“เทศกาลละครกรุงเทพ” (Bangkok Theatre Festival) ก่อเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2545 ในชื่อ “สีสันละครกรุงเทพ” (Bangkok Theatre Season 2002) โดยความร่วมมือของ เครือข่ายละครกรุงเทพ กับ ประชาคมบางลำพู เริ่มสร้างองค์ความรู้ศาสตร์ละครเวทีสู่สาธารณชนในเดือนพฤศจิกายนช่วงน้ำล้นตลิ่งของปี มีกำหนดเนรมิตรสวนสันติชัยปราการเป็นโรงละครประชาชนบนเวทีกลางแจ้งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ท่าพระอาทิตย์ ที่มีสะพานแขวนเป็นฉากทัศน์ชัดเจนเน้นให้พื้นที่เด่นเป็นแหล่ง “ปล่อยของ” โดยนักละครหลายสำนักหลากสัญชาติมารวมกันทุกรุ่น บรรยากาศคล้ายงานวัดที่จัดโดยนักละครฝึกหัดและบรมครูมาอยู่รวมกัน
เริ่มจาก 1 จนขยายถึง 5 สัปดาห์ของการแสดง เพื่อสร้างสรรค์ในสิ่งที่รักให้ประชาชนได้ประจักษ์ความเป็น “ละครเวทีร่วมสมัย” ที่ไม่ได้อยู่บนหอคอยงาช้างหรือสิงร่างในสถาบันอันทรงเกียรติ ทุกประเภทของการแสดงล้วนจำแลงมาสร้างความบันเทิงทั้ง ละคร, ballet street dance, โขนสด - โขนแห้ง, ลำตัด, อีแซว, ละครใบ้, ละครพูด และ ลิเก ฯลฯ ตั้งแต่บ่ายแดดร่มลมตกจนถึงดึกดื่นค่อนคืนคือช่วงเวลาของมหรสพมโหรีชมฟรี ที่มอบความสุขความประทับใจและยังเป็นภาพจำอยู่ในใจของผู้ชมตลอดมา เพื่อสร้างการรับรู้ว่าศิลปะการละครนั้นใกล้ชิดและอยู่ในวิถีชีวิตของพวกเขา พร้อมกับการเติบโตของผู้สร้างงานขนานไปกับการเติบไต่ใฝ่รู้ของผู้ชมงาน จน “การแสดงร่วมสมัย” ได้รับความสนใจมากขึ้น
ทั้งคณะละครไทยและเทศขยายขอบเขตเวทีออกไปในชุมชนต่างๆ ย่านใจกลางกรุงเทพฯ เพื่อพิสูจน์ตัวตนและผลงานคุณภาพ โดยมีแนวคิดของ 10 ปีแรกคือ “ละครเกิดขึ้นได้ทุกหย่อมหญ้า” ก่อนโยกย้ายถ่ายสถานมาประสานกับเครือข่ายของรัฐร่วมจัดอย่างเป็นทางการกับ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok Art & Culture Centre : BACC) ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ละครเวทีร่วมสมัยเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง หลังจากใช้เวลาก่อร่างสร้างฐานมานานมากกว่า 20 ปี
สำหรับปี 2565 นี้ “Bangkok Theatre Festival 2022” ถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เทศกาลศิลปะกรุงเทพ Colorful Bangkok” ตามนโยบาย เมืองศิลปะ ของกรุงเทพมหานคร (เดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นเทศกาลศิลปะสร้างสรรค์, เดือนธันวาคม 2565 เป็นเทศกาลแสงสี และเดือนมกราคม 2566 เป็นเทศกาลดนตรี) ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเสวนาในหัวข้อ “กทม. กับ นโยบายด้านศิลปะการแสดง” ในวันเปิดเทศกาลละครเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2565 ได้ให้ความหวังต่อศิลปินและคนรักงานศิลปะว่า
