Focus
- บทความนี้เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับละครเวทีเรื่อง The Life That Was (ชีวิตที่เป็นอยู่) หนึ่งในการแสดง Other Venue ของเทศกาลละคร 2024 (Bangkok Theatre Festival 9-24 November 2024) จัดแสดงในวาระเปิดโรงละครใหม่ใจกลางย่านเมืองเก่าชื่อ โรงละคร LiFE THEATRE โดยเกิดขึ้นจากครูหนิง พันพัสสา ธูปเทียน, ครูบัว ปริดา มโนมัยพิบูลย์ และ ครูวิน ดนัยนันท์ กฤดากร ณ อยุธยา ผู้อยู่เบื้องหลังงานพัฒนาวงการละครไทยในนาม LiFE THEATRE มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างสรรค์งานร่วมกันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552
- ปีนี้ 2567 โรงละคร LiFE THEATRE เปิดเวทีด้วยละครเบิกโรงจาก Original Play คือเรื่อง The Life That Was มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักเพศเดียวกันในมุมที่ลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณ ผ่านความรัก ความเจ็บปวด และความทรงจำ บอกเล่าถึงช่วงเวลาที่ผ่านพ้นไป ซึ่งยังคงทิ้งร่องรอยในจิตใจ ทั้งความจริงที่ต้องยอมรับกับปัจจุบัน และความฝันที่ยังไม่อาจปล่อยวาง โดยเสนออย่างร่วมสมัยแต่เชื่อมโยงสายใยกับพื้นที่เก่า บริบทของสังคมถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของละครเวทีไทยในยุคหลังโควิด’19
“The Life That Was” (ชีวิตที่เป็นอยู่) คือ หนึ่งในการแสดง Other Venue ของ เทศกาลละคร 2024 (Bangkok Theatre Festival 9-24 Nov. 2024) จัดแสดงในวาระเปิดโรงละครใหม่ใจกลางย่านเมืองเก่า เกิดจากการร่วมลงทุนลงแรงลงใจอย่างทุ่มเทของสามครู (ครูหนิง พันพัสสา ธูปเทียน, ครูบัว ปริดา มโนมัยพิบูลย์ และ ครูวิน ดนัยนันท์ กฤดากร ณ อยุธยา) ผู้อยู่เบื้องหลังงานพัฒนาวงการละครไทยในนาม LiFