ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

“พระเจ้าช้างเผือก” สะท้อนแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ต่อสงครามโลก ครั้งที่ 2

29
กรกฎาคม
2567

Focus

  • บทความนี้เรียบเรียงจากงานเสวนาภาพยนตร์ เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” โดย สุรัยยา สุไลมาน และโดม สุขวงศ์ ที่จัดขึ้นในวาระ 70 ปี วันสันติภาพไทย  เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ข้อเขียนและภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกที่เขียนขึ้นโดยนายปรีดี พนมยงค์ สะท้อนให้เห็นแนวคิดเรื่องสันติภาพของนายปรีดีต่อสงครามโลก ครั้งที่ 2 ซึ่งมีความแยบคายที่จะเผยแพร่แนวทางสันติภาพไปสู่สากลโดยเขียนขึ้นเป็น 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรัยยา สุไลมาน

ตัวเองทําวิทยานิพนธ์เรื่องนี้จากตัวหนังสือเป็นหลักด้วยการเปรียบเทียบ ตอนแรกอ่านหนังสือก่อน แล้วก็มาดูหนังที่หลัง คือปกติแล้วเราอ่านหนังสือเพราะว่าเรียนทางด้านวรรณกรรม เราก็อ่านนิยายมาก่อนจากนั้นเราก็มาดูหนังแล้วเราอาจะจะเคยมีความรู้สึกว่าถ้าเกิดใครที่ชอบอ่านนิยาย สมมุติว่าเราอ่านของทมยันตี เราก็จินตนาการหน้าพระเอกไว้ประมาณหนึ่ง แล้วก็หน้านางเอกไว้อีกประมาณหนึ่ง พอออกมาเป็นภาพยนตร์จะไม่ได้ดั่งใจเลย

แต่พอมาเป็นเรื่องพระเจ้าช้างเผือกนี้พอดูหน้าพระเอกกับหน้า นางเอกแล้วแล้วก็หล่อสวยเกินที่เราจินตนาการไว้ เพราะว่าเป็นพระเอก นางเอกลูกครึ่ง น่าจะเป็นยุคแรกของเมืองไทย เพราะว่าคนที่แสดงเป็นพระเอก เป็นนางเอกต้องใช้ภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นก็ต้องคัดเลือกตัวละครซึ่งใช้ภาษาอังกฤษได้ทั้งหมด

การใช้ภาษาอังกฤษเกี่ยวข้องโดยตรงกับวรรณกรรมเรื่องนี้เพราะอาจารย์ปรีดีเขียนขึ้นเป็นนิยายภาษาอังกฤษในปี พ.ศ. 2483 ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 สมาคมของธรรมศาสตร์แห่งนครลอสแองเจลิสจึงแปลเป็นภาษาไทย นอกจากนี้ตัวงานภาพยนตร์ทุกอย่างก็เป็นภาษาอังกฤษ

 

 

ถามว่าทําไมอาจารย์ปรีดีต้องสร้างเป็นภาษาอังกฤษ ต้องทําทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษ ใครที่ศึกษาประวัติศาสตร์ก็น่าจะทราบดี เมื่อวานเราได้ฟังที่อาจารย์ชัยวัฒน์(สถาอานันท์-กองบรรณาธิการ) ได้นําเสนอไปในเรื่องของพื้นที่ทางสันติวิธีของสังคมไทย ตัวเองก็สนใจเรื่องสันติวิธีนี้มาตั้งแต่ตอนต้นแล้ว ทีนี้เราก็มานั่งโยงกับประวัติศาสตร์ด้วยว่าประวัติศาสตร์สังคมไทยว่ามีการใช้สันติวิธีหรือว่าการส่งเสริมสันติภาพมากน้อยแค่ไหน ก็มาเจองานเล่มนี้ในคําประกาศของคํานําเลยก็คืออุทิศให้กับสันติภาพอาจารย์ปรีดีเขียนไว้คํานําของวรรณกรรมเลยว่าอุทิศให้กับสันติภาพ

