Focus
- การพิจารณาประวัติศาสตร์การเมืองช่วงยาวในระดับสากลและในสังคมไทย ช่วยให้เห็นแนวโน้มของการปลดปล่อยสังคมเก่าสู่สังคมใหม่ได้ดีกว่าการพิจารณาเฉพาะเหตุการณ์ ดังที่ในสังคมไทยมีการเรียนรู้ประชาธิปไตยมาตั้งแต่การแปลรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเป็นภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ตีพิมพ์เผยแพร่โดยหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกัน ใน นสพ. รายเดือน Bangkok Recorder เมื่อ 19 ตุลาคม 1865 (2408) ต่อมาก็มีการเรียกร้องให้มี “ผู้แทนหรือตัวแทน” (รัฐสภา) ดังที่ “เทียนวรรณ” เสนอในสมัยรัชกาลที่ 5 กบฏ ร.ศ. 130 (เก็กเหม็ง) สมัย ร.6 การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สมัยรัชกาลที่ 7 และเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ ตามมา
- นับจากปลายสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในทศวรรษ 1950 การเกิดขึ้นของชนชั้นกลางใหม่ ประกอบกับกระแสประชาธิปไตยในระดับสากล ได้ส่งเสริมการตื่นตัวทางการเมืองของคนไทยที่เรียนรู้ทั้งจากฝ่ายเสรีประชาธิปไตยและสังคมนิยม โดยชนชั้นกลางใหม่ดังกล่าวส่วนหนึ่งได้กลายเป็นพันธมิตร “ใหม่” ของผู้ปกครองเดิม คือ เจ้านาย-นายพล-นายธนาคาร-ข้าราชการ (พลเรือนและตุลาการ) ให้มีฐานกว้างขวาง และนำไปสู่การเกิดขึ้นของเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 – 6 ต.ค. 2519
- การโต้ตอบของฝ่ายขวาที่เป็นฝ่าย “อนุรักษ์นิยมใหม่” ต่อฝ่ายซ้ายผู้อยู่ภายใต้กระแสประชาธิปไตยที่เป็น “การเมืองใหม่” ในลักษณะที่รุนแรงก็เกิดขึ้นได้คือ การปราบปรามขบวนการนักศึกษาและประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคราววันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่กลายเป็น “วันมหาวิปโยค” ของ “ไทยฆ่าไทย และถัดมาคือการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ “พฤษภาคมเลือด” ในปี 2535 อันเป็นสิ่งที่รัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนา มิได้สามารถจัดการความขัดแย้งได้อย่างสันติ ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อบรรลุอุดมการณ์ประชาธิปไตยของประชาชนในระยะยาว
ในบทความซึ่งอาจจะดีที่สุดเกี่ยวกับ “การรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519” โดยเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson “Withdrawal Symptoms: Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup”) กล่าวไว้ว่า โดยตัวของมันเองแล้ว “รัฐประหาร 6 ตุลา” ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองของสยามประเทศ (ไทย) แต่อย่างใด ไม่ว่าจะในสมัยใหม่หรือสมัยเก่า เพราะเคยมีรัฐประหารหรือความพยายามที่จะทำรัฐประหารมาแล้วครั้งแล้วครั้งเล่านับแต่การปฏิวัติ 2475
ดังนั้น ทั้งนักวิชาการและสื่อมวลชนนักหนังสือพิมพ์ (ฝรั่งตะวันตก) ต่างก็ลงความเห็นว่า “การรัฐประหาร 6 ตุลา” เป็นเรื่อง “ธรรมดาๆ” ของการเมืองไทย และ เป็นการกลับไปสู่ “สภาพปกติ” หลังจากที่หลงระเริงอยู่กับ “ประชาธิปไตย” เสีย 3 ปี แต่แอนเดอร์สันก็กล่าวว่า “การรัฐประหาร 6 ตุลา” เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ (ใหม่) ของการเมืองไทย อย่างน้อยก็ใน 2 ประเด็น คือ
- บรรดาผู้นำฝ่ายซ้าย แทนที่จะจบลงด้วยการถูกจับขังคุก (จนลืม) หรือไม่ก็ไปลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ กลับเข้าไปร่วมกับขบวนการจรยุทธ์ในป่า
- การรัฐประหาร 6 ตุลา แตกต่างจากการรัฐประหารที่เคยมีมา นั่นคือ หาใช่เป็นเพียงการยึดอำนาจกันในหมู่ชนชั้นผู้นำเท่านั้น แต่เป็นการรัฐประหารที่ฝ่ายขวาใช้เวลากว่า 2 ปีในการวางแผน รณรงค์ คุกคามอย่างเปิดเผย ก่อกวน ทำร้าย ทำลายชีวิต ฯลฯ ซึ่งจะเห็นได้อย่างโจ่งแจ้งของความรุนแรงและการปลุกปั่นให้เกิดความบ้าคลั่งของฝูงชนหรือ “ม็อบ” เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519
อาจารย์เบนขยายความต่อไปอีกว่า รูปแบบและระดับของความรุนแรง ความโหดร้าย ป่าเถื่อนของ 6 ตุลานั้น เป็นเสมือนอาการของโรค “ลงแดง” ที่เกิดจากวิกฤตการณ์ทางสังคม-วัฒนธรรม-ของ “การเมืองใหม่” กล่าวคือการเกิดและก่อตัวของชนชั้น (ใหม่) กับความปั่นป่วนทางอุดมการณ์ (ใหม่)
กล่าวโดยย่อ (ในทัศนะของอาจารย์เบน) นับแต่ปลายทศวรรษ 1950 หรือช่วงสองของ “ระบอบพิบูลสงคราม” เป็นต้นมา ได้เกิดชั้นชนกระฎุมพีใหม่ (ชนชั้นกลางในเมือง) ขึ้น โดยถือกำเนิดเกิดขึ้นมานอกชนชั้นสูง-เจ้านาย-ข้าราชการเก่า ชั้นชนใหม่นี้ มีทั้งกระฎุมพีน้อย-กระฎุมพีกลาง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงของ “บูม” ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามเวียดนาม-ลาว-กัมพูชาในช่วงทศวรรษ 1960 ที่ทั้งนายทุน-ทั้งนาย และทั้งพลทหารอเมริกัน กับเงินดอลลาร์หลั่งไหล ทะลักเข้ามาในสังคมไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน ตามติดมาด้วยนายทุนญี่ปุ่นและเงินเยนอย่างมากมายมหาศาล เช่นกัน
