Focus
- บทละครเรื่อง “A Streetcar Named Desire” แต่งโดย Tennessee Williams เมื่อ ค.ศ. 1947 อันมีการผสมผสานนัยของจิตวิทยา ปรัชญา และสังคมวิทยา ในตัวบทนั้น ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นผลงานชิ้นเอกในวงการศิลปะการแสดงของสหรัฐอเมริกาและระหว่างประเทศ ดังที่ปรากฏว่าเมื่อถูกนำไปจัดทำเป็นละครแล้ว ก็ได้รับรางวัล Pulitzer Prize for Drama ในปี 1948 และ Tony Award for Best Actress in a Play (มอบให้แก่ Jessica Tandy) และต่อมาเมื่อนำไปจัดทำเป็นภาพยนตร์ก็ได้รับรางวัลออสการ์ 4 รางวัล และจากเทศกาลหนังเมือง Venice 2 รางวัล โดยดารานำหญิง (Vivien Leigh รับบทบาทเป็น บล๊านซ์ (Blanche Dubois) ก็ได้รับรางวัลออสการ์ด้วยเช่นกัน
- ในประเทศไทยมีการนำบทละครเรื่องนี้ (แปลโดยดร. มัทนี รัตนิน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ไปทำเป็นละครครั้งแรกชื่อเรื่อง “รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา” จัดแสดงครั้งแรกที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2515 ในปี 2542 มีการจัดแสดงที่โรงละครเก่าของคณะมรดกใหม่ (ที่ตึกช้าง) ต่อมาปี 2565 จัดแสดงโดยสาขาวิชาศิลปะการแสดงและความเป็นผู้ประกอบการสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในชื่อเดิม “A Streetcar Named Desire (รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา) และล่าสุดในปี 2566-2567 ได้รับการดัดแปลงด้วยมุมมองใหม่ให้เป็น “ENDSTATION” โดย ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ ผู้จัดทำบทละครและกำกับการแสดง จัดแสดง ณ โรงละครกาลิเลโอเอซีส ก็ได้รับการตอบรับด้วยยอดการแสดงหลายรอบและหลายรางวัลที่รับรองคุณภาพของผลงานจากเหล่านักแสดงฝีมือเยี่ยม
- ในสังคมที่ผู้คนอยู่กันภายใต้ความปรารถนาอันหลากหลาย ปลายทางสุดท้ายคืออะไร? นางเอกของเรื่องคือ บล๊านช์ ดูบัวส์ ของ “A Streetcar Named Desire” ต้องทุกข์ทรมานด้วยความผิดหวังที่ไม่สมปรารถนาในสิ่งอันเกินเอื้อม และตกเป็นเหยื่อของมนุษย์ใจโหด แต่ในละครเวที “Endstation” ‘จักรินทร์’ (แสดงโดยสธน ตันตราภรณ์) ตัวเอกของเรื่อง ไม่ใช่เหยื่อของสังคมแต่เป็นพลเมืองผู้ตื่นตัวและต้องการความเปลี่ยนแปลง อาทิ มีการแสดงออกในความเป็นจริงของชีวิตตามมุมมองของตน (ในขณะที่เข้าไปอยู่ใน บ้านของน้องสาวที่มีคู่ครอง) โดยวิจารณ์ความเป็นใหญ่ของฝ่ายชาย แต่ตนก็ต้องมัวเมากับเซกส์ที่แฝงเร้นภายในใจ และจบความไม่สมหวังของชีวิต ด้วยการจากไปเอง มากกว่าให้หมอต้องมาเอาตัวไปตามแบบต้นฉบับละครเดิม โดยทั้งหมดนี้ให้ข้อคิดอย่างน้อยว่า ผู้คนกำหนดตนเอง ใครๆย่อมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงใครที่เขา/เธอไม่อยากเปลี่ยน ถึงกระนั้นผู้ดูละคร ก็ย่อมมีเสรีในการตีความฉากต่างๆ เอาเองด้วยเช่นกัน (ตามสุดสายปลายทางที่ปรารถนา)
หนึ่งในหลายข้อของคุณสมบัติที่ทำให้งานประพันธ์ทุกประเภทเป็นอมตะ อยู่เหนือกาลผ่านมาได้ทุกยุคทุกสมัย และถูกตั้งคำถามให้สะดุดใจอยู่เสมอว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ผู้คนหลงรักหรือศรัทธาในผลงานนั้น คำตอบสำคัญที่มีไม่ต่างกันคือ เพราะสาระที่เปิดเปลือยธรรมชาติเบื้องลึกในตัวมนุษย์ทุกด้าน ซึ่งสานโยงใยอยู่ในตาข่ายสายสัมพันธ์ (ที่ไม่ต่างกัน) ของ ‘ความปรารถนา’ (Desire) มีค่าเป็นสากลที่ผู้คนยอมรับร่วมกัน ว่ามันคือแรงขับเคลื่อนโลกและชีวิต “A Streetcar Named Desire” จึงเดินทางข้ามกาลเวลามาได้ถึงกึ่งศตวรรษ เพราะคุณสมบัติที่ทำให้เกิดคำถามและเอื้อต่อการตีความได้หลากหลาย แม้หมุดหมายมีไว้ในตำรา แต่อิสระที่ไร้ขอบเขตของยุคสมัยคือเสน่ห์ในการสร้างงานศิลปะ “ENDSTATION” (สุดสายปลายทาง) ผลงานล่าสุดที่สร้างจากต้นฉบับบทละครของ Tennessee Williams คือความต่างที่ให้คำตอบและมอบคำถามกลับมา เพื่อการเชื่อมโยง ค้นหา ศึกษา และต่อยอด ต่อไป
“A Streetcar Named Desire” วรรณกรรมบทละครคลาสสิคของโลกผลงาน Masterpiece ประพันธ์โดยนักเขียนบทละครคนสำคัญของอเมริกา เทนเนสซี่ วิลเลี่ยมส์ (Tennessee Williams เกิดวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ.1911) ในศตวรรษที่ 20 ต้นฉบับละครเวทีเปิดการแสดงครั้งแรกที่ Broadways นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ 1947 โดยมี ไอรีน เซลสนิค (Irene Selznick) เป็นผู้อำนวยการสร้าง , กำกับการแสดงโดย อีลาย คาซาน (Elia Kazan) , โจ มีลไซเนอร์ (Jo Mielziner) เป็นผู้ออกแบบฉาก , นำแสดงโดย Jessica Tandy, Marlon Brando, Karl Malden, Kim Hunter เปิดการแสดงที่ Ethel Barrymore Theatre อเมริกา รอบปฐมทัศน์วันที่ 3 ธันวาคม 1947 ปิดโปรแกรมธันวาคม 1949 รวมแล้ว 855 รอบการแสดง ได้รับรางวัล Pulitzer Prize for Drama ในปี 1948 และ Tony Award for Best Actress in a Play (Jessica Tandy) ด้วยเครดิตที่ได้รับความนิยมอย่างสูง และมีรางวัลประกันคุณภาพทำให้ เซอร์ ลอเรนซ์ โอลิเวียร์ (Sir Laurence Olivier) ซื้อลิขสิทธิ์ไปกำกับเองแล้วเปิดแสดงที่ West End, London อังกฤษ นำแสดงโดยภรรยาของเขาขณะนั้น Vivien Leigh รับบทบาทเป็น บล๊านซ์ (Blanche Dubois) สมทบด้วย Bonar Colleano, Renee Asherson ฯลฯ
เป็นละครที่โด่งดังได้รับความนิยมสูงทั้งอเมริกา-ยุโรป และเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จท่วมท้นทั่วโลก จนถูกจัดให้เป็น 1 ใน 100 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในรอบ 100 ปี ของสมาคมภาพยนตร์อเมริกา
ปี 1951 “A Streetcar Named Desire” เข้าชิง Oscar 12 สาขา ได้รับ 4 รางวัล
- Best Actress (Vivien Leigh)
- Best Supporting Actor (Karl Malden)
- Best Supporting Actress (Kim Hunter)
- Best Art Direction – Set Decoration, Black-and-White
เข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Venice ได้รับ 2 รางวัล
- Special Jury Prize : Elia Kazan
- Volpi Cup for Best Actress (Vivien Leigh)
