ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

หลักเบื้องต้นแห่งการถ่ายทอดศัพท์ต่างประเทศ มาเป็นศัพท์ไทยสยาม (ตอนที่ 2)

12
กุมภาพันธ์
2567

Focus

  • คนไทยสยามที่ใช้ภาษาตามเชื้อชาติดั้งเดิม ได้รับเอาภาษาต่างประเทศ คือ คำบาลี และคำสันสกฤต (คำภาษาแขก) คำของชาวเอเชีย และคำต่างประเทศอื่นๆ มาใช้ร่วมกับภาษาดั้งเดิมของตนมาหลายศตวรรษ
  • การเกิดขึ้นของความเป็นชาติในประเทศใดๆ พัฒนาขึ้นมาจากการอยู่ร่วมกันของคนเผ่าพันธุ์ต่างๆ จึงทำให้มีการรับเอาคำจากสังคมอื่นมาสู่สังคมของตน รวมทั้งการรับเอาสิ่งใหม่ สภาพใหม่ ความรู้และความคิดใหม่จากสังคมอื่นที่เป็นประโยชน์มาใช้ และสังคมไทยสยามก็เป็นเช่นนั้น
  • การถ่ายทอดศัพท์ต่างประเทศมาเป็นศัพท์ไทยสยาม มี 3 วิธี คือ วิธีทับศัพท์ วิธีแผลงศัพท์ วิธีตั้งศัพท์ใหม่และวลีใหม่ ดังเช่น คำว่า “คอมมิวนิสต์” (communist) เป็นการทับศัพท์ คำว่า “วิธี” แผลงเป็น "พิธี” ที่มีความหมายต่างกัน และคำว่า “รัฐบาล” (government) เป็นการตั้งศัพท์ใหม่ เป็นต้น
  • คำว่า “REVOLUTION” ที่มีหลายความหมายนั้น เช่น การเปลี่ยนหลักมูลของสภาวะต่างๆ การหมุนไปข้างหน้า การหมุนรอบแกน การโค่นล้มรัฐบาลหรือผู้ครองอำนาจรัฐ การโค่นล้มระบบการปกครองหนึ่งมาเป็นอีกระบบหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงระบบสังคมก้าวใดก้าวหนึ่งไปข้างหน้าตามแนวทางแห่งการกู้อิสรภาพ ผู้เขียนเสนอตั้งศัพท์ใหม่ว่า “อภิวัฒน์” เหมาะสมกว่าคำว่า “ปฏิวัติ”

 

ข้อ 4

ภาษาไทยสยามปัจจุบันเป็นผลแห่งการพัฒนาของภาษาแห่งคนเชื้อชาติไทยเดิม  และคำต่างประเทศที่คนไทยสยามได้รับเอาไว้ ตั้งแต่หลายศตวรรษเป็นต้นมาแล้วจนถึงปัจจุบัน คือคำบาลี, สันสกฤต คำของชาวเอเชีย, และคำต่างประเทศอื่นๆ

โดยเฉพาะภาษาบาลี และสันสกฤตนั้น เมื่อได้ซึมเข้าไปในภาษาไทยสยามเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว ก็ได้พัฒนาเป็น แม่ของภาษาไทยสยามปัจจุบัน อีกส่วนหนึ่งด้วย

มีบางคนแสดงความเห็นว่า ควรหลีกเลี่ยงใช้คำไทยสยามที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต เพราะผู้นั้นถือว่าภาษาบาลีสันสกฤตเป็นภาษาแขก

แต่อันที่จริงภาษาบาลีสันสกฤตมิใช่เป็นภาษาที่แขกอินเดียปัจจุบันใช้พูดกัน หากแต่เป็นภาษาโบราณซึ่งเป็นภาษาที่ถ่ายทอดศิลปะ วิทยา พุทธศาสนาวัฒนธรรม ฯลฯ ของอินเดียโบราณมาสู่สังคมไทยสยาม ซึ่งแทรกอยู่ในความเป็นอยู่ของคนไทยสยามเป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้ว จึงหมดสภาพที่เป็นภาษาแขก หรือภาษาต่างประเทศในสังคมไทยสยามแล้ว

