ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

คุกคามทางเพศ ‘ไม่ใช่’ เทพนิยาย

8
มีนาคม
2567

Focus

  • ในโอกาสวันสตรีสากล คือวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ประเด็นหนี่งเกี่ยวกับสตรีที่สมควรให้ความสำคัญด้วย คือ การข่มขืนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบหนึ่ง ดังปรากฏการณ์ที่พบว่า ผู้หญิงในสหภาพยุโรปจำนวนมาก ถูกข่มขืนตั้งแต่อายุ 15 ปี และมีเพียง 9 ประเทศ จาก 33 ประเทศที่ยอมรับว่าการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอมคือ “การข่มขืน” อันเกี่ยวข้องกับข้อบกพร่องของนิยามคำนี้ในกฎหมายด้วย
  • ประมวลกฎหมายอาญาของไทย ลักษณะที่ 9 มาตรา 276 ก็ให้นิยามของการข่มขืนที่ไม่ได้ระบุหลักการไม่ยินยอมเอาไว้เช่นกัน แต่ก็แก้ไขเพศที่ถูกกระทำให้เป็นเพศอื่นด้วย มิใช่เพียงหญิงเท่านั้น รวมถึงความครอบคลุมที่กว้างขึ้นของลักษณะการข่มขืน
  • ในปัจจุบัน ในระดับสากล การช่วยเหลือให้สตรีในปัญหาการถูกถูกข่มขืน รวมถึงให้ปลอดจากการกระทำที่รุนแรงอาศัยกลไกสำคัญสองประการ คือ อนุสัญญาสภาแห่งยุโรปว่าด้วยการป้องกันและต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีและความรุนแรงในครอบครัว และการทำหน้าที่ของคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรีแห่งสหประชาชาติ
  • คดีความต่างๆที่เกิดขึ้น สามารถนำไปเป็นบทเรียนเพื่อลดปัญหานี้ รวมถึงผลการศึกษาที่พบว่า การไม่ต่อสู้ของสตรีขณะถูกข่มขืน ก็เพราะการเกิดเป็นอัมพาตชั่วคราว มิใช่การสมยอมของสตรีขณะถูกข่มขืนแต่อย่างใด การแก้ปัญหาเรื่องนี้ จึงต้องการการแก้ไขที่กฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย การขจัดอคติของการตำหนิสตรี และมาตรการอื่นๆ พร้อมกันไป

 

ผู้หญิงประมาณ 9 ล้านคน ในสหภาพยุโรปถูกข่มขืนตั้งแต่อายุ 15 ปี ตัวเลขนี้ค่อนข้างน่าตกใจ แต่สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ การที่มีประเทศในสหภาพยุโรปเพียงไม่กี่ประเทศที่จัดการกับคดีข่มขืนอย่างจริงจังอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะในทางกฎหมายหรือทางปฏิบัติ

 

นิยามคำว่า ‘ข่มขืน’

มีประเทศในทวีปยุโรปเพียง 9 ประเทศ จาก 33 ประเทศเท่านั้น ที่ยอมรับว่าการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอมคือ การข่มขืน (เมื่อแบ่งขอบเขตอำนาจตามกฎหมายของสหราชอาณาจักรแยกออกเป็นสามประเทศ)

ข้อเท็จจริงเหล่านี้บอกอะไรต่อผู้กระทำผิด หรือบอกอะไรต่อสังคม ในขณะที่เหยื่อยังคงถูกกล่าวโทษทั้งๆ ที่พวกเธอเป็นผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

การที่กฎหมายไม่ยอมรับว่าการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอมนั้นเป็นการข่มขืน ทำให้ผู้หญิงมีความคิดว่าพวกเธอมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องตัวเองจากการถูกข่มขืน ซึ่งพฤติกรรมนี้เสี่ยงอันตรายและควรมีการเปลี่ยนแปลง

กฎหมายอาญาของประเทศอังกฤษและเวลส์ ไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์ รวมทั้งประเทศเบลเยียม ไซปรัส ลักเซมเบิร์ก และเยอรมนี นั้นนิยามคำว่าข่มขืนโดยยึดแนวคิดเรื่องการไม่ยินยอมเป็นหลัก

แต่ประเทศในทวีปยุโรปที่เหลือยังคงตามหลังในเรื่องนี้ เนื่องจากกฎหมายอาญาในประเทศอื่นๆ นิยามคำว่า ‘ข่มขืน’ โดยยึดหลักการใช้กำลังทางร่างกาย หรือการข่มขู่ ดังนั้นการข่มขืนจึงหมายถึงเพียงแค่การบีบบังคับ หรือการที่เหยื่อไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ กลุ่มประเทศนอร์ดิก คือกลุ่มประเทศที่ถูกมองว่าเป็นผู้นำทางด้านความเท่าเทียมทางเพศ แต่ประเทศไอซ์แลนด์กลับเป็นเพียงประเทศแรกและประเทศเดียวในกลุ่มประเทศนอร์ดิกที่นิยามการข่มขืนโดยยึดแนวคิดเรื่องการไม่ยินยอมเป็นหลัก

