ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ผนึกกำลังอาเซียนเพื่อลดผลกระทบภาษีตอบโต้การค้า

8
เมษายน
2568

Focus

  • รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ เสนอว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยการผนึกกำลังจะเพิ่มอำนาจการต่อรองต่อกรณีผลกระทบจากภาษีตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐอเมริกา มากกว่า การเจรจาแบบทวิภาคีกับสหรัฐฯ

 


รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์

 

รองศาสตราจารย์. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ เปิดเผยว่า การทำงานเชิงรุกเพื่อรับมือกับผลกระทบจากภาษีตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยไม่ให้จีดีพีของไทยขยายตัวต่ำกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ หากไม่สามารถเจรจาลดภาษีได้เลย มีโอกาสเช่นเดียวกันที่อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยอาจติดลบถ้าภาคส่งออกติดลบเกิน 5 เปอร์เซ็นต์

การผนึกกำลังกับประเทศอาเซียนเพื่อไปเจรจาต่อรองร่วมกันจะเพิ่มอำนาจต่อรองให้ประเทศไทย ผู้นำอาเซียนต้องหารือกัน หากแต่ละประเทศเจรจาแบบทวิภาคีกับสหรัฐฯ จะไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลยและอาจต้องทำตามผลประโยชน์ทางการค้าและเศรษฐกิจตามที่สหรัฐฯ ต้องการเป็นหลัก การลดอัตราภาษีให้กับสินค้าจากสหรัฐฯ การเปิดตลาดและการเพิ่มการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เป็นกลยุทธการเจรจาที่ทุกประเทศน่าจะนำมาใช้เช่นเดียวกัน หากกลยุทธเหล่านี้ทำในนามของ “อาเซียน” ย่อมมีพลังมากกว่า การไปเจรจาแบบทวิภาคี

 


อาเซียน
ที่มา: https://almanac.nia.go.th/media/images/almanac/pages/2023/01/asean-map.jpg

 

อย่างไรก็ตาม การจะนำเอามาตรการลดภาษีนำเข้าให้สินค้าสหรัฐฯ ไปแลกกับการลดกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อสินค้าไทย ก็ต้องดำเนินการโดยประเมินผลกระทบข้างเคียงด้วย เพราะอัตราภาษีนำเข้าของสินค้าบางตัวของไทยนั้นเป็นไปเพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ การแลกได้แลกเสีย (Trade Off) ล้วนเกี่ยวพันกับมิติเศรษฐศาสตร์การเมืองทั้งสิ้น ไม่ใช่ประเด็นเศรษฐกิจล้วน ๆ อย่างประเด็น Market Access ที่กลุ่มทุนบริการของสหรัฐฯ ต้องการให้เกิดขึ้น กลุ่มทุนบริการของไทยที่มีอำนาจผูกขาดในโครงสร้างตลาดภายในย่อมต่อต้านไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงและต้องการรักษาอำนาจผูกขาดไว้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอุตสหกรรมโทรคมนาคม ธุรกิจอุตสาหกรรมการเงิน เป็นต้น หรือภาษีเพื่อปกป้องภาคเกษตรกรรมของไทย

นอกจากนี้ ไทยควรมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งและเข้าร่วม North Asia and AEC New Free Trade Zone เนื่องจากจีนประกาศเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐฯ 34 เปอร์เซ็นต์ และ ประกาศไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทย รวมทั้งประกาศเจรจาตั้ง Free Trade Zone ใหม่กับ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่ง ไทยและอาเซียนควรเข้าร่วมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) ใหม่นี้

รองศาสตราจารย์. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวต่อว่า ผลของนโยบายกีดกันทางการค้าและการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าของรัฐบาลทรัมป์โดยเฉพาะการเก็บภาษีพื้นฐาน 10 เปอร์เซ็นต์ ทุกประเทศพร้อมเก็บภาษีตอบโต้ จะทำให้โครงสร้างและพัฒนาการของระบบการค้าเสรีของโลกเปลี่ยนแปลงไป โลกาภิวัตน์จะไม่เหมือนเดิม การเก็บภาษีตอบโต้ทางการค้าทำให้ระบบการค้าเสรีของโลกภายใต้ระบบ WTO ล่มสลายลง อัตราภาษีศุลกากรขึ้นไปสูงที่สุดในรอบ 100 ปี ทำให้ ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งหนักเช่นเดียวกันกับช่วงเกิดการแพร่ระบาดของ Covid-19 และการที่จีนและกลุ่มอียูก็ตอบโต้ทางการค้าด้วยกำแพงภาษีนำเข้าเช่นเดียวกัน ย่อมทำให้ผลสุทธิทางด้านสวัสดิการเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของโลกจะย่ำแย่ลงอย่างมาก จะสะท้อนมาที่ปริมาณและมูลค่าการค้าโลกจะลดลงอย่างรุนแรงในปีนี้

รวมทั้งอัตราการขยายตัวจีดีพีของโลกจะลดลงจากปัจจัยดังกล่าว ประเทศจีนอาจมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงกว่าครึ่งหนึ่งจากการถูกขึ้นภาษีถึง 54 เปอร์เซ็นต์ ในสินค้าทุกประเภท อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอาจต่ำกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ หากจีนไม่สามารถหาตลาดอื่น ๆ มาชดเชยได้ ภาคส่งออกเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญคิดเป็นสัดส่วน 14 เปอร์เซ็นต์ ของการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนปีนี้ งานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลกและธนาคารโลก ล้วนบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การปรับเพิ่มภาษีนำเข้าเพื่อปกป้องทางการค้ามีผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกมากภายใต้โครงสร้างการผลิตของโลกที่มีลักษณะเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก การขึ้นกำแพงภาษีนอกจากกระทบต่อการเติบโตของการค้า เศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ยังกระทบต่อการจ้างงานโดยรวม กระทบต่อผลิตภาพ รวมทั้งกดทับการสร้างมูลค่าของสินค้าและบริการต่าง ๆ การกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาอาจทำให้ดุลการค้าสหรัฐฯ ดีขึ้นในระยะสั้น ปกป้องอุตสาหกรรมและตลาดแรงงานภายในได้ระดับหนึ่ง แต่จะเกิดต้นทุนต่อเศรษฐกิจ โดยอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น อัตราการเติบโตในระยะยาวลดลงได้

 

 

รองศาสตราจารย์. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ชี้ให้เห็นว่า คาดการชุมนุมประท้วงต่อนโยบายรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ ความขัดแย้งทางนโยบายในทีมบริหารและที่ปรึกษา อาจส่งผลให้มีการทบทวนนโยบายการกีดกันการค้าและนโยบายอื่น ๆ  ขณะที่ Elon Musk เสนอเขตการค้าเสรีสหรัฐยุโรปภาษี 0 เปอร์เซ็นต์ ส่วน Peter Navaro ที่ปรึกษาการค้าของทรัมป์ยังผลักดันให้เก็บภาษีตอบโต้ เศรษฐกิจถดถอยลง อัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น จะสร้างแรงกดดันต่อการเดินหน้าต่อในการทำสงครามการค้าและการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าต่อประเทศต่างๆ อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นไปแตะ 3-4 เปอร์เซ็นต์ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอาจโตไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ จนสร้างแรงกดดันทางการเมืองให้มีการทบทวนนโยบายได้ มูลค่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ หายไป 5 ล้านล้านดอลลาร์ภายในสองวัน และ มีแนวโน้มยังอยู่ในช่วงชาลงต่อไป

นอกจาก กำแพงภาษีจากลัทธิกีดกันการค้า จะเกิดให้เกิดการเบี่ยงเบนทางการค้าแล้ว จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนครั้งใหญ่เพื่อย้ายฐานการผลิต การเก็บภาษีสินค้าไทยเพิ่มอีก 37 เปอร์เซ็นต์ จากภาษีนำเข้าพื้นฐาน 10 เปอร์เซ็นต์ อาจทำให้สินค้าส่งออกสหรัฐฯ สูงสุด 5 อันดับแรกย้ายฐานการผลิต ประกอบไปด้วย

  1. คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ 3.7 แสนล้านบาท สัดส่วนมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ 19.23 เปอร์เซ็นต์)
  2. โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ 1.6 แสนล้านบาท สัดส่วนมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ 8.45 เปอร์เซ็นต์)
  3. อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์
  4. หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ
  5. รถยนต์

อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้า 15 รายการที่ส่งออกไปสหรัฐฯ สูงสุดส่วนใหญ่เป็นของบรรษัทข้ามชาติที่ใช้ไทยเป็นฐานผลิตส่งออก ยกเว้น ข้าว อาหารสัตว์และเครื่องนุ่งห่ม แม้นสินค้าหลายตัวผลิตโดยบรรษัทข้ามชาติแต่โรงงานอยู่ในประเทศไทย เสียภาษีเงินได้ให้ไทย ย่อมกระทบต่อจีดีพีไทย กระทบต่อเศรษฐกิจไทย กระทบต่อการจ้างงานในประเทศ เมื่อการส่งออกเหล่านี้ลดลงอย่างมากจากกำแพงภาษีย่อมส่งผลต่อกระแสรายได้ การขยายของการผลิตในประเทศ ปัญหาการย้ายฐานผลิตของบรรษัทข้ามชาติในไทยจะเร่งตัวขึ้นหากประเทศอาเซียนอื่น ๆ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หรือ มาเลเซีย สามารถรีบไปเจรจาต่อรองได้ก่อนและเจอกับภาษีนำเข้าต่ำกว่า

การเปลี่ยนแปลงทิศทางทางการค้า (Trade Diversion) ที่ไม่ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรของโลกอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการสูญเสียสวัสดิการสังคมโลกโดยรวม (Social Deadweight Loss) จะนำมาสู่อัตราเงินเฟ้อโลกสูงขึ้นโดยเฉพาะเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกา อาจสร้างแรงกดดันต่อการตัดสินใจในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้  การรักษาระบบการค้าเสรีของโลกต้องยึดถือระเบียบการค้าโลกที่ตกลงเอาไว้ เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศ หากระบบการค้าโลกไม่ขึ้นกับระเบียบ แต่ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองแบบไร้ระเบียบภายใต้ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ระยะยาวแล้ว จะไม่มีใครได้ประโยชน์ มีโอกาสในการเกิดความขัดแย้งทางเศรษฐกิจขยายวงกว้าง นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดจนความขัดแย้งทางการทหารได้

 


องค์การการค้าโลก (WTO)
ที่มา:  ข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO)

 

รองศาสตราจารย์. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลขององค์การการค้าโลก (WTO) พบว่า มาตรการทางการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่การตั้งกำแพงภาษี ตั้งแต่ปี 2552-2567 มีจำนวนรวมมากกว่า 60,000 มาตรการ โดยเป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า 18,000 มาตรการ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ของมาตรการการค้าที่ไม่ใช่กำแพงภาษีทั้งหมด แนวโน้มในปีหน้า การกีดกันทางการค้าโดยอ้างสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อมอาจเบาลงจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคโดนัล ทรัมป์ ที่ผ่านมา มาตรการการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers, NTB) ในด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีจำนวนมากที่สุด คือ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับมาตรการด้านเทคนิค (Technical barrier to Trade :TBT) ที่บังคับใช้แล้ว ประเทศคู่ค้าหลักของไทย ที่มีการใช้มาตรการ NTB มากที่สุด คือ สหภาพยุโรป

อันดับสอง คือ สหรัฐอเมริกา ขณะนี้ สหรัฐฯ ยังไม่ได้นำเรื่อง NTB มาเป็นประเด็นในก่อสงครามทางการค้า แต่เราควรเตรียมรับมือประเด็นเรื่อง NTB ไว้ด้วย ไทยจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจให้พึ่งพาตัวเองมากขึ้น เพิ่มสัดส่วนการผลิตโดยใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองมากขึ้นเมื่อเทียบกับการรับจ้างการผลิต พัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองมากขึ้น ระบบการค้าโลกจะเป็นเรื่องของการต่อรองและการตอบโต้กันไปมา มากกว่าการทำกฎระเบียบที่ตกลงกันไว้มาเป็นกรอบในการดำเนินการทางการค้า คือ จะเป็น Deal-Based มากกว่า Rule-Based มากขึ้น นโยบายเศรษฐกิจการค้าของรัฐบาลทรัมป์ 2 จะทำให้ ห่วงโซ่อุปทานโลกย้ายออกจากประเทศจีนมากยิ่งขึ้น และ ลดการพึ่งพาต่อจีนมากขึ้น เอาการจ้างงานการผลิตสินค้ากลับมายังสหรัฐอเมริกา เพิ่มการจ้างงานในประเทศ ลดการนำเข้า ลดการขาดดุลการค้า สงครามเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในการสกัดกั้นการไล่กวดของจีน จะเพิ่มความได้เปรียบของการผูกขาด (Monopolistic Advantage) ของบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ความได้เปรียบนี้เกิดขึ้นจากสองปัจจัย หนึ่ง เป็นเทคโนโลยีพัฒนาโดยบริษัทสหรัฐฯ และได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด ปิดกั้นการลอกเลียนต่อยอด ข้อสอง การกระจายสินค้าไฮเทคและการสร้างแบรนด์ที่ผู้อื่นลอกเลียนได้ยาก

รองศาสตราจารย์. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวต่อว่า ท่ามกลางสงครามการค้า ไทยควรวางสถานะ “อิสระอย่างมียุทธศาสตร์” การพิจารณาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรฝ่ายใดให้พิจารณาเป็นรายประเด็นด้วยกลยุทธที่มีกรอบยุทธศาสตร์ผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ ท่ามกลางสงครามการค้า การย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ของบรรษัทข้ามชาติครั้งใหญ่อาจเกิดขึ้น ไทยต้องช่วงชิงโอกาสจากการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่นี้หากมีการวางยุทธศาสตร์และนโยบายเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างประเทศได้อย่างเท่าทันต่อพลวัต ไทยอาจเจอข้อเรียกร้องจำกัดปริมาณส่งออกโดยความสมัครใจ (Voluntary Export Restraints – VER) ตามยุทธศาสตร์เจรจาการค้าแบบทวิภาคีของสหรัฐฯ

การกีดกันทางการค้าและเศรษฐกิจต่อจีน จะทำให้จีนต้องหาตลาดระบายสินค้าเพื่อรักษาระดับการผลิตและการจ้างงานภายในไม่ให้เศรษฐกิจเติบโตลดลงมากเกินไป การระบายสินค้าอาจนำมาสู่พฤติกรรมทุ่มตลาดได้ โดยเราสามารถแบ่งพฤติกรรมการทุ่มตลาดออกได้เป็นสี่ลักษณะด้วยกัน คือ การทุ่มตลาดอย่างถาวร (Persistent Dumping) การทุ่มตลาดเป็นครั้งคราว (Sparodic Dumping) การทุ่มตลาดเพื่อทำลายคู่แข่ง (Predatory Dumping) และ การทุ่มตลาดเพื่อเข้าถึงตลาดใหม่ (Market Penetration Dumping) ผู้ประกอบการไทยต้องประเมินว่า ธุรกิจอุตสาหกรรมหรือกิจการที่ท่านอยู่นั้นเผชิญภาวะการทุ่มตลาดแบบไหน การทุ่มตลาดในบางลักษณะนั้นจะอาศัยกลยุทธ์ของการกำหนดราคาสินค้าให้ต่างระดับกันระหว่างตลาดต่างๆที่อุปสงค์มีความยืดหยุ่นต่อราคาในขนาดต่างกัน (Price Discrimination) และ ตลาดทั้งหลายสามารถแยกออกจากกันได้ การเคลื่อนย้ายจากตลาดราคาต่ำไปยังราคาสูงอาจทำได้ยากขึ้นอีกหากมีการสร้างกำแพงกีดกันทางการค้าทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี ตลาดระหว่างประเทศเป็นตลาดใหญ่ มีแหล่งผลิตจากประเทศต่างๆมาแข่งขันกัน อุปสงค์ในตลาดเช่นนี้จะมีความยืดหยุ่นมาก แต่ตลาดภายในประเทศมีขนาดเล็ก และผู้บริโภคมีทางเลือกน้อย เส้นอุปสงค์จะมีความยืดหยุ่นน้อย ทฤษฎีพฤติกรรมของผู้ผูกขาดจะบอกให้ทราบว่า ควรกำหนดราคาในตลาดต่างประเทศให้ต่ำกว่าราคาในตลาดภายในประเทศ ต้นทุนส่วนเพิ่ม (Marginal Cost) ของสินค้าผลิตในจีนนั้นต่ำมาก ฉะนั้นจึงสามารถกดราคาขายและทุ่มตลาดได้เต็มที่

การดิ่งลงของตลาดหุ้นทั่วโลก การเพิ่มขึ้นของราคาทองคำจะยังไม่จบ หากหลายประเทศใช้วิธีตอบโต้ทางการค้าเช่นเดียวกับจีนจะทำให้สถานการณ์การค้าและเศรษฐกิจโลกทรุดหนัก ปั่นป่วน ผันผวนมากกว่าเดิม ภาคส่งออกของไทยอาจติดลบได้มากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ย่อมทำให้ อัตราการขยายตัวของจีดีพีของไทยทั้งปีติดลบได้