สิริพรรณ นกสวน สวัสดี :
ถ้าประเมินการทำงานของสว. ชุดที่ผ่านมา บังเอิญก็ไปทำการบ้านมาพบว่าจริงๆ แล้วมี 4 หน้าที่หลัก
หน้าที่แรก คือผ่านกฎหมายอย่างที่ท่านอาจารย์ธเนศพูดไปตามตัวเลขที่พบมา พบว่ามีการพิจารณากฎหมาย 68 ฉบับนะคะแล้วก็สว. ชุดนี้จะเห็นด้วยกับส.ส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) 37 ฉบับ แต่ก็เคยเห็นด้วยกับส.ส. แต่ในหน้าที่ของการผ่านกฎหมาย กฎหมายฉบับที่สำคัญที่สุดคือรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญส่งเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภา 26 ฉบับใช่ไหมคะไอติม (พริษฐ์ วัชรสินธุ) และใน 26 ฉบับนี้มีฉบับเดียวที่ผ่านก็คือฉบับของพรรคประชาธิปัตย์ที่แก้เรื่องระบบเลือกตั้งก่อนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ที่เหลือถูกปัดตกและ 13 ฉบับถูกปัดตกโดยสว. ชุดนี้ก็จะเห็นได้ว่านี่คือการขัดขวางไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ และที่สำคัญใน 13 ฉบับก็มีอยู่หลายฉบับมากที่พยายามจะแก้เพื่อลดอำนาจสว. ในการโหวตนายกรัฐมนตรีและทุกฉบับก็ถูกปัดตกหมดเลย ก็คือปฏิเสธที่จะปิดสวิตช์ตัวเองอันนี้คือหน้าที่ประการที่ 1
หน้าที่ประการที่ 2 ก็คือการตรวจสอบ ซึ่งจะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วการตรวจสอบคืออะไร คือการตั้งกระทู้ถามซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่ามีการตั้งกระทู้ไปตามมาตรา 150 นะคะ ตั้งกระทู้ไป 588 กระทู้ แบ่งเป็นกระทู้ที่ด้วยวาจาแล้วกระทู้ที่เป็นลายลักษณ์อักษรณ์ ก็ทำหน้าที่ไป
ในส่วนที่ 3 คือการเห็นชอบองค์กรอิสระ ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้สว. ชุดใหม่ควรจะต้องถูกจับตามองเพราะว่าอันนี้ต้องย้ำว่าสว. ไม่ได้มีอำนาจแต่งตั้งองค์กรอิสระ แต่มีอำนาจเห็นชอบให้ความเห็นชอบตามกระบวนที่มาขององค์กรอิสระและศาลตามกระบวนการที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญ แต่สว. ก็ได้ใช้อำนาจนี้อย่างน่าสงสัย อย่างเช่นล่าสุดเลยปี 2567 ก็คือปฏิเสธที่จะให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งประธานศาลปกครอง แล้วก็ตอนช่วงปี 2556-2557 ซึ่งเป็นช่วงเข้มข้นของการตรวจสอบสว. ปฏิเสธที่จะรับรอง ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) หลายท่านมากนะคะ ซึ่งมันทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าอันนี้มันเป็นการใช้อำนาจเพื่อให้ไฟแดงกับกลุ่มองค์กรอิสระที่อาจจะมีแนวทางไม่สอดคล้องกับทิศทางของตัวเองหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นเป็นโจทย์ที่สำคัญ
