Focus
- บทความนี้นำเสนอมุมมองของรัฐสยามต่อคำว่าราษฎร เปรียบเทียบก่อนและหลังการอภิวัฒน์ 2475 และเสนอความคิดเรื่องราษฎรของนายปรีดี พนมยงค์ โดยช่วงก่อนทศวรรษ 2470 คำเรียกที่ใช้เรียกคนที่อยู่อาศัยในประเทศสยามนั้น ประกอบด้วยคำหลายคำ ดังเช่น “ราษฎร พลเมือง ประชาชน คนในบังคับ ไพร่ และทาษ” ที่สอดรับกับฐานันดรและความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นต่างๆ ในสังคมของพลเมือง ส่วนคำที่ถูกใช้มากที่สุดนั้นคือคำว่า “ราษฎร” ซึ่งหมายถึงสามัญชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในรัฐ
- ลักษณะของมนุษย์ในทรรศนะของนายปรีดี พนมยงค์ คือพื้นฐานทางความคิดเรื่องราษฎรก่อนการอภิวัฒน์ของนายปรีดีที่มีจุดตั้งต้นปรากฏให้เห็นในปาฐะเรื่องปัญหาเกี่ยวแก่การลงอาชญาผู้กระทำผิดกฎหมาย ณ สามัคยาจารย์ วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2471 เนื้อหาสำคัญของปาฐะดังกล่าวได้กล่าวถึงการที่จะป้องกันการกระทำผิดกฎหมายนั้นจะต้องพิจารณาเสียก่อนว่าสาเหตุที่ทำให้บุคคลต้องกระทำผิดต่อกฎหมายนั้นมาจากอะไร ซึ่งนายปรีดีได้แบ่งข้อสมุติฐานเหตุของการกระทำความผิดตามวิธีวิทยาศาสตร์ของสำนักปฏิฐานนิยม (The positive school) เพื่อโต้แย้งกับสำนักคลาสสิค
- แนวความคิดเรื่อง “ราษฎร” ของนายปรีดี พนมยงค์ มีอยู่บนพื้นฐานแนวคิดสิทธิของมนุษยชนโดยนายปรีดีได้นำเอาแนวคิดสมัยใหม่ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากคำขวัญของการปฏิวัติของฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1789 ที่เรื่องเสรีภาพ (Liberté) เสมอภาค (Égalité) และภราดรภาพ (Fraternité) แนวคิดสิทธิของมนุษยชนนี้มีลักษณะเป็นหลักการที่อธิบายถึงสิทธิและหน้าที่ที่อยู่บนความสัมพันธ์แบบใหม่โดยเป็นหลักการที่ติดอยู่ในตัวมนุษย์ในลักษณะของการเป็นพลเมืองซึ่งนายปรีดีได้เริ่มกล่าวถึงแนวคิดดังกล่าวจากหลักหนึ่งของกฎหมาย และราษฎรในทรรศนะของนายปรีดี หมายถึงพลเมืองทั้งหลายที่อยู่ในประเทศในฐานะของผู้ถูกปกครองและมีหน้าที่รับใช้รัฐตามระบอบเก่าซึ่งผู้เขียนบทความนี้ศึกษาเรื่องราษฎรตามแนวคิดของนายปรีดีจากประกาศคณะราษฎรเป็นหลัก
ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ปรีดี พนมยงค์เป็นที่รู้จักกันในฐานะของหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยถูกยกให้เป็นหัวหน้าผู้ก่อการสายพลเรือนและเป็นบุคคลสำคัญที่ มีอิทธิพลทั้งทางด้านความคิดและการปฏิบัติจนถูกให้เป็น “มันสมอง” ของคณะราษฎรเพราะเป็นผู้ร่างหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม(ชั่วคราว) 2475 และมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญในฉบับต่อมา รวมถึงเค้าโครงการเศรษฐกิจที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนั้นจนทำให้ปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และต้องออกนอกประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ภายหลังจากที่ปรีดีพ้นข้อกล่าวหาแล้วได้กลับเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญคือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2484) ได้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 และเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในนาม “รูธ” ภายหลังสงครามสงบ (พ.ศ. 2488) ได้รับยกย่องไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโสและในปี พ.ศ. 2489 ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะถูกจำกัดบทบาททางการเมืองภายหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 และถูกตัดขาดจากอำนาจทางการเมืองจากการทำรัฐประหารใน พ.ศ. 2490 ทำให้ต้องเดินทางออกนอกประเทศจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมที่บ้านพักชานกรุงปารีสในปี พ.ศ. 2526
บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะกล่าวถึงแนวความคิดในเรื่อง “ราษฎร” ของปรีดี พนมยงค์ว่ามีลักษณะอย่างไร และแนวความคิดดังกล่าวมีความสำคัญในช่วงเวลาของการอภิวัฒน์[1] สยามอย่างไร ในที่นี้ได้จัดวางแนวความคิดดังกล่าวไว้ในลักษณะของความคิดทางการเมืองไทยสมัยใหม่ ซึ่งมีลักษณะเป็นความคิดเห็นหรือจินตนาการทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของรอยต่อทางการเมืองไทยระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่ โดยทั่วไปแล้วตัวความคิดนั้นมักจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละยุคสมัยเนื่องจากตัวความคิดจะมีปฏิสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้นๆ อยู่เสมอ และขณะเดียวกันตัวความคิดก็อาจมีส่วนที่ทำให้สังคมนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยเช่นกัน ในที่นี้จึงเลือกที่จะพิจารณาแนวความคิดดังกล่าวด้วยแนวทางการศึกษาแบบประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง (History of Political Thought) กล่าวคือเลือกพิจารณาถึงบริบทของการใช้คำในยุคสมัยนั้นเข้ามาประกอบกับตัวแนวความคิดดังกล่าวด้วยเพื่อจะช่วยให้เข้าใจถึงความหมายของความคิดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ
ดังนั้น เนื้อหาในส่วนแรกของบทความนี้จะได้กล่าวถึงการใช้คำว่า “ราษฎร” ที่ปรากฏในสังคมช่วงก่อนการปฏิวัติสยาม ส่วนต่อมาจะพิจารณาถึงตัวแนวคิดในเรื่อง “ราษฎร” ของปรีดีว่ามีลักษณะอย่างไร โดยเริ่มต้นจากการกลับไปพิจารณาถึงสมมติฐานเกี่ยวกับลักษณะของมนุษย์ จากนั้นจึงจะพิจารณาต่อไปว่ามนุษย์ในสังคมการเมืองแบบใหม่ในทรรศนะของปรีดีนั้นควรจะมีคุณสมบัติอะไรบ้าง และส่วนสุดท้ายจะพิจารณาถึงลักษณะของแนวความคิดเรื่อง “ราษฎร” ของปรีดีว่ามีลักษณะอย่าง และมีความสำคัญต่อช่วงเวลาของการปฏิวัติสยามอย่างไร
มุมมองของรัฐสยามต่อคำว่า “ราษฎร”
ก่อนทศวรรษ 2470 คำเรียกที่ใช้เรียกคนที่อยู่อาศัยในประเทศสยามนั้น ประกอบด้วยคำหลายคำ ดังเช่น “ราษฎร พลเมือง ประชาชน คนในบังคับ ไพร่ และทาษ” คำเหล่าเป็นคำที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณและถูกนำมาใช้ด้วยการให้ความหมายของคำเหล่านี้แตกต่างกันไป แต่บางคำก็มีความหมายที่ใกล้เคียงกันจนสามารถนำมาใช้สลับกันได้ ดังเช่น คำว่า “ไพร่” หมายถึงกลุ่มคนที่เป็นกำลังพลใช้แรงงานภายในรัฐบางครั้งหมายถึงคนในรัฐด้วย คำว่า “คนในบังคับ” หมายถึงคนที่อยู่ภายใต้สังกัดของรัฐใดรัฐหนึ่ง ขณะที่คำว่า “ทาษ” หมายถึงคนที่อยู่ในกลุ่มระดับล่างของสังคม เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานและใช้เป็นทรัพย์สินในการซื้อขายได้ ส่วนคำที่ถูกใช้มากที่สุดนั้นคือคำว่า “ราษฎร” ซึ่งหมายถึงสามัญชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในรัฐ ดังพบในประกาศของทางราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่น
“จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ตีพิมพ์ประกาศแก่ข้าทูลละอองธุรีพระบาท แลราษฎรให้รู้ทั่วกันว่าอย่าให้เชื่อเรื่องราวเล่านี้เป็นความไม่จริง ผู้ใดได้เรื่องราวอย่างนี้ไว้แล้ว ถ้าอยู่ในแขวงกรุงเทพมหานครก็ให้เอาเรื่องราวอย่างนี้มาส่งแก่กรมพระนครบาล ถ้าอยู่แขวงหัวเมืองใดๆ ก็ให้เอาเรื่องราวนั้นๆ อย่าให้ราษฎรทั้งปวงตกใจวุ่นวายไปต่างๆ อย่างใดอย่างหนึ่งเลย (ประกาศแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเรื่องอย่าให้เชื่อผีที่เล่าฦๅกันต่างๆ เล่มที่ 1 แผ่นที่ 3 หน้า 20)”
หรือในจดหมายข่าวที่มีการทับศัพท์หรือแปลมาจากภาษาต่างประเทศ เช่น
“ณ วันที่ ๑๙ เดือนมาชปารลิอเมนต์ได้ประชุมใหญ่ จะปฤกษาในการแผ่นดินเมื่อประชุมแล้ว พวกลอร์ด (ขุนนาง) ชุมนุมในที่สำหรับลอร์ดพวกกอมมอนส์ (ราษฎร) ประชุมในที่สำหรับกอมมอนส์แลท่านลอร์ด ชานเชลลอร์ดได้เรียกพวกกอมมอนล์ เข้ามาในที่ประชุมพวกลอร์ด (ขุนนาง) ฟังท่านอ่านพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระนางเจ้ากวินในพระราชหัตเลขานั้นมีความว่า เราถึงท่านลอร์ดแยเลนตลิเมนต์ท่านผู้ดีด้วยมินิศเตอร์เสนาบดีของเราได้ทูลลาออกจากราชการ เราต้องตั้งผู้อื่นขึ้นแทน (ข่าวต่างประเทศไม่เกี่ยวข้องกับราชการเปนแต่ผู้เรียบเรียงไว้เพื่อให้รู้ข่าวต่างประเทศ เล่มที่ ๑ แผ่นที่ ๑ หน้า ๘)”