นายจอน สไตน์เดอร์ วัลดิมาร์ซัน (Jon Steindor Valdimarsson) เป็นส.ส.ที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศไอซ์แลนด์ โดยเขาบอกกับนิตยสาร Reykjavik Grapevine ว่า

“มันอาจช่วยป้องกันการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอมได้ ซึ่งผมคิดว่านั่นคือหน้าที่หลักของกฎหมายนี้”

ประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก และทวีปยุโรป จะยอมทำตามหรือไม่

รัฐบาลประเทศนอร์เวย์พลาดโอกาสนี้ไปแล้ว เนื่องจากในวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา รัฐสภานอร์เวย์ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ และในวันเดียวกันนั้นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Committee) ได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงกฎหมายของนอร์เวย์ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ประเทศเพื่อนบ้านของนอร์เวย์อย่างสวีเดนนั้นได้มีกำหนดการที่จะผ่านร่าง “กฎหมายว่าด้วยการยินยอม” ก่อนฤดูร้อนที่จะถึงนี้ ในขณะที่ ข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับหลักการไม่ยินยอมของประเทศเดนมาร์ก และฟินแลนด์ นั้นกำลังอยู่ในระหว่างการอภิปราย และมีการสนับสนุนจากนักกิจกรรมและองค์กรหลายฝ่าย

 

นิยามการข่มขืนในกฎหมายไทย

สำหรับประเทศไทย ได้บัญญัติโทษเที่ยวกับคดีข่มขืนไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งอยู่ในลักษณะที่ 9 ว่าด้วยคดีเกี่ยวกับเพศ โดยในมาตรา 276 ได้ระบุนิยามของการข่มขืนเอาไว้ว่า

“การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่นหรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น”

จากนิยามดังกล่าวจะเห็นว่ากฎหมายอาญาของประเทศไทยนั้นไม่ได้ระบุหลักการไม่ยินยอมเอาไว้เช่นกัน และระบุลักษณะของการข่มขืนแค่ในเชิงของการบีบบังคับผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือผู้ถูกกระทำไม่สามารถขัดขืนได้ หรือเข้าใจผิดว่าเป็นบุคคลอื่นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2550 ประเทศไทยได้มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการข่มขืน โดยแก้ไขลักษณะของบุคคลที่เป็นเหยื่อ และรูปแบบของการข่มขืนให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จากกฎหมายเดิมที่ระบุให้เหยื่อเป็นแค่เพศหญิงเท่านั้น กฎหมายปัจจุบันไม่ได้ระบุเฉพาะเพศใดเพศหนึ่งเอาไว้ ซึ่งหมายความว่ากฎหมายคุ้มครองเหยื่อจากการถูกข่มขืนทุกเพศ ในส่วนของรูปแบบการข่มขืนนั้น กฎหมายเดิมระบุให้การข่มขืนหมายถึงการเอาของลับของชายผ่านเข้าไปในช่องสังวาสของหญิง แต่กฎหมายปัจจุบันได้ระบุรูปแบบการกระทำที่เป็นการข่มขืนให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กฎหมายเดิมไม่ได้กำหนดโทษในกรณีที่เกิดการข่มขืนระหว่างสามีภรรยา แต่กฎหมายฉบับปัจจุบันได้กำหนดโทษและอนุญาตให้คู่สมรสฟ้องหย่าได้

 

มาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

นิยามคำว่าข่มขืนในทางกฎหมายที่ยึดหลักการไม่ยินยอมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะหลักการไม่ยินยอมในคดีข่มขืนนั้นเป็นที่ยอมรับในมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อนุสัญญาสภาแห่งยุโรปว่าด้วยการป้องกันและต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีและความรุนแรงในครอบครัว (Council of Europe Convention on preventing) หรืออนุสัญญาอิสตันบูล (The Istanbul Convention) ซึ่งถูกยกให้เป็นกรอบทางกฎหมายที่ใช้ในการแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่ครอบคลุมที่สุดในปัจจุบัน ได้กำหนดให้ประเทศที่เป็นภาคีในอนุสัญญานี้ระบุให้การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอมเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประเทศในทวีปยุโรปมากกว่า 20 ประเทศจะให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาอิสตันบูล แต่ประเทศส่วนใหญ่ก็ยังไม่แก้ไขนิยามการข่มขืนในทางกฎหมาย

ตลอดระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (United Nations Committee on the Elimination of Discrimination against Women) ได้กระตุ้นให้ประเทศหลายประเทศในทวีปยุโรปแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการข่มขืนให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาอิสตันบูล อีกทั้งยังกระตุ้นให้นิยามการข่มขืนโดยยึดแนวคิดเรื่องการไม่ยินยอมเป็นหลัก

เกือบหนึ่งในสามของผู้ที่ตอบแบบสอบถามเรื่องการใช้ความรุนแรงบนฐานเพศภาวะ (Gender-based violence) ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการยุโรปในปี 2559 มีความเห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์โดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมนั้นสามารถกระทำได้ “ในบริบทใดบริบทหนึ่งโดยเฉพาะ” ตัวอย่างเช่น ถ้าเหยื่อเมา หรือไม่สามารถควบคุมตัวเองได้เนื่องจากการเสพยา และยอมให้ใครสักคนไปส่งบ้าน ในขณะที่เหยื่อนั้นแต่งตัวเปิดเผยเนื้อหนังมากเกินไป และไม่พูดว่า “ไม่” อย่างชัดเจน หรือไม่ขัดขืน

 

ความคาดหวังผิดๆ จากเหยื่อที่ถูกข่มขืน

ถึงแม้จะมีความคาดหวังว่าผู้ที่เป็นเหยื่อจากการถูกข่มขืน “ที่ดี” นั้นควรต้องต่อสู้ขัดขืน แต่เหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศส่วนใหญ่จะเกร็งจนตัวแข็ง ทำให้เหยื่อไม่สามารถตอบโต้หรือแม้กระทั่งวิ่งหนีได้ การศึกษาทางการแพทย์ของสวีเดนในปี 2560 พบว่า 70% ของผู้หญิงที่ถูกข่มขืน 298 คน มีอาการ “เป็นอัมพาตโดยไม่ตั้งใจ” ระหว่างถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ทั้งนี้ จากคดีล่าสุดที่เกิดขึ้นทางตอนเหนือของประเทศสเปน การชันสูตรศพไดอาน่า คัวร์ (Diana Quer) ซึ่งหายตัวไปในปี 2559 ไม่สามารถระบุได้ว่าเธอถูกข่มขืนหรือไม่ เนื่องจากศพเน่าเกินไป แต่คดีนี้ได้จุดประกายให้เกิดการอภิปรายถึงความคาดหวังผิดๆ ที่ผู้หญิงควรขัดขืนเมื่อถูกข่มขืน เนื่องจากสื่อได้คาดการณ์ว่าไดอาน่านั้นถูกฆ่าเนื่องจากเธอขัดขืนขณะถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ใช่เพียงความคาดหวังของสังคมเท่านั้น แต่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในหลายประเทศก็โยนให้เป็นผู้หญิงที่ต้องต่อสู้ขัดขืน ทั้งๆ ที่ความจริงผู้กระทำผิดไม่ควรไปข่มขืนเหยื่อตั้งแต่แรก บทเรียนจากคดีนี้คือ เมื่อผู้หญิงขัดขืน เธออาจต้องชดใช้ด้วยชีวิต แต่ถ้าผู้หญิงไม่ขัดขืน ก็จะไม่มีใครเชื่อว่าผู้หญิงคนนั้นถูกข่มขืน

ในขณะที่ไอร์แลนด์เหนือ การปล่อยตัวนักกีฬารักบี้จากจังหวัดอัลสเตอร์สี่คน ซึ่งถูกตัดสินว่าเป็นผู้กระทำผิดในคดีข่มขืน ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความเหมาะสมของกระบวนการทางกฎหมาย และการปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์ ในระหว่างการพิจารณาคดี ผู้ร้องทุกข์ถูกตั้งคำถามโดยทนายสี่คนเป็นเวลาแปดวัน และกางเกงชั้นในที่เปื้อนเลือดของเธอก็ถูกเอามาแสดงในชั้นศาล การกระทำเหล่านี้ก่อให้เกิดการรวมตัวของผู้หญิงทั้งในไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์ โดยมีผู้คนนับพันเข้าร่วมการประท้วงที่เมืองเบลฟาสต์ คอร์ก ดับลิน และเมืองอื่นๆอีกหลายเมือง และได้มีการสนับสนุนผู้ร้องทุกข์ในคดีดังกล่าว ด้วยการติดแฮชแทก #IBelieveHer พร้อมทั้งสร้างเพจใน Facebook ชื่อ I Believe Her - Ireland ซึ่งผู้สนับสนุนได้ร่วมแบ่งปันเรื่องราวของตัวเองในเพจดังกล่าว

 

ทำไมเหยื่อที่ถูกข่มขืนส่วนใหญ่ถึงไม่ดิ้น ไม่สู้

เมื่อคนเราถูกข่มขืน หลายคนอาจต่อสู้ขัดขืนจนสามารถหนีเอาตัวรอดได้ แต่สำหรับบางคนร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์ร้ายแรงที่แตกต่างออกไป โดยสมองจะสั่งให้เราอยู่เฉยๆ เมื่อประเมินสถานการณ์แล้วว่าเราหนีไม่พ้น หรือสู้ไม่สำเร็จ ดังนั้นหลายคนเมื่อถูกข่มขืนจะเกิดอาการตัวแข็ง หรือ “เป็นอัมพาตโดยไม่ตั้งใจ” ถึงแม้ว่าจะอยากต่อสู้ขัดขืนแค่ไหนก็ตาม โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เผยแพร่สาระความรู้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับการข่มขืน และกล่าวถึงปฏิกิริยาทางร่างกายของเหยื่อที่ถูกข่มขืนว่า

“การสั่งการนี้ไม่ใช่การแนะนำของสมองต่อร่างกาย แต่เป็นการที่สมองยึดครองร่างกายไปจากเรา เพราะตอนนั้นสมองส่วนใช้เหตุผล (Prefrontal cortex) จะถูกทำให้ใช้การไม่ได้ เราจะอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถสั่งการให้ร่างกายขยับได้ตามใจ (เหมือนกวางที่ถูกเสือจ้อง) ปฏิกิริยาโดยธรรมชาติของร่างกายเมื่ออยู่ในสภาวะสิ้นหวังเช่นนั้นก็คือ จากตาที่เบิกกว้างในตอนแรก แต่ตอนนี้เราจะปิดตาลง ตัวสั่นเทา อุณหภูมิร่างกายลดลง ไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวด หมดเรี่ยวแรง และในกรณีที่รุนแรงคือเราไม่รู้สึกดึงตัวตน หรือแยกตัวตนออกจากร่างกายที่ถูกกระทำ เราเรียกปฏิกิริยาทั้งหมดนี้ว่า “Tonic immobility

ดังนั้นเราไม่ควรตัดสินเหยื่อที่ไม่ขัดขืนว่าสมยอม เพราะปฏิกิริยาของสมองและร่างกายเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม สังคมควรตระหนักถึงความจริงข้อนี้ และเห็นใจเหยื่อที่ถูกกระทำ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง และกระบวนการยุติธรรมควรต้องให้ความยุติธรรมกับเหยื่อจนถึงที่สุด

 

การเหมารวม และความเชื่อผิดๆ

สิ่งที่คดีซึ่งเกิดขึ้นในเมืองเบลฟาสต์บอกได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ ถึงแม้ว่ากฎหมายที่บังคับใช้ในเบลฟาสต์จะนิยามการข่มขืนโดยยึดแนวคิดเรื่องการไม่ยินยอมเป็นหลัก แต่ก็ยังมีอุปสรรคอีกมากมายที่ขัดขวางไม่ให้ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนได้รับความยุติธรรม การนิยามการข่มขืนโดยยึดหลักการไม่ยินยอม และการปฏิรูปกฎหมาย ไม่ใช่ทางออกของคดีข่มขืน แต่มันคือจุดเริ่มต้น การบังคับใช้กฎหมาย และการป้องกันคดีข่มขืนถูกขัดขวางโดยอคติ การกล่าวโทษเหยื่อ การเหมารวม และความเชื่อผิดๆ โดยเฉพาะในผู้ที่มีหน้าที่ป้องกันการข่มขืนและช่วยเหลือเหยื่อให้ได้รับความยุติธรรม การเคลื่อนไหวด้วยการติดแฮชแทก #MeToo ทำให้เสียงของผู้หญิงดังออกไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ไม่ใช่แค่นักกิจกรรมเท่านั้นที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะการข่มขืนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบหนึ่ง สังคมที่ปราศจากการข่มขืนถือเป็นสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่แต่ละประเทศจะลุกขึ้นมายอมรับในทางกฎหมายว่าการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอมนั้นคือ “การข่มขืน”

 

ที่มา : แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย. (14 พฤษภาคม 2561). คุกคามทางเพศ ‘ไม่ใช่’ เทพนิยาย. ใน https://www.amnesty.or.th/latest/blog/6111/

หมายเหตุ :

  • ขอขอบคุณแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่อนุญาตให้เผยแพร่บทความชิ้นนี้ซ้ำในสื่อของสถาบันปรีดี พนมยงค์