ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

PRIDI's Law Lecture : การงานซึ่งฝ่ายปกครองกระทำเพื่อส่งเสริมความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

18
กันยายน
2566

Focus

  • ฝ่ายปกครองของรัฐใดๆ ต่างก็ประสงค์ที่จะให้ราษฎรได้รับความสุขสมบูรณ์ และอาจกระทำแตกต่างกัน ตามแต่ละรัฐและลัทธิต่างๆ คือ อาจควบคุมและส่งเสริมให้เอกชนกระทำ หรือให้เอกชนกระทำโดยรวมกันเป็นสหกรณ์ และในบางรัฐๆ ก็อาจกระทำแทนเอกชนเสียเอง โดยการกระทำเหล่านี้ อาจเป็นไปในทางเศรษฐกิจหรือในทางสมาคมกิจ
  • ในทางเศรษฐกิจฝ่ายปกครองอาจกระทำ โดยการประดิษฐกรรม (การกสิกรรม หัตถกรรม และพาณิชยกรรม) การปริวัตรกรรม (การเคลื่อนที่หรือหมุนเวียนแห่งเศรษฐทรัพย์) การวิภาคกรรม (การแบ่งเศรษฐทรัพย์) และการโภคยกรรม (การใช้เศรษฐทรัพย์เพื่ออุปโภคหรือบริโภค)
  • ในทางสมาคมกิจ (อาจเป็นส่วนหนึ่งแห่งเศรษฐวิทยา) ฝ่ายปกครองอาจกระทำ โดยการสาธารณสุข การช่วยเหลือคนอนาถาและไร้ความสามารถ การพยากรณ์ (การประกันชราภาพ) และการศึกษา

 

หมายเหตุกองบรรณาธิการ : คำชี้แจงของนายปรีดี พนมยงค์ ในการจัดพิมพ์คำอธิบายกฎหมายปกครอง

เนื่องจาก คำอธิบายกฎหมายปกครองของข้าพเจ้าเป็นคำสอนของข้าพเจ้าในปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฉะนั้นจึงมีข้อความที่พ้นสมัยแล้วหลายประการที่ไม่เหมาะสมแก่สภาพสังคมภายหลัง พ.ศ. 2475 แต่ก็อาจมีหลักการสำคัญที่เป็นแนวประชาธิปไตยที่คุณพัฒน์เลื่อมใส

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายกฎหมายปกครองของข้าพเจ้านี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์แห่งการอภิวัฒน์เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ คือใน พ.ศ. 2474 เป็นปีที่ใกล้กับวาระที่จะทำการอภิวัฒน์ดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงยุติธรรมให้เป็นผู้สอนกฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นวิชาใหม่เพิ่งใส่ไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนกฎหมาย ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสนั้นทำการสอนเพื่อปลุกจิตสำนึกนักศึกษาในสมัยนั้นให้สนใจในแนวทางประชาธิปไตย และในทางเศรษฐกิจซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของสังคม ส่วนกฎหมายเป็นแค่โครงร่างเบื้องบนของสังคมเท่านั้น

“คำปรารภ” ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513 เพื่อพิมพ์ใน คำอธิบายกฎหมายปกครอง (พิมพ์ในโอกาสพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจตรี พัฒน์ นีลวัฒนานนท์, 2513)

 

การงานประเภทนี้ ถ้าจะเรียกตามศัพท์ภาษาฝรั่งเศสของศาสตราจารย์โอดา แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต คือ Service de soin ปัญหาข้อแรกก็คืออย่างไรเรียกว่า สุขสมบูรณ์ของราษฎร ซึ่งยังไม่มีรัฐใดปฏิเสธ การที่ฝ่ายปกครองไม่ประสงค์ให้ราษฎรได้รับความสุขสมบูรณ์ แต่เป็นการตรงกันข้าม ซึ่งต่างรัฐก็ประสงค์ที่จะให้ราษฎรของตนได้รับความสุขสมบูรณ์

ข้อความพิศดารอันเกี่ยวแก่ความสุขสมบูรณ์นั้นมีอยู่มาก แต่สิ่งสำคัญเหล่านี้คงจะไม่มีใครปฏิเสธ คือการมีอาหารรับประทานด้วยความพอใจ มีเครื่องนุ่งห่ม มีสถานที่อยู่อันเหมาะแก่ความสุขและความพอใจของบุคคล มีความสะดวกในการเคลื่อนที่หรือหมุนเวียนจากแห่งหนึ่ง การพักผ่อนและหาความเพลิดเพลินร่างกายได้รับความเหน็จเหนื่อยเพราะได้ทำงาน แม้จะเป็นเด็ก เฒ่าชราเจ็บป่วยก็ได้รับความสุขสมบูรณ์นี้