Vivien Leigh ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมประจำปี 1947 และต่อมาในปี 1951 เมื่อละครเรื่องนี้ถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์ เธอก็ได้รับออสการ์ แม้ มาร์ลอน แบรนโด (Marlon Brando) ตัวเต็ง Best Actor ในบทบาทของ Stanley จะพลาดด้วยหลายเหตุผลที่สื่อให้ความเห็นว่า เพราะคู่แข่งที่แข็งกว่า (Humphrey Bogart จากเรื่อง “The African Queen”) บ้างมีเสียงว่าเพียงเพราะโดนสกัดเนื่องจากเกรงบทบาทในเรื่องจะกลายเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อสังคม แต่เมื่อถึงเวลา A Star is bron แบรนโด ก็กลายเป็นดาวรุ่งพุ่งพรวดเหมือนติดจรวด จนแจ้งเกิดด้วยปรากDการณ์ใหม่ ในบทบาทการแสดงที่เป็นสัญลักษณ์ของ Bad Guy หรือ Anti Hero กลายเป็นความประทับใจเป็นขวัญใจมหาชนจนได้รับความนิยมไปทั่วโลก ด้วยเสน่ห์ดึงดูดที่เท่แบบดิบเถื่อนถือเป็นแบบอย่างสร้างตำนานการแสดงสไตล์ใหม่ในยุคนั้น เหมือนได้รับรางวัลขวัญใจมหาชนตลอดกาล
คนไทยได้รู้จัก“A Streetcar Named Desire” ผ่านผลงานต้นแบบบทละคอนเรื่อง “รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา” ที่ถูกนำมาแปลและเรียบเรียงโดยบรมครูผู้บุกเบิกการละครสมัยใหม่ของไทย ดร. มัทนี รัตนิน “รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา” จัดแสดงครั้งแรกในประเทศไทย ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 ค.ศ. 1972 (เป็นเรื่องที่สองต่อจากเรื่อง “อวสานของเซลส์แมน” (Death of a Salesman) ของ อาเธ่อร์ มิลเล่อร์ Arthur Miller ที่จัดแสดงในปี พ.ศ. 2514 โดยผู้แปลคนเดียวกันคือ ดร. มัทนี รัตนิน) นับเป็นปฐมบทการก่อเกิดละคอนสมัยใหม่ของประเทศไทยใน แผนกการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นเป็นต้นมารถรางคันนี้ได้ขยายเส้นทางออกไปทั่วประเทศ ทั้งในสถาบันการศึกษาในฐานะที่เป็น ‘บทละครครู’ และให้ความรู้ความคิดกับคนทั่วไป สร้างสาระสัมพันธ์โยงใยไปกับอีกหลายศาสตร์ทั้ง จิตวิทยา ปรัชญา มานุษยวิทยา ฯลฯ ล้วนสร้างสรรค์อเนกอนันต์จากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ประหนึ่งอยู่เหนือวันเวลาด้วยคุณสมบัติพิเศษนานาประการ
จากคำนำการแปลบทละครครู “รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา” ปี 2523
บทละคอนเรื่อง “รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา” ได้แปลและเรียบเรียงจากเรื่อง “A Streetcar Named Desire” ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมบทละคอนชั้นเอกของ เทนเนสซี่ วิลเลี่ยมส์ (Tennessee Williams) ได้ประพันธ์ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1947 เป็นบทละครที่ตีความหมายได้ยาก ผู้อ่านและผู้ชมควรจะต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสังคมอเมริกาภาคใต้มาบ้างพอสมควร นอกจากนั้น สำนวนภาษา ตลอดจนความคิดของวิลเลี่ยมส์ ซับซ้อน ลึกซึ้ง ทั้งในด้านศิลปะร้อยแก้วซึ่งมีลักษณะของร้อยกรองผสานอยู่ ปัญหาจิตวิทยา ปรัชญา และสังคมวิทยา การแปลและถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยจึงไม่สามารถจะรักษาอรรถรสและสุนทรียะแห่งดนตรีที่เป็นลักษณะเด่นเฉพาะตัวของวิลเลี่ยมส์ แต่ข้าพเจ้าก็พยายามถอดความและเรียบเรียงให้ใกล้ต้นฉบับที่สุดเท่าที่จะทำได้
เรื่องราวของ บล๊านช์ ดูบัวส์ นางเอกในเรื่องนี้แสดงปัญหาของมนุษย์ในสังคมปัจจุบันที่ต้องทนทุกข์ทรมาน เพราะตนไม่สามารถจะยอมรับสภาพที่แท้จริงของชีวิต แต่ปรารถนาแรงกล้าที่จะได้สิ่งเหนือเอื้อม ตนจึงไม่สามารถจะบรรลุเป้าหมายที่ปรารถนานั้นได้ เพราะความอ่อนแอและขอบเขตจำกัดของตนเอง ในขณะเดียวกันโลกแห่งความจริงก็โหดร้ายทารุณราวกับพายุที่พัดกระหน่ำ ทำให้ชีวิตที่เปรียบเสมือนเปลวเทียนที่ริบหรี่นั้นดับลง มนุษย์อ่อนแอเหล่านี้จึงถูกทำลายหรือถูกทิ้งให้อยู่ในความวิกลจริต ซึ่งเป็นโลกมายาอีกโลกหนึ่ง ตัดขาดจากโลกปัจจุบัน คือ ความตายในด้านจิตวิญญาณนั้นเอง
ในทัศนคติของคนทั่วไป พฤติกรรมของบล๊านช์ จะไม่เป็นที่ยอมรับ และถูกประณามว่าชั่ว แต่วิลเลี่ยมส์ต้องการให้เราเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจมนุษย์ที่มีลักษณะพิเศษผิดแผกสามัญชน มนุษย์เหล่านี้มีความปรารถนาที่แรงกล้าเกินกว่าที่ตนจะควบคุมได้ และแสวงหาความรัก ความอบอุ่น แต่เขามักจะประสบความผิดหวัง และความทุกข์แสนสาหัส เพราะโลกไม่ยอมรับคนเช่นนี้ บางคนก็ถูกประณามว่าวิตถาร และไม่ได้รับความเมตตาปรานี กลับตกเป็นเหยื่อของมนุษย์โหดที่มีสันดานดิบของเดียรัจฉาน ฉะนั้น มนุษย์ที่อ่อนไหวและที่ปรารถนาสุนทรียะ ความละเอียดประณีตในชีวิต จึงต้องพ่ายแพ้และถูกทำลายในที่สุด”
ดร. มัทนี รัตนิน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
27 ตุลาคม พ.ศ. 2523
การเดินทางของ “รถรางสายปรารถนา”
“A Streetcar Named Desire” ได้รับการต่อยอดถ่ายทอดสร้างสรรค์เป็นละครไทยหลายเวอร์ชันทั้งละครเวทีและละครทีวี ในปี 2542 ครูช่าง ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง จัดแสดงที่ตึกช้าง พหลโยธิน โรงละครเก่าของ คณะมรดกใหม่ , โครงการศิลปนิพนธ์ละครเวทีประจำปี 2565 ผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาศิลปะการแสดงและความเป็นผู้ประกอบการสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นำเสนอในชื่อเดิม “ A Streetcar Named Desire (รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา) และ ล่าสุดได้รับการดัดแปลงให้เป็น “ENDSTATION” โดย ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ ที่มาพร้อมมุมมองใหม่
ENDSTATION ตัวแทนความคิดต่างระหว่างยุคสมัย
ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ ผู้กำกับที่ได้รับฉายา ‘ผู้ท้าทายสายขบถ’ ดัดแปลงบทละครและกำกับ “ENDSTATION” (สุดสายปลายทาง) ด้วยเจตจำนงที่เด่นชัดต่อการจัดระเบียนความคิดให้กับสังคม เริ่มตั้งแต่การหว่านเค้าโครงเรื่องที่ท้าทายต่อการตอบรับจากคนที่รักวรรณกรรมบทละครเรื่องนี้ ในขณะเดียวกันก็นำเสนอมุมมองใหม่ต่อคนที่เพิ่งทำความเข้าใจกับละครคลาสสิคของโลกเรื่องนี้ ด้วยการจัดวางประเด็นที่เห็นต่าง เพื่อสร้างความเข้าใจในแบบของการ ‘ตีความให้แตก’ แม้ไม่ตั้งใจจะแหวกขนบ แต่เพื่อให้ผู้ชมได้พบกับอีกวิธีคิด เพราะความผิด-ถูก ที่ปลูกฝังกันมาไม่ใช่คุณค่าแท้จริงของการสร้างงานศิลปะในยุคใหม่อีกต่อไป โปรดทำใจว่างๆ แล้ววางวรรณกรรมบนหิ้งทิ้งไว้ชั่วคราว ก่อนรับรู้เรื่องราวเดียวกัน แต่ในอีกระดับขั้นของการขยายความตามแบบของ ‘บิ๊ก ดำเกิง’
