ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

“สตรีที่ไม่ท้อต่อผองภัย : จาก 111 ปี ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ถึง 100 ปี คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร”

19
มกราคม
2566

กษิดิศ อนันทนาธร : เมื่อสักครู่ที่วงสวนพลูคอรัส วงนักร้องประสานเสียง ได้ขับร้อง มีเพลงสำคัญ 2 เพลง คือเพลง “คนดีมีค่า” และ เพลง “แม่จ๋า” ทั้งสองเพลงมีเนื้อร้องมาจาก  ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร เป็นคนเขียน จริงๆ เขียนเป็นบทกลอนและไปทำเป็นคำร้องทำนองเพลง ทั้งสองเพลงเขียนถึง ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ คือเพลงแม่จ๋า ส่วนเพลงคนดีมีค่าเขียนถึง อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ โดยที่ไม่ได้เอ่ยชื่อ ไม่ได้พูดถึงชื่อในเพลงแต่ฟังทั้งหมดแล้วรู้ว่าพูดถึงใครอยู่ ก่อนที่จะเข้าหัวข้อการสนทนา จะต้องชวนคุยเรื่องเพลง เพราะชื่อหัวข้อที่ตั้งไว้คือ “สตรีที่ไม่ท้อต่อผองภัย” ก็คัดมาจากเนื้อเพลงแม่จ๋า ผมเห็นว่าสะท้อนทั้งบุคลิกของท่านผู้หญิงพูนศุข และ คุณหญิงจันทนี ที่มาของเพลงแม่จ๋า ตอนแต่งเพลงแม่จ๋าคิดถึงใครคิดอะไรอยู่บ้าง?

ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร : คงต้องเริ่มตั้งแต่ที่มีโอกาส พี่สุดา พี่ดุษฎีได้กรุณาบอกให้ช่วยเขียน อันแรกเลยต้องกลับไปที่เพลงคนดีมีค่า ตอนครบรอบชาตกาล 100 ปี คุณลุง (ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์) ผมใช้เวลาอยู่นานไม่รู้จะเขียนอย่างไรเพื่อสะท้อนสิ่งที่เราอยากจะบอกว่าเราเห็นคนคนหนึ่งนี่เป็นอย่างไร และคนคนนั้นไม่ใช่แต่เป็นคนในบ้าน หรือคนที่เรารู้จักเฉยๆ แต่คนนั้นสะท้อนสิ่งที่เขาทำในสังคมอย่างไร

ผมเอาอาจารย์ปรีดีเป็นฐานหลัก จึงไปคิดต่อว่า “คนดีมีค่าในความเห็นของผมควรจะมีอะไรบ้าง?” และค่อยไปดึงออกมา แต่สิ่งแรกเลยที่คิดถึง คือ “คนไหนนะที่เราคิดว่าเป็นคนดีมีค่าบ้างและดึงส่วนหลักๆ ของเขาออกมา” และผมก็มองคนที่ผมเคยเห็นและคิดว่าดี ใกล้กัน คือ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงดึงส่วนที่คิดว่าสำคัญระหว่าง อาจารย์ป๋วยกับอาจารย์ปรีดีนั้นอยู่ตรงไหนบ้าง สิ่งที่เป็นสิ่งเดียวกัน อีกคนหนึ่งซึ่งผมใกล้ชิดมาก คือ พ่อของผม ผมเห็นว่าเป็นคนที่ดีมากอีกคนหนึ่ง จึงพยายามจะดูว่าทั้ง 3 คน มีอะไรที่เป็นคาแรกเตอร์เดียวกัน เป็นสิ่งที่ดีที่เราควรจะดึงออกมา นั่นคือที่มาของเพลง “คนดีมีค่า”

คนดีมีค่าของผม คือ คนที่มีคุณลักษณะเช่นนั้นไม่ว่าจะเป็นใคร แต่แน่นอนมุ่งไปที่อาจารย์ปรีดีเป็นหลัก เพราะฉะนั้นเพลงคนดีมีค่าก็จะมีความเป็นอาจารย์ปรีดีมากกว่าอีกสองท่าน แต่คาแรกเตอร์หลักๆ ที่สำหรับผมว่าเป็นคนดีมาจากสิ่งนี้

พอมาถึงตอนคุณป้า (ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์) พี่ๆ ได้มาขอให้เขียน ผมก็ใช้หลักเดียวกัน คือ “ใครล่ะ ที่เราคิดว่าเป็นคนที่ดีๆ ที่เป็นผู้หญิง เขาควรจะมีคาแรกเตอร์อะไร?” คนที่ผมมุ่งไปสุดก็คือคุณป้าหรือท่านผู้หญิงพูนศุข แต่ผมก็เห็นว่าแม่ของผม หรือว่าท่านผู้หญิงเนื่องสนิทฯ ภริยาท่านองคมนตรี คือ หลวงอรรถสิทธิ์สิทธิสุนทร “เขามีคาแรกเตอร์อะไร ทำไมเราถึงคิดว่านี้เป็นผู้หญิงที่ดี” นั่น คือที่มาของเพลง “แม่จ๋า” ความเป็นแม่จะมีความใกล้ชิดกับลูกมาก จึงต้องมีส่วนที่พูดถึงแม่ซ้ำๆ “แม่จ๋า แม่จ๋า แม่คือฟ้า แม่คือรัก คือศักดิ์ศรี” นั้นคือสิ่งต่างๆ เพราะผมคิดว่านอกจากเป็นแม่ที่ดีแล้ว แม่ต้องสามารถที่จะทำให้เราภูมิใจในตัวแม่ได้ สิ่งนี้คือหลักใหญ่

ช่วงชีวิตต่างๆ คนเราก็มีบทบาทต่างๆ ทำบทบาทนั้นให้ถูกต้องและสมบูรณ์หรือเปล่า ที่เป็นส่วนสำคัญซึ่งในเพลงแม่จ๋าพยายามไล่เรียงว่าคุณป้าทำอะไร และคนอื่นๆ ควรจะทำอะไร นี่คือสองเรื่องที่โยงใย ว่าทำไม เพลงคนดีมีค่าและเพลงแม่จ๋าจึงเกี่ยวข้องกับอาจารย์ปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศูข เกี่ยวข้องกับบุคคนอื่นๆ ในชีวิต โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผม 

กษิดิศ อนันทนาธร : เข้ามาสู่เนื้อหาประเด็นที่ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ กับ คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร คุณจริย์วัฒน์เห็นความเป็นแม่ในสองท่านนี้อย่างไรบ้าง ในฐานะที่เป็นลูกชายและคนสนิทที่มีคนแซวเสมอว่า คุณจริย์วัฒน์เป็นเหมือนลูกคนสุดท้องของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ 

ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร : ผมคิดว่าทั้งสองท่านนอกจากมีคุณลักษณะเด่นที่ผมอยากเห็น และอีกสิ่งที่ผมอยากบอกนั่นก็คือ ผมโชคดีเพราะว่าผมมีคนที่เป็นฮีโร่อยู่ในใจทั้งผู้หญิงและทั้งผู้ชาย ทำในสิ่งที่ลูกภูมิใจทั้งสองท่าน ผมภูมิใจว่าเราเกิดมามีแม่อย่างนี้ มีพ่ออย่างนี้ มีคนที่เป็นคนดีที่มีค่า แม่ก็รักษาทุกอย่างเอาไว้ให้ได้

ท่านผู้หญิงพูนศุขกับแม่ของผมมีความแตกต่างกัน บางคนบอกแม่ไปทำอะไรต่ออะไรมากมาย อย่างที่ถ้าไปอ่านในหนังสือของแม่ แต่ถ้าอ่านของท่านผู้หญิงพูนศุขก็จะมีเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัวมาก เพราะฉะนั้นจุดหลักที่ผมคิดว่า ท่านผู้หญิงพูนศุขเป็น คือ ท่านผู้หญิงพูนศุขสามารถรักษาครอบครัวไว้ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีว่าพ่อจะพลัด พ่อจะพรากจากไป หากยังมีแม่ดูแลไม่ห่างไกล บ้านก็คงไว้ หัวใจก็คงอยู่ แม่อุ้มชูประสานใจ” ส่วนนี้เป็นส่วนที่บอกว่าคุณค่าของท่านผู้หญิงพูนศุขมากมายมหาศาล การที่รักษาบ้านไว้ได้นั้น ไม่ใช่แค่รักษาบ้าน แต่ทำให้บ้านอยู่และอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ทำให้อาจารย์ปรีดีสามารถทำสิ่งอื่นๆ ได้

