ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

"ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้รักประชาชน" ในความทรงจำของ "ศรีดาวเรือง"

26
เมษายน
2568

Focus

  • เส้นทางชีวิตนักเขียนของ “ศรีดาวเรือง” หรือวรรณา ทรรปนานนท์ ตั้งแต่ภูมิหลังของเธอ จนถึงการก้าวเข้าสู่วงการนักเขียน ศรีดาวกับการเขียนเรื่องสั้น “บางทีวันหนึ่งข้างหน้า” หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งมีนัยประหวัดถึงคำขวัญประจำธรรมศาสตร์ของศรีบูรพาที่ว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” ในข้อเขียน “ดูนักศึกษา ม.ธ.ก. ด้วยแว่นขาว"ซึ่งเรื่องสั้นนี้สะท้อนตัวตนของผู้เขียนและบริบทการเมืองในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี

 


วรรณา สวัสดิ์ศรี หรือศรีดาวเรือง

 


มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2516

 

คำกล่าวแสนคุ้นหูคุ้นตาที่ว่า "ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้รักประชาชน" นั้น เรา ๆ ท่าน ๆ อาจจะพบเห็นหรือยินฟังที่ไหนก็ได้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแทบจะเป็นเสมือนบทอาขยานซึ่งนักศึกษามักจะพูดพร่ำอยู่ซ้ำบ่อย แต่น้อยคนนักที่จะทราบถึงความเป็นมาของถ้อยคำอันมีชื่อเสียงนี้

 


“ดูนักศึกษา ม.ธ.ก.ด้วยแว่นขาว” ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์

 

แท้แล้ว จุดกำเนิดของคำกล่าวข้างต้นมีเค้ามาจากข้อเขียนเรื่อง “ดูนักศึกษา ม.ธ.ก.ด้วยแว่นขาว” ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักประพันธ์เอกเจ้าของนามปากกา “ศรีบูรพา” ซึ่งเป็นศิษย์แห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเช่นกัน กุหลาบ เขียนงานชิ้นนี้ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2495 แล้วได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร ธรรมจักร ปีที่ 5 ฉบับที่ 2  ประจำวันที่ 11 ตุลาคม ปีเดียวกัน

มูลเหตุที่ กุหลาบ ลงมือจับปากกาเขียนเรื่อง “ดูนักศึกษา ม.ธ.ก.ด้วยแว่นขาว” ก็เพื่อรำลึกการครบรอบหนึ่งปีแห่ง “วันที่ระลึกวันหนึ่งในประวัติชีวิตของมหาวิทยาลัย” นั่นคือกรณีที่นักศึกษาเดินขบวนเรียกร้องทวงคืนมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2494 หลังจากถูกกองทหารเข้าบุกยึดครองพื้นที่สถานศึกษาซึ่งเป็นผลกระทบจากการก่อกบฏแมนฮัตตันเมื่อปลายเดือนมิถุนายนปีนั้น

ในข้อเขียน กุหลาบ อธิบายถึงสิ่งที่นักศึกษา ม.ธ.ก. ต้องเผชิญแรงกดดันและการกดขี่มาอย่างหนักหน่วง แต่ก็มิได้ระย่อท้อถอย ดังความตอนหนึ่งว่า

“ความบีบคั้นนานาประการที่นักศึกษาได้ผจญมาไม่ขาดสายนั้น แทนที่จะผลักนักศึกษาให้ถอยหลังกรูดๆ ไป แทนที่จะตีความเป็นกลุ่มก้อนของนักศึกษาให้แตกกระเจิงไป ดังที่อาจมีผู้หวังว่าจะเป็นได้นั้น กลับทำให้นักศึกษาได้รวมกันเป็นกลุ่มก้อนหนาแน่นยิ่งกว่าเดิม แม้ว่าในบางครั้งบางคราวจะได้รับความบีบคั้นคุกคามอย่างหนัก ดังในกรณีการลงทัณฑ์แก่นักศึกษาผู้รักสันติ ก็หาทำให้นักศึกษาสยบซบเศียรไม่ เขาทั้งหลายกลับสะบัดศีรษะเชิดหน้าขึ้น แล้วก้าวต่อไปในวิถีแห่งการต่อสู้เพื่อสันติ ความบีบคั้นไม่ได้ทำและไม่อาจทำให้จิตใจที่ยึดมั่นในสัจจะอ่อนเปียกละลาย ตรงกันข้าม ยิ่งเผชิญก็ยิ่งเกาะเกี่ยวกลมเกลียวกันหนักแน่นยิ่งขึ้น พยานข้อนี้เห็นจะได้จากการรวมกำลังอย่างเปนปึกแผ่นแน่นหนาของนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยนี้ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ปีกลาย ในการเรียกร้องคืนมหาวิทยาลัยของเขา ด้วยเจตจำนงอันเด็ดเดี่ยวที่จะเอาคืนมาให้ได้ และเขาก็ได้มหาวิทยาลัยของเขาคืนมา”

 


ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (คนกลาง), วรรณา สวัสดิ์ศรี (คนขวา)

 

มิหนำซ้ำ นักศึกษา ม.ธ.ก. ในตอนนั้นยังถูกมองจากผู้ปกครองบ้านเมืองว่าถูกครอบงำและชักจูงโดยผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยอย่าง นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งกำลังระหกระเหินลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในต่างประเทศ นั่นจึงทำให้ กุหลาบ พยายามโต้แย้งว่า “หากว่านักศึกษา ม.ธ.ก. เปนเครื่องมือของนักการเมืองคนใดฝ่ายใด และกระทำการใดๆ แต่โดยอาศัยคำยุยงเสี้ยมสอนจากทางหนึ่งทางใดแล้ว ก็คงเปนการง่ายที่ใครๆ จะมาประมูลนักศึกษาที่สักแต่ว่าเปนเครื่องมือของคนหนึ่งฝ่ายหนึ่งไปเปนเครื่องมือของอีกคนหนึ่งฝ่ายหนึ่งได้ และก็เปนการ ง่ายเช่นเดียวกันที่ใครๆ จะยุยงให้เขาเปลี่ยนแปลงความคิดความอ่านของเขา…” ทว่าในความเป็นจริงแล้ว “...นักศึกษา ม.ธ.ก. มิใช่เปนเครื่องมือหรือสินค้าที่จะนำออกขายในตลาดการเมือง และที่ใครๆ จะเข้าถือกรรมสิทธิ์ได้ด้วยการประมูลราคา หากว่าพวกที่ถืออำนาจอยู่ในมือเคยชินมากับการประมูลซื้อสินค้าในตลาดการเมือง ก็ไม่เปนการชอบธรรมเลยที่ท่านจะนำเอาความสันนิษฐานอย่างมักง่ายและต่ำช้าเช่นนั้นมาใช้แก่นักศึกษา ม.ธ.ก.”

กุหลาบ ได้ปิดท้ายข้อเขียน “ดูนักศึกษา ม.ธ.ก.ด้วยแว่นขาว” โดยสรุปถึงการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมของนักศึกษาและบัณฑิตของ ม.ธ.ก. ว่า

“นักศึกษาและบัณฑิตของ ม.ธ.ก. มีความรักในมหาวิทยาลัยของเขา มิใช่เพราะเหตุแต่เพียงว่า เขาได้เรียนในมหาวิทยาลัยนี้ เขาได้วิชาความรู้ไปจากมหาวิทยาลัยนี้ เขารักมหาวิทยาลัยนี้ เพราะว่ามีธาตุบางอย่างของมหาวิทยาลัยนี้ที่สอนให้เขารู้จักรักคนอื่นๆ รู้จักคิดถึงความทุกข์ยากของคนอื่น  เพราะว่ามหาวิทยาลัยนี้ไม่กักกันเขาไว้ในอุปาทาน และความคิดที่จะเอาแต่ตัวรอดเท่านั้น

“ชาว ม.ธ.ก. รักมหาวิทยาลัยของเขา เพราะว่ามหาวิทยาลัยของเขารู้จักรักคนอื่นด้วย”

อันเนื่องมาจากเนื้อความนี้แหละ ภายหลังจึงจะมีการแปรเปลี่ยนหรือนำมาประดิษฐ์ใช้กันในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุ่นต่อมา จนกลายเป็นคำกล่าวที่ว่า“ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”

 


นักศึกษาและประชาชนชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2516
ที่มา: พิพิธภัณฑ์รัฐสภา

 

สิ่งที่น่าคิดใคร่ครวญอีกประการก็คือ การแปรเปลี่ยนหรือประดิษฐ์ขึ้นนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด ดูเหมือนจะยังไม่มีคำตอบแน่ชัด หากอย่างน้อยที่สุดในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หมาดใหม่ ก็พบการใช้คำกล่าวนี้แล้ว หลักฐานที่ยืนยันอาจไม่ใช่หนังสือประวัติศาสตร์ แต่กลับเป็นผลงานวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นของนักเขียนหญิงคนหนึ่ง

สำหรับผม ถ้าจะให้เครดิตว่าคำกล่าว “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” มีจุดเริ่มต้นมาจากกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” แล้ว บางทีเราก็ควรจะต้องให้เครดิตแก่นักเขียนหญิงเจ้าของนามปากกา “ศรีดาวเรือง” ในฐานะที่งานบันทึกความทรงจำของเธอในรูปแบบเรื่องสั้นได้ทำให้เราทราบว่าช่วงภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 คำกล่าวนี้ได้รับความนิยมในหมู่นักศึกษาและประชาชนบ้างแล้ว

ก่อนจะแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง “ศรีดาวเรือง” กับคำกล่าว “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” จำเป็นอย่างยิ่งที่ผมคงต้องแนะนำให้คุณผู้อ่านรู้จักกับชีวประวัติพอสังเขปของเธอ