“A Streetcar Named Desire” (หรือ “รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา”) คือ สถานีต้นทางของละครเวที “Endstation” จาก ‘บล๊านซ์ ดูบัวส์’ ตัวละครในตำนานผู้เดินทางไปยังนิวออลีนส์เมื่อ 77 ปีที่แล้ว สู่ ‘จักรินทร์’ ผู้เดินทางมาพึ่งพิงน้องสาวที่ตลาดน้อยใจกลางกรุงเทพ …. เธอไม่ใช่ผู้สูงศักดิ์จากแบรีฟที่ไหน ในปี พ.ศ. นี้ เธอเป็นแค่ครูสอนภาษาอังกฤษที่เจ้ายศเจ้าอย่าง (แสดงครั้งแรกเป็นครูภาษาไทย) เธอ wannabe โน่นนี่นั่น แต่ดันเป็นพลเมืองผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานและต้องการความเปลี่ยนแปลง อยากเห็นโลกงดงามและดีขึ้น เธอ ‘being’ มาแบบนี้ เธอจริงจังและทำตามความปรารถนาของเธอ แต่ดูเหมือนโลกและผู้คนรอบข้างจะไม่เป็นใจ จะปรับตัวหรือเธอก็ทำมาแล้ว แต่ปรับตัวแล้ว ‘อยู่เป็น’ หรือไม่…นั่นก็อีกเรื่อง เธอไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนะจ๊ะจักรินทร์ คนอื่นเขาก็ ‘being’ แบบอื่นๆ มาเหมือนกัน
มองเผิน ๆ แบบเข้าข้างเธอ นี่อาจจะให้เป็นเรื่องของการต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่เพื่อจะได้มีที่ยืนและเป็นที่ยอมรับในฐานะมนุษย์คนหนึ่งก็ได้ แต่เธอคงไม่มีความจำเป็นต้องทำแบบนั้น ไม่มีใครในโลกของละครเรื่องนี้มองเธอเป็นตัวประหลาดเลย ไม่มีใครในบ้านเรียกขานเธอด้วยคำชี้เฉพาะใด ๆ หรือมองเธอไม่ทัดเทียมเลยแม้แต่คนเดียวแล้วความขัดแย้งในบ้านอันใดเล่าที่ทำให้มนุษย์ทุกคนในเรื่องนี้มีปัญหา เธอแค่ต้องการพื้นที่ในบ้านเพื่อแขวนเสื้อสวยๆ ของเธอเท่านั้น (แทนที่จะหมกอยู่ในหีบมหาสมบัติ) ถึงเธอจะไม่ได้มาด้วยรถราง แต่เธอจะมาด้วยอะไรมันก็เรื่องของเธอ เธอเท่านั้นที่ตัดสินใจทำทุกอย่างด้วยตัวของเธอเอง”
นำแสดงโดย สธน ตันตราภรณ์ ในบท จักรินทร์
ร่วมด้วย
- ภัทรสุดา อนุมานราขธน Pattarasuda Anuman Rajadhon
- รัฐธีร์ วรโรจน์โยธิน Ratthee Vor
- ภูชิต จันทร์สงค์ Pete Poochit Jansong
- ลาภิน เหล่าสุนทร Lapin Mum Laosunthara
- ปุณิกา หรั่งฉายา Punika Rangchaya
- ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ กำกับการแสดง
การแสดงครั้งแรก 12 รอบ ครั้งที่สอง 8 รอบ (รอบปกติ 6 รอบ นักเรียน 2 รอบ) ครั้งแรกล้นโรงทุกรอบ เกือบ 800 คน จัดไว้เต็มที่จริงๆ แค่ 70 คน แต่ก็เกินทุกรอบ แต่ละรอบคนดูทะลักมากกว่า 70 คน ขึ้นไป เพราะโรงนี้กาลิเลโออัดเต็มที่ได้ 85 คน ครั้งที่ 2 เกิน 70 อยู่ 4 รอบ ที่เหลือเต็มแต่ไม่ถึงกับล้นทะลักเหมือนครั้งแรก
เค้าโครงเรื่องมาจาก “A TREETCAR NAMED DESIRE” ดัดแปลงให้เรื่องมันเกิดขึ้นในปัจจุบัน ผลตอบรับผู้ชมบอกว่าสนุกเลย เขาบอกว่ารู้สึกเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้น เป็นเรื่องปัจจุบันที่ไม่ห่างไกลเกินจะจินตนาการได้ แล้วก็ไม่ยืดยาดเพราะต้นฉบับเดิม 3 ชั่วโมง ทำให้จบภายในหนึ่งชั่วโมงสี่สิบนาที (ปรับบทการแสดงครั้งที่ 2 ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงสี่สิบห้านาที) อยากให้คนดูแล้วรู้สึกกระชับ ไม่ต้องมีพักครึ่งอะไรก็ตามที่ทำให้เรื่องไม่เดินก็ตัดออก แต่คนดูก็บอกว่าประเด็นสำคัญยังอยู่ครบ
บทเดิมมีตัวละคร 14 ตัว รวมทั้งเพื่อนบ้านตัวที่ผ่านไปผ่านมา รวบหมดเลยเราอยากให้โปรดัคชันเล็ก ให้ตัวละครเหลือเท่าที่จำเป็น 6 คน เซ็นเตอร์ก็อยู่แค่ 4 คน อีก 2 คน ผัว-เมีย ก็เหมาไปซะ (ลาภิน เหล่าสุนทร Lapin Mum Laosunthara / ปุณิกา หรั่งฉายา Punika Rangchaya) เป็นผัวเมียกันจริงๆ นะ เราอยู่ในชีวิตเขาเห็นเขามาตั้งแต่ยังเด็ก จีบกัน เป็นแฟน ทะเลาะกัน จนแต่งงานกันมีกิจการเครฟยักษ์ ก็เอามาเป็น Comic Release เพราะเรื่องมันซีเรียสมากแล้วให้มีช่วงผ่อนคลายบ้าบอบ้าง ช่วยความรู้สึกในแง่เอ็นเตอร์เทนไป
“พอบอกไอเดียว่าเราต้องการจักรินทร์เป็นตัวละครแบบนี้ บัวก็แนะนำสธนมา (สธน ตันตราภรณ์) เราเคยเห็นเขาแสดงเรื่อง “อีดิปุส” (“อีดิปุส จอมราชัน”[1] คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) นักแสดงคนหนึ่งเล่นหลายตัวละคร เขาเล่นเป็นโยคัสตาร์ (Jocasta ผู้เป็นทั้งแม่และเมีย) กับโหรตาบอดด้วย (โหรเฒ่า ทีเรเซียส - Tiresias) ก่อนหน้านั้นเขาเคยเล่น “บัลลังก์เมฆ” มาตั้งแต่เวอร์ชันแรกเลย ตอนนั้นเขายังเด็กๆ อยู่ เราไม่รู้จักเขา แล้วมาเล่นละครเรื่อง “ไวไฟ” กับบัวตอนเรียนอักษรฯ เรียนธรรมศาสตร์แต่มาเล่นให้กับโปรดัคชันของจุฬาฯ เลยนัดมาเจออ่านบท เรารู้สึกว่าเขาดูไม่เป็นนักแสด๊งนักแสดง เหมือนกับคนคนหนึ่งซึ่งเคยเล่นละครมีประสบการณ์ด้านการแสดงมา มีความสามารถระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่าเขาไม่มาแสด๊งแสดง (จงใจแสดง) เรารู้สึกว่าคนแบบนี้ปรับง่าย ช่วงแรกเขาอาจติดเรื่องการอ่านบทแบบละครอยู่ เราบอกไม่ใช่ มันคือการคุยกัน ลองคุยกันสิ อย่าเล่น อย่าแสดง ด้วยความฉลาดของคนเรานะ Monologue (บทพูดคนเดียว) เวลาเล่นตรงนี้ควรจะเน้นนะ ตรงนี้ความรู้สึกเป็นแบบนั้นแบบนี้ แล้วมันดูละค้อนละครน่ะ บอกเรื่องนี้ไม่ต้อง ด้วยขนาดของโปรดัคชันก็ไม่ต้องออกมาเล่นแบบขนบในโรงละคร เล่นเรื่องนี้ก็ใช้พื้นที่ กาลิเลโอ เอาให้คุ้มเลย บ้านก็เก่าๆ อยู่แล้ว setting ก็ถมมาเลยเอาให้คุ้ม ยังคุยกับบัวอยู่เรื่องนี้เหนื่อยขนของนะ” (ตรงข้ามกับ ART มีกระเป๋าไปใบเดียว ที่เหลือเจ้าภาพจัดรอตามที่ขอไป)
“เรื่องนี้เป็นงานคลาสสิคที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนรู้จักเยอะ แกนเรื่องยังเดินตามต้นแบบเดิมอะไรที่เป็น ‘ซีนจำ’ มันก็ยังอยู่ เพียงแต่ว่าเป็นชีวิตของตัวละครอีกแบบ ซึ่ง reference - setting ไม่ใช่อันเดิม แสดงครั้งแรกเราให้จักรินทร์เป็นครูภาษาไทย ครั้งที่สองเปลี่ยนให้เป็นครูภาษาอังกฤษ ให้ความสำคัญกับตัวละครในระดับผ่านๆ เน้นให้เห็นความแปลกแยกหลายอย่าง เอะอะอะไรเถียงใครไม่ขึ้นก็ภาษาอังกฤษใส่เขา เอาภาษาอังกฤษไปยัดเยียดเขา มีซีนสอนภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นมา ซึ่งในเรื่องเดิมไม่มี เพราะว่าเราต้องการให้เห็นความสัมพันธ์ เหมือนกับว่าเขายังเป็นคนแปลกหน้าซึ่งไม่เข้ากับใครเลย แล้วก็ไม่เห็นความพยายามจะเข้ากับคนอื่นด้วย การอยู่ด้วยกันไม่ใช่พวกนั้นเขาไม่พยายามนะ เขาพยายามแล้ว แต่ในเมื่อเขาเป็นอย่างนั้น ฉันก็เป็นของฉันแบบนี้ คนจะรักเขาได้มากน้อยแค่ไหนมันก็อีกเรื่องหนึ่ง”
“จักรินทร์ติดเหล้าเพื่อจะได้ออกไปจากโลกของความจริง ตอนไปดูหนังกับน้องสาว ก็ร้องเพลง Disney ได้ บอกกำพืดของสองพี่น้องว่าโตมากับโลกของดิสนีย์ ทุกอย่างลอยไม่ติดกับพื้นเลย ตรงข้ามกับพวกหนุ่มกลุ่มนั้นทุกอย่างติดกับพื้น ฟุตบอล ตีน เปลี่ยนบทจากเดิมที่เล่นโปกเกอร์ ครั้นจะให้เป็นนั่งเล่นไพ่ก็ไม่มีแอ็คชัน แต่การมาดูบอล กินเหล้า แล้วเกิดเรื่องชกต่อยกันมันธรรมดามากในบ้านเรา เลยเปลี่ยนเป็นเชียร์บอล
หรือแม้แต่ standy รูปของน๊อต (Stanley) ครั้งแรกไม่มีครั้งนี้ใส่เข้ามาเพื่อแสดงอาณาเขตความเป็นเจ้าของ มีความหมายบอกว่าชายเป็นใหญ่ ให้มันมีกลิ่นของคนนี้อยู่ตลอด ช่วงต้น setting เสื้อผ้า บ้านนี้จะแขวนเสื้อผู้ชายจองพื้นที่เต็มไปหมด น๊อตจะหยิบโน่นวางนี่ตรงไหนก็ได้เพราะเป็นบ้านของเขา พอจักรินทร์มาอยู่ด้วยมีการชิงพื้นที่เกิดขึ้น กลายเป็นแขวนชุดของมัน ทุกอย่างจะ transfer ไปในแง่ของภาพด้วย ครั้งนี้สิ่งนี้จะชัดขึ้นกว่าครั้งแรกมาก อะไรประมาณนี้”
“จริง ๆ แล้ว วิลเลียมเขียนงานจากเรื่องของตัวเขา A Streetcar Named Desire ก็ใช่ จากอะไรที่ไม่สมปรารถนาในตัวเขาหลายอย่าง ทั้งเรื่องความรักแล้วก็อีกหลายอย่าง ละครเวทีเรื่องนี้เปิดแสดงครั้งแรกประสบความสำเร็จมาก เพราะมิติของตัวละครซึ่งมีความเป็นมนุษย์มากเลย นักวิจารณ์ นักการละคร หรือแม้แต่ครูพวกเราที่สอนค่อนข้างเทน้ำหนักให้ความเห็นอกเห็นใจในตัวละครเอกคือ Blanche DuBoise มาก ให้ความรู้สึกว่าคนลักษณะอย่างนี้ไม่น่าจะอยู่ง่ายในโลกนี้ ให้เหตุผลมากว่าเพราะความเป็นคนละเอียดอ่อนอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วโลกภายนอกรอบตัวเขาโหดร้ายเกินกว่าที่เขาจะอยู่ได้ หลายคนรู้สึกกับเรื่องนี้มากว่า รู้สึกตัวเองเป็นคนประเภท Blanche DuBoise เราก็ เหรอ?…ออกจะขัดแย้งนะคุณดูออกจะกร้าวแกร่งกว่า Blanche DuBoise ในเรื่องมากนัก
เราชอบเรื่องนี้หาโอกาสจะทำอยู่นานแล้วเพียงแต่ไม่สบโอกาสที่จะได้ทำ พอจะทำก็คิดว่าทำได้หลายแบบ การตีความก็ยังเหมือนเดิม มีคำถามตั้งแต่เริ่มรู้จักเรื่องนี้เลยว่า ที่ Blanche DuBoise อยู่ไม่ได้เพราะทำตัวเอง? เป็นคนที่อยู่ไม่เป็น คือเราจะให้ความเห็นอกเห็นใจตัวละครตัวเดียวไม่ได้ ต้องดูบริบทรอบๆ ด้วยว่าคนเดิมเขาอยู่ร่วมกันยังไงก่อน ในเรื่องเดิมมีต้นเค้ามาจากนิวออร์ลีนทางตอนเหนือของอเมริกา ตัวเอกสองพี่น้องไฮโซที่มีรากเหง้ามาจากทางใต้ของอเมริกา จะเอาตรงนั้นก็ไกลเกินตัว ก็มาดูว่าความเหลื่อมล้ำที่ไม่เข้ากันเลยระหว่างตัวละครคืออะไร ถ้าเป็นสังคมไทยคือยังไง
ไม่จำเป็นที่ต้องโยงสัญญะให้ตรงกันเป๊ะ แต่ในความไม่เหมือนหรือไม่เท่าของคนทางเหนือทางใต้ของต้นฉบับเดิม กับในปัจจุบันมันน่าจะเป็นยังไง เรื่องของการอยู่ร่วมกันก็เลยดัดแปลงบทว่า แต่ละคนมีนิสัยมีความต้องการของตัวเอง พอคนพวกนี้มาอยู่ร่วมกันมันจะอยู่กันได้ไหม? เรามาดูกัน สำหรับเวอร์ชันนี้เปลี่ยน setting แล้วก็มีโมเดลว่ามันน่าจะเป็นสังคมประมาณตลาดน้อยน่าจะอยู่ตรงนี้แถวสี่พระยา ความเป็นชาวบ้านแถวนั้นที่เราคุ้นเคยรายละเอียดหลายอย่างก็ลิงค์มาจากแถวนั้น (ย่านเก่าเจริญกรุงใจกลางแหล่งธุรกิจของกรุงเทพฯ) แล้วตัวเอกของเรื่องทำงานอะไรว้า มันน่าจะทำงานอู่ซ่อมรถนะ ปล่อยให้ตัวละครโตไปตามทางของมัน”
“เราเปลี่ยนเพศตัวละครเพราะทำกันมาเยอะมากแล้วนะ “รถรางสายปรารถนา” แบบเดิมคนรู้จักแล้วก็เดาทางได้ เราคิดว่าถ้าตัวละครไม่ใช่ผู้หญิงแบบดั้งเดิม ใช้คำว่า ‘ไม่ใช่ผู้หญิง’ นะ มันจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ พูดกับนักแสดงทุกคนบอกว่า เราจะไม่ identify ก็แล้วกันว่าตัวละครเป็นเพศอะไร เรื่องนี้จะไม่มีคำพูดว่า เกย์ กะเทย เควียร์ หรืออะไรก็ตามที่เรียกขานกันในสังคมทั่วไป L G B T Q PLUS เราไม่พูดเรื่องนี้กันแล้ว มันเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ว่าเขาคือมนุษย์คนหนึ่งซึ่งมีนิสัยอย่างนี้ แล้วเขามาอยู่กับบ้านหลังนี้จะเข้ากับทุกคนได้ไหม หรือมีอะไรก็ตามที่เข้ากับคนทั่วไปไม่ได้ เรามาดูดีกว่าว่าเขาจะอยู่ร่วมกันได้ยังไง ปฏิกริยาคนอื่นที่อยู่รอบเขาจะเป็นยังไง บอกนักแสดงว่าเราเลิกพูดเรื่องนี้แล้วว่าใครเป็นอะไรใน พ.ศ นี้ ทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกันหมด
สำหรับเรื่องเพศของนักแสดงทุกคนที่มารู้ตั้งแต่ต้น อันนี้แล้วแต่คนดูเลยนะจะมีอคติโน้มเอียง หรือคนดูจะคิดยังไงเป็นเรื่องของคนดูทั้งสิ้น ว่าจะเห็นเขาเป็นผู้ชาย กะเทย หรือเห็นเป็นอะไรก็แล้วแต่ เราจะไม่พูดเรื่องนี้กัน มันเลยตรงจุดนี้ไปแล้ว ประเด็นเรื่อง gender เราไม่จำเป็นต้องมา discuss กันเรื่องนี้ แต่คนดู discuss ได้ เป็นไปได้ มันขึ้นอยู่กับ perception ของคนดูที่มีต่อความหลากหลายทางเพศเป็นยังไง สิ่งที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในระหว่างซ้อมบทคือว่า แล้วนักแสดงในฐานะเป็นตัวละครเขายังติดอยู่ใน perception แบบไหน เขามองคนนี้เป็นอะไร ถ้าเราสังเกตตั้งแต่ต้นเรื่องสำหรับตัวละครทุกตัว ที่เป็นแบบนี้มามันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีความรู้สึกประหลาด เพียงแต่เอ๊ะตัวละครพวกนี้เขาปฏิบัติต่อกันยังไง เริ่มต้นเป็นพี่สาวมาขออยู่ด้วย เป็นแขก เป็นคนแปลกหน้า ตรงนั้นมากกว่า เข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้แล้วเธอปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหน ยังคงเจ้ายศเจ้าอย่าง ความไม่ลดราวาศอก หรือความเป็น PC ของเธอยังไม่เลิก”
“ PC (POLITICAL CORRECTNESS)[2] คือพวก ‘จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด’ ปัจจุบันจะเป็นกันเยอะมากโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ เขาจะรู้สึกว่าอันนั้นก็ไม่ได้ อันนี้ก็ไม่ใช่ ต้องอย่างนี้เท่านั้นนะ ไม่งั้นผิด ไม่มีจิตสำนึกทางสังคมนะ ไม่ใช่คนที่ตื่นรู้นะ คนสมัยใหม่เป็นกันเยอะแล้วก็จะบอก ‘อย่า Bullyกันนะ’ ถ้ามี Bully[3] ขึ้นมาก็จะมีการด่ากัน โดยที่ลืมไปว่าไอ้ที่ไปด่าเขา Bully เขา มันคือการ ‘เหยียดซ้อนเหยียด’ อีกขั้นหนึ่ง “ไม่ตระหนักรู้ซะเลย โง่! ควาย!” อ้าว! แล้วตัวเองล่ะ เราได้ยินมาตลอด คนข้างๆ ก็มีจะเป็นกันอย่างนี้น่ะ ปากก็บอกว่า ‘แน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด’ โดยเฉพาะเรื่องเสรีนิยม (liberal) สามารถพูดทุกอย่างที่ตัวเองคิด โดยที่ลืมไปว่า แล้วมันสมควรหรือเปล่า?
