ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

ราชาเรื่องสั้น มนัส จรรยงค์ ผู้เหนือกาล กับ “ครูแก” (The Shadow Lovers)

25
พฤษภาคม
2567

Focus

  • การนำเสนองานของมนัส จรรยงค์ “ราชาเรื่องสั้น” ในเทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024 เมื่อวันที่ 3-5 พฤษภาคม 2567 งานวรรณกรรมของมนัส สอดรับกับหัวใจของงานเทศกาลนั่นคือ การเสนอภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่เกี่ยวกับเมืองเพชรบุรีภายใต้แนวคิดของงานว่า “เมืองหนัง” ได้แก่ หนังใหญ่ หนังตะลุง หนังสือ และภาพยนตร์ โดยมีจุดมุ่งหมายของให้เป็นเทศกาลยั่งยืนโดยจัดนิทรรศการต่อเนื่องหลายปีในกรอบของ Festival Economy ที่มุ่งสร้างองค์ความรู้และฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
  • ภายใต้แนวคิดของเทศกาลว่าเป็นเมืองหนังและในกรอบของการจัดงานอย่างยั่งยืนจึงทำให้งานวรรณกรรมเรื่อง “ครูแกหนังตะลุง” ของมนัส จรรยงค์ ราชาเรื่องสั้นที่นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “ครูแก” (The Shadow Lovers) และขับเน้นให้เห็นตำนานของนายหนังตะลุงเมืองเพชรบุรีที่ชื่อ ‘แก’ ว่ามีบทบาทสำคัญในการสืบสานภูมิปัญญาสำคัญของท้องถิ่น จ. เพชรบุรีอย่างไร
  • ท้ายที่สุดหัวใจของการจัดเทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง และการรื้อฟื้นคุณค่าและความหมายของภูมิปัญญาท้องถิ่นของเมืองเพชรบุรีในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการค้นพบภาพยนตร์ต้นฉบับเรื่อง “ครูแก” (The Shadow Lovers) ซึ่งสร้างจากวรรณกรรมของมนัส จรรยงค์นี้ นับว่าสำคัญอย่างยิ่งและในกรอบการจัดงานแบบ Festival Economy ที่คำนึงถึงปัจจัยเศรษฐกิจแบบยั่งยืนภายใต้รูปแบบสากลส่งผลสำคัญสองประการคือ รื้อสร้างผลงานวรรณกรรมที่เกี่ยวกับท้องถิ่น และนำเสนออย่างร่วมสมัยให้สอดรับกับบริบทการสืบสานร่วมสมัยแบบสากล

 


“เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง”

 

“เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง” Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024 เมื่อ วันที่ 3-5 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา Theme ของงานให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาพื้นถิ่นจึงถูกออกแบบเพื่อพัฒนาสืบสร้างเป็น ‘เมืองหนัง’ คือ หนังใหญ่ หนังตะลุง หนังสือ และ หนัง(ภาพยนตร์) ที่ล้วนมีบริบทเชื่อมโยงและต่างส่องทางต่อกัน โดยเฉพาะ ‘หนังสือ’ กับ ‘หนัง’(ภาพยนตร์) หลายเรื่องมีต้นธารจากบ้านเมืองเพชรที่เป็นทั้ง ‘ฉากหลังหนังไทย’ และเป็นบ่อเกิดวรรณกรรมก่อนถูกสร้างสรรค์สื่อใหม่ให้เป็นภาพยนตร์ อาทิ “ครูแก” (The Shadow Lovers) เรื่องที่สร้างจากตำนานของนายหนังตะลุงเมืองเพชรบุรีชื่อ ‘แก’ จากวรรณกรรมต้นเรื่อง “ครูแกหนังตะลุง” โดยนักประพันธ์ที่ได้ฉายา “ราชาเรื่องสั้น” มนัส จรรยงค์[1] ภายในงานจึงมีทั้งการสัมมนาและฉายหนังตามรูปแบบและแนวทางของ ‘เทศกาลยั่งยืน’ อันเป็นจุดยืนของ Festival Economy ที่มุ่งสร้างองค์ความรู้และฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ในแนวทางการพัฒนาของ TCEB (Thailand Convention & Exhibition Bureau (Public Organization) หรือ สสปน. สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุม และนิทรรศการ (ภาคกลาง)  ผู้สนับสนุนหลักในการจัดงาน (ร่วมกับ มูลนิธิหุ่นสายเสมา ศิลปะเพื่อสังคม และ ชุมชนคลองกระแชงย่านเมืองเก่าเพชรบุรี) มุ่งให้ความสำคัญกับการสัมนาแลกเปลี่ยนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และบูรณาการ งานสัมนาในวาระสำคัญครั้งนี้จึงเกิดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เชิดชู ‘ครู’ นักสู้ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยงานเขียน ต้นแบบคนสำคัญ ผ่านเรื่องราวชีวิตและผลงานเหนือกาลเวลาของ “ราชาเรื่องสั้นลูกทุ่งไทย” มนัส จรรยงค์ นักเขียนชาวเพชรบุรี ผู้มีอัตลักษณ์ในผลงานเด่นเป็นเอกลักษณ์ และได้รับการยกย่องจาก สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ให้เป็น 1 ใน 15 คน ของนักเขียนเรื่องสั้นดีเด่น เนื่องในวาระครบ 100 ปี เรื่องสั้นไทย เมื่อ พ.ศ. 2528 แม้เสียชีวิตมากว่าศตวรรษแล้ว แต่ผลงานยังได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง จากเรื่องแรกจนถึงปัจจุบันร่วม 95 ปี

 


ที่มา: www.siambook.net

 

มนัส จรรยงค์[2] เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2450 ณ จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้องรวม 10 คน ของ นายผ่อง และ นางเยื้อน จรรยงค์ เดิมบิดามีภูมิลำเนาแถวสะพานเจริญพาศน์ ธนบุรี รับราชการเป็นผู้ช่วยอัยการที่เรียกกันว่า “แพ่งอัยการ” ภายหลังไปเป็นทนายความอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. 2472 ได้เริ่มเขียนเรื่องสั้นชื่อ “สวรรค์ครึ่งเดือน” เป็นครั้งแรก ใช้นามปากกา “อ.มนัสวีร์” มีความหมายว่า “อ้อมผู้กล้าหาญ” แล้วส่งให้หนังสือพิมพ์เดลิเมล์วันจันทร์” แต่ ป.บูรณปกรณ์ ได้เปลี่ยนชื่อให้เป็น ‘คู่ทุกข์คู่ยาก’ ในเดือนมิถุนายน 2473 ในปีเดียวกันนั้นได้สมรสกับ อ้อม บุนนาค เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เข้าประจำกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ‘หลักเมือง’ และเขียนเรื่องรักโศกเล่มละ 10 สตางค์ โดยใช้นามปากกา “อ.มนัสวีร์” และ “ฤดี จรรยงค์” ทำงานในแวดวงนักเขียนนักหนังสือพิมพ์อยู่ช่วงหนึ่งก่อนออกไปรับหน้าที่เป็นผู้จัดการร้านค้าแบบสหกรณ์ที่ทัณฑนิคมจังหวัดยะลา หลังจากนั้นได้กลับมาทำหนังสือพิมพ์ ประชามิตร-สุภาพบุรุษ ก่อนย้ายประจำกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ‘นิกร’ กระทั่งเปลี่ยนชื่อเป็น ‘สยามนิกร’ ก่อนออกมายึดอาชีพเป็นนักเขียนอย่างเดียว

นามปากกาที่มนัสใช้คือ อ. มนัสวีร์, ฤดี จรรยงค์ และรุ่ง น้ำเพชร เขียนเรื่องสั้นมาไม่ต่ำกว่า 1,000 เรื่อง นวนิยายอีกประมาณ 20 เรื่อง เรื่องสั้น ‘จับตาย’ ได้รับการคัดเลือกจาก สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย แปลเป็นภาษาอังกฤษ และตีพิมพ์ในหนังสือ ‘ชุมนุมบทประพันธ์แห่งเอเชีย’ ของ สมาคมนักเขียนแห่งออสเตรเลีย, เมื่อ พ.ศ. 2501 เรื่องสั้น ‘ซาเก๊าะ’ ได้รับการคัดเลือกตีพิมพ์เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของกระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ  เมื่อ พ.ศ. 2528 สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้ยกย่องมนัส จรรยงค์เป็น 1 ใน 15 ของนักเขียนเรื่องสั้นดีเด่นเนื่องในวาระครบ 100 ปี เรื่องสั้นไทย นอกจากนั้น มนัส จรรยงค์ยังเป็นนักเขียนสารคดีที่มีความสามารถผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เขาคือเรื่อง ‘ข้าพเจ้าเป็นบ้าไป 36 ชั่วโมง’[3]

 


ที่มา: www.unclejobookshop.com

 

“ราชาเรื่องสั้น”  ครูมนัส จรรยงค์

ประเด็นสำคัญของการสัมมนาครั้งนี้มุ่งเน้นสาระเด่นจากผลงานดังของมนัส จรรยงค์ เชื่อมโยงกับหัวใจการจัดงาน (Theme) ใน “เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง” : ‘จากหนังสือ มนัส จรรยงค์ เรื่อง “ครูแก” สู่การจัดฉายหนังฟื้นตำนาน เพชรบุรี เมืองหนังกลางแปลง ริมแม่น้ำเพชรบุรี’  เมื่อ วันที่ 3 เมษายน 2567 ณ บ้านนักเขียน มนัส จรรยงค์ ก่อนจัดฉายหนังในวันเดียวกันช่วงกลางคืนริมน้ำ (บนถนนสายวัฒนธรรมย่านเมืองเก่าชุมชนคลองกระแชง จ.เพชรบุรี เส้นทางที่สะท้อนอัตลักษณ์ด้านศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น ได้โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัด) ผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ประกอบด้วย อาจารย์ทวีสิทธิ์ ประคองศิลป์, ผศ.ประทีป เหมือนนิล และ อาจารย์ชมัยภร บางคมบาง (แสงกระจ่าง) ดำเนินรายการโดย ประภังกร จรรยงค์ (ทายาทรุ่นหลานของ มนัส จรรยงค์) ประธานคณะกรรมการย่านชุมชนเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี

 

ประภังกร :  ทำไมถึงยกย่องเรียกท่านว่า ‘ครู’ ครับ

อาจารย์ชมัยภร : ที่เราเรียกครูมนัสเพราะว่าท่านเป็นนักเขียนที่อยู่ในระดับที่เราเรียกกันว่า “ราชาเรื่องสั้น” หมายความว่าเขียนหนังสือในระดับ ‘ราชา’ เลย คือมีเรื่องสั้นเป็นพันเรื่อง ท่านเสียชีวิตตั้งแต่ ปี 2508 จนถึงปัจจุบันปี 2567 งานเขียนของท่านบางเรื่องยังอยู่ในใจของผู้คน ยังอยู่ในตำราเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัย ของนักเรียนชั้นมัธยม ของนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ หมายความว่างานนั้นมีคุณภาพ อยู่ในระดับยอดเยี่ยม แล้วก็อยู่ในตำราเรียน เราจึงเรียก ‘ครู’ ค่ะ นักเขียนที่มีคุณภาพในระดับนี้เราจะเรียกครูทุกคน

ก่อนท่านเสียชีวิตดิฉันยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้อ่านงานท่านอยู่แล้วแต่อ่านน้อย ช่วงปี 2508 ท่านคงเขียนงานเยอะอยู่ ก็อ่านเท่าที่จะหาอ่านได้ในนิตยสาร สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ชาวกรุง เท่าที่เด็กอายุ 15 จะอ่านได้ แต่พอมาเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ (อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ก็ได้อ่านงานครูมาตลอดเลย ตอนนั้นไม่มีความรู้เรื่องประวัติของท่าน รู้เพียงว่าคนนี้ชื่อ มนัส จรรยงค์ บัดนี้ดิฉันอายุ 70 กว่าแล้ว งานท่านก็ยังอยู่ในใจของเรา และยังอยู่ในใจของนักเรียนรุ่นหลังอีกเป็นจำนวนมาก ไม่น่าแปลกใจเลยที่เราเรียกท่านว่า “ครูมนัส”

 

ผศ.ประทีป : ความจริงนักเขียนในเมืองไทยมีเยอะมากแต่วันนี้มีคนรู้จักอยู่ไม่มากที่เหลือก็ล้มหายตายจากไปชื่อเสียงก็หายไปหมด แต่มนัส จรรยงค์ ยังเป็นนักเขียนที่มีคนรู้จักอยู่ ผลงานยังมีพิพม์ใหม่อยู่เรื่อยๆ เมื่อครั้งจัดงาน 100 ปี มนัส จรรยงค์ ผมเคยเขียนบทความไว้เรื่องหนึ่งบอกว่า ปกติงานของคนอื่นเมื่อนานไปก็จะพ้นสมัย แต่งานของ มนัส จรรยงค์ นั้น เหมือนพระกรุเก่าคือยิ่งนานวันยิ่งมีค่า เพราะเป็นผลงานที่สะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อของคนบ้านนอกที่มีมายาวนาน และนับวันจะสูญหายไป แต่ยังมีบันทึกอยู่ในงานเขียนของ มนัส จรรยงค์ เพราะฉะนั้นต่อไปถ้าจะศึกษาสังคมไทยต้องกลับมาอ่านงานของมนัส เพื่อดูว่าสังคมไทยในอดีตเป็นอย่างไร มนัส จรรยงค์ ได้ชื่อว่าเป็น ‘ราชาเรื่องสั้นลูกทุ่งไทย’ ซึ่งทุกวันนี้ก็ไม่มีใครเขียนถึงความเป็น ‘ลูกทุ่ง’ ได้เท่ามนัส เพราะไม่มีใครทำงานต่อเนื่องยาวนานเหมือนมนัส

เพราะฉะนั้นไม่ว่าคนเพชรบุรีจะรู้สึกกับมนัสอย่างไร จะรักหรือไม่ชอบ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของมนัส จรรยงค์ จะคู่กับจังหวัดเพชรบุรีต่อไปอีกนานแสนนาน ไม่มีทางที่คนจะลืม เพราะชื่อเสียง มนัส จรรยงค์ ในฐานะที่เป็นคนเพชรบุรีเมื่อพูดถึงมนัสผู้คนจะนึกถึงเพชรบุรี เวลาพูดถึงเพชรบุรีคนก็จะนึกถึงว่ามีนักเขียนชื่อ มนัส จรรยงค์ ไม่มีทางปฏิเสธได้ และสิ่งที่พวกเราในฐานะที่เป็นคนสนใจวรรณกรรม อ่านหนังสือกันมาหลายสิบปี จนวันนี้คนที่อยู่บนเวที 3 คน รวมกันก็ร่วม 200 กว่าปีแล้ว เราเชื่อว่าไม่มีใครมาแทนความเป็น ‘ราชาเรื่องสั้นลูกทุ่งไทย’ ของ มนัส จรรยงค์ ได้ ไม่ว่ากี่ปีคนก็ยังจำได้และเรียก ‘ครูมนัส’ เหมือนที่ คุณอ้อม จรรยงค์ ภรรยาของท่านเรียก ‘ครูนัส’ มาตลอดชีวิต ความเป็นครูขอมนัสนั้นไม่ได้เกี่ยวกับสอนหนังสือ แต่เพราะมีเรื่องสั้นชั้นครูเป็นผลงานจริงๆ ครับ

 


ที่มา: www.thaibookfair.com

 

‘ราชาเรื่องสั้นลูกทุ่งไทย’

ปภังกร : ท่านอาจารย์ทวีสิทธิ์เป็นผู้เขียนเกี่ยวกับหนังสือของคุณลุงชื่อ “ตำนานชีวิตราชาเรื่องสั้น มนัส จรรยงค์ เทพบุตรสวนอักษรจากลุ่มน้ำเพชรบุรี” (สารคดีประวัติชีวิตและรวมเรื่องสั้น 15 เรื่อง) ผมประทับใจที่อาจารย์เน้นความเป็นนักเขียนลุ่มน้ำเพชรบุรีชัดเจน ทำไมอาจารย์ถึงอยากทำเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น หรือแนวสารคดีครับ

อาจารย์ทวีสิทธิ์ : ชีวิตของครูมนัสเป็นชีวิตที่ทั้งสุขทั้งทุกข์ ผจญภัยมาไม่รู้เท่าไหร่ ต้องหนีกระเจิดกระเจิงแทบจะเอาชีวิตไม่รอด สาเหตุที่ผมเขียนหนังสือเรื่องนี้ขึ้นมา มันเกิดความบันดาลใจเมื่อครั้งครบรอบ “100 ปี  มนัส จรรยงค์” จัดขึ้นที่ โรงเรียนคงคาราม (ปี 2550) ช่วงนั้นอาจารย์ประทีปกับอาจารย์ชมัยภรก็ไปด้วย และอีกหลายคนทุกคนพูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ของมนัส จรรยงค์ จากช่วงเริ่มต้นก่อนที่จะมาเป็นนักเขียนจนได้ชื่อว่าเป็น ‘ราชาเรื่องสั้น’ ช่วงนั้นผมยังไม่รู้ประวัติท่านอย่างลึกซึ้ง เผอิญอาจารย์ประทีปท่านเคยถามว่า “ทำไมคนเพชรบุรีรู้จักแต่ปู่เย็น ทำไมไม่รู้จัก ครูมนัส จรรยงค์” (เพราะเป็นช่วงที่ ‘ปู่เย็น’ ดังมาก) ทั้งที่ครูมนัสเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่มากในแวดวงวรรณกรรมไทยสมัยนั้น อาจารย์อยากให้รื้อฟื้นชีวิตของครูมนัสขึ้นมา เพื่อให้คนเพชรบุรีได้รับทราบว่าครูมนัสเป็นนักเขียนระดับ master  ท่านบอกว่าคนที่เหมาะสมจะเขียนมากที่สุดคือผม ทวีสิทธิ์ เพราะเป็นคนเพชรบุรีน่าจะเขียนได้ดี เพราะรู้ซึ้งในเรื่องราวจังหวัดเพชรบุรีด้วย

ผมก็เลยต้องค้นคว้าใช้วิธีสอบถามจากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ อย่างเพื่อนสนิทที่เป็นรุ่นน้องของครูมนัสคือ อาจารย์ประสิทธิ์ ธีรนันท์ ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว เอาต้นฉบับมาให้ผมบอกว่า ครูมนัสเคยมาคุยกับแกที่บ้านช่วงนั้นอายุยังน้อย แล้วก็ได้ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ของอาจารย์ประทีป สอบถามเพิ่มเติมจากอีกหลายคน ส่วนใหญ่จะบอกว่า รู้จักมนัสคนที่พาป้าอ้อมลูกสาวผู้ว่าฯ ไป แต่ไม่รู้จักว่าเป็นนักเขียน สะเทือนเลื่อนลั่นมาก ผมก็เลยได้มาเขียนเป็นหนังสือ แต่ก็อาจจะยังไม่สมบูรณ์นักเพราะบางตอนอาจขาดตกบกพร่อง แต่ผมก็พยายามเขียนให้ดีที่สุด หาข้อมูลเพิ่มหลายเดือนกว่าจะเป็นรูปเล่ม พรรคพวกเห็นว่าน่าจะขายได้เลยพิมพ์ให้ผม ปรากฏว่าขายได้จริงๆ กลายเป็นว่าคนรู้จักชื่อผมเพราะหนังสือครูมนัสเล่มนี้แหละครับ เพราะผมไม่เคยเขียนสารคดี ผมไปปรึกษา คุณวัฒน์ วรรลยางกูร แนะนำให้ผมได้ความรู้ก็จากงานนี้ เล่มนี้พิมพ์มานานแล้วเสียดายว่าน่าจะมีพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 เพื่อให้คนรู้จัก มนัส จรรยงค์ มากขึ้นกว่านี้ครับ

 


ที่มา: www.siambook.net

 

ปภังกร : ในส่วนตำนานรักที่อาจารย์ทวีสิทธิ์เขียน กับหนังสือเรื่องแรกที่ผมศึกษาประวัติคุณลุงด้วย ตอนแรกท่านตั้งชื่อว่า “สวรรค์ครึ่งเดือน” เหมือนตำนานชีวิตของท่าน อาจเขียนไว้ก่อนแล้วสุดท้ายไปคล้ายกันแบบนั้น … ชีวิตคุณลุงตอนที่ท่านอาจารย์ชมัยภรมาทำ “โครงการตามรอย มนัส จรรยงค์” หรือพูดถึงตอนไปจวนเจ้าเมือง คงเกี่ยวเนื่องกับตอนที่อาจารย์ทวีสิทธิ์พูดว่า “เข้าไปคุยกับลูกสาวเจ้าเมือง” เป็นยังไง ช่วยเล่าช่วงที่อาจารย์ได้ศึกษาครูมนัสหน่อยครับ

อาจารย์ชมัยภร : ขออนุญาตไม่พูดถึงประวัติชัดเจนมาก เพราะดิฉันไม่ใช่คนเพชรบุรี ไม่ใช่คนที่ศึกษาแต่เคยอ่านหนังสือของ ย่าอ้อม กับประวัติ มนัส จรรยงค์ เชื่อว่าถ้า มนัส จรรยงค์ ไม่ได้พาย่าอ้อมหนีไปจะไม่มีผลงานแบบนี้เลยค่ะ ที่ตั้งอยู่ข้างหน้านี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงาน มนัส จรรยงค์ จากเรื่องสั้นกว่าหนึ่งพันเรื่อง มีรวมเรื่องสั้น 9 เล่ม คัดเอาเรื่องที่คนรุ่นใหม่ยังอ่านอยู่ เป็นงานที่พิมพ์หลังจากหมดอายุลิขสิทธิ์แล้ว เป็นธรรมดาที่สำนักพิมพ์จะพิมพ์งานของนักเขียนคนไหนก็ได้ที่เขาจะเลือกพิมพ์ ถ้าเขาเลือกงานของ ครูมนัส มากขนาดนี้แปลว่า มนัส จรรยงค์ ยังอยู่ในสังคมไทย

ประวัติชีวิตของครูก็ดี ตัวผลงานของครูก็ดี มีความเกี่ยวข้องกันแน่นอน ถ้าไม่เกี่ยวข้องกันจะไม่สามารถสร้างงานออกมาเป็นแบบนี้ได้ แล้วครูทำไมต้องเขียนเยอะขนาดนี้ เพราะว่าถ้าไม่เขียนเยอะขนาดนี้ครูก็จะไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ มันเป็นแรงผลักดัน เขียนเพื่อที่จะมีรายได้ เขียนได้เท่าไหร่ให้ครอบครัวหมด แต่แน่นอนที่สุดครูก็มีจุดอ่อนตรงกินเหล้าด้วย เราก็จะเข้าใจแล้วว่าทำไมครูถึงสร้างงานได้เป็นพันกว่าเรื่อง นอกจากมาจากแรงบีบคั้นเพราะความรับผิดชอบแล้ว หัวใจของครูที่มีความเป็นนักเขียนด้วย หัวใจที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ครูเป็นคนที่มีอารมณ์มากนะ ไม่ว่าจะหยิบจับอะไรมาเขียนครูมีอารมณ์ข้างในเยอะ การที่ครูเขียนถึงวัวชนตัวหนึ่ง ครูมองทะลุเข้าไปถึงหัวใจของวัว (เรื่อง “ซาเก๊าะ”) หัวใจของมนุษย์ก็ยังพอเข้าใจได้ แต่มองทะลุหัวใจวัวนี่มันสุดๆ แล้ว ทำให้เราอยู่ข้างวัวได้ยังไง

เมื่อเขียนเยอะขนาดนี้ผลักดันจากนักดนตรีให้กลายเป็นนักเขียน จาก “สวรรค์ครึ่งเดือน” (เรื่องสั้นเรื่องแรกเขียนในปี 2472 ใช้นามปากกา “อ.มนัสวีร์” มีความหมายว่า “อ้อมผู้กล้าหาญ”) กลายเป็นสวรรค์มากมาย  หรือบางส่วนอาจกลายเป็น ‘นรก’ ด้วยซ้ำไป แต่ผลงานเหล่านี้มีความหมายในเชิงของอักษรศาสตร์มาก เพราะมีสุนทรียในวรรณศิลป์เยอะมาก เราลองไปอ่านหนังสือออนไลน์ของน้องๆ รุ่นใหม่ที่เขียนกันอยู่ตอนนี้ ไม่ได้หมายความว่าเขาเขียนไม่ดี แต่หมายถึงว่าเขาเขียนแบบไหน เราอ่านดู มันคนละโลกเลยกับงานของครูมนัส ในขณะที่คนรุ่นใหม่มีความพร้อมในการที่จะพูดให้เร็วที่สุด ตัดฉากทิ้งไปให้หมด ใช้บทสนทนาต่อเนื่องกันเพื่อจะบอกว่าเกิดอะไรขึ้น

 


ที่มา: www.bookeden.org

 

ต้นแบบที่ดีที่สุดที่ครูมนัสเป็นก็คือตัวอย่างของการเขียนเรื่องสั้นแบบคลาสสิค ต้องเน้นว่าแบบคลาสสิคด้วย เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้วตอนนี้ คนอื่นอาจไม่เล่าเรื่องแบบนี้ ถ้าถามว่าแบบคลาสสิคเราจะเอาใครเป็นครู สามารถยกตัวอย่าง มนัส จรรยงค์ ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ได้หมด งานของครูค่อยๆ ปูพื้น ค่อยๆ บอกไปทีละนิด ถามว่า “จับตาย” ก็ดี  “ซาเก๊าะ” ก็ดี  “ท่อนแขนนางรำ” ก็ดี ทำไมสามสี่เรื่องนี้ยังยืนยงอยู่ในแวดวงวรรณกรรม เพราะทันทีที่คุณเปิดอ่านจะรู้ได้เลยว่าเกิดขึ้นที่ไหน เรื่องอะไร ภาษาที่ครูบรรยายฉากแต่ละเรื่องยืนยันรับรองได้ว่าน้องๆ รุ่นใหม่ตื่นเต้นแน่นอนถ้าได้อ่าน นี่คือวิธีในการบรรยายฉาก ความงามในเรื่องภาษาก็สุดยอดนะคะ ถามว่าครูเรียนอักษรศาสตร์เหรอ ไม่ใช่ แต่ครูก็ได้รับการศึกษาในระดับที่ดี คนสมัยก่อนจบ ม. 8 นี่ถือว่าสุดยอดแล้วนะ เขียนหนังสือได้สุดยอดด้วย ไม่ใช่แค่การใช้ภาษาอย่างเดียว แต่ครูมนัสมีหัวใจที่เต็มไปด้วยเรื่องของความมีมนุษยธรรม มีศีลธรรม ปรากฏอยู่ในเรื่อง แสดงให้เห็นว่าจิตใจของครูเป็นคนที่อ่อนโยนขนาดไหน

ครูเขียนเรื่อง “ซาเก๊าะ” เพื่อที่จะบอกว่าวัวชนเขามีหัวใจของเขา ความโลภของมนุษย์เข้าไปย่ำยีหัวใจของวัวชนอย่างไร แล้วครูยังมีความทันสมัยของยุคสมัยอีกนะ ก็คือครูหักมุมจบ ครูเขียนให้เราตามเรื่องไปน้ำตาไหลไปแต่มีหักมุมจบมันสอดคล้องกับยุคมากนะคะ หรือบางเรื่องอย่าง “ท่อนแขนนางรำ”[4] ทุกวันนี้เด็กยังมาถามอยู่เลยว่า ทำไมคนนี้เขาต้องทำแบบนี้ เขาเอามาจาก “ไอ้ค่อม” หรือเปล่า? (ไอ้ค่อมแห่งโนตเตรอะดาม - The Hunchback Of Notre Dame)[5] เพราะเด็กรุ่นใหม่เขาอ่านเรื่องของต่างประเทศ เราก็ถามย้อนกลับไป “แล้วมันเหมือนไอ้ค่อมไหมล่ะ เป็นความคิดเดียวกันได้ไหมล่ะ?” ครูคงไม่ได้ไปดูโอเปราเรื่องไอ้ค่อมมาแน่นอน แต่ครูเข้าใจเรื่องดนตรี ทำไม ‘อ้ายโหงด’ ต้องตัดแขน ‘ผกา’ (ลูกบุญธรรมของพ่อที่ตนหลงรัก) ไปใส่ไว้ในกลอง เพื่อตีกลองแล้วรู้สึกได้อยู่ใกล้ชิดกับผกาตลอดเวลา เป็นเรื่องที่เด็กต้องถามอยู่ตลอดว่า “ครูขาเขาเป็นโรคจิตหรือเปล่า?” แต่ว่าเราสามารถตีความได้ มีความลุ่มลึกบางอย่างที่ปรากฏอยู่ในงานวรรณศิลป์

ของ ครูมนัส จรรยงค์ มีหัวใจที่ยืนอยู่ข้างคนที่เสียเปรียบ หรืออาจเป็นคนยากไร้ เป็นผู้หญิงที่ถูกกระทำ ฯลฯ ให้เราได้คิดด้วย ไม่ใช่พออ่านจบไม่มีอะไรต้องคิดต่อ

 


ที่มา: www.lungkitti.com

 

เรื่อง “จับตาย”[6] ทุกวันนี้ผู้คนยังถามอยู่เลยว่าทำไมเอาไปทำหนังแล้วถึงเปลี่ยนตอนจบ เพราะเรื่องของครูเศร้าเกินไปพอ พร ตายคนก็ห่อเหี่ยวไปหมดเลย หนังรักสามเส้าแต่เวลาเราอ่านหนังสือจะรู้เลยว่า แม้ว่าพรจะตายแต่เราเห็นอารมณ์สำนึกความรู้สึกของผู้คุม ซึ่งเขารู้สึกเป็นห่วงนักโทษคนนี้มาก เห็นภาพนักโทษสมัยก่อนที่ไปชายแดนภาคใต้ แม้ปัจจุบันเป็นชายแดนภาคใต้เหมือนเดิม แต่ป่าไม่เหมือนเดิม ป่าสมัยก่อนเป็นแสนไร่นักโทษไม่ต้องเข้าห้องขัง ครูจะเล่าให้เราฟังจนกระทั่งเห็นภาพของยุคสมัย ไม่ใช่เห็นความมีมนุษยธรรมอย่างเดียว แต่ยังเห็นภาวะทางอารมณ์ของตัวผู้เขียนที่มีต่อตัวละครในเรื่องที่ส่งมาถึงเราอย่างชัดเจนมาก ดูห่างไกลตัวนะเพราะมีครูเป็นผู้เล่าอยู่เสมอ

แต่เรื่องใกล้ตัวครูมากๆ กลายเป็นเรื่องที่สะท้อนภาวะความเป็นมนุษย์อย่างชัดเจนที่สุด ก็คือเรื่องเกี่ยวกับความยากจนของครู ดิฉันอ่านเรื่องการไปส่งต้นฉบับทีไรน้ำตาร่วงทุกที อย่างเรื่อง “แม่ยังไม่กลับมา” เราอ่านแล้วลุ้นผู้หญิงที่ใส่กระโปรงสีแสดกับเสื้อขาว กลับมาหรือยัง เห็นเป็นภาพหมดเลย เขียนราวกับว่าตัวเองเรียนมาเป็นจิตรกร หรือเรื่อง “ใกล้อวสาน” ดูจะ Happy Ending หน่อยนะ แต่เห็นภาพครูเดินอยู่ในนั้นเลย มีภาวะความเป็นมนุษย์ ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนด้วยอาชีพการเป็นนักเขียน ซึ่งครูแสดงภาพไว้ชัดเจนมาก

เรื่องหลายเรื่องที่ครูเขียนออกมามันแสดงยุคสมัยไปพร้อมกัน เหมือนอย่างที่อาจารย์ประทีปพูดมันแสดงความเป็นมนุษย์ในสมัยนั้น แสดงสภาพสังคมในสมัยนั้น แล้วสภาพสังคมเหล่านั้นปัจจุบันมันไม่มี อาจจะมีแต่ไปซ่อนอยู่ตรงไหนไม่รู้ แต่เราสามารถค้นได้จากงานของครู เราดู พ.ศ. ที่เขียนเรื่อง ดูสภาพแวดล้อมที่เขียนเรื่อง เราดูบุคลิกลักษณะตัวละครได้หมดเลย เพราะนี่คือบันทึกประวัติศาสตร์สังคมส่วนหนึ่ง ที่ครูได้ทำไว้ให้เรา ทำไว้ให้น้องๆ ที่อยู่ข้างหลังได้อ่าน แล้วได้รู้จักสังคมไทยอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง

ดิฉันตื่นเต้นมากหลังจากที่ได้ซื้อหนังสือชุดนี้มา พบว่าครูเขียนเรื่องสั้นครูเพลิดเพลินมา ครูก็เลยเขียนถึง “ศรีบูรพา” และ พรานบูรพ์ ซึ่งไปกินเหล้าด้วยกันเป็นตัวละครอยู่ในเรื่องสั้นชุด “ชายเฟือย” ปีนี้ดิฉันเป็นประธาน กองทุนศรีบูรพา อยู่ (แต่ปีที่จัด “100 ปี มนัส จรรยงค์” ยังคงเป็น นายกสมาคมนักเขียน ปี 2550-2554) ไม่เคยเห็นงานชิ้นนี้ค่ะ หรือเคยอ่านตอนเด็กๆ ก็ลืมไปแล้วไง พอมาได้อ่านศรีบูรพากินเหล้าตื่นเต้นมากเลย มีรายละเอียดที่ทำให้เรารู้ว่านี่คือบันทึก แล้วเป็นบันทึกที่ทำให้เห็นภาพชีวิตจริงๆ ครูมนัสกับศรีบูรพาเจอกันที่ร้านอาหาร โต๊ะกินเหล้า มีรายละเอียดที่บอกเราว่านี่คือมนุษย์จริงๆ นี่คือความเป็นมนุษย์ และ ครูมนัส จรรยงค์ ได้สร้างความเป็นมนุษย์ให้เราได้เห็นชัดเจนตั้งแต่หัวจรดเท้าค่ะ

 


ที่มา: www.kledthai.com 

 

ปภังกร : จากที่ท่านอาจารย์ประทีปได้ทำการวิเคราะห์บทวรรณกรรมในหลายๆ ด้าน ตามที่ท่านอาจารย์ชมัยภรบอกว่างานคุณลุงมีการหักมุมตอนจบ มีอะไรที่อาจารย์อยากจะพูดคุยเพิ่มเติมต่อไหมครับ

ผศ.ประทีป : ถ้าพูดถึงมนัส จรรยงค์ เราพูดกันได้เป็นวัน ผมไม่ใช่คนเพชรบุรี แต่ผมตามเรื่องราวของ มนัส จรรยงค์ มาจนถึงวันนี้ก็ 50 ปีแล้ว เริ่มแรกเมื่อปี 2520 จริงๆ สมัยนั้นว่าจะเอางานครูมนัสมาทำการบ้านส่งเพื่อให้จบปริญญาโท แต่พอทำวิทยานิพนธ์ลงมืออ่านหนังสือตามข้อมูลมนัสมา ขอสารภาพว่าหลงเสน่ห์มาก ชีวิตของครูสนุกกว่านิยายของ มนัส จรรยงค์ ซะอีก เพราะฉะนั้นผมใช้เวลาเกือบ 50 ปี ในการไปในทุกที่ ที่จะสามารถหาแหล่งข้อมูลได้ ผมมาเพชรบุรีเป็นสิบครั้ง มาเรื่อง  มนัส จรรยงค์ อย่างเดียวไม่ได้มาเที่ยวเลย ผมไปหาคุณอ้อมที่ซอยศุภราชเป็น 10 ครั้ง จนเกือบจะกลายเป็นลูกชายคนเล็กไปแล้ว ผมไปตามหาพี่ นิยม จรรยงค์ ที่กรุงเทพฯ ไปตามหา ยศ วัชรเสถียร เพื่อนร่วมรุ่นบ้านสมเด็จฯ ไปทุกที่ที่คิดว่ามีข้อมูล แล้วก็ได้พบข้อมูลมากมาย เกินกว่าที่จะคุยกันในเวลาสั้น ๆ เราไม่มีเวลาคุยรายละเอียด ผมหวังว่าคนเพชรบุรีจะได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ยังมีข้อมูลอีกเยอะครับ ข้อมูลชั้นต้นวันนี้ล้มหายตายจากกันไปหมดแล้ว

พี่สุทธยาน้องคนเล็ก (มนัสเป็นพี่คนโต สุทธยา จรรยงค์ เป็นคนที่ 10 สุดท้องในพี่น้องทั้งหมด 10 คน ) ซึ่งสืบสานงานของมนัส เกิดไม่ทันกัน ตอนที่เกิดมนัสอายุ 27 ปี แล้ว สมัยเด็ก ๆ พี่นิยม (นิคม จรรยงค์ น้องคนที่ 6) เป็นคนวิ่งรับส่งจดหมายไปให้คุณอ้อมที่จวนผู้ว่าฯ จากคุณอ้อมไปหามนัส จากมนัสไปหาคุณอ้อม มีข้อมูลมากมาย แต่ข้อมูลที่ทำให้คนเข้าใจในความเป็นมนัสน่าจะอยู่ที่บันทึกของ คุณอ้อม จรรยงค์ เล่มที่เอามาพิมพ์เผยแพร่กันใน ฟ้าเมืองไทย ชื่อ “บันทึกของ อ้อม จรรยงค์ (บุญนาค)” พี่อาจินต์เอามาพิมพ์ (อาจินต์ ปัญจพรรค์ บรรณาธิการ นิตยสาร ฟ้าเมืองไทย) ต้นฉบับเดิมของคุณอ้อมตั้งชื่อว่า “ชีวิตทั้งหวานและขมของ อ้อม จรรยงค์ (อ้อม บุญนาค)” ผมคุยโม้ได้ว่าเป็นคนแรกที่มีโอกาสอ่านต้นฉบับร่างแรกของหนังสือชุดนี้ หลังจากที่ผมแวะเวียนไปคุยกับคุณอ้อมหลายครั้ง พยายามเลียบเคียงถามเรื่องชีวิตรักว่าเป็นยังไงกันแน่ คุณอ้อมก็ไม่ค่อยตอบ ผมก็บอกว่า “ทำไมแม่ไม่เขียนเรื่องตัวเองบันทึกไว้บ้างล่ะ ผมจะได้มีโอกาสอ่านด้วย” คุณอ้อมหลุดปากมาคำหนึ่งว่า “เขียนแล้ว จะเอาไว้พิมพ์งานศพ”

ผมขออ่านต้นฉบับ คุณอ้อมหยิบฉบับพิมพ์ดีด 29 หน้า มาให้  ขอยืมกลับมาอ่านคุณอ้อมก็ให้มา วันเอามาคืนผมก็บอกว่า “แม่มันสนุกมากเลย แต่มันน่าจะเติมอะไรต่ออะไรได้อีกเยอะเลย เพราะ 29 หน้าเขียนเล่าไปเรื่อย ทำไมแม่ไม่แบ่งเป็นบท วัยเยาว์ วัยสาว วัยรัก” ตอนนั้นคุณอ้อมน่าจะสนุกก็เลยไปปรับปรุงใหม่ จาก 29 หน้า เพิ่มมาเป็น 66 หน้า เสร็จแล้วให้พี่อ้อมน้อย(อ้อมน้อย จรรยงค์ บุตรสาว) โทรมาบอกว่า “แม่แก้แล้ว” จากลพบุรีผมก็มารับไปถ่ายเอกสารไว้ ตอนเอากลับมาคืนผมบอก “แม่ พิมพ์ได้ สนุก”   ขอขยับตรงนั้นอีกนิด ขยายตรงนี้อีกหน่อยก็แนะนำไป หลังจากนั้นไม่นานพี่มนู (มนู จรรยงค์ บุตรชาย) ก็เอาไปให้พี่อาจินต์ลง ฟ้าเมืองไทย

ต้นฉบับ 66 หน้าก่อนมานี่ผมไปรื้อในตู้ ปรากฏว่าเอกสารที่เก็บไว้ 40 ปี เป็นสีน้ำตาลแล้ว ผมเอาไปถ่ายเอกสารใหม่เป็นต้นฉบับทั้ง 66 หน้า ก่อนเอามาไว้ที่บ้าน มนัส จรรยงค์ วันนี้ เป็นต้นฉบับที่คุณอ้อมพิมพ์เอง มีลายมือเพิ่มเติมบ้าง บ้านที่กรุงเทพฯ ก็ไม่น่ามีใครเก็บไว้ พี่มนูก็ไม่น่าเก็บ อันนี้จึงเป็นต้นฉบับประวัติศาสตร์ เป็นข้อมูลที่คุณอ้อมบันทึกถึงมนัสที่จริงสุด ชัดสุด ปัญหาที่คนเคยพูดกันว่า คุณอ้อมตาม มนัส จรรยงค์ ไป มนัส จรรยงค์พาคุณอ้อมหนีไป มันมีเหตุผลชัดเจนอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ถ้าใครได้อ่านจะพบว่ามันเป็นเหตุเป็นผลมาก เป็นเรื่องธรรมดามากของผู้หญิงคนหนึ่งที่หลงรักครูสอนดนตรี คุณอ้อมจึงเรียกมนัสว่า “ครูนัส” ด้วยความเคารพนับถือ ถึงแม้ชีวิตจะยากลำบากมาก เรื่องนี้คุยกันได้อีกยาวไว้มีเวลานานๆ ค่อยคุยกันต่อ

 


ที่มา: www.siambook.net

 

ส่วนเรื่องผลงานของมนัสมีเยอะ ที่ไม่ดีก็มีเยอะ อ่านแล้วไม่ค่อยดีเห็นชัดว่าไม่ค่อยประณีต แต่ถ้าใครเข้าใจชีวิตมนัสจะรู้เลยว่า เป็นไปได้ ในวันที่จนตรอก ในวันที่ไม่มีงานไม่มีเงินติดบ้านแล้ว มันต้องเขียนแล้ว ยังไงก็ต้องเขียน ดีไม่ดีก็เอาไปขายมีเพื่อนฝูงเห็นใจก็รับไว้ เพราะฉะนั้นถ้าไปอ่านงานมนัส จะเห็นว่ามีหลายเรื่องที่เรื่องเดิมแต่มีชื่อมากกว่าหนึ่งชื่อ แปลว่าเมื่อเข้าตาจนก็คว้าเอาเรื่องที่เขียนไปแล้วมาเปลี่ยนชื่อเรื่องใหม่แล้วเอาไปขาย ใครตามชีวิตมนัสจะพบว่ามันเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก มนัสมีเรื่องที่เป็นจุดอ่อนอยู่เรื่องเดียวคือ เวลาเมาแล้วหยุดไม่ได้  พอเมาแล้วเงินทองก็ใช้หมด เมาแล้วหยุดไม่ได้ต้องกินต่อยาว เมาแล้วก็เขียนหนังสือไม่ได้ เป็นจุดอ่อนที่สุดทำให้ชีวิตระหกระเหิน ตกระกำลำบากกันมาก

มีข้อมูลเล็กๆ ไม่รู้ปภังกรรู้หรือเปล่าว่ามีลูกสาวเล็กคนหนึ่งของ มนัส จรรยงค์ อยู่หลังเรือนจำ (คุณโฟล์คตอบว่าทราบครับ) พี่สุทธยาเล่าให้ฟัง ผมก็ตามไปเจอเธอชื่อ ชมนาด เล่าให้ฟังว่าเคยไปอยู่กับมนัสตอนเรียน ป.3 ผมถามว่าทำไมไม่อยู่กับมนัสเลยล่ะ ตอบว่าอยู่ไม่ไหวลำบาก บางวันทั้งบ้านมีปลาทูตัวเดียว ก็เลยกลับมาอยู่กับแม่ที่เพชรบุรี ชมนาดให้รูปถ่ายผมมาใบหนึ่งหน้าละม้ายมนัสมาก เอารูปแม่บุญช่วยที่คุณอ้อมเขียนถึงมาให้ดูว่าหน้าตาเป็นยังไง ก็เป็นเกร็ดชีวิตของมนัสครับ

ส่วนงานเขียนที่ดีเพราะเขียนจากประสบการณ์ตรงในชีวิตของตัวเอง  มนัส จรรยงค์ ในวันที่มาอยู่เพชรบุรีเป็นครูดนตรีไทย ก็เป็นหัวโจกเที่ยวทั่วเมืองเพชรนี่แหละ คุณอ้อมเล่าให้ฟังว่ามี ‘มนัสก๊วน’ อยู่ 6-7 คน ถีบจักรยาทั่วไปหมด คุณอ้อมไปหาดเจ้าสำราญก็ตามไป ประสบการณ์จากการเที่ยวจึงเอามาเขียนได้เยอะแยะ เรื่องสั้นชุด “ผู้เฒ่าทั้งหลาย”  สะท้อนชีวิตแก่ๆ ในสังคมไทยไม่ใช่เฉพาะเพชรบุรี ผมว่าเป็นคนแก่ภาคกลางทั้งหมด เพราะแถวบ้านผมก็มีอาการประมาณนี้แหละ ผู้เฒ่าที่มีปรัชญาชีวิตว่า “เล็กๆ ให้พ่อแม่เลี้ยง เป็นหนุ่มให้เมียเลี้ยง พอแก่ให้ลูกหลานเลี้ยง” สรุปว่าพวก “ผู้เฒ่าทั้งหลาย” จะไม่ทำมาหากินอะไร วันๆ ก็คุยกันไป เล่นกันไป สนุกสนานกันไป แต่มันสะท้อนชีวิตคนไทย คุณอ้อมบอกว่าเรื่องชุดนี้เอาไปขายใครก็ไม่มีใครซื้อ เพราะเป็นเรื่องไม่ค่อยดี ราคาก็ถูก แต่วันนี้กลับเป็นเรื่องยอดนิยม สะท้อนสังคมไทยชัดเจนมาก ชุดนี้ถือว่าเป็นสุดยอดไปอ่านกันนะ

ในเรื่อง “จับตาย” ผมเคยถามคุณอ้อมว่าฉากในเรื่องจริงๆ แล้วเป็นแบบนี้ไหม เล่าว่าเคยนั่งช้างเข้าไปที่ทัณฑสถานแบบนี้เลยเพราะฉะนั้นฉากในเรื่องกับของจริงนี่เรื่องเดียวกัน เล่าจากประสบการณ์งานของมนัสจึงเข้าถึงชีวิตของผู้คน แล้วจึงเข้าถึงจิตวิญญาณของคน

 


ที่มา: www.LuukAod.com  

 

ปภังกร : ท่านอาจารย์ทวีสิทธิ์ได้ทำหนังสือรวมชีวิตกับผลงานของคุณลุงเป็นสารคดีมีความคิดเห็นของอาจารย์รวมอยู่ในพาร์ทของเรื่องสั้นด้วย ขอช่วยเล่าหน่อยครับ

อาจารย์ทวีสิทธิ์ : เป็นสารคดีเรื่องแรกที่ผมเขียนเพราะฉะนั้นขอสารภาพว่าตอนนั้นเกิดไม่ทันแล้วก็ไม่ได้สนใจวรรณกรรมนัก ช่วงที่ผมเรียนหนังสืออยู่ประมาณปี 2501-2502 มีการแข่งขันฟุตบอลผู้อาวุโสที่หน้าวัง ช่วงนั้นผมเป็นลูกเสือครูให้ไปยืนอยู่ขอบสนาม มีคนหนึ่งรูปร่างใหญ่โตตัวดำเล่นเป็นกองหลัง ผมก็ยืนอยู่หลังประตู พอช่วงพักคนนี้เดินมาหาผมแล้วบอก “ไอ้หนูไปเอาน้ำมาให้ดื่มหน่อย” ผมก็ไปเอาให้แม้ไม่รู้ว่าคือใคร เขาดื่มแล้วชมเชยด้วย ผมยังเด็กมากไม่ได้เขียนหนังสืออะไรเลย แต่ก็จำได้ว่าเคยเจอคนนี้แล้ว ตอนเรียนสูงขึ้นผมมาเห็นรูปเห็นผลงานถึงรู้ว่าได้สัมผัสกับ มนัส จรรย์ยง

ได้อ่านหนังสือ “จับตาย”[7] ทำให้รู้ว่าคนเพชรบุรีเป็นนักเขียน เลยเป็นแรงบันดาลใจว่าผมน่าจะลองเขียนหนังสือบ้าง ทำให้ผมมีพลังในการเขียนหนังสือ ยิ่งมาได้การสนับสนุนจากอาจารย์ประทีปด้วยเลยคิดว่าน่าสนใจน่าลองดู อาจารย์เป็นคนลพบุรียังรู้เรื่องครูมนัสมากกว่าคนเพชรอีก แล้วเราคนเพชรทำไมไม่หาความรู้บ้าง เลยค้นคว้าหาข้อมูลมาทำหนังสือ แต่ละเรื่องที่ครูมนัสเขียนมันกินใจซึ้งใจคนอ่านมาก ช่วงที่ผมศึกษาวรรณกรรมทำให้เห็นว่าการอ่านเรื่องสั้นของแต่ละคนมันให้อะไรเราเยอะมาก งานของครูมนัสไม่เหมือนของคนอื่นมันเหมือนชีวิตจริงของท่านเลย บางเรื่องผมต้องหยุดอ่านเพราะผมคนใจอ่อนรู้สึกสะเทือนใจมาก อย่างเรื่องส่งต้นฉบับ “แม่ยังไม่กลับมา” พอกลับมามีแต่ซองไม่มีเงินเลย แล้วทั้งบ้านเหลือเงินอยู่ไม่กี่บาท ท่านเอาชีวิตจริงมาเขียน สมัยก่อนนักประพันธ์ไส้แห้ง แม้กระนั้นท่านก็ยังเขียนหนังสือช่วยเพื่อน มอบให้กับ ยาขอบ เพื่อนถึงได้รักท่านมาก

 


ที่มา: www.SE-ED.COM

 

ปภังกร : ช่วงนี้เรามีเทศกาลหนัง มีการแสดงทั้งหนังใหญ่หนังตะลุงด้วย คุณลุงได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับหนังตะลุงชื่อ “ครูแก” ไว้ มีการนำไปสร้างเป็นหนัง(ภาพยนตร์)ด้วย ขออาจาย์ชมัยภรพูดถึงเรื่องสั้นเรื่องนี้สักนิดครับ

อาจารย์ชมัยภร : เรื่อง “ครูแก” อยู่ในตระกูลเดียวกับ “ท่อนแขนนางรำ”  “สีดา” ฯลฯ คือตระกูลลึกลับ ครูมนัสเล่นกับหัวใจของความเป็นมนุษย์หัวใจของความเป็นมนุษย์ที่เป็นเส้นชีวิตครูมาตลอดคือ ความรัก เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ครูเขียนเรื่องความรัก จะมีเรื่องของความตาย การทุ่มเทให้ความรักสุดชีวิต แล้วมีบางอย่างที่ออกมาเหนือการรับรู้ตามปกติ ในเรื่อง “ครูแกหนังตะลุง” ครูมนัสได้เอาความเป็นนายหนังเพชรบุรีเข้าไปใส่ เมื่อก่อนตอนที่ดิฉันอ่านเรื่องนี้ก็ยังไม่มีภาพจำ แต่พอมาอ่านอีกทีเอ๊ะที่เคยรู้มาว่าเป็นตะลุงทางใต้ ปรากฏไม่ใช่ เป็นของเพชรบุรีจริง ๆ ครูแก เป็นนายหนังซึ่งมีความรักต่อ พยอม แต่ถูกกีดกันสุดชีวิต เหมือนชีวิตจริงของครูที่ถูกกีดกันสุดชีวิตเหมือนกัน แล้วครูมนัสก็ถ่ายทอดเอาความรู้สึกของ ครูแก ออกมาสุดพลัง แต่ว่าเวลาที่ถ่ายทอดออกมาสุดพลังนั้นจะถ่ายทอดผ่านกระบวนการของงานศิลปะ วิธีการเล่าเรื่องจะเล่าซ้อน ๆ กัน การเล่าเรื่องซ้อน ๆ กันเป็นเสน่ห์ แต่ยังไม่ทราบว่าพอเป็นภาพยนตร์คุณอนุกูลผู้กำกับจะซ้อนยังไง แต่ได้ยินว่ามีสีดาด้วย คือเอาทั้ง “ครูแก” กับ “สีดา” ไปรวมกัน

อย่างเรื่อง “สีดา” กับ “ครูแก” เวลาที่เป็นหนังกับหนังสือนี่อาจจะไม่เหมือนกัน คำว่า ‘ไม่เหมือน’ ในที่นี้คือวิธีเล่าเรื่อง คือหนังจะเล่าเรื่องด้วยภาพ หนังสือเล่าเรื่องด้วยตัวอักษร เพราะฉะนั้นเวลาที่เราอ่านงานของครูเราก็จะคิดสร้างภาพไปด้วย หุ่นครูไต่แด็กๆ ขึ้นมาจากใต้ถุนโรงหนังตะลุง เวลาเราไปดูหนัง เขาสามารถทำฉากนี้ได้หรือเปล่า เขาอาจจะไม่ได้ทำแบบภาพในหัวของเรา แต่อาจเป็นอีกแบบเพราะเป็นศิลปะการเล่าเรื่องที่ต่างกัน เวลาเราอ่านหนังสือแล้วไปดูหนังอาจรู้สึกสนุกดีหรือยังไงก็เป็นไปได้หมด

ใน “ท่อนแขนนางรำ”[8] ครูมนัสถ่ายทอดอวัยวะส่วนหนึ่งของมนุษย์ผู้หญิงคือ แขน ในเรื่อง “ครูแก” เขียนถึงส่วนหนึ่งของร่างกายผู้หญิงคือ ผิวที่ส้นเท้า เอาไปทำตัวหนังได้(หนังตะลุง) เพราะส้นเท้าเป็นส่วนที่หนาที่สุด ในขณะที่เรื่อง “สีดา” คือ นม เล่นกับส่วนต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ที่เป็นผู้หญิง แต่มันทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่ามีอะไรบางอย่างที่มันลึกลับ สื่อสารเป็นเชิงสัญลักษณ์ได้ด้วย ผู้กำกับเอาสองเรื่องนี้ไปรวมกันลองคิดดูว่าเสน่ห์จะขนาดไหน เป็นเรื่องที่ทำให้เราคิด ตีความ แล้วเกิดความสงสาร ที่สงสารสุดคือในท้ายที่สุดของเรื่อง เมื่อครูแกเสียชีวิตไปแล้วตัวหนังที่เป็นครูแกกลายเป็นตัวตลก ตัวตลกมีชีวิตชีวาที่ได้เฝ้ามองดูตัวหนังที่เป็น ‘พยอม’ ครูบรรยายให้ตัวหนังมีชีวิต ดิฉันไม่ได้ดูหนังแต่นึกภาพตาม ครูทำราวกับว่าครูกำลังสร้างหนังให้เราดู มันสุดยอดน่ะ เราต้องให้เด็กได้เรียนเรื่องนี้แล้วต้องสอนเด็กด้วย แต่ว่ากระบวนการสร้างที่จะทำให้กระชับเด็กอาจจะไม่เข้าใจ เพราะเป็นเรื่องที่ซ้อนกันอยู่สองเรื่อง เพราะฉะนั้นต้องอ่านค่ะ ถึงแม้ว่าเป็นหนังแล้วก็ยังต้องอ่านสองเรื่องนี้อยู่ เพื่อให้เห็นว่าครูได้พาตัวอักษรไปสู่เส้นทางของภาพอย่างไร แล้วครูได้ถ่ายทอดเอาความรักที่มีต่อผู้หญิงออกมายังไง ความผูกพันของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิงแล้วมีเส้นความรักอันลึกซึ้งคืออะไร สุดยอดจริง ๆ ค่ะ

 


ที่มา: สำนักพิมกำแพง

 

ผศ.ประทีป : ขอเล่าเรื่อง “ครูแกหนังตะลุง” สำหรับคนที่ยังไม่เคยอ่าน ในหนังสือกับในหนังก็ยังนึกไม่ออกว่าคนเขียนบทเขียนอย่างไรแต่เห็นชื่อ พนม นันทพฤกษ์ ( สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2566) กับ อัศศิริ ธรรมโชติ[9] (ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของรางวัลซีไรท์ปี 2524) ผมยังไม่ได้ดูหนัง แต่งานเขียนเล่าถึงตัวหนังสองตัวคือ ครูแก ซึ่งเป็นตัวตลกที่โด่งดังมาก แล้วมักจะไปอยู่ใกล้กับตัวนาง ในเรื่องจะเล่าเรื่องความเชื่อบางอย่าง เช่นครูแกหล่นลงไปข้างล่างแล้วปีนขึ้นโรงเอง ดังมากจนคู่แข่งขโมยครูแกไป แล้ววันหนึ่งครูแกก็กลับมาอยู่ที่เดิม เท่าที่ดูจากเรื่อง พอขโมยไปแล้วคณะของเขาเกิดหายนะ ก็เป็นไปได้ว่าเอามาคืน อาจไม่ได้กลับมาเองก็ได้ แต่สิ่งที่ผู้เขียนสะท้อนก็คือ ความรักระหว่างครูแกกับตัวนาง คือ แม่พยอม มันยิ่งใหญ่มาก ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็จะไปอยู่ใกล้ๆ กัน

เปิดเรื่องจากตัวหนัง ครูแก แล้วมาเล่าตอนท้ายว่าตำนานรักนี้คือครูแกเป็นนายหนังหนุ่ม ถูกมองว่าเป็นคนต่ำต้อยครอบครัวพยอมก็กีดกัน หนีไปด้วยกันแล้วถูกตามกลับมา พยอมถูกขังถูกล่ามโซ่ แล้ววันหนึ่งพยอมก็ฆ่าตัวตาย นายหนังหนุ่มไปกรีดหนังที่ฝ่าเท้าเอามาทำเป็นตัวหนัง-ตัวนาง(หนังตะลุง-เป็นตัวนางทั่วไปที่ไม่ใช่รามเกียรติ์) เป็นตัวเอก ขณะที่ครูแกที่เป็นคนเชิดหนัง พอแก่ตัวลงก็สั่งลูกศิษย์ว่าถ้าตายไปแล้วให้เอาหนังครูแกมาทำเป็นตัวหนัง (ตัวตลก) เรื่องนี้ ‘แกน’ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของความรัก ก็คล้ายๆ “ท่อนแขนนางรำ” เพียงแต่ชิ้นส่วนของร่างกายจะเอาฝ่าเท้ามาแกะเป็นตัวหนัง ผมสารภาพว่าข้องใจมากตั้งแต่อ่านครั้งแรกเมื่อปี 2520 ด้วยความไม่รู้เรื่องหนังเลยว่ามันทำได้ด้วยเหรอ มีคนทำด้วยเหรอ เท่าที่รู้คือเขาเอาหนังวัวหนังควายมาแกะ เอาหนังตีนคนทำเป็นตัวหนังได้ด้วยเหรอ ก่อนมางานนี้ผมเอากลับมาอ่านอีกครั้ง คำถามเดิมก็ยังอยู่ ไม่รู้ด้วยเหตุผลกลได

ก่อนที่จะมาผมไปคว้าหนังสือ ไรท์เตอร์ เล่มหนึ่ง เป็นบทสัมภาษณ์ พิมล แจ่มจรัส หรือ แคน สังคีต ให้สัมภาษณ์ว่าสมัยเป็นเด็กเขาอยู่ลุ่มน้ำตาปีสุราษฎร์ฯ ชอบดูหนังดูละครบอกว่ามีเกร็ดเล่าถึงหนังตะลุงคณะหนึ่งดังมากชื่อ เอี่ยม ทองคำ (อ่านโน้ต)

“หนัง เอี่ยม ทองคำ แกไปเอาตีนเมียมาแกะ ตัวหนังชื่อ ทองคำ เป็นรูปผู้หญิงเปลือย หนังเอี่ยมจะเก็บตัวนี้เอาไว้ตอนประชัน เวลาประชันจะวัดกันตอนเช้ามืด(ตอนรุ่งสาง) ว่าใครมีคนเยอะกว่าคณะนั้นชนะ” ไม่รู้ธรรมเนียมจริงเป็นแบบนี้หรือเปล่า “เวลาฟ้าสางหนังเอี่ยมก็จะงัดเอาหนังทองคำที่แกะรูปผู้หญิงเปลือยออกมาเต้นระบำโป๊ ยกแข้งยกขาว่ากลอนสัปดนผู้คนแห่แหนมาดูกัน แล้วแกก็ชนะทุกครั้ง” เพราะฉะนั้นคำถามที่เราค้างใจว่ามันเอาหนังตีนมาทำได้หรือ? แสดงว่าเรื่องนี้ที่พูดกันอยู่ก็น่าจะเป็นจริง แคน สังคีต กับ มนัส จรรยงค์ ไม่รู้จักกันหรอกผมเชื่ออย่างนั้น

คำตอบที่ผมได้คือ มันเป็นไปได้จริง สะท้อนความรักของชายผู้ต่ำต้อยถูกกีดกันเพราะรักกับผู้หญิงที่มีฐานะดีกว่า อย่างที่คุณชมัยภรว่า เรื่องทำนองนี้ของมนัสมีเยอะ เพราะมันคือเรื่องสะท้อนชีวิตของตัวเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันสามารถผูกใจคนได้ เกิดมาจากอารมณ์ความรู้สึกที่ตัวเองมี ในงานเขียนของมนัสมีประโยคหนึ่งที่ใช้บ่อยมากในเรื่องสั้นก็คือ “เมื่อความรักเข้าประตู เกียรติยศและชื่อเสียงก็จะพลูออกทางหน้าต่าง” ใช้ในหลายเรื่อง มันเรื่องของตัวเองเรื่องคุณอ้อมชัดๆ ถามว่าทำไมถึงผูกใจคนได้? เพราะมันเป็นชีวิตของคนจริงๆ เดี๋ยวผมคงได้ดูว่าหนังเป็นยังไง

 


ที่มา: สำนักพิมพ์เนชั่น

 

ปภังกร : ทิ้งท้าย ฝากระลึกถึงครูมนัสในส่วนที่เป็นนักเขียนกับผลงาน และแนวทางการเขียนที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ครับ

อาจารย์ทวีสิทธิ์ : ชีวิตของ ครูมนัส จรรยงค์ เป็นชีวิตที่น่าศึกษา เด็กรุ่นหลังที่ยังไม่รู้จักผมว่าควรจะไปหาอ่านผลงานของท่านนะครับ มันพิเศษมากโดยเฉพาะที่นำมาคุยแต่ละเรื่องในวันนี้ เป็นเรื่องที่ประทับใจมาก โดยเฉพาะคนที่ศึกษาด้านวรรณกรรมลองไปค้นคว้าดูนะ แล้วจะได้รู้ว่านักเขียนชาวเมืองเพชรคนนี้เป็นเพชรน้ำเอกของจังหวัดเพชรบุรีที่ควรจะต้องยกย่องเชิดชู ให้ชื่อเสียงของ ครูมนัสยืนยงคู่กับจังหวัดเพชรบุรีไปอีกนานแสนนาน ขอให้ช่วยกันสนับสนุนครับ

ผศ.ประทีป : ขอฝากไว้ว่าคนเพชรบุรีควรจะภูมิใจ ที่จังหวัดของท่านมีนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ของเมืองไทย ไม่ว่จะกี่ปีชื่อมนัสก็ยังอยู่ อีก 3 ปี จะครบ 120 ปี ก็น่าจะมีกิจกรรมอะไรที่พูดถึงมนัส เพราะจังหวัดอื่นไม่มีนักเขียนดังแบบนี้ ถ้ามนัสอยู่อังกฤษป่านนี้เขาแต่งตั้งเป็นท่านลอร์ดอะไรกันไปแล้วมั้ง ‘ศรีบูรพา’ ก็เป็นชื่อถนนไปแล้ว ถนนในจังหวัดซึ่งควรจะมีชื่อ มนัส จรรยงค์ ก็ยังไม่มีนะ ฝากคนเพชรบุรีให้ช่วยกันด้วยตอนนี้มันเปลี่ยนไปเยอะ จวนผู้ว่าฯ เป็นบ้านเลขที่ 1[10] ของเพชรบุรี เป็นบ้านที่เกี่ยวกับตำนานรักของ มนัส จรรยงค์ กับ อ้อม จรรยงค์ ล่าสุดจวนเก่าถูกรื้อไปแล้ว ตกใจ กลายเป็นจวนใหม่ที่หน้าตาไม่มีเค้าไม่มีตำนานอะไรเลย เสียดาย เหลือแต่รูปถ่ายแล้ว

สมัยผู้ว่าฯ เอนก ปี 2533 (เอนก อุทยาน รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี เคยเป็นผู้ว่าฯ ที่ จ.ลพบุรีมาก่อน) ผมขออนุญาตท่านเข้าไปดูในบ้าน ขอเข้าไปดูท่อน้ำที่มนัสมุดเข้าไปหาคุณอ้อม เพราะผมสงสัยว่ามุดเข้าไปยังไง ตอนนั้นท่อน้ำยังอยู่ขนาดโถส้วมอยู่ด้านขวาของบ้าน แล้วต่อท่อไปลงแม่น้ำเพชร เป็นท่อใหญ่ตอนผมไปน้ำลดพอดียังเห็นท่ออยู่ มาอีกทีหาย! เทศบาลทำถนนไปแล้ว ตำนานนี้ก็หายไปหลายอย่างเปลี่ยนไปเยอะ คนเพชรบุรีน่าจะช่วยกันดูแล ผลงานของมนัสมีอะไรผมก็แบ่งปันมาไว้ที่บ้านมนัสนี่แหละ ใครอยากอ่านก็แวะเวียนมา ผมเคยรับปากกับ คุณอ้อม จรรยงค์ ว่า วันหนึ่งผมอยากเขียนเรื่องมนัส แล้วผมก็หาข้อมูลด้วยความเพลิดเพิน เคยรับปากกับ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ว่าจะเขียนก็ยังไม่ได้เขียน เมื่อคราวที่แล้วมาหาปภังกรบอกว่าผมจะเขียนก็ยังไม่เสร็จ หวังว่ามันจะเสร็จ ถ้าผมทำเสร็จหนังสือเล่มนั้นคงมาอยู่ที่นี่

ชมัยภร : จากที่เราฟังกันมาจะเห็นว่างานของครูมนัสไม่ใช่ธรรมดา คนเพชรบุรีภาคภูมิใจได้ แต่คนรุ่นหลังเขาไม่ทราบ เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญที่จะทำให้คนรุ่นหลังได้รู้จักครูมนัสว่าเป็นคนเพชรบุรี และต้องภาคภูมิใจคือระบบที่เกี่ยวกับการศึกษาและการเรียนรู้ ซึ่งต้องช่วยกันทั้งฝ่ายราชการและฝ่ายเอกชน จัดให้มีวาระพร้อมกันทั้งหน่วยงานราชการจังหวัดและเอกชน ต้องเห็นความสำคัญของครูมนัส ต้องรู้ว่านี่คือคนสำคัญ ถ้าเราขยันเขียนอะไรที่มันพิเศษๆ ได้ เราสามารถเสนอให้ครูเป็นบุคคลสำคัญของโลกได้ ต้องมีวิธีที่จะเล่า วิธีที่จะเขียน วิธีที่จะเสนอไป เสนอได้นะคะ เพียงแต่วาระ 120 ปี จะเขียนทันไหมเท่านั้นน่ะ

ควรจะมีบ้านเป็นที่ระลึกเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนหนึ่งของ มนัส จรรยงค์ หรือมีอนุสาวรีย์ให้คนเพชรบุรีภูมิใจ ดิฉันเคยไปเกาหลี แต่ละเมืองเขาจะมีนักเขียนประจำเมืองหนึ่งคน ที่เขาทำอนุสาวรีย์ให้  ไปยืนอิจฉาเขาอยู่ค่ะ เพราะประเทศไทยไม่มีเลยซักเมืองเดียว ขอให้เริ่มต้นที่เพชรบุรีค่ะ

ปภังกร : รับปากครับ ที่รับปากกับท่านอาจารย์เพราะตรงข้ามบ้านมนัส (ชี้ให้ชมบ้านตรงข้าม) เมื่อก่อนเป็นบ้านครูของผม ครูอารี สุนทรานนท์ ตอนนี้หลานๆ ของคุณลุงมนัสคือ อมรณัติ จรรยงค์ (จุ๊บ) ลูกของพี่มนู (มนู จรรยงค์ นักเขียนตามรอยพ่อ) ซื้อไว้แล้ว ได้คิดที่จะสร้างรูปหล่อของลุงนัสกับป้าอ้อมที่นี่ แล้วก็จะทำชั้นล่างเป็นพิพิธภัณฑ์ อย่างที่ท่านอาจารย์ชมัยภรพูดเลยนะครับ ผมจะบอกจุ๊บว่าเราคิดตรงกันครับ (อาจารย์ชมัยภรยกนิ้วให้พร้อมยิ้มสดใสในหน้าเหมือนหลายคน)

 


บ้านนักเขียน มนัส จรรยงค์ เลขที่ 82 ชุมขนคลองกระแชง อ.เมือง จ. เพชรบุรี

 


บ้านนักเขียน มนัส จรรยงค์ เลขที่ 82 ชุมขนคลองกระแชง อ.เมือง จ. เพชรบุรี

 

อีกไม่นานชุมชนคลองกระแชง พื้นที่ซึ่งเคยเป็นจุดรวมพลคนแสดงงาน สร้างความสำเร็จเป็นประวัติการณ์ 4 หนังใน “เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง” กำลังก่อเกิดสิ่งสำคัญคือ ‘โครงการบ้านพิพิธภัณฑ์ ครูมนัส จรรยงค์’ นักเขียนผู้ยิ่งยง ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้าม ‘บ้านนักเขียน มนัส จรรยงค์’ พร้อมรูปหล่อเท่าตัวจริงของท่านกับคู่ชีวิต คุณอ้อม จรรยงค์ (บุนนาค) สองบุคคลสำคัญผู้เป็นตำนานในถิ่นกำเนิด ที่นี่จะเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่มีอนุสรณ์นักเขียน เป็นทั้ง ‘บ้านสมุด’ และ ‘เรือนเรียนรู้’ ของผู้คนทุกวัยที่ใฝ่ศึกษา เป็นแหล่งค้นคว้าสรรพวิทยานานาแขนง ทั้งในแนวสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายวรรณกรรมทั้งไทยและต่างประเทศ เป็นเขตพื้นที่สร้างสรรค์กิจกรรมกลมกลืนไปกับชุมชนบนถนนสายวัฒนธรรมนำวิถี รอต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ประกาศความเป็นเมืองศิลปะบ้านศิลปิน ในบรรยากาศถวิลวารย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี ปลายปีนี้แน่นอน

 


“เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง”

 

20 ปี “ครูแก”  แรงรัก แรงอาถรรพ์

ในวันเดียวกัน 3 พฤษภาคม 2567 “เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง” หลังสัมมนา  หนังสือแล้ว ได้มีการสัมมนา หนัง(ภาพยนตร์) ในช่วงบ่าย ก่อนจัดฉายหนังช่วงหัวค่ำในประเด็น ‘จากหนังสือ มนัส จรรยงค์[11] เรื่อง “ครูแกหนังตะลุง” สู่การจัดฉายหนังฟื้นตำนาน เพชรบุรี เมืองหนังกลางแปลง ริมแม่น้ำเพชรบุรี’ เรื่อง “ครูแก”  ผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ประกอบด้วย ปภังกร จรรยงค์ (ทายาทรุ่นหลานของ มนัส จรรยงค์) ประธานคณะกรรมการย่านชุมชนเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี , จิตรภานุ คล้ายเพชร นายหนังตะลุงเมืองเพชร คณะมหาฟลุ๊ค ลูกเพชร ศ.นครินทร์, ภาณุ สุวรรณโณ นักแสดง, อนุกูล จาโรทก ผู้กำกับ  และดำเนินรายการโดย นิมิตร พิพิธกุล (Festival Directer) ณ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วัดพลับพลาชัย จ.เพชรบุรี

นิมิตร - เส้นทางการเขียนเรื่องทำไมครูมนัสถึงเลือกหยิบ “ครูแกหนังตะลุง” ขึ้นมาครับ

ปภังกร - ลุงนัสมักเขียนเรื่องเกี่ยวกับชีวิตจริง แรกเลยไม่ได้เป็นนักเขียนครับ เป็นนักดนตรีไทย ยังเรียนไม่จบเพิ่งได้ ม.7 ถูกคุณย่าเรียกกลับมาจากกรุงเทพฯ มาเป็นเสมียนอำเภอ พร้อมกับให้เป็นหัวหน้าวงดนตรีไทย เป็นช่วงเดียวกับที่คุณอ้อม (คุณอ้อม บุนนาค ลูกสาวเจ้าเมือง) กลับมาจากโรงเรียนสตรีที่ปีนัง ผู้คนติดใจเสียงซอหวานของลุง ร่ำลือจนเจ้าเมืองให้เข้าไปสอนดนตรีลูกสาวที่จวนผู้ว่าฯ ตามค่านิยมของลูกท่านหลานเธอสมัยนั้น ต่อมามีจิตปฏิพัทธ์กันแต่ความที่ลุงเป็นคนธรรมดาก็ถูกกีดกัน ถูกห้ามไม่ให้ไปสอนดนตรีไม่ให้พบปะกันอีก โอกาสจะพบกับจึงไม่ง่ายนัก ต้องรอจังหวะเวลาเจ้าเมืองไปว่าราชการที่จังหวัดราชบุรี (สมัยก่อนเป็นสมุหเทศาภิบาลดูแลทั้ง ราชบุรี และ เพชรบุรี)

บันทึกป้าอ้อมเล่าว่า ลุงนัสบ้านอยู่ที่ท่าเรือแถวนี้ (ชุมชนเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี   ) ต้องพายเรือไปที่จวนผู้ว่าในเมืองฯ ป้าอ้อมจะแขวนผ้าเช็ดหน้าไว้ที่ประตูด้านติดกับแม่น้ำ เป็นสัญญาณว่าปลอดภัย นัดพบกันในที่ทั่วไปก็ไม่ได้อีกต้องหลบผู้คน ไปใช้ที่แห่งหนึ่งคือท่อระบายน้ำ จากจวนเจ้าเมืองไหลงลงแม่น้ำเพชรบุรี (สมัยก่อนท่อมีขนาดใหญ่มาก) มีคนพบแล้วเข้าใจผิดคิดว่าคนร้าย กลัวลูกสาวเจ้าเมืองจะได้รับอันตราย เกือบถูกเขาเอามีดฟัน แต่มีคนห้ามไว้ทันบอกว่านี่ครูนัสที่สอนดนตรี หลังจากนั้นเลยถูกแยกออกจากกัน พ่อพาลูกสาวไปว่าราชการด้วยที่ราชบุรี บังเอิญไปเจอครูสอนดนตรีไทยที่เป็นนักเขียน ลุงนัสเลยเกิดแรงผลักให้เป็นนักเขียนด้วยฤทธิ์รักแรงหึง ลุงนัสเป็นคนที่อินกับความรัก เลยตัดสินใจเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ “สวรรค์ครึ่งเดือน” ก็มาจากเรื่องจริงที่เป็นเหตุการณ์บันดาลใจครับ ส่งไปเดลิเมล์ก็ได้ลงตีพิมพ์เลย พ่อของผมเล่าว่าลุงนัสซื้อหนังสือเล่มนั้นแจกพ่อแม่กับอีกหลายคน พร้อมบอกด้วยความดีใจมากว่า “ผมเป็นนักเขียนแล้วนะ” ตั้งแต่นั้นมา

 


“เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง”

 

นิมิตร - หนังเรื่อง “ครูแก” คนจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับรามเกียรติ์ ไม่ใช่นะครับ เป็นเรื่องราวความรัก คือส่วนหนึ่งจากแรงบันดาลใจในชีวิตของครูมนัส ถ้าไม่กดดันเรื่องความรักก็ไม่เกิดงานศิลปะที่เราเข้าถึงใช่ไหมครับผู้กำกับอนุกูล วันเปิดตัวหนัง 14 กุมภาพันธ์ 2547 ทำไมถึงมองว่าเรื่องนี้จะเป็นหนังรักโรแมนติคดึงดูดให้คนเข้ามาชมครับ

อนุกูล - ความเป็น ‘หนังวัฒนธรรม’ มันก็ยากอยู่แล้ว อีกชั้นหนึ่งของหนังคือพูดภาษาใต้ทำให้กลุ่มไม่กว้างทั้งประเทศ ดีที่ว่าเป็นหนังรักจะช่วยเรื่องการตลาดได้ แรกไม่ได้วางว่าจะต้องฉายวันวาเลนไทน์ แต่หนังมาเสร็จใกล้กับช่วงนั้นเลยได้ไอเดีย วันเปิดดารานักแสดงก็มาแจกดอกไม้กัน ถามว่าประสบความสำเร็จแค่ไหน? มันก็ไม่มากนักเนื่องจากเรามีเวลาเตรียมงานกันค่อนข้างน้อย ผมไม่สามารถสื่อกับคนดูได้ว่าหนังจะสื่ออะไร จริงๆ ทั้งที่หนังเรื่องนี้มันมีความแข็งแรงมากเลยด้าน visual effect

ตัวหนังตกลงใต้ถุนโรงก็ปีนขึ้นมาเองได้ ถูกขโมยไปก็เดินกลับบ้านได้ เมื่อถูกแยกจากตัวหนังชื่อ ‘พยอม’ เขาก็จะเดินกลับไปอยู่ด้วยกัน ทุกวันก็จะมองพยอมด้วยสายตาเจ้าชู้หยาดเยิ้มเปี่ยมด้วยความรัก ก็น่าจะขายได้ แต่ effect ในตอนนั้นก็ไม่เต็มที่ มันไปไม่ได้เท่าจินตนาการที่ผมอยากให้เป็น ผมอยากเห็นว่าพอตกลงไปปุ๊บพลิกตัวเอามือยื่นออกมา ยันตัวขึ้นเดินได้เหมือนคนอะไรแบบนี้ เอาเข้าจริงเทคหลายครั้งก็ยังทำไม่ได้ อีกอย่างที่เป็นปัญหามากคือ เรื่องนี้พูดใต้ คิดไว้แต่แรกแล้วว่าต้องมี subtitle บรรยายภาษาไทย ในช่วงเวลาระหว่างที่หนังเสร็จก่อนฉายมันทำไม่ทัน ทำได้เพียงซับภาษาอังกฤษ ก็ช่วยได้บางส่วน เลยไม่ประสบความสำเร็จด้านการตลาด

 

 

แม้ไม่ประสบความสำเร็จเรื่องรายได้ แต่ “ครูแก” ก็ประสบความสำเร็จด้านศิลปะ และเป็นผู้ดำรงรักษ์มรดกหนังตะลุงไว้ในรูปแบบ ‘หนัง’(ภาพยนตร์) ก่อนเลือกเรื่องนี้ผู้กำกับได้รับการเสนอให้พิจารณาบทประพันธ์เรื่องสั้นของ มนัส จรรยงค์ 2 เรื่อง คือ “ซาเก๊าะ” กับ “จับตาย” แต่จับตายถูกทำเป็นภาพยนตร์ไปก่อนแล้ว เข้าฉายปี 2528 ความยาว 1:43:40 ดารานำแสดง : รณ ฤทธิชัย, สรพงศ์ ชาตรี, ชลิต เฟื่องอารมณ์, โสธร รุ่งเรือง, บทภาพยนตร์ :  บัณฑิต ฤทธิ์ถกล, ถ่ายภาพ-ลำดับภาพ-กำกับการแสดง : โสภณ เจนพานิช, ดำเนินงานสร้าง : กวี นามสินธุ์-สง่า คุวันทรารัย-ทวีวัฒน์ นวกิจไพฑูรย์, บริษัทผู้สร้างและจัดจำหน่าย : วีซี โปรโมชั่น แอนด์ พิคเจอร์  จับตาย ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ในชื่อว่า "Shoot To Kill" ลงพิมพ์ในหนังสือ SPAN ของ สมาคมนักเขียนออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2501)

เค้าโครงเรื่อง “ครูแก” ครูฉาย (จรัล เพ็ชรเจริญ) ครูหนังตะลุง มีตัวหนังตะลุงเอกเป็นตัวตลกและเป็นตัวชูโรงประจำคณะ ที่ท่านให้ความเคารพรักและเทิดทูนหนังตัวนี้อย่างสูงเรียกอย่างยกย่องว่า ครูแก ซึ่งเป็นขวัญใจของคนดูหนังตะลุงทั่วภาคใต้ รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ‘ไอ้แก’ มีคำร่ำลือว่าตัวหนัง ไอ้แก นั้นมีชีวิต มักจะแสดงอะไรแปลกๆ ได้เสมอ และเมื่อเผลอมันจะลุกขึ้นเดินเหินแอบขึ้นไปยืนปร๋ออยู่กับตัวหนังอีกตัวซึ่งเป็นตัวนางตัวหนึ่งชื่อ พยอม (ปรางทอง ชั่งธรรม) มีตำนานมาจาก แก (ภาณุ สุวรรณโณ) นายหนังตะลุงฝีมือดีผู้ถูกกีดกันจากพ่อของพยอมสาวคนรัก จนทำให้เธอต้องฆ่าตัวตาย เขาได้นำหนังเท้าของเธอมาทำเป็นหนังตะลุง เพื่อให้เป็นตัวแทนของเธอ เมื่อใกล้เสียชีวิตสั่งลูกศิษย์ให้นำหนังเท้าของเขามาทำหนังตะลุงอีกตัวด้วย หนังตัวนี้ได้กลายเป็นตัวตลกยอดนิยม จึงเป็นที่มาของความรักอมตะที่แม้แต่กาลเวลาและความตายก็ไม่อาจพรากทั้งคู่ให้จากกันได้

“ครูแก” เขียนบทโดย อนุกูล จาโรทก, พนม นันทพฤกษ์ (สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2566) กับ อัศศิริ ธรรมโชติ[12] (ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของรางวัลซีไรท์ปี 2524), สกุล บุณยทัต (นักละคร นักเขียน นักวิชาการ),  กำกับภาพโดย สมศักดิ์ โตประทีป, กำกับศิลป์โดย โมไนย ธาราศักดิ์ และ ศตวรรษ ช่วยนุ่ม, เทคนิคพิเศษด้านภาพโดย แก้วสารพัดนึก, ดนตรีประกอบโดย นุภาพ สวันตรัจฉ์, อำนวยการสร้างโดย จรูญ วรรธนะสิน และ ชูชาติ โตประทีป, อำนวยการผลิต และ กำกับภาพยนตร์โดย อนุกูล จาโรทก (ผลงาน -โรงแรมผี, เวลาในขวดแก้ว) อำนวยการสร้างโดย บริษัท บางกอกภาพยนตร์,

นำแสดงโดย ภาณุ สุวรรณโณ (นายแก) - ปรางทอง ชั่งธรรม (พยอม) - สุกัญญา คงคาวงศ์ (เอียด) - จรัล เพชรเจริญ (ครูฉาย) - จาตุรงค์ โกลิมาศ (สิงห์ทอง) - สุวัจชัย สุทธิมา (เศรษฐีพัน พ่อพยอม) ความยาว 102 นาที เข้าฉาย วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547

จึงวันนี้ครบ 20 ปี สำหรับภาพยนตร์ไทยที่เป็นหนึ่งเดียวของการบันทึกประวัติศาสตร์หนังตะลุง ก่อนเริ่มงานเทศกาลทางทีมงาน มูลนิธิหุ่นสายเสมาได้พยายามหาฟิล์มต้นฉบับ แต่ไม่พบแม้กระทั่งวีซีดีหรือดีวีดีแต่ปาฏิหาริย์มีจริง เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 ก่อนเริ่มงาน “เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง” ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก  คุณสุชาติ จินโน บริษัท หมีน้อยภาพยนตร์ จังหวัดพัทลุง ที่ยังเก็บรักษาฟิล์มหนังมรดกล้ำค่าสมบัติของชาติไว้เพียงแห่งเดียว

 


โปสเตอร์ของภาพยนตร์เรื่อง "ครูแก" 

 

อนุกูล - มีคนแนะนำให้ผมอ่านเรื่องของครูมนัส 2 เรื่อง คือ “จับตาย” กับ “ซาเก๊าะ” แต่จับตายเคยมีคนทำเป็นหนังไปแล้ว ขณะผมค้นหางานจะอ่านเรื่อง “ซาเก๊าะ” ก็ไปเจอเรื่อง “ครูแก” มีความคิดว่าเรื่องมันน่าสนใจ ก็เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกเลยนะ ผมอยากจะบันทึกเกี่ยวกับประวัติการเดินทางของหนังตะลุง เนื้อเรื่องเป็นการขยายความว่า ในความเห็นของผมตามที่ผมค้นคว้า อาจจะถูกหรือไม่ผมไม่รู้นะครับ แต่ผมรู้สึกว่าหนังตะลุงเพชรบุรีมาจากหนังตะลุงภาคใต้ ก็เลยเล่าเรื่องว่าหนังตะลุงเพชรบุรีมีประวัติศาสตร์มาจากพัทลุง ตัวหนัง ‘แก’ เป็นตัวที่ขึ้นชื่ออยู่เพชรบุรี แต่ในระหว่างผมจะเปิดกล้อง “ครูแก” ผมก็ยังค้นคว้าว่า ‘หนังแก’ หน้าตาเป็นยังไง แต่ผมก็ไม่สามารถเจอตัว ‘ไอ้แก’ ได้ ถามหนังตะลุงหลายคณะก็ไม่รู้จัก บอกไม่มีตัวนี้ผมก็แปลกใจ

ผมได้ข้อมูลหนังตะลุงเพชรบุรีมากจาก อาจารย์เอนก นาวิกมูล ถามอาจารย์ว่ามีตัวนี้จริงหรือเปล่า บอกว่ามีแต่ทำไมผมหาประวัติตัวนี้ไม่เจอ เพราะฉะนั้นนาทีที่ผมเปิดกล้องหนังก็ต้องทำจากหนังสืออาจารย์เอนกที่เขียนว่า ‘นายแก’ มือใหญ่เท้าใหญ่ เป็นลักษณะตัวแทนของคนธรรมดาสามัญ หรือเป็นพวก ไพร่ นี่เอง ในเรื่อง “ครูแก” นางเอกเป็นลูกสาวเศรษฐีที่เขาไม่ชอบพวกเต้นกินรำกิน สอดคล้องกับเรื่องของครูมนัสที่หลงรักลูกสาวเจ้าเมือง ระหว่างที่ทำบทก็พยายามมองว่าจริงๆ แล้วนักเขียนมักจะถ่ายทอดสิ่งใกล้ตัว มีเรื่องราวของตัวเองมาอยู่ในงานเขียน ผมพยายามยึดแนวนี้แล้วจับหัวใจนี้ครับ (Theme)

ที่ได้แน่ๆ คือสิ่งที่ครูแกบอก เป็นตัวโปรยของหนังว่า “ไม่มีครั้งไหนที่ความรักจะมี ‘พลัง’ เท่าครั้งนี้” หรือ “ความรักสร้างปาฏิหาริย์ได้ไม่รู้จบ” ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่ถ่ายทอดจาก ครูแก ถ้าเราเชื่อในพลังความรักจริงๆ ความรักสามารถสรรค์สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้เยอะมาก สามารถทำให้หนังตะลุงกับคนมีพลังมีชีวิตขึ้นมาได้ แต่ภาพทั้งหมดของ “ครูแก” คือหนังตะลุงลุ่มทะเลสาบสงขลา มีส่วนก่อนปิดท้ายเท่านั้นเองที่สรุปว่า หนังตะลุงตัวนี้ถูกพัฒนามาเป็นหนังพัทลุง หนังเพชรบุรี

 


โปสเตอร์ของภาพยนตร์เรื่อง "ครูแก" 

 

เรื่องย่อ “ครูแก”

Production Note / อนุกูล จาโรทก

จุลศักราช 1186 (พ.ศ.2367) รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นายแก (ภาณุ สุวรรณโณ) เป็นเด็กหนุ่มที่สืบทอดวิชาการเล่นหนังตะลุงจากพ่อ เขากลายเป็นนายหนังตะลุงฝีมือดี ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคใต้ แต่ความชื่นชมต่อการแสดงหนังตะลุงของเขาจากใครๆ ไหนจะเท่าจาก พยอม (ปรางทอง ชั่งธรรม) ลูกสาวผู้มีฐานะของ เศรษฐีพัน (สุวัจชัย สุทธิมา) ความรักของนายแกกับพยอม พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่รักของทั้งคู่ก็มีอุปสรรค เมื่อถูกกีดกันจากพ่อของพยอมที่ประกาศว่า ไม่ต้องการให้ลูกสาวไปแต่งงานอยู่กินกับคนเล่นหนังตะลุง ซึ่งถูกเหยียดหยามเป็นพวกเต้นกินรำกิน

พ่อของพยอมต้องการให้พยอมแต่งงานกับผู้ชายที่มีฐานะดี จะได้อยู่กินอย่างสุขสบายไปตลอดชาติ แต่พยอมผู้มีจิตใจแน่วแน่ในความรัก กลับประกาศก้องว่า เมื่อคนๆ นั้นเป็นชายที่เธอรักแล้ว ต่อให้เขาจะเป็นใคร ทำอะไร เขาก็คือคนสำคัญสำหรับเธอเสมอ พยอมตัดสินใจหนีออกจากบ้านไปหาแก และชวนเขาหนีไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ตามประสาสามีภรรยา ในที่ซึ่งพ่อของเธอจะติดตามไปไม่พบ แต่พ่อของพยอมซึ่งทรงอิทธิพล ก็ไม่ลดละการสั่งสมัครพรรคพวก พลิกแผ่นดินตามล่าให้ได้

คืนก่อนที่พ่อพยอมจะมาตามแย่งตัวพยอมกลับคืนมา พยอมตัดสินใจเด็ดเดี่ยว เสนอขอมีความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยากับแก เธอรู้แก่ใจว่า เพราะนี่อาจจะเป็นครั้งสุดท้าย ที่เธอจะได้อยู่ชิดใกล้ชายคนรัก เมื่อพยอมถูกนำตัวกลับมาที่บ้าน พ่อพยอมจับเธอล่ามโซ่ตีตรวนขาทั้งสองข้าง ชีวิตมีแต่อมทุกข์ น้ำตานองหน้าวันแล้ววันเล่า ในที่สุด พยอมก็ตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพื่อหนีการต้องถูกบังคับแต่งงานกับ สิงห์ทอง (จตุรงค์ โกลิมาศ) ผู้ชายที่ตนไม่ได้รัก แกรู้ข่าวการตายของพยอมด้วยความโศกเศร้า เขาตรงมางานศพหญิงคนรัก ด้วยหวังจะได้เห็นหน้าเป็นครั้งสุดท้าย แต่ก็ถูกกีดกันอย่างเคย

ดึกสงัด ในค่ำคืนที่ศพพยอมถูกนำไปฝังที่ป่าช้า ตามธรรมเนียมโบราณ ที่ผีตายโหงจะไม่มีการเผา แกถือเสียมในมือไปที่หลุมศพพยอม เขาขุดศพพยอมขึ้นมา ดูหน้าหญิงคนรักให้เต็มตา กอดให้สมกับที่คิดถึง แล้วกรีดผ้าห่อศพที่ปลายเท้าออก และกระซิบบอกว่า “มาเถอะ..ไปอยู่กับพี่ด้วยกัน” จากนั้นก็นำศพพยอมลงฝังดิน และกลบไว้เหมือนเดิม

วันรุ่งขึ้น บรรดาลูกศิษย์คณะหนังตะลุงของนายแก ก็เห็นว่า นายหนังของพวกเขาไปได้หนังมาสองผืนเอามาต่อกัน หนังนั้นมีสภาพอ่อนนุ่ม มากกว่าจะเป็นหนังวัวหนังควาย อย่างที่เอามาแกะทำหนังตะลุงทั่วไป แต่ไม่มีใครล่วงรู้ว่าเป็นหนังอะไร? แกบรรจงใช้หนังนั้น ตัดเป็นตัวนางสวยงามตัวใหม่ เมื่อเสร็จแล้ว ตัวหนังตัวนั้นก็กลายเป็นตัวหนังที่แกโปรดปรานที่สุด และนิยมหยิบมาเชิดเล่นอยู่ตลอด

ไม่กี่ปีต่อมา แกก็ล้มเจ็บหนัก หลังจากกระเซาะกระแซะมาตลอด แกเรียกลูกศิษย์มาสั่งเสียว่า เมื่อเขาตายไป ให้นำหนังเท้าของตน มาทำเป็นตัวตลกหนังตะลุงตัวหนึ่ง ซึ่งลูกศิษย์ก็ได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ตัวหนังตัวตลกตัวนี้คนดูหนังตะลุงรู้จักดี และเป็นตัวตลกยอดนิยมที่พากันเรียกอย่างสนิทสนมว่า “ไอ้แก” เป็นตัวหนังที่เหมือนมีมนต์สะกด เมื่อออกมาหน้าจอเมื่อใด จะเรียกเสียงหัวเราะจากคนดูได้อย่างเฉียบขาด และไม่ยั้งเมื่อนั้น...

“ครูแก” หรือ “The Shadow Lovers” เรื่องราวอันผูกพันกับความสง่าของงานศิลป์ จากการสร้างของบริษัท สตูดิโอ กรุงเทพ จำกัด ร่วมกับบริษัท อรรถวินิจฟิล์ม จำกัด จากเรื่องสั้นที่ถือว่าเป็นเพชรน้ำเอกตลอดกาลของ มนัส จรรยงค์ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘ครู’ ตลอดกาล แห่งวงการวรรณกรรมไทย บทภาพยนตร์โดย อัศศิริ ธรรมโชติ (ศิลปินแห่งชาติปี 2543 และนักเขียนรางวัลซีไรท์ปี 2514 จาก 'ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง'), สกุล บุณยทัต (อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรทับแก้ว และกรรมการคัดเลือกวรรณกรรมซีไรท์ปี 2543), สถาพร ศรีสัจจัง หรือ 'พนม นันทพฤกษ์' เจ้าของสมญา 'อาจารย์ใหญ่' แห่งแวดวงวรรณกรรมภาคใต้ และ อนุกูล จาโรทก

มนัส จรรยงค์ นำเอาประสบการณ์แต่ครั้งที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในภาคใต้ ระหว่างช่วงเวลา ปี พ.ศ. 2480-2482 มาใช้เป็นวัตถุดิบ สร้างงานเขียนชิ้นเอกที่ได้รับการยกย่อง ในวงการวรรณกรรมเมืองไทยหลายชิ้น อันได้แก่ เรื่องสั้น จับตาย, ซาเก๊าะ, กากมนุษยธรรม รวมทั้ง “ครูแก” เรื่องนี้ด้วย

แต่ความพิเศษของเรื่อง “ครูแก” ก็คือ ยังเป็นการนำเอาตำนานเรื่องเล่าขาน เกี่ยวกับหนังตะลุงจังหวัดเพชรบุรี บ้านเกิดของ มนัส จรรยงค์ เอง มาผสมผสานเข้าไว้ด้วย เพราะ ไอ้แก นั้นเป็นชื่อของตัวหนังตะลุงตลกเอก ของหนังตะลุงจังหวัดเพชรบุรี ที่ยังเป็นที่รู้จัก และมีอยู่ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้ เพียงแต่ในเนื้อที่ตำนานที่มาของหนังตะลุง ไอ้แก หรือ ครูแก ในเรื่องสั้นของ มนัส จรรยงค์ ไม่ได้ขยายความลงลึกไปมากมายนัก แต่หลังจากได้ทำการค้นคว้าสืบสาวถึงความเป็นมา ของหนังตะลุงเพชรบุรีเพิ่มเติม จึงได้พบหลักฐานระบุว่า หนังตะลุงเพชรบุรีนั้น ได้รับการสืบทอดมาจากหนังตะลุงภาคใต้ ในแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา

ด้วยหลักฐานข้อมูลที่ได้ค้นพบดังกล่าวนี้ จึงถูกนำมาใช้เป็นแกนในการดัดแปลงผูกเรื่อง เสริมรับส่วนที่ขาดหายไป ในบทประพันธ์ชิ้นเอกของ มนัส จรรยงค์ ชิ้นนี้จนสมบูรณ์ เพื่อการนำเสนอสู่ความเป็นภาพยนตร์ ที่จะนำผู้ชมกลับไปสู่รากเหง้า ที่มาอันเป็นต้นตอของงานศิลป์แขนงนี้ ในแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา อย่างงดงามและน่าจดจำ

ไอ้แก หรือ ครูแก ที่ไม่เคยมีอยู่ ในสารบบของตัวหนังตะลุงภาคใต้ ในโลกความเป็นจริง จึงกลายเป็นตัวหนังตะลุงสมมติ ที่มีชีวิตในหนังเรื่องนี้ เพื่อทำหน้าที่บอกเล่าสานต่อเรื่องราว อันเสมือนเป็นตำนานที่มาของตัวหนังตะลุง ไอ้แก หรือ ครูแก ของหนังตะลุงเพชรบุรี ด้วยประการฉะนี้

           


ภาพยนตร์เรื่อง "ครูแก" 

 

นิมิตร - สิ่งที่พี่นุกูลพูดว่า  “ความรักสร้างปาฏิหาริย์ได้ไม่รู้จบ” รวมทั้งที่พี่โฟล์คบอกว่าเรื่องนี้น่าจะมาจากความรักของครูมนัส ส่งต่อไปยังวรรณกรรมเรื่อง “ครูแก” แล้วยังคงส่งต่อไปด้วยว่าสมัยก่อน Animation ยังทำได้ไม่เต็มที่ ไม่ใช่เป็นเรื่องจินตนาการแฟนตาซีนะครับ ในวงของหนังตะลุงเรามีความเชื่อนี้อยู่ บางครั้งหนังที่อยู่กับนายหนังหายไป เกิดการโยกย้ายได้เราเชื่ออย่างนี้จริงๆ หนังครูแกหน้าตาเป็นยังไง ตอนนี้มาอยู่ในมือน้องอู ภาณุ แล้วครับ

ภาณุ - สรุปมีตัวจริงใช่ไหมครับ ผมเพิ่งเคยเห็นหุ่นตัวจริงๆ วันนี้ครับ นายหนังตัวจริงผมไม่เคยเห็น ผมแสดงเป็นครูแก มีตัวจริงอยู่ที่เพชรบุรีเหรอครับ ตอนถ่ายหนังภาพจำเมื่อ 20 ปี ก่อน จะเป็นเชิดหนังเล่าเรื่อง มีเทพ มีลิง เป็นตัวเล่าเรื่องครับ

นิมิตร - เรารอคอยที่จะเอา ครูแก มาเปิดให้ทุกคนได้เห็นจริงๆ ว่านี่คือหนังตะลุงเมืองเพชร เชิญนายหนังฟลุ๊ค (จิตรภานุ) ครับ

จิตรภานุ - ผมเป็นคนเพชรบุรีโดยตรงครับ ‘ไอ้แก’ ทุกวันนี้ที่เพชรบุรียังใช้แสดงอยู่ จากที่สืบค้นภาคใต้ก็ไม่มี สันนิษฐานว่าหนังแกนี้น่าจะมีต้นกำเนิดจากเพชรบุรี ก็พยายามศึกษามาเรื่อยๆ  ส่วน ‘ครูแก’ นี่เป็นของครูฉายแต่ครูพุทธเป็นคนแสดง หลังๆ มาคนเก่าเล่าให้ฟัง ครูพุทธสั่งเสียไว้ก่อนแกจะตายว่า “ชื่อนี้กูไม่ให้ใช้ ถ้าลูกหลานกูให้ใช้ แต่พวกมึงไปเปลี่ยนชื่อเอา” ตอนนี้เรียกชื่อเป็น ‘ไอ้กา’ บางคณะที่สืบทอดมาจากครูต่ายสาย เจริญศิลป์ ยังใช้ ‘ไอ้แก’ อยู่ คือเขาไม่ได้รับจากครูพุทธเขารับจากครูฉายครับ

เรื่องที่ตัวหนังตกลงใต้โรงแล้วเดินขึ้นมาเองได้ มันมีเรื่องเล่ามาตั้งแต่ผมเด็กๆ เลย ถามคนเก่าๆ ว่าจริงไหม เขาบอกเป็นเรื่อง ‘หลอก’ สมัยก่อนนายหนังเล่นกับเด็กๆ เอาเส้นเอ็นผูกหนังแล้วทำเป็นหนังตกลงไปข้างล่าง แล้วใช้ให้เด็กไปหยิบพอเด็กหน้าจอจะไปหยิบแกก็ชักขึ้นมา เด็กก็กลัวกันว่าหนังโดดขึ้นจอได้

 


“เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง”

 

นิมิตร - พอได้เห็น ครูแก ตัวจริงแล้ว บุคลิกจริงเป็นยังไงครับการเจรจา การร้อง

จิตรภานุ - ไอ้แก หรือ ไอ้กา จะเป็นคนเสียงโต เสียงใหญ่ จะ ทึ่ม ตามพวกไม่ทันเลยซักเรื่องเดียว มี ไอ้นวย เป็นคู่หูกันเขาจะรู้มาก ชอบเอาเปรียบตลอดไอ้กาก็ยอมว่าอะไรก็เชื่อ (โชว์พากย์เสียงหนัง)

ภาณุ - ผมลืมไปแล้วพากย์ยังไง ตอนที่มารับบทเรายังเป็นนักแสดงตัวเล็ก ๆ เพิ่งเซ็นสัญญากับค่ายหนัง เขาส่งบทมาให้เราก็ไม่มีสิทธิ์เลือกหรอกครับ มีหน้าที่ทำตาม แต่เราเป็นคนรักการแสดงอยู่แล้วก็ทำหน้าที่ มาฟังการอบรมก่อนพี่นุกูลส่งไปเรียนเชิดหนังตะลุง เรียนการรำ ผมจะได้วัฒนธรรมทางใต้ในการเชิด เลือดเนื้อเชื้อไขผมเป็นคนสุราษฎร์ ก็ได้มาอีกอารมณ์หนึ่ง วันนี้เพิ่งมากระจ่างว่า นายหนังครูแกคือคนเพชรบุรี ตอนเลือกนักแสดงพี่นุกูลนึกถึงใครก่อนครับ

อนุกูล - พอจะทำเรื่องนี้ก็นึกถึงอู (ภาณุ) ก่อนเป็นคนแรกเลย เพราะเป็นคนใต้ เคยทำงานด้วยกันมาก่อน แรกที่ผมอ่าน “ครูแก” ก่อนคิดถึงงานวัฒนธรรม เส้นเรื่องนี้ผมมองเป็น โรมิโอ - จูเลียต รักกัน ถูกพ่อแม่กีดกัน ฆ่าตัวตาย ส่วนอื่นที่ทำให้มีชีวิตชีวาอย่างหนังตะลุงเป็นส่วนที่เสริมให้มีความขลังซึ่งฝรั่งไม่มี โจทย์ของอูคือต้องเป็นนายหนัง อูร้องหนังตะลุงได้ให้อูเป็นนายหนัง ก่อนแสดงซ้อมก่อน ก็คิดว่าน่าจะเอาอยู่  มีครูหนังตะลุงแท้ ๆ (ประเคียง ระฆังทอง[13] นายหนังชื่อดัง จ.สุราษฎร์ธานี) อยู่ในกองถ่ายคอยเทรนอยู่ข้างหลังตลอด เอาเข้าจริงบริบทมันเรื่องใหญ่ ทั้งการถ่ายทำที่…หนังตะลุงต้องมีไฟอยู่ข้างหลัง หลอดไฟฟ้าก็ใช้ไม่ได้ในสมัยนั้น

ภาณุ - ตอนถ่ายทำเราไปพัทลุงจริงๆ ผมจำได้ว่าตอนเราไปถ่ายฉากหนึ่งที่ศาลหลักเมือง ตอนเจ้าเมืองจับใครสักคนไปประหาร เกิดความขลังของบรรยากาศ เกิดสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันเหนือธรรมชาติ  อยู่ดีๆ ก็ฝนตกหนักเพราะเราไปถ่ายโดยไม่ได้บอกกล่าวก่อน เหมือนศาลหลักเมืองท่านไม่ให้กองถ่ายเข้า ให้รออยู่ข้างนอก จนกว่าจะได้รับอนุญาต แล้วพอขออนุญาตอย่างเป็นทางการ ด้วยความที่ผมยังเด็กผมก็รู้สึกว่าทำไมฟ้าเปิดเร็วจัง รวมทั้งบ้านเก่าโบราณที่พี่นุกูลหาตอนที่เราไปถ่าย ทุกที่มีเรื่องราวขลัง ๆ เกี่ยวข้องหมดเลยครับ

อนุกูล - บ้านของ พยอม เป็นบ้านเก่าจริงที่เราเอามาสร้างใหม่ทั้งหลังริมน้ำ ส่วนบ้าน ครูฉาย (สีเทา) เป็นบ้านร้อยปีขึ้นไป อยู่ที่บางเหลียง สงขลา อยู่ๆ เขาก็ให้ถ่ายขึ้นมาเฉย ๆ

ปภังกร - คุณฟลุ๊ค (จิตรภานุ) เป็นคนเล่าให้ผมรู้ว่ามี “ครูแก” ทำเป็นหนัง (ภาพยนตร์) ผมก็ไปหาในยูธูปแบ่งเป็น 2 ตอน ดูจบแล้วก็กลับมาอ่านหนังสือใหม่ บทภาพยนตร์ตรงกับในหนังสือครับ เลยปรึกษากับครูหนืด(นิมิตร) ว่าเราน่าจะมีหนังฉายด้วยเพราะตอบโจทย์การทำเทศกาลหุ่น เพราะสามารถเล่าเรื่องได้ตั้งแต่ทำกิจกรรมก่อน มีการแสดงหนังตะลุง มาสู่ตัวหนังสือ แล้วมาถึง หนัง(ภาพยนตร์) สามารถสื่อสารออกไปให้เห็นภาพรวมศิลปวัฒนธรรมของคนไทย

รากหนังตะลุงผมก็คิดเหมือนกันว่าน่าจะมาจากภาคใต้ สุดท้ายคำว่า ‘ครูแก’ ถูกเปลี่ยนไปเพราะว่าเป็นชื่อครู เป็นเรื่องของครู ไม่อยากให้ใช้ชื่อครูไปตั้งชื่อใหม่เป็น “ไอ้กา” แล้ววันนี้ไอ้กามันยังอยู่ตลอดเวลาในเพชรบุรี น่าจะสืบมาจากคำว่า “ไอ้แก” ที่ลุงนัสใช้คำว่า “ครูแก” แสดงว่าในวันนั้นความเป็นจริงต้องมีเหมือนกับเรื่อง “สีดา” ที่เป็นวรรณกรรมเรื่องสั้นเกี่ยวกับหนังใหญ่วัดพลับพลาชัย พูดถึงหลวงพ่อฤทธิ์ พูดถึงวรรณคดี “รามเกียรติ์” เอามาเป็นบทกลอนเลย มีตัวแสดงคล้ายกันเป็นเรื่องความรัก มีชายเสียสติหลงรักสีดาสุดท้ายเธอก็ถูกฆ่าตาย

(สีดาเป็นชื่อตัวละครกับหนังใหญ่ ที่เป็นสัญลักษณ์ของ วรรณะ บอกความเหลื่อมล้ำที่ทำให้ผู้ชายรู้สึกผู้หญิงสูงส่งแต่สุดท้ายก็ต้องได้มาครอบครองในแบบของเขา)

 


“เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง”

 

นิมิตร - ที่พยายามติดต่อพี่นุกูลเพราะตัวเองอยู่ในสายศิลปะ เราชื่นชมที่มีคนมองเห็นจากงานเขียนของคนไทย แล้วรู้สึกว่าจะต้องทำหรือสร้างออกมาให้ได้ (คนที่มาทำงานนี้ตั้งแต่นายทุนที่อนุมัติ คนทำงานทั้งหมด รวมทั้งนักแสดงที่ไม่เคยรู้ประวัติเลย) ถ้าเราเล่นเป็นเรื่องในปัจจุบันมันก็ง่าย แต่นี่ต้องมาเล่นเป็นนายหนังเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของหนังตะลุงให้ถูกต้องด้วย หนังเปิดเรื่องขึ้นมาเป็นกึ่งสารคดีเลย

อนุกูล - ผมตีความว่าหนังเรื่องนี้เกิดในรัชกาลที่ 3 ก่อนที่หนังตะลุงจะเดินทางมาถึงเพชรบุรี ในรัชกาลที 5-6  ผมคิดว่าคนจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ต้องเคลียร์เกี่ยวกับเรื่องหนังตะลุงก่อนเลย ผมจะให้ความเข้าใจหนังตะลุงตั้งแต่ต้นแบบบทเรียน 101 เลยว่า ความเชื่อ จังหวะการออกก่อนหลังของแต่ละตัว ตัวไหนตัวตลก ตัวไหนชูโรง เตรีมความเข้าใจกับคนดูให้เสร็จก่อนแล้วถึงเข้าเรื่อง

นิมิตร - ซึ่งเราไม่เคยเจอแบบนี้ในหนังเรื่องอื่น นั่นคือผู้กำกับเคารพในบทประพันธ์วรรณกรรม เคารพในศิลปะหนังตะลุง เพราะว่าคนจำนวนมากดู ‘ละครหุ่น’ ไม่เป็น และคนอีกจำนวนมากที่ดูหนังตะลุงหรือหนังใหญ่ไม่เป็น แล้วยิ่งมาทำเป็นภาพยนตร์ขึ้นไปอีก พี่นุกูลเลยเลคเชอร์ 101 หนังตะลุงต้องดูอย่างไรแล้วถึงเข้าสู่เรื่อง ผมคิดว่านี่เป็นหัวใจสำคัญมากต่อการที่จะทำให้ศิลปวัฒนธรรมของเราเผยแพร่ได้

อนุกูล - เรื่อง “ครูแก” ของครูมนัสมีชั้นเชิงการเล่าเรื่องค่อนข้างล้ำกว่าคนทั่วไป คือมันมีหลายชั้นมาก สำหรับการทำบทหนังจะเห็นว่ามีสามชั้นขึ้นไปเลย (รวมเล่าผ่านภาพยนตร์)

  • ชั้นแรกตั้งแต่เป็นเรื่องที่เล่าสืบทอดกันมา
  • ชั้นสอง ครูฉาย ซึ่งเป็นเจ้าของ ครูแก เล่าเรื่องให้หลานฟังอีกชั้นหนึ่ง

คนเขียนบท อัศศิริ ธรรมโชติ เขียนขึ้นมาทั้งเรื่องเลยหนึ่งชุด ในฐานะคนทำตรง ๆ ก็คือผมดูแล้วมันเป็นละครช่อง 7 เลยไปปรึกษา อาจารย์สกุล บุณยทัต[14] (นักละคร นักเขียน นักวิชาการ) อาจารย์สกุลก็มาอีกบทหนึ่ง แล้วเอาสองบทนี้ปรับเข้าหากัน บางส่วนที่ขาดหายไป บางส่วนที่จะช่วยให้เรื่องสมบูรณ์ขึ้นก็พยายามเสียบเข้าหากันทั้งสองบท เช่น พยอม ถูกกีดกันไม่ให้พบกับแก พยอมจะมีคนรับใช้คอยช่วยเหลือ ผมเห็นว่าบทละครไทยใช้กันเยอะ (ตัวตาม-ผู้ช่วยนางเอก) แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องอธิบาย(มีรายละเอียดตัวตาม) ในที่สุดก็ออกมาเป็นบทที่ใช้ถ่ายจริง

ปภังกร - ในแนวทางที่ผมอ่านหนังสือลุงนัสศึกษาการเขียน กับที่ท่านอาจารย์ประทีปได้ทำวิจัย (ผศ.ประทีป เหมือนนิล) ผมเห็นภาพว่าลุงนัสจะเรื่องแต่ไม่ได้เล่าเอง ตั้งตัวละครขึ้นมาเล่าเรื่องแทน ไม่ได้แสดงว่าเป็นตัวเองไม่ยอมเปิดเผย เหมือนที่ครูฉายเล่าให้เด็ก ๆ ฟังอีกทอดหนึ่ง เรื่องจับตายก็เหมือนกัน ความจริงคือตัวลุงนั่นแหละ เพียงตั้งตัวละครอีกชื่อหนึ่งเข้าไปสัมพันธ์กับนายพรพระเอก เป็นบุคลิกในงานเขียน สุดท้ายผมก็ยังมองว่าลุงนัสยังติดเรื่องความรักของตัวเองในงานหลาย ๆ เรื่อง แต่ก็ไปได้เพราะเป็นเรื่องในชีวิตจริงครับ

 


“เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง”

 

นิมิตร - ผมชอบประเด็นนี้ ถ้าเป็นหนังตะลุงผมใช้อีกคำว่า “หนังตาลปัตร” ใช้บังหน้าอะไรที่เล่ามันจะไหลผ่านไป เล่าอะไรไปใครก็เชื่อ พูดอะไรไปใครก็ฟัง