ถามต่อไปว่า อุทิศให้กับสันติภาพอย่างไร ในเมื่อเป็นเรื่องที่สร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดูเผิน ๆ อาจขัดแย้งกัน แต่ที่จริงอาจารย์ปรีดีกําลังพูดถึงสันติภาพในแง่ที่ว่าเราไม่อยากจะเข้าร่วมสงคราม ประเทศไทยอยากจะดําเนินนโยบายเป็นกลาง เราไม่ได้อยากไปสู้รบปรบมือกับใคร แต่เราก็ต้องดํารงเอกราชของเราไว้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่อยากจะจับอาวุธขึ้นสู้แต่ว่าเอกราชของประเทศชาติเมื่อเราถูกรุกรานเราก็ต้องพยายามที่จะปกป้องอธิปไตยของชาติ

 

 

อาจารย์ปรีดีได้พูดไว้ในงานว่า สันติภาพในที่นี้ได้มาด้วยการที่เราต้องต่อสู้ ปกป้องตัวเองด้วย เพราะฉะนั้นในทัศนะของอาจารย์ปรีดีมองจากทฤษฎีทางสันติภาพ ส่วนตัวเองได้ใช้ทฤษฎีเข้าไปจับตัวงานก็คือ การใช้ทฤษฎีทางด้านสงครามที่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นสงครามที่เป็นธรรมมีเงื่อนไขอะไรบ้าง อันนี้เราอาจจะไปอ่านเป็นทฤษฎีได้เลย เช่น อ่านในงานของพล.อ.สายหยุด เกิดผล ก็จะเจอว่ามันมีทฤษฎีมีรายการมาเลยว่าเวลาที่เราเข้าร่วมสงคราม เราจะต้องไม่ทําร้ายผู้บริสุทธิ์ เราจะต้องไม่ไปรุกรานเขา ก่อน เราจะต้องมีเงื่อนไขเยอะแยะ เพราะฉะนั้นอาจารย์ปรีดีก็ถือว่าเรามีความชอบธรรมในการที่จะจับอาวุธขึ้นสู้ในสงครามนั้นเพราะว่าเราเป็นฝ่ายซึ่งถูกรุกรานโดยท่านได้สะท้อนไว้ในงานเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก เพราะฉะนั้นพระเจ้าช้างเผือกเหมือนกับเป็นบันทึกความคิดทั้งหมดของอาจารย์ ปรีดีในช่วงนั้น แต่มาอยู่ในรูปของนวนิยาย ทีนี้เวลาเราอ่านนวนิยายเราก็ต้องตีความใครที่เรียนพวกทฤษฎีทางด้านวรรณกรรมหรือทางด้านศิลปะทั้งหลายเราก็ต้องถอดรหัสออกมาว่า รหัสแต่ละอย่าง ๆ ผู้เขียนหรือผู้ประพันธ์ต้องการจะสื่ออะไรกับเรา โดยเริ่มจากตัวบริบทว่าตัวข้อความกับบริบทนั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร

เวลาที่เรามองบริบทกับตัววรรณกรรม เราจะต้องดูว่าบริบทช่วงนั้นคืออะไร เมื่อบริบทอยู่ในช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ต้องดูว่ามีอะไรบ้างที่เป็นบริบทที่ทําให้เราสามารถถอดรหัสวรรณกรรมเรื่องนี้ได้

 

 

สําหรับพระเจ้าช้างเผือก ใครที่ชอบภาษาอังกฤษก็เลือกอ่านภาษาอังกฤษ ส่วนใครที่ชอบอ่านภาษาไทยก็เลือกอ่านภาษาไทย ส่วนใครที่ชอบทั้งสองภาษาอ่านทั้งสองภาษาเลยก็ย่อมได้ เราก็จะได้ศึกษาเปรียบเทียบการแปลไปด้วย

อย่างที่กล่าวไปว่างานวรรณกรรมเป็นตัวสะท้อนสังคม ถ้ามองในแง่ของทฤษฎีวรรณกรรม วรรณกรรมจะบันทึกเรื่องราวของสังคม สะท้อนสังคมและแสดงให้เห็นแนวคิดของผู้ประพันธ์

วรรณกรรมเรื่องนี้มีทุกอย่างอยู่ในนั้น ถ้าเราดูจากเราก็เลือกที่จะดูว่ายุคนั้นเป็นยุคสงครามที่ได้เกริ่นไปเมื่อกี้ แล้วทีนี้เราก็มายุ่งอะไรกับยุคนี้งานเล่มนี้จะสะท้อนอะไรบ้างในยุคสงครามยุคนั้นสะท้อนอย่างหนึ่งเลยก็คือ บทบาทแนวคิดของอาจารย์ปรีดีที่มีต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังที่ กล่าวไปแล้วว่าเราต้องการที่จะเป็นกลาง เราไม่ได้อยากที่จะสู้รบ แต่ว่าเป็นเรื่องความจําเป็น เราจึงต้องจับอาวุธขึ้นมาสู้

