่อปัญหาในประเทศเมียนมา ทว่ากลับได้รับการปฏิเสธจากประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน อาทิ รัฐบาลรักษาการของไทยพยายามเปิดประชุมแก้ไขปัญหาเมียนมา แต่ได้รับการปฏิเสธจากหลายประเทศ นำโดยอินโดนีเซียในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา[1]
โดยก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคม ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเพิ่งลงมติครั้งประวัติศาสตร์ เรียกร้องให้คณะรัฐประหารเมียนมายุติการกระทำความรุนแรงและจับกุมคุมขังพลเรือนตามอำเภอใจ และพิจารณายกระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อคณะรัฐประหารในเมียนมา[2]
ข้อความที่เข้าใกล้การแสดงจุดยืนปรากฏในถ้อยคำที่คลุมเครือของนโยบายรัฐบาลปรากฏในหน้า 29-30 ของคำแถลงนโยบาย ระบุว่า “การดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ อย่างสมดุล กระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และรักษาบทบาทนำของประเทศไทยในภูมิภาคและอนุภูมิภาค”[3] ซึ่งมิได้มีความแตกต่างไปจากยุทธศาสตร์ชาติ อันเป็นหนึ่งในมรดกที่ล้าหลังของคณะรัฐประหาร 2557 รวมไปถึงการเขียนในข้อความแบบเดียวกันที่ปรากฏในหน้า 23 ของคำแถลง โดยอ้างอิงกับมาตราที่ 66 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุว่า “การดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ อย่างสมดุลตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ”[4] ซึ่งเนื้อหาที่กล่าวถึงเป็นเพียงการระบุหลักการกว้างๆ โดยไร้ทิศทางหรือนิยามผลประโยชน์ของชาติจากจุดใด ความสมดุลนั้นรวมไปถึงการยอมรับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่
ความคลุมเครือและความไม่ชัดเจนในจุดยืนเช่นนี้ มีลักษณะสวนทางอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาร่วมกับเนื้อหาของคำแถลง บางข้อที่ระบุชัดถึงเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการจะเป็นผู้นำของอาเซียน “ในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ”
กล่าวได้ว่าคำแถลงนโยบายครั้งนี้ขาดมิติทางการเมือง ซึ่งมิว่าไทยจะยืนอยู่จุดไหนบนหน้าประวัติศาสตร์ อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยในอดีตจะแสดงบทบาทชัดเจนในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ
การทูตทางเศรษฐกิจ แต่ไม่บอกจุดยืนทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับว่าเป็นความตั้งใจของรัฐบาลใหม่นั่นคือ การพยายามให้บทบาทในด้านระหว่างประเทศที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน ดังจะเห็นได้ว่ามีข้อความหลายช่วงหลายตอนที่ระบุให้ “การเปิดรับแรงงานต่างด้าวและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่เข้ามาทำงานสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม”[5] หรือการใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ๆ ให้สินค้าและบริการของประเทศไทย[6]
ข้อความหลายช่วงตอนแสดงให้เห็นความตั้งใจนี้ด้วยการแต่งตั้งรัฐมนตรีที่ขึ้นมารับผิดชอบในด้านการต่างประเทศถึง 2 คน ได้แก่ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่การแยกมิติทางเศรษฐกิจกับการเมืองและสิทธิมนุษยชนออกจากกัน ก็เกิดคำถามตามมาว่าจะแตกต่างไปอย่างไรจากนโยบายการต่างประเทศในยุคที่เสื่อมโทรมครั้งหนึ่งของไทยก่อนหน้านี้
