Focus
- บทสำรวจข้อเสนอความเป็นธรรมทางสังคมในสังคมไทย: กรณีเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ โดย ผศ.ทวีป มหาสิงห์ จากการศึกษาในเบื้องต้นพบว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ราษฎรซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิโซลิดาลิสม์อันมีแนวคิดพื้นฐาน (Premise) คือความเสมอภาคของราษฎรและศึกษากรณีเค้าโครงการเศรษฐกิจผ่านกรอบความคิดเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางสังคมของจอห์น รอลส์ (John Rawls)
- ผู้เขียนแบ่งการทําความเข้าใจข้อเสนอความเป็นธรรมทางสังคมจากเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี ออกเป็นสองส่วน ส่วนแรก กล่าวถึงบริบทของเค้าโครงการเศรษฐกิขเพื่อให้ทราบถึงที่มาที่ไปและการก่อรูปของข้อเสนอความเป็นธรรมทางสังคมในเค้าโครงการฯ ส่วนที่สอง กล่าวถึงเนื้อหาและลักษณะของแนวคิดความเป็นธรรมทางสังคมของนายปรีดี โดยทําความเข้าใจผ่านตัวบทหรือเนื้อหาของเค้าโครงการเศรษฐกิจ แนวความคิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจของปรีดีมีต้นธารมาจากปัญหาเศรษฐกิจของชาวนาจากประสบการณ์ในวัยเยาว์ นายปรีดีกล่าวถึงปัญหาชาวนาก่อนการอภิวัฒน์ไว้ดังนี้ “ความอัตคัดขัดสนของชาวนามีอีกมากมายหลายประการที่แสดงว่า ชาวนาไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ แต่ชาวนาก็มีภาระที่ต้องเสียเงินรัชชูปการถ้าไม่มีเงินเสียก็ต้องถูกเกณฑ์ไปทํางานประมาณปีละ 15-30 วันและต้องเสียอากรค่านา”
- ข้อเสนอหลักและเนื้อหาในเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีมี 11 หมวด รวมทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร และเค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบการเศรษฐกิจซึ่งแบ่งเนื้อหาโดยสรุปได้เป็นสามส่วน ส่วนแรก ที่มาและเป้าหมายของการมีเค้าโครงการฯ ส่วนที่สอง วิธีการในการจัดระบบเศรษฐกิจ และส่วนที่สามคือ แผนงานและผลที่จะเกิดขึ้นโดยเป้าหมายของเค้าโครงการเศรษฐกิจคือ บํารุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ส่วนเป้าหมายสังคมที่เป็นธรรมของนายปรีดีนั้นหมายถึงการมีหลักประกันพื้นฐานในการดำรงชีวิตไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ หากจะสร้างความสุขสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นได้นายปรีดีเสนอให้สร้าง “ความเสมอภาคเท่าเทียม”
บทความนี้ชี้ให้เห็นถึงข้อเสนอการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมในสังคมไทยโดยเลือกศึกษาจากเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ จากการศึกษาในเบื้องต้นพบว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ราษฎรซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิโซลิดาลิสม์อันมีแนวคิดพื้นฐาน (Premise) คือ “ความเสมอภาค” ของราษฎร และอาศัยสถาบันทางสังคมที่สําคัญคือ “รัฐ” เป็นแกนกลางในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้มีความเป็นธรรมในสังคมที่ปรีดีเรียกว่า “ศรีอาริยะ”[1]
ความเป็นธรรมทางสังคม (Social Justice)
ประเด็นเรื่อง “ความเป็นธรรมทางสังคม” (Social Justice) เป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานโดยเฉพาะในสังคมตะวันตก ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของประเด็นดังกล่าวประกอบไปด้วยทั้งในส่วนของข้อถกเถียงและในส่วนที่เป็นข้อเสนอจากมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปรัชญา ศาสนา สังคม การเมือง กฎหมาย และเศรษฐกิจแต่พบว่าข้อถกเถียงและข้อเสนอจากมิติต่างๆ เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมเหล่านี้ล้วนแต่ตกอยู่ภายใต้จุดใหญ่ร่วมกันนั่นก็คือการแสวงหาสิ่งที่ดี(The Good) บางอย่างที่ควรจะเกิดขึ้นในสังคม[2] หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการแสวงหาลักษณะของสังคมยูโทเปีย (Utopia) นั่นเอง
ต่อการทําความเข้าใจเรื่องดังกล่าวจึงควรเริ่มจากการนิยามว่า “ความเป็นธรรมทางสังคม” คือสิ่งใดโดยทั่วไปแล้วมักจะพบว่าคําที่มีความหมายคล้ายคลึงและมักจะถูกใช้แทนคําว่า ความเป็นธรรมทางสังคมก็คือคําว่า “ความยุติธรรม” (Justice) เราจะพบว่าความยุติธรรมนั้นเป็นแนวคิดเก่าแก่ที่นักคิดในยุคโบราณได้สร้างข้อถกเถียงผ่านงานเขียนดังปรากฏในงานเขียนที่สําคัญอย่าง Republic ของเพลโต (Plato) หรือ Politics ของอริสโตเติล (Aristotle) เป็นต้น ส่วนความเป็นธรรมทางสังคมนั้นพบว่าได้เกิดเป็นข้อถกเถียงขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 ซึ่งเป็นการกล่าวถึงความยุติธรรมในความหมายของความเป็นธรรมทางสังคม โดยมีลักษณะที่เป็นประเด็นถกเถียงสาธารณะของสังคมในด้านบทบาทของสถาบันทางเศรษฐกิจ การเมือง และบทบาทรัฐ ความเป็นธรรมในความหมายที่ว่านี้จึงมีนัยถึงการแบ่งสรรปันส่วนทรัพยากรที่มีจํากัดให้แก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสเพื่อตอบสนองความต้องการที่จําเป็นมากกว่าคนมั่งมี ดังนั้น ความคิดเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางสังคมจึงเกิดขึ้นในยุคสมัยเมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมานี้เอง[3] ดังปรากฏจากข้อเสนอในงานของจอห์น รอลส์ (John Rawls) ที่ออกมาโต้แย้งกับแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) และก่อให้กระแสของการถกเถียงอภิปรายต่อประเด็น ดังกล่าวตามมาไม่ว่าจะเป็นงานเรื่อง Anarchy, State and Utopia โดยโรเบิร์ต โนสิก (Robert Nozick), Marxist Critique of Rawls โดยเจอรัล โคเฮน (Gerald Cohen) หรือ The Idea of Justice โดยอมาตยา เซน (Amartya Sen) เป็นต้น
บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะนําเสนอในฐานะของบททดลองสํารวจหาข้อเสนอการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมในสังคมไทย โดยเริ่มต้นจากข้อสังเกตของผู้เขียนเองว่าในบรรดาข้อเสนอที่เกี่ยวกับการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมนั้นพบว่าโดยส่วนใหญ่แล้วมาจากทฤษฎีหรือข้อเสนอของบรรดานักคิดตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นในการสร้างความเข้าใจต่อความเป็นธรรมในสังคมไทยจึงจะมีการหยิบยกข้อเสนอหรือทฤษฎีจากนักคิดเหล่านี้มาใช้อธิบายหรือนําเสนอเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่สังคมไทย ดังนั้นผู้เขียนจึงเกิดข้อสงสัยว่ามีนักคิดไทยที่เสนอแนวทางในการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยหรือไม่ หากมีแล้วนักคิดท่านนั้นมีลักษณะแนวคิดอย่างไรที่นําเสนอให้แก่สังคมไทยและข้อเสนอดังกล่าวได้รับอิทธิพลหรือมีรากฐานแนวคิดจากสํานักใด
ข้อเสนอการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมในสังคมไทย
จากการสํารวจในเบื้องต้นของผู้เขียนเกี่ยวกับงานศึกษาถึงความเป็นธรรมทางสังคมที่ปรากฏในสังคมไทยสามารถแบ่งออกคร่าวๆ ได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มงานที่กล่าวถึงทฤษฎีความเป็นธรรมของนักคิดตะวันตก[4] ส่วนกลุ่มหลังกล่าวถึงการนําทฤษฎีความเป็นธรรมทางสังคมของตะวันตกมาปรับใช้ในการทําความเข้าใจหรืออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย[5] ดังนั้น ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอทดลองสํารวจหาข้อเสนอของนักคิดไทยต่อการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยเลือกที่จะสํารวจในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงปี พ.ศ. 2475 เป็นหลักเนื่องจากว่าเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่มีความ เคลื่อนไหวในด้านความคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจในสังคมไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนก็เลือกที่จะสํารวจผ่านข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับทางเศรษฐกิจเป็นหลักพบว่าในช่วงเวลาดังกล่าวมีการนําเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจจากหลายฝ่ายซึ่งก็อาจจะพอเป็นที่เข้าใจได้ว่าภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองย่อมจะนําไปสู่การเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ
เป็นที่น่าสังเกตว่าในยุคสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการเรียกร้องให้รัฐบาลดําเนินการทางเศรษฐกิจในรูปแบบการวางแผนของการดําเนินเศรษฐกิจและให้รัฐเป็นตัวจัดสรรอันเป็นผลจากการขยายตัวของชนชั้นใหม่ๆ โดยพ่อค้าและชนชั้นกลางทำให้เกิดการแสวงหาระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่พวกเขาจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมประกอบกับเงื่อนไขสภาวะทางการเมืองในขณะนั้นเองที่ผู้นําทางการเมืองใหม่ต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับการขึ้นมาของตนซึ่งพบว่าโครงการเศรษฐกิจในภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ 2475 จนถึง 2484 ก่อนเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการเสนอโครงการเศรษฐกิจถึง 7 โครงการ (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2546, น. 329) อันประกอบด้วยข้อเสนอของนายมังกร สามเสน หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาโกมารกุลมนตรี พระสารสาสน์พลขันธ์ พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ และพระพิศาลสุขุมวิท รวมทั้งมีข้อเสนอทั่วไปทางเศรษฐกิจที่สําคัญอีก 3 แนวทาง เสนอโดยนายวานิช ปานะนนท์ พระยาสุริยานุวัตร และหลวงวิจิตรวาทการ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอปลีกย่อยกระจัดกระจายตามหนังสือพิมพ์ วารสาร และฎีกาต่างๆ อีกมาก[6]
ในบทความนี้ผู้เขียนเลือกที่จะหยิบยกเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์มาพิจารณาถึงข้อเสนอการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมในสังคมไทยด้วยเหตุผลสองประการกล่าวคือ ประการแรก เนื้อหาเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีมีลักษณะเป็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ดังที่เดือน บุนนาค (2552, น. 20) ได้กล่าวถึงเค้าโครงการฯ ของปรีดีว่า “เมื่อท่านปรีดีเป็นแปลนเนอร์ไทยคนแรก ถึงท่านจะเขียนเพียง “เค้า” โครงการยังไม่ได้เขียนโครงการขึ้นมา แต่ก็นับว่าท่านได้วางฐานไว้ให้คนชั้นหลังคิด และพิจารณาดำเนินงานต่อไป”
นอกจากนี้เนื้อหาของเค้าโครงการฯ ยังถูกกล่าวถึงและเป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลายทั้งของคนในยุคสมัยนั้นและผู้สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคปัจจุบัน[7] ประการที่สอง ข้อเสนอของเค้าโครงการฯ ดังกล่าวยังความสําคัญในตัวมันเองในแง่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องจากมันเป็นหมุดสําคัญที่ส่งผลกระทบถึงการเมืองไทยอย่างต่อเนื่องดังที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (2554, น. 3-4) กล่าวถึงวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดจากเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี ซึ่งปรากฏการณ์ลูกโซ่ดังกล่าวยุติลงด้วยการที่บทบาทของพลเรือนในคณะราษฎรและในระบอบใหม่โดยทั่วไปลดลงและบทบาทของทหารเพิ่มขึ้น
สยาม ปรีดี และเค้าโครงการเศรษฐกิจในปี 2475
การทําความเข้าใจถึงข้อเสนอความเป็นธรรมทางสังคมจากเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ผู้เขียนได้แยกการทําความเข้าใจออกเป็นสองส่วน กล่าวคือ ในส่วนแรกจะกล่าวถึงบริบทของเค้าโครงการฯ เพื่อให้ทราบถึงที่มาที่ไปและการก่อรูปของข้อเสนอความเป็นธรรมทางสังคมในเค้าโครงการฯ ดังกล่าว ส่วนที่สองจะกล่าวถึงเนื้อหาและลักษณะของแนวคิดความเป็นธรรมทางสังคมของปรีดีโดยทําความเข้าใจผ่านตัวบทหรือเนื้อหาของเค้าโครงการฯ
ดังนั้นในส่วนแรกนี้ผู้เขียนจึงจะขอเริ่มต้นจากการกล่าวถึงบริบทซึ่งส่งผลต่อการเกิดจิตสํานึกในการเสนอเค้าโครงการฯของปรีดี โดยเริ่มต้นจากบริบทของการเมืองและเศรษฐกิจของโลกจากนั้นจึงจะกล่าวถึงบริบทของสังคมและเศรษฐกิจของสยามและส่วนสุดท้ายคือ ประสบการณ์ของปรีดีที่พบเจอถึงสภาพความเป็นอยู่ของชาวนาสยามในสมัยนั้น
ภายใต้สถานการณ์ของการเมืองและเศรษฐกิจโลกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น พบว่าประเทศที่แพ้สงครามกําลังอยู่ในช่วงของการฟื้นฟูประเทศ ขณะเดียวกันในช่วงปี ค.ศ. 1929-1934 (พ.ศ. 2472-2477) ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ําครั้งยิ่งใหญ่ (The Great Depression)[8] ซึ่งมีระยะเวลายืดเยื้อยาวนานและมีผลกระทบอย่างรุนแรง ปัญหาดังกล่าวจึง กลายเป็นตัวสะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมและส่งผลให้รัฐต้องเข้าไปแทรกแซงในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นจนทําให้เกิดรัฐสวัสดิการ (Welfare State) ขึ้นมาซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่าองค์กรทางการเมืองอย่างรัฐนั้นควรจะรับผิดชอบต่อความผาสุกของประชาชนของตนเองและผลักดันให้รัฐต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นโดยขยายไปถึงการให้รัฐเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการเข้ามาดําเนินงานและทําการควบคุมระบบเศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ํานี้ยังก่อให้เกิดความตึงเครียดขึ้นมาในสังคมภายในรัฐจนทําให้กลุ่มผู้มีอํานาจในรัฐได้รับบทบาทให้เป็นผู้จัดระเบียบทางเศรษฐกิจ
