Focus
- “ทางเทวดา” เป็นบทประพันธ์ของ รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2547 ที่ได้นำแนวทางมาจากวรรณคดี “ทางเทวดา” เป็นหนึ่งในชุดวรรณคดีที่มีทั้งหมด 4 เรื่อง “ทางเทวดา” มาจากเรื่อง “สังข์ทอง” ที่ประพันธ์ขึ้นเมื่อปี 2546 โดยสาแคนก็คือพระสังข์กับเจ้าเงาะ ซึ่งต้องการสื่อสารด้วยความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ การทำดีและทำชั่วของมนุษย์อยู่ในสายตาของสวรรค์เสมอ และการตอบแทนอาจจะออกมาในรูปแบบที่มนุษย์โดยมากนึกไม่ถึง ทั้งนี้เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ที่มุ่งมั่นทำความดี จะได้ฝึกฝนความอดทนและฝ่าฟันอุปสรรคได้ตลอดรอดฝั่ง และยังได้ให้ความสำคัญในประเด็นเรื่องเพศสภาวะ โดยผู้ประพันธ์เสนอว่าทุกคนเท่าเทียมกันหมดไม่ว่าเพศใด
- ละครเวทีเรื่องทางเทวดาเคยถูกสร้างเป็นละครเวทีจำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2548 ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2553 และครั้งที่ 3 คือปี 2567 โดยการเขียนบทของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาวิตา ดิถียนต์ ซึ่งจัดแสดงทั้งหมด 12 รอบ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม-3 พฤศจิกายน 2567 (ยกเว้นวันที่ 28-29 ตุลาคม 2567) ณ ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คำถามอมตะที่มีต่อการเกิดและดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยคือ “ชีวิตของคนเราถูกกำหนดไว้แล้วจริงหรือ?” / “ชีวิต ใครเป็นคนกำหนด สวรรค์ บุญกรรม หรือการกระทำของเราเอง?…” / “สวรรค์กำหนดชีวิตเรา หรือ เรากำหนดชีวิตตัวเอง?” / “ถ้าเลือกเกิดเองได้ ปรารถนาจะเกิดเป็นคนแบบไหน?” / “หากสวรรค์ให้โอกาสเราเลือกเกิดเองได้ ชีวิตจะดีกว่านี้ไหม?” ฯลฯ และแม้แต่เทวดายังมีคำถามต่อ ‘เทวสภา’ ว่า “จะดีกว่าไหมถ้าสวรรค์ให้เขาเลือกเกิดได้เอง?” … ละครเวทีสุขนาฏกรรมเรื่อง “ทางเทวดา” (The Angels Path) มีคำตอบต่อทุกคำถามแม้ในนิยามที่ต่างกัน เขียนบท (ครั้งที่ 2) และกำกับการแสดง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาวิตา ดิถียนต์ ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดัดแปลงจากบทประพันธ์เรื่อง “ทางเทวดา” ของนักเขียนบรมครูนามปากกา “แก้วเก้า” (รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2547) ตีพิมพ์ในนิตยสาร สกุลไทย รายสัปดาห์ (เมื่อปี 2546-2548) ได้รับความนิยมสูงมาก ทำให้หนังสือนวนิยายได้รับการพิมพ์ซ้ำถึง 8 ครั้งด้วยกัน (ล่าสุด ครั้งที่ 8 ได้รวมเรื่อง “เทวาวาด” ไว้ในเล่มเดียวกัน) เป็นเครื่องยืนยันความนิยม
“ทางเทวดา” เป็นเรื่องราวของเทวดาที่กำลังจะลงมาจุติ เมื่อเขามุ่งมั่นตั้งใจที่จะใช้ความเป็นอัจฉริยะเพื่อสาธารณประโยชน์ จึงเลือกจะเทแต้มบุญไปที่สติปัญญา แล้วเหลือแต้มหน้าตาและฐานะไว้เพียงน้อยนิด ละครนำเสนอ “เส้นทางชีวิตที่เลือกเอง” ของ “นายสาแคน โคกกระโดน” เด็กชายหน้าตาขี้ริ้วโตมาในหมู่บ้านเล็กกันดารสุดเขตประเทศไทย อดีตชาติเป็นกวีในสมัยพระนารายณ์แต่ไม่รุ่ง ชาตินี้จึงมุ่งเปลี่ยนสายกลายเป็นคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ ผู้มี ‘หัวใจทองคำ’ ตรงข้ามกับหน้าตา เขาตั้งปณิธานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ได้ทำความดีอย่างที่ตั้งใจ และเป็นที่ชื่นชมของเหล่าเทวดาที่เฝ้ามองลงมาจากสวรรค์อยู่ตลอด เมื่อเขาได้เจอกับ เอริกา เนื้อคู่สาวสวยลูกเศรษฐี ที่ต่างกันกับเขาราวเจ้าเงาะกับรจนา จนเหล่าเทวดาอดไม่ได้ที่จะหาทางช่วย แต่จะด้วยวิธีไหนไม่ให้ผิดกฎสวรรค์! ทำให้สาแคนต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งเป็นบททดสอบจากสวรรค์ ทุกขั้นตอนต้อนคนดูสู่การตั้งคำถาม (ต่อตัวเอง) ในทุกฉากขณะนั่งชมอย่างรื่นรมย์ตลอดเรื่อง
“ทางเทวดา” เคยถูกสร้างเป็นละครเวทีครั้งแรกที่ ภาควิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เขียนบทโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาวิตา ดิถียนต์ กำกับการแสดงโดย อาทรี วณิชตระกูล จัดแสดงที่ Black Box Theatre มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (วิทยาเขตรังสิต) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม-17 กันยายน 2548
ครั้งที่ 2 จากบทเดิมนำมาสร้างเป็นละครเวทีอีกครั้ง ในรายวิชาละครรุ่น โดย นิสิตเอกการแสดงและกำกับการแสดง และ นิสิตเอกการออกแบบเพื่อการแสดง รุ่น 15 (เดือนเพ็ญ) ภาควิชาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กำกับการแสดงโดย ณัฐกรณ์ พรถิระมงคล จัดแสดง ณ หอนาฏลักษณ์ เมื่อวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2553
ล่าสุดปี 2567 นำกลับมาสร้างเป็นครั้งที่ 3 เขียนบทใหม่โดยคนเดิม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาวิตา ดิถียนต์ จัดแสดงทั้งหมด 12 รอบ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม-3 พฤศจิกายน 2567 (ยกเว้นวันที่ 28-29 ต.ค. 2567) ณ ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นำแสดงโดย
- กาย : กายกานต์ เทพประดิษฐ์ (สาแคน)
- เตอร์ : นวิน พรกุลวัฒน์ (ตุ้น)
- โซฟี : โซฟี โชร์เดอร์ (เอริกา)
- จูน : สุรีกานต์ จอนจวบทรง (น้ำมนต์)
- เพ้ง : ชวลิต ตระกูลสันติรัตน์ (เทพจุติ - Narrator)
- ก้อง : จักรพันธ์ ตัณฑะสุวรรณะ (พระจันทร์)
สมทบด้วยนักแสดงอีกกว่า 20 ชีวิต
ออกแบบแสงโดย สุพัตรา เครือครองสุข
ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง “ทางเทวดา”
รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2547
“ดิฉันนำแนวทางจากวรรณคดีมาเขียนเป็นเรื่องแนวใหม่เพื่อให้เด็กรุ่นหลังหันไปสนใจวรรณคดี เพราะในช่วงนั้นวรรณคดีเป็นที่รู้จักกันน้อย ในหลักสูตรเองก็ไม่ได้เรียนเต็ม ๆ “ทางเทวดา” เป็นหนึ่งในชุดวรรณคดีที่มีทั้งหมด 4 เรื่อง ด้วยกัน (“ทางเทวดา” มาจากเรื่อง “สังข์ทอง” / “ปลายเทียน” มาจาก “ขุนช้างขุนแผน” / “เรือนนพเก้า” มาจาก “กากี” / “พิมมาลา” มาจาก “อิลราชคำฉันท์”) เป็นวรรณคดีที่คิดว่าเด็กรุ่นหลังไม่รู้จักกันแล้ว เรื่อง “ทางเทวดา” เขียนมาตั้งแต่ปี 2546 ค่ะ สาแคนก็คือพระสังข์กับเจ้าเงาะ “เรื่องนี้เขียนขึ้นด้วยความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ การทำดีและชั่วของมนุษย์จะอยู่ในสายตาของสวรรค์เสมอ การตอบแทนอาจจะออกมาในรูปแบบที่มนุษย์โดยมากนึกไม่ถึง แต่ก็ใช่ว่าไม่มีหรือต้องรอชาติหน้าชาติโน้น ทั้งนี้เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ที่มุ่งมั่นทำความดี ที่จะได้ฝึกฝนความอดทนและฝ่าฟันอุปสรรคได้ตลอดรอดฝั่ง”
ในประเด็นเรื่องเพศภาวะ ดิฉันเห็นทุกคนเท่าเทียมกันหมดไม่ว่าเพศไหน ไม่ได้มีอคติหรือว่าอะไรเลย อย่าง ‘ตุ้น’ เป็นตัวละครที่น่ารักมาก ตอนจบทำให้รู้ว่าเขาคิดอะไรเป็นยังไง แต่ในยุคนั้นปี 46 พูดถึงเรื่องนี้เปิดเผยไม่ได้นะ นิยาย Y ละคร Y ยังไม่มี ก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นอีกเพศ แต่เราไม่สามารถเขียนให้โจ่งแจ้งได้ แต่คนอ่านรู้ค่ะ ว่าตุ้นรักสาแคน ความรักที่ตุ้นมีต่อสาแคนอยู่ตอนท้ายนิดเดียว ไม่สังเกตก็ไม่มีใครรู้ ใครเข้าใจได้ก็เข้าใจ ตอนจบก็หันมามองสาแคนแล้วถึงเดินออกไป สาแคนก็รู้ว่าตุ้นรักสาแคนมานานแล้ว จำได้ไหมในเรื่องที่ตุ้นพูดว่า เขารักคนคนหนึ่งมานานแล้วแต่รู้ว่าเส้นทางไม่มีวันมาบรรจบกันได้ เขารักโดยไม่ครอบครอง เห็นอีกฝ่ายสุขก็สุขด้วย เห็นทุกข์ก็ทุกข์ด้วย นี่คือความรักซึ่งไม่เลือกเพศใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเพศไหนก็ ‘ความรัก’ ค่ะ
มาทำเป็นละครก็พอใจค่ะ สาว (ลูกสาว - ผศ.ดร.สาวิตา ดิถียนต์ ผู้กำกับ) ก็ตั้งใจทำ เราก็รู้ว่านิยายที่จะมาเป็นหนังหรือละครบางทีต้องมีการดัดแปลงตัดทอนให้พอดี คือรสชาติของมันไม่เหมือนกัน การนำเสนอก็ไม่เหมือนกัน บทเก็บสาระสำคัญเอาไว้ได้ครบ นักแสดงก็สามารถเล่นได้อย่างมืออาชีพทุกคนเลย ทั้งที่บทยาวมาก”
เรื่องของความดีความชั่วนี่ไม่มีวันล้าสมัยนะคะ ดิฉันเชื่อเรื่องกรรมลิขิตค่ะ ศาสนาที่มีพระเจ้าเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตมนุษย์มาจากการดลบันดาลของพระเจ้า แต่
พุทธศาสนาไม่มีพระเจ้าจึงเชื่อว่า มนุษย์รับผิดชอบชีวิตจากการกระทำของตนเองค่ะ จะเป็นกรรมปัจจุบัน หรือกรรมในอดีต ที่ย้อนหลังไปถึงชาติก่อนก็แล้วแต่ แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้หมกมุ่นค้นคว้าเรื่องอดีตชาติก่อนชาตินี้จนเกินไป ทรงมุ่งให้หลุดพ้นจากกรรมไปสู่นิพพาน คือการไม่เกิดอีกค่ะ เทวดาอย่างสาแคนอยู่ในสวรรค์ชั้น ‘ฉกามาพจร’[1] ยังคงเวียนว่ายตายเกิดไม่หลุดพ้น แต่เขาเองก็ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องหลุดพ้นให้ได้ ในเมื่อรู้ว่าหมดบุญก็ต้องลงไปเกิด ก็ขอเกิดให้ได้ทำบุญ คือช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ จะเป็นสิ่งดีที่สุดในการเกิด ถ้าใช้ศัพท์ทางพุทธศาสนา สิ่งที่สาแคนทำเรียกว่า บารมี ค่ะ” ผู้ประพันธ์ยืนยันแนวคิด
‘ฉกามาพจร’ ใน ไตรภูมิพระร่วง มีการเกิดและดับได้ เช่นเดียวกับโลกมนุษย์ ‘เทวดา’ ที่อยู่บนสวรรค์เมื่อสิ้นบุญแล้วก็ต้องจุติไปเกิดตามกรรมของตน ในหนังสือ “ไตรภูมิพระร่วง” ได้อธิบายว่า สวรรค์มี 6 ชั้น รวมทั้งหกชั้นนี้เรียกว่า “ฉกามาพจร”[2] มีชื่อเรียกในเทวะจักรวาลดังนี้
ชั้นที่ 1 จาตุมหาราชิกา มีท้าวจตุโลกบาลดูแลรักษาโลกทั้งสี่ทิศ
ชั้นที่ 2 ดาวดึงส์ (หรือ ไตรตรึงษ์) เป็นที่อยู่ของพระอินทร์ ผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดาทั้งหลาย
ชั้นที่ 3 ยามา อยู่สูงกว่าวิถีโคจรของพระอาทิตย์ มีแต่เวลาหรือยามดีตลอดไปไม่มีค่ำ
ชั้นที่ 4 ดุสิต เป็นที่อยู่ของพระโพธิสัตว์ผู้สร้างสมภารอันจะลงมาตรัสเป็นพระพุทธเจ้า
ชั้นที่ 5 นิมมานรดี เหล่าเทวดาในชั้นนี้ถ้าปรารถนาสิ่งใดก็เนรมิตได้เองดังใจ ไม่ต้องให้มีใครถวาย
ชั้นที่ 6 ปรนิมมิตวสวัตดี เป็นที่อยู่ของเทวดาและมารด้วย สามารถจะเนรมิตสิ่งที่ปรารถนาเอง หรือจะให้ผู้อื่นเนรมิตแทนก็ได้
ภพภูมิเทวดา[3]
1) แผนภูมิพุทธวจน (เทวดา 15 ชั้น) อรูป 4 พรหม 5 กามภพ 6 เทวดาชั้น อรูป (สูงสุด) มี 4 ชั้น เทวดาชั้นพรหม มี 5 ชั้น เทวดาชั้น กามภพ มี 6 ชั้น
2) เวรัญชกสูตร ว่าด้วยผลแห่งความประพฤติเรียบร้อย (เทวดา 18 ชั้น) อรูป 4 ชั้น พรหม 8 ชั้น กามภพ 6 ชั้น
3) สังขารูปปัตติสูตร (เหตุแห่งความสมปรารถนา) ชั้นเทวดา (กามภพ 5 พรหม 17 อรูป 4 รวม 26 ชั้น) กามภพ 5 ชั้น พรหม 17 ชั้น (ไม่นับสุทธาวาสชั้นย่อย) อรูป 4 ชั้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาวิตา ดิถียนต์ ผู้เขียนบทและกำกับการแสดง
“ในบรรดานิยายของคุณแม่ เราจะมีเล่มโปรดอยู่จำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือ “ทางเทวดา” เรื่องราวของเทวดาที่กำลังจะลงมาจุติแล้วเลือกใช้แต้มเทไปในทาง ‘สติปัญญา’ ด้วยความตั้งใจจะทำความดีให้เพื่อนมนุษย์ เขาเลยเกิดมาเป็น ‘สาแคน โคกกระโดน’ เด็กชายหน้าตาขี้ริ้วที่โตมาในหมู่บ้านเล็ก ๆ สุดเขตประเทศไทย ชีวิตเขาได้ทำความดีอย่างที่ตั้งใจ และเป็นที่ชื่นชมของเหล่าเทวดาซึ่งแอบมองลงมาจากสวรรค์เป็นระยะ ๆ จนเขาได้เจอกับ ‘เอริกา’ เนื้อคู่สาวสวยลูกเศรษฐีที่ต่างกันกับเขาอย่างกับ ‘เจ้าเงาะกับรจนา’ จนเหล่าเทวดาบนสวรรค์ที่เฝ้ามองชีวิตเขามาตลอดอดไม่ได้ที่จะหาทางช่วย แต่จะช่วยยังไงที่ไม่ผิดกฎสวรรค์! จนเป็นที่มาของอาการ ‘หล่อในความมืด’
คุณแม่เล่าว่าเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณคดีเรื่อง “สังข์ทอง” แต่ปรับมาเล่าใหม่ในยุคปัจจุบัน มีประเด็นร่วมสมัยตัวละครก็เป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคย ความเชื่อแบบไทย ๆ เรื่องเทวดากับการลงมาเกิด การดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เป็นเรื่องใกล้ตัว มีทั้งมิตรภาพ ความรัก การตั้งใจทำความดี ชอบที่คุณแม่เขียนว่า “เรื่องนี้เขียนขึ้นด้วยความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ การทำดีและชั่วของมนุษย์จะอยู่ในสายตาของสวรรค์สวรรค์เสมอ การตอบแทนอาจจะออกมาในรูปแบบที่มนุษย์โดยมากนึกไม่ถึง แต่ก็ใช่ว่าไม่มีหรือต้องรอชาติหน้าชาติโน้น ทั้งนี้เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ที่มุ่งมั่นทำความดี จะได้ฝึกฝนความอดทนและฝ่าฟันอุปสรรคได้ตลอดรอดฝั่ง”