“นโยบายเราเป็นจริงอย่างที่ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติพูดเสมอ เมืองไม่ใช่สิ่งก่อสร้างแต่คือผู้คนที่ดำรงไปด้วยวัฒนธรรม ความหลากหลาย ศิลปะทำให้เมืองมีความมน่าสนใจ มีอัตลักษณ์ มีสิ่งดึงดูดที่ทำให้คนอยากมาอยู่ในเมือง นโยบาย กทม. คือเน้นว่าทำอย่างไรให้คนสร้างสรรค์ มีความหวังอยู่กับเมือง ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองพหุวัฒนธรรมที่เป็นพหุจริงๆ ไม่ได้เป็นพหุที่เหมือนจนตรอก ไม่ใช่อยู่กันเพื่อหางานอย่างเดียว แต่เราอยู่กันเพื่อสร้างสรรค์ ต่อยอดความคิด สร้างศิลปะ วัฒนธรรมใหม่ๆ
ได้คุยกับพี่ตั้ว (ประดิษฐ ประสาททอง) เรื่องคนหลายกลุ่มอยู่กันตามยถากรรม อยู่กันด้วยใจรัก ผ่านกาลเวลาต่างๆ มามากมาย เช่น กลุ่มละครก็ 20 ปีแล้ว ควรมีสถานที่ เมืองควรให้การสนับสนุนทุกกลุ่ม หอศิลป์เป็นผลลัพธ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในอดีตจากความตั้งใจที่จะสนับสนุนศิลปะ แต่ต้องมีหลายๆ แห่งที่แตกต่างและเหมาะสมในแต่ละแขนง ภาพยนตร์ก็แบบหนึ่ง ละครก็แบบหนึ่ง เราอยากจะรวมศูนย์ศาลาว่าการกรุงเทพฯ ให้มีจุดเดียวคือที่ดินแดง ผมเพิ่งกลับจากโปแลนด์พวกจตุรัสนี่สำคัญมากนะ เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งคนเท่ากันมาก แม้กระทั่งคนไร้บ้านก็อยู่ในย่านเดียวกันใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน ส่วนศาลาว่าการฯ หลังเดิมตรงเสาชิงช้าทำอย่างไรจะปรับให้ลานคนเมืองเป็นพื้นที่แบบนั้นด้วย คิดว่าคงหนีไม่พ้นเรื่องการท่องเที่ยวและศิลปวัฒนธรรมแน่นอน กทม. ควรต้องสอบถามคนที่อยู่ในแวดวงต่างๆ ว่าเมืองควรจะทำอย่างไร การเปลี่ยนผ่านฐานใหญ่ต้องค่อยๆ ปรับเพราะจะส่งผลกระทบที่ไม่ใช่แค่ด้านบวกกับพื้นที่โดยรอบ ผู้คน ร้านค้าอาจปรับตัวไม่ทัน
อุปสรรคสำคัญ คือ งบประมาณ เวลาจัดการมันมีเหตุและผลที่ต้องรีบทำ ต้องมองการณ์ข้ามปีซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก สิ่งที่เราต้องช่วยกันคือการเตรียมแผนในฐานะที่เป็นทั้งเมืองและผู้สร้างสรรค์ เรื่องที่สองคือเรื่องของคนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่แวดวงศิลปะด้วย ต้องทำงานคู่กัน จริงๆ แล้วประชาชนชอบเสพงานศิลปะ ทำอย่างไรให้การสร้างงานกับการกระตุ้นให้สังคมยอมรับไปด้วยกันได้ ต้องมีกิจกรรม เช่น Bangkok Colorful ฯลฯ อุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับการสนับสนุน ต้องกระตุ้นว่ามีความสำคัญต่อเมือง ผมในฐานะเมืองอยากผลักดัน ต้องเอาผู้เชี่ยวชาญมาคุยทำงบประมาณด้วยกัน ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันทั้งสังคมว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มันคือเรื่องของเมืองเรื่องของการสร้างวัฒนธรรมร่วมกัน”