ชั้นชนกระฎุมพีใหม่หรือชนชั้นกลางในเมืองนี้แหละ ที่ได้กลายเป็นฐานสนับสนุนให้กับขบวนการฝ่ายขวา ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากกลุ่มฝ่ายขวาเดิมของเจ้า-ผู้ดีและ ข้าราชการ (ทหาร พลเรือน ตุลาการ) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า กลุ่มผู้ปกครอง “เก่า” ซึ่งก็คือบรรดาเจ้านาย-นายพล-นายธนาคาร-ข้าราชการ (พลเรือนและตุลาการ) จะหลุดออกไปจากตำแหน่งสำคัญๆ ที่กุมอำนาจทางการเมืองมาเป็นเวลานานเป็นร้อยปีแต่อย่างใด กลับกลายเป็นว่ากลุ่มผู้ปกครองเก่านี้ได้พันธมิตร “ใหม่” ที่มีฐานกว้างขวาง ที่มีลักษณะเป็นอันตรายและคุกคามสังคมโดยรวมมากกว่าเดิม
พร้อมๆ กับการเกิดของชั้นชนกระฎุมพี/ชั้นกลางในเมืองนี้ ความปั่นป่วนทางด้าน อุดมการณ์ก็เป็นผลพวงของผลกระทบของการที่อิทธิพลของอเมริกาหลั่งไหลเข้ามา และปะทุระเบิดขึ้นให้เห็นได้ทางด้านภูมิปัญญาหรือความคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 ปีของยุค “ประชาธิปไตย” เบ่งบานนั้น (ระหว่าง พ.ศ. 2516-2519) มีคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยที่เบื่อหน่ายต่อความอับจนทางปัญญา และการใช้สัญลักษณ์เก่าๆ ทางจารีตโดยระบอบสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส คนหนุ่มสาว ตั้งคำถามต่อค่านิยมและวัฒนธรรมจารีตนั้นๆ ซึ่งก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการโฆษณาเผยแพร่ ปลุกระดม สั่งสอนอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” หนักหน่วงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน (แม้แต่ในสมัย “ราชาธิปไตย” หรือ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์”)
“ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” แทนที่จะเป็นของ “ไทยตามธรรมชาติ” สำหรับคนทั่วๆ ไปไม่ว่าจะเป็นชนชั้นวรรณะใดก็ตาม กลับกลายเป็นอุดมการณ์ “เฉพาะ” ของกลุ่มที่ก่อตัวขึ้นมาใหม่ทางชนชั้นของสังคมในครั้งนี้ ผู้ที่เข้าร่วมขบวนการฝ่ายขวานี้ก็คือ บรรดาชนชั้นกระฎุมพี/ชั้นกลางใหม่ๆ ทั้งหลาย ส่วนผู้ที่ทำการโฆษณาเผยแพร่อุดมการณ์ ปลุกระดม ก็มีทั้งกลุ่มบ้าคลั่งจากชนชั้นใหม่นี้เอง และจากผู้ที่บงการหรือตัวแทนของกลุ่มชนชั้นปกครอง “เก่า” ที่อยู่เบื้องหลัง (ดูบทความแปลของ เบเนดิก แอนเดอร์สัน ในภาษาไทยเรื่อง “บ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคม และวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม” ได้ในหนังสือ “จาก 14 ถึง 6 ตุลา” จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์)
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อดีตผู้นำนักศึกษารุ่น “คนเดือนตุลา” และปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เล่าว่า เมื่อเวลาประมาณ 2 นาฬิกาของวันที่ 6 ตุลาคม ตำรวจกับกองกำลังติดอาวุธและกำลังพลฝ่ายขวาได้เคลื่อนเข้าปิดล้อม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งมีนิสิตนักศึกษาและประชาชน จำนวน 4-5 พันคนชุมนุมอยู่ตลอดคืน ผู้คนเหล่านั้นปักหลัก ประท้วงการกลับเข้ามาใน กทม. ของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งได้ถูกนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนลุกฮือ ขับไล่ออกจากประเทศไปเมื่อ 3 ปีก่อน (การปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516)
หลังการเข้าปิดล้อมของตำรวจกับกองกำลังติดอาวุธและกำลังพลฝ่ายขวาก็ได้ยิน เสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะๆ มีการขว้างปาระเบิดเข้าไปตามตึกของมหาวิทยาลัย ราตรีนั้นเต็มไปด้วยความตึงเครียด ทั้งนี้เพราะก่อนหน้านี้ นักกิจกรรมการเมือง 2 คน (พนักงานไฟฟ้าที่นครปฐม) ได้ถูกทำลายชีวิตและศพถูกจับแขวนคอ (ในขณะที่กำลังปิดโปสเตอร์ประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร)
หลังการทำลายชีวิตดังกล่าวที่นครปฐมได้มีการแสดงละครล้อการเมืองของนักศึกษาธรรมศาสตร์ ล้อเลียนการกลับมาของจอมพลถนอม (บวชเป็นเณรมาจากสิงคโปร์ แล้วก็เข้าไปบวชเป็นพระอย่างเร่งรีบที่วัดหลวงบวรนิเวศ บางลำภู) ล้อเลียนการแขวนคอนักกิจกรรมนครปฐม การแสดงนี้มี ณ บริเวณลานโพธิ์ และในการโฆษณาชวนเชื่อปลุกระดมของฝ่ายทหาร (วิทยุยานเกราะและเครือข่ายวิทยุเสรี) กับ นสพ. (ดาวสยาม) ได้มีการนำฟิล์มรูปการแสดงละครไปตกแต่ง แล้วอัดรูปขยายพิมพ์แจกจ่าย เผยแพร่ กล่าวหาและปลุกปั่นว่านักศึกษา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ โดยที่นักศึกษามิได้รับโอกาสที่จะแก้ข้อกล่าวหานี้แต่ประการใด
