ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

แม่ เมีย และผู้หญิง : การเมืองไทยใน “มาลัยสามชาย”

19
เมษายน
2567

Focus

  • วรรณกรรมที่สะท้อนสังคมไม่ว่าจะในแง่มุมเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย ขนบธรรมเนียม ประเพณี และศีลธรรม ย่อมมีคุณค่ามากกว่าวรรณกรรมที่ทำหน้าที่เพียงแต่ให้ความบันเทิง และการสร้างสุนทรียภาพ
  • นวนิยายเรื่อง “มาลัยสามชาย” (นำเสนอเป็นตอนๆในนิตยสารพลอยแกมเพชร และรวมเล่มใน พ.ศ. 2550) ได้รับการแต่งขึ้นโดย รศ. คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ เจ้าของนามปากกา “ว. วินิจฉัยกุล” หรือ “แก้วเก้า” โดยเป็นนวนิยายที่เขียนอิงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
  • ใจความสำคัญของเนื้อเรื่อง คือ การเล่าถึงชีวิตสมรสสามครั้งของลอออร หรือคุณหญิงโยธาบดีผู้มีชีวิตในห้าแผ่นดิน (รัชกาลที่ 5 – 9) อันเนื่องจากเหตุการณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีผลให้ครอบครัวของบุคคลที่มีบทบาทในภารกิจทางการเมืองของรัฐในระบอบการเมืองใหม่ ได้รับกระทบถึงความมั่นคงในการดำรงชีวิตสมรสด้วย แต่กระนั้น นิยายเรื่องนี้ก็ให้คุณค่าแก่กุลสตรีไทย ในความเป็น “แม่ เมีย และผู้หญิง” ภายใต้จารีตสมัยที่ชายเป็นใหญ่ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม อันท้าทายต่อโอกาสที่ฝ่ายชายจะสามารถมีภรรยาได้หลายคนให้ลดน้อยลง ตามค่านิยมที่รับมาจากตะวันตก

 

การอ่านนิยายเรื่องหนึ่ง ไม่ได้เพียงแต่ให้ความบันเทิงกับผู้อ่าน ซึ่งส่วนสำคัญของความบันเทิงดังกล่าวเกิดจากความสนุกสนานของเนื้อเรื่องที่สื่อสารมายังผู้อ่าน อีกทั้งงานวรรณกรรมที่ดีนั้น ยังมีการใช้ภาษาที่สละสลวยและถ้อยคำที่สื่ออารมณ์ความรู้สึกมายังผู้อ่าน ทำให้เกิดจินตนาการสอดประสานไปกับเรื่องต่างๆ เหล่านี้ 

 

อย่างไรก็ดี คุณค่าของงานวรรณกรรมนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะความบันเทิงหรือความสุนทรียะที่เกิดจากการใช้ภาษาที่สละสลวยเท่านั้น คุณค่าอีกประการหนึ่งที่งานวรรณกรรมกำลังทำหน้าที่ก็คือ “การสะท้อนสังคม”

เสนีย์ เสาวพงศ์ ได้เคยอธิบายไว้ว่า วรรณกรรมทุกเรื่องมีบทบาทในการสะท้อนสังคมเพียงแต่จะมากหรือน้อย จะถูกต้องหรือบิดเบือนเพียงใดเท่านั้นเอง เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะวรรณกรรมเป็นกิจกรรมที่คนเรากระทำต่อธรรมชาติ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ และสิ่งที่ล้อมรอบอยู่กับตัวของมนุษย์ในสังคมหนึ่ง

 อาทิ เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรม ซึ่งวรรณกรรมย่อมมีส่วนถ่ายทอดประเด็นทางสังคมเหล่านี้ออกมา รวมถึงทัศนคติของผู้ประพันธ์ที่มีต่อธรรมชาติ และสภาพสังคมในเวลานั้น[1] โดยเฉพาะหากวรรณกรรมดังกล่าวมีลักษณะเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์แล้ว วรรณกรรมดังกล่าวอาจจะกำลังทำหน้าที่มากไปกว่าความบันเทิง การสร้างสุนทรียภาพ และการสะท้อนสังคม แต่วรรณกรรมดังกล่าวอาจกำลังสร้างปฏิบัติการของการสร้างความทรงจำร่วมกันของคนในสังคม

ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอนำผู้อ่านมาพิจารณาเนื้อหาของนวนิยายเรื่อง “มาลัยสามชาย” โดยมองมิติการเมืองผ่านตัวตนของผู้หญิงในนวนิยายเรื่องนี้

 

คำเตือน บทความนี้มีการหยิบเนื้อหาบางส่วนของนวนิยายเรื่องมาลัยสามชาย และกล่าวถึงเนื้อหาบางส่วนจากละครโทรทัศน์ที่มีชื่อเรื่องเดียวกัน หากผู้อ่านประสงค์จะติดตามเนื้อหาของนวนิยายหรือละครโดยละเอียด โปรดอย่าอ่านต่อ

 

‘มาลัยสามชาย’ และเบื้องหลังของผู้ประพันธ์

“มาลัยสามชาย” เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นโดยรองศาสตราจารย์ คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ หรือรู้จักในนามปากกาว่า ว. วินิจฉัยกุล หรือ แก้วเก้า เป็นนักประพันธ์ชาวไทยที่มีชื่อเสียงจากการเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ และแนวแฟนตาซีหลายเรื่อง

กล่าวเฉพาะเกี่ยวกับมาลัยสามชาย ซึ่งเป็นนวนิยายที่คุณหญิงวินิตา เขียนโดยใช้นามปากกาว่า ว. วินิจฉัยกุล เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสารพลอยแกมเพชรโดยเขียนเป็นตอนสั้นๆ ก่อนจะถูกนำไปรวมเล่มในปี พ.ศ. 2550

เนื้อเรื่องโดยรวมของมาลัยสามชายนี้ เป็นการเขียนบอกเล่าเกี่ยวกับชีวิตของ “ลอออร” หรือ “คุณหญิงโยธาบดี” ในเวลาต่อมา

‘ลอออร’ เกิดและมีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่างปลายรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 9[2] ผ่านชีวิตการแต่งงานมีครอบครัวมา 3 ครั้ง ก่อนจะพบความสุขในชีวิตคู่ในตอนสุดท้าย โดยชีวิตของลอออรนั้นได้เข้าไปเกี่ยวพันกันกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานั้นอย่างใกล้ชิดที่นวนิยายในแต่ละช่วงจะได้อธิบายเรื่องดังกล่าวผ่านมุมมองของตัวละครต่างๆ

ในแง่วรรณศิลป์ ผู้เขียนอาจจะไม่แสดงความเห็นต่อนวนิยายเรื่องนี้มาก เนื่องจากนวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลดีเด่นประเภทนวนิยาย จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2551 ซึ่งจากการอ่านผู้เขียนก็ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับการได้รับรางวัลดังกล่าว[3]

อีกสิ่งที่น่าสนใจของนวนิยายเรื่องมาลัยสามชายนี้คือ การที่ผู้ประพันธ์ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องย้อนหลังจากช่วงเวลาปัจจุบัน โดยอาศัยความทรงจำของตัวละครอื่นในเรื่องเพื่ออธิบายเกี่ยวกับชีวิตของลอออร[4] ซึ่งถูกมองว่ามีความแปลกและแตกต่างไปจากชีวิตของผู้หญิงทั่วๆ ไปในช่วงเวลาเดียวกัน ประกอบกับมีการผูกโยงเรื่องราวเข้ากับเหตุการณ์สำคัญๆ ในประวัติศาสตร์อย่างการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยามในปี พ.ศ. 2475

การเล่าเรื่องในลักษณะดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนเป็นกับการอธิบายชีวประวัติของบุคคลที่เสมือนมีตัวตนอยู่จริง และสร้างน้ำหนักที่มีความสมจริงให้กับบทประพันธ์มากยิ่งขึ้น ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องในลักษณะดังกล่าวนั้นเป็นความแยบคายและเฉียบคมของผู้ประพันธ์ที่ช่วยให้ผู้อ่านมีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครได้มากขึ้น คล้ายๆ กับที่ผู้อ่านมีความรู้สึกร่วมกันกับบทประพันธ์อย่างสี่แผ่นดิน

อนึ่ง แม้ว่าจะไม่ปรากฏแน่ชัดว่า คุณหญิงวินิตาได้อิทธิพลของตัวละครลอออรมาจากที่ใด (คำกล่าวอ้างจำนวนหนึ่งได้เล่าว่า ผู้ประพันธ์ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาดของผู้หญิงคนหนึ่ง หรือการตามมารดาไปเจอญาติผู้ใหญ่ และอีกส่วนก็กล่าวว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตของคุณหญิงมณี สิริวรสาร)  อย่างไรก็ดี อธิพร ประเทืองเศรษฐ์ ได้นำเสนอแง่มุมการวิเคราะห์ที่น่าสนใจ ภูมิหลังสำคัญของผู้ประพันธ์มีส่วนสำคัญในการเติมเต็มเรื่องราวของลอออร กล่าวคือ ผู้หญิงเป็นบุตรสาวคนเดียวของนายวัลลภ วินิจฉัยกุล และนางกาญจนี วินิจฉัยกุล สมรสกับนายสมพันธ์ ดิถียนต์ และมีบุตรสาวสอง

ด้วยเหตุนี้ การเลือกสร้างตัวละครนำให้เป็นผู้หญิงจึงอาจจะมีความราบรื่นมากกว่า ประกอบกับการที่ผู้อ่านหลักของเรื่องนี้ในช่วงแรกเป็นผู้หญิงในนิตยสารสตรี ทำให้การใช้ตัวละครหญิงเพื่อนำเสนอคุณค่าใหม่ของผู้หญิงทำให้ผู้อ่านรู้สึกใกล้ชิดและเข้าใจตัวละครมากยิ่งขึ้น[5]

 

บทบาทของแม่ เมีย และผู้หญิงในช่วงเปลี่ยนผ่านสังคมและการเมือง

ด้วยเหตุที่เป้าหมายดั้งเดิมของผู้ประพันธ์ในนวนิยายเรื่องมาลัยสามชายโดยตีพิมพ์ในนิตยสารพลอยแกมเพชรที่เป็นนิตยสารสตรี มีกลุ่มผู้อ่านหลักในเวลานั้นเป็นผู้หญิง ซึ่งการดำเนินเรื่องโดยตัวละครผู้หญิงอาจจะทำให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการถึงภาพและทำความเข้าใจบริบทของตัวละครได้ดีกว่า ประกอบกับด้วยภูมิหลังของผู้เขียนดังที่ได้มีการกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้นวนิยายไม่เพียงแต่มีตัวละครเอกเป็นผู้หญิง ทว่า การดำเนินเรื่องโดยส่วนใหญ่จะดำเนินผ่านตัวละครผู้หญิงที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครลอออร อาทิ แม่ของลอออร คุณป้าจรวย (ป้าของลอออร) คุณประยงค์ (พี่สาวของสามีคนแรก) เสด็จพระองค์หญิง ทองไพรำ และเครือญาติฝ่ายหญิงของสามีสองคนแรก โดยที่ตัวละครแต่ละตัวนั้นฉายภาพของผู้หญิงในบริบทของสังคมเวลานั้นๆ

ในนวนิยายผู้ประพันธ์สร้างตัวละครลอออรให้เกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเป็นบุตรสาวคนโตของพระยาวรพันธ์กับภริยาคนแรก ภายหลังจากมารดาถึงแก่กรรมก็ได้อยู่ภายใต้การอุปการะของคุณป้าจรวยโดยถวายตัวเป็นนางข้าหลวงของเสด็จพระองค์หญิง จนกระทั่งเมื่ออายุได้ 18 ปี ลอออรได้แต่งงานกับ ยศ พลาธร บุตรชายคนเดียวของพระยาพลาธรกับภริยาเอกที่เพิ่งกลับมาจากเรียนต่อที่ต่างประเทศ แต่ชีวิตสมรสก็ไม่ได้ราบรื่น เพราะในเวลาต่อมายศได้พาทองไพรำเข้ามาในบ้าน ทำให้ลอออรได้ตัดสินใจเลิกลา และกลับเข้าวังเพื่อรับราชการเป็นนางข้าหลวงของเสด็จพระองค์หญิงอีกครั้งหนึ่ง

จนกระทั่งเสด็จพระองค์หญิงสิ้นพระชนม์จึงได้ออกมาอยู่นอกวัง ได้พบรักและแต่งงานกับนายพันโทพระสุรกิจเกรียงไกร หรือ เทพ ราชศักดิ์ มีครอบครัวด้วยกันจนกระทั่งชีวิตต้องเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการอภิวัฒน์สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ทำให้เทพต้องลี้ภัยทางการเมืองตามเจ้านายพระองค์หนึ่ง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา จนท้ายที่สุดลอออรได้ตกหลุมรักและตกลงแต่งงานกับเจ้าดิเรกรุจ ผู้มีสถานะเป็นเจ้านายวงศ์ล้านนา

ตลอดนวนิยายเรื่องนี้จะนำเสนอบทบาทของผู้หญิงใน 3 แง่มุม คือ การเป็นแม่ เมีย และผู้หญิงที่ดีในกรอบขนบของสังคมไทย แม้ว่าตัวละครบางตัวจะไม่ได้ต้องดำรงบทบาททั้ง 3 บทบาท แต่ต้องดำรงบทบาทของผู้หญิงที่ดีในกรอบขนบของสังคมไทยที่ได้รับการส่งเสริมด้วยสถานะของผู้หญิงที่ทรงศักดิ์ที่จะมีอิสระไม่ตกอยู่ภายใต้บทบาทที่สังคมคาดหวังให้เป็นแม่และเมีย ดังจะเห็นได้จากกรณีของเสด็จพระองค์หญิง ซึ่งเป็นเจ้านายที่ลอออรได้เข้ามาถวายตัวเป็นนางข้าหลวงตั้งแต่ยังเด็ก หรือกรณีของคุณจรวย และคุณประยงค์ ซึ่งทั้งสองคนก็มีสถานะเป็นนางข้าหลวงและเป็นลูกหลานของผู้ดีที่มีสถานะได้รับการยอมรับจากสังคม (แม้ว่าในนวนิยายจะอธิบายเหตุที่คุณประยงค์ไม่ได้สมรสเอาไว้ แต่การอยู่โดยมีสถานะทางสังคมที่สูงก็ทำให้รอดพ้นจากความคาดหวังดังกล่าว)[6]

โดยทั่วไปบทบาททั้งสามนั้น ครอบคลุมกับตัวละครเกือบทุกตัวในนวนิยายเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับลอออร ที่แม้ว่าผู้ประพันธ์พยายามเน้นย้ำกับผู้อ่านว่า ลอออรไม่เหมือนกับผู้หญิงคนอื่นในยุคสมัยเดียวกัน[7] ดังปรากฏตามบทประพันธ์ว่า

“เริ่มตั้งแต่ชื่อ คุณย่า (ลอออร)  ก็ไม่เหมือนคนแก่ในวัยเดียวกันเสียแล้ว ยิ่งถ้ารู้จักคุณย่า ก็จะพบว่ามีอีกหลายๆ อย่างผิดแผกจากคนรุ่นเดียวกัน หรือแม้แต่รุ่นหลังท่าน” หรือ “ชีวิตส่วนตัวของคุณย่า (ลอออร) เป็นอีกอย่างที่ไม่เหมือนคนแก่คนอื่นๆ…คุณปู่กับคุณย่ารับประทานขนมปังทาเนยบางๆ สลับกับข้าวต้มเครื่องในบางวัน ตอนบ่ายแม่บ้านยกน้ำชาฝรั่งมาให้คุณย่ากับคุณปู่ที่ลานสนามข้างบ้าน พร้อมของว่างประเภทแซนด์วิช…”[8]

ความแตกต่างที่ผู้ประพันธ์พยายามเน้นย้ำให้ผู้อ่านทราบในนวนิยายก็คือ การปรับตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมัยใหม่หรือการรับเอาวัฒนธรรมแบบตะวันตกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต นอกจากเรื่องการกิน ดังยกตัวอย่างมาแล้วในข้างต้น ในบทประพันธ์จะอธิบายว่า ลอออรมักจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าป่านหรือลูกไม้ คอปก แขนสามส่วน กับนุ่งผ้าไหมยาวเลยน่อง สีสันไปทางเดียวกัน และไม่เดินเท้าเปล่า แม้แต่เวลาที่อยู่ในบ้านก็จะใส่รองเท้าแตะสำหรับเดินในบ้าน หรือการมีกิจวัตรประจำวันในการดูการ์ตูนสั้นขาวดำที่นำเข้าจากต่างประเทศ การเปิดเครื่องเล่นแผ่นเสียงฟังเพลงสากล รวมถึงการมีทักษะการทำงานบ้าน อาทิ การทำบัญชี การปักผ้าครอสติช ถักโครเชต์ ถักแท็ตติดผ้าเช็ดหน้า จัดดอกไม้ และทำอาหารฝรั่งประเภทสตูว์ เนื้ออบ และมันฝรั่งอบยัดไส้ รวมถึงลอออรสามารถขับรถและยิงปืนได้อีกด้วย[9]