ไม่หรอกครับ นักเขียนหญิงผู้นี้หาเคยมีโอกาสได้เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลย นามจริงของเธอคือ วรรณา ทรรปนานนท์ หญิงชาวพิษณุโลกที่ได้เรียนหนังสือแค่ ป.4 แล้วพอเป็นสาวแรกรุ่นก็ต้องเดินทางเข้ามาในกรุงเทพมหานครเพื่อทำงานสารพัด เคยเป็นทั้งพี่เลี้ยงเด็ก ลูกจ้างร้านอาหาร คนล้างจาน คนเย็บเสื้อโหล พนักงานเสิร์ฟ แคชเชียร์ ลูกจ้างบ้านฝรั่ง และกรรมกรโรงงาน

ท่ามกลางบรรยากาศตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม วรรณา เคยแวะเวียนมาพบเห็นความเคลื่อนไหวของนักศึกษาและปัญญาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บ้าง แต่คงมิคาดนึกว่าโชคชะตาจะชักนำให้มาพบรักและร่วมอยู่กินกับนักคิดนักเขียนผู้เคยเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้อย่าง สุชาติ สวัสดิ์ศรี ซึ่งตอนนั้นเป็นบรรณาธิการวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์

 


"ศรีดาวเรือง" บนปกนิตยสาร ถนนหนังสือ

 

แม้ในตอนนั้นจะยังไม่มีใครทราบว่า วรรณา เป็นภรรยาของ สุชาติ แต่บรรณาธิการหนุ่มก็ส่งเสริมให้เธอเขียนหนังสือในนามปากกา “ศรีดาวเรือง” โดยเฉพาะการนำประสบการณ์จริงจากการทำงานหลากหลายมาเป็นวัตถุดิบ เรื่องสั้นเรื่องแรกสุดที่ได้รับการเผยแพร่คือ “แก้วหยดเดียว” ลงตีพิมพ์ในวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับประจำเดือนมกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2518 นับเป็นเรื่องสั้นที่ฝากฝีมือจนสะกิดใจให้บรรดานักอ่านอยากรู้ว่านักเขียนเจ้าของนามปากกานี้เป็นใครกัน

 

"ศรีดาวเรือง" บนปกนิตยสาร โลกหนังสือ

 

“ศรีดาวเรือง” ยังคงเขียนเรื่องสั้นออกมาอีกจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีนักอ่านผู้ใดทราบว่านักเขียนคนนี้เป็นใครมาตลอดระยะเวลาหลายปี กระทั่งมีบทวิจารณ์เรื่องสั้นของ “ศรีดาวเรือง” ลงพิมพ์ในนิตยสาร โลกหนังสือ ฉบับประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2522 หากเปิดเผยเพียงว่าเป็นนักเขียนหญิงที่จบชั้น ป. 4 และเคยทำงานเป็นกรรมกร

 


สุชาติและวรรณา สวัสดิ์ศรี

 

จวบจนนักอ่านได้รับรู้กระจ่างชัดว่า “ศรีดาวเรือง” คือภรรยาของ สุชาติ ก็จากนิตยสาร ถนนหนังสือ ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2526 และต่อมาใน ถนนหนังสือ ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2528 จึงมีสกู๊ปแจกแจงชีวิตของเธออย่างละเอียด

เรียกว่าเป็นเวลานานถึง 10 ปีเต็มกว่าที่นักอ่านจะได้รู้จักตัวตนของนักเขียนหญิงผู้นี้

ผลงานเรื่องสั้นของ “ศรีดาวเรือง” ฉายให้เห็นภาพชีวิตของคนธรรมดาสามัญและชนชั้นแรงงาน ถ่ายทอดด้วยน้ำเสียงและท่วงทำนองเรียบง่าย แต่กลับคมคายและลึกซึ้งกินใจ การเล่าเรื่องสำแดงวรรณศิลป์แบบฝีปากของหญิงชาวบ้านที่จริงใจชัดเจน หากพอตรองดี ๆ ก็พบอะไรให้ต้องฉุกคิด และหลาย ๆ ครั้งก็ตั้งคำถามและมองในมุมกลับกันกับกรอบคิดของสังคมไทย

บรรยากาศนับแต่ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เรื่อยมา ได้ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อหลายเรื่องสั้นของ “ศรีดาวเรือง”  ซึ่งเธอก็นำเสนออย่างเปี่ยมอรรถรส รวมทั้งยังเป็นการบันทึกภาพสังคมไทยห้วงยามนั้นไว้ให้คนรุ่นหลังได้พิจารณา

สำหรับเรื่องสั้นของ “ศรีดาวเรือง” ที่สะท้อนถึงความทรงจำเกี่ยวกับคำกล่าว "ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้รักประชาชน" นั่นคือเรื่อง “บางทีวันหนึ่งข้างหน้า” ซึ่งน่าจะเขียนขึ้นช่วงปลายปี พ.ศ. 2516 ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ที่นิสิตนักศึกษาและประชาชนต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยจนล้มรัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลถนอม กิตติขจรได้สำเร็จ โดยตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เอเชีย รายสัปดาห์ ฉบับที่ 109 ประจำวันที่ 28 มกราคม- 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519  บรรณาธิการคือ ภักดี จูเจริญ แล้วต่อมาจึงนำมาพิมพ์รวมไว้กับเรื่องสั้นอื่นๆจนกลายเป็นหนังสือชื่อว่า แก้วหยดเดียว จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เม็ดทรายเมื่อปี พ.ศ. 2526 ก่อนที่หนังสือเล่มนี้จะได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายหนเรื่อยมาตราบปัจจุบัน เฉกเช่นครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2546 มีการจัดพิมพ์เป็นหนังสือในชุด ‘ตุลาวรรณกรรม’ เพื่อฉลองครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม โดยทางมูลนิธิสถาบันวิชาการ ๑๔ ตุลา และความที่เป็นเรื่องสั้นอันพาดพิงถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงถูกนำมาลงพิมพ์ไว้ในหนังสืออนุสรณ์ ธรรมศาสตร์ ๕๐ ปี เมื่อปี พ.ศ. 2527 ด้วย

เรื่องสั้น “บางทีวันหนึ่งข้างหน้า” ถ่ายทอดเรื่องราวของหญิงสาวที่เป็นคนรับใช้รายหนึ่ง ซึ่งเธอนั่งรถเมล์มายังสนามหลวงและได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนเกิดกระแสสำนึกที่ตั้งคำถามถึงบทบาทสถานะของตัวเธอเองในฐานะประชาชน

“ศรีดาวเรือง” เริ่มเปิดฉากว่า

บ่ายวันรุ่งขึ้น เด็กสาวในชุดเสื้อคอพันแขนวงกลมสีเขียวสด กับกางเกงสีดำเดินใจลอยออกมาจากบ้านนายจ้าง ไปตามฟุตบาธหน้าตึกแถวจนพ้นช่วงตึกและมาถึงที่ว่างซึ่งเป็นบึงบอน ด้านหน้าบึงที่ติดถนนดูไม่กว้างมากนัก แต่ด้านซ้ายยาวไปไกลแทบสุดตา-สุดสายตาระดับขอบฟ้าคือหลังคาบ้านสีสันแตกต่างกันของคนมีเงิน วันนี้หมู่เมฆลอยสูง ท้องฟ้าปลอดโปร่ง เธอหยุดมองสีเขียวเวิ้งว้างนั้นราวกับรู้สึกมีอิสระโบยบินอยู่เหนือบึงบอน นิ่งและนาน เด็กสาวถอนหายใจสมองตื้อตัน ด้านหลังของเธอคือท้องถนนที่รถราบางตาเพราะมิใช่ย่านจราจรหนาแน่น ด้านหน้าคือความเงียบ… เธอมิรู้จะไปไหน... ความเศร้าเริ่มเข้าจู่โจมจนน้ำตาคลอ

ว่ากันว่า... มีฝูงปลาไหลมากมายอาศัยอยู่ภายใต้บึงบอนหนาทึบแห่งนี้นับสิบ ๆ ปีมาแล้ว แม้จะมีคนมาล่าอยู่เสมอ แต่ที่เหลือเมื่อเติบโตได้ที่ มันจะค่อย ๆ มีหูแทงออกมา มีขางอกสี่ขา แม้หางยังคงอยู่แต่จะหดสั้น มีขนพองฟูไปทั้งตัว... มันจะกลายเป็นพังพอน

เสียงฉิ่ง-ฉับดังรัวถี่มาจากทางป้ายรถเมล์ เสียงนั้นดึงดูดความสนใจ  เด็กชายอายุ ๕-๖ ขวบ ผิวดำสกปรก ใส่เสื้อหลวมโพรกและขาดเกือบรุ่งริ่ง ผมยาวทิ่มหูนั่งตีฉิ่งเหมือนตั้งใจ แต่ก็หาเป็นจังหวะทำนองใดไม่ นอกจากจะดังฉิ๊ง-ฉับ ๆ เธอเดินขยับเข้าไปใกล้จึงรู้ว่าเด็กชายนั้นตาบอด ขันอะลูมิเนียมเก่ามอมยังว่างเปล่า

ใจประหวัดคิดถึงน้อง... คิดถึงบ้าน… เธอเกิดสงสัยในความเป็นไป

"เอ็งยังเก่งกว่าข้า..."

จากนั้น จึงกำหนดให้ตัวละครหญิงสาวออกเดินทางไปยังสนามหลวง

รถเมล์สีเทาแล่นปราดเข้าจอดป้าย ข้างรถเขียนว่า "บางขุนเทียน-สนามหลวง" อาจเป็นเพราะคำว่า "สนามหลวง" รู้สึกคุ้นหู เธอจึงก้าวขึ้นรถหลังจากลังเลเล็กน้อย

เธอจำได้ว่า เคยไปสนามหลวงครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนั้นไปกับน้าขาว คนครัวของคุณนาย ฝูงคนและร้านค้ามากมายสร้างความยินดีให้จนยากแก่การลืม ตื่นเต้นที่ตัวเองมีโอกาส ทว่าครั้งนี้เธอตื่นเต้นแบบคนตกใจ

เพราะเมื่อถึงสนามหลวง ไม่มีร้านค้า มีแต่ต้นมะขามเปล่าที่ยืนรายรอบ ท้องสนามหลวงเกือบจะไร้หญ้า แดดจ้าฝุ่นปลิว มีเด็กหัดถีบจักรยาน ๒-๓ คน ผู้โดยสารที่ป้ายรถประจำทางโหรงเหรง แต่ที่ริมสนามอีกทางหนึ่งกลับมีคนออ เธอคิดในใจว่า คนพวกนั้นคงมาเที่ยวสนามหลวงเหมือนเธอ เด็กสาวก้าวลงจากรถ ยืนงง เสียงกระเป๋าตะโกนว่าหมตระยะ

การมาถึงสนามหลวงก็คงจะไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ถ้าหากว่าวันนั้น ในมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ มิได้จัดกิจกรรมที่เรียกว่า “มหกรรมการเมือง” ภายหลังจากเพิ่งพ้นผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งผู้เขียนแสดงรายละเอียดของกิจกรรมนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ดังถ้อยความหลายย่อหน้าที่ว่า

เชิญชมมหกรรมการเมือง

ป้ายตัวโตที่ฝั่งถนนตรงข้ามมองเห็นถนัดตา และอ่านได้ชัดเจน แต่ความหมายถ่องแท้เธอไม่เข้าใจ ตอนนั้นเองมีเสียงหนึ่งดังมาจากภายใน

"ท่านทั้งหลายที่เดินไปเดินมาอยู่ภายนอกโปรดทราบ บัดนี้ภายในหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังจะมีการอภิปรายในหัวข้อ “การเมืองไทยภายหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา" ขอเชิญท่านทั้งหลายเข้าฟังและชมการแสดงฟรี ไม่ต้องเสียค่าบัตรผ่านประตู ภายหลังจากจบการอภิปรายแล้ว เราจะมีการแสดงละครเพื่อชีวิตและฉายภาพยนตร์เรื่องยาว…"

เด็กสาวประหลาดใจเป็นล้นพ้น อะไรคือเพื่อชีวิต เธอเหลียวมองไปรอบ ๆ เห็นหมู่คนทยอยกันเข้าไปตามคำเชิญชวน พวกเขาเดินผ่านประตูใหญ่… ตอนนั้นเธอแค่ตามไปสังเกตเพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีคนยืนเก็บบัตรหน้าประตูเหมือนที่วิกลิเกบ้านนอกจริง

มหาวิทยาลัย เป็นไปได้ยังไง ข้างในคงจะมีอะไรให้ดู

เสียงเชิญชวนยังคงดัง เธอก้มมองเสื้อกางเกงและรองเท้าแตะฟองน้ำ มือเท้าตัวเองหนาเทอะทะ  ชำเลืองแลคนข้างเคียงและที่เดินผ่านไป หลายคนทั้งหญิงชาย แม้แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่ไม่สะสวยนัก แต่มือเท้าดูสะอาดบอบบาง ทุกคนล้วนเดินเหินเป็นสง่า มั่นอกมั่นใจเข้าไปเป็นกลุ่ม เธอตัดสินใจ ค่อย ๆ สืบตัวก้าวเท้าตาม ใจคอสั่นระทึก หวาดเกรงและพร้อมจะผวาทันทีหากจะถูกเรียกถูกถาม

"เฮ้ย..นั่นจะไปไหน !"

แต่แล้ว.. เธอก็สามารถเดินเข้าไปภายในได้อย่างปลอดภัย ไร้ใครตอแย

เก้าอี้เบาะนับพัน เรียงรายติดพื้นซีเมนต์เต็มห้องกว้างใหญ่ หน้าเวทีกว้างขวาง มีม่านสีเหลืองกั้น ยังมีเก้าอี้ว่างอีกหลายตัว ไม่มีใครขัดขวางเธอจริง ๆ! เธอรู้สึกราวกับว่าตัวเองล่องหนหายตัวเข้ามาโดยไม่มีใครเห็น ดังนั้นจึงไม่มีใครขัดขวางหรือสนใจ เด็กสาวค่อย ๆ หย่อนก้นลงบนเก้าอี้เพียงหมิ่น ๆ แต่กระนั้นเธอก็รู้ว่ามันช่างนิ่มเหมือนเก้าอี้หุ้มเบาะของคุณนาย เธอนั่งคิด... ทันใดเสียงปรบมือก็ดังกราวใหญ่ ม่านสีเหลืองถูกดึงขึ้นเป็นรูปหยักสวยราวภาพวาด มีผู้ชาย ๕ คนนั่งเรียงหน้ากระดานอยู่บนเก้าอี้กลางเวที เบื้องหลังของพวกเขาเป็นม่านสีดำ สิ่งสะดุดตาและมักคุ้นเกิดขึ้นเมื่อมองเห็นรอยปะขาดเล็กน้อยของม่านผ้าดำ เธอเริ่มสอดส่ายสายตาสำรวจรอบ ๆ เวทีอันกว้างขวางอย่างตื่นเต้น แต่เท่าที่มองเห็นก็มีเพียงภาพวาดรูปมือมากมายหลายแบบ บ้างชูกำปั้น บ้างทำท่ากวัก ม่านสีดำมีรอยปะสวยสู้ม่านลิเกไม่ได้.... ป้ายแผ่นบนสุดแทนที่จะเป็นฉากปราสาทราชวังก็กลับเป็นตัวอักษรสีขาว เขียนไว้บนพื้นผ้าสีแดง เธออ่านได้ความว่า

ฉันรักธรรมศาสตร์

เพราะ

ธรรมศาสตร์สอนฉันให้รักประชาชน

ข้อความประโยคนี้ ทำให้เธอฉงน

แล้วเราล่ะเป็นประชาชนหรือเปล่า…

ยังก่อน... เธอมีเวลาสงสัยได้ไม่นาน เพราะการอภิปรายเริ่มขึ้นแล้ว

"...สังคมนิยมที่มีผู้กล่าวหาว่าไม่ดี เหตุไฉนเมื่อนำไปเทียบกับพืชพันธ์ุอื่น ๆ หากเป็นพืชพันธุ์ที่เลว เมล็ดลีบแคระ มันก็คงไม่อาจงอกเงยขึ้นมาได้  แต่นี่เป็นเพราะพืชพันธุ์คงดี ไปถึงไหนงอกถึงนั่น…"

เสียงปรบมือดังขึ้น และดังอยู่นาน...

สังคมนิยม คืออะไร... เธอคิดอีก

"แม้เราจะมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว แต่ก็ขอให้คิดกันดูเถิด ปัจจุบันโครงสร้างเก่าของระบบข้าราชการเรายังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก รัฐธรรมนูญก็เปลี่ยนแปลงเป็นว่าเล่นเหมือนไม่ใช่กฎหมายสูงสุดของประเทศ..."

บุรุษบนเวทีเว้นจังหวะ

"...ผมคิดว่าเราจะต้องแก้ไขกันที่ปัญหาเศรษฐกิจเป็นสำดับแรก ต้องแก้ไขอย่างจริงใจและมีประสิทธิภาพ เลิกวิธีการมือใครยาวสาวได้สาวเอา เลิกให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแชง กอบโกยผลประโยชน์ออกไป ต้องรีบแก้ไขปัญหาชาวนา และค่าแรงของกรรมกร ธนาคารของเราควรมีไว้ให้ชาวนากู้เงินเพื่อการเกษตร ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งจำเป็นต้องมีการปฏิรูปที่ดินให้ชาวนามีที่ดินเป็นของตนเอง เวนคืนที่ดินจากคนรวยที่ไม่ได้ทำนามาให้ชาวนายากจน รัฐบาลจะต้องประกันราคาข้าวในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด และต้องจำหน่ายข้าวสารราคาถูกให้พอเพียงภายในประเทศ ก่อนคิดถึงการส่งออกขายภายนอกประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการประกันราคาข้าว รัฐบาลจักต้องถือตามสภาพความเป็นจริงที่ยืนอยู่ข้างชาวนาและคนยากจน ไม่ใช่ยืนตามใจพ่อค้า…"

แม้จะพยายามตั้งใจ แต่เธอเข้าใจได้ไม่ถ่องแท้ มันยากเกินไป… มันเป็นคล้ายภาพรางเลือน เมื่อถึงคราวพวกเขาพูดถึงชาวนากรรมกรหรือการกดขี่ อย่างคุณนายนี่จะเรียกว่ากดขี่เราได้หรือเปล่า เราก็แค่ลูกจ้างเขาเท่านั้น มันอะไรกันแน่ แล้วประกันราคาข้าวจะมีประโยชน์อะไรในเมื่อเราไม่มีที่นาจะทำ แต่เอ๊ะ... เมื่อกี้เค้าบอกว่าจะให้ชาวนามีที่นาเป็นของตัวเอง...ดีนี่… แล้วเรื่องอะไรอีก… เรื่องรัฐรรมนูญ ใช่-เธอเคยได้ยินมาแล้วแน่ ๆ อย่างน้อยก็ในหนังสือเรียนที่บอกว่า วันที่ ๑๐ ธันวาคมคือวันรัฐธรรมนูญ แต่เธอไม่เข้าใจ  รัฐธรรมนูญมีแล้วล้มไป แล้วก็กลับขึ้นมาใหม่ คนรับใช้อย่างเธอจะเข้าใจได้อย่างไร

การอภิปรายดำเนินต่อไป...

ในขณะที่ตัวละครหญิงสาวกำลังนั่งฟังการอภิปรายอยู่นั้น “ศรีดาวเรือง” ยังกำหนดให้เธอหวนนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่ต้องเผชิญมาเมื่อวาน โดยเผยให้ผู้อ่านทราบว่าเธอเป็นสาวใช้ที่บ้านของคุณนาย

เมื่อวานนี้… คุณนายเพิ่งคาดโทษเธอไว้หยก ๆ ว่า หากทำตัวไม่เป็นที่ถูกใจอีก เธอจะโดนหักเงินเดือน หรือไม่ก็ถูกไล่ออก

"คุณนุ้ยค้าบ… ขอให้จันนะ... คนดี๊… คนดี... เดี๋ยวเอาอันใหม่ดีกว่า อันใหม่ทานได้ทั้งอันเลย... ม่ะ… อันนี้ทานไม่ได้นะค้าบ"

เธอพยายามขอแตงโมจากคุณนุ้ย แต่ยังไม่ทันได้มา เพราะเด็กชายน้อย ๆ เอาแต่ชูมือหนีบ้าง ซ่อนหลังบ้างอยู่ไปมา

"จันบอกนุ้ยเองไงว่าทานได้" แกย้อนพี่เลี้ยง ทั้งเธอและน้าขาวที่นั่งเตรียมกับข้าวอยู่ในครัวหัวเราะชอบใจ ตอนนั้นเองที่คุณนายกรากเข้ามากระชากแตงโมไปจากมือลูกชายแล้วหันมาใช้ปาหัวเธอ

"แกสอนลูกชั้นยังงี้เหรอ กินได้แกก็กินเข้าไปเองซี… ต๊าย... คนอาไร้ แกอีกคน... ยายขาว หัวหงอกแล้วยังพลอยไปกะมันด้วย" คุณนายพาลเอากับแม่ครัว

"คือยังงี้ค่ะคุณนาย..." ขาว-คนใช้เก่าแก่รีบแก้ต่างเพราะคนเลี้ยงเด็กอ้าปากอธิบายไม่ออก เอาแต่กัดฟันก้มหน้าน้ำตาคลอ หัวเปียกเปื้อนแตงโมเลอะแดง "คุณนุ้ยแกเคยร้องจะเอามีดปอกแตงกวาค่ะ จันก็บอกว่าแตงกวาอ่อนไม่ต้องปอก ทานได้ทั้งเปลือกเลย… แตงล้างสะอาดแล้วนะคะ แต่ตะกี้คุณนุ้ยอยากจะทานแตงโมทั้งเปลือก จันก็บอกว่าทานไม่ได้ จะเปลี่ยนให้ใหม่... ก็มีเท่านี้แหละค่ะ"

คุณนายไม่ยอมอารมณ์ดี แม้จะเอาผิดกับจันไม่ได้ แต่คุณนายก็คือ "คุณนาย" เหมือนนิยายที่เธอติดงอมแงม ตกเย็นวันนั้นยังมีเรื่องคุณนุ้ยนั่งส้วมอีก คุณนายดุเธอโวยวายว่าสอนไม่รู้จักจำอีก แล้วก็เลยคาดโทษไว้ว่าจะถูกตัดเงินเดือน คุณนายต้องการให้ลูกชายใช้กระโถน แต่เด็กชายอายุสามขวบกว่าเบื่อการนั่งกระโถน เธอจึงถูกทั้งแม่และลูกเล่นงานทั้งขึ้นและล่อง

เมื่อคืน... น้าขาวกับเธอนอนปรับทุกข์กันในมุ้ง ขาวโทษตัวเองที่ไปรับเธอมา แต่เธอกับแม่ที่บ้านนอกก็เต็มใจที่จะได้งานทำ จันและขาวคาดฝันไปต่าง ๆ เมื่อคุณนายสั่งอย่างไรก็ต้องพยายามทำอย่างนั้น คนทั้งบ้านต้องยอมให้คุณนาย ส่วนคุณผู้ชายเจ้าบ้านนั้น จะพบหน้าก็เพียงเช้า ๆ เย็น ๆ แต่คนรับใช้ต้องอยู่บ้านรับอารมณ์คุณนายทั้งวัน

"พรุ่งนี้บ่าย ๆ เอ็งอยากไปเที่ยวไหนสักครึ่งวันก็ไปซี" ชาวกระซิบบอกจันในความมืด "กลับมาค่ำ ๆ ก็ได้ คุณนายกับคุณผู้ชายจะออกไปงานเลี้ยงตอนเที่ยง ก็ไม่ต้องตั้งโต๊ะ ข้าจะดูตานุ้ยให้ เอ็งไปเปิดหูเปิดตา... ดูหนังโรงสักเรื่องก็ได้”

การดำเนินเรื่องได้เปลี่ยนฉากกลับมาที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกหน

"ประชาชนเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ฆ่าไม่ตายทำลายไม่หมด เมื่อใดประชาชนไม่ว่าชาวนา กรรมกร นักศึกษา ปัญญาชน ทหาร ตำรวจ และผู้รักความเป็นธรรมทั้งปวงรู้จักสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเมื่อใด เมื่อนั้นพวกเขาย่อมมีพลังอันมหาศาล สามารถพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินได้ทุกวันเวลา ไม่ว่าท้องฟ้าจะเป็นสีใด ประชาชนก็ย่อมเป็นใหญ่ตลอดกาล"

การอภิปรายจบลงแล้ว ผู้คนแสดงความพอใจโดยการปรบมือ แต่เธอไม่กล้าแสดงออกเช่นนั้น เด็กสาวมองซ้ายมองขวาในหอประชุม  ยังไม่กล้าแม้แต่จะขยับนั่งให้เต็มก้น รายการต่อไปยังจะมีให้ชมทั้งละครเพื่อชีวิต และการอ่านบทกวี... บทกวีคืออะไร เธอไม่เข้าใจอีกแล้ว แต่ก็จำใจต้องลุกเดินออกมา เพราะจะต้องกลับให้ถึงบ้านก่อนคุณนาย และด้วยความตั้งใจ หากมีโอกาสเธอจะกลับมาที่... ธรรมศาสตร์... อีกให้ได้

การเข้าร่วมกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยใกล้สนามหลวง ย่อมส่งผลต่อความนึกคิดของเธอจนมิอาจมีความรู้สึกเหมือนเดิม จะเรียกเป็นความตื่นรู้หรือตื่นตัวก็คงไม่ผิด นั่นจึงนำมาสู่การปิดฉากของเรื่องสั้นที่ว่า

ขากลับ

เด็กสาวครุ่นคิดไปตลอดทาง พวกนั้นพูดกันแปลก ๆ หอประชุมกว้างใหญ่ มองผ่านสนามหญ้าออกไป เห็นรูปตึกแปลก ๆ เหมือนดินสอแท่งมหึมา… นี่คือมหาวิทยาลัยที่คนรับใช้อย่างเธอสามารถย่างก้าวเข้ามาเป็นครั้งแรก.... เธอจำแถวตัวหนังสือ ๓ บรรทัดที่ติดไว้กลางม่านเวทีเหลือง-แดงได้ติดตา

ฉันรักธรรมศาสตร์

เพราะ

ธรรมศาสตร์สอนฉันให้รักประชาชน

เธอนึกถึงนิทานปรัมปราเรื่องปลาไหลกลายเป็นพังพอน ซึ่งเธอเชื่อเหมือนเรื่องที่เธอเดินหวาดหวั่นเข้าไปเป็นครั้งแรกในมหาวิทยาลัย แล้วก็เดินตัวตรงออกมา ความประหม่าค่อยๆ จางหาย

เธอคือประชาชน

สักวันหนึ่ง… ธรรมศาสตร์..คงจะรักเธอ

แม้ตัวละครหญิงสาวตามท้องเรื่องจะชื่อจัน แต่ก็ยากปฏิเสธว่านี่คือเรื่องราวที่มาจากประสบการณ์ตรงและชีวิตจริงของ “ศรีดาวเรือง”   โดยจันก็อาจเป็นภาพแทนของวรรณาในวัยสาว ซึ่งเคยทำงานเป็นหญิงรับใช้ และเคยได้แวะมาร่วมสัมผัสกิจกรรมทางการเมืองต่างๆที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เหมือนกัน

เรื่องสั้น “บางทีวันหนึ่งข้างหน้า”  จึงเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ว่าด้วยบรรยากาศสังคมไทยภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคมหรือช่วงปลายทศวรรษ 2510 โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่สำคัญก็คือเป็นหลักฐานที่ยืนยันถึงการมีอยู่ของคำกล่าวที่ว่า“ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”มาตั้งแต่ตอนนั้น

*** ขอขอบคุณภาพถ่ายจาก คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี

 

เอกสารอ้างอิง

  • กุหลาบ สายประดิษฐ์. มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ. สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน 100 ปี ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์), 2548.
  • ธรรมศาสตร์ ๕๐ ปี. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527.
  • ศรีดาวเรือง. “บางทีวันหนึ่งข้างหน้า.” ใน แก้วหยดเดียว. กรุงเทพฯ: เม็ดทราย, 2526
  • ศรีดาวเรือง. “บางทีวันหนึ่งข้างหน้า.” ใน แก้วหยดเดียว. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา, 2526