เรื่องนี้เคยมีผู้จัดนำไปเสนอทำละครทีวีหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ทำเป็นละครเวทีเลยแล้วกัน บทดัดแปลงยากมาก เคยถามตัวเองว่าทำเรื่องนี้ทำไม หาเรื่องมาก คำตอบคือ ก็อยากทำ และคิดว่ามีคนอยากดู และจะทำให้สนุกด้วย คนจะได้อยากกลับไปอ่านนิยาย นิยายเขียนมากว่า 20 ปีแล้ว ต้องมีคนเยอะมากที่ไม่รู้จัก แต่คนเราจะมีนิยายสักกี่เรื่องที่อ่านจบแล้วเปลี่ยนความคิดเราไปเลย ทางเทวดาคือเรื่องนั้นของสาวค่ะ
แรกที่คิดจะทำเรื่องนี้เพราะมีบทอยู่แล้วเขียนตอนจบ ป. โท ประมาณ ปี 2548 คิดปรับนิดหน่อย แต่พอกลับไปอ่านมันเป็นละครเวทีมาก ๆ เลย ฉากก็ยาวตัดสวรรค์กับโลกแยกกันทุกอย่าง ต้องกลับไปอ่านนิยายอีกรอบ ความสนุกบางอย่างมันหายไป ในบทตัดฉากย่อยมากเป็นไปเพื่อการทำงาน แต่ในหัวไม่ได้คิดว่าเป็นการตัดฉากย่อยอย่างนั้น จริงแล้วสามารถรวบเป็นฉากเดียวกัน ให้ข้างล่างกับข้างบนเชื่อมกันได้เป็นฉากยาว ความยากอยู่ตรงเหมือนสองโลกไม่ได้คุยกัน เพราะเทวดาไม่มีสิทธิ์ติดต่อโลกมนุษย์ ทำยังไงให้เรื่องมันเชื่อมกันให้ได้ ต้องหา ‘ตัวปะทะ’ ขึ้นมา มี ปิโยรส กับ น้ำมนต์ ในนิยายจะมาเป็นล็อต ๆ จาก น้ำมนต์ เอมิกา สุขุม อันนี้เป็น structure คิดว่าโครงสร้างละครเวทีถ้าทำแบบนี้จะเป็นยังไง ก็มีทั้งเวิร์คไม่เวิร์ค mood-tone ของเรื่องไม่ขึ้นสูงเลยทีเดียว แต่จะเป็นห้วง ๆ ของมัน ทำงานกับคนรุ่นใหม่เป็นประเด็นตลอดเวลาว่า “ครูจะทำยังไงกับสาแคนน่าเกลียด” เพราะในนิยายคำว่าน่าเกลียดก็คือน่าเกลียด หล่อก็คือต้องหล่อ ในบทละครก็พยายามเลี่ยงเพราะในสมัยนี้มันกลายเป็นการ bully เป็นการเขียนบทที่ทำให้ balance ยากมาก
ถ้าในแง่ละครเวทีก็ได้ลองอะไรใหม่ ๆ ที่แอบอยากรู้ว่าจะเวิร์คไหม แรกเลยหยิบบทเก่ามาอ่านใหม่แล้วรู้สึกว่าตอนนั้นเขียนเรียบร้อยจังไม่เฟี้ยวเหมือนในนิยาย เลยคิดว่าปรับหน่อยดีกว่า ปรับไปปรับมาสรุปต้องเขียนใหม่ แล้วเขียนไม่ตามทฤษฎีเขียนบทใด ๆ เลยอีกด้วย ขณะเขียนมีจังหวะสับสนไปมาว่า ไม่เขียนตามทฤษฎีแล้วมันใช่เหรอ แล้วคิดว่าตอนซ้อมเดี๋ยวก็รู้ จนเริ่มซ้อมก็ไม่รู้อยู่ดี แต่นั่นแหละ เขียนตามทฤษฎีก็เขียนมาแล้วเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ของแบบนี้มันต้องลองแล้วลุย! การจัดการกับบทและความกดดันมันทำอะไรไม่ได้ค่ะ ตัดสินใจไปแล้ว นักแสดงทำไปแล้วความเป็นครูอยู่ท่ามกลางเด็กต้องมั่นใจก่อน วันแรกที่เปิดแสดงคุณแม่ก็ถามทำไมไม่เหมือนในนิยาย เพราะไม่ได้คิดใน structure การเขียนบท ใช้ใจล้วน ๆ เลยค่ะ
นิยายเรื่องนี้คนชอบเยอะมาก ที่ผ่านมามีคนอยากทำเป็นละครทีวีเยอะค่ะ แต่ด้วยอุปสรรคใด ๆ ก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะได้เห็นตัวละครในจินตนาการเป็นคนจริง ๆ จึงยากมาก เป็นเรื่องที่ดูง่าย สนุก น่ารัก โรแมนติก แต่ล้ำลึกไปด้วยแง่คิด ละครเวทีเรื่องนี้พยายามทำแบบนั้น message เชิงลึกที่ฉาบไว้ด้วยความสนุก เพราะเชื่อว่าเมื่อคนดูสนุกไปกับเรื่องเหมือนตอนอ่านนิยาย จะได้รับสารที่แทรกอยู่นั้นโดยไม่รู้ตัว ยิ่งได้นักแสดงที่สนุกไปกับตัวละคร เหมือนได้รับ ‘พร’ ที่ทำให้การทำงานสนุกไปด้วย ไม่มีซ้อมวันไหนเลยที่ไม่หัวเราะ ยิ่งซ้อมยิ่งขำมากขึ้นทุกวัน
อาจจะเป็นเพาะว่าเคยทำมาแล้วรอบหนึ่ง พออ่านนิยายอีกครั้งได้กลับไปมองว่านิยายมันสนุกตรงไหนพยายามหยิบอันนั้นมา มากกว่าการไปมองว่าจะต้องเล่ายังไงถึง … ขนาดนี้ ที่เลือกหนักคือโฟกัสที่เทวดากับคน ตัวละครเลือกที่จะทำดี ต้องทำดีไปก่อนเทวดาก็ไม่สามารถมาดลอะไรให้เราได้ แต่ถามว่าเราไม่ได้ทำดีอยู่คนเดียวในโลกใบนี้ อ่านนิยายแล้วรู้สึกว่าชอบประเด็นนี้ คนชอบพูดว่า “ทำดีแล้วได้ดี” บางทีเราไม่รู้ว่าสวรรค์อาจจะมองอยู่แล้วหาทางช่วยเรา เราไม่อยากสู้อยู่คนเดียว ชีวิตก็เจอแบบนั้นอยู่บ่อย ๆ ทำให้เราเข้มแข็ง เหมือนที่สาแคนเจอ ฉากช่วยชีวิตโจรไม่อยากตัดออกเพราะเป็นตัวหลักที่อยากพูดถึงว่า ก็ทำดีไปก่อน เพราะบางทีเราไม่รู้ว่าสวรรค์ส่งมา เราอาจจะได้พรอะไรสักอย่างก็ได้ เลยเก็บตรงนี้ไว้ แล้วโครงสร้างก็ไม่สามารถยืดเรื่องได้มากไปกว่านั้น
ความสนุกของการดัดแปลงนิยายมาเป็นละคร คือการที่เราได้เห็นตัวละครที่อยู่จินตนาการมามีชีวิตจริงบนเวที ในแง่วิชาการงานดัดแปลงต้องคงสิ่งดีงามของต้นฉบับเรื่องเดิมไว้ให้ได้ และในขณะเดียวกันต้องสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองไว้ด้วย นิยายเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณคดีเรื่อง “สังข์ทอง” แล้วเอามาเชื่อมโยงกับปรัชญาทางพุทธศาสนา เรื่องนี้ต่อให้พูดถึงเทวดาแต่กฎกติกาตั้งไว้ชัดเจนว่า…เทวดาจะยุ่งกับมนุษย์ได้แค่ไหน…ตอนอ่านนิยายถึงไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องนี้เชยหรือกำลังพูดถึงปฏิหาริย์อะไรเลย แต่กลับทำให้รู้สึกว่า เราต้องทำดีไปก่อน ก่อนที่จะรอให้ใครช่วย แต่ถึงกระนั้นความตั้งใจทำดีเหล่านั้นอาจจะถูกมองเห็นด้วยใครสักคน และเราอาจจะได้อะไรกลับมาแบบ ‘สมเหตุสมผล’ โดยที่เราไม่คาดคิดก็ได้