ส่วนแม่ของผม แม่ไม่ได้ออกไปทำงานอะไรอื่นเลยจนเมื่อผมเข้าเรียนหนังสือชั้นอนุบาล แม่ถึงออกไปเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนหนึ่งท่านได้แรงบันดาลใจมาจากพ่อของผมซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ปรีดี แม่ไปเรียนเพื่อขวนขวายต่อสู้ เพราะตั้งแต่เด็กๆ แม่ผมจะรู้สึกว่าตัวเองนี้ด้อย เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อนฝูงก็ล้อว่าเป็น “เด็กประชาบาล”

คำว่า “ประชาบาล” เราอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่ผมเชื่อว่าในใจแม่คิดว่า “ฉันต้องเอาชนะสิ่งเหล่านี้” แม่ตั้งใจเรียน อยากจะทำนู่นทำนี่ บอกให้ลูกทุกคนต้องจบปริญญาตรี โดยที่แม่ไปเรียนปริญญาตรีตอนอายุ 30 กว่า  พอได้ปริญญา ไปเจออะไรก็อยากจะทำในสิ่งที่หลากหลายให้มากขึ้น ขยับตัวเองไปเรื่อยๆ ไปเรียน AUA เพื่อจะได้ภาษาอังกฤษดีขึ้น ได้ไปเปิดโลกสู่สิ่งต่างๆ นี่เป็นสิ่งหนึ่งแม่มีโอกาสทำแบบนี้เพราะบ้านเราไม่ได้แตก บ้านเราไม่ได้มีปัญหาเหมือนที่ท่านผู้หญิงพูนศุขประสบ ท่านผู้หญิงพูนศุขผมว่าหนักหนาสาหัส แค่เอาบ้านรอดได้ อยู่ได้ด้วยศักดิ์ศรี

อย่างรูปที่เห็นกันทั่วไป ท่านเดินเข้าไปในคุก ผมนึกว่าเป็นท่านำขบวนพาเหรด ท่านยืนอย่างทนง มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรีของตัวท่านเอง และศักดิ์ศรีของครอบครัว ซึ่งโยงใยแน่นอนกับนายปรีดี พนมยงค์ ถ้าคุณป้ากลัว ผมก็ไม่แน่ใจคุณลุงจะทำอย่างไร นี่เป็นส่วนที่สำคัญในชีวิตของคุณลุงมาก เพราะฉะนั้นในเพลงทั้ง 2 เพลง ถึงเริ่มเหมือนกัน เริ่มด้วยความเป็นคนธรรมดาคือ “มีสมอง สองแขนทั้งคู่” เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในชีวิต

แม่ผมก็เริ่มจากมีสมองและสองแขนดิ้นต่อสู้ เมื่อต่อสู้ได้แล้วโลกนั้นเปิดกว้างขึ้น แม่สามารถที่จะไม่ห่วงบ้าน แต่ก่อนเล็กๆ ผมรู้สึกว่าทำไมแม่ไม่อยู่บ้าน ก็รู้สึกเวลาป้าๆ ใครเข้ามาบอกว่า “ฉันต้องสงเคราะห์บ้านตัวเองก่อน ไม่ไปสงเคราะห์คนข้างนอก” ตอนนั้นเราก็รู้สึกรักป้าที่ดูแลเอาใจใส่ ส่วนแม่ก็จะบอกว่า “ลูกมีพอ ก็ต้องไปช่วยสงเคราะห์คนอื่น” แม่มีโอกาสได้ทำได้ในสิ่งที่แม่อยากจะทำไปเรื่อยๆ แต่แม่ไม่เคยที่จะรู้สึกว่าตนเองทิ้งบ้าน เราก็ไม่เคยรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง แม่เคารพท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ตลอดมา ไม่เคยเสื่อมคลาย

ในส่วนของพ่อก็ไม่เคยไปเป็นกรรมการให้ที่อื่นยกเว้นมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ซึ่งผมมองกลับไปด้วยความภูมิใจมาก เพราะพ่อรู้ว่าอะไรที่ควรทำ แม้กระทั่งตัวเองไม่อยากจะมาทำเท่าไหร่ แต่ก็พยายามในเรื่องอย่างนี้ จนกระทั่งตราบวาระสุดท้ายของแม่ ถ้าวันที่ 2 มกราคมต้องไปหาท่านผู้หญิงฯ จะติดธุรอะไรไม่ได้ ต้องไปให้ได้ บอกลูกหลานว่ามาทั้งครอบครัว พยายามให้มาเห็น มาดูแลคุณป้าต่อไป สำหรับผมนี่คือแม่ทั้งสองคน อย่างอาจารย์ปรีดีเป็นปูชนียบุคคลที่ผมเห็นในเพลงคนดีมีค่า ผมเขียนด้วยความรู้สึกว่าอยากจะเห็นคนเป็นอย่างอาจารย์ปรีดี คนไทยหนึ่งคนเกิดมาแล้วทำให้ได้อย่างนี้เถอะ 

กษิดิศ อนันทนาธร : หลายท่านอาจจะไม่รู้จัก คุณศิริ สันตะบุตร ผมขอขยายความว่าคุณศิริเป็นผู้ว่า กทม. และเป็นลูกศิษย์สายตรงของอาจารย์ปรีดีด้วย คุณศิริเกิดในวันที่ 11 พฤษภาคม เหมือนอาจารย์ปรีดีเพียงแค่ห่างกันคนละรอบหนึ่ง บทบาทที่คิดว่าน่าสนใจมาก ผมไม่มีโอกาสทันรู้จักคุณหญิงจันทนี สันตะบุตร จนคุณหญิงจันทนีถึงแก่อนิจกรรม แล้วมาทำหนังสืองานศพจึงรู้จัก อย่างคุณจริย์วัฒน์พูดว่าเป็นเด็กประชาบาล คือ เด็กที่เรียนจากโรงเรียนในจังหวัดลพบุรี และเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนราชินีบน

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การศึกษาขั้นสูงสุดของคุณหญิงจันทนีจบวิทยาลัยครูที่สวนสุนันทา หลังจากนั้นพอคุณจริย์วัฒน์เข้าเรียนอนุบาลแล้ว คุณหญิงจันทนีก็ไปเรียนนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ในเวลานั้นยังเป็นมหาวิทยาลัยเปิดอยู่ ไม่ต้องสมัครสอบเข้าไปก็เรียนหนังสือได้ และไม่ไกลจากบ้านที่ถนนข้าวสารสามารถเข้าไปฟังบรรยายบ้างไปอ่านตำราบ้าง นี่จึงเรียกว่าเป็นผลงานหนึ่งของอาจารย์ปรีดีที่ทิ้งไว้จากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองมาสู่ธรรมศาสตร์

พูดในแง่ส่วนตัวไปแล้ว ในแง่บทบาททางสังคมเริ่มจากคุณหญิงจันทนี ถ้าไปดูในประวัติจากหนังสืองานศพก็ได้นะครับ จะเห็นว่าคุณหญิงจันทนีทำงานเยอะมาก ทั้งมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก มูลนิธิพิบูลสงเคราะห์ที่เกี่ยวกับคนในกรมราชทัณฑ์ ผู้ต้องขัง หรือว่ารวมถึงสมาคมศิษย์เก่าต่างๆ และมีบทบาทสำคัญเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ วุฒิสภา ออกกฎหมายต่างๆ มีส่วนผลักดันในสภาสตรีแห่งชาติ ฯลฯ ในแง่บทบาทสังคมที่ไม่ละทิ้งบทบาทในบ้าน ความประทับใจความทรงจำเป็นอย่างไรบ้าง

ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร : หลายๆ ส่วนผมไม่ได้อยู่ด้วย อาจจะเป็นความสบายใจของแม่ ที่ออกไปทำงานข้างนอกได้สบายๆ ไม่มีใครคัดค้าน แต่ที่แม่ไปทำงานข้างนอกได้เป็นอย่างดี เพราะผมเชื่อว่าพ่อเป็นคนสนับสนุนให้ทำ นี่เป็นสิ่งสำคัญที่ซึ่งอาจจะไม่ปรากฏในหนังสือ พ่อของผมเป็นคนที่้ค้นคว้าให้เป็นคนที่ดูแล คอยแนะนำ คอยทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ แต่พ่อไม่ชอบออกไปทำเอง พ่อจะต้องคอยบอกถ้าแม่จะไปพูดอภิปราย พ่อจะไปค้นหนังสือและทำสรุปให้แล้วแม่เอาไปพูด ใครนึกว่าแม่เก่งแต่พ่อของผมน่ะเก่ง สามารถใช้แม่ของผมให้ไปทำในเรื่องที่คิดว่าเป็นประโยชน์ ไม่มายุ่งที่บ้านมาก

นี่คือส่วนหนึ่งเพราะแม่เป็นอย่างนี้ ความที่เราเห็นครอบครัวเราเป็นอย่างนี้มาตลอดก็ซึมซับเข้าไปเอง ลูกหลานแรกๆ ก็จะบ่นว่า “อะไรๆ ทุกอย่างก็คุณย่า” พอโตขึ้นได้ไปฟังว่าคนอื่นเขาชื่นชมคุณย่าอย่างไร ตัวเองก็อยากจะทำบ้าง โดยเฉพาะลูกสาวของผม เขาทำไม่เหมือนคุณย่า แต่เขากล้าทำนู่นทำนี่ เช่น เรื่องบริจาคเลือดและสเต็มเซลล์ หรืออะไรต่ออะไร เพราะเขาเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ พยายามไปรณรงค์และช่วยฟรี เช่นที่สภากาชาดในขณะหนึ่งก็พยายามผลักตัวเองในเวทีเยาวชนโลกไปพูดเรื่องที่เขาสนใจ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม พลังงาน ฯลฯ พอคนรู้จักก็มีส่วนดีและส่วนไม่ดีหลายๆ อย่าง ผมก็บอกว่า “ไปพูดแบบนั้นไม่ได้นะ” ซึ่งพูดไปเราก็เหมือนว่าตัวเองในส่วนหนึ่ง เพราะแต่ก่อนเราก็เรียกร้องมหาศาลต้องพยายามเข้าใจเขา ในแง่นี้เขาก็สอนผมเยอะหลายๆ เรื่อง

หลายๆ ครั้งที่เวลาผมพูดกับคุณแม่ แม่ก็เก็บไปคิดแต่เขาทำได้หรือไม่ได้นั้นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นบทบาทแม่ที่ออกไปข้างนอกในสมาคมต่างๆ ในตอนเริ่มต้น ผมก็ไม่ทราบว่าแม่เริ่มทำเพราะอะไร คงจะเพราะไปเห็นและไปเป็นผู้พิพากษาสมทบ แม่เป็นคนที่ซีเรียส แม่ไม่มีเล่นไพ่ ไม่รู้ว่างานอดิเรกคืออะไร พอไปเป็นผู้พิพากษาสมทบก็รู้สึกสงสารเด็กที่ถูกตัดสินแล้ว แล้วเขาอยู่อย่างนั้นอยู่อย่างนี้ แม่ก็ต้องไปหาวิธีแก้ อยู่ไม่สุข พอไปเห็นแบบนี้เข้าไปบอกคนอื่นเขาไม่ทำฉันก็ต้องทำ งานสุดท้ายที่แม่ภูมิใจมากคือบ้านกาญจนาภิเษกที่คลองโยง

แม่เป็นคนที่มี Passion และการได้รับเกียรติแต่งตั้งให้เป็น “คุณหญิง” แม่ก็พยายามใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ มูลนิธิต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมีมาโอกาสที่จะถูกคนกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ก็ลดลง เพราะมีคุณหญิงเข้าไปช่วยบ้างอะไรบ้างอย่างนี้ เป็นต้น หลายเรื่องเกิดขึ้นได้ ผมจำได้ว่าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเสด็จไปตอนที่ผมเป็นฑูตอยู่ ผมไปกราบบังคมทูลท่าน ตรัสเรื่องบ้านกาญจนาภิเษก สมเด็จพระพี่นางเธอฯ ท่านทรงเล่าว่า “มีแต่คนเขาเอาเงินมาถวายฉันนะ มีคุณหญิงแม่เธอนี่แหละมาขอเงินฉัน” แต่ว่าผมทูลถามกลับว่า “ทำไมถึงให้พระพุทธเจ้าข้า” ท่านตรัสตอบว่า “เขาเอาไปทำสิ่งที่ดี ฉันก็เลยให้” และบ้านกาญจนาภิเษกท่านเสด็จไปเปิดให้ด้วย 

กษิดิศ อนันทนาธร : เราพูดกันถึงคุณหญิงจันทนีกับท่านผู้หญิงพูนศุขไปทิ้งท้ายคำถามสุดท้ายก่อนจะหมดเวลา เวลาพูดถึงท่านผู้หญิงพูนศุขเมื่อสักครู่ คุณจริย์วัฒน์พูดถึงบทบาทสำคัญ คือท่านรักษาบ้านไว้ได้ รักษาครอบครัวไว้ได้ให้เข้มแข็ง ในแง่ส่วนตัวที่คุณจริย์วัฒน์เจอท่านผู้หญิงพูนศุขนั้น เห็นบทบาทที่ให้ความอบอุ่น บทบาทของท่านที่ให้ข้อคิด ในแง่ให้กำลังใจ หรือในแง่การดำเนินชีวิต เวลาพูดแบบ ท่านผู้หญิงพูนศุขเคยให้อะไรเป็นข้อคิดหรือเป็นแรงบัลดานใจอย่างไรบ้าง

ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร : ในความอบอุ่น ผมมีความรู้สึกมากเวลาอยู่กับท่านเหมือนอยู่กับแม่จริงๆ ถ้าผมอยู่ต่างประเทศ ถึงอยู่ห่างไกลกัน เวลาโทรไปหาท่าน หรือนานๆ ท่านจะโทรมา ท่านพูดด้วยความรู้สึกอ่อนโยนมีความเอื้ออาทร อยากจะคุย อยากจะเจอ แต่นั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งเพราะอยู่กับคุณลุง เวลาผมไปหาอาจารย์ปรีดีนั้น ผมซักถาม ผมไปอ่านไรเจอผมก็จดเก็บไว้ไปถามท่าน พอไปถามท่านก็สนใจ ว่า “คนนี้สนใจอะไรที่แปลกๆ”

จนกระทั่งครั้งหลังๆ คุณลุงใช้ให้ไปค้นหนังสือ ซึ่งเรายิ่งได้ประโยชน์มากขึ้นในส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ของผมก็ออกมาจากสิ่งอย่างนี้ ผลจะออกมาเป็นสิ่งอย่างนี้ และเวลาไปหาหรือโทรไป เหมือนกับไปก็เหมือนโทรไปหาบุพการีจริงๆ แล้วก็ถามนู้นถามนี้ ผมภูมิใจอย่างเวลาคุณลุงบอกคุณป้าว่า “นี้ถ้าเธอไม่หยุดสูบบุหรี่นะ นายแต็กเขาอาจจะไม่มาหาแล้วนะ เพราะเขาทนควันบุหรี่ไม่ได้” นี่คือสิ่งที่ผมจับใจมาก

ในขณะเดียวกัน ตอนคุณลุงอยู่ที่อองโตนีและคุณป้ากำลังบินกลับมาเมืองไทย คุณป้าถามว่า “ว่างไหม” ผมก็บอกว่า “ว่าง ส่งวิทยานิพนธ์เสร็จแล้ว มีเวลาอีกสองสามอาทิตย์” คุณป้าบอกว่า “ให้มาอยู่เป็นเพื่อนคุณลุงหน่อย” แค่นี้ผมก็อยากจะเข้าไปหาแล้วนะ คุณป้ายังบอกว่า “เตรียมทำไข่พะโล้ไว้แล้วด้วย” มีความรู้สึกว่าคุณป้าเอื้ออาทรจริงๆ สิ่งที่ผมเขียนถึงแม่อันหนึ่งคือ “ไม่ว่าผมจะโตแค่ไหน ห่วงว่าจะทานอะไรหรือยัง มีอันนี้ไหม” เพราะรู้ว่าชอบสิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งคุณป้าก็ให้สิ่งอย่างนี้กับผม การที่บอกช่วยมาอยู่เป็นเพื่อนคุณลุงในช่วงที่คุณลุงคงจะรู้สึกเศร้า ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับการไว้วางใจอยู่ด้วยได้ 

กษิดิศ อนันทนาธร : นึกถึงคนดีๆอย่างนี้ คือ เพลงคนดีมีค่า นึกถึงเพลงแม่จ๋า นึกถึงท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และนึกถึงคุณหญิงจันทนี สันตะบุตร คุณจริย์วัฒน์คิดว่าอะไรเป็นข้อคิด หรือบทเรียนที่คนรุ่นหลังควรจะได้รู้จักผ่านชีวิตของบุคคลสำคัญสองท่านนี้ 

ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร : เมื่อสักครู่พระท่านก็เทศน์ได้ถูกต้องว่า ในแต่ละช่วงชีวิตของแต่ละคนนั้น ทำสิ่งที่ตัวเองเป็น ตัวเองทำให้มันดีที่สุด อะไรสำคัญที่สุดตรงนั้นก็ต้องทำให้ดีที่สุด โดยที่มีธรรมเป็นเครื่องกำกับ ท่านผู้หญิงพูนศุขและแม่ของผม ผมเชื่อว่าเป็นคนที่มีธรรมในหัวใจอย่างยิ่ง มีทั้งความซื่อตรง ความซื่อสัตย์ และความเมตตาเป็นอาวุธ เป็นคนธรรมดาที่เริ่มด้วยสมองและสองแขนอย่างเดียว อย่างในตอนท้ายของเพลง คือ สร้างสิ่งดี เป็นแนวทางที่สร้างสิ่งดี ท่านคงไว้ซึ่งสิ่งนี้ตลอดไป สิ่งนี้โยงไป อาจารย์ปรีดี และ 2 ท่อนจะโยงกับ 2 เพลงนี้

สำหรับผม คือ ทุกคนไม่จำเป็นต้องไปสู้เพื่อสิทธิสตรีหรืออะไร แต่บางทีการแสดงออกทางการกระทำนั้นเป็นการนำไปสู่ “สิทธิสตรีคืออะไร? ทำไมต้องทำอย่างนั้น?” ซึ่งท่านทั้งสองพยายามบอกให้เห็นว่า การเป็นสตรีหนึ่งคนสามารถทำอะไรได้เยอะแยะ และเมื่อมีเพียงพอแล้วก็เผื่อแผ่ให้คนอื่นนั้น จะทำได้อย่างไร ผมว่าทั้งสองท่านเป็นตัวอย่างที่ดี

ขอขอบคุณวงสวนพลูที่เมื่อสักครู่ได้ร้องเพลง 2 เพลงทำให้ผมพูดไม่ออก ผมรู้สึกตื้นตันทุกครั้งเมื่อผมได้ยิน 2 เพลงนี้ ทำให้นึกถึงคนสำคัญในชีวิตของผม และเป็นแบบอย่างในชีวิตของผมทั้ง 2 เพลง แต่เมื่อกำลังนั่งเศร้าอยู่ เพลงที่ 3 ออกมา คือ This is me ซึ่งสื่อว่าให้เป็นตัวของตัวเองนั้นก็ดี ช่วยคั่นให้ผมและเพลงเป็นจังหวะที่เร้าใจฟังแล้วทำให้รู้สึกมีแรง มีเรื่องพูด ขอบคุณมาก

รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง : PRIDI Talks #19: 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

 

เพลงคนดีมีค่า และ เพลงแม่จ๋า ขับร้องโดย นักร้องประสานเสียงวงสวนพลูคอรัส :

ที่มา : กษิดิศ อนันทนาธร และ จริย์วัฒน์ สันตะบุตร ใน PRIDI Talks #19: 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ “สิทธิมนุษยชนกับความเท่าเทียมทางเพศในรัฐธรรมนูญไทย” วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม 2566 14.00 - 17.00 น. ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี