ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สิทธิมนุษยชน คือ ความเท่าเทียม “ทำไมต้องมองว่าเพราะเป็นผู้หญิงจึงทำไม่ได้”

17
มกราคม
2566

ปัญหาเร่งด่วนที่สุดในความเท่าเทียมทางเพศ แน่นอนว่าอย่างหนึ่งคือกฏหมายที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ที่สำคัญไปมากกว่านั้นคือ พื้นฐานทางความคิดที่ยังคงติดกรอบ ว่าต้องเอาเพศมาเป็นตัวแบ่งแยก หรือเป็นการจำกัดกรอบศักยภาพของคน หรือเป็นการจำกัดกรอบในชีวิต ว่าคนที่มีลักษณะแบบนี้ควรจะได้แค่นี้ หรือถ้าเป็นแบบนี้ได้อีกแบบหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ที่ต้องพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศ เพราะว่าต้องต่อสู้ว่ามนุษย์ยังไม่ถูกมองว่าเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน แต่ปัจจุบันมีองค์ความรู้ที่ค่อนข้างก้าวหน้าไปไกลมากขึ้นแล้ว เราไม่มองมนุษย์ด้วยกันแล้วแบ่งแยกด้วยเพศอีกแล้ว คิดว่าเรื่องนั้นไม่สมเหตุสมผลเกินไปแล้ว ส่วนคิดว่าถ้าหากเราทลายกรอบนี้ทิ้งเสีย ก็จะไม่มีกรอบมาแบ่งแยกว่าเพศไหนคืออะไร เพศไหนควรจะได้แค่ไหนอย่างไร แต่เราจะมองทุกคนตามศักยภาพความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคลจริงๆ

สิ่งหนึ่งที่อยากให้ช่วยขยายความเพิ่มเติมในมุมคนรุ่นใหม่ คน Generation นี้ ในมิติของความเท่าเทียมเราเห็นอย่างไร การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาทำอะไรกับประเด็นนี้บ้าง 

จากประสบการณ์ที่เคยเจอมา มีการจำกัดกรอบหลายอย่าง ทั้งจากครอบครัว ครูอาจารย์ในโรงเรียน รวมถึงอยู่ในบทบาทที่เป็น Speaker เป็นคนพูดต่อสาธารณะก็ถูกตัดสินจากสังคม ในมุมมองที่บอกว่า “เราเป็นผู้หญิงแล้วทำได้อย่างไร” ซึ่งเป็นคำพูดที่เราก็งงว่า “แล้วทำไม? เป็นผู้หญิงแล้วอย่างไร?” เลยเห็นมิติที่ว่าเขายังใช้เรื่องเพศเป็นกรอบในการตีความ การจำกัดกรอบศักยภาพของมนุษย์อยู่

ตั้งแต่ในโรงเรียน ตัวมายด์เองเป็นคนที่มีแต่เพื่อนผู้ชายเยอะมาก จริตก็จะห้าวๆ แต่ว่ามีครั้งหนึ่งที่มีปัญหากับเพื่อนผู้ชาย และพูดคุยกันหนักมากผ่านทางโทรศัพท์ แล้วพ่อได้ยิน ป๊าเลยพูดกับเราว่า “มีปัญหาอะไร? ทะเลาะกับเพื่อนผู้ชายหรอ?” เราเลยตอบไปว่า มีปัญหากันนิดหน่อย แต่เคลียร์กันแล้ว” ป๊าพูดต่อว่า “เราน่ะอย่าไปทำตัวแข็งกร้าวแบบนั้นสิ เราเป็นผู้หญิง เราจะไปสู้อะไรเขาได้” หนูก็คิดในใจว่า “ใช่หรอ?  เอาอย่างนั้นจริงหรอ?” Mindset ตรงนี้ เป็นสิ่งที่เราเจอมากับตัวเองด้วย แม้แต่กระทั่งเรื่องเล็กน้อย เช่น การมีปัญหาในโรงเรียน 

พอเริ่มออกมาเคลื่อนไหวจะมีเหตุการณ์หนึ่งที่มีการติดป้ายหน้ามหาวิทยาลัย และถูกเรียกตัวเข้าไปในคณะ ตอนนั้นเรียนอยู่คณะวิศวะฯ โดยรองคณบดี เขาไม่ได้บอกเราว่าเรียกไปทำอะไร พอไปถึงก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนั่งรออยู่ในห้องแล้ว เพราะว่าต้องการมาสอบสวน ในกรณีที่ติดป้ายหน้ามหาวิทยาลัย ในครั้งนั้นคนที่ไปติดป้ายด้วยกันจะมีตัวมายด์กับเพื่อนผู้ชายอีก 4 คน ไปติดป้ายด้วยกัน แล้วภาพตรงกล้องวงจรปิดคือมายด์เป็นคนขับรถและเพื่อนๆ เดินลงไปติดป้าย

คำแรกเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นหน้ามายด์เขาพูดว่า “น้องเป็นผู้หญิงตัวแค่นี้ขับรถคันใหญ่จัง” ซึ่งมายด์เลยงงว่า “ทำไมถึงขับไม่ได้?” และยังมีถามต่ออีกว่า “แล้วไปทำอีท่าไหนถึงไปทำอะไรแบบนี้กับพวกเขาได้?” มายด์คิดในใจเข้าไปใหญ่ว่า “ทำไมพี่ถึงไม่คิดว่าหนูเป็นคนชวนบ้างหรอ ทำไมต้องคิดว่าพวกเขาชวนหนู?” อันนี้เป็นมิติที่ได้เจอกับตัว เลยค่อนข้างติดใจว่าทำไมสังคมต้องตีกรอบคนด้วยเพศ ทำไมไม่มองถึงศักยภาพความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เขาต้องปกป้องความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ไม่มีความสมเหตุสมผลเลยที่จะมาตีค่าความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคลด้วยเพศ และไม่มีความสมเหตุสมผลที่จะมาจำกัดใครทำอะไรได้แค่ไหนด้วยเพียงแค่คำว่าเพศ

พอเคลื่อนไหวทางการเมืองมาสักพัก คนที่มักจะได้รับคำถามเยอะมากมักจะเป็นผู้หญิงที่ออกมามีบทบาทนำในทางการเมืองและการเคลื่อนไหว ถ้าพูดถึงผู้ชายอาจจะยังไม่ถูกตั้งคำถามมากนักว่า “เป็นผู้หญิงจะนำได้เหรอ?” “เป็นผู้หญิงแล้วออกมาทำไม? ทำไมไม่ปล่อยให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของผู้ชายทำกัน” เลยกลับมาที่ว่า ทำไมผู้หญิงถึงมีหัวคิดในการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ได้ ทำไมถึงมองว่าเพราะเป็นผู้หญิงถึงทำไม่ได้ เรื่องพวกนี้มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องกระจายความคิดนี้ลงไปสู่สังคมอีก ว่าความสำคัญของคำว่า “คนเท่ากัน” นั้นเป็นอย่างไร จะได้เลิกใช้พื้นฐานความคิดแบบนี้สักที เช่น “ว้าวจังเลย น้องผู้หญิงคนนี้สวยมากออกมามีบทบาทนำทางการเมือง” ซึ่งมายด์เข้าใจในคำชื่นชมนั้น แต่นี่เป็นการตีกรอบศักยภาพความเป็นมนุษย์อยู่ดี

อีกเรื่องที่จะได้รับบ่อยมาก คือการวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายที่อาจไม่เห็นด้วยกับเรา เขามักใช้วิธีการวิจาร์ณพ่วงกับการใช้คำพูดคุกคามทางเพศ ในโซเชียลมีเดียโดนบ่อยมาก เช่น “ขอสักที” “น้องขาขาวจังเลย” หรือบางครั้งก็มีคำพูดประมาณว่า “ออกมาทำอย่างนี้ก้าวร้าวมากเลยนะ ควรจะต้องโดนจริงๆ โดนรุมโทรมเลย” มีคำพูดพวกนี้ ซึ่งยิ่งทำให้รู้สึกว่าคนพวกนี้เขาไม่เข้าใจเลย แม้กระทั่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ต้องให้เกียรติและเคารพกัน การใช้คำพูดเหล่านี้เป็นการใช้คำพูดที่มี Mindset ที่ต้องการจะข่มเพื่อที่จะไม่ให้คุณแตกแถว หรือมีปากมีเสียงแล้วขึ้นมาคัดคานอำนาจกับคนพวกนั้น นี่เป็นสิ่งที่ได้พบเจอมา และคิดว่ายิ่งความเคลื่อนไหวของมายด์เอง มายด์ยิ่งให้ค่ากับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้นไปอีก เรื่องนี้จะเป็นสิ่งที่ต้องต่อสู้กับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอีกแล้ว เพราะหลังจากนี้จะไม่ใช้เพศมาจำกัดศักยภาพของความเป็นคนอีกแล้ว

