ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

PRIDI's Law Lecture : ชนิดต่างๆ แห่งการงานในทางปกครอง

8
กันยายน
2566

Focus

  • รัฐในฐานะฝ่ายปกครองมีหน้าที่อันจำเป็นเพื่อป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อย เช่น การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในอาณาจักร การป้องกันอาณาจักร การจัดการรักษารัฐสมบัติ ในลักษณะรัฐตำรวจ แต่รัฐก็ยังมีหน้าที่เพิ่มความสุขสมบูรณ์ให้แก่ราษฎร เช่น รัฐจะต้องเข้าแทรกแซงหรือเป็นเจ้าของกิจการทางเศรษฐกิจเอง ในลักษณะรัฐผู้สงเคราะห์
  • ในทุกวันนี้แทบทุกประเทศ รัฐได้เข้าเกี่ยวข้องในทางเศรษฐกิจ มากบ้างน้อยบ้างตามความนิยมของประเทศนั้นๆ ในประเทศสยามก็มีโรงงานหรือการเศรษฐกิจบางอย่างซึ่งรัฐบาลได้ทำเองหรือได้เข้าแซกแซง
  • ในกรณีการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในอาณาจักร แบ่งเป็นสองประเภทคือการรักษาความสงบเรียบร้อยในทางปกครอง และการรักษาความสงบเรียบร้อยในทางอรรถคดีอรรคดี และผู้บรรยายเสนอคำอธิบายกฎหมายปกครองที่ต่างจากของหลายประเทศ คือเอาสิ่งที่จัดว่าเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความอาชญาเข้ามากล่าวไว้ด้วย อันอยู่นอกขอบแห่งกฎหมายปกครองอยู่บ้าง

 

หมายเหตุกองบรรณาธิการ : คำชี้แจงของนายปรีดี พนมยงค์ ในการจัดพิมพ์คำอธิบายกฎหมายปกครอง

เนื่องจาก คำอธิบายกฎหมายปกครองของข้าพเจ้าเป็นคำสอนของข้าพเจ้าในปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฉะนั้นจึงมีข้อความที่พ้นสมัยแล้วหลายประการที่ไม่เหมาะสมแก่สภาพสังคมภายหลัง พ.ศ. 2475 แต่ก็อาจมีหลักการสำคัญที่เป็นแนวประชาธิปไตยที่คุณพัฒน์เลื่อมใส

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายกฎหมายปกครองของข้าพเจ้านี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์แห่งการอภิวัฒน์เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ คือใน พ.ศ. 2474 เป็นปีที่ใกล้กับวาระที่จะทำการอภิวัฒน์ดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงยุติธรรมให้เป็นผู้สอนกฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นวิชาใหม่เพิ่งใส่ไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนกฎหมาย ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสนั้นทำการสอนเพื่อปลุกจิตสำนึกนักศึกษาในสมัยนั้นให้สนใจในแนวทางประชาธิปไตย และในทางเศรษฐกิจซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของสังคม ส่วนกฎหมายเป็นแค่โครงร่างเบื้องบนของสังคมเท่านั้น

“คำปรารภ” ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513 เพื่อพิมพ์ใน คำอธิบายกฎหมายปกครอง (พิมพ์ในโอกาสพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจตรี พัฒน์ นีลวัฒนานนท์, 2513)

 

 

การศึกษาถึงชนิดต่างๆ แห่งการงานของฝ่ายปกครองย่อมกระทบถึงปัญหาสำคัญที่ว่าฝ่ายปกครองมีหน้าที่จะต้องกระทำการประเภทใดบ้าง

ความเห็นในเรื่องนี้ แตกต่างกันอยู่มากหลายซึ่งอาจจัดแบ่งออกได้ดังนี้

ความเห็นที่ 1 เห็นว่าฝ่ายปกครองมีหน้าที่กระทำเฉพาะกิจการซึ่งจำเป็นเพื่อป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น เช่น การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในอาณาจักร การป้องกันอาณาจักร การจัดการรักษารัฐสมบัติส่วนกิจการในทางเศรษฐกิจและกิจการที่เกี่ยวกับบำรุงหรือเพิ่มพูนความสมบูรณ์ของราษฎรนั้นจะต้องปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำ เหตุฉะนั้นหน้าที่ของฝ่ายปกครองตามความเห็นนี้จึงมีอยู่จำกัด รัฐใดถือลัทธินี้ย่อมมีนามสมญาว่า รัฐตำรวจ (Etat-gendarme)

ความเห็นที่ 2 ตามความเห็นนี้ฝ่ายปกครองนอกจากมีหน้าที่ดังที่กล่าวในความเห็นที่ 1 แล้ว ยังมีหน้าที่เพิ่มความสุขสมบูรณ์ให้แก่ราษฎร เช่น การเศรษฐกิจบางชนิดรัฐจะต้องเข้าแทรกแซงหรือเข้าเป็นเจ้าของทำการเอง การปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำอาจจะเกิดมีการแก่งแย่ง ผลสุดท้ายใครมีกำลังในทางทรัพย์ก็จะมีชัยชนะแก่ผู้ขัดสน มีผู้ให้นามสมญารัฐที่ถือลัทธินี้ว่า รัฐผู้สงเคราะห์ (Etat-providence)