การอธิบายคุณลักษณะดังกล่าวข้างต้นในนวนิยายเป็นการอธิบายว่า ลอออรมีลักษณะแตกต่างไปจากผู้หญิงทั่วไปในยุคสมัยเดียวกัน แต่ผู้ประพันธ์ยังคงสร้างตัวละครลอออรให้เป็นผู้หญิงตามขนบของหญิงไทยที่เพียบพร้อมในสมัยก่อน[10] สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นการรับมือกับการเปลี่ยนผ่านทางยุคสมัยและความเป็นสมัยใหม่ภายใต้อิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาสู่สังคมไทยของชนชั้นนำ ซึ่งแม้จะมีการปรับเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมบางอย่าง อาทิ การกิน การแต่งกาย และการใช้ชีวิตความบันเทิง แต่ทั้งหมดเป็นองค์ประกอบภายนอก ในทางตรงกันข้ามองค์ประกอบทางจิตใจนั้นยังคงอนุรักษ์ไว้ซึ่งคุณค่าของความเป็นไทยบางอย่างที่ถูกยกย่องให้สูงส่งกว่า อาทิ ความเป็นกุลสตรีไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างตัวตนของความเป็นไทย[11]

ความเป็นกุลสตรีไทยที่ถูกเน้นย้ำนั้น ยึดโยงกับบทบาทของการเป็นนางแก้ว ตามการวิเคราะห์ของ อธิพร ประเทืองเศรษฐ์ ได้อธิบายว่า ลอออรเป็นหญิงสาวผู้มีคุณสมบัติของการเป็นศรีภริยา กล่าวคือ เพียบพร้อมด้วยรูปโฉมและคุณสมบัติของความเป็นผู้ดี รวมถึงการมีชาติตระกูลและภูมิหลังที่ดีโดยได้รับการอบรมจากในวังของเสด็จพระองค์หญิง ซึ่งเป็นตัวละครที่มีอิทธิพลทางความคิดและเป็นตัวแบบให้กับลอออร[12] การสร้างตัวละครเสด็จพระองค์หญิงขึ้นมาจึงอาจมีเป้าหมายเพื่อเน้นย้ำว่าลอออรได้รับการถ่ายทอดคุณลักษณะของความเป็นกุลสตรีชาววังมาโดยตรง

บทบาทของการเป็นนางแก้วผู้เป็นเมียของลอออรยังได้รับการเน้นย้ำจากผู้ประพันธ์ไว้ในหนังสือ โดยเมื่อลอออรแต่งงานกับยศ สามีคนแรก ดังปรากฏในบทประพันธ์ว่า “ไม่รักก็บ้าแล้ว นางแก้วอย่างน้องอรไปหาได้ที่ไหนอีก เรารักมาตั้งแต่เห็นหน้า”[13]

การเปรียบเทียบลอออรเป็นนางแก้วซึ่งเป็นหนึ่งในสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิตามคติแบบไตรภูมินั้นเป็นการยกย่องลอออรไว้ในสถานะที่สูงส่ง เพราะไม่เพียงการเป็นศรีภริยาทั่วไปนั้น แต่ยังเป็นผู้หญิงที่ดี เป็นเมียที่ดี รู้จักปรนนิบัติสามีให้ได้รับความสุข ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ[14]

มิเพียงเท่านั้นเมื่อลอออรจบความสัมพันธ์กับยศ และได้ไปแต่งงานกับนายพันโทพระสุรกิจเกรียงไกรหรือเทพ ที่ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นพันเอกพระยาโยธาบดี สามีคนที่สอง ลอออรยังคงปฏิบัติหน้าที่ศรีภริยาโดยการดูแลปรนนิบัติสามี รวมถึงคอยต้อนรับเพื่อนร่วมงานของสามีไม่ให้สามีต้องขายหน้า ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ของภริยาตามขนบของการเป็นช้างเท้าหลังได้เป็นอย่างดี รวมถึงปฏิบัติหน้าที่เป็นแม่ที่ดีทั้งกับลูกของตัวเองและลูกติดของสามี

บทบาทของการเป็นกุลสตรีไทยนี้มีเป็นจุดสำคัญของเรื่อง แม้ว่าลอออรจะท้าทายขนบธรรมเนียมของสังคมด้วยการเป็นหญิงสามผัว ซึ่งตามคติของคนไทยที่มีคำพังเพยว่า “หญิงสามผัว ชายสามโบสถ์คบไม่ได้” ซึ่งเป็นการมองว่า ผู้หญิงที่ผ่านการมีครอบครัวมาแล้วหลายหนย่อมต้องเป็นผู้หญิงที่มีปัญหา รวมถึงการผ่านชีวิตสมรสมามากก็อาจจะมีเล่ห์กลสามารถออดอ้อนมารยาสาไถยสามีได้[15]

ในกรณีของลอออรนั้น ด้วยการเป็นกุลสตรีที่วางตัวมาอย่างดีทำให้เมื่อมีการสิ้นสุดความสัมพันธ์กับสามีคนที่หนึ่งและคนที่สอง จนมาแต่งงานกับเจ้าดิเรกรุจ สามีคนที่สามก็ไม่มีใครว่ากล่าวในทางเสียหาย โดยมองว่าการสิ้นสุดความสัมพันธ์กับยศสามีคนแรกก็เป็นเพราะยศนั้นเป็นคนไม่ดีเองที่ทอดทิ้งลอออรไปมีผู้หญิงใหม่ คือ ทองไพรำ เป็นเหตุให้ลอออรขอหย่ากับสามี

ส่วนการแต่งงานครั้งที่สองสิ้นสุดลงเป็นเสมือนการสิ้นบุญวาสนากัน แต่การวางตัวดีของลอออรนั้นทำให้แทนที่จะถูกนินทาว่าร้ายจากคนในสังคม ในทางตรงกันข้ามคนในสังคม รวมถึงญาติตระกูลของยศก็กลับเชิดชูลอออรเสมือนเป็นคนในครอบครัวและยังคงไปมาหาสู่กันอยู่ หรือแม้แต่เมื่อพระยาโยธาบดีถึงแก่กรรมลอออรก็ยังคงวางตัวเป็นอย่างดี โดยพยายามสกัดกั้นความสัมพันธ์และความรู้สึกที่มีต่อเจ้าดิเรกรุจ

