ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

นายปรีดี พนมยงค์กับบทบาทนายกรัฐมนตรี ในช่วงกรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8 : ตอนที่ 2 (จบ)

8
มิถุนายน
2567

Focus

  • ในตอนที่ 1 ของบทความได้นำเสนอลำดับเหตุการณ์และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ให้เห็นว่า หลังจากนายปรีดี พนมยงค์ ได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ในการประชุมสมาชิกสภา ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2489
  • เวลา 09:00 น. ของวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เกิดเหตุไม่คาดฝัน กรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8 ต่อมาเวลา 21.00 น. ในวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้ขอให้รัฐสภามีการประชุมโดยด่วนเพื่อแถลงเหตุแห่งการสวรรคตและได้เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาได้ซักถาม และได้ขอความเห็นของรัฐสภาเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ โดยมีผู้เห็นชอบเป็นเอกฉันท์เห็นควรให้พระเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้น นายปรีดี พนมยงค์ก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเหตุผลว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแต่งตั้งตนเป็นนายกรัฐมนตรีได้เสด็จสวรรคตเสียแล้ว
  • ในตอนที่ 2 นี้จะเสนอนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งชี้ให้เห็นเจตจำนงในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริงและมีความประชาธิประไตยสมบูรณ์ผ่านหลักฐานชิ้นสำคัญ คือ การแถลงนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินต่อรัฐสภา ในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2489 จำนวน 12 ด้าน ได้แก่ ความยากแค้นในการครองชีพ การต่างประเทศ การทหาร การคลัง การเกษตร การสาธารณสุข การอุตสาหกรรม การคมนาคม การพาณิชย์ การมหาดไทย การศาล การศึกษาและการศาสนา

 


นายปรีดี พนมยงค์ แถลงนโยบายต่อรัฐบาลต่อสภาผู้แทนราษฎรใน พ.ศ. 2489

 

วันรุ่งขึ้น 10 มิถุนายน 2489 รัฐสภาได้ประชุมหาตัวผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมาชิกส่วนมากเห็นว่าในยามที่ประเทศชาติคับขันเช่นนี้ สมควรขอให้ ดร. ปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีต่อไป ซึ่ง ดร. ปรีดี พนมยงค์ ก็ยอมรับ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ดร. ปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2489 และในวันเดียวกันโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ดังนี้

1. พลโท จิร วิชิตสงคราม                          เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
2. นายปรีดี พนมยงค์                                 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
3. นายดิเรก ชัยนาม                                  เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
4. นายทวี บุณยเกตุ                                  เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
5. พระยาสุนทรพิพิธ                                  เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสาธารณสุข
6. นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์                         เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุตสาหกรรม
7. หม่อมหลวง กรี เดชาติวงศ์                     เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
8. นายสพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา             เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
9. พันเอก ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม               เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
10. พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์          เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
11. นายเดือน บุนนาค                               เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
12. พันเอก ทวน วิชัยขัทคะ                       เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
13. นายวิจิตร ลุลิตานนท์                          เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
14. พันเอก พระยาสุรพันธ์เสนี                   เป็นรัฐมนตรี
15. ขุนระดับคดี                                       เป็นรัฐมนตรี
16. นายวิโรจน์ กมลพันธ์                          เป็นรัฐมนตรี

 

เมื่อเปรียบเทียบกับคณะรัฐมนตรีชุดก่อนจะเห็นว่าได้มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเพียง 2 ท่าน เท่านั้น

และในวันเดียวกันนั้นเองรัฐบาลอันมี ดร. ปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้

 

ประกาศ

เฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โดยที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว ตามมาตรา ๑๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พร้อมด้วย ประธานพฤฒสภา ประธานสภาผู้แทน และคณะรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นว่า

ในระหว่างที่ปวงชนชาวไทยยังมิได้ถวายพระปรมาภิไธยแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเศกอันจะพึงมีตามประเพณีนั้น เป็นการสมควรที่จะเฉลิมพระนามให้เหมาะสมแก่พระเกียรติ

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว ตามมาตรา ๑๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงให้ประกาศเฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

 

ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙
 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ปรีดี พนมยงค์
นายกรัฐมนตรี

 

ต่อมาอีก 2 วัน คือในวันที่ 13 มิถุนายน 2489 รัฐบาลได้แถลงนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินต่อรัฐสภาว่า

