ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

JUST AWAY “แค่จาก” … แต่ยังไม่จบ

27
พฤศจิกายน
2566

Focus

  • วันที่  4-5 พฤศจิกายน 2566 ในเทศกาลละครกรุงเทพ (Bangkok Theatre Festival) 2023 ณ หอศิลป์กรุงเทพ สังคมไทยได้ตระหนักรู้ถึงความเป็นวัฒน์ วรรลยางกูร และผลงานอันมีค่าของเขาอีกครั้งหนึ่ง ดังที่ผู้เป็นบุตรได้บอกเล่าถึงความเป็นตัวตนทางความคิดของผู้เป็นพ่อ ด้วยความรักและภาคภูมิใจในรูป Documentary Theatre (การแสดงเชิงสารคดี/โรงละครสารคดี)
  • วัฒน์ วรรลยางกูร คนกล้าเดือนตุลา เป็นแบบอย่างของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ผู้นำเสนองานทางความคิดในรูปบทกวี งานเขียน และบทเพลงอันหลากหลาย ทั้งยังเป็นนักร้องและนักปลุกใจผู้ให้แรงบันดาลใจแก่นักแสวงหาเสรีภาพจำนวนมาก
  • การสอนแนะ ปลุกเร้า กระตุ้นเตือน และชื่นชมต่อความพยายามและต่อตัวผลงานของบุตรชาย (วสุ วรรลยางกูร) ที่พ่อ (วัฒน์ วรรลยางกูร) แสดงออกไปในหลายโอกาส ได้จุดประกายและส่งเสริมพลังสร้างสรรค์ในทางอุดมคติ จนมีผลต่อผลงานของบุตรชาย อย่างเป็นที่ประจักษ์แจ้งต่อสาธารณะชน
  • ผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนเสียชีวิตไม่นานของวัฒน์ วรรลยางกูร เรื่อง “ต้องเนรเทศ” (2565) ถูกเขียนขึ้นขณะลี้ภัยคณะรัฐประหาร คสช. ณ ประเทศฝรั่งเศส และไม่ว่าจะเรียกงานชิ้นนี้ว่า “สาระนิยาย” “เรื่องจริง” หรือ “นวนิยาย” ก็ตาม ตัวผลงานก็ได้รับการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์จากบรรณาธิการหนังสือและผู้ทรงภูมิปัญญาอื่นๆ ที่คนรุ่นหลังจักพึงได้เรียนรู้ ไตร่ตรอง และสร้างสรรค์งานของตนต่อไป รวมถึงการแลกเปลี่ยนร่วมกัน ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อเสรีภาพ ความยุติธรรม และประชาธิปไตยอย่างไม่สิ้นสุด

 

 

วัฒน์ วรรลยางกูร[1] กวี นักคิด นักเขียนเปี่ยมอุดมการณ์ประชาธิปไตย เจ้าของรางวัลศรีบูรพา คนที่ 19 ประจำปี 2550 อดีตที่ปรึกษาสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย สมาชิกสมาคมนักประชาธิปไตยชาวไทยไร้พรมแดน มีผลงานคุณภาพพิมพ์เผยแพร่มากมาย (ที่ล้วนให้ความหมายกับคนชายขอบ คนตัวเล็กไร้สิทธิ์ไร้เสียงในสังคม ฯลฯ) อย่างต่อเนื่องนับจากเรื่องสั้นเรื่องแรก “คนหากิน” ตีพิมพ์ในหนังสือ “ยานเกราะ” เมื่อ พ.ศ. 2513 จนถึงเรื่องยาวเล่มสุดท้ายสาระนิยาย “ต้องเนรเทศ” ปี 2565 วัฒน์เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังรัฐประหารปี 2557 มีผู้ถูกแจ้งข้อหาเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองรวบ 400 คน ต่อมามีหมายเรียกเพิ่มเติม วัฒน์เป็นหนึ่งในผู้ได้รับหมายแต่ไม่ไปรายงานตัว เขาปฏิเสธอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยอุดมการณ์ของนักประชาธิปไตยที่มีคติประจำใจว่า ‘เสรีภาพ คือ การพูดความจริงได้โดยไม่ติดคุก’ และสุดท้ายฝรั่งเศสก็ทำให้วัฒน์มั่นใจว่า ‘ทุกหนแห่งเป็นโลกของกวี กวีเป็นคนของจักรวาล’[2] ทั้งที่รักความเป็นไทยไม่อยากทิ้งบ้านเกิด…

 



photo : facebook : Wat Wanlayangkoon

 

ในบทบาทของการเป็นผู้นำทางความคิดวัฒน์ยังเป็นนักกิจกรรมทางสังคม จนมีวงดนตรี ‘ท่าเสา’ ร่วมกับเพื่อนๆ จากภูมิลำเนาในอำเภอท่าเสา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นวงดนตรีเฉพาะกิจ เปิดการแสดงเฉพาะในงานเพื่อการรณรงค์เรื่องประชาธิปไตย เขาทำหน้าที่เสมือนหัวหน้าวงเป็นทั้ง นักแต่งเพลง นักร้อง นักปลุกใจ (mob) ฝีปากกล้าให้ข้อมูลศึกษากับมวลชนคนรักประชาธิปไตยไว้สู้กับ ‘รัฐเทวราช’ จึงนอกจากเขียนหนังสือสื่อความคิดแล้ว เขายังมีดนตรีเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการต่อกรกับเผด็จการ[3] มีผลงานการแต่งเพลงให้คนอื่นร้องมากมาย และแต่งเองร้องเองออกเทปเพลงชุด “แรงบันดาลใจ” ด้วยตัวเอง บอกความเป็นศิลปินที่มีจิตวิญญาณของการเป็นนักสู้ และ DNA นี้ ได้ถ่ายทอดสู่ทายาท วสุ วรรลยางกูร ศิลปินนักละครเวทีตามวิถีธรรมชาติของพ่อกับลูก… วันนี้วสุอยู่ในสถานะ ‘พ่อ’ (ที่วัฒน์เคยเรียกร้องให้เขารีบเป็น) แล้วมองย้อนกลับไปสำรวจลึกเรื่องราวชีวิตตัวเองหลังการจากไปของผู้เป็นพ่อ…ผ่านพัฒนาการทางความคิด อุดมคติในงานศิลปะ และความเป็นศิลปินซึ่งรังสรรค์งานผ่านเมล็ดพันธุ์ที่พ่อบ่มเพาะ ให้เติบไต่ไปพร้อมกับขยับสถานะ จากความเป็นลูกสู่ความเป็นพ่อของตัวเอง… ดั่งช่วงหนึ่งในบทเพลงของพ่อที่ยังพยุงใจเขาและใครหลายคนให้ต้องสู้เพื่อความฝันของตัวเองว่า…  “เมื่อข้าตาย เพื่อนข้ายังอยู่ ลูกข้ายังสู้ หลานข้ายังฝัน”

 


photo : ฝันให้ไกลไปให้ถึง, sira tuang

 

เพลง “ฝันให้ไกลไปให้ถึง”[4]

คำร้อง-ทำนอง : วัฒน์ วรรลยางกูร
ขับร้อง : วัฒน์ วรรลยางกูร
นักดนตรี - ทองกราน ทานา : ไวโอลิน
ฮิเดกิ มอริ : แอคคอร์เดียน / เปียโน / เบส / กีตาร์
นิลดา ดีมันลิก : กีตาร์ / ฮาโมนิกา
ไฟซอล เลาะวิถี : กีตาร์ / ประสานเสียง
ตัน อิโดจีน : เพอคัชชัน
สมาน ยวนเพ็ง : กลอง

ฟากฟ้า ฝั่งฝัน ไกลกว้างเพียงไหน มิเหนือดวงใจ จะใฝ่จะฝัน
และโลกสับสน เห็นคนเศร้าโศก และโลกทั้งโลก ขมฝืดเกินฝัน

โลกร้อนไฟลาม สงครามรุกราน
เนื้อเลือดกระดูก หัวใจร้าวราน มิใช่ความฝัน

ฝันให้ไกล ไปให้ถึง … ฝันให้ไกล ไปให้ถึง …

เราจึงใฝ่ฝัน ถึงสันติภาพ เลี้ยงนกพิราบ ไว้ในความฝัน
ชีวิตโสมม สังคมสามานย์ บีบคั้นวิญญาณ มิให้ใฝ่ฝัน
ชีวิตเป็นธรรม สังคมเป็นธรรม เรือล่องครองธรรม ล่องไปในฝัน

เธอเราจงฝัน จงใฝ่ เธอเรารวมใจ ร่วมใฝ่ร่วมฝัน
ไกลสุดขอบฟ้า ภูผาสูงชันทะเลกว้างไกล หรือดับไฟฝัน
เลือดในกายข้า อาบธรณี กระดูกข้านี้ พลีเพื่อฝัน

พ่ายแพ้ขื่นขม ล้มลุกคลุกฝุ่น ลุกขึ้นมาใหม่ แรงใจใฝ่ฝัน
เมื่อข้าตาย เพื่อนข้ายังอยู่ ลูกข้ายังสู้ หลานข้ายังฝัน

ฝันให้ไกล ไปให้ถึง … ฝันให้ไกล ไปให้ถึง …
ฝันใฝ่  … ฝันให้ไกล ไปให้ถึง …

 


photo : Bangkok Theatre Festival

 

วสุ วรรลยางกูร (ตั๊กแตน)

ท่ามกลางบรรยากาศครึกครื้นของ เทศกาลละครกรุงเทพ Bangkok Theatre Festival 2023 ที่มากมายหลายแนวทางการแสดง และรวมหลากรุ่นของศิลปินจากทั่วประเทศมาประชันกัน หนึ่งในนั้นมี “แค่จาก” JUST AWAY ที่โดดเด่นด้วยเนื้อหาที่เป็นจุดน่าสนใจ ในรูปแบบ Documentary Theatre ที่ ง่าย งาม แต่เห็นถึง Creative ที่ไม่ธรรมดา ไม่ใช่เพราะกระดาษลอนก้อนใหญ่กลางโรงละครกับอุปกรณ์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ แต่ทุกชิ้นที่จัดวางถูกสร้างจากความหมายของสายใจที่มีให้กับเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็น ปากกา กระดาษโน้ตข้อความ แก้วกับไวน์ โต๊ะกับเก้าอี้ และมี main prop คือหนังสือ “ต้องเนรเทศ” ทุกชิ้นล้วนช่วยเล่าเรื่องราวให้ชัดเจน จากมิติของการประคองจิตใจ ในทิศทางการเคลื่อนไหวของชีวิต และร่วมบอกเล่าความคิดด้วยสัญลักษณ์ที่ถูกทำให้ ‘เลอะ’ แต่ไม่อาจลบอย่างไร้ร่องรอยได้เลย…

ในบางช่วงของการแสดงมีเสียงอ้อแอ้ของ น้องปลาวาฬ (ลูกของพ่อวสุ) ส่งออกมาจากข้างเวทีที่ไม่ใช่ Sound Design ขณะที่ผู้เป็นพ่อกำลังอยู่กลางเวที เราต่างรับรู้ได้ในทันทีจากดวงตาที่ฉายแววอบอุ่นอ่อนโยน ส่งให้พลังของความรักอบอวลอยู่ทั่ว theatre เพิ่มความเอิบอาบซาบซึ้งใจให้กับเรื่องที่เขาเล่า แล้วน้ำตาไหลไปกับหลายช่วงตลอดการแสดงเดี่ยวหนึ่งชั่วโมง ที่ผู้ชมไม่ได้รู้สึกว่ากำลังชมการแสดง…  ซึ่งเป็นงานออกแบบการแสดงที่สุดยอดสอดคล้องไปกับเนื้อหาที่ว่าด้วยการ ‘จาก’ แต่ยังไม่ ‘จบ’ ที่ถูก ‘จาร’ ด้วยตัวเอกของเรื่องคือ วัฒน์ วรรลยางกูร ที่ลูกเล่า ประวัติชีวิตของเขาไม่ใช่แค่เรื่องของเขาคนเดียว เพราะวัฒน์คือ นักต่อสู้ตัวแทนของผู้ยากไร้ทั่วแผ่นดินไทย และแกนนำหัวก้าวหน้าของคนรักประชาธิปไตย ที่คนส่วนใหญ่รู้จักเขาในสถานะ ‘นักเขียน’