ยิ่งเมื่อพิจารณากับบทบาทของไทยที่เคยสูงเด่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทศวรรษ 2530-2540 ซึ่งไทยมีบทบาทนำตั้งแต่นโยบาย “การเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ การมุ่งไปยังการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็มิได้เพิกเฉยกับปัญหาความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้าน โดยไทยแสดงบทบาทในด้านสิทธิมนุษยชนด้วยการเปิดพรมแดนต้อนรับผู้ที่หนีภัยสงครามจากประเทศเพื่อนบ้าน บางกรณียังเป็นตัวกลางในการเปิดเวทีพูดคุยให้คู่ขัดแย้งของประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ในทศวรรษ 2540 ไทยยังมีบทบาทนำอนุภูมิภาคและภูมิภาค โดยเฉพาะการถ่วงดุลอำนาจหลังจากการเปิดประเทศอย่างน่าอัศจรรย์ของจีนในปี 2010 และการให้ความสำคัญกับการต่อต้านการก่อการร้ายที่สหรัฐเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในรายละเอียด แต่อย่างน้อยที่สุดการแสดงจุดยืนในด้านการระหว่างประเทศ ย่อมบ่งบอกเป้าหมายของประเทศได้ไม่มากก็น้อย
ยิ่งในปัจจุบันประเทศมหาอำนาจ 2 ฝ่าย เปลี่ยนท่าทีไป ในขณะที่สหรัฐฯ เน้นการเจรจาแบบทวิภาคีในกลุ่มประเทศที่เป็นพันธมิตรดั้งเดิม และการเน้นเจรจาแบบพหุภาคีของจีนเพื่อรักษาความมั่นคงที่ห่างไกลออกไปจากชายฝั่งของจีนเอง มาจนถึงน่านน้ำทะเลจีนใต้
เหตุใดนโยบายของรัฐบาลใหม่ของไทย จึงไม่แสดงให้เห็นการรับมือกับภูมิทัศน์การเมืองระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแนวโน้มไปเช่นนี้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องกล่าวอย่างตรงไปตรงมาไปว่า “เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย” ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนกล่าวถึงระหว่างการอภิปรายนั้น หากพิจารณาร่วมกันระหว่างข้อเท็จจริง และคำแถลงนโยบายที่กล่าวถึงเมื่อวันที่ 11-12 กันยายนที่ผ่านมานั้น ยังห่างไกลจากนโยบายการต่างประเทศของไทยในอดีตเสียด้วยซ้ำ
เอกสารอ้างอิง
- Panu Wongcha-um, Poppy Mcpherson and Ananda Teresia, Thailand seeking to re-engage Myanmar junta with ASEAN meeting, https://www.reuters.com/world/asia-pacific/thailand-seeking-re-engage-myanmar-junta-with-asean-meeting-letter-sources-2023-06-16/ (June 17, 2023).
- Amnesty International, Myanmar: UN Security Council resolution a small but important step in addressing the human rights crisis. https://www.amnesty.org/en/latest/news/2022/12/un-security-council-myanmar-coup/?fbclid=IwAR0wvIMI4dIG2Z9RcE_ndkigXos0mhxxIHdYxsZDtwlG3se83ZAvmM78ws8 (December 21, 2022).
- คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๖. (11 กันยายน 2566). ราชกิจจานุเบกษา, 140 (221ง).
[1] Panu Wongcha-um, Poppy Mcpherson and Ananda Teresia, Thailand seeking to re-engage Myanmar junta with ASEAN meeting, https://www.reuters.com/world/asia-pacific/thailand-seeking-re-engage-myanmar-junta-with-asean-meeting-letter-sources-2023-06-16/ . (June 17, 2023)
[2] Amnesty International, Myanmar: UN Security Council resolution a small but important step in addressing the human rights crisis. https://www.amnesty.org/en/latest/news/2022/12/un-security-council-myanmar-coup/?fbclid=IwAR0wvIMI4dIG2Z9RcE_ndkigXos0mhxxIHdYxsZDtwlG3se83ZAvmM78ws8 . (December 21, 2022)
[3] คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๖. (11 กันยายน 2566). ราชกิจจานุเบกษา, 140 (221ง), หน้า 29-30
[4] คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๖. (11 กันยายน 2566). ราชกิจจานุเบกษา, 140 (221ง), หน้า 23
[5] เพิ่งอ้าง, หน้า 33
[6] เพิ่งอ้าง, หน้า 6