การคัดเลือกนักแสดง 3 คนสุดท้าย เอาไปเลยยี่สิบดาว เหมือนสวรรค์ส่งคนมาให้ทำละครเรื่องนี้สำเร็จ โดยเฉพาะ กาย (กายกานต์ เทพประดิษฐ์) เจอกันสมัยอยู่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ช่วง audition ผ่านไป 3 วัน ก็ยังหา ‘สาแคน’ ไม่ได้ มืดแปดด้าน นึกถึงกายขึ้นมาเลยโทรไปถาม ในใจคิดว่าถ้ากายไม่เล่นก็ไม่ทำแล้วเรื่องนี้ กายตอบกลับมาว่า “ผมกำลังจะบินไปญี่ปุ่นในอีกครึ่งชั่วโมงครับพี่” …. กายตอบตกลงและในครึ่งชั่วโมงนั้นก็ได้เสียงร้องมาอย่างน่ามหัศจรรย์ พอได้มาอยากจะอวยยศถึงกาแล็กซีอันไกลโพ้น เกิดมาไม่เคยเจอนักแสดงที่รับผิดชอบขนาดนี้ ตีความละเอียด และเชื่อใจผู้กำกับสุด ๆ บทนี้เป็นบทที่ยาก ยากแบบไม่คิดว่าจะยากขนาดนี้ จนกายบอกว่ายาก และทุกครั้งที่เจอปัญหากายจะพูดว่า “ผู้กำกับว่าไง กายตามนั้น” สาแคนหล่อในความมืดยังไง มี moment นั้นกับกายมาก มีจุดที่…โห…กายทำไมหล่อไปถึงข้างในได้ขนาดนี้!! หายากนักแสดงแบบนี้ บอกปุ๊บทำให้ดูปั๊บ ไม่บ่นไม่ว่า รับผิดชอบสุด ๆ เป็น “พี่กาย” ของน้อง ๆ ครูสาวเดินไปไหนเด็กกลัวอย่างกับนางมาร ส่วน “พี่กาย” เด็กเรียกเสียงสองอย่างกับ ‘โอปป้า’ (เกาหลี-ที่รัก)
เตอร์ รับบท ตุ้น (นวิน พรกุลวัฒน์ เคยรับบทเด่นเป็น ภูมิ ในละครศิลปนิพนธ์เรื่อง “อนธการ” ของนิสิตการแสดง ปัณธร จันทร์นิ่ม ปี 2566 กำกับการแสดงโดย นพพันธ์ บุญใหญ่) เด็กอักษรเพิ่งจบ เห็นตั้งแต่ยังเล่นละครเรื่องอื่นก็รู้อยู่แล้วว่าคนนี้ โคตรจะ charming on stage ตอนเขียนบทก็รู้อยู่แล้วว่าบทนี้เกิดแน่ พอได้เตอร์มาเล่นก็รู้อยู่แล้วว่า ‘ตก’ ทุกคนได้แน่นอน ดีงามสมใจด้วยตัวของเขาเองของแท้ ชอบมากกเวลานักแสดงสนุกกับการเป็นตัวละคร มันคือการ explore ที่ไม่มีวันจบ ขอบคุณที่ทำให้ตัวละครตัวนี้ออกมาน่ารักและทุกคนก็รักมากแบบที่บทตั้งใจ
โซฟี (โซฟี โชร์เดอร์) ‘เอริกา’ที่สุดในโลก ตัวป่วนทุกสิ่งทุกอย่าง นี่ก็เห็นกันมาตั้งแต่ปี 2 ในใจเชียร์น้องมาตลอด ไม่คิดว่าสุดท้ายจะได้มาร่วมงานกันจนได้ คนนี้เชียร์สุดใจ น่ารักนิสัยดีถึงบางทีจะทำครูปวดหัวบ้าง แต่นั้นล่ะใครจะไม่เอ็นดูเอริกา! จนรู้สึกว่าบางทีก็ดูลำเอียง แต่เวลาดุครูก็ดุจริง แค่ดุตอนคนอื่นไม่เห็น ขอให้ได้ไปสายงานนี้ต่ออย่างที่ตั้งใจ จะตามเชียร์ต่อไปเรื่อย ๆ
เบื้องหลังงานสร้างเรื่องนี้พอมีปัญหาอะไรก็จะมีคนยื่นมือมาช่วยตลอดเลย
ร้อยวันพันเหตุการณ์มากละครเวทีเรื่องนี้ 12 รอบการแสดง ผ่านทั้งช่วงร้องไห้น้ำตาท่วมด้วยความกลุ้มใจว่ากำลังพาทุกคนทำอะไรอยู่ จนน้ำตาไหลตอนที่นั่งอยู่ด้านหลังคอนโทรลบอร์ดแล้วมองนิสิตรันละครได้อย่างมือโปร ละครเวทีเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่ perfect script แต่เป็นละครเวทีที่มี perfect team! ทั้งนักแสดงที่ไม่รู้ข้าพเจ้าทำบุญด้วยอะไรถึงได้คนที่แทบจะหลุดออกมาจากนิยาย และทีมงานที่แม้ระหว่างทางจะผ่านช่วงตบตีกันบ้าง แต่สุดท้ายงานก็ออกมาได้อย่างที่ตั้งใจ รวมถึงทีม support ใด ๆ ที่มาช่วย เหมือนสวรรค์ให้พร
ขอสปอนเซอร์อาหารไปแม้ไม่ได้รู้จักกันทางร้านก็ให้ เห็นนิสิตชอบกินวันถัดมาเลยโทรไปสั่งซื้ออาหารที่ร้านมาเลี้ยงอีก เขาเห็นที่อยู่เลยถามว่าใช่กิจกรรมเดียวกับที่เพิ่งให้สปอนเซอร์ไปไหม พอเราบอกใช่เขาเลยไม่คิดเงิน พอบอกขอจ่าย เขาตอบถือว่าเป็นกำลังใจจากเขา ขอให้ทำละครสำเร็จแล้วกัน หรือมีกำลังใจแบบฟลุค ๆ ในวันที่ท้อมาก ๆ อยู่ ๆ ก็มีนิสิตที่เคยสอนเมื่อปีที่แล้วร้อยวันพันปีไม่เคยคุยกันไลน์มาหาเช้านั้นแล้วพูดอะไรดี ๆ จนมีแรงว่าเอาล่ะ ลุกขึ้นไปทำละครต่อก็ได้ เหมือนเทวดาส่งกำลังใจมาให้ค่ะ
สาวเชื่อว่ากรรมเกิดจากการกระทำเราเองค่ะ แต่ก็เชื่อเหมือนกันว่าโลกใบนี้จะไม่ปล่อยให้คนทำดีต้องสู้อยู่คนเดียว สาวเชื่อเรื่อง “สิ่งที่มองไม่เห็น” เชื่อว่าเวลาที่เราทำดีบางทีจะมีคนที่มองลงมาแล้วคอยช่วยเราในแบบที่เราอาจจะไม่รู้ แต่แน่นอนว่าเราก็ต้องพยายามที่สุดก่อน สาวเชื่อว่าทุกอย่างในโลกนี้มีเหตุผล ตอนที่อ่านนิยายเหมือนทำให้สาวเห็นปัญหาทุกอย่างที่เข้ามาเหมือนบททดสอบที่สวรรค์ส่งมา ถ้าเราผ่านไปได้เราจะได้พร ไม่ว่าพรนั้นจะมาในรูปแบบไหน
สาวเชื่อเรื่องโชคชะตานะคะ แต่ก็เชื่อว่าการกระทำของเราสำคัญที่สุดอยู่ดี ถ้าเราไม่ตั้งใจทำดีก่อน จะหวังโชคชะตาฟ้าดินมาช่วยก่อนก็อาจจะยากนิดหนึ่ง สาวเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องประกอบกันนะคะ ทั้งโชคชะตา บุญกรรมและการกระทำเราเอง สาวชอบตอนคุณแม่เคยสอนว่า “ทำดีไปเหอะ ใครไม่เห็น ยังไงเทวดาก็เห็น” ฟังแล้วดูมีกำลังใจค่ะ
ถ้าไม่เชื่อว่า ‘พระอินทร์’ ที่มาช่วยรจนาให้พระสังข์ถอดรูปในวรรณคดี จะยังมีอยู่จริงในยุคนี้ เรื่องนี้ช่วยทำให้ความเชื่อของคนไทยเรื่องเทวดาสมเหตุสมผลขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้คิดว่าอุปสรรคต่าง ๆ ที่เจอมาในชีวิต บางทีอาจจะ…มีเหตุผลของมัน ก่อนเปิดการแสดงหนึ่งสัปดาห์อยู่ในช่วงที่ปัญหาต่าง ๆ รุมเข้ามาให้ต้องตั้งสติแก้ รวมถึงปัญหาที่ไม่ได้เจอมาแสนนานในการทำงาน เพราะการทำทั้งเขียนบทและกำกับเองด้วยเป็นความยากสองขั้นที่ไม่เคยเจอ ตอนที่เขียนบทก็คิดในฐานะคนเขียนบท พอมากำกับเราได้เห็นของจริงว่าบทที่เขียนเวลาถูกทำออกมาแล้วเป็นยังไง ก็มีการปรับในส่วนนั้น กลับไปแก้บทตรงจุดที่เราไม่ได้เห็นตอนที่เขียน จนคิดว่าดีนะที่เลือกทำละครเรื่องนี้ บางทีนี่ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่ง ‘บททดสอบจากสวรรค์’ ขอบคุณสำหรับกำลังใจและคำชมใด ๆ ทั้งใน facebook และตอนเจอกันนะคะ ถ้าละครเวทีเรื่องนี้จะสามารถสร้างรอยยิ้มหรือส่งต่อข้อคิดดี ๆ จากนิยายให้ผู้ชมได้ ก็ถือว่าการทำงานตลอดหนึ่งเดือนกว่า ๆ คุ้มค่าที่สุดค่ะ”
ก่อนเปิดการแสดง ครูสาว ได้เชิญชวนทุกคนด้วย 5 เหตุผลที่ควรได้ชม
ผู้กำกับกับเหตุผลที่ชวนชม “ทางเทวดา” (The Angels Path)
1. ถึงบทและการกำกับของข้าพเจ้าจะไม่ได้ดีมาก แต่เนื้อเรื่องดีแบบดีมาก ๆ แบบใครไม่อยากอ่านนิยายสองร้อยกว่าหน้าก็ควรค่าอย่างยิ่งที่ได้มาดูเรื่องนี้ เพราะรวบมาให้ใน 2 ชั่วโมง
2. นิยายเรื่องนี้คนชอบเยอะมาก ที่ผ่านมามีคนอยากทำเป็นละครทีวีเยอะเช่นกัน แต่ด้วยอุปสรรคใด ๆ ก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะได้เห็นตัวละครในจินตนาการเป็นคนจริง ๆ ยิ่งยากมาก
3. ต่อให้ใครเอาไปทำใหม่ ก็ไม่ได้ cast นี้ แต่ละคนเหมือนตัวละครในนิยายมาก
4. ละครไม่เครียด Feel good ดูเสร็จไม่ปวดหัว ยิ่งถ้าบางคนเจอ message ที่ตรงใจรับรองความคิดจะเปลี่ยนไปหลังจากดูละครเรื่องนี้
5. คนไม่เคยดูละครเวทีไม่ต้องกลัว ดูง่าย ดูสบาย ไม่ต้องปีนกระไดดูแน่นอน ส่วนคนที่ชอบดูละครเวทีไม่ต้องดูบทของสาวก็ได้ มาดูงานดีไซน์ ฉาก ไฟ การแต่งหน้า รวมเหล่าฝีมือ ‘ที่สุด’ ของเมืองไทยทั้งนั้น มีรายละเอียดและความหมายในทุกจุด อยากชวนมาดูที่สุด เพราะเรื่องสนุกดี สารดีต่อใจค่ะ
ครูอุ๋ย ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง
บทละครเรื่องนี้มีความท้าทายเยอะมาก ถ้าคนเขียนคิดว่าเป็นการทดลอง เป็นการลองทำก็น่าสนใจ เป็นการสำรวจว่าทำได้ไหมทำยังไงบ้าง คือมันมีทฤษฎีในการเขียนบทมากมาย แล้วพื้นที่ในการสอนละครเราพูดเรื่อง action เยอะมาก ตีบทออกมาเป็น action นี่ก็เรื่องหนึ่ง แต่ความท้าทายว่าเราจะพูดเรื่องหน้าตาน่าเกลียดยังไงล่ะ … คือเกิดมาไม่ได้สวยมากโอเคไหม ไฟไม่ต้องมืดมากก็ได้ ทุกวันนี้ไม่มีคนที่มีปัญหาเรื่องนี้ เพราะมันสามารถจัดการได้ รูปสุวรรณอยู่ชั้นใน ของดี ความเป็นคนดี ความเป็นอะไรต่าง ๆ มันควบรวม เรื่องหน้าตาสิ่งนี้ยังอยู่เพราะคนก็ยังคิดเรื่องนี้อยู่ การ bully มันเป็นเรื่องซึ่งอยู่ในสังคมของเรา เราแตะได้ครูคิดอย่างนั้น
สำหรับผู้กำกับหรือคนเขียนบทมีความกล้าหาญในการ challeng กับเด็กรุ่นใหม่ซึ่งเป็นนักแสดงอยู่ในเวลานี้ มีเรื่องหน้าตาที่ต้องจัดการแล้วดูสวยดูดีทุกคน แล้วเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับ อีกเรื่องที่ท้าทายคือ ‘ทุนนิยม’ กับ ‘คุณความดี’ ในเรื่องนี้เป็น mesaage หลัก ว่าเรากำลังพูดเรื่องเหล่านี้ แล้วเราก็ทำให้เห็นชัดเจนว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเขายังคงยืนยันใน ‘ทาง’ ของเขา
เวลาที่เราทำละครเองแล้วเขียนเรื่องเองกำกับเองสำหรับครูสาวอันนี้เป็นเรื่องที่ท้าทาย เขียนแล้วกำกับอันนี้ใจสั่นนะเพราะตอนคิดเรื่องกับตอนกำกับมันต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องนี้มันยากสองชั้นเพราะเป็นเรื่องของคุณแม่ สำหรับครูคิดว่าเป็นเรื่องที่สนุกแล้วก็ท้าทาย ที่อยากให้ไปให้ถึงเลยก็คือว่า มันมีหลายอย่างที่ต้องมีในความเป็นละครเรื่องนี้ แต่ในวันนี้มันแค่ทดลอง อยากให้คนรุ่นใหม่มาตีความใหม่แล้วลองทำดู จะมีวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่มี theme เป็นสากลอยู่แล้ว มีเรื่องตุ้นอยู่แล้วในนวนิยาย ใน version นี้ ตุ้นคือตัวละครคู่ขนานที่น่าสนใจ มีความเป็น Y แฝงเข้ามา อันนี้มันน่าไปไกลได้อีก หรือจะพูดเรื่องทุนนิยมให้ชัดเจนกว่านี้ก็ได้ หรือวิธีคิดของผู้ของกำกับคนใหม่ ใครก็ตามที่อยู่ในโลกศตวรรษที่ 21 สามารถเล่าเรื่องนี้ให้ท้าทายได้เหมือนกัน เพราะเรื่องนี้สำหรับครูมันท้าทายค่ะ”
ครูฝน ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาทรี วณิชตระกูล
“ไม่เคยคิดว่าเรื่องนี้พูดเรื่องความสวยความงามเรื่องรูปลักษณ์ แก่นของเรื่องจริง ๆ น่าจะสนับสนุนให้คนทำความดีมากกว่า “ทางเทวดา” คือทางที่เราเลือกเองว่า ถ้าเรากำลังจะไปเกิดเราจะเลือกแต้มอะไร ตัวละครที่เป็นตัวเด่นในเรื่องเลือกที่จะทำความดี มากกว่าเลือกให้หน้าตาดี เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือคนอื่น ทำกุศล เรื่องมาแบบนี้ ตอนที่ลงมาเกิดแล้วก็ยังมีเหตุการณ์เฉพาะหน้าต่าง ๆ นานาที่ท้าทายเขาว่าเขาจะเลือกแบบไหน เขาก็ยังเลือกที่จะทำความดี ไม่ได้พูดถึงเรื่อง Beauty Standard เป็นแค่สิ่งที่ยกขึ้นมาเปรียบให้เห็นว่าถ้าเผื่อคนเราสามารถมองทะลุสิ่งเหล่านี้ … ยิ่งสมัยนี้ไม่ได้เป็นแค่รูปลักษณ์ แต่เป็นภาพลักษณ์ด้วย ภาพลักษณ์ที่คนสร้างขึ้นกอบกู้ตัวเองให้ดูดี อาจเป็นบุคลิกภาพ พูดเก่ง ทำอะไรหลาย ๆ อย่าง เพื่อปรุงแต่งให้ตัวเองสมบูรณ์แบบ ยิ่งทุกวันนี้สิ่งที่ห่อหุ้มมันยิ่งหนาขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมันยากที่จะมองทะลุเข้าไปเห็นความดีที่แท้จริงคืออะไร คิดว่าปัจจุบันความท้าทายคือแบบนี้ เพราะว่าสิ่งปรุงแต่งมันหนากว่าที่เราจะทะลุเข้าไป ความสวยไม่สวยเป็นแค่จุดประเด็นเล็ก ๆ ขึ้นมา เรื่องน่าจะสนับสนุนให้คนทำความดีมากว่า
‘เทพบุตร’ ในร่างมนุษย์ ‘จิตโพธิสัตว์’
ความหมายของคำว่า ‘เทวดา’[4] ในวัฒนธรรมไทยหมายถึง ผู้ที่อยู่ต่างภพกับมนุษย์และมีอำนาจเหนือธรรมชาติ ดลบันดาลให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ขึ้นได้ทั้งร้ายและดี ในประเทศไทยคำว่า ‘เทวดา’ เป็นคำยืมจากภาษาบาลี ซึ่งโดยความหมายแล้วกินความตั้งแต่เทวดา หรือเทพเจ้าในศาสนาฮินดู (พราหมณ์) พุทธศาสนา รวมไปถึงเทวดาประจำถิ่นตามความเชื่อพื้นเมืองด้วย ซึ่งตรงข้ามกับบริบทในสังคมปัจจุบัน ‘เทวดา’ เป็น ‘คำแสลง’ มีความหมายเชิงประชดประชัน กระแทกแดกดันเสียดสี ไปถึงบุคคลคนที่มีคุณสมบัติโดดเด้งด้าน ฮึกเหิม ห้าวหาญ มีพฤติการณ์ที่ตั้งตนเป็น ‘ศูนย์กลางจักรวาล’ บางคนอาจจะไม่ตั้งใจ แต่เป็นไปตามบุคลิกลักษณะ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในสถานะ ‘ผู้นำ’ ทุกระดับชั้น (ที่เผด็จการทั้งทางความคิดและการกระทำ) รวมไปถึงพวกตั้งใจสถาปนาตนเป็น ‘อภิสิทธิ์ชน’ ไม่สนใจจริยธรรม ทำได้ทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ตนกับพวกพ้อง ตลอดจนพวกมั่นสุดขั้วใครว่าชั่วก็ช่าง เข้าข่ายหลงตัวเอง (OverConfident) และ untouchable (เพราะเป็นเทวดาจึงไม่สามารถแตะต้องหรือวิพากษ์ วิจารณ์ ไปในทางที่เป็นลบ จะถูกกลบด้วยเหตุผลล้นโลกทันที) และ ‘เทวดา’ คำเดียวกันนี้ในบริบททางสังคม การเมือง การปกครอง แปลว่า วรรณะจัณฑาล (n) และคนที่เป็นสมาชิกวรรณะจัณฑาลในศาสนาฮินดู (adj) อีกด้วย (ซ่อนนัยจัดสถานะให้เสร็จสรรพตามลำดับของความรู้สึกที่มีต่อ ‘มนุษย์เทวดา’) เทวะสถานะนี้ ต่อให้กฎหมายเอาผิดไม่ได้ แต่กฎแห่งกรรมไม่เคยมองข้ามความทุกความประพฤติ บาปบุญยุติธรรมเสมอ
ชื่อของตัวเอก สาแคน โคกกระโดน บอกอัตลักษณ์ความเป็นคนอีสานด้วย ต้นกระโดน พืชเฉพาะถิ่น ณ ดินแดนที่ราบสูง แต่ในขณะเดียวกันความเป็น