เมื่อเวลาประมาณ 05.30 น. ตำรวจและกองกำลังติดอาวุธก็ระดมยิงระเบิดเข้าไป กลางฝูงชนเป็นผลให้มีคนตายทันที 4 ศพ และบาดเจ็บหลายสิบ และจากระเบิดลูกนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้อาวุธสงครามร้ายแรง ทำลายประหัตประหารชีวิต นักศึกษาและประชาชนเป็นเวลาหลายชั่วโมง มีทั้งการยิงจรวด (ที่ใช้ต่อต้านรถถัง) เข้าไปตามตึกต่างๆ ของมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาและประชาชนหลบช่อนอยู่ ฝูงชน ฝ่ายขวา (รวมทั้งมือปืนรับจ้าง) ที่ได้รับการจัดตั้งและปลุกระดมไว้อย่างเข้มข้นแล้วก็บุกทะลวงเข้าไปในมหาวิทยาลัย บ้างลากนักศึกษาออกมาทุบตีจนตาย บ้างใช้ผ้าและเชือกรัดคอนักศึกษา แล้วลากถูลู่ถูกังไปตามสนามฟุตบอล บ้างจับนักศึกษาไปแขวนคอที่ต้นมะขามสนามหลวง ด้านพระบรมมหาราชวังทางหน้าตึกกระทรวงยุติธรรม มีการลากศพ 3 ร่างมากองแล้วเอาน้ำมันราด เอายางรถสุมทับเอาไฟจุดเผา กล่าวโดยย่อ การทำลายล้างชีวิตและร่างกายอย่างโหดเหี้ยมทารุณบ้าคลั่ง ดำเนินไปจนกระทั่งเวลาประมาณ 9 นาฬิกาเป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง
วันนั้น วันที่ 6 ตุลาคม เป็นวันพุธ เป็น “วันมหาวิปโยค” ที่ “ไทยฆ่าไทย” (ด้วยการกล่าวหาทางเชื้อชาติว่าเป็น “ญวน” หรือเป็น “เจ๊ก”) วันนั้น เป็นวันที่มืดมิดที่สุดวันหนึ่งใน “ประวัติศาสตร์” การเมืองไทย (ใหม่) ครั้นถึง 18 นาฬิกา เย็นวันนั้นคณะทหารก็ประกาศยึดอำนาจทำการ “รัฐประหาร” (ทางราชการแถลงว่าในวันนั้นมีผู้เสียชีวิตประมาณ 40 คน บาดเจ็บเป็นร้อยและถูกจับกุมไป 3 พันคน แต่ก็เชื่อกันว่าจำนวนผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ รวมทั้งสูญหาย น่าจะสูงกว่าที่ทางราชการแถลง ตามปกติธรรมดา)
กล่าวโดยย่อ 6 ตุลาคม (2519) ก็คือวันที่มีการรัฐประหาร นำการเมืองไทยกลับไปสู่การเมืองการปกครองโดยคณะทหารอีกครั้งหนึ่ง (แต่มีนายกรัฐมนตรีมาจากข้าราชการตุลาการ คือ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร) ซึ่งมิใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่การรัฐประหาร 6 ตุลา ก็มาพร้อมกับความรุนแรงและป่าเถื่อน โหดร้ายอย่างชนิดที่ไม่มีผู้ใดจะคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทยมาก่อน ภาพของความทารุณโหดร้ายถูกบันทึกไว้เป็นภาพยนตร์ เป็นภาพถ่าย ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก (แม้ในยุคสมัยที่ไม่ยังไม่ตื่นเต้นกับโลกาภิวัตน์นัก ยังมิได้มี “ม็อบมือถือ” แฟกซ์ กล้องวิดีโอ ตลอดจนบรรดาอุปกรณ์ไฮเทค อินเตอร์เน็ตทั้งหลาย) การสังหารหมู่กลางกรุงเทพพระมหานครฯ วันนั้น ได้รับการถ่ายทอดออกโทรทัศน์ช่อง 9 ด้วย
แต่ก็เป็นที่น่าประหลาดในอย่างยิ่งที่ปัจจุบันนี้ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กลับกลายเป็น “อดีต” ที่ดูเหมือนผ่านมาแล้วก็ผ่านไปประหนึ่งว่าเป็นการพังพินาศของ อดีต ขาดสถานะทาง “ประวัติศาสตร์” เข้าทำนองที่ว่าประวัติศาสตร์นั้นเป็นเรื่อง ของ “ผู้ชนะ” ประวัติศาสตร์หาได้เป็นเรื่องของ “ผู้แพ้” ไม่
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งจากอุดมการณ์ทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ดูจะสับสน งุนงง ลืม เลอะเลือน ปฏิเสธ และบางครั้ง ขาดความเข้าใจต่อ 6 ตุลาในบริบทเฉพาะของการเมืองไทย (ใหม่) และในบริบทใหญ่ของ การเมืองระดับโลก (ทั้งนี้โดยที่ยังไม่นับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง และผู้ที่อยู่ห่างไกลจากความแตกแยกทางอุดมการณ์ในครั้งนั้น)
ยิ่งอนุชนรุ่นหลังเยาวชนคนหนุ่มสาว นักเรียน นิสิต นักศึกษารุ่นใหมๆแล้ว ก็เกือบจะไม่มีการรับรู้ถึงเหตุการณ์นั้นแต่อย่างใด 6 ตุลาคม 2519 หาใช่หนึ่งในหน้าของ “ประวัติศาสตร์ไทย” ไม่ เกือบไม่มีในตำราหรือแบบเรียนเท่าไรนัก ไม่ว่าจะในการศึกษาเล่าเรียนระดับประถม หรือระดับมัธยม หรือแม้แต่ในระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยก็ตาม
(ทั้งนี้โดยที่ยังไม่ต้องกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญๆ ในทำนองเดียวกันอีก 2 เหตุการณ์ คือการปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2519 และพฤษภาเลือด 2535) ดังนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจนักที่จะมีคนกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างผิดๆ เพี้ยนๆ ว่า “16 ตุลาคม 2514” (!!!???)
