Focus
- บทความนี้นำเสนอประวัติชีวิต ผลงาน และความสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญในวาระชาตกาลครบ 100 ปี ของวิลาศ มณีวัต วิลาสคือ นักคิดนักเขียนผู้มีผลงานหลากหลายรูปแบบซึ่งเกิดก่อนการอภิวัฒน์สยามเพียงไม่นานโดยมีผลงานสำคัญเช่น สายลม-แสงแดด และธรรมะสำหรับคนนอกวัด เป็นต้น บุคลิกของวิลาศนั้นเป็นนักเขียนอารมณ์ดี และมีงานเขียนทั้งสาระความรู้และมีความสุขจากการมองโลกในแง่ดีจึงมีฉายาว่าเป็น “นักเขียนอารมณ์สีชมพู”
- วิลาศ มณีวัตรู้จักกับบุคคลที่มีชื่อเสียงและเขียนถึงความสัมพันธ์หรือมักจะเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ของบุคคลสำคัญไว้จำนวนหนึ่ง อาทิ วิลาศเคยเล่าถึงนายปรีดี พนมยงค์โดยเก็บเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในชีวิตของนายปรีดีมาจากข้อเขียนของไสว สุทธิพิทักษ์ เป็นต้น วิลาศยังรู้จักและมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งถูกกล่าวถึงจากทวีป วรดิลก, สุภา ศิริมานนท์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ วิลาศยังได้พบกับสัญญา ธรรมศักดิ์ และพุทธทาสภิกขุ
16 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลของ วิลาศ มณีวัต นักคิดนักเขียนคนสำคัญแห่งเมืองไทยผู้มีผลงานหลากหลายรูปแบบ โดยชิ้นงานที่สร้างชื่อเสียงลือลั่น ก็เฉกเช่น สายลม-แสงแดด และ ธรรมะสำหรับคนนอกวัด เป็นต้น
วิลาศ เป็นนักเขียนที่อารมณ์ดี สามารถเขียนหนังสือแล้วทำให้ผู้อ่านเพลิดเพลินกับทั้งสาระความรู้และความสุขจากการมองโลกในแง่ดี จนเขาได้รับฉายาว่าเป็น “นักเขียนอารมณ์สีชมพู”
วิลาศ ลืมตายลโลกหนแรกสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2467 ที่ตำบลบ้านดอน อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขาเป็นบุตรชายคนโตของ ขุนมณีวัตศึกษากร (วัลลภ มณีวัต) ซึ่งครองตำแหน่งธรรมการอำเภอ (ต่อมาคือศึกษาธิการอำเภอ) และนางอารี เริ่มต้นเรียนหนังสือในโรงเรียนสารภีอุทิศที่พุมเรียง อำเภอไชยา แล้วเข้าเรียนต่อยังโรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อนเดินทางสู่เมืองหลวงมาเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ณ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยจนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยช่วงต้นทศวรรษ 2480 กระทั่งเข้าศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทางด้านพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
ช่วงที่ยังเป็นนิสิตจุฬาฯ วิลาศ ได้เริ่มต้นเขียนหนังสือส่งไปตีพิมพ์ตามหน้านิตยสารต่างๆ เช่น มีผลงานเรื่องสั้นเรื่องแรกอย่าง “ยุวกวีแห่งบางใบไม้” ลงตีพิมพ์เผยแพร่ช่วงปี พ.ศ. 2485 และเรื่องสั้น “เชิญเถิดพระยามฤตยู” ที่ใช้นามปากกาว่า “วิวัต” ลงตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร เอกชน เป็นต้น
วิลาศ ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทเป็นนักเขียนเต็มตัวครั้งแรกขณะที่เป็นนิสิตจุฬาฯชั้นปีที่สอง ซึ่ง สุภา ศิริมานนท์ ชวนให้มาเขียนคอลัมน์ประจำชื่อ “สายลม-แสงแดด” ในนิตยสารรายสัปดาห์ นิกรวันอาทิตย์ โดยใช้นามปากกา “นภาพร” นับแต่ช่วงกลางปี พ.ศ. 2486 อันเป็นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงใช้ชื่อตามภาษาเขียนยุคนั้นว่า นิกรวันอาทิจ นิตยสารนี้เริ่มออกเผยแพร่ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2486 ผู้อำนวยการคือ รองสนิท โชติกเสถียร กรรมการคนหนึ่งของบริษัทไทยพาณิชยการ จำกัด หรือที่เรียกกันว่า “วิกสีลม” เพราะสำนักงานและโรงพิมพ์ตั้งอยู่ที่ถนนสีลม
รองสนิท เกิดความคิดที่จะจัดทำนิตยสารรายสัปดาห์นำเสนอเนื้อหาที่พ้นไปจากเรื่องการเมือง จึงเรียกตัว สุภา มามอบหมายให้เป็นผู้จัดทำ นิกรวันอาทิจ ขนาดแท็บลอยด์จำนวน 32 หน้า พิมพ์ออกจำหน่ายราคาฉบับละ 35 สตางค์ เป็นนิตยสารฉบับแรกของไทยที่ไม่มีประกาศโฆษณาสินค้าเลย เพราะจัดทำโดยบริษัทที่มีเงินทุนจากการออกหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นอีกหลายฉบับ
วิลาศ เคยบอกเล่าไว้ผ่านในหนังสือนวนิยายเรื่อง ความรักไม่มีพรมแดน ของเขาว่า “ชาญหัตถกิจ” ซึ่งเป็นนามปากกาของ พลตรีไชยันต์ ถนัดหัตถกรรม เป็นผู้ชักชวนทำให้เขาได้รู้จักกับ สุภา ศิริมานนท์ เมื่อ สุภา จัดทำ นิกรวันอาทิจ ก็อยากจะให้มีผู้เขียนประจำคอลัมน์ “สายลม-แสงแดด” เพื่อนำเสนองานเขียนที่จะช่วยฟื้นฟูเยียวยาและให้กำลังใจผู้อ่านในห้วงเวลาที่ต้องเผชิญกับสภาวะสงครามอันน่าสลดหดหู่ เดิมทีนั้น สุภา ชักชวนให้ ประหยัด ศ. นาคะนาท เจ้าของนามปากกา “นายรำคาญ” มาเขียนคอลัมน์นี้ แต่ ประหยัดเขียนได้เพียงไม่กี่ตอนก็เลิกไป เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่แนวทางของตน ครั้น สุภา ได้ทำความรู้จักและสนทนากับวิลาศ จึงชักชวนมาเขียนแทน ประหยัด ซึ่งคอลัมน์นี้ได้ส่งผลให้ วิลาศ กลายเป็นนักเขียนเต็มตัวและสร้างชื่อเสียงอย่างมาก
ทวีป วรดิลก นักคิดนักเขียนคนสำคัญของไทย เคยกล่าวถึง นิกรวันอาทิตย์, สุภา ศิริมานนท์ และวิลาศ มณีวัต ไว้ว่า
“ผมจำได้ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2487 เมืองไทยอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง กระดาษและสินค้าจำเป็นอย่างอื่นๆ ต้องขาดแคลน มีราคาแพงลิบลิ่ว ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์สมัยนั้นมีจำหน่ายในท้องตลาดเพียง 2 ฉบับเท่านั้น คือ สุภาพบุรุษประชามิตร กับนิกรวันอาทิตย์
สำหรับ นิกรวันอาทิตย์ มีคุณสุภาเป็นบรรณาธิการ เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ผมพอใจมาก เพราะบรรจุเรื่องและคอลัมน์ต่างๆ อย่างยากจะหาหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฉบับไหนมาเทียบเคียงได้ ทั้งในสมัยก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้น กล่าวคือ นอกจากจะมีเรื่องสั้นของนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงและมีแฟนมากอย่าง “เรียมเอง” (แม่อนงค์ หรือมาลัย ชูพินิจ) อ.มนัสวีร์ (มนัส จรรยงค์) แล้ว ยังมีเวทีสำหรับนักประพันธ์ใหม่ที่เรียกว่า “เรื่องสั้นโบว์แดง” ที่ลงพิมพ์เป็นประจำทุกสัปดาห์ และความจริง แม้ว่าเรื่องสั้นโบว์แดงจะเป็นของนักประพันธ์ใหม่ แต่ก็ “กินขาด” ทั้งในแง่ของสุนทรียะคือ รูปแบบทางศิลปะและในแง่ของเนื้อหาสาระ นักประพันธ์ใหม่ที่ “ดัง” จากเรื่องสั้นโบว์แดงใน นิกรวันอาทิตย์ ก็ได้แก่ ส.ธรรมยศ, เสนีย์ เสาวพงศ์, อิศรา อมันตกุล, สวิง พรหมจรรยา (ทองเดิม เสมรสุต) ฯลฯ เป็นต้น
นอกจากนั้น นิกรวันอาทิตย์ ยังมีคอลัมน์ “หนังสือและผู้แต่ง” เป็นการรีวิวหนังสือที่พิมพ์ออกจำหน่ายในท้องตลาดใหม่ๆ ซึ่งนับว่าหายากสำหรับหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์สมัยนั้น ผู้เขียนคือ “โอฬาร” (วิลาศ มณีวัต) เฉพาะคุณวิลาศนี้กล่าวได้ว่า “ดัง” ในวงการวรรณกรรมสมัยนั้นก็โดยแรงสนับสนุนของคุณสุภาเป็นสำคัญ ทั้งๆ ที่คุณวิลาศเป็นนักประพันธ์หน้าใหม่ แต่ก็มีข้อเขียนปรากฏในนามปากกาต่างๆ กัน อาทิ วิวัต, วิไล วัชรวัต และ นภาพร
นอกจากนี้ นิกรวันอาทิตย์ ยังมีข้อเขียนทางวิชาการลงพิมพ์ที่ทำให้แตกต่างไปจากหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์อื่นๆ ทั่วไป ข้อเขียนทางวิชาการที่ว่านี้ เท่าที่ผมจำได้ก็ได้แก่ ข้อเขียนวิชาเศรษฐศาสตร์เขียนโดยมหาบัณฑิตหนุ่มทางเศรษฐศาสตร์จากญี่ปุ่น ซึ่งภายหลังทั่วทั้งเมืองไทยรู้จักกันในนามของ “ซามูไรจอมโหด” ซึ่งก็ได้แก่ คุณสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีคลังผู้มีชื่อเสียงฉาวโฉ่นั่นเอง
หนังสือพิมพ์ นิกรวันอาทิตย์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นหนังสือพิมพ์คุณภาพฉบับแรกที่ผมอ่านในช่วงที่อยู่ในวัย “แสวงหา” ได้ให้ความประทับใจแก่ผมอย่างล้ำลึก โดยเฉพาะในเมื่อเมืองไทยในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นยุคแห่งความเสื่อมทราม หนังสือพิมพ์รายต่างๆ ที่พิมพ์ออกจำหน่ายในท้องตลาดส่วนใหญ่ด้อยคุณภาพ แม้แต่การตรวจปรู๊ฟก็ผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย”
คอลัมน์ “สายลม-แสงแดด” ของ วิลาศ ไม่เพียงแต่สร้างชื่อเสียงลือลั่นในช่วงปลายทศวรรษ 2480 เท่านั้น หากต่อมายังส่งอิทธิพลมาถึงการใช้คำนี้เพื่ออธิบายถึงบรรยากาศและยุคสมัยทางสังคมของไทยในช่วงทศวรรษ 2500 และต้นทศวรรษ 2510 สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการคนสำคัญได้ชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่า
“แต่เดิมชื่อ “สายลมแสงแดด” นั้นเป็นคอลัมน์อยู่ในนิตยสาร “นิกรวันอาทิจ” รายสัปดาห์ที่มี สุภา ศิริมานนท์ เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ เมื่อ พ.ศ. 2485 คำว่า “สายลมแสงแดด” เป็นชื่อคอลัมน์แนวจิตวิทยา มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้กำลังใจผู้คนที่กำลังหมดหวังในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยงานเขียนคอลัมน์ส่วนนี้ สุภา ศิริมานนท์ได้มอบความไว้ใจให้ วิลาศ มณีวัต เป็นคอลัมนิสต์ประจำมาตั้งแต่ครั้งที่เขายังเป็นนิสิตคณะบัญชีจุฬา
แต่ต่อมา ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้ยืมเอาวลีนี้มาตีความใหม่ โดยมองว่า นิสิตนักศึกษาในยุคก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้นเป็นพวกสนใจแต่เรื่องไร้สาระ ดังนั้นเขาจึงเสนอให้เป็นเหมือนคล้องจองกันแบบเป็นแท่งๆ กล่าวคือ พอเลยจากยุค “สายลมแสงแดด” หรือยุคแสวงหาแล้ว ก็จะเข้าสู่ยุค “ฉันจึงมาหาความหมาย” นั่นคือสนใจการบ้านการเมือง จนในที่สุดได้นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้วเป็นไง..ฉันจึงมาหาความหมาย เพราะต่อจาก “ฉันจึงมาหาความหมาย” ชาญวิทย์ไม่ได้ทำนายต่อว่า แล้วมันก็จะหายไปกับ “ความเงียบ” ไง
ผมไม่มีอะไรมากไปกว่าจะให้ข้อมูลว่า ที่มาแท้จริงของคำว่า “สายลมแสงแดด” นั้น มีประวัติเป็นมาอย่างไร เช่นจากเดิมที่ สุภา ศิริมานนท์ เคยใช้ในความหมายของการให้ผู้คนสมัยสงครามมีความหวัง ไม่ยอมพ่ายแพ้ และมีกำลังใจ แต่ทว่าอีก 20 ปีต่อมา คำว่า “สายลมแสงแดด” ก็ได้รับการตีความใหม่จากนักประวัติศาสตร์คนหนึ่งที่ไม่ทราบความเป็นมาดั้งเดิมของวลีนี้ ดังนั้น เมื่อคุณจะเอามาใช้ใหม่โดยสืบขนบมาจากความเข้าใจของชาญวิทย์ ไม่ใช่จากขนบของสุภา ผมก็เลยอยากให้ข้อมูลเป็นหมายเหตุเอาไว้ จะได้ไม่เข้ารกเข้าพงกันไปใหญ่”