วิธีที่ฝ่ายปกครองได้กระทำ อาจแตกต่างกันตามรัฐและตามลัทธิต่างๆ กล่าวคือบางรัฐ ฝ่ายปกครองได้กระทำเพียงแต่การควบคุมและส่งเสริมให้เอกชนกระทำหรือให้เอกชนรวมกันเป็นสหกรณ์กระทำขึ้น และในบางรัฐได้ลงมือทำเสียเองแทนเอกชน

การที่รัฐได้ลงมือทำเสียเองนั้นอาจเป็นด้วยลงทุนและหาจ้างบุคคลด้วยความสมัคร หรือทำสัญญาจ้างธรรมดา และสำหรับในประเทศสยามฝ่ายปกครองอาจจะใช้วิธีเกณฑ์จ้างคือ การเกณฑ์ให้ราษฎรทำการงาน แต่ได้ให้ค่าจ้างซึ่งไม่ใช่เป็นสัญญาจ้างธรรมดา ให้ดูพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์จ้าง ร.ศ. 119

ชนิดแห่งการงาน ซึ่งฝ่ายปกครองจะต้องกระทำในเรื่องนี้ อาจที่จะแบ่งออกเป็นสาขาใหญ่ๆ ได้ 2 ประการ คือ :

  1. ในทางเศรษฐกิจ
  2. ในทางสมาคมกิจ

 

ส่วนที่ 1
ในทางเศรษฐกิจ

บทที่ 1 ประดิษฐกรรม (Production des richesses)

การประดิษฐกรรมอาจมีมากหลายอย่าง การที่จะศึกษาในทางกฎหมายปกครองจะตัดกล่าวข้อความเฉพาะในเรื่องอุตสาหกรรม ส่วนสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นองค์แห่งประดิษฐกรรม เช่น แรงงาน สภาพธรรมดา และเงินทุนย่อมเกี่ยวแก่ในทางเศรษฐกิจโดยตรง จะยกไว้ไม่กล่าว

อุตสาหกรรม อาจแยกออกได้เป็น 3 ชนิด คือ :

  1. กสิกรรม (Industrie extractive) คือ หมายความรวมถึงการกระทำอันเกี่ยวแก่การนำเอาสิ่งซึ่งเกิดจากสภาพธรรมดามาเป็นสินค้า หรือเป็นเศรษฐทรัพย์ เช่น การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ เหมืองแร่ ป่าไม้ การหาปลา เป็นต้น เฉพาะในเรื่องนี้ทางฝ่ายปกครองได้กระทำแต่เพียงเป็นการส่งเสริมและการควบคุม ดั่งเช่น การเหมืองแร่ ป่าไม้ แต่ฝ่ายปกครองยังมิได้ลงมือกระทำการเหล่านี้ เหมือนดังเอกชนที่มีอยู่บ้างก็เพียงแต่สถานีทดลอง ซึ่งมิได้มุ่งจะทำประโยชน์เพิ่มพูนรายได้ของประเทศในทางนั้นโดยตรง
  2. การหัตถกรรม (Industrie manufacturière) คือ หมายความถึงการกระทำโดยเปลี่ยนแปลงสินค้าดิบ หรือสิ่งที่เกิดจากสภาพธรรมดาให้เปลี่ยนรูปไปเป็นสินค้าอื่น กิจการเหล่านี้ในประเทศสยาม รัฐบาลได้ลงมือกระทำเองก็มีอยู่บ้าง เช่น โรงงานของทหาร โรงงานของกระทรวงพระคลัง เช่น ฝิ่น เหล้า เหล่านี้เป็นต้น
  3. ส่วนอุตสาหกรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ พาณิชย์กรรม นั้น จะกล่าวใน บทที่ 2 ซึ่งว่าด้วยปริวัตรกรรม

บทที่ 2 ปริวัตรกรรม (Circulation des richesses)

ปริวัตรกรรมย่อมหมายถึงการเคลื่อนที่หรือหมุนเวียนแห่งเศรษฐทรัพย์ คือ ย่อมรวมทั้งคมนาคมและพาณิชย์กรรม

การคมนาคมในส่วนที่รัฐบาลได้ควบคุมเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยได้ กล่าวมาแล้วในหมวดที่ 1 แต่ในเรื่องที่ฝ่ายปกครองได้กระทำเสมือนดั่งเอกชนก็มีเป็นต้นว่า การรถไฟ ไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์เป็นต้น