ผู้ร่วมเสวนาต่างมีความเห็นร่วมกันว่า ศิลปะการแสดงก็เป็นหนึ่งในระบบนิเวศซึ่งมีหน้าที่จะต้องทำให้เมืองสมบูรณ์ขึ้น เราต้องช่วยกันสร้างอย่างต่อเนื่องเพื่อความก้าวหน้าในระดับต่อไป ในอดีต การก่อตั้งหอศิลป์ฯ กทม. กว่าจะสำเร็จต้องผ่านผู้ว่าฯ มาถึง 4 สมัย จึงจะได้ฐานที่มั่นสำคัญมาเป็นโมเดลที่มีภาครัฐกับภาคพลเมืองร่วมกันดูแล เพราะฉะนั้นเมื่อตั้งหวังเราจึงต้องช่วยกันทุกฝ่ายให้เกิดขึ้นได้ในสมัยเดียวคือของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ คนปัจจุบันให้ได้ โดยมีหอศิลป์ฯ กทม. เป็นฐานที่จะศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบทั้งหมดที่จะเกิดกับสังคมโดยรวม เพื่อสานต่อนโยบายของ กทม. ผลักดันต่อยอดสู่ศูนย์ศิลป์แห่งใหม่ให้เป็นรูปธรรมและอยู่ได้อย่างยั่งยืน
90 ปีอภิวัฒน์สยาม ร่วมฉลอง “10 ปี อนัตตา” และ “20 ปี เทศกาลละครกรุงเทพ”
“Bangkok Theatre Festival 2022” ในธีม “Reimagine” เพื่อให้เป็นปีแห่งการย้อนทวนหวนคิดถึงเรื่องราวที่ผ่านมา แล้วหามุมมองใหม่เพื่อการก้าวต่อไป ศิลปินและนักละครจึงรวมตัวกันสร้างสรรค์ผลงานผ่านกิจกรรมและศิลปะการแสดงหลากแนวหลายรุ่นรวมถึง Workshop / เสวนา / ละครทุกประเภทรวม 31 เรื่อง / ละครพูด (๔ แผ่นดินs) / ละครใบ้ (House of Mask and Mime) / ละครเด็ก “เราเชื่อการมีอยู่จริงของดาวเคราะห์ดวงใหม่?”, ไอยรา..ไอยรา, ในท่วงทำนอง อนาชีด ฯลฯ / ละครประเด็นศึกษาโดย Cherry Theatre / ละครหน้ากาก / การแสดงเดี่ยว (Solo performance : “Chini and Turandot”, กลืน กิน กลาย ฯลฯ) / การเคลื่อนไหวร่างกาย (Body Movement) “ร่างดิน Body Earth and the Alchemy” / การแสดงดนตรี Moon Chrysalis ระยะดักแด้ / การเต้นร่วมสมัย (Contemporary Dance: “Organized Chaos” By Lordfai ) ฯลฯ
ความพิเศษของปีนี้คือการเปิดพื้นที่สำหรับงานแสดงแนวใหม่ เช่น การแสดงแสงเงาประกอบดนตรี (ศิลปินสายจิตรกรรมเข้าร่วมด้วยเรื่อง “ละครเงา หนังตะลึง”, “LOOP” by Homemade Puppet ฯลฯ) / การแสดงสารคดี (Documentary Theatre) / Digital Lecture Performance: (L’abolition de la théronarchie | The abolition of theatronachy การเลิกล้มละครธิปไตย โดย Catherine P. Müller X Duckunit) / ฟ้อนล้านนาร่วมสมัย (ความฝันล้านนา แววดาวโรย) และ Lamentation Performance (ครวญ The Heartbroken Creature โดย Annmanee ~ Sing Han(d) Art x พันตา) เป็นอีกปีที่คนละครทุกรุ่นมาร่วมกันปัดฝุ่นเวทีหลังจากที่ โควิด-19 ไม่ยอมก้าวออกไปจากชีวิตเรา จึงต้องอยู่กับเขาอย่างเป็นมิตรให้ได้ ทุกกลุ่มล้วนทุ่มแบบลืมรักตัวกลัวตายเพราะความหมายของการสร้างงานที่รักร่วมกัน
