ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

ความสัมพันธ์ระหว่างปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ กับ ม.ร.ว. พันธุ์ทิพย์ บริพัตร

8
เมษายน
2567

นายปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ถ่ายภาพร่วมกับนายกเทศมนตรี
ณ สถานีเมืองเบอร์มิงแฮม ระหว่างการเดินทางไปแก้ไขสนธิสัญญายังประเทศต่างๆ
ที่มา : หนังสือ ดร. ปรีดี พนมยงค์ โดยไสว สุทธิพิทักษ์

 

บทนำ

ผลงานสำคัญของนายปรีดี พนมยงค์ ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (9 สิงหาคม 2480 - 15 ธันวาคม 2481) คือ การเจรจาให้สยามมีเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ กล่าวคือ สามารถแก้ไขสนธิสัญญาเพื่อยกเลิก “สภาพนอกอาณาเขต” (Extra-territoriality) กับนานาประเทศได้เป็นผลสำเร็จ

ถึงกระนั้น นายปรีดีก็หาได้อวดอ้างเอาความดีความชอบแต่เพียงผู้เดียว เพราะในหนังสือ ชีวประวัติย่อฯ ของเขา นายปรีดีได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า

“ปรีดีขอถวายพระเกียรติแด่สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ และกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย อดีตเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ 6 และที่ 7 ซึ่งทรงวิริยะอุตสาหะแก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศ ระหว่างเวลา 7 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2462-2469) อันเป็นผลทำให้นานาประเทศลดหย่อนผ่อนอำนาจและสิทธิพิเศษหลายประการที่มีอยู่เหนือสยาม และปรีดีขอความเป็นธรรมให้แก่พระยากัลยาณไมตรีคนแรก ซึ่งมีนามว่า “เวสเตนการ์ด” ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ”

ภายหลังการอสัญกรรมของ นายปรีดี พนมยงค์ ทาง ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้ส่งหนังสือ ชีวประวัติย่อฯ มอบแด่ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร[1] พระธิดาของ ม.จ.ไตรทศประพันธ์ เทวกุล  ชายาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตรฯ) และยังเป็นนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี โดย ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ ได้เขียนจดหมายตอบกลับถึงท่านผู้หญิงพูนศุขว่า ขอบคุณนายปรีดีที่ได้ถวายพระเกียรติให้ “พ่อ” และ “สมเด็จปู่” ของเธอในกรณีเกี่ยวกับการยกเลิก “สภาพนอกอาณาเขต” (Extra-territoriality) ซึ่งจดหมายโต้ตอบระหว่าง ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ และท่านผู้หญิงพูนศุขในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2526 มีจำนวน 4 ฉบับ โดยจะนำเสนอรายละเอียดอย่างครบถ้วนไว้ในงานชิ้นนี้

 

ประวัติการแก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศ[2]

นายปรีดีขอถวายพระเกียรติแด่สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ และ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัยอดีตเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ 5 และ 7 ซึ่งทรงมีพระวิริยะอุตสาหะแก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศ ระหว่างเวลา 2 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2462-2469) อันเป็นผลให้นานาประเทศ ลดหย่อนผ่อนอํานาจและสิทธิพิเศษหลายประการที่มีอยู่เหนือสยาม และปรีดีขอความเป็นธรรมให้แก่พระยากัลยาณไมตรีคนแรก ซึ่งมีนามว่า “เวส เตนการ์ด” ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ

คําบอกเล่า (Hearsay) เรื่อง ดร.แซร์ เป็นผู้แก้ไขสนธิสัญญาเลิกสิทธิ นอกอาณาเขตของนานาประเทศเหนือสยาม