และจากสถานการณ์นี้ก็ส่งผลให้เกิดคําถามในเวลาต่อมาว่ารัฐควรเข้ามาควบคุมระบบเศรษฐกิจของตนมากน้อยเพียงใดและกลไกในการบริหารควรจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อควบคุมระบบเศรษฐกิจอย่างไรจนทําให้เกิดลัทธิทางการเมืองและเศรษฐกิจขึ้นทั้งจากฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย กล่าวคือในส่วนฝ่ายซ้ายได้เกิดลัทธิคอมมิวนิสต์และลัทธิสังคมนิยมที่เชื่อว่าระบบนายทุนไม่เหมาะสมควรจะสร้างระบบใหม่ซึ่งรัฐควรจะทําการบริหารเครื่องมือในการผลิตและทําการแจกจ่ายเพื่อความผาสุกของประชาชน ข้อเสนอของฝ่ายคอมมิวส์นิสต์นั้นไม่ได้เป็นที่ยอมรับในยุโรปตะวันตกมากนักแต่กลับได้รับการยอมรับในสหภาพโซเวียต ขณะที่ฝ่ายสังคมนิยมในช่วงเวลานั้นมักจะมองว่าเป็นศตวรรษแห่งความใฝ่ฝันของตนเองจากเดิมที่เน้นการประนีประนอมก็ได้ค่อยๆ ไปสู่วิธีการปฏิรูปสังคมโดยวิธีการวางแผนเศรษฐกิจและรัฐสวัสดิการ
ส่วนฝ่ายขวาได้เกิดลัทธิฟาสซิสต์ (Fascists) ขึ้นในอิตาลีและลัทธินาซี (Nazi) ในเยอรมนี ซึ่งมองว่าผลประโยชน์ของชาติอยู่เหนือผลประโยชน์ส่วนบุคคลและนโยบายทางเศรษฐกิจควรจะกําหนดโดยตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ภายใต้การควบคุมของพรรคการเมืองอันประกอบด้วยนายจ้าง ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ของรัฐทําการจัดการในอุตสาหกรรมที่สําคัญแต่ละประเภท แม้ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลจะยังมีอยู่แต่รัฐก็จะเข้ามาช่วยเหลือควบคุมหรือยึดทรัพย์สินเพื่อที่จะทําให้พลังทหารและพลังเศรษฐกิจของชาติเพิ่มขึ้น ข้อเสนอดังกล่าวนี้ไม่ได้รุนแรงแบบข้อเสนอของคอมมิวนิสต์ แต่กลับเน้นที่การสนับสนุนให้เชื่อฟังผู้นำที่มีอํานาจ (Authoritarianism) ลัทธิรัฐนิยม (Statism) และบรรษัท (Corporatism)
ส่วนเสรีนิยมก็เริ่มมีการปรับตัวและทบทวนระบบทุนนิยมใหม่เพื่อที่จะรักษาระบบเดิมให้ดํารงอยู่ต่อไปดังเช่น ข้อเสนอ “สมุดปกเหลือง (Yellow Book)” ของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) เสนอให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบอบอนาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่วางอยู่บนพื้นฐานความเชื่อในเรื่องปัจเจกชนแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาไปสู่ระบอบที่จงใจควบคุมพลังทางเศรษฐกิจให้ดําเนินไปสู่ทิศทางที่ให้ความสําคัญกับเสถียรภาพและความยุติธรรมทางสังคมโดยวิธีลดปัญหาคนว่างงานด้วยการให้ความสําคัญกับการใช้จ่ายภาครัฐในเรื่องของการสร้าง ปรับปรุง และฟื้นฟูสาธารณูปโภคต่างๆ (ทวีป มหาสิงห์, 2555, น. 62-64) จากบริบทของเศรษฐกิจโลกข้างต้นจะเห็นได้ว่าฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา และฝ่ายเสรีนิยมนั้นก็ล้วนแล้วแต่มีความคิดที่จะให้รัฐเข้ามาช่วยจัดการการวางแผนเศรษฐกิจและนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมโดยเฉพาะการวางแผนจากส่วนกลางภายใต้การกํากับของรัฐนั่นเอง
ขณะเดียวกันสภาพโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจของสยามในขณะนั้นจากงานศึกษาของ คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน[9] พบว่าลักษณะของชนบทสยามระหว่างปี พ.ศ. 2473-2474 ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้ทํานาและเลี้ยงไว้ในบ้าน เช่น โค กระบือ สุกร และเป็ดไก่ ในภาคกลางชาวนาที่ไม่มีที่ดินของตนเองอยู่ในราวร้อยละ 36 ในภาคเหนือร้อยละ 26 ภาคใต้ร้อยละ14 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 18 สําหรับคนที่ไม่มีที่ดินต้องเช่าที่ดินทํานา เจ้าของนานั้นอาศัยอยู่ในเมืองหลวงและสัญญาเช่าสวนใหญ่คือหนึ่งปี การเพาะปลูกของทั้ง 3 ภาคคือภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสานอยู่ในสภาพที่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มีภาคกลางภาคเดียวที่อยู่ในสถานะแห่งการค้าขาย และภาคกลางก็เป็นภาคที่มีรายได้สูงที่สุดจากการทํานารวมถึงการได้รายได้จากอาชีพอื่นๆ จึงทําให้รายได้จากภาษีอากรของรัฐบาลได้มาจากภาคกลางเป็นส่วนใหญ่
จากการที่ราคาสินค้าทุกอย่างในตลาดโลกตกต่ํากลายเป็นสาเหตุที่ทําให้ชาวนาไม่ สามารถจะเสียเงินตามอัตราภาษีได้ ดังนั้นชาวนาบางคนขาดทุนจากอาชีพที่ตนทําอยู่ก็ต้องกู้ยืม มิฉะนั้นจะไม่มีเงินทองสําหรับใช้จ่ายหรือต้องนําเอาเงินเก็บมาใช้ซึ่งการกู้เงินนั้นพ่อค้าข้าวเปลือกหรือพ่อค้าซึ่งตั้งร้านในท้องที่ต่างๆ เป็นผู้ให้ชาวนากู้เงินและเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงชาวนาที่มีฐานะดีกู้ยืมเงินน้อยกว่าชาวนาที่ไม่ใคร่จะมีหลักฐานถึงอย่างนั้นก็ดีอัตราดอกเบี้ยก็ไม่เคยต่ํากว่าร้อยละ 20 ต่อปี ในจํานวน 100 ครัวเรือนของแต่ละภาคพบว่าภาคกลางมีหนี้ 49 ครัวเรือน ภาคเหนือมีหนี้ 18 ครัวเรือน ภาคใต้มีหนี้ 18 ครัวเรือน และภาคอีสานมีหนี้ 11 ครัวเรือน โดยสาเหตุที่ต้องกู้เงินก็เพื่อนําไปซื้อที่ดิน การขาดการอดออม และไม่ได้ปลูกพืชผลหรือทําการอุตสาหกรรมในเวลาที่ว่างในช่วงที่สินค้าเกษตรตกต่ําทําให้ลูกหนี้รู้สึกว่ามีความยากลําบากในการกู้ยืม และส่งเงินคืนเจ้าหนี้เพิ่มขึ้น กล่าวคือในสมัยที่ข้าวเปลือกราคาเกวียนละ 100 บาท ชาวนา ซึ่งเป็นหนี้อยู่ 100 บาท จะต้องขายข้าวเพียงเกวียนเดียวเท่านั้นเพื่อนําเงินไปชําระหนี้สินถ้าในเวลาที่ข้าวเปลือกลดลงมาเกวียนละ 50 บาทชาวนาซึ่งเป็นลูกหนี้จะต้องขายข้าวถึง 2 เกวียนจึงจะพอชําระหนี้ได้ เป็นต้น
การขายข้าวของชาวนาไม่ได้ขายข้าวให้แก่เจ้าของโรงสีโดยตรงแต่ผ่านคนกลางชาวนาไม่ทราบราคาข้าวเปลือกของตลาดในกรุงเทพฯ นอกจากราคาซึ่งพ่อค้าข้าวเปลือกเต็มใจจะซื้อเท่านั้นทําให้พ่อค้าข้าวเปลือกหรือคนกลางแสวงหากําไรโดยวิธีรับซื้อข้าวตามราคาต่ําๆ และกักข้าวนั้นไว้ขายในราคาแพง ซิมเมอร์แมนเสนอให้รัฐบาลเริ่มจัดตั้งสหกรณ์ขายสินค้าเพราะระเบียบการขายสินค้ากสิกรรมที่ดีต้องเป็นวิธีสหกรณ์ในเวลานี้รัฐบาลควรวางโครงการ 25 ปีไว้เพื่อขยายสหกรณ์ให้แพร่หลายในหมู่ชาวนาเพราะเหตุว่าวิธีขายโดยสหกรณ์ดีกว่าวิธีอาศัยพ่อค้าคนกลางและบรรดาสมาชิกจะได้ผลหลายอย่างทั้งในทางเศรษฐกิจและประชาคม
อย่างไรก็ตาม ชาวนาไทยก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนในเรื่องการกินอยู่ต่างคนเป็นสุขตามประสา ฉะนั้นจึงยังมีหนทางที่จะเขยิบฐานะแห่งการกินอยู่ของตนให้สูงขึ้นด้วยการขยายโครงการเพาะปลูกตามแบบอย่างประเทศอื่นการเพาะปลูกไม่ใคร่ประสบความเสียหายจนถึงกับพลเมืองต้องอดอยาก การทํานาบางแห่งเคยเสียหายมากเป็นบางครั้งคราวแต่ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นภัยอย่างร้ายแรงแก่พลเมือง รายได้ที่เป็นเงินสดรวมทั้งรายได้ที่เป็นวัตถุอันได้จากธรรมชาติสูงกว่ารายได้ของพลเมืองในประเทศอินเดียและจีน ส่วนสุขภาพของชาวชนบทนั้นยังขาดการป้องกันโรคและวิธีการรักษาโรคตามแบบใหม่เพื่อให้ราษฎรได้มีความรู้ทางอนามัยเพราะหากคนมีสุขภาพดีแล้วก็จะสามารถเพิ่มผลิตผลทางเศรษฐกิจได้
จากบริบทภายในสยามข้างต้นซึ่งปรีดีเองก็ได้มีประสบการณ์สัมผัสกับความเป็นอยู่ของราษฎรในขณะนั้นโดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพชาวนาดังปรากฏในบทสัมภาษณ์ของปรีดีว่า “ปู่ย่าผม(ปรีดี-ผู้เขียน) มีบุตรชายหญิงหลายคนซึ่งได้รับส่วนแบ่งมรดกไปประกอบอาชีพบางท่านรักษาฐานะคหบดีบางท่านก็ขาดทุนตกเป็นผู้มีทุนน้อย ส่วนบิดาผมเลือกอาชีพทํานาจึงประสบชะตากรรมอย่างชาวนาซึ่งกระทบถึงความเป็นอยู่ของครอบครัว ผมประสบพบเห็นความอัตคัดของบิดามารดาและเมื่อไปอยู่กับบิดาก็พบเห็นความอัตคัดขัดสนของชาวนาทั่วไป” (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, 2530, น. 22) ซึ่งปรีดีได้กล่าวถึงความเป็นอยู่ของชาวนาในสมัยนั้นว่า
“๑. ในบริเวณเนื้อที่นาเนื้อที่ประมาณ ๑ ล้านไร่ที่อยู่ภายในเขตบริษัท ขุดคลองแลคูนาสยาม ชาวนาร้อยละ ๖๐ เป็นผู้เช่านา ซึ่งต่างกับชาวนาท้องที่อื่นๆ ซึ่งผู้เช่านามีจํานวนน้อยกว่านั้น และต่างกับชาวนา ในท้องที่ซึ่งราษฎรบุกเบิกที่ว่างเปล่าหรือจับจองเอง
๒. ชาวนาที่เป็นเจ้าของนาเองก็ดี ที่เช่ามาจากผู้อื่นก็ดีนั้นต้องประสบ ความอัตคัด...แต่ชาวนาที่เช่านาผู้อื่นต้องแบกภาระโดยต้องเสียค่าเช่านาให้เจ้าของนาเป็นเงินหรือข้าว เจ้าของนาหลายรายกดขี่เบียดเบียน
๓. ในฤดูแล้งชาวนาที่อยู่ห่างลําคลองที่มีน้ําตลอดปีนั้นอัตคัดน้ํากิน สําหรับคนและสัตว์ ส่วนฤดูฝนชาวนาต้องประสบภัย เช่น ฝนน้อยไม่พอเพาะปลูกหรือฝนตกมากเกินไป ทําให้พันธุ์ข้าวที่ปลูกไว้เสียหายชาวนาช่วยตัวเองไม่ไหวจึงทํานาไม่ได้ผลตามที่ลงแรงไว้ เมื่อถึงหน้านามาใหม่ก็ต้องกู้เงินผู้มีเงินมาทําทุนเสียดอกเบี้ยแพงมาก และปีต่อไปถ้าประสบเหตุการณ์เช่นเดิมชาวนาก็ต้องมีหนี้สินเพิ่มขึ้นล้นพ้นตัว ทางราชการไม่สามารถช่วยได้
๔. โจรผู้ร้ายชุกชุมเพราะมีมิจฉาชีพลักขโมยควายของชาวนาเพื่อเรียกค่าไถ่ชาวนาก็ต้องกู้เงินมาไถ่ซึ่งเป็นการเพิ่มหนี้สินของตนทางราชการ
ไม่สามารถช่วยได้
๕. ปีใดชาวนาพอทําข้าวได้บ้าง แต่ต้องขายข้าวเปลือกให้พ่อค้า ซึ่งเอาเปรียบในการชั่งตวงและกดราคาข้าว
๖. ถ้าส่งข้าวเปลือกไปสีที่โรงสี แต่โรงสีมีอุบายล่อใจชาวนาว่า ไม่คิดค่าสีข้าว...ชาวนาส่วนมากที่ไม่รู้เท่าทันก็พอใจที่ตนไม่ต้องเสียค่าข้าว แต่
ความจริงโรงสีมีทางเอาเปรียบชาวนาโดยเดินเครื่องให้มีปลายข้าวมากขึ้นเพื่อเป็นของโรงสี ซึ่งคิดแล้วโรงสีได้กําไรจากการสีข้าวมาก
๗. ในปีหนึ่งๆ ชาวนาต้องตายด้วยโรคระบาดไม่น้อย
๘. ความอัตคัดขัดสนของชาวนามีอีกมากมายหลายประการที่แสดงว่า ชาวนาไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ แต่ชาวนาก็มีภาระที่ต้องเสียเงินรัชชูปการถ้าไม่มีเงินเสียก็ต้องถูกเกณฑ์ไปทํางานประมาณปีละ ๑๕-๓๐ วันและต้องเสียอากรค่านา” (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา 2530, น. 40-41)
ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ได้กลายปัจจัยที่ทําให้ปรีดีนําเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้นกับราษฎร
ข้อเสนอจากเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์
ในส่วนต่อมาจะกล่าวถึงเนื้อหาและลักษณะของแนวคิดความเป็นธรรมทางสังคมของปรีดีโดยพิจารณาจากเนื้อหาที่ปรากฏในเค้าโครงการฯ ในส่วนแรกจะกล่าวถึงเนื้อหาโดยสรุปของเค้าโครงการฯ แล้วจากนั้นจึงจะนําเสนอถึงข้อเสนอของปรีดีในการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมว่ามีลักษณะอย่างไรและวางอยู่บนแนวคิดแบบไหน
4.1 ว่าด้วยเนื้อหาเค้าโครงการเศรษฐกิจ
เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีประกอบด้วยเนื้อหาทั้งหมด 11 หมวด[10] และรวมถึง พ.ร.บ. ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรและเค้าร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการประกอบการเศรษฐกิจ ในที่นี้สามารถจัดแบ่งเนื้อหาโดยสรุปออกเป็นสามส่วน กล่าวคือ ส่วนแรก ที่มาและเป้าหมายของการมีเค้าโครงการฯ ส่วนที่สอง วิธีการในการจัดระบบเศรษฐกิจ และส่วนสุดท้ายคือแผนงานและผลที่จะเกิดขึ้น
ในส่วนแรกเริ่มต้นจากหมวดที่หนึ่งกล่าวถึงที่มาของการมีเค้าโครงการฯ ซึ่งเป็นไปตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร[11] ที่ประกาศไว้ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยมีหลักการในข้อที่สามคือ “จะต้องบํารุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทํา จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” (เดือน บุนนาค, 2552, น. 66)
สาเหตุที่คณะราษฎรจะต้องบัญญัติหลักการในทางด้านเศรษฐกิจเอาไว้ ปรีดีได้กล่าวถึง ในหมวดที่สองก็เนื่องมาจากลักษณะพื้นฐานของธรรมชาติมนุษย์นั้นมีลักษณะไม่เที่ยงแท้แห่งการดํารงชีวิตโดยเฉพาะปัจจัยพื้นฐานคือ “ผู้ที่มีจิตเป็นมนุษย์ ประกอบด้วยความเมตตากรุณาแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้ว เมื่อเห็นสภาพชาวนาในชนบทก็ดี เห็นคนยากจนอนาถาในพระนครก็ดี ก็จะปรากฏความสมเพชเวทนาขึ้นทันใด ท่านคงจะเห็นว่าอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ อันเป็นปัจจัยแห่งการดํารงชีวิตของบุคคลเหล่านี้แร้นแค้นปานใด แม้วันนี้มีอาหารรับประทานพรุ่งนี้และวันต่อไปจะยังคงมีหรือขาดแคลนก็ทราบไม่ได้ อนาคตย่อมไม่แน่วแน่” (เดือน บุนนาค, 2552, น.67)
ซึ่งการมีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้นเช่นนี้ “มิใช่จะมีแต่ในหมู่ราษฎรที่ยากจนเท่านั้น คนชั้นกลางก็ดี คนมั่งมีก็ดี ย่อมจะประสบความไม่เที่ยงแท้ด้วยกันทุกรูปนาม” ดังนั้นแล้ว “คนมั่งมี ในสมัยหนึ่งต้องกลับเป็นคนยากจนในอีกสมัยหนึ่ง หรือมรดกที่ตกทอดไปถึงบุตรต้องละลายหายสูญ ไม่คงอยู่ตลอดชีวิตของบุตร” (เดือน บุนนาค, 2552, น. 67)
เนื้อหาในส่วนที่สองกล่าวถึงวิธีในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว ในหมวดที่สามการ ประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรโดยรัฐเป็นผู้จัดการประกันความสุขสมบูรณ์ให้แก่ราษฎร “ราษฎรที่เกิดมาย่อมจะได้รับประกันจากรัฐบาลว่าตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งสิ้นชีพ ซึ่งในระหว่างนั้นจะเป็นเด็กหรือเจ็บป่วย หรือพิการหรือชราทํางานไม่ได้ก็ดี ราษฎรจะได้มีอาหารเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ...การประกันนี้ย่อมวิเศษดียิ่งกว่าการสะสมเงินทอง” (เดือน บุนนาค, 2552, น.69) ดังนั้น ในหมวดที่สี่เพื่อมิให้แรงงานที่มีอยู่สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เนื่องจากพบว่าการผลิตของสยามนั้นยังไม่สามารถสร้างผลผลิตออกมาเต็มที่เมื่อเทียบกับปัจจัยการผลิตที่ตนเองมีเนื่องจากแรงงานที่ยังไม่ได้ใช้เต็มที่จากชาวนาที่ทํางานเพียงหกเดือนและว่างอีกหกเดือนเป็นผลมาจากการจัดการเศรษฐกิจที่ยังไม่เหมาะสมดังนั้นรัฐก็จะเข้ามาจัดการในด้านการผลิตให้ ซึ่งปัจจัยการ ผลิตไม่ว่าจะเป็นที่ดิน แรงงาน เงินทุน ปรีดีได้กล่าวไว้ในหมวดที่ห้าว่ารัฐบาลจะหาที่ดิน แรงงาน เงินทุน กล่าวคือการจัดหาที่ดินรัฐบาลจะซื้อคืนโดยการออกใบกู้ให้เจ้าของที่ดินถือไว้ตามราคาที่ดินของตน ส่วนบ้านที่อยู่อาศัยนั้นรัฐบาลไม่จําเป็นต้องซื้อคืน แรงงานจัดหางานให้ราษฎรทํา โดยกําหนดให้ราษฎรเข้ารับราชการแบบนี้จะไม่มีเวลาว่างเพราะอีกหกเดือนรัฐบาลจะจัดหางานอื่นๆ ให้ทํา ส่วนเงินทุนรัฐบาลหาจากการเก็บภาษีบางอย่าง เช่น ภาษีมรดก ภาษีรายได้ หรือภาษีทางอ้อม ออกสลากกินแบ่ง การกู้ภายในประเทศกับคนมั่งมี และวิธีการกู้เงินภายนอกด้วยการผ่อนซื้อเครื่องจักร
ในหมวดที่หกกล่าวถึงการที่รัฐบาลจัดหางานให้ราษฎรเช่นนี้ก็ต้องมีการจัดรายได้ รายจ่ายของประเทศให้มีดุลยภาพ และในหมวดที่เจ็ดรัฐบาลจะมีการจัดแบ่งงานทั้งในด้านการร่วมกันประดิษฐ์ การจําหน่ายและขนส่ง การจัดหาของอุปโภคบริโภคให้แก่สมาชิก และร่วมกันสร้างสถานที่อยู่ในลักษณะของสหกรณ์ ส่วนหมวดที่แปดจัดให้มีการผลิตทั้งทางด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมภายในประเทศและเพื่อป้องกันปัญหาความยุ่งยากระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างก็ควรจะให้ “รัฐได้เป็นเจ้าของเสียเองแล้ว ราษฎรทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นราษฎรหรือข้าราชการประเภทใด...ก็จะได้รับผลเช่นเดียวกัน เป็นการเสมอภาคตามกําลังและความสามารถ รัฐบาลเป็นผู้แทนราษฎร ก็เท่ากับราษฎรได้เป็นเจ้าของการเศรษฐกิจทั้งปวง” (เดือน บุนนาค, 2552, น. 95) ปรากฏในหมวดที่เก้า
เนื้อหาส่วนสุดท้ายแผนงานและผลที่จะเกิดขึ้น ในหมวดที่สิบเพื่อให้การประกอบเศรษฐกิจจะดําเนินไปโดยเรียบร้อยและได้ผลดีรัฐบาลก็จําเป็นต้องวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติและ “เมื่อเราคํานวณได้ดังนี้แล้วก็จะทราบได้ว่า เราจะเริ่มใช้แผนเศรษฐกิจแห่งชาติในท้องที่ใดก่อน และเริ่มการเศรษฐกิจใดก่อน เช่นนี้เป็นลําดับไปจนทั่วพระราชอาณาจักร...เมื่อเราทราบว่าขาดกําลังอันใด เราก็ควรหากําลังอันอื่น เช่น เราขาดผู้ชํานาญการพิเศษ เราต้องจ้างชาวต่างประเทศซึ่งเป็นผู้ชํานาญการพิเศษมาใช้ไปพลางๆ ก่อน และอบรมคนของเราซึ่งจักต้องวางแผนการณ์อบรมไว้ด้วย” (เดือน บุนนาค, 2552, น. 99)
หากเป็นไปตามที่รัฐบาลจัดการเรื่อง ระบบเศรษฐกิจเช่นนี้ย่อมทําให้วัตถุประสงค์อื่นๆ ของคณะราษฎรบรรลุผล ปรากฏในหมวดสุดท้าย ดังเช่น การมีเอกราชทางเศรษฐกิจ การรักษาความสงบเรียบร้อย เมื่อราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นย่อมจะไม่ประทุษร้ายต่อกัน ราษฎรมีความเสมอภาคกันไม่ใช่เพียงแค่บนหน้ากระดาษแต่ยังเป็นความเสมอภาคที่จะเข้ารับราชการ สิทธิเสมอภาคกันในการที่จะไม่อดตาย ส่วนเรื่องของเสรีภาพนั้น “เมื่อรัฐบาลประกอบเศรษฐกิจเสียเองเช่นนี้ย่อมเป็นการตัดเสรีภาพ แต่การตัดเสรีภาพนั้นก็เพื่อจะให้ราษฎรได้รับความสุขสมบูรณ์...รัฐบาลไม่ได้ตัดเสรีภาพในการอื่นๆ” (เดือน บุนนาค, 2552, น. 103) ส่วนด้านการศึกษาราษฎรจะมีการศึกษาอย่างเต็มที่ “ราษฎรก็ย่อมจะได้รับการศึกษาแทนที่จะคอยพะวงถึงทรัพย์สินของตนว่าจะเป็นอันตรายสูญหาย” และเมื่อสามารถบรรลุได้ตามหลัก 6 ประการเช่นนี้ย่อมจะนําไปสู่การมีชีวิตที่ดีหรือที่ปรีดีเรียกว่า “ศรีอาริยะ” นั่นเอง
4.2 ว่าด้วยข้อเสนอเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม
จากสภาพบริบทที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นพบว่าสภาพความเป็นอยู่ของสังคมสยามในขณะนั้นมีความเป็นอยู่อย่างยากลําบากและถูกเอารัดเอาเปรียบต่างๆ ซึ่งได้ส่งผลต่อการเกิดจิตสํานึกทางด้านความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีหรือเป็นธรรมกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ดังที่ปรีดีให้สัมภาษณ์ไว้ในประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโสว่า “ความคิดเห็นของผม (ปรีดี-ผู้เขียน) ที่เห็นว่าสยามควรมีโครงการเศรษฐกิจนั้น มิใช่เกิดขึ้นทันใด และมิใช่เป็นไปตามความนึกคิดเดาๆ โดยไม่มีหลักทฤษฎีเศรษฐกิจ ผม (ปรีดี-ผู้เขียน) ได้กล่าวแล้วถึงสภาพสังคมไทยที่ผมประสบพบเห็นแก่ตนเอง ราษฎรได้มีความอัตคัดขัดสนในทางเศรษฐกิจ และไม่มีสิทธิเสรีภาพกับเสมอภาคในทางการเมือง อีกทั้งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและ อํานาจของหลายประเทศทุนนิยม ผม (ปรีดี-ผู้เขียน) มีความคิดก่อนที่จะได้มาศึกษาในฝรั่งเศสแล้วว่า จะต้องค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมว่ามีวิธีใดที่จะทําให้ความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น” (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, 2530, น. 42)
ดังนั้น ข้อเสนอการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมของปรีดีพบว่าปรีดีเริ่มต้นจากการทําความเข้าใจลักษณะของธรรมชาติของมนุษย์ว่าเป็นผู้มีเมตตากรุณาแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ดังกล่าวไว้ในส่วนเริ่มแรกของเค้าโครงการฯ แต่ก็กลับพบว่าโดยแก่นของการดําเนินชีวิตนั้นกลับต้องพบเจอกับความไม่แน่นอนของชีวิต “ท่านคงจะเห็นว่าอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ อันเป็นปัจจัยแห่งการดํารงชีวิตของบุคคลเหล่านี้แร้นแค้นปานใด แม้วันนี้มีอาหารรับประทาน พรุ่งนี้และวันต่อไปจะยังคงมีหรือขาดแคลนก็ทราบไม่ได้ อนาคตย่อมไม่แน่วแน่” (เดือน บุนนาค, 2552, น. 67) เมื่อชีวิตโดยธรรมชาติไม่เที่ยงแท้ ประกอบกับเมื่อมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมแล้ว ก็ยังพบการเอารัดเอาเปรียบจากกัน “มีบุคคลที่เกิดมาหนักโลกอาศัยบุคคลอื่นกินมีจํานวนไม่น้อย” (เดือน บุนนาค, 2552, น. 71) ซึ่งตรงนี้ก็สอดคล้องกับประสบการณ์ที่ปรีดีพบในเรื่องของชาวนา ไม่ว่าจะเป็นการกู้หนี้ยืมสิน หรือการเอารัดเอาเปรียบจากผู้ให้เช่านา นายทุนหรือพ่อค้าคนกลาง ย่อมทําให้ชาวนามีชีวิตอย่างยากลําบาก
ในการเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ดังกล่าวพบว่าปรีดีได้รับอิทธิพลจากลัทธิโซลิดาริสม์ (Solidarism) กล่าวคือ “ตามหลักของข้าพเจ้า (ปรีดี-ผู้เขียน) นั้นเป็นลัทธิหลายอย่างที่ได้คัดเลือกเอามาปรับปรุงให้สมกับฐานะของประเทศสยาม แต่เหตุสําคัญอาศัยหลักโซเชียลิสม์ ไม่ใช่คอมมูนิสม์ คือถือว่ามนุษย์ที่เกิดมาย่อมต้องเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน (Solidarism) เช่น เช่นคนจนนั้น เพราะฝูงชนทําให้จนก็ได้ คนเคยทอผ้าด้วยฝีมือ ครั้นมีเครื่องจักรแข่งขัน คนที่ทอด้วยผ้าด้วยมือก็ต้องล้มเลิก หรือ คนที่รวยเวลานี้ไม่ใช่รวยเพราะแรงงานของตนเลย เช่น ผู้ที่มีที่ดินมากคนหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งเดิมมีราคาน้อยภายหลังที่ดินมีราคาแพง สร้างตึกสูง ๆ ดังนี้ ราคาที่ดินแพงขึ้นเนี่องจากฝูงชน ไม่ใช่เพราะการกระทําของคนนั้น ฉะนั้นจึงถือว่ามนุษย์ต่างมีหนี้ตามจริยธรรมต่อกันจึงต้องร่วมประกันภัยต่อกันและร่วมมือกันในการประกอบอาชีพ” (เดือน บุนนาค, 2552, น. 128)
ลัทธิโซลิดาลิสม์ (Solidarism) อาจจัดได้ว่าเป็นลัทธิที่ค่อนไปในแนวทางของสังคมนิยมที่เน้นถึงลักษณะของการรวมหมู่หรือรักผู้อื่นที่เป็นมนุษย์ร่วมชาติ (Altruism) มากกว่าการเน้นไปให้ความสําคัญกับปัจเจกบุคคลหรือที่เรียกว่าลัทธิรักตัว (Egoism) ซึ่งปรีดีได้ศึกษามาในช่วงของการไปศึกษาที่ฝรั่งเศส หลักการของลัทธินี้ตามคํากล่าวของศาสตราจารย์ชาร์ลส์ จิ๊ด (Charles Gide) ก็คือ
“ภารดรภาพที่เคยเป็นดั่งข้อเท็จจริงอันไร้สํานึก ควรจะต้องกลายมาเป็นกฎความประพฤติ และเป็นหน้าที่ทางศีลธรรม ยิ่งไปกว่านั้นคือ เป็นหน้าที่ที่มีผลบังคับตามกฎหมาย ด้วยเหตุผลประการใดบ้าง ดังนี้ อธิบายได้ว่า ภารดรภาพในฐานะที่เป็นกฎธรรมชาติ ได้แสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าการกระทําของเราแต่ละคนนั้นมีผลกระทบทั้งในแง่ดี และแง่ร้ายต่อเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ และในทางกลับกัน ความรับผิดชอบและความเสี่ยงภัยทั้งปวงของเราจึงเพิ่มมากยิ่งขึ้น หากจะมีผู้คนตกทุกข์ได้ยากเราควรช่วยเขาเหล่านั้น เนื่องจากเราอาจจะเป็นผู้ก่อเหตุส่วนหนึ่งของความทุกข์ยากของเขาเหล่านั้น ทั้งนี้ อาจจะด้วยการจัดการกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งของเราเอง การลงทุนของเรา การแลกเปลี่ยนหรือแม้แต่การกระทําอันเป็นตัวอย่างที่เราได้กระทําแก่พวกเขาเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อเป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบ หน้าที่ของเราก็คือ จะต้องขจัดปัดเป่าสิ่งเหล่านั้นด้วย เนื่องจากเราทราบกันดีกว่า เราและลูกหลานของพวกเราอาจจะตกเป็นเหยื่อของความทุกข์ยากของผู้อื่น เช่นความเจ็บป่วยของผู้อื่นอาจมีผลกระทบต่อตัวเราความไร้ศีลธรรมของผู้อื่นอาจนํามาซึ่งความเสื่อมศีลธรรมของเราด้วย ดังนั้นการเข้ามาแก้ไขเยียวยาสิ่งเหล่านี้คือประโยชน์ของเราด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจําเป็นที่จะต้องเปลี่ยนสังคมมนุษย์ทั้งมวลไปสู่ความเป็นชุมชนใหญ่ที่มุ่งช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่ง ณ ที่นั้นเองภารดรภาพอันมีมาแต่ธรรมชาตินั้น ไม่ว่าเป็นที่รับรองกันโดยอาศัยเจตจํานงที่ดีของแต่ละคน หรืออาศัยอํานาจแห่งกฎหมาย ย่อมรังสรรค์ให้เกิดขึ้นซึ่งความยุติธรรม ณ ที่นี่เอง แต่ละคนจะเข้ารับภาระของส่วนรวมและพึ่งได้ผลสนองตอบจากประโยชน์ที่ผู้อื่นได้รับ และหากจะมีบรรดาบุคคลผู้เกรงว่า กระทําเช่นว่านี้ย่อมจะนํามาซึ่งความเสื่อมเสียในความเป็นปัจเจกชน กล่าวคือ ศักยภาพที่ปรากฏอยู่ในตนของตน อีกนัยหนึ่ง ความสามารถในการกระทําด้วยตนเองนั้นก็ต้องตอบปัญหานี้ว่า ความเป็นปัจเจกชนนั้นย่อมไม่อาจยืนยันความมีอยู่และไม่อาจพัฒนาตนให้ยิ่งขึ้นไปได้ ด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่นน้อยไปกว่าการช่วยเหลือเกื้อกูลตนเองเลย” (ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, 2549, น. 23-24)
การมีพันธะทางสังคมของบุคคลดังกล่าวจึงหมายถึงการที่มนุษย์แต่ละคนมีภารกิจที่จะต้องปฏิบัติตอบแทน กล่าวคือเป็นการตอบแทนให้แก่สังคมในสิ่งที่ตนเคยได้รับประโยชน์ อีกทั้งแต่ละบุคคลนั้นยังเป็นผู้รับมรดกในเรื่องต่างๆ ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งแห่งสังคมที่ได้อาศัยดํารงชีวิตอยู่นั่นเอง[12]
เป้าหมายสําคัญของการเสนอเค้าโครงการฯ ก็คือ “บํารุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” ซึ่งความสุขสมบูรณ์อันเป็นสิ่งที่ดี (The Good) หรือเป้าหมายของสังคมที่เป็นธรรมของปรีดีในที่นี้หมายถึงการมีหลักประกันในการดํารงชีวิตโดยเฉพาะหลักประกันพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ดังนั้นหากจะสร้างความสุขสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นได้นั้น ปรีดีเสนอให้สร้าง “ความเสมอภาคเท่าเทียม” (Equality) ในทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นโดย “ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกันในการที่จะไม่อดตาย” ซึ่งตรงนี้ปรีดีขยายความว่าไม่ใช่เสมอภาคในเชิงของการแบ่งทรัพย์สิน ที่มีเท่าๆ กันในแบบที่ “คนหนึ่งมีเงินร้อยบาทจะต้องรับเอามาแบ่งเท่าๆ กันในระหว่างร้อยคนๆ ละ ๑ บาท” (เดือน บุนนาค, 2552, น. 103) แต่เป็นการเสมอภาคในเชิงของการมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรจึงอาจสรุปได้ว่าฐานคิด (premise) ของปรีดีในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมคือ “ความเสมอภาคเท่าเทียม (equality)”
ในการจะบรรลุไปสู่สิ่งที่ดีหรือสังคมที่เป็นธรรมสําหรับปรีดีได้ก็ต้องอาศัยกลไกของ สถาบันทางสังคมเพื่อเป็นตัวจัดการและขับเคลื่อนในการสร้างความเสมอภาคให้บังเกิดซึ่งสถาบันทางสังคมในที่นี้คือ “ความไม่เที่ยงแท้ของระบบเศรษฐกิจ จึงมีนักปราชญ์คิดแก้โดยวิธีให้รัฐบาล ประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (social assurance) กล่าวคือราษฎรที่เกิดมาย่อมจะได้รับประกันจากรัฐบาลว่า ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งสิ้นชีพ...การประกันนี้ย่อมวิเศษดียิ่งกว่าการสะสมเงินทอง” (เดือน บุนนาค, 2552, น. 68) โดยข้อเสนอการให้รัฐเข้ามาเป็นตัวจัดสรรทรัพยากรเช่นนี้ก็เป็นไปตามกระแสในยุคบริบทหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 วิธีที่จะทําให้ชีวิตมีความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์ รัฐจะเป็นตัวกลางในการจัดสวัสดิการ การกระจายความเหลื่อมล้ําผ่านสหกรณ์[13]
“การคิดจะบํารุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนี้ ข้าพเจ้า (ปรีดี-ผู้เขียน) ได้เพ่งเล็งถึงสภาพอันแท้จริงตลอดจนนิสัยใจคอของราษฎรส่วนมากว่าการที่จะส่งเสริมให้ราษฎรมีความสุขสมบูรณ์นั้น ก็มีอยู่ทางเดียวซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเองโดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่างๆ ความคิดที่ข้าพเจ้า (ปรีดี-ผู้เขียน) ได้หยิบเอาส่วนที่ดีของลัทธิต่างๆ ที่เห็นว่าเหมาะแก่ประเทศสยาม แล้วจึงได้ปรับปรุงขึ้นเป็นเค้าโครงการ” (เดือน บุนนาค, 2552, น. 91)
โดยสหกรณ์เหล่านี้สมาชิกของสหกรณ์จะร่วมกันประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างครบรูปคือ ร่วมกันในการประดิษฐ์ ร่วมกันในการจําหน่ายและขนส่ง ร่วมกันในการจัดหาของอุปโภคบริโภคให้แก่สมาชิก ร่วมกันสร้างสถานที่อยู่ เมื่อปรีดีเน้นเสมอภาคเท่าเทียมในการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมนั่นหมายความว่า ในอีกมุมหนึ่งของข้อเสนอการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมของปรีดีก็คือ ด้านเสรีภาพแม้ว่าจะยอมให้รัฐแทรกแซงแม้จะเปิดโอกาสประกอบอาชีพเสรี และเสรีภาพในเคหสถาน การพูด ศึกษาอบรม สมาคมแล้ว ปรีดีก็ได้กล่าวว่า “ราษฎรจะต้องการเสรีภาพโดยไม่มีอาหารรับประทานเช่นนั้นหรือ ทั้งนี้ไม่ใช่ความประสงค์ของราษฎร” (เดือน บุนนาค, 2552, น. 103) นั่นหมายความว่าหากเป็นเรื่องจําเป็นแล้วราษฎรก็ควรที่จะยอมสละเสรีภาพมากกว่าความเสมอภาค
สรุปแล้วหากจะลองอธิบายข้อเสนอการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมของปรีดี อย่างเป็นระบบแล้วจะพบว่าในจุดเริ่มต้นโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์จะไม่ใช่ผู้ที่เห็นแก่ตัวและมีพันธะต่อมนุษย์ด้วยกันแต่ความเป็นอยู่ของมนุษย์นั่นก็ไม่ได้มีความเที่ยงแท้แน่นอนและเมื่อเปลี่ยนเข้ามาอยู่ในสังคมก็ยังพบว่ามีการเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างมนุษย์ด้วยกันเกิดขึ้น ดังนั้นเพื่อสร้างสังคมที่ดีหรือสมบูรณ์พูนสุข มนุษย์จึงจําเป็นที่จะสร้างพันธะสัญญาต่อกันและพันธะสัญญาต่อสถาบันทางสังคมขึ้นมาโดยสถาบันทางสังคมที่จะเป็นตัวกลางในการสร้างความเสมอภาคและกำกับควบคุมให้เกิดความเสมอภาคมากขึ้นก็คือรัฐนั่นเอง
ข้อเสนอการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมผ่านเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ สรุปได้ว่าปรีดีมองธรรมชาติของมนุษย์ว่ามีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ซึ่งนําไปสู่การมีพันธะต่อกันของมนุษย์ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลัทธิโซลิดาลิสม์ แต่ในการดํารงชีวิตของมนุษย์มีความไม่แน่นอนจึงมีการเอารัดเอาเปรียบและมีความเป็นอยู่อย่างยากลําบาก ดังนั้นเป้าหมายหรือสิ่งที่ดี (The Good) สําหรับปรีดีคือการมีชีวิตสุขสมบูรณ์ กล่าวคือ การมีชีวิตความเป็นอยู่ไม่ขาดแคลนอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ และการมีสุขภาพที่สมบูรณ์ทุกช่วงวัยของชีวิตเป็นเป้าหมายซึ่งการจะบรรลุสู่สังคมที่เป็นธรรมเช่นนี้ได้ต้องเริ่มจากการสร้างความเสมอภาคของราษฎรโดยเฉพาะการมีความเสมอภาคกันทางด้านเศรษฐกิจซึ่งจะเป็นพื้นฐานนําไปสู่การมีชีวิตที่ดีอื่นๆ โดยเฉพาะที่สอดคล้องกับหลัก 6 ประการของคณะราษฎร
ในการสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นแน่นอนว่าปรีดีมองว่าสังคมที่เป็นอยู่ไม่ได้เกิดความเสมอภาคระหว่างราษฎร ปรีดีจึงเสนอให้มีการสร้างความเสมอภาคผ่านรัฐโดยอาศัยกลไกของรัฐอย่าง “รัฐบาล” เป็นผู้สร้างความเสมอภาคผ่านการวางแผนทางเศรษฐกิจโดยอาศัยการจัดการระบบเศรษฐกิจจากส่วนกลางเป็นหลักซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอกระแสหลักในยุคสมัยนั้น และเพื่อให้เกิดความเสมอภาคกันเกิดขึ้นราษฎรต้องหันกลับไปสร้างพันธะต่อกันและกัน และต่อรัฐตามหลักการพื้นฐานของลัทธิโซลิดาลิสม์นอกจากนี้การหันกลับไปหาความเสมอภาค
สุดท้ายแล้วข้อเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจมีจุดเด่นที่น่าสนใจคือเป็นข้อเสนอที่มีฐานทางทฤษฎีรองรับและขณะเดียวกันก็มีการจําแนกให้เห็นถึงวิธีการที่จะนําไปปฏิบัติควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้อาจกล่าวได้ว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นสะท้อนภาพของสังคมในอุดมคติ (Utopia) หรือที่ปรีดีเรียกในแบบพุทธว่า “ศรีอาริยะ” แม้หลายฝ่ายประเมินกันว่าเป็นข้อเสนอที่นําไปปฏิบัติให้เห็นผลได้ยากแต่จากอุดมคติดังกล่าวอาจเปรียบได้กับแผนที่นําทางให้แก่คนรุ่นหลังเป็นแนวทางในการแสวงหาสังคมที่เป็นธรรมต่อไป นอกจากนี้สถานะของบทความนี้ยังมีลักษณะเป็นบทสํารวจเบื้องต้นซึ่งหมายความว่ายังขาดข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์อีกมาก ดังนั้นจะบังเกิดประโยชน์มากขึ้นหากจะมีการค้นคว้าถึงการแสวงหาข้อเสนอเพื่อสร้างความเป็นธรรมของนักคิดไทยต่อไปในอนาคต
หมายเหตุ :
- บทความนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน ผศ.ทวีป มหาสิงห์ ให้นำมาเผยแพร่แล้วและปรับปรุงต้นฉบับโดยบรรณาธิการวิชาการ
- การ์ตูนนายปรีดี พนมยงค์ สะท้อนแนวคิดความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมได้รับความอนุเคราะห์จาก ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ แล้วซึ่งเป็นภาพวาดโดยฟื้น รอดอริ สมัยสังกัดคณะหรือร้านสยามศิลป ในหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา ฉบับปฐมฤกษ์
- คงอักขระวิธีสะกด และรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ
บรรณานุกรม :
- ทวีป มหาสิงห์, “บทสํารวจข้อเสนอความเป็นธรรมทางสังคมในสังคมไทย: กรณีเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์”, วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์, 7:2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2559): 58-78.
[1] ทวีป มหาสิงห์, “บทสํารวจข้อเสนอความเป็นธรรมทางสังคมในสังคมไทย: กรณีเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์”, วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์, 7:2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2559): 58-78.