อัจฉริยะของเขา คำว่า แคน ชวนให้คิดถึงศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐานที่ตรงกับคำว่า CAN เมื่อมารวมกับคำว่า สา ยิ่งชวนให้คิดถึงความหมายที่แปลว่า สามารถ (คำกริยา) และ ความสามารถ (คำนาม) ตามคุณสมบัติที่ได้รับการอนุมัติจาก เทวสภา
การเกิดใหม่ในชาตินี้ของสาแคนเขาขอเปลี่ยนมาเก่งสายวิทย์แทนสายศิลป์ที่เคยเป็น กวี นักประพันธ์ หมอแคน บอกวิธีคิดที่เห็นความสำคัญของสิ่งอันเป็นที่สุดของมนุษย์คือ การไม่ทุกข์เพราะสุขภาพคือลาภอันประเสริฐ จึงต้องการใช้สติปัญญาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้พ้นทุกข์ ด้วยความเป็นอัจฉริยะในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ บอกความมีหัวใจที่เป็นจิตโพธิสัตว์ แม้กฎของสวรรค์ต้องใช้แต้มสติปัญญาเกินกว่า 1,000 แต้ม แต่สาแคนก็ต่อรองขอให้สูงถึง 1,160 แต้ม ส่วนอื่นที่เห็นว่าสำคัญน้อยกว่าจึงต้องลดลงตามลำดับ ส่วนของฐานะความเป็นอยู่เหลือ 280 แต้ม ได้ไปเกิดเป็นลูกชาวนา ส่วนหน้าตาเห็นว่าไม่สำคัญขอไว้ต่ำถึง 100 แต้ม จึงขี้ริ้วเกือบอัปลักษณ์ แต่ด้านสุขภาพยังคงมาตรฐานที่ควรจะเป็นคือ 500 แต้ม (ถ้าหน้าตาดีขึ้นแต้มสมองของความเป็นอัจฉริยะจะลดลง) คุณสมบัติได้รับการอนุมัติจาก ‘เทวสภา’ ตามสิทธิและแรงปรารถนา ด้วยศรัทธาในอุดมคติที่มีต่อการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ หมอแคนเก่งรักษาหัวใจพร้อมยอมรับในผลที่ตามมาอย่างเต็มใจ
องก์แรกของละครเหมือนจะต้อนผู้ชมให้เห็นด้วยกับคำว่า ‘ฟ้าลิขิต’ เราไม่มีสิทธิ์เลือกทางเดินให้ชีวิตตัวเองได้ ตราบใดที่เราไม่ใช่ ‘เทวดา’ ซึ่งจุติอยู่บนสวรรค์เพราะแต้มบุญที่สร้างสมไว้ในอดีตชาติ เพราะฉะนั้นเราจึงควรทำดี ทำบุญสะสมทุนหนุนสิทธิ์ เพื่อชีวิตเวียนว่ายมีโอกาสเลือกเกิดได้ในชาติต่อไป (ตามคุณสมบัติที่ต้องการ) ในขณะเดียวกัน ก่อนที่จะอนุมัติให้ลงมาเกิด แม้เทวดาบนสวรรค์ยังมีคำถามต่อ ‘เทวสภา’ ว่า “จะดีกว่าไหมถ้าสวรรค์ให้เขาเลือกเกิดได้เอง?”
ส่วนฝั่ง realist ยังคงมีคำถามเกี่ยวกับการเกิดและดำรงอยู่ของมนุษย์ เป็นที่สุดของความเคลือบแคลงอย่างไม่เคยตกยุค พร้อมปลุกความคิดที่แตกต่างสร้างปริศนาต่อคำว่า ‘โชคชะตา’ หรือ ‘ฟ้าลิขิต’ (Destiny) นับประสาอะไรกับมนุษย์ ที่สุด…ก็ยังไม่ได้คำตอบต่อปริศนา เพราะมีศรัทธา ทัศนคติ ฯลฯ เป็นตัวขับเคลื่อนความคิด ที่ไม่อาจพิศูจน์ได้ในทันที
แต่มีคำตอบอยู่ในละครองก์ที่ 2 เมื่อสาแคนยึดมั่นทำดี เอาชนะบทพิศูจน์จากสวรรค์ และที่สำคัญเขาชนะใจตัวเอง คือคำตอบต่อคำถามที่ถูกจัดให้เป็น ‘ความเชื่อส่วนบุคคล’ เพราะอยู่บนฐานของปัจจัยซึ่งเอื้อต่อความเชื่อที่เป็น ‘วิทยาศาสตร์สากล’ ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ไม่สนใจ และคนที่สนใจก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนว่า…
- ชีวิตของคนเราถูกกำหนดไว้แล้วจริงหรือ?
- “ชีวิต ใครเป็นคนกำหนด สวรรค์ บุญกรรม หรือการกระทำของเราเอง?…”
- “สวรรค์กำหนดชีวิตเรา หรือ เรากำหนดชีวิตตัวเอง?”
- “ถ้าเลือกเกิดเองได้ จะเลือกเกิดแบบไหน?”
- “หากสวรรค์ให้โอกาสเราเลือกเกิดเองได้ ชีวิตจะดีกว่านี้ไหม?”
BEAUTY STANDARD
ปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปลักษณ์ที่ดูดีตามแบบพิมพ์นิยมของแต่ละสังคมคือเสน่ห์ภายนอกที่เอื้อประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตสูงมาก เพราะจากการ ‘มีรูปเป็นทรัพย์’ นำมาซึ่งความสำเร็จในหลายด้าน โดยเฉพาะงานในวงการบันเทิง ที่ต้องขายรูปลักษณ์เพราะคือส่วนสำคัญ ไม่ต่างจากสินค้าที่ต้องมีบรรจุภัณฑ์ดูดีดึงดูด ก่อนที่เราจะได้พิสูจน์คุณสมบัติแท้จริง และศัลยกรรมความงามก็กลายเป็นอุตสาหกรรมที่เฟื่องฟู ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่สวรรค์ให้พร เพราะมันทำหน้าที่สนองความต้องการ ทำให้ผู้คนรู้สึกมีสิทธิ์เสรีที่จะเลือกอยู่เลือกเป็นได้เหมือนเนรมิต แม้รู้ว่าชะตาชีวิตต้องเปลี่ยนไปตามตำราโหงวเฮ้งของ เง๊กเซียนฮ่องเต้ แต่ไม่หวั่น สวรรค์ยังยอมใจ …
‘ความสุขเทียม’ ในทางพุทธศาสนากลายเป็นที่ยอมรับ และตกลงร่วมกันว่ามันคือ ‘ความสุขแท้’ ที่จับต้องได้ และสามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในการประกอบอาชีพ หรือแม้เพียงแต่ต้องการ ‘ซื้อความสุข’ ให้ตัวเองโดยไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทนเลยก็ตาม
จากงานวิจัยในประเด็นจิตวิทยาสังคมหลายชิ้นทั่วโลก ได้บทสรุปตรงกันเอกฉันท์เป็นหนึ่งเดียวคือ ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในการงานอาชีพและชีวิต ส่วนหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญคือ รูปลักษณ์ และต้องประกอบไปด้วยบุคลิกลักษณะที่ดี คือ หน้าตาดี พูดจาดี มีความคิดดี ฯลฯ (personality) เพราะบุคลิกภาพคือ ‘ด่านหน้าที่ท้าทาย’ คือความเป็นความตายที่หล่อหลอมให้เกิดกิเลสลุ่มหลง และยังคงนำมาซึ่งการสร้างงานภาพยนตร์ ละคร เพื่อสะท้อนสัจธรรมแห่ง ‘เนื้อแท้’ ที่เป็น ‘เนื้อทอง’ มีหัวใจ (theme) เดียวกันคือ ท้ายที่สุดต้องกลับสู่ความจริง และต้องยอมรับให้ได้ว่าทุกคนเกิดมาพร้อมรูปสมบัติที่แตกต่าง เส้นทางของความสุขแท้คือคุณสมบัติจากเนื้อใน จิตใจ ทัศนคติ และพฤติกรรม ที่ล้วนต้องดีงาม ฯลฯ คือสิ่งนำสันติสุขแท้จริงสู่ชีวิต ไม่ใช่รูปสมบัติปลอมที่เป็น ‘สุขเทียม’ จงอย่าเข้าใจผิด
สัญลักษณ์ ‘หล่อในความมืด’ ของสาแคน เกิดจากความห่วงใยของเหล่าเทวดา ที่ต้องการช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องหน้าตาให้สาแคน เพราะเกรงว่าจะเป็นอุปสรรคต่อ รักแท้เมื่อเขาพบคู่แท้ที่มีแต้มหน้าตาถึง 600 แต้ม พระราหูจึงเสนอให้เขา ‘หล่อในความมืด’ เป็นมติที่ได้รับการเห็นชอบจากวง เทวะสภา อย่างเป็นเอกฉันท์ คนที่จะมองเห็นคือคนพิเศษที่มี ‘ตาวิเศษ’ เท่านั้น (ดวงตาที่ไม่ใช่ ‘ตาเนื้อ’ แต่คือ มุมมอง ทัศนคติ เมตตา ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ เหมือนรจนาที่มองทะลุรูปลักษณ์ภายนอกของสังข์ทอง) จึงจะทำให้สามารถมองทะลุเปลือกนอกที่บอกเพียงกายหยาบได้) ความดีมีพลังดึงดูดสิ่งดีงามตามกฏของจักรวาลเสมอ (ในด้านตรงข้ามก็เช่นกัน) ยืนยันสิ่งที่มนุษย์เลือกและกำหนดเองได้ … ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ ปฏิบัติธรรมช่วยได้