คำว่า ‘REVOLUTION’ ที่เคยแปลเป็นไทยว่า “ปฏิวัติ” แต่ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษผู้นำหัวก้าวหน้าผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่เห็นด้วยเพราะราชบัณฑิตยสถานได้บรรจุคำว่า “ปฏิวัติ” ลงในพจนานุกรม โดยให้ความหมายว่า การหมุนกลับ หรือ การผันแปรเปลี่ยนหลักมูล ซึ่งไม่ตรงกับเจตจำนงของคณะผู้อภิวัฒน์และราษฎร
ท่านจึงเสนอให้เปลี่ยนเป็น “อภิวัฒน์” มาจากคำว่า “อภิ” หมายถึง ยิ่ง วิเศษ เหนือ สมาสกับคำว่า “วัฒน์” หมายถึง ความเจริญ ความงอกงาม เมื่อรวมกันจึงมีความหมายที่ตรงลงตัวตามบริบททางการเมืองว่า “ความงอกงามอย่างยิ่งหรืออย่างวิเศษ” [1]
ประดิษฐ ประสาททอง นักแสดง ผู้นำในการก่อตั้งเทศกาลละครกรุงเทพฯ ผู้กำกับละครพูด “๔ แผ่นดินs : The Last Ten Years” ตั้งรับการเขียนบทที่ถูกทดสอบด้วย เวลา ว่า
“เมื่อได้รับโจทย์ Reimagine ซึ่งเป็น Theme ของ BTF2022 ผมก็มาคิดว่า น่าจะสนุกถ้าเรานำต้นธารจากวรรณกรรม “๔ แผ่นดิน” มาต่อยอด ปรุงปั้นขึ้นใหม่ในบริบทปัจจุบัน ประจวบกับปีนี้เป็นปีที่ 90 ที่เราเปลี่ยนแปลงการปกครองกันมา บทละครเรื่อง “๔ แผ่นดินs : The Last Ten Years” จึงเสมือนบันทึกความทรงจำตลอด 90 ปีของการอภิวัฒน์สยาม (2475 - 2565) ซึ่งคาบเกี่ยวระยะเวลาตั้งแต่ ร.7 ถึง ร.10 บวกกับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ “The Last Ten Years” ซึ่งตั้งใจจะหมายถึง อีก 10 ปีเราจะครบ 100 ปีประชาธิปไตย
ด้วยข้อจำกัดของเวลาในการนำเสนอ บทละครจึงค่อนข้างรวบรัดมัดตึงให้ถ้วนครบจบความใน 50 นาที “๔ แผ่นดินs : The Last Ten Years” ฉบับนี้จึงอาจทำหน้าที่ได้แค่ฉายภาพรวมให้เห็นความผันผวนปรวนแปร ทุกข์ สุข ของสังคมไทยตลอด 9 ทศวรรษ ผ่านตัวละคร “มาดามเพชช์” แห่งคลองโอ่งอ่าง แต่เชื่อว่าสร้างความอภิรมย์หรรษาได้จุใจตลอดการรับชมแน่นอน”
นั่นเป็นเหตุให้ “มาดามเพ็ชช์” บางกอกเกี้ยนตัวแม่ผู้มีชีวิตยาวนานมาถึง ๔ แผ่นดินs รู้ตัวว่าเหลือเวลาอีกเพียง 10 ปี ที่จะมีโอกาสได้ระลึกชาติ จึงนวยนาดออกเดินทางสู่อดีตด้วยวิธีสนุกนึกตกผลึกทางความคิดจากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา ด้วยบทเจรจามหาโหดเทศน์โปรดท่านผู้ชมผ่านการแสดงที่ทิ่มแทงแสลงใจให้เจ็บ เจตนานวดให้สำนึก หากยังไม่รู้สึกตัว ลุงตั้ว อาจมีภาคเต็มตามมาตึ๊บ!