หน้าที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งนะคะซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญตามกฎหมายด้วย ก็คือหน้าที่ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งดิฉันคิดว่าที่ผ่านมา 5 ปีเราไม่เห็นการปฏิรูปในมิติใดๆ ที่ออกดอกออกผลเลย แล้วที่สำคัญที่สุดในสิ่งหนึ่งที่ซ่อนเร้นเอาไว้นะคะแต่ปรากฏว่าเห็นชัดมากก็คืออำนาจในการสืบทอดการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งสว. ถูกออกแบบมาเพื่อการนี้ อันนี้ต้องบอกว่ามันเป็นอำนาจที่ซ่อนเร้นแต่กับเห็นได้ชัดในทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวง ดิฉันคิดว่าถ้าให้พูดประโยคสุดท้ายดิฉันขอบคุณสว. ชุดนี้ ขอบคุณค่ะที่ทำให้เป็นภาพสะท้อนว่าการรัฐประหารและการออกแบบสว. โดยคณะรัฐประหารมันล้มเหลวอย่างไร แล้วมันทำให้สังคมให้ความสำคัญกับการมีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งและที่สำคัญที่สุดคือเราควรจะมีฉันทมติว่ารัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาให้สว. มีที่มาเช่นนี้ควรจะต้องถูกแก้อย่างรวดเร็ว
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
ขอบคุณครับ ขอบคุณพี่ๆ สว. ที่กล้าทำอะไรที่ปกติคนอื่นเขาไม่กล้าทำนะครับ ให้มันรู้กันไปว่าจะเอาแบบนี้ให้มันเป็นแบบนี้นะครับ ขอบคุณอาจารย์สำหรับสถิติทั้งหลายเพราะผมก็จำไม่ได้ แต่ว่าจริงๆ มีทีมงานอดตาหลับขับตานอนเคาะสถิติมาแล้ว
สิริพรรณ นกสวน สวัสดี :
ที่จริงเอามาจากไอลอว์ กับบีบีซีนี่แหละค่ะ ขอให้เครดิตตรงนี้ด้วย คือถ้าจะพูดถึงคำว่าวุฒิสภา ภาษาอังกฤษเราใช้คำว่า Senate คำนี้มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่าซีเน็ค Senax คำนี้แปลว่าอะไรทราบไหมคะ แปลว่า Old หรือ Old man แปลว่า แก่ เก่าแก่ อาวุโสถ้าแปลแบบนุ่มนวล อันนี้คือเราต้องเข้าใจก่อนว่าทำไมในโลกนี้ถึงมีสภานี้ นอกเหนือไปจากไปจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแปลทรงตัวว่า House of Representatives ก็คือสภาของตัวแทน แต่ Senate แปลว่า Old หรือ Old man ในภาษาอังกฤษละติน ทีนี้ถ้าเกิดเรามาดูว่าประเทศที่เริ่มมีวุฒิสภา อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา เขามองเรื่องนี้อย่างไร สหรัฐอเมริกาตามรัฐธรรมนูญให้มีวัตถุประสงค์หลักคล้ายๆ กับวุฒิสภาของไทย
ตอนที่ท่านอาจารย์ปรีดีเป็นคนเสนอเรื่องการมีสภาที่ 2 ก็คือให้เป็นสภาที่อาวุโสกว่าคือ มีความรอบคอบรอบรู้กว่า ดังนั้นอายุของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันนี้ ก็จะสูงกว่าสภาผู้แทนราษฎรคือกำหนดไว้ว่า 30 ปี ของสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกาคือ 25 ปี อันนี้ไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดี แต่เราเข้าใจรากเหง้าของมัน ทีนี้ของสหรัฐอเมริกา เราก็เข้าใจว่าเป็นระบบ 2 สภาที่เท่ากันคือ สภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา แต่ถ้าถามประชาชนทั่วไปที่ตามการเมืองอเมริกาจะรู้ว่าวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกามีศักดิ์ศรีสูงกว่าใช่ไหมคะอาจารย์ธเนศ คือวาระในการดำรงตำแหน่งก็มากกว่าคือ 6 ปี และหน้าที่บางอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดูแลกิจการระหว่างประเทศก็จะอยู่ในวุฒิสภา แล้วก็จะมีอำนาจบางอย่างด้วยที่เรียกว่า…(เสียงเบา-กองบรรณาธิการ) คือ สามารถอภิปรายกฎหมายได้ยาว ถ้าไม่อยากให้มีการลงคะแนนก็จะสามารถอภิปรายได้