 

“ท่านประธานรัฐสภา

ด้วยตามที่ท่านสมาชิกพฤฒสภาและท่านสมาชิกสภาผู้แทนต้องการให้ข้าพเจ้ารับใช้ชาติต่อไปในยามคับขัน ข้าพเจ้าก็จำต้องสนองความต้องการของท่าน

บัดนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะรัฐมนตรีตามประกาศลงวันที่ 11 มิถุนายน 2489 ดั่งที่ท่านได้ทราบแล้ว รัฐบาลจึงขอแถลงนโยบายต่อรัฐสภาดังต่อไปนี้

1. แม้ว่าในขณะนี้สถานการณ์ของประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับภายใน ความยากแค้นในการครองชีพ และความสงบเรียบร้อยโดยทั่วไป เพิ่งเริ่มบรรเทาลงบ้าง แต่ก็ยังเป็นภาระหนักอยู่มิใช่น้อย ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องพยายามฝ่าฟันในอันที่จะแก้ไขปรับปรุงให้เป็นที่เรียบร้อยและเป็นผลดี เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนในส่วนรวมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

2. การต่างประเทศ เนื่องจากพฤติการณ์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การผูกไมตรีอันดีกับสหประชาชาติและนานาประเทศ ตลอดทั้งการปฏิบัติให้เขาเกิดมีความเชื่อถือขึ้นนั้นย่อมได้รับผลดียิ่ง รัฐบาลนี้จึงจะดำเนินการอย่างเต็มความสามารถที่จะส่งเสริมพันธไมตรีตลอดทั้งความเข้าใจอันดีซึ่งมีอยู่อย่างดีกับสหประชาชาติแล้วนั้นให้ดีขึ้น และร่วมมือกับสหประชาชาติตามอุดมคติซึ่งองค์การนั้นได้วางไว้ ในการนี้รัฐบาลหวังว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากรัฐสภา ทั้งนี้เพราะปัญหาการต่างประเทศบางเรื่องนั้น เป็นนโยบายของชาติโดยแท้และเพื่อแสดงให้นานาชาติเห็นอกเห็นใจว่าประชาชนคนไทยทั้งหลายมีความสมัครสมานกลมเกลียว ประเทศไทยตั้งอยู่ในความสงบสุข บูชาความเป็นธรรม ซึ่งตรงกับหลักการของสหประชาชาตินั้นเอง

3. การทหาร รัฐบาลถือว่ากำลังทหารที่มีอยู่นั้นเป็นของประเทศชาติโดยเฉพาะ และจะได้ปรับปรุงการจัดการปกครองทหารให้สอดคล้องกับการปกครองแบบประชาธิปไตย ตามที่เหมาะสมกับประเทศของเรา

จะได้จัดการปรับปรุงวิทยฐานะผู้บังคับบัญชาทหารให้มีสมรรถภาพสูงขึ้น บำรุงความสุขของทหารและให้ทหารได้อยู่ในระเบียบวินัยโดยเคร่งครัด

4. การคลัง จะจัดหาเงินโดยวิธีที่เหมาะสมเพื่อการใช้จ่ายพอสมควรของรัฐ ในอันจะบูรณะบ้านเมืองให้ดำเนินกลับไปสู่สภาพปกติ

จะปรับปรุงรายได้และรายจ่ายเพื่องบประมาณแผ่นดินเป็นดุลยภาพ

จะจัดให้เงินตรามีเสถียรภาพในระดับอันสมควรแก่ภาวะเศรษฐกิจ เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้าและค่าจ้างได้กลับคืนสู่สภาพปกติ และให้การค้าและธุรกิจได้อาศัยหลักที่มั่นคงยั่งยืนสืบไป