 

 

ประเด็นที่ 2 ที่อาจารย์ปรีดีสะท้อนไว้อย่างชัดเจนมากก็คือว่า เหตุการณ์บ้านเมืองในสมัยนั้น เมื่อวานได้ชมภาพยนตร์สนทนา “สงคราม และสันติภาพ ณ สยาม” ทําให้เห็นภาพชีวิตของท่านผู้นําในยุคช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 สะท้อนกลับ พ.ศ. 2558 จะเห็นได้ว่าวิธีคิดต่าง ๆ สภาพ ต่าง ๆ เราไม่ได้หลุดพ้นไปจากสมัยนั้นเท่าไหร่

น่าเสียดายไม่แน่ใจว่า สังคมเราถอยหลังเข้าคลองอยู่หรือเปล่า หรือว่าเรากําลังทําอะไรที่ไม่ได้ทําให้เกิดความก้าวหน้าแก่สังคม เช่น ในภาพยนตร์สารคดีที่ได้ชมเมื่อวาน มีการเรี่ยไรเงินจากราษฎรในการที่จะซื้อของขวัญให้ท่านผู้นำเป็นเครื่องบิน

ประการต่อมาคืออาจารย์ปรีดีไม่เห็นด้วยกับความคิดชาตินิยมแนวทหาร ชาตินิยมของอาจารย์ปรีดีคืออย่างที่อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภาได้กล่าวว่าเป็นเรื่องของประชาชนคนเล็กคนน้อย ความรักชาติมันต้องมาจากเบื้องล่างของสังคม มันไม่ใช่มาจากข้างบน ไม่ใช่เป็นการบังคับให้รักชาติ เราเกิดมาต้องรู้สึกถึงอัตลักษณ์ของเราเองว่าเราเป็นคนไทย เรารักประเทศชาติ เราจะทําตัวของเราให้มันมีประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองของเราอย่างไร เราไม่ต้องมีใครมาบังคับให้เรามายืนเคารพธงชาติวันละ 2 ครั้งเพื่อที่จะบอกว่าคุณรักชาติ เพราะฉะนั้นความรักชอบน่าจะเกิดมาจากคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม ซึ่งประเด็นนี้อาจารย์ปรีดีพูดไว้ชัดมากในงานเพราะท่านจะพูดถึงคนตัวเล็กตัวน้อยด้วยลักษณะหนึ่งซึ่งเราก็จะฟังใครที่อ่านแนวประวัติศาสตร์ก็จะทราบดีว่ามีการต่อสู้กันทางความคิดระหว่างหัวหน้ารัฐบาลคือจอมพลป. กับอาจารย์ปรีดี

อาจารย์ปรีดีทําเรื่องนี้ตอนที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แล้วท่านก็เพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและอเมริกาเพราะฉะนั้นท่านก็พยายามที่จะสะท้อนแนวคิดของท่านที่ว่าไม่เอาสิ่งที่กําลังมีกันอยู่ในโลกนี้อย่างเช่น ฟาสซิสต์ หรือฮิตเลอร์ ท่านไม่เอา ท่านต้องการให้คนอยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ค่อยเจรจากัน สามารถที่จะใช้แนวความคิดแบบสันติวิธีเข้าหากันให้ให้ได้มากที่สุด

นอกจากเรื่องนั้นแล้ว ก็คือสงครามอินโดจีน เมื่อวานที่ใครดูภาพยนตร์ที่นํามาฉายแล้วก็จะเห็นเรื่องสงครามอินโดจีน ชัดมากว่าประเทศไทยใช้ในการรณรงค์ให้คนรักชาติโดยการมองเรื่องของการเรียกร้องดินแดนคืนจากอินโดจีนและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นคนที่ยึดครองอินโดจีนอยู่แถวนั้น ท่านก็ไม่เห็นด้วย ท่านบอกว่าเจรจากันได้ ไม่ต้องส่งคนไปตาย

เพราะฉะนั้นในงานเรื่องนี้ชัดเจนมากเวลาที่เราอ่านจากวรรณกรรมเราก็จะพบว่าพระเจ้าจักราซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องใช้สงครามยุทธหัตถีเป็นสัญลักษณ์ในการที่จะบอกว่า ถ้าผู้นํามีอะไรที่ทะเลาะกันหรือไม่เห็นด้วยซึ่งกันและกัน กรุณานั่งโต๊ะเจรจา แต่ท่านใช้สงครามยุทธหัตถีซึ่งเป็นเหมือนการย้อนประวัติศาสตร์ไทยว่า ผู้นําสองคนก็มายุทธหัตถีกันใครชนะคนนั้นก็เป็นผู้ชนะ แต่ยุทธหัตถีสมัยโบราณเป็นการขยายพระราชอํานาจแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์แต่ของท่านไม่ใช่

อาจารย์ปรีดีบอกว่า ยุทธหัตถีก็คือการแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของผู้นํา เมื่อคุณอยากจะชกกันก็ขึ้นเวทีเลย แจกนวมกันไปคนละคู่ แล้วก็ชกกัน ประชาชนจะได้ไม่เดือดร้อนในเรื่องนี้ท่านบอกว่า พอผู้นําทําการยุทธหัตถีกันเสร็จ ท่านก็บอกว่าพอแล้วถึงแม้ว่าอโยธยาจะชนะ (อโยธยา แปลว่าสันติภาพ เป็นเมืองที่ปราศจากสงคราม ท่านจะใช้คําบาลีโบราณใน การตั้งชื่อเมืองที่พระเอกหรือพระเจ้าจักราทรงเป็นกษัตริย์) ท่านบอกว่า พอแล้วเราหยุดแค่นี้ ทหารทั้งหลายที่เป็นเชลย ท่านบอกว่าปล่อยให้กลับไป พม่า ไม่ต้องคร่าชีวิตกัน ซึ่งตรงนี้เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการคิดทั้งหมด

อีกอันหนึ่งที่อยากจะนําเสนอในเรื่องนี้ก็คือการสร้างภาพลักษณ์ศัตรู ตอนนี้เราอาจจะคุ้นชินกับคําว่า “การทําให้เป็นอื่น” เวลาที่เรามองคนอื่น เป็นอื่นเป็นคนที่เราไม่รู้จัก เป็นใครก็ไม่รู้ ความไม่เข้าใจ ความไม่รู้จักกัน มันทําให้มองคนอื่นเป็นศัตรูได้โดยง่าย แต่ถ้าเกิดเราพยายามมองว่าเขาก็ คือมนุษย์เหมือนเรา ความเกลียดชังก็จะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ อาจารย์ปรีดีพยายามนําเสนอก็คือเมื่อก่อนเรามองพม่าเป็นศัตรู มีอะไรเราก็ต้องศึกบางระจัน สร้างภาพยนตร์แล้วก็เกณฑ์นักเรียน นักศึกษาไปดูฟรี แจกตั๋วนั่งจองคิว จองที่นั่งสํารองกันสารพัด เพื่อที่จะบอกว่าคนไทยเรา เก่งมาก ย้ำกันไป

แต่ว่าสิ่งที่ อาจารย์ปรีดีมองก็คือว่า พม่าไม่ใช่ศัตรูแบบที่เราถูกสร้างให้เชื่อกัน เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา ทหารพม่าก็มีเจ็บมีตาย มีลูกมีเมียไม่อยากเข้าสู่สงครามหรอก มีฉากสงครามในภาพยนตร์ที่เราจะได้ดู ก็คือตอนที่พระเจ้าหงสาประกาศจะมายึดเมืองอโยธยา มีทหารคนหนึ่งลุกขึ้น มาบอกว่าเราไม่อยากจะมีสงคราม ทําไมเราต้องไปทําแบบนั้น เราไม่ควรที่จะไปรุกรานเขา มันไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง พระเจ้าหงสาซึ่งในเรื่องก็ยังมี ภาพลักษณ์เดิม ๆ ซึ่งอาจารย์ปรีดีก็ไม่ได้จะลบทั้งหมด ก็เป็นตัวแทนของฝ่ายร้ายก็เอาหอกปาไปที่ทหารคนนั้นจนเสียชีวิต