 


photo : Jenikaporn Piyarat

 

JUST AWAY “แค่จาก”

“ตั้งแต่พี่เบส น้องโอ๊ต (สองผู้กำกับการแสดง วิชย อาทมาท และ ปฏิพล อัศวมหาพงษ์) ชวนทำเรื่องนี้ก็คิดตั้งแต่แรกว่าเราจะไหวไหมนะ … สำหรับเราเรื่องพ่อถึงผ่านเป็นปีก็ยังรู้สึกเหมือนพึ่งผ่านไปไม่นาน มันมีหลายสิ่งมากที่ยังคงวนเวียนอยู่ในความรู้สึก คิดอยู่หลายตลบจนสุดท้ายก็คิดว่าเอาวะยังไงก็อยากเล่าเรื่องเขาต่อไป ถ้าจะเล่าจะทำแล้วก็ต้องไปให้ถึงที่สุด” เป็นข้อความบนเฟซบุ๊ก ของ นักละคร วสุ วรรลยางกูร (ตั๊กแตน) ขึ้นสเตตัสในวันที่ 3 ก่อนขยายความเป็นการแสดงจริงอย่างประทับใจใน วันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2566 ในเทศกาลละครกรุงเทพ Bangkok Theatre Festival 2023 (BTF) ที่หอศิลป์กรุงเทพ และจบลงด้วยบทสนทนาส่วนตัวกับผู้เขียนในเวลาจำกัดที่ต้องรวบรัดอย่างเร่งรีบ แต่เราต่างได้รับคำตอบโดยไม่ต้องมีคำถาม จากการแสดง…

แรกทางทีมผู้กำกับชวนเราก็ยังไม่มั่นใจในตัวเองครับ เหมือนกับคนที่สูญเสียคนใกล้ตัวเรามักจะ….อยากพูดถึงล่ะแต่ก็ไม่ได้ทำความพร้อม อยากรื้อฟื้นแต่กลัวความรู้สึกตัวเองว่าเราจะพร้อมกับมันไหมในการเล่ามันออกมา มีบางอย่างที่…เรื่องของพ่อไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวของเรา มีคนอื่นที่ร่วมแชร์ อยู่ในบรรยากาศเดียวกัน สังคมเดียวกัน เหตุการณ์เดียวกัน อยู่ในการสูญเสียเดียวกัน ถ้าเราเทคแค่เรื่องส่วนตัวเราก็จะไม่อยากเล่ามัน แต่ถ้ามองในอีกพาร์ทว่าไม่ใช่แค่เรื่องของเราเป็นเรื่องของคนอื่นด้วย สิ่งที่เขาทำ (การต่อสู้) แล้วเรา (สังคม) ไม่พูดถึงมันต่อ เรา (วสุ) รู้สึกว่านั่นคือสิ่งที่เขาอยากจะบอกเล่าถ่ายทอดมันออกมาครับ ทางผู้กำกับอยากถ่ายทอดในมุมของความเป็นมนุษย์ให้ได้มากที่สุด ผมคิดว่าเราเห็นตรงกัน

บางคนอาจรู้จัก วัฒน์ วรรลยางกูร ในมุมที่เขาเป็นนักเขียน เป็นคนที่ร่วมในขบวนการนักศึกษา ร่วมในการปฏิวัติ บางคนเป็นเพื่อน เป็นมิตรสหาย หรือแม้แต่บางคนมองเป็นศัตรู บางคนมองเป็นอาจารย์ เป็นเพื่อนในวงเหล้า ผมคิดว่ามีอีกหลายคนที่ไม่ใช่แค่ตัวเรา ที่อยู่รายล้อมเขาแล้วความเป็นตัวเขา(พ่อ) เขาสนุกในการได้เล่าเรื่องคนอื่นเหมือนกัน เห็นได้จากในงานเขียนก็จะเล่าเรื่องคนใกล้ตัว ชีวิตของคนโน้นคนนี้ รวมถึงเล่าเรื่องที่เป็นบรรยากาศของสังคมในเวลานั้น ถ่ายทอดผ่านภาคชนบทพื้นถิ่น เพียงแต่ว่าที่เล่ามักจะเป็นเรื่องของคนชายขอบ คนชนบท คนตัวเล็กๆ

ผมคิดว่าพาร์ทหนึ่งในความรู้สึกของเรา ‘คนเดือนตุลา’ ไม่ได้หมายถึงแค่คนที่ร่วมเหตุการณ์เดือนตุลา สำหรับพ่อ ‘คนเดือนตุลา’ มักจะเห็นใจคนตัวเล็กๆ ที่เล่าเรื่องของคนเพราะในเวลานั้นนักศึกษาพยายามเข้าไปปลุกให้ชาวนาเข้าใจ หรือว่าต่อสู้ ให้เขาเรียนรู้ ตระหนักรู้ถึงสิทธิ์ของเขา ผมรู้สึกถึงคนเดือนตุลาในมุมที่พ่อเล่ามากๆ เลย ถึงแม้ว่าในพาร์ทหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงตามห้วงเวลาคำนี้ (‘คนเดือนตุลา’) ก็เลือนหายไป

 


photo : ภาพยนตร์ “ไกลบ้าน” โดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์

 

ในพาร์ทหนึ่งพ่อมักจะอิดิทตัวเองว่า ‘คนรุ่น Lost Generation’[5] จริงๆ เป็นคำที่ใช้เรียกคนรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นกลุ่มคนที่ได้สูญเสียบางอย่างไปแล้ว สำหรับพ่อได้ผ่านสิ่งเหล่านั้นมา 6 ตุลา เป็นการต่อสู้ที่สูญเสีย นักศึกษาเข้าไปร่วมกับขบวนการปฏิวัติ เสียชีวิต แต่ 14 ตุลา เป็นเหมือนกับการเตะหมูเข้าปากหมา พ่อแบกความเป็นคน Lost Generation เหมือนนักมวยที่ชกแล้วแพ้มาเรื่อยๆ เพียงแต่ว่าแกคือนักมวยที่ขึ้นชกอยู่เสมอจนชราเท่านั้นเอง

ผมทำหนังเรื่อง “ไกลบ้าน”[6] (สารคดีสั้นยอดเยี่ยม ชมรมวิจารณ์บันเทิงปี 2020 กำกับสารคดีโดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ ปี 2019 / 36 นาที) ฉายในงานรำลึกพ่อที่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในการฉายมีเพื่อนพ่อน่าจะรุ่นเดียวกันเข้ามาคุยบอกว่า “ขอโทษนะป้าไม่รู้ว่าระหว่างที่วัฒน์ออกมาเคลื่อนไหวแล้วต้องมาเจอกับคนที่ผ่านยุคสมัยเดียวกันมา คนเหล่านี้มองเห็นต่างออกไปแล้ว เขาคิดกับพ่อเรายังไง แล้วต้องทนสายตากับพวกเขายังไง แต่พอมาดูหนังสารคดีชีวิตในช่วงหลังที่พ่อลี้ภัย กลับรู้สึกว่าเราทอดทิ้งเขา(วัฒน์) ไปนานเหมือนกัน เราปล่อยให้เขาผจญอยู่คนเดียว” ผมรู้สึกว่าบางอย่างที่มันเกิดขึ้นไม่ว่าจะในสารคดีหรือในละคร ฯลฯ เป็นเรื่องที่ยังไม่จบ เป็นเรื่องที่ยังดำเนินอยู่ ในตัวเราด้วย ในทุกคนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน แล้วเวลาเล่าเรายังมีอารมณ์ยังรู้สึกกับมัน

ท้ายที่สุดผมก็คิดว่า… น้องสาวผมเขาไม่อยากเล่าเรื่องนี้ต่อ เพราะการสูญเสียทุกคนก็ทรมานใช่ไหม บางทีเขาไม่อยากกลับไปมองมัน แต่ผมคิดว่าเขาจะเล่ามันต่อ แล้วหวังว่าคนอื่นก็จะเล่าต่อ ตัวผมก็เหมือนคนอื่นที่ไม่ได้อยากจะกลับไปสู่อารมณ์นั้นต่อ เพียงแต่พอคิดว่าเราไม่เล่าเรื่องนี้ต่อเขา(พ่อ) ก็จะเป็นคนรุ่น Lost Generation ต่อไปเรื่อยๆ พ่อเคยพูดออกมาว่า “พ่อขอโทษนะ”(น้ำเสียงสั่นสะเทือนใจ) เขารู้สึกว่ายังทำมันไม่สำเร็จ คนรุ่นเราหรือรุ่นต่อจากเราต้องมาเจอกับสถานการณ์แบบนี้ เลยต้องทำมันต่อไป ผมเห็นในข้อเขียนของพ่อที่เขียนว่า “เราจะไม่โกรธประเทศนี้ได้ยังไง…” (นิ่งเงียบไปชั่วขณะ)

 


photo : facebook : Wat Wanlayangkoon

 

ช่วงเวลาที่เขาไปอยู่ฝรั่งเศสในขณะที่แก่แล้วยังรู้สึกและพูดอยู่เสมอว่า “เมื่อคุณโกรธจนตัวสั่นขณะที่เห็นความอยุติธรรมอยู่ตรงหน้า เมื่อนั้นเราก็เป็นเพื่อนกันได้” เป็นคำของ เช กูวารา พ่อจะพูดกับเราอย่างนี้อยู่ตลอด “พ่อคิดว่าเมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ที่อยุติธรรม แล้วคุณโกรธ เราเป็นเพื่อนกัน” ผมคิดว่าแค่นี้มันเพียงพอแล้วสำหรับการที่เราลุกขึ้นมาทำอะไร เท่ากับยังขับเคลื่อนอยู่” ในขบวนการ ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้ควรจะถูกเล่าต่อครับ แล้วก็ไม่ควรถูกทำให้สูญหาย ทั้งในมุมประวัติศาสตร์ ในเรื่องชีวิตของแต่ละคน เหมือนในหนังสือ ‘ต้องเนรเทศ’ พ่อบันทึกชีวิตของคนที่ลี้ภัยการเมือง แล้วเจอกับความวิปโยคทั้งหลาย ถูกอุ้มหาย เขาถูกทำให้หาย แต่เราไม่ควรให้เขาหายไป ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์หรือข่าวรายวันเราควรพูดถึงเขาอย่างสำนึกว่า มันคือเรื่องเดียวกับตัวเราเหมือนกัน เหมือนเราร่วมยุคสมัยไม่ได้ห่างกัน…ผมรู้สึกอย่างนั้นนะครับ

พอกลับมาพูดเรื่องพ่อมันทำให้ผมรู้สึกว่า ถ้าเราหยุดพูดเรื่องนี้ มันก็จะสูญสลายไปหมด ทุกคนใช้ชีวิตตามใจที่ตัวเองอยากเป็น แต่ว่าที่พ่อเลือกช้อยส์นี้ ผมเชื่อว่าเขาคิด…เพราะมีพันธกิจบางอย่างอยู่ ไม่ใช่เพียงแค่ว่าความอยากของเขาอย่างเดียว แต่มันคือพันธกิจและสิ่งที่เขาอยากส่งต่อไปด้วยครับ อย่างน้อยเราพูดถึงมันในแง่มุมหนึ่ง ในแง่มุมของความเป็นคน เป็นมนุษย์ หรือแม้แต่เราบอกว่า ‘ฉันรู้สึกกับมันอย่างนี้’ … ผมว่าก็เป็นเสียงหนึ่งแล้วที่จะส่งออกไปในสังคมเท่าที่มันจะเป็นไปได้