ประวัติศาสตร์ “ช่วงยาว”
มีสำนักคิดทางประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสสำนักหนึ่ง ที่ถือว่าการศึกษาทำความเข้าใจต่อ “ประวัติศาสตร์” นั้นจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อประวัติศาสตร์นั้นมีลักษณะที่เรียกว่า L'histoire longue durée
ในที่นี้ขอแปลเป็นภาษาไทยว่า “ประวัติศาสตร์ช่วงยาว” กล่าวคือ วิธีการนี้เป็น การศึกษาประวัติศาสตร์โดยใช้ช่วงระยะเวลายาวๆ อาจยาวเป็นทศวรรษหรือเป็นศตวรรษใช้เวลายาวนานหลายต่อหลายปีนั้นเป็น “กรอบ” ในการศึกษาและวิเคราะห์ ซึ่งจะทำให้เห็นทางเดินของประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี แจ่มชัด แทนที่จะเป็นการศึกษาเฉพาะแต่ละเหตุการณ์ๆ ไป ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสเช่นกันว่า L'histoire événementielle หรือ “ประวัติศาสตร์เหตุการณ์” ซึ่งจะมีลักษณะตรงกันข้ามคือ คับแคบ มองได้ไม่ไกล ไม่กว้าง ไม่รอบด้าน
ดังนั้น ถ้าหากเราจะนำทฤษฎีของ “ประวัติศาสตร์ช่วงยาว” หรือ L'histoire longue durée มาใช้เพื่อศึกษาเหตุการณ์ “6 ตุลาคม 2519” เล่าเราจะศึกษาได้อย่างไร
“ประวัติศาสตร์ช่วงยาว” ของการเมืองสยามประเทศ (ไทย)
ในบริบทของประวัติศาสตร์ “การเมืองใหม่” ของสยามประเทศ (ไทย) นั้น “เหตุการณ์ 6 ตุลา (2519)” น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของ กระบวนการทางประวัติศาสตร์สังคมและการเมือง ที่เป็นปฏิปักษ์ ต่อต้าน และพยายามปลดปล่อยตนเองออกจากการครอบงำของระบอบสังคมเก่า ขบวนการนี้รู้จักกันในชื่อหรือแนวความคิด/อุดมการณ์ต่างๆ เช่น “ประชาธิปไตย” และ “รัฐธรรมนูญ” และ/หรือ “เสรีภาพ” (democracy-constitutionalism-liberty)
ขบวนการ และ/หรือ อุดมการณ์เช่นว่านี้ เป็นผลพวงของแนวความคิดทาง “การเมืองใหม่” ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในช่วงที่สังคมสยามประเทศ (ไทย) ติดต่อสัมพันธ์กับโลกสมัยใหม่ (ยุคอาณานิคม) ที่มีมหาอำนาจฝรั่งตะวันตกอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ เป็นผู้นำ
อาจกล่าวได้ว่าพร้อมๆ กับการปรากฏตัวของ “ลัทธิอาณานิคม” ฝรั่งตะวันตกนั้น ก็มีสิ่งที่เรียกว่า S กับ D คือ Science กับ Democracy ตามเข้ามาด้วย ทั้ง S กับ D เป็นสิ่งที่สังคมทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเอเชียหรืออัฟริกา ต้องเผชิญหน้าต้องหาทางจัดการว่าจะทำอย่างไรกับตัว S และตัว D สองตัวนี้ดี จะรับหรือไม่รับ จะนำเข้า หรือไม่นำเข้า หากรับหรือนำเข้า จะรับและนำเข้าแค่ไหน เพียงไร และหากไม่รับและไม่นำเข้าจะทำอย่างไรดี ต้องหาทางแก้ตัวหรือออกตัวอย่างไร
ในส่วนที่เกี่ยวกับตัว D หรือ Democracy นั้น ขอกล่าวให้เฉพาะเจาะจงลงไปอีก ก็คือ แนวความคิดทาง “การเมืองใหม่” ว่าด้วย Liberalism กับ Socialism ที่เราจะแปลเป็นไทยอย่างในภาษาปัจจุบันลงตัวว่า “เสรีนิยม” กับ “สังคมนิยม” นั้นเป็นอุดมการณ์ของ “การเมืองใหม่” (ใหม่จริงๆ ในยุคนั้น) เป็นสิ่งที่ตรงข้ามและเป็น ปฏิปักษ์ต่ออุดมการณ์หลักของชนชั้นนำสยามประเทศ (ไทย) หรือ “การเมืองเก่า” นั่นคือความเป็นสังคมดั้งเดิมตามจารีตประเพณีที่มีความเป็น “อนุรักษนิยม” สูง มี รากฐานอยู่กับ “สมบูรณาญาสิทธิ์” อยู่กับ “เสนา-อำมาตย์นิยม” (absolutism-military-bureaucratism) นั่นเอง
ถ้าหากจะดูตามลำดับเหตุการณ์ทาง “ประวัติศาสตร์ช่วงยาว” แล้ว จะเห็นได้ว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและทางความคิด “ใหม่” เหล่านี้ที่คืบคลานเข้ามาในเอเชีย และในเมืองไทย กินระยะเวลาอันยาวกว่า 100 ปี เริ่มมาตั้งแต่สมัยที่ลัทธิอาณานิคม ฝรั่งตะวันตกได้บุกทะลวงเข้ามาในเอเชีย (สงครามฝิ่นกับการบีบบังคับให้เปิดเมืองจีนและญี่ปุ่น) และมาปรากฏอิทธิพลในสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 (ประมาณ สนธิสัญญาเบาว์ริง พ.ศ. 2398/1855) ทำให้มีการแปลรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ออกเป็นภาษาไทยเป็นครั้งแรก และทำการตีพิมพ์โดยหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกัน (Dan Beach Bradley ค.ศ. 1804-1873 หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน ที่พำนักอยู่ในสยามในสมัยต้นรัตนโกสินทร์จากปี 1835 หรือ พ.ศ. 2378 จนสิ้นชีวิตเป็นเวลาถึง 38 ปี)
คำแปลรัฐธรรมนูญอเมริกันดังกล่าวตีพิมพ์ใน นสพ. ของท่านเมื่อ 19 ตุลาคม 1865 (2408) หมอบรัดเลย์นั้นได้ชื่อว่าเป็นท่านแรกที่เป็นผู้ให้กำเนิด นสพ. ในสยาม ประเทศ (ไทย) กล่าวคือท่านได้ออก นสพ. รายเดือน Bangkok Recorder ระหว่าง ค.ศ. 1844- 1845 และ 1865-1867 กับออก นสพ. รายปี Bangkok Calendar จากปี 1859-1873
