ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

“ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล”

23
มิถุนายน
2567

Focus

  • “ฟ้าจรดทราย” เป็นผลงานนวนิยายเรื่องที่ 2 ของ โสภาค สุวรรณ ซึ่งเขียนเมื่ออายุ 24 ปี ตีพิมพ์ครั้งแรก ในนิตยสารสตรีสาร รายสัปดาห์ ที่มีนิลวรรณ ปิ่นทอง เป็นบรรณาธิการ รวมเล่มพิมพ์ครั้งแรกในปี 2517 และพิมพ์ล่าสุดครั้งที่ 27 ในปี  2564 โดยเคยสร้างเป็นละครทีวี ช่อง 7 สี มาแล้วในปี 2556 และในปี 2567 “ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล” เป็นละครเวทีที่ได้รับความนิยมของเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์
  • “ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล” ลำดับการกำกับเรื่องที่ 21 ของ ถกลเกียรติ วีรวรรณ มีจำนวนรอบการแสดงจำนวน 55 รอบ มีที่นั่ง 1,512 ต่อรอบโดยจัดแสดงระหว่างวันที่ 12 มิถุนายน-10 สิงหาคม 2567 ณ โรงละคร เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ พร้อมด้วยทีมนักร้อง นักแสดงมากความสามารถทั้ง ณเดชน์ คูกิมิยะ  (พันเอกชารีฟ อัลฟารัซ) , แก้ม กุลกรณ์พัชร์ (มิเชลล์ เดอลาโรนีล์ - ตาฟา) , ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี (กษัตริย์ - องค์อาห์เม็ต) , หนูนา หนึ่งธิดา (แคชฟียา- แคชฟี) และ เก่ง ธชย (เจ้าชายโอมาน)
  • ช่วงท้ายบทความมีภาคผนวกงาน “THACCA SPLASH ซอฟต์พาวเวอร์ฟอรัม 2024”  เป็นงาน Forum ระดับนานาชาติ รวมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ 11 สาขา Food, Travel, Festival, Sport, Design, Arts, Fashion, Book, Film, Music, Game รวมกิจกรรมและเวทีต่าง ๆ รวมผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชนมาร่วมแชร์ประสบการณ์ ให้ได้ร่วมติดตามวิสัยทัศน์ของ ‘คณะกรรมการ Soft Power’ ที่ได้นำ ศิลปะ วัฒนธรรม และแรงบรรดาลใจจาก 11 อุตสาหกรรม ผ่านความคิดสร้างสรรค์ สู่สากลโดยงานนี้มี Communication Partner คือ TikTok Thailand

 


ที่มา : Scenario & Rachadalai

เพลง “ปณิธาน”
ณเดชน์ คุกิมิยะ ขับร้อง

 

บนแผ่นดินแห่งนี้ คือที่เกิด ที่พักพิง
เป็นที่ก่อสร้างฝัน จนทุกอย่างเป็นจริง
เป็นที่รักและเป็นที่ตาย
บนแผ่นดินของฉัน เป็นเหมือนบ้านที่ร่มเย็น
ให้ร่มเงาเมื่อร้อน ให้ไออุ่นเมื่อหนาว
บ้านให้ชีวิตเราได้มีวันนี้ ขอให้ฟ้าเป็นพยาน
จะตั้งปณิธานตอบแทนบ้านเกิดของเรา
ขอฝากชีพและวิญญาณ ฝากร่างและหัวใจ
เหงื่อเราทุกหยด เลือดกายทุกหยาด
ปกป้องผืนดินนี้ ด้วยชีวิต นี่คือปณิธาน

เพื่อความมั่นคง ยืนยงคู่ผืนดิน
เพื่อความร่มเย็นยั่งยืนคู่ฟ้าไกล

ขอให้ฟ้าเป็นพยาน
จะตั้งปณิธานตอบแทนบ้านเกิดของเรา
ขอฝากชีพและวิญญาณ  ฝากร่างและหัวใจ
เหงื่อเราทุกหยด เลือดกายทุกหยาด
ปกป้องผืนดินนี้ ด้วยชีวิต ตราบสิ้นชีวา นี่คือปณิธาน

 

 


ที่มา : Scenario & Rachadalai

 

บทประพันธ์ที่มีคุณภาพคือฐานตั้งต้นสำคัญของผลงานสร้างสรรค์หลากศาสตร์หลายสาขา เป็นสมองส่วนสำคัญที่ถูกสรรไปต่อยอดมากมาย โดยเฉพาะประเภทนวนิยาย ซึ่งพร้อมจะกลายเป็นงานเขียนที่มีมูลค่าและทรงคุณค่ายิ่งใหญ่ หรือถูกรังสรรค์เป็นสื่อใหม่ในทันทีที่ได้รับการประชาสัมพันธ์ในวงกว้างให้กลุ่มเป้าหมายได้รับรู้ โดยเฉพาะผลงานของผู้ประพันธ์ที่ได้รับความนิยมสูง ลิขสิทธิ์จะถูกซื้อขายในระยะยาว เพื่อการพิมพ์ครั้งใหม่ในอนาคต เช่นเดียวกับ อมตะนิยาย “ฟ้าจรดทราย” เป็นผลงานเรื่องที่ 2 ของ โสภาค สุวรรณ เขียนเมื่ออายุ 24 ปี ลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสาร สตรีสาร รายสัปดาห์ นิลวรรณ ปิ่นทอง เป็นบรรณาธิการ รวมเล่มพิมพ์ครั้งแรกในปี 2517 และพิมพ์ล่าสุดครั้งที่ 27 ในปี 2564 หนา 576 หน้า (รวมพิมพ์ถึงปัจจุบัน 27 ครั้ง จัดพิมพ์ - จัดจำหน่ายโดย บริษัท รวมสาส์น ทั้งสิ้น)

ทุกครั้งที่พิมพ์ใหม่จะได้รับการตอบรับอย่างดีมากไม่ต่างจากการเกิดกระแสนิยมในช่วงแรกเมื่อกว่า 50 ปีก่อน แม้จะเคยเป็นละครทีวี ช่อง 7 สี มาแล้วในปี 2556 ยิ่งร้อนทะลุองศามาแรงกว่าทุกครั้งหลังการเปิดตัว (แค่เปิดตาดารานำ) คือ “ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล” ละครเวทีเรื่องแรกของ เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ ล่าสุดยอดของบัตรแน่นขนัดจนต้องต่อรอบการแสดง รวมทั้งสิ้น 55 รอบ ทำลายสถิติละครโรงใหญ่ด้วยสูตรสำเร็จทางการตลาดที่นับวันเก่งฉกาจทวีคูณ จนเกือบจะเป็นละครที่สมบูรณ์ดีในทุกด้าน

เพราะคุณสมบัติของนิยายคลาสสิคของ “ฟ้าจรดทราย” ทำให้เกิดการต่อยอดในหลายรุ่นหลากรูปแบบของการเผยแพร่งานวรรณกรรมอมตะ ทั้งสิ่งพิมพ์ที่เป็นหนังสือนวนิยายตามแบบฉบับต้น แม้ปัจจุบันยุคที่ผู้คนอ่านหนังสือน้อยลงมากแต่ “ฟ้าจรดทราย” ถูกพัฒนาเป็น E-Book (electronic book) : รูปแบบหนังสือที่สร้างขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นเอกสารในรูปแบบดิจิตัลที่นำเสนอข้อมูลในลักษณะข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียงต่าง ๆ จัดเก็บในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่สัมพันธ์กับเนื้อหาได้โดยผ่านจอคอมพิวเตอร์) , ละครทีวี , ละครวิทยุ , ละครเวที ทั้งโรงใหญ่มืออาชีพและโรงเล็ก (ละครโรงเรียน) ฯลฯ และเมื่อมีการนำกลับมาสร้างซ้ำงานละครเวที  (restage)เกิดกระแสอีกหน คนรุ่นใหม่นำกลับมาแนะนำให้เพื่อน ๆ อ่าน ร้อยเรียงเรื่องย่อได้สละสลวยตามแนวนักศึกษาศิลปศาสตร์ ทำให้เรื่องน่าสนใจมากขึ้น ล้วนเป็นการยืนยันว่า วรรณกรรมคลาสสิคคือสิ่งที่อยู่เหนือเงื่อนไขของกาลเวลา “ฟ้าจรดทราย” เป็นอีกหนึ่งนิยายอมตะที่ ‘ได้ใจ’ คนทุกเพศทุกวัยที่รักการอ่านหนังสือคลาสสิค

 


ที่มา : www.bookforsmile.com

 

ฟ้าจรดทราย | โสภาค สุวรรณ
อ่านแล้วมาชวนคุย[1] : Teeradon Kaewklam

‘มิเชลล์’ สาวกำพร้าลูกครึ่งตะวันออก-ฝรั่งเศส ที่เติบโตมาอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องจากการเลี้ยงดูของเหล่าแม่ชีตัดสินใจเดินทางมายัง ‘เกซ่าห์’ เมืองท่าของประเทศฮิลฟารา ที่มีภูมิประเทศเป็นทะเลทรายอันกว้างใหญ่อันเป็นบ้านเกิดของ ‘แคชฟียา‘ เพื่อนสาวคนสนิทบุตรสาวของเศรษฐีใหญ่ในเมือง ทั้งสองมีอุดมการณ์ที่ต้องการพัฒนาให้อาณาจักรทะเลทรายแห่งนี้มีความเจริญด้านการศึกษา เพราะขนบธรรมเนียม และความเชื่อทางศาสนาทำให้การศึกษายังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร โดยเฉพาะในบรรดาสตรี ในอาณาจักรแห่งนี้ผู้หญิงกับผู้ชายต้องอยู่แยกจากกัน ยามที่จะต้องออกไปข้างนอกสตรีก็ต้องมีผ้าคลุมหน้ามิให้ผู้ชายเห็นหน้าตาชัดเจน อีกทั้งศาสนายังอนุญาตให้ผู้ชายมีภรรยาได้มากถึงสี่คน ขนบธรรมเนียมประเพณีอันเข้มงวดนี้เองทำให้ความสัมพันธ์ของแคชฟียา และ ‘โรแบร์’ ไม่สามารถก้าวต่อไปได้

ตอนที่ทั้งคู่ยังเรียนอยู่ที่ฝรั่งเศส โรแบร์ ถูกพี่ชายของแคชฟียาไล่ออกจากบ้านก่อนที่แคชฟียาจะเดินทางกลับมาตุภูมิของเธอไม่นาน เธอหวังว่าโรแบร์ ที่กำลังจะตามมาในฐานะพนักงานของบริษัทน้ำมัน จะรวบรวมเงินก้อนและพาเธอหนีออกจากประเทศนี้ไปด้วยกัน และไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในยุโรป แต่ทว่าเมื่อโรแบร์เดินทางมายังเกซ่าห์ แคชฟียาก็จำเป็นที่จะต้องพามิเชลล์ออกไปพบปะโรแบร์ด้วยทุกครั้ง จนในที่สุดโรแบร์ก็ทนกับกรอบประเพณีที่รัดรึงความสัมพันธ์ของตนเองกับแคชฟียาไม่ไหว ความรักของโรแบร์ที่มีต่อแคชฟียาหมดลง แต่กลับมามอบให้มิเชลล์แทน!

บุตรสาวเศรษฐีผู้เอาแต่ใจอย่างแคชฟียาโกรธจัดเมื่อรู้ว่าโรแบร์ปันใจให้เพื่อนสนิทของตน ประกอบกับทางครอบครัวของแคชฟียาตัดสินใจที่จะส่งหล่อนให้ไปเป็นนางสนมของ องค์อาห์เม็ต กษัตริย์ผู้ปกครองฮิลฟารา เธอจะต้องไปอยู่ในพระราชวังที่อยู่ลึกเข้าไปในเมืองหลวง นั่นทำให้แคชฟียาวางแผนสลับตัวหล่อนกับเพื่อนรัก แคชฟียาหวังส่งให้มิเชลล์ไปตาย เพราะว่าเมื่อไม่นานมีการสวมรอยผู้อื่นเข้าไปเป็นนางสนมเป็นเหตุให้ผู้ที่ถูกส่งไปถูกประหารชีวิตทันที! เจ้าชายโอมาน พยายามจะสั่งประหารชีวิตมิเชลล์ แต่ทว่าองค์อาห์เม็ตมีรับสั่งให้ ชารีฟ ทหารองครักษ์สืบสวนจนพิสูจน์ได้ว่ามิเชลล์คือผู้บริสุทธิ์ เพราะเขาเคยเห็นมิเชลล์กับโรแบร์ในโรงแรมของเกซ่าห์ แต่มิเชลล์ก็ได้อธิบายว่าเธอกับโรแบร์มิได้เป็นอะไรกัน เสน่ห์ ความเฉลียวฉลาดของมิเชลล์ทำให้องค์อาเหม็ดทรงพอพระทัย และต้องการจะรับมิเชลล์เป็นสนม มิเชลล์ตัดสินใจจะถวายตัวเป็นนางสนมขององค์อาเหม็ดเพื่อตอบแทนบุญคุณที่ทรงไว้ชีวิตตนเอง อีกทั้งเธอไม่เหลือใครให้พึ่งอีกต่อไปแล้ว แม้มีสกุลเป็น เดอราโลนีย์ ตระกูลที่สูงศักดิ์ของฝรั่งเศส แต่ก็ไม่มีใครในตระกูลนั้นยอมรับเธอ เพราะเธอมีแม่เป็นคนต่างเชื้อชาติศาสนา…

ในคืนที่เธอจะต้องถวายตัวนั้นเอง เจ้าชายโอมาน พระอนุชาขององค์อาห์เม็ต ก่อกบฏขึ้น องค์อาห์เม็ต์ถูกลอบสังหารอย่างทารุณ อะมีนา นางกำนัลคนสนิทของมิเชลล์ที่นำข่าวการก่อกบฏของเจ้าชายโอมานมาบอกหล่อนถูกฆ่าตายหลังจากที่มิเชลล์วิ่งไปแจ้งข่าวชารีฟ เจ้าชายโอมานมีคำสั่งให้ไล่ล่าทหารองครักษ์ชารีฟและมิเชลล์ เพราะทราบว่าทหารจำนวนมากของฮิลฟาราจงรักภักดีต่อองค์อาห์เม็ตและชารีฟ หากชารีฟคิดจะยึดอำนาจกลับไปก็คงทำได้โดยง่าย มิเชลล์และชารีฟจำเป็นที่จะต้องเดินทางร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางเดียวที่ทั้งสองจะรอดจากการไล่ล่าคือการหนีเข้าไปในทะเลทรายที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ดงมรณะ’ และต้องใช้ชีวิตแบบ เบนดูอิน ที่ย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ๆ ท่ามกลางความร้อนระอุของผืนทรายในยามกลางวันและแสงระยิบระยับจากดวงดารายามกลางคืน ความรักจากคนสองคนที่ต่างเชื้อชาติ ศาสนา  และฐานันดร ได้ก่อตัวกันอย่างช้า ๆ จนในที่สุดฟ้าและทรายก็ได้จรดกันเป็นคนคนเดียวกันในที่สุด

นอกจากความรักของ ชารีฟ และมิเชลล์ที่สุดแสนจะโรแมนติกมาก ๆ แล้ว ’ฟ้าจรดทราย’ ยังเป็นนวนิยายที่เต็มไปด้วยความละเมียดละไม และวัฒนธรรมชาวทะเลทรายตะวันออกกลางที่มีเสน่ห์อย่างถึงที่สุด ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบรรยากาศ ท้องเรื่องมีความสมจริงมาก ๆ แม้จะอ่านเป็นรอบที่สามก็ยังเอาใจช่วยชารีฟ และมิเชลล์ ให้รอดพ้นจากความยากลำบากในทะเลทรายให้ได้ สมแล้วที่ฟ้าจรดทราย เป็นไพรัชนิยายอันดับต้น ๆ หรืออาจจะเป็นอันดับหนึ่งของเมืองไทยเลยทีเดียว.

 


ที่มา : หรอยแรง (Pantip)

 

50 ปี “ฟ้าจรดทราย” นิยายอมตะ

“ฟ้าจรดทราย” โดย รำไพพรรณ สุวรรณสาร (ปัจจุบัน ใช้นามสกุล ศรีโสภาค ตามสามี) เจ้าของนามปากกา โสภาค สุวรรณ มีสโลแกนของเรื่องที่ไม่เคยเปลี่ยนยืนยันจุดขายฉายชัดต่อมัดความหมายของคำว่า ‘ไพรัชนิยาย’ ด้วย ‘นวนิยายแห่งความรัก : เกิดขึ้นท่ามกลางดวงอาทิตย์ที่แผดกล้าร้อนแรง แลผืนทรายอันละเอียดอ่อน ทอดยาวกว้างไกลสุดสายตา’ ดูเหมือนสั้นแต่สื่อสารได้จินตนาการกว้างไกล ที่สำคัญคือ เป็นผลงานที่มีลักษณะของ ‘นิยายคลาสสิค’ เช่นเดียวกับอีกหลายเรื่องของนักเขียนคนเดียวกัน โดยเฉพาะใต้ Theme ที่ว่าด้วยทะเลทราย รักที่อฮัคการ์, ความลับบนแหลมไซไน, ฟ้าสางที่ดักการ์ ฯลฯ (เคยมีการทำโพลชารีฟชนะเลิศในผลโหวตสำรวจความนิยมเมื่อหลายปีก่อน ท่ามกลางเจ้าชายในดินแดนทะเลทรายจากหลายเล่มดังกล่าว) ทั้งที่แต่ละเรื่องมีจุดดีจุดเด่นต่างกัน น่าสนใจว่าอะไรคือเหตุผลของยุคสมัย…

 

เมื่อพิมพ์หลายครั้งขนาดนี้คงมีเหตุผลของแต่ละครั้งไม่ต่างกัน เพราะวิธีเขียนแบบพรรณาโวหาร คือเครื่องหนุนจินตนาการของนักอ่าน เปิดโอกาสให้ทะยานสู่โลกในฝันที่สามารถสร้างสรรค์ต่อยอดได้ด้วยตัวเอง ผ่านการมอบองค์ความรู้ที่แน่วแน่ในแนว ‘มนุษยนิยม’ บ่มหลายเรื่องราวเกี่ยวกับเนื้อหาทุกประเด็นที่เป็นทั้ง main plot และ sub plot บอกถึงเบื้องหลังการงานที่เปี่ยมคุณภาพไม่ฉาบฉวยของ โสภาค สุวรรณ ผู้ประพันธ์คนเก่ง และด้วยหน้าที่นักการทูตของบิดาซึ่งรับราชการและเดินทางพำนักในหลายประเทศ ทำให้มีโอกาสติดตาม เอื้อต่อการเก็บประสบการณ์มาเป็นฐานในการสร้างงานเขียนที่ ‘แน่น’ ด้วยเนื้อหาและรายละเอียดที่สมจริง มีความเข้มข้นของเรื่องที่ทั้งซับซ้อนและอ่อนไหวต่อความเป็นความตายอยู่ทุกขณะ ทำให้คนอ่านเอาใจช่วยพระนางทุกก้าวขยับในทุกตอนตลอดเรื่อง และโดยเฉพาะ ‘การต่อสู้ภายในจิตใจ’ ของ มิเชลล์ กับ ชารีฟ ที่ดิ้นรนค้นหาอิสระจากสถานะที่ไม่ต้องการ คืออีกด้านของการผจญภัยที่เรื่องเปิดโอกาสให้ตัวละครมีสุขท้น-ทุกข์ท่วม ท่ามทะเลทรายแห่งความตายและความรัก

 

  • การเมืองในประเทศมหาอำนาจ ฝรั่งเศส-ตะวันตก กับ ตะวันออก สองขั้วตรงข้าม ตัวละครนำคือตัวแทนของโลกเก่ากับโลกใหม่ เอื้อให้ปะทะสังสรรค์ทางความคิด ในขณะที่ทุกฝ่ายต่างก็ยังมีความเป็นโลกเก่าซ้อนอยู่ในโลกใหม่ และมีโลกใหม่ซ้อนทับกับโลกเก่าให้เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลง เป็นอีกเสน่ห์หนึ่งในความแตกต่างนั้น การพยายามรักษาบัลลังก์ของอาห์เม็ต ชารีฟตัวแทนราชสกุลรุ่นใหม่นักเรียนนอกที่มีเปี่ยมไปด้วยอุดมคติและอุดมการณ์ ที่ประสงค์จะเปลี่ยนค่านิยม ประเพณีโบราณของบ้านเมืองเพื่อความรุ่งเรืองแบบ ‘ตะวันตก’ ที่ไม่ใช่แค่มั่งมีเงินทองหรือทรัพยากรน้ำมันเท่านั้น

 

  • ไม่ลงลึกในรายละเอียดทางการเมืองการทหาร เพื่อรักษาอรรถรสของ ‘นิยายรัก’ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ในระดับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศมหาอำนาจ อเมริกาและยุโรป กับตะวันออกกลาง ที่หนุนฝ่ายเจ้าชายโอมานให้ก่อกบฏด้วยการสนับสนุนกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ (ล้วนถือข้างเพราะหวังอำนาจเหนือแผ่นดินในนาม’มิตรประเทศ’) แต่บอกเล่าเรื่อง ความดีและการสร้างบารมีของผู้นำ ผ่านคุณสมบัติของชารีฟกับองค์อาห์เม็ต มีผลถึงการปกครองทหารใต้บังคับบัญชาของพระราชา ที่เปี่ยมไปด้วยความภักดีถวายชีพเป็นชาติพลี ซึ่งจะตรงข้ามกับทหารรับจ้างของเจ้าชายโอมานพระอนุชา ที่มีเงินเป็นเงื่อนไขไม่ใช่บารมีจากคุณความดี มักหนีเอาตัวรอดยามคับขัน การก่อกบฏไม่สะเทือนบัลลังก์เพราะไม่ใช่พระประสงค์ที่จะล้มล้างการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นประมุข เพียงต้องการยึดอำนาจก่อนเวลา

 


ที่มา : Scenario & Rachadalai

 

  • ปรับทัศนะให้ยอมรับความต่างระหว่าง ศาสนา  วัฒนธรรม ประเพณี แม้มีในความต่างระหว่างเชื้อชาติ ศาสนา ผิวพรรณ วรรณะ ให้แนวคิดใหม่ผ่าน มิเชลล์-ชารีฟ ด้วยปรัชญาของแต่ละศาสนา แม้คนละแนวแต่เน้นความเป็น ‘ผู้ให้’ ทั้งให้ชีวิต-ให้โอกาส คือการสร้างคน (คุณภาพ) เพื่อเป็นแบบอย่างการสร้างสังคมดี มีเสรี มีความรัก เพื่อสันติสุขของมนุษยชาติ ด้วยการวาดภูมิหลังให้มิเชลล์เป็นเด็กในอุปการะของคริสตจักร รักผู้คน ใจบุญ ชารีฟเปี่ยมเมตตา ทัศนวิสัยกว้างไกล เป็นผู้อุปการะบริวาร ผู้ใต้บังคับบัญชา และคนอื่น ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่ทุกการกระทำจะมีผลสะท้อนย้อนกลับคืนมาเสมอ (ในศาสนาพุทธสอนด้วยคำว่า บาป-บุญ) เมื่อถึงเวลาความดีจะตอบสนองคนดี ไม่มีการให้ไปที่สูญเปล่า

 

  • การอบรมบ่มนิสัยอย่างเคร่งครัดส่งผลให้คนเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี มีผลกับการข่มกิเลสของตัวละครแม้ในสถานการณ์เป็นใจ จนกว่าจะสุดกลั้น แม้นายทหารรุ่นใหม่ผู้นำหัวก้าวหน้ายังมีแนวคิดบูชาพรหมจรรย์ และเมื่อได้บ่มสายสัมพันธ์จนสุกงอมย่อมแพ้ธรรมชาติ ยอมเป็นผู้รับอย่างมีศักดิ์ศรี ด้วยเหตุผลที่สมควรแล้วทุกประการเท่านั้น (ได้รับเคารพในความเป็นคนที่มีคุณสมบัติดี มีวุฒิภาวะ เป็นผู้นำ มีฝีมือ  ถือคุณธรรม เก่งมาก ฝากชีวิตได้ ยอมตายเพื่อเธอ) เพราะเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ค่านิยมใหม่ในตะวันตกทั้งยุโรปและอเมริกาขณะนั้นเป็นยุคประชาธิปไตยที่ให้เกียรติผู้หญิง สังคมครอบครัวเดี่ยว นิยมผัวเดียวเมียเดียว ตรงข้ามกับตะวันออกกลางที่ยังล้าหลัง โดยมีมิเชลล์เป็นตัวแทนนำทัพฝ่ายหญิงเรียกร้องผ่าน ชารีฟ ผู้นำฝ่ายชายที่มีแผนปฏิวัติวัฒนธรรม โดยเริ่มจากหน่วยเล็กที่สุดของสังคมคือ ครอบครัว

 

  • แนวคิดโค่นบัลลังก์ทองของความเป็นปิตาธิปไตย (แม้ในความเป็นกษัตริย์ที่เปี่ยมเมตตา ยังไม่ปรารถนาการปฏิเสธหากต้องการจะครอบครองชีวิตใคร) โดยให้หญิงเป็นใหญ่อยู่เบื้องหลังฮีโร่รุ่นใหม่ใฝ่ก้าวหน้า ผ่านคุณสมบัติของ มิเชลล์ ผู้มีความเป็นเบญจกัลยาณีศรีสยามงามทั้งรูปสมบัติ คุณสมบัติ ที่ลงตัวระหว่างตะวันตก  กับตะวันออก สะท้อนยุคสมัยเมื่อ 50-60 ปีก่อน ตรงกับช่วงที่อเมริกา ยุโรป เบ่งบานด้วยการรณรงค์ประชาธิปไตย ให้เกียรติบทบาทผู้หญิงได้มีสิทธิ์เท่าเทียมชายส่งอิทธิพลกระจายวงกว้างโดยเฉพาะทางเอเชียต่างยอมรับและปรับวิถีชีวิตตามแนวคิดใหม่ให้เป็นครอบครัวเดี่ยว

 

 


ที่มา : Scenario & Rachadalai

 

  • สร้างตัวละครให้มีมิติในความเป็นมนุษย์ ให้ความเป็นคนมีปฏิภาณไหวพริบดีเป็นเลิศแก่ชารีฟ ให้เข้ามามีบทบาทเด่นในเหตุการณ์สำคัญทุกครั้ง ตามตำแหน่ง ‘พระเอก’ (hero) เป็นเหตุผลที่เหมาะสมต่อสถานะที่ต้องสร้างศรัทธา น่าเชื่อถือ ดึงดูด น่าติดตาม โดยเฉพาะการช่วยชีวิตแบบหวิดตายต่อมิเชลล์ เช่น ขณะแรมทางกลางทะเลทราย มิเชลล์ต้องแต่งกายเป็นชายเพื่อพรางตัว ถูกโจรขู่ฆ่า ต้องการค้นตัวเปิดหน้า ชารีฟอ้างว่าสมุนคนนี้ขี้โรค กำลังเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอย่าเข้าใกล้ ทำใมันถอยห่างอย่างหวาดกลัว รอดตัวรอดตายมาได้เพราะไหวพริบปฏิภาณ นักอ่านเอาใจช่วยชวนติดตาม

 

  • ตัวละครนำมีคุณสมบัติเด่นเป็นเทพบุตร เทพธิดา และจะย้ำยลอยู่ตลอดเรื่อง ในทุกบททุกตอน อ้อนให้คนอ่านคนฟังพลอยฝัน กระทั่งตอนต่อสู้ไล่ฟันห้ำหั่นกันด้วยมีดวงเดือน ชารีฟถูกโอมานสอยเสื้อขาดรุ่งริ่งเหงื่อโทรมกาย อยู่ระหว่างความเป็นความตายก็ไม่วายชมโฉม แม้เหล่าผู้ชายยังไม่วายอิจฉาหุ่นนักรบของชารีฟ รวบทุกตัวละครในเรื่องมาร่วมกันสรรเสริญเจริญใจ เล่นกับความฝันใฝ่ของทุกฝ่าย ให้รู้สึกอยากจะได้มาครอบครอง และตอนจบต้องแต่งงานตามธรรมเนียมไทยนิยมสมปรารถนาถ้วนหน้า ให้สมกับที่ลำบากตรากตรำกรำชีวิตมาด้วยกัน สวรรค์ร่วมสรรเสริญเจริญใจ ในขณะเดียวกันก็ใช้ผิวพรรณเป็นบรรทัดฐานในการแบ่งความต่างระหว่างชนชั้นและเชื้อชาติ (ผิวขาวบอกความเป็นผู้ดีมีสกุล ตรงข้ามกับพวกผิวดำชนเร่ร่อน เบดูอิน)

 

  • เล่นกับความฝันของทุกฝ่ายทั้งชาย-หญิง ด้วยคุณสมบัติเป็นเลิศ ทั้งปัญญา-สารรูป และโชคชะตา ทั้งคู่ มีความเป็น perfectionist มีผลทางจิตวิทยาตามสูตรการสร้าง ‘แม่แบบ-พิมพ์นิยม’ (iconic) โดยเฉพาะต่อนักอ่านนิยาย (แฟนโสภาคส่วนมากเป็นผู้หญิง) คุณสมบัติของชารีฟจึงเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบมาก จบจากอเมริกาทั้งสาขาการทหารและการแพทย์, เกิดในตระกูลที่ดีร่ำรวย เชื้อสายราชนิกูล (เป็นรัชทายาทลำดับที่ 4), มีความเป็นสภาพบุรุษ และมีความเป็นลูกผู้ชายในสันดาน ข่มความต้องการและให้เกียรติสตรีอย่างคนที่เคารพศักดิ์ศรีตัวเอง (คำมั่นจากใจที่ให้สัญญากับมิเชลล์เมื่อเห็นเธอกังวล ว่าจะมีกันและกันแค่ พ่อ แม่ ลูก ตามแบบครอบครัวตะวันตก ที่มีพ่อเป็นแบบอย่างนำทางมาก่อนแล้ว จุดนี้เน้นย้ำถึงความรักที่มีต่อมิเชลล์มากมาย แฝงความหมายของการขบถต่อวัฒนธรรมประเพณีโบราณของอิสลามที่อนุญาตให้ผู้ชายมีเมียได้ถึง 4 คน จนนักอ่านอิ่มใจแอบอิจฉาน้ำตาไหลไปพร้อมกัน)

 


ที่มา : Scenario & Rachadalai

 

เสน่ห์ของนิยายคือรายละเอียด

จุดเด่นที่ทำให้นิยายเป็นอมตะชนะเลิศทุกสื่อคือ การให้รายละเอียดเชิงลึกโดยเฉพาะกับประเด็นสำคัญ ทำให้เรื่องมีมิติสมจริง เช่นการรอนแรมกลางทะเลทรายในฉากหนีตายของมิเชลล์กับชารีฟ บทสนทนาบอกตัวตนที่มีผลต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ มีความเป็น sentimental ตามแนวทางของ Romantic Realist ขณะความตายกำลังไล่ล่า มีเหตุการณ์เร้าใจ เล่นกับอารมณ์และจินตนาการ ที่เอื้อต่องานออกแบบดินแดนแล้งร้ายในทะเลทรายให้กลายเป็น Oasis ในใจผู้ชม เหมือนที่หนังสือทำได้มาตลอด 50 ปี

ตัวอย่างเช่นบางตอนจากหนังสือ (หรือบทละครวิทยุ) มีรายละเอียดของการเรียนรู้กันและกัน (ตรงข้ามกับงานเขียนรุ่นใหม่ในยุคนี้ที่ตัดเหลือแต่คำพูด วิทยุก็ใช้คำพูดเดินเรื่อง แต่มีบทบรรยายเพิ่มให้เห็นภาพ) ทำให้ได้เรียนรู้ ไปกับเนื้อหา ไม่น่าเบื่อเพราะมีเหตุการณ์กับตัวละครนำไป และไม่ฉาบฉวยตามสมัยนิยม ที่ถูกทับถมด้วยวัฒนธรรม FAST  ทั้งเรื่องเป็น location ที่ผู้คนไม่คุ้นเคย พร้อมรายละเอียดจากการบรรยายอย่างรู้จริง จึงสมจริงในภูมิทัศน์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต จิตใจผู้คน ฯลฯ บนนรกทะเลทรายจึงกลายเป็น ‘ตัวเอก’ อีกคนของเรื่อง เสมือนโอบพระ-นางไว้ให้ผจญภัยในโลกของความฝัน ฝ่าอันตราย แต่นักอ่านรู้ ยังไงทั้งคู่ก็ต้องชนะ แม้ต้องสละชีวิตเป็นเดิมพัน

 


ที่มา : Scenario & Rachadalai

 

การสนทนาระหว่างชารีฟกับมิเชลล์ เมื่อเขาขอมีด (ของตัวเอง) ที่มีตราประทับเป็นขององครักษ์คืน เห็นความฉลาด มีทัศนคติที่ดีต่อชีวิต แม้ถูกทอดทิ้ง และผ่านเรื่องเลวร้ายมามาก บอกตัวตนที่เป็น “คนเต็มคน” แม้มีชีวิตที่เติบโตมาอย่างคนขาดรัก

“นี่เธอยังไม่ไว้ใจฉันอีกเหรอจะสงวนตัวไว้ให้องค์อาเม็ตหรือไง ท่านสิ้นพระชนม์ไปแล้วนะ”

“ฉันบอกแล้วไงคะว่าที่ตัดสินใจเข้าไปอยู่ในฮาเร็มน่ะมันเป็นเรื่องสุดวิสัย ถ้าต้องเป็นเมียน้อยเพื่อแลกกับชีวิตฉันก็ยอม เพราะกลางคืนก็จะหมดไปแล้วกลางวันที่ว่างไสวก็จะตามมา ฉันคงพอจะมีทางที่จะหลุดพ้นขุมนรกนั่นได้”

เธอว่าฮาเร็มขององค์อาเม็ตเป็นขุมนรกงั้นเหรอ?

“ใช่ค่ะแต่เป็นขุมนรกชั้นดีหน่อย ถ้าจะต้องเป็นเมียน้อยก็ต้องเลือกระดับนี้ ถึงยังไงก็มีเงินทองฟุ่มเฟือย มีเครื่องเพชรนิลจินดาประดับอวด อาจจะว้าเหว่บ้าง แต่ก็ยังดีกว่าเป็นเมียน้อยคนที่เท่าไหร่ ๆ”

อะไรคือความปรารถนาที่แท้จริงของเธอกันแน่นะมิเชลล์?

“ปรารถนา… เรื่องไหนคะ ความต้องการของคนเรามีนับไม่ถ้วน ท่านจะให้ฉันตอบเกี่ยวกับเรื่องอะไรล่ะคะ?”

เช่นอยากจะมีครอบครัว?

“ถ้าไม่เคยมีครอบครัวล่ะ … ฉันเคยมีพ่อแม่ มีครอบครัวเหมือนกัน แต่มันก็เลือนลางจนเป็นความฝันมากกว่า ฉันมีแตรครอบครัวใหญ่มหึมา พี่น้องของฉันมาจากที่ต่าง ๆ หน้าตาก็ไม่เหมือนกัน ไม่มีพ่อ มีแต่แม่…แม่ชีไงคะ ฉันเป็นคนที่ขาดทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ไม่แปลกใช่ไหมคะ ที่ฉันตัดสินใจเดินทางมาที่บ้านเมืองของคุณ ตัดสินใจเป็นสนมขององค์อาห์เม็ตเพียงเพื่อจะแลกกับชีวิต ฉันอาจจะตัดสินใจทำอะไรง่าย ๆ ก็ได้ เพราะเด็กกำพร้าก็เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะได้รับความอบอุ่นเพียงใดก็ไม่มีวันเพียงพอ และนอกเหนือสิ่งอื่นใด ยังจะมีความเศร้าจะฝังอยู่ลึก ๆ ในใจตลอดเวลา บางครั้งมันก็มีอิทธิพลมาก สำหรับคนที่หมดหวังทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าพื้นฐานไม่ดีก็อาจจะฆ่าตัวตายไปเลยก็ได้”   (บอกธรรมชาติในตัวตนของคนขาดรัก ที่คนรักควรรับรู้)

เธอเคยคิดฆ่าตัวตายเหรอมิเชลล์?

“ไม่ค่ะ ฉันไม่คิดหนีชีวิตด้วยวิธีนั้นหรอก มันดูโง่ไปหน่อย ฉันชอบผจญภัยด้วยตัวเองมากกว่า คุณถามว่าถ้าจะต้องมีครอบครัว การแต่งงานเหรอคะ ทุกคนก็มีความฝันเหมือนกันหมด ตอนเด็ก ๆ ฉันเคยสวดมนต์อ้อนวอนพระเจ้า ขอให้ได้พบพ่อแม่ ทั้ง ๆ ที่เป็นไปไม่ได้ พอเป็นสาวรุ่นกำลังช่างฝันและเยาว์ความคิด ฉันเคยขอให้ได้พบชายหนุ่มรูปหล่อที่รักฉันจริง อยากจะมีครอบครัวเป็นภรรยาที่ดี และเป็นแม่ของเด็กน่ารักหลาย ๆ คน ทุกอย่างที่คิดฝันก็เพื่อสนองความขาด ๆ เกิน ๆ นี่เอง  (เข้าถึง ลึกซึ้ง สะเทือนใจ)

แล้วเดี๋ยวนี้ล่ะ?  (คุณหมอผู้ละเอียดอ่อนต่อการวินิจฉัยพฤติกรรมคนไข้เลียบเคียง)

ฉันเป็นตัวของตัวเองมานานแล้วค่ะ ตั้งแต่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในปารีส เลิกฝันเฟื่องตั้งแต่อายุเกิน 20 อยากจะเรียน ผจญภัยในโลกกว้างเท่าที่จะทำได้ ฉันไม่มีอะไรยึดเหนี่ยว ไม่มีบ้านไม่มีครอบครัวหรอกค่ะ”   (ทั้งคนฟังคนอ่านสะท้านใจ)

“คิดจะอยู่ตัวคนเดียวเหรอ แล้วถ้าต้องแต่งงานล่ะ?”  (เป็นคนตรงและจริงใจมาก)

จะถามทำไมคะ?

เลิกระแวงฉันหรือยัง?

ยังค่ะ  (ต้องการความมั่นใจ ว่าจะไม่ข่มเหง)

ทำไมนะ?

“เพราะท่านเป็นชายหนุ่ม ฉันเป็นหญิงสาวสิคะ”

เอาล่ะฉันยอมแพ้ (หัวเราะเอ็นดู) ไปล้างหน้าล้างตาทำความสะอาดร่างกายเถอะฟ้าสางแล้ว เราจะได้ไปขายอูฐที่ตลาดกลางเมืองด้วยกัน แล้วฉันจะซื้อมีดเล่มใหม่ให้ มีดที่มีตราประทับเป็นของทหารราชองครักษ์เท่านั้น”  (ตราประทับนี้มีความหมายสำคัญต่อสองชีวิต หวิดถูกฆ่าตายเพราะโจรเบดูอินตามล้างแค้นก็รอดมาได้)

 


ที่มา : Scenario & Rachadalai

 

เมื่อท่านราชองครักษ์แห่งฮิลฟารากับมิเชลล์คุยกันถึงแผนการในอนาคต ที่ต้องการจะพ้นไปจากการเร่ร่อนกลางทะเลทรายอย่างไร้จุดหมายไม่สิ้นสุด

ถ้าคุณไปอิชฟาอัคแล้วจะให้ฉันอยู่ที่ไหนคะ?  (ความจริงกลัวถูกทิ้ง ไม่แน่ใจ…)

อ้าวก็ไปด้วยกันสิ จะให้เอาเธอไปทิ้งที่ไหนอีกล่ะ  (นี่แหละคำตอบที่ต้องการ)

ไม่เบื่อฉันเหรอคะ?

เธอล่ะ คงจะเหม็นเบื่อขี้หน้าฉันเต็มทีล่ะสิ?

แล้วคุณล่ะคะ?

ไม่ ไม่เคยเบื่อ คิดว่าตัวเองเหมือนคนแต่งงานแล้ว ไปไหนก็ต้องหอบหิ้วเมียไปด้วย

ฉันเป็นแค่เพื่อนเดินทางของคุณนะคะ  (ผู้หญิงต้องการให้ยืนยันเพื่อความมั่นใจ)

ไม่รู้สิ ทุกวันก็นอนอยู่ใกล้กันยังกับสามีภรรยา ไม่เคยแยกกันสักครั้ง ทำให้เกิดความเคยชินว่า เห็นจะขาดเธอไม่ได้ซะแล้ว  (ตอบอย่างตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว)

อย่าเอาความบังเอิญและความเคยชินมาพูดเป็นเรื่องจริงจังหน่อยเลยค่ะฉันขี้เกียจฟัง

แล้วเธอล่ะไม่เกิดความคุ้นเคยบ้างเลยเหรอ  (จริงใจไม่อ้อมค้อม)

เรื่องอะไรคะ

ก็เรื่องที่ว่าเราจะขาดกันและกันไม่ได้น่ะสิ   (ยอมย้ำให้หนำใจ)

คุณคิดของคุณคนเดียวก็ตอบเองสิคะ

คิดว่า…เราจะรักกันได้ไหมมิเชลล์?

คุณเป็นอะไรไปอีกล่ะคะ พักรบจะต้องพบรักซะร่ำไป อารมณ์ทางทหารหรือไงคะ? หายเครียดเป็นต้องหย่อนใจในทางนี้   (รู้ทันสัญชาตญาณของผู้ชาย)

ไม่ใช่อย่างนั้น…(อ่อนใจ ทำไมไม่ใจอ่อน จะซ่อนความรู้สึกไปทำไม รอบคอบดี)

“ฉันน่ะเคยนึกเวทนาตัวเอง เมื่อตัดสินใจช่วยชีวิตของตัวไม่ให้ตาย ด้วยการยอมเป็นนางในฮาเร็มเพราะมันไม่มีทางเลือก อยู่อย่างราชินีดีกว่าตาย แต่มาตอนนี้ถ้าจะตัดสินใจรักใครสักคนเพื่อจะแต่งงาน ก็หมายความว่าฉันจะต้องมีครอบครัวที่ดี และมีความสุข ไม่ต้องแบ่งความรักให้ใครอีก นอกจากพ่อแม่ลูก เราห่างไกลกันเพราะขนบธรรมเนียม ประเพณี ลืมความคิดกับความเคยชินซะเถอะค่ะ พ้นจากนี้ไปแล้วนับวันเราก็จะยิ่งห่างกันออกไปทุกที ฉันว่าคุณกำลังทำบาปทางใจ ผิดหลักศาสนาและคำสั่งสอนนะคะ”   (อย่าถือโอกาสมาเล่นกับความรู้สึก กำลังต้องการความมั่นใจ มิเชลล์ถามแทนใจผู้หญิงทุกคนที่สับสนลังเล)

 


ที่มา : Scenario & Rachadalai

 

ขณะเดินทางต่อไปในช่วงกลางคืน ความคิดมิเชลล์ยืนยันว่าที่พูดเมื่อตอนกลางวันนั้น แท้จริงมันคือคำถามที่ถามทั้งตัวเองและชารีฟ เหนืออื่นใดคือต้องการคำตอบให้มั่นใจ เพราะไม่อยากฝากชีวิตไว้กับจิตใจที่อ่อนไหวตามสัญชาตญาณ     มิเชลล์คิดขณะลอบมอง หลังถองชารีฟด้วยคำถาม แล้วประณามเขาด้วยคำตอบ

“เขาก้มหน้านิ่งท่าทางเหมือนเด็กหนุ่มที่เพิ่งเคยพูดถึงความรักเป็นครั้งแรก นี่เหรอนายพันเอกแห่งกองทัพบก ราชองครักษ์ประจำพระองค์ นายแพทย์ผู้มีปฏิภาณ เราไม่รู้สึกศรัทธาเขาบ้างเลยเหรอ เราพูดอย่างนั้นออกไปทำไมกัน? เราต้องการให้ทุกสิ่งทุกอย่างสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้น่ะเหรอ?  (ต้องการคำตอบที่ชัดเจนเป็นสรณะ)

ชารีฟ - มืดแล้วล่ะเตรียมตัวไว้ให้พร้อมนะ  (ยังแคลงใจในวาจาจนเสียศูนย์ เสียใจ)

(มิเชลล์คิด) ‘ท่าทางของเขาเคร่งขรึมและห่างเหิน เป็นเพราะเรื่องที่เราพูดรึเปล่านะ พระจันทร์ขึ้นแล้วด้วย อีกสักครู่เราคงออกเดินทางได้’ (แคร์มาก…พลั้งปากไป)

 ‘ถนนเงียบเชียบไม่มีคนเดินแม้แต่คนเดียว ทางไหล่เขาทางทิศเหนือมีกระโจมของพวกเบดูอินเหลืออยู่แบบประปราย เป็นช่องเขาทางออกหมดเขตเมืองพอดี…ทะเลทรายข้างหน้าดูเวิ้งว้างขาวโพลนแล้วก็แฝงความลึกลับยังไงชอบกล  เราต้องร่อนเร่ไปในทะเลทรายอีกนานเท่าไหร่…’  (เหงาใจเหมือนถูกทิ้งเพราะหยิ่งทรนง)

ชารีฟ-เราจะเดินทางตามดาวเหนือโน่นนะไปเรื่อย ๆ เธอรู็สึกอุ่นพอรึยัง ลมจะแรงไปหน่อยนะ ซักค่อนคืนไปแล้วเราควรจะลงเดิน แต่ถ้าง่วงตอนนี้ก็หลับไปก่อนได้    (สะเทือนใจกับคำพูดนางขนาดไหน ยังคงทำหน้าที่สุภาพบุรุษลูกผู้ชายชาติทหาร)

“เขานำอูฐเดินขึ้นหน้าไปแล้ว เห็นแต่เงาร่างสูงสง่าของเขา … โชคชะตาหรือคำบัญชาของพระเจ้าองค์ใดแน่นะ ที่บันดาลให้ผู้ชายคนนี้มามีบทบาทในชีวิตของเรา สิ่งที่เขาพูดกับเราในโรงพักสัตว์นั่น เชื่อถือได้รึเปล่านะ หรือเขากำลังคิดว่า เราเป็นสิ่งชดเชยอารมณ์เครีดของเขา แต่ว่า…ถ้าเขารักเราจริง ๆ ล่ะ แล้วจะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าความรักของเขาจะมีให้เราคนเดียว?”   (บอกความเป็นคนระแวดระวังทั้งที่มีใจ สอนผู้หญิงให้ใส่ใจความเป็น ตัวจริง กับแค่สิ่งสำราญอารมณ์)

 


ที่มา : Scenario & Rachadalai

 

ในดึกคืนวันเดียวกันขณะกำลังพักกลางความมืด ชารีฟโดนพวกเบดูอิน 7 คน ตามล่า หลังจากที่พวกมันทำร้ายแล้วทิ้งไปเพราะเห็นสัญลักษณ์ประจำตัว กลัวตำรวจทะเลทรายตามมาจัดการ เป็นฉากรักที่ exotic มาก ท่ามกลางฉากกระโจมกระจุย

“ชารีฟ…โธ่ ฉันจะช่วยคุณยังไงดี ฉันจะเช็ดเลือดให้คุณอย่าเพิ่งลุกค่ะ พวกมันเจาะถุงน้ำดีว่าน้ำยังไม่หมด ฉันจะเช็ดเลือดให้คุณ” (สงสารใจจะขาดเพราะอาการบาดเจ็บเลือดโชกของชารีฟ)

“แล้วเธอล่ะเป็นยังไงบ้างถูกมันจับเหวี่ยงลงไปเต็มแรง ถ้าฉันรับไม่ทันก็ล้มลงไปแล้ว”

“เจ็บข้อเท้าค่ะฉันทนได้ แต่ฉันทนสภาพตัวเองไม่ไหว เราหมดหวังแล้วใช่ไหมคะ? นี่คือวาระสุดท้ายของเราใช่ไหมคะ”  (แยกรูปแยกนามพยายามสู้กับความเจ็บปวด)

(มิเเชลล์ - คิด) … “เรากำลังถูกปล่อยให้เผชิญความตาย ความตายที่ทุกคนจะต้องเผชิญกับมัน ไม่มีใครรอดพ้นจากมันได้เลย ความแตกต่างของเชื้อชาติศาสนา จะมีความหมายอะไร ในเมื่อบั้นปลายของชีวิตทุกคนก็เหมือนกันหมด”

(ชารีฟ - คิด) จบสิ้นกันทีพระเจ้าเบื้องบนทรงเมตตาได้แค่นี้เอง ไม่มีอูฐ ไม่มีน้ำ ไม่มีเสบียง ยังเหลือระยะทางอีกถึง 4 วัน กว่าจะถึงเมืองอไนซา เราอาจจะไปไม่ถึง ทางนี้ก็เปลี่ยวไม่มีโอเอซิสเลย

“ชารีฟเราจะต้องตายแน่ ๆ เหรอคะ”

“ก็ยากที่เราจะรอด ไม่มีใครรอดไปได้ในสภาพเช่นนี้”

 


ที่มา : Scenario & Rachadalai

 

ท่านเคยเข้มแข็งไม่เคยยอมแพ้อะไรง่าย ๆ นะคะ

คุณคิดอย่างนั้นเหรอมิเชลล์ “เขาโอบร่างเราแน่นขึ้น อย่างน้อยเราก็ยังมีเขา ที่จะคอยปกป้องร่วมเป็นร่วมตาย เขาคนเดียวเท่านั้นที่เราจะไว้วางใจได้ หลอกตัวเองไม่ได้เลยว่าเรารู้สึกอบอุ่น  ปลอดภัยเมื่ออยู่ในอ้อมแขนของเขา”  (มิเชลล์ยอมรับอย่างมั่นใจในไออุ่น)

“เวลานี้เราก็เหลือเธอคนเดียวเท่านั้นที่เป็นสมบัติ ล้ำค่า เราจะปกป้องเธอไว้จนสุดความสามารถ แม้ว่าความหวังแทบจะไม่มีเลยก็ตาม ผู้หญิงที่อยู่ในวงแขนของเรานี่ไม่ใช่เหรอ คือคนที่เรารักจนหมดหัวใจ เธอยังเต็มไปด้วยชีวิต เลือดเนื้อ ที่ควรค่าแก่การทนุถนอมนัก ไม่ใช่เหรอ…

มิเชล เราจะต้องอยู่ด้วยกันอย่างนี้ ฉันเป็นคนพาเธอมาสู้ความตายแท้ ๆ จริงไหม พวกกบฏต้องการชีวิตของฉันมากกว่าเธอซะอีก แล้วเวลานี้เราก็กำลังเดินทางไปสู่ความตายสมใจพวกมันแล้ว น่ากลัวเหลือเกินนะที่จะต้องตายไปทีละน้อย ทีละน้อยทั้ง ๆ ที่ยังมีลมหายใจอยู่ กลัวความตายไหม มิเชลล์”

มิเชลล์ - ไม่ค่ะ ฉันรู้ว่าตราบใดที่คุณยังอยู่ฉันไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น

ชารีฟ - ชื่นใจ…ทำไมหนอความรักกับการจากกันถึงได้มาบรรจบอยู่บนทางสายเดียวรวดเร็วอย่างนี้ พระเจ้าช่างไม่ปราณีเอาซะเลย ….

 “ก็เพราะว่าเรากำลังจะตายน่ะสิที่รัก ฉันถึงได้พยายามตักตวงทุกสิ่งทุกอย่างที่เรียกว่า ‘ความสุข’ ให้กับตัวเอง เพราะถ้ามีชีวิตรอดต่อไปเราก็ไม่มีเวลาจะนั่งนึกถึงตัวเองมากนัก เราเกิดมาเพื่อรับหน้าที่ มีส่วนในสังคมที่เราอยู่ และรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อม เราไม่ได้เกิดมาเพื่อรอรับ หากมีหน้าที่ต้องให้บุคคลอื่น เมื่อเราแน่ใจว่าเราจะต้องตายขนาดนี้ จะซึมเศร้าให้มันตายเร็วขึ้นอีกอย่างนั้นเหรอ …”   (อ้อนวอนขอให้รับรัก ไม่นานนักถูกโจรรุมทำร้าย ฝ่าความตายอย่างฉิวเฉียดจนไม่คิดจะตั้งข้อรังเกียรจใด ๆ สงสารจนมอบตัวมอบใจ ให้ชีวิตกันและกัน)

 


ที่มา : Scenario & Rachadalai

 

สูตรของผู้สำเร็จ : รัชดาลัย

ถกลเกียรติ วีรวรรณ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ เจ้าพ่อละครเวทีบันเทิงไทยมาฟอร์มใหญ่ตั้งแต่เปิดตัวไว้เมื่อปี 2550 ด้วยผลงานกำกับลำดับที่ 5 “ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล” (นำแสดงโดย นัท มีเรีย, ปฏิภาณ ปฐวีกานต์, รฐา โพธิ์งาม, ศรัณยู วงษ์กระจ่าง, พชรพล จั่นเที่ยง และอคัมย์สิริ สุวรรณศุข ​เจิมเวทีรอบแรก (รอบเสด็จ 23 พ.ค) เมื่อ 24 พฤษภาคม-15 กรกฎาคม พ.ศ. 2550) เป็นการประกาศเจตจำนงอย่างมั่นใจ มั่นคง ดำรงความฝันในโลกความจริงมาตลอด 17 ปีเต็ม ครั้งนั้นมียอดผู้ชมกว่า 80,000 คน ตลอด 53 รอบการแสดง นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของละครเวทีไทยที่ประสบความสำเร็จ

การกลับมาครั้งนี้ “ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล” ลำดับการกำกับเรื่องที่ 21 ของ ถกลเกียรติ วีรวรรณ กับจำนวนรอบการแสดงที่ต้องเพิ่มถึง 55 รอบ ที่นั่ง 1,512 ต่อรอบ ยังน้อยไป (12 มิถุนายน-10 สิงหาคม 2567 ณ โรงละคร เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์) พร้อมด้วยทีมนักร้อง นักแสดงมากความสามารถทั้ง ณเดชน์ คูกิมิยะ  (พันเอกชารีฟ อัลฟารัซ) , แก้ม กุลกรณ์พัชร์ (มิเชลล์ เดอลาโรนีล์ - ตาฟา) , ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี (กษัตริย์ - องค์อาห์เม็ต) , หนูนา หนึ่งธิดา (แคชฟียา - แคชฟี) และ เก่ง ธชย (เจ้าชายโอมาน)  และรวมเหล่านักเต้น นักร้อง นักแสดงสมทบอีกมากมายหลายกลุ่ม คือประวัติการณ์หน้าใหม่ที่กำลังประกาศศักยภาพละครเวทีไทยอย่างน่าภูมิใจ และน่าสนใจในเบื้องหลังการบริหารงานที่ไม่ง่าย อะไรคือปัจจัยของความสำเร็จนั้น…

 

1. เลือกเรื่องที่รู้จักกันดีอยู่แล้วในวงกว้าง เพื่อช่วยนำทางในเทคนิคการเล่าด้วยเพลง ที่ต้องใช้เวลาจำกัดให้สามารถจัดลำดับเรื่องได้ลงตัว และที่สำคัญคือมีฐานของนักอ่านเป็นทุนเดิมช่วยเพิ่มแรงหนุน ทุนต้องหนานำหน้ามาแต่ไกลเพราะฟอร์มใหญ่ เป็นเรื่องในดินแดนห่างไกลไม่คุ้นเคย น้อยคนเลยที่จะดิ้นรนไปถ่ายทำ  วิวทิวทัศน์แปลกตา เร้าจินตนา เหมือนได้กรายสู่เทพนิยายแฟนตาซี ละครทีวีหลังข่าวโดย ดาราวิดีโอ บทโทรทัศน์ : ศัลยา สุขะนิวัตติ์ , ผู้จัด - กำกับการแสดง : สยาม สังวริบุตร , ช่อง 7 หนุนทุนมหาศาลใช้เวลาสร้าง 3 ปี ออกอากาศปี 2556 มีเพลงประกอบละครดังติดหูอยู่ในความทรงจำให้รำลึกเพียงหนึ่งเดียวคือ “ดาวเหนือ” ธีรภัทร์ สัจจกุล - ชารีฟ  ร้องได้ดีในน้ำเสียงเว้าวอนอ่อนโยนอย่างมีพลังทั้ง 2 version เป็นความทรงจำประทับใจในอดีตที่หลอมรวมไปกับภาพจำของละคร (โดยเฉพาะนางเอกลูกครึ่ง มิเชลล์ - อุษามณี ไวทยานนท์) ผู้งามพร้อมประหนึ่งเทพธิดาอาหรับ มาตรงปกมาก แฟน ๆ ฟินจิกหมอนนอนฝันดีเป็นที่จดจำ

 


ที่มา : Scenario & Rachadalai

 

2. ดารา มีตัวดึง ตัวเด่น นำโดย ‘ณเดชน์ คูกิมิยะ’ รับบทชารีฟ , ‘แก้ม กุลกรณ์พัชร์’ รับบทมิเชลล์ , ‘หนูนา หนึ่งธิดา’ รับบทแคชฟียา , ‘กบ ทรงสิทธิ์’ รับบทอาห์เม็ต , ‘เก่ง ธชย’ รับบทโอมาน , พรั่งพร้อมไปด้วยเหล่าหมู่มวล (Ensemble) ที่มากความสามารถ ร้อง เต้น เป็นสีสันที่น่าชื่นชมไม่แพ้กัน โดยเฉพาะสาวๆ ในฉากฮาเร็ม สวรรค์ที่ผู้ชายฝันหา ล้วนคัดสรรมาเป็นเซ็ทพิเศษเพลงเพราะเร้าให้ลิงโลด

และด้วยความเป็น perfectionist ของ ณเดชน์ คือความเป็นพระเอกตัวจริงทั้งในจอ-นอกจอ คุณสมบัติ ‘ตรงปก’ ที่ถูกยกไว้ เกินกว่าที่ใครจะมีครบ ทั้งความเป็นนักรบที่แกร่งกล้าสง่างามตามแบบฉบับของราชองครักษ์ มีปัญญาเป็นเลิศทั้งการทหารและการทูต  และมีความอบอุ่นอ่อนอ่อนโยนสมกับที่เป็นนายแพทย์ (ประจำพระองค์) อนงค์ทุกนางปรารถนาได้มาครอบครอง แม้ทุกคนรู้ว่าเขาใส่ใจทุ่มเทเป็นพิเศษสำหรับบทเรื่่องนี้ที่มาแบบ ‘เหนือความคาดหมาย’ (เพราะนึกว่าจะได้เล่นเรื่องแรกแนว comedy จั๊กกะจี้หัวใจ) จึงกลายเป็น Big Surprise ให้วงการ เพราะแบร์คืนความรู้สึก แบบเหนือความคาดหมาย ตอบแทนสิ่งที่เขาได้รับคืนให้กับคนดู

การคัดตัวนักแสดงสมทบที่มาประกบจึงเห็นชัดว่าจะวัดกันยากมาก เพราะรูปร่างที่ชนะเลิศลอยมาสามารถข่มทุกคนให้ ‘แคระ’ ไปในพริบตา โดยเฉพาะฉากปะทะกับทหารฝ่ายกบฏ ไปจนถึงโจรทะเลทราย ทั้งหลายล้วนแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้สู้กันแล้ว

เสียงร้องถ้าเอาแบร์ไปเปรียบกับนักร้องผู้ทรงพลังก็ไม่ยุติธรรมเหมือนเปรียบมวยคนละรุ่น แต่ต้องให้เขาแข่งกับตัวเอง เพราะแบร์มีปรัชญาในการทำงานที่ไม่ต้องแข่งกับใคร แค่แข่งกับตัวเองให้เป็นที่พอใจได้ก็เป็นเป้าหมายที่หนักหนาสาหัสแล้ว เพราะความเป็นคน perfectionist ที่มีปรัชญาในการทำงานว่า “ควรดีกว่านี้ได้อีก” เพื่อไม่ให้ตัวเองหลงไหลไปกับคำชมของคนรอบข้าง แบร์มีวิถีทางในแบบอย่างที่ดีตลอดมา 17 ปี ในวงการ (เกิด 17 ธันวาคม 2534 เข้าวงการเมื่ออายุ 17 ปี ปัจจุบันอายุ 33 ปี )

ณเดชน์เป็นนักแสดงที่มีความเป็นนักร้อง มีเนื้อเสียงที่ดีและ ‘ร้องได้’ ในระดับหนึ่ง ซึ่งมีฐานเดิมอยู่แล้ว เห็นได้จากการขึ้นเวทีโชว์ตัวสม่ำเสมอมาตลอด เมื่อถูกต่อยอดอย่างถูกทาง เสริมฐานใหม่ให้มั่นใจยิ่งขึ้นด้วยการฝึกร้องอย่างดีมีมาตรฐาน ถึงทำได้ดีสมกับที่ฝึกฝนอย่างทรหดอดทน จนชนะใจตัวเองได้ในที่สุด เพลงรักที่ทั้งสองร้องได้อย่างล้นพลัง ถั่งโถมความรู้สึกที่ “ไร้พันธนาการ” ทั้งหวานและกร้าวแกร่ง แข่งกับเสียงหวีดร้องก้องท่ามกลางแสงจันทร์จูบหนั่นเนื้อ ทั้งหน้าอกและแผ่นหลังกำยำที่ย้ำให้ยอม ย้อมใจให้เป็นภาพจำของเรื่องไปอีกนานในนาม ‘ชารีฟ’

และที่เหนืออื่นใดของความเป็นนักแสดงคือ ‘วุฒิภาวะ’ คือพละจากภายในที่มองเห็น ซึ่งจำเป็นต่อสถานะของตัวละคร เพราะมันหลอก (หลอน) กันไม่ได้ ความจริงจะฉายโชนให้เห็นชัดอยู่ในทุกมัดของกล้ามเนื้อ ทุกความเชื่อจากวิธีคิด และทุกก้าวขยับที่ให้ชีวิตตัวละคร แม้แต่ตอนที่ไม่มีบทพูดก็ตาม ทุกครั้งที่แบร์ปรากฏกายบนเวทีเขาทำให้ผู้ชมเชื่อได้ว่านี่คือ ชารีฟ ตัวจริง มีชีวิตเลือดเนื้อไม่ใช่แค่ตัวละคร ไม่บ่อยนักที่วงการจะมีเพชรเม็ดงามมาให้เจียระไนได้ขนาดนี้

‘แก้ม กุลกรณ์พัชร์’ ความเป็นนักร้องส่งพลังให้รอดจากปัญหาหน้าตา แต่เมื่อแก้มประกบณเดชน์ทำให้ ‘รัศมีดาว’ ดึงความเด่นไปไม่น้อย , ‘หนูนา หนึ่งธิดา’ รับบทแคชฟียา เพชรฆาตหน้าหวาน เสียงสะท้านหัวใจ คนนั่งแถวไกลยังต้องหลบตาเธอ, เก่ง ธชย เป็นโอมานได้ใกล้เคียงเห็นภาพสารรูปล่ำเตี้ยตามบทประพันธ์  ดูดุดัน มีความน่าหมั่นไส้ อาศัยเสียงเด่นกลบลบจุดด้อยได้ดี , พี่กบ ทรงสิทธิ์ สุขุม-นุ่มลึก พลังเสียงในร่างสูงให้ความรู้สึกเป็นกษัตริย์ อาห์เม็ต ผู้เปี่ยมปัญญา-เมตตา สมบูรณ์แบบ, แอบชอบหมู่มวลวิ่งผลัดจัดคิว โลดแล่นเป็นลิงพลังล้น ทุกคนเก่งมาก ฯลฯ

 


ที่มา : Scenario & Rachadalai

 

3. หัวใจของ Musical คือเพลง สร้างมาตรฐานสูงด้วยการบรรเลงสดเต็มวง ประพันธ์ดนตรี : สราวุธ เลิศปัญญานุช, ประพันธ์คำร้อง : วิเชียร ตันติพิมลพันธ์, กำกับดนตรี : พัชรพงศ์ จันทาพูน ทุกรอบทุกครั้งคืออีกหนึ่งความอลังที่ลดลงน้อยกว่านี้ไม่ได้แล้ว  มีรักยิ่งใหญ่มายืนยันอุดมการณ์แรงกล้าของชารีฟด้วยเพลง “ปณิธาน”, เพลง “ฟ้าจรดทราย” ในฉากลา, เพลง “ไร้พันธนาการ” ในฉากรักที่กลายเป็นจุดเด่น เป็นดาวในดวงใจ เป็นภาพจำประทับใจแฟน ๆ แน่นด้วยเพลงเพราะ ทั้งหมด 26 เพลง ทั้งเก่าใหม่ ประเคนใส่เต็มเหยียด ถี่ยิบ ไม่มีจุดที่จะได้อธิบายความหมายสำคัญในบางประเด็นที่ไม่ควรทิ้งรายละเอียด (หรือถ้าอยากคงไว้ต้องให้เวลาเพิ่ม เสริมฉากรื่นรมย์ใจในแบบที่มีความเป็น Sentimental) ถ้าตัดเพลงนิดหน่อยให้น้อยกว่านี้ จะกำลังดีที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายขึ้น สมกับเป็นละครรักโรแมนติก (แต่เวอร์ชั่นนี้ก็เป็นรักกลางสนามรบที่รื่นรมย์แล้วล่ะ)

เช่น ฉากรอนแรมกลางนรกทะเลทราย มีความหมายที่เอื้อให้มีจังหวะทำความรู้จักกันอย่างลึกซึ้งก่อนตัดสินใจในเลิฟซีน เพราะซาบซึ้งและสงสาร (ชารีฟช่วยมิเชลล์ไว้ให้รอดตายถึงสองครั้ง) แต่เหลือเพียงสู้กับโจรตอน ลูกสมุนหูหนวก กับ ไอ้หนูขี้เรื้อน แล้วรวบเข้าเลิฟซีนเลย ต้องให้เวลากับเพลง เป็นการรวบจังหวะแนวหนังฮอลลีวูดสูตรสากล ตามแบบรสนิยมคนรุ่นใหม่ ต้องกระชับฉับไวไม่ต่างจากวิสัยของผู้คนบนบริบทปัจจุบัน (เช่นเดียวกันกับหนัง “Moulin Rouge!” ในเวอร์ชั่นใหม่ที่ถูกใจคนอเมริกันมาก ต่างจากคอละครบรอดเวย์ในเวอร์ชันเก่า ฯลฯ )

เพลง Theme มีวิธีการเลือกที่ต่างจากละครทีวี ปี 2556 มาก เพราะเพลง “ดาวเหนือ”[2] ให้บรรยากาศโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาเศร้าลึก เหมือนชารีฟเดินท่ามกลางทะเลทรายเพียงลำพัง ขณะเดินทางไปปฏิบัติการตามแผนกู้บัลลังก์ มีมิเชลล์เป็นความหวังเป็นพลังนำทางชีวิต (ด้วยสัญลักษณ์ดาวเหนือ) แต่เธอก็อยู่ไกลและเขากำลังอยู่ในความเสี่ยงที่เป็นตายเท่ากัน ในขณะที่ละครเวทีเลือกที่จะใช้เพลงคู่ที่เพิ่มพลังใจให้กัน แม้อยู่ในภาวะไร้หวังไม่รู้ชะตากรรม ด้วยเพลง “ไร้พันธนาการ”[3] แม้โลกโหดร้ายไร้หวัง แต่ยังมีเราเคียงข้างกัน จะข้ามวันเวลาฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน “ฉันจะดูแลเธอ สัญญา” อบอุ่นอ่อนหวาน ไพเราะประโลมใจให้จดจำทั้งสองเพลง

 


ที่มา : Scenario & Rachadalai

 

4. การตลาดคือชีวิตของทุกธุรกิจ คุณบอย ถกลเกียรติ เรียนการสื่อสารเสริมเพิ่มปริญญามาอีกใบ หลังจากที่เทใจเรียนการละครจากอังกฤษ Secnario จึงเก่งการตลาดมากกว่า 20 ปี เติบโตมาพร้อมกับการดูแลรัชดาลัย เป็นบริษัทในเครือเพื่อสนองนโยบายด้วยแนวทางที่ยึดมั่นใน ‘หัวใจของการตลาดคือ Entertainment' เพราะความเป็น Media agency มืออาชีพที่ ชัดทุกรายละเอียดและลูกเล่นเล็ก ๆ น่ารัก เช่น ต้องเก็บเงินซื้อตั๋ว (ที่แพงระยับสำหรับบางกลุ่ม แต่กิมมิกกรุ้มกริ่มน่ารัก) , ควบคุมการปล่อยข่าวและภาพประกอบข่าวให้ออกมาเป็น ‘ภาพจำ’ ด้วยมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด (ภาพนิ่งกับสปอต เป็นชุดเดียวกัน), ข่าวเบื้องหลังถ่ายทำวางแผนปล่อยสปอตตามขั้นตอน , ให้สัมภาษณ์เฉพาะรายการที่คัดสรรคุณภาพสูง-ความนิยมสูงตามสูตรสากลทุกคนนิยม(สื่อทีวีเพียงในเครือก็เหลือเฟือแล้ว) นอกนั้นเชิญวันรอบปฐมทัศน์ตามที่จัดให้ ร่วมใจโดย fc จากทั่วประเทศด้วย ช่วยกันแบบ organic -  chic - sharp (Brand Royalty)

 

- รอบปฐมทัศน์จัดรวมโคตรวงการบันเทิงไทย ทั้งเซเล็บ ดารา พาเหรดกันมาเดินพรมแดงตามวัฒนธรรมสากลคนสำคัญ เป็นวันของสื่อทุกสำนัก ทุก platform ห้อมล้อมรวมกัน กลายเป็นงานประเพณีการปรากฏกายเพื่อสร้างปรากฏการณ์ประจำวงการบันเทิงไทย ทุกท่านต้องจัดใหญ่ใส่เต็ม เสมือนมางานมอบรางวัลสำคัญอันทรงเกียรติที่ ถกลเกียรติ วีรวรรณ กับ เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ ตั้งใจมอบให้กับคนรักละครเวที ผ่านการแสดงที่สมบูรณ์แบบในฉบับของตัวเองด้วยความภาคภูมิใจ

 

- หัวใจของ  MASS คือ ENTERTAINMENT แฟนละคร - รายการ วาไรตี้ - บันเทิง ช่อง ONE 31 ล้วนเป็นฐานสำคัญกลุ่มใหญ่ของรัชดาลัย เธียเตอร์ ผนึกกำลังรวมไปถึงอีกหลายรายการในเครือของบริษัทแม่  GMM Grammy ที่ล้วนเป็นกลุ่มก้อนหนึ่งเดียวเหนียวแน่นมานานกว่า 20 ปี แม้ไม่ใช่ฐานใหญ่จากกลุ่มประชากรไทยทั้งประเทศ แต่ก็เป็น ‘ตลาดบน’ ที่ทนทานแข็งแรงสุดแล้วสำหรับละครเวทีที่ต้องจ่ายด้วยหัวใจ (ถ้าไม่รักจริงจะไม่จอง) นอกจากสปอนเซอร์ใหญ่เจ้าประจำแล้ว FC ที่มีทุกรุ่นทุกวัยเป็นทั้ง กำลังใจ-กำลังทุน หนุนให้เติบโตไปด้วยกัน นับวันจะขยายวงทั้งนักศึกษาวิชา ศิลปะการแสดง - การละคร ,  ขับร้อง-ดนตรี ฯลฯ จึงต้องแสวงหาแนวทางใหม่ไปทุกวัน เพราะเวทีโลกเขาไปไกลแล้ว เราต้องไม่น้อยหน้าแน่นอน

 


ที่มา : Scenario & Rachadalai

 

5. บทละครเวทีแม้สร้างจากนิยายก็ต้องใช้ศาสตร์ ‘เรื่องสั้น’ มาเป็นโครงสำคัญของการเล่าเรื่อง ถ้าเป็นละครพูดก็จะเหลือเพียง ‘เรื่องย่อ’ แต่เมื่อเป็นละครเพลง ก็จะเหลือแค่ ‘เค้าโครงเรื่อง’ เพราะเนื้อหาบางส่วนถูกจัดไปอยู่ในเนื้อเพลง ซึ่งต้องจับเฉพาะช่วง magic moment เน้นความรู้สึก (ไม่ลงลึกเจาะประเด็น) อาจจะมีบางช่วงที่ฟังไม่ออก เพื่อกระชั้นกระชับรับจังหวะตามทำนองไม่ต้องใส่ใจทุกคำ แค่นำแนวคิด ไม่ขยายรายละเอียด ล้วนมีผลต่องานเขียนบทแบบปราบเซียนละครเพลง

 

  • เพราะบทที่สร้างจากโจทย์ที่จับหัวใจของการตลาด คือ Entertainment ทำให้ไม่ชัดเจนในการต่อสู้ที่เป็นปมในใจของมิเชลล์ นั่นคือ การด้อยค่าเพื่อนมนุษย์ด้วยทัศนะที่มีต่อความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ เป็นอุปสรรคของความรัก และสันติภาพ (รักในเพื่อนมนุษย์ หยุดสงคราม) จึงแค่เล่าเค้าโครงเรื่องก็หมดเวลาแล้ว เพราะต้องรีบร้องเพลง พร้อมโชว์หมู่มวลมากมายใช้ให้คุ้ม ความลุ่มลึกหายไป ไม่มีเวลาให้คิดใคร่ครวญสารสาระ รีบเสพสุขเพลง-ภาพประทับใจไว้ก่อน แล้วไปย้อนนึกเก็บเป็นที่ระลึกตามหลัง

 

  • การปรับบทยอดเยี่ยมส่งให้การเป็น ‘พระ-เอก’ ของชารีฟสมบูรณ์ขึ้น โดยเปลี่ยนให้เขาอุทิศชีวิตเพื่อกอบกู้บ้านเมืองด้วยการอาสา (เสี่ยงตาย) ไปจับกุมกบฏรัชทายาท (เจ้าชายโอมาน) ตามแผนกู้บัลลังค์ขององค์อาห์เม็ต (ถ้าสู้ไม่ยอมมอบตัวฆ่าได้เลย) ในบทประพันธ์ชารีฟไม่ได้อาสา ด้วยว่าห่วงคนรักเพราะมิเชลล์เพิ่งฟื้นจากอาการป่วยปางตาย หลังรอนแรมฝ่าทะเลทรายมาด้วยกัน และกำลังข้าวใหม่ปลามันตามประสาปุถุชนคนจริง เพราะโจทย์ต้องการนายแพทย์สวมรอยแพทย์อีกคนที่ถูกเรียกตัว เพื่อเข้าไปให้ถึงองค์โอมาน ซึ่งวางแผนล่อชารีฟเข้ากับดัก ด้วยเหตุผลต้องการหมอต่างเมืองเข้ามารักษาผ่าตัดจากอาการไส้เลื่อน (ชารีฟรู้ทันแต่เปลี่ยนแผนไม่ทันกัดฟันสู้) จึงมีเพียงชารีฟเท่านั้นที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง จึงมีพระพระบรมราชโองการจากองค์อาเม็ต จุดนี้เด็ดสุดสำหรับบทละครเวที เพราะตัดรายละเอียดไม่ใส่สาเหตุของการไม่อาสามาแต่แรก (เปลี่ยนบริบท ให้เป็นอาสา)

 

 “จดจำไว้นะชารีฟ หน้าที่ของเจ้าตอนนี้ไม่ใช่แค่ปกป้องข้า แต่เจ้าต้องปกป้องประชาชนฮิลฟาราให้อยู่อย่างสงบสุข อย่าเพียงแค่จงรักภักดีต่อข้า แต่เจ้าต้องจงรักภักดีต่อฮิลฟารา ” คิงอาห์เม็ตตรัสกับชารีฟก่อนปฏิบัติการครั้งสำคัญ กู้ชาติ

 


ที่มา : Scenario & Rachadalai

 

  • การรวบประเด็นสำคัญกลั่นมาเฉพาะคีย์ทำได้ดีมาก ในฉากซ้อนแผนเข้าพบโอมาน การสนทนาขณะต่อรองเพื่อร้องขอชีวิตของชารีฟก่อนดวลดาบวงเดือน ส่งบทให้ผู้หวั่นไหวกลายเป็นผู้กล้าขึ้นมาทันที เพราะโอมานคือผู้เชี่ยวชาญการใช้ดาบประเภทนี้ ในขณะที่ชารีฟเพิ่งฝึกหัดไม่นานก่อนหน้านี้ เขารู้ในข้อเสียเปรียบ ก่อนประดาบมีบทสนทนาที่แสดงถึงไหวพริบของชารีฟใช้เชือดเฉือนด้วยวาจาในภาษาทหารนักการทูต จากหัวใจที่เจ็บปวดต่อการกบถล แล้วยกยอให้โอมานประมาทด้วยจิตวิทยาที่เหนือชั้น และที่เหนืออื่นใดคือการขอละหมาดเพื่อพบพระผู้เป็นเจ้า รวบรวมพลังใจให้เข้มแข็งมอบชีวิตไว้ให้พระองค์เป็น ‘ผู้ตัดสินแท้จริง’ ทั้งมวลล้วนต้องตัดเพื่อจัดกระชับ

 

บทเลือกประเด็นสำคัญสุดมาจี้จุดโฮมาน ส่งสถานการณ์ใหม่ให้หมาหมู่หยุดเคลื่อนไหวแล้วทิ้งดาบ ด้วยการให้ชารีฟพูดไม่มากแต่ถากหัวใจโอมานด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นกษัตริย์ เลือดขัติยาของชารีฟผู้อ่อนศักดิ์จะมาเหนือกว่ารัชทายาทลำดับที่ 2 ไม่ได้ การต่อสู้ถึงถูกเปลี่ยนเป็นดวลดาบตัวต่อตัว โดยไม่ต้องใช้วิทยายุทธด้านจิตวิทยาของคุณหมอผู้มีคุณสมบัตินักการทูตเข้าช่วย กระชั้น กระชับ ขับจังหวะ (beat) ผู้ชมกลั้นหายใจกลัวชารีฟถูกรุม

 


ที่มา : Scenario & Rachadalai

 

6. ทดแทนจุดด้อยด้วยจุดเด่นที่เป็นแม่เหล็กอันทรงพลัง และงานสร้างสุดปังโปรดักชัน  อลังการเทคนิคงานสร้าง ฉาก แสง สี เสียง เรื่องนี้ใช้คุ้มกับพื้นที่ซึ่งถูกสร้างมาเพื่อละครเวทีโดยเฉพาะ บนพื้นที่ 6,500 ตารางเมตร รองรับการเปลี่ยนฉากได้ 48 ระดับชั้น และระบบยกฉากเลื่อนขึ้น-ลง 40 ชุด (Proscenium Theatre) หนึ่งในไม่กี่แห่งของประเทศนี้ เรื่องนี้ใช้คุ้มมากโดยเฉพาะฉากเดินทัพ รับกับ movement นักแสดง (ซอยเท้าอยู่กับที่) รวมเข้ากับเทคนิคภาพยนตร์ที่ฉายบนจอ LED ขนาดมหึมา (ให้ความรู้สึกเหมือนว่ากำลังวิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว) , ฉากวังขรึมขลังอลังการได้บรรยากาศปราสาทกลางทะเลทราย , ฉากหนีตายจากการไล่ล่าของกบฏ ชารีฟพามิเชลล์โรยตัวเลาะริมผา (โหนสลิง) ออกแบบได้ดูสวย-เสี่ยง สมกับที่ผู้ชมเผลอกลั้นลมหายใจไปชั่วขณะเพราะลุ้น กระตุ้นต่อมตื่นเต้นเหมือนเป็นคนที่กำลังรอรับสองชีวิตให้รอดตายอยู่ใต้หุบเหว ฯลฯ และความพิเศษในหลายฉากที่ถูกออกแบบให้ ‘น้อยแต่มาก’ ยากแต่ก็ยอม ออกแบบฉากโดย วีระชัย วรรัตน์ชัยกุล และ ทนงศักดิ์ บุญไขยเดช 

 


ที่มา : Scenario & Rachadalai

 

7. มี surprise ให้เป็นของขวัญกับผู้ชมเสมอ เสมือน gimmick เป็น trick ในการสร้างงาน สำหรับเรื่องนี้คือ love scene กลายเป็นเสน่ห์ยืนหนึ่งของ ฟ้าจรดทราย ที่ ‘น้อยแต่แน่น’ หนุนจินตนาไปกับดาวเต็มฟ้ากลางทะเลทราย สร้างความหมายของฉากรักให้โดดเด่น เน้นอารมณ์ด้วยเพลง “ไร้พันธนาการ” ซึ่งเรียกเสียงกรีดร้องปานก้องปฐพีในทันทีที่เห็นเนื้อหนั่นกระสันหัวใจในเรือนร่างที่เทียบเท่าเทพบุตรกรีก ฉีกจินตนาการให้บรรเจิดด้วยความงามเป็นเลิศของสรีระ แสงสีร่วมโลมไล้รับกับลีลาเคลื่อนไหว พ้องไปกับเสียงร้องที่อบอุ่นอ่อนโยนโอนไหวใจสะท้านกันทั้งโรง โดยเฉพาะนาทีที่ลูบไล้ เล้าโลม โหมเสียงหวีดร้องก้องสะท้อนความรู้สึกจากภายใน(เหมือน)ทำให้โรงสะเทือนแทบจะเคลื่อนเก้าอี้ทุกที่นั่งลงมากองแทบแถวหน้าสุดของเวที จะมีใครได้ใจคุณขนาดนี้บ้าง…แบร์ทำได้ (กล้ามนี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย)