ถ้าเราสังเกตคำที่คนไทยสยามสมัยนี้ใช้พูด หรือขีดเขียนหรือพิมพ์เป็นสมุดเอกสาร หนังสือพิมพ์ ก็จะเห็นว่าคำจำนวนมากเป็นคำบาลีสันสกฤตหรือแผลงมาจากคำเหล่านั้น แม้คำมากมายที่ดูกันเพียงผิวเผินอาจเห็นว่าเป็นคำไทยเดิมที่มี “ร” และ “ล” กล้ำ อาทิ “ครอง”, “พลิก” แต่อันที่จริงไม่ใช่เป็นคำของคนเชื้อชาติไทยเดิมอย่างบริสุทธิ์เพราะคำของชนเชื้อชาติไทยเดิมไม่มีกล้ำเช่นนั้น คือออกเสียงเป็น “คอง”, “พิก”

ภายหลังคนไทยสยามได้แผลงคำของชนเชื้อชาติไทยเดิมหลายคำให้มีกล้ำตามเยี่ยงสันสกฤต คำว่า “ภาษา” ที่เรากล่าวถึงบ่อยๆ ก็เป็นคำสันสกฤต คำว่า “ไทย” ซึ่งมี “ย” ต่อท้ายคำว่า “ไท” ก็เขียนเพื่อให้เข้ารูปบาลี ฉะนั้นจึงไม่สมควรที่จะถือว่าคนไทยสยามปัจจุบันพูดหรือขีดเขียนหรือตีพิมพ์ด้วยถ้อยคำที่เป็นภาษาแขก มิฉะนั้นผู้แสดงความเห็นที่อ้างถึงข้างต้น ก็เป็นผู้พูดหรือขีดเขียนหรือตีพิมพ์เป็นภาษาแขกด้วย

ถ้าสังเกตชื่อของคนไทยสยามสมัยนี้แล้ว จะเห็นว่าประกอบขึ้นด้วยคำบาลีสันสกฤต หรือแผลงมาจากคำนั้นส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบุคคลซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับมวลราษฎร เช่นข้าราชการต่างๆ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสภาจังหวัดกับสภาเทศบาลจำนวนมาก มีชื่อตัวหรือชื่อสกุลหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของชื่อนั้นเป็นคำบาลีสันสกฤตหรือแผลงมาจากคำนั้น จะหาผู้ที่มีชื่อตัวหรือสกุลที่เป็นคำของชนเชื้อชาติไทยเดิมอย่างล้วนๆ ได้ไม่มากนัก แต่เราก็ไม่สมควรที่จะกล่าวว่าบุคคลเหล่านั้นมีชื่อเป็นแขกหรือกลายเป็นแขกไปแล้ว

ภาษาของชาติหนึ่งๆ ในปัจจุบันนี้มีลักษณะผสมทำนองเดียวกับชาติหนึ่งๆ ในปัจจุบัน ดังที่สตาลินซึ่งเป็นนักสากลนิยม ได้กล่าวถึงชาติไว้ว่า “ชาติในปัจจุบันนี้

ต่างกับกลุ่มเผ่าพันธุ์ คือชาติประกอบด้วยหลายเผ่าพันธ์ุและหลายเชื้อชาติที่พัฒนามาเป็นเวลาช้านาน” ดังนั้น บุคคลอาจจะพบเผ่าพันธุ์บริสุทธิ์โดยไม่ผสมก็แต่เฉพาะในสังคมที่ยังเป็นกลุ่มเผ่าพันธุ์แอบแฝงอยู่ตามป่าเขาโดยไม่ติดต่อกับเผ่าพันธุ์อื่นๆ

ฉันใดก็ดี การที่จะใช้แต่ถ้อยคำของคนเชื้อชาติไทยเดิม โดยไม่ถ่ายทอดคำต่างประเทศเพิ่มเติมเข้ามาด้วยนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ในสมัยบัจจุบันที่สังคมไทยสยามต้องมีความสัมพันธ์กับสังคมต่างๆ ทั่วโลกอย่างกว้างขวาง และต้องรับเอาสิ่งใหม่, สภาพใหม่, ความรู้ความคิดใหม่ที่คนในสังคมอื่นได้คิดขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยสยามด้วย ในการนั้นก็ต้องถ่ายทอดคำต่างประเทศที่แสดงถึงสิ่งและเรื่องต่างๆ อันเป็นประโยชน์แก่สังคมไทยสยามเหล่านั้น มาทำความเข้าใจให้แก่คนในสังคมไทยสยาม

ข้อ 5

การถ่ายทอดศัพท์ต่างประเทศมาเป็นศัพท์ไทยสยามที่เคยทำกันมานั้นมี 3 วิธี คือ วิธีทับศัพท์ วิธีแผลงศัพท์ วิธีตั้งศัพท์ใหม่และวลีใหม่

(1) วิธีทับศัพท์ คือ การออกสำเนียงคำต่างประเทศนั้นๆ และเขียนตามอักขรวิธีไทยสยามเพื่อให้อ่านออกเสียงตามคำต่างประเทศนั้น

ในสมัยโบราณเมื่อครั้งคนไทยสยามยังไม่มีอักขรวิธีสำหรับใช้เขียนการออกสำเนียงทับศัพท์ต่างประเทศ โดยเฉพาะคำบาลีสันสกฤตนั้นเพี้ยนไปได้มาก แต่ภายหลังที่

สังคมไทยสยามได้มีอักขรวิธี สำหรับใช้พูดและขีดเขียนพัฒนายิ่งขึ้น ความเพี้ยนก็ลดน้อยลงตามลำดับ ในปัจจุบันนี้อักขรวิธีของไทยสยาม มีความสมบูรณ์ยิ่งกว่าภาษาใดๆ คือ สามารถเขียน ทับศัพท์ได้ตรงหรือใกล้เคียงที่สุดกับสำเนียงคำต่างประเทศ

ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมาจนถึงบั้นปลายแห่งคริสตศตวรรษที่ 19 คนไทยสยามได้ใช้วิธีทับศัพท์คำของภาษาในยุโรปที่ได้แพร่ ศิลปะ, วิทยา, วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ใหม่กับสิ่งใหม่สู่สังคมไทยสยาม แต่ต่อมาเห็นกันว่าถ้าใช้วิธีทับศัพท์เช่นนั้นมากยิ่งขึ้นแล้ว ภาษาไทยสยามจะกลายเป็นภาษายุโรปมากไป และเห็นว่าภาษาไทยที่พัฒนามาแล้วหลายศตวรรษมีความสมบูรณ์ในทางหลักภาษา ซึ่ง

เป็นพื้นฐานพอที่จะปรุงแต่งเป็นศัพท์ หรือวลีไทยขึ้นใหม่ สามารถแสดงถึงความ หมายของคำแห่งภาษายุโรปที่แพร่เข้ามาใหม่นั้น ให้คนไทยสยามเข้าใจได้ตามภาษาของตน ฉะนั้นองค์การของรัฐบาลไทยสยาม จึงได้นำบัญญัติศัพท์หรือวลีไทยขึ้นใหม่เพื่อใช้แทนการทับศัพท์ยุโรป เช่น “GOVERNMENT” บัญญัติเป็นศัพท์ไทยว่า “รัฐบาล” ครั้นแล้ววิธีถ่ายทอดศัพท์ต่างประเทศมาเป็นศัพท์หรือวลีไทยขึ้นใหม่ก็ได้กระทำกันแพร่หลายยิ่งขึ้น

แต่วิธีทับศัพท์ก็ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกรณีที่เพิ่งรับเอาสิ่งใหม่หรือเรื่องใหม่จากยุโรป และยังไม่มีศัพท์หรือวลีไทยที่คิดกันขึ้นใหม่ที่จะถ่ายทอดคำยุโรปนั้นได้อย่างเหมาะสม หรือแม้จะมีศัพท์หรือวลีไทยใหม่ขึ้นแล้วแต่ยังไม่ชินต่อการใช้ศัพท์หรือวลีนั้น

ในบางกรณีที่คำต่างประเทศเป็นชื่อเฉพาะ ของบางสิ่งหรือบางเรื่อง และในบางกรณีที่ผู้ถ่ายทอดคำยุโรปพอใจใช้วิธีทับตัพท์ของสิ่งหรือเรื่องใดก็ยังคงใช้วิธีทับศัพท์นั้นอยู่ เช่นคำอังกฤษ “COMMUNIST” นั้นวงการรัฐยังคงใช้ทับศัพท์เป็นภาษาไทยว่า “คอมมิวนิสต์” และพรรคการเมืองหนึ่งก็ใช้ชื่อของพรรคโดยวิธีทับศัพท์ต่างประเทศว่า “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย”

แต่ในหลายกรณีที่ไม่อาจประกอบศัพท์หรือวลีไทยสยามให้เหมาะสมเพื่อถ่ายทอดคำต่างประเทศ เช่น ศัพท์วิทยาศาสตร์ใหม่ๆ หลายศัพท์นั้น ก็จำเป็นต้องใช้วิธีทับศัพท์ถ้าศัพท์ต่างประเทศใดมีศัพท์หรือวลีไทยสยามถูกต้องเหมาะสมอยู่แล้ว ก็ไม่ควรใช้วิธีทับศัพท์

(2) วิธีแผลงศัพท์ต่างประเทศ มีอยู่สองแบบคือ

ก) แผลงเสียงของคำต่างประเทศ ให้ออกเสียงที่สะดวกแก่การออกเสียงของคนไทย การแผลงศัพท์ชนิดนี้ได้กระทำมาในสมัยโบราณหลายศตวรรษก่อนโน้น คือเมื่อครั้งคนไทยสยามเพิ่งรับเอาคำบาลีสันสกฤตใหม่ๆ เนื่องจากคำบาลีสันสกฤตบางคำคนไทยออกสำเนียงยากหรือยาวเกินไป คนไทยสยามจึงได้แผลงสำเนียงเสียใหม่เพื่อให้ออกสำเนียงง่ายๆ เช่น “วรณ” แผลงให้ออกเสียงว่า “วัน” แล้วต่อมาก็แผลงเขียนเป็น “วรรณ” คำว่า “ปุญญ” แผลงสำเนียงเป็น “บุน” ต่อมาแผลงเขียนเป็น “บุญ” เป็นต้น

วิธีแผลงสำเนียงเช่นนี้ ได้เลิกใช้กันมาช้านานแล้วโดยเฉพาะในสมัยปัจจุบันที่ ภาษาไทยสยามได้พัฒนามีหลักภาษาและอักขรวีธีสมบูรณ์ที่สามารถออกสำเนียง และเขียนทับศัพท์ต่างประเทศได้อย่างถูกต้องหรือใกล้เคียงที่สุด ถ้าผู้ใดในปัจจุบันแผลงสำเนียงต่างประเทศเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นผู้ใช้อักขรวิธีผิด และเป็นการกระทำซึ่งเรียกว่า “อักขรวิบัติ”

เมื่อประมาณ 40 ปีเศษมาแล้วได้มีครูวิทยาศาสตร์ผู้หนึ่งแห่งโรงเรียนหนึ่ง ได้พยายามที่จะแผลงศัพท์ต่างประเทศให้ออกสำเนียงบาลีสันสกฤต เช่นแผลงคำอังกฤษ “TEMPERATURE” ว่า “เทมปะระทระ” แต่การแผลงเช่นนั้นถูกคัดค้านว่าผิดอักขรวิธี หรือเป็นอักขรวิบัติ จึงต้องเลิกใช้คำแผลงเช่นนั้น

ข) แผลงโดยเอาคำต่างประเทศคำหนึ่งมาแยกออกเป็นหลายคำ เพื่อใช้ในความหมายต่างกัน วิธีนี้ได้กระทำกันในสมัยโบราณก่อนโน้น ขณะที่ภาษาไทยสยามยังไม่มีความสมบูรณ์เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้นเมื่อต้องการหาคำต่างๆ เพื่อแยกความหมายให้ประณีตขึ้นจึงได้อาศัยวิธีดังกล่าวนี้

เช่นเอาคำบาลี “วิธี” ซึ่งแปลว่าแบบอย่าง, ทาง, หลักเกณฑ์, แนวทาง ฯลฯ มาแผลงแยกออกเป็น “วิธี” เพื่อให้หมายถึงทำนองหรือหนทางที่จะทำ และ “พิธี” ซึ่งหมายถึงงานที่จะทำขึ้นตามลัทธิ หรือตามแบบหรือตามธรรมเนียม เอาคำ “วิเศษ” ซึ่งแปลว่ายอดเยี่ยมมาแผลง แยกออกเป็นคำว่า “พิเศษ” อีกคำหนึ่ง ซึ่งแปลว่าแปลกจากสามัญหรือจำเพาะ เอาคำว่า “จักรวรรดิ” ซึ่งหมายถึงอาณาเขตกว้างขวางมาแผลงแยกออกเป็น “จักรพรรดิ” อีกคำหนึ่งซึ่งหมายถึงกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งครองอาณาเขตกว้างขวาง ฉะนั้นคำว่า “จักรวรรดิ” กับคำว่า “จักรพรรดิ” ในภาษาไทยสยามปัจจุบันจึงมีความหมายต่างกัน

(3) วิธีตั้งศัพท์ใหม่และวลีใหม่ คือ วิธีที่อาศัยคำและหลักภาษากับอักขรของไทยสยาม ประกอบเป็นศัพท์ไทยหรือวลีไทยสยามขึ้นใหม่เพื่อถ่ายทอดความหมายของคำต่างประเทศ

วิธีนี้ผู้คิดศัพท์หรือวลีไทยสยามขึ้นใหม่ จำต้องมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบ เพราะถ้าศัพท์หรือวลีที่คิดขึ้นใหม่นั้น ผิดพลาดจากความหมายของคำต่างประเทศแล้วก ็จะทำให้ผู้ใช้หรือผู้ตามใช้ ตลอดจนผู้ฟังผู้อ่านศัพท์หรือวลีนั้น เข้าใจไขว้เขวไปต่างๆ กันได้ และถ้ายิ่งเป็นคำที่มีความหมายเฉพาะในสาขาวิชาใดหรือลัทธิเศรษฐกิจ, การเมือง, การสังคมใดแล้วก็จะทำให้เกิดความเสียหายได้

นักสันติภาพชาวอินเดียผู้หนึ่งได้เคยเตือนคนไทยผู้หนึ่งถึงหลักแห่งการแปลหนังสือต่างประเทศว่า ต้องระมัดระวังที่จะต้องให้การแปลนั้นถูกต้องตรงตามความหมายของตำราต่างประเทศ และโดยเฉพาะตำราเศรษฐกิจการเมืองการสังคมนั้น ถ้าแปลผิดไปแม้แต่คำเดียวก็สามารถก่อให้เกิดเข้าใจผิดทฤษฎีทั้งระบบได้

โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบที่มีต่อมวลราษฎร ผู้คิดศัพท์ หรือวลีไทยขึ้นใหม่เพื่อถ่ายทอดศัพท์ต่างประเทศควรอาศัยหลักดังต่อไปนี้

ก) จะต้องศึกษาความหมายของศัพท์ต่างประเทศที่ต้องการถ่ายทอดมาเป็นศัพท์หรือวลีไทยนั้นๆ ว่ามีความหมายอย่างไรบ้าง ไม่ควรดูแต่เพียงผิวเผินจากรูปศัพท์ภายนอกเท่านั้น เพราะคำต่างประเทศโดยเฉพาะคำแห่งภาษาในยุโรป เช่นคำอังกฤษนั้น บางคำมีความหมายหลายอย่างที่ใช้ในกรณีต่างๆ กัน และตามกาลต่างๆกัน เช่นคำว่า “IMPERIALISM” ซึ่งมีความหมายหลายอย่าง เช่นหมายถึง ระบบที่มีกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ครองอาณาเขตกว้างขวาง, นโยบายหรือการปฏิบัติหรือระบบหรือรัฐบาลหรืออำนาจ หรือระบบที่สังคมหนึ่งแผ่อาณาเขตครอบครองเหนืออีกสังคมหนึ่งหรือหลายสังคม, ระบบทุน (ธนานุภาพ) ผูกขาดมีอำนาจมหาศาล ซึ่งพัฒนาถึงขีดสูงสุดเมื่อพ้นจากนั้นแล้วก็สลาย ฯลฯ

คำว่า “REVOLUTION” ในภาษาอังกฤษก็มีความหมายหลายอย่าง เช่น การเปลี่ยนหลักมูลของสภาวะต่างๆ, การหมุนไปข้างหน้า, การหมุนรอบแกน, การโค่นล้มรัฐบาลหรือผู้ครองอำนาจรัฐ, การโค่นล้มระบบการปกครองหนึ่งมาเป็นอีกระบบหนึ่ง, การเปลี่ยนแปลงระบบสังคมก้าวใดก้าวหนึ่งไปข้างหน้า ตามแนวทางแห่งการกู้อิสรภาพ ฯลฯ

ตัวอย่างที่อ้างถึงข้างบนนั้นแสดงให้เห็นได้ว่า ภาษายุโรปมีลักษณะต่างกับภาษาไทยสยาม คือ ศัพท์ยุโรปบางคำมีความหมายหลายอย่างซึ่งเราไม่อาจตั้งศัพท์ หรือวลีไทยสยามเพียงคำเดียวเพื่อให้มีความหมายครบถ้วนตามคำยุโรปนั้น ฉะนั้นสำหรับคำยุโรปบางคำจำต้องมีหลายศัพท์หลายวลีไทยสยามเพื่อถ่ายทอด

ข) เมื่อได้ศึกษารู้ความหมายต่างๆ ของคำต่างประเทศคำหนึ่งคำใดที่ต้องการถ่ายทอดมาเป็นคำไทยสยามเพื่อให้คนไทยสยามเข้าใจแล้ว ผู้คิดศัพท์หรือวลีไทยสยามก็ต้องพิจารณาหาคำที่มวลราษฎรไทยสยามเข้าใจกันอยู่โดยทั่วไปมาประกอบขึ้นเป็นวลี หรือศัพท์ที่แสดงความหมายได้ตรง หรือใกล้เคียงที่สุดกับความหมายของศัพท์ต่างประเทศ ตามกรณีต่างๆ

ถ้าหากหาคำที่มวลราษฎรไทยสยามใช้กันอยู่ทั่วไปได้ไม่สมบูรณ์ หรือเหมาะสมก็จำเป็นต้องอาศัยคำบาลีสันสกฤตที่ถือว่าเป็นแม่ของภาษาไทยสยามปัจจุบันส่วนหนึ่งนั้นมาประกอบเป็นศัพท์ขึ้นใหม่ แต่ข้อสำคัญนั้นศัพท์ที่ประกอบขึ้นใหม่จะต้องมีความหมายตรง หรือใกล้เคียงที่สุดกับความหมายของคำต่างประเทศที่ต้องการถ่ายทอด เช่นคำอังกฤษ “IMPERIALISM” นั้น ถ้าผู้ตั้งศัพท์ไทยสยามต้องการให้หมายถึงระบบที่มีกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ซึ่งครองอาณาเขตกว้างขวางแล้วก็ควรจะตั้งเป็นศัพท์ว่า “จักรพรรดินิยม” เพราะมวลราษฎรไทยทั่วไปเข้าใจว่าคำว่า “จักรพรรดิ” หมายถึงกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ซึ่งครองอาณาเขตกว้างขวาง เช่นจักรพรรดิญี่ปุ่น แต่ถ้าจะให้หมายถึงการที่สังคมหนึ่งแผ่อาณาเขตครอบครองเหนืออีกสังคมหนึ่ง หรือหลายสังคมแล้วก็อาจตั้งเป็นศัพท์ว่า “จักรวรรดินิยม” เพราะมวลราษฎรไทยเข้าใจคำว่า “จักรวรรดิ” หมายถึงอาณาเขตอันกว้างใหญ่

แต่ถ้าจะหมายถึงระบบทุนที่พัฒนาถึงขีดสูงสุดมีอำนาจมหาศาลแล้วก็อาจจะตั้งเป็นศัพท์ว่า “บรมธนานุภาพ” เพราะมวลราษฎรไทยสยามส่วนมากที่เป็นพุทธศาสนิกย่อมได้ยินคำว่า “บรม” อยู่บ่อยๆ ซึ่งหมายถึงยิ่งใหญ่ ได้ยินคำว่า “ธน” ซึ่งหมายถึงทรัพย์สิน ได้ยินคำ “อานุภาพ” ซึ่งหมายถึงอำนาจที่มีฤทธิ์เดช เช่น การให้พรกันระหว่างคนไทยสยามส่วนมากก็ได้อ้างอานุภาพของสิ่งศักดิ์สิทธิ์

มวลราษฎรไทยสยามพอเข้าใจได้ว่า คำว่า “บรมธนานุภาพ” นั้นหมายถึงทุนหรือกองทรัพย์สินที่ยิ่งใหญ่ หรือจะตั้งเป็นวลีว่า “ทุนมหาอำนาจ” ก็อาจทำให้มวลราษฎรเข้าใจได้ เพราะเคยได้ยินคำที่เรียกประเทศใหญ่มีอำนาจมากว่า “ประเทศมหาอำนาจ” มาช้านานแล้ว แต่การที่จะตั้งศัพท์ “จักรพรรดินิยม” ซึ่งมวลราษฎรไทยสยามเข้าใจอย่างหนึ่งเพื่อให้หมายความรวมถึงระบบแผ่อาณาเขตอันกว้างใหญ่แล้วให้หมายถึงระบบทุนที่พัฒนามีอำนาจมหาศาลถึงขีดสูงสุดด้วยนั้น ย่อมไม่อาจทำให้มวลราษฎรไทยทั่วไปเข้าใจได้ หรืออาจทำให้เข้าใจไขว้เขว

พึงสังเกตว่า ภาษาจีนปัจจุบันได้ถ่ายทอดศัพท์อังกฤษที่กล่าวถึงนี้ว่า “ตี้กั๊วะจู่อี้” ซึ่งประกอบด้วยคำ “ตี้กั๊วะ” ซึ่งตรงกับคำว่า “จักรวรรดิ” ในภาษาไทย ฉะนั้นศัพท์ไทยสยามใหม่ “จักรวรรดินิยม” จึงตรงกับคำว่า “ตี้กั๊วะจู่อี้” ส่วนคำว่า “จักรพรรดิ” นั้นตรงกับภาษาจีนว่า “หวังตี้” ไม่ใช่ “ตี้กั๊วะ”

คำอังกฤษ “REVOLUTION” ซึ่งมีความหมายหลายอย่างนั้นก็ต้องมีศัพท์ หรือวลีไทยสยามหลายคำเพื่อถ่ายทอดตามความหมายแต่ละอย่าง เช่น การหมุนรอบ, การพลิกแผ่นดิน, การเปลี่ยนการปกครองแผ่นดิน, การเปลี่ยนระบบสังคม, การปฏิวัติ, การอภิวัฒน์ ฯลฯ

ถ้าต้องการให้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมถอยหลังจากระบบก้าวหน้าเข้าสู่ระบบเก่าที่ถอยหลัง ก็สมควรตั้งศัพท์ว่า “ปฏิวัติ” เพราะคำว่า “ปฏิวัติ” ในภาษาบาลีซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานรับเอามานั้น ให้ความหมายไว้ว่า “การหมุนกลับ” แม้จะเติมความหมายว่า “การผันแปรเปลี่ยนหลักมูล” แต่เมื่อพิจารณามูลศัพท์บาลีประกอบด้วยแล้ว ก็ได้ความว่าเป็นการผันแปรเปลี่ยนหลักมูลที่ถอยหลัง

ฉะนั้นจะใช้คำว่า “ปฏิวัติ” เพื่อหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าตามแนวทางแห่งการกู้อิสรภาพนั้นไม่ถูก ถ้าจะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้า ข้าพเจ้าขอเสนอศัพท์ว่า “อภิวัฒน์” ส่วนการเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตนั้น ก็ไม่อาจนำเอาคำ “ปฏิวัติ” ซึ่งมีความหมายคนละอย่างมาใช้ได้

 

เอกสารอ้างอิง

  • ปรีดี พนมยงค์. (2510). หลักเบื้องต้นแห่งการถ่ายทอดศัพท์ต่างประเทศมาเป็นศัพท์ไทยสยาม. กรุงเทพมหานคร: นีลนาราการพิมพ์, หน้า 18-34.

บทความที่เกี่ยวข้อง :