อย่างไรก็ตามบางครั้งคำว่า “ราษฎร” ก็มีการใช้สลับกับคำอื่นๆ ซึ่งดูเหมือนถูกทำให้มีความหมายคล้ายกันจนบางครั้งถูกนำมาใช้สลับกันไปมาได้ดังคำว่า “ประชาชน” เช่น
“แลความเจริญของอาณาประชาราษฎรทั้งในการที่ชักจูงน้ำใจให้มีความจงรักภักดีเปนอันหนึ่งอันเดียวแลความพอใจของประชาชนในความปกครองของเราเหล่านี้ เปนสิ่งสำคัญที่จะให้กรุงสยามมั่นคงถาวรสืบไป (พระราชดำรัส เล่ม 5 แผ่น 27 หน้า 225)”
หรือคำว่า “พลเมือง” ซึ่งหมายถึงประชากรที่อยู่ในรัฐมีลักษณะบ่งบอกถึงจำนวนและรวมถึงการเป็นผู้ที่มีหน้าที่ต่อรัฐนั้นด้วย บางครั้งมีการใช้ผสมผสานกับคำว่าราษฎรหรือประชาชน เช่น
“แลพระราชดำรัสว่า “การที่ทรงตั้งเจ้าอุปราชให้เปนเจ้านครลำปางนี้ เพราะวางพระราชหฤไทยว่าจะจัดการบ้านเมืองได้เรียบร้อยดี แลทรงพระราชดำริเห็นว่าเปนผู้มีความจงรักภักดีแลซื่อสัตย์ต่อกรุงเทพฯ แลคงจะทนุบำรุงราษฎรไพร่บ้านพลเมืองให้อยู่เย็นเปนศุข ขอให้กลับไปรักษาบ้านเมืองเปนศุขสวัสดิ์เถิด” (การตั้งเจ้าประเทศราชเล่ม 9 แผ่นที่ 4 หน้า 389)”
อย่างไรก็ตามในยุคสมัยนั้นคำเหล่านี้ได้ถูกใช้เพื่อเรียกคนในฐานะของผู้ที่ถูกปกครองโดยมีหน้าที่ต่อรัฐนั่นเอง ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2470 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อสังคมสยามเริ่มก้าวเข้าสู่โลกทางการเมืองแบบใหม่ คำว่า “ไพร่” และ “ทาษ” ไม่ได้รับการนิยมใช้อย่างเป็นทางการอย่างเช่น ในภาษากฎหมายอีกต่อไป คำว่าชาวบ้านก็เป็นคำกลาง ๆ ที่ไม่มีความหมายความรู้สึกผูกพันเท่าใดนัก คำที่ถูกใช้ในช่วงนั้นปรากฏให้เห็นชัดอยู่สามดำ คือ พลเมือง ราษฎร และประชาชน คำว่า “พลเมือง” นั้นดูจะบ่งบอกการมีสำนึกทางการเมืองแบบไม่มีการแบ่งแยกฐานะทางสังคม และเน้นความสามัคคีเป็นหลักเพราะทุกคนล้วนแต่เป็นพลเมืองทั้งสิ้น ความแตกต่างกันเป็นเรื่องของการมีหน้าที่การงานแตกต่างกัน ส่วนคำว่า “ราษฎร” ปรากฏว่ามีการใช้โดยสามัญชนผู้มีความคิดอ่านอย่าง เทียนวรรณ ในสมัยก่อนหน้านั้นและในเวลาต่อมาซึ่งมีการถกเถียงทางความคิดกันอย่างแพร่หลายใน พ.ศ. 2471 มีหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ “ราษฎร” โดยนายใช้ บัวบูรณ์เป็นเจ้าของและได้ลงพิมพ์บทความหลายบทความที่มีเนื้อหาสาระเน้นหนักไปทางเสนอความคิดให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง อย่างไรก็ดีคำว่าราษฎรที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับจากคนระดับล่างของสังคมมีความหมายทางการเมืองเป็นคนละแบบกับคำว่าพลเมือง กล่าวคือ คำว่าราษฎรเน้นให้เห็นว่าสังคมการเมืองมีการแบ่งแยกฐานะ เช่น คนที่เป็นเจ้านายเป็นพลเมืองได้แต่เป็นราษฎรไม่ได้ และเน้นสำนึกของสิทธิมากกว่าหน้าที่ ส่วนคำว่าประชาชนนั้นมีอยู่บ้างแล้วในช่วงทศวรรษที่ 2470 แต่กลายเป็นคำที่ให้ความรู้สึกที่เป็นกลาง ไม่มีความสำนึกทางการเมืองมากนัก[2]
ลักษณะของมนุษย์ในทรรศนะของปรีดี
ก่อนที่จะกล่าวถึงแนวความคิดเรื่อง “ราษฎร” ของปรีดี พนมยงค์นั้น เราจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นจากการพิจารณาถึงหลักการหรือพื้นฐานทางความคิดของปรีดีเสียก่อนว่าปรีดีมีจุดเริ่มต้นทางความคิดต่อมนุษย์ในยุคสมัยของตนอย่างไรจนนำไปสู่การสร้างตัวตนของราษฎรในทางการเมืองขึ้นมาได้ พบว่าปรีดีนั้นไม่ได้กล่าวถึงแนวคิดเรื่องดังกล่าวไว้โดยตรงพบแต่เพียงร่อยรอยของแนวคิดดังกล่าวจากปาฐะเรื่องปัญหาเกี่ยวแก่การลงอาชญาผู้กระทำผิดกฎหมาย ณ สามัคยาจารย์ วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2471 เนื้อหาปาฐะดังกล่าวได้กล่าวถึงการที่จะป้องกันการกระทำผิดกฎหมายนั้นจะต้องพิจารณาเสียก่อนว่าสาเหตุที่ทำให้บุคคลต้องกระทำผิดต่อกฎหมายนั้นมาจากอะไร ซึ่งปรีดีได้แบ่งข้อสมุติฐานเหตุของการกระทำความผิดตามวิธีของลัทธิต่างๆ ไว้ เป็น 2 พวก คือ
“พวกที่ ๑ ค้นคว้าหาเหตุโดยพิจารณาถึงลักษณะอวัยวะ และเหตุอันเป็นส่วนบุคคลของผู้กระทำผิด ซึ่งฝรั่งเศสเรียกลัทธินี้ว่า เอโกลอองโตรโปจิก
พวกที่ ๒ ค้นคว้าหาเหตุโดยพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของหมู่เหล่าสถานที่ฐานะความเป็นอยู่ความดำรงชีวิตของผู้กระทำผิด ซึ่งฝรั่งเศสเรียกลัทธินี้ว่า เอโกลโซซิโอโลจิก”
กล่าวคือพวกแรกนั้นพิจารณาเหตุของผู้กระทำความผิดจากลักษณะของตัวผู้ร้ายเองว่าการกระทำความผิดนั้นเกิดขึ้นมาจากลักษณะนิสัยส่วนตัวหรือเหตุธรรมดาในส่วนตัวของตัวผู้ร้ายเอง ดังเช่น การเป็นผู้ร้ายโดยกำเนิดเพราะมีลักษณะอวัยวะที่ส่งเสริมให้กระทำผิดหรือมีลักษณะนิสัยที่ชอบบรรดาลโทสะ จริตไม่สมประกอบ เป็นต้น ดังนั้นลักษณะอวัยวะและลักษณะนิสัยที่ติดตัวมาของผู้ร้ายจึงเป็นลักษณะสำคัญที่จะสื่อให้เราเห็นถึงเหตุของการทำความผิดได้ซึ่งผู้สถาปนาแนวคิดพวกแรกนี้ก็คือศาสตราจารย์เซซาร์ลองโบรโซ
ส่วนพวกที่สองนั้นเห็นว่าความผิดที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่แวดล้อมผู้กระทำผิดซึ่งอาจเป็นไปโดยฐานทางศีลธรรมและฐานในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะฐานในทางเศรษฐกิจนี้เองที่ปรีดีได้ขยายความต่อไปก็คือความขาดแคลนในสิ่งที่จำเป็นสำหรับความเป็นอยู่ เช่น การขาดอาหาร สถานที่อยู่ เครื่องอุปโภคต่างๆ หรือนัยหนึ่งที่เราเรียกกันว่า “ความจน”[3] โดยที่ความจนอาจเกิดขึ้นจากการสภาพธรรมดา เช่น จากการอยู่อาศัยในภูมิอากาศไม่เหมาะสม หรือจากการกระทำของตัวบุคคลเอง เช่น ความเกียจคร้าน ความสุรุ่ยสุร่าย ส่วนความจนอีกชนิดหนึ่งนั้นเกิดขึ้น จากการกระทำของบุคคลอื่น เช่น ชาวนาที่ทำการเพาะปลูกได้ข้าวดี แต่ถูกพวกซึ่งเรียกว่าเจ้าทุ่งกดราคาให้ต่ำลง เป็นต้น นักปราชญ์ในทางวิทยาศาสตร์ที่ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับพวกหลังนี้ เช่น ท่านตาร์เดอะ และท่านกาโรฟาโร
จากสาเหตุของการกระทำความผิดทั้ง 2 พวกดังกล่าวนั้น ปรีดีมีความเห็นว่า
“เราจะลงความเห็นถือเอาลัทธิอันใดอันหนึ่งแต่ลำพังนั้นไม่ได้เพราะต่างลัทธิก็มีเหตุที่แท้จริง และก็ย่อมมีข้อยกเว้นด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย เช่นกับลัทธิที่กล่าวว่าความผิดนั้นย่อมเกิดขึ้นจากนิสสัยสันดานอันเป็นส่วนตัวบุคคลของผู้ร้าย ความเห็นนี้อาจเป็นจริงเพราะอาจมีผู้ร้ายโดยกำเนิด แต่ก็อาจมีได้เหมือนกันที่มนุษย์บางคนมีนิสสัยดี แต่ความจำเป็นทางแนวความคิดเรื่อง “ราษฎร” ของปรีดี พนมยงค์ เศรษฐกิจหรือความอบรมในทางศีลธรรมยังไม่เพียงพอ จึงกระทำความผิดขึ้น หรือในหมู่คนยากจนเราอาจพบผู้ที่ประพฤติดียิ่งกว่าผู้มีทรัพย์เสียอีก”[4]
แม้ปรีดีจะมีการแบ่งแยกสาเหตุของการกระทำความผิดออกเป็น 2 พวกดังกล่าวมาข้างต้นซึ่งหากพิจารณาโดยผิวเผินแล้วจะเห็นว่าทั้ง 2 พวกนั้นมีความแตกต่างกันในแหล่งที่มาของสาเหตุของการกระทำความผิด แต่เมื่อพิจารณาลงลึกไปถึงที่มาของทั้ง 2 พวกดังกล่าวนั้นกลับพบว่าทั้ง 2 พวกมีความสอดคล้องกันมากกว่าที่จะมีความแตกต่างกัน กล่าวคือในทางทฤษฎีของวิชาอาชญาวิทยาแล้วทั้ง 2 พวกถูกจัดให้อยู่ในสำนักเดียวกันคือสำนักปฏิฐานนิยม (The positive school) ที่เน้นเอาความรู้ด้าน “วิทยาศาสตร์” เข้ามาช่วยในการอธิบายและวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการกระทำผิดอันเป็นผลมาจากความสำเร็จของวิชาวิทยาศาสตร์ในช่วงปลายศตวรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 [5] เพื่อโต้แย้งกับสำนักคลาสสิคที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ที่ให้ความสนใจกับพฤติกรรมของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นโดยเชื่อว่ามนุษย์นั้นมีเจตจำนงที่เสรี (Free will) มีเหตุผลและอิสระในการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ
ดังนั้นเมื่อมนุษย์กระทำความผิดจึงเน้นไปที่การลงโทษเพื่อข่มขู่ยับยั้งไม่ให้กระทำผิดอีก แต่สำนักปฏิฐานนิยมกลับให้ความสำคัญไปที่ตัวอาชญากรเพื่อหาสาเหตุของพฤติกรรมของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นโดยมีความเชื่อพื้นฐานว่ามนุษย์ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมตนเองได้อย่างเด็ดขาดโดยเฉพาะพฤติกรรมอาชญากรรม
ดังนั้นอาชญากรรมจึงเกิดจากความผิดปกติหรือความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือจิตใจของมนุษย์ โดยการนำเอาวิธีศึกษาวิจัยแบบวิทยาศาสตร์เข้ามาศึกษาตัวอาชญากรโดยตรง พฤติกรรมอาชญากรรมของสำนักดังกล่าวจึงเกิดจากความผิดปกติที่เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ที่มีมาแต่กำเนิด ดังนั้นตัวอาชญากรจะมีลักษณะแตกต่างจากบุคคลธรรมดาทั่วไป กล่าวคือ อาชญากรเป็นบุคคลที่มีความผิดปกติทางชีวภาค หรือกายภาค หรือมีสิ่งผิดปกติติดตัวมาแต่กำเนิด หลังจากนั้นก็จะแสดงให้เห็นว่าความผิดปกตินั้นเป็นสาเหตุสำคัญหรือตัวกระตุ้นให้บุคลประกอบอาชญากรรม[6] นักทฤษฎีผู้ริเริ่มหลักการดังกล่าวคือ ซีซาร์ ลอมโบรโซ (Cesare Lombroso) ซึ่งปรีดีได้กล่าวถึงเกี่ยวกับการพิจารณาถึงสาเหตุของการกระทำความผิดในพวกแรก
สำหรับนักทฤษฎีต่อมาที่ปรีดีได้กล่าวถึงในพวกที่ 2 นั้นก็คือราฟาเอล กาโรฟาโล (Raffaele Garofalo) ซึ่งกาโรฟาโรเองนั้นก็ได้ถูกจัดให้อยู่ในสำนักปฏิฐานนิยม เช่นกัน แม้ว่ากาโรฟาโรจะไม่ได้สนับสนุนแนวคิดของลอมโบรโซทั้งหมดเพราะกาโรฟาโรได้ใช้เหตุผลทางจิตวิทยาที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรมเข้ามาช่วยอธิบายสาเหตุของการกระทำผิด ส่วนนักทฤษฎีคนสุดท้ายที่ปรีดีได้กล่าวอ้างถึงนั้นคือ เกเบียล เดอ ตาร์ (Gabriel De Trade) ผู้เขียนหนังสือ La criminallit? compare ซึ่งนักทฤษฎีท่านนี้ได้โต้แย้งกับแนวคิดของลอมโบรโซและได้เน้นถึงสาเหตุของการกระทำผิดไปที่ปัจจัยทางสังคมโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้คนกระทำความผิด อย่างไรก็ตามนักทฤษฎีทั้ง 3 ท่านดังกล่าวต่างก็มีจุดร่วมกัน นั่นก็คือการใช้วิธีการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์และหันมาพิจารณาที่ตัวอาชญากรมากกว่าการมุ่งที่การกระทำความผิดหรืออาชญากรรมนั้นๆ โดยมีหลักการพื้นฐานที่ว่าการกระทำผิดของคนนั้นไม่ได้เกิดจากเจตจำนงอิสระ (Free will) แต่ได้กระทำไปเพราะมีปัจจัยบางอย่างมาเป็นตัวกำหนด (Determinism) ให้คนต้องกระทำผิด ดังนั้นคนจึงเลือกระทำผิดเองไม่ได้
ดังนั้นหากจะป้องกันการกระทำผิดจึงต้องแก้ที่ต้นเหตุและช่วยเหลืออาชญากรเหล่านั้นด้วยการอบรมสั่งสอนไม่ให้กระทำผิดอีก ดังที่ปรีดีได้กล่าวถึงวิธีการที่จะป้องกันการกระทำผิดโดยการป้องกันนิสสัยสันดานของผู้ร้ายและเหตุจากภายนอก โดยปรีดีได้แยกวิธีการป้องกันออกเป็นสองจำพวก คือ 1) วิธีที่จะปฏิบัติก่อนเกิดการกระทำผิด 2) วิธีที่จะปฏิบัติเมื่อความผิดเกิดขึ้นแล้ว สำหรับวิธีแรกนั้นปรีดีเสนอให้เน้นไปที่การศึกษาอบรมในทางศีลธรรมและดูแลเรื่องการเศรษฐกิจ กล่าวคือการให้ความรู้จักในสิ่งผิดและสิ่งชอบ[7]
ส่วนทางเศรษฐกิจนั้น ปรีดีมีความเห็นว่า “เหตุที่จะเกิดการกระทำผิดซึ่งเนื่องมาจากเศรษฐกิจนั้น ก็คือ ความจน ความขาดแคลนในสิ่งที่ต้องการสำหรับความเป็นอยู่ ... การบำรุงเผยแพร่เศรษฐกิจนั้น ก็จำต้องอาศัยชนหมู่มากและเอกชนเป็นรายบุคคล[8]
และส่วนที่สองเมื่อเกิดความผิดขึ้นแล้วปรีดีได้เสนอให้ภายหลังจากการที่ศาลพิพากษาชี้ขาดแล้ว ผู้ร้ายก็ย่อมได้รับอาชญาตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ แต่สำหรับวิธีการที่จะปฏิบัติต่อนักโทษคือวิธีการดัดนิสสัยสันดานของนักโทษให้เป็นคนดี และเลือกปรับปรุงนักโทษไปตามเหตุของการกระทำความผิด เช่น เมื่อความผิดเกิดจากความขาดแคลนไม่มีที่ทำมาหากินก็ต้องพยายามสอนอบรมให้รักในอาชีพที่ชอบ
จึงอาจตีความได้จากข้อเสนอของปรีดีผ่านทฤษฎีทางอาชญาวิทยาที่ปรีดีได้เลือกใช้นั้นได้สะท้อนถึงลักษณะของมนุษย์ในทรรศนะของปรีดีว่าคือมนุษย์ที่มีความหลากหลายทั้งคนดีและคนชั่ว ซึ่งการกระทำความผิดของมนุษย์นั้นไม่ได้มีเจตนาที่จะกระทำผิด แต่การกระทำผิดนั้นมาจากกลไกหรือปัจจัยภายนอกของตัวมนุษย์เอง โดยที่ปัจจัยของการกระทำผิดนั้นไม่ได้มาจากกรรมตามความเชื่อแบบพุทธศาสนาแต่มาจากสังคมหรือกลไกอื่นๆ ที่อยู่ภายในตัวมนุษย์ซึ่งล้วนแล้วแต่ปรับปรุงแก้ไขได้ ความคิดของปรีดีในเรื่องมนุษย์จึงไปไกลออกจากแนวคิดของพุทธศาสนาด้วยการอาศัยแนวคิดสมัยใหม่เข้ามาอธิบายว่าความผิดที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่การยอมรับผลที่เกิดขึ้นนั้น แต่เราสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้มันดีขึ้นมาได้ ดังเช่น หากเกิดจากปัจจัยทางสังคม แล้วก็ให้มีการแก้ไขสังคมให้เอื้อต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ขณะที่ปัจจัยมาจากปัญหาทางร่างกายนั้นก็สามารถให้การอบรมและพัฒนาให้มนุษย์กลับมาเป็นคนดีได้ ดังนั้นจึงสามารถป้องกันไม่ให้มนุษย์กระทำผิดดังกล่าวได้ด้วยการพัฒนาตัวมนุษย์เองจากการศึกษาหรือสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมให้มนุษย์สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่กระทำผิดมากกว่าที่จะปล่อยให้มนุษย์ดำรงชีวิตไปตามนิสสัยสันดานที่ชั่วร้ายหรือปล่อยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่อัตคัดฝืดเคืองเพราะถือว่าเป็นกรรมเพียงเท่านั้น มนุษย์ในทรรศนะของปรีดีจึงเป็นมนุษย์ที่สามารถจะกระทำความผิดได้ด้วยปัจจัยที่ต่างกันแต่สามารถที่จะเรียนรู้ ปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาตนเองไปจนถึงขีดสุดจนทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึก “เป็นอิสระภาพจะพลันเกิดมีขึ้นแก่ใจ อันจะเป็นหลักอย่างมั่นคงของเกียรติยศ และนิสัยใจคอที่ดี ผู้ใดรู้สึกตัวว่าเป็นอย่างนี้ ผู้นั้นจำต้องมีอารมณ์อิ่มเอิบเกิดขึ้นในใจเป็นธรรมดา” ด้วยกลไกการศึกษาดังกล่าวก็จะช่วยให้มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำพักน้ำแรงผู้อื่น[9] และเมื่อพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้แล้วก็ย่อมจะส่งผลไปถึงมนุษย์คนอื่นๆ และสังคมในภาพรวมได้อีกด้วย
สิทธิของมนุษย์ชนในฐานะคุณสมบัติของมนุษย์สมัยใหม่
ด้วยมโนทัศน์การมองมนุษย์ในแบบสมัยใหม่ได้นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสังคมการเมืองในแบบใหม่ขึ้นมาด้วยการหาหลักการพื้นฐานของมนุษย์ในฐานะพลเมืองที่เป็นการอธิบายถึงเรื่องของสิทธิและหน้าที่ในแบบใหม่ ขณะที่สิทธิและหน้าที่ของสังคมสยามในแบบเก่านั้นมีลักษณะในแบบอุปถัมภ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองที่มีความสัมพันธ์กันในลักษณะแนวดิ่ง ส่วนคุณสมบัติของมนุษย์แบบใหม่นี้ได้ปรากฏในประกาศคณะราษฎร หลัก 6 ประการของคณะราษฎรได้ปรากฏหลักการพื้นฐานของสิทธิและหน้าที่ของราษฎรในแบบใหม่ ดังปรากฏในข้อที่ “๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)”
และข้อที่ “๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น” ต่อการทำความเข้าใจหลักการดังกล่าวเพิ่มเติมเราจะเริ่มพิจารณาจากในงานเขียนช่วงก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ปรีดีได้กล่าวถึงหลักที่เป็นคุณสมบัติของพลเมืองในรัฐสมัยใหม่สมัยใหม่ซึ่งเป็น “หลักกฎหมาย” ทั่วไปและได้กลายเป็นหลักเบื้องต้นที่ติดตัวอยู่กับมนุษย์คือ “หลักสิทธิของมนุษยชน” ในคำอธิบายกฎหมายปกครองว่า “มนุษย์เกิดมาย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในอันที่จะดำรงชีวิต และรวบรวมกันอยู่ได้เป็นหมู่คณะ สิทธิและหน้าที่เหล่านี้ย่อมมีขึ้นจากสภาพตามธรรมดาแห่งการเป็นมนุษย์นั้นเอง” โดยหลักสิทธิของมนุษย์ชนดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ
“1. ความเป็นอิสระหรือเสรี (Libert?)