ในเรื่องนี้อาจารย์ก็พยายามมองว่าทหารทุกคนเค้าไม่ได้อยากจะมารบกับเรา แต่คนที่พาเขามาก็คือผู้นําที่กระหายอํานาจ เมื่อวานอาจารย์ ชัยวัฒน์พูดถึงทหารซึ่งต่อต้านสงครามด้วยการที่ไม่ยอมยิง อาจารย์ให้สถิติมาซึ่งดีมาก บอกว่าทหารที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 มีไม่ถึง 2% ที่รู้สึกว่า อยากจะฆ่าคนมีเพียง 15% ที่ยิงปืนไปยังฝ่ายตรงข้ามแล้วในนั้นมีเพียง 2% ที่รู้สึกว่าฉันมีความสุข ฮึกเหิม ภูมิใจที่ได้ฆ่าคนอื่น แต่ 15% ที่เหลือไม่ได้อยากจะเข้าร่วมสงครามเลย แล้วตอนนี้มีสารคดีกําลังจะติดตามอยู่รู้สึกเป็นของรัสเซีย เขาจะทําสารคดีสัมภาษณ์คนซึ่งเคยเข้าร่วมสงครามใน เวียดนาม แล้วกลับไปเยือนชาวเวียดนามเพื่อที่จะขอขมา ดูแค่ตัวอย่างก็ร้องไห้แล้วเพราะทหารอเมริกันทั้งรถอายุมาก ๆ แล้วนั่งร้องไห้ พอพูดถึงเรื่องนี้เขาก็ร้องไห้ เข้าไปขออภัยก็ร้องไห้ ทุกคนที่ไปสํานึกของเขาคือว่า เขาผิดไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นเขาไม่อยากจะทํา ไม่ใช่ทหารทุกคนจะเลวร้าย ทหารมีหน้าที่เป็นรั้วของชาติในยามที่มีภัย เข้ามารุกรานก็อาจจะมีสิทธิ์ที่จะต่อสู้ แต่ขณะเดียวกันไม่ใช่ทหารทุกคนที่จะเป็นแบบนั้น

 

โดม สุขวงศ์

เราจะได้ดูภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” ซึ่งมีความยาว 100 นาที บางคนสงสัยว่าทําไมอาจารย์ปรีดีจึงมาทําหนัง ท่านเป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทําไมมาทําหนัง เพราะว่าเวลานั้นหนังเป็นสื่อที่ครองโลก ทีวียังไม่เกิด วิทยุเพิ่งเกิด หนังเกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อน หนังก็คือ หนังสือพิมพ์ คนที่อ่านในสยามก็มีไม่เยอะ มีแค่ในเมืองเท่านั้นเอง แต่เมื่อมีภาพยนตร์เกิดขึ้น ภาพยนตร์ไปได้ทั่วโรงหนังเกิดขึ้นทั่วโลกเป็นหมื่นโรง โลกาภิวัตน์ (Globalization) หรือโลกเป็นหนึ่งเดียว โลกาภิวัตน์ ที่สําคัญเมื่อมีภาพยนตร์เกิดขึ้น คนทั่วโลกก็ดูอะไรเหมือน ๆ กัน โลกเล็กลง เป็นหนึ่งเดียว จึงไม่น่าแปลกที่อาจารย์ปรีดี ซึ่งท่านเกิดในยุคที่ภาพยนตร์เพิ่งเกิดแล้วกําลังครองโลก ท่านย่อมต้องชอบดูหนังเหมือนคนทั่วโลก

อีกท่านหนึ่งที่ทําหนังก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2477 หรือ 78 หลวงพิบูลสงคราม ให้ทําหนัง ในนามของกระทรวงกลาโหมเรื่องเลือดทหารไทย เป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อหรือปลุกใจให้ราษฎรหรือคนดูหนังเกิดความนิยมในกองทัพเห็นความจําเป็นว่าต้องมีกองทัพเพื่อต่อสู้กับผู้รุกรานหรือล่าอาณานิคมต่าง ๆ ทําในนามของราชการ