 

 

อย่างการทำงานในรอบนี้ พาร์ทหนึ่งคือต้องบอกว่ามันไม่ซ้ำกัน เหมือนกับว่าเราเล่าชีวิตเรา ผู้กำกับเองก็รู้ว่าเราอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ ผมเล่าเรื่องเดิมเมื่อวาน แต่วันนี้เล่าเหมือนเดิมไม่ได้ ในหลายเรื่องอย่างเรื่องแม่ ถ้าเล่าผมคิดว่าไม่รอดแน่เลย ผู้กำกับก็ให้ทางเลือกว่าถ้าไม่พร้อมจะเล่าก็ข้ามมันไปไม่เป็นไร ผมรู้สึกกับมันมากๆ เลย แต่ว่าผมแค่ไม่อยากเล่ามันในตอนนั้น มีโครงเรื่องครับเพราะชีวิตเรามีโครงสร้างบางอย่างอยู่ เรารู้แล้วตั้งแต่วันที่เราจำความได้จนถึงวันนี้ เพราะเป็นเรื่องของเรา แต่ตลกตรงที่ว่าบางทีเราเล่ามันออกมาไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเราลืมเราจำได้อยู่แล้วแต่ไม่อยากเล่าเท่านั้นเอง

เหมือนกับเราเพิ่งเสียใครสักคนไปแล้วต้องมาเล่าถึงเขา ไม่สามารถที่จะเล่าได้ทั้งหมด หรือแม้เล่าทั้งหมดแล้วเราต้องแตกสลายลงไปตรงนั้น โอเคเป็นการแสดงแต่ยังมีชอยซ์อยู่ว่า ถ้าไม่อยากแตกสลายก็ข้ามไป หรือแค่พูดมาว่ารู้สึกอะไร คือเราอยากเล่าเรื่องเขา แต่ว่าเวลาเล่าแล้วมันมีความเศร้ามันเป็นเราเองที่จำความรู้สึกนั้น เพราะฉะนั้นผู้กำกับก็เลยให้ชอยซ์ว่าถ้าอยากเล่ามันแค่ไหนก็เล่าออกมา ผมพยายามแชร์ความรู้สึกของเรากับคนดูอยู่เสมอ สุดท้ายผมเลยต้องแอบขอโทษคนดู ผมไม่รู้เรานำพาเขาไปสู่จุดไหน เพียงแต่มาแบ่งปันความรู้สึกนี้ แล้วหวังว่า ‘สิ่งที่นำไปสู่’ แค่เราจะได้ใช้เวลานี้ร่วมกันครับ….

(ตื้นตันจนคุยกันต่อไม่ไหว ปล่อยให้การแสดงบอกเล่าทั้งหมดจากใจ ในเรื่องของ ‘เรา’ …)

 

 

เพลงของพ่อถูกเปิดนำอารมณ์ต้อนรับผู้ชมเข้าโรงก่อนเปิดใจ…เปิดเรื่อง…

จะเล่าเรื่องพ่อในแต่ละครั้งมันเริ่มต้นได้ยากทุกครั้ง ทุกรอบที่เราเริ่มเล่า เหมือนกับ…เดี๋ยวจะต้องเปิดประตูบานนั้นอีกแล้วนะ จะต้องเข้าไปสู่ห้วงเวลานั้นอีกแล้วนะ อันที่จริงไม่ต้องก็ได้… ตลอดเวลาที่ผมเริ่มเล่าเรื่องนี้ผมรู้สึกว่า…วันนี้ผมกำลังเดินลงน้ำทะเลดำๆ แล้วเราก็ห้ามตัวเองไม่ได้ที่จะเดินลงไป บางช่วงผมรู้สึกว่ามันดำจนลืมไปว่าจะเล่าเรื่องอะไร ผมเจอว่าผมจนตรอกในเรื่องเล่า ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องของเราเอง เป็นเรื่องที่เราไม่น่าจะลืม เราไม่ได้ลืมแต่เรา…หมดทางจะเล่า แล้วมันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมคุยกับพ่อกับพี่น้องอยู่เสมอว่า “สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องทำมากที่สุดคือ ต้องเล่าเรื่องนี้ต่อ” ถ้าเป็นปกติเวลาเราเสียใครบางคนเราอาจจะใช้เวลาเพื่อนึกถึงเขา ไม่ว่าเราจะใช้หรือไม่อยากจะใช้เราก็จะอยู่ในอารมณ์นั้นน่ะ เป็นห้วงเวลาหนึ่งเลยแหละ แต่เราก็จะไม่กลับไปหามันโดนตรง ถ้าไม่จำเป็น… อย่างเช่น เราจะไม่นึกถึงความทรงจำที่เจ็บปวดโดยตรง ถ้าไม่จำเป็น แต่ในเวลาที่ผ่านมาผมก็ได้ทำสิ่งเหล่านั้นแล้ว ได้ผ่านสิ่งเหล่านั้นมาหลายวิธีแล้ว แต่ผมรู้สึกว่าก็น่าจะดีกว่าถ้าได้พูดออกมา อาจจะดีกว่าเดิม ผมยังไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไงต่อ…

ผมอยากจะเล่าเรื่องนี้เริ่มต้นที่ BTF ตอนที่ผมเรียนอยู่ ปี1 ปี 2 ประมาณปี 2550 - 2551 ตอนนั้น BTF จัดที่สวนสันติชัยปราการ ป้อมพระสุเมรุ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หลายคนคงจำได้ ถ้าได้เล่นเวทีกลางฉากก็จะเป็นป้อมพระสุเมรุกำแพงขาวด้านหลัง หันหน้าเข้าแม่น้ำเจ้าพระยามีสวนหย่อม ตอนนั้นมีรุ่นพี่คนหนึ่งเรียนจบแล้วกลับมาเปิด audition ละคร dance แต่งชุดจีนเรื่อง “นางพญางูขาว” ไป audition ดีกว่า! ผมได้เล่นเป็นพระเอกด้วย โทรบอกพ่อตอนกำลังประชุมพอดี “ได้ๆ ทำงานก่อนนะเดี๋ยวพ่อไปดู” (น้ำเสียง สีหน้า แววตา ท่าทางเขามีความสุขกับการได้เล่าถึงพ่อ) “นางพญางูขาว” เป็นเรื่องผู้ชายไปหลงรักกับผู้หญิงคนหนึ่ง วันหนึ่งมีพระบอก “เมียมึงเป็นงูนะ” พ่อมาพร้อมย่ามนั่งตรงนั้นเลยนะในสวนหย่อมกับแก้วไวน์แล้วนั่งดูไป มหรสพเนาะพอจบก็ไปเวทีนู้นก่อนนะพ่อบ๊ายบาย ไม่ได้คุยกัน…

 

 

ตอนหลังโทรไปคุยกับแกถามพ่อเป็นไงดูละคร พ่อบอก “ก็ดีนะ น้ำตาไหล” เฮ่ยพ่อ! “นางพญางูขาว” เนี่ยนะน้ำตาไหลซึ้งใจ มันเป็น dance มีผู้ชายผู้หญิง move เป็นงู 20 นาทีพ่อน้ำตาไหล? “เฮ๊ย แกน่ะเป็นศิลปินเต็มตัวแล้วนะเว่ย!” ผมก็ เฮ้ยยย…จริงเหรอว้าาา…  (ทำเสียงเล็กเสียงน้อยด้วยความภูมิใจที่พ่อชม) สำหรับผมพ่อเป็นทั้งเพื่อน ทั้งพี่ เป็นคุณครู เป็นพ่อแน่นอน และที่สำคัญแกเป็นศิลปินคนหนึ่งที่ผมชอบ ไอดอลกู อะไรงี้ ผมตามงานแก อย่างเพลงที่เปิดผมก็ฟังแต่เด็ก เพราะพ่อก็จะกล่อมเช้าเย็น เช้าเย็นเทปแคสเซ็ตทุกอันทุกเพลงก็เป็นของพ่อ อัลบั้มที่เขาเปิดชื่อชุด “ไม่ขาย” เชื่อว่าไม่ขายเพราะขายไม่ได้ (ผู้ชมได้ฮาขันพ่อ) ผมก็ได้ฟังทุกวันพ่อไปร้องเพลงที่ไหนผมก็ตามไป ตอนเด็กๆ เข้าใจว่าพ่อเป็นนักร้อง (ได้ฮากันอีกรอบ) เลยติดตามศิลปินคนนี้โดยจำยอม แต่ก็ชอบแหละมันซึมซับเข้าไปในเนื้อในตัวโดยไม่รู้ตัว

ตอนที่พอบอกว่า “เฮ๊ย แกน่ะเป็นศิลปินเต็มตัวแล้วนะเว่ย!” ผมรู้แหละว่ามันเป็น fix แบบหนึ่ง เพราะพ่อเขาเป็นศิลปิน ถ้ามีลูกเขาก็อยากจะให้ลูกไปในทางที่คล้ายเขา เผื่อจะมีเรื่องได้คุยกันเยอะขึ้น เผื่อมันจะแชร์บางอย่างร่วมกัน จะไกด์บางอย่าง “เรียนละครไหมล่ะ? มศว.เปิดสอบตรง” เรียนวรรณกรรมเด็กดีไหมพ่อ? “เฮ้ย อ่านเองก็เขียนได้พ่อก็ทำอย่างนั้น” (ได้ฮากันหนักขึ้น) “แต่ละครต้องเรียนกับคน มันต้องไปเรียนกับมนุษย์ เรียนเองไม่ได้” ผมก็คิดหนัก เพราะมันจริงละครต้องเรียนกับคน แล้วเราก็รักมันขึ้นมา เพราะไม่ได้เรียนแค่วิชาการ แต่มันเรียนรู้ความเป็นคน เรียนรู้ในหลายมิติ มีบางอย่างที่เรารักหลงใหลมัน แล้วก็รู้สึกอยากทำมันมาเรื่อยๆ แม่บอก “รู้สึกมันไม่ง่ายเลย มีแต่จะยากเย็น” พ่อบอก “เออมันไม่ง่ายหรอก ทำต่อไปนะเว่ย เขาเรียกเราว่าศิลปินเราก็ทำต่อไป”

ช่วงสุดท้ายผมไปเยี่ยมแกที่ฝรั่งเศส แกป่วยหนักอยู่บนเตียงที่โรงพยาบาล ถามผมว่าเป็นไงบ้าง ช่วงนั้นโควิดก็ไม่แฮปปีเท่าไหร่ไม่มีการแสดงเลย การมีละครช่วงโควิดก็ไม่ง่ายเหมือนกัน หลายคนเจอะชะตากรรมคล้ายกัน พ่อบอก “แต่ยังไงก็ต้องทำต่อไปนะเว่ย เป็นนักละครก็ต้องทำละคร เปิดบ้านมาเขาต้องรู้แล้วว่าแกเล่นละคร เหมือนเป็นช่างตีเหล็กเปิดบ้านมาก็ต้องเห็นที่ตีเหล็กใช่ไหม?” ใช่เหรอพ่อ(หัวเราะขำ) พ่อบอก ใช่ๆ ยืนยันคำเดิม ทำไปเรื่อยๆ ทำไป เพราะพ่อก็เจอบางอย่าง มาต้องใจเด็ดอย่างที่แกเป็น …

 

 