ภายหลังรัฐประหาร 2490 (ค.ศ. 1947) ปรีดีฯ ต้องลี้ภัยจากประเทศไทยไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลา 36 ปีนั้น ได้มีบุคคลโฆษณาในสถานศึกษาและในหลายวงการว่า ดร.แซร์ ซึ่งได้รับพระราชทานสัญญบัตรเป็นพระยากัลยาณไมตรี เป็นผู้มีบุญคุณสําคัญแก่ประเทศไทยในการแก้ไขสนธิสัญญาเลิกสภาพสิทธินอกอาณาเขตที่นานาประเทศมีอยู่เหนือประเทศนั้นให้หมดสิ้นไป ผู้สอนบางสถาบันได้ชักจูง ให้นักเรียนรําลึกถึงบุญคุณของท่านเจ้าคุณคนนั้น

ปรีดีฯ ขอชี้แจงว่า ปรีดีฯ มีมิตรภาพอันดีกับ ดร.แซร์ ตั้งแต่ปรีดีฯ พบท่านที่กรุงวอชิงตัน เมื่อ พ.ศ. 2478 คือ ปรีดีฯ ได้ไปพบ มร.คอเดลล์ ฮัล รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ส.ร.อ. (เรียกชื่อตําแหน่งเป็นภาษาอังกฤษว่า “Secretary of State”) เพื่อขอทาบทามถึงความปรารถนาของรัฐบาลสยามที่จะทําสนธิสัญญาใหม่เพื่อยกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาค ร.ม.ต.ว่าการต่างประเทศอเมริกันจึงมอบให้ ดร.แซร์ ขณะนั้นเป็น “ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการต่างประเทศ” เป็นผู้ติดต่อกับปรีดีถึงหลักการในการเจรจานั้น ดร.แซร์ได้รับข้อเสนอของปรีดีที่ขอให้ ส.ร.อ. ยอมตกลงทําสนธิสัญญาใหม่เพื่อให้สยามได้คืนความเป็นเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ที่ถูกจํากัดตามสนธิสัญญาฉบับที่ทําไว้กับ ส.ร.อ. เมื่อ พ.ศ. 2463 รายละเอียดปรากฏในโทรเลขของปรีดีฯ ส่งจากวอชิงตันรายงานพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี

ปรีดีฯ จึงขอให้ท่านผู้ปรารถนาสัจจะสังเกตว่าถ้าสยามได้เอกราชสมบูรณ์แล้วตามสนธิสัญญากับ ส.ร.อ. ฉบับ พ.ศ. 2463 ดร.แซร์ก็คงปฏิเสธข้อเสนอของปรีดีฯ แต่ท่านได้รับข้อเสนอของปรีดีไว้พิจารณาด้วยดีพร้อมทั้งให้คําแนะนําบางประการ ปรีดีฯ จึงขอชี้แจงต่อท่านที่ปรารถนาสัจจะดังต่อไปนี้

(1) ที่ปรึกษาชาวอเมริกันซึ่งเป็นที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศได้รับพระราชทานสัญญาบัตร “พระยากัลยาณไมตรี” นั้นมี 2 คน คือ

(ก) คนแรกชื่อ “Westengard” (เวสเตนการ์ด) ได้เข้ามารับราชการในรัชกาลที่ 5 และรับราชการต่อมาในรัชกาลที่ 5 จนถึง พ.ศ. 2465 (ค.ศ. 1922) จึงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการกลับไป ส.ร.อ.

ท่านผู้นี้ได้มีความชอบในราชการในฐานะที่ท่านรับราชการนานและในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ท่านก็ได้ช่วยให้คําปรึกษาแก่รัฐบาลสยามในการประกาศสงครามกับจักรวรรดิเยอรมนีและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ตลอดจนวิธีการยึดทรัพย์เชลยรวมทั้งการยึดเรือเดินทะเลของจักรวรรดิทั้งสองที่ได้หลบเข้ามาจอดอยู่ในแม่น้ําเจ้าพระยาก่อนที่สยามประกาศสงครามกับจักรวรรดิทั้งสองดังกล่าวนี้

ท่านผู้นี้มีความรู้ในกฎหมายระหว่างประเทศอย่างลึกซึ้ง เช่น ท่านได้แต่งเรื่องกฎหมายทะเลลงพิมพ์ในนิตยสารชื่อ สมุทสาร ซึ่งรัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯ จัดให้มีขึ้น (ในขณะที่ปรีดีฯ เป็นนักเรียนกฎหมายที่กระทรวงยุติธรรมก็ได้ศึกษาบทความเรื่องกฎหมายทะเลของท่านผู้นั้น) เมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วท่านก็ได้ช่วยสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับ ส.ร.อ. ฉบับ พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1920) และได้ช่วยกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย (พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์) รักษาการแทนเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศในการตระเตรียมแก้ไขสนธิสัญญากับญี่ปุ่น

รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยากัลยาณไมตรี” คนแรก ฉะนั้นถ้าจะถือว่าสนธิสัญญากับ ส.ร.อ. ฉบับ 2463 (ค.ศ. 1920) เป็นตัวอย่างแห่งการที่จักรวรรดินิยมยกเลิกอํานาจและสิทธิพิเศษเหนือสยามแล้ว พระยากัลยาณไมตรีคนแรก (มร.เวสเตนการ์ด) ก็มีความชอบในฐานะที่ปรึกษาเสนาบดี มิใช่ ดร.แซร์ ซึ่งเป็นพระยากัลยาณไมตรีคนที่สอง เพราะคนหลังนี้เพิ่งเข้ามารับราชการสยามเมื่อ ค.ศ. 1923 (พ.ศ. 2466) ถึง ค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473) ดังปรากฏหลักฐานจากหนังสือสารานุกรม (Webster's Biographical Dictionary) หน้า 1318 ที่ถ่ายภาพลงพิมพ์ไว้ ดังต่อไปนี้

 

 

ฉะนั้น ปรีดีฯ จึงขอให้ท่านที่มีใจเป็นธรรม โปรดให้ความเป็นธรรมแก่พระยากัลยาณไมตรีคนที่หนึ่ง (เวสเตนการ์ด) ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกทางก่อนที่ ดร.แซร์ จะเข้ามารับราชการในสยาม

(2) ปรีดีฯ ขอให้ท่านผู้มีใจเป็นธรรมโปรดถวายพระเกียรติแด่สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการและกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7

ท่านที่มีใจเป็นธรรมเมื่อได้ทราบความจริงที่ปรีดีฯ ได้เสนอข้างต้นนั้นแล้วถึงความชอบของ มร.เวสเตนการ์ดซึ่งเป็นพระยากัลยาณไมตรี คนแรกก็ขอให้ถวายพระเกียรติแด่สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการซึ่ง เป็นเสนาบดีการต่างประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2429 จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ ในรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2466 ซึ่งเป็นประวัติการณ์ที่ทรงดํารงตําแหน่งเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศเป็นเวลาถึง 37 ปี ซึ่งทรงรอบรู้ในวิชาการระหว่างประเทศ และทรงชํานาญการระหว่างประเทศเป็นเวลาช้านานนั้นก็ย่อมจะมีความรู้ความชํานาญสูงหรือเหนือกว่า ดร.แซร์ มาก

ส่วนกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย (พระองค์ไตรทศประพันธ์) ก็ได้ทรงมีความรู้ในวิชารัฐศาสตร์ทางการทูต และเคยเป็นอัครราชทูตอีกทั้งดํารงตําแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ แล้วทรงดํารงตําแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศสืบต่อสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ

ส่วน ดร.แซร์นั้นได้ปริญญาตรีกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัย Harvard ซึ่งมีชื่อเสียงก็จริง แต่เสนาบดีไทยทั้งสองพระองค์นั้นก็ทรงมีความรู้ความชํานาญไม่น้อยกว่า ดร.แซร์ แต่ ดร.แซร์ อาจมีอิทธิพลในรัฐบาลอยู่บ้างเพราะเป็นลูกเขย (ชามาดา) ของอดีตประธานาธิบดีวิลสัน แต่ในขณะที่รัฐบาลสยามจ้าง ดร.แซร์ เป็นที่ปรึกษานั้นประธานาธิบดีวิลสันได้พ้นตําแหน่งไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีใจเป็นธรรมไม่ควรยกให้ ดร.แซร์ มีความชอบยิ่งกว่าเสนาบดีสองพระองค์ของสยามดังที่ปรีดีฯ ได้อ้างพระนามของพระองค์ไว้ข้างต้นนั้น เพราะเหตุดังต่อไปนี้