ต่อมาปี 2482 ที่หลวงพิบูลสงครามได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีพร้อมกับนโยบายชาตินิยม มีการปฏิวัติวัฒนธรรมต่าง ๆ ตอนนั้นนอกจากภาพยนตร์ สื่อก็มีนิยาย มีละครเวที เรื่องการปลุกใจออกมาเยอะ จนเป็นกระแสสังคมในสมัยนั้น เช่น บางระจัน เลือดสุพรรณ ฉะนั้น ในช่วงปี 2480, 82, 83 เกิดสงครามโลกในยุโรป ญี่ปุ่นก็บุก เกิดสงครามในตะวันออกมีทีท่าว่ารุกราน ประเทศไทยก็พยายามเป็นกลาง อาจารย์ปรีดีท่านก็ไปญี่ปุ่น ก็เห็นแสนยานุภาพของญี่ปุ่น ก็กลับมาผลักดันให้มีพระราชบัญญัติในเรื่องความเป็นกลางที่ในภาพยนตร์ที่เราจะได้ดู มีตัวละครอยู่ 2 ตัว ในแง่บริบทสังคม คนหนึ่งคือหลวงพิบูลสงคราม (แปลก) อีกคนหนึ่งคือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี)

ชื่อ หลวงพิบูลสงคราม แปลว่าการสงครามที่รุ่งเรือง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ก็สถาปนาหลักกฎหมาย หลักความเป็นธรรม 2 ชื่อหรือ 2 คน เหมือนจะถูกกำหนดให้อยู่ในขั้วตรงข้าม แต่ผมว่าเป็นเหรียญเดียวกันแต่คนละด้าน เพราะฉะนั้นที่อาจารย์ปรีดีต้องทําหนังเพราะมีกระแสกระหายสงครามในสังคมไทยมาแรง รัฐบาลปลุกใจให้คน นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ รวมถึงชาวบ้าน ให้ลุกขึ้นเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส จนกระทั่งสงครามขึ้น เพราะฉะนั้นในช่วงปี 2483 อาจารย์ปรีดีจึงเขียนนิยายขึ้น ผมเดาว่าที่ท่านแต่งเป็นนิยายเพราะว่าจากกระแสที่มีนิยาย มีละคร ไปในทางกระหายสงคราม วิธีที่จะต่อสู้ก็เหมือนหนามยอกเอาหนามบ่ง ก็ต้องทําเรื่องเป็นหนังเช่นเดียวกันแล้วเอาฉากย้อนอดีตไปในสงครามในประวัติศาสตร์

เพียงแต่ว่าเจตนารมณ์หรือเนื้อหาจะโต้กลับ จะตรงกันข้ามเพราะฉะนั้นที่ท่านทําหนังออกมาไม่ใช่เพื่อการค้า ประเด็นคือว่าถ้าท่านทําหนังเพื่อการค้าก็คงไม่ออกมาแบบนี้ที่น่าสนใจคือไม่ใช่หนังของรัฐบาลเหมือนที่ท่านจอมพล ป. ทํา แต่ผลิตโดยใช้ชื่อว่า “ปรีดีโปรดักชั่น” แสดงว่าทุนมาจากท่านเอง ซึ่งท่านจะไประดมมาจากที่ไหนไม่ทราบ แต่ว่ามันก็เป็นส่วนตัวใช้โรงถ่าย ใช้บุคลากรที่เป็นมืออาชีพในวงการอุตสาหกรรมหนังของไทยอยู่แล้วคือโรงถ่ายไทยฟิล์ม ซึ่งเลิกกิจการอยู่พอดี โรงถ่ายก็ว่างอยู่ ท่านก็ใช้โรงถ่ายที่นั่น ตากล้องคุณประสาท สุขุม ก็เป็นตากล้องของโรงถ่ายไทยฟิล์ม

ผมคิดว่าท่านตั้งใจจะเขียนนิยายพร้อมกับทําหนัง แต่ตรงนี้น่าสังเกตว่าเราไม่พบบทภาพยนตร์ มีเอกสารที่ค้นพบที่แสดงอยู่ แต่เป็นลักษณะที่เป็นเรื่องย่อซึ่งการทําหนังต้องมีบท ต้องบอกช็อท บอกฉากในการถ่ายทํา ซึ่งตรงนี้ยังไม่เจอ ฉะนั้น ผมหวังว่าวันหนึ่งจะมีการค้นพบแล้วจะทําให้เห็น

