Focus
- บทความนี้นำเสนอเรื่อง “มหกรรม ศิลป์ ดิน ปั้น” (CORAZEMA FIESTA) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2567 ณ เรือนโคราช เฉลิมวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา ที่นำเสนอโดย นิมิตร พิพิธกุล และรางวัลดีเด่น ตัวแทนจังหวัดนครราชสีมา ภายใต้ ‘โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะ’ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา (Work in procession) หลังดำเนินการมากว่า 6 ปี โดย ศูนย์การเรียนรู้ เสมาลัย (Semalai Semathai)
- มหกรรม ศิลป์ ดิน ปั้น สร้างสรรค์หัวข้อกลุ่มศิลปะเพื่อสร้างผู้สืบทอดต่อยอดผลผลิตไว้ 5 ด้านดังนี้ 1. ประดับดิน : เครื่องประดับที่ประดิษฐ์จากดิน 2. ดอกดิน : ประติมากรรม เครื่องปั้นดินเผา และ Art Toy 3. โอชาดิน : อาหารพื้นบ้านย่านถิ่น 4. ลานดิน : ลานวัฒนธรรม / CLAY PLAY GROUND / Korat Art Street และ 5. ศิลปะการต่อสู้กู้แผ่นดิน : ศาสตราราชสีมา
โคราช มีชื่อเดิมในแผนที่สยามว่า ‘CORAZEMA’ จากการขนานนามตามชาวตะวันตก Monsieur Fe La Loubere ราชทูตชาวฝรั่งเศส เมื่อปี 2234 เมืองมีวิวัฒนาการสู่แผ่นดินที่อุดมไปด้วยศิลปวัฒนธรรมทุกแขนง จนถึงปัจจุบันได้รับการยืนยัน รากอารยศิลป์ จาก บรรพชีวิน (Fossil) ด้วย “โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น สร้างสรรค์มูลค่า ผลผลิตทางวัฒนธรรม” ที่นำเสนอโดย นิมิตร พิพิธกุล ได้รับ รางวัลดีเด่น ตัวแทนจังหวัดนครราชสีมา (ภายใต้ ‘โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะ’ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม) เดินทางสู่การขยายผลและสรุปการดำเนินงานหลังลงพื้นที่ศึกษา จับมือค้นคว้า ร่วมสร้างสรรค์ และอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา (Work in procession) หลังดำเนินการมากว่า 6 ปี โดย ศูนย์การเรียนรู้ เสมาลัย (Semalai Semathai)
ตลอดเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้สร้างการสรุปงานผ่านฐาน ‘กระบวนการออกแบบอารยบรรพชีวิน’ (ร่องรอยต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตบนชั้นหิน เป็นศิลปะที่ธรรมชาติได้สร้างฝากไว้บนผืนดิน จวบจนมีที่เริ่มดำรงชีวิต ไปจนถึงมนุษย์ถ้ำที่นำสีดินมาวาดระบายเล่าเรื่องบรรพชนลงบนผนังถ้ำ ผู้คนเหล่านี้คือ ‘ต้นธาร’ ของศิลปินโคราช ที่วาดผลงานศิลปะจากดินขึ้นเป็นภาพแรกบนผนังถ้ำ วัดเขาจันทร์งาม) ด้วยการส่งเสริมให้ศิลปินสร้างงานศิลปะร่วมสมัย โดยการออกแบบคุณลักษณะงานสู่ ‘อัตลักษณ์ต่อยอด’ (สร้างงาน 'ศิลป์' จากศาสตร์ธรณีศึกษาต่อยอดให้เกิด 'สิน' จากการออกแบบสร้างสรรค์ใหม่) ทำให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างรับรู้และมีส่วนร่วมสร้างตามแนวทาง
* สืบสานย่านชุมชน - นิเวศวิทยาชุมชน (Community Ecology) ชูศักยภาพโคราช
* ร่วมสร้างสรรค์ - Creative + New + Value Creation สร้างงาน สร้างคนทำงาน
* ส่งเสริมสัมพันธภาพ - Relationship Networking ฝันให้ไกลไปให้ถึง ดึงการมี ส่วนร่วม ดันความร่วมมือให้กระเพื่อมทั่วเมือง ก่อนกระพือให้ระบือสู่สากล
นำมาสู่การออกแบบกลุ่มเนื้อหาผลผลิต และทุกภาคส่วนได้มารวมกันแสดงพลังสร้างสรรค์ใน “มหกรรม ศิลป์ ดิน ปั้น” เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2567 ณ เรือนโคราช เฉลิมวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา
ศิลป์ดินปั้น สร้างสรรค์หัวข้อกลุ่มศิลปะเพื่อสร้างผู้สืบทอดต่อยอดผลผลิต ดังนี้
- ประดับดิน : เครื่องประดับที่ประดิษฐ์จากดิน
- ดอกดิน : ประติมากรรม เครื่องปั้นดินเผา และ Art Toy
- โอชาดิน : อาหารพื้นบ้านย่านถิ่น
- ลานดิน : ลานวัฒนธรรม / CLAY PLAY GROUND / Korat Art Street
- ศิลปะการต่อสู้กู้แผ่นดิน : ศาสตราราชสีมา
ศูนย์การเรียนรู้ เสมาลัย ทุ่มเททำการศึกษาและพัฒนามรดกภูมิปัญญางานศิลปะหลากแขนงร่วมกับศิลปินเครือข่าย ขยายวิถีการทำงานศิลปะแนวประเพณี (Treditional Original) สู่ศิลปะร่วมสมัย (Contemporary) และสรุปทุกกระบวนการผ่าน นิทรรศการศิลปะ , ตลาดศิลปะ , สุนทรียเสวนา และ การแสดง Live Art เรื่อง “ZEMA The Saviour” (สัญลักษณ์-ผู้พิทักษ์โลก)
“มหกรรม ศิลป์ ดิน ปั้น” โคราช บรรยากาศอวลกลิ่นอาย Bohemian BOHEMIAN ที่เป็นญาติกับ GYPSY ชนเผ่าเร่ร่อนกลางทะเลทราย สัมผัสได้ถึงพลังจิตวิญญาณที่มีความเป็นอิสระในตัวเองสูงมาก ไม่ต่างจากหลักการของ "ศิลป์ ดิน ปั้น" ที่ให้อิสระในการสร้างงานต่อศิลปิน โดยเฉพาะแนวทางการวาดภาพสีดินที่แตกต่างของ อ.สุรพล ปัญญาวชิระ และ อ.บุญกอง อินตา ทำให้เกิด ปรากฎการณ์งานต้นแบบ ของกระบวนการ ‘ร่วมสร้าง’ (Collaboration) ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน เพื่อให้เกิดการต่อยอดในแนวทางการสร้างงานที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้มากกว่าความเป็น ‘ผู้เสพศิลป์’ สามารถลงมือทำ และพัฒนางานร่วมกับศิลปินทุกสาขาโดยมี เสมาลัย ผู้ดำเนินงานโครงการร่วมสนับสนุน ผลของการทำงานครั้งนี้นอกจากเกินความคาดหมายของหลายฝ่ายแล้ว ยังเกินมาตรฐานการชี้วัดใด ๆ จะประเมินได้ เพราะภายใต้การรวมตัวของเหล่าศิลปินทุกแขนงจากทุกทิศทั่วไทยในครั้งนี้ยืนยันชัดเจนว่า ในความเป็นศิลปินผู้สร้างงานนั้น ทุกท่านคือผู้สรรค์สร้างให้ ‘ศิลปะอยู่ในทุกที่’ (Art Is Everywhere) ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในห้องศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่อยู่ในพื้นที่ชุมชน อยู่บนพื้นที่วิทยาศาสตร์ ปราศจากขอบเขต เพราะศิลปะคือส่วนสำคัญของชีวิต (Art Is Life) การออกแบบงานโดยมีทุกภาคส่วนเข้าร่วมสร้างสรรค์แบ่งปันองค์ความรู้ จึงทำให้ชัดเจนต่อกระบวนการสร้างงานที่มีเจตจำนงไม่จบลงแค่วาระเฉพาะ (event) แต่เป็น process ที่เจตนามั่นร่วมกันพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อส่งผลงานไทยก้าวไกลสู่สากล
เปิด “มหกรรม ศิลป์ ดิน ปั้น : CORAZEMA FIESTA” [1]
12.30 น. – เปิดลงทะเบียนต้อนรับเข้าร่วมชม นิทรรศการ ผลิตภัณฑ์ศิลปะ สนทนากับศิลปินผู้สร้างงานในบรรยากาศ KORAT ART MARKET เป็นวันที่บารมีครูบาอาจารย์ร่วมอวยพรผ่านพระพิรุณ ประพรมฝนแทนน้ำมนต์ดลให้ชื่นเย็นเป็นศิริมงคลในช่วงเช้าตรู่ ก่อนเข้าสู่พิธีเปิดงานในช่วงบ่ายที่แน่นไปด้วยเนื้อหาของกระบวนการทำงานแบบ Collaboration ที่ให้ความสำคัญกับการร่วมสร้างของชุมชนและเครือข่าย
13.30 น. เกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 14 กันยายน 2567 ณ เรือนโคราช เฉลิมวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา
- นายนิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธร 2550 สาขาศิลปะการแสดง นำเสนอโมเดลพัฒนา โคราชเมืองศิลปะ “ปั้นศิลปะให้แผ่นดินโคราช” จาก “โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น” พร้อมแนะนำ ศิลปิน ชุมชน ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย
- นายศุภมิตร จันทร์โทวงศ์ นำเสนอ Plat Form “CORAZEMA FIESTA” เพื่อส่งเสริม ART TRAVEL MART
- VDO Presentation : KORAT STORY # ART PROJECT นำเสนองานออกแบบสร้างสรรค์ Collaboration ระหว่าง ศิลปิน กับ ชุมชนและเครือข่าย
14:30 น. - การแสดงผลงานศิลปะจากเครือข่ายศิลปินร่วมสมัยโคราช
- งานแสดงศิลปะสื่อผสม แฟชั่น ดนตรี กวี ลีลา โชว์ ดอกดิน และ ประดับดิน
- LIVE ART PERFORMANCE ในการแสดงชุด “ZEMA THE SAVIOUR”
- พิธีเปิด ปักหมุดจุดหมายขยายเส้นทางสร้างโคราชเมืองศิลปะ โดย APP. CORAZEMA FIESTA
- ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนส่วนราชการ คณะกรรมการการพัฒนาศักยภาพ เมืองแห่งศิลปะ และศิลปิน ถ่ายภาพร่วมกัน
15:00 น. - ผู้บริหารร่วมชม ART GALLERY ชมตลาดศิลปะ KORAT ART MARKET นำเสนอผลผลิตศิลปะที่ได้จาก “โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะ” เครือข่ายศิลปิน และนักสร้างสรรค์ศิลปะที่เข้าร่วม
- กิจกรรม Work shop การจับคู่ธุรกิจศิลปะ และการเปิดรับจอง Art Product
16:00 น. - สัมมนา KORAT ART TALK ออกแบบ โคราชเมืองศิลปะ ART & SCIENCE INNOVATION ปั้นศิลป์ท้องถิ่นให้ได้ยินทั่วโลก
- คุณโสรญา รอดประเสริฐ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นถิ่น
- ดร สายจิต ดาวสุโข นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิกและแก้ว
- Story Telling จาก ธรรมชาติสร้างสรรค์ สู่การปั้นผลงาน ผ้ามัดย้อมดิน ถิ่นโคราช ด้วยดินโลก GEOPARK
- คุณ พรพรหม เณรโต และ คุณพิกุล บุญวรรณ ประธานกลุ่มมัดย้อม ผู้เชี่ยวชาญ การพัฒนาศิลปะหัตถกรรมท้องถิ่น
- คุณ อาทิตยา เจริญรัตน์ กฤตยา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว จีโอพาร์ค ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ เขาจันทร์งาม
- ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน อาจารย์นักวิจัยด้านSustainable Health & Wellbeing สร้างสรรค์ ‘ช้างหัวสมอง’ การลองผิด แต่ทำถูก ของศิลปะร่วมสมัย
* ติดตามความเคลื่อนไหวโครงการ FACEBOOK : page : ศิลป์ดินปั้น , ปักหมุดจุดหมาย พื้นที่ศิลปะ line : Corazema Support และ App. CORAZEMA FIESTA
“LIVE ART EXHIBITION” นิทรรศการ ศิลป์ดินปั้น[2]
“มหกรรม ศิลป์ ดิน ปั้น” คือการแบ่งปันองค์ความรู้โดยครูผู้เชี่ยวชาญตัวจริงของแต่ละสาขามารวมกันถ่ายทอดทักษะในงานศิลป์อย่างสนุกสนานผ่านงาน “LIVE ART EXHIBITION” ภายใน “นิทรรศการ ศิลป์ดินปั้น” ของแต่ละท่าน แต่ละชุมชนทั้ง จิตรกร ปฏิมากร ประติมากร นักแสดง นักพัฒนาศิลปะร่วมสมัย คนรักศิลปะ ฯลฯ ทุกฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ข้ามศาสตร์ ส่งสารจากผู้รู้สู่ประชาชนผ่านงานสัมนา “CORAT ART TALK” สุนทรียสนทนา ฯลฯ ภายใต้บรรยากาศที่เห็นถึงความร่วมใจ รักในถิ่นฐาน และพร้อมร่วมกันพัฒนาผลงานจาก ‘ศิลป์แผ่นดิน’ ให้เป็น ‘มรดกแผ่นดิน’ ต่อไป ในแนวทางและหลักการของงาน Collaboration กระบวนการร่วมสร้าง ความร่วมมือร่วมใจในครั้งนี้ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน สู่ “โคราชเมืองศิลปะ” ภายใต้ “โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชน สู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะ” อย่างแท้จริง คือสิ่งที่ทุกคนร่วมภาคภูมิใจ
ART GALLERY : นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะ
* ศิลปินอาวุโส อาจารย์สุรพล ปัญญาชิระ
* ผศ.บุญกอง อินตา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
* สุวนีย์ เนตรวงษ์ - UMDANG STUDIO
* Museo Raffaello Somazzi - หอศิลป์กระโทก
* วงศ์ดิลก กัจจายะนันท์ ภัณฑารักษ์ หอศาสตราแสนเมืองฮอม จังหวัดแพร่
* ประทีป เบี้ยกระโทก ศิลปะการแสดงปั้นสด
* คำสิงห์ แจ่มแสง กวี ลำนำ ตำนานช่างด่านเกวียน
* ช่างศิลป์ ภาวิณี บุญเนตร TAPUN STUDIO
* กลุ่ม Normal Art ศิลปิน มารศรี มิ่งศิริรัตน์ และ เฉลิมเกียรติ ชวประพันธ์
* CLAY ART THERAPY หอศิลป์บ้านผู้สูงอายุราชสีมา
“ลาน ศิลป์ ดิน ปั้น” KORAT ART STREET