ในเรื่องการศึกษาจะเป็นแม่มากกว่า แม่จะเป็นติวเตอร์ให้ตั้งแต่เด็ก เพราะเราเกิดแล้วโตมาในป่าเขา บ้านท่าเสา เรียนโรงเรียนอนุบาลไทรโยค ที่กาญจนบุรี (เสียงน้องวาฬน้องอ้อแอ้ขึ้นมาได้จังหวะเวลาอีกแล้ว…) กว่าจะได้เรียนภาษาอังกฤษมันนาน แม่ก็จับให้เรียนหนังสือตั้งแต่เด็ก ปิดเทอมตอนกลางวันเพื่อนๆ จะได้ไปเล่น ผมกับพี่น้อง ตุ๋ย แตน เตย ต้องมานั่งเรียนวิชาภาษาอังกฤษ แล้วก็เรียนเรื่องการเขียนกลอน เรื่องปรัชญาชีวิตกับพ่อก่อน ประมาณสองชั่วโมง ไม่นานหรอก แต่สำหรับเด็กที่กำลังจะออกไปเล่นตอนกลางวัน มือคว้าจักรยานแล้วนะ “เฮ้ย อย่าเพิ่งไปมาเรียนกันก่อน” (เสียงดังเหมือนพ่อตะโกน ส่งสีหน้าแววตาสดใสเปี่ยมสุข)

โอเค มันก็ยากพอสมควรแต่ว่า พ่อจะให้อ่านปรัชญาชีวิตของ คาริล ยิบราน แล้วก็ต้องมานั่งคุยกัน ไม่เข้าใจจดมาเขียนมา แล้วมาท่องให้พ่อฟัง มีอยู่บทหนึ่งที่เขียนว่า “บุตรของเธอไม่ใช่ของเธอ เขาคือบุตรธิดาของวันพรุ่งนี้ เขาเหล่านั้นเป็นบุตรและธิดาแห่งชีวิต เขามาทางเธอ แต่ไม่ได้มาจากเธอ …. เพราะว่าวิญญาณของเขานั้น อยู่ในบ้านของพรุ่งนี้ ซึ่งเธอไม่อาจเยี่ยมเยือนได้ แม้ในความฝัน... ” ก็ถามพ่อว่า “ พ่อ…บุตรของเธอไม่ใช่ของเธอ แล้วทำไมพ่อเหนี่ยวรั้งพวกหนูไว้”(ฮาสนั่นกันยกใหญ่ทั้งคนพูดและผู้ชม) ตอนหลังต้องยกเลิกวิชานี้มีฟ้องแม่ “เธอ ลูกมันเริ่มเกลียดฉัน” แต่ก็สนุกดีมีหลายบทนะ… แตนเล่างานของคาริลต่ออีกตรึม

 

 

พ่อชอบเล่นมุกกับหนังสือ “แกรู้ไหมจะทำอะไรต้องมีศิลปะนะ แม้แต่คนที่บีบน้ำผลองุ่นให้เป็นไวน์ ถ้าหากเขาพร่ำบ่นหรือก่อนด่าไวน์ก็จะกลายเป็นยาพิษนะเว่ย” เหรออออพ่อ … “เสาวิหารไม่ควรตั้งอยู่ใกล้กัน เพราะว่ามันจะไม่แข็งแรง … เราไม่ควรดื่มไวน์จากแก้วเดียวกันด้วย” ทำไมล่ะพ่อ “เพราะหัวมันจะชนกัน” (ได้รับเสียงกิ๊กกั๊กเหมือนอาการเมาไวน์ถี่ขึ้นดังขึ้นจากผู้ชม) สำหรับผมมันเป็นจุดเริ่มต้นห้าบาทสิบบาทในตัวเรา แล้วเราก็สืบสานมาเรื่อยๆ ได้ sense ของความพยายามตลกมา รู้สึกสนุกดีกับการได้ฟัง แล้วผมก็ชอบฟังแกพูดเรื่องปรัชญา ศาสนาพุทธ เรื่องคอมมิวนิสต์ แล้วก็ตีความในแบบของแก

เคยมีรุ่นพี่มาพูดกับผม “หนังสือพ่อมึงบ้านนอกมากเลย เชยมากเลย” ผมโกรธแต่ยิ้มนิดหนึ่งแล้วไปอ่าน เออมันก็เชยจริง แต่มันมีความเป็นลูกทุ่ง หอมดินเคล้ากลิ่นไอฝน … “แล้วเขาไม่เคยเล่าเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเองเลยเหรอ?” เรื่องมันมาจากชีวิตเขา เขาเติบโตมาจากเชียงราก ย้ายไปลพบุรี เกิดมาคนเดียวพ่อแม่ทิ้งไปให้เพื่อนของย่าเลี้ยง ตอนหลังไม่มีใครเลี้ยงแล้วต้องไปอยู่กับพ่อที่ลพบุรี ปู่เป็นเจ้าหน้าที่ที่ดินต้องไปรอให้ปู่เต้นลีลาศเสร็จ เพื่อจะได้เงินไปเรียนต่อวันพรุ่งนี้ แกเล่าว่าในโรงเรียนมีตู้หนังสืออยู่ตู้หนึ่ง มีหนังสือเต็มเลยแล้วแกก็จะอยู่กับตู้หนังสือนั้น จนพอเริ่มเขียนหนังสือได้ก็ส่งบทความไปลงได้เงินมาเลี้ยงชีพตัวเอง แกเล่าเรื่องพวกนี้เหมือนนิทานส่วนตัว ในหนังสือหลายเล่ม “คือรักและหวัง” “ ฉากและชีวิต”, “ ด้วยรักแห่งอุดมการณ์” ฯลฯ พออ่านแล้ว…(พูดกับตัวเอง) พ่อกูเขียนจากชีวิตตัวเองหมดเลยว่ะ ในบางช่วงเพียงแต่เอาประสบการณ์ตัวเองไปโยนให้ตัวละคร ผมรู้สึกอย่างนั้นเสมอ…

หนึ่งชั่วโมงเต็มกับ Documentary Theatre ที่ถูกแบ่งออกเป็น 3 parts ช่วงแรกถวิลอดีตอย่างมีความสุขกับวัยเด็กจนถึงวัยแสวงหา … ช่วงที่สองคือความอยู่ยากของครอบครัวที่ผู้นำเป็นแกนนำในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย และช่วงสุดท้าย…ความหมายแท้จริงของการมีชีวิตอยู่เพื่อสู้ต่อไปแม้ใจสลาย … พอได้จังหวะเว้นวรรค ก็มีเสียงขานทักจากน้องปลาวาฬโดยไม่ได้นัดหมาย … ก่อนร่ายตอนต่อไปจะเปลี่ยนจากเรื่องรื่นรมย์เป็นขมขื่นกับความจริง ทั้งโรคร้ายที่พรากแม่จากไป และโลกโหดร้ายที่เฝ้าตามล่าพ่อ แต่วสุสามารถทำเรื่องรันทดให้งดงามได้ด้วยการแสดงแฝงปรัชญาที่เขารับมรดกมาจากพ่อ ไม่ตัดพ้อ ไม่ฟูมฟาย ไม่เรียกร้องจากความตาย เพียงให้ความหมายอย่างชัดเจนว่า “ชีวิตคือศิลปะ” และ จะสู้ต่อไป

 


photo : จตุพล บุญพลัด

 

“ต้องเนรเทศ” Seven Years in Exile

วัฒน์ วรรลยางกูร ได้ฉายา ‘ซีรอง’ ของแวดวงวรรณกรรม เพราะถูกเสนอชื่อเข้าชิง THE S.E.A WRITE AWARD (South East Asian Writers Awards หรือ “รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน” คือรางวัลที่เคยศักดิ์สิทธิ์และทรงอิทธิพลทางการตลาดอย่างสูงในยุคนั้น มอบให้กับนักเขียน 10 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ บรูไน, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ลาว, มาเลเซีย, พม่า, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และ เวียดนาม) นอกจากวรรณกรรมเรื่อง “คือรักและหวัง” จะถูกเสนอชื่อเข้าชิงในปี 2518 แล้ว ยังมีอีกหลายเรื่อง รวมแล้วได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงถึง 8 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รับรางวัลตามมติมหาชน บางคนจึงจัดให้อีกคำซึ่งมีความหมายเล่นมุกไขว้ไทย-อังกฤษ เป็น ‘see wrong’ (แปลตรงตัวตามศัพท์ว่า ‘เห็นผิด’ จากความคิดที่ล้อเลียนมติเอกฉันท์ของคณะกรรมการตัดสิน) ไม่ว่าจะถูกพิพากษาอย่างไร งานของวัฒน์ยังพัฒนาไม่หยุด ปกป้องผู้บริสุทธิ์ที่ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิ์ ร่วมคิดและเคียงข้างมวลชนจนวันสุดท้าย…

นับจากปี 2524 หลังออกจากป่าอุดมการณ์ หนังสือของวัฒน์เป็นขวัญใจนักอ่าน แทบทุกเล่มมักติดอันดับขายดีมียอดจำหน่ายสูง แม้กระทั่งเล่มสุดท้ายที่เขียนไว้ก่อนเสียชีวิต (เพราะเนื้องอกในตับเมื่อ 21 มีนาคม 2565 ณ ประเทศฝรั่งเศส) … จากการคัดเลือกรายชื่อหนังสือ ‘น่าจะอ่าน’ กว่า 100 เล่ม โดยคนในวงการหนังสือ (บรรดาสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ ร้านหนังสือ และนักวาดภาพประกอบ กว่า 50 คน) เรื่อง ‘ต้องเนรเทศ’ ของ วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นหนังสือที่ถูกแนะนำให้อ่านมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง (วางจำหน่ายในเดือน พฤษภาคม 2565 ด้วยความหนา 832 หน้า) The 101.World  จึงได้ร่วมกับ The Jim Thompson Art Center จัดให้มีกิจกรรมการเสวนาขึ้นเป็นปีที่ 6 ในหัวข้อ “ความน่าจะอ่าน 2022 Final Round – โลกใบนี้น่ะยังไม่สิ้นความหวังหรอก”[7] ในวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565 เวลา ณ The Jim Thompson Art Center ชั้น 2 ห้อง Event Space เปิดวงพูดคุยถึงประเด็นที่น่าสนใจจากหนังสือ Top Highlights[8] โดยเฉพาะเรื่อง ‘ต้องเนรเทศ’ ที่มีหลายมิติน่าสนใจให้ค้นหา…

 


photo :“ความน่าจะอ่าน 2022 Final Round – โลกใบนี้น่ะยังไม่สิ้นความหวังหรอก”

 

ในช่วงสุดท้ายของงาน ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ถือบัญชีร่วมในนาม ‘กองทุนราษฎรประสงค์’ กล่าวในฐานะบรรณาธิการคนสุดท้ายของ ‘สำนักพิมพ์อ่าน’ และบรรณาธิการคนสุดท้ายของ วัฒน์ วรรลยางกูร อ่านบทพูดที่เขียนถึงวัฒน์ในรูปจดหมายที่เธอตั้งชื่อว่า “สวัสดีค่ะคุณวัฒน์” เล่าเรื่องราวร้อยเรียงเบื้องหลังการเดินทางของต้นฉบับตามลำดับก่อนจัดพิมพ์ ซึ่งเป็นข้อความนอกหนังสือ “ต้องเนรเทศ”’ ที่มี ‘ตัวละครนอกหนังสือ “ต้องเนรเทศ”’ และผู้เขียน (วัฒน์) กลายเป็นเสมือนตัวละครในเรื่องสั้น (บทพูดของเธอ) ที่กำลังอ่านอย่างตั้งใจให้ทุกคนฟัง สลับกับกลั้นสะอื้นและร้องไห้ในบางช่วง… ทุกถ้อยคำถูกคัดสรรมาร่วมบันทึกประวัติศาสตร์การเมือง-เนื่องปัจเจก ผ่าน ‘เรื่องสั้น’ ที่มีสารสำคัญยืนยันเชื่อมโยงกับ “ต้องเนรเทศ” ของ วัฒน์ วรรลยางกูร ผลงานเล่มสุดท้ายในรูป ‘สาระนิยาย’ ตามความหมายของเขา แต่เป็น ‘เรื่องจริง’ ที่ควรจารึก ตามความเห็นของ ‘บรรณาธิการ ผู้พิมพ์หนังสือเสร็จไม่ทันก่อนวันนักเขียนตาย’