5. การเกษตร รัฐบาลนี้จะได้สนใจและเอาใจใส่ในเรื่องการเกษตรกรรมเป็นพิเศษ จะพยายามเพิ่มพูนการผลิตข้าวให้ได้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ และจะส่งเสริมการเพาะปลูกพืชอื่นที่เป็นสินค้าของประเทศให้มีปริมาณมากขึ้น จะจัดให้มีสถานศึกษาทางปฏิบัติในวิชาการเกษตรนอกเหนือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีอยู่ในเวลานี้ เพื่ออบรมและเพาะให้เกิดกสิกรชั้นกลางขึ้น จะได้รีบเร่งการผลิตวัคซีนสำหรับป้องกันโรคระบาดสัตว์ ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น กับทั้งจะเร่งรัดบำรุงพันธุ์สัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ โค สุกร เป็ด ไก่ ให้มีปริมาณและคุณภาพมากและดียิ่งขึ้น จะได้จัดหาวิธีควบคุมแพปลา เพื่อให้การค้าปลาของชาวประมงได้เป็นไปโดยยุติธรรม จะได้ส่งเสริมการทำยางพาราให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นอีก ทั้งจะหาพันธุ์ยางที่ดีมาเผยแพร่แก่เจ้าของสวนยางอีกด้วย

จะได้ปรับปรุงโครงการป่าไม้เสียใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จะได้ก่อสร้างการชลประทานบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และโครงการอื่นๆ ตลอดจนสนับสนุนการชลประทานท้องที่ จะส่งเสริมการสหกรณ์และจัดให้มีการสหกรณ์ขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเบื้องต้นคือการขนข้าวและสหกรณ์รูปอื่นเท่าที่สามารถจะทำได้ และจะเปิดธนาคารเพื่อการสหกรณ์โดยเฉพาะขึ้นและจะได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ให้มีอัตราต่ำลงกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้

6. การสาธารณสุข กิจการสาธารณสุขอันกล่าวได้ว่ามีรากฐานอันสำคัญอยู่ ๔ ประการ ได้แก่ การผลิตหมอ ผลิตยา รักษาและป้องกันนั้นยังเป็นผลไม่สมบูรณ์พอแก่การ ดั่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว รัฐบาลมีความมุ่งหมายที่จะปรับปรุงเพิ่มเติมให้ได้ผลสมบูรณ์ขึ้นจนเพียงพอแก่การโดยลำดับ อาทิเช่น การผลิตแพทย์ที่เรียนสำเร็จออกจากมหาวิทยาลัย ก็จะให้ได้จำนวนมากขึ้น การผลิตยาสำหรับรักษาป้องกันโรค จะให้ได้ปริมาณและชนิดยาที่จำเป็นทวีขึ้นจนพอสำหรับใช้ สิ่งใดที่ยังขาดและไม่สามารถจะผลิตขึ้นเองได้ก็จะหาซื้อเพิ่มเติมทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

การรักษาพยาบาลซึ่งยังมีสถานที่ไม่เพียงพอโดยโรงพยาบาลยังมีไม่ทั่วทุกจังหวัดก็จะได้พยายามจัดสร้างขึ้นให้ทั่วถึง ตลอดทั้งเครื่องใช้เครื่องมือในลำดับต่อไป การป้องกันมิให้โรคเกิดลุกลามระบาดแพร่หลายก็จะได้มีปรับปรุงวิธีการเพิ่มกำลังงานให้เหมาะสมทั่วถึงตลอดไปตามท้องที่ และจะได้จัดให้มีการจำหน่ายยาที่จำเป็นโดยแพร่หลายตามชนบท จัดเจ้าหน้าที่ทำการอบรมพลเมืองให้มีความรู้ในการรักษาสุขภาพอนามัย และวิธีป้องกันโรคได้โดยตนเองตามสมควร ในด้านการศึกษาจะได้ช่วยการสาธารณสุขโดยให้นักเรียนรับความรู้ในเรื่องรักษาสุขภาพอนามัยและการป้องกันโรคตามสมควรแก่อัตภาพด้วย

อนึ่ง โรคระบาดมีไข้ทรพิษและอหิวาตกโรค ซึ่งค่อยบรรเทาเบาบางลงแล้ว แต่ยังไม่สงบลงโดยทั่วไปนั้น รัฐบาลก็จะได้เร่งรัดปราบปรามให้สงบลงโดยทั่วถึง และทำการป้องกันเป็นพิเศษต่อไปอีกเป็นระยะ ๒-๓ ปี เพื่อมิให้โรคระบาดรุนแรงขึ้นอีก ส่วนไข้มาลาเรียซึ่งมีชุกชุมอยู่ในท้องที่ต่างๆ นั้นรัฐบาลก็จะได้ขยายกำลังทำการรักษาป้องกันให้เบาบางลงโดยทำนองเดียวกัน

7. การอุตสาหกรรม รัฐบาลจะได้ปรับปรุงกิจการภายในโรงงานอุตสาหกรรม ให้มีสมรรถภาพในการผลิต และจะได้ส่งเสริมการอุตสาหกรรมของเอกชนและสหกรณ์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น ทั้งจะดำเนินการสืบสวนค้นคว้าในทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรม กสิกรรม และพาณิชยกรรมของประเทศให้เจริญก้าวหน้าเพื่อประโยชน์แก่ราชการและเพื่อเผยแพร่แก่ประชาชน ในทางโลหะกิจจะได้ดำเนินงานในทางวิชาการแร่ การสำรวจธรณีวิทยาเพื่อค้นคว้าหาแหล่งแร่ วัตถุเชื้อเพลิงที่ใช้แทนไม้ เช่น ถ่านหินและน้ำมัน เป็นต้น และจะช่วยเหลือผู้ทำเหมืองแร่โดยจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้อันเป็นอุปกรณ์ในการทำเหมืองเพื่อเร่งการผลิตดีบุกให้ได้ปริมาณเพิ่มขึ้น

8. การคมนาคม ในหลักทั่วไปรัฐบาล จะจัดการบำรุงและบูรณะการสื่อสารทางรถไฟ การทางและการขนส่งทางบก ทางน้ำและทางอากาศให้กลับสู่สภาพก่อนสงคราม

งานใดที่สมควรจะมีโครงการไว้แน่นอน รัฐบาลก็จะได้จัดทำโครงการขึ้นให้สอดคล้องกับกำลังคนและกำลังของประเทศ

9. การพาณิชย์ ในด้านการพาณิชย์ รัฐบาลจะได้มีการพิจารณาปรับปรุงกิจการบริหารในกระทรวงพาณิชย์ให้มีประสิทธิภาพเพื่อการพาณิชย์ ในยามปกติภายหลังสงคราม ทั้งจะได้ควบคุมและส่งเสริมการค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจของประเทศยิ่งขึ้น และแก้ไขการครองชีพของราษฎรให้อยู่ในฐานะอันสมควรแก่กาลสมัย

ในทางการค้าภายใน รัฐบาลนี้จะได้ส่งเสริมให้คนไทยนิยมการค้าให้เป็นล่ำเป็นสันยิ่งขึ้น และจะได้ส่งเสริมให้มีร้านสหกรณ์เปิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของชาวนาต่อไปด้วย

ส่วนในด้านการค้าต่างประเทศ รัฐบาลจะได้ส่งเสริมและเผยแพร่สินค้าของประเทศไทยออกไปยังต่างประเทศให้เป็นที่นิยมทั้งในทางคุณภาพและปริมาณยิ่งขึ้น

10. การมหาดไทย ความสงบเรียบร้อยภายในเป็นความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับการปราบปรามโจรผู้ร้ายต่อเนื่องตลอดไปอีก และขณะเดียวกันจะได้ส่งเสริมให้ราษฎรได้กลับคืนเข้าสู่สภาพการครองชีพตามปกติ และโดยวิธีการร่วมมือกับองค์การหรือกระทรวงทบวงกรมอื่นๆ เพื่อให้ราษฎรได้ประกอบอาชีพที่เป็นหลักฐานยิ่งขึ้น ในยามที่สงครามผ่านพ้นไปใหม่ๆ เช่นนี้ ปัญหาเรื่องจิตใจซึ่งถูกกระทบกระเทือนและเสื่อมโทรมลงไปจะได้หาทางแก้ไขโดยชี้แจงและชักชวนให้ได้รู้สึกถึงหน้าที่ในฐานะเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

เพื่อที่จะให้เป็นผลสมความมุ่งหมายดังกล่าวแล้ว จะได้ดำเนินการดังต่อไปนี้

(ก) การตำรวจได้ปรับปรุงสมรรถภาพของตำรวจเพื่อให้เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามที่เข้มแข็งโดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองโดยใกล้ชิด

(ข) การปกครองท้องที่ นอกจากจะได้ปรับปรุงเจ้าหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นแล้วยังจะได้แก้ไขระบบการปกครองเพื่อให้รับการทำนุบำรุงโดยทั่วถึงยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้

(ค) การราชทัณฑ์ จะดำเนินการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักการราชทัณฑ์ และปลูกฝังให้อาชญากรได้รับความรู้ในวิชาชีพในที่คุมขัง