2. ความเสมอภาค หรือสมภาค (Egalit?)
3. ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันฉันพี่น้อง หรือภราดรภาพ (Fraternit?)” [10]
โดยสิทธิและหน้าที่เหล่านี้สำหรับปรีดีแล้วก็ไม่ถือว่าเป็นสิ่งตายตัวแต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัยและการผันแปรไปตามกฎหมายและประเพณีของแต่ละประเทศ
1. ความเป็นอิสระ
ปรีดีได้ให้คำนิยามของ “อิสระ” ไว้ว่า “ความเป็นอิสระที่บุคคลอาจจะทำการใดๆ ได้โดยไม่เป็นที่รบกวนละเมิดต่อบุคคลอื่น”[11] ซึ่งสามารถแยกความเป็นอิสระออกได้เป็นหลายๆ ส่วน เช่น ในเคหสถาน การทำมาหากิน ทรัพย์สิน การเลือกศาสนา การสมาคม การแสดงความคิดเห็น การศึกษา ร้องทุกข์ แต่สำหรับอิสระที่ดูจะสอดคล้องกับรูปแบบการเมืองใหม่ที่ปรีดีเสนออย่างเด่นชัดนั้นคือ ความเป็นอิสระในตัวบุคคล (หรือในร่างกาย) กล่าวคือ “มนุษย์ย่อมเป็นอิสสระในตัวของตนจะกระทำอาการกิริยาในส่วนที่เกี่ยวกับร่างกายได้” ซึ่งผลจากความเป็นอิสระในตัวบุคคลดังกล่าวได้ปรากฏในกฎหมายของสยามมาบ้างแล้ว ดังเช่น
“ก. มนุษย์ย่อมเป็นไทย ทาสในประเทศสยามในเวลานี้ไม่มีแล้ว (ดูพระราชบัญญัติลักษณะทาส ร.ศ. ๑๒๔)
ข. มนุษย์จะถูกจับกุมตามความพอใจของเจ้าพนักงานไม่ได้ การจับกุมจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและตามแบบที่กฎหมายที่ได้กำหนดไว้ (ให้ดูพระราชบัญญัติความอาญามีโทษสำหรับใช้ไปพลางก่อน ร.ศ. ๑๑๕)
ค. โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ศาลจะเลือกลงโทษตามชอบใจไม่ได้ (ให้ดูกฎหมายลักษณะอาชญามาตรา ๑๒) โทษอื่นๆ เช่น โทษเฆี่ยนทรมานต่างๆ ไม่มีแล้ว”[12]
ดังนั้นความเป็นอิศระในที่นี้จึงหมายถึงความเป็นอิสระของบุคคลที่เป็น “บุคคลธรรมดา ได้แก่มนุษย์ สัตว์เดียรัจฉานไม่เป็นบุคคล เพราะฉะนั้นเราจะทำสัญญาขายหญ้าให้แก่ม้าไม่ได้ อนึ่งในทุกวันนี้มนุษย์ทุกคน เป็นบุคคลไม่ใช่ทรัพย์ เช่น ทาสในครั้งโบราณ”[13] ซึ่งนับว่าเป็นรูปแบบของบุคคลสมัยใหม่ในลักษณะของปัจเจกบุคคลโดยที่รัฐเองก็ต้องปฏิบัติต่อบุคคลในฐานะของผู้ที่มีความเป็นอิสระด้วย
ข้อเสนอของปรีดี เช่นนี้ก็เกิดขึ้นพร้อมกับพัฒนาการของการสร้างปัจเจกบุคคลให้เกิดขึ้นในสังคมมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว กล่าวคือ การให้กรรมสิทธิในทรัพย์สินจากการขยายตัวทางการค้าและการสร้างกฎหมายสมัยใหม่ที่ถือว่าคู่กรณีเป็นปัจเจกชนที่มีเหตุและผลเป็นของตัวเองและบุคคลที่อาศัยอยู่ในสังคม[14] การกระทำที่ละเมิดหรือเป็นภัยต่อบุคคลจึงถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อสาธารณะด้วย ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายเก่าที่ปฏิบัติต่อคู่กรณีบนพื้นฐานของฐานะตำแหน่งทางสังคม และต่อมาเมื่อทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วความเป็นอิสระของปรีดีนั้นก็ได้ถูกบรรจุไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยสิทธิหน้าที่ของชนชาวสยาม อย่างไรก็ตามเมื่อแนวคิดความเป็นอิสระของปรีดีขยายไปสู่มิติทางเศรษฐกิจแล้วก็พบว่า ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นจำเป็นต้องมีการจำกัดอิสระทางเศรษฐกิจในบางส่วนดังปรากฏในเค้าโครงการเศรษฐกิจว่า
“จริงอยู่ เมื่อรัฐบาลประกอบเศรษฐกิจเสียเอง เช่นนี้ย่อมเป็นการตัดเสรีภาพ แต่การตัดเสรีนั้นก็เพื่อจะทำให้ราษฎรได้รับความสุขสมบูรณ์ ทั้งหมดเป็นการปฏิบัติหลักข้อ ๓ รัฐบาลไม่ได้เสรีภาพในการอื่นๆ ราษฎรคงมีเสรีภาพในร่างกายในเคหสถานในการพูด ในการศึกษาอบรม ในการสมาคม เมื่อราษฎรได้มีความสุขภายในเศรษฐกิจนี้แล้ว ราษฎรก็ย่อมมีความสุขกาย ราษฎรจะต้องการเสรีภาพโดยไม่มีอาหารรับประทานเช่นนั้นหรือ”[15]
ต่อการเน้นย้ำถึงความเป็นอิสระที่มีขอบเขตจำกัดนั้นได้ปรากฏในปาฐกถาเรื่อง “ปีล่วงมาแล้ว” บรรยายทางวิทยุกระจายเสียงในคืนวันพุธที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ว่า “ในเรื่องเสรีภาพนี้ก็มีผู้เข้าใจผิดหรือแกล้งเข้าใจผิดอยู่เป็นอันมาก เสรีภาพไม่ได้หมายถึงความว่ามนุษย์จะทำอะไรได้ทุกอย่างตามความพอใจ ถ้าเช่นนั้นก็กลายเป็นอนาคิสต์ คือการไม่มีรัฐบาล เสรีภาพจึงต้องมีระเบียบ เสรีภาพต้องอยู่ในวงเขตของกฎหมายและศีลธรรม มนุษย์เรามีเสรีภาพที่จะทำอะไรได้ แต่ต้องไม่เป็นการประทุษร้ายเสียหายแก่ผู้อื่น หรือไม่ทำให้เกิดความระส่ำระสายในบ้านเมือง” [16]
2. ความเสมอภาค
ความเสมอภาค (สมภาพ) ในทรรศนะของปรีดีหมายถึง “มนุษย์เมื่อเกิดมาเป็นอิสระดั่งกล่าวแล้ว ก็อาจที่จะใช้ความอิสระของตนเสมอภาคกับเพื่อนมนุษย์อื่นความเสมอภาคในที่นี้หมายถึงความเสมอภาคในกฎหมาย กล่าวคือ สิทธิและหน้าที่ในทางกฎหมายเช่นเดียวกับบุคคลอื่น ไม่ใช่หมายความว่ามนุษย์จะต้องมีความเสมอภาคในการมีวัตถุสิ่งของ” ซึ่งความเสมอภาคในกฎหมายนี้อาจเป็นทั้งในทางสิทธิและหน้าที่หรือภาระ โดยความเสมอภาคทางกฎหมายในเรื่องสิทธิ เช่น การมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองโดยกฎหมายเดียวกัน การมีสิทธิที่จะร้องให้ศาลวินิจฉัย การมีสิทธิที่เข้าจะรับราชการเช่นเดียวกัน เป็นต้น
ส่วนความเสมอภาคในหน้าที่หรือในภาระในทางกฎหมาย เช่น มีหน้าที่จะต้องรับราชการทหาร การมีหน้าที่จะต้องเสียภาษีซึ่งในส่วนนี้เองที่ปรีดีได้ยกเอาพระราชหัตถ์เลขาของรัชกาลที่ 6 ที่ส่งไปยังเสนาบดีกระทรวงนครบาลขึ้นมาเป็นตัวอย่างว่า
“ด้วยแต่ก่อนๆ มาการเก็บภาษีที่ดินแลโรงร้าน กรมพระคลังข้างที่ยังไม่ได้เคยเสียภาษีให้กับเจ้าพนักงานสรรพากรเลย บัดนี้ฉันมาไตร่ตรองดูเห็นว่าทรัพย์สมบัติของฉันทั้งหลายที่เป็นส่วนตัวก็เท่ากับเป็นทรัพย์สมบัติของคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่เหตุใดฉันมาเอาเปรียบแก่คนทั่วไปซึ่งดูไม่เป็นการสมควรเลย ส่วนของๆ ผู้อื่นจะไปเก็บเอากับเขา ของๆ ตัวเองจะเกียจกันเอาไว้เพราะคนธรรมดาทั่วไปใครที่มีทรัพย์สมบัติเป็นที่ดินโรงร้านเมื่อถึงคราวที่เจ้าพนักงานจะเก็บภาษีเขาก็ต้องเสียภาษีให้กับเจ้าพนักงานตามส่วนมากแลน้อยของทรัพย์สมบัติที่เขามีอยู่ตัวฉันเองถ้านอกจากในทางราชการแล้ว ฉันก็ถืออยู่ว่าฉันเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ทรัพย์สมบัติของฉันเองที่มีอยู่ก็นับว่าเป็นส่วนมาก ถ้ารัฐบาลจะแบ่งผลประโยชน์ของฉันที่ได้มาจากทรัพย์สมบัติทั้งหมดนั้นบ้าง ฉันมีความยินดีเต็มใจที่จะเฉลี่ยให้เป็นการอุดหนุนชาติแลบ้านเมืองอย่างคนสามัญด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นตั้งแต่บัดนี้ป็นต้นไป ขอให้เจ้าพระยายามราชเก็บภาษีอากรในที่ดินแลโรงร้านซึ่งนับว่าเป็นสมบัติของส่วนตัวฉันเอง อย่างเช่นที่เคยได้เก็บมาจากคนอื่นๆ ทั่วไปนั้น”
การยกตัวอย่างดังกล่าวเป็นที่น่าสังเกตว่าในเรื่องการเสียภาษีของกษัตริย์ในช่วงเวลานั้นเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าในยุคสมัยนั้นยังไม่มีความเท่าเทียมกันเกิดขึ้น แต่การยอมจ่ายภาษีของกษัตริย์จึงเป็นความสมัครใจของกษัตริย์เองมากกว่าการบังคับด้วยกฎหมาย
แม้จะมีการเรียกร้องในเรื่องความเสมอภาคมาบ้างแล้วในช่วงก่อนหน้าของปรีดีดังเช่นคณะ ร.ศ. 130 แต่ก็ยังไม่มีการกล่าวถึงความเสมอภาคในเชิงลึกลงไปว่าจะเสมอภาคกันด้วยหลักการแบบใด ความเสมอภาคของปรีดีในทางการเมืองแล้วได้มุ่งเน้นไปที่ความเสมอภาคในทางกฎหมายเพราะปรีดีได้เลือกใช้ให้กฎหมายกลายเป็นแหล่งที่มาของอำนาจและความชอบธรรมแทนระบอบเก่าที่กล่าวอ้างถึงแหล่งที่มาของอำนาจคือ พระมหากษัตริย์ และปรีดีก็ยังได้ขยายเรื่องความเสมอไปสู่มิติทางเศรษฐกิจดังปรากฎในเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีที่พูดในเรื่องของการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจแล้วก็จะเกิด “ความเสมอภาคย่อมจะมีขึ้นได้ในสิทธิและหน้าที่
