Focus
- ในทางปกครอง ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนอาจร้องทุกข์ต่อผู้มีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ที่ทำให้บุคคลผู้นั้นเดือดร้อนหรือเสียหายได้ และผู้ที่ได้รับคำร้องทุกข์ ย่อมพิจารณาตามหลักธรรม เพราะไม่มีกฎหมายบังคับว่าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเหนือขึ้นไปนั้น จะต้องปฏิบัติอย่างไร
- ผู้ได้รับความเดือดร้อน อาจทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีการปฏิบัติจนเป็นประเพณีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ ตามลำดับ
- พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 6 (รัชกาลที่ 6) ทรงตราพระราชกฤษฎีกาวางระเบียบทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาสำหรับข้าแผ่นดินไว้ มีใจความสำคัญๆ อาทิ เป็นเรื่องลดหย่อนผ่อนโทษของศาล ตามที่กฎหมายกำหนด (แต่ไม่โต้แย้ง คำพิพากษาของศาล) ขอพระราชทานพระราชานุเคราะห์ในกิจส่วนตัว กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ เป็นต้น และไม่ทรงรับบัตรสนเท่ห์
หมายเหตุกองบรรณาธิการ : คำชี้แจงของนายปรีดี พนมยงค์ ในการจัดพิมพ์คำอธิบายกฎหมายปกครอง
เนื่องจาก คำอธิบายกฎหมายปกครองของข้าพเจ้าเป็นคำสอนของข้าพเจ้าในปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฉะนั้นจึงมีข้อความที่พ้นสมัยแล้วหลายประการที่ไม่เหมาะสมแก่สภาพสังคมภายหลัง พ.ศ. 2475 แต่ก็อาจมีหลักการสำคัญที่เป็นแนวประชาธิปไตยที่คุณพัฒน์เลื่อมใส
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายกฎหมายปกครองของข้าพเจ้านี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์แห่งการอภิวัฒน์เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ คือใน พ.ศ. 2474 เป็นปีที่ใกล้กับวาระที่จะทำการอภิวัฒน์ดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงยุติธรรมให้เป็นผู้สอนกฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นวิชาใหม่เพิ่งใส่ไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนกฎหมาย ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสนั้นทำการสอนเพื่อปลุกจิตสำนึกนักศึกษาในสมัยนั้นให้สนใจในแนวทางประชาธิปไตย และในทางเศรษฐกิจซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของสังคม ส่วนกฎหมายเป็นแค่โครงร่างเบื้องบนของสังคมเท่านั้น
“คำปรารภ” ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513 เพื่อพิมพ์ใน คำอธิบายกฎหมายปกครอง (พิมพ์ในโอกาสพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจตรี พัฒน์ นีลวัฒนานนท์, 2513)
หมวด 3
การร้องทุกข์ต่อผู้มีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ในทางปกครอง
นอกจากการที่กฎหมายให้สิทธิแก่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายร้องต่อศาลหรืออุทธรณ์ต่อผู้มีอำนาจเหนือแล้ว ผู้ได้รับความเดือดร้อนก็อาจที่จะร้องทุกข์ต่อผู้มี อำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ที่ทำให้เดือดร้อนหรือเสียหายนั้นได้ แต่ผู้ที่ได้รับคำร้องทุกข์ จะปฏิบัติให้อย่างไรนั้นไม่มีบทกฎหมายบังคับ จึงต้องพิจารณาตามหลักธรรม
แต่ผู้มิอำนาจเหนือที่ปฏิบัติไม่ชอบและกรณีเข้าอยู่ในข่ายที่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาได้แล้ว ผู้ใด้รับความเดือดร้อนเสียหายก็อาจทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาได้ ตามที่จะได้กล่าวต่อไปในหมวด 4
หมวด 4
การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ประเพณีที่ราษฎรผู้ได้รับความเดือดร้อนทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยแล้ว จะเห็นได้จากปาฐกถาของสมเด็จกรมพระยาดำรงซึ่งได้ทรงแสดงที่สามัคยาจารย์ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2470 นั้นว่า
“.............................................................................................................................พระเจ้าแผ่นดินก็วางพระองค์แต่เป็นอย่างบิดาของประชาชน เช่นผูกกะดึงไว้ที่ประตูพระราชวัง ใครมีทุกข์ร้อนก็ให้ไปสั่นกระดึงร้องทุกข์ได้ดั่งนี้
…………………………………………………………………………………………………………………”
ในสมัยกรุงศรีอยธยาก็ได้มีประเพณีเช่นนี้ และได้สืบต่อๆ มาจนกระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์
ใน พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 6 ได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาวางระเบียบทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาไว้ดังมีข้อความปรากฏต่อไปนี้
พระราชกฤษฎีกา
วางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่าด้วยได้ทรงสังเกตเห็นมาว่า การทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์ หรือขอพระราชทานพระมหากรุณาบารมีในกิจต่างๆ ตามที่กระทำกันอยู่ในเวลาที่แล้วมายังหาเป็นระเบียบเรียบร้อยดีไม่ เพราะความไม่เข้าใจระเบียบแบบแผนอันควรที่จะประพฤตินั้นแลเป็นเหตุ
การที่พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ข้าแผ่นดินทุกชั้นได้มีโอกาสทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาโดยตรงได้นั้นก็เหมือนทรงประกาศพระราชประสงค์ให้ปรากฏชัดเจนว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งแห่งกุลบิดรของชาวไทย มีพระราชหฤทัยปราถนาที่จะระงบทุกข์ผดุงสุขแห่งประชาชนอยู่เป็นนิจ และจะได้มีพระราชประสงค์ที่จะลดหย่อนพระมหากรุณาธิคุณข้อนี้ก็หามิได้ แต่เป็นการสมควรอยู่เหมือนกันที่ข้าแผ่นดินจะเข้าใจว่า พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจต่างๆ ซึ่งต้องทรงปฏิบัติหรือทรงพระราชดำริและทรงแนะนำผู้ที่รับราชการในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ อยู่เป็นเนืองนิจ จะได้ประทับอยู่ว่างเปล่าก็หามิได้และถ้าแม้จะต้องทรงเป็นพระราชธุระโดยพระองค์เองในการวินิจฉัยฎีกาทุกฉบับที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายแล้วก็จะหาเวลาทรงพระราชดำริในราชกิจแผนกอื่นๆ ไม่ได้เลย จึงมีความจำเป็นที่ต้องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรรมการศาลฎีกาไว้เป็นผู้พิจารณาอรรถคดีเป็นศาลอุทธรณ์ ชั้นสูงสุดเพื่อแบ่งพระราชภาระส่วนหนึ่ง
ถึงกระนั้นก็ดี การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาโดยตรงจะได้ทรงห้ามปรามหรือตัดรอนเสียทีเดียวนั้นก็หามิได้ ยังทรงพระกรุณารับฎีกาของข้าแผ่นดินอยู่เหมือนกัน ทั้งนี้นับว่าเป็นพระมหากรุณาอันควรที่จะรู้สึกอยู่ทั่วหน้ากัน แต่บางคนก็ยังเข้าใจผิด คิดเห็นไปว่า การที่ยังทรงรับฎีกาอยู่นั้นแปลว่าทรงรับอุทธรณ์จากศาลฎีกาอีกชั้นหนึ่ง จึงได้มีผู้ถวายฎีกาคัดค้านหรือโต้แย้งคำพิพากษาศาลฎีกาอยู่เนืองๆ ทำให้เปลืองเวลาเป็นอันมากส่วนหนึ่ง กับอีกประการหนึ่ง มีบุคคลบางคนซึ่งไม่รู้จักกาลเทศะ เที่ยวดักถวายฎีกาในเวลาและที่อันไม่เหมาะด้วยประการทั้งปวงนั้นอยู่เนืองๆ
เหตุฉะนี้ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชกฤษฎีกา กำหนดระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 บรรดาฎีกาที่จะทูลเกล้าฯ ถวายโดยทรงและที่จะทรงรับวินิจฉัยโดยพระองค์เองนั้น ต้องตกอยู่ในลักษณอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้คือ
- ขอพระราชทานพระมหากรุณาลดหย่อนผ่อนโทษ ซึ่งศาลหลวงใดๆ ตั้งแต่ศาลฎีกาลงไป ได้วางบทแล้วตามพระราชกำหนดกฎหมาย (แต่ไม่ใช่โต้แย้ง คำพิพากษาของศาลนั้นๆ )
- ขอพระราชทานพระมหากรุณา ขอรับพระราชทานพระราชานุเคราะห์ในกิจส่วนตัว เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์อันจะหาหนทางปลดเปลื้องโดยอาการอื่นไม่ได้นอกจากขอพระราชทานพระมหากรุณาโดยตรง
- กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ ผู้ใช้อำนาจนอกเหนือที่สมควรแก่หน้าที่ราชการซึ่งตนปฏิบัติอยู่ หรือใช้อำนาจนั้นโดยอาการอันรุนแรงเกินเหตุ จนทำให้ข้าแผ่นดินได้ความเดือดร้อน
- กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ผู้ประพฤติทุจริตในหน้าที่ มีการใช้อำนาจทางราชการเพื่อกดขี่ข่มเหง หรือฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นต้น
ข้อ 2 บรรดาที่ฎีกาทูลเกล้าฯ ถวาย ต้องมีนามและตำแหน่งและสถานที่อยู่ของผู้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกานั้นปรากฏอยู่ในฎีกา เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้พบตัวผู้ถวายฎีกาได้โดยง่าย ไม่ต้องเสียเวลาเนิ่นเกินกว่าที่จำเป็น (บัตรสนเท่ห์ไม่ทรงรับพิจารณาเป็นอันขาด)
ข้อ 3 ถ้าแม้ว่าฎีกานั้นจะทูลเกล้าฯ ถวายโดยตนเอง ให้ปฏิบัติเป็นระเบียบดังต่อไปนี้
- ถ้าเป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตร ให้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาได้ในวันที่เสด็จออกขุนนาง และให้พูดจาตกลงกับเจ้าพนักงานกระทรวงวังว่าจะให้คอยเฝ้าในแห่งใด จึงจะเป็นที่เหมาะที่สุดสำหรับที่จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระหัตถ์ได้ หรือถ้าเป็นการด่วนแต่ไม่มีโอกาสเหมาะที่จะทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์ จะนำฎีกานั้นไปส่ง ณ ที่ทำการราชเลขานุการเองทีเดียวก็ได้
- ถ้ามิใช่ข้าราชการชั้นสัญญาบัตร ก็ให้ไปคอยทูลเกล้าฯ ถวายที่หน้าพระลานสวนดุสิต ถ้าประทับอยู่สวนดุสิต หรือที่ถนนหน้าพระลานริมประตูวิเศษไชยศรี ถ้าประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีนายตำรวจไปยืนคอยอยู่เพื่อรับฎีกาในเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินผ่านไป หรือถ้าเป็นการด่วนจะรอมิได้ ก็ให้นำฎีกาไปส่งยังทิมดาบกรมพระตำรวจทีเดียวก็ได้
- ถ้าเป็นเวลาเสด็จเลียบมณฑลหัวเมือง หรือประทับอยู่ในพระราชสำนักในหัวเมือง ผู้ที่เป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตรจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาโดยตนเอง ก็ให้พูดจานัดหมายกับเจ้าพนักงานกระทรวงวัง เพื่อนำเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในโอกาสอันเหมาะ หรือถ้ามิใช่ข้าราชการชั้นสัญญาบัตร ก็ให้ถามที่กรมพระตำรวจเพื่อนัดหมายไปรับฎีกาต่อหน้าพระที่นั่งหรือจะส่งที่กรมพระตำรวจที่เดียวก็ได้
ข้อ 4 ถ้าผู้ใดมีความปราถนาที่จะส่งฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายโดยทางไปรษณีย์ ให้สอดฎีกาในซองสลักหลังว่า “ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย” ซองนั้นต้องเปิดผนึกไว้ แต่ให้สอดลงในซองอีกชั้นหนึ่ง สลักหลังซองถึงราชเลขานุการ ซองชั้นนอกนี้ให้ปิดผนึกและปิดตั๋วตราไปรษณีย์ตามระเบียบการส่งหนังสือทางไปรษณีย์
ข้อ 5 ถ้าผู้ใดจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาโดยวิธีอันผิดระเบียบซึ่งกล่าวมาแล้วในข้อ 3 นั้น ถ้าเป็นที่ภายในเขตพระราชฐานให้เป็นหน้าที่เจ้าพนักงานกระทรวงวังและกรมพระตำรวจว่ากล่าวตักเตือนให้ประพฤติให้ถูกระเบียบและถ้าจำเป็นก็ให้ห้ามปรามเสีย อย่าให้เป็นที่ขุ่นเคืองหรือรำคาญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้
ถ้าเป็นที่ภายนอกพระราชฐานให้เป็นหน้าที่เจ้าพนักงานกองอารักษา คือกรมกองตระเวน (ในกรุง) และกรมตำรวจภูธร (ในหัวเมือง) ว่ากล่าวและห้ามปรามดังกล่าวมาแล้ว
อนึ่ง ถ้าเผอิญเป็นเวลาเจ้าหน้าที่มิทันที่จะว่ากล่าวห้ามปราม ผู้ถวายฎีกาได้เข้าไปยื่นฎีกาเสียแล้วฉะนี้ไซร์ ห้ามมิให้ผู้ใดรับฎีกาที่ถวายผิดระเบียบเช่นนั้น ต้องให้ถวายใหม่ให้ถูกต้องตามระเบียบจึงค่อยรับ
ให้เป็นหน้าที่เจ้ากระทรวงผู้ปกครองท้องที่ออกคำชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจข้อความในพระราชกฤษฎีกานี้จงทุกประการ และให้เจ้าหน้าที่ต่างๆ ซึ่งได้กล่าวนามมาแล้วข้างต้น ปฏิบัติกิจการตามหน้าที่ของตนโดยเข้มงวดกวดขันสืบไป พระราชกฤษฎีกาพระราชทานมา ณ วันที่ 5 มกราคม พระพุทธศักราช 2457 เป็นวันที่ 1517 ในรัชกาลปัจจุบันนี้
การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเท็จ
การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเท็จ ได้เคยมีปัญหาว่า ผู้ทูลเกล้าฯ จะมีผิดตามกฎหมายลักษณะอาญาบทใด ศาลมณฑลนครราชสีมาได้ตัดสินในคดีแดงที่ 567/2471 ดำเนินตามมาตรา 159 แห่งกฎหมายลักษณะอาญา
ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. “การร้องทุกข์ต่อผู้มีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ในทางปกครอง,” ใน คำอธิบายกฎหมายปกครอง (พระนคร: สำนักงานทนายพิมลธรรม, (ม.ป.ป.). น.194-199.
หมายเหตุ :
- ปรับอักขรวิธี (โดยส่วนใหญ่) เป็นปัจจุบัน