ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

เทศกาลงานศิลป์สุดเท่ : The Standard in Bangkok Art Biennale “Chaos : Calm”

27
มกราคม
2566
ภาพผลงาน “สันติสุข” โดยอแมนดา พึ่งโพธิปักขิยะ
ภาพผลงาน “สันติสุข” โดยอแมนดา พึ่งโพธิปักขิยะ

 

ท่ามกลางวิกฤตการณ์จาก โควิด-19 ที่กลืนกินสรรพสิ่งซึ่งเคยอุดมสมบูรณ์ให้สูญสิ้นทั่วโลก นำความทุกข์โศกมาสู่มวลมนุษย์สุดพรรณนา ประเทศไทยเดินหน้าจัดงานใหญ่ที่ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของศิลปศาสตร์อย่างต่อเนื่อง จากงานสร้างสรรค์ศิลปะที่เคยมีสถานะซึ่งยากจะเข้าถึงสำหรับประชาชนกลุ่มใหญ่เพราะเป็นเรื่องนอกวิถี ไม่มีโอกาส ฯลฯ

 

 

พุทธปรัชญากับการเยียวยามนุษยชาติ

เราต่างคุ้นเคยกับคำว่า Biennale และเทศกาลศิลปะนานาชาติจากหลายประเทศทั่วโลกในชื่อสกุลเดียวกัน ซึ่งมาจากภาษาอิตาเลียนแปลว่า “ทุก 2 ปี”

ประเทศอิตาลี แม่แบบแห่งศิลปะตะวันตกเป็นผู้ให้กำเนิดเทศกาลศิลปะ Venice Biennale แรกดำริเป็นไปเพื่อร่วมเฉลิมฉลองการอภิเษกสมรสของกษัตริย์อัลเบอร์โต้ที่ 1 กับพระนางมาร์การิตา ครบ 25 ปี 1894 โดยการปิดเวนิสทั้งเมืองเพื่อจัดงานศิลปะ วางเวลาในการแสดงงานเป็นปี การจัดงานครั้งแรกจึงเริ่มได้ใน 30 เมษายน 1895 ในชื่อ ‘I Esposizione internazionale d'Arte della Città di Venezia (1st International Art Exhibition of the City of Venice)[1] ที่ให้ความสำคัญกับงานศิลปะร่วมสมัยทั้งกระบวนการคิดและวิธีการนำเสนอ จึงเป็นเวทีแสดงงานผงาดล้ำเป็นผู้นำเทร็นด์ศิลปะโลกที่ทุกประเทศเห็นความสำคัญเพราะนโยบายขยายเครือข่ายด้วยการเปิดพื้นที่ให้โอกาสก้าวหน้าต่อศิลปินผู้สร้างงานที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วโลกมารวมกัน

ต่อมาจึงได้จัด 2 ปี/ครั้ง เบียนนาเล่สกุลไทยแบ่งเป็น 2 เทศกาล 2 หน่วยงาน คือ Thailand Biennale โดย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) และ  Bangkok Art Biennale  นำทีมภัณฑารักษ์โดยอดีตอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (ปี 2553 - 2554) ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์  ประธานอำนวยการ และผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Prof. Dr. Apinan Poshyananda CEO & Artistic Director of BAB )

 

 

ในขณะที่ Bangkok Art Biennale 2022 (BAB 2022) CHAOS: CALM โกลาหล : สงบสุข มีวิธีคิดโดยใช้พุทธปรัชญาเข้ามาสร้างปัญญาท่ามกลางความวิบัติเพื่อขจัดทุกข์ทับถมก่อนท้นทวีจนไม่มีทางหลบ จึงต้องสู้ด้วยการสร้าง “เสียงภายใน” ให้สงบได้ด้วยตัวเอง เพราะเราต่างหลีกไปจากความจริงทุกสิ่งที่กำลังเผชิญไม่ได้

สติกับสมาธิจากการสร้างและเสพงานศิลป์จึงเป็นเครื่องมือวิเศษที่จะเสกความสงบให้สยบอยู่ท่ามกลางความป่วนปั่น ส่วนอีกฝั่ง การฝันถึงโลกใหม่ในจินตนาการคือวิธีหาทางหนีทุกข์เพื่อจะสุขชั่วคราว เพราะอนาคตยังมาไม่ถึง แต่เราต้องดึงจิตให้ประคองชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะให้ได้อย่างมีความหวัง จึงเป็นสองฝั่งของความคิดที่แตกต่างกันแต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน

อีกสิ่งที่เหมือนกันคือการส่งผ่านวิธีคิดโดยมีศิลปะเข้ามาทำหน้าที่เยียวยาบาดแผลของยุคสมัยโดยปราศจากเงื่อนไขในทุกๆ ด้าน สมานความเจ็บปวดให้บรรเทาขัดเกลาจิตใจไม่ให้จม ล้วนคือความน่าชื่นชมโสมนัสของมนุษย์ชาติ ที่ให้อำนาจศิลปะได้ยืนยันสถานะด้วยการทำหน้าที่อย่างเต็มศักยภาพทัศนศิลป์ได้ทำหน้าที่ต่อมนุษยชาติ

 

 

พันธกิจของ “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022”[2]

ความตั้งใจสนับสนุนวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย โดยเน้นการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ล้ำคุณค่าของท้องถิ่นไทย มาเสริมเพิ่มความงดงามและทันสมัยเพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างคุณค่าในรูปของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านการท่องเที่ยวด้านศิลปะและวัฒนธรรม สอดรับกับนโยบายเพื่อให้กรุงเทพมหานครได้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่สำคัญทางด้านศิลปะร่วมสมัยในอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นจุดหมายของนักเดินทางผู้รักงานศิลปะจากทั่วโลก

BAB 2022 จึงมีความสำคัญเพราะการวางสถานะของงานให้เป็นศูนย์รวมเครือข่ายแห่งโลกศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะท้องถิ่น โดยดึงคุณค่าของทรัพยากรภายในประเทศออกมาให้ทั่วโลกได้ร่วมรับรู้ ประเทศไทยขานรับนโยบายภายใต้แนวคิดเรื่องการเรียนรู้ที่จะประคองชีวิตจิตใจในวิถีพุทธ เพื่อค้นพบความสงบสุขท่ามกลางความโกลาหลบนเส้นทางที่ยากลำบากในปัจจุบัน โดยไม่เบียดเบียนใครโดยเฉพาะตัวเอง เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรคแสนสาหัส จัดเป็นที่มาของแนวคิดครั้งที่ 3 “CHAOS: CALM โกลาหล : สงบสุข”

นอกจากนี้ยังนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มพื้นที่เสมือนจริง BAB Virtual Venue[3] ใช้จัดแสดงผลงานดิจิทัลอาร์ตบนโลกออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ของงานศิลปะที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงอยู่ในขณะนี้ โดยมีศูนย์กลางจัดวางอยู่ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

งานศิลป์หลายแนวหลากแขนงแข่งประชันกันตั้งแต่ชั้น 1 ถึงชั้น 9 ล้วนสะท้อนความคิดจิตวิญญาณของศิลปินผู้สร้างงาน และสถานการณ์ยุคสมัยที่มีโรคภัย บาดแผล สิ่งแวดล้อม และอุดมการณ์ เป็นฐานในการสร้างงานบอกความวิบัติที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ เพื่อฉุดสำนึกให้ร่วมกันตรึกตรองอย่างมีความหวังหลังโควิดที่ชีวิตต้องเปลี่ยนไป เป็นรูปธรรมที่เห็นถึงการค้นพบความสงบภายใน จากความพยายามที่จะเปลี่ยนสภาพการณ์ Dystopia เพื่อความเป็น Utopia ในอนาคต

 

 

Performance Art: ศิลปะแสดงสด

นอกจากงานทัศนศิลป์แขนงต่างๆ ที่สร้างความประทับใจต่อมวลชนคนต้องการอาหารสมองแล้ว หนึ่งในศิลปะการแสดงที่ถูกจับจ้องมานานในวาระงานต่างๆ คือ Performance Art หรือศิลปะการแสดงสด เพิ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้างและสร้างความน่าสนใจมาไม่นาน

หลังจากที่ จุมพล อภิสุข ได้ทำการบุกเบิกถางทางสายนี้มานานกว่าศตวรรษแล้ว และเป็นส่วนสำคัญที่สร้างสีสันให้กับ BAB 2022 ซึ่งคัดสรรมาประชันกันหลากรุ่นหลายชาติที่ล้วนสร้างสรรค์ได้น่าสนใจ สร้างความตระหนักรู้ภายในแก่ผู้ชมภายใต้แนวคิดและให้อิสระในการตีความ CHAOS: CALM (โกลาหล : สงบสุข)

 

 

“ละครเงา หนังตะลึง” โดย วสันต์ สิทธิเขตต์

วสันต์ สิทธิเขตต์ จิตรกร ศิลปินแสดงสด สร้างสรรค์ “ละครเงา หนังตะลึง” ล้อเลียนหนังตะลุง จากตัวละครเป็นร้อยเขาคัดเลือกจำลองแบบขึ้นมาเพียงบางส่วน ทั้งขนาดใหญ่มหึมาแขวนผนัง และขนาดเล็กเท่ากับ หุ่นหนังตะลุง โดยการเลือกบุคคลสำคัญของต่างชาติและประเทศไทย มานำเสนอเพื่อสื่อสารความคิดและความสำคัญของบุคคลเหล่านั้น เพราะล้วนมีอำนาจบงการความเป็นไปของโลก เช่น กรีกอรี ยิฟีเมอวิช รัสปูติน  (Grigori Yefimovich Rasputin) นักรหัสลัทธิชาวรัสเซีย, โจเซฟ โรบิเนตต์ ไบเดิน จูเนียร์ (Joseph Robinette Biden) หรือ โจ ไบเดิน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบัน, วอลอดือมือร์ ออแลกซันดรอวึช แซแลนสกึย (Volodymyr Oleksandrovych Zelenskyy) ประธานาธิบดียูเครน, มาร์ก ปรูดอง นักสังคมนิยม (อนาธิปไตย) มีผลงานโด่งดังเป็นหนังสือชื่อ “What is Property”, มหาตมา คานธี (Mahatma Gandhi) รัฐบุรุษชาวอินเดียและศาสนาฮินดู, โสกราตีส (Socrates) นักปราชญ์ของกรีกโบราณและเป็นนักปรัชญาตะวันตก ฯลฯ

ส่วนของไทยวสันต์เลือกรัฐบุรุษอาวุโสและหนังสือสำคัญที่ท่านเหล่านั้นคิดทำ ซึ่งเป็นคุณูปการต่อบ้านเมืองและพลเมืองต้องอ่าน เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ หนังสือ “โฉมหน้าศักดินาไทย”, ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แนวทางรัฐสวัสดิการ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”, ปรีดี พนมยงค์ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือ “สมุดปกเหลือง”, พุทธทาสภิกขุ “ธรรมิกสังคมนิยม” (DHAMMIC SOCIALISM) ฯลฯ

การแสดงสดของวสันต์คลอไปกับดนตรีสดสี่ชิ้น ดิ้นอยู่ระหว่างแสง-เงาเร้าไปกับบทพากย์ที่เริ่มต้นด้วยบทสวดไหว้ครูอย่างจริงจังเนื้อหาเข้มขำเข้ากับตัวหนังขนาดมโหฬารที่ขนานไปกับทางเดินขึ้นชั้น 9 ของ BACC (ลักษณะ satire comedy มีอวัยวะเพศชายเป็นสื่อสัญลักษณ์แทน อำนาจเถื่อน ตัณหา ราคะ หรือจะปิตาธิปไตย ก็สุดแต่ใจใครจะตีความ)

 

 

“The Standard”: Long Durational Performance Exclusive Interview: Pitchapa Wangprasertkul

 

 

หนึ่งในหลายผลงานที่จัดแสดงซึ่งสร้างการปะทะสังสันท์ทางความคิดให้กับผู้ชมอย่างชัดเจนตรงจุด สะดุดใจให้ตั้งคำถามกันกระหึ่มกรุง เป็นดาวรุ่งที่พุ่งแรงแซงรุ่นพี่คือ “THE STANDARD: Long Durational Performance” โดย พิชชาภา หวังประเสริฐกุล (น้ำอุ่น) นิสิตจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิลปินรุ่นใหม่ที่เพิ่งสร้างสรรค์ผลงานผ่านมาเพียงสองปี ปัจจุบันเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์อิสระ, นักออกแบบปกหนังสือ, ครีเอทีฟบริษัทโฆษณา และเป็นสมาชิกของกลุ่ม Spring Movement (เคลื่อนไหวในกิจกรรมการเมือง มีสโลแกน “ปิตาธิปไตยจงฉิบหาย ความเป็นธรรมหลากหลายจงเจริญ”)

พิชชาภาได้เริ่มเรียนรู้ศาสตร์ Performance Art ครั้งแรกเมื่ออายุ 19 ปี หลังถูกเลือกให้เป็น Facilitator (ผู้อำนวยความสะดวกงานนิทรรศการ) ใน Bangkok Art Biennale ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2018 ในหน้าที่ของ DEK BAB เหมือนพบคนที่ชอบมอบประสบการณ์ที่ใช่ให้กับเธอ หลังประจักษ์ในศักยภาพของงานแสดงซึ่งส่งผลแรงต่อปฏิกิริยาและอารมณ์ของผู้ชมขณะที่มีส่วนร่วมกับการแสดง เป็นแรงผลักให้หลงรัก Performance Art ส่งผลงานผงาดกล้าโชว์ปัญญาของตัวเองครั้งแรกเมื่อปี 2020 ด้วยผลงานที่เปี่ยมอุดมการณ์พร้อมการตั้งคำถามถึงสถานะและความขัดแย้งของอำนาจ ที่สะท้อนถึงพลังพลวัตทางการเมือง (Power Dynamics) และความไม่สมดุล ซึ่งส่งผลต่อความคิดและความเชื่อของผู้ชม บ่มให้จุดยืนของน้ำอุ่นเด่นชัด ถนัดที่จะทำให้ผู้ชมได้ครุ่นคิดเพื่อเพิ่มพลังชีวิตให้กับตัวเอง ในขณะเดียวกันก็จะทดทอนอำนาจตัวตนของคนสร้างงานอย่างจงใจ การกระทำโดยเจตนาดีของน้ำอุ่นกระตุ้นให้ผู้ชมอยากมีส่วนร่วมและตอบสนองต่องานศิลปะของเธออย่างกระตือรือร้น

ส่งผลให้งานที่จัดแสดงใน BAB 2022 “THE STANDARD” ผงาดกล้าท้าไวรัลจรัสแสงแรงสนั่นลั่นโซเชียลฯ ขึ้นเทร็นด์และถูกพูดถึงอย่างอึงอลจนเป็นที่มาของฉายา “พิชชาภากับปริศนาในกล่องแก้ว” (พิชชาภา — ผู้รุ่งเรืองด้วยความรู้) เพราะภาพของสาวน้อยในกล่องใสสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดพอดีตัว 88×80×100 มีเสน่ห์ดึงดูดที่ไม่ใช่แค่ไอเดียการออกแบบ ซึ่งเต็มไปด้วยคำถามที่ตะโกนใส่ผู้คนให้ฉงนตั้งแต่แรกพบเท่านั้น แต่มันมาพร้อมกับการเชิญชวนให้ตีความตามประสบการณ์ ผู้คนสนานสนุกที่ถูกปลุกสำนึก เร้าความรู้สึกให้อยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน

 

 

“The Standard” เป็นชื่อที่มากความหมายในหลายหมวด มาตรฐาน บรรทัดฐาน กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ กรอบ ผู้นำ ฯลฯ ส่วน Long Durational Performance เป็นการแสดงที่ใช้เวลาทดลองระยะยาวกว่าปกติ สำหรับศิลปินผู้สร้างงาน มีแนวความคิดที่พูดถึงวิถีซึ่งถูกจำกัดการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการเป็นพนักงานประจำในกรุงเทพฯ ถูกจำกัดในเรื่องของค่าเงิน เช่น รัฐสวัสดิการ กฎหมาย (เงินเดือนประจำ ค่าแรงขั้นต่ำ ค่าอาหารกลางวัน สวัสดิการผู้สูงอายุ ฯลฯ) ที่ต่ำมากจนยากที่จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีความหวัง นอกเสียจากจะคิดว่าเอาตัวรอดไปวันต่อวัน

งานจึงออกมามีความหมายเชิงประชดประชัน โดยไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งเกินจำเป็นในการใช้ชีวิต ภายในกล่องจึงมีเพียง ขวดน้ำ แบตเตอร์รี่ ไวไฟ แล้วทำงานจริง ทางบริษัทจ่ายเงินเดือนให้ตามเงื่อนไขข้อตกลง work from home ในขณะเดียวกันก็ performance ในกล่องร่วมกับเทศกาล เป็นงานทดลองเรื่องสภาวะที่ถูกบีบคั้นตามเงื่อนไขจนไม่น่าที่จะดำรงอยู่ได้ คนเราสามารถใช้ชีวิตอย่างไร และจะส่งผลต่อสภาพจิตใจอย่างไรบ้าง สร้างความน่าสนใจให้ติดตาม

หลังการแสดงงานผ่านไปสองเดือนเต็ม การตอบรับจากผู้คนที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับพิชชาภาเป็นเรื่องที่น่าศึกษาในมุมของจิตวิทยาสังคม หลายคนเข้ามาคุยด้วยนานๆ ด้วยการพูดถึงปัญหาที่ตัวเองมีหรือว่าที่ตัวเองเจอในสังคม สิ่งที่ตัวเองเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฯลฯ

 

“เขาคงรู้สึกว่าสิ่งนั้นมีความเป็นมนุษย์อยู่ เราไม่ได้พยายามใส่ความคิดเรื่องความไม่ยุติธรรมในสังคมลงไปในหัวเขาให้เยอะที่สุดอะไรแบบนั้น แต่มันคือการทักทายธรรมดา งานของเราเปิดโอกาสให้คนตีความได้อย่างอิสระอยู่แล้ว แทนที่จะถามเขาว่าคอนเซ็ปงานเราคืออะไร เราก็จะถามเขากลับไปว่าสำหรับเขามันหมายถึงอะไร แล้วเราจะได้คำตอบที่ดีกว่าไปอธิบายให้เขาฟัง เพราะคอนเซปต์งานเราเป็นคำเดิมประโยคเดิมอยู่แล้ว สิ่งที่เขาตีความได้ต่างหากคือของใหม่ ซึ่งหลายคนจะ relate ความเป็นกล่องนี้กับปัญหาที่ตัวเองต้องเจอ

เช่น ความกดดัน ความไม่ยุติธรรม หรือในเรื่องส่วนตัวก็มีความกดดันที่ถูกจับจ้องจากคนอื่น ประมาณนี้ เรารู้สึกตัดสินใจถูกที่ไม่ได้เลือกที่จะวางเฉยต่อผู้ชม ฉันจะแสดงของฉันแล้วเธอมีหน้าที่ดู รู้สึกดีกว่าที่ได้ให้โอกาสทั้งผู้ชมงานแล้วก็ตัวเราแสดงไปพร้อมๆ กัน มีโอกาสจับชิ้นงาน เข็นรถ จับแก้ว เอาของเข้ามาให้ เอาของออกไป หรือพูดคุยได้ ทั้งตัวศิลปินและผู้ชมมีศักยภาพพอๆ กัน ในการคิดในการสร้างศิลปะให้เกิดขึ้นด้วยกัน”

 

นี่คือสิ่งยืนยันแนวคิดในการสร้างงานที่ทำให้พิชชาภาประทับใจผู้ชมที่มีส่วนร่วม เพราะเกิดการตีความหลากหลาย ทลายกรอบความคิดของศิลปินที่พูดถึงเรื่องของการถูกจำกัด อะไรอยุติธรรมที่สุด อะไรที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจมากที่สุด หรือสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งหลายคนตีความหมายตรงกัน และสามารถเชื่อมโยงไปกับประสบการณ์และสิ่งที่เขาเหล่านั้นรู้สึก

ปรากฏการณ์ไวรัลที่เกิดขึ้น พิชชาภากลับไม่ได้มองว่าเป็นความสำเร็จของผลงาน เพราะเธอตั้งคำถามกับตัวเองอยู่ตลอดว่า “มาอยู่ในกล่องนี้ทำไม?” บทบาทของตัวเองควรต้องทำอย่างไร อุปกรณ์อะไรบ้างที่ต้องใช้ และประเด็นสำคัญคือทิศทางของการแสดงครั้งนี้คืออะไร แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในกล่องแล้วกลับไม่รู้สึกถึงความกดดัน อึดอัด หรืออยากรีบออก รู้สึกเป็นไปได้ และไม่น่ากลัวอย่างที่คนอื่นมองเข้ามา นั่นหมายถึงการยอมรับสภาพการณ์ และยอมสยบอยู่ใต้อำนาจของกรอบ ที่กดดันด้วยเงื่อนไขให้น้อมจำนนในวิถี ฯลฯ โดยไม่มีความรู้สึกอยากออกจากกล่อง 

 

“ถ้าเรารู้สึกโอเคเป็นไปได้แล้วเราจะออกจากกล่องได้ยังไง เมื่อไหร่เราถึงจะรู้ตัวว่าควรจะออกจากกล่อง แล้วแบบนี้ในชีวิตจริงเราอยู่ในกล่องด้วยหรือเปล่า หรือเราแค่โอเคไปกับมันไม่ได้รู้สึกอะไร? เพราะเราชินกับมันไปแล้ว?” พิชชาภาตั้งคำถาม

 

เมื่อเกิดการตั้งคำถามจึงได้คำตอบว่า นี่คือการรอใครสักคนหรือเพื่อให้เหตุการณ์สักอย่างเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็พยายามจะยืดงานศิลปะออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะงานชิ้นนี้จะมีความหมายแรงลึกก็ต่อเมื่อมีศิลปินที่เป็น Performer อยู่ข้างในกล่องด้วย จึงพยายามฝืนตัวเองให้อยู่ในกล่องได้นานที่สุดในแต่ละวัน และนานที่สุดเท่าที่เดือนนั้นๆ จะมีเวลาให้ได้

 

“ในระหว่างที่เราค้นพบตัวเอง เราก็รอให้คนอื่นมาค้นพบเรื่องเกี่ยวกับตัวเขาด้วยเหมือนกัน ทุกโมเมนต์ที่คนได้มาเห็นงานเราเป็นครั้งแรก แล้วได้ทำงานกับเขา สิ่งนี้คุ้มค่าที่เราต้องนั่งรออยู่ในกล่องเป็นเวลาหลายวัน ทุกโมเมนต์สำคัญ แล้วเราดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความนึกคิดของคนหลายคน”

 

 

“The Standard” จึงเป็นผลของความพยายามที่จะลดอำนาจศิลปินลงเท่าที่จะทำได้ แล้วถูกทำให้เป็นบรรยากาศที่ศิลปินกับผู้ชมงานสามารถคุยถกเถียงกันได้ แรกเธอคิดว่าต่างชาติอาจจะไม่เข้าใจเพราะงานคิดจากบริบทสังคมไทย นั่นทำให้เธอตั้งข้อสังเกตว่าคนไทยอยากได้คำตอบที่ถูกต้องมากกว่าชาวต่างประเทศ แม้ตีความในใจไปแล้วแต่ยังอยากได้คำยืนยันจากศิลปินว่าคอนเซปต์งานคืออะไร อยากได้คำตอบจากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า คือศิลปินซึ่งเป็นคนคิดงานแทน

เพราะให้ความสำคัญกับป้ายอธิบายรายละเอียดงาน (Description) ที่บางครั้งเธอรู้สึกอยากตัดออกไป เพราะอาจจะทำให้เกิดการไขว้เขว สับสน งุนงง ต่อผู้ชมงาน เมื่อเกิดการตีความหลากหลายในสื่อโซเชียลจนกลายเป็นไวรัลจึงมีคนไทยที่พยายามปกป้องศิลปินด้วยการอ้างอิง Description และถือเป็นมารยาทในการให้ความเคารพความคิดในการสร้างงานของศิลปิน

 

“การทำงานหนักของเรานั้น global น่าจะเข้าใจได้ว่าปัญหาในสังคมเป็นอย่างไร เราว่าไม่จำเป็นเลย ตีความอย่างไรก็ได้ ไม่ได้มองว่าทุกคนต้องมาอ่านแล้ว Respect เรา ไม่กังวลว่างานฉันถูกบิด Message เราต้องปล่อยค่ะ นั่งคุมไม่ได้ขนาดนั้น ไม่มีประโยชน์ งานศิลปะก็แค่กระตุ้นให้คนได้คิด อยากให้คนได้เชื่อมโยงเข้ากับปัญหาใกล้ตัวที่เขาพบเจออยู่ก็ถือว่าได้ทำงานแล้วสำหรับเรา”

 

 

หลายคนที่ได้มาชมงานมาคุยกับเจ้าของผลงาน “The Standard” จึงรู้สึกเหมือนถูกตบเขย่าให้ตื่น เพื่อตั้งคำถามกับชีวิตของตัวเอง ‘ฉันเห็นแล้วว่าชีวิตฉันอยู่ตรงไหน’ หรือว่า ‘ฉันจะออกไปจากที่นี่ได้อย่างไร’ แต่สำหรับบางคนงานนี้อาจจะยังไม่รุนแรงมากพอ แต่พิชชาภายืนยันแนวคิดของงานอย่างชัดเจนว่า การตั้งคำถามเป็นเรื่องสำคัญ และไม่ได้ต้องการจะสื่อว่าโลกเราเต็มไปด้วยปัญหา หรือเป็นกรงกรอบที่ไร้ทางออก ไม่ใช่ความเกลียดชังโลกหรือวิถีอย่างที่เป็น แล้วเธอมีอิสระเหนือทุกสิ่ง

 

“มันคือการตั้งคำถามไปเรื่อยๆ ว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่ทำอยู่มันถูกต้องหรือเปล่า แล้วมันก็สำคัญมากไม่ว่าเราจะทำอะไร โดยเฉพาะผู้มีอำนาจควรจะถูกตั้งคำถามได้ด้วยซ้ำว่ากำลังทำอะไรอยุู คุณทำอย่างนี้มันถูกต้องหรือเปล่า เพราะสิ่งที่เขาทำมันเกี่ยวข้องกับชีวิตคนอื่นๆ แต่คนบางคนจะมองว่าการตั้งคำถามมันคือการก้าวร้าว ทำตัวเป็นปัญหา หรือการสร้างปัญหาขึ้นมาในสังคม ซึ่งมันก็แค่การตรวจสอบ เช็คไปเรื่อยๆ คิดไปเรื่อยๆ อย่าหยุดคิด คนที่บอกว่าไม่ต้องคิดนั่นแหละไม่น่าไว้ใจสุดแล้ว (หัวเราะ) คืองานเรามันก็เลยเป็นแนวทางประมาณนี้มาตลอดว่า จะชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่ แต่อย่างน้อยก็ขอให้คุณได้คิดค่ะ”

 

ถูกของเธอพิชชาภาอดีต DEK BAB หัวก้าวหน้า ถ้าไม่ต้องการคิดหรือตีความเพื่อรับรู้เร็ว ก็มีงานแนวเหมือนจริงให้เลือกเสพหลายแขนง อยู่ที่ใจใครจะปรารถนาสิ่งใด

 

 

ทุกเทศกาลงานศิลปะทั้ง Thailand Biennale และ Bangkok Art Biennale ฯลฯ  ล้วนทรงคุณค่าในสถานะและบทบาทของตัวเอง เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ส่งเสริมการเกิดใหญ่ของศิลปินและคนรักงานศิลปะเพิ่มขึ้นทุกปี จึงไม่ต่างจากความเป็นสถาบันการเรียนรู้ เพราะการให้โอกาสทุกฝ่ายมีความหมายมากกว่าอิเวนต์ที่เป็นกิจกรรมทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการกระจายตัวลงสู่ภูมิภาคของ Thailand Biennale หรือ Bangkok Art Biennale การดูแลหล่อเลี้ยงองค์ความรู้เป็นหน้าที่ของรัฐซึ่งต้องจัดอย่างเข้าใจในรายละเอียดทุกด้านของงานที่มีลักษณะเฉพาะต่างออกไปจากเทร็นด์อิเวนต์ทั่วไป หน้าที่ของเราเหล่าพลเมืองคือการทำความเข้าใจและมีส่วนร่วมในบทบาทของผู้ชมที่เป็นทั้งนักเรียนนักศึกษา หาความรู้กับสิ่งที่เสพรับอย่างรื่นรมย์

สำหรับเยาวชน ผู้ที่สนใจในศิลปะ DEK BAB[4] คือบันไดขั้นแรกที่เปิดโอกาสให้อาสาสมัครตั้งแต่ระดับนิสิตนักศึกษา หรือบุคคลทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการจัดงาน เพื่อฝึกประสบการณ์กับศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศ โดยเป็นผู้ช่วยติดตั้งงานศิลปะ (Artist Crew), ผู้ติดตามศิลปิน (Liaison), ผู้นำชมและดูแลชิ้นงาน (Docent) รวมถึงร่วมเวิร์คช็อปและอบรมโดยทีมงานภัณฑารักษ์ และกูรูด้านศิลปวัฒนธรรมที่มีประสบการณ์การจัดงานศิลปะในระดับโลก DEK BAB จึงทำหน้าที่เสมือนทูตวัฒนธรรมเชื่อมต่อระหว่างศิลปินกับผู้ชมงาน คือฟันเฟืองที่เติมเต็มให้งานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale  สมบูรณ์ขึ้นในทุกๆ ปี

เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2022 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม 2565 ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2566 ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนนำโดย บ. ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวเชิงศิลปะและวัฒนธรรมไทย จึงได้ผสานความร่วมมือครั้งสำคัญกับกรุงเทพมหานคร, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) และเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วนนำความสุขสู่ประชาชน

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบโดยผู้เขียน กวินพร เจริญศรี

 


[1] 1st International Art Exhibition of the City of Venice, Venice  Biennale, สืบค้น 6 ตุลาคม 2565, Wikipedia.orgi/Biennale.

[2] งานเทศกาลศิลปะนานาชาติ เบียนนาเล กรุงเทพ, Bangkok Art Biennale 2022 (BAB 2022),  สืบค้น 19 ตุลาคม 2565, https://www.bkkartbiennale.com/chaos-calm.

[3] Digital Art “BAB Virtual Venue”, โดย https://www.bkkartbiennale.com/ https://virtualvenue.bkkartbiennale.com, สืบค้น 25 ตุลาคม 2565.

[4] อาสาสมัคร DEK BAB, งานศิลปะนานาชาติ Bangkok Art Biennale,สืบค้น 14 ตุลาคม 2565 https://www.bkkartbiennale.com/events/dekbab-apply-now.