ซึ่งนอกจากเสมอภาคกันบนกระดาษ ยังเป็นการเสมอภาคที่จะเข้ารับราชการ แม้จะเป็นไปทางปกครองและในทางเศรษฐกิจก็ดี ราษฎรจะมีสิทธิเสมอภาคกันไม่อดตาย แต่ไม่ใช่เสมอภาคในการที่คนหนึ่งมีเงิน ๑๐๐ บาท จะต้องริบเอามาแบ่งกันในระหว่างคนหนึ่งร้อยคนๆ ละ ๑ บาท” และต่อมาภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการการปกครองแล้วจึงดูเหมือนว่าความพยายามของการสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นนั้นความเสมอภาคในทางกฎหมายจะเป็นรูปธรรมมากกว่าความเสมอภาคในทางเศรษฐกิจ ดังเช่น การออกพระราชบัญญัติยกเลิกปรับไหมตามศักดินา โดยถือว่าบุคคลทุกคนเสมอกันโดยกฎหมาย เป็นต้น
3. ภราดรภาพ
หลักข้อสุดท้ายคือ “ความช่วยเหลือกันฉันพี่น้องหรือภาดรภาพ” ซึ่งหมายถึง “การที่มนุษย์เกิดมาเพื่ออยู่ร่วมกันดั่งกล่าวแล้ว มนุษย์จำต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันในประเทศหนึ่งถ้ามนุษย์คนหนึ่งต้องรับทุกข์ เพื่อนมนุษย์อื่นก็รับทุกข์ด้วยจะเป็นโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เหตุฉะนั้นเพียงแต่มนุษย์มีความเป็นอิสระและมีความเสมอภาคจึ่งยังไม่เพียงพอ คือจำต้องมีการช่วยเหลือกันฉันพี่น้องด้วย”[17] ความช่วยเหลือกันนี้นอกจากระดับปัจเจกต่อปัจเจกด้วยกันแล้วปรีดียังขยายไปสู่รัฐและให้รัฐเป็นศูนย์กลางกระจายความช่วยเหลือไปยังเอกชนอีกทอดหนึ่งด้วย โดยได้การแยกความช่วยเหลือออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนแรกหน้าที่ของเอกชนต่อรัฐ เช่น การเคารพต่อครอบครัวการเคารพต่อกฎหมาย การสร้างความเจริญของประเทศ การเสียภาษีอากรและรับราชการทหาร โดยมีหน้าที่ที่สำคัญในทางเศรษฐกิจคือการช่วยในการดำเนินการผลิตการแลกเปลี่ยน และการสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นต้น ส่วนหน้าที่ของรัฐต่อเอกชน เช่น การช่วยเหลือมนุษย์ที่เจ็บป่วยและยากจน การจัดวิธีป้องกันภัยต่างๆ การให้การศึกษา รวมถึงการจัดหางานและการทำมาหากินให้พลเมือง[18]
นอกจากนี้ปรีดีได้ขยายความถึงลักษณะหน้าที่ของรัฐที่ต้องกระทำต่อเอกชนไว้ใน “คำอธิบายกฎหมายปกครอง (ร่วมกับพระสารสาส์นประพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕)” โดยการแบ่งรัฐเป็น 2 แบบคือ รัฐตำรวจ (Etat-Gendarme) ที่มีหน้าที่ “เพื่อป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น เช่นการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในอาณาจักร การป้องกันอาณาจักร การจัดรักษารัฐสมบัติ ส่วนกิจการในทางเศรษฐกิจ และกิจการที่เกี่ยวกับบำรุง หรือเพิ่มพูนความสมบูรณ์ของราษฎรนั้น จะต้องปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำไปตามเรื่อง” ส่วนรัฐในอีกแบบหนึ่งคือรัฐผู้สงเคราะห์ (Etat-Provodence) มีหน้าที่ “ช่วยให้ราษฎรได้มีความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ และในทางสมาคมกิจการเศรษฐกิจบางชะนิดรัฐจะต้องเข้าแทรกแซงหรือเข้าเป็นเจ้าของทำการเอง การปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำ อาจจะเกิดมีการแย่ง ผลสุดท้ายใครมีกำลังมากในทางทรัพย์ก็จะมีชัยชะนะแก่ผู้ขัดสน”[19]
ในเรื่องเกี่ยวภราดรภาพนั้นนับว่าเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น เพราะโดยพื้นฐานของสังคมการเมืองสยามแล้วไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของความเสมอหน้ากันแต่เป็นไปในลักษณะแนวดิ่ง ถึงแม้ว่าจะมีการรับเอาแนวคิดเรื่องพุทธศาสนาเข้ามาในเรื่องของการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่รวมถึงการทำบุญนั้นก็ยังเป็นเรื่องของการช่วยเหลือกันที่กำกับอยู่ในฐานะและชนชั้นมากกว่าจะเป็นการช่วยเหลือกันบนสถานภาพที่เท่ากัน ภราดรภาพของปรีดีจึงมีลักษณะที่นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือกันระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกัน แล้วยังขยายไปสู่การช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างเอกชนและรัฐ หรือราษฎรและรัฐนั่นเอง ในความเห็นของปรีดีจึงเห็นว่า ทุกวันนี้เกือบจะกล่าวได้ว่าแทบทุกประเทศ รัฐได้เข้ามาเกี่ยวข้องในทางเศรษฐกิจส่วนการเกี่ยวข้องมากหรือน้อยก็สุดแล้วแต่ความนิยมของประเทศนั้นๆ แม้แต่ในประเทศสยามก็จะเห็นได้ว่า มีโรงงานหรือเศรษฐกิจบางอย่าง ซึ่งรัฐบาลได้ทำเองหรือได้เข้าแทรกแซง”[20]
ในการเน้นบทบาทความสำคัญของรัฐดังกล่าวนั้นก็เป็นไปได้ว่าในช่วงทศวรรษ 2470 เป็นยุคสมัยที่เกิดกระแสของการยอมให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือเนื่องจากสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นดังได้กล่าวไปแล้วในบทก่อนหน้านี้ และแนวคิดเรื่องภราดรภาพของปรีดีนั้นได้ขยายไปสู่ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นจากการนำเสนอเค้าโครงการทางเศรษฐกิจซึ่งจะได้กล่าวถึงในบทต่อไป
กล่าวโดยสรุปแนวคิด “สิทธิของมนุษยชน” ของปรีดีนี้ได้นำเอาแนวคิดสมัยใหม่ซึ่งสันนิษฐานว่าปรีดีจะได้รับอิทธิพลมาจากคำขวัญของการปฏิวัติของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 ที่พูดถึง “(Liberté) เสมอภาค (Égalité) ภราดรภาพ (Fraternité) ” ในปี ค.ศ. 1848 ได้มีการนำคำขวัญดังกล่าวกลับมาใช้รวมถึงนายกเทศมนตรีนครปารีสในขณะนั้นได้มีการเขียนคำขวัญดังกล่าวติดกำแพงเมือง จนกระทั่งสมัยสาธารณรัฐที่ 3 ที่ปรีดีได้ไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสคำขวัญนี้จึงได้กลายเป็นคำขวัญอย่างเป็นทางการ รวมถึงการมีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายในขณะนั้นอีกด้วย แนวคิดสิทธิของมนุษย์ชนนี้มีลักษณะเป็นหลักการที่อธิบายถึงสิทธิและหน้าที่ที่อยู่บนความสัมพันธ์แบบใหม่โดยถือเป็นหลักการที่ติดอยู่ในตัวมนุษย์ในลักษณะของการเป็นพลเมือง ซึ่งปรีดีได้เริ่มกล่าวถึงแนวคิดดังกล่าวจากการเป็นหลักหนึ่งของกฎหมายจึงมีข้อสังกตว่าปรีดีได้เลือกใช้กฎหมายสมัยใหม่มาเป็นตัวมอบอิสระและความเสมอภาคให้มากกว่าที่จะเกิดจากภายในธรรมชาติของตัวปัจเจกเอง
ดังเช่น ปรัชญาแนวมนุษยนิยมแบบตะวันตกซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเพราะแนวความคิดเดิมของสยามมีอิทธิพลครอบงำจากลัทธิสมบูรณาญาสิทธิราชย์และอิทธิพลความคิดการเมืองเชิงพุทธทรรศน์จึงทำให้ปรีดีเลือกใช้กฎหมายเป็นตัวเชื่อมต่อของแนวคิดดังกล่าวระหว่างระบอบใหม่และระบอบเก่า[21]นอกจากนี้เรายังพบว่าปรีดียังได้มีความพยายามที่จะขยายหลักดังกล่าวไปสู่มิติอื่นๆ นอกจากกฎหมายดังเช่น เศรษฐกิจ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วปรีดีก็พบอุปสรรคต่อการขยายหลักการดังกล่าวและสุดท้ายแล้วเป็นที่น่าสังเกตว่าแนวคิดสิทธิของมนุษย์ชนในทรรศนะของปรีดีที่ประกอบไปด้วย “สิทธิ” และ “หน้าที่” นั้นการที่ราษฎรจะมีได้อย่างสมบูรณ์ก็ต้องอาศัยความสัมพันธ์กับรัฐ และต้องอยู่ภายในรัฐ ดังนั้นการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของราษฎรจึงต้องอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์กับรัฐนั่นเอง
แนวความคิดเรื่อง “ราษฎร”
แนวคิดในเรื่อง “มนุษย์” แบบใหม่ในทรรศนะของปรีดีที่มีลักษณะของปัจเจกชนจึงกลายเป็นปัจเจกชนที่อยู่ในฐานะการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้อยู่ในสถานะแบบ “ไพร่ หรือ ทาส” แต่เป็นไท ปรีดีได้เลือกที่จะใช้คำว่า “ราษฎร” เป็นแกนกลางของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าว ปรีดีได้อธิบายความหมายของคำว่า “ราษฎร” ไว้ในข้อเขียนเรื่อง “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบอบประชาธิปไตย” อธิบายว่า “ราษฎร” แปลมาจากคำว่า “People” ในภาษาอังกฤษโดยหมายถึง พลเมืองสยามส่วนมากซึ่งอยู่ใต้อำนาจการปกครองสมัยนั้นเรียกตัวเองว่า “ราษฎร” เช่น นายอำเภอเกณฑ์พลเมืองทำงานโยธาก็เรียกกันว่าเกณฑ์ราษฎร หรือราษฎรรำพึงกันถึงความทุกข์ยากก็พูดว่า “ราษฎรเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า” คือแสดงถึงลักษณะของพลเมืองส่วนที่ถูกปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์[22]
ในบรรดางานเขียนของปรีดีนั้นแม้จะพบการใช้คำอื่นๆ ที่มีความหมายถึงผู้ซึ่งอยู่ใต้อำนาจการปกครอง เช่นคำว่า ประชาชน ในคำอธิบายกฎหมาย แต่สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแล้วปรีดีกลับเลือกใช้คำว่า “ราษฎร” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ในบทความเรื่อง “คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน” ปรีดีได้อธิบายถึงเหตุที่เรียกชื่อคณะของผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า “คณะราษฎร”[23] นั้นมีที่มาจาก “ก่อนที่ผู้ที่คิดก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ หลายคนหลายกลุ่มจะได้รวมเป็นคณะเดียวกันนั้นแต่ละกลุ่มก็มีชื่อเสียงของตนเองบ้าง และยังไม่มีชื่อกลุ่มของตนบ้าง แต่เมื่อผู้คิดก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้รวมเป็นคณะเดียวกันแล้ว ก็ได้ใช้ชื่อคณะเดียวกันว่า “คณะราษฎร”[24] ตามที่ผม (ปรีดี) ได้เสนอในที่ประชุมก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927)
ต่อจากนั้นมาผู้ที่เข้าร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่อยู่ในต่างประเทศและที่อยู่ในประเทศก็ใช้ชื่อคณะว่า “คณะราษฎร” ดังที่ปรากฏตามคำแถลงการณ์ของคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475”[25] และเหตุที่ปรีดีได้เลือกใช้ชื่อดังกล่าวก็มาจากความเป็นมาของศัพท์คำว่า คณะหรือพรรค ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า “Political Party” หรือเรียกโดยย่อว่า “Party” ซึ่งในสมัยนั้น “นักวิชาการใช้คำไทยว่า “คณะ” เช่นแปลคำว่า “Conservative Party” ว่า “คณะคอนเซอร์เวทีฟ” แปลคำว่า “Socialist Party” ว่า “คณะโซเซียลิสต์” และแปลคำ “Chinese Nationalist Party” หรือคำจีน ก๊กมินตั๋ง” เป็นภาษาไทยว่า “คณะชาติ”หรือ “จีนคณะชาติ” ซึ่งนิยมเรียกจีนก๊กมินตั๋งว่าจีนคณะชาติติดสืบมาจนทุกวันนี้ มิใช่เรียกว่า “พรรชาติจีน”, จีนพรรคชาติ” ฝ่ายองค์กรหรือสมาคมทางการเมืองที่ประกอบขึ้นเมื่อ ร.ศ. 130 เพื่อล้มระบอบสมบูรณาฯ ในประเทศไทยก็ได้ใช้คำว่า “คณะ” เรียกองค์การเมืองหรือสมาคมการเมืองนั้นว่า “คณะ ร.ศ. 130”[26] ส่วนเหตุที่ใช้คำว่า “ราษฎร” นั้นก็เพราะ “ผู้ก่อการฯ ทุกคนเป็นราษฎรไทยแท้จริง และสมาชิกของคณะราษฎรทั้งหลายยอมอุทิศตนและความเหนื่อยยากเพื่อราษฎรให้บรรลุถึงซึ่งประชาธิปไตย[27] ดังที่นักประชาธิปไตยส่วนมากย่อมทราบว่าประธานาธิบดีลินคอล์นได้สรุปคำว่า “ประชาธิปไตย” คือ ไว้อย่างเหมาะสมว่า “รัฐบาลของราษฎร, โดยราษฎร, เพื่อราษฎร”[28]
การเลือกใช้ชื่อคณะราษฎรเป็นชื่อกลุ่มในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนอกจากจะสะท้อนภาพผู้ก่อการในฐานะของพลเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองและไม่ได้เป็นชนชั้นเจ้านายแล้ว ปรีดียังมีจุดมุ่งหมายในการที่จะเรียกร้องให้มวลราษฎรในขณะนั้นเข้ามาเป็นแนวร่วมเพื่อใช้มวลราษฎรนั้นเป็นพลังในการต่อสู้และเปลี่ยนแปลงเพราะในการเปลี่ยนแปลงนั้น “มวลราษฎรไม่อาจหวังพึ่งบุคคลใดแต่คนเดียวหรือคณะใดคณะเดียวเท่านั้น นอกจากพึ่งพลังของมวลราษฎรเอง ซึ่งเป็นพลังอันแท้จริง”[29] โดยที่คณะราษฎรนั้นเป็นเพียง “กองหน้า (Vanguard)” ของมวลราษฎรที่มีความต้องการเสรีภาพและความเสมอภาคยิ่งกว่าระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นการทำตรงกับความต้องการของราษฎร People ไม่ใช่ตามความต้องการของ Reactionaries[30] เท่านั้นแต่ พลังมหาศาลที่ช่วยให้คณะราษฎรทำการได้สำเร็จนั้นคือ มวลราษฎรที่ให้ความสนับสนุนทั้งทางตรงและทางปริยาย[31]
ในประกาศคณะราษฎร นอกจากจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการให้ “ราษฎร” เป็นวัตถุประสงค์ของคณะราษฎรแล้วยังพบการใช้คำว่า “ราษฎร” ในฐานะ “ยุทธวิธี” ที่จะใช้ต่อสู้กับระบอบเก่าและก็ยังเป็นการเรียกเสียงสนับสนุนจากมวลราษฎรในขณะนั้นอีกด้วยในตอนต้นของประกาศจึงได้มีการโจมตีระบอบเก่า คำอธิบายถึงความล้มเหลวของระบอบเก่าดังกล่าวจึงมาพร้อมกับข้อเสนอของระบอบใหม่ว่าจะทำให้ราษฎรอยู่ในฐานะของความเป็นมนุษย์ที่ไม่ใช่ไพร่หรือทาสที่ถูกกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบจากผู้ปกครองและผู้ปกครองก็ควรปกครองประเทศโดยมีราษฎรเป็นเป้าหมาย
และได้กล่าวต่อไปว่า “มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน” กล่าวคือการกลับหัวกลับหางกับระบอบเดิมที่เชื่อว่าผู้ปกครองเป็นผู้ที่มีบุญคุณต่อราษฎร เนื่องมาจากในคติความคิดการเมืองไทยพุทธนั้นราษฎรไม่มีความชอบธรรมและเหตุอันใดที่จะมีบุญคุณต่อพวกเจ้าหรือผู้ปกครองคือกษัตริย์ ตรงกันข้ามกษัตริย์ต่างหากที่เป็นผู้ที่มีบุญคุณและมีหน้าที่นำพาช่วยเหลือให้ราษฎรได้เลื่อมใสและรู้จักกรรมดี จะได้มีบุญสะสมไว้ชาติหน้าจะได้พ้นเวรพ้นกรรม[32]
แต่ปรีดีเสนอให้ราษฎรกลายเป็นผู้ที่มีบุญคุณต่อเจ้าซึ่งก็ได้นำไปสู่การสร้างลักษณะของราษฎรในแบบใหม่ในเนื้อความถัดมานั่นก็
“ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรโง่คำพูดของรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน”
อันเป็นข้อเสนอที่มีความก้าวหน้าและเป็นการสลายชนชั้นของการปกครองในรูปแบบเดิมและได้นำเสนอให้ราษฎรและเจ้ากลายเป็นผู้ที่มีความเสมอภาคต่อกันและอยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกันนั่นเอง
ปรีดีได้บรรลุถึงจุดสูงสุดของตำแหน่งแห่งที่ของราษฎรในรูปแบบของการปกครองระบอบใหม่ก็คือ
“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวงบรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง”
และข้อเสนอในฐานะของเจ้าของประเทศดังกล่าวได้กลายมาเป็นมาตรา 1 ของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”[33] รวมถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎรก็มีเป้าหมายเพื่อยกระดับฐานะของราษฎรทั้งในทางการเมืองและชีวิตความเป็นอยู่กล่าวคือ
“1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมืองในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
2.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)
5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 1 ประการดังกล่าวข้างต้น
6.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”
อันนำไปสู่บทสรุปของราษฎรในฐานะของยุทธวิธีโดยการเชิญชวนราษฎร “การที่ราษฎรช่วยคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎรบุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์” และในฐานะเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงในฐานะราษฎรแบบใหม่ที่สามารถกุมชะตากรรมของตนเองและประเทศชาติไว้ได้โดยที่ “ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้าเป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนา คือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า” โดยมีการศึกษาเป็นตัวขับเคลื่อนและสร้างราษฎรในแบบใหม่ได้
บทสรุป
แนวความคิดเรื่อง “ราษฎร” ของปรีดี พนมยงค์ได้กลายมาเป็นแกนหลักของการอภิวัฒน์สยามโดยที่ราษฎรในทรรศนะของปรีดีหมายถึงพลเมืองทั้งหลายที่อยู่ในประเทศในฐานะของผู้ถูกปกครองและมีหน้าที่รับใช้รัฐตามระบอบเก่า แต่ปรีดีได้เลือกใช้คำดังกล่าวมาสร้างตัวตนทางการเมืองแบบใหม่ขึ้นโดยได้กลับไปสร้างสมมติฐานเกี่ยวกับลักษณะของมนุษย์ขึ้นใหม่ว่าเป็นคนดีมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาตนเองได้ จึงส่งผลให้มนุษย์ดังกล่าวมีคุณสมบัติของมนุษย์สมัยใหม่ที่เป็นไปตามหลักสิทธิของมนุษย์ชนคือ อิสระ เสมอภาค และภราดรภาพ เมื่อมนุษย์ซึ่งก็คือราษฎรมีคุณสมบัติสมัยใหม่ ดังกล่าวแล้วก็จะนำไปสู่ระบอบการปกครองแบบใหม่ที่ราษฎรเป็นเจ้าของประเทศ กล่าวคือเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงโดยที่ผู้ปกครองหรือรัฐบาลมีหน้าที่ต้องปกครองประเทศเพื่อราษฎร ต้องฟังเสียงราษฎร สร้างความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และมิให้กดขี่ข่มเหงราษฎร
ในการสร้างระบอบการปกครองใหม่ขึ้นในการปฏิวัติสยามนั้นแนวความคิดเรื่อง “ราษฎร” ของปรีดีมีบทบาทสำคัญ 2 ประการคือประการแรกในฐานะเป็นเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยการเป็นเจ้าของอำนาจทางการเมืองแทนระบอบเก่า
และประการที่สองปรีดีก็ได้ใช้ “ราษฎร” ในฐานะยุทธวิธีของการเปลี่ยนแปลง ดังปรากฏในการเลือกใช้ชื่อกลุ่มผู้ก่อการว่า “คณะราษฎร” หรือการตั้งชื่อองค์กรทางการเมืองใหม่ ให้มีสายสัมพันธ์ที่สะท้อนถึงราษฎร เช่น สภาผู้แทนราษฎร กรรมการราษฎร ประธานกรรมการราษฎร เป็นต้น เพื่อเรียกร้องการสนับสนุนจากมวลราษฎรในขณะนั้น เพราะคำว่าราษฎรในสมัยนั้นได้สะท้อนถึงความแตกต่างของสถานะภาพระหว่างสามัญชนกับเจ้า และในยุดนั้นคำว่าราษฎรก็ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายและมีความหมายไปในทางของการเรียกร้องการมีสิทธิมากกว่าหน้าที่ แม้ว่าในสมัยต่อมาคำว่า “ราษฎร” ของปรีดีจะถูกลดบทบาทลงและถูกแทนที่ด้วยคำว่าประชาชน[34] ก็ตาม
หมายเหตุ :
- บทความนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน ผศ.ทวีป มหาสิงห์ ให้นำมาเผยแพร่แล้วและปรับปรุงต้นฉบับโดยบรรณาธิการวิชาการ
- คงอักขระวิธีสะกด และรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ
บรรณานุกรม :
- ทวีป มหาสิงห์, “แนวความคิดเรื่อง “ราษฎร” ของปรีดี พนมยงค์”, วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์, 4:1 (มกราคม-ธันวาคม 2556): 62-86.
[1] คำว่า “อภิวัฒน์” นี้ปรีดีได้นำมาใช้ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แล้ว โดยแปลมาจากคำว่า “เรฟโวลูชัน (Revolution )” ในภาษาอังกฤษ คำว่า อภิวัฒน์ ประกอบด้วยคำว่า “อภิ” แปลว่า ยิ่ง วิเศษ เหนือ กับคำว่า “วัฒน์” แปลว่า ความเจริญ ความงอกงาม ดังนั้น เมื่อรวมกันแล้วจึงหมายความว่า ความเจริญงอกงามอย่างยิ่ง หรือวิเศษอย่างยิ่ง ในความเป็นมาของของศัพท์ไทย “ปฏิวัติ, รัฐประหาร, วิวัฒน์, อภิวัฒน์”, (กรุงเทพ :สำนักพิมพ์ แม่คำผาง, 2553) น. 53-73
[2] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “ความนึกคิดทางการเมืองแลเศรษฐกิจของราษฎรในสมัยของารปฏิวัติ 2470” ในความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2546) น. 180 - 182
[3] เรื่องเดียวกัน, น. 23
[4] ปรีดี พนมยงค์, “ปาฐะเรื่องปัญหาเกี่ยวกับการลงอาญาผู้กระทำผิดกฎหมาย” ในประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชนของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553) น. 23
[5] สุดสงวน สุธสร, อาชญากรรม : ขอบเขต ความหมาย ทฤษฎี, (กรุงเทพ ฯ :มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541) น. 4
[6] พรชัย ขันดี (พ.ต.อ.ดร.), ทฤษฎีอาชญาวิทยา : หลักการ งานวิจัย และนโยบายประยุกต์, (กรุงเทพ : สุเนตร์ฟิล์ม, 2553) น. 89 - 90
[7] ปรีดีได้ขยายความเรื่องการศึกษาต่อไปว่า “ความมุ่งหมายของการศึกษาที่ดีแท้ ต้องให้เป็นไปในทางที่จะสอนให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเองและผู้อื่นด้วย เบื้องตันควรจะสอนให้รู้จักหน้าที่ที่จะรักษาตัวและเพื่อให้คารวะตัวเอง ก็จำต้องอบรมในทางที่จะไม่ให้ต้องพึ่งผู้อื่น การทำนาบนหลังคน คือพึ่งน้ำพักน้ำแรงของผู้อื่นด้วยอำนาจก็ดี ด้วยอุบายเล่ห์กลก็ดี ด้วยการหยิบยืมหรือด้วยการขอก็ดี เป็นของเลวทรามต่ำช้าที่สุด ควรสอนให้นักเรียนทุกคนรู้จักการช่างที่เป็นประโยชน์ ควรหัดมือให้ทำการได้ เหมือนอย่างหัดใจให้คิดเป็น ควรสอนให้รู้จักวัตถุที่เป็นของจริง ไม่ใช่ของเท็จ แลให้รู้จักสภาพความเป็นอยู่แห่งชีวิตที่แท้ ไม่ใช่ชีวิตเทียม เมื่อดั่งนี้ความรู้สึกเป็นอิสระภาพจะพลันเกิดขึ้นแก่ใจ อันจะเป็นหลักอย่างมั่นคงของเกียรติยศ และนิสัยใจคอที่ดี ผู้ได้รู้สึกตัวว่าเป็นอย่างนี้ผู้นั้นจำต้องมีอารมณ์อิ่มเอิบเกิดขึ้นในใจเป็นธรรมดา” ใน “ปาฐะเรื่องปัญหาเกี่ยวแก่การลงอาญาผู้กระทำผิดกฎหมาย” ในประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชนของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553) น. 27
[8] ปรีดี ได้ขยายความต่อไปว่า “สำหรับชนหมู่มากนั้นเกี่ยวแก่รัฐประศาสโนบายของรัฐบาล ข้าพเจ้าไม่อาจเอื้อมไปพูดถึงว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะข้าพเจ้าไม่ใช่ตั้งตัวเป็นศาสตราจารย์ผู้วิเศษ ข้าพเจ้าพูดในฐานะเอกชน เพราะฉะนั้นจึงจะกล่าวแต่การบำรุงเศรษฐกิจของเอกชนซึ่งเป็นหน้าที่อันคนสามัญอาจปฏิบัติได้เท่านั้น” ซึ่งการกล่าวดังกล่าวนี้ก็เป็นการสะท้อนถึงการระมัดระวังตนเองของปรีดีในการที่จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์สังคมในขณะนั้นที่ยังอยู่ในยุคสมัยของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ใน “ปาฐะเรื่องปัญหาเกี่ยวแก่การลงอาญาผู้กระทำผิดกฎหมาย” ในประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชนของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553) น. 25
[9] มุมมองในเรื่องของมนุษย์มีธรรมชาติที่ดีนี้แม้จะได้เกิดขึ้นมาบ้างแล้วในช่วงก่อนหน้าของปรีดี ดังเช่น ปรากฏงานของเทียนวรรณ หรือคณะ ร.ศ. ๑๓๐ เป็นต้น แต่แนวคิดดังกล่าวก็ยังไม่ได้กระจายในวงกว้าง ขณะที่ในยุคสมัยของปรีดีนี้ได้เกิดการกล่าวถึงในวงกว้างมากขึ้น ดังปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ในยุคนั้น เช่น ข้อเขียนเรื่องมานุษยภาพของศรีบูรพา เป็นต้น
[10] ปรีดี พนมยงค์, “คำอธิบายกฎหมายปกครอง” ในประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชนของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553) น. 54
[11] เรื่องเดียวกัน, น. 54
[12] ปรีดี พนมยงค์, “คำอธิบายกฎหมายปกครอง” ในประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชนของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553) น. 55-56
[13] ปรีดี พนมยงค์, “คำอธิบายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ในนิติสาส์น, (กรุงเทพฯ : นิติสาส์น, 2553) น.79
[14] ในเรื่องการถือสิทธิในทรัพย์สินและกฎหมายหมายสมัยใหม่นี้ ในคำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๑ ของปรีดีก็ได้เขียนอธิบายไว้ในเรื่องของความสามารถของบุคคลซึ่งแยกออกได้เป็น ๒ ชนิด ๑. ความสามารถในการถือสิทธิ คือ ความสามารถในการเป็นเจ้าของสิทธิหรือในการถือสิทธิ ตามธรรมดามนุษย์ทุกคนย่อมมีความสามารถถือสิทธิโดยไม่เลือกว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือจะอายุอ่อนแก่ ๒. ความสามารถในการใช้สิทธิคือบุคคลสามารถมีสิทธิดังกล่าวแล้วในข้อ ๑ แต่บุคคลจะสามารถใช้สิทธิซึ่งตนได้มีอยู่นั้นไม่ได้ทุกคน ซึ่งได้สะท้อนถึงลักษณะของความเป็นปัจเจกบุคคลแบบสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี
[15] เดือน บุนนาค, ท่านปรีดีรัฐบุรุษอาวุโสผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก, (กรุงเทพ: สายธาร, 2552) น. 103 นอกจากนี้ในคำอธิบายเรื่องสิทธิเสรีภาพในยุดหลังนั้นปรีดีก็ยังเนว่า แม้ว่ามนุษย์มีเสรีภาพส่วนบุคคลตามธรรมชาติแต่จะต้องไม่ทำให้เพื่อนมนุษย์และส่วนรวมเสียหาย อันเป็นผลจากอคติของ “ปัจเจกนิยม ซึ่งถือเสรีภาพเฉพาะตัวของบุคคลเป็นใหญ่โดยไม่คำนึงถึงหน้าที่ต่อส่วนรวมของปวงชนและชาติ” รากฐานปัจเจกนิยมนี้ได้ก่อให้เกิดลัทธิการเมืองอนาธิปัตย์นิยม (Anarchism) เศรษฐกิจเสรีนิยมที่ปล่อยให้เอกชนมีอำนาจเต็มที่จนทำให้เกิดการกดขี่เบียดเบียนกัน ลัทธิลักเพศนิยม (Homosexuaity) ซึ่งเป็นการทำลายชาติพันธุ์แห่งชาติของตนเอง และลิทธิฮิปปิ้ซึ่งคัดค้านธรรมจริยาของปวงชน ในปรีดี พนมยงค์, “ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องตันกับการร่างรัฐธรรมนูญ” ในแนวคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552) น. 240-243