ประการที่ 1

แม้สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นสมัยสมบูรณาฯซึ่งมีกระทรวงทบวงกรมสืบมาจาการปรับปรุงระเบียบราชการบริหารตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ก็ดี แต่ระเบียบราชการบริหารแต่ละกระทรวงก็ดําเนินตามหลักนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ของอารยประเทศ คือ มี “เสนาบดี” เป็นผู้รับผิดชอบ เช่นเดียวกับ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวง” ตามระบบรัฐธรรมนูญที่ปรึกษาเป็นแต่เพียงบุคคลที่ให้ความเห็นแก่เสนาบดีหรือแก่รัฐมนตรี คําวินิจฉัยสุดท้ายของงานกระทรวงนั้นอยู่ที่เสนาบดีหรือรัฐมนตรี ซึ่งต้องรับ ทั้ง “ชอบ” และทั้ง “ผิด” ส่วนที่ปรึกษานั้น “ไม่ต้องรับผิด” แต่ “มีความชอบ” ในกรณีที่เสนาบดีหรือรัฐมนตรีสั่งให้ปฏิบัติตามความเห็นที่ปรึกษาซึ่งได้ผลดีและถูกต้อง ความชอบของที่ปรึกษาซึ่งไม่มีความรับผิดนั้นจึงไม่อาจอยู่เหนือเสนาบดีหรือรัฐมนตรี

ฉะนั้นการที่ผู้แต่งเรื่องอภินิหาร ดร.แซร์ว่าเป็นบุคคลสําคัญยิ่งกว่าเสนาบดี ๒ พระองค์นั้น จึงเป็นการกระทําผิดต่อหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ของอารยประเทศรวมทั้งของสยามด้วย

ประการที่ 2

ข้อเท็จจริงปรากฏตามหลักฐานว่า เมื่อได้ประกาศใช้สัญญาสันติภาพฉบับแวร์ไซส์และฉบับแซงต์-แยร์แมงฯ ในพ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1920) แล้วสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ สมัยนั้นก็ได้เจรจาทําสนธิสัญญาใหม่กับรัฐบาล ส.ร.อ. โดยไม่ชักช้าอันเป็นผลสําเร็จใน พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1921) ก่อนที่ ดร.แซร์ จะเดินทางเข้าไปรับราชการเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลสยาม

เสร็จจากสนธิสัญญากับ ส.ร.อ.ฉบับนั้น สมเด็จฯ ก็ได้ทรงเริ่มเจรจากับรัฐบาลญี่ปุ่นไปได้มากแล้ว พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2466 ครั้นแล้วพระองค์เจ้าไตรทศฯ (ต่อมาทรงพระ อิศริยยศ “กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย”) ได้ดํารงตําแหน่งเสนาบดีว่าการต่างประเทศสืบต่อมา พระองค์ก็ได้ทรงเจรจาสนธิสัญญาใหม่กับญี่ปุ่นจนลงพระนามได้ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2466

ส่วนสนธิสัญญากับประเทศอื่นๆ ที่ทําไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2467 ถึง พ.ศ. 2469 นั้น กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ทรงอํานวยการรับผิดชอบในฐานะเสนาบดี ดร.แซร์ มีความดีความชอบเพียงในฐานะที่ปรึกษา พระยากัลยาณไมตรีคนที่หนึ่งเป็นที่ปรึกษาในการแก้ไขสนธิสัญญากับ ส.ร.อ. ฉบับ พ.ศ. 2463 ก็ดี สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโร ปการ เสนาบดีสยามในรัชกาลที่ 6 ก็ดี และกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เสนาบดีสยามในรัชกาลที่ 6 และที่ 7 ก็ดี มิได้อ้างหรือทรงอ้างว่าได้แก้ไขสนธิสัญญาให้สยามมีเอกราชสมบูรณ์ เพราะขัดกับเอกสารหลักฐาน ซึ่งปรีดีได้เสนอไว้ในข้อ 1. และ 2. แล้ว

ส่วน ดร.แซร์ก็คงไม่กล้าอ้างการกระทําของท่านที่ขัดต่อเอกสารหลักฐานดังกล่าว เพราะการแก้ไขสนธิสัญญาระหว่าง พ.ศ. 2462-2469 นั้น สยามยังไม่ได้มีเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์

 

ความสัมพันธ์ระหว่างปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ กับ ม.ร.ว. พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ผ่านจดหมาย 4 ฉบับ

 


ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร
ที่มาของภาพ: Gotoknow

 

จดหมายของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2526

 

มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ 132 ซอยสวนพลู
ถนนสาธรใต้ กรุงเทพฯ 10120
โทร. 2860503, 2871721

15 สิงหาคม 2526

เรียน ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ที่นับถือ

ก่อนที่นายปรีดี พนมยงค์ จะถึงอสัญกรรม ท่านได้เรียบเรียงเรื่องเกี่ยวกับประวัติการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 จนกระทั่งการนั้นเสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลที่ 8 เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ทราบข้อเท็จจริง พร้อมด้วยหลักฐานที่อ้างอิงได้โดยตลอด ซึ่งในบันทึกที่ได้เรียบเรียงขึ้นนั้น ท่านได้ขอให้ชาวไทยถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ และเสด็จในกรมฯ พระบิดาของคุณท่าน ในฐานะเสนาบดีผู้รับผิดชอบโดยตรงในการริเริ่มและดําเนินการเจรจาในเรื่องดังกล่าว ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอุตสาหวิริยะ จนกระทั่งงานกู้เอกราชของชาติไทยได้บรรลุเป็นขั้นตอนไปด้วยดี อันสมควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ และท่านได้เคยปรารภใคร่จะส่งบันทึกดังกล่าวนี้มาให้คุณท่านด้วย

ดิฉันจึงขอถือโอกาสวันครบรอบ 100 ปีแห่งวันประสูติของเสด็จในกรมฯ ส่งหนังสือชื่อว่า “ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์” ซึ่งตีพิมพ์บันทึกดังกล่าวไว้ในภาคผนวกมาให้คุณท่านเพื่อเป็นที่ระลึกด้วยในวาระนี้

ด้วยความนับถืออย่างสูง
(ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์)

 

จดหมายของ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2526

หนังสือ “The Suan Pakkad Palace Collection”

หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ส่งหนังสือ “The Suan Pakkad Palace Collection” มอบแด่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

วังสวนผักกาด 354 ถนนศรีอยุธยา
กรุงเทพมหานคร 

22 สิงหาคม 2526

เรียน ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ทราบ

จดหมายและหนังสือ “ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์” ที่ท่านผู้หญิงได้กรุณาส่งมาให้ ได้รับแล้วด้วยความขอบคุณยิ่ง

เป็นการบังเอิญที่นับว่าได้จังหวะดีทีเดียว ในวาระที่พ่อ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ทรงมีชันษาครบ 100 ปี ในปีนี้ และพวกเราลูกหลานทําการเฉลิมฉลองเพื่อเป็นพระอนุสรณ์ ด้วยการพิมพ์หนังสือพระประวัติและงานของพระองค์ท่านขึ้นมาในครั้งนี้  จุดประสงค์ใหญ่ก็คือเพื่อประกาศพระเกียรติคุณของพ่อ โดยเฉพาะเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมในเรื่องที่เกี่ยวกับประวัติการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญา “สภาพนอกอาณาเขต” (Extra-territoriality) กับนานาประเทศ

ซึ่งความอุตสาหะความพยายามทุ่มเทและผลงานของพ่อในเรื่องนี้ถูกบดบังมาโดยตลอด ความดีความชอบส่วนใหญ่ดูจะตกไปอยู่กับพระยากัลยาณไมตรี (ดร.ฟรานซิส บี. แซร์) แต่ผู้เดียว และในหนังสือตําราประวัติศาสตร์ของไทยซึ่งคนรุ่นหลังใช้ร่ำเรียนกันมา ก็มิได้ให้ความสําคัญในบทบาทของเสด็จปู่และพ่อเลยแม้แต่น้อยนิด

ทั้ง ๆ ที่ทราบกันดีว่า ดร.แซร์ เป็นเพียงที่ปรึกษา ซึ่งมีพ่อเป็นเสนาบดีผู้บังคับบัญชาเหนืออยู่ในขณะนั้นโดยตลอดเวลา ซึ่งการปฏิบัติงาน ความรับผิดชอบ และคําวินิจฉัยขั้นสุดท้ายของงานกระทรวงย่อมขึ้นอยู่กับเสนาบดีอย่างแน่นอน ดังหลักฐานอ้างอิงที่ปรากฏอยู่แล้ว

ดิฉันเองนั้นรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจแค้นมาตั้งแต่หนังสือ “Glad Adventure” ของ ดร.แซร์ ได้พิมพ์ออกมาเมื่อ พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ใช่นักเขียน ก็จําเป็นที่จะต้องพยายามหาข้อมูลหลักฐานมาอ้างอิงพรรณาเองถึงบทบาทความสําคัญยิ่งของพ่อในด้านการแก้ไขสนธิสัญญาสภาพนอกอาณาเขตอันเสียเปรียบกับนานาประเทศ เป็นเหตุให้ประเทศไทยอยู่ในฐานะเสมอภาคเท่าเทียมกับชาติอื่น ๆ ได้ เพื่อให้เป็นประจักษ์พยานให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ทราบข้อเท็จจริงกันเสียที

และก็มาประจวบพอดีกับที่ท่านปรีดีได้กล่าวถึง ขอให้ผู้ที่มีใจเป็นธรรมถวายพระเกียรติแด่สมเด็จปู่ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และพ่อ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ไว้ในหนังสือชีวประวัติของท่าน ทําให้ทุกสิ่งทุกอย่างมีน้ำหนักขึ้นโดยปริยายด้วยบารมีของท่าน

ยินดีกับท่านผู้หญิงด้วยที่ท่านรัฐบุรุษมีคนยกย่องชมเชย ลูกศิษย์ผู้นิยมนับถือมากมายทั่วประเทศ จึงใคร่ขอถือโอกาสขอบพระคุณท่านผู้ล่วงลับไปแล้วและท่านผู้หญิงมาอย่างสูง ณ ที่นี้

สําหรับท่านผู้หญิงเอง ดิฉันนิยมในความสุขุมและเรียบร้อย ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว และขอชมเชยว่าเป็นภรรยาที่ดีได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสามีอย่างแท้จริงตลอดจนถึงที่สุด เคยพบท่านผู้หญิงโดยบังเอิญที่งานแสดงไม้ประดับ ณ วังสวนผักกาด ไม่ทราบว่า ท่านผู้หญิงเคยขึ้นไปชมของโบราณที่ข้างบนในพิพิธภัณฑ์บ้างหรือไม่ จึงขอส่งหนังสือ “The Suan Pakkad Palace Collection” มาให้พร้อมทั้งหนังสือ “พระประวัติและงานของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย” ซึ่งท่านปรีดีได้อ้างถึงไว้ในหนังสือชีวประวัติย่อของท่านที่ท่านผู้หญิงได้กรุณาส่งมาสําหรับเป็นที่ระลึกด้วยในวาระนี้

ด้วยความนับถือ
(หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร)

 

จดหมายของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2526

 

มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ 172 ซอยสวนพลู
ถนนสาธรใต้ กรุงเทพฯ 10120
โทร. 2860484