บางคนอภิปรายเพื่อการไม่ให้กฎหมายนั้นเข้าสู่กระบวนการโหวตคือ หวังว่ากฎหมายจะตกไปถ้าในสภามีสภาผู้แทนราษฎรพรรคนั้นมีคะแนนเสียงน้อยกว่านี้ก็อาจจะอธิบายในประวัติศาสตร์ มีคนอภิปรายคือพูดห้ามหยุด กินน้ำได้กินนมได้ แต่ห้ามเข้าห้องน้ำนี่เกิน 24 ชั่วโมง แล้วทำให้กฎหมาย Civil Rights Act ตกไปคือ เป็นการใช้อำนาจของวุฒิสภาเพื่อกันไม่ให้กฎหมายพลเมืองรับรองของรับรองสิทธิ์ของคนผิวดำ ก็จะเห็นว่าในหลายประเทศวุฒิสภามีอำนาจเหนือกว่า แม้ในระบบที่สภา 2 สภามีอำนาจเท่ากัน หรือถ้าเราไปดูว่าคนที่จะก้าวเข้าไปเป็นประธานาธิบดีคือ ไม่จำเป็นต้องผ่านแต่ว่าหลายคนจะมาจากวุฒิสภา ไม่ได้มาจากสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสภาผู้แทนราษฎรของอเมริกามีวาระแค่ 2 ปี อันนี้คือที่มา
ในแง่นี้ ถ้าเกิดเราย้อนกลับมาดูของเราบ้างต่อจากอาจารย์ธเนศ อย่างที่อาจารย์ธเนศเรียนไว้ว่าพฤฒสภาปี 2489 ถ้าไปดูจุดมุ่งหมาย ความมุ่งหมายของอาจารย์ปรีดีซึ่งวันนี้ก็เป็นวันครบรอบชาตกาลของอาจารย์ปรีดี 124 ปี เราจะเห็นว่าคุณูปการที่อาจารย์ปรีดีได้คิดวุฒิสภาเอาไว้ เราจะเห็นว่าก็คือเพื่อเป็นสภาพี่เลี้ยงเพราะในขณะนั้นเรามองว่าสภาผู้แทนราษฎรอาจจะยังไม่พร้อมแต่ถ้าเราไปดูก็จะเห็นว่าอาจารย์ปรีดีตั้งใจให้พฤฒสภามีความยึดโยงกับประชาชนคือในบทเฉพาะกาล คือให้พฤฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมนี่ไม่ใช่อ้อมแบบอ้อมไกลมาก ก็คือมาจากสภาผู้แทนราษฎรนั่นแหละเป็นคนเลือก
ดังนั้นจะเห็นว่าความยึดโยงของประชาชนตรงนี้ในมุมของอาจารย์ปรีดียังมีอยู่และมีความสำคัญ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่าอาจารย์ปรีดีได้ออกแบบให้เพื่อที่จะสภาชุดแรกมีคุณสมบัติที่ค่อนข้างสูงคืออายุ 40 ปีเหมือนกันแถมต้องจบปริญญาตรีด้วยหรือเทียบเท่า ซึ่งถ้าเรามองในปี 2489 เนี่ยคุณสมบัตินี้เขาเป็นคุณสมบัติที่ค่อนข้างต้องไต่เพดานพอสมควร แต่ก็น่าเสียดายที่พฤฒสภาชุดแรกมีวาระอยู่ได้คืออยู่ได้ไม่ถึงคือปีกว่าๆ เท่านั้นมาพฤษภาคมแล้วก็ยุติลงในเดือนพฤศจิกายน 2490 จากการรัฐประหาร
ทีนี้หลังจากนั้นอย่างที่อาจารย์ธเนศได้เล่าให้ฟังเข้าใจว่าเดี๋ยวอาจารย์ประจักษ์จะต่อได้ชัดมากขึ้นก็คือ วุฒิสภาได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของกลไกอำนาจรัฐ เพราะว่ามาจากการแต่งตั้งของคนมีอำนาจของพูดง่ายๆ ก็คือฝ่ายบริหารดังนั้นแทนที่วุฒิสภาของไทยจะทำหน้าที่เป็นองค์กรตรวจสอบองค์กรยับยั้งที่คอยเป็นพี่เลี้ยงค้ำจุนรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย กลับกลายเป็นองค์กรที่ค้ำจุนอำนาจปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย เราก็มีวุฒิสภาแบบนี้มาจนรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรง แล้วก็เลือกตั้งครั้งแรกปี 2543