เมื่อเทียบกัน มอส ปฏิภาณ ยังดูแกร่งเกินไปใน moment นี้ที่ต้องอ่อนโยน (ด้วยแรงแห่งรัก) อย่างมีพลัง (เพราะเพลงที่ร้องต้องส่งไปสัมผัสทุกใจท่านผู้ชมให้เป็นพยาน ร่วมกับดาวล้านดวงที่ดารดาษพาดเต็มฟ้ามาร่วมเป็นสักขี ในพิธีสมรสที่ไร้พันธนาการ) โปรดสังเกตมือที่ไล้ลงตรงกลางอก ปกด้วยเสียงร้องที่ต้องประโลมใจ  ใครจะสามารถฉกาจฉกรรจ์ทั้งรบและรักขนาดนี้ แต่ณเดชน์ได้เกรดเอบวกทุกบท

เกิดกระแสเรียกร้องให้แสดงอีกในเรื่องต่อ ๆ ไป แบร์ทำได้ชัวร์ (ซึ่งเจ้าตัวก็หลงรักละครเวทีจนหมดใจ) แม้ผู้บริหารยังไม่รับคำ เพราะเงื่อนไขทางธุรกิจค้ำอยู่ แต่รับรู้และมั่นใจแล้วว่า ณเดชน์คือซุปเปอร์สตาร์เบอร์หนึ่งซึ่งเหมาะสมที่สุดแล้วตั้งแต่สร้างละครมา และเวทีแห่งนี้คือ ‘พื้นที่ของณเดชน์’ ยินดีต้อนรับตลอด เพราะมีแผนพัฒนาศิลปะการแสดงละครเวทีไทยในอีกระดับ เพื่อขยับสู่เวทีโลก ดั่งปณิธาณของผู้กำกับ ถกลเกียรติ วีรวรรณ ที่คนรักละครเอาใจช่วยด้วยศรัทธา

 


ที่มา : Scenario & Rachadalai

 

เพลง “ไร้พันธนาการ”
ณเดชน์ คูกิมิยะ’ - ชารีฟ : กุลกรณ์พัชร์ เมอร์นาร์ด - มิเชลล์

 

ชารีฟ - โปรดสบตาฉัน เธอมีฉันนะคนดี โปรดอย่ากลัวเลยนับจากนี้ ฉันจะดูแลเธอ สัญญา

มิเชลล์ - โปรดอยู่กับฉัน จับมือฉันในวันที่หมดหวัง สายลมผ่าน ฉันหนาว บาดใจของฉัน อุ่นใจฉันด้วยมือของเธอ

ชารีฟ - กอดเธอไว้ในอ้อมแขน โปรดอย่าร้องไห้คนดี เราจะข้ามวันเวลานี้ไป

มิเชลล์ - กอดฉันไว้ในอ้อมแขนอยู่เป็นเหมือนพลังใจ

ชารีฟ - โปรดอย่ากลัว

มิเชลล์- จะไม่กลัว

ชารีฟ - เมื่อวันนี้เธอมีฉัน

(ร้องประสม)

มิเชชล์ - ชารีฟ เมื่อโลกใบนี้โดนแผดเผาจนละลาย สิ่งที่เคยรายรอบกายเลือนหายไป จึงได้มองเธอจริง ๆ และได้รู้ได้เข้าใจ อยากมีแต่เธอข้างกาย เมื่อโลกใบนี้ไร้สิ้นพันธนาการ ได้ทลายความต่างกันในหัวใจ จะปลดเปลื้องความเป็นเธอ เป็นฉัน ให้หมดไป จะมีแต่เราเท่านั้นหล่อหลอมรวมเป็นหนึ่ง จะไม่มีกำแพงใดของเผ่าพันธ์ุ ฐานันดร ต่างพร้อมจะโบยบินสู่ฟากฟ้า ในวันนี้

(ร้องประสาน)

มิเชลล์ - เมื่อโลกใบนี้ถูกแผดเผาจนละลาย / ชารีฟ - เสียงหัวใจ

มิเชลล์ - รายรอบกายเลือนหายไป              / ชารีฟ - บอกว่ารัก รักเธอ เท่าไหร่

มิเชลล์ - จึงได้มองเธอจริง ๆ  และได้รู้ได้เข้าใจ 

(ร้องประสม)

มิเชลล์ - ชารีฟ  อยากมีแต่เธอข้างกาย

(ร้องประสาน)

มิเชลล์ - เมื่อโลกใบนี้ถูกแผดเผาจนละลาย / ชารีฟ - เมื่อโลกใบนี้

มิเชลล์ - เมื่อโลกใบนี้ไร้สิ้นพันธนาการ       / ชารีฟ - จากวันนี้ จรดพรุ่งนี้

มิเชลล์ - ได้ทลายความต่างกันในหัวใจ      / ชารีฟ - อยู่เคียงข้างเธอจนวันตาย

มิเชลล์ - จะปลดเปลื้องความเป็นเธอ เป็นฉัน ให้หมดไป

(ร้องประสม)

จะมีแต่เราเท่านั้นหล่อหลอมรวมเป็นหนึ่ง ได้มีเสรี ปล่อยใจ หล่อหลอมรวมเป็นหนึ่ง

 


ที่มา : Scenario & Rachadalai

 

THACCA - Thailand Creative Culture Agency สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ประกาศรายชื่อ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะ[4] 1 ในนั้นคือ ถกลเกียรติ วีรวรรณ , พิเชษฐ กลั่นชื่น ฯลฯ และอีกหลายคนที่เห็นว่าเป็นความหวังของวงการศิลปะ ในสถานะตัวแทนประชาชนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน พร้อมที่จะผลักดันนโยบายด้านรัฐสวัสดิการ และเสริมทุกปัจจัยในการสร้างงาน สร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการเติบโตของศิลปะสร้างสรรค์ทุกแขนงให้แกร่งขึ้นได้ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแท้จริงต่อไป

  1. เสริมคุณ คุณาวงศ์ (ประธาน) - ประธานบริษัท อาร์ต แท็งก์ กรุ๊ป จำกัด
  2. กิตติภรณ์ ชาลีจันทร์ - นายกสมาคมนักสะสมงานศิลปะไทย
  3. นที อุตฤทธิ์ - ศิลปินร่วมสมัยเจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี 2562
  4. พรรัตน์ ดำรุง - ภาคีสมาชิก​ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ศาสตราจารย์​ประจำภาควิชาศิลปการละคร​ คณะอักษรศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์​มหาวิทยาลัย
  5. พิสาข์ ไวความดี - คนรุ่นใหม่ที่ช่วยนำพาศิลปะการแสดงไปสู่สากล
  6. ลักขณา คุณาวิชยานนท์ - ภัณฑารักษ์และอดีตผู้บริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
  7. สุคนธ์ทิพย์ นาคเกษม - ผู้ก่อตั้ง Warin Lab Contemporary
  8. ถกลเกียรติ วีรวรรณ – ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)
  9. เพียงดาว จริยะพันธุ์ – Bangkok International Performing Arts Meeting (BIPAM)
  10. พิเชษฐ กลั่นชื่น – ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง
  11. อลิสา พันธุ์ศักดิ์ คุณผลิน - กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิฟฟานี่โชว์ พัทยา จำกัด
  12. ศิริวัฒน์ แสนเสริม (เลขานุการ) - อาจารย์ประจำสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย

 

 

งานที่น่าจับตา “THACCA SPLASH ซอฟต์พาวเวอร์ฟอรัม 2024” [5] เป็นงาน Forum ระดับนานาชาติ รวมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ 11 สาขา Food, Travel, Festival, Sport, Design, Arts, Fashion, Book, Film, Music, Game มัดรวมกิจกรรมและเวทีต่าง ๆ รวมผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชนมาร่วมแชร์ประสบการณ์ ให้ได้ร่วมติดตามวิสัยทัศน์ของ ‘คณะกรรมการ Soft Power’ ที่ได้นำ ศิลปะ วัฒนธรรม และแรงบรรดาลใจจาก 11 อุตสาหกรรม ผ่านความคิดสร้างสรรค์ ผ่านทักษะทางด้านสังคม มาจัดแสดง เปิดเวที เปิดโอกาส ให้เห็นถึงความพยายามในการผลักดันกระบวนการพัฒนา เพื่อให้คุณค่าของศิลปะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดกระแส Soft Power เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษกิจตามนโยบายนำศิลปะไทยสู่สากล งานนี้มี Communication Partner : TikTok Thailand นี่เป็นขั้นตอนแรก สำหรับโครงการแรก ในสายศิลปะของรัฐบาลชุดนี้ ที่คนสร้างสรรค์รอกันมานาน เชิญไปพิสูจน์ หาแรงบันดาลใจ หาโอกาสกัน ความฝันอาจไม่ไกล

อัดแน่นเต็มตารางตลอด 3 วันเต็ม 28-30 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) ฮอลล์ 1-2 ชั้น G

ขนทัพ SPEAKERS ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ มาถึง 2 เวทีหลัก

VISION STAGE - เวทีหลักที่จะมา update เทรนด์โลก และนโยบาย Soft Power   ทั้ง 11 สาขา

PATHWAY STAGE - เวทีที่จะมาแชร์ CASE STUDY และห้วข้อสร้างแรงบันดาลใจจาก 6 สาขา (GAME, MUSIC, FILM, BOOK, DESIGN, ART)

และเวทีรองสนองนักสร้างสรรค์

PERFORMANCE STAGE - เวทีจัดแสดงแฟชั่นโชว์ ดนตรี และอื่น ๆ อีกมากมาย

SPLASH POD - พอดแคสต์สัมภาษณ์เหล่าอินฟลู ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ที่จะมาแชร์ประสบการณ์สุด Inspire

SPLASH MASTERCLASS - ห้องเรียนเวิร์คช็อปและพื้นที่กิจกรรมอย่าง SPLASH Hackathon

ติดตามความเคลื่อนไหว และรายละเอียดการจัดงานได้ที่ facebook page : THACCA-Thailand Creative Culture Agency https://www.facebook.com/thaccaofficial

 

 

 


[2]  เพลง “ดาวเหนือ”, Jukapurn Klahan, สืบค้น มิถุนายน 2567 https://www.youtube.com/watch?v=ZTdq8DKVONE

[3]  เพลง “ไร้พันธนาการ”,  Scenario & Rachadalai,  สืบค้น มิถุนายน 2567 https://www.youtube.com/watch?v=aWW_OsNSYXs

[4] คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านศิลปะ, /sto.go.th/media/คำสั่งแต่งตั้งที่-8-2566-คณะอนุฯ-ศิลปะ, สืบค้น 15 กุมภาพันธ์ 2567 https://sto.go.th/media/คำสั่งแต่งตั้งที่-8-2566-คณะอนุฯ-ศิลปะ.pdf

[5] “THACCA SPLASH ซอฟต์พาวเวอร์ฟอรัม 2024”, facebook page : THACCA-Thailand Creative Culture Agency, สืบค้น 11 มิถุนายน 2567 https://fb.watch/sNThcDDUys/