[16] ปรีดี พนมยงค์, “ปาฐกถาเรื่อง “สองปีที่ล่วงมาแล้ว” หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) บรรยายทางวิทยุกระจายเสียงในคืนวันพุธที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗” ในแนวคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2552) น. 441
[17] ปรีดี พนมยงค์, “คำอธิบายกฎหมายปกครอง” ในประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชนของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553) น. 60
[18] ปรีดี พนมยงค์, “คำอธิบายกฎหมายปกครอง” ในประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชนของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553) น. 60
[19] เรื่องเดียวกัน, น. 213
[20] ปรีดี พนมยงค์, “คำอธิบายกฎหมายปกครอง (ร่วมกับพระสารสาส์นประพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕)” ในประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชนของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553) น. 213
[21] ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, กำเนิดและความเป็นมาของสิทธิมนุษยชน, (กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2549) น. 198-199
[22] ปรีดี พมยงค์, “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบอบประชาธิปไตย” ในแนวคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพ: สุขภาพใจ, 2552) หน้า 25 ส่วนคำอื่นๆ ปรีดีก็ได้มีการให้ความหมายเอาไว้ เช่น คนในบังคับสยาม เมื่อตีความหมายอย่างกว้างแล้วก็ย่อมรวมทั้งบุคคลที่มีสัญชาติไทยและคนต่างด้าวที่อยู่ในบังคับสยาม เช่น คนจีน เป็นต้นในประเทศอื่นหลายประเทศซึ่งมีราษฎรได้มีสิทธิในทางการเมืองอย่างมากนั้นได้ถือเป็นระเบียบโดยเคร่งครัดว่า คนต่างด้าวไม่มีสิทธิในทางการเมืองของประเทศที่คนต่างด้าวเข้าไปอยู่นั้น สิทธิในทางการเมืองจะพึงมีพึงได้แก่บุคคลที่มีสัญชาติของประเทศนั้นและจะต้องเป็นซิติเซน (บางครั้งแปลว่าพลเมือง บางครั้งแปลว่าอิสสรบุรุษ) กล่าวคือ บุคคลที่มีสัญชาติของประเทศหนึ่งอาจจะไม่เป็นซิติเซนไปทั้งหมด การไม่เป็นซิติเซนนั่นเนื่องมาจากเพศหรือถูกศาลพิพากษาให้ถอนการเป็นซิติเซน หรืออาจเป็นราษฎรในดินแดนอันเป็นเมืองขึ้น ปรีดี พนมยงค์, “คำอธิบายกฎหมายปกครอง” ในประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชนของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553) หน้า 139-140
[23] เช่นคำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ มาตรา ๑๑๓ การใดมีวัตถุประสงค์ที่เปนการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายก็ดี เปนการพ้นวิสัยก็ดี เปนการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยฤๅศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ดี การนั้นท่านว่าเปนโมฆะ ซึ่งปรีดีได้อธิบายในประเด็น “เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน” ถึงลักษณะว่าอย่างไรเรียกว่าความสงบ เรียบร้อยของประชาชน ใน นิติสาส์น ปีที่ ๒ เล่มที่ ๘, หน้า 463-468.
[24] ในภาษาอังกฤษเรียกคณะราษฎรว่า “People's party” คณะราษฎรนี้ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “สมาคมคณะราษฎร” มีการรับสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นและตั้งสาขาในต่างจังหวัด และในปี พ.ศ. ได้มีการขอตั้งพรรค “คณะชาติ” ขึ้น ในโอกาสนี้รัชกาลที่ 7 จึงมีพระราชหัตถเลขาถึงรัฐบาลขอให้ระงับการจัดตั้ง “คณะชาติ” โดยพระองค์ทรงอ้างว่า “ประชาชนส่วนมากยังไม่เข้าใจวิธีการปกครองรัฐธรรมนูญเสียเลย เมื่อเกิดมีคณะการ
[25] “เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๐ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปฯ ครั้งดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น “หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร” ได้ทรงแนะนำให้ใช้คำไทยว่า “คณะพรรค” เพื่อถ่ายทอดศัพท์ภาษาอังกฤษ “Political party” หรือที่ย่นย่อเรียกว่า “Party” ส่วนทางราชการได้รับรองคำว่า “คณะพรรค” เพื่อเรียกองค์การหรือสมาคมการเมืองตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ดังปรากฏในมาตร ๑๔ มีความว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพ ... การตั้งคณะพรรคการเมือง…” ต่อมารัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔ มีนาคม ๒๔๙๒ มาตรา ๓๙ ได้เปลี่ยนคำว่า “คณะพรรคการเมือง” ของรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ เป็น “พรรคการเมือง” คือตัดคำว่า “คณะ” ที่นำหน้าคำว่า “พรรค” ออกไปเป็นอันว่าคำว่า “พรรคการเมือง” เพิ่งเริ่มใช้เป็นทางการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒” ในปรีดี พนมยงค์, “คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ๒๔ มิถุนายน” ในแนวคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552) น. 74 - 75
[26] ประชาธิปไตยเป็นคำเรียกในสมัยหลัง แต่ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นปรีดีได้เรียกระบอบการปกครองที่ตนได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่าระบอบ “กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ”
[27] ปรีดี พนมยงค์, “คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ๒๔ มิถุนายน” ในแนวคิดประซาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพ: สุขภาพใจ, 2552) น. 76
[28] ปรีดี พนมยงค์, “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลา” ในแนวคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพ: สุขภาพใจ, 2552) น. 309
[29] ปรีดี พนมยงค์, “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลา” ในแนวคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพ: สุขภาพใจ, 2552), น. 309
[30]ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์แม่คำผาง, 2553) น. 74
[31] เรื่องเดียวกัน, น. 64
[32] ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, “ระเบียบความมั่นคง : ความคิดทางการเมืองและของปรีดี พนมยงค์” ในความคิดการเมืองไพร่กระฎุมพีแห่งรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพ : มติชน, 2549) น. 304
[33] พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕
[34] ในการบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นมาใช้สำหรับศัพท์การเมืองของกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ในปี พ.ศ. 2485 ก็ได้ให้ความหมายของคำว่า “ประชาชน” คือปวงชนที่เป็นเจ้าของประเทศชื่อว่า ประชาชน People ส่วนคำว่า “ราษฎร” ที่แปลว่า people เหมือนกันนั้นตามมูลศัพท์ หมายถึง ประชาชนที่อยู่ในความปกครองของรัฐบาล (ราช-ดร) ฉะนั้น โดยมากจึงใช้หมายถึงสามัญชนหรือผู้ที่ไม่ใช่ขุนนางดังที่อังกฤษเรียกว่า Commons สภาผู้แทนราษฎรก็ตรงกับที่อังกฤษเรียกว่า House of Commons ส่วนคำว่าประชาชนที่ถูกเข้ามาแทนนั้นได้ปรากฏชัดเจนเมื่อคำว่า “ราษฎร” ในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ถูกเปลี่ยนมาเป็น “ประชาชนชาวสยาม” และ “ปวงชนชาวสยาม” ในมาตราที่ 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2474 ซึ่งในส่วนนี้ก็ได้สะท้อนถึงการต่อสู้ในการให้ความหมายของชนชั้นนำเดิมและชนชั้นนำใหม่