Focus
- ในบทความนี้ คำว่า "ศัพท์" (ตามความหมายเดิมในภาษาสันสกฤต) หมายถึงคำที่มีความหมายเฉพาะและคำยากที่ต้องแปล และเรียกภาษาไทยที่คนไทยสยามใช้ว่า ”ภาษาไทยสยาม”
- ด้วยปรัชญาที่ว่าบุคคลสามารถเข้าใจสภาวะ และสิ่งทั้งหลายจากง่ายสู่ยาก โดยวิถีทางใดทางหนึ่ง อาทิ ใช้หลักการสัมผัสวินิจฉัยว่า คำนั้นๆ เข้าใจง่ายหรือยาก โดยอาศัยอวัยวะส้มผัสทั้งห้า คือ หู ตา จมูก ลิ้น และกาย เพื่อผลิตคำและใช้กันอย่างเคยชินในสังคมผ่านมวลราษฎรทั้งหลายในเวลาอันช้านาน
- สังคมมนุษย์ที่พัฒนาจากง่ายไปสู่ซับซ้อน คือ จากระบบปฐมสหการ สู่ระบบทาส ระบบศักดินา ระบบทุน (ธนานุภาพ) และระบบสังคมนิยม (สังคมกิจธรรม) ย่อมมีการใช้คำที่ง่ายไปสู่คำใหม่ๆที่ยากและต้องแปล สำหรับทำความเข้าใจร่วมกัน ตามความสลับซับซ้อนของความสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม
- สังคมหนึ่งๆ อาจรับคำของสังคมอื่นเข้าสู่สังคมของตน และด้วยความจำกัดในภาษาของตน จึงอาจใช้คำจากต่างสังคมที่ออกสำเนียงและเขียนเหมือนหรือใกล้เคียงกับภาษาเดิมของตน หรือทับศัพท์ หรือแผลงศัพท์ของสังคมอื่น แต่ก็จำเป็นเพื่อรองรับความคิดที่ก้าวหน้า ดังที่บรรพบุรุษของสังคมไทยสยามก็กระทำเช่นนั้นมาแล้ว
ข้อ 1
คำว่า "ศัพท์" ตามความหมายเดิมในภาษาสันสกฤตแปลว่า เสียง, คำ, คำที่มีความหมายเฉพาะ ฯลฯ คนไทยได้รับเอาคำนี้มาใช้ตามความหมายเดิมในภาษาสันสกฤตและได้ขยายความหมายที่ว่า “คำที่มีความหมายเฉพาะ” นั้นว่า “คำยากที่ต้องแปล”
ในบทความนี้เราใช้คำว่า ศัพท์ เพื่อหมายถึงคำที่มีความหมายเฉพาะและคำยากที่ต้องแปล
ข้อ 2
คนเชื้อชาติไทยตั้งถิ่นฐาน อยู่ในดินแดนหลายส่วนของเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ ซึ่งแยกย้ายกันออกเป็นหลายสังคม ภาษาของคนเชื้อชาติไทยแห่งสังคมต่าง ๆ ย่อม
พัฒนาแตกต่างกันตามสภาพท้องที่กาลสมัยของแต่ละสังคม
ในบทความนี้เรากล่าวถึงศัพท์ในภาษาของคนเชื้อชาติไทย และคนที่มีสัญชาติไทยซึ่งอยู่ในดินแดนที่ปัจจุบันนี้เรียกว่าประเทศไทย ซึ่งในสมัยก่อนเรียกว่าประเทศสยาม ฉะนั้นเราจึงเรียกภาษาของคนไทยแห่งดินแดนนี้ว่า ‘ภาษาไทยสยาม’
(ความตอนใดที่เรากล่าวถึงคนไทยหรือภาษาไทย โดยมิได้มีคำวิเศษณ์ประกอบไว้ ก็ให้ถือว่า เราหมายถึงคนไทยสยามหรือภาษาไทยสยาม)
ข้อ 3
ผู้ฟังคำพูด และผู้อ่านคำเขียนย่อมต้องการคำที่เข้าใจง่าย ส่วนผู้พูดและผู้เขียนที่ต้องการให้ผู้ฟังคำพูดหรืออ่าน คำเขียนของตนเข้าใจความหมายของตนได้โดยสะดวกก็ย่อมต้องการใช้คำที่เข้าใจง่าย โดยหลีกเลี่ยงการใช้ "ศัพท์" อันเป็นคำยากที่ต้องแปลเท่าที่จะเป็นไปได้ และมิให้เสียความที่ตนต้องการแสดงออกต่อผู้ฟังและผู้อ่าน
แต่ปัญหามีว่า ‘คำง่ายที่ไม่ต้องแปล’ นั้นมีลักษณะอย่างไร และสังคมที่ได้พัฒนาแล้วในปัจจุบันนี้จะไม่ต้องใช้ศัพท์ที่มีความหมายเฉพาะและคำยากที่ต้องแปลได้ หรือไม่ และบุคคลแห่งสังคมหนึ่ง ๆ จะใช้แต่เพียงคำที่พัฒนาขึ้นในสังคมของตนโดยไม่ถ่ายทอดศัพท์ที่คิดขึ้นในสังคมอื่น หรือศัพท์ต่างประเทศมาเป็นศัพท์แห่งสังคมของตนได้หรือไม่
(1) ปัญหาที่ว่าคำง่ายที่ไม่ต้องแปลมีลักษณะอย่างไรนั้น อาจตอบได้อย่างกว้าง ๆ ว่าเป็นคำที่มวลราษฎรเข้าใจกันอยู่โดยทั่วไป
แต่เราควรพิจารณาหาหลักเพื่อวินิจฉัยว่า อะไรที่ทำให้มวลราษฎรเข้าใจความหมายของคำใด ๆ อยู่ทั่วไป เหตุที่จะอาศัยเป็นหลักในเรื่องนี้มีอยู่สองประการ คือ
ประการที่ 1 จะต้องอาศัยหลักปรัชญาในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาที่ว่าบุคคลสามารถเข้าใจสภาวะ และสิ่งทั้งหลายจากง่ายมาสู่ยากโดยผ่านมาจากวิถีทางใด
ในเรื่องนี้เราต้องนำเอาหลักแห่งทฤษฎีที่ว่าด้วยการสัมผัสมาวินิจฉัยว่า ถ้าคำใดแสดงออกถึงสิ่งหรือเรื่องที่มนุษย์แห่งสังคมหนึ่ง ๆ สามารถสัมผัสได้อย่างง่าย ๆ โดยอวัยวะสัมผัสภายนอก 5 ชนิด คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นคำที่มนุษย์แห่งสังคมนั้น ๆ เข้าใจกันได้ง่ายโดยไม่ต้องแปลหรือขยายความ
ประการที่ 2 ความเคยชินที่เป็นมาช้านานประกอบด้วยการแพร่หลายไปถึงมวลราษฎร คือเมื่อมนุษย์ชินต่อเสียงคำพูดใดว่าหมายถึงอะไร และต่อมาเมื่อได้มีอักขรวิธีเขียนตามคำพูดที่เคยชินนั้นแล้วก็สามารถเข้าใจความหมายนั้นได้อย่างง่าย ความเคยชินนี้ต้องการเวลาช้านานที่ผ่านมา และต้องแพร่หลายไปถึงมวลราษฎรมิ ฉะนั้น ก็เป็นแต่เพียงความเคยชินของบุคคลจำนวนน้อยที่เข้าใจระหว่างกันเองเท่านั้น
คำมากหลายซึ่งในขณะแรกที่มีผู้นำมาใช้ อาจเป็นคำยากที่ต้องแปลแต่เมื่อได้ผ่านเวลามาช้านาน ความเคยชินก็ทำให้คำยากที่ต้องแปลกลายเป็นคำง่ายที่มวลราษฎรเข้าใจกันทั่วไป เช่นคำว่า “มนุษย์” ซึ่งเมื่อก่อน 1,000 ปี มาแล้วเป็นศัพท์ต่างประเทศสำหรับคนเชื้อชาติไทยเดิม เพราะคำนี้มาจากภาษาสันสกฤตและบาลี ฉะนั้น เมื่อมีผู้เริ่มนำเอาคำนี้มาใช้ใหม่ ๆ คำนี้ก็เป็นคำยากที่ต้องแปล แต่เมื่อคนไทยสยามได้ใช้คำนี้ จนเคยชินมาหลายศตวรรษแล้ว คำนี้ก็กลายเป็นคำง่ายที่ไม่ต้องแปล และมวลราษฎรใช้กันอย่างแพร่หลาย ดังนั้นเมื่อผู้ใดได้ฟังหรือได้อ่านคำว่า “มนุษย์” ก็เข้าใจว่าหมายถึง ‘คน’
(2) สังคมที่ได้พัฒนาแล้วในปัจจุบันนี้ย่อมมีคำ 2 ประเภท คือ มีคำง่ายที่ไม่ต้องแปลประเภทหนึ่ง และมีศัพท์ที่มีความหมายเฉพาะหรือคำยากที่ต้องแปลอีกประเภทหนึ่ง
สังคมซึ่งมีแต่คำง่ายที่ไม่ต้องแปลนั้น เป็นสังคมของมนุษย์ดึกดำบรรพ์หรือเหลือตกค้างอยู่ตามสภาพดึกดำบรรพ์ ซึ่งมีแม่เป็นหัวหน้าตามระบบเริ่มแรกแห่งระบบปฐมสหการ ซึ่งต้องการคำพูดเพียงไม่กี่คำที่เลียนเสียงธรรมชาติที่สัมผัสได้โดยอวัยวะสัมผัสภายนอกอย่างง่าย ๆ เช่น เลียนเสียงแห่งความเคลื่อนไหวของน้ำ ของลม หรือของสัตว์ หรือเสียงที่มนุษย์ในสมัยนั้น สามารถเปล่งออกมาได้และคนในสังคมถือว่ามีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง
ต่อมาเมื่อสังคมครอบครัวแห่งยุคปฐมกาลที่มีแม่เป็นหัวหน้าได้พัฒนาไปเป็นสังคมที่มีผู้ชาย ซึ่งมนุษย์ในสังคมถือเป็นพ่อนั้นเป็นหัวหน้า แล้วต่อมามนุษย์ได้รู้จักธรรมชาติดีขึ้น และสามารถทำเครื่องมือที่จะเอาสิ่ง ซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติมาเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ได้มากขึ้น และดีขึ้น แม้มนุษย์จะอยู่ในระบบปฐมสหการ แต่ก็จำต้องมีถ้อยคำที่ใช้เป็นสื่อในการสัมพันธ์ระหว่างกันมากยิ่งขึ้น
ครั้นต่อมามนุษย์สังคมได้พัฒนาจากระบบปฐมสหการเข้าสู่ระบบทาส, ระบบศักดินา, ระบบทุน (ธนานุภาพ) และหลายสังคมได้เข้าสู่ระบบสังคมนิยม (สังคมกิจธรรม) ก็เพราะมนุษย์ได้รู้จักธรรมชาติอย่างประณีตสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น สามารถทำและใช้เครื่องมือการผลิตที่ประณีตและสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางวัฒนธรรม ประณีตและสลับซับซ้อนและกว้างขวางยิ่งขึ้น บังเกิดความคิดและทรรศนะที่เกี่ยวกับศิลปวิทยาที่ประณีตทั้งที่เป็นรูปธรรม และนามธรรมยิ่งกว่ายุคปฐมกาล
ฉะนั้นสังคมที่พัฒนาแล้วในปัจจุบันนี้จึงจำเป็นต้องมี ศัพท์ หรือ ถ้อยคำที่มีความ
หมายเฉพาะ และเป็นคำยากที่ต้องแปล เพราะไม่อาจอาศัยแต่เพียงถ้อยคำที่สัมผัสได้โดยอวัยวะสัมผัสอย่างง่าย ๆ เหมือนเมื่อครั้งระบบปฐมสหการ แต่ยุควิทยาศาสตร์ปัจจุบันซึ่งเป็นยุคปรมาณูนั้น ต้องมีถ้อยคำที่มีความหมายเฉพาะเพื่อแสดงถึงสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบขึ้นใหม่ หรือลัทธิมากซ์เลนินซึ่งเป็นทฤษฎีวิทยาศาสตร์ทางสังคมที่ก้าวหน้า ก็มีถ้อยคำอันเป็นศัพท์ที่มีความหมายเฉพาะอันเป็นคำยากที่ต้องแปล
ฉะนั้น บุคคลแห่งสังคมใด ๆ จะอาศัยแต่ถ้อยคำที่มีอยู่แล้วของสังคมนั้น ๆ ก็เท่ากับจำกัดภาษาของสังคมนั้นให้คงที่อยู่โดยไม่พัฒนาให้เป็นไปตามการพัฒนาของศิลปวิทยาต่าง ๆ และวิทยาศาสตร์ทางสังคมที่ก้าวหน้า
พึงสังเกตว่าบรรพบุรุษของคนไทยสยามได้ถือคติที่ให้ภาษาพัฒนายิ่งขึ้น ฉะนั้นคนไทยสยามจึงได้มีถ้อยคำสำหรับใช้มากมายตามสภาพของสังคมที่พัฒนาขึ้น มิฉะนั้นคนไทยสยามก็จะมีคำพูดเพียงไม่กี่คำตามระบบปฐมสหการเท่านั้น
(3) สังคมหนึ่ง ๆ จะใช้แต่เพียงคำเท่าที่พัฒนาขึ้นในสังคมนั้นได้ก็แต่เฉพาะสังคมครอบครัว ซึ่งมีแม่เป็นหัวหน้าตามระบบเริ่มแรกแห่งระบบปฐมสหการ ซึ่งต้องการคำพูดเพียงไม่กี่คำ
แต่เมื่อสังคมครอบครัวแห่งยุคปฐมกาลนั้น ได้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นครอบครัวใหญ่แล้วกระจัดกระจายแยกย้ายกันออกห่างไกลจากถิ่นเดิมยิ่งขึ้น และต่อมาระบบสังคมที่มีแม่เป็นหัวหน้าได้พัฒนาไปเป็นระบบที่มีผู้ชายซึ่งมนุษย์ในสังคมถือเป็นพ่อนั้นเป็นหัวหน้าแล้ว แต่ละสังคมที่แยกย้ายกระจัดกระจายไปนั้นก็ย่อมมี คำใหม่ ที่ใช้เพื่อการสัมพันธ์กันมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สังคมที่แยกย้ายกระจัดกระจายไปนั้น ก็ยังมีการสัมพันธ์ระหว่างสังคมต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณที่ไปมาหาสู่กันได้สะดวก ผลจึงเป็นได้ว่าสังคมหนึ่งรับเอาคำที่อีกสังคมหนึ่งคิดขึ้นเพิ่มเข้าในภาษาของตน
ครั้นเมื่อระบบสังคมได้พัฒนาไปเป็นระบบทาส, ระบบศักดินา, ระบบทุน (ธนานุภาพ), ระบบสังคมนิยม (สังคมกิจธรรม) และการสัมพันธ์ระหว่างสังคมต่าง ๆ ที่
กระจายไปทั่วโลกได้เป็นไปโดยสะดวกยิ่งขึ้นเช่นในปัจจุบันนี้ การแลกเปลี่ยนและเผยแพร่สสารวัตถุ, ศิลปะ, วิทยา, วัฒนธรรม ซึ่งรวมทั้งความคิดและทรรศนะต่าง ๆ ฯลฯ ระหว่างกันก็มีมากยิ่งขึ้น แต่ละสังคมจึงจำเป็นต้องมี ‘คำใหม่’ เพิ่มขึ้นเพื่อแสดงถึงสิ่งใหม่ที่รับมาจากสังคมอื่นโดยการแลกเปลี่ยนและการเผยแพร่
การมี คำใหม่ เพิ่มขึ้นนี้อาจเป็นโดยวิธีที่สังคมหนึ่งรับเอาคำที่อีกสังคมหนึ่งคิดขึ้นโดยออกสำเนียง และเขียนตามอักขรวิธีแห่งภาษาของตนให้ออกสำเนียงเหมือน หรือใกล้เคียงกับสำเนียงเดิมของคำต่างสังคมที่รับมา ซึ่งเรียกว่า ‘วิธีทับศัพท์’ หรืออาจใช้วิธีที่สังคมหนึ่งอาศัยถ้อยคำแห่งภาษาของตนประกอบขึ้นเป็นศัพท์ หรือวลีใหม่เพื่อให้ได้ความหมายของคำต่างสังคมที่แสดงถึงสิ่งใหม่นั้น หรืออาจใช้ ‘วิธีแผลงศัพท์’
ถ้าเราพิจารณาพจนานุกรมของภาษาต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้ที่พัฒนาแล้ว จะพบว่าภาษาหนึ่งเพิ่มเข้ามาในภาษาของตน หรือคิดคำใหม่ในภาษาของตนขึ้นเพื่อถ่ายทอดความหมายแห่งคำของอีกภาษาหนึ่ง
ภาษาจีนปัจจุบันซึ่งมีคนพูดประมาณ 900 ล้านคน นั้นก็มีลักษณะตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังปรากฏจากสุนทรพจน์ของประธานเหมาเจ๋อตุงที่ได้กล่าว ณ เมืองเหยียนอาน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942
ซึ่งมีใจความตอนหนึ่ง “โดยที่คำในภาษาจีนมีไม่พอจึงได้รับเอาคำต่างประเทศเข้ามาเป็นถ้อยคำที่ใช้พูดอยู่เป็นประจำหลายคำ ท่านได้ยกตัวอย่าง คำว่า “ก้านบู๊” ก็มาจากคำต่างประเทศ ท่านได้ชี้แจงต่อพนักงานของท่านว่าจะต้องรับเอาสิ่งใหม่ ๆ หลายอย่างจากต่างประเทศไม่เฉพาะแต่ความคิดที่ก้าวหน้าเท่านั้น
หากรวมทั้งศัพท์ใหม่ ๆ อีกด้วย แต่กำชับว่าจะต้องไม่รับเอาศัพท์ต่างประเทศมาทั้งดุ้น หรือเอามาใช้อย่างไม่พินิจพิจารณา หากต้องรับเอาภาษาต่างประเทศที่ดีงามและเหมาะแก่ความต้องการของจีน ท่านได้กำชับพนักงานของท่านให้เรียนภาษาของราษฎรจีน, ภาษาต่างประเทศ, และภาษาโบราณของจีน
ภาษาอังกฤษ ซึ่งมีคนพูดมากในหลายส่วนของโลกและเป็นภาษาที่ได้นำสิ่งใหม่จากยุโรปหลายประการมาแลกเปลี่ยน และเผยแพร่แก่ชาวเอเชียนั้น ก็ปรากฏว่าคำอังกฤษมากหลายมาจากคำของภาษาอื่น เช่น คำกรีก, ละติน, ฝรั่งเศส ฯลฯ
(จบตอนที่ 1)
เอกสารอ้างอิง
ปรีดี พนมยงค์. (2510). หลักเบื้องต้นแห่งการถ่ายทอดศัพท์ต่างประเทศมาเป็นศัพท์ไทยสยาม. กรุงเทพมหานคร: นีลนาราการพิมพ์, หน้า 7-18.