(ง) การสาธารณูปโภค จะได้ส่งเสริมและเร่งรัดในการจัดประปาและไฟฟ้า เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยให้มีขึ้นในท้องถิ่นชุมชนให้มากที่สุดที่จะทำได้ และจะได้จัดระเบียบการผังเมือง ส่งเสริมให้มีการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยให้เป็นไปโดยประหยัดและเหมาะสมแก่สภาพของท้องที่

(จ) การที่ดิน จะเร่งรัดและส่งเสริมบรรดาการกระทำทั้งปวงซึ่งรัฐบาลก่อนได้เริ่มดำเนินการไว้แล้วให้เป็นผลดียิ่งขึ้น เช่น การช่วยบุคคลที่ตั้งใจประกอบอาชีพในทางกสิกรรมให้ได้รับความสะดวกในการจับจองที่ดินรกร้างว่างเปล่า และการจัดให้ผู้มีกรรมสิทธ์ในที่ดินแล้วได้รับหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยรวดเร็ว เป็นต้น

(ฉ) การประชาสงเคราะห์ บรรดาการสงเคราะห์ต่าง ๆ ซึ่งได้ปฏิบัติอยู่แล้วจะได้ดำเนินการต่อไป และถ้ามีกำลังเพียงพอจะได้ขยายการสงเคราะห์ให้มากขึ้น

11. การศาล

(ก) จะรักษาและส่งเสริมฐานะของผู้พิพากษาตามควรแก่อิสระที่มีในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

(ข) จะสอดส่องให้กระบวนพิจารณาในศาลดำเนินไปโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของประชาชน และเฉพาะอย่างยิ่งจะได้พิจารณาเพิ่มจำนวนผู้พิพากษาให้สมส่วนกับจำนวนคดีที่เกิดขึ้น

(ค) จะได้พิจารณาตั้งศาลในภูมิภาคเพิ่มขึ้น เพื่อให้ความสะดวกแก่ประชาชนผู้เกี่ยวข้องในอรรถคดี และมิให้เสียเวลาในการประกอบอาชีพ

(ง) จะปรับปรุงประมวลกฎหมายต่าง ๆ และพระธรรมนูญศาลยุติธรรมให้เหมาะสมกับกาลสมัยเพื่อผดุงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

12. การศึกษาและการศาสนา รัฐบาลนี้จะวางแผนการศึกษาของชาติให้มีรากฐานถาวร แนวการศึกษาคงแบ่งเป็นสามัญศึกษากับอาชีวศึกษา หลักสูตรตำราเรียนจะปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสมกับความต้องการของประเทศและความเป็นอยู่ของท้องที่ โดยจะให้ผู้ที่ได้รับการศึกษารู้จักค้นคว้าหาเหตุผลและมีศีลธรรมอันดีงาม ทั้งมีความรู้อันจำเป็นที่จะประกอบอาชีพตามที่ตนต้องการ เฉพาะอย่างยิ่งในทางเกษตรกรรมและพาณิชยกรรม

การศึกษาจะดีก็ต้องมีครูดี ฉะนั้นการศึกษาวิชาครู การบำรุงฐานะของครูให้เป็นที่เคารพนับถือแก่บรรดาศิษย์ จึงเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ

ในด้านการศาสนานั้น รัฐบาลนี้จะเร่งส่งเสริมและทำนุบำรุงศาสนา และถือว่าความเชื่อมั่นยึดเหนี่ยวในทางศาสนาเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการละเว้นประพฤติในสิ่งที่ไม่ชอบไม่ควร รัฐบาลนี้ถือว่าการศึกษากับการศาสนาเป็นสิ่งที่อุปการะแก่กัน ผู้มีความรู้ต้องมีศีลมีสัตย์อยู่ในตนด้วย

ในที่สุดนี้ หวังว่ารัฐสภาจะได้พิจารณาตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้แล้วด้วยดี และพิจารณาดำเนินตามมาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”

ที่ประชุมได้ลงมติให้ความไว้วางใจในวันเดียวกับวันที่แถลงนโยบายนั้นคะแนน 90 ต่อ 26 ในจำนวนสมาชิกที่มาประชุม 141 คน

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำศัพท์ และการเว้นวรรคตามเอกสารต้นฉบับ

 

บรรณานุกรม :

  • ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร. ปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526)