หน่ออ่อนๆ ของ Democracy ก็ถือได้ว่าเริ่มแตกหนอขึ้นจากนั้นเราก็จะได้ยินได้ฟังว่า มีการเรียกร้องโดยชาวสยามประเทศ (ไทย) เองให้ “สยาม” มีการปฏิรูปการปกครอง และก้าวไปถึงการมี “ผู้แทนหรือตัวแทน” (คือมีรัฐสภา) ดังจะเห็นได้จากกรณีของนักคิดนักขียน “ปัญญาชนของสังคมสยาม” อย่าง ก.ศ.ร.กุหลาบ หรือ “เทียนวรรณ” ในสมัยรัชกาลที่ 5 (แต่ด้วยความคิด “การเมืองใหม่” (จริงๆ) ก็ทำให้ “เทียนวรรณ” ถูก “การเมืองเก่า” จับติดคุกเสียตั้ง 17 ปี)
“ประวัติศาสตร์ช่วงยาว” ของขบวนการที่จะปลดปล่อยตนเองออกจากระบบสังคม เก่า-การเมืองเก่านี้ ดำเนินเรื่อยมาดังจะเห็นได้จาก “ประวัติศาสตร์เหตุการณ์” สมัยต่างๆ อย่างเช่น “การกบฏ ร.ศ. 130” เมื่อต้นรัชกาลที่ 6 ที่นายทหารหนุ่มจำนวนหนึ่ง ที่มีความคิดว่าด้วย “การเมืองใหม่” วางแผนที่จะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ “การเมืองเก่า” แต่กว่าจะมาประสบความสำเร็จ (ในระดับหนึ่ง) ก็เมื่อถึง “การปฏิวัติ 24 มิถุนายา 2475” ของ “คณะราษฎร”
อาจกล่าวได้ว่า กระแสความคิดทาง “การเมืองใหม่” อันเป็นหลักการและอุดมการณ์ของผู้ที่ต้องการจะปลดปล่อย นับตั้งแต่ “เทียนวรรณ” มาถึงพวก “กบฏ ร.ศ. 130 (เก็กเหม็ง)” จนกระทั่ง “ผู้ก่อการ” หรือ “คณะราษฎร” 2475 นั้น เป็นความคิดต้าน “เสรีนิยม” หรือ Liberalism เป็นหลัก
พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นรูปแบบของระบอบประชาธิปไตยและลัทธิรัฐธรรมนูญที่ได้รับความบันดาลใจจากยุโรปตะวันตกที่มีมานับตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 ที่ชูแนวความคิดว่าด้วยเสรีภาพ (เสมอภาคและภราดรภาพ Liberty, Equality, Fraternity) เป็นหลัก (ซึ่งอาจรวมถึงอิทธิพลของการปฏิวัติประชาธิปไตยของจีน ค.ศ. 1911 ที่มีซุนยัดเซ็นเป็นผู้นำด้วย) แม้จะมีอิทธิพลของ “สังคมนิยม” อันเป็นผลพวงของการปฏิวัติรัสเชีย (ค.ศ. 1917) แทรกเข้ามาด้วยก็ตาม แต่ก็ยังนับได้ว่าเป็นกระแสรองและถูกสกัดกั้นไว้แต่แรก ๆ (ดังเช่น “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของนายปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2476 เป็นต้น)
ดังเป็นที่ทราบทั่วไปว่า การปลดปล่อยเข้าสู่ระบอบใหม่หรือ “การเมืองใหม่” นั้นหาได้บรรลุเป้าหมายตามอุดมการณ์ของประชาธิปไตยหรือรัฐธรรมนูญไม่ หลังการ สิ้นสุดของ “สมบูรณาญาสิทธิ์” พ.ศ. 2475 การเมืองไทยได้แปลงรูปแปลงระบอบเข้าสู่ความเป็น “เสนา-อำมาตยาธิปไตย” เสียมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลัง การรัฐประหาร 2490 ของพลโทผิน ชุณหะวัณ (ที่เรามักจะเรียกกันทั่วๆ ไปว่า “เผด็จการทหาร” ของระบอบพิบูล-ผิน-เผ่า-สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส แต่ในความเป็นจริง ระบอบดังกล่าวนี้ มิได้จำกัดอยู่เพียงข้าราชการทหารเท่านั้น แต่รวมไปถึงข้าราชการพลเรือนและข้าราชการตุลาการด้วย ว่าไปแล้วอำนาจทั้ง 3 คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ได้กลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสิ่งที่เรียกว่า “เผด็จการ” หรือ “คณาธิปไตย” ที่บางครั้งจะพยายามกลบเกลื่อนด้วยชื่อใหม่ๆ ว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย” บ้างหรือ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” บ้างก็มี)
ดังนั้น สิ่งที่ขบวนการปลดปล่อย ต้องเผชิญเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ก็คือปลดปล่อยตนเองอีกครั้งหนึ่งจากระบอบเก่า (ที่พลิกฟื้นและพลิกแพลงมาในรูป “ใหม่ๆ”) ก็กินระยะเวลาอันยาวนานไม่น้อย นับแต่การ “รัฐประหาร” ของจอมพลผิน ชุณหะวัณ (2490) ดังที่กล่าวมาแล้ว และเฉพาะอย่างยิ่งจากช่วงระยะเวลาอัน ยาวนานถึง 15 ปีของระบอบสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส (2501-2516) จนกระทั่งปลดปล่อยตัวเองได้อีกครั้งหนึ่ง (แต่ก็เพียงในระดับหนึ่งอีกเช่นกัน) เมื่อมีการปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516 ของขบวนการนักเรียนนิสิตนักศึกษา (เยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่)
ความพยายามในการปลดปล่อยตนเองนี้ ยังยืดเยื้อยาวนานมาอีกผ่าน “ประวัติศาสตร์ช่วงยาว” ของ “เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519” ผ่านช่วงของ “พฤษภา เลือด 2535” จนกระทั่งปัจจุบัน (ซึ่งเราก็ยังไม่มั่นใจนักต่อทิศทางของประชาธิปไตยไทยเท่าไรนัก ในเส้นทางเดินของประวัติศาสตร์ช่วงยาว) ของการเมืองไทยนับแต่ 2519 เป็นต้นมา และเมื่อพิจารณาด้านของความคิดหลักของกระบวนการนี้ ความคิด “เสรีนิยม” ก็ยังเป็นความคิดกระแสหลักอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าในสมัยสั้นๆ เพียง 3 ปี ระหว่าง 2516-2519 นั้น กระแสของ “สังคมนิยม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปของ “ลัทธิเหมา” (Maoism) จะมีอิทธิพลต่อขบวนการปลดปล่อยไม่น้อย ทั้งนี้โดยที่ต้องศึกษาควบคู่ไปกับบริบทของการเมืองโลก
“ประวัติศาสตร์ช่วงยาว” ของการเมืองโลก
ในหนังสือเล่มล่าสุดของนักประวัติศาสตร์ชื่อดังชาวอังกฤษ Eric Hobsbawm : The Age of Extremes, A History of the World, 1914-1999 (1994) ได้กล่าวถึง คริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านพ้นไปเมื่อปี ค.ศ. 1999 เข้าสู้ปี 2000 ว่า ศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านพ้นไปนั้น เป็นศตวรรษที่แสนสั้น เป็นศตวรรษของความสุดขั้ว “ความสั้นและความสุดขั้ว” นี้ดูได้จากช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ.1914-1991 คือจากปีที่เกิดสงครามโลก ครั้งที่ 1 (ที่ตามมาด้วยการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917/2460 ที่มีผลสั่นสะเทือนไปทั่วโลก รวมถึงสยามประเทศ (ไทย) ด้วยนั้น) และก็จบลงด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต (USSR ซาตะ 2465/1922 มรณะ 2534/1991)
คริสต์ศตวรรษที่ 20 (1900-2000) เริ่มต้นด้วยยุคสมัยแห่งความหายนะ (1914- 1945, Age of Catastrophe) ของสงความโลกทั้ง 2 ครั้ง ที่ “ความสุดขั้วและความ รุนแรง” จากสงครามโลกทั้งสองครั้งในเวลา 30 กว่าปีนั้น ทำให้เกิดความรู้สึกว่า มนุษยชาติอาจไปไม่รอด โลกอาจจะสิ้นสุดลงด้วยสงครามนิวเคลียร์
แต่แล้ว สมัยนั้นก็ตามมาด้วยยุคทองสั้นๆ (1950-1970 Golden Age) ที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มโลกที่หนึ่งและเครือข่าย (บริวาร) จากกลุ่มโลกที่สาม พร้อมๆ กับการเผชิญหน้าทางอุดมการณ์ของค่ายทุนนิยมและสังคมนิยม และในสองสามทศวรรษที่เหลือ ก่อนจะปิดศตวรรษ (fin de siecle) ปี ค.ศ. 1999 ก็เป็นสมัยของวิกฤตการณ์หนึ่ง ที่ต่อด้วยอีกวิกฤตการณ์หนึ่ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นยุคสมัยของความไม่แน่นอน (แม้ในโลกทุนนิยม) และยิ่งในโลกที่สองอย่างในสหภาพโซเวียต และยุโรปตะวันออกแล้ว ก็เป็นยุคสมัยของการพังหลายและความพินาศฉิบหาย
คริสต์ศตวรรษที่ 20 ปิดฉากลงด้วยเสียงที่เปรี้ยงปร้าง (bang) พร้อมๆ กับเสียงครวญคราง (whimper) “ความสุดขั้วและความรุนแรง” ของศตวรรษที่ 20 เห็นได้จากการทำลายล้างชีวิตมนุษย์ ทั้งที่เป็นประชาชนของศัตรู หรือที่เป็นประชาชนของตนเอง (แต่แตกต่างกันที่เผ่าพันธุ์และศาสนา และความเชื่อทางอุดมการณ์) ประมาณกันว่า “มหามรณะ” (mega-death) ในศตวรรษนี้ ที่เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ด้วยกันเอง มีจำนวนถึง 187 ล้าน
เฉพาะในส่วนของโลกที่สาม ที่กลายเป็นเขตของสงครามนับตั้งแต่สิ้นสุดสงความโลกครั้งที่ 2 ไปแล้ว (ก็ตาม) จำนวนชีวิตที่ถูกทำลายไปในสงความเล็กๆ น้อยๆ (สงครามตัวแทน สงครามลัทธิ) กว่า 100 ครั้ง มีถึง 20 ล้านคน แค่ในเอเชียตะวันออกก็ตกตั้ง 9 ล้าน ในสงครามเกาหลี 3-4 ล้าน ในสงความอันยาวนานในเวียดนาม 30 ปี กว่า 2 ล้าน (ยังไม่ได้นับรวมในลาวและกัมพูชา) จำนวนศพที่มากมายที่เป็นเพียงตัวเลขสถิติเหล่านี้ ดูเหมือนจะเกินกว่าที่สติปัญญาของมนุษย์จะสร้างจิตนาการให้มองเห็นภาพอันทารุณโหดร้ายนั้นได้
ควบคู่ไปกับความสั้น-สุดขั้ว-และรุนแรง คริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็เป็นทั้งผลพวงและรับอิทธิพลจากยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ (Age of Revolutions) ที่มีรูปแบบจากการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 และจากการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ซึ่งเปิดฉากด้วยความคิด “เสรีนิยม” และปิดฉากด้วยความคิด “สังคมนิยม” ที่กลายเป็นตัวอย่างหรือตัวแบบ ที่สร้างแรงบันดาลใจไปทั่วโลก
ศูนย์กลางของการปฏิวัติทั้งสองครั้ง (คือ กรุงปารีสและกรุงมอสโคว์) พยายามที่จะส่งอิทธิพลของการปฏิวัติ และรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงให้เป็นมาตรฐานระดับโลก และก็ได้รับการตอบสนองจากผู้ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงในส่วนอื่นๆ ของโลกไม่น้อย แม้ว่าในปลายทศวรรษ 1950 กรุงมอสโคว์ จะคลายมนต์ขลังของความเป็นศูนย์กลางของการปฏิวัติดังที่เคยเป็นมาก่อนในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ตาม พร้อมๆ กับการที่ประเทศที่เดินแนวทาง “สังคมนิยม” อย่างจีนและเวียดนาม ได้หันไปยึดแนวทางชาติ (national) ผลประโยชน์ของชาติตน มากกว่าแนวทาง “สากลนิยม” (international) หรือการปฏิวัติโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของจีน ที่หันไปร่วมมือกับสหรัฐฯ (แม้จะเป็นทุนนิยม) ต่อต้านสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980
แต่กระแสคลื่นของการปฏิวัตินั้น ก็ยังคงกระจายอยู่ทั่วไป คละเคล้าด้วยความคิดทั้งแบบ “เสรีนิยม” และแบบ “สังคมนิยม” ที่ผู้ที่ต้องการปลดปล่อย เปลี่ยนแปลงสังคมของตน จะใช้สร้างความบันดาลใจ หยิบยืมไปดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษ 1960 และ 1970 ที่เป็นยุคสมัยของขบวนการนักศึกษาทั่วทั้ง “สามโลก” (หนึ่ง สอง และสาม)
ในโลกที่หนึ่ง อย่างสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก (รวมทั้งญี่ปุ่น) แนวความคิดปฏิวัติที่เป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษาปรากฎออกมาในแง่ของ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” มากกว่าที่นักศึกษาจะเข้ายึดอำนาจทางการเมืองเสียเอง ดังจะเห็นการปฏิวัติวัฒนธรรมนี้ในเชิงการปลดปล่อยตนเอง เป็นรูปแบบของการต่อต้านสถาบันเดิม (anti establishment) ปลดปล่อยตนเองจากวัฒนธรรมเก่า สร้างวัฒนธรรมใหม่ เช่นเห็นได้จากเพลงร็อค กางเกงยีนส์ บุบผาชน “ซ้ายใหม่” หรือขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนาม ฯลฯ
ขบวนการนักศึกษานี้ เป็นปรากฏการณ์ระดับโลก นักศึกษา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่หนึ่ง) คิด รับรู้ และมีประพฤติ วัตรปฏิบัติ คล้ายๆ กัน อ่านหนังสือเล่มเหมือน ๆ กัน มีวีรบุรุษในจินตนาการคล้ายๆ กัน (เช กูเวรา) ประหนึ่งว่านักศึกษาเหล่านั้นเป็นเครือข่ายหลวมๆ จากมหาวิทยาลัยที่เบิร์กลีย์ ถึงซอร์บอนน์ จาก กรุงปร๊าค ถึงกรุงบอนน์ จากนครโตเกียว ถึงกรุงเทพฯ
(แม้ประเทศไทยจะอยู่ในโลกที่สาม และนักศึกษาของไทยดูจะแตกต่างจากลักษณะของนักศึกษาในโลกที่หนึ่งไม่น้อยก็ตาม แต่เนื่องด้วย “สงความเย็น” หรือสงคราม ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ที่รัฐบาลไทยสังกัดอยู่ในค่ายของสหรัฐฯ และเนื่องด้วยบทบาทอำนาจ-อิทธิพลอันใหญ่หลวงของสหรัฐฯ ในสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงสงความ เวียดนาม-กัมพูชา-ลาว ก็ทำให้นักศึกษาไทย มีส่วนร่วมและส่วนคล้ายกับนักศึกษาในโลกที่หนึ่งไม่น้อย (พิจารณาได้จากหนังสือที่อ่าน ศัพท์แสงที่ใช้ ตลอดจนวัฒนธรรม หนังและเพลงที่นิสิตนักศึกษาไทยบริโภค)
รัฐและรัฐบาลในโลกที่หนึ่ง ดูจะแข็งแรงพอ คุ้นเคยกับการเรียกร้องเสรีภาพ และ ฉลาดพอ ที่จะจัดการกับขบวนการนักศึกษาของตน แม้จะมีการใช้ความรุนแรงในการจัดการกับคนหนุ่มคนสาวของตน แต่โดยหลักใหญ่แล้วจะหลีกเลี่ยงการทำลายชีวิต (ยกเว้นในกรณีมหาวิทยาลัย Kent State ปี 1970 ที่นักศึกษาถูกยิงตาย ทำให้ เกิดการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศสหรัฐฯ เกือบทำให้สังคมเป็นอัมพาต)
ขบวนการนักศึกษาในโลกที่หนึ่ง หาได้นำมาซึ่งการปฏิวัติในรูปแบบเก่า (1789 ของ ฝรั่งเศสหรือ 1917 ของรัสเซีย) ไม่ แต่ขบวนการนักศึกษาก็สั่นคลอนหลายๆ รัฐบาล ในการประท้วงใหญ่ของนักศึกษาฝรั่งเศส ค.ศ. 1968/2511 (ที่ถูกตั้งฉายาว่า AImost Revolution) นั้น กรุงปารีสและอีกหลายเมืองกลายเป็นอัมพาต และก็เป็นผลทำให้นายพล (เหล็ก) เดอโกลล์ ไม่สามารถจะอยู่ในอำนาจได้อีกนานต่อไป ในทำนองเดียวกัน นักศึกษาอเมริกันก็ทำให้ลินดอน จอห์นสัน ไม่กล้าที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยสอง (1968)
ขบวนการนักศึกษาโลก กลายเป็นพลังทางสังคมและการเมืองสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 ทศวรรษที่กล่าวมาแล้ว (ซึ่งก็ตรงกับช่วงของก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516 จนกระทั่งถึงก่อนและหลัง 6 ตุลาคม 2519 ของเรา) พลังนี้ นักศึกษาได้มาจากการที่อยู่ในสถาบันแห่งความรู้และปัญญา มีเวลามากพอที่จะทำกิจกรรมอยู่
ในเมืองใหญ่ๆ ใกล้ๆ กับศูนย์กลางของอำนาจและของสื่อมวลชน การที่จะจำกัดและกำจัดนักศึกษา ทำได้ไม่ง่ายนัก ไม่ว่าจะใช้กำลังตำรวจหรือทหาร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่หนึ่ง) อนึ่ง นักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ก็มักจะมาจากชนชั้นนำของสังคม (หรือจากชนชั้นเดียวกันกับผู้มีอำนาจของรัฐหรือรัฐบาล) นั่นเอง
ในโลกที่สาม รัฐและรัฐบาลจะดูเปราะบาง อ่อนแอ ไม่คุ้นเคยกับ (หรือไม่เป็น) ประชาธิปไตยและไม่เคารพนับถือเสรีภาพ และไม่ฉลาดพอกับการจัดการกับ ขบวนการนักศึกษาของตน (โดยสันติวิธี บ่อยครั้ง รัฐและรัฐบาลจะทำเกินกว่าเหตุ ใช้ความรุนแรงและการทำลายประหัตประหารชีวิตในการเผชิญกับปัญหาเป็นเรื่อง เกือบจะปกติทีเดียวที่ในโลกที่สาม จะเห็นรัฐประกอบ “อาชญากรรม” ดังเช่นในลาติน อเมริกา (อย่างเม็กชิโก ชิลี หรืออาร์เจนตินา) หรืออย่างในเอเชีย ที่ภาพของ “อาชญากรรมโดยรัฐ” จะกลายเป็นภาพที่ค่อนข้างคุ้นหูคุ้นตา (ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า เกาหลี จีน ฯลฯ อันเป็นรายการและรายละเอียดของ “ประวัติศาสตร์เหตุการณ์” อันยาวเหยียด แทบไม่รู้จบ)