(ภาพโดย : กวินพร เจริญศรี)
“๔ แผ่นดินs” (The Last Ten Years) 90 ปีของ มาดามเพชช์ และการเดินทางมา 90 ปีของประชาธิปไตยไทย อะไรคือการอภิวัฒน์ และเราจัดการอย่างไรกับบทเรียนที่ผ่านมา คือ คำถามที่เกิดขึ้นในละครเรื่องนี้ให้เราร่วมค้นหาไปกับ อนัตตาเธียเตอร์
Director:
- ประดิษฐ ประสาททอง (Pradit Prasartthong)
Casts:
- ดวงใจ หิรัญศรี (Duangjai Hiransri) - มาดามเพ็ชช์
- ฟาริดา จิราพันธ์ (Farida Jiraphan) - ริชชา
- ธงชัย พิมาพันธุ์ศรี (Thongchai Pimapunsri) - พีช
- ประดิษฐ์ ประสาททอง (Pradit Prasartthong) - นายพล
นักแสดงรับเชิญ:
- คุณยาย
- นีลชา เฟื่องฟูเกียรติ (Neelacha Fuangfookiat)
- ปานรัตน์ กิตชาญชัย (Parnrut Kritcharnchai)
- จารุนันท์ พันธชาติ (Jarunun Phantachart)
- มนทกานติ รังสิพราหมณกุล (Montakan Ransibrahmanakul)
จาก “6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ” สู่ “๔ แผ่นดินs”
“๔ แผ่นดินs : The Last Ten Years” parody “สี่แผ่นดิน” (ฉบับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อิงเหตุการณ์จริงช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ฉากหลักของเรื่องคือบ้านริมคลองโอ่งอ่างกับรอยร้างของเวนิสตะวันออก แต่ถูกบทเบี่ยงเบนให้เป็นสายน้ำแห่งความหลังฝังความขมขื่นของ มาดามเพชช์ (ดวงใจ หิรัญศรี) ณ ปัจจุบันมันคือย่านรวมวัฒนธรรมหลากหลายริมคลองสายที่ถูกขนานนามว่าถนนศิลปะ สวยด้วยจิตรกรรมฝาผนังโด่งดังจากงานกิจกรรมทางสังคมเชิญชมเมืองที่มีวิถีแห่งพหุวัฒนธรรมแขกไทยใกล้พาหุรัด
แผ่นดินแรกของมาดามสิ้นสุดลงก่อนเวลาอันควรด้วยเหตุผลที่เกินกว่าวัยในขณะนั้นจะทันประสา รับรู้เพียงผ่านๆ จากคำบอกเล่า จนเข้าแผ่นดินที่สองซึ่งประสบพบรักแรกกับ ดอน—นักเคลื่อนไหว นักข่าว นักเขียน เมื่อมาพบกับเซียนอ่าน ความหวานหวามจึงตามมา “กระผมสัญญาจะอยู่เคียงข้างจอมขวัญนิรันดร” แต่การจมลงไปในข่าวและปล่อยให้ข่าวทำร้ายตัวเองตามสายตาของมาดาม จึงกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ล้มเหลวตามมา จนถึงเวลาของแผ่นดินที่สาม ความที่ต้องปกป้องสถานะของครอบครัวเพื่อให้ผ่านความผันผวนปรวนแปร จนต้องแต่งงานกับนายพลแก่แต่ยังมีปริศนาค้างคาอยู่ในใจ ผ่านไปถึงแผ่นดินที่สี่เมื่อมาดามเพ็ชช์พา พจน์ ลูกชายที่เกิดกับท่านนายพลไปงานศพวีรชนกลางสนามหลวง ต่อมาเขาก็หายไปกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมใน “วันมหาวิปโยค” หรือ “วันมหาปิติ” 14 ตุลาคม 2516 ของคนไทยอีกกลุ่ม หลายช่วงตอนของละครทำให้ผู้ชมตื่นฟื้นภาพจำติดตา
จากนิทรรศการ “6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ” โดยคณะทำงาน “โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา” ณ Kinjai Contemporary (ซึ่งนักประวัติศาสตร์จัด 14 ตุลา 2516 กับ 6 ตุลา 2519 เป็นเรื่องเดียวกัน “ประวัติศาสตร์บาดแผล” และยังอยู่ในยุคสมัยเดียวกันด้วย) ที่ช่วยกระชากสำนึกให้หวนรำลึกถึงความโหดร้ายของคนไทยที่กระทำต่อพี่น้องร่วมชาติ ตามคำให้สัมภาษณ์ของช่างภาพผู้อยู่ในเหตุการณ์ “ปรีชา มองไปที่หอประชุมใหญ่แต่สิ่งที่เขาเห็นคือ ภาพตำรวจบุกพังประตูหอประชุมเข้าไปดึงตัวนักศึกษาที่อยู่ด้านในออกมาให้ผู้คนรุมทุบตี แล้วลากหายออกไปยังท้องสนามหลวง เมื่อเขาตามออกไปดูก็เห็นภาพศพนักศึกษา กองรวมกัน ห้อมล้อมด้วยฝูงชนที่ปลุกเร้าด้วยคำว่า “ไอ้พวกคอมมิวนิสต์ ไม่รักสถาบัน”[2]
สำหรับเขางานบันทึกภาพของวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2519 มีความหมายมากเพราะ “มันเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ว่า ครั้งหนึ่ง มนุษย์ด้วยกันฆ่ากันตาย”
บทเต็มไปด้วยข้อเท็จจริงที่หลายประเด็นอาจโดนใบสั่งถ้ายังพูดถึง แต่ละครพูดช่วยไว้ทั้งใส่สารตรงและส่งสัญลักษณ์เชิงลึกให้คมบาดใจในทุกจุดอย่างชัดเจน โดยเฉพาะช่วงอดีตพี่เลี้ยงมาดามเพ็ชช์มาเยี่ยมเจ้าหญิงแห่งครองโอ่งอ่างของนาง ริชชา (สาวอิสลามรับบทโดย ฟาริดา จิราพันธ์ เธอคลุมฮิญาบมารับบทอย่างภาคภูมิใจใน “พื้นที่” ตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ไม่ค่อยได้รับ) เธอร่ำรวยเพราะสินสมรสจากอดีตสามีผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ซาอุ ชื่อ ฮาติม แปลว่า ผู้ปกครอง ผู้ตัดสิน ลูกเป็นตำรวจชื่อ ฮาริส แปลว่า ผู้คุ้มกัน ผู้พิทักษ์รักษา (กัดกรอบการตั้งชื่ออย่างไม่เกรงใจทฤษฎีที่ควรต้องไปกันได้กับพฤติกรรมตัวละคร)
นอกจากจะมาฟื้นความหลังเรื่องคดีดังระดับโลกอย่างเพชรซาอุที่มีผลกระทบถึงครอบครัวของคนไทยในต่างประเทศแล้ว เธอยังทำหน้าที่เป็นจิตแพทย์ของมาดามเพ็ชช์ ชวนชำระบาดแผลกลัดหนองของชีวิตอย่างจริงจังเพื่อให้จบ สมทบกับบทนักเคลื่อนไหวอาละวาดไทยเฉยให้ฉุกคิดถึงความผิดพลาดที่คนในชาติควรชำระอดีตกรีดหนองเพื่อเรียกร้องความจริง เป็นการแสดงของสองสาวนักแสดงรุ่นเดียวกันมุ่งมั่นฟันฝ่ามาด้วยกัน เชือดเฉือนกันแบบกินกันไม่ลง ตรงฉากสำคัญวันมหาวิปโยคมาดามได้รู้ว่าลูกชายริชชาก็อยู่ในเหตุการณ์ เมื่อลูกสาบสูญสองแม่แก้ปัญหาเหมือนกัน แต่ให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน ริชชาอาละวาดฟาดสำนึก ฟาริดาแยกความรู้สึกจาก mood ขมขื่นให้ตื้นตันได้อย่างเฉียบขาดมาดเก๋าเกม
“สสารไม่มีวันหายไปจากโลกถ้าไม่หยุดหาก็จะเจอ” (การค้นความจริงก็เช่นกัน)
“ฉันหามา 20 ปีแล้ว” (หาไปอยู่ไปแบบไม่รู้จะทำยังไงต่อชะตากรรมผู้มีอำนาจ)
“แต่เธอไม่เคยทำอะไรกับคนที่ทำให้ตาพจน์หายไป เธอคิดว่า ‘ท่าน’ ไม่ใช่เหรอ” (เป็นคำถามที่ตีแสกหน้าอย่างบ้าเลือดสาดฟาดใส่คนไทยทุกคน ขนลุก ปลุกระดม!?)
“แล้วฉันจะทำอะไรได้” (น้ำเสียงเรียบเรื่อย วิญญาณไทยเฉื่อยสิงสู่อยู่ยืนยง)
“ทำได้ถ้าคิดจะทำ!!” (ไทยแอคทีฟอยากถีบอยู่ในที)
“มาอยู่ด้วยกันเหมือนเดิมไหม”
“ไม่” (น้ำเสียงอ่อนโยนแต่เด็ดขาด)
“ฉันรู้ว่าเธอโกรธแต่ก็ไม่คิดว่าเธอจะจากฉันไปอีกคน ริชชา แปลว่าขนนกซึ่งเบาพอที่จะปลิวไปให้ไกลสุดขอบฟ้าเลย” (มั่นใจในสายสัมพันธ์แม้ต่างกันที่อุดมการณ์)
“แล้วทำไมต้องปลิวไปไกลขนาดนั้น”
“เพราะฉันไม่ใช่แม่แบบเธอไง ฉันจะไม่อดทนแบบเธอ” (ต่อให้เกินทนก็คงไม่รู้จะทำยังไงได้ นอกจากรออำนาจวาสนาฟ้าประทาน) พูดจบก็ฟาดรองเท้าที่เคยติดอยู่กับซอกสะพานของผู้ผ่านการชุมนุมข้างนั้นลงกับพื้นอย่างสุดแรง แฝงอารมณ์อยากฟาดหน้าคนที่ยอมจำนนต่อชะตา การไม่พยายามดิ้นรนค้นหาแปลว่ายอมแพ้ บทใช้สถานะของแม่มาเป็นตัวกำหนดหน้าที่สำคัญอันไม่ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่พึงกระทำ
การแสดงในรอบที่ 2 ฟาริดาเล่นเบาลง เป็นการผสมอารมณ์ไม่ให้แรงหลุดฉุดดรามา เพื่อรักษาฮาเข้มของ comedy ให้มีสมดุล แต่ดวงใจยังเล่นใหญ่ใส่เต็มแต่นุ่มนวลไม่รบกวนใครให้ดรอปโดยเฉพาะฉากที่เล่นคนเดียว แม้นั่งอยู่บนรถเข็นคอพับหมดอาลัยในชีวิต “ไม่คิดแม้กระทั่งจะเขี่ยสวะที่ลอยน้ำมาให้ออกจากหน้าบ้านตัวเอง” โปรเจ็กต์เสียงคนแก่กว่าอายุมากและการแสดงเปี่ยมพลังขลังศักยภาพขึ้นทุกวันตามวัย
ธรรมชาติในตัวตนของทุกคนมีผลสะท้อนออกมาที่การทำงาน โดยเฉพาะสายศิลปะจะโชนชัดจรัสฉายง่ายต่อการสัมผัสรับรู้ นักแสดงรับเชิญทั้ง 4 คน ในบท คุณยาย ล้วนเข้มขลังอลังฝีมือระดับตัวเต็งของวงการรุ่นราวคราวเดียวกันมาประชัน นีลชา เฟื่องฟูเกียรติ มีบุคลิกน่ารักใจดีเป็นที่เอ็นดูชูชื่น เหมือนฝืนที่ได้รับบทเกินอายุมากแต่อีกด้านกลับเป็นผลดีเพราะทุกมุกที่หยอดได้สุดยอดเสียงฮามาเต็มเหมือนเล่นตลก ทั้งที่บทบอกเล่าเรื่องชวนวิตกจริงจัง เป็นไม้ใกล้ฝั่งที่หอบประสบการณ์มาเป็นวิทยาทานให้ลูกหลาน ในขณะที่ จารุนันท์ พันธชาติ เป็นนักแสดงที่เชี่ยวชาญงาน body movement จึงเล่นตลกแบบเหมือนจริง บางช่วงนิ่งในอารมณ์ชวนผู้ชมดิ่งไปกับอดีต ไม่ถูกดึงออกนอกประเด็น ห่วงยางที่คุณยายมอบให้คุณนายเพ็ชช์จึงเป็นสัญลักษณ์เชิงลึกได้ตามความหมายของจิตห่วงใยใส่ใจอนุชน
“เพราะว่าหนูชอบพูดอะไรแปลกๆ และทำอะไรแปลกๆ บางแปลกมันก็ดีในความก้าวหน้า บางแปลกมันก็อาจจะแปลกเกินไปสำหรับใครบางคน”
“แล้วใครเป็นคนตัดสินล่ะคะว่าอะไรที่มันแปลกใหม่ดี อะไรที่มันแปลกเกินไปไม่ดี”
