Focus
- การรักษาความสงบเรียบร้อยในทางอรรถคดีเป็นภารกิจของฝ่ายปกครองที่ต้องการความยุติธรรมของตำรวจในการดำเนินงานต่อผู้กระทำผิดทางอาชญาให้ต้องรับโทษตามกฎหมาย โดยต้องกระทำดังต่อไปนี้ (1) สืบสวน (2) ไต่สวน (3) การจับกุม (4) การคุมขัง (5) การตรวจค้น (6) การยึดวัตถุพยาน (7) การอายัด (8) การตราสิน (9) การชันสูตรทรัพย์ (10) การชันสูตรชัณสูตร์บาดแผลและชันสูตรพลิกศพ และ (11) การเนรเทศและการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
หมายเหตุกองบรรณาธิการ : คำชี้แจงของนายปรีดี พนมยงค์ ในการจัดพิมพ์คำอธิบายกฎหมายปกครอง
เนื่องจาก คำอธิบายกฎหมายปกครองของข้าพเจ้าเป็นคำสอนของข้าพเจ้าในปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฉะนั้นจึงมีข้อความที่พ้นสมัยแล้วหลายประการที่ไม่เหมาะสมแก่สภาพสังคมภายหลัง พ.ศ. 2475 แต่ก็อาจมีหลักการสำคัญที่เป็นแนวประชาธิปไตยที่คุณพัฒน์เลื่อมใส
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายกฎหมายปกครองของข้าพเจ้านี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์แห่งการอภิวัฒน์เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ คือใน พ.ศ. 2474 เป็นปีที่ใกล้กับวาระที่จะทำการอภิวัฒน์ดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงยุติธรรมให้เป็นผู้สอนกฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นวิชาใหม่เพิ่งใส่ไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนกฎหมาย ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสนั้นทำการสอนเพื่อปลุกจิตสำนึกนักศึกษาในสมัยนั้นให้สนใจในแนวทางประชาธิปไตย และในทางเศรษฐกิจซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของสังคม ส่วนกฎหมายเป็นแค่โครงร่างเบื้องบนของสังคมเท่านั้น
“คำปรารภ” ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513 เพื่อพิมพ์ใน คำอธิบายกฎหมายปกครอง (พิมพ์ในโอกาสพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจตรี พัฒน์ นีลวัฒนานนท์, 2513)
การรักษาความสงบเรียบร้อยในทางอรรถคดี หรือเรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Police Judiciaire แปลตามตัวว่า ตำรวจยุติธรรมนั้น เป็นการกระทำเพื่อนำตัวผู้ที่กระทำผิดทางอาชญาให้ต้องรับโทษตามกฎหมาย ซึ่งต่างกับการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยตรง และที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น การนี้ในประเทศสยามถือว่า เป็นกิจการสำคัญอันหนึ่งของฝ่ายปกครอง
เมื่อมีบุคคลได้กระทำความผิดในทางอาชญาเกิดขึ้น ทางฝ่ายปกครองมีกิจที่จะต้องกระทำดังต่อไปนี้
- สืบสวน คือการสืบสวนให้ทราบว่า บุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดและมีหลักฐานพยานอย่างไร ขอให้ดูหนังสือว่าด้วยหลักการสืบสวนคดีอาชญาของพระยามานวราชเสวี
- ไต่สวน คือการจดบันทึกถ้อยคำของผู้ซึ่งหาว่ากระทำความผิดและหลักฐานพยานในคดีนั้น อันเกี่ยวแก่วิธีพิจารณาความอาชญาในชั้นต้น ผู้ที่มีอำนาจไต่สวนนี้คือ ฝ่ายตุลาการและฝ่ายปกครอง ทางฝ่ายตุลาการให้ดูคำอธิบายวิธีพิจารณาความอาชญาซึ่งเกี่ยวกับศาลซึ่งมีอำนาจไต่สวน แต่ฝ่ายปกครองนั้นมีกรมการอำเภอ ให้ดูพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 101 และตำรวจให้เทียบดูพระราชบัญญัติเพิ่มเติมวิธีพิจารณาอาชญา ร.ศ. 120 และ พ.ศ. 2471 กับประกาศเลิกกองอัยการนครบาล พ.ศ. 2472 การไต่สวนของฝ่ายปกครองยังไม่สำเร็จเด็ดขาดที่เดียว ศาลไม่เชื่อตามคำไต่สวนนั้นเสมอไป ให้ดูตัวอย่างคดีในกรุงเทพฯ ที่แม้ฝ่ายปกครองจะไต่สวนแล้วคดีนั้นก็ต้องนำมาสู่ศาลโปลิศสภาให้ไต่สวนอีก
- การจับกุม คือการใช้อำนาจกระทำให้ผู้ต้องจับเข้าอยู่ภายใต้ความบังคับของผู้จับโดยอำนาจกฎหมาย บุคคลผู้มีอำนาจจับให้ดูพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความอาชญา พ.ศ. 2472 และดูในเรื่องระเบียบแห่งการปกครอง ลักษณะที่ว่าด้วยอำนาจบริหารหรือธุรการตามที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น
- การคุมขัง คือการกักตัวจำเลยไว้ เพื่อที่จะดำเนินตามวิธีพิจารณา ความอาชญาต่อไป แต่ฝ่ายปกครองจะยอมให้มีประกันก็ได้ ให้ดูกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ มาตรา 101 ข้อ 5 และดูข้อบังคับอัยการร พ.ศ. 2465 ข้อ 9
- การตรวจค้น คือการค้นเคหะสถานบ้านเรือนหีบห่อหรือตัวบุคคล เพื่อหาตัวผู้กระทำผิด หรือหลักฐานพยานในคดี ให้ดูพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความอาชญา พ.ศ. 2472
- การยึดวัตถุพยาน คือการยึดวัตถุอันเป็นหลักฐานพยานแห่งคดี ให้ดูพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 101 ข้อ 4 และ 28 ข้อ 3 และดูพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความอาชญา พ.ศ. 2471 มาตรา 3
- การอายัด คือการมอบหมายตัวคน หรือสิ่งของไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อจะจัดการฟ้องร้องว่ากล่าวต่อไป ให้ดูพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 106 และดูกฎหมายโปลิศ ข้อ 53 และลักษณะตุลาการ มาตรา 29
- การตราสิน คือการแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อทำบันทึกเป็นหลักฐานตามคำขอร้องของเจ้าทรัพย์ ในเมื่อเกิดเหตุเสียทรัพย์แก่ผู้หนึ่งผู้ใด เช่นถูกโจรภัยเป็นต้น ให้ดูลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 104
- ชันสูตรทรัพย์ คือเจ้าหน้าที่จดบันทึกส่วนของทรัพย์ที่ได้เสียหาย แต่ซาของทรัพย์ยังเหลืออยู่
- ชันสูตรบาดแผลและชันสูตรพลิกศพ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 103 มีความว่า เมื่อมีเหตุผู้คนถูกกระทำร้ายตายลงในท้องที่อำเภอใดก็ดี ฟกช้ำหรือมีบาดแผลสาหัสเจ็บป่วยก็ดี ผู้ที่ถูกทำร้ายฟกช้ำหรือมีบาดแผลมาขอให้ชันสูตรก็ดี เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะตรวจชันสูตรหรือพลิกศพตามพระราชบัญญัติ และจดคำให้การพร้อมด้วยพยานและทำหนังสือเพื่อพิสูจน์ไว้เป็นหลักฐาน
การชันสูตรศพนั้น อาจจะเป็นได้ทั้งในกรณีที่มีการฆาตกรรม และในกรณีที่ไม่มีการฆาตกรรม เช่นการชันสูตรพลิกศพที่ตายด้วยภยันตรายอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่การฆาตกรรม ซึ่งรัฐบาลได้ปฏิบัติในการชันสูตร เช่นในเรื่องไฟไหม้ตายเป็นต้น
แต่ในเรื่องฆาตกรรมนั้น ให้ดูพระราชบัญญัติชัณสูตร์พลิกศพ พ.ศ. 2457 ซึ่งได้แบ่งฆาตกรรมไว้เป็น 2 ชนิดคือ
10.1 ฆาตกรรมอันเป็นวิสามัญ คือผู้ตายๆ ด้วยเจ้าพนักงานฆ่าตายในเวลาทำการตามหน้าที่
10.2 ฆาตกรรมอันเป็นสามัญ เมื่อผู้ตายๆ ด้วยผู้อื่นซึ่งมิใช่เป็นข้าราชการหรือเจ้าพนักงาน หรือแม้จะตายโดยเจ้าพนักงานกระทำให้ตาย แต่ไม่เกี่ยวแก่กระทำตามหน้าที่ ก็ถือว่าเป็นการฆาตกรรมอย่างสามัญ
อนึ่งฆาตกรรมตามพระราชบัญญัตินั้น มาตรา 3 มีความว่า การตายจะเป็นด้วยฆ่าตนเองก็ดี หรือผู้อื่นฆ่าให้ตายก็ดี กิริยาอย่างนี้เรียกว่าฆาตกรรม
- การเนรเทศและการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ให้ดูในบทที่ 1 ตอนที่ 9 ว่าด้วยการควบคุมคนต่างด้าวข้างต้น
ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. “การรักษาความสงบเรียบร้อยในทางอรรถคดี,” ใน คำอธิบายกฎหมายปกครอง (พระนคร: สำนักงานทนายพิมลธรรม, ม.ป.ป.). น. 171-174 (โดยปรับอักขระส่วนใหญ่ให้เป็นปัจจุบัน).