การด้อยค่าอย่างนี้มีเกิดขึ้นอยู่ตลอด และในขบวนการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ในเวลานั้น เข้าใจว่าความเจ็บปวดนี้เกิดขึ้นอยู่

แม้กระทั่งคนในขบวนการเอง ก็ยังมีคนที่อาจจะยังไม่ปลดล็อคทางความคิดในลักษณะนั้น ยังมีคนที่ผลิตซ้ำวาทกรรมเดิมๆ ในการเหยียดเพศ หรือบางครั้งเขาอาจลืมตัวไปว่าความเป็นคนเท่ากันนั้นเป็นอย่างไร เขาอาจจะยังไม่ปลดล็อคตรงนี้ ซึ่งมายด์คิดว่า มันเป็นสิ่งที่เราต้องทำงานต่อไปทางความคิด เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้เข้าใจว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เรื่องของประชาชนมีอำนาจ แต่คือการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคลด้วย 

พัฒนาการในการต่อสู้และการเปลี่ยนแปลงเกิดอะไรขึ้นบ้าง และสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นใน Mindset ของผู้ใหญ่คือ Bullying ด้วยวาจาหรือคำพูด และเราต้องยอมเป็นตัวตลกในสายตาของผู้ใหญ่ หรือคนอีกเพศหนึ่งไปเรื่อยๆ เราจะเลิกทนได้ไหม การออกจากกรอบหรือวิธีคิดในเรื่องนี้ เวลาเผชิญกับสิ่งนี้จัดการอย่างไรบ้าง

ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาขบวนการเฟมินิสต์ในไทยค่อนข้างที่จะเข้มแข็งและเติบโตไวมาก เผลอๆ อาจจะเป็นขบวนการที่เข้มแข็งมากกว่าขบวนการที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอีกด้วยซ้ำ สิ่งสำคัญของขบวนการเฟมินิสต์ในไทยไม่ได้ต่อสู้แค่เรื่องสิทธิของผู้หญิง แต่สู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศจริงๆ ธงสีรุ้งกลายเป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุม สัญลักษณ์ในร้านอาหารที่เห็นความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ธงสีรุ้งกลายเป็นสัญลักษณ์ของการบอกจุดยืนว่าเรากำลังเคารพความเป็นมนุษย์ เคารพความเป็นสิทธิของแต่บุคคลโดยที่ไม่จำกัดว่าคนเหล่านั้นเป็นเพศอะไร ซึ่งตอนนี้ที่มายด์กล้าพูดว่าไม่ควรใช้เพศมาจำกัดกรอบแล้ว เพราะด้วยการเคลื่อนไหวทางสังคม สื่อ ซีรีส์ แม้กระทั่งเพลง ก็ถูกทลายกรอบเรื่องเพศไปเรียบร้อยแล้ว

สิ่งที่จะต้องทำต่อคือในเรื่องของหน่วยงานราชการกฎหมายที่ทำให้สิทธิของคนเท่าเทียมกันจริงๆ หลายท่านอาจจะเห็นชัดเจนว่าทำไมผู้หญิงถึงไม่เคยได้ขึ้นในสายบังคับบัญชาในวงการทหาร เป็นเรื่องน่าตลกมากทั้งๆ ที่ผู้ที่นุ่งกระโปรงหลายๆ คนที่เป็นทหารนั้นก็มีความสามารถ แต่เพียงแค่ว่าพวกเขาไม่ได้รับโอกาสในการเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อย จปร. พวกเขาเลยไม่ได้สิทธิในการเข้าไปเป็นสายบังคับบัญชา ซึ่งนี่เป็นการตัดตอนและตัดสินด้วยเพศตั้งแต่แรกแล้วว่าเขาจะจำกัดให้ใครขึ้นมาเป็นทหารบ้าง ให้ใครขึ้นมาอยู่ในสายที่จะได้คุมกองกำลังที่เป็นกำลังหลักของประเทศ