กระบวนการผลิตที่ชัดเจนขึ้น ที่นี้เมื่อไม่ได้มีเจตนาเพื่อการค้า ก็ถือเป็นหนังที่มีเจตนาจะบอกว่าเป็นการเมืองก็ได้เป็นอุดมการณ์ต้องการสื่อสารตรงนี้ไป เพราะการที่ท่านทําเป็นภาษาอังกฤษก็วิเคราะห์กันว่า เพื่อที่จะสื่อสารไปในทางสากล โดยเฉพาะในเวลานั้นมันก็เด่นชัด แล้วมันก็แบ่ง 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายอักษะกับฝ่ายสัมพันธมิตร แม้ว่าอเมริกายังไม่เข้าสงคราม แต่มันก็มีแนวโน้มแล้ว น่าสังเกตว่าเมื่อแต่งหนังสือเสร็จ ยังไม่ได้พิมพ์ ได้ทําหนังโดยทันที และเมื่อหนังเสร็จ หนังสือจึงออกมาพร้อมกับหนัง เพราะฉะนั้นจึงเป็น ไปได้ว่าท่านคิดจะทําหนังตั้งแต่ต้น แต่ก่อนจะทําหนังต้องมีอักษร มีหนังสือก่อน หนังก็เสร็จออกมาแล้วก็พูดภาษาอังกฤษเลย

ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทําคงกว่าครึ่งปี เมื่อเสร็จแล้วก็ต้องใช้ เวลาสักพัก มีกระบวนการอะไรต่าง ๆ แล้วจึงจะออกฉาย

ส่วนนักแสดงก็คงจะต้องใช้ผู้ที่พูดภาษาอังกฤษได้ แล้วก็เป็นการสมัครเล่น เพราะเราก็ไม่ได้มีนักแสดงอาชีพมากมาย เพราะฉะนั้นก็คงจะต้องหาผู้ที่พูดภาษาอังกฤษได้เป็นหลักคือตัวพระเอกเป็นนักเรียนอัสสัมชัญ ที่เขามีแผนกภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ส่วนตัวแสดงอื่น ๆ ที่ไม่มีบทพูดก็เป็นอาสาสมัครส่วนใหญ่ก็เป็นอาสาสมัคร เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการลงทุนเพื่อการค้าก็ถือว่าเป็นการกุศล

จากประสบการณ์ของผมเอง เมื่อดูหนัง “พระเจ้าช้างเผือก” ครั้งแรกในชีวิตเมื่อปี 2523 ที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นํามาฉายที่สยามสมาคม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่นําหนังเรื่องนี้กลับมาฉายอีกครั้ง เราพูดกันตลก ๆ ว่า พระเจ้าช้างเผือกต้องเสด็จนิราศออกจากไทยไปอยู่ต่างประเทศ เมื่ออาจารย์ปรีดีท่านก็ต้องลี้ภัยไป หนังนี้ก็หายสาบสูญไปจากสังคมไทยเป็นเวลาหลายสิบปี จนกลับเข้ามาปรากฏครั้งแรกเมื่อฉายที่สยามสมาคม ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไปดู ซึ่งเมื่อไปดูครั้งแรกก็จะทิ้ง ตื่นตาตื่นใจกับหนังเรื่องนี้ในแง่ของการถ่ายทําอะไรต่าง ๆ แต่อีกใจหนึ่งก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจกับเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษ เรื่องการแสดงเหมือนหุ่นยนต์ เหมือนกลไกอะไรต่าง ๆ แต่หลังจากที่ผมได้มาเกี่ยวข้องกับหนังเรื่องนี้ จนกระทั่งได้ใกล้ชิด ได้ดูจนจําไม่ได้ว่าดูกี่สิบครั้งแล้ว เมื่อดูแต่ละครั้ง ผมก็รู้ว่าได้เห็นอะไร ๆ มากขึ้น ได้อ่านหนังสือที่อาจารย์ปรีดีเขียนต้นฉบับจนมองเห็นว่าหนังเรื่องนี้เป็นช้างเผือกเชือกสําาคัญเชือกหนึ่งของหนังไทย ซึ่งควรจะต้องขึ้นระวางเป็นภาพยนตร์ช้างเผือกแห่งชาติ รวมทั้งตอนหลังเขามีขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจําโลก กรรมการขึ้นทะเบียนของประเทศไทย ก็ติดต่อมาให้หอภาพยนตร์เสนอหนังซึ่งมีค่า ที่ควรขึ้นทะเบียนเป็นมรดก ความทรงจําโลก เราก็เสนอพระเจ้าช้างเผือกไปก่อนหน้านี้ก็มีหลายงาน เวลาเขาฉลอง 100 ปี ภาพยนตร์โลกที่ฝรั่งเศส ยูเนสโก (UNESCO) ก็ติดต่อ มาให้เราเสนอชื่อหนังที่เป็นหนังคลาสสิกของไทย เราก็เสนอเรื่องนี้ไปปรากฏว่า ไม่มีคําตอบกลับมาจากกรรมการก็ได้ยินเสียงมีคนพูดมาว่าหนังไม่สมจริงบ้าง เป็นเหตุให้บาดหมางกับเพื่อนบ้าน อะไรหลายอย่างข้อหาแรง ๆ ทําให้ พระเจ้าแผ่นดินไทยเสื่อมพระเกียรติด้วย เพราะเป็นการชนะที่ไม่สมศักดิ์ศรีเพราะอีกฝ่ายหนึ่งเมา

ตรงนี้ผมคิดว่าเมื่อใครที่ดูครั้งแรกก็อาจจะรู้สึกแบบนี้ แต่เมื่อผมดูครั้งก็เริ่มเห็นเริ่มแกะรอยเห็นเหตุผลหรือความเชื่อในการทําหนัง ซึ่งไม่ใช่อาจารย์ปรีดีคนเดียว เพราะการทําหนังไม่ใช่ทําได้คนเดียว ต้องมีคนในวงการ มีตากล้อง มีผู้กํากับ รวมทั้งมีบริบทของสังคมอะไรต่างรวมกัน เพราะฉะนั้นหนังที่ออกมามันสามารถบอกความหมายของยุคสมัยเป็นตัวแทนความทรงจําของยุคสมัยนั้นที่เราควรเก็บเป็นมรดกความทรงจําอีก 100 ปี 500 ปีข้างหน้ามันจะบอกเล่าอะไรได้

และอีกอย่างที่อยากให้ดูคือการถ่ายทํา ตากล้องคือคุณประสาท สุขุม ซึ่งเป็นตากล้องคนไทยคนเดียวที่มีพ่วงท้ายว่า ASC ก็คือเป็นสมาชิกสมาคม ช่างถ่ายภาพยนตร์ของอเมริกา เพราะว่าท่านไปเรียนการถ่ายภาพยนตร์ที่ฮอลลีวูด สมัยรัชกาลที่ 6 ท่านเป็นมหาดเล็กแล้วได้ทุนไปศึกษาผลงานของคุณประสาทมีไม่เยอะนัก แต่เรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่ประกาศความสามารถเรื่องการถ่ายภาพโดยเฉพาะเรื่องการถ่ายช้าง ผมคิดว่าเป็นหนังที่ถ่ายช้างได้สวยที่สุดในโลก เหตุผลประการหนึ่งก็คือไม่มีช้างที่สวยงาม ขนาดนี้ให้ถ่ายอีกแล้ว อันที่สองเป็นความกล้าหาญในมุมกล้อง ก่อนหน้า เรื่องพระเจ้าช้างเผือก มีฝรั่งมาถ่ายเรื่องช้างในประเทศไทย ปี 2470 ก็ไม่กล้าหาญที่จะถ่ายให้ช้างเดินข้ามหัวตากล้องไปขุดหลุมแล้วให้เอากล้องไปไว้ข้างล่าง จะมีก็แค่เฉียง ๆ แต่เรื่องนี้ขุดหลุมแล้วเอากล้องลงไปไว้ข้างล่างให้ช้างเดินข้ามไป ซึ่งภาพที่ออกมาก็จะตรึงตาตรึงใจ โดยเฉพาะถ้าได้ชมใน โรงใหญ่ เพราะฉะนั้นยินดีที่ท่านทั้งหลายได้มาดูหนังในวันนี้ แต่เสียดายว่าจออาจจะเล็กไปเมื่อเทียบกับโรง แล้วก็เครื่องฉายที่นี่อาจจะคุณภาพไม่ดีเท่ากับโรง มันก็อาจจะไม่สว่างไม่คมอะไรมากนัก แต่ศักยภาพจะออกมา จากที่เราเห็นในจอใหญ่ในมืด ๆ แล้วดูพร้อมกันกับคนอื่น

 

หมายเหตุ:

  • เรียบเรียงจากงานเสวนาที่จัดขึ้นในวาระ 70 ปี วันสันติภาพไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เวลา 15.00-16.30 น.
  • ภาพประกอบจากต้นฉบับ

 

บรรณานุกรม:

  • สุรัยยา สุไลมาน และโดม สุขวงศ์, การเสวนาภาพยนตร์ เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ใน 71 ปี วันสันติภาพไทย: สันติ-ประชา-ทำ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559)