ส่วนการพาณิชย์กรรม ซึ่งฝ่ายปกครองได้กระทำเองยังไม่มี มีแต่การกระทำเพื่อส่งเสริม เช่นสภาเผยแผ่พาณิชย์และมีการตั้งข้าหลวงใหญ่ แต่สถานแลกเปลี่ยน (Bourse) หรือตลาดค้ายังไม่มี ในเรื่องนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เดินก้าวหน้าให้ดูมาตรา 843 ซึ่งบัญญัติไว้ดั่งนี้

“มาตรา 843 ตัวแทนค้าต่างคนใดได้รับคำสั่งให้ขายหรือซื้อทรัพย์สิน อันมีรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายเองก็ได้ เว้นแต่จะมีข้อห้ามไว้ชัดแจ้งโดยสัญญา ในกรณีเช่นนั้น ราคาอันจะพึงใช้เงินแก่กัน ก็พึงกำหนดตามรายการขานราคาทรัพย์สินนั้น ณ สถานแลกเปลี่ยน ในเวลาเมื่อตัวแทนค้าต่างให้คำบอกกล่าวว่าคนจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย

เมื่อตัวการรับคำบอกกล่าวเช่นนั้น ถ้าไม่บอกปัดเสียในทันที ท่านให้ถือว่าตัวการเป็นอันได้สนองรับการนั้นแล้ว”

ส่วนการเครดิตได้เริ่มมีสหกรณ์เพื่ออุดหนุนชาวนาให้ได้กู้เงิน แต่ก็ยังไม่แพร่หลาย

บทที่ 3 วิภาคกรรม (Répartition des richesses)

วิภาคกรรม ย่อมหมายถึงการแบ่งเศรษฐทรัพย์ อาจจะเป็นปัญหาในเรื่องเงินเดือนหรือค่าจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่การนัดหยุดงานจะต้องพิจารณาตามนัยแห่งกฎหมายลักษณะอาชญา มาตรา 104 ที่แก้ไขใหม่

ส่วนการแบ่งที่ดินได้เคยมีตัวอย่าง ดังเช่น พระราชกฤษฎีกากำหนดการแบ่งที่ดินในอำเภอบางบ่อ บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้แก่ราษฎร พ.ศ. 2473 เป็นต้น

บทที่ 4 โภคยกรรม (Consommation des richesses)

โภคยกรรม หมายความถึงการใช้เศรษฐทรัพย์จะเป็นโดยอุปโภคหรือบริโภคก็ตาม เวลานี้ยังไม่มีสหกรณ์ในการใช้ แต่เอกชนจะตั้งขึ้นก็ได้ ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ส่วนการควบคุมหรือกำหนดการใช้เศรษฐทรัพย์ยังไม่มี

 

ส่วนที่ 2
ในทางสมาคมกิจ

ความจริงสมาคมกิจอาจเป็นส่วนหนึ่งแห่งเศรษฐวิทยา แต่ปัญหาบางอย่างที่เกี่ยวด้วยมนุษย์กับสมาคม ควรยกมากล่าวในที่นี้ แทนที่จะกล่าวในทางเศรษฐกิจ

บทที่ 1 การสาธารณสุข

ฝ่ายปกครองของประเทศสยาม ได้ตั้งหน้าที่จะบำรุง ดั่งที่ได้มีกรมสาธารณสุขขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทย

บทที่ 2 การช่วยเหลือคนอนาถา และไร้ความสามารถ

ในเรื่องนี้ก็มีอยู่บ้าง ดังเช่น มีโรงพยาบาลสำหรับรักษาโรคภัยไข้เจ็บ แต่การช่วยเหลืออย่างอื่นๆ ดังเช่นการจัดสถานที่อยู่โดยราคาย่อมเยาว์ให้แก่คนงานหรือคนอนาถายังไม่มี พวกเหล่านี้บางทีอาศัยศาลาวัด

บทที่ 3 การพยากรณ์ (Prévoyance sociale)

เวลานี้มีพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญสำหรับข้าราชการพลเรือนและทหาร แต่สำหรับคนงานประเภทอื่นๆ ไม่มีและทางฝ่ายปกครองได้จัดตั้งคลังออมสิน

บทที่ 4 การศึกษา

การศึกษาได้มีโรงเรียนราษฎร์ โรงเรียนของรัฐบาลหรืออยู่ในความคุ้มครองของรัฐบาล

 

หมายเหตุ : ตั้งชื่อบทความใหม่และปรับอักขระให้เป็นปัจจุบัน โดยกองบรรณาธิการ

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์, “การงานซึ่งฝ่ายปกครองกระทำเพื่อส่งเสริมบำรุงฐานะ และความเป็นอยู่ ความสุขสมบูรณ์ของราษฎร,” ใน คำอธิบายกฎหมายปกครอง (พระนคร: สำนักงานทนายพิมลธรรม, ม.ป.ป.) น. 176-181.