ผู้สอนเห็นว่า ในทุกวันนี้เกือบจะกล่าวได้ว่าแทบทุกประเทศรัฐได้เข้าเกี่ยวข้องในทางเศรษฐกิจ ส่วนการเกี่ยวข้องมากหรือน้อยก็สุดแล้วแต่ความนิยมของประเทศนั้นๆ แม้แต่ในประเทศสยามก็จะเห็นได้ว่ามีโรงงานหรือการเศรษฐกิจบางอย่างซึ่งรัฐบาลได้ทำเองหรือได้เข้าแทรกแซง

เหตุฉะนั้นการงานในทางปกครองอาจจัดแบ่งออกได้เป็นสองประเภทดังนี้

ประเภทที่ 1 การงานซึ่งฝ่ายปกครองกระทำโดยจำเป็น เพื่อป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อย

ประเภทที่ 2 การงานซึ่งฝ่ายปกครองกระทำเพื่อส่งเสริมบำรุงฐานะและความเป็นอยู่ ความสมบูรณ์ของราษฎร

 

หมวดที่ 1
การงานซึ่งฝ่ายปกครองกระทำโดยจำเป็นเพื่อการป้องกัน
และรักษาความสงบเรียบร้อย

การงานเหล่านี้มีอาทิคือ

  1. การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในอาณาจักร
     
  2. การป้องกันอาณาจักร
     
  3. การจัดการรักษารัฐสมบัติ

ส่วนที่ 1
การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในอาณาจักร

การรักษาความสงบเรียบร้อยนี้ ศัพท์ในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า “โปลิศ” (Police) ซึ่งเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยในทางปกครองอย่างหนึ่ง (Police administration) และการรักษาความสงบเรียบร้อยในทางอรรถคดีอีกอย่างหนึ่ง (Police Judiciaire)

การรักษาความสงบเรียบร้อยในทางปกครองมีวัตถุที่ประสงค์ไปในทางป้องกันมิให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ย่อมเกี่ยวแก่ฝ่ายปกครองโดยแท้ แต่การรักษาความสงบเรียบร้อยในทางอรรถคดีมีวัตถุที่ประสงค์ไปในทางปราบการกระทำอันเกิดขึ้นซึ่งผิดต่อกฎหมาย หรือนำมาซึ่งความไม่สงบเรียบร้อย การนี้ย่อมเกี่ยวในทางยุติธรรม จึงได้เรียกกันในภาษาฝรั่งเศสว่า Police Judiciaire ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “ตำรวจยุติธรรม” ในบางประเทศ เช่น ในประเทศฝรั่งเศส การรักษาความสงบเรียบร้อยในทางอรรถคดีหรือทางตำรวจยุติธรรม ตกเป็นหน้าที่ของผู้รักษาอัยการซึ่งขึ้นต่อผู้รักษายุติธรรม เป็นผู้ควบคุมบัญชาการและมีพนักงานฝ่ายปกครอง เช่น ตำรวจนครบาลหรือตำรวจภูธรเป็นผู้ช่วยเหลือ

อนึ่งในประเทศที่มีประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ได้บัญญัติถึงการซึ่งเรียกโดยย่อว่า ตำรวจยุติธรรมนี้ไว้ในประมวลนั้นด้วย เช่น การไต่สวน ชัณสูตร เหล่านี้จะเห็นได้ชัดว่าเกี่ยวแก่วิธีสบัญญัติ คือเป็นวิธีที่จะใช้ว่าการกระทำผิดได้เกิดขึ้น จนถึงพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิด

แต่ในประเทศสยามการรักษาความสงบเรียบร้อยทั้งสองประเภท ได้ระคนปนกันอยู่ในฝ่ายปกครอง และมักจะถือกันว่า การรักษาความสงบเรียบร้อยในทางอรรถคดีเป็นหน้าที่สำคัญยิ่ง ดังจะเห็นได้ในหน้าที่กรมการอำเภอ เมื่อความเข้าใจ และปฏิบัติกันเป็นดังนี้ในประเทศสยาม การสอนกฎหมายปกครองในประเทศสยามก็จะต้องเพิ่มคำอธิบายโดยสังเขปเกี่ยวแก่การสืบสวนไต่สวนคดีไว้ด้วย ต้องนับว่าเป็นเหตุผลพิเศษเฉพาะประเทศสยามเท่านั้น (ผู้สอนต้องออกตัวว่าคำของผู้สอนอธิบาย เรื่องสืบสวนไต่สวนนี้แปลกกว่าคำอธิบายกฎหมายปกครองของหลายประเทศ คือจะเอาสิ่งที่จัดว่าเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความอาญาเข้ามากล่าวไว้ด้วย อันนอกขอบแห่งกฎหมายปกครองอยู่บ้าง)

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์, “ชะนิดต่าง ๆ แห่งการงานในการปกครอง,” ใน คำอธิบายกฎหมายปกครอง (พระนคร: สำนักงานทนายพิมลธรรม, ม.ป.ป.) น. 156-158.

หมายเหตุ :

  • ตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ
  • ปรับอักขรวิธี (โดยส่วนใหญ่) เป็นปัจจุบัน