น่าสนใจและน่าประหลาดในไม่น้อย ที่แม้รัฐในโลกที่สาม จะปราบปรามนักศึกษาและขบวนการปลดปล่อยของประเทศตนเองอย่างหนัก แต่ขบวนการนักศึกษาในประเทศเหล่านี้ก็ยังเป็นพลังสำคัญ สร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่น้อย อย่างเช่น ในเม็กซิโก 1968 เมื่อนักศึกษาประท้วง แต่รัฐปราบปรามทำลายชีวิตไป 28 คน การเมืองเม็กชิโก ก็ไม่สามารถหันกลับไปสู่ “อำนาจนิยม” ได้เช่นเดิม เช่นเดียวกับประเทศไทย 14 ตุลาคม (2516/1973) ที่เมื่อรัฐใช้ทหารและตำรวจ ทำลายชีวิตไป 70 กว่าคน แต่ระบอบถนอม-ประภาส-ณรงค์ ก็ไม่สามารถจะดำรงอยู่ต่อไปได้
ไทยแลนด์ 1973/2516 สร้างความบันดาลใจให้ขบวนการนักศึกษากรีก ที่ร้อง ตะโกนคำว่า Thailand, Thailand, Thailand ประหนึ่งจะแปลความได้ และตรงกับคำว่า เสรีภาพๆ ๆ ๆ หรือ Liberty ในการประท้วงและขับไล่รัฐบาลอำนาจนิยม (เสนา-อำมาตยาธิปไตย) ของตน
อาจสรุปได้ว่า จากระยะเวลาของ “ประวัติศาสตร์ช่วงยาว” ของการเมืองโลก กระแสความคิดและอุดมการณ์ที่จะปลดปล่อย และพลังของกระบวนการนักศึกษานี้แหละ ทำให้เห็นที่มาและที่ไปของ “14 ตุลาคม 2516” กับ “6 ตุลาคม 2519” เยาวชนคนหนุ่มสาว นักเรียนนิสิตนักศึกษาถือเป็น “พันธกิจ” และมี “ความใฝ่ฝัน” ที่จะเห็นโลกใหม่ของเขาและเธอ “การเมืองใหม่” และในฐานะของประชากรของโลกที่สาม นักเรียนนิสิตนักศึกษาของไทยก็เข้าไปใกล้แสนใกล้ และสั่นคลอนอำนาจของรัฐและรัฐบาลไทย มีส่วนในการสร้างมิติของ “การเมืองใหม่” มากเสียกว่าเพื่อนร่วมรุ่นของเขาและเธอในโลกที่หนึ่ง (อย่างในสหรัฐฯ ในยุโรปตะวันตก หรือในญี่ปุ่น)
ขบวนการนักศึกษาไทยในช่วง 2516-2519 ดูจะเป็นส่วนหนึ่งของ “ประวัติศาสตร์ ช่วงยาว” ของการเมือง (ใหม่) ของไทยที่ดำเนินมากว่า 100 ปี ในขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งของ “ประวัติศาสตร์ช่วงยาว” ของการเมืองระดับโลกกว่า 2 ศตวรรษหรือ 200 ปี ด้วยเช่นกัน
ขบวนการและอุดมการณ์ดังกล่าวนี้ มาพร้อมและทัน (เวลาพอดี) กับระยะเวลาของการปลดปล่อยและเปลี่ยนแปลงของโลกในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 หลังจากนั้น เพียงไม่กี่ปี เมื่อถึงทศวรรษ 1980 ทุกอย่างก็ดูจะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง สหภาพ โซเวียต (และระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม) ล่มสลาย จีนเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือเศรษฐกิจการตลาด market economy (คำที่ใช้แทนทุนนิยม capitalism) และ (ความกระสันใคร่จะเป็น) “โลกาภิวัตน์” globalization ก็ผงาด
จนถึงกับเชื่อกันว่า โลกเราจะมุ่งไปข้างหน้าพร้อมด้วย “ความพินาศของอดีต” และ “การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์” End of History กระนั้นแหละ
จริงหรือที่กล่าวกันว่า “ขบวนการนักศึกษาตายแล้ว” “พันธกิจ” และ “ความใฝ่ฝัน” ในการปลดปล่อยสังคมเก่าให้เป็นสังคมใหม่นั้น ได้จบลงด้วย “14 ตุลา 2516” กับ “6 ตุลา 2519”
หลังจากนั้น แม้ว่าจะมีความพยายามรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ด้วยขบวนการของชนชั้นกลาง แต่ก็ถูกปราบปรามกลายเป็น “พฤษภาเลือด 2535” (ไม่ใช่ “ทมิฬ”) กระแสของ “ประชาธิปไตย” ก็ดูจะแผ่วเบา ถูกครอบงำด้วย “อนุรักษ์นิยมใหม่” หรือแม้แต่สิ่งที่อ้างกันว่าเป็น “การเมืองใหม่” ของ “ลัทธิพันธมิตร” ที่ต้องการ “โค่นรัฐบาลนอมินี” กับ “ล้มระบอบทักษิณ” ก็ดูจะเป็นคนละเรื่องกับขบวนการปลดปล่อยจากการครอบงำของระบอบสังคมเก่าใน “จิตวิญญาณประชาธิปไตย” ของศตวรรษที่ 20 ไปเสียแล้ว
ที่มา : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. “6 ตุลา” กับสถานะทางประวัติศาสตร์การเมือง (ใหม่). [ม.ป.ท.] : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 2551.
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนและตีพิมพ์ครั้งแรกใน “20 ปี 6 ตุลา” จัดพิมพ์โดย “คณะกรรมการดำเนินการจัดงาน 20 ปี 6 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2539” แก้ไขเรียบเรียงใหม่ 29 กันยายน 2551 ในบรรยากาศของ “การโค่นรัฐบาล สมัคร-สมชาย” และ “ล้มระบอบทักษิณ”
- 6 ตุลา 2519
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
- 6 ตุลา
- การรัฐประหาร 6 ตุลา
- เบเนดิก แอนเดอร์สัน
- Withdrawal Symptoms: Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup
- ประชาธิปไตย
- รัฐประหาร
- ระบอบพิบูลสงคราม
- ชั้นชนกระฎุมพีใหม่
- ขบวนการฝ่ายขวา
- สฤษดิ์
- ถนอม
- ประภาส
- ประวัติศาสตร์ช่วงยาว
- ลัทธิอาณานิคม
- สมบูรณาญาสิทธิ์
- เสนา-อำมาตย์นิยม
- ขบวนการนักศึกษา
- การเมืองใหม่