[2] “ความยุติธรรม” กับ “ความเป็นธรรมทางสังคม” นั้นแม้จะมีความหมายคล้ายคลึงกันจนบางครั้งถูกใช้ในความหมาย ที่ใช้แทนกันได้พบว่าเมื่อกล่าวถึงการแสวงหาสิ่งที่ดีในมิติปรัชญาหรือการกล่าวถึงในแง่กฎหมายจะใช้คําว่า “ความ ยุติธรรม” ขณะที่การกล่าวถึงการแบ่งสรรสิ่งที่ดีในแง่สังคมจะเรียกว่า “ความเป็นธรรมทางสังคม” ดังที่อาจารย์สุวรรณา สถาอานันท์ ได้นิยามความหมายของทั้งสองคําไว้ว่า “บางครั้งมันใช้แทนกัน ซึ่ง “ความยุติธรรม” เราใช้ในความหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันยุติธรรม และเกี่ยวข้องกับการละเมิด มีบทลงโทษ ความยุติธรรมเราจะใช้ในความหมายนั้น ส่วน “ความเป็นธรรม” เราใช้ในความหมายในแง่ของการจัดสรรผลประโยชน์เป็นประเด็นเชิงบวก ความยุติธรรมเป็นประเด็ เชิงลบ ก็คือมีการทําผิด ส่วนความเป็นธรรมเป็นการจัดสรรผลประโยชน์และภาระด้วย ผลประโยชน์เช่น สิทธิทํากิน โอกาสทางการศึกษา การเข้าถึงสุขภาพ ค่าจ้างแรงงานของพวกนี้เป็นประเด็นเรื่องผลประโยชน์ ส่วนภาระเช่นเรื่องการเสียภาษี การเกณฑ์ทหาร การโดนเวนคืนที่ดิน เป็นต้น” จาก “การใช้ทฤษฎีอธิบายความไม่เป็นธรรมทางสังคม” http://social-agenda.org/wp-content/uploads/2013/01/Summery_Theory-Philosophy_27-28042555.pdf
[3] “มองหาความเป็นธรรมผ่านคนชายขอบ” http://www2.ipsr.mahidol.ac.th/ConferenceVIII/Download/Article_Files/1-SociaUustice-Kulapa.pdf
[4] ตัวอย่างงานศึกษากลุ่มนี้ เช่น ข้อโต้แย้งของฝ่ายชุมชนนิยมต่อมโนทัศน์ของจอห์น รอลส์ เรื่องบุคคลและชุมชน ของ สําราญ เทพจันทร์, ความคิดเรื่องความเท่าเทียมกันในทฤษฎีความยุติธรรมของจอห์น รอลส์ ของสุชาย อัศวพันธุ์ธน กุล, โทมัส สแกนลอนกับทางออกแบบพันธสัญญาของปัญหาพหุนิยมทางคุณค่าของปิยฤดี ไชยพร, จอห์น รอลส์ : ว่าด้วยทฤษฎีความยุติธรรมและชีวิตของจอห์น รอลส์ ของศุภชัย ศุภผล และการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประโยชน์สุขของปัจเจกบุคคล และประโยชน์สุขของสังคมในทฤษฎีความยุติธรรมของจอห์ สจ๊วต มิลล์ ของเอกศักดิ์ ยุกตะนันทน์ เป็นต้น
[5] ตัวอย่างของงานศึกษาในกลุ่มนี้ เช่น กระบวนการประชาธิปไตยและการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม : บทเรียนของความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ําในการเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากโครงการสวัสดิการสังคมและโครงการการช่วยเหลือเกษตรกรของธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์, การสร้างความเป็นธรรมทางสังคมเรื่องที่อยู่อาศัยในกลุ่มคนจนเมืองของวิชยา โกมินทร์ และบวร ทรัพย์สิงห์, หนี้นอกระบบกับความเป็นธรรมทางสังคมของสุรางค์รัตน์ จําเนียร พล, ความมั่นคงทางอาหาร ป่าชุมชนกับการผลักดันเรื่องความเป็นธรรมเพื่อชุมชนท้องถิ่นของศยามล เจริญรัตน์ และแรงงานกับความไม่เป็นธรรม : ปัญหาและทางออก : รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ของนภาพร อติวานิชยพงศ์ และคณะ เป็นต้น
[6] ผู้ที่สนใจข้อเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจต่างๆ สามารถหาอ่านรายละเอียดได้ในนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “การแสวงหา ระบบเศรษฐกิจใหม่ในช่วงหนึ่งทศวรรษภายหลังการปฏิวัติสยาม 2475” ในความคิด ความรู้ และอํานาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 และ Makoto Nambara “Economic Plans and the Evolution of Economic Nationalism in Siam in the 1930s”
[7]ขณะที่ Nambara ได้อ้างถึงงานของปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ที่กล่าวถึงเค้าโครงการฯ ของปรีดีไว้ว่า “Pricha made three principal comments on Pridi's economic plan. First Pridi sees Siamese society as being in historical decline. He considered the year 1932 as the worst year economically, and he therefore proposed the establishment of a new economic system. Second, his economic plan can be considered an important event in the development of Thai political economy's Lastly, his idea of a national economic plan has contemporary significance because of the lack of a social ideal today. The ideas in his economic plan were, partially realized in the government policies that attempted to overcome poverty in the rural areas.”
[8] วรวุฒิ หิรัญรักษ์, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจยุโรป (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตําราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2520), น. 429-441. สรุปเนื้อความได้ว่า ในระยะแรกของหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นการผลิตทางด้านการเกษตรมี การเจริญเติบโต การขยายตัวของอุตสาหกรรมและการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่ก็ได้เกิดเหตุการณ์ สําคัญอันเป็นผลทําให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ําลงอย่างสุดขีดนั่นคือความตกต่ําในวัฏจักรธุรกิจของสหรัฐอเมริกาทําให้ตลาดหุ้นนิวยอร์กตกลงมาอย่างรวดเร็ว (wallstreet crash) ประกอบกับการล้มของอุตสาหกรรมในทวีปยุโรปส่งผลให้กําลังแรงงานไม่มีงานเพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากการผลิตสินค้ายุทธปัจจัยเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่อุปสงค์ต่อสินค้าเหล่านี้กลับลดลงอย่างรวดเร็วหลังปี พ.ศ. 2461 และประการสุดท้ายคือการชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามหนี้สินสงครามจนส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและการไม่มีเสถียรภาพในเวลาต่อมา
[9] รัฐบาลสยามสมัยนั้นได้เชิญคาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมนนักวิชาการชาวอเมริกันเข้ามาทำการสํารวจสภาพเศรษฐกิจของชนบทสยามระหว่างปี พ.ศ. 2473–2474 ใน คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน (ซิม วีระไวทยะ แปล), การสํารวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยาม (กรุงเทพฯ: มูลนิธิตําราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2525), น. 18.
[10] เนื้อหาของเค้าโครงการฯนํามาจากฉบับของเดือน บุนนาคเป็นหลัก ซึ่งพบว่ายังมีฉบับที่มีการจัดพิมพ์ในหลายๆ ช่วงเวลา ดังปรากฏในบทความของณัฐพล ใจจริง “วิวาทะของหนังสือเค้าโครงการเศรษฐกิจและพระบรมราชวินิจฉัยฯ กับการเมืองของการผลิตซ้ํา”
[11] หลัก 6 ประการของคณะราษฎรประกอบไปด้วย 1. เอกราช 2. รักษาความสงบเรียบร้อยภายใน 3. เศรษฐกิจ 4. เสมอภาค 5. เสรีภาพ 6. การศึกษา
[12] นอกจากนี้ยังพบลักษณะแนวคิดที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยคือแนวคิดชาตินิยมของเฟรดอริค ลิสต์ ดังปรากฏในหมวดแปดของเค้าโครงการที่ว่า “เราจําเป็นต้องดําเนินตามหลักของนักเศรษฐวิทยาเยอรมันผู้หนึ่งชื่อเฟรดอริค ลิสต์ ซึ่งแสดงความเห็นว่าเยอรมนีต้องทําตนให้เป็นรัฐบริบูรณ์เสียก่อน กล่าวคือ มีอุตสาหกรรม กสิกรรม ศิลปะวิทยาให้พร้อมมูล และเมื่อได้เช่นนี้แล้วจะมีการแข่งขันในประเทศก็ควร” วิเคราะห์ได้ว่า แนวคิดเชิงพุทธศาสนาที่สอดคล้องกับการช่วยเหลือกันของเพื่อนมนุษย์และการไปสู่สังคมอุดมคติที่เรียกว่า “ศรีอาริยะ” อีกด้วย ใน Makoto Nambara, “Economic Plans and the Evolution of Economic Nationalism in Siam in the 1930s”
[13] ปรีดีกล่าวถึงรัฐกับสหกรณ์ใน “ประสบการณ์และความคิดเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์” ไว้ว่า รัฐหมายถึงองค์การปกครองที่เกิดขึ้นโดยราษฎรเข้าเลือกตั้งมาทางผู้แทนแล้วรัฐนี้มีรัฐบาล หรือองค์การของรัฐบาลที่มีอํานาจปกครอง ส่วนสหกรณ์ไปอยู่ตามท้องที่ตามวิธีของปรีดีนั้นตั้งใจจะเปลี่ยนสภาพการณ์ปกครองตําบลให้เป็นสหกรณ์ และอธิบายว่าตั้งใจอยากให้เป็นสหกรณ์สังคมนิยม ซึ่งก้าวหน้ากว่าสหกรณ์ที่มีอยู่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์