เพียง ‘พรสวรรค์’ นั้นไม่พอ
ธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างสายสัมพันธ์ที่หลากหลาย คือความหมายที่สำคัญของการดำรงอยู่ แม้ต้องสู้ด้วยตัวเอง (อย่างคนที่มีคุณสมบัติเป็นเลิศแล้วก็ตาม)
ปัจจัยที่ยืนยันเพียง ‘พรสวรรค์’ ยังไม่พอ
1. เมตตาต่อตัวเอง แม้นักเลงยังยอมใจ ในวันโชคร้ายคล้ายพระเสาร์แทรก สาแคนถูกอันธพาลข่มเหงให้ล้มเจ็บ แต่ไม่นานโจรก็ถูกกฏแห่งกรรมลงโทษให้บาดเจ็บสาหัสต้องผ่าตัด เป็นเคสแรกที่หมอแคนลังเลเมื่อเห็นตำหนิบนมือโจร เพราะจำได้แม่นยำทำให้ชะงักตามปกติวิสัยปุถุชน ชั่วอึดใจจิตโพธิสัตว์ก็ปัดความลังเลออกไป ตั้งใจรวบรวมสมาธิช่วยชีวิตคนที่ได้ชื่อว่าเป็นภัยสังคม สาแคนชนะใจตัวเองด้วยการให้อภัย (ในความเป็นปุถุชน ไม่ง่ายนักที่จะ ‘รักษาความเค็มของเกลือ’ ด้วยการไม่ถือสาคนที่ตั้งตนเป็นศัตรู) จากนั้น …อันธพาลก็ไม่หาญแตะต้อง ‘ผู้ไว้ชีวิต’ อีกต่อไป อานิสงส์ที่สาแคนมีจิตเมตตาต่อตัวเอง ส่งผลถึงความกรุณาต่อคนอื่น ทำให้เขาปลอดภัยจากเหล่ามิจฉาชีพ เพราะสำนึกในบุญคุณที่ช่วยชีวิตแม้เคยทำผิดต่อกัน ความดีย่อมปกป้องคนดี ต่อให้ไม่มีใครเห็นแต่เทวดารับรู้ สาแคนจึงเป็น ‘ผู้ผ่านบททดสอบจากสวรรค์’
2. ความรักและการเกื้อกูลจากคนใกล้ตัว ไม่ใช่แค่ญาติตามหน้าที่ของวงศา หรือในฐานะเพื่อนมนุษย์ เพราะทุกชีวิตจะเติบโตอยู่รอดปลอดภัยได้ก็ด้วยมีคนคอยประคับประคอง ไม่ว่าจะเป็นความรักของตุ้นที่ครุ่นแคร์แม้สาแคนไม่พิศวาส และไม่อาจรับน้ำใจที่มากเกินไปได้ แต่ไม่เคยตัดไมตรี ยังคงมีความเป็น ‘เพื่อนรัก’ หล่อเลี้ยงสายใยให้ความเป็นกัลยาณมิตรเสมอ ความรักของสาแคนกับเอริกาก็มีตุ้นเป็นคนกระตุ้นหนุนช่วยเช่นกัน (ครอบครัวเอริกากับตุ้นต้องการให้ทั้งคู่รัก-แต่งงานกัน) ทุกความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันคือความผูกพัน โดยเฉพาะสายใยในความเป็นคนรัก คู่รัก ความภักดีคือหัวใจของสายสัมพันธ์ และเป็นฐานสำคัญเพิ่มพลังขับเคลื่อนชีวิต
“คนเราจะต้องการอะไรไปมากกว่า….เพื่อนดี ๆ ซักคน…”
สาแคน : คุณเอแต่งงานแล้ว พ่อแม่คงเลิกบังคับให้มึงแต่งงานซะที
ตุ้น : เขาก็ช็อกนิดนึงตอนกูบอกว่าชาตินี้กูจะไม่แต่งงาน
สาแคน : แล้วมึงจะไม่แต่งจริง ๆ เหรอ
ตุ้น : วันหนึ่งนะ กูอาจจะแต่งก็ได้ถ้ากูเจอคนที่ใช่ แต่ถึงไม่แต่งกูก็ไม่แคร์ เพราะกูก็มีความรักได้ไม่น้อยกว่าคนที่เขาได้แต่ง
สาแคน : มึงมีความรักแล้วเหรอ กูไม่เห็นรู้เลย
ตุ้น : มี ... มีมาตั้งนานแล้ว แต่กูรู้ว่ากูสามารถรักคนด้วยความจริงใจ เป็นรักที่มั่นคงและยืนยาว ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง รักที่ไม่ต้องการครอบครอง
สาแคน : แล้วมึงไปรู้ตอนไหนว่ามึงรักเขา
ตุ้น : ตอนที่เห็นเขาสุข เราก็สุขด้วย พอเห็นเขาทุกข์เราก็ทุกข์ไปด้วย เป็นรักครั้งแรกเลยที่กูอยากให้มากกว่าอยากได้ เพราะรู้ว่าเส้นทางของเขากับเรามันไม่มีวันบรรจบกัน กูก็ยินดีให้มันเป็นเส้นขนานไปอย่างนี้แหละ จนกว่าจะตายจากกัน
3. การพึ่งพิงอิงโอบจากสังคม เมื่อสาแคนต้องหาเงินสินสอดมาขอเอริกาแต่งงานให้ได้ตามจำนวนที่เศรษฐีพ่อแม่ต้องการ เขาได้รับความช่วยเหลือจากบรรดาบุคคลสำคัญที่สาแคนได้เคยช่วยชีวิตไว้ แม้ไม่ร้องขอแต่ก็ได้รับการหยิบยื่นอย่างยินดีเต็มใจที่ได้ตอบแทน แคนได้รับบริจาคผ่านรายการทีวีที่รับเชิญไปให้สัมภาษณ์แบบเงินทองไหลมาเทมา รวมแล้วเกินกว่าที่ครอบครัวฝ่ายหญิงเรียกร้องต้องการมากมายนัก ไม่มีอะไรได้มาโดยไม่ต้องลงทุน ทุกต้นทุนมีกรรมเป็นฐานก่อก่อนต่อยอด (กรรม คือการกระทำ ทั้งเจตนาและไม่เจตนา ทั้งจากหน้าที่ อุดมคติ หรือ อุดมการณ์) ไม่ว่าเราทำกรรมไว้อย่างไร ทุกอย่างจะย้อนกลับมาเมื่อถึงจังหวะเวลา
4. รักในเพื่อนมนุษย์ คือที่สุดของ ‘การให้’ Theme เรื่องยืนยันให้ความสำคัญต่อ ‘ความรัก’ อันเป็นเสาหลักของ ‘วิหารแห่งจิตวิญญาณ’ เพื่อการเจือจานเพื่อนมนุษย์ในทุกสถานะ คือ ‘หัวใจ’ ของทุกศาสนา พุทธศาสนาจึงรวมไปถึงเมตตาที่เป็นยารักษาทุกความป่วยไข้จากบาดแผลทั้งภายนอกและภายใน เมื่อเรารู้ที่จะรักคนอื่นให้เป็นมากกว่าเห็น ‘เพราะเป็นประโยชน์’ ปณิธานของสาแคนคือ ‘หัวใจของสันติภาพ’ เพราะตระหนักใน ‘หน้าที่’ ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ เขาจึงเป็น ‘ที่รัก’ แม้อัปลักษณ์ จากคนที่มองเห็นหัวใจแท้จริงไม่ใช่ใช้ ‘หน้าตาแต้มต่ำ’ เป็นตัวตัดสิน
5. การสั่งสมคุณงามความดีคือ ‘บารมี’ เสมือนเป็นแต้มต่อก่อไว้หนุนเสริม สู้กับภัยรอบด้านทุกรูปแบบ แม้มีคุณสมบัติที่เป็นเลิศหลายด้านหากไม่ ‘บำเพ็ญทาน’ ด้วยการทำคุณงามความดี (เช่น การเป็น ‘ผู้ให้’ อย่างบริสุทธิ์ใจโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน) แต้มบุญที่ติดตัวมาในอดีตชาติอาจไม่พอ ต้องต่อทุนหนุนฐานไม่ต่างจากการประกอบธุรกิจ หรือการดำรงชีวิตในทุกรูปแบบ ‘ทานบารมี’[5] จึงเป็นที่สุดของการบำเพ็ญทานทั้งปวง เพราะหลักคำสอนในพุทธศาสนาเถรวาท ทานบารมี เป็นแนวคิดคำสอนใน ‘สารัตถสังคหสูตร’ ที่กล่าวถึง การให้ การบริจาค การเสียสละ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่หวังผลใดตอบแทน เป็นการคลายความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว ความโลภในจิตใจมนุษย์ ส่งผลให้เกิดความใส สว่าง สะอาดของจิตใจ ทำให้เกิดการ ‘พัฒนาคุณภาพชีวิต’ มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