“ทางออก ตามคำตอบของคุณยายใช้ไม่ได้กับรัฐเผด็จการในปัจจุบัน”
บทหันไปสอดซีน parody ให้คุณยายกลายเป็นแม่พลอยช่วงที่ถูกลูกทิ้งใน “สี่แผ่นดิน” ฉบับเดิม แต่เพิ่มมุกให้จุกใจในประเด็นการเมือง คือ สาเหตุขุ่นเคืองในครอบครัว
เอกลักษณ์ของลุงตั้วที่ติดตาเติมใจคือ Black Comedy ที่มักเกินมาลับสมองเสมอ บทในเวลา 50 นาที หนีฉากของพ่อกับลูก (พจน์กับพีช) ไม่พ้น เมื่อต้องการเชื่อมอดีตกับปัจจุบัน การให้น้ำหนักถึงสามฉากมากไปทำให้กินเวลาในส่วนที่ควรขยาย คือบริบททางการเมือง
การใช้วิดีโอข่าวตัดเข้ามาเติมเพิ่มเทคนิคม่านน้ำพลิ้วไหวเข้าไปไม่ใช่ปัญหา แต่ไม่ได้ให้เวลาสื่อสารเต็มความหมายจึงกลายเป็นภาพประกอบเพียงผิวผ่าน ไม่สื่อให้สมกับที่เป็นเหตุการณ์ที่ควรจดจำนำมาแก้ไขใส่ใจปัจจุบัน แต่แม้กระนั้นก็ไม่อาจลดทอนความแรงของบทที่ฝากถามไว้ให้คิดทบทวน เพราะก่อให้เกิดกระบวนการหวั่นไหวในทุกคำของตัวละคร ตามแนวทางสะท้อนการเมืองประเทืองปัญญา ประหนึ่งปฏิญญายืนยันอยู่ในทุกวันของการเคลื่อนไหวด้วยศิลปการแสดงมาตลอดกว่า 40 ปีของการทำงาน สมกับความเป็นศิลปินศิลปาธรกระทรวงวัฒนธรรม ผู้นำที่ทำให้เกิดเทศกาลละครกรุงเทพฯ ที่เดินทางอย่างทรนงมาถึงวันนี้ 20 ปีแล้ว และกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิต ประดิษฐ ประสาททอง อีกหนึ่งผู้อภิวัฒน์ศิลปะการแสดงร่วมสมัยไทย
หมายเหตุ :
- ขอบคุณภาพการแสดง “๔ แผ่นดินs : The Last Ten Years” โดย JOKER
[1] อนุชา อชิรเสนา, ปรีดีศัพท์ “อภิวัฒน์” “กษัตริย์” และ “ราษฏร”, สืบค้น 25 ตุลาคม 2565,
[2] ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล BBC, ความทรงจำช่างภาพ 6 ต.ค. “ผมถ่ายรูปไปผมก็ร้องไห้ไป”, สืบค้น 14 ตุลาคม 2565, เข้าถึงได้จาก https://www.bbc.com/thai/articles/cj7344n5neno.
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- กวินพร เจริญศรี
- เทศกาลละครกรุงเทพ
- Bangkok Theatre Festival
- สีสันละครกรุงเทพ
- Bangkok Theatre Season 2002
- สวนสันติชัยปราการ
- หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- ศานนท์ หวังสร้างบุญ
- ประดิษฐ์ ประสาททอง
- ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ
- ปรีดี พนมยงค์
- ๔ แผ่นดินs
- The Last Ten Years
- มาดามเพ็ชช์
- อนัตตาเธียเตอร์
- ดวงใจ หิรัญศรี
- ฟาริดา จิราพันธ์
- ธงชัย พิมาพันธุ์ศรี
- นีลชา เฟื่องฟูเกียรติ
- ปานรัตน์ กิตชาญชัย
- จารุนันท์ พันธชาติ
- มนทกานติ รังสิพราหมณกุล
- การอภิวัฒน์สยาม