การหย่าขาดกับสามีคนแรกมีลักษณะแตกต่างจากผู้หญิงทั่วไปในเวลานั้น เพราะด้วยว่าธรรมเนียมในอดีตกาลที่ผู้ชายมีหลายเมียนั้นเป็นเรื่องปกติ คติของการมีผัวเดียวเมียเดียวเป็นสิ่งที่เพิ่งจะเกิดขึ้นจากการรับวัฒนธรรมแบบวิกตอเรียนเข้ามาในสังคมไทยในช่วงราวๆ รัชกาลที่ 6 และเป็นรูปเป็นร่างเมื่อภายหลังการอภิวัฒน์สยามในปี พ.ศ. 2475[16] ประกอบกับผู้หญิงในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2475 นั้นมีโอกาสทางอาชีพค่อนข้างน้อย[17] ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อลอออรหย่าขาดจากยศแล้ว จึงเลือกที่จะกลับไปเป็นนางข้าหลวงของเสด็จพระองค์หญิงแทน แต่การหย่าดังกล่าวไม่ได้ทำให้ลอออรถูกมองในแง่ร้าย ในทางกลับกันตัวละครต่างๆ ในเรื่องกลับมองว่าลอออรเป็นผู้หญิงที่ดีและมีคุณค่าจนเสียดาย

จากที่ได้อธิบายมาข้างต้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า นวนิยายเรื่องมาลัยสามชายเป็นตัวแสดงอำนาจทางการเมืองของจารีตแบบไทยที่ทาบทับบนตัวตนของผู้หญิงแบบลอออร เนื่องจากความสัมพันธ์ไม่ว่าในลักษณะใดๆ ก็ตามในสังคมนั้น ถูกกำกับโดยกติกาและกลไกในการทำให้สยบยอม เรื่องความสัมพันธ์จึงเป็นมิติหนึ่งของการเมือง[18] ซึ่งแม้ว่าจะเป็นผู้หญิงที่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงการแต่งตัว และวิถีชีวิตบางด้านให้เป็นไปตามแนวทางสมัยใหม่จากตะวันตก แต่บทบาทและจุดยืนเบื้องหลังของลอออรยังคงยึดโยงอยู่กับคุณค่าของความเป็นไทย ทำให้ตัวตนของผู้หญิงเป็นพื้นที่ต่อรองทางการเมืองลักษณะหนึ่ง

อย่างไรก็ดี นวนิยายเรื่องมาลัยสามชายนั้น ไม่ได้แสดงความเป็นการเมืองเฉพาะในบริบทของความสัมพันธ์ที่กำกับเหนือตัวละครเอกที่เป็นผู้หญิงอย่างลอออร แต่ตัวนวนิยายเองก็เป็นผลผลิตของการเมืองด้วยเช่นกัน

 

การเมืองใน ‘มาลัยสามชาย’ ภาพสะท้อนผ่านผู้หญิง

ไม่เพียงแต่ความสนุกที่ได้จากเรื่องราวของนวนิยาย แต่จากการวิเคราะห์บทบาทของลอออรผ่านความเป็นแม่ เมีย และกุลสตรีไทยนั้นจะทำให้เห็นภาพของอำนาจทางการเมืองของจารีตแบบไทยที่ทาบทับบนตัวตนของผู้หญิงแบบลอออร นอกจากนี้ นวนิยายเรื่องนี้ยังให้นัยทางการเมืองแอบแฝงเอาไว้ในเนื้อเรื่อง

นัยอย่างหนึ่งที่นวนิยายเรื่องนี้ไม่ว่าผู้ประพันธ์จะจงใจหรือไม่ก็ตาม มาลัยสามชายได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความทรงจำรวมหมู่ (collective memory) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กลวิธีการเล่าเรื่องย้อนหลังจากปัจจุบันมาสู่อดีต โดยอาศัยข้อเท็จจริงและมีการอ้างอิงถึงตัวบุคคลที่เคยมีชีวิตอยู่จริง แม้จะไม่ได้สื่อสารไปในลักษณะที่ชัดเจนว่าหมายถึงตัวบุคคลใดตรงๆ[19] แต่ความคล้ายกันและความคลุมเครือดังกล่าวทำให้นวนิยายที่นำเสนอเหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน จนยากที่จะแยกว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง ในขณะเดียวกันการสื่อสารในลักษณะดังกล่าวอาศัยข้อได้เปรียบของการเป็นนวนิยาย ทำให้ปฏิเสธความแม่นยำหรือความถูกต้องของพยานหลักฐาน  ทว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ถูกนำเสนอเข้าไปในความทรงจำรวมหมู่ของคนในสังคมแล้ว[20]

แม้ว่าเนื้อเรื่องหลักของมาลัยสามชายจะกล่าวถึงการแต่งงาน ความสัมพันธ์ของตัวละคร และชีวิตสมรส แต่ผู้ประพันธ์ก็ผูกเรื่องการเมืองไว้กับชีวิตแต่งงานของตัวละครอย่างแยบยล[21] ตัวอย่างของการเมืองในมาลัยสามชายนี้ที่สะท้อนผ่านชีวิตของลอออร อาทิ การนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการอภิวัฒน์สยามในปี พ.ศ. 2475 และทัศนคติของตัวละครที่มีต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว

ในนวนิยายเหตุการณ์อภิวัฒน์สยามเกิดขึ้นในช่วงที่ตัวลอออรได้แต่งงานครั้งที่ 2 กับพันเอกพระยาโยธาบดี ซึ่งเป็นบุตรชายของพระยาราชศักดิ์ นายทหารคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปัจจุบันพันเอกพระยาโยธาบดีรับราชการเป็นราชองค์รักษ์ของจอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงสถานะของพันเอกพระยาโยธาบดีในฐานะของตัวแทนฝ่ายอนุรักษนิยมที่อยู่ตรงกันข้ามกับคณะราษฎร โดยที่ไม่ปรากฏชัดว่าผู้ประพันธ์จะจงใจหรือไม่ แต่ตัวละครที่ผู้ประพันธ์เลือกนำมาใช้นำเสนอภาพแทนคณะราษฎร คือ พระยานราภิบาล โดยอธิบายบุคลิกลักษณะของตัวละครทั้งสองให้ตรงข้ามกัน

ภาพการอธิบายตัวละครพระยาโยธาบดีนั้น จะถูกนำเสนอในรูปแบบของนายทหารผู้มีเกียรติ มีภริยาที่เพียบพร้อม และมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์ แต่ในนวนิยายผู้ประพันธ์กลับอธิบายลักษณะของพระยานราภิบาลในด้านลบ อาทิ การอธิบายว่าพระยานราภิบาลเป็นคนไม่จงรักภักดี เป็นคนแปดเหลี่ยมสิบสองคม ความประพฤติไม่น่าไว้ใจ เกลียดเจ้า และมักใหญ่ใฝ่สูง[22] ดังตัวอย่างปรากฏในบทประพันธ์ว่า

“ผมทราบว่าเจ้าคุณนราเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง…วิ่งเต้นประจบประแจงเจ้านายไม่สำเร็จ ก็หันไปทางอื่น จึงไม่อยากเกี่ยวดองด้วย ไม่อยากให้แปดเปื้อนมาถึงสกุลราชศักดิ์”[23]

สิ่งนี้ทำให้พระยาโยธาบดีพยายามกีดกันเพื่อไม่ให้ลูกสาวและนรินทร์ ลูกชายของพระยานราภิบาลได้มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกัน ถึงขนาดลงโทษลูกสาวอย่างหนักเมื่อทราบว่าไปพบเจอกับนรินทร์[24] แม้ว่าในช่วงต้นของนวนิยาย ผู้ประพันธ์จะปูเรื่องมาให้เข้าใจว่า พระยาโยธาบดีไม่ชอบพอวิธีการเลี้ยงลูกของพระยานราภิบาล ดังปรากฏในบทประพันธ์ว่า

“หมายถึงบ้านนั้น เขาเลี้ยงลูกไม่เหมือนเรา พี่ไปรับลูก เห็นหนุ่มๆ นั่งกันอยู่เต็มสนาม ปนเปกับสาวๆ หัวร่อต่อกระซิก ไม่มีผู้ใหญ่ให้เห็นสักคน มัวขึ้นไปอยู่บนตึกกันหมด ไม่งาม ไม่รู้ว่าเจ้าคุณนรากับคุณหญิงคิดอย่างไร”[25]

ข้อความดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพความแตกต่างระหว่างจุดยืนของพระยาโยธาบดีกับพระยานราภิบาล

ไม่เพียงเท่านี้ ผู้ประพันธ์ยังได้สร้างภูมิหลังของพระยานราภิบาลให้มีลักษณะห่างไกลจากการเป็นคนมีชาติตระกูลที่ดีเป็นแค่คนมีฐานะพอมีพอกิน เติบโตในหน้าที่การงานด้วยเส้นสายและเงินทองของภริยา คุณหญิงประไพ ซึ่งเป็นลูกสาวของเจ้าสัวในย่านสำเพ็งไม่ใช่ลูกผู้ดีมีชาติตระกูลแบบลอออร[26]

นอกจากนี้ ผู้ประพันธ์ยังได้ขยายความขัดแย้งระหว่างพระยาโยธาบดีและพระยานราภิบาลให้มากขึ้น โดยอธิบายว่า เมื่อมีการอภิวัฒน์สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว พระยานราภิบาลได้อาศัยอำนาจทางการเมืองทำเรื่องเลวร้าย อาทิ การยุแยงให้ผู้นำของคณะราษฎรเนรเทศให้พระยาโยธาบดีออกจากสยามไปพร้อมกับเจ้านายที่พระยาโยธาบดีรับใช้ และการพยายามข่มเหงให้ลอออรมีความสัมพันธ์กับตนเพื่อแลกกับจดหมายของพระยาโยธาบดี เนื่องจากพระยานราภิบาลประสงค์จะได้ลอออรมาเป็นภริยาอีกคนหนึ่ง

การที่บทประพันธ์กำหนดให้พระยานราภิบาลพยายามเกี้ยวพาราสี และคอยที่จะข่มเหงลอออรนั้น โดยที่ผู้ประพันธ์กำหนดให้พระยานราภิบาลเป็นสมาชิกและเป็นตัวแทนของคณะราษฎรโดยรวม การคุกคามต่อผู้หญิงของพระยานราภิบาลจึงกลายเป็นการสะท้อนว่า ความเป็นสมัยใหม่นั้นไม่ได้มีแต่ด้านดีแต่มีอันตรายที่ต้องตระหนัก[27]

การอธิบายความมักใหญ่ใฝ่สูงของพระยานราภิบาลยังได้ถูกตีความและขยายออกไปเมื่อมีการนำนวนิยายเรื่องนี้ไปทำละครโทรทัศน์ในปี พ.ศ. 2553 เมื่อทั้งสองได้พบเจอกัน ดังปรากฏในฉากของละครว่า

พระยานราภิบาลและเพื่อนร่วมงานได้เดินเข้ามาในห้องอาหารและกล่าวว่า “สังคมผู้ดีบ้านเรามันแคบเกินไป เพราะมีเพียงไม่กี่นามสกุลที่ร่ำรวยจนล้นฟ้าแล้วยึดพื้นที่ มีอิทธิพลในทุกกิจการ ไม่ว่าจะเป็นราชการงานเมือง หรือเรื่องการค้าการขาย เพราะฉะนั้นมันสมควรแก่เวลาแล้วที่สังคมเราจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงสักที (หัวเราะ)” โดยมีนายทหารคนหนึ่งกล่าวตอบว่า “สังคมเปลี่ยนแปลงอยู่แล้วนะเจ้าคุณนรา ไม่ว่าจะนามสกุลอะไร หากเป็นคนดีมีความสามารถ ผมก็เห็นเจริญด้วยกันด้วยตนเองทั้งนั้น...”[28]

จากบทสนทนาข้างต้น ได้ตั้งข้อสังเกตว่า คำพูดของพระยานราภิบาลดังกล่าวเป็นการแสดงอุดมการณ์ในการพยายามลดทอนอำนาจของชนชั้นนำในสังคมไทยเพื่อให้เกิดความเสมอภาค อันเป็นอุดมการณ์ของคณะราษฎรที่ได้ประกาศไว้ (ในประกาศคณะราษฎร) หากแต่อุดมการณ์ดังกล่าวกลับถูกหักล้างด้วยข้อโต้แย้งว่า ความเจริญรุ่งเรืองของคนทุกชั้นมาจากความสามารถเป็นหลัก ดังนั้นทุกคนจึงมีสิทธิเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกันหากมีความสามารถมากพอ[29]

อนึ่ง การโต้แย้งดังกล่าวเป็นการพิจารณาจากทรรศนะของผู้อยู่ภายใต้ระบบอภิสิทธิ์ชน โดยไม่ได้มองพื้นฐานของสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยในเวลานั้นที่อำนาจในการจัดสรรทรัพยากรถูกจำกัดเอาไว้ด้วยคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น[30]  นอกจากนี้ การโต้แย้งอุดมการณ์ของพระยานราภิบาลยังเป็นการโต้แย้งอุดมการณ์ของคณะราษฎรประชาธิปไตยและความเสมอภาคของคณะราษฎร[31]

ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของนวนิยายฉบับนี้ คือ การอุปมาสถานการณ์ของการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร[32] เข้ากับช่วงชีวิตของลอออร และครอบครัวที่พระยาโยธาบดีจำต้องเดินทางออกจากสยามไป การแตกสลายของครอบครัวนี้เน้นย้ำถึงอารมณ์ความรู้สึกของการแตกสลายของประเทศชาติบ้านเมือง

 

ชีวิตทาบทับด้วยความสุข ความทุกข์ และความสงบของชายทั้งสาม

ประเด็นสุดท้ายที่เป็นข้อสังเกตต่อนวนิยายฉบับนี้ก็คือการนำเสนอความสุข ความทุกข์ และความสงบของตัวลอออรที่ได้รับจากผู้ชายแต่ละคน แต่หากพิจารณาผู้ชายทั้งสามคนในแง่ตามชนชั้น และภูมิหลังของตัวละครแล้วอาจจะกล่าวได้ว่า สามีแต่ละคนของลอออรกำลังนำเสนอคุณค่าบางอย่าง

“ยศ พลาธร” เป็นหนุ่มนักเรียนนอกจากประเทศอังกฤษ แม้ไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษาแต่ก็ได้มีโอกาสไปเรียนรู้วัฒนธรรมและความรู้จากตะวันตก ยศจึงกลายเป็นตัวแทนของความสมัยใหม่ แม้ในนวนิยายจะอธิบายว่าในบางช่วงยศอาจจะดีกับลอออร และช่วยเหลือกันในบางช่วงเวลาด้วยความรัก แต่ความดีดังกล่าวไม่ได้สม่ำเสมอ เสมือนกันกับความทันสมัยนั้นไม่ใช่จะมีข้อดีเสียทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับลอออรในฐานะตัวแทนของการนำเสนอภาพของความเป็นกุลสตรีไทย หรือกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วแสดงถึงความเป็นไทย

“เทพราชศักดิ์” หรือ “พระยาโยธาบดี” นายทหารหนุ่มผู้รักชาติ และมีความมั่นคงซื่อสัตย์ในเกียรติยศและศักดิ์ศรี เป็นตัวแทนของคุณค่าความเป็นไทย ความสัมพันธ์ระหว่างพระยาโยธาบดีกับลอออรเป็นความสัมพันธ์ของคู่ชีวิตที่เติมเต็มกันและกันโดยมีความสุขสมบูรณ์ เปรียบเสมือนความเป็นไทยที่ให้ความสุขสมบูรณ์ได้มากกว่าความเป็นตะวันตก

และท้ายที่สุด คือ “เจ้าดิเรกรุจ” ผู้มีเชื้อสายเจ้านายฝ่ายเหนือและเป็นหมอหนุ่มผู้มีความสามารถ โดยเป็นคนรักคนสุดท้ายของลอออรที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันจนจากกันด้วยความตาย การนำเสนอภาพของเจ้าดิเรกรุจให้เป็นเชื้อพระวงศ์ จะเป็นเจ้านายทางเหนือ แต่หากพิจารณาสถานะดังกล่าวแล้ว ก็อาจจะกล่าวได้ว่า เจ้าดิเรกรุจเป็นภาพแทนของสถาบันกษัตริย์ที่ให้ความร่มเย็นและความสงบสุขทางจิตใจตลอดชีวิต ในลักษณะเดียวกันกับตัวละครของเสด็จพระองค์หญิงที่ผู้ประพันธ์สร้างขึ้นที่ให้ลอออรได้พึ่งพิงในยามที่ตกยาก ทั้งตอนที่มารดาถึงแก่กรรมและตอนที่ต้องแยกทางกับยศ[33]

กล่าวโดยสรุป หากพิจารณาเพียงผิวเผินมาลัยสามชายเป็นนวนิยายที่ดีเล่มหนึ่งโดยทรงคุณค่าทั้งในเชิงวรรณศิลป์และมีแก่นเรื่องเกี่ยวกับความรักโรแมนติกที่น่าประทับใจชวนให้น่าติดตาม

หากแต่ในขณะเดียวกัน ‘มาลัยสามชาย’ ก็เป็นนวนิยายที่มีความน่าสนใจในการชวนให้เพ่งพินิจพิจารณาในแง่ของการนำเสนอเรื่องทางการเมือง โดยอาจจะมองนัยทางการเมืองที่ถูกนำเสนออย่างแยบยลต่างด้วยมิติที่หลากหลาย อาทิ ผ่านบทบาทความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดกับผู้หญิงคนหนึ่ง ผ่านการนำเสนอประเด็นทางการเมืองที่แสดงผ่านตัวของผู้หญิง และผ่านความสัมพันธ์ของตัวละครที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับหญิงผู้นั้น

 


[1] รื่นฤทัย สัจจพันธุ์, วรรณกรรมปัจจุบัน, พิมพ์ครั้งที่ 12, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2540), 133.

[2] วินิตา ดิถียนต์, มาลัยสามชาย (นนทบุรี: Meb (Mobile e-Book), 2560), 7.

[3] ศศิพริมม์ มัธยัสถ์สุข, “วิถีชีวิตและค่านิยมของคนไทยสมัยรัชกาลที่ 7 ถึงรัชกาลที่ 8 ในนวนิยายของ ว.วินิจฉัยกุล,” (วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต แขนงวิชาไทยคดีศึกษา สาขาศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2556), 29-30.

[4] อธิพร ประเทืองเศรษฐ์, “มาลัยสามชาย: ความย้อนแย้งในการนำเสนอคุณค่าใหม่ของผู้หญิง,” (2564) วิวิธวรรณสาร 5(2) 25: 49.

[5] เพิ่งอ้าง, 48-50.

[6] ดู ศศิพริมม์ มัธยัสถ์สุข, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 3, 32-34.

[7] ผู้เขียนได้รับอิทธิพลการวิเคราะห์มาจากบทความของอาจารย์อธิพร ประเทืองเศรษฐ์ ซึ่งผู้เขียนต้องขอขอบพระคุณอาจารย์มา ณ ที่นี้. ดู อธิพร ประเทืองเศรษฐ์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 4, 33-36.

[8] วินิตา ดิถียนต์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, 7-9.

[9] วินิตา ดิถียนต์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, 7-13 และ 1173-1188.

[10] เพิ่งอ้าง, 36.

[11] ดู ธงชัย วินิจจะกุล, เมื่อสยามพลิกผัน ว่าด้วยกรอบมโนทัศน์พื้นฐานของสยามยุคสมัยใหม่, (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2562), 32-37.

[12] อธิพร ประเทืองเศรษฐ์, อ้างแล้วเชิง อรรถที่ 3, 36 และ 46.

[13] วินิตา ดิถียนต์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, 88.

[14] อธิพร ประเทืองเศรษฐ์, อ้างแล้วเชิง อรรถที่ 3, 37.

[15] กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม, “หญิงสามผัว ชายสามโบสถ์ คบไม่ได้ ?,” ศิลปวัฒนธรรม, 18 กันยายน 2566, สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2567 สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_13781.

[16] ดู สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ, ผัวเดียวเมียเดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2561), 111-124.

[17] ชานันท์ ยอดหงส์, “สาวๆ ทำอะไร เมื่อแรกมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475,” the Matter, 10 ธันวาคม 2562, สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2567 สืบค้นจาก https://thematter.co/thinkers/women-and-the-constitution-in-2475/93587.

[18] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, “การเมืองเรื่องเพศและเพศสภาพ: ความปรารถนาและกติกาเรื่องเพศในปรมจารย์ลัทธิมาร,” ใน การเมือง อำนาจ ความรู้: หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นสำนักธรรมศาสตร์, (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2564), 373.

[19] ตัวอย่างเช่น เจ้านายที่เทพราชศักดิ์ต้องติดตามไปก็คือ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ หรือเสด็จพระองค์หญิงที่ลอออรและคุณป้าจรวยรับใช้ผู้เขียนสันนิษฐานว่าตัวละครนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ พระธิดาในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.

[20] เจษฎา บัวบาล, “พระอรหันต์รักในหลวง: การสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ผ่านการสอนวิปัสสนาและพุทธศาสนาแบบอิงคัมภีร์ในธรรมนิกายของ สุทัสสา อ่อนค้อม,” (2567) วารสารมานุษยวิทยาศาสนา 5(2) 4: 8-9.

[21] อธิพร ประเทืองเศรษฐ์, อ้างแล้วเชิง อรรถที่ 4, 43.

[22] วินิตา ดิถียนต์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, 529-530.

[23] วินิตา ดิถียนต์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, 530.

[24] ดู เพิ่งอ้าง, 516-531.

[25] เพิ่งอ้าง, 438.

[26] เพิ่งอ้าง, 452-453.

[27] อธิพร ประเทืองเศรษฐ์, อ้างแล้วเชิง อรรถที่ 4, 46.

[28] ดู ละครมาลัยสามชาย (2533) ตอนที่ 21 อ้างใน เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ, “มองการปฏิวัติสยาม 2475 ผ่านเรื่องเล่าและผู้หญิงในละครโทรทัศน์,” ใน เอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 11 เปิดโลกสุนทรีย์ในวิถีมนุษยศาสตร์ ในวันที่ 8-9 กันยายน 2560 ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, 544.

[29] เพิ่งอ้าง, 545.

[30] ดู คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน, การสำรวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยาม, แปลโดย ซิม วีระไวทยะ, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2525).

[31] เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 21, 545.

[32] ในฉบับนวนิยายผู้ประพันธ์จงใจจะใช้คำว่า “คณะราษฎร์” เพื่อลดทอนสถานะและความมุ่งหมายของคณะราษฎร.

[33] อธิพร ประเทืองเศรษฐ์, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 4, 46.