แต่ในสังคมไทยก็แปลกอีกพอมีการเลือกตั้งวุฒิสภาโดยตรงก็มีข้อครหาติฉินว่านี่เป็นสภาผัวเมียซื้อได้ ดังนั้นพอรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็เปลี่ยนเป็นเลือกตั้งครึ่งหนึ่งแล้วก็แต่งตั้งครึ่งหนึ่ง หรือสรรหาครึ่งหนึ่ง ข้อน่าสนใจก็คือว่าในปี 2556 มีความพยายามที่จะแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของสว.แต่เกิดอะไรขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความพยายามแก้ที่มาของสว. นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ คือความพยายามแก้รัฐธรรมนูญขัดกับรัฐธรรมนูญ แล้วมันต้องขัดอยู่แล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้นจะแก้ทำไม แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยด้วยถ้าจำไม่ผิดคือ 6 ต่อ 3 ว่าการใช้อำนาจแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้สว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดโดยตรงของประชาชน ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองอันไม่ชอบทำ แล้วก็นี่คือเกิดขึ้น 2556 และเกิดอะไรขึ้นในปี 2557 ก็คือการรัฐประหาร อันนี้ก็คือประการหนึ่งเหมือนกันคือ ปูทางไปสู่การรัฐประหารจากคำวินิจฉัยดังกล่าวนี้ก็คือความยากเย็นของการที่จะมีวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
พอมารัฐประหาร ปี 2557 เราจึงมีที่มาของสว. อย่างที่เราต้องเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ทีนี้ประเด็นที่มันน่าสนใจก็คือว่า ถ้าเราพูดถึงที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2560 มันเป็นที่มาของความสับ สับสน เพราะว่ามันซับซ้อนที่สุดในโลก แต่ถ้าเราพูดถึงที่มาของสว. ไม่ใช่ประเทศเราประเทศเดียวที่อยากได้สว. เป็นกลุ่มอาชีพประเทศที่เขาใช้มาอย่างยาวนานมาก แล้วเขากันมาอย่างยาวนานได้ผลด้วย แต่เขาเป็นประเทศที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่คือ ฮ่องกง แต่ฮ่องกงมีสส. 3 รูปแบบ รูปแบบหนึ่งเรียกว่า…(เสียงไม่ชัดเจน-กองบรรณาธิการ) ก็คือ สส.ที่มาจากกลุ่มอาชีพ แล้วเขาก็มีประมาณ 30 คน แต่เขาก็มีกลุ่มอาชีพที่หลากหลายมาก ท่องเที่ยว การค้า การพาณิชย์ วิศวกร ผู้ประกัน แต่เขามาจากการเลือกของกลุ่มอาชีพนั้น หมายความว่าถ้าเกิดใครอยู่ในกลุ่มอาชีพนั้น ก็ไปลงทะเบียนแล้วก็เลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ เขาไม่ได้เลือกกันเองหมายความว่า ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มอาชีพเป็นคนเลือกไม่ใช่ผู้สมัครจะต้องเสียตังค์ 2,500 แล้วไปเลือก
อย่างนี้จะบอกว่ามันมีอีกทางหนึ่งเหมือนกันว่าถ้าเราอยากได้กลุ่มอาชีพแต่ยังมีความชอบธรรมอยู่ ก็ทำแบบนี้ก็ได้ฮ่องกงทำมาตั้งแต่ปี 1985 ทำมานานแล้วก็คือเขาเลือกโดยคนที่อยู่ในอาชีพนั้นก็เป็นแสนคน รวมทั้งองค์กรอาชีพที่จะรู้ดีว่าใครทำงานอะไรบ้าง อันนี้คือเป็นตัวอย่างเป็นข้อคิดแบบหนึ่ง ทีนี้สำหรับสว. ของไทยที่จะมาจากการออกแบบรัฐธรรมนูญปี 2560 ของคุณมีชัย สิ่งหนึ่งที่อยากจะชี้ให้เห็นก็คือประเด็นแรกคือ ความไม่เป็นธรรม ความไม่เป็นธรรมอย่างไร ความไม่เป็นธรรมในเชิงสัดส่วนของกลุ่มอาชีพกับกลุ่มประชากรที่แท้จริงในประเทศนี้
อย่างเมื่อกี๊ที่ยกตัวอย่างของฮ่องกงที่เขาก็พยายามจะคิดคือ เขามีกลุ่มอาชีพที่หลากหลายมากแล้วก็สัดส่วนของเขา ก็มีประชากรกลุ่มอื่นด้วยแต่ของไทยถ้าเกิดเรามาดูเร็วๆ จาก 200 คนเคยพูดไว้แล้วว่ากลุ่มที่ 1 กลุ่มที่ 4 ในที่สุดแล้วจะมาจากข้าราชการแล้วก็จะเป็นข้าราชการเกษียณด้วย ก็ทั้งความมั่นคง, ครูอาจารย์, สาธารณสุข เหล่านี้จะในที่สุดแล้วส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อยู่ในระบบราชการ 40 คน ถ้ามาดูกลุ่มที่เป็นตัวแทนประชาชนคนเล็กคนน้อย ประชาชนคนธรรมดาคิดว่าจะมีไม่เกิน 50 คนจาก 200 คนก็คือกลุ่มที่ 5, 6 อันนี้คือเกษตรกร 2 กลุ่ม ผู้ใช้แรงงานกลุ่มพนักงานบริษัททั่วไป แล้วกลุ่มที่ 5 ก็คือน่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้พิการ
ดังนั้น จะมีประมาณ 50 คนจาก 200 คน นี่คือความไม่เป็นธรรมอย่างเห็นได้ชัดว่าสัดส่วนของคนที่จะเข้าไปในกลุ่มอาชีพของสว. ชุดใหม่ไม่ได้เป็นสัดส่วนที่สะท้อนอาชีพของประชากรที่แท้จริงและเป็นข้อกังวลประการที่ 1 ทีนี้ประการที่ 2 ก็คือความไม่ยึดโยงของประชาชน ตรงนี้มันแก้ไม่ได้แล้วถึงเราจะไม่ชอบยังไงเพราะว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไปแล้ว และสิ่งที่เราควรจะตั้งคำถามเนี่ยก็คือคนจัดการเลือกตั้งก็คือกกต.
กกต. นั้นถ้ามีอำนาจทำได้ 3 แนวทาง แนวทางแรกก็คือ ออกระเบียบตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้อย่างซื่อตรง ก็วิธีที่ได้มามันแก้ไม่ได้ก็ทำไปอย่างซื่อตรง อันนั้นคือแนวทางที่ 1 แนวทางที่ 2 คือ ทำนอกหรือทำเกินตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดซึ่งดิฉันคิดว่าตอนนี้กกต. กำลังทำสิ่งนี้คือ ระบบที่ออกมานี้มันได้สร้างความกังวลใจสร้างความหวาดกลัว กลัวอะไรผู้สมัครกลัวว่าตัวเองจะทำผิดระเบียบกกต. ซึ่งสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ก็จะรออาจารย์พนัส ซึ่งนั่งอยู่ตรงนี้ก็ได้ยื่นคำร้องไปที่ศาลฯ แล้ว และก็จะรอว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นเหมือนเราหลายคนหรือเปล่าว่า กกต.ได้ทำนอกหรือทำเกินในบทบาทที่ 3 ของกกต. ที่จะทำได้
ที่จริงแล้วกกต. สามารถทำเหนือ ทำเหนือหมายความว่าอย่างไร คือเรารู้ว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและผู้ร่างฯ มาจากการกลัวพรรคการเมือง มาจากความกลัวเสียงของประชาชนจึงตัดความเชื่อมโยงระหว่างสว. กับประชาชนแต่จริงๆ แล้วกกต. สามารถผ่อนปรนเพื่อทำให้ประชาชนสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ได้โดยไม่ผิดรัฐธรรมนูญ เช่น เปิดให้สังเกตการณ์ได้, เปิดให้การแนะนำตนเอง ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าห้ามหาเสียงซึ่งตกอยู่ในรัฐธรรมนูญ ปี 2489 สมัยอาจารย์ปรีดีไม่ได้ระบุตรงนี้ไว้ แล้วก็บอกว่าสว. สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ด้วย แต่ตอนหลังจะเห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่กลัวการเลือกตั้งและพรรคการเมืองก็มาใส่กฎตรงนี้ไว้ จริงๆ แล้วกกต. สามารถออกระเบียบที่ให้เกิดความอะลุ่มอล่วยให้ประชาชนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสังเกตการณ์เลือกตั้ง การเลือกกันเองไม่ใช่การเลือกตั้งซึ่งเราก็จะเห็นได้ ก็อยากจะฝากกกต. ไว้ด้วย
ทีนี้สิ่งที่กังวลใจก็คือว่า ถ้าโดยประเมินว่ากกต. ได้ออกระเบียบที่ทำเกินหรือทำนอก ก็คือว่าระเบียบมันหยุมหยิม ระเบียบมันสร้างความกลัว สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว กลัวว่าจะทำผิด และที่สำคัญก็คือสัดส่วนของการทำผิดนั้นโทษมันรุนแรงกว่าการกระทำ เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากคือ สามารถถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองได้เลยทั้งๆ ที่เราไปเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้ง ดังนั้น อันนี้เป็นสิ่งที่คิดว่าอยากจะเห็นว่าเรายังมีเวลาที่จะปรับระเบียบตรงนี้
ทีนี้ประเด็นที่อยากจะพูดต่ออีก 2-3 ประเด็นสั้นๆ ก็คือว่าโดยที่แม้ว่าระบบนี้จะเป็นระบบที่ตัดความเชื่อมโยงจากประชาชนแต่ก็ยังมีความหวังว่าเราจะได้สว. ชุดใหม่ที่มีคุณภาพกว่าสว. ชุดที่เพิ่งหมดวาระอะไรนะ พวกคำของอาจารย์ คำของคุณเป๋าคือจะตายไปแล้ว ‘หมดอายุ’ คราวนี้ยังเห็นว่ามีความหวังเพราะว่าอะไร อย่างคุณเป๋าหรือคุณยิ่งชีพ หรือว่าบรรยากาศตรงนี้มันสร้างความตื่นตัว แล้วเราก็เชื่อว่าเราจะได้คนคุณภาพเข้าไปสมัคร ดังนั้นถึงแม้ระบบจะออกแบบมาเพื่อกีดกันแต่เชื่อว่าประชาชนจะร่วมใจกันเอาชนะระบบได้ นี่คือข้อที่ 1 กับสิ่งที่อยากจะฝากไว้ก็คือว่า เราอาจจะได้คนคุณภาพเข้าไปแต่มีหลายคนบอกว่าอาจมีการซื้อขายที่มักจะเกิดขึ้นหลังจากไปเข้าไปแล้วคือ มันคุ้มกว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวัง
ประการที่ 2 ก็คือว่า อันนี้คุยกับคุณไอติมหลายรอบคือ ความคิดเรานี่คิดตรงกันว่ามันเหมือนจะมีความพยายามที่จะประคองให้สว. ชุดปัจจุบันอยู่แบบนิรันดร์ก็คือเหมือนกับล้มกระดานอะไรอย่างนี้แต่ว่าอันนี้ถึงกับขอคิดอีกทีหนึ่ง ถึงกับท้ากับอาจารย์บางท่านนะท้าเลี้ยงข้าวคือ ยังมองว่าในที่สุดแล้วกกต. ไม่กล้าที่จะยื้อหรือล้มกระดานที่จะให้สว. ชุดปัจจุบันอยู่จนเป็นนิรันดร์ประเด็นนี้อยากจะให้ไปดูพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. ปี 2561 มาตรา 45 บอกไว้ว่าถ้าคือ กกต. ต้องประกาศสว. ครบ 200 คน แล้วก็มีสำรองอีกกลุ่มละ 5 คนคือ อันดับที่ 11 ถึงอันดับที่ 15 ดังนั้น เขาประกาศได้ถ้าเกิดใครถูกสอยเขาก็จะเลื่อนมา
แล้วถ้าเกิดถ้าถามว่าสอยไปเรื่อยๆ ล่ะ แล้วจะทำยังไง เขาบอกว่าถ้าสอยเกินครึ่งหนึ่งหมายความว่าถ้าเกิดเหลือไม่ถึง 100 ให้มีการเลือกตั้งใหม่ ให้มีการเลือกกันเองใหม่ นี่คือเป็นจุดที่ยังคิดว่ามันมีช่องที่เขาจะต้องประกาศและที่สำคัญถ้าจะสอยใครก็จะเป็นไปตามมาตรา 62 ก็คือโดยศาลฎีกา ดังนั้น ก็ยังเชื่อว่ากกต.จะประกาศผลในวันที่ 2 กรกฎาคม หรือไม่ก็หย่อนกว่านั้นนิดหนึ่ง เข้าใจว่าวันที่ 3 กรกฎาคมเป็นวันที่เปิดสภาฯ ด้วย สภาสามัญดังนั้น ที่ท้ากับเพื่อนอาจารย์ท่านหนึ่งไว้ ก็คือว่าไม่น่าจะเกิน 1 เดือนหรือ 2 เดือนคือไม่มีทางที่จะอยู่ได้จนเป็นนิรันดร์
ประเด็นสุดท้าย ที่คุณยังชีพขอนิดหนึ่งก็คือว่า ประเด็นเรื่องสภาเดียว จริงๆ ไม่ได้ปฏิเสธ แต่อยากจะพูดในแง่นี้หนึ่งว่าถ้าเราดูจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งอย่างที่บอกว่าเกิดเอาไว้ว่าเขาเป็นประเทศที่เริ่มมี 2 สภา มันมีบทสนทนาที่กล่าวว่าเป็นบทสนทนาระหว่างโทมัส เจฟเฟอร์สัน กับจอร์จ วอชิงตัน โทมัส เจฟเฟอร์สันเป็นคนที่ไม่อยากเห็น 2 สภา อยากเห็นสภาเดียวถามจอร์จ วอชิงตันว่าทำไมต้องมี 2 สภาด้วย ถามจอร์จ วอชิงตันว่าทำไมคุณถึงรินชาใส่จานรองคือ ถ้าไปดูหลายภาพจะเห็นนะว่าคนอเมริกันสมัยก่อน รินชาใส่จานรองเป็นจานที่มารองแก้ว เจฟเฟอร์สันตอบว่า To cooled คือ ให้มันเย็น จอร์จ วอชิงตันก็บอกนั่นคือเหตุผลของการมี 2 สภาคือ To cooled ให้มันเย็นในภาวะที่บางทีประเทศมีวิกฤตบางอย่างนี่คือเหตุผล
แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะเอาเหตุผลนี้มาอธิบายกับสังคมไทยในปัจจุบัน แต่สิ่งหนึ่งที่จะพูดก็คือว่า รัฐบาลอำนาจฝ่ายบริหารมีสิทธิ์ยุบสภาผู้แทนราษฎรแต่ไม่มีอำนาจยุบวุฒิสภา ดังนั้นในบางสถานการณ์วุฒิสภาที่เข้ามาใหม่ก็จะต้องทำหน้าที่บางอย่าง กระนั้นก็ต้องมีมุมย้อนกลับอีกเหมือนกันว่าชุดที่เข้ามาเมื่อกี๊ อาจารย์ธเนศพูดใช้เงินไป 3.6 พันล้าน เงินเดือนแสนกว่าบาท ผู้ช่วยอีก 8 ท่าน แถมหมดวาระแล้วยังมีเงินบำนาญต่ออีกเดือนละ 12,000 บาทเอง อันนี้เป็นต้องถามว่าคุ้มไหม เพราะประเทศหลายประเทศในโลกปัจจุบันนี่เหลือสภาเดียวก็จริง
แล้วที่สำคัญก็คือว่า เงินที่จะใช้ในการเลือกกันเองกกต. ตั้งไว้ประมาณ 1,300 หรือ 1,500 ล้านมั้ง แต่ว่าครั้งที่แล้วตอนปี 2562 ใช้ประมาณ 340 กว่าล้านแต่ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่มันเกี่ยวกับการได้มาซึ่งวุฒิสภาแบบที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนด เป็นการได้มาอย่างที่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนด ถึงบอกว่าขอบคุณในตอนต้นว่าท่านได้จุดประกายให้ข้อถกเถียงเรื่องควรจะมีวุฒิสภาหรือไม่ อำนาจหน้าที่เป็นแบบไหนจำนวนควรจะลดลงมาหรือเปล่า เป็นประเด็นที่เปิดให้ถกเถียงได้เพราะอย่าลืมว่าสหรัฐอเมริกามีประชาชน 200 กว่าล้านคนมีวุฒิสภาแค่ 100 คน ในขณะที่สังคมไทยมีประชากร 60 ล้านคนเรามีวุฒิสภา 250 คนและ 200 คน ดังนั้นประเด็นเหล่านี้ก็คงจะได้รับการถกเถียงอย่างอุ่นหนาฝาคั่งขึ้นในช่วงของการแก้รัฐธรรมนูญ ขอบคุณค่ะ
สิริพรรณ นกสวน สวัสดี : ที่จริงไม่ได้มีอะไรมาก เมื่อมีคำถามสุดท้ายที่บอกว่า วิธีการที่ได้มาซึ่งสว. แบบนี้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ก็อยากจะบอกแบบนี้ว่า ถ้าเราใช้เกณฑ์ในการวัดประชาธิปไตยมันจะมี 3 ด้าน ด้านที่หนึ่งคือ การเข้าสู่อำนาจว่าเป็นกระบวนการที่ยึดโยงกับประชาชนหรือไม่ ซึ่งเราจะเห็นการออกแบบการได้มาซึ่งสว. แบบนี้เราจะเห็นได้ว่ามันไม่ยึดโยงกับประชาชนซึ่งก็แตกต่างไปจากที่อาจารย์ปรีดีออกแบบไว้ด้วยซ้ำ
ตอนนั้นจะเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมแต่ก็เป็นการอ้อมที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นคนเลือก ข้อที่สองคือ ท่านใช้อำนาจอย่างไร ถ้าท่านไม่ได้เข้ามาด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนคือ คุณต้องจ่าย 2,500 บาทแล้วเลือกกันเองอันนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ท่านสามารถยืนหยัดบ่มเพาะต้นไม้ประชาธิปไตยได้แบบที่อาจารย์ธเนศได้ว่าท่านใช้อำนาจอย่างเป็นประชาธิปไตย และอันที่สามคือ ท่านยอมรับการตรวจสอบ สามอันนี้ถึงแม้จะทำให้ที่มาจะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ว่าลดความเสียหายอย่างที่คุณจาตุรนต์พูด
แล้วถามว่าระบบนี้มันออกแบบมามันมีประเทศไทยประเทศเดียวใช่ไหม อันนี้ใช่มัน สะท้อนอะไร สะท้อนการทางตันทางความคิดจะบอกว่าสิ้นคิดก็แรงไปหน่อย แต่ถามว่าจะมีสภาที่ 2 ได้อย่างไรเพื่อมารักษาระเบียบอำนาจแบบเดิม แต่อย่างที่บอกว่าต่อให้เขาคิดมา ไม่ใช่ว่าจะฉลาดปราดเปรื่องขนาดคิดเอาเองอย่างเช่นระบบเลือกตั้งใบเดียวก็ไปยืมมาดัดแปลงมาจากเยอรมนีคือ มีต้นตอมาแล้วก็เอามาบิดให้มันให้มันเข้าทางเขา หรืออย่างที่บอกว่าระบบเลือกสรรได้มาซึ่งสว. ก็ไปหยิบยืมมาจากฮ่องกงถ้าให้เดาอย่างที่บอกว่าเขามีตัวแทนที่มาจากกลุ่มอาชีพ
แต่ฮ่องกงถึงแม้เขาจะเป็นประเทศที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เพราะอยู่ภายใต้จีนเขายังให้กลุ่มอาชีพนั้นเลือกกันเองคือ ของเรานี่เอามาแล้วก็จะมา Double คือใส่มาตรการอันไม่เป็นประชาธิปไตยทับทวีคูณเข้าไปอีกคือ ไม่ให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มอาชีพนั้นเลือกต้องไปสมัคร แล้วก็เลือกกันเองคำว่าให้กลุ่มประชาชนในกลุ่มอาชีพนั้นเลือกหมายความว่าสมมติว่าเราเป็นเกษตรกร เกษตรกรทั้งประเทศที่อยู่ในภายใต้การลงทะเบียนนั้นมีสิทธิ์เลือก แต่ตอนนี้ไม่ใช่ก็คือเกษตรกรที่จะต้องเสีย 2,500 บาทเข้าไปเลือก
ดังนั้น ประเด็นสุดท้ายจะพูดคือ เรารู้ว่าระบบถูกออกแบบมาเพื่อกีดกันประชาชน สิ่งที่เราจะทำได้ที่คุณจาตุรนต์พูดว่าในระยะเวลาที่เหลือก็คือเราช่วยกันเอาชนะระบบเท่าที่จะเป็นไปได้แล้วก็ลดความเสียหายให้น้อยที่สุดแล้วก็ก้าวกันต่อไปหลังจากนี้ ขอบคุณค่ะ
รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=feXERmBEXlc
ที่มา : เสวนาวิชาการ วันปรีดี พนมยงค์ 2567 : PRIDI Talks #25 เก่าไปใหม่มา : สว. ชุดใหม่ อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทย วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.