 


photo : ภาพยนตร์ “ไกลบ้าน” โดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์

 

‘ข้อความนอกหนังสือ “ต้องเนรเทศ”’

สวัสดีค่ะคุณวัฒน์ เกือบไปค่ะ เกือบไป ดิฉันเกือบจะตั้งชื่อบทพูดชิ้นนี้ว่า “เป้ชื่อวัฒน์ อัตวินิบาตกรรมบนบ่าของความเป็นบรรณาธิการและนักเขียน” ที่พอเขียนไปได้หน่อยก็เริ่มจะเป็นบ้า เริ่มจะโกรธเกลียดตัวเองภายใต้สรรพนิยามนานาของความเป็นบรรณาธิการและนักเขียน ถ้าจะให้สารภาพกันตามจริงก็คือ ชื่อหัวข้อนั้นมันผุดขึ้นมาหลังจากที่ดิฉันอ่านข้อเขียนของ คุณวรพจน์ พันธุ์พงศ์ ที่ชื่อ ‘ข้อความนอกหนังสือ “ต้องเนรเทศ”’ [9] ซึ่งแม้จะรับรู้ได้ว่าเขาเขียนด้วยไมตรีจิตต่อกัน แต่ดิฉันอ่านแล้วกลับรู้สึกอยากจะบ้าตายด้วยความละอาย และยิ่งจะบ้าตายเข้าไปอีกเมื่อนึกพ่วงเลยเถิดไปถึง เป้ วาดระวี แต่คุณลักษณะข้อหนึ่งของดิฉันที่คนไม่ค่อยรู้ก็คือจริงๆ แล้วดิฉันเป็นคนบ้า และเป็นคนบ้าที่มีพรสวรรค์ของการรู้กาลเทศะของความบ้า

ฉะนั้นพอดิฉันบังเอิญไถลไปฟังรายการทาง PODCAST ของผู้จัดงานวันนี้และได้รับฟังความคาดหวังของพวกเขาต่อการจัดโปรเจค “ความน่าจะอ่าน” ในรอบนี้ ที่สะท้อนผ่านสโลแกนว่า “โลกใบนี้น่ะยังไม่สิ้นความหวังหรอก” ดิฉันก็รีบจิกหัวตัวเองขึ้นมาใหม่ ‘ไม่ได้ มึงต้องไม่บ้า มึงต้องคั้นต้องปั้นก้อนสัมปัญญาขึ้นมา แล้วตอกตราของความหวังลงไปบนนั้นให้ได้ ต้องทำให้โลกการอ่านมีความหวังเข้าไว้ ต้องไม่พาคนอ่านลงนรกกับมึงไป เพราะบาปที่พวกเขาไม่ได้ก่อ’ ก็เลยกลายเป็นต้องมาเขียนจดหมายคุยกับคุณนี่ล่ะค่ะคุณวัฒน์ หลอกตัวเองให้มีความหวังว่า คุณจะยังได้ยินจะยังรับรู้ได้ ให้มันเป็นเหมือนการต่อบทสนทนาครั้งสุดท้ายของเราในคืนนั้นคืนก่อนหน้าวันที่คุณจะจากไป คืนที่เรายังคุยกันไปหัวเราะกันไปได้ เหมือนความตายเป็นแค่จินตนาการในนิทานก่อนนอน

แต่ก่อนอื่นขออัปเดตก่อนว่ามะเขือขื่นที่คืนนั้นดิฉันโม้กับคุณไว้ ดิฉันก็มีเหมือนกัน แม้มีปัญญาแค่เอาไปหั่นใส่น้ำพริกกะปิ ไม่ถึงขั้นเอาไปทำแกงเนื้อเหมือนที่คุณเขียนอวดไว้ในหนังสือ แล้วคุณก็อุตส่าห์ให้กำลังใจว่าน้ำพริกกะปิก็หรูแล้วนั่นน่ะ ปรากฏว่ามันยืนต้นตายสนิทมาได้หลายเดือนแล้ว ก็ได้ซึ้งแก่ใจถึงความเป็นไม้ล้มลุกอย่างที่เคยเรียนในวิชางานเกษตรสมัยประถมนี่ล่ะค่ะ ว่าตอนมีชีวิตก็ตั้งหน้าตั้งตาผลิตจนท่วมท้นจนอุ่นใจ แล้วจู่ๆ ก็ตาย ส่วนที่ยังอยู่คือรางจืดที่พอบอกคุณไปว่าดิฉันก็มีเหมือนชาวท่าเสาบทที่ 2 บ้างแล้วเหมือนกัน แล้วคุณก็ตะโกนซะลั่นว่า ‘โอ๊ย! คิดถึงรางจืด คิดถึงรางจืด’ น่ะ มันยังอยู่ดีค่ะ และถ้ามันตายดิฉันก็จะซื้อมาปลูกใหม่ ไม่เหมือนมะเขือขื่นที่เป็นไม้ของนกกา จะมาจะไปดิฉันกำหนดอะไรไม่ได้เลย

 


photo : ภาพยนตร์ “ไกลบ้าน”  โดย กำกับการแสดง

 

ทีนี้ก็มาเข้าเรื่องการเรื่องงานที่ยังค้างคาไม่ทันได้สะสางกัน คือเรื่องนิยามของ ‘ต้องเนรเทศ’ ของคุณนี่ล่ะ ดิฉันแน่ใจว่าคุณจำได้เพราะคุณออกจะตั้งใจพิมพ์มันไว้หราบนหน้าแรกของต้นฉบับที่ส่งมา คุณเรียกมันว่า ‘สาระนิยาย’ แล้วดิฉันก็ไขสือปรับแก้ต้นฉบับของคุณได้สารพัดมากมาย ยกเว้นเรื่องเดียวที่ยังไม่ยอมอภิปรายก็คือเรื่อง ‘ประเภท’ ของงานเขียนชิ้นนี้ ดิฉันเดาว่าคุณเกรงใจที่จะถาม เพราะจนถึงขั้นเมื่อส่งต้นฉบับที่ปรับแก้เสร็จแล้วให้คุณตรวจทานครั้งสุดท้าย คุณก็ยังไม่หือไม่อืออย่างว่าง่าย ไม่ยักเอ่ยทวงถามว่า ‘คำว่า สาระนิยาย ของผมมันหายไปไหน’ อันที่จริงดิฉันว่าจะคุยเรื่องนี้กับคุณอยู่ค่ะ แต่พอถึงจังหวะคุณก็ดันป่วยซะจนดิฉันได้แต่นั่งร้องไห้ แล้ววันเวลาอย่างนั้นมันไม่ใช่เวลาสำหรับการจะมามัวอภิปรายเรื่องนิยาม นิยาย มันก็เลยกลายเป็นเรื่องเดียวที่ดิฉันยังติดค้างคำอธิบายแก่คุณไว้ เพราะคุณไม่ฟื้นกลับมาใหม่แล้วในรอบนี้

ถ้าเอาตรงๆ ก็คือดิฉันรู้สึกไร้สาระกับการนิยามประเภทนี้ค่ะคุณวัฒน์ สาระนิยายคืออะไร ถ้าในสมัยก่อนมันพอเข้าใจได้ สมัยคนไทยเพิ่งเริ่มรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ‘นวนิยาย’ แล้วก็ต้องมาพยายามแยกให้เห็นว่า นิยายคือเรื่องแต่งที่สมมุติขึ้นมาเฉยๆ นะ ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่ต้องหลงเชื่อไป แล้วพอมันดันมีงานเขียนประเภทก้ำๆ กึ่งๆ ขึ้นมา ก็ต้องมาคิดหานิยามของความนิยามไม่ได้นั้นกันใหม่ ก็เลยเกิดลูกครึ่งทำนอง ‘สาระนิยาย’

แต่ว่าสมัยนี้เส้นแบ่งของความศักดิ์สิทธิ์ทุกอย่างมันเลือนไปหมดแล้วค่ะ จะต้องไปออกตัวทำไมว่านี่มันกึ่งนิยายกึ่งเรื่องจริง มันทั้งเป็นและไม่เป็นนั่นแหละ เราอยู่ในยุคที่ควรยอมรับได้แล้วว่าประวัติศาสตร์ก็คือเรื่องแต่งประกอบกับเรื่องจริง และนวนิยายก็คือเรื่องจริงได้พอๆ กับเรื่องแต่ง เพราะทั้งหมดทั้งปวงนั้นมันคือการ ‘แต่ง’ ขึ้นจาก ‘ความจริง’ หรือไม่ก็คือความจริงที่เราแต่งขึ้น ฉะนั้นถ้านักเขียนจะเขียน ‘งานจริง’ ขึ้นมามันก็ไม่ได้ด้อยศักดิ์ด้วยศรีไปกว่าการเขียน ‘งานแต่ง’ ที่เรียกกันว่า ‘นิยาย’ หรอกค่ะ

ช่างหัวมันเถอะคุณวัฒน์ไม่ต้องมาออกตัวแก้เกี้ยวให้วุ่นวายไป ปล่อยให้เป็นธุระและภาระของบรรณาธิการหอสมุดแห่งชาติเถอะค่ะ ที่เขาต้องมาลำบากใส่นิยามไว้ในข้อมูลทางบรรณานุกรมว่ามันคืออะไร ทั้งที่เขาก็ยังไม่เคยอ่านสักหน้า ซึ่งกรณีเล่มนี้เขาก็เดาอย่างเป็นทางการมาให้ว่า มันคือ ‘นวนิยาย’ ดิฉันก็อมยิ้มแปะข้อมูลของเขาไว้ตรงหน้าเครดิตตามระเบียบการพิมพ์ไปเท่านั้นล่ะคะ ให้หน่วยงานประเภท ‘แห่งชาติ’ เขาสบายใจ แล้วมันก็ไม่ใช่ความผิดอะไรของบรรณารักษ์

เรื่องความสมจริงของความจริงในวรรณกรรมที่เขียนในนามของ ‘เรื่องจริง’ นี้ ดิฉันสนุกกับมันนักล่ะค่ะ ตอนที่หนังสือ “มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ” ของเจ้ากอล์ฟ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง  ได้คะแนนสูงสุดของโปรเจค ความน่าจะอ่านปี 2018-2019 แล้วมีการจัดงานขึ้นมา ดิฉันกับเจ้ากอล์ฟก็ตกลงกันว่า เราไม่ต้องมาเสนอหน้ากันหรอก ทั้งนักเขียนและบรรณาธิการ เราให้ ‘ตัวละคร’ หรือ ‘ตัวตนคนจริงๆ’ ที่ถูกเอามาเขียนถึงในหนังสือเล่มนั้นนั่นแหละไปร่วมงาน ตอกย้ำการดำรงอยู่ทางอภิปรัชญาที่จับต้องได้ ของความจริงที่มีชีวิต ที่กลายมาเป็นความจริงในทางประเภทวรรณกรรม

พอถึงงานเล่มนี้ของคุณทางผู้จัดเขาระบุมาไว้เสร็จสรรพแล้วว่า อยากให้ดิฉันมาพูดในฐานะบรรณาธิการ จะอิดออดก็ไม่ได้เพราะคุณในฐานะผู้เขียนก็ทิ้งดิฉันซึ่งควรเป็นตัวเลือกที่สองไว้ ให้กลายเป็นตัวเลือกที่เหลืออยู่ตัวเดียว แต่นั่นล่ะดิฉันก็ยังอดไม่ได้ที่จะขอพูดผ่านตัวละคร โดยจะเป็นคล้ายๆ การล้อกันไปกับข้อเขียนที่ชื่อ ‘ข้อความนอกหนังสือ “ต้องเนรเทศ” ’ ของคุณวรพจน์ ที่เอาเข้าจริงก็ต้องถือว่าข้อเขียนชิ้นนั้นเป็น ‘ความนอก’ ของ ‘ความใน’