เรื่องหนึ่งที่เห็นชัดเจนอยู่แล้วว่าเชื่อมร้อยกันกับการถูกบูลลี่และนำมาสู่การกดทับทางกายภาพ อย่างเรื่องทหารก็เช่นเดียวกัน เพื่อนมายด์เป็นทหารอยู่หลายคน และเป็นทหารที่เป็นผู้หญิง เป็นผู้หญิงที่เอาวุฒิปริญญาตรีในการเข้าไปเป็นทหาร เราพูดคุยกับเขาตรงๆ เลยว่า “ในสายงานอาชีพของเพื่อน เพื่อนคาดหวังที่จะได้เลื่อนยศแค่ไหนอย่างไร” เพื่อนบอกว่า “เป็นผู้หญิงขึ้นพันเอกก็หรูแล้ว” ในขณะที่ผู้ชายแย่งชิงกันแทบตายเพื่อให้ขึ้นเป็นนายพลไปคุมสายกองกำลัง ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะได้ทั้งโอกาสในการมีเงินบำนาญเพิ่มขึ้นในอนาคต หรือโอกาสในการควบคุมคน หรือโอกาสในการหาเงินในช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินจากราชการ ด้วยความต่อเนื่องของสังคมในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน วงการทหารเป็นจุดที่ทำให้เห็นได้ชัดที่สุดแล้วว่ามีการกดขี่ทางเพศอย่างไร และมีการปิดกั้นทางเพศ ให้ผู้ชายได้รับโอกาสมากกว่าเพศอื่นๆ อย่างไร

ซึ่งเมื่อวนกลับมาที่ขบวนการเฟมินิสต์ ในการเคลื่อนไหวเมื่อ 2563 ที่ผ่านมา อย่างที่บอกไปว่าขบวนการเฟมินิสต์ค่อนข้างเข้มแข็งมาก หลายงานที่ได้เห็นเช่นงาน PRIDE ได้รับความสนใจเยอะมากในทุกครั้งที่จัด และทุกคนยินดีกับการที่แต่ละคนได้แสดงความซื่อสัตย์และจริงใจต่อตัวตนของตัวเอง ของแต่ละบุคคล ให้กำลังใจกันและกัน แม้ก่อนหน้านั้น 2-3 ปี พวกเขาอาจจะกลัวมากในการที่จะจริงใจต่อตัวตนของตัวเอง แต่ตอนนี้กลายเป็นว่างาน PRIDE เป็นงานที่เราต่างมาชื่นชมยินดีกัน แสดงความเป็นตัวตนของกันและกัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไรอีกแล้ว 

อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่ามีความหวังมากขึ้นทั้งในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต อาจจะเกิดขึ้นได้จริงๆ ผ่านทางกฎหมายด้วย อีกส่วนที่จะนำไปสู่ความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์ ที่แต่ละบุคคลจะเคารพสิทธิในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันจริงๆ เพราะคนที่เคยถูกกดขี่ก่อนหน้านี้ เราเบื่อหน่ายต่อการยอมจำนนแล้ว และเราเข้าใจถึงวิธีการที่เราจะขึ้นมาขัดขืน แข็งขัน เพื่อยืนยันสิทธิในความเป็นมนุษย์ของตัวเองแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผู้กดขี่จะกลัวการแสดงออกทางการกระทำแต่อย่างใด แต่พวกเขาเหล่านั้นจะต้องกลัวการเปลี่ยนไปของพื้นฐานทางความคิด เพราะคนเหล่านี้เขาไม่ยอมแล้ว นี่คือสิ่งสำคัญมากกว่า

เมื่อคนเหล่านี้ไม่ยอมแล้ว แนวคิดเหล่านี้จะถูกแพร่กระจายไปในสังคมอย่างเป็นปกติมากขึ้น จะไม่มีใครยอมถูกกดขี่แบบนั้นอีกต่อไป เพราะฉะนั้นจะเป็นการยืนยันตัวตน ยืนยันหลักการความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคลโดยอัตโนมัติ ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่หนทางหลุดพ้นจากอำนาจนิยมแบบเดิม จากกลุ่มชนชั้นนำที่มีแต่ความล้าหลังและไม่ยอมปรับเปลี่ยนตัวเองตามกาลเวลา จากกลุ่มคนที่มักจะใช้เพศในการกดขี่ จากกลุ่มคนที่มักจะตัดสินและตีค่าคนอื่นด้วยกรอบความคิดของตัวเองแทนที่จะเคารพความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง : PRIDI Talks #19: 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

ที่มา : ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ใน PRIDI Talks #19: 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ “สิทธิมนุษยชนกับความเท่าเทียมทางเพศในรัฐธรรมนูญไทย” วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม 2566 14.00 - 17.00 น. ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี