คำอธิบายเบื้องต้น
ผลงานสำคัญของนายปรีดี พนมยงค์ ประการหนึ่งระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (9 สิงหาคม 2480-15 ธันวาคม 2481) คือ การเจรจาให้สยามมีเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ กล่าวคือ สามารถแก้ไขสนธิสัญญาเพื่อยกเลิก “สภาพนอกอาณาเขต” (Extra-territoriality) กับนานาประเทศได้เป็นผลสำเร็จ
ถึงกระนั้น นายปรีดีก็หาได้อวดอ้างเอาความดีความชอบแต่เพียงผู้เดียว เพราะในหนังสือ ชีวประวัติย่อฯ ของเขา นายปรีดีได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า
“ปรีดีขอถวายพระเกียรติแด่สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ และกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย อดีตเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ 6 และที่ 7 ซึ่งทรงวิริยะอุตสาหะแก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศ ระหว่างเวลา 7 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2462-2469) อันเป็นผลทำให้นานาประเทศลดหย่อนผ่อนอำนาจและสิทธิพิเศษหลายประการที่มีอยู่เหนือสยาม และปรีดีขอความเป็นธรรมให้แก่พระยากัลยาณไมตรีคนแรก ซึ่งมีนามว่า “เวสเตนการ์ด” ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ”
สำหรับ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร เป็นพระธิดาของ ม.จ.ไตรทศประพันธ์ เทวกุล ซึ่งต่อมา คือ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย โดยเสด็จในกรมพระองค์นี้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศสืบต่อจากสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ พระบิดาของพระองค์
ในภายหลัง ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ ได้เป็นหม่อมในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครวรรค์ศักดิ์พินิต และผู้คนมักเรียก ม.ร.ว. คนนี้ว่า “คุณท่าน”
ในปี 2526 “คุณท่าน” เขียนจดหมายขอบคุณนายปรีดีที่เวลานั้นล่วงลับไปแล้ว และท่านผู้หญิงพูนศุขที่ได้ถวายพระเกียรติให้ “พ่อ” และ “สมเด็จปู่” ของเธอในกรณีนี้
จดหมาย
มูลนิธิ ปรีดี พนมยงค์ 132 ซอยสวนพลู
ถนนสาธรใต้ กรุงเทพฯ 10120
โทร. 2860503, 2871721
15 สิงหาคม 2526
เรียน ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ที่นับถือ
ก่อนที่นายปรีดี พนมยงค์ จะถึงอสัญกรรม ท่านได้เรียบเรียงเรื่องเกี่ยวกับประวัติการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 จนกระทั่งการนั้นเสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลที่ 8 เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ทราบข้อเท็จจริง พร้อมด้วยหลักฐานที่อ้างอิงได้โดยตลอด ซึ่งในบันทึกที่ได้เรียบเรียงขึ้นนั้น ท่านได้ขอให้ชาวไทยถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ และเสด็จในกรมฯ พระบิดาของคุณท่าน ในฐานะเสนาบดีผู้รับผิดชอบโดยตรงในการริเริ่มและดําเนินการเจรจาในเรื่องดังกล่าว ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอุตสาหวิริยะ จนกระทั่งงานกู้เอกราชของชาติไทยได้บรรลุเป็นขั้นตอนไปด้วยดี อันสมควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ และท่านได้เคยปรารภใคร่จะส่งบันทึกดังกล่าวนี้มาให้คุณท่านด้วย
ดิฉันจึงขอถือโอกาสวันครบรอบ 100 ปีแห่งวันประสูติของเสด็จในกรมฯ ส่งหนังสือชื่อว่า “ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์” ซึ่งตีพิมพ์บันทึกดังกล่าวไว้ในภาคผนวกมาให้คุณท่านเพื่อเป็นที่ระลึกด้วยในวาระนี้
ด้วยความนับถืออย่างสูง
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
วังสวนผักกาด 354 ถนนศรีอยุธยา
กรุงเทพมหานคร
22 สิงหาคม 2526
เรียน ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ทราบ
จดหมายและหนังสือ “ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์” ที่ท่านผู้หญิงได้กรุณาส่งมาให้ ได้รับแล้วด้วยความขอบคุณยิ่ง
เป็นการบังเอิญที่นับว่าได้จังหวะดีทีเดียว ในวาระที่พ่อ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ทรงมีชันษาครบ 100 ปี ในปีนี้ และพวกเราลูกหลานทําการเฉลิมฉลองเพื่อเป็นพระอนุสรณ์ ด้วยการพิมพ์หนังสือพระประวัติและงานของพระองค์ท่านขึ้นมาในครั้งนี้ จุดประสงค์ใหญ่ก็คือเพื่อประกาศพระเกียรติคุณของพ่อ โดยเฉพาะเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมในเรื่องที่เกี่ยวกับประวัติการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญา “สภาพนอกอาณาเขต” (Extra-territoriality) กับนานาประเทศ
ซึ่งความอุตสาหะความพยายามทุ่มเทและผลงานของพ่อในเรื่องนี้ถูกบดบังมาโดยตลอด ความดีความชอบส่วนใหญ่ดูจะตกไปอยู่กับพระยากัลยาณไมตรี (ดร.ฟรานซิส บี. แซร์) แต่ผู้เดียว และในหนังสือตําราประวัติศาสตร์ของไทยซึ่งคนรุ่นหลังใช้ร่ำเรียนกันมา ก็มิได้ให้ความสําคัญในบทบาทของเสด็จปู่และพ่อเลยแม้แต่น้อยนิด
ทั้ง ๆ ที่ทราบกันดีว่า ดร.แซร์ เป็นเพียงที่ปรึกษา ซึ่งมีพ่อเป็นเสนาบดีผู้บังคับบัญชาเหนืออยู่ในขณะนั้นโดยตลอดเวลา ซึ่งการปฏิบัติงาน ความรับผิดชอบ และคําวินิจฉัยขั้นสุดท้ายของงานกระทรวงย่อมขึ้นอยู่กับเสนาบดีอย่างแน่นอน ดังหลักฐานอ้างอิงที่ปรากฏอยู่แล้ว
ดิฉันเองนั้นรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจแค้นมาตั้งแต่หนังสือ “Glad Adventure” ของ ดร.แซร์ ได้พิมพ์ออกมาเมื่อ พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ใช่นักเขียน ก็จําเป็นที่จะต้องพยายามหาข้อมูลหลักฐานมาอ้างอิงพรรณาเองถึงบทบาทความสําคัญยิ่งของพ่อในด้านการแก้ไขสนธิสัญญาสภาพนอกอาณาเขตอันเสียเปรียบกับนานาประเทศ เป็นเหตุให้ประเทศไทยอยู่ในฐานะเสมอภาคเท่าเทียมกับชาติอื่น ๆ ได้ เพื่อให้เป็นประจักษ์พยานให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ทราบข้อเท็จจริงกันเสียที
และก็มาประจวบพอดีกับที่ท่านปรีดีได้กล่าวถึง ขอให้ผู้ที่มีใจเป็นธรรมถวายพระเกียรติแด่สมเด็จปู่ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และพ่อ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ไว้ในหนังสือชีวประวัติของท่าน ทําให้ทุกสิ่งทุกอย่างมีน้ำหนักขึ้นโดยปริยายด้วยบารมีของท่าน
ยินดีกับท่านผู้หญิงด้วยที่ท่านรัฐบุรุษมีคนยกย่องชมเชย ลูกศิษย์ผู้นิยมนับถือมากมายทั่วประเทศ จึงใคร่ขอถือโอกาสขอบพระคุณท่านผู้ล่วงลับไปแล้วและท่านผู้หญิงมาอย่างสูง ณ ที่นี้
สําหรับท่านผู้หญิงเอง ดิฉันนิยมในความสุขุมและเรียบร้อย ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว และขอชมเชยว่าเป็นภรรยาที่ดีได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสามีอย่างแท้จริงตลอดจนถึงที่สุด เคยพบท่านผู้หญิงโดยบังเอิญที่งานแสดงไม้ประดับ ณ วังสวนผักกาด ไม่ทราบว่า ท่านผู้หญิงเคยขึ้นไปชมของโบราณที่ข้างบนในพิพิธภัณฑ์บ้างหรือไม่ จึงขอส่งหนังสือ “The Suan Pakkad Palace Collection” มาให้พร้อมทั้งหนังสือ “พระประวัติและงานของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย” ซึ่งท่านปรีดีได้อ้างถึงไว้ในหนังสือชีวประวัติย่อของท่านที่ท่านผู้หญิงได้กรุณาส่งมาสําหรับเป็นที่ระลึกด้วยในวาระนี้
ด้วยความนับถือ
หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร
มูลนิธี ปรีดี พนมยงค์ 172 ซอยสวนพลู
ถนนสาธรใต้ กรุงเทพฯ 10120
โทร. 2860484
26 สิงหาคม 2526
เรียน ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ที่นับถือ
ดิฉันขอขอบพระคุณอย่างสูงในจดหมายลงวันที่ 22 สิงหาคม พร้อมทั้งหนังสือวังสวนผักกาด และหนังสือพระประวัติของเสด็จในกรมฯ อันเป็นหนังสือที่มีค่าอย่างยิ่งทั้งสองเล่ม ซึ่งคุณท่านได้กรุณาส่งมาให้
ดิฉันมีความภูมิใจว่า นายปรีดี พนมยงค์ ได้มีโอกาส แม้นจะเพียงน้อยนิดก่อนถึงแก่กรรม แสดงกตเวทิตาต่อท่านผู้ได้ทรงบําเพ็ญคุณประโยชน์อันสูงส่งให้กับบ้านเมือง ให้การนั้นเป็นที่ตระหนักแก่คนรุ่นหลัง และให้เป็นความถูกต้องในประวัติศาสตร์
ดิฉันขอถือโอกาสนี้ส่งหนังสือบางเล่มที่เกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์ มาให้คุณท่านเป็นที่ระลึกพร้อมกันนี้ด้วย
ด้วยความนับถืออย่างสูง
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
วังสวนผักกาด 352 ถนนศรีอยุธยา
กรุงเทพมหานคร
28 สิงหาคม 2526
เรียน ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ทราบ
จดหมายลงวันที่ 26 สิงหาคม พร้อมทั้งหนังสือ 5 เล่ม เกี่ยวกับท่านปรีดี ได้รับแล้วด้วยความขอบคุณยิ่ง พลิกดูแล้วมีหลายสิ่งหลายอย่างในหนังสือเหล่านี้น่าสนใจอยู่มากทีเดียว
ตามความรู้สึกของดิฉัน ท่านได้ทําคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองมากทีเดียว ในการที่ได้เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น เพื่อต่อต้านศัตรูซึ่งมารุกรานท่ามกลางความยากลําบากนานาประการในระหว่างสงคราม จนกระทั่งประสพความสําเร็จกอบกู้ชาติไทยให้เป็นอิสระอยู่จนทุกวันนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายกย่องชมเชยมาก
ณ โอกาสนี้ ดิฉันใคร่ระลึกถึงขอบพระคุณท่านผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และท่านผู้หญิงมาอีกครั้งหนึ่ง ในส่วนที่ท่านได้ช่วยเหลือทําให้บทบาทความสําคัญของเสด็จปู่และของพ่อ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการแก้ไขสนธิสัญญาสภาพนอกอาณาเขต มีน้ําหนักขึ้นในประวัติศาสตร์ ทําให้เป็นที่ตระหนักและเข้าใจโดยถูกต้องแก่คนรุ่นหลังต่อไป
ด้วยความนับถือ
หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร
บทบาทของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศวโรทัยในการเรียกร้องดินแดนคืน ในงานเรื่องการวิเทโศบายของกนต์ธีร์ ศุภมงคล
กนต์ธีร์ ศุภมงคลได้เคยเขียนเกี่ยวกับบทบาทของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศวโรทัย ในการเรียกร้องดินแดนคืนในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 1 ไว้ดังนี้
เมื่อสงครามอุบัติขึ้นในทวีปยุโรปในปี 2447 และคลี่คลายขยายตัวกว้างขวาง ออกไป โดยมีประเทศเข้าร่วมเพิ่มจํานวนมากขึ้นถึงขีดเป็น “สงครามโลก ประเทศไทยพยายามวางตนเป็นกลาง ไม่เข้ากับฝ่ายใดตลอดมา ครั้นเมื่อ สหรัฐอเมริกา ซึ่งในชั้นแรกก็เป็นกลางเหมือนกัน ต้องประกาศสงครามเข้าร่วมรบ ฝ่ายสัมพันธมิตร ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน มีหนังสือเวียนเชิญชวนประเทศเป็นกลาง ทั้งหลายให้เอาอย่างสหรัฐฯ เนื่องจากเยอรมันปฏิบัติการขัดต่อกฎหมายระหว่าง ประเทศ ผิดมนุษยธรรม ด้วยใช้เรือดําน้ําทําลายเรือพาณิชย์อเมริกา มีผู้คนพลเรือน ต้องล้มตายเป็นจํานวนมาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณา สถานการณ์โดยถ่องแท้ละเอียดถี่ถ้วน ทรงพระราชดําริว่า ประเทศไทยควรจะ คล้อยตามท่าทีของสหรัฐฯ แต่เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ยังทรงนิยมเยอรมันอยู่โดยทรงเชื่อว่า ฝ่ายเยอรมันจะชนะ ประกอบกับเยอรมันเคยแสดงความเห็นใจประเทศไทยสมัยที่มีกรณีพิพาททางดินแดนกับฝรั่งเศสและอังกฤษในปลายศตวรรษที่ 19
เมื่อสองประเทศนั้นหาทางขยายดินแดนอาณานิคมและดินแดนในอารักขา แผ่เข้ามาถึงปริมณฑลของประเทศไทย พ่อค้าวาณิชเยอรมันเข้ามาประกอบธุรกิจใน ประเทศไทยอย่างกว้างขวาง มีอิทธิพลอยู่ไม่น้อย อังกฤษและฝรั่งเศสพยายาม ดําเนินการทุกวิถีทางที่จะให้รัฐบาลไทยสละความเป็นกลางเสีย เพื่อขับไล่เยอรมัน ให้พ้นไปจากประเทศไทย เป็นทางให้สามารถเข้าควบคุมการค้าและธุรกิจแทนทาง ฝ่ายประเทศไทยเอง พระมหากษัตริย์ไทยทรงเห็นว่า ประเทศไทยต้องผูกมัดโดย สนธิสัญญารับรู้สภาพนอกอาณาเขตของต่างชาติ ที่จํากัดบั่นทอนอธิปไตยทั้งในด้าน การเก็บภาษีอากรและการศาล เป็นระบอบการที่อังกฤษเป็นผู้คิดริเริ่มขึ้นในปี 2408 ขยายเป็นประโยชน์ตกทอดถึงประเทศอื่นในยุโรป รวมทั้งเยอรมัน และ ออสเตรีย-ฮังการี หากไทยเข้าสู่ภาวะสงครามกับรัฐบาลฝ่ายกลางในยุโรป สนธิสัญญา ที่ผูกมัดประเทศไทยต่อทั้งสองประเทศนั้นจะเป็นอันระงับไปในตัวตามหลัก กฎหมายระหว่างประเทศ ถ้าฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัยชนะ จะเป็นทางให้ประเทศไทย สามารถเรียกอธิปไตยคืนจากเยอรมันและออสเตรียเด็ดขาด และเปิดทางให้เจรจา ทํานองเดียวกัน ขอการผ่อนปรนจากประเทศอื่นคู่สัญญากับไทยได้ แต่การประกาศสงครามกับเยอรมัน ไทยต้องดําเนินเตรียมการอย่างลับที่สุด เพราะอิทธิพลทาง เศรษฐกิจของเยอรมันในประเทศมีมาก จะต้องป้องกันมิให้เกิดการบ่อนทําลายทาง เศรษฐกิจภายในประเทศไทย ต้องรักษาความลับไว้จนกว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะอยู่ใน ลักษณะพร้อมแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสงคราม
สมัยนั้น หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ทรงเป็นทูตไทยที่กรุงเบอร์ลิน พระองค์เจ้า จรูญศักดิ์กฤดากร ที่กรุงปารีส และพระยาพิพัฒน์โกษา ที่กรุงโรม การสั่งการถึง ทูตไทยที่กรุงเบอร์ลินในบางกรณีต้องสั่งผ่านทูตที่กรุงโรม ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2460 แล้วมีข่าวออกจากประเทศไทยไปถึงทูตกรุงปารีสและกรุงโรมว่า อาจจะมี การประกาศสงครามกับรัฐฝ่ายกลางตามอย่างสหรัฐอเมริกา ควรมีการเตรียมโยกย้าย บรรดานักเรียนที่ศึกษาในเยอรมันและออสเตรียออกไปเสียให้พ้น แต่หม่อมเจ้า ไตรทศประพันธ์ทรงหวั่นว่า การจัดโยกย้ายในทันทีทันใดเช่นนั้น จะทําให้เยอรมันเกิดระแวงสงสัยได้ ประกอบกับในช่วงนั้นรัฐบาลเยอรมันกักกันคนต่างด้าวทั้งหลาย จะเดินทางไปไหนมาไหน จะต้องขอและได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายเยอรมันก่อน
เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเตรียมพร้อม รวมทั้งมาตรการที่จะกักคุมตัวชนชาติเยอรมัน และออสเตรียที่พํานักอยู่ในประเทศไทย และการยึดทรัพย์สินธุรกิจของชาติเหล่านั้น จึงจะมีพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2460 โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสงคราม โดยให้เหตุผลว่า เนื่องด้วยประเทศเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี ได้กระทําการสงครามใช้วิธีการขัดต่อหลักมนุษยธรรม ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่คํานึงถึงสิทธิและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยได้ เคยประท้วงไว้ เยอรมันและออสเตรีย-ฮังการีหาได้พิจารณาด้วยดีไม่ ทําให้ประเทศไทยจําต้องตัดสินใจด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้งว่า ไม่สามารถที่จะคงรักษา ความสัมพันธ์ฉันมิตรกับเยอรมันต่อไปได้ ประเทศไทยถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องยกย่อง หลักการสําคัญและพันธกรณีอันสืบเนื่องจากข้อสัญญาความตกลงระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการีจึงเป็นอันสิ้นสุดลง เกิดสถานะสงครามขึ้นแทน
รัฐบาลได้แจ้งในวันเดียวกันนั้นให้สถานทูตของทั้งสองประเทศในประเทศไทย ทราบถึงการสิ้นสุดในความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน โดยจะมอบหนังสือเดินทางให้เมื่อคณะทูตทั้งสองพร้อมจะเดินทางกลับ ระหว่างนั้นเพื่อความปลอดภัยได้มีการ จัดทหารยามเฝ้าอยู่นอกสถานทูต เรือของชนชาติศัตรูที่จอดอยู่ในท่าเรือไทยถูกยึด ชนชาติศัตรูที่เป็นข้าราชการของรัฐบาลไทย เป็นอันปลดออกจากตําแหน่งชนชาติศัตรูในวัยทหารต้องกักขัง
ฝ่ายรัฐบาลเยอรมันได้ทราบข่าวประกาศสงครามของประเทศไทยทางโทรเลข ของรอยเตอร์ก่อน นายฟอน เดิมบูช ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ทูลเชิญทูตไทย ไปพบเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม เพื่อสอบถามความจริง และแสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก ถึงกับขู่สําทับว่า ประเทศไทยโง่เขลาเบาปัญญายิ่งนัก หากไม่ได้เยอรมันช่วยไว้ก่อนจะต้องตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษและฝรั่งเศสนานแล้ว อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นผู้บีบบังคับไทยให้ว่าตาม ซึ่งหม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์รับสั่งตอบว่า ทรงได้รับคําสั่งให้มาแจ้งให้ฝ่ายเยอรมันทราบถึงการประกาศสงครามเท่านั้น ไม่ทรงประสงค์จะต่อล้อต่อเถียงด้วย ทรงของดการแสดงความคิดเห็นใด ๆ ทั้งสิ้น แล้วทรงขอร้องจะจัดส่งนักเรียนไทยในเยอรมันซึ่งมีจํานวนอยู่ไม่กี่คน เดินทางออกจาก ประเทศเยอรมัน ปลัดกระทรวงไม่ยินยอมอนุญาต อ้างว่าเมื่อรัฐบาลไทยจับกุมคน เยอรมันไปขัง เยอรมันก็ต้องปฏิบัติตอบโต้ทํานองเดียวกัน จนกว่าไทยจะปล่อยคนชาติเยอรมัน เยอรมันจึงจะปล่อยคนไทย สําหรับประเทศออสเตรีย-ฮังการี หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ทรงมอบหนังสือแจ้งการประกาศสงครามให้ทูตออสเตรีย-ฮังการีในกรุงเบอร์ลินรับไปรายงานเป็นทางการต่อรัฐบาล
เมื่อหม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์เสด็จนําหนังสือแจ้งการประกาศสงครามไปยื่นต่อ นายซิมเมอร์มาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมัน ค่ําวันเดียวกันนั้น นายซิมเมอร์มานเปลี่ยนท่าทีจากที่เคยโอภาปราศรัยอย่างเป็นมิตรต่อทูตไทย เป็นหน้าบึงคิ้วขมวดประชดประชันว่า เยอรมันไม่เคยมุ่งร้ายต่อไทย เพื่อนของไทย นั้นแหละที่เมื่อถึงโอกาสจะเอาประเทศไทยเป็นเมืองขึ้น เยอรมันเสียใจที่ไม่อาจช่วยไทยได้ เยอรมันมีภาระทางยุโรปเต็มมือ ขณะนั้นกําลังขับไล่ทหารรัสเซียอยู่บางทีไทยอาจจะส่งกองทัพไปช่วยรัสเซียบ้าง
ต่อมา ดร.มีชาเอลีส นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ได้แถลงในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมว่า ไม่มีเหตุผลสมควรอย่างใดเลยที่ไทยประกาศตนเป็นศัตรูกับเยอรมันหากแต่ถูกประเทศสัมพันธมิตรบีบบังคับให้กระทําเท่านั้น
ภายหลังที่ไทยประกาศสงครามแล้ว รัฐบาลไทยได้ขอให้รัฐบาลเดนมาร์กเป็นผู้ ดูแลรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยในดินแดนเยอรมัน และออสเตรีย-ฮังการี กงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยในเยอรมันรวม ๗ แห่ง ที่เบอร์ลิน แฮมเบิร์ก แฟรงก์เฟิร์ต เดรสเดน เบรแมน มิวนิก และแฮนโนเวอร์ และกงสุลกิตติมศักดิ์ในออสเตรีย-ฮังการี รวม 3 แห่ง ที่กรุงเวียนนา บูดาเปสต์ และตรีเอสต์ เป็นอันพ้นจากหน้าที่ นักเรียน ไทย 9 คน ในเยอรมันถูกควบคุมตัว เงินของรัฐบาลไทยที่ฝากอยู่ทางธนาคารใน เยอรมันถูกยึดไว้สิ้น ข้าราชการสถานทูตไทยและครอบครัวยังคงอยู่ในเบอร์ลินต่อไป จนกระทั่งบุคคลในคณะทูตเยอรมันประจําประเทศไทยเดินทางถึงเมืองเบอร์เก็น ตอนเหนือสุดของประเทศนอร์เวย์ รัฐบาลเยอรมันจึงส่งตัวบุคคลในคณะทูตไทย ออกเดินทางโดยทางรถไฟไปกรุงโคเปนเฮเกน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2460
เพื่อแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยประกาศสงครามต่อรัฐฝ่ายกลางด้วยความ จริงใจ มิใช่ประกาศแต่ในนามเท่านั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเรียก ผู้อาสาสมัครไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรป ปรากฏว่ามีชายฉกรรจ์ไทยสมัครเป็นจํานวน มาก แต่ทรงรอการอาสาสมัครของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นพระราชวงศ์หรือแม่ทัพนายกองวันแล้ววันเล่าไม่ปรากฏมีผู้ใดอาสา ทรงโทรมนัสเป็นอย่างยิ่ง มีพระราชปรารภว่า คนไทยเราไร้ฝีมือ ไร้ความกล้าหาญเยี่ยงบรรพบุรุษเสียแล้วหรือ จึงไม่มีคนกล้ารับอาสาทําหน้าที่แทนพระองค์ เมื่อทราบพระราชประสงค์ พลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ (ซึ่งต่อมาได้รับเลื่อนเป็นพลเอก พระยาเทพหัสดิน) ผู้บัญชาการ กองพลที่ 4 กราบบังคมทูลอาสาสมัคร โดยไม่ถือเป็นการตัดหน้าแม่ทัพนายกองที่ ดํารงตําแหน่งเหนือกว่า เป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก เนื่องจากพระยาพิไชยชาญ ฤทธิ์เป็นข้าราชบริพารรับสนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างใกล้ชิดมาเป็นเวลานาน
ส่วนนายทหารชั้นรองลงไป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพันโท พระทรงสุรเดช พันโท หม่อมเจ้าฉัตรมงคล พันตรี หม่อมเจ้าอมรทัต เป็นผู้ช่วยหัวหน้าทูตทหาร มีนายทหารประจําอีก 8 นาย คือ ร้อยเอก สาย บุณณะภุม ร้อยโท เมี้ยน โรหิตเศรณี ร้อยตรี ม.ร.ว.ตัน สนิทวงศ์ ร้อยตรี กมล โชติกเสถียร ร้อยตรี เภา เพียรเลิศ ร้อยตรี ภักดิ์ เกษสําลี ร้อยตรี ชั้น ช่วงสุคันธ์ และร้อยตรี วัลย์ ทั้งหก นามหลังนี้ปฏิบัติราชการประจําในยุโรปอยู่แล้ว สําหรับกําลังพลได้คัดเลือกจากผู้อาสาสมัครไว้เพียง 1,223 คน ส่งตัวไปรับการฝึกอบรมตามสมควรก่อนที่จะให้ ออกเดินทางไปสมรภูมิ
ผู้บังคับการกองทหารอาสาสมัครไทยและคณะเดินทางล่วงหน้าไปก่อนออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 มกราคม ถึงกรุงปารีสวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เพื่อเตรียมการ รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ การฝึกอบรม ฯลฯ ของกองกําลังที่จะตามไปภายหลัง สําหรับทหารอาสาสมัครแยกออกเป็น 2 กอง คือ กองยานยนต์ มีจํานวน 800 คน กองบิน 351 คน การส่งทหารอาสาสมัครเหล่านี้ต้องอาศัยเรือของฝรั่งเศสเป็น พาหนะ รับจากเกาะสีชังเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ถึงเมืองมาร์ซายส์วันที่ 9 สิงหาคม เมื่อถึงฝรั่งเศสแล้ว หน่วยกองยานยนต์ถูกส่งไปฝึกอบรมที่เมืองลีอองและดูรดัง ส่วน หน่วยกองบินไปเข้าโรงเรียนฝึกการบินที่เมืองอีสตร์และอาวอร์ด แล้วส่งต่อไปเข้าโรงเรียนบินรบที่เมืองโปโรงเรียนฝึกยิงปืนเครื่องบินที่เมืองกาโซ ก่อนที่จะสามารถออกปฏิบัติการได้ทั้งสองหน่วยอาสาสมัครไทยนี้กว่าจะเสร็จการฝึกอบรมที่จําเป็นต้องใช้เวลาหลายเดือน สงครามสิ้นสุดลงเสียก่อน หน่วยการบินจึงมิได้เข้าปฏิบัติการในสนามรบ แต่ก็ได้ความรู้ทางการบินกลับบ้านเมือง หน่วยยานยนต์ได้รับโอกาสเข้าไปทําการสนับสนุนส่งกําลังบํารุงกองทัพฝรั่งเศสในแนวหน้าเข้าไปถึงดินแดน เยอรมัน บริเวณแม่น้ำไรน์ที่เมืองนอย ตัท แล้วไปเมืองไกเซอร์เลาเตอร์น แฟรงเกิน ชไตน์ บัตเดอร์ไคม์ มูซบัด แมงเกินไฮม์ ลุดวิกซาเฟิน โดยที่พวกอาสาสมัครจาก ประเทศไทยขาดความรู้ทางภาษา จึงจําต้องอาศัยนักเรียนไทยในยุโรปเป็นล่ามแปล และอธิบายคําสอนของผู้อบรมให้เข้าใจ
ในชั้นแรก ๆ เนื่องด้วยความขัดข้องทางภาษา จึงเกิดความเข้าใจผิดระหว่างกองกําลังอาสาสมัครไทยกับทหารฝรั่งเศส ประกอบกับนายทหารฝรั่งเศสวางตัวเป็นนาย เหยียดหยามทหารไทยตามอุปนิสัย ทําให้เกิดความไม่พอใจแก่พวกอาสาสมัครมาก ถึงกับถามกันว่า ไทยจะออกไปสู้กับเยอรมันหรือฝรั่งเศสแน่ ในรายงานของ พันตรี หลวงรามฤทธิวงศ์ จากแนวรบที่นอย ตัท มายังผู้ช่วยทูตทหารบก ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2461 มีข้อความว่า “ไทยกับฝรั่งเศสเข้ากันไม่ได้ ฝรั่งเศสคอยเอา เปรียบอยู่เสมอ พอเดินทางไปถึงที่พัก ก็รีบเลือกที่ที่สบาย ๆ เอาสําหรับตน หาความ สะดวกสําหรับตน ทําให้ทหารไทยแค้นใจและน้อยใจ การอยู่ตามบ้านราษฎรฝรั่งเศสบางแห่งรับรองอย่างธรรมดา บางแห่งมีความรังเกียจเดียดฉันท์ พลเมืองเยอรมัน ซึ่งเป็นคนชาติศัตรูยังต้อนรับพวกเราดีกว่าฝรั่งเศส” เป็นปัญหาตกหนักแก่นายทหารไทยที่จะต้องพยายามแก้ความเข้าใจผิดและประสานความสามัคคีต่อกัน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฝรั่งเศสยอมรับรู้อํานาจของศาลทหารไทยเหนือบุคคล ทั้งหลายที่อยู่ในกองทัพไทย โดยไม่จําต้องไปขึ้นกับศาลฝรั่งเศส ภายหลังที่เยอรมันยอมจํานนและลงนามในสัญญาสงบศึกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2460 แล้ว กองทหารอาสาสมัครไทยส่วนหนึ่งเดินทางกลับประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมในพิธีสวนสนามฉลองชัยชนะ ผ่านประตูชัยในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2461 ที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันที่ 22 และที่กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 29 เดือนเดียวกัน
ในการเจรจาสงบศึก ประเทศไทยส่งคณะผู้แทนไปร่วม ประกอบด้วยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร เป็นหัวหน้า หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ เทวกุล พระยาพิพัฒน์โกษา หม่อมเจ้าขจรจรัสฤทธิ์ กฤดากร พันโท หม่อมเจ้าอมรทัต กฤดากร และนาวาเอก พระประติวัฒนาวายุทธ เป็นผู้แทน และในการทําสนธิสัญญา สันติภาพเมืองแวร์ซายส์ ประเทศไทยส่งคณะผู้แทนประกอบด้วยพระองค์เจ้า ทั้งสองพระองค์แรก เข้าร่วมลงนามฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2462 ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับประเทศไทยโดยเฉพาะรวม 3 ข้อ คือ
“ข้อ 135 ประเทศเยอรมันยอมรับนับถือว่า บรรดาสนธิสัญญาอนุสัญญาหรือ ข้อตกลงทั้งหลายระหว่างเยอรมันกับประเทศไทยและบรรดาสิทธิอํานาจหรือ เอกสิทธิ์ที่เกิดขึ้นจากสนธิสัญญา อนุสัญญาหรือข้อตกลงเหล่านั้น รวมตลอดทั้ง อํานาจกงสุลในประเทศไทยเป็นอันที่สิ้นสุดลงแต่เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2460
“ข้อ 136 บรรดาสินค้าและทรัพย์สินของจักรวรรดิหรือรัฐเยอรมันใน ประเทศไทย นอกจากอาคารที่ใช้เป็นที่พํานักหรือที่ทําการทางการทูตหรือกงสุลเป็นอันตกเป็นของรัฐบาลไทยโดยเด็ดขาดและไม่มีค่าทดแทน “สินค้าและทรัพย์สินและสิทธิเอกชนของคนชาติเยอรมันในประเทศไทยจะต้อง ได้รับการปฏิบัติตามบทบัญญัติในภาค 10 (ข้อกําหนดทางเศรษฐกิจ) แห่งสนธิสัญญานี้
“ข้อ 137 ประเทศเยอรมันสละสิทธิทั้งหลายที่จะเรียกร้องเอาจากรัฐบาลไทย ในนามของประเทศเยอรมันหรือคนชาติเยอรมัน อันสืบเนื่องมาจากการยึดเรือ เยอรมัน การยึดทรัพย์สินเยอรมัน หรือการกักกันคนชาติเยอรมันในประเทศไทย บทบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของผู้ที่มีส่วนได้เสียในผลของการยึดทรัพย์ ดังกล่าว ซึ่งจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของภาค 10 (ข้อกําหนดทางเศรษฐกิจ) แห่งสนธิสัญญานี้”
เป็นอันว่า พระบรมราชวินิจฉัยประกาศสงครามต่อประเทศเยอรมันและ ออสเตรีย-ฮังการี ได้ผลเป็นประโยชน์ตกแก่ประเทศไทยมากมายหลายประการ โดย เฉพาะได้เปลี่ยนสถานะของประเทศไทย จากการเป็นประเทศกันชนระหว่างอังกฤษ กับฝรั่งเศสในการขยายตัวล่าอาณานิคม มาเป็นพันธมิตรของทั้งสองประเทศนั้น เคียงบ่าเคียงไหล่ในการลงนามทําสนธิสัญญาสันติภาพที่เมืองแวร์ซายส์ กองกําลัง ทหารอาสาสมัครไทยมีส่วนช่วยปฏิบัติการในสมรภูมิร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ได้ความรู้ความสามารถความจัดเจนและประสบการณ์ทางกองยานยนต์และกองการบิน ในระหว่างปฏิบัติการในยุโรป กองทหารอาสาสมัครไทยขึ้นอยู่ภายใต้อํานาจ ศาลไทยเอง โดยไม่ต้องอยู่ในบังคับของศาลฝ่ายเจ้าของท้องที่
และที่สําคัญที่สุดก็ คือ เยอรมันต้องสละสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางศาลกงสุลภายในประเทศไทย อันเป็นการจํากัดตัดสิทธิอธิปไตยหลายอย่าง โดยอาศัยสัญญาเอาเปรียบไม่เสมอภาค ที่เคยทําไว้กับประเทศไทยอีกด้วย และเมื่อประเทศเยอรมันซึ่งเป็นประเทศที่เจริญ ก้าวหน้าในยุโรปต้องสละสิทธิดังกล่าวแล้ว ก็เป็นทางที่จะให้รัฐบาลไทยถือเป็นตัวอย่างในการเจรจาขอความเห็นอกเห็นใจกับประเทศอื่นที่มีสนธิสัญญาทํานองเดียวกันผูกมัดประเทศไทยไว้ เป็นผลให้มีการลงนามในสนธิสัญญารุ่นใหม่กับ ต่างประเทศในปี 2468 ลดสิทธิพิเศษที่ต่างประเทศเสวยอยู่ในประเทศลงไปบ้าง แต่ ไทยก็ยังมิได้รับอิสรภาพทางการศาลและการเก็บภาษีอากรอย่างสมบูรณ์ จนกระทั่ง ประเทศไทยเร่งรัดการออกประมวลกฎหมายครบถ้วน และมีการเจรจาทําสนธิสัญญา รุ่นปี 2480 สมัยท่านปรีดี พนมยงค์ ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศ จึงสามารถได้สิทธิเอกราชและอิสรภาพทางการศาลและการเก็บภาษีอากรโดยสมบูรณ์ต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้
หมายเหตุ :
- ในการเผยแพร่ครั้งนี้ มีการจัดย่อหน้าใหม่เพื่อความสะดวกในการอ่าน
- ต่อมาหม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ได้รับพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้า ที่สุดได้ทรงกรม เป็น กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย - ผู้จัดพิมพ์
บรรณานุกรม
- กองบรรณาธิการ, หนังสือวัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม 2531, น. 111-115.
- กนต์ธีร์ ศุภมงคล. การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศกระทรวงการต่างประเทศ, 2566), น. 24-32.