26 สิงหาคม 2526

เรียน ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ที่นับถือ

ดิฉันขอขอบพระคุณอย่างสูงในจดหมายลงวันที่ 22 สิงหาคม พร้อมทั้งหนังสือวังสวนผักกาด และหนังสือพระประวัติของเสด็จในกรมฯ อันเป็นหนังสือที่มีค่าอย่างยิ่งทั้งสองเล่ม ซึ่งคุณท่านได้กรุณาส่งมาให้

ดิฉันมีความภูมิใจว่า นายปรีดี พนมยงค์ ได้มีโอกาส แม้นจะเพียงน้อยนิดก่อนถึงแก่กรรม แสดงกตเวทิตาต่อท่านผู้ได้ทรงบําเพ็ญคุณประโยชน์อันสูงส่งให้กับบ้านเมือง  ให้การนั้นเป็นที่ตระหนักแก่คนรุ่นหลัง และให้เป็นความถูกต้องในประวัติศาสตร์

ดิฉันขอถือโอกาสนี้ส่งหนังสือบางเล่มที่เกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์ มาให้คุณท่านเป็นที่ระลึกพร้อมกันนี้ด้วย

ด้วยความนับถืออย่างสูง
(ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์)

 

จดหมายของ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2526

 

วังสวนผักกาด 352 ถนนศรีอยุธยา
กรุงเทพมหานคร

28 สิงหาคม 2526

เรียน ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ทราบ

จดหมายลงวันที่ 26 สิงหาคม พร้อมทั้งหนังสือ 5 เล่ม เกี่ยวกับท่านปรีดี ได้รับแล้วด้วยความขอบคุณยิ่ง  พลิกดูแล้วมีหลายสิ่งหลายอย่างในหนังสือเหล่านี้น่าสนใจอยู่มากทีเดียว 

ตามความรู้สึกของดิฉัน ท่านได้ทําคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองมากทีเดียว ในการที่ได้เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น เพื่อต่อต้านศัตรูซึ่งมารุกรานท่ามกลางความยากลําบากนานาประการในระหว่างสงคราม จนกระทั่งประสพความสําเร็จกอบกู้ชาติไทยให้เป็นอิสระอยู่จนทุกวันนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายกย่องชมเชยมาก

ณ โอกาสนี้ ดิฉันใคร่ระลึกถึงขอบพระคุณท่านผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และท่านผู้หญิงมาอีกครั้งหนึ่ง ในส่วนที่ท่านได้ช่วยเหลือทําให้บทบาทความสําคัญของเสด็จปู่และของพ่อ  โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการแก้ไขสนธิสัญญาสภาพนอกอาณาเขต มีน้ําหนักขึ้นในประวัติศาสตร์ ทําให้เป็นที่ตระหนักและเข้าใจโดยถูกต้องแก่คนรุ่นหลังต่อไป

ด้วยความนับถือ
(หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร)

หมายเหตุ :

  • คงอักขระ วรรคตอน และวิธีสะกดตามต้นฉบับ
  • ปรับปรุงชื่อตอนโดยทีมบรรณาธิการ
  • ในการเผยแพร่ครั้งนี้ มีการเคาะย่อหน้าใหม่เพื่อความสะดวกในการอ่าน

บรรณานุกรม

บทความในหนังสือ :

  • ปรีดี พนมยงค์, “ประวัติการแก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศ” ใน หนังสือวัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม 2531 (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531), น. 105-115.

[1] ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร เป็นพระธิดาของ ม.จ.ไตรทศประพันธ์ เทวกุล ต่อมาคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย โดยเสด็จในกรมพระองค์นี้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศสืบต่อจากสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ พระบิดาของพระองค์ ในภายหลัง ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ ได้เป็นหม่อมในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครวรรค์ศักดิ์พินิต  และผู้คนมักเรียก ม.ร.ว. คนนี้ว่า “คุณท่าน”

[2] ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: โครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”, 2526), 135-139.