ปกติ ‘เรือนโคราช เฉลิมวัฒนา’ มักไม่ได้ทำกิจกรรมเต็มพื้นที่แบบเปิดเป็นสาธารณะบ่อยนัก นอกจากวาระพิเศษเฉพาะกิจ ครั้งนี้ก็เช่นกัน เรือนได้รับอนุญาตจาก ดร.นิเชต สุนทรพิทักษ์ ให้เปิดต้อนรับ “มหกรรม ศิลป์ ดิน ปั้น” เพราะเจตจำนงที่ต้องการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของผู้ให้การสนับสนุน “โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะ” ภายในส่วนงานนิทรรศการแบ่งออกเป็น Gallery แสดงผลงานศิลปะ จิตรกรรม ประติมากรรม และศิลปะร่วมสมัยจากศิลปินหลากรุ่นหลายแนว และภายนอกถูกออกแบบให้เป็น “ลาน ศิลป์ ดิน ปั้น” KORAT ART STREET รวมผลงานศิลปินจากทั่วประเทศจัดเต็มในเขตบริเวณพื้นที่เรือนทั้งสองชั้นและรายรอบ รวมกลุ่มคนรักศิลปะมาร่วมกันสร้างสรรค์ให้สวนสวยเป็น Gallery ที่รวมผลงานของศิลปินนานาแขนง โดยใช้ศิลปะจัดวาง (Installation) ผลงานของศิลปินทุกท่านทุกกลุ่มให้กลมกลืนไปในบรรยากาศ ‘ตลาดศิลปะ’ สอดคล้องกับชื่อ “โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น สร้างสรรค์มูลค่า ผลผลิตทางวัฒนธรรม” มี workshop และกิจกรรมต่าง ๆ ให้ทุกคนที่สนใจเลือกเข้าร่วมได้ทุกจุด อุปกรณ์จัดให้ ได้ผลงานกลับบ้านฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
WORKSHOP สร้างสรรค์งานศิลป์นานาแขนง
* ปักหมุด จุดหมายโคราชเมืองศิลปะ กับ Corazema Fiesta
* CLAY ART ร่วมวาดภาพด้วยสีดิน บนผืนพรมขาวยาวกว่า 20 เมตร , workshop : paint โคมไฟด้วยสีดิน , วาดภาพเหมือนจากสีดิน โดยกลุ่ม Normal Art (มารศรี มิ่งศิริรัตน์ , เฉลิมเกียรติ ชวประพันธ์ ร่วมด้วยสมาชิก พลอยไพลิน เง้าฉาย และ ปวีร์นุช ชูปุริม
รางวัลเพชรสาธร สาขาศิลปะในโอกาสครบรอบ ๕๕๕ ปี เมืองโคราช ได้ มอบให้กับกลุ่ม Normal Art ศิลปิน มารศรี มิ่งศิริรัตน์ และศิลปิน เฉลิมเกียรติ ชวประพันธ์ผู้คิดค้นสร้างสรรค์ สีดิน ถิ่นโคราช
ครูจ้อย เฉลิมเกียรติ ชวประพันธ์ จาก Normalart ผู้คิดค้นพัฒนา สีดิน โคราช เป็นศิลปิน ผู้สืบสานศิลปะระดับรางวัล ของเมืองโคราช งานสีดิน ที่ถูกทำขึ้นและใช้ในงาน “ศิลป์ ดิน ปั้น” ครั้งนี้ ได้เข้าสู่การพัฒนา งานวิจัย และจดรับรอง ‘ผลงานสร้างสรรค์ ศิลป์ดินปั้น’ เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าต่อไป
สนใจเรียนศิลปะ ชมงานศิลป์ พบกับศิลปินทั้งสองได้ที่ Themall Korat Art Space พื้นที่ศิลปะสำหรับทุกคน
* นิทรรศการและกิจกรรม ‘การเล่าเรื่องเมืองโคราช ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต’ โดย ภาคีอนุรักษ์เมืองนครราชสีมา ศิลปิน ภัณฑรักษ์ ผู้รักษาและพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ บ้านพระยากำธรพายัพทิศ
* ECO PRINT เสกใบไม้เป็นลายผ้า กับกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านเดื่อโคกกรวด
* ประดับดิน ด้วย โคมศิลป์ , ประดิษฐ์ดอกไม้ดิน สัญลักษณ์ KORAT EXPO กับ ศิลปิน อนุรักษ์ วัฒนากลาง
* ปั้น CLAY ART TOY ของเล่นจากดิน กับศิลปิน สุทัศน์ ถาวรวิไลฤกษ์ ช่างด่านเกวียน
* หุ่นกระบอกดินโลก โดย ศิลปินเชิดชัย ขะบูญรัมย์ คณะหุ่นสายเสมา (เสมาลัย)
* สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ BAMBOO – CLAY FABRIC ART INSTALLATION กับ ศิลปิน ‘ครูเซียง’ ปรีชา การุณ ปั้นศิลปะจากเครื่องจักสานให้เป็นงานประติมากรรมไม้ไผ่ หุ่นกะติบข้าวเหนียว ได้รับความสนใจ คำชื่นชม จากผู้มาร่วมงาน “ศิลป์ ดิน ปั้น” มากมาย สมกับที่ครูเซียงได้รับรางวัล สาขาสื่อสารวัฒนธรรม (ละครหุ่นร่วมสมัย) ในงานเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน และผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ ล่าสุดกับรางวัลจาก สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย sacit The Legend of THAICRAFT ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” ประจำปี 2567 ประเภทเครื่องจักรสาน (หมอลำหุ่นกระติบ) ขอร่วมแสดงความยินดี ไว้ ณ ที่นี้ด้วย
ลานดวลศิลป์ โดย Wayukorn Martial Arts Center & Mix Martial Arts SUT
* ดวลกลองโคราชกับซออีสาน โดยศิลปิน วิชยะพงศ์ ปิยะธัญญานนท์ (กลองโคราช) ประสานเสียงกับครูซอ ชานนท์ ภู่สูง จาก สุรินทร์
* มวยโคราช บ้านสีมุม ศิลปิน มงคล เลาสูงเนิน ทีมหนวดงาม เกมต่อสู้จากไม้ & Warrior Legacy บอร์ดเกมมวยโคราช
* สลักสักยันต์ลายคัมภีร์โบราณ ศิลปิน ช่าง BIG วงศ์ดิลก กัจจายะนันท์ ภัณฑรักษ์ หอศาสตร์แสนเมืองฮอม จังหวัดแพร่
* ดวลดาบ สำนักดาบวายุกร
* ดวลศิลป์ข้ามศาสตร์ : ศาสตราราชสีมา
ในกระบวนการ Collaboration เริ่มต้นพื้นฐานด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ในสาย ศาสตราราชสีมา การต่อสู้ การเต้น และดนตรีข้ามวัฒนธรรมจาก รำโทน สู่ เครื่องส่งจังหวะอเมริกัน ก็เป็นอีกหนึ่ง ‘ดวลศิลป์’ ที่ได้รับความสนใจ เสมาลัย จึงได้นำศิลปะการต่อสู้แบบบราซิลที่มีชื่อว่า“CAPOEIRA” ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยมาจัด workshop หลักการและสาธิตวิธีการระหว่าง ศิลปินสามแขนง (คาโปเอรา โดย ครูเซฟ Safe Cobrinha Monchana จากกรุงเทพฯ มาทำการ collab กับ ศาสตร์การต่อสู้ของโคราชผ่านสำนักดาบวายุกร โดย ครูปราบ (วิชยะพงศ์ ปิยะธัญญานนท์) และ breaking hip hop โดย ครูเจมส์ Thanaphat JaMez Thongkham จาก โคราชการเต้น)
ครูเจมส์ กล่าวถึงกระบวนการ Collaboroation ด้วยความสุขล้นที่ได้ค้นพบอีกหนึ่งแนวทางซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการแสดง HIPHOP ของเหล่า B-BOY ได้ อย่างน่าอัศจรรย์ และมันได้รับการต่อยอดให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่เป็นศิลปะร่วมสมัยอีกแขนง ในนามศิลปะการแสดงที่เป็นสากล
“สนุกและเปิดโลกให้ข้าพเจ้าอย่างหนักหน่วง ขอบคุณ ครูหนืด นิมิตร พิพิธกุล มาก ๆ ครับ ที่ชวนผมมาร่วมกิจกรรมนี้ ในการแลกเปลี่ยนความรู้ และ Collaboration ระหว่างศิลปะการต่อสู้ คาโปเอร่า (CAPOEIRA) โดย ครูพี่เซฟ × วิชาดาบจากสำนักวายุกร โดย ครูปราบ × การเต้น Breakdance และการผสมผสานดนตรีของเครื่องดนตรีบราซิลอย่าง บีริมเบาว์ (Berimbau) และ กลองโทนโคราช นี่ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ท่าทางการต่อสู้เท่านั้น แต่ได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรม ดนตรี วิธีคิด และประวัติศาตร์ ที่สามารถพัฒนาต่อยอดการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัย ที่เกิดจากการ Collab ศิลปะวัฒนะธรรมท้องถิ่น ของแต่ละพื้นที่ได้อย่างไม่จำกัด พัฒนากับสไตล์ที่เป็นคือ การเต้น หรือ การต่อสู้ สามารถทำมันได้อย่างอิสระและมีความสุข ขอบคุณครูทุกท่านครับ”
ตลาดชุมชนคนศิลป์ : KORAT ART MARKET
คึกคักครื้นเครงด้วยตลาดชุมชนคนศิลป์ shop ผลงานศิลปะจากศิลปิน ชิม Food Art หลากขนมโอชารสจาก โนนไทย แหล่งผลิตส่งขายทั่วประเทศนำเสริฟถึงที่ (ฟรีในพิธีเปิด) workshop : พิมพ์ผ้าด้วยพฤษาดารดาษ , วาดสีดิน , ปั้นดิน ฯลฯ กลางลานด้านหน้าตลาดเปิดเป็นเวทีกลางแจ้ง โชว์การแสดงสำหรับทุกคนที่ต้องการร่วมสนุก จึงมีทั้ง Live Art ฟ้อนเจิง ผสานลีลาซออีสาน สนุกสนานทั้งศิลปินและผู้ชม เพราะเจตนารมณ์คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาร่วมกัน
* ผ้ามัดย้อมสีดินถิ่นโคราช Geopark ชุมชนวิสาหกิจท่องเที่ยวเขาจันทร์งาม อำเภอสีคิ้ว
* กาแฟประจำถิ่นที่มีชื่อเสียงเลิศรสของสีคิ้ว และสินค้า ‘ศิลป์ท้องถิ่น’ อำเภอสีคิ้ว อีกหลายผลิตภัณฑ์
* ผ้ามัดย้อมสีก้านตาล โดย กลุ่มสวนจานแม่ บ้านโนนไทย อ.โนนไทย
* ผ้าพิมพ์ลายใบไม้จากสีธรรมชาติ กลุ่มพัฒนอาชีพบ้านเดื่อ
* โอชาดิน Food Art อิสานร่วมสมัย ขนมตาล ขนมดอกโสน แกงหัวตาล ขนมจีนน้ำยาปูนา จาก อำเภอโนนไทย
* หน้ากากจักสาน หุ่นศิลป์ท้องถิ่น – อำเภอปักธงชัย
* Clay Art Toy ด่านเกวียน – อำเภอโชคชัย
* ประดับดิน เครื่องประดับ จากดิน โดย TAPUN STUDIO – อำเภอโชคชัย
* ใจใหญ่ Art Collection โดยร้าน “เป็นลาว” เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง
* ศิลป์ท่องถิ่น ชมหนังมันดาลา (Rivulet of Universe) - อำเภอพิมาย
* หุ่นดิน DUK DIK DOLL – อำเภอเมือง
* ART T- SHIRT CLAY DESIGN หอศิลป์สุรพล - อำเภอเมือง
* Clay Craft Creation IKTHAI – อำเภอเมือง
* สีดิน NORMAL ART - อำเภอเมือง
* พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ศิลป์ บรรพชีวิน
* ผลงานศิลป์ อาจารย์ อาวุธ คันศร – อำเภอเมือง
* ภาคีอนุรักษ์เมืองนครราชสีมา บ้านพระยากำธรพายัพทิศ – อำเภอเมือง
ARTIST YOUNG GENERATION
* โรงเรียนสุรนารีวิทยา
* โรงเรียนรวมมิตรวิทยา
* โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา
* โรงเรียน วัดสุทธจินดา
* นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
Character DESIGN & DIGITAL CONTENT
* Lilil Thai Crane จาก Event Gold รางวัล ชนะเลิศ Rising Star Award 2024
Bangkok International Digital Content Festival
* Noah Joestar Character Design “ ZEMA”
* ZEMA Art AI by Satung Semalai
* Clay Art Character by สุทัศน์ ถาวรวิไลฤกษ์
* แฟชั่นโชว์ บ้านแห่งดวงดาว ครูเล็ก
ART TRAVEL MART APP. CORAZEMA FIESTA
เปิดโปรแกรมแนะนำ ชมงานศิลป์ถิ่นโคราช โดย คุณศุภมิตร จันทร์โทวงศ์ นำเสนอ Plat Form : CORAZEMA FIESTA ส่งเสริม ART TRAVEL MART ทั่วไทย
* ศิลป์ท่องถิ่น ชม Art Moovie “มันดาลา” (Rivulet of Universe) ณ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จ.นครราชสีมา
* KORAT OLD TOWN ศาลหลักเมือง, วัดพระนารายณ์, สถานพระนารายณ์, บ้านคุณย่าโม, บ้านพระยากำธรพายัพทิศ ฯลฯ
* พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์
* พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย
* หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ จังหวัดนครราชสีมา
* หอประชุมพระบรมราชสมภพ ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (วัดสุทธจินดา)
* พิพิธภัณฑ์ ดินดำ
* พิพิธภัณฑ์เกวียน
* พิพิธภัณฑ์ อ.วิโรฒ
* หอศิลปะแมกไม้
* หอศิลป์ ทวี รัชนีกร
* หอศิลป์ สุรพล ปัญญาวชิระ
* หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา
* บ้านสวนเดิ่นยิ้ม โคราช (อีกหนึ่งบ้านแห่งการเพาะเมล็ดพันธุ์ศิลปะสู่ศิลปินน้อย)
บรรยากาศภายในงาน ตั้งแต่เปิดลงทะเบียน 12:300 น. จนถึง 17:00 น. ตลอดเวลามีศิลปิน คนทำงานศิลปะ ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ให้ความสนใจงานนิทรรศการศิลปะและเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมกลุ่ม ทยอยเข้าร่วมงานไม่ขาดสายภายใต้บรรยากาศของคนคุ้นเคย เหมือนเป็นงานรวมญาติ มิตรที่รักในเรื่องเดียวกันมาร่วมแลกเปลี่ยน เพราะรูปแบบของการจัดงานทุกจุดย้ำให้ทุกคนตระหนักว่า 'เรามาจากดินก้อนเดียวกัน' (เกิดจากดินและกลับคืนสู่ดิน)
ทุกหน่วยงานราชการและเอกชนในสายของการพัฒนา ศิลปะ วัฒนธรรม สู่นวัตกรรมทุกแขนง ได้แสดงเจตจำนงหลังเข้าชมงานว่า เราจะร่วมกันพัฒนาให้ “ศิลป์ ดิน ปั้น" เป็นเทศกาลประจำปีของ นครราชสีมา ต่อไปในระยะยาวเพื่อให้เป็น "โคราชเมืองแห่งศิลปะ" ชัดเจนตามอัตลักษณ์ที่เป็นมาตลอดอายุขัยของร่องรอยอารยธรรมที่มีมาไม่ต่ำกว่า 4,000 ปี (บรรพบุรุษยืนยันด้วยภาพวาดผนังถ้ำ วัดเขาจันทน์งาม)
งานประสบความสำเร็จเกินคาดหมายภายใต้การจัดสรรงบประมาณที่น้อยมากหากเทียบกับภาพลักษณ์ของงานซึ่งสื่อผ่านการออกแบบที่มุ่งเน้นในประเด็น " เนื้อหา " (Content) ตามแนวทางและหลักการของการจัดงาน 'เทศกาล เพื่อการศึกษาและพัฒนา' (Festival Academy)
“ZEMA THE SAVIOUR”
จุดที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษคือ Gallery ที่จัดแสดงงานจิตรกรรม ประติมากรรมร่วมสมัย และมี Highlight เป็นศิลปะการแสดง Live Art เรื่อง “ZEMA The Saviour” ในพิธีเปิด “มหกรรม ศิลป์ ดิน ปั้น” เพราะ “ZEMA” คือตัวละครสำคัญที่สร้างเพราะได้รับแรงบันดาลใจจากงานสร้าง Charactor Design โดย ศิลปินด่านเกวียนรุ่นใหม่ ภัควัฒน์ ทองแดง (เจ้าของผลงาน collaboration อีกหลายชิ้นที่น่าติดตาม) และ Zema คือ Key ของเรื่อง ที่ถ่ายทอดถึงภาพเขียนเขาจันทน์งาม มนุษย์ถ้ำ ซึ่งเป็นต้นตระกูลของคนโคราช เก่าแก่นานกว่า 4,000 ปี Zema ถามถึงที่มา และให้คำตอบการกำเนิดของคนเหล่านี้
เนื้อหาของ “ZEMA The Saviour” ได้รับการพัฒนามาจากต้นฉบับ “ศิลปีแห่งธรณี” (“Art of The Earth” ปฐมบทการแสดงของ “โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น สร้างสรรค์มูลค่า ผลผลิตทางวัฒนธรรม” ตัวแทนจังหวัดนครราชสีมา ที่นำเสนอโดย นิมิตร พิพิธกุล และได้รับพิจารณาคัดเลือกให้ได้รับ รางวัลดีเด่น ภายใต้ “โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะ” สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกระทรวงวัฒนธรรม) จัดแสดงในพิธีเปิดงานการประกาศผลการประกวดและมอบรางวัล เมื่อ 17 กรกฎาคม’67 ณ หอศิลป์ราชดำเนิน (RCAC) วาระสำคัญในพิธีเปิด “มหกรรม ศิลป์ ดิน ปั้น” ครั้งนี้ ZEMA ได้รับการพัฒนาสู่ผลงานร่วมสร้าง (Collaboration) แนว Primitive Art สื่อสารในลักษณะ Live Art จัดแสดงในพิธีเปิด “มหกรรม ศิลป์ ดิน ปั้น” เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2567 ณ เรือนโคราช เฉลิมวัฒนา ได้รับความสนใจสูงมากจาก สัญญะ ซึ่งซ้อนทับกับการแสดงที่แฝงความหมายหลายชั้น ก่อให้เกิดสนั่นปุจฉาเป็นที่มาของวิสัชนาร่วมกันหลังจบงาน
จาก “ศิลปีแห่งธรณี” สู่ “ZEMA The Saviour”
Narrator นิมิตร พิพิธกุล - “เราเชื่อว่า ศิลปิน ไม่ได้เป็นเพียงผู้สร้างผลงานศิลปะ แต่ศิลปินเป็นผู้สร้างโลกและจักรวาลอีกเช่นกัน”
ประติมากร สุวณี เนตรวงษ์ - ร่วมขับร้อง
ครูดาบ วิชยพงษ์ ปิยะธัญญนนท์ - ร่วมแสดง
นิมิตร ร้อง - ไหว้ครูอาจารย์ ไหว้ศิลปิน ไหว้ฟ้าไหว้แผ่นดินเราก็ต้องไหว้
วิดีโอภาพกำเนิดจักรวาลตามตำนานพุทธศาสนา / เพลง ศักดิ์สิทธิ์
นิมิตร บรรยาย - ตามตำนานได้เล่าไว้ถึง “อัคคัญญสูตร” ที่กล่าวถึงว่า พระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงการกำเนิดโลกและจักรวาล จักรวาลเหล่านั้นได้นำมาซึ่งสิ่งที่เหนือมนุษย์ เป็น ‘เทพยดา’ ที่ลงมายังแผ่นดินและเก็บกิน ง้วนดิน เมื่อกินไปแล้วพลังของสิ่งมีชีวิตหรือเทพยดานั้นกลับลดลง และทำให้เขากลายเป็น ‘มนุษย์’ มนุษย์ผู้เชื่อว่าจะเข้ามาปกครองแผ่นดิน เข้าครองด้วยพลัง ด้วยตัณหา ด้วยอารมณ์ ด้วยความตั้งใจที่อยากจะปกปัก รักษา และทำลาย แต่ในโลกนี้ยังมีสิ่งที่เรียกว่า มนุษย์ ที่เต็มไปด้วยศิลปะ ผู้วาดระบายภาพบนผนังถ้ำ เป็นศิลปินแรกแห่งโลกที่สร้างศิลปะเหล่านั้น 4,000 ปี หลายล้านปี พวกเขาได้สร้างครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อจะกลายเป็น ‘ผู้สร้างสรรค์’ …
จงเป็น ‘ผู้สร้างสรรค์’ เถิด ในความเชื่อนั้นเราเชื่อใน ‘ดิน’ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะที่วาดระบาย เราเชื่อว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของโลกและจักรวาล การดำรงอยู่ และศิลปะทั้งมวล ดินเย็น โลกเย็น ดินร้อนโลกร้อน ศิลปินทำให้โลกเย็น ศิลปะเย็น
พระแม่ธรณี - ขวัญเรือน โลหากาศ - ปรากฏตัวด้านหลังผู้ชม เดินเข้าสู่เวที
ตัสสาเกษีสะโต ยะถาคงคา โสตังปะวัตตันติ มาระเสนา ปฏิฐาตุง อาสักโภนโต ปะลายิงสุปาริมานานุภาเวนะมาระ เสนาปะราชิตาทิโส ทิสัง ปะลายันติ วิทังเสนติอะเสสะโต
สุวณี - ขับร้อง
ดินและน้ำ กับความมุ่งมั่น นึกถึงวันแสงจันทร์โรยอ่อน
มือสร้างฝันจากดินเพียงก้อน ยินเสียงภมรเป็นเสียงดนตรี
ปล่องไฟเผาผลาญเพลิงแดงฉาด เราร่วมกันสุมฟืนร่วมเตา
ร่วมแรงสร้างฝันปั้นดินร่อนถ่าน
ชีวิตช่างฝันปั้นดินเป็นดาว
ดาวเต็มฟ้าหัวใจเบิกบาน
ชีวิตช่างฝันปั้นดินเป็นดาว
ดาวเต็มฟ้าหัวใจเบิกบาน
ชีวิตช่างฝันปั้นดินเป็นดาว
ดาวเต็มฟ้าหัวใจเบิกบาน
นิมิตร - ดาวเต็มฟ้าหัวใจเบิกบาน ด้วยศิลปะที่เราสร้าง โลกนี้ จักรวาลนี้ จะดำรงคงอยู่ได้โดยศิลปินเป็นผู้สร้าง
“ZEMA THE SAVIOUR”
การแสดงจากบทสรุปการทำงาน “โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น” ที่ได้รับความสนใจในเนื้อหาของกระบวนการ ‘ร่วมสร้าง’ (Collaboration) โดย ศิลปินในเครือข่าย และพันธมิตร ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำพันธกิจสำคัญครั้งนี้ให้ลุล่วงราบรื่น และได้รับความสนใจในวิธีการนำเสนอแบบ Live Art ผ่าน “ZEMA THE SAVIOUR” (สัญลักษณ์ผู้พิทักษ์โลก) การแสดงที่หลายคนประทับใจในบทประพันธ์ที่มีความเป็นบทกวี ซึ่งมีที่มาจากตำนานการเกิดโลกและจัรวาลผ่านมุมมองของพุทธศาสนา ต่างออกไปจากแนวทางที่ทุกคนคุ้นเคย และเป็นงานเปิดหลักฐานสำคัญยืนยันวิถีเชื่อมโยงระหว่าง ตะวันตกกับตะวันออก อย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ครั้งบรรพกาลหลายล้านปีด้วย ‘บรรพชีวิน’ ที่ศิลปินรุ่นใหม่นำมาออกแบบเป็น Character Toon ในนาม ZEMA บรรพบุรุษของมนุษยชนบนแผ่นดินโคราช และได้รับการพัฒนาเป็น Giant Puppet ร่วมยืนยันความสำคัญที่ไม่ให้ถูกกลบฝังอยู่ในประวัติศาสตร์แต่ได้รับการประกาศผ่านผลงานของศิลปินหลากแขนงที่ร่วมในการแสดงครั้งนี้ด้วย
เนื้อหาของแต่ละส่วนที่นำมาร้อยรังสรรค์ อุดมไปด้วยความสำคัญทาง สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ ประวัตศาสตร์ ทั้งของมนุษยชาติ โลก และจักรวาล ซึ่งต้องการงานขยายรายละเอียดเพื่อความชัดเจนในสาระสำคัญมากขึ้น จึงมีหลายเสียงเรียกร้องให้มีการต่อยอดเป็น Performing Art ที่สามารถขยายรายละเอียดเพื่อบอกเล่าสาระสำคัญของแต่ละส่วนได้มากขึ้น การขยายผลนี้อยู่ในแผนงานลำดับต่อไปของโครงการศิลป์ดินปั้น ผู้ที่สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ใน Facebook : page : ศิลป์ดินปั้น และ APP. CORAZEMA FIESTA
ZEMA เขียนบท กำกับ และร่วมแสดง โดย นิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธร ปี 2550
ร่วมด้วยศิลปินเครือข่าย
- มวยโคราช บ้านสีมุม มงคล เลาสูงเนิน
- วงศ์ดิลก กัจจายะนันท์ ภัณฑรักษ์ หอศาสตราแสนเมืองฮอม จังหวัดแพร่
- ทีม สำนักดาบวายุกร โคราช
- ครูปราบ วิชยพงษ์ ปิยะธัญญนนท์ รับบท ZEMA
- ขวัญเรือน โลหากาศ รับบท แม่ธรณี
- พิศาล พัฒนะธีรเดช รับบท สุริยเทพ
- สุรพล ปัญญาวชิระ รับบท เทพแห่งโลก
- ภัควัฒน์ ทองแดง (Noah Joestar Character Design “ ZEMA”)
- ศิลปินหุ่น โดย เชิดชัย ขะบูญรัมย์ คณะหุ่นสายเสมา (ศูนย์เรียนรู้ เสมาลัย)
- Score ประกอบการแสดง โดย ผิวน้ำ เฉลิมญาติ
- ZEMA Art AI by Satung Semalai
เราทุกคนเป็นเพียงเศษซากทางผ่านที่ถูกกลบฝัง
Narrator : เมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว มีภาพเขียนจารึกผนึกไว้ของชนชาวมนุษย์ถ้ำ ซึ่งถือกำเนิดจากบรรพบุรุษ ตนใด ภาพของ นักล่า หมา เด็ก คนจาริก และ นางระบำ ที่กำลังรำร่าย ‘โศลก อันไร้ สรรพสำเนียง’ เสียงของพวกเขาไม่เคยดังไปถึงอนาคต และอดีต ต่างถูกกลบลบฝัง และอ้างถึงเพียงผิวผ่าน
จงย่างย่ำ กรำฝุ่นคลั่ง เริงร่ำไปกับ อดีต ปัจจุบัน และวันข้างหน้า เพื่อเสาะหา ‘ผู้ให้กำเนิด’ เกิดแก่ตัวพวกเจ้า
แม่ของโลก มารดาแห่งสรรพสิ่งถูก อุปโลกน์ ขึ้นว่าเป็นผู้ให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ก้าวล่วงมานานนับศตวรรษ หลายรูปลักษณ์ตามแต่จะเล่าขาน
แม่ธรณี : ข้าเพียงก้าวย่างไปบนร่างของ ‘บรรพชน’ ที่โดนฝังลบกลบเป็นผืนดินให้ คนของวันพรุ่งเหยียบย่ำ ข้าเพียงปลิวฟุ้งผ่านกาลเวลาในช่วงหนึ่ง และหลอมรวมเป็นกองปฏิกูล พอกพูนกูลเกื้อการกำเนิดใหม่ ก่อนจะเสื่อมสลายกลายเป็นเศษฝุ่นผง
Narrator : การถือกำเนิดของโลกและสิ่งมีชีวิตใน "อัคคัญญสูตร" พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงการก่อกำเนิดของจักรวาล โดยเริ่มจากความว่างเปล่าอันยาวนานที่ไม่มีทั้งแสงสว่างและความมืด จักรวาลอยู่ในสภาวะของการก่อกำเนิด จากนั้นสิ่งมีชีวิตแรกที่ถือกำเนิดขึ้นในโลก เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความบริสุทธิ์และเปี่ยมด้วยแสงสว่าง เป็นชีวิตที่มีอยู่เพียงในรูปของพลังงานที่ไม่มีตัวตน หินสะเก็ตดาว เทคไทต์ตกมาบนโลกเมื่อ 800,000 ปี และยังคงตกลงมาจากฟากฟ้า ในทุกรอบอสงไขย
กฎอันเข้มงวดในการสำรวจดาวเกิดใหม่คือ ห้ามลิ้มรส หรือดื่มกินอาหารของดวงดาวนั้น สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นได้ฝังวัตถุปริศนาที่เรียกว่า ‘เสาหินตั้ง’ ลงใต้พื้นพิภพ ในจุดที่ลึกที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นที่ที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดสามารถเข้าถึงได้ พวกเขาเริ่มเลือนหายไปในแสงสีเงินและทองอร่าม ร่างโปร่งใสหายไปในท้องฟ้า เหลือเพียงเหล่าชนอีกกลุ่มที่ไม่ได้เดินทางกลับไปพร้อมพวกเขา เพราะได้ทำผิดกฏร้ายแรงด้วยการหยิบดินที่มีกลิ่นหอมขึ้นมาแบ่งปันกันชิมลิ้มรส
‘ง้วนดิน’ นั้นสมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น รส เมื่อช้อนขึ้นมาลิ้ม รสที่ได้ซ่านไปทั่ว ทำให้ร่างกายของพวกเขาไม่มีแสงเรืองรองอีกต่อไป ในหินมีคําบอกเล่าเป็นพิธีกรรมสืบเนื่องจากความเชื่อเรื่องขวัญว่า “ขวัญเคลื่อนไหวออกจากร่างจริงแล้วไปสิงสู่อาศัยในวัสดุต่าง ๆ ไม่ว่า ท่อนไม้ กองดิน โดยสมมติเรียกสิ่งนั้นว่า ‘ร่างเสมือน’ ดังนั้น บรรดาขวัญของคน สรรพสัตว์ และธรรมชาติ ต่างล้วนสิงสู่อาศัยในร่างเสมือน
แม่ธรณี : ข้าขอพนมมือและถือหม้อกลัศซึ่งบรรจุน้ำทักษิโณทกของพระพุทธเจ้าในชาติต่าง ๆ อุกาสะ วันทามิ ภันเต, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต, มะยา กะตัง ปุญญัง, สามินา อะนุโมทิตัพพัง, สามินา กะตัง, ปุญญัง มัยหัง, ทาตัพพัง, สาธุ สาธุ อะนุโมทามิฯ
(การแสดงสีซออีสาน) จงขับกล่อมแผ่นดินเถิด จนกว่าจะเกิดสิ่งมีชีวิตใหม่ จงเปล่งเสียงซอ ให้ก้องกังวานไกลจากเสียงดินจนยินไปถึงใต้หล้า ของร่างที่ถูกกลบฝัง
Narrator : สสารมืดอาจประกอบไปด้วย ‘หลุมดึกดำบรรพ์’ ที่เกิดจากความผันผวนของความหนาแน่น ซึ่งเป็นไปได้ว่าเกิดขึ้นจากการหดตัวครั้งสุดท้ายของจักรวาลก่อนหน้าเรา และเสียงดินได้ชำแรกแทรกมวลสารไปสู่ภพภูมิกาลก่อน
เมือกที่สำรอกออกจากปากของ ‘ช้าง 4 งา’ ในโลกแห่งบรรพชีวิน ที่ช้างเริ่มวิวัฒนาการตัวตนจนมีงาใหญ่ยาวไว้ปกป้องตนเอง เมือกนั้นเริ่มก่อเกิดความแข็งกระด้างขึ้น ไม้ที่ห่อหุ้มร่างที่ถูกฝังมายาวนานกลายเป็นหินโอปอล ที่สร้างเกราะคุ้มกันร่างกายในช่วงเวลาของการสิ้นสูญ ยุคที่ภูเขาไฟระเบิดเพลิงเผาผลาญโลก
จวบจนกาลมาถึงยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งมีอารยประเทศเดินทางเข้ามา และเรียกขานดินแดนนี้ว่า CORAZEMA ชาวต่างชาติที่เชี่ยวชาญกลศาสตร์ และชาวโคราชที่มีพลังศรัทธาต่อ ‘หินตั้งเสมา’ ได้ขุดพบร่างของเขา เป็นร่างของชายชุดเกราะ และเขาถูกเรียกชื่อว่า ZEMA
Zema : ในสุริยสูตรเล่าว่า พระพุทธเจ้าทรงปรารภถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง จึงได้ยกความเป็นไปในการพินาศของจักรวาล
“กาลต่อไปในภายหน้า จะมีดวงอาทิตย์ค่อยๆ ปรากฏเพิ่มขึ้นในจักรวาล สรรพสิ่งจะทนความร้อนไม่ไหว แม้แต่น้ำในมหาสมุทรก็จะพลอยเหือดแห้งจนไม่หลงเหลือ และเมื่อดวงอาทิตย์ดวงที่ 7 ปรากฏขึ้น ทุกสิ่งจะมอดไหม้ไม่เหลือซากแม้แต่เขาสิเนรุก็ไม่อาจรอดพ้น”
สุริยเทพ : นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของจักรวาล ถูกแบ่งแยกเป็น GALAXY กฎของธรรมชาติกำเนิดตัวข้าเป็น ‘ผู้เฝ้าดู’ The Watcher เจตจำนงที่ธรรมชาติสรรค์สร้างให้ข้าคือ ‘เฝ้าดูและเป็นพยาน’ ถึงสิ่งที่ถูกสร้างโดยกฎธรรมชาติ ซึ่งมีอำนาจเพียงหยิบมือ
มนุษย์ ไม่หยุดวิวัฒนาการ 4,000 กว่าล้านปี ที่มีความตั้งใจจะฝืนต่อสู้ กับธรรมชาติ
เราบัญญัติโลก เหตุให้เกิดโลก ความดับโลก ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญา มีใจครอง
Narrator : ใครกันจ้องมองผ่านหน้ากาก ‘รากษศ’ ที่ปรากฏยืนกั้นขวาง หนทางข้างหน้า พสุธาถูกทำให้คนที่ยึดถือยึดครอง หมายป้องปกเฉพาะเหล่าชนคนของตนเอง และเที่ยวข่มเหงเหล่าเผ่าอื่น พร้อมหยิบยื่นด้ามไม้ปลายแหลม ส่งให้คนทุกข์ที่ถูกปลุกมาห้ำมาหั่น ทุกเหล่าเผ่าพันธุ์ให้สิ้นสูญ
แร้งคอย ลงแร้งคุม กลุ้มรุมกินดินและสินใต้หล้า ก่อนจะพล่าผลาญมนุษย์ และสรรพชีวิต ปลิดปลง จนไม่เหลือแม้เพียงลมหายใจคนอวดกล้า ‘อะตอม’ คือสิ่งที่เราไม่สามารถจะแบ่งย่อยต่อไปได้อีก ไม่ว่าเราแบ่งอะไรก็ตาม ในที่สุดมันต้องไปถึงจุดสุดท้าย จุดสุดท้ายที่แบ่งต่อไปไม่ได้นั่นแหละคือ อะตอม
Zema : ถึงจะกำเนิดอยู่ในโลกนับแต่มีสิ่งมีชีวิตเซลเดียวไม่กี่ตัว จนถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ถ้ำ เราเคยเข้าช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ให้รอดพ้นจาก ‘ช้างสี่งา’ ช้างที่วิวัฒนาการขึ้นจากสิ่งมีชีวิตที่น่าหวาดกลัว จากรูปร่างเล็กที่ขยายใหญ่ และมีงาที่งอกยาวขึ้นเพื่อป้องสัตว์ มนุษย์
แม่ธรณี: ทุกคนเกิดมาจากจุดเริ่มต้นเดียวกัน และมีศักยภาพที่จะบรรลุถึงการตื่นรู้ และความเป็นอิสระทางจิตวิญญาณเช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า “ชีวิตในโลกนี้เกิดขึ้นจากความสมดุลของการกระทำ และการตอบสนอง ทุกสิ่งในจักรวาลมีการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด และความแตกต่างในชีวิตเป็นเพียงผลจากการกระทำที่แตกต่างกันในอดีต พระองค์ทรงเตือนว่า มนุษย์ควรเรียนรู้ที่จะเห็นความจริงในธรรมชาติ”
สุริยเทพ : ธาตุบรรพกาล หรือธาตุอันเป็นนิรันดร์ ได้เกิดการระเบิดอย่างรุนแรงอย่างหาสาเหตุไม่ได้ จนเกิดเป็นไฟบรรลัยกัลป์ แผ่ซ่านสว่างไปทั่วทั้งจักรวาล เมื่อเวลาเดินทางผ่านไปหลายพันล้านปีแสง หลังจากที่เกิดไฟไหม้ล้างจักรวาล ไฟได้ลุกลามไปถึงชั้นมหาพรหม แล้วจึงหยุดอยู่แค่นั้น ไฟประลัยกัลป์ได้ลุกโชติช่วงอยู่แสนนานก่อนจะเกิดฝนตกขึ้น จากขนาดเม็ดเท่าธุลีดิน ก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเท่าบ้านเรือน และใหญ่ขึ้นอีก ฝนนี้ตกต่อเนื่องนานถึง 1 อสงไขย แล้วจึงหยุดลง เกิดเป็นน้ำท่วมสูงถึงชั้นมหาพรหม แล้วค่อย ๆ ถูกลม 4 ชนิด พัดจนแห้งลงตามลำดับ เกิดเป็นแผ่นดินหรือจักรวาลใหม่อีกครั้ง เหลือเพียงสัตว์จำพวกเดียวที่เหลือรอด แล้วทุกสิ่งก็ดำเนินไปตามวัฏจักร
Narrator : Zema เป็นทุกอย่างแล้วให้กับมนุษย์ ทุกยุคทุกสมัย มนุษย์บันทึกถึงเขาในหลายรูปลักษณ์ แตกแขนงเป็นตำนานที่เล่าต่อ ๆกัน
Zema : พระพุทธเจ้าทรงปรารภถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง จึงได้ยกความเป็นไปในการพินาศของจักรวาล
แม่ธรณี : ชีวิตในโลกนี้เกิดขึ้นจากความสมดุลของการกระทำ และการตอบสนอง ทุกสิ่งในจักรวาลมีการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด และความแตกต่างในชีวิตเป็นเพียงผลจากการกระทำที่แตกต่างกันในอดีต
ภาพของขุนเขาปรากฏ กลบร่างของ zema และสีไวโอลิน
Narrator : ตำนานนี้ ไม่เคยมีบรรพบุรุษที่ถูกเคารพ วีรกรรมที่ถูกยกย่องยั่งยืน ไม่เคยมีการดำรงคงอยู่จริง ในโลกที่หมุนเหวี่ยงจนมนุษย์แตกกระจายไปยังแผ่นดินที่ยื้อแย่งกันถือครอง
สุริยเทพ : พวกมนุษย์ผู้ลุ่มหลงในอำนาจ และผลประโยชน์พวกพ้องของตน ที่พร่าผลาญสรรพชีวินอื่นจนโลกลุกไหม้
แม่ธรณี : ทำลายเราคือทำลายโลก ดินร้อน โลกร้อน ดินเย็น โลกเย็น
Narrator : ดินร้อนโลกร้อน ดินเย็น โลกเย็น
จงทำให้คนเย็น ให้โลกเย็น จงสร้างโลกให้อยู่เย็น เป็นสุข
“พลังแห่งรัก” โดย หอศิลป์กระโทก : Museo Raffaello Somazzi
(Centro d'Arte KRATOKE)
นอกจากการแสดงภายใน Gallery แล้ว ภายนอกกลางลานด้านหน้า Art Marget ยังมีการแสดงของเหล่าศิลปินมากมายหลายกลุ่มเวียนกันมาโชว์ไม่ซ้ำแนว หนึ่งในนั้นคือการแสดง “พลังแห่งรัก” ต้นฉบับบทกวีที่ได้รับการแปลมาจากภาษาอิตาลี ที่ให้ความรู้สึกเสมือนพิธีกรรมสำคัญในโบถส์ของศาสนาคริสต์ โดย Raffaello Somazzi ก่อนเริ่มคุณราฟเปิดรับอาสาเพื่อแสดงเป็นผู้เข้าร่วมพิธีได้กลุ่มใหญ่ก่อนโชว์ (Performance Art) ทุกคนได้รับแจกเสื้อคลุมหลากสี สัญลักษณ์ของบาทหลวงจากนานาอารยประเทศ เสมือนตัวแทนของมนุษยชาติ ในพิธีพูดถึงการรวมพลังศรัทธามอบเมตตา มอบความรัก ส่งถึงเพื่อนมนุษย์ (ความรักในเพื่อนมนุษย์และทุกสรรพชีวิต คือหัวใจของคริสต์ศาสนา) คุณราฟ ในบทบาทสมมุติเสมือนผู้นำทางจิตวิญญาณกำลัง lead บาทหลวงประกอบพิธีกรรม ทุกคนยืนล้อมเป็นวงกลม เสมือนสัญลักษณ์ความเป็นหนึ่งเดียวของโลกและจักรวาล หลังจบพิธีมีแถมจากผู้เข้าร่วมด้วยการปิดท้ายแบบไทย ๆ ให้เป็นที่ครื้นเครง เหมือนบทกวีที่บรรเลงร่วมกัน … “รัก หล่อหลอมทุกองคาพยพทางความคิดเข้าด้วยกัน จากไมโคร สู่จักรวาลมาโคร มันเชื่อมโยงกันทั้งหมด จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง ทุกอย่าง รวมเข้าด้วยกัน เข้ากัน เป็นการจ้องมองของความเป็นอยู่ บนพื้นที่ที่ไม่มีที่สิ้นสุด” เช่นเดียวกับพื้นที่ของ Community Art Space ศูนย์รวมของคนรักศิลปะทั้งปวง
La potenza dell'odio Sia Tràsformata In Potenźa d'àmore Solo cosi L'umànita' Puo' continuàre La sua evoluzione: Verso il bene per tutti...
Elevaźione dei cuori… Sublimazione Del pensiero... L' AMORE Vince ogni difficolta'
L'amore Unisce ogni entita' pensante Dal micro al macro cosmo.
Tutto si lega L'uno con l'aĺtro Tutto si incorpora L'uno nell'altro Niente e' lasciato al casuaĺe.
Ĺo sguardo dell'essere Verso lo spazio Infinito Lo sguàrdo dell'essere Verso ìl centro… IL SOLE L'astro che dona calore LA VITÀ
“พลังแห่งรัก” แปลจากต้นฉบับภาษาอิตาลี
พลังแห่งความเกลียดชัง แปลงร่างแล้วเป็น พลังแห่งความรัก
เพียงเท่านี้ มนุษยชาติ ก็สามารถดำรงได้
วิวัฒนาการของมัน นำพาไปสู่ความดี
สำหรับทุกคน…ระดับความสูง ของหัวใจ…การระเหิด ของความคิด…
รัก เอาชนะ ทุกความยากลำบาก
รัก หล่อหลอมทุกองคาพยพทางความคิดเข้าด้วยกัน
จากไมโคร สู่จักรวาลมาโคร มันเชื่อมโยงกันทั้งหมด จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง
ทุกอย่าง รวมเข้าด้วยกัน เข้ากัน เป็นการจ้องมองของความเป็นอยู่
บนพื้นที่ที่ไม่มีที่สิ้นสุด
จงมองจักรวาล พระอาทิตย์ พระจันทร์ อันเปี่ยมด้วยความอบอุ่น
“เมื่อได้ตั้งสมมุติฐานในการสร้างงานศิลปะด้วย Primitive Art ได้เปิดให้วัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชน เปิดประตูทำนบ และปล่อยให้ความเชี่ยวกรากของความหลากหลายถาโถมเข้าหากันจนเอ่อท้น ผลที่ได้หาใช่ทุกสรรพสิ่งที่ถูกพัดพามา แต่มันคือ ตะกอนที่ทับถม พอกพูนขึ้น เป็นการก่อเกิดสิ่งใหม่
จบจากงานศิลป์ดินปั้นพบว่า ผู้คนที่มาร่วมกันยังคงสื่อสารถึงกัน และยังคงช่วยกันเล่าเรื่องต่อก่อความสัมพันธ์ใหม่ไปข้างหน้า Primitive Art ได้สร้างแรงจูงใจ แรงบันดาลใจ และการก้าวย่าง สร้างสิ่งที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และการร่วมกันเล่าเรื่องต่อ ๆ ไป” นิมิตร พิพิธกุล
Community art spaces are more than just venues for artistic expression; they are vital cultural hubs that foster creativity, inclusivity, and social cohesion. These spaces provide a platform for artists of all ages and skill levels to come together, share their work, and learn from one another.
“ศิลป์ ดิน ปั้น” คือ พื้นที่สร้างสรรค์ศิลปะของชุมชนที่เรียกว่า ‘Community Art Space’ เป็นมากกว่าสถานที่สำหรับการแสดงออกทางศิลปะ พวกเขาเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ซึ่งส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การไม่แบ่งแยก และความสามัคคีทางสังคม space เหล่านี้จึงเป็นพื้นที่สำหรับศิลปินทุกวัย และทุกระดับทักษะในการมารวมตัวกัน แบ่งปันผลงาน ร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนจากกันและกัน และเกื้อกูลกันด้วยวิถีแห่งชีวศิลป์.
ร่วมกันปั้นพื้นที่สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย ด้วยการปักหมุดจุดหมาย
เที่ยวชมงานศิลปะผ่าน APP. CORAZEMA FIESTA
สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
หมายเหตุ
- ขอขอบคุณภาพจาก “มหกรรม ศิลป์ ดิน ปั้น”
[1] พิธีเปิด "มหกรรม ศิลป์ ดิน ปั้น" 14 ก.ย'67 ณ เรือนโคราช, นักข่าวพลเมือง Citizen Journalist, สืบค้น 15 กันยายน 2567, https://www.youtube.com/watch?v=u9rfKeFMbbg&t=3575s
[2] นิทรรศการเปิดงาน "มหกรรม ศิลป์ ดิน ปั้น" 14ก.ย'67, นักข่าวพลเมือง Citizen Journalist, สืบค้น 15 กันยายน 2567 https://www.youtube.com/watch?v=Gs3CodO0IS4&t=124s
[3] "ศิลป์ดินปั้น" workshop : CAPOEIRA บราซิล, นักข่าวพลเมือง Citizen Journalist, สืบค้น 15 กันยายน 2567 https://www.youtube.com/watch?v=6jz-7kpNQRU&t=9094s
[4]KORAT ART TALK : พิธีเปิด "มหกรรม ศิลป์ ดิน ปั้น" 14 ก.ย'67 ณ เรือนโคราช, นักข่าวพลเมือง Citizen Journalist, สืบค้น 15 กันยายน 2567, https://www.youtube.com/watch?v=Qf2YswAbHZA&t=2540s
- นิทรรศการ
- กวินพร เจริญศรี
- โครงการ ศิลป์ ดิน ปั้น
- นิมิตร พิพิธกุล
- ศูนย์การเรียนรู้ เสมาลัย
- ZEMA The Saviour
- บุญกอง อินตา
- สุรพล ปัญญาชิระ
- สุวนีย์ เนตรวงษ์
- Museo Raffaello Somazzi
- วงศ์ดิลก กัจจายะนันท์
- ประทีป เบี้ยกระโทก
- คำสิงห์ แจ่มแสง
- ภาวิณี บุญเนตร
- มารศรี มิ่งศิริรัตน์
- เฉลิมเกียรติ ชวประพันธ์
- นิเชต สุนทรพิทักษ์
- ปรีชา การุณ