นั่นแสดงว่าการที่คนในสังคมไทยใช้คำว่า “สายลมแสงแดด” กันอย่างติดปากในบริบทที่เกี่ยวข้องกับบรรยากาศที่ปราศจากความสนใจต่อความเคลื่อนไหวทางการเมือง แท้จริงแล้ว กลับมีจุดเริ่มต้นมาจากคอลัมน์อันทรงพลังของ วิลาศ มณีวัต นั่นเอง
นอกเหนือไปจากคอลัมน์ “สายลม-แสงแดด” แล้ว วิลาศ ก็ได้ทำงานเขียนอีกมากมายและมีผลงานเผยแพร่ทางหน้าสื่อสิ่งพิมพ์หลากหลายแนว โดยถ่ายทอดผ่านสารพัดนามปากกา เช่น ใช้นามปากกา “โอฬาร” เขียนถึงหนังสือและวิจารณ์วรรณกรรม, ใช้นามปากกา “มาณพ” เขียนเรื่องแนวพุทธศาสนา, ใช้นามปากกา
“วิไล วัชรวัต” เขียนนวนิยายที่มีฉากต่างประเทศ, ใช้นามปากกา “ฉางกาย” เขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์รายวัน และใช้นามปากกา “หมวกเบอร์เจ็ด” หรือ “เกรียง บางเขน” เขียนสารคดีและประวัติบุคคล เป็นต้น
ปลายทศวรรษ 2490 วิลาศ สอบผ่านการคัดเลือกให้ไปเป็นโฆษกแผนกภาษาไทยของสถานีวิทยุ บี.บี.ซี. แห่งกรุงลอนดอน เขาจึงเดินทางไปทำงานอยู่ที่ประเทศอังกฤษช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2497-2502
ก่อนหน้านั้น วิลาศ ยังเคยมีประสบการณ์ทำงานบริษัทเอกชน ช่วงที่สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหมาดใหม่ เขาเข้าทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทเอสโซ่ ซึ่งได้ถูกส่งตัวไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา และต่อมาจึงเข้าทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย
ครั้น วิลาศ หวนย้อนคืนสู่เมืองไทยในปี พ.ศ. 2503 เขายังได้เข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสาร ชาวกรุง เป็นคนแรก ซึ่งที่นี่ เขาได้นำเอาเรื่องราวจากต่างประเทศมาเขียนบอกเล่าสู่นักอ่านชาวไทยได้อย่างเปี่ยมล้นสาระและถ่ายทอดด้วยสำนวนภาษาที่สนุกสนาน
นอกเหนือไปจาก ชาวกรุง แล้ว ช่วงเวลานั้น วิลาศ ยังได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่ในเครือหนังสือพิมพ์ แสนสุข รายสัปดาห์ให้จัดทำนิตยสารขึ้นในเครืออีกฉบับหนึ่งชื่อ นารีนาถ ซึ่งวิลาศบอกว่าเขารักชื่อนี้มาก อีกทั้งยังได้เปิดคอลัมน์ที่เกี่ยวกับการประพันธ์
วิลาศ ยังเคยจัดรายการโทรทัศน์ของสถานีโทรทัศน์กองทัพบก สนามเป้า และได้สร้างผลงานสารคดีที่สำคัญคือ ชีพจรลงเท้า มิเว้นกระทั่งเขายังเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติหรือที่เรียกขานติดปากว่า “สภาสนามม้า” ในสมัยรัฐบาลที่ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้บุคคลจากทุกสาขาอาชีพมาประชุมร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นช่วงปลายปี พ.ศ. 2516
วิลาศ คร่ำหวอดอยู่กับแวดวงหนังสือมาตลอดชีวิต กระทั่งในช่วงทศวรรษ 2530 วิลาศ ก็ยังเป็นบรรณาธิการนิตยสารวรรณกรรมอย่าง หนอนหนังสือ รวมถึงเขียนงานเผยแพร่ลงในนิตยสารรายปักษ์ ต่วย’ตูน อย่างต่อเนื่องจวบจนทศวรรษ 2540 ตราบกระทั่งถึงแก่กรรม นับว่าเขาใช้ชีวิตเพื่อเป็นนักเขียนโดยแท้จริง
ทางด้านชีวิตครอบครัว วิลาศ ได้สมรสกับ สุรีพันธุ์ ชาลีจันทร์ ซึ่งต่อมาคือ คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต ทั้งสองเป็นเพื่อนร่วมคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งยังเขียนหนังสือมาด้วยกัน ซึ่ง สุรีพันธุ์ ใช้นามปากกา “นิตยา นาฏยะสุนทร” สร้างสรรค์ผลงานเรื่องสั้นไว้เป็นจำนวนมาก ลงพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร ประชามิตร และได้รับคำชื่นชมจาก กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา “ศรีบูรพา”
ภายหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว สุรีพันธุ์ ได้ไปศึกษาต่อที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเป็นระยะเวลานานถึง 5 ปี ซึ่ง วิลาศ ก็เคยตามไปพำนักอยู่ที่นั่นด้วย เมื่อกลับจากต่างประเทศ สุรีพันธุ์เข้ารับราชการในเมืองไทยไปพร้อมๆกับเขียนหนังสือ สร้างผลงานโด่งดังหลายเรื่อง เช่น แก้วตาพี่ เป็นต้น
คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต เพิ่งจะอำลาโลกไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2566
วิลาศ เป็นผู้มีความสัมพันธ์กับ พุทธทาสภิกขุ ในฐานะที่เขาเคยเป็นศิษย์วัดมาตั้งแต่ครั้งสวนโมกข์เก่ายังตั้งอยู่ที่พุมเรียง ก่อนจะย้ายมาตั้งใหม่ที่วัดธารน้ำไหล รวมถึงยังมีความแน่นแฟ้นกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา “ศรีบูรพา”
วิลาศ ยังได้เป็นสื่อกลางที่ทำให้ กุหลาบ กับ พุทธทาสภิกขุ ได้มาพบเจอกันที่สวนโมกขพลารามเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 ซึ่งพุทธทาสได้บอกแก่ศรีบูรพาว่าในฐานะนักหนังสือพิมพ์ จะเขียนอะไรก็ให้เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ จึงนับว่า วิลาศ คือบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพุทธทาสภิกขุกับศรีบูรพา
ช่วงปลายทศวรรษ 2480 ขณะที่ วิลาศ เริ่มต้นเป็นนักเขียนหนุ่มอย่างจริงจัง ก็เคยใช้นามปากกาว่า “มาณพ” เขียนวิเคราะห์ถึงเรื่องราวของพุทธทาสภิกขุและสวนโมกขพลาราม ลงตีพิมพ์เผยแพร่ใน นิกรวันอาทิจ ต่อเนื่องกันหลายตอน
หรือต่อมาอีกหลายสิบปี วิลาศ ก็ยังเคยกล่าวถึงท่านพุทธทาส ด้วยประสบการณ์ที่เขาได้ไปพบเห็นโลกกว้างมามิใช่น้อย
“...ที่ซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน สหรัฐฯ ผมพบฝรั่งคนหนึ่งซึ่งมีงานของท่านพุทธทาส (แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว) เล่มเล็กๆ วางอยู่ในห้องรับแขกหลายเล่ม เขาบอกผมว่า ท่านผู้นี้เป็นคนเก่งคนหนึ่งของเอเชีย ความคิดของท่านทำให้ เรามองเห็นแง่มุมใหม่ๆ อันน่าอัศจรรย์ของพุทธศาสนา ”
“ขอให้คนไทยเราได้มีความภาคภูมิใจเถอะครับที่เรามีคนเก่งอย่างท่านพุทธทาส”
“เราไม่มีโรงงานสร้างเครื่องบินหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะอวดใครได้ แต่เมืองไทยมีสุนทรภู่ มีพระอาจารย์นาค มีขรัวอินโข่ง มีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และมีพุทธทาสภิกขุ”
“ท่านเหล่านี้ ทำให้เราหยิ่งในความเป็นไทยของเรา”
ภาพของ วิลาศ ในวัยหนุ่มที่สวนโมกข์ยังแนบแน่นความทรงจำของ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นักกฎหมายคนสำคัญและต่อมาได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ดังที่นายสัญญา เคยย้อนเล่าถึงความหลังเมื่อครั้งได้พบพุทธทาสภิกขุช่วงทศวรรษ 2480 ไว้ในข้อเขียนเรื่อง “ท่านพุทธทาสยังอยู่” ว่า
“...วันหนึ่ง เราไปเดินเล่นรอบสระน้ำใหญ่ มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งนุ่งกางเกงขาสั้น คาดผ้าขาวม้าแดง เดินตามเราไปห่างๆ โดยตลอด ท่านอาจารย์บอกว่าเป็นบุตรศึกษาธิการอำเภอ ผมได้โอกาสเข้าไปทำความรู้จัก เขาบอกว่าชื่อ “วิลาศ มณีวัต” ผมมาพบเขาอีกที เมื่อเขาเป็นนิสิตปีที่สี่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นเจ้าของคำซึ้ง ๒ คำ ซึ่งผมยังจำได้จนเดี๋ยวนี้ คือ ‘ถูกซ่อนตู้คุด ถูกขุดหลุมฝัง’ และ ‘เสียงหัวเราะกับเสียงร้องไห้เหมือนกัน’..”
วิลาศ นับเป็นบุคคลหนึ่งที่ให้ความสนใจต่อบทบาทของ นายปรีดี พนมยงค์ เขาเคยเขียนถึง นายปรีดี ภายหลังการอสัญกรรม โดยมองผ่านสายตาของความเป็นนักอ่านและหนอนหนังสือ ดังเช่นในข้อเขียนเรื่อง “พูดถึง ดร.ปรีดี พนมยงค์” ที่ว่า
“อสัญกรรมที่กรุงปารีสของ ดร. ปรีดี พนมยงค์ “มันสมอง” ของ “คณะราษฎร” ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้ทำให้หนังสือสองเล่มได้รับความสนใจขึ้นมาอย่างฉับพลัน นั่นคือ “ดร. ปรีดี พนมยงค์” ของไสว สุทธิพิทักษ์ (ปกแข็ง ๒๖๐ บาท ปกอ่อน ๑๖๐ บาท หนา ๙๓๐ หน้า) และอีกเล่มหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษชื่อ Pridi Banomyong and the Making of Thailand's Modern History โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ซึ่งเขียนได้ละเอียดน่าอ่านเกี่ยวกับชีวิตของ ดร.ปรีดี ที่เชื่อมโยงอยู่กับการเมืองไทยมาตลอดตั้งแต่ก่อนสงคราม ระหว่างสงคราม (ยุคทำงานเสรีไทย) และหลังสงคราม โดยมีเอกสารอ้างอิงครบถ้วน
และไม่กี่อาทิตย์ต่อมาก็มีหนังสือดีเล่มบางๆ (เพียง ๙๙ หน้า ปกอ่อน) ออกมาอีกเล่มหนึ่ง ชื่อ “ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์” ซึ่งเป็นรายงานของอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ผู้ได้เข้าสัมภาษณ์รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๒๕ โดยเฉพาะเล่มนี้จัดพิมพ์โดยโครงการ “ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย” ซึ่งมีนายสุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโสเป็นประธานกรรมการ (จัดจำหน่ายโดยบริษัทเคล็ดไทย ราคา ๓๕ บาท)
ทั้งสามเล่มนี้นักอ่านน่าจะมีไว้ เพราะชีวิตและงานตลอดจนแนวคิดของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสนั้นน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ปรารถนาจะเห็นสังคมไทยดีขึ้น (ตอนนี้ก็ยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่หรอก)”
วิลาศ ได้ให้ความสนใจถึงสิ่งที่ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ตั้งคำถามต่อ นายปรีดี โดยเฉพาะตอนที่ดูเหมือนเขาจะชอบเป็นพิเศษคือการถามเรื่องเกี่ยวกับการทำนา ดังจะยกเนื้อความมาแสดง
อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ได้ถาม ดร.ปรีดี เกี่ยวกับเรื่องหนักๆ ทั้งนั้น แต่อาจารย์ฉัตรทิพย์ก็หลุดคำถามออกมาประโยคหนึ่งว่า
“อาจารย์ครับ... อาจารย์เคยทำนาไหมครับ?”
“เคย…” ดร.ปรีดี พนมยงค์ตอบ และเล่าถึงบิดาของท่านว่า “...ปู่ย่าผมมีบุตรชายหลายคนซึ่งได้รับส่วนแบ่งมรดกไปประกอบอาชีพ บางท่านรักษาฐานะคหบดีไว้ได้ บางท่านก็ขาดทุนตกเป็นผู้มีทุนน้อย ส่วนบิดาผมเลือกอาชีพทำนาจึงประสบชะตากรรมอย่างชาวนา ซึ่งกระทบถึงความเป็นอยู่ของครอบครัว ผมประสบพบเห็นความอัตคัดของบิดามารดา และเมื่อไปอยู่กับบิดาก็พบเห็นความอัตคัดขัดสนของชาวนาทั่วไป
ทุ่งรังสิตซึ่งเดี๋ยวนี้เจริญแล้วนั้น สมัย ดร.ปรีดียังเป็นเด็ก ชาวบ้านเรียกทุ่งรังสิตว่าทุ่งช้าง คนที่ออกไปบุกเบิกต้องต่อสู้กับช้างจนโขลงช้างถอยออกจากบริเวณนั้น แล้วจึงจะจัดการแบ่งที่ดินกันได้ และแม้เมื่อจับจองแล้ว ช้างก็ยังหวนกลับมารบกวนเสมอ โดยเฉพาะเมื่อข้าวออกรวงงอกงาม ช้างก็พากันมาทั้งโขลงกินข้าวที่เพาะปลูกไว้
ดร.ปรีดี พนมยงค์ รำลึกภาพทุ่งรังสิตสมัยโน้นให้อาจารย์ฉัตรทิพย์ฟังว่า
“แต่ก่อนนี้ (รังสิต) เป็นทุ่งช้างจริงๆ ในตอนที่ผมได้ทุนรัฐบาลไปเรียนในฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ นั้น ก่อนจะจากสยามไป ผมได้ไปบ้านที่อยุธยา แล้วสังเกตกลางทุ่งนายังเห็นช้าง จำได้ตะคุ่มๆ โดยมากมันมักจะอยู่กัน ๒ ตัว ถึงเวลาที่มีข้าวมันก็มากันหลายตัว บิดาผม ลุงผม ท่านไปไล่ช้าง ผมก็เกิดแล้ว แต่คลับคล้ายคลับคลา การจับจองที่ดินว่างเปล่าต้องต่อสู้กับช้าง (บิดาไปจับจองที่ดินแถวนั้น) บิดาผมจึงได้มีที่ดินอยู่ที่นั้น (แถวรังสิต) แต่ว่านาตั้ง ๒๐๐ ไร่ ทำคนเดียวก็ไม่ไหว ก็ให้เขาเช่าไปบางปี ทีแรกก็ทำนาเอง บิดาผมมีควาย ๕-๖ ตัว ผมยังจำได้ว่าขโมยเอาไปหมดเลย ชาวนาจึงเดือดร้อนหลายอย่างรวมทั้งถูกขโมยควาย”
วิลาศ ยังสนใจเรื่องราวของ นายปรีดี กับการเล่นฟุตบอล ซึ่งเป็นเกร็ดที่ ไสว สุทธิพิทักษ์ เขียนเล่าไว้ในหนังสือซึ่งอ้างว่าเคยรับฟังมาจากนายปรีดี โดยเฉพาะเรื่องที่สมัยนายปรีดีเป็นนักเรียนชั้นมัธยมเบื้องต้นที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรในช่วงทศวรรษ 2450 ก็เคยประสบอุบัติเหตุจากการเล่นฟุตบอล ซึ่ง วิลาศ ยกถ้อยความตอนหนึ่งที่ ไสว เขียนมาเป็นหลักฐานประกอบคือ
“....ในระยะนี้ปรากฏว่า เด็กชายผู้นี้ค่อนข้างซุกซน และชอบกีฬาฟุตบอลล์อยู่บ้าง จนถึงกับวันหนึ่งได้ประสบอุปัทวเหตุจากการเล่นฟุตบอลล์ตามลำพัง ศีรษะได้ฟาดลงกับพื้นลานหินถึงสลบ พระภิกษุในวัดมาพบเข้าและนำตัวไปพยาบาล...”
อีกเรื่องเล่าในหนังสือของ ไสว ที่สะดุดสายตาของ วิลาศ จนเขาต้องเขียนถึงคือ ตอนที่ นายปรีดี ยังเป็นนักเรียนกฎหมายที่ฝรั่งเศส เคยเกือบจะประสบอุบัติเหตุบนขบวนรถไฟ เนื่องจากรถไฟขบวนนั้น ประตูจะเปิดออกด้านข้าง ครั้นนายปรีดีจะเดินไปทำธุระอีกตู้โบกี้หนึ่ง ก็เผลอเปิดประตูจะก้าวออกไปจนร่างแทบตกลงจากรถไฟที่กำลังแล่นอยู่ โชคดีเจ้าหน้าที่ประจำรถรีบเข้ามาช่วยเหลือได้ทันท่วงที นายปรีดีเลยปลอดภัย
ช่วงบั้นปลายชีวิตในประเทศฝรั่งเศสของ นายปรีดี ก็เป็นเรื่องที่ วิลาศ ไม่ยอมละเลย เขาเขียนว่า
“ในระยะบั้นปลายของชีวิต ท่านรัฐบุรุษอาวุโสกับท่านผู้หญิงพูนศุข ได้ไปใช้ชีวิตอยู่เงียบๆ ที่ชานเมืองปารีส ลูกศิษย์ลูกหาทางเมืองไทยเมื่อผ่านไป ก็มักจะไปแวะเยี่ยมแสดงความเคารพเสมอ อย่างไรก็ไม่มีใครลืมว่าท่านเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่สำคัญกว่านั้นคือ ท่านเป็น “มันสมอง” ของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕
ไม่มี ดร.ปรีดี ก็ไม่มีประชาธิปไตยเมืองไทย”
คงเพราะด้วยความที่ วิลาศ ก็เคยทำงานเป็นโฆษกแผนกภาษาไทยของสถานีวิทยุ บี.บี.ซี. แห่งกรุงลอนดอน จึงไม่แปลกที่เขาจะสนใจถึงกรณีที่สถานีวิทยุ บี.บี.ซี. แผนกภาษาไทยส่งผู้แทนคือ นายอรรถพล วรรณนุรักษ์ ไปสัมภาษณ์ นายปรีดี พนมยงค์ ณ บ้านชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2525 เวลา 12.30 น. (ตามเวลาของประเทศฝรั่งเศส) ซึ่ง ฉัตรทิพย์ ได้นำมาลงพิมพ์ไว้ในหนังสือของตนด้วย วิลาศ เขียนการสัมภาษณ์ครั้งนี้ว่า
ดังนั้นเมื่อใกล้ถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๕ วิทยุ บี.บี.ซี. แผนกภาษาไทย จึงได้ส่งผู้แทน คือ อรรถพล วรรณนุรักษ์ ไปสัมภาษณ์นายปรีดี พนมยงค์ ณ บ้านพักชานกรุงปารีส และนำมาออกอากาศในรายการของ บี.บี.ซี. ประจำวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๕
ผู้แทนของ บี.บี.ซี. ได้ตั้งคำถามข้อแรกว่า
“ขอทราบว่า ทำไมจึงคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ในตอนนั้น?”
ข้อต่อไป ถามว่า
“ขอทราบว่า ๕๐ ที่ผ่านมา ความเป็นประชาธิปไตยได้เปลี่ยนแปลงอย่างไรในทรรศนะของท่าน?”
ดร. ปรีดีฯ ตอบว่า
“ประชาธิปไตยที่คณะราษฎรได้เริ่มสถาปนาเมื่อ ๒๔๗๕ นั้น ได้ดำเนินมาทีละขั้นระหว่าง ๑๓ ปีเศษ จนบรรลุถึงซึ่งประชาธิปไตยสมบูรณ์ โดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ซึ่งสมาชิกพฤฒสภาและสภาผู้แทนเป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้ง จึงเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์
ต่อมาในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ คณะรัฐประหารได้ทำการยึดอำนาจล้มระบบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ต่อจากนั้นมาก็ได้มีคณะอื่นๆ มากมายหลายคณะ ที่ไม่ใช่คณะราษฎรได้บั่นทอนประชาธิปไตย แล้วปกครองประเทศไทยโดยระบบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ รวมทั้งระบบเผด็จการหลายระบบจนถึงปัจจุบันนี้ เป็นเวลาเกือบ ๓๕ ปีแล้ว”
ผู้แทน บี.บี.ซี. ได้ถามเป็นคำถามสุดท้ายว่า
“ถ้าท่านมีสิทธิร่างรัฐธรรมนูญ ท่านจะร่างเหมือนกับเมื่อ ๒๔๗๕ หรือจะร่างอย่างไร?”
ดร. ปรีดีฯ ตอบว่า
“ผมไม่หวังที่จะเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ขอแสดงความเห็นว่า ผู้ใดจะร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ก็ให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยสมบูรณ์คือ ระบบปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ ปวงชนแสดงมติโดยวิธีประชามติอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง ปวงชนแสดงมติโดยผ่านรัฐสภาซึ่งสมาชิกทุกคนของรัฐสภาเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากราษฎร สำหรับประเทศไทยที่มีพลเมืองมากนั้น ก็ควรถือวิธีที่สองเป็นหลัก ประกอบด้วยวิธีที่หนึ่งในบางกรณี รายละเอียดนั้นผมได้กล่าวไว้ในบทความและคำสัมภาษณ์อื่นๆ แล้ว”
วิลาศ อาจจะไม่ใช่บุคคลที่มีความสัมพันธ์กับ นายปรีดี ในฐานะลูกศิษย์ใกล้ชิด หรือเคยพบปะสนทนากัน แต่ถ้าสังเกตดูถึงบุคคลต่างๆ ที่ วิลาศ มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น พุทธทาสภิกขุ, กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา “ศรีบูรพา” หรือ สุภา ศิริมานนท์ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีความสัมพันธ์อันดีและมีความศรัทธาต่อ นายปรีดี แทบทั้งสิ้น ฉะนั้น วิลาศ จึงย่อมมีความสนใจต่อเรื่องราวและบทบาทของ นายปรีดี อย่างมิพักต้องสงสัย
แม้ปัจจุบัน นามของ วิลาศ มณีวัต อาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมักคุ้นต่อสายตานักอ่านสักเท่าใดแล้ว เนื่องจากเขาได้อำลาโลกไปตั้งแต่เมื่อวันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2546 แต่ผลงานที่ วิลาศ ได้สร้างสรรค์ไว้ก็ยังทรงคุณค่าและยังมีผู้หันไปศึกษาค้นคว้าอยู่มิวาย ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลนี้จึงควรที่จะหวนระลึกถึงยอดนักเขียนอารมณ์สีชมพูเยี่ยงเขา ขณะเดียวกัน ในงานเขียนของ วิลาศ มักจะให้ความสำคัญกับการนำเสนอถึงบุคคลผู้สร้างคุณประโยชน์ให้กับโลก ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างประเทศ ซึ่ง นายปรีดี พนมยงค์ ก็เป็นบุคคลหนึ่งที่วิลาศยกย่องยิ่งนัก ดังที่เขากล่าวว่า
“ไม่มี ดร. ปรีดี ก็ไม่มีประชาธิปไตยเมืองไทย”
หมายเหตุ :
- คงอักขร การสะกดคำ วรรคตอน และเลขไทยตามต้นฉบับ
บรรณานุกรม :
- งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ม.ว.ม., ม.ป.ช., ป.จ., น.ร. และท่านผู้หญิงพงา ธรรมศักดิ์ ม.ว.ม., ม.ป.ช., ท.จ.ว. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2545 เวลา 17.00 น.. (ม.ป.ท.): องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก, 2545
- ทวีป วรดิลก. “สุภา ศิริมานนท์ เพื่อ “ความเป็นเลิศ” ของหนังสือพิมพ์ไทย”. ใน พจนาลัย สุภา ศิริมานนท์. กรุงเทพฯ: อรุณการพิมพ์, 2529
- ปรีดี พนมยงค์. ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ: โครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”, 2526
- วิลาศ มณีวัต. คือคน...ที่คิดถึง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546
- วิลาศ มณีวัต. วิลาศ มณีวัตพูด. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2540
- วิลาศ มณีวัต. สายลม-แสงแดด. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ: วสี ครีเอชั่น, 2552
- ไสว สุทธิพิทักษ์. ดร. ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526
- อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต. อนุสรณ์ในมหาวโรกาส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชทานดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงศพ นายวิลาศ มณีวัต ท.ม., ต.ช. ณ เมรุวัดธาตุทอง เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร วันพุธ ที่ 13 กรกฎาคม พุทธศักราช 2548. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. สัมพันธ์พาณิชย์, 2548