คุณสมบัติของพวก PC มีไวยากรณ์ในการใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง ไปอยู่ในตัวละคร จักรินทร์ หมดเลย (Blanche DuBoise) เช่น “ไม่ได้นะผัวเมียต้องเท่ากันสิ ปล่อยให้เขาทำกับเธอแบบนี้ได้ยังไง” ความจริงคือตัวน้อง (จรินทร - Stella) จะรู้สึก “ฉันอยู่ของฉันได้แบบนี้พี่อย่าก้าวก่าย” วันนี้ปากบอกแบบนี้ได้ เข้าใจผัวตัวเองดี พอรุ่งขึ้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง ก็แล้วไง? มันเป็นความสุขของเขา มันคือคนอยู่เป็นกับคนอยู่ไม่เป็นมาเจอกันน่ะ เวอร์ชันนี้สนใจเรื่องนี้ แต่ว่าเราจะไม่ hurt ความรู้สึกของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้งสิ้น อย่างความเป็นคนแบบจักรินทร์ มันก็จะไม่ถึงขั้นสุดโต่ง ก็มีนะเพื่อน ๆ เราหลายคนสุดโต่ง อย่างนี้ก็ไม่ได้ อย่างนั้นก็ไม่ถูกหลัก จะต้องแก้ไขให้ถูกต้องเดี๋ยวนี้นะ เพราะเป็นคนพูดยังงี้สิถึงอยู่กับคนอื่นไม่ได้ น้ำกับน้ำมันก็ไม่เข้ากันแต่ถ้าฟังแล้วทำใจว่างๆ กับคนที่เราอยู่ด้วย ก็จะอยู่ด้วยกันได้ เหมือนคู่ผัวเมียที่อยู่ชั้นบน (เจ้าของห้องเช่า ยูนิส-สตีฟ ฮับเบลล์) นั่นถึงทะเลาะกันมันก็ยังอยู่ของมันได้”
“เรามองตัวละครตัวนี้ต่างออกไป พฤติกรรมจักรินทร์ในบทดั้งเดิมนางไปนั่งรออยู่ในโรงแรมราคาถูกที่มีชื่อแปลว่า ‘แมงมุมยักษ์’ ก็คือมันถักทอไยให้เหยื่อมาติดกับ จักรินทร์ต้องเอาตัวรอด อยู่ที่ว่าใครจะมาตกเป็นเหยื่อ ทางรอดของคนอ่อนแอคือต้องพึ่งคนอื่น แล้ววิธีการที่จะทำให้คนอื่นมาเป็นที่พึ่งทำยังไง วิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เร็วที่สุดคือหนีไม่พ้นเรื่องนี้ สถานที่ที่พบกันง่ายมีความสัมพันธ์กันง่าย ปรับบทให้เป็นไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่คนเดี๋ยวนี้เขาเล่นอะไรกันใน plat form ชื่อ Only Fans โชคดีก็ได้เป็นคู่ชีวิตกันไป โชคไม่ดีก็แค่ One Night Stand หรืออะไรก็แล้วแต่ ในบทใหม่พอน๊อตมาเล่าเรื่องนี้ของจักรินทร์ให้จรินทรฟังก็เถียงแทนพี่สาวว่า “เขาจะทำแบบนี้ได้ยังไงเขาอยู่กับบ้าน” ก็อย่างนี้นี่แหละทำอยู่กับบ้านก็จัดการได้ด้วยมือถือ ไม่ต้องออกไปยืนใต้ต้นไม้ พอได้ตังค์ก็หายแว็บไป
ส่วนตัวแล้วจะมีความรำคาญต่อการตีความซึ่งผูกขาด Blanche ควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันมี ความ bias for nothing ว่านางเป็นทางเอกต้อง purify มีสัญชาติญาณใฝ่ดี แต่โลกต่างหากที่โหดร้ายต่อเธอ ทำให้เธอต้องอยู่ในสภาพเช่นนี้ ไม่นึกบ้างเหรอว่านางก็ทำตัวเองด้วย แล้วทำไมน้องสาวจัดการตัวเองได้ หรืออะไรก็ตามในการที่จะทำให้ตัวเองสวย หรือว่าทัศนคติผิด แค่เข้ากับคนซึ่งไม่น่าจะเข้ากันได้แล้วก็อยู่ด้วยกันได้ บทมันบอกชัดมากเราควร discuss เรื่องนี้กันบ้างได้ไหม เราไม่ได้ประณามแต่ในช่วงจำกัดในฉากนี้ทำไมต้องคิดยังงี้ล่ะ เพราะมันโดนออกแบบมาแบบนี้ เพราะฉะนั้นคนดูจะต้องจำกัดวิธีคิด พยายามเช็คจากคนดูว่าจะรู้สึกยังไง “การกระทำนี้ถ้าเป็นฉันรู้สึกไม่สมควรนะ” น่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้นะ แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าชอบตัวละครแบบนี้ที่ทั้งเกลียดทั้งรักในเวลาเดียวกันได้ มันดูมีความเป็นคน พยายามทำให้มัน Realistic ไม่เป็น Dramatic ไม่งั้นจะเป็นละคร พอเป็นละครมันอดไม่ได้หรอกว่า นี่ตัวดี นั่นตัวไม่ดี มันไม่ใช่ยุคนี้แล้ว”
“เดิมเป็นฉากข่มขืน ซึ่งยุคนี้ทำฉากแบบนี้ไม่ได้ มันจะข่มขืนด้วยอะไรกัน เราคิดว่าจริงๆ แล้วตัว Branche (จักรินทร์) ต่างหากที่ไม่ควบคุมความปรารถนาเบื้องลึกของตัวเอง คราวนี้ชัดกว่าที่ทำครั้งแรกด้วย จะเห็นความผิดปกติตั้งแต่ซีนแรกเลย ในวันแรกที่มันมาถึง ตอนสแตนลี่ย์ถาม (น๊อตสามีจรินทรถามจักรรินทร์) “แล้วแฟนพี่ล่ะ” ก็มีเสียงวิ๊ง ๆ ในหู จะเห็นความเป็นคนแบบนี้ตั้งแต่แรกเลย แล้วมีอีกตอนที่นั่งคุยกับน้องสาว ในฉากให้มีตัวละครปรากฏขึ้นเลย เพียงแต่ว่าไม่ได้ปรากฏขึ้นในความจริง มันปรากฏขึ้นในจิตสำนึก ไม่ใช่จิตใต้สำนึกด้วยนะ นั่นคือเข้ามานั่งอยู่ข้างๆ ขณะที่ตัวพี่กำลังด่าผัวของน้องสาว ให้ปรากฏอยู่ต่อหน้าเลย เขาอย่างนั้นเขาอย่างนี้ (วิจารณ์ลักษณะดิบเถื่อน) ตัวละครก็รีแอ็คไปตามที่พี่สาวพูด เพราะฉะนั้นคนดูจะเห็นทุกอย่างจากมุมมองของตัวจักรินทร์ (Blanche)
เพราะฉะนั้นความปรารถนาที่ซ่อนอยู่ลึกๆ มันถูกทุ่มมาตั้งแต่ซีนแรกที่เจอเลย love hate relationship หรืออะไรก็ตาม จาก ‘ปากพูดว่าไม่ แต่ใจบอกว่าใช่’ ถูกพูดมาตลอด จนกระทั่งฉากสุดท้ายที่ไฟท์กันถึงขั้นสูงสุด ดูสภาพของจักรินทร์มันพร้อมที่จะเป็นฝ่ายจัดการเขาเอง ไม่ใช่ฉากที่โดนผู้ชายข่มขืน เพราะฉะนั้น เราละไว้ในลักษณะให้มีความคลุมเครืออยู่ว่า ซีนนั้นคืออะไร (ฝนตก silhouette - ภาพไม่ชัดโจ่งแจ้งทั้งแสงและแอ็คชัน) แต่ก็ดูรู้ว่าได้กัน เพียงแต่จะได้ลักษณะไหน ไม่ใช่การข่มขืน นางเข้าไปนัวร์กับร่างกายเขาโดยที่ผู้ชายยืนเฉย ๆ นางจัดการตัวเองจับวิกผมหลุดออกไปพร้อมไฟเฟด เอาแค่นี้พอเพราะก่อนหน้านั้นฉากของน้องสาวกับผัวก็นัวกันหนักแล้วนะ ครั้งแรกต้องเปลี่ยนบอกให้เบาๆ หน่อย พอสนิทกันแล้วก็สบายนักแสดงจัดการเองมากกว่า แล้วเขารู้ level ด้วยว่าเล่นแค่ไหนพอ ย้อมบรรยากาศด้วยฝนตก ตอนแรกใช้ปั๊มน้ำแต่แรงไปทุกคนกลัวไฟชอ็ต เลยเอาแค่นั้นพอให้ได้บรรยากาศเรื่อง mood and tone ของเรื่องด้วย เอาน้ำมาเกี่ยวข้องกับเรื่อง sex ด้วย เพราะนี่คือฉาก climax สูงสุดของเรื่อง หลังจากตึงเครียดมาจนสุดแล้ว เพราะมัน ‘พัง’ ที่สุดก็คือฉากนี้ หลังจากนั้นรุ่งขึ้นคือฉากสุดท้ายแล้วที่ทุกอย่างจะคลี่คลาย ว่าท้ายที่สุดชีวิตของแต่ละคนจะไปทางไหน”
“ ตอนสุดท้ายทุกคนจะกำจัดจักรรินทร์ก็ไปเอาหมอมาจับส่งโรงพยาบาลบ้า ต้นฉบับทุกฉบับทำแบบนี้หมดเพื่อบอกว่า ‘ไปให้พ้นจากชีวิตฉัน’ จัดแสดงครั้งที่ 2 เรื่องจะชัดขึ้น ตัดตัวละครที่เป็นหมอออกไป การที่จะผลักไสใครไปให้พ้นไม่เห็นจำเป็นจะต้องเอาคนอื่นมาจับเลย คุณก็ไปจากเขาซะสิ ทิ้งเลย อยากครองพื้นที่ก็เอาไปเลย ฉันไปเอง ถ้าเราคบใครไม่ได้ไม่จำเป็นต้องไล่เขาหรอก เราเอาตัวเองออกจากชีวิตเขาก็ได้ วิธีนี้เลือดเย็นกว่า ทั้งเหตุผลในแง่ของการจัดแสดงเราตัดหมอออกด้วยเหตุผลว่า ท้ายที่สุดเราอยากจะจบเรื่องที่ตัวละครตัวนี้ เป็นตัวละครเอกที่เราเปิดเรื่องด้วยจักรินทร์ พอเขาเข้ามาแล้วคนดูก็ดูทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเขา แต่ว่าสิ่งที่เข้ามาหลอกหลอนเขาในจิตสำนึก ในจิตใต้สำนึก มันตามเขาอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นมันควรจะจบที่เขา มากกว่าที่ควรจะจบแแบบให้เขาออกไปจากชีวิตทุกคน จับส่งโรงพยาบาลได้แล้วทุกคนก็ยังอยู่บ้านนี้ต่อไป
ถ้าเปรียบกลับกันคือว่าถ้าเราต้องการออกไปจากชีวิตคุณ แต่ฉันจะไปจากคุณเอง ทุกคนก็ไปหมดเลยคุณก็อยู่ของคุณตรงนี้แหละ ไม่มีใครยุ่งกับคุณ เรากำลังจะบอกว่า เวลาคุณไม่ถูกกับใครหรือไม่ชอบหน้าใคร คุณไม่จำเป็นต้องไปกำจัดไปทำลายเขา คุณเอาตัวเองออกจากชีวิตเขาแค่นั้นก็จบแล้ว มันโหดกว่า TRAGEDY กว่า นางก็ร้องเพลงคนเดียวไปสิ “OVER THE RAINBOW” (เพลงจบที่จักรินทร์ร้องปิดเรื่อง บอกสภาพจิตที่ถูกทิ้งให้อยู่กับความฝันเฟื่องเพียงลำพัง…)
“จากการคุยหลังการแสดง นักศึกษาเขาตื่นเต้นว่าเราแปลงเป็นแบบนี้ก็ได้ด้วยเหรอ? เพราะปกติการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยแม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังบอกเด็กว่า “ เราต้องเคารพต้นฉบับ” แต่ถามว่า So what?! ถ้าเคารพต้นฉบับแล้วมันไม่ make sense แล้วจะยังไง ถ้าไม่เกี่ยว เรา relate ไม่ได้แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร ต้องมีรถรางไหม? ไม่ห็นต้องมีเลย ไม่มีก็ได้ไง เพราะไม่ได้เล่าเรื่องรถราง มันแค่ gimmick ของเรื่องที่พาจักรินทร์มาที่นี่เท่านั้น แต่จริงๆ เราต้องการเล่าเรื่องการอยู่ร่วมกัน อยู่ร่วมกันได้ อยู่เป็นหรืออยู่ไม่เป็นมากกว่า อะไรที่มันไม่เกี่ยวก็ไม่ต้องเล่า เขาอยู่ในขนบที่บอกว่าทุกอย่างต้องทำตามบท จะปรับจะเปลี่ยนก็ต้องเคารพบท แล้วไง? ในยุคนี้มันจะเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องทำทุกอย่างให้เหมือนกัน
ทุกคนจะตกใจ โห! 3 ชั่วโมงตัดเหลือแค่นี้เหรอ? ถ้าเรื่องไม่เดินก็ต้องเอาออก แต่ทุกอย่างอยู่ครบไง Love Line หรือประเด็นสำคัญก็ยังอยู่ อะไรที่มีฉากอื่นทดแทนแล้วเราก็ไม่เล่าซ้ำ อย่างที่เปลี่ยนเป็นชื่อเรื่องเพราะนี่คือสถานีปลายทาง สถานีสุดท้าย จบที่สถานีนี้ ENDSTATION จริง ๆ จบที่ตัวจักรินทร์เลยเป็นสถานีสุดท้ายของเธอ หลังจากนี้ก็อยู่ในโลกจินตนาการอย่างนั้นต่อไป ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะอยู่ยังไง (ถ้าไม่ปรับตัว) การจะเปลี่ยนคนอื่นคุณมีสิทธิ์แค่ไหน เขาก็เป็นของเขาแบบนี้ คิดไหมว่าเขาอยู่กันดีๆ แล้วคุณมาเบียดเขา พยายามจะเปลี่ยนให้เขาเข้ากับตัวเอง ไปกินพื้นที่เขา เริ่มตั้งแต่มีกำแพงด้วยการเข้ามาอยู่ร่วมกันแล้วนางก็ติดม่าน เพื่อกั้นห้องให้ทุกอย่างเป็นสัดส่วน ที่ของเธอที่ของฉัน ควรจะ respect ในความเป็นเขา แล้วอยู่ด้วยกันด้วยความเข้าใจ ดีกว่าจะไปหักหาญกันว่าต้องอย่างนี้เท่านั้นถึงจะถูก”
“บทเก่าก็มีองค์ประกอบที่ฟ้องหลายอย่างออกมา แม้กระทั่งไปหลงรักพัฒน์ (Mitch) (ชายสุภาพสุดในกลุ่มเพื่อนๆ ของน๊อต) ก็บอกว่าคนนี้ดูดีกว่าเพื่อนนะนั่นนี่ ก็เข้าใจแหละว่าชีวิตมันพังมาอยากฝากตัวเองไว้กับใครสักคนเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเหนื่อยล้าเหลือเกินอีกต่อไป มีความหวังความปรารถนาก็เข้าใจได้ แต่ด้วยวิธีการ ด้วยบาดแผลของตัวเอง ด้วยการกระทำคนอื่นเขาไม่เอาน่ะ เพราะคนอื่นเขาก็มีมาตรฐานของเขาเหมือนกัน “คุณไม่สะอาดพอที่จะอยู่กับบ้านแม่ผมได้” ผู้ชายคนนี้ conservative มีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง มันก็มีคนแบบนี้อยู่ คือเขาก็มีสิทธิ์เป็นอย่างนี้ไม่เอาก็คือไม่เอา จะบอกว่าเขาผิดก็ไม่ได้ คือความไม่เข้ากันของคน
จักรินทร์เข้ามาคือได้พยายามแล้วนะ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำ สอนภาษาอังกฤษ ไลฟ์สด พูดถึงเรื่องโรคร้อน ฯลฯ พยายามมีตัวตน มีที่ยืน ถ้าทำได้แล้วคนยอมรับก็อยู่ต่อไปได้ ตอนไลฟ์สดให้เขาพูดเรื่องกระแสน้ำในมหาสมุทร ทำไมเลือกเรื่องนี้ หนึ่งคือเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น สองมันเหมือนตัวละคร ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งกระแสน้ำของโลก ถ้าเกิดสายพานกระแสน้ำของโลกมันหยุดล่ะ? ในแง่ symbol หมายถึงตัวเขาเอง หรือว่าคือชีวิตของคนเลย กระแสน้ำเปลี่ยนได้มันก็หยุด พอหยุดแน่นอนมันก็ต้อง effect ต่ออากาศของโลก ต่อห่วงโซ่อาหาร ฯลฯ เพราะทุกสิ่งมันเกี่ยวพันกัน”
บทดั้งเดิมคือ ‘ปูชนียคุรุ’ คู่ควรแก่การเคารพ
“การละครหรือด้านมนุษยศาสตร์เป็นศาสตร์แห่งการตีความ ในเมื่อชีวิตมนุษย์จริง ๆ แล้วมีสิทธิ์ที่จะอ่านและตีความตามพื้นประสบการณ์ของตัวเองด้วย โดยที่บางทีต้องเลือกว่าตีความสำหรับวาระโอกาสหรืองานไหน เรามีสิทธิ์จะมองงานหนึ่งงานได้หลายแบบ เหมือนเหรียญมีหลายด้าน ยุคนี้เป็นยุคที่ไม่มีใครผูกขาดการตีความได้ ก่อนหน้านี้ในอดีตเราโดนครูอาจารย์ด่าตั้งแต่ตอนทำงานเอางานวรรณกรรมชั้นสูงของโลกมาทำ ว่าไม่อย่างนั้นอย่างนี้ คาฟก้าเขาว่าอย่างงี้ เท็นเนสซี่เขาว่าอย่างนั้น แล้วทำไมเราต้องตามด้วยวะ? เราจะสงสัยอยู่ตลอด เวลาเราอ่านงานนี้เราคิดอย่างนี้รู้สึกอย่างนี้แล้วเราก็เสนออีกมุม ในขณะที่คุณเป็นอาจารย์หรือผู้รู้ คุณอ่านจากหนังสือ แล้วคุณก็ได้รับโดยตรงจากหนังสือ แต่คนดูคือ Second Hand มาจากผู้กำกับ ผู้ออกแบบ นักแสดง ผ่านการตีความ การรับรู้ของนักแสดงมาแล้วชั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้นคุณจะมาโหยหา First Hand หรือ Interpretation แบบสิ่งที่คนเขียนเขาต้องการไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์หรอก ไม่มีทาง
อาจารย์ท่านหนึ่งเคยสอนว่า “ผู้กำกับควรจะอ่อนน้อม ต้องก้มค้อมตัวแล้วมุดลงไปในบทละครให้ลึกสุดลึก (ลึกซึ้ง) แล้วดันมันขึ้นมาให้คนดูเห็น” คือความหมายของ ‘ผู้กำกับ’ ในหมายความของอาจารย์ท่านนั้น ผมไม่มุดได้ไหม?ผมแค่อ่าน ไม่งั้นไม่เลือกเรื่องนี้มาทำหรอก เพราะอะไรก็ตามที่มาสะกิดให้เรารู้สึกแบบนี้ มันทำให้เราพูดความจริงได้เยอะกว่า เราไม่รู้ว่าพูดได้ครบไหม เราพูดได้จริงทุกอย่าง แต่บางครั้งเราเห็นงานงานหนึ่งแล้วเราพูดผ่านงานนั้น จะรู้สึกว่าเราพูดได้จริงกว่า - ถึงกว่า ก็เลยเลือกงานนี้ขึ้นมาบอกว่าเรารู้สึกอย่างนี้นะ แล้วเราก็พูดผ่านงานนี้ไปในประเด็นนี้ แต่เราไม่ได้ตีความแบบคุณนะว่า บลานซ์ (Blanche DuBoise) ต้องอย่างนี้”
“คือเราอยู่ในช่วงมีอายุคร่อมศตวรรษ 20-21 เมื่อศตวรรษที่ 20 พูดถึงเรื่องของวิทยาการความรู้ ทุกอย่างต้องมี reference มีรากมาจากศตวรรษที่ 18-19 ก็ไล่เรียงว่าไป เพราะฉะนั้นก็เลยไม่มีคนพยายามทำอะไรให้แตกต่างไปจากเดิม แต่ยุคนี้มันไม่ใช่ไง จริง ๆ ไม่ใช่มานานแล้ว เราไม่เรียกว่า ‘ตีความใหม่’ นะ เพียงแต่ว่าเราตีความในสิ่งที่มัน relate กับผู้ชมเท่านั้น อะไรที่ relate กับผู้ชมไม่ได้จะเอาไว้ทำไมวะ ตัดออกไป ก็เลยทำให้คนดูเข้าถึง เราไม่ได้ทำเพื่อรางวัล บทละครยอดเยี่ยม อะไรแบบนั้นไม่ได้อยู่ในหัวเลย ไม่ได้ทำเพื่อให้นักวิจารณ์มาให้คะแนนเรา ใครจะว่ายังไงก็รับฟังแต่ไม่ take เพราะเลือกแล้ว
มันเหมาะกับคนยุคนี้ในระดับปกติ ไม่ถึงกับว้าว!! แล้วก็ไม่ได้ตั้งใจด้วยว่าจะทำให้เรื่องว้าว!! ด้วยนะ ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำละครแล้วต้อง ว้าว!! วู๊!! ใหม่จังเลย ล้ำจังเลย ไม่มีความจำเป็น เราพูดแค่นี้พอ(ขอบเขตของการนำเสนอ) ทำละครทุกเรื่องก็อย่างนี้ วิธีคิดคือตั้งโจทย์ตั้งวัตถุประสงค์เอาไว้แล้วทำเท่าที่จำเป็น ไม่ได้ทำให้ดีที่สุด เพราะไม่รู้ว่าดีที่สุดคืออะไร ดีที่สุดของใครด้วย รู้สึกว่าเรื่องนี้ถ้าเราพูดได้แค่นี้ประมาณนี้นะก็ถือว่าโอเคสำหรับเราแล้ว ถ้าทำสุดฤทธิ์ให้ดีที่สุดของเราเรื่องหน้ายากแล้ว กดดัน กลัวไม่สนุกอยากให้คนดูสนุก อยากให้มีทุกรสทั้งรันทดทั้งเฮฮา”
NEXT STATION
“แล้วเรื่องนี้ก็จะดำเนินรอยตาม ART (ละครที่จัดทัวร์ทั่วประเทศเปิดการแสดงรวมกว่าร้อยรอบในปี 2566) ความที่มันมีอะไรหลายอย่างเยอะเราต้อง Redesign ใหม่หมดเลย สถานที่ไปเล่นอาจจะเปลี่ยนไป ไม่จำเป็นต้องสองชั้น เพียงแต่กาลิเลโอมันสองชั้นเลยเข้ากับต้นเรื่อง แรกเขียนบทระบุไว้ว่า ถ้าเป็น back up พวกคนงานอาจเป็นคอนเท็นเนอร์มาต่อๆ กันก็ได้ด้วยซ้ำไป เราชอบแบบนั้นแต่แหมจะดูเป็นฝรั่งไปนิดหนึ่ง บ้านแบบนี้แถวคลองเตยมีนะ ตู้มาต่อกันเป็นบ้านเป็นเรื่องเป็นราวเลย แต่ว่าจะทำการแสดงยังไงที่ของไม่เยอะเท่าเก่า แต่ต้อง(สามารถสื่อสาร)ได้เท่าเก่า
ไอเดียหลายอย่างก็คุยกับบัวมาตลอดทาง (บัว-ภัทรสุดา อนุมานราชธน นักแสดงรับบทจรินทร นักเขียนบท ผู้กำกับ producer ฯลฯ) เริ่มสเก็ตช์กันว่า seting ควรจะเป็นยังไง อะไรเป็นวัตถุสำคัญบ้าง เช่น เตียง คราวนี้ไม่มีเตียงแต่จะมีอ่างอาบน้ำ เราจะใช้พื้นที่ยังไงที่หาได้จากทุกจังหวัด แล้วเราก็แค่ไป fit in ตัวละคร 6 ตัวเหมือนเดิม หรือสองผัวเมียเราอาจไม่เอาคู่นี้ไป อาจะไปหาคนพื้นถิ่นที่นั่นเลย โดยที่เราจะไปก่อนไปซ้อม แล้วให้พูดในสำเนียงของคนแถวนั้น บัวลงไปตรวจ thesis ที่หาดใหญ่ก็สเก๊ตชมาให้ดูเพราะเรื่องนี้มีวัตถุสำคัญ ว่าจะใช้พื้นที่แบบนี้ได้ไหม ใช้ม่านแบบนี้ได้ไหม ของมีเพียบเพียงแต่เราจะใช้อะไรเท่านั้นแหละ ไม่ต้องขนไปเลย แต่ต้องลองที่แรกก่อนเพื่อจะหาความลงตัว ART คิดง่ายกว่าเยอะ ก็ยังไม่หยุดแสดงนะโปรแกรมมาแล้วตุลา 2567 ก่อนตุลาอาจไปภูเก็ต ก็เล่นไปเรื่อยๆ แหละ อยากจะเปลี่ยนทรงผมแล้วตอนนี้ 2 ปี ไม่ได้เปลี่ยน
ตั้งแต่ต้นปี 2 เดือนแรกทำ 4 เรื่องแล้ว (ปี 2567 ทำละครเรื่อง ART , THE LITTLE TIGERS FOR KOREA (พยัคฆ์น้อยพอร์คชอป) , Stick Figures (คนก้างปลา) , ENDSTATION , ช่วงนี้อาการร้อนไม่ค่อยอยากซ้อมละครก็หยุดซะบ้าง มีนาเมษาอากาศร้อนไม่ควรจะทำอะไร ไม่ได้จำกัดตัวเองนะ ตอนนี้ก็ดูแลซีรีย์อยู่ 6 ซีรีย์ (เป็น Script Doctor ตรวจบท) งานของตัวเองช่วงนี้เตรียมเรื่องใหม่ 2 เรื่อง ช่วงพฤษภาถึงจะซ้อม ENDSTATION เพื่อไปทัวร์ มีเรื่องเก่าที่เคยทำในอดีตเมื่่อ 5-6 ปีก่อนจะนำมาทำใหม่ คัดเรื่องไหนเหมาะสุด คิดไว้แล้วแต่รอความแน่นอนก่อน”
สุดสายปลายทาง
“ENDSTATION” ให้มุมต่างทางความคิดแบบ ‘ขบถหัวก้าวหน้า’ ที่มาพร้อมความต่างในงานสร้างแทบทั้งหมด โดยหัวใจของเรื่อง (Theme) เส้นเรื่อง (Storyline) ไม่ได้คลายจากโครงเดิม ที่ไม่ใช่เพียงเปลี่ยนบริบททางสังคมที่ถูกออกแบบให้เป็นไทยในปัจจุบันเท่านั้น แต่เพราะทุกสิ่งสำคัญที่เป็นตัวช่วยให้ ‘เชื่ิอ’ ถูกเตรียมพร้อมไว้อย่างครบองค์ประกอบก่อนแล้ว นับตั้งแต่แหวกย่านธุรกิจกลางกรุงพุ่งเข้าไปในหา OASIS กลางป่าคอนกรีตแล้วพบกับ ‘Galile Oasis’[4] บรรยากาศตึกเก่าที่เข้ากับเนื้อเรื่อง โดยไม่ต้องเปลือง setting ใหม่ เหมือนหลุดเข้าไปในโลกจำลองของจินตนาการ ผ่านงานแสดงที่ทรงพลังของทั้งทีมที่ถูกเคี่ยวข้นจนพลังล้นกันมาแล้ว ทุกคนล้วนสวมวิญญาณชาวบ้านร้านตลาดได้เฉียบขาด โดยเฉพาะมาดแม่ค้าปากคลองของ ปุณิกา หรั่งฉายา เพื่อนบ้านผู้อารีย์มีน้ำใจ ออกมาทีไรผู้ชมลมจะใส่เพราะเสียงและการแสดงอันทรงพลังในร่างเล็กพริกขี้หนูของเธอ ชายฉกรรจ์ทั้งกลุ่มหลบไปเลย
โดยเฉพาะ ‘จรินทร’ ผู้สวมบท Stella (ครูบัว - ภัทรสุดา อนุมานราชธน) คนที่มาพร้อมคุณสมบัติพิเศษ แม้มีบุคลิกเด่นเป็นตัวเอง แต่พลังอารมณ์ที่เธอสาดใส่ผู้ชมช่างโชนชัด ทั้งในเวลาชื่นมื่นระเริงรื่นกับผัว และในมุมมืดมัวขื่นขมอมอิหลักอิเหลื่อเหลือจะกลืน ก็ไม่มีตรงไหนที่ทำให้รู้สึกฝืนหรือสะดุด แม้ในชุดของคนเป็นแม่แค่ขยับก็ใช่แล้ว ในฉากสุดท้ายที่ต้องกลายเป็นคนใจดำทำกับพี่ได้ ทำให้หลายคนเศร้าลึกน้ำตารื้น เพราะเข้าใจน้องที่ต้องทิ้งพี่ทั้งที่ไม่อยากทำ ชวนนึกย้อนตอนแรกฉากเปิดตัวพี่สาวที่ก้าวเข้ามาในบ้าน กับการตอบคำถามของเธอ “แล้วจะเอาพี่ไปซุกไว้ที่ไหน?” น้องตอบจากใจ “ก็ซุกอยู่ด้วยกันในนี้แหละ” … รู้สึกให้อภัยเพราะเข้าใจว่าทำไมถึงต้องเลือกครอบครัว จรินทรเธอเป็น Stella ที่ก๋ากั่นมั่นใจ จนทำให้หายสงสัยว่าทำไมถึงกล้าหนีมากับน๊อตแล้วอยู่กันได้เพราะ “พี่น่าจะเข้าใจแล้วยอมรับด้วยว่าคนเราก็มีนิสัยไม่ดีบ้าง” บอกความ ‘อยู่เป็น’ เตือนพี่สาวที่ ‘อยู่ไม่เป็น’ เพราะไม่เข้าใจในความต่างที่ต้องยอมรับและปรับตัว
ความเข้มขลังของ ‘จรินทร’ ทำให้ ‘น๊อต’ (รัฐธีร์ วรโรจน์โยธิน) ผัวของนาง ‘จาง’ ลงไปหลาย เขาเป็น Stanley ที่สุภาพที่สุดในโลก บทช่วยบิดให้เห็นด้านอบอุ่นอ่อนโยนของเขาเป็นระยะ ขณะเมียหลบภัยไปอยู่ชั้นบนก็ลนลานคลานหาเหมือนลูกหมาหิวนมแม่ แค่เจ็บท้องสะเทือนครรภ์ก็ตัวสั่นเข้ามาประคอง มันใช่จนต้องเข้าใจว่าทำไม ‘จักรรินทร์’ (สธน ตันตราภรณ์ - Blanche) จึงแอบอ่อยปล่อยเสน่ห์ในมาดนิ่งหยิ่งใส่เสมือนผู้หญิงถือตัวกับผัวของน้อง นางนิ่งได้เนี๊ยบซ่อนทีท่าน่าหมั่นไส้ได้เนียนสนิท ปกปิดจิตที่ผิดปกติจนต้องแปลกใจ ทำไมไม่มีใครมองเห็นตั้งแต่แรก หลังคืนฟาดฟันวันฟ้าผ่า ทำให้กลัวว่าบทจะเฉลยแบบ ‘ความแตก’ เพื่อแยกสองพี่น้องอย่างสมเหตุผล แต่ตรงข้าม เมื่อพยายามปกปิดความผิดของสองคนที่ร่วมกันก่อ กรรมจึงไปกองอยู่กับ ‘ผู้ต้องการ’ เพียงคนเดียว ทั้งที่มีสองคนควรได้รับโทษจากการกระทำ
ชื่อเรื่อง “A Streetcar Named Desire” ชัดเจนต่อคำถามปลายเปิดที่เลยเถิดไปถึง ประเด็นลึกซึ้งเรื่อง ‘ความปรารถนา’ Tennessee Williams ให้ความยุติธรรมต่อตัวละครด้วยการใส่เสน่ห์ดึงดูดทางเพศแบบ ‘พ่อพันธุ์’ ให้กับน๊อต (หลายเวอร์ชันจงใจให้เป็นคนผิวดำเพื่อย้ำการเหยียดชนชั้น และโชว์สมรรถนะ) จรินทรยอมรับจุดเสียยอมแพ้ความดิบเถื่อนในตัวเขาเพราะแรงปรารถนา ความรักเสน่หาใช่หรือไม่ และความต้องการที่เกินมนุษย์ปกติของจักรินทร์ ผู้ถวิลความรักความเมตตาและปรารถนาการปกป้องมากกว่าคนปกติทั่วไป ที่แม้แต่ ‘พัฒน์’ ก็ช่วยไม่ได้ (ภูชิช จันทร์สงค์ - Mitch) เพราะความเปราะบางในโครงสร้างของจิตใจ (เหมือนไม้เลื้อยที่ต้องมีหลักยึดให้หยัดยืน ฝืนธรรมชาติในตัวตนไม่ได้) คือความต้องการเดียวกันหรือไม่ในธรรมชาติของมนุษย์? เราควรหยุดพิจารณาเพื่อหาความยุติธรรมให้เท่าเทียมไหม?
โจทย์ ต่างกันก็เพียงจักรินทร์ไม่ยอมเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเอง ด้วยไม่เฉลียวใจว่า แม้เจตนาบริสุทธิ์หากหลุดความคิด (ที่มีต่อคนอื่น) ด้านลบเล็ดลอดผ่านคำพูดออกไป จะกลายเป็นความผิดแล้วต้องรับโทษขนาดไหน … โลกมอบหน้ากากเป็นอาวุธให้ ในสมญานาม ‘ความมีมารยาท’ เป็นมาตรฐานของสังคม แต่จักรรินทร์หลงเข้าไปในสังคมที่แตกต่างอย่างฟ้ากับเหว ‘มารยาท’ ระหว่างตนกับคนอื่นจึงไม่อยู่ใน ‘มาตรฐาน’ เดียวกัน เพราะภูมิหลังคือสิ่งสำคัญเป็นตัวผลักดันตัดสิน เธอจึงถูกพิพากษาให้แพ้ ไม่ได้รับแม้สิทธิ์ที่คิดจะปกป้องตัวเอง ต่อให้ใครใคร่จะพิทักษ์ก็ปกปักเธอไม่ได้ พัฒน์ (ภูชิช แสดงเป็น Mitch) จึงกลายเป็นเหมือนน้องชายวัยมัธยมที่ชื่มชมความงาม ไหลตามแรงปรารถนาของวัยหนุ่มเท่านั้น ไม่สามารถทำหน้าที่สำคัญแบกความหวังความฝันของใครได้ ภายใต้เงื่อนไขในชีวิตของจักรินทร์ เขาเป็นได้เพียงแสงสลัวท่ามกลางความมืดมัวที่น่ากลัวรอบด้าน (แต่งานเป็นใบเบิกทางให้ภูชิชได้)
ผู้กำกับเลือกที่จะไม่ระบุประเภทของงานการแสดงเรื่องนี้ ไม่ต่างจากการออกแบบให้ไม่ระบุเพศของตัวละครหลัก เพื่อให้อิสระในการตีความ ผ่านวิธีส่ง ‘สาร’ เหมือนต้องการจะแก้ต่างให้กับสาเหตุการตายของสามีเก่าจักรรินทร์ ที่แอบมีความสัมพันธ์กับผู้ชาย (Homosexual) เมื่อโดนจับได้ สุดท้ายเขาฆ่าตัวตายเพราะทนละอายใจไม่ไหว เหมือนบทตั้งใจจะบอกว่ายุคนี้แล้ว…ไม่ควรมีใครต้องตายเพราะอับอายในเพศสภาพอีกต่อไป และ ‘แรงปรารถนา’ ก็ไม่ใช่อาชญากรรม แต่คือเสรีภาพในขณะเดียวกันก็ลงโทษจักรินท์ตัวแทนของความปรารถนาอย่างไร้เมตตาแบบปล่อยให้ตายตามลำพัง… แม้กระทั่งประโยคที่ทั้งโลกสะเทือนก็เหมือนลอยหายไปกับสายลม… (“ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ฉันมักไว้ใจคนแปลกหน้าที่เมตตาต่อฉันเสมอ”)
รางวัลละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยของประเทศไทย ประจำปี 2566[5]
ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง (IATC Thailand) ได้พิจารณาคัดเลือกจากการแสดงที่เปิดการแสดงครั้งแรก ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เพื่อตัดสินและมอบรางวัล มีการจัดงานมอบ รางวัลละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยของประเทศไทย ประจำปี 2566 ใน วันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ขอเชิญทุกท่านที่สนใจเข้าร่วมงานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย “ENDSTATION” ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง 5 รางวัล ดังนี้
สาขาละครเวที (ละครพูด) ยอดเยี่ยม: Best Play
● “ENDSTATION” โดย New Theatre Society และ NUNi Productions
สาขาบทละครดัดแปลงยอดเยี่ยม : Best Adapted Script of a Play or a Performance
● บทละครเรื่อง “ENDSTATION” โดย ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ [จากบทละครเรื่อง A Streetcar Named Desire โดย Tennessee Williams]
สาขาการแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงหญิง : Best Performance by a Female Artist
● ภัทรสุดา อนุมานราชธน จากเรื่อง “ENDSTATION”
สาขาการกำกับการแสดงยอดเยี่ยม : Best Direction of a Play/Performance/Musical
● ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ จากเรื่อง “ENDSTATION”
สาขาการออกแบบศิลป์ยอดเยี่ยม : Best Art Direction of a Play/Performance/Musical
● คณะทำงานฝ่ายออกแบบ จาก “ENDSTATION”
งานประกาศผลจะมีขึ้นในวันที่ 26 มีนาคม 2567 เวลา 18.00 น. ณ BACC
[1] Thianchai Isaradej , “อีดิปุส จอมราชัน” , สืบค้น 25 กุมภาพันธ์ 2567 , https://web.facebook.com/photo/?fbid=2464731846956033&set=a.1622291994533360&locale=th_TH
[2] ณฤดี จินตวิโรจน์ , Political correctness , การใช้ภาษาเพื่อลดความรุนแรง , สืบค้น 9 ตุลาคม 2567 https://www.bangkokbiznews.com/health/social/1043423
[3] บูลลี่ (Bully) คืออะไร มีกี่ประเภท , stopbullying.gov, ceoworld.biz , สืบค้น 25 กุมภาพันธ์ 2567 https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2034455
[4] ‘Galile Oasis’, thecloud , สืบค้น 15 กุมภาพันธ์ , https://readthecloud.co/galile-oasis/
[5] รางวัลละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยของประเทศไทย , ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง (IATC Thailand) , สืบค้น 10 มีนาคม 2567 https://web.facebook.com/photo?fbid=740354624905616&set=a.423110769963338&locale=th_TH