 


photo : ภาพยนตร์ “ไกลบ้าน” โดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์

 

‘ ตัวละครนอกหนังสือ “ต้องเนรเทศ” ’

ตานี้ดิฉันก็เลยจะมาเล่าถึง ‘ตัวละครนอกหนังสือ “ต้องเนรเทศ”’ ที่เป็นความนัยของความนอก ตัวละครนี้ปรากฏขึ้นมาต่อหน้าดิฉันในวันหนึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราสัมพันธ์กันในฐานะผู้ใช้และผู้ให้บริการสวัสดิการตามกฎหมายของเงินประกันตัว จากกองทุนราษฎรประสงค์ ในรอบนี้เธอติดต่อมาขอความช่วยเหลือค่าเดินทางในการพาลูกชายของเธอไปส่งไว้กับยายในต่างถิ่นเสียให้เรียบร้อย ในช่วงสุกดิบก่อนหน้าวันฟังคำพิพากษาในคดีที่เธอตกเป็นจำเลย ซึ่งก็บังเอิญเป็นคดีเดียวกันกับที่คุณวัฒน์ก็เป็นจำเลยอยู่ด้วยในจำนวนอีกหลายคดีนั่นล่ะคะ คือคดีที่โดนกล่าวหาว่าก่อความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และเป็นอั้งยี่หรือที่เรียกกันว่า “คดีสหพันธรัฐไทย”

จำเลยอย่างน้อย 5 คนในคดีนี้ย้ายไปมีชีวิตอยู่ในหนังสือ “ต้องเนรเทศ” ของคุณหมดแล้ว เหลือสามคนที่ยังอยู่ที่นี่ ที่ยังต้องรอฟังคำพิพากษาจากศาลฎีกาอยู่รอมร่อนี้ รวมทั้งเธอผู้นี้ที่กลายมาเป็น ‘ตัวละครนอกหนังสือ “ต้องเนรเทศ”’ และด้วยเหตุนี้ดิฉันจึงไม่ได้ไปพบกับเธอในฐานะบรรณาธิการ แต่เป็นฐานะกองทุนประกันไปซะฉิบ! ความช่วยเหลือที่ตัวละครนี้ต้องการมีแค่ค่าตั๋วรถไฟ ที่จะพาลูกชายคนเล็กไปฝากไว้กับยายในระหว่างที่เธอจะหายไปติดคุกหลายปี เพราะเธอเป็นห่วงว่าเขาจะอยู่อย่างไรในภาวะที่ทั้งยากไร้และไม่มีแม่ เหลือแต่พี่ชายคนโตในวัย 18 ที่ก็ยังหาเลี้ยงตัวเองไม่ค่อยได้ “แล้วคนโตไม่ไปส่งน้องด้วยกันเหรอ” ดิฉันถาม เธอบอกว่าเขาไม่มีเงินซื้อตั๋ว พอถามราคาค่าตั๋วแล้วดิฉันก็ตัดสินใจให้เงินไปพอที่จะซื้อได้ 3 ใบ อย่างน้อยพวกเขาจะได้ส่งกันและกันพร้อมหน้าพร้อมตาครั้งสุดท้าย …

มันช่างเป็นความกรุณาอย่างผู้รู้กาละเทศะของกฎหมาย คือจ่ายค่าเดินทางให้แม่กับลูกได้พลัดพรากกันอย่างสบายใจ ก่อนที่แม่จะกลับมาติดคุกตามคำพิพากษา แต่แน่นอนว่าในฐานะผู้ดูแลเงินประกัน ที่ในคดีนี้สูงถึงขั้น 300,000 บาท ต่อคน มันอดไม่ได้หรอกที่จะนึกกังวลอย่างกระอักกระอ่วนอยู่ในใจ เขาจะใช้เงินไปซื้อตั๋วเดินทางนั้นเพื่อหนีออกจากราชอาณาจักรบ้าๆ นี้ไปเหมือนคุณวัฒน์ไหม และถ้าเขาไม่กลับมาฟังคำพิพากษาเราก็จะถูกริบเงิน 300,000 นั่น ส่วนเขาก็จะถูกออกหมายจับไล่ล่า แล้วสามแม่ลูกจะรอดไหวเหรอ จะมีปัญญาหนีหรือลี้ภัยไปไหนได้ แต่ชั่วข้ามคืนเมื่อไปถึงปลายทางเธอก็ถ่ายรูปส่งหลักฐานมาพร้อมคำขอขมาว่า เธอเปลี่ยนใจใช้เงินนั้นซื้อตั๋วชั้น 3 แทนที่จะเป็นชั้น 2 เพื่อจะได้อาศัยเงินส่วนต่างนั้นไปซื้อรองเท้า เสื้อผ้า และเสบียงให้ลูกชายคนเล็กได้มีติดตัวรอนแรมต่อไป

ถามว่าดิฉันโล่งใจไหม? โล่งใจสิคะคุณวัฒน์ เพียงแต่เป็นความโล่งอย่างโคตรตีบตัน ว่านี่มันประเทศบ้าอะไรกันและกูก็พลอยเป็นบ้าตามมันไปแล้วอย่างช่วยไม่ได้ เพราะแน่นอนสิว่าในฐานะทางบัญชี ดิฉันก็ต้องอุตริยอมให้ตัวละครพวกนี้เก็บตั๋วรถไฟกลับมาให้ดิฉัน ในวันที่เราจะไปนั่งฟังคำพิพากษานรกนั่นด้วยกัน นี่ล่ะค่ะโฉมหน้าของบรรณาธิการที่… (พยายามหยุดกลั้นสะอื้น) … โฉมหน้าของ … ของบรรณาธิการที่…  (ร้องไห้) ที่พิมพ์หนังสือเสร็จไม่ทันก่อนนักเขียนตาย เพราะมัวไปทำหน้าที่นายประกัน ที่เอาเข้าจริงก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จะทำให้แน่ใจได้ว่า ประชาชนจะได้รับสิทธิประกันตัวตามกฎหมาย ก่อนจะไปลงเอยในเบื้องปลายด้วยการติดคุกตามคำพิพากษาอยู่ดี …

 


photo : ภาพยนตร์ “ไกลบ้าน” โดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์

 

คืนก่อนฟังคำพิพากษาดิฉันนอนไม่หลับ อาการหลอนมันกลับมาเหมือนเมื่อครั้งที่

คอยตื่นมาเช็กข้อความตอนตีสามว่ามี missed call จากคุณวัฒน์อีกไหม เวลาของการนับถอยหลังมันทรมาน แต่ดิฉันก็ต้องจิกตัวเองว่ามึงไม่ต้องสะเออะทรมานกว่าจำเลยก็ได้ แล้วศาลจะตัดสินว่ายังไงได้นี่มันปาเข้าไปชั้นฎีกา หลังจากก่อนหน้าก็สั่งขังคุกตะบันมาตลอดแล้ว ความผิดของตัวละครเหล่านี้ถูกเป่าให้เป็นเรื่องอุกฉกรรจ์ กะอีแค่พฤติการณ์ขายเสื้อยืด สติกเกอร์ ที่เป็นสัญลักษณ์แสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างหนึ่งเท่านั้น นี่มันประชาธิปไตยบ้าอะไรกัน พรากแม่พรากลูกจากครอบครัวได้ด้วยเหตุผลเท่านี้แหละ หรือนี่คือกาลเทศะของระบบกฎหมายไทย ที่กูก็ยังอุตส่าห์เข้าไปรองรับเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวให้มัน ทั้งที่ไม่ใช่ธุระและไม่ใช่กระทั่งอาชีพเลี้ยงตัว

ลูกชายคนโตของเธอร่างเล็กผอมบางนั่งก้มหน้างุดใส่หูฟังไม่พูดไม่จา ไม่สบตาใครอยู่หน้าห้องพิจารณา มือสองข้างกอดเสื้อคลุมและกระเป๋าแม่ไว้ ดิฉันเข้าไปทักแล้วบอกว่าเข้ามานั่งในห้องกับแม่ก็ได้นะ ไม่ต้องกลัว ศาลห้ามไม่ได้ พูดไปแล้วดิฉันก็ต้องเหลือบดูรองเท้าของเขาซะก่อน มันเป็นรองเท้าผ้าใบ โล่งไป เพราะถ้ามันเป็นรองเท้าแตะและถูกห้ามเข้าห้องขึ้นมาอีก ดิฉันนึกภาพตัวเองวิ่งไปที่ห้องผู้อำนวยการศาล หรือไม่ก็อธิบดีศาลแล้วแต่ว่าระเบียบเวรตะไลนี่มันจัดประเภทอยู่ในความรับผิดชอบของคนไหน เพื่อจะได้ถามมันให้รู้แล้วรู้รอดกันไปสักที ด้วยวรรณศิลป์ของภาษาบทสนทนาในนวนิยายแนว Realism สักเรื่องว่า “ศาลคะ มึงเป็นส้นตีนอะไรนักหนากับรองเท้าแตะของประชาชนคะ” แต่แล้วฉากนั้นในหัวก็ถูกตัดฉับทิ้งไป เพราะดิฉันเผลอไปโอบไหล่ตัวละคร เด็กชายวัยรุ่นคนนั้นแล้วก็พลันปล่อยโฮออกมา ก่อนที่จะยกแขนเสื้อขึ้นปาดน้ำตาที่ขนตายาวคู่นั้นซับไว้ไม่ไหว

อาการแบบนี้ก็เกิดขึ้นกับหญิงสาวอีกคน ที่เป็นคนรักของจำเลยอีกคนในคดีนี้ ที่มาปรากฏตัวในวันฟังคำพิพากษาวันนั้นเช่นกัน ปากของเธอที่พร่ำว่า ‘ทำใจมาแล้ว ทำใจมาแล้ว’ นั้น เฝ้าขัดขืนหักล้างกันกับน้ำตาที่พรั่งพรู แต่จำเลยคนที่ 3 ไม่ได้มา ดิฉันไม่อาจรู้ได้ว่าเขาตัดสินใจหลบหนีไปแล้วหรือไม่ ดิฉันได้แต่ลุกขึ้นยืน ค่ะ ค่ะ ค่ะ กับผู้พิพากษาเมื่อเขาแจ้งว่าจะริบเงินประกันสามแสนซะ นอกจากว่าดิฉันจะตามตัวจำเลยมาได้ทันก่อนวันอ่านคำพิพากษา ที่ต้องถูกเลื่อนออกไปเพราะวันนี้จำเลยมาไม่ครบ ความเจื่อนบนสีหน้าจำเลยสองคนที่เกรงใจว่าจำเลยคนที่สามอาจทำให้เงินประกันของดิฉันต้องถูกริบไปขนาดนั้น เปลี่ยนเป็นความโล่งใจที่คงอธิบายได้ลำบาก

เมื่อวันเวลาของการนับถอยหลังถูกเลื่อนออกไป อุตส่าห์เตรียมตัวเตรียมใจมาแล้ว แล้วคำสัญญาของความช่วยเหลือต่างๆ ล่ะ ที่ดิฉันบอกเขาว่าไม่ต้องห่วง ถ้าแม่ติดคุกไปแล้วดิฉันจะพยายามช่วยดูแลลูกชาย จะพยายามหาเงินมาจ่ายค่าเช่าห้องให้ แต่นี่การติดคุกถูกเลื่อนออกไปอีกราวเดือนครึ่ง แล้วค่าห้องเดือนนี้จะยังอยู่ในข่าย ‘รับความช่วยเหลือ’ ได้ไหม? นั่นแหละ… ความจนมันไม่ได้แก้ได้ด้วยเงินประกัน ไม่ได้แก้ได้ด้วยเงินช่วยเหลือ ให้มีปัญญาเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘สิทธิ’ ในกระบวนการยุติธรรม ผู้คนถึงต้องการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตแร้นแค้นให้มันโงหัวขึ้นมาได้ สู้อย่างตัวละครในนวนิยายสมจริงทั้งหลาย ตัวละครในนวนิยายที่ไม่มีบรรณาธิการ…

 


photo : ภาพยนตร์ “ไกลบ้าน” โดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์

 

ตัวละครในนวนิยายที่ไม่มีบรรณาธิการ…

แต่นั่นแหละ โลกนี้ต้องยังไม่สิ้นความหวังหรอก ใช่ไหมคะ? ดิฉันเตือนตัวเองไว้ว่าอย่างน้อย อย่างน้อย …  อย่างน้อยคืออะไร จำได้ไหมคะคุณวัฒน์ คืนสุดท้ายที่เราคุยกันนั้นดิฉันบอกข่าวดีว่า ดิฉันยื่นเรื่องตั้งมูลนิธิมาดูแลงานประกันเรียบร้อยแล้ว ดิฉันจะได้มีเวลากลับมาทำหนังสือกับคุณวัฒน์แล้ว เพราะมันจะไม่ต้องผูกติดกับตัวดิฉันแล้ว แล้วคุณก็พูดย้ำตามดิฉันว่า ‘ใช่ๆ จะได้เอาออกจากตัวแล้ว’ ผลปรากฏว่าดิฉันได้ตั้งมันขึ้นมาสำเร็จแล้ว เป็นมูลนิธิชื่อ “สิทธิอิสรา” ชื่อที่สะท้อนความหวังของคนที่พยายามจะไม่เป็นบ้า ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ “ต้องเนรเทศ” พิมพ์เสร็จออกมานั่นเอง 

และพูดอย่างไม่อาย ดิฉันก็ได้อาศัยการขายหนังสือ “ต้องเนรเทศ” ของคุณนี่ล่ะค่ะมาเป็นเงินทำงาน มาเป็นค่าใช้จ่าย ค่าเดินทางให้ตัวละคร ที่จำต้องเข้าสู่โลกของ “มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ” ต่อไป เพราะพวกเขายังไม่ได้อยู่ในโลกของ “ต้องเนรเทศ” คุณจะรู้สึกภูมิใจหรือจะรู้สึกทะแม่งยังไง ไว้คุยกันรอบใหม่แล้วคุณค่อยหัวเราะหรือร้องไห้กับดิฉันก็ได้ แต่สำหรับตอนนี้ … ดิฉันว่านี่ล่ะค่ะมัน Realistic สุดๆ แล้ว สำหรับความเป็นนิยายที่ไม่ใช่นิยาย จริงไหมคะคุณวัฒน์?

 


photo :“ความน่าจะอ่าน 2022 Final Round – โลกใบนี้น่ะยังไม่สิ้นความหวังหรอก”

 

บทสนทนานอกหนังสือ “ต้องเนรเทศ”

จากวงเสวนา “ความน่าจะอ่าน 2022” ช่วงหนึ่งวิทยากร สุธิดา วิมุตติโกศล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่า

ถ้าใครยังไม่ได้ซื้อหนังสือเล่มนี้ เห็นแล้วกลัวว่าแปดร้อยหน้าเมื่อไหร่จะอ่านจบ คิดว่าอ่านเป็นต่อนต่อนก็ไม่เสียหายอะไรนะคะ เราอยากจะอ่านท่อนไหนเราก็อ่าน ถ้ายังอ่านไม่ไหวก็เก็บไว้ก่อน ไม่ได้เป็นสิ่งที่จะต้องอ่านรวดเดียวจบนะคะ คุณค่าของหนังสือเล่มนี้มันถูกใส่เข้าไปในบริบททางการเมืองด้วย ขณะเดียวกันก็อาจเป็นอุปสรรคอยู่นิดหนึ่งสำหรับคนที่เป็นนักอ่านทั่วไป เพราะ aura ของความเป็น Political Writing มีผลสองด้าน มันดึงคนบางกลุ่มเข้ามา มันอาจจะผลักคนบางกลุ่มออกไป เหมือนหลายเล่มที่มันสนุกมากจนเราเสียดายว่า น่าจะมีคนได้อ่านมากกว่านี้เช่น “มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ” (TOP HIGHLIGHT ปี 2518-2519)

ไม่แน่ใจว่าหนังสือ “ต้องเนรเทศ” จะเปรียบเทียบกับงานที่อยู่ในต่างประเทศได้ไหมอย่าง “My struggle” ดังอยู่เมืองนอกฮิตมากเป็น Best Seller ยาว 6 เล่ม

ที่พูดถึงอัตชีวประวัติของผู้เขียน (Karl Ove Knausgård และตีพิมพ์ระหว่างปี 2009 และ 2011)[10] เขียนแบบละเอียดมาก เรื่อง “ต้องเนรเทศ” ก็พอจะไปในเส้นนั้นได้เหมือนกัน งานที่เล่าชีวิตของเขาผ่านมุมมองของคนคนหนึ่ง จะต่างจากงานประวัติศาสตร์ที่มันจะแห้งๆ ด้านหนึ่งเราเห็นตัวตน เห็นจักรวาลของคนๆ หนึ่ง แล้วตัวตนของคนคนนั้นทั้งกระทบและได้รับผลกระทบกับประวัติศาสตร์ ในแต่ละช่วงเวลาของการเติบโตของเขาด้วย ต่อให้คุณไม่ได้แคร์คนคนนี้ แต่สิ่งที่มันแวดล้อมตัวเขาอยู่ มันเป็นสิ่งที่คุณก็อยู่ในนั้น เล่มนี้น่าจะตอบโจทย์ประมาณนี้

และ อ.สุธิดา ได้ตั้งคำถามถึงรัฐสวัสดิการกับการดูแลสิทธิเสรีภาพคนทำงานศิลปะที่ฝากชีวิตไว้กับการสร้างสรรค์งานที่รักอย่างไร้อนาคตว่า ‘กฎหมายปกป้องศิลปิน’ เรามีไหม? และควรจะมีไหม? เพราะเวลาที่พูดเรื่องกฎหมาย Freedom of Expression เรามักจะอ้าง Article 19 ของ Human Right[11] (ข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชน) ซึ่งไม่ใช่กฎหมายจริง เป็นแค่ Concept และเป็นไปได้ไหมที่ศิลปินคนทำงานหนังสือจะมีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย แล้วกฎหมายทำงานได้แค่ไหนในประเทศนี้ อธิคม คุณาวุฒิ หนึ่งในวิทยากร บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Way of Book ได้ตอบแทนทุกฝ่ายอย่างน่าสนใจ และผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ควรมองข้ามว่า…

 


อ. สุธิดา วิมุตติโกศล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 photo : “ความน่าจะอ่าน 2022 Final Round – โลกใบนี้น่ะยังไม่สิ้นความหวังหรอก”

 

ต้องเนรเทศเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม คุณค่าของหนังสือเล่มนี้มีสิ่งแวดล้อมอื่นบวกเข้าไปด้วย ไม่ได้เป็นการทำงานของตัวหนังสือ ตัวอักษรโดยลำพัง นี่คือสิ่งที่เรียกรวมๆ ว่า ‘เงื่อนไขพิเศษ’ แม้กระทั่งตัวบรรณาธิการที่ทำงานหนังสือเล่มนี้ ก็ทำงานบนเงื่อนไขนี้ว่าเป็นเงื่อนไขพิเศษสำหรับนักเขียนผู้นี้ การรับส่งต้นฉบับ การแนะนำหรือการขัดเกลาก็อยู่บนเงื่อนไขพิเศษ ถ้าไม่เช่นนั้นมันสามารถบางได้กว่านี้หลายร้อยหน้า แต่ว่าเราจำเป็นต้องบันทึกสิ่งที่ผู้เขียนปรารถนาจะเล่าออกมาให้หมดจด ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องแต่ง เป็นบันทึกเป็นเรื่องเล่าของนักเขียนที่มีฝีมือมีทักษะ มีศิลปะมีความสามารถในการเล่าเรื่อง มันจึงเลี่ยงไม่ได้ว่าเป็นศิลปะชนิดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น fiction หรือ non fiction ก็แล้วแต่

พอเราอ่านบนข้อตกลงนี้มันจึงคล้ายการอ่านทำความเข้าใจมหากาพย์ชีวิตของคนคนหนึ่ง พี่วัฒน์แกก็เล่าหมดตั้งแต่ช่วงวัยหนุ่มก่อน 14 ตุลา จนถึงช่วงวาระสุดท้าย ผมไม่เข้าใจว่าบุตรสาวของพี่วัฒน์เคยให้สัมภาษณ์ว่า “งานเขียนนิยายเกือบทุกเรื่องก็เป็นเรื่องของพ่อทั้งนั้นแหละ” แต่ว่า “ต้องเนรเทศ” มันตรงมาก ว่านี่เป็นเรื่องเล่าชีวิตของพี่วัฒน์ ถามว่าเรารู้สึกเจ็บปวดหรือรู้สึกร่วมไปกับชะตากรรมของนักเขียนช่วงไหนบ้าง ผมว่ามันแทบทุกย่อหน้าแทบทุกบรรทัด ที่เรารู้สึกว่ามันเป็นความโหดเหี้ยมผิดปกติมหาศาลในสังคม ถ้าพูดถึงในเชิงการไว้ลายของนักเขียนคนหนึ่ง ผมกลับชอบเรื่องที่พี่วัฒน์เขียนตอน “คิดถึงท่าเสา”  (ไทรโยก จ.กาญจนบุรี) ผมคิดว่าท่อนที่สองเป็นการอธิบายอดีตและปัจจุบันของแกได้ดีมาก

เล่าถึงฉากสังคมไทย ‘ยุคหลังป่าแตก’ ประมาณต้นปี 2524-2525 นักศึกษาที่เข้าป่ากลับออกมาด้วยสภาพสะบักสะบอมเต็มไปด้วยบาดแผล มีความล้มเหลว ที่สำคัญก็คือว่า จำเป็นที่จะต้องดำรงชีวิตอยู่ เอาชีวิตรอดในทางเศรษฐกิจ ในจำนวนนั้นมีคนจำนวนหนึ่งต้องพิสูจน์ตัวเองว่า มีคุณค่าอย่างไรกับสัมคมต่อ ช่วง 2520 ที่เราเห็นสภาพสังคมไทย การพัฒนาที่ดิน การที่คนรายได้น้อยต้องถูกผลักไปอยู่ในชานเมืองมากๆ ผมนึกหน้าตัวละครที่พี่วัฒน์บอกว่าไปซื้อที่ดินกันแถวประตูน้ำพระอินทร์ได้ว่ามีใคร ผมนึกถึงพี่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ที่ไปซื้อที่ดินแถวทุ่งสีกันดอนเมืองหรือทุ่งรังสิตซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ มันสะท้อนถึงความจำเป็น ความยากไร้แล้วก็เงื่อนไขสังคมที่เปลี่ยน จากเชียงรากบ้านเกิด มาประตูน้ำพระอินทร์ ถูกผลักไปอยู่ไทรโยค มันเห็นร่องรอยของการโยกย้ายถิ่นฐานของกลุ่มคนที่เรียกว่า ‘คนจน’ ในสังคม โดยเฉพาะจนแล้วเป็นนักเขียนด้วยก็ยิ่งทวีคูณเข้าไป

แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นร่องรอยฝีมือการเขียนการเล่าแบบนักเขียน ท่อนสองของเล่มนี้มีศิลปะการเล่าเรื่องสูงสุด มีแสงมีเงา มีฉากมีอากาศ ไม่ได้หมายความว่าจุดอื่นไม่ดีเพียงแต่ว่าอาจต้องจริตผม ผมเคยชินกับการฟังแกเขียนเรื่องแบบนี้ครับ แต่สิ่งที่มันต่อเนื่องมาจนถึงชะตากรรมตอนบั้นปลายก็คือว่า เงื่อนไขชีวิต ฉาก และบรรยากาศในสังคมช่วงหลังป่าแตกนั้น มันทำให้เราเห็นภูมิหลังของนักเขียนคนหนึ่ง ว่าทำไมเขาจึงเลือกข้าง เลือกยืน อยู่ตรงนี้ และเหตุใดเขาถึงมีปฏิกิริยากับความหน้าไหว้หลังหลอก มีปฏิกิริยากับผู้คนในแวดวงเดียวกันแบบนั้น มันจึงถูกขยายมาสู่ท่อนอื่นๆ ในช่วงของการระเหเร่ร่อน ลี้ภัย จากประเทศเพื่อนไปสู่ฝรั่งเศส เลย์เยอร์ของหนังสือไม่ได้ซับซ้อนมาก แม้เราอ่านได้เร็วก็ต้องขอเดินไปพักบ้างเป็นระยะ เพราะว่ามันทำงานกับเราสูง (น้ำเสียงสะเทือนใจ)

 

 

สังคมมีคำตอบล่าสุดต่อคำถามถึงกฏหมายคุ้มครองสวัสดิภาพของนักเขียน คือการยื่นข้อเสนอเป็นทางออกเพื่อแก้ปัญหาสำคัญพื้นฐานในเรื่องสิทธิการใช้ชีวิตตามกฎหมายที่พึงได้รับ (แต่ยังไม่รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดการลี้ภัย) เป็นการดูแลช่วยเหลือเพื่อนักเขียนหนีภัยเศรษฐกิจให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก และสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของคนที่ชีวิตอุทิศให้กับงานเขียน  คือ บทสรุปจากงานวิจัยระยะสั้นของ ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ ร่วมกับ CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ และ Creative Economy Agency[12] ที่ยื่นเสนอเงื่อนไขพื้นฐานการทำงานของนักเขียนที่ควรมี และเป็นต้นแบบสัญญา พื้นฐานที่ผู้ว่าจ้างพึงคำนึง เพื่อความมั่นคงด้านรายได้ อำนาจต่อรอง สุขภาพ และศักดิ์ศรีในการทำงานของ "คนงานนักเขียน" ทุกประเภท ทั้งอิสระ และประจำ ที่มีหลักใหญ่ใจความคือ

  1. ค่าตอบแทนงานเขียนเริ่มต้น 3,600 บาทต่อชิ้น และทวีคูณขึ้นตามอัตราที่กำหนดไว้
  2. กรณีนักเขียนไม่มีรายได้ประจำ การจ้างงานต้องคำนึงถึงรายได้เฉลี่ยที่ไม่ต่ำกว่า กฎหมายหรือวุฒิการศึกษาต่อเดือน
  3. ส่วนแบ่งการตลาด และความเป็นเจ้าของระยะยาว
  4. อำนาจต่อรอง ในฐานะคนงานนักเขียน
  5. ต้นทุนแฝง และการคุ้มครองด้านสุขภาพ

"สัญญาจ้างงานคนงานนักเขียน"  คือความหวังของวงการนักเขียน ที่เป็นเสมือนตัวแทนของ “แรงงานสร้างสรรค์” ที่เรียกร้องความฝันจากรัฐ และหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือดูแลสวัสดิการของประชาชน ที่ไม่ใช่แค่สิทธิมนุษยชนเท่านั้น

 


อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Way of Book 
photo : “ความน่าจะอ่าน 2022 Final Round – โลกใบนี้น่ะยังไม่สิ้นความหวังหรอก”

 

พิธีกร : คิดว่า “ต้องเนรเทศ” อยู่ตรงไหนในหมุดหมายของประวัติศาสตร์การเมือง มันทำหน้าที่อะไร มีพลังอะไรในเส้นประวัติศาสตร์การเมืองไทยตอนนี้บ้างไหมคะ

อธิคม : อยู่ตรงนี้ ณ วันนี้ที่เราเผชิญกับความอิหลักอิเหลื่อ เผชิญกับช่วงที่ใกล้จุดแนวปะทะแล้ว ถ้าพูดภาษานักรบ ใกล้จุดพังทลาย และใกล้ถึงจุดที่คนจะเริ่มหมดความอดทนกับสิ่งที่เกิดขึ้น

กรณีสิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่วัฒน์ ในฐานะนักเขียนคนหนึ่งของประเทศไทย องค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนทำงานเขียน ไม่ว่าจะเป็น สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย หรือ PEN[13] ซึ่งก่อตั้งโดย อาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง ที่เคยเป็นเลขานุการของ จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ นะครับ แต่อาจารย์ตั้ง PEN ขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ว่าต้องการให้มีองค์กรที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของนักเขียน สิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่วัฒน์ตั้งแต่ 7 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน (ในขณะนั้นปี 2565) องค์กรที่เกี่ยวข้องไม่เคยพูดไม่เคยแดงท่าที ไม่เคยแสดงจุดยืน ไม่เคยออกปากปกป้องในนามขององค์กร แล้วก็หน้าด้านพอที่ถึงวันตายก็จะเขียนสรรเสริญ ทำท่าไม่รู้เรื่องรู้ราว นี่คือความเลือดเย็นไม่รู้สึกรู้สาว่าส่วนที่ตัวเองรู้สึกเกี่ยวข้องนั้นน่ะมันทำให้สิ่งที่คุณเรียกว่า ‘ญาติน้ำหมึก’ ต้องประสบชะตากรรมเช่นไร นี่คือความเลือดเย็นของคนในวงการนักเขียนไทย

ส่วนเรื่องกฎหมายคุ้มครองนักเขียนไทย … คอลัมนิสต์ของเว็บ way magazine คนหนึ่งวิจารณ์ศิลปะแล้วถูกฟ้องสองศาลคือศาลอาญากับศาลแพ่ง สาเหตุเพราะสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไปซื้อภาพเขียน แล้วคอลัมนิสต์คนนี้บอกว่า “ไปซื้อได้ยังไงภาพเขียนชุดนี้ไม่มีพัฒนาการเลย” ศาลอาญารับฟ้องว่าหมิ่นประมาท ตอนนี้กำลังสู้คดีกันอยู่ นี่คือข้อมูลทางกฎหมาย …

(แต่ดูเหมือนมีคำตอบในตัวเองเรียบร้อยแล้วเมื่อศาลอาญารับฟ้อง แม้ว่าโจทย์จะถูก กลุ่มนักปฏิบัติการและนักวิชาการด้านวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นวป.) และนักศึกษา รวมตัวยื่นหนังสือถึงอธิการบดี มช. ร้องสอบพฤติกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พงศ์ศิริ คิดดี ผู้บริหารของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เหตุฟ้อง “นักวิจารณ์ศิลปะ” พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ ที่วิจารณ์ผลงานตนเอง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา เรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียง 1,000,000 บาท ชี้ ไม่เป็นธรรม จงใจกลั่นแกล้ง ทำ มช. ล้าหลัง)[14]

นับเป็นตัวอย่างการต่อสู้เพื่อสิทธิในการแสดงออกทางความคิดของสื่อมวลชนและประชาชน ที่ควรได้รับความคุ้มครองตามวิถีทางประชาธิปไตย แต่อาจไม่เป็นไปตามความน่าจะเป็นเพราะความไม่ศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมไทย

 


photo : For What theater

 

แม้ ‘วสุ’ จะคิดว่า “การเล่าเรื่องนี้เป็นเหมือนพันธกิจ” แต่การแสดงที่เสมือนไม่ได้แสดงนั้น กลับจะเป็นยาวิเศษที่สามารถสมานบาดฉกรรจ์ในใจให้ ‘เลือน’ ได้เร็วขึ้น ไม่ใช่เพราะเหตุผลในทางจิตวิทยาเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือการได้ปลดปล่อยทุกข์ในใจให้ใครๆ ได้ร่วมรับรู้ และหลายคนคือผู้ร่วมชะตากรรม การ ‘แชร์’ ด้วยการทำงานศิลปะไม่ต่างกับการทำสมาธิฝึกจิต ผลคือใจจะพบกับความสงบได้เร็วขึ้น เกิดการต่อยอดทางความคิดในรูปแบบต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ และผู้คนที่ได้รับอานิสงส์ก็ไม่ใช่เพียงผู้ชม แต่รวมถึงแวดวงนักเขียนและทุกคนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ‘คนเดือนตุลา’ แม้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่เป็นบาดแผลของแผ่นดิน ซึ่งไม่มีอะไรจะสามารถเยียวยาหัวใจในมุมของความเป็นปัจเจกได้ แต่นี่คือส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวที่แสดงออกถึงการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับทุกคน และความเป็นประชาธิปไตยเต็มใบให้กับประเทศไทยในอนาคต.

 


photo : ภาพยนตร์ “ไกลบ้าน”  โดย  ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์

 

หนังสือ “ต้องเนรเทศ” [15]

โดย วัฒน์ วรรลยางกูร
พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2565
จำนวนหน้า 832 หน้า
จัดพิมพ์เป็นสองรูปเล่ม
ปกแข็งภาพสีมีแจ็คเก็ตหุ้มปก เนื้อในกระดาษปอนด์ถนอมสายตา ราคา 1,120 บาท
ปกแข็งภาพขาวดำไม่มีแจ็คเก็ตหุ้มปก เนื้อในกระดาษปรูฟ ราคา 619 บาท

 


photo : สำนักพิมพ์อ่าน

 

รายการอ้างอิง


[1] Wat Wanlayangkoon, (2 กุมภาพันธ์ 2554), วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา คนที่ ๑๙ ประจำปี ๒๕๕๐, [online] สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2566.

[2] BBC News ไทย,(8 กรกฎาคม 2562), วัฒน์ วรรลยางกูร ชีวิตผู้ลี้ภัยของกวีไกลบ้าน, [Video] สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2566.

[3] วัฒน์ วรรลยางกูร และวงท่าเสา, [Video] สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2566,

[4] ฝันให้ไกลไปให้ถึง - วัฒน์ วรรลยางกูร, [Video] สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2566.

[5] Ronnarit Tirannor, (9 มีนาคม 2561), “The Lost Generation” นักเขียนกลุ่มนี้คือใคร? ทำไมถึงหลงทาง?, [online], Readery, สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2566.

[6] Documentary Club, (30 เม.ย. 2563), ไกลบ้าน (Away) (Trailer), [online], สืบค้นเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2566.

[7] the101.world, เสวนาความน่าจะอ่าน 2022, [online], สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2566.

[8] the101.world, ความน่าจะอ่าน 2022, [online], สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2566.

[9] วรพจน์ พันธุ์พงศ์, “ข้อความนอกหนังสือ ต้องเนรเทศ” , สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2566.

[10] wikipedia.org, การต่อสู้ของฉัน (นวนิยาย Knausgård), สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2566.

[11] ครูรุจน์ หาเรือนทรง, สิทธิมนุษยชน,สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2566.

[12] "สัญญาจ้างงานคนงานนักเขียน" , CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์, สืบค้น  25 กันยายน 2566 https://www.facebook.com/photo/?fbid=328946252995447&set=a.171992115357529

[13] สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย, สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2566.

[14] ประชาไท, (7 พฤศจิกายน 2565), ศิลปิน-นศ. ยื่นหนังสือถึงอธิการบดี มช. ร้องสอบ อ. วิจิตรศิลป์ ฟ้อง 'นักวิจารณ์ศิลปะ' ไม่เป็นธรรม จงใจกลั่นแกล้ง ทำ มช. ล้าหลัง, [online], สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2566

[15] สำนักพิมพ์อ่าน, หนังสือ ต้องเนรเทศ, สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2566.