อยากจะเล่าเรื่องตัวเอง อยากจะระบายความทุกข์ ความสุข ความรัก อยากจะบ่นการเมืองหรืออะไรก็ตามแต่ หนังตะลุงจึงอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะมันเป็นคำว่า ‘ตัวแทน’ แล้วคนที่เล่นยังใช้คำว่า ‘นายหนัง’ อีก เป็น ‘นายของหนัง’ ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าหนังตะลุงมี Magic มีพลังบางอย่าง ยังคงอยู่ในมือของคนที่สืบสานมา พี่อนุกูลคงเห็นตรงนี้ถึงได้หลงไหล ที่พี่บอกมันซ้อนกันสามชั้นเป็นเลเยอร์เลย เราไม่ค่อยได้ยินตรงนี้ในการทำงาน เพราะปกติคนทำงาน คนเขียนบท คนทำหนัง ก็จะมีการทำงานที่ซับซ้อนในส่วนของตัวเอง บทเรื่องนี้เอาปรมาจารย์หลายท่านมารุมกันเขียนเลยนะครับ

ปภังกร - ที่พี่นุกูลเล่าว่าเทคนิคสมัยก่อนยังไม่เจริญอย่างทุกวันนี้ ผมมองลุงนัสเขียนหลายเรื่องแกคิดจินตนาการล้ำสมัยไปไกลก่อนแล้วถึงหยิบมาเขียน ๆ ๆ เขียนสมัยก่อนแล้วเพิ่งมาเกิดในสมัยนี้ อีกเรื่องคือนิสัยคน แกเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับนักการเมือง พูดไว้เมื่อ 50-60 ปี ที่แล้ว วันนี้มาดูนักการเมืองเอ๊ะทำไมเหมือนกันเลย บุคลิก นิสัย อะไรทุกสิ่งอย่าง สิ่งเหล่านี้เราคิดไปไม่ถึงแต่ลุงนัสคิดได้เขียนก่อน สร้างตัวตนคนนั้นผ่านตัวหนังสือ สุดท้ายมันมีคนแบบนี้จริง ๆ  เป็นเรื่องที่น่าทึ่งนะ

นิมิตร - เราพูดถึงความซับซ้อนไปจนถึงความงดงามของวรรณกรรมเรื่องนี้แล้ว ผมแน่ใจว่าพี่นุกูลก็จะรักหนังเรื่องนี้พอสมควรทีเดียว ถึงวันนี้ 20 ปี แล้วนะครับ รู้สึกยังไงที่ได้กลับมานั่งในโรงที่เป็นพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงเก่าแก่ หนังใหญ่เก่าแก่ แล้ววันนี้ได้เจอกับครูแก ตัวจริงเลย (หนังตะลุง)

อนุกูล - หนังเรื่องครูแกได้มีการเดินทางพอสมควรครับ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่มาในงานนอกจากในโรงภาพยนตร์ ครั้งแรกไปฉายที่สงขลาในงานวัฒนธรรมภาคใต้ ของกระทรวงวัฒนธรรม ครั้งที่สองไปฉายที่สถานทูตกัมพูชา ในมุมของคนทำงานก็รู้สึกว่าเราได้ทำงานเต็มที่อย่างน้อยก็มีคนเห็นคุณค่า ผมตั้งใจทำเรื่องนี้ไม่ใช่เพื่อบันทึกประวัติหนังตะลุงเท่านั้น แต่มีเรื่องวัฒนธรรมด้วย ถ้าดูหนังเรื่องนี้อย่างละเอียดอธิบายแต่ละช่วงสำหรับคนที่ไม่รู้อะไรในวัฒนธรรมภาคใต้ หนังเรื่องนี้จะเป็นงานบันทึกวิถีชีวิตคนภาคใต้ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาค่อนข้างเยอะ

นางเอกจะมีความเป็นศิลปินที่มีภูมิทางวัฒนธรรมอยู่ในสายเลือด บางอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ไม่รู้ตัวเลย (สัญชาตญาณในการแสดง) เพราะพ่อก็มีเชื้อสายมโนราห์มา อีกเรื่องที่ผมคิดว่า ‘ล้ำมาก’ คือในวันสุดท้ายที่ครูแกกับพยอมอยู่ด้วยกัน เป็นคืนสุดท้ายก่อนจากกัน พยอมซึ่งเป็นผู้หญิงเป็นลูกของเศรษฐีเสนอตัวขอมีเพศสัมพันธ์กับครูแก เพราะเธอรู้ดีว่าตัวเองรักคนนี้ถ้าไม่มีวันนี้ก็คงไม่มีโอกาสที่จะอยู่ด้วยกันอีกแล้ว หลังจากนั้นก็แยกกันชีวิตก็เปลี่ยนไป

อีกประเด็นคือการเล่าเรื่องที่มีหลายระดับ ผมก็ระวังมากเช่นเรื่องครูแกปีนโรงขึ้นมาได้เอง เป็นเรื่องที่เล่ากันในวงเหล้า ถ้าเราตีความว่าอย่างนี้(ตามบทประพันธ์)จะทำให้ขาดความขลัง ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ต้องสร้าง Magic ขึ้นมาให้มีความเป็นไปได้ โดยหาบริบททางท้องถิ่นเข้ามาช่วย ในเรื่องจะเห็นว่าอูใส่วิกผมยาว ใส่ประคำที่คอ รายละเอียดคือมีพกกริชด้วยอาจเห็นไม่ชัด แต่เหล่านี้คือวัฒนธรรมทางใต้ทั้งหมด ผมก็พอใจว่างานชิ้นนี้เป็นการบันทึกวัฒนธรรม แล้วได้ทำงานกับนักแสดงชั้นครูอย่างอาสีเทาท่านก็ตั้งใจเล่นด้วยความภูมิใจมาก อย่างฉากสุดท้ายนี่เล่นจนเป็นลมนอคไปเลย เราก็ต้องถ่ายให้เสร็จภายในคืนนั้นไม่ได้พักกอง อาขอนอนสักชั่วโมงสองชั่วโมงแล้วลุกขึ้นมาถ่ายต่อจนจบ

 


“เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง”

 

นิมิตร - ฟังแล้วอยากให้หนังเรื่องนี้กลับมาฉายในโรงภาพยนตร์อีก เพราะประวัติศาสตร์ที่ถูกรักษาไว้อยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ บางทีเราจะบอกว่าผลิตหนังใหม่ไปเรื่อยๆ แต่หนังเก่าที่ทำไว้ดีแล้วควรต้องได้รับการฉายอีกเรื่อยๆ นะครับ

น้องอูเป็นนักแสดงเรื่อง “สิบสี่ตุลา สงครามประชาชน” หนังประวัติศาสตร์เช่นกันเล่นเป็น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้นำนักศึกษา หลังจากนั้นมาเล่นเป็นนายหนัง หนังประวัติศาสตร์ทั้งนั้นเลย นะครับ

ภาณุ - ผู้ใหญ่มอบโอกาสดีๆ ให้ผมหมดเลย ความเป็นนักแสดงหน้าใหม่ เขามั่นใจในตัวผมแล้วผมก็รู้สึกมีครูดี เพราะพี่หนืด (นิมิตร) เป็นครูสอนการแสดงผมตั้งแต่ช่วงแรกนะครับ ผมได้รางวัลมาเต็มเลยเพราะฝีมือพี่หนืดนี่แหละครับ ขอย้อนไปเรื่องความเป็น ‘มโนราห์’ กับ ‘พรานบูรพ์’ ผมทำรายการได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ที่พัทลุง การสืบทอด เหมือนแม่พยอมที่ไม่รู้ตัว เหมือนลูกชายของเขาก็ไม่รู้ตัวว่ามีครูอยู่ เป็นการสืบเชื้อสายรุ่นลูกรุ่นหลานแบบไม่รู้ตัว ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีองค์พยายามหนี ๆ ๆ แต่ทุกอย่างเหมือนถูกกำหนดไว้หมดแล้วในตระกูลเขาว่า “คุณต้องมาสืบ” พอมาสืบก็มีสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนปาฏิหาริย์ มีรายได้ มีคนรัก มีบริวาร อันนี้เป็นเรื่องจริง เพราะญาติผมก็เหมือนกัน แก้บนด้วยการใส่หน้ากากพรานบูรพ์ เพื่อให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้านดู แล้วก็ได้ภรรยาที่แต่งชุดรำมโนราห์ เป็นคนที่อยู่ในบ้านนั่นแหละครับ เขาประสบความสำเร็จเรื่องสัมมาอาชีพ นี่ก็เป็นเรื่องลี้ลับที่อธิบายไม่ได้จริงๆ ครับ

นิมิตร - เราทำเทศกาลนี้ก็พบปาฏิหาริย์มาตลอดเช่นกัน ก่อนหน้านี้เราพยายามหาหนัง “ครูแก” มาฉาย ต้องการหนังต้นฉบับแต่หาไม่ได้ แม้กระทั่งดีวีดีที่เคยมีทีมงานก็พลิกบ้านหาไม่พบ มีแต่ที่อยู่ในยูธูป เมื่อสองวันก่อนเดินทางมาหาเราเลย มีคนติดต่อมาบอกว่ามีต้นฉบับอยู่ที่พัทลุง (คุณสุชาติ จินโน บริษัท หมีน้อยภาพยนตร์ ) พี่นุกูลก็ไม่มีต้นฉบับ ที่หอภาพยนตร์ก็ไม่มีนะครับ โปสเตอร์ยังเป็นฉบับกอ็ปปี้เลย วันนี้เราได้เห็นหนัง “ครูแก” ตัวจริง ได้ภาพยนตร์ที่เป็นฟิล์มต้นฉบับมาฉายด้วยเครื่องฉายแบบโบราณจริง ๆ คลาสสิคสุด ๆวันนี้เราจะนั่งบนอัฐจันทร์ดูหนังข้ามแม่น้ำเพชรด้วยกัน มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นครับ สิ่งเหล่านี้แหละที่เราอยากให้อยู่ใน “เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง” ครับ พี่นุกูลบอกว่าเราสามารถไปฉายต่างประเทศได้ด้วย  เราจะนำต้นฉบับมาสื่อสารไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น น้องอูก็จะต้องเดินทางไปกับเราจนแก่จนเฒ่าเพื่อโปรโมทหนังเรื่องนี้ด้วยกันนะครับ

 


“เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง”

 

ไม่ง่ายนักกับการมีชีวิตอยู่ให้ได้ด้วยงานเขียน ในประเทศที่รัฐสวัสดิการไม่เเจือจานคนทำงานสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ และไม่ตระหนักใน ‘คุณค่าแท้จริง’ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะนักเขียนสาย วรรณกรรม กวี สารคดี วิชาการ ฯลฯ (งาน Fine Art)  ซึ่งต้องต่อสู้โดยมีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้เป็นตัวกุมชะตากรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นที่หรือแหล่งทุน ฯลฯ ทั้งที่ควรเป็นฝ่ายสนับสนุนอย่างเข้าใจและเห็นใจ ลำพังเลี้ยงปากท้องตัวคนเดียวก็ยังยากลำบากพอแล้ว แต่การดูแลครอบครัวหลายชีวิตในเวลาเดียวกันด้วยอาชีพเดียวคืองานเขียน ถ้าไม่ใช่คนที่มีฝีมือเป็นเลิศเกิดมาเพื่อเขียนและเพียรสู้อย่าง ครูมนัส คนรุ่นหลังอาจไม่มีโอกาสได้อ่านงานที่เป็น อมตะ จากสำนักพิมพ์ที่เห็นคุณค่าอย่างทุกวันนี้

มนัส จรรยงค์ คือ ‘ศิลปิน’ ผู้มีปัญญาเป็นเลิศ ไม่ว่าเขาทำอะไรก็จะทำได้ดี มีทางที่จะสร้างรายได้สร้างตัว แต่เขาเลือกที่จะเป็น ‘นักเขียน’ เมื่อค้นพบว่า ‘งานเขียน’ คือสิ่งที่สามารถรองรับซับสารที่กลั่นจากจิตวิญญาณได้อย่างวิเศษนัก หัวใจที่เปี่ยมด้วยความรักคือจุดเด่น และเป็นจุดเปราะบางอย่างยากที่จะอธิบาย โดยเฉพาะเมื่อถูกทำร้ายให้บาดเจ็บ สัญชาตญาณของการป้องกันตนจะเสริมกลไกให้มีประสิทธิภาพมากกว่าปกติ  เพื่อทำหน้าที่เป็น ‘โล่ห์แห่งรัก’ พิทักษ์ทั้งชีวิตและจิตใจไม่ให้ต้องบอบช้ำจากการกระทำของคนอื่น ผลงานที่แสดงถึงความ ‘ผิดปกติ’ ของตัวละคร ล้วนบอก ‘บาดแผล’ ที่ถูกกลั่นออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจที่เจ็บปวด โดยคนที่มีสัมผัส ‘เร็ว’ และรู้สึก ‘แรง’ (Sensitive) เมื่อสิ่งนี้อยู่ในตัวตนของคนที่มีปัญญาเป็นอาวุธ จึงกลายเป็น ‘คุณสมบัติพิเศษ’ ที่ธรรมชาติมอบให้ ‘คนพิเศษ’ เพื่อสร้างสรรค์ ‘สิ่งวิเศษ’ แก่มนุษยชาติ  หากคนรุ่นหลังยังเห็นคุณค่าแท้จริงของสิ่งนั้นแล้วช่วยกันรักษาไว้ ผลงานจะถูกต่อยอดออกไปไม่ไร้ประโยชน์โพดผล เท่ากับทุกคนได้มอบชีวิตใหม่ ร่วมสร้าง ‘ยาใจ’  ให้โอกาสงานดีได้ทำหน้าที่ของ ‘สุนทรียศิลป์’ (Aesthetics) ต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด. 

 

 

 


[1]   มนัส จรรยงค์ , www.praphansarn.com , สืบค้น 8 พฤษภาคม 2567 https://www.praphansarn.com/home/detail_author_th/53

[2] มนัส จรรยงค์ - จับตาย ,  www.audiobook.nrru.ac.th , สืบค้น 8 พฤษภาคม 2567 http://www.audiobook.nrru.ac.th/index.php/2022/04/09/p1-a04-9/

[3] ข้าพเจ้าเป็นบ้าไป 36 ช.ม. มนัส จรรยงค์ , www.unclejobookshop.com ,  สืบค้น 8 พฤษภาคม 2567 https://www.unclejobookshop.com/products_detail/view/5410782

[4] “อ้ายโหงด : เสียงกลอง กำไล หัวใจสีดำ” , www.blockdit.com , สืบค้น 5 พฤษภาคม 2567 https://www.blockdit.com/posts/633462ca726de8a5f2ec9baf

[5]  ไอ้ค่อมแห่งโนตเตรอะดาม  (The Hunchback of Notre Dame) , praphansarn.com , สืบค้น 5 พฤษภาคม 2567 https://praphansarn.com/home/content/1323

[6]  จับตาย : การโต้กลับของแม่ช่อพุทธชาดของคุณ , praphansarn.com , สืบค้น 5 พฤษภาคม 2567 https://praphansarn.com/home/content/1119

[7]  มนัส จรรยงค์ - จับตาย ,  www.audiobook.nrru.ac.th , สืบค้น 8 พฤษภาคม 2567   http://www.audiobook.nrru.ac.th/index.php/2022/04/09/p1-a04-9/

[8]“ท่อนแขนนางรำ” รำไทยในความสยอง , www.sarakadeelite.com ,  สืบค้น 8 พฤษภาคม 2567 https://www.sarakadeelite.com/lite/traditional-thai-dancing-in-literature/

[9] อัศศิริ ธรรมโชติ ,  www.audiobook.nrru.ac.th , สืบค้น 8 พฤษภาคม 2567  http://www.audiobook.nrru.ac.th/index.php/2021/02/27/284/

[10]  เยือนบ้าน มนัส จรรยงค์ , ทั่วไทยกับนายเต้ย Family , สืบค้น 10 พฤษภาคม 2567 https://www.youtube.com/watch?v=cxPpwfQ8D-c

[12] อัศศิริ ธรรมโชติ ,  www.audiobook.nrru.ac.th , สืบค้น 8 พฤษภาคม 2567  http://www.audiobook.nrru.ac.th/index.php/2021/02/27/284/

[13] ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ - หนังประเคียง ระฆังทอง Full Ep , หนังตะลุง SiamEntertainment ,  สืบค้น 15 พฤษภาคม 2567 https://www.youtube.com/watch?v=GtMIArmwSeA