เสน่ห์ที่เติมแต่งเรื่องเก่าในบทใหม่คือเทคนิคในงานโปรดักชั่น องค์ประกอบ ฉาก แสง ดนตรี ดูดีมีความลงตัว ทั้งหมดถูกกำหนดด้วยบทละครที่ถูกออกแบบให้ร่วมสมัยอยู่ในระดับที่ “กำลังดี แบบนี้ใช่เลย” แม้ภาพรวมของเรื่องมีความเป็นบทประพันธ์แบบประเพณี ที่เฝ้าสอนสั่งอย่างตั้งใจแบบตรงไปตรงมา แต่การปรับบทใหม่ให้มีหวือหวาพอได้หวานหวามไปกับ ‘ความรักร่วมรุ่น’ (มีกลิ่นรักยุคเก่าเคล้าอุดมคติดีงาม) ท่ามกลางบรรยากาศล้ำสมัยรายรอบ ช่วยจัดกรอบให้หัวใจของเรื่องเด่นขึ้น ความมีอารมณ์ขันอย่างเป็นธรรมชาติเนียนไปกับเนื้อหา คือความคลาสสิคที่ไม่น้อยหน้าบทประพันธ์ โดยเฉพาะตัวละครตลกหน้าตายชื่อ ตุ้น อวลไออุ่นละมุนละไมอยู่ในที มีเสน่ห์ของนักแสดงนำโดดเด่นเป็นสีสันให้หรรษาร่วมกับเหล่าเทวดาได้ตลอดเรื่อง เฟื่องฟูใจดีแท้ ไม่มีใครแพ้ใคร ลื่นไหลในบทบาทที่ตั้งใจ
คุณงามความดีที่ซ่อนอยู่ภายในนับวันจะถูก ‘มองข้าม’มากขึ้น เพราะค่านิยมที่ชื่นชม ‘เปลือก’ เป็นตัวตัดสิน แม้บุคคลที่ดูดีมีสถานะสูงส่งในแวดวงสังคมไฮโซ ยิ่งซ่อน ‘ความจริง’ ไว้มากยากจะทะลุถึง เหมือนสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ทุกยุค โดยเฉพาะปัจจุบัน ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับความเค็มของเกลือ ที่ไม่สามารถทำลายได้ คุณค่าและความหมายของ ‘สังข์ทอง’ จึงอยู่ที่การมองซึ่งต้อง ‘ทะลุ’ ถึงหัวใจไม่ใช่เพียง ‘มองผ่าน’ ม่านมายา ที่นับวันจะหนา หนัก ความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์เท่านั้นที่จะทำลายพลังปีศาจร้ายทั้งภายในภายนอกได้ สาแคน ผู้ผ่านบททดสอบทำให้ผู้ชมเชื่อว่า ถ้าเราต่างเคยทำร้ายกัน (แม้ไม่ตั้งใจ) ยังไม่สายที่จะเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ เพราะ ‘เธอ’ เท่านั้น คือฟันเฟืองสำคัญในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง
ทางเทวดา-เทวาวาด (พิมพ์ครั้งที่ 8)[6]
“ทางเทวดา” และ “เทวาวาด” นิยายเรื่องเยี่ยมของ “แก้วเก้า” ที่ใช้เค้าเรื่องและแรงบันดาลใจจากเรื่องของมนุษย์และเทวดา บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าด้วยการทำดีได้ดี ทำดีไว้เถิดทุกวัน เพราะสวรรค์มีตา (และมีเทวดาด้วย) ความเชื่อนี้ไม่เคยห่างหายไปจากคนที่ดี เพราะเป็นคนดี จิตใจดี และคิดดี เช่น สาแคน และ เขตอรัญ ที่แม้จะมีกำเนิดที่ยากแค้น แต่ด้วยสำนึกที่ดีและจิตใจอันบริสุทธิ์ เทวาบนสวรรค์ที่เฝ้ามองและวาดชีวิตของเขาอยู่ จึงมิเคยทอดทิ้ง ต่างองค์ต่างก็เอาใจช่วย และด้วยกุศลของเขาทั้งคู่ จากหนักจึงกลายเป็นเบา ที่เบาก็ปลอดโปร่งประดุจดังได้ขึ้นสวรรค์ แม้จะมีชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์ นักอ่านทั้งหลายจะได้สัมผัสกับลีลาการประพันธ์ชั้นครู บวกกับการมองโลกในแง่ดีและมีอารมณ์ขันของผู้ประพันธ์ ที่จะเรียกรอยยิ้มอิ่มสุขจากการอ่านนวนิยายเรื่องเยี่ยมทั้ง 2 เรื่องนี้ได้อย่างแน่นอน
ตัวอย่างบางตอนย้อนรำลึก
“แล้วงั้นจะให้ทำยังไง” พระอาทิตย์กับพระจันทร์ถามพร้อมกันราวกับนัด ต่างองค์ต่างก็มองพระราหูอย่างไม่ค่อยจำไว้ใจ พระราหูแสยะยิ้ม มองเทพทั้งสององค์ขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนกะขนาดว่าพอดีกับปากหรือไม่ ทำเอาเทพผู้ถูกมองรีบลอยถอยกรูดไปแอบหลังพระพฤหัสบดีประธานในที่ประชุม “ก็อนุโลมว่าแสงไฟฟ้า แสงเทียน แสงตะเกียง ถือเป็นประเภทเดียวกับแสงอาทิตย์สิท่านยังไงมันก็เป็นแสงที่เกิดจากความร้อนเหมือนกันอยู่ดี ส่วนแสงอื่น ๆ ที่ไม่ร้อนเป็นแสงสะท้อนอย่างแสงพระจันทร์ก็อนุโลมแบบเดียวกับแสงจันทร์ นายสาแคนจะหน้าตาดีได้ก็ต้องอยู่ในที่มืดสนิท…”
“ช้าก่อน ท่านราหู” พระศุกร์ชูมือท้วงขึ้นมาด้วยเสียงนุ่มนวล “หากที่ใดไร้ซึ่งรังสีเฉิดฉันพรรณรายลงสู่ความมืดมนอนธการอย่างสนิท อย่าว่าแต่มองเห็นหน้าผู้อื่นเลย แม้เจ้าตัวสาแคนเองก็ย่อมไม่เห็นแม้แต่ปลายจมูกตัวเองจึงไม่เข้าเกณฑ์พรของสวรรค์อีกเช่นกัน” “แล้วยังไง” ทั้งเทวสภาถามพร้อมกันราวกับนัดพระศุกร์ยืดตัวขึ้นอย่างผึ่งผาย “ข้าขอเสนอให้แก้ไขเป็นว่า ยิ่งแสงสลัวลงเท่าไร นายสาแคนก็ยิ่งมีรูปโฉมงดงามมากขึ้นเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม หากแสงสว่างค่อยเจิดจ้ามากขึ้น เขาก็จะขี้ริ้วมากขึ้น” “แสดงว่าความหล่อเขาปรับระดับได้ตามแสงน่ะหรือ” พระพุทซักด้วยความฉงนฉงาย
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลข่าวจาก
Drama Arts Chula
ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาวิตา ดิถียนต์
[1] แดนสวรรค์ชั้นฉกามาพจร, ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ, vajirayana.org, สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2567 https://vajirayana.org/ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ/บทที่-๖-แดนสวรรค์ชั้นฉกามาพจร
[2] อารยา ธงรัตกัมพล, สวรรค์แบบพุทธฯ “ฉกามาพจร” ในไตรภูมิพระร่วง, สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2567 https://www.silpa-mag.com/culture/article_10923
[3] ภพภูมิเทวดา, anakame.com, สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2567 http://www.anakame.com/page/1_Sutas/300/386_Sutas.htm#22
[4] นายชญานิน นุ้ยสินธุ์, เทวดาในวัฒนธรรมไทย, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2567 https://www.finearts.go.th/literatureandhistory/view/22584
[5] การบำเพ็ญทานบารมีของพระเวสสนดร, วาสารพุทธศาสตร์ศึกษา, สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2567 https://so02.tci-thaijo.org/index.php/JBS/article/view/248101
[6] ทางเทวดา-เทวาวาด (พิมพ์ครั้งที่ 8), naiin.com, สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2567 https://www.naiin.com/product/detail/521806
- ละครเวที
- กวินพร เจริญศรี
- แก้วเก้า
- วินิตา ดิถียนต์
- สาวิตา ดิถียนต์
- กายกานต์ เทพประดิษฐ์
- นวิน พรกุลวัฒน์
- โซฟี โชร์เดอร์
- สุรีกานต์ จอนจวบทรง
- ชวลิต ตระกูลสันติรัตน์
- จักรพันธ์ ตัณฑะสุวรรณะ
- สุพัตรา เครือครองสุข
- อาทรี วณิชตระกูล
- ศิลปะ-วัฒนธรรม
- วรรณกรรม
- BEAUTY STANDARD
- ทางเทวดา หรือชะตาชีวิต
- The Angels Path
- สังข์ทอง