ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

บทบาทของสตรีกับการรับราชการ

25
ธันวาคม
2565

 

การบริหารประเทศมีข้าราชการเป็นตัวจักรสำคัญที่จะทำให้ราชการดำเนินไปด้วยดีมีประสิทธิภาพ หรือทรุดโทรมเสื่อมถอยลง ในอดีตบ้านเมืองของเราต้องทำศึกสงครามอยู่บ่อยๆ มีการเกณฑ์ประชาชนไปเป็นทหารทำการรบกับข้าศึก ครั้นบ้านเมืองสงบศึกก็กลับคืนมาเป็นพลเรือน ประกอบสัมมาอาชีพตามปกติ การรับเกณฑ์เข้าเป็นทหาร เราถือว่าผู้นั้นเข้ารับราชการทหาร ขณะที่ฝ่ายหนึ่งรับราชการทหารอีกฝ่ายหนึ่งก็จะต้องตระเตรียมเสบียงอาหารและสิ่งประกอบความช่วยเหลือให้แก่ทหาร พวกนี้เป็นข้าราชการพลเรือน

ในสมัยสุโขทัย ข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือนยังแยกกันไม่ออก เมื่อมีศึกสงคราม พลเรือนก็ไปเข้าประจำกองเป็นทหาร พอหมดศึกบ้านเมืองสงบ ทหารก็กลับมาเป็นพลเรือน ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พระบรมไตรโลกนาถได้ทรงแบ่งข้าราชการทหารและพลเรือนออกจากกัน โดยมีเสนาบดีเป็นผู้ควบคุมดูแล 2 ฝ่ายได้แก่ สมุหพระกลาโหม และสมุหนายก สมุหพระกลาโหมเป็นฝ่ายทหาร สมุหนายกเป็นฝ่ายพลเรือน

เรื่องของข้าราชการดูจะมีทัศนคติโน้มเอียงไปว่าเป็นเรื่องของผู้ชายมากกว่าผู้หญิงในอดีตเป็นต้นมาไม่ปรากฏว่า สตรีมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง ทั้งๆ ที่กฎหมายก็มิได้ตัดโอกาสของสตรีไปเสียทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันยิ่งเห็นชัดเจนว่า กฎหมายให้โอกาสเต็มที่ แต่ในทางปฏิบัติยังล้าหลังอยู่มาก ตามกันไม่ทัน ทั้งนี้ เพราะเหตุใด

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ท่านเล่าไว้ว่า[1] ในสมัยอยุธยานั้น สตรีต้องออกรบทัพจับศึกเช่นชายทุกประการ จนแม้แต่การแต่งกายก็ต้องพยายามดัดแปลงให้เหมือนชาย ทำให้นึกถึงท่านผู้หญิงโม ท้าวสุรนารี ที่สามารถชนะข้าศึกมาแล้ว ครั้นจะดูไปถึงอำแดงจันทร์กับอำแดงมุกแห่งเมืองถลาง สามารถต่อต้านทัพข้าศึกไว้รอทัพหลวงจากกรุงเทพฯ รบชนะศัตรูมาแล้วเช่นกัน จนได้รับพระราชทานนามว่า ท้าวเทพสตรีและท้าวศรีสุนทร ท่านสุภาพสตรีผู้ทำคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงให้แก่ประเทศชาติเหล่านี้ นอกจากจะมีน้ำใจและความสามารถประดุจชายแล้ว อนุสาวรีย์ของท่านเหล่านี้มีเครื่องแต่งกายดุจชายทุกประการ ดังความตอนหนึ่งว่า

 

“สตรีไทยเรานั้น เป็นที่รับรู้กันมาว่าเป็นมนุษย์มือหนึ่งถือดาบ อีกมือหนึ่งไกวเปลจนถึงขนาดที่โบราณเปรียบเทียบไว้เป็นภาษิตว่า อดเหมือนแร้ง แรงเหมือนมด ไวเหมือนกา กล้าเหมือนสตรี ประเพณียังตกทอดมาถึงมารดาของข้าพเจ้าเองสมัย กรุงรัตนโกสินทร์นี้ ซึ่งหญิงไทยไว้ผมสั้น ไม่เหมือนกับหญิงชาติใดในโลก ข้อนี้ อธิบายกันว่า หญิงไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาต้องออกรบพม่าอย่างเดียวกับชาย เพื่อป้องกันมิให้ศัตรูทำร้ายอย่างผู้หญิง จึงได้ไว้ผมตัดอย่างผู้ชาย ส่วนอื่นของร่างกายจะปลอมแปลงให้เหมือนผู้ชายอย่างไร ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่เรื่องเช่นนี้ถ้านำไปพูดกับชาวต่างประเทศเข้าเขามักไม่เชื่อ ก็กฎหมายกรุงเก่านี้เอง จะเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็น ชัดเจนว่า สตรีไทยเป็นมนุษย์มือหนึ่งถือดาบ อีกมือหนึ่งไกวเปลมาอย่างไร เพราะกฎหมายบานแผนกกล่าวไว้ชัดถึงสตรีที่เป็นทหาร”[2]

 

ตามความที่กล่าว สตรีไทยเป็นทหารมาแล้วในอดีต ดังนั้น การที่สตรีไทยรับราชการทหารและตำรวจในขณะนี้จึงมิใช่ของใหม่หรือแปลกประหลาดอย่างใด ตรงกันข้าม ถ้าหากทางราชการกีดกันไม่ให้สตรีไทยเป็นทหารตำรวจเสียอีกจะแปลกประหลาดมาก

สำหรับข้าราชการสตรีฝ่ายพลเรือน แม้จะมิได้มียศฐาบรรดาศักดิ์ประกาศว่าได้ดำรงตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้ หรือเป็นพระยา หลวง ขุน หมื่น เช่นผู้ชาย นอกจากจะเป็นคุณหญิงหรือท่านผู้หญิงตามตำแหน่งยศของสามี เป็นเรื่องของฝ่ายใน ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ มิใช่ได้มาด้วยความสามารถทางราชการของตนเองเลย อย่างไรก็ดี ราชการภายในพระบรมมหาราชวังมีปรากฏเกี่ยวกับบทบาทของสตรีอยู่ไม่น้อย

ก่อนที่จะกล่าวถึงบทบาทที่ว่านั้น ใคร่จะกล่าวถึงการบริหารหรือการปกครองภายในรั้วในวังเป็นแนวทางเสียก่อน โดยเฉพาะการปกครองทางศาล ซึ่งขึ้นต่อศาลกระทรวงวังตามพระธรรมนูญ จุลศักราช 1244 (พ.ศ. 2425) ที่ให้ศาลกระทรวงวังพิจารณาพิพากษาคดีที่จำเลยเป็นสมใน[3] พอมาถึง ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2435) ประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรม จึงยกเลิกศาลกระทรวงวังมารวมอยู่ในศาลสนามสถิตย์ยุติธรรม แต่ครั้น ร.ศ. 114 กลับตั้งขึ้นใหม่ ดังพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ความตอนหนึ่งว่า

 

“ฉันเห็นว่า คดีระหว่างคนในพระบรมมหาราชวังซึ่งตัดสินเปรียบเทียบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมนั้น ครั้นจะส่งออกไปยังกระทรวงยุติธรรม จะต้องมีเจ้าพนักงานส่งเสียควบคุม เป็นการลำบากในอันใช่ที่ คนที่อยู่ในพระบรมมหาราชวังก็เช่นเดียวกับคนในบ้านเรือนที่มีผู้ปกกรอง จะต้องเชื่อถือฟังคำผู้ใหญ่บ้าง ฉะนั้น ส่วนในพระบรมมหาราชวัง ก็เป็นที่กว้างขวาง และสำคัญ มีเจ้าพนักงานกระทรวงวังเป็นเจ้าหน้าที่ระงับเหตุแก่งแย่งวิวาทกล่าวหากันต่างๆ อยู่แล้ว ควรบังคับตัดสินคดีทั้งปวงนั้นเป็นสิทธิ์ขาดได้ เมื่อผู้ใดไม่สมัครให้กระทรวงวังบังคับ ก็ให้ออกไปอยู่นอกพระบรมมหาราชวังมีคดีอันใดก็ให้ไปว่ากล่าวที่ศาล”[4]

 

ศาลกระทรวงวังมาเลิกเมื่อไทยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และแบ่งอำนาจการปกครองเป็น 3 ส่วน คือ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ สำหรับอำนาจตุลาการนั้น มีศาลเป็นผู้รับผิดชอบพิจารณาพิพากษาคดีได้ทุกประเภททั่วประเทศ

การที่เล่าถึงศาลกระทรวงวังนั้น เมื่อผู้เขียนยังเป็นเด็กได้ฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่องการพิจารณาโทษเจ้าจอมทับทิม ภายในพระบรมมหาราชวังว่า สุภาพสตรีผู้หนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาพิจารณาคดีของสตรีฝ่ายใน ซึ่งเป็นผู้พิจารณาคดีเจ้าจอมทับทิมด้วยผู้เล่าได้กล่าวยกย่องสตรีตุลาการนั้นว่ามีบุคลิกลักษณะดีเยี่ยม แต่งกายดี ท่าทางดีมีความรู้ เวลาพิจารณาคดีเสียงดังฟังชัด มีกังวานน่าเกรงขาม พิจารณาด้วยความเที่ยงตรง ยุติธรรม จนเป็นที่ยกย่องนับถือของชาววังทั้งหลาย ตอนนั้นเป็นเด็ก ฟังสนุกและนึกชมเชยสตรีตุลาการผู้นั้น โดยยังมิได้คิดเป็นอย่างอื่น ต่อมาจึงเข้าใจว่า สตรีผู้ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีนั้น คือ ข้าราชการสตรีของกระทรวงวัง ซึ่งเป็นข้าราชการเหมือนข้าราชการชายทั้งหลายในกระทรวงอื่น

การที่สตรีสามัญทำหน้าที่ได้เช่นชายในกระทรวงวังได้ในสมัยนั้น เหตุใดเล่าสตรีจึงจะทำหน้าที่ราชการในกระทรวงอื่นมิได้ แต่ในทางการปฏิบัติจริง สตรีกลับมิได้รับยกย่องให้กระทำได้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเหตุใด แต่ที่รู้กันแน่ๆ นั้นประการหนึ่งก็คือสภาพสังคมไม่ยอมรับ เพราะยังมีทัศนคติต่อสตรีว่า ควรเป็นแม่เหย้า แม่เรือน ต้องดูแลเลี้ยงดูบุตรและครอบครัวให้ครอบครัวร่มเย็นเป็นสุข การออกไปทำงานนอกบ้านควรเป็นเรื่องของผู้ชาย เรื่องนี้แม้แต่กฎหมายก็มิได้ให้เกียรติเลย เช่น กฎหมายครอบครัวจะกล่าวถึงชายว่าเป็นหัวหน้าครอบครัว หญิงภรรยาจะกระทำงานสิ่งใดที่เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือเรื่องภายในครอบครัวต้องได้รับอนุญาตจากสามีก่อน[5] การที่ปรากฏเช่นนี้คงเป็นเพราะชายเป็นผู้ร่างกฎหมายนั่นเอง

จะพูดถึงขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมในอดีตเป็นต้นมา การให้สิทธิชายเหนือกว่าหญิง การให้ความยกย่องเคารพนับถือชายมากกว่าหญิง ความภาคภูมิใจที่มีบุตรชายมากกว่าบุตรหญิง อะไรทำนองนี้ เป็นเรื่องฝังจิตฝังใจประชาชนอย่างแน่นแฟ้น จนแม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังหลงเหลืออยู่ ในด้านการศึกษาเป็นตัวอย่างเห็นได้ชัด แต่ก่อนจะอนุญาตให้ลูกชายเรียนหนังสือ แม้จะเรียนกันในวัด โดยอาศัยพระภิกษุสงฆ์เป็นครูสอนให้ หรือจะเรียนในโรงเรียนเมื่อรัฐบาลได้ตั้งโรงเรียนสำหรับปวงชนขึ้นแล้วก็ตาม ส่วนลูกสาวให้อยู่บ้านช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ออกไปเลี้ยงควาย ทำนาทำไร่ถ้าอยู่บ้านต้องหุงหาอาหารทำงานบ้านงานเรือน พ่อแม่ไม่เคยคิดสนับสนุนให้ได้เล่าเรียนจะมีบ้างก็เป็นพวกในรั้วในวัง ครั้นเรียนสำเร็จแล้ว ผู้ชายยังมีความก้าวหน้าต่อไป คือ สมัครเข้ารับราชการ แม้จะเป็นตำแหน่งเสมียนก็ยังพอใจและภูมิใจด้วย

คราวนี้หันมาดูความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยบ้างว่ามีความโน้มเอียงและผ่อนปรนมากขึ้น ยอมอนุญาตให้หญิงได้ทำงานนอกบ้านเพื่อประกอบอาชีพได้หลายอย่าง แต่ทั้งนี้ก็เพื่อนำรายได้มาจุนเจือครอบครัวมากกว่าจะเป็นการยกย่องนับถือ

ดังนั้น กล่าวได้ว่า การที่สังคมมีทัศนคติต่อสตรีเช่นว่านี้ เป็นความไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่ง ในเมื่อกฎหมายก็มิได้มีข้อกีดกันอย่างใด จะเห็นได้จากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ เป็นต้น ก็มิได้มีข้อกำหนดห้ามรับสตรีเข้ารับราชการโดยกฎหมายที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างทั้ง 3 ฉบับ นั้น จะกล่าวเป็นกลางๆ ว่า คุณสมบัติข้อที่ 1 คือ ต้องมีสัญชาติไทย ข้อที่ 2 มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี สำหรับข้าราชการพลเรือน และข้าราชการตำรวจ ส่วนข้าราชการตุลาการกำหนดอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี ข้อกำหนดคุณสมบัติอื่นๆ เช่น ไม่เป็นคนมีกายทุพพลภาพ ไร้ความสามารถ เสมือนไร้ความสามารถ ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่เป็นผู้ถูกสั่งพักราชการ และอื่นๆ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่เป็นได้ทั้งชายและหญิง มิได้มีข้อกำหนดเจาะจงไปว่าจะเป็นได้เฉพาะชายหรือหญิง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงถือได้ว่า กฎหมายให้ความยุติธรรม

และเมื่อสตรีได้มีโอกาสได้รับราชการในหน่วยงานที่ให้ความยุติธรรมนั้น เมื่อปฏิบัติงานจริงๆ ก็ทำได้ดี เช่น จะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ครู ตำรวจ หรือทหาร ฯลฯ ก็ล้วนเป็นได้ และเป็นได้ดี ซึ่งข้าราชการเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเข้ารับราชการด้วยวิธีการสอบแข่งขัน สอบคัดเลือก ซึ่งก็เป็นวิถีทางแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ ขณะเดียวกันในเวลานี้สังคมไทยคงจะกำลังจ้องดูกำนันหญิง ผู้ใหญ่บ้านหญิง อธิการบดีหญิง ที่ได้รับการเลือกตั้งจากบรรดาสมาชิกของตนให้เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่บริหารราชการว่าจะมีความสามารถเพียงใด เรื่องนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าคงจะไม่มีปัญหา เพราะท่านเหล่านั้นได้ตำแหน่งมาด้วยการเลือกตั้ง มิใช่แต่งตั้งตามความพอใจของผู้มีอำนาจ

แต่งตั้งได้ ยิ่งไปกว่านั้นเรากำลังมองไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่งว่า ในด้านผู้ปกครองบ้านเมือง เช่น นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ตำแหน่งเช่นนี้ยังไม่มีในประวัติศาสตร์ไทยเลยที่สตรีจะเข้าไปมีหน้าที่บริหารได้

ที่พูดมานี้เป็นเรื่องของไทยภายในประเทศไทย แต่ถ้าหากผู้เขียนจะเล่าเรื่องต่างประเทศให้ฟังสักเรื่องหนึ่งเป็นการเปรียบเทียบคิดว่าคงไม่ทำให้เสียบรรยากาศแต่อย่างใด

ผู้เขียนทั้งสองคนมีโอกาสไปเยี่ยมสหพันธ์สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยพบว่าสตรีจีนมีโอกาสได้รับผิดชอบบ้านเมืองในระดับบริหาร ทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ มีอัตราส่วน 1 ใน 3 ในบุรุษ ทั้งที่ประวัติดั้งเดิมของจีนมีขนบธรรมเนียมประเพณีกีดกันสตรีมากกว่าประเทศของเราเสียอีก ในที่สุดได้รับการชี้แจงจาก ฯพณฯ เฉิน มู่ หวา ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีสตรี รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการวางแผนครอบครัวซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของจีนในขณะนี้ว่า “เมื่อมีการคัดเลือกใดๆ ก็ตาม ถ้าสตรีมีความสามารถเท่าเทียมกับบุรุษแล้วจะเลือกสตรีก่อน” ทั้งนี้โดยมีเหตุผลว่า ทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีและโอกาสบุรุษย่อมได้เปรียบสตรีอยู่แล้ว จึงควรให้โอกาสแก่สตรีโดยเน้นว่าต้องมีความสามารถเท่าบุรุษ และก็เป็นจริงได้พบสตรีชั้นนำของจีนทุกระดับทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค สตรีเหล่านี้ได้รับการคัดเลือกมาด้วยความสามารถ ทั้งบุคลิกภาพ การพูดจา ท่าทางสำแดงความเป็นคนเก่งที่เราต้องยอมรับ

ขอยกตัวอย่างเช่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ อายุประมาณ 50 ปี เป็นคนคล่องแคล่ว ว่องไว หน้าตาสดใส แสดงให้เห็นว่ามีสุขภาพอนามัยดีสมกับที่เป็นหมอ ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรมสิ่งทอ อายุ 40 ปีเศษ เธอผู้นี้เคยเป็นคนงานในโรงงานมาก่อน แต่คิดเครื่องทุ่นแรงในการทำงาน จึงได้รับเลือกเป็นคนงานดีเด่นของประเทศ และได้ศึกษาต่อจนได้รับตำแหน่งดังกล่าวเธอผู้นี้เข้าใจปัญหาและเข้ากับคนงานได้เป็นอย่างดี จึงสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ทำให้งานก้าวหน้า เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป

สำหรับประเทศเรานั้น เพียงแต่ให้โอกาสแก่สตรีที่มีความสามารถ โดยถือผลงานเป็นเกณฑ์อย่างจริงจังแล้ว จะมีสตรีในระดับบริหารเพิ่มขึ้น ช่วยให้เกิดความเข้าใจปัญหาต่างๆ ตลอดจนการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวกับข้าราชการสตรีและสังคมด้านอื่นๆ ได้อีกมาก เช่น เป็นพนักงานสอบสวนสตรี ซึ่งจะช่วยได้มากในเรื่องคดีข่มขืน คดีที่เกี่ยวกับเด็ก เป็นต้น

ขอย้อนไปกล่าวถึงวิวัฒนาการของข้าราชการสตรีภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับแรกได้ให้สิทธิแก่สตรี ทั้งในด้านการเมืองและการให้เข้ารับราชการก็ตาม อีกหลายปีต่อมาเราจึงมีผู้แทนราษฎรสตรี ซึ่งก็มีไม่กี่ท่าน ส่วนข้าราชการสตรีนั้นหลายหน่วยงานยังมีข้อจำกัดอยู่ มีเรื่องที่น่าจะนำมาเล่าสู่กันฟังก็คือ กระทรวงยุติธรรมเดิมกำหนดให้บุรุษเท่านั้นเป็นผู้พิพากษาได้ ต่อมาได้ยกเลิกจึงได้มีสตรีสมัครสอบแข่งขันและสอบได้เป็นที่สอง ผลการสอบของครั้งนั้นจึงมีบุรุษสอบได้คนเดียว เพราะท่านสอบได้ที่หนึ่ง นอกนั้นตกหมด และก็ได้มีการแก้ไขระเบียบข้อบังคับกันใหม่ว่าให้สตรีเป็นผู้พิพากษาในศาลคดีเด็กได้ ซึ่งในขณะนั้นสตรีที่ต้องอดทนรอกันต่อไป เพื่อให้มีศาลคดีเด็กได้เมื่อไหร่ก็จะได้มีโอกาสเมื่อนั้น (ฟังดูเล่นๆ เหมือนเปิดโอกาสให้สตรี แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นการจำกัดโดยเงื่อนไขซึ่งแต่เดิมไม่มี)

ในปี 2517 รัฐธรรมนูญได้กำหนดสิทธิสตรีให้เท่าเทียมบุรุษไว้อย่างชัดแจ้งที่สำคัญที่สุด คือ มีบทเฉพาะการกำหนดให้แก้ไขกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ขัดแย้งสิทธิของสตรีตามรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 2 ปี ซึ่งนับได้ว่าเป็นขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด ได้มีการแก้ไขการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในวงการต่างๆ ทั้งหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน สตรีได้เป็นผู้พิพากษา อัยการ อธิบดี เอกอัครราชทูต เป็นทหารยศพันเอกพิเศษ ซึ่งเดิมจำกัดแก่พันโท และเมื่อเร็วๆ นี้ เราก็มีสตรีได้รับเลือกตั้งเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านแล้ว

ตามที่กล่าวมาจากข้างต้นจะเห็นได้ว่า กฎหมายหรือระเบียบใดๆ ก็ตาม มิได้กีดกันข้าราชการสตรีเลย แต่ทำไมในทางปฏิบัติหรือพฤตินัย ข้าราชการสตรีจึงยังล้าหลังอยู่ เมื่อเทียบจากการศึกษาหรือความสามารถกันแล้ว สตรีและบุรุษจำนวนไล่เลี่ยกัน แต่การดำรงตำแหน่งราชการในระดับบริหารไม่ถึง 5% เมื่อเทียบอัตราส่วนกับบุรุษ ถ้าเรายังแก้ทัศนคติเหล่านี้ไม่ได้ น่าลองมาใช้วิธีการแก้ปัญหาในส่วนที่เกี่ยวกับข้าราชการสตรีตามแบบของสาธารณรัฐประชาชนจีนดูบ้าง

  • หมายเหตุ : เคยตีพิมพ์ในวารสาร “ข้าราชการ” ปีที่ 28 ฉบับที่ 2 กุมภาพันธ์ 2526 หน้า 21-26

 

ที่มา : จันทนี สันตะบุตร และ ลิ้นจี่ หะวานนท์, บทบาทของสตรีกับการรับราชการ, ใน “รำลึกถึงคุณหญิงจันทนี สันตะบุตร”, (นนทบุรี: ภาพพิมพ์, 2565), หน้า 259- 265.

 

[1] ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, กฎหมายสมัยอยุธยา, พระนคร: ศิวพร, 2510 หน้า 55-56.

[2] พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์, ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย, พระนคร: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2495, หน้า 11.

[3] สมใน คือ ข้าหรือลูกหมู่ในเจ้านาย หรือในกรมราชการฝ่ายใน หรือข้าวัดวาอารามหลวง.

[4] พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 8 มิถุนายน ร.ศ. 114 ถึงพระองค์เจ้าไชยยันต์มงคล อ้างถึงใน พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์, อ้างแล้ว, หน้า 122-12

[5] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว ฉบับ พ.ศ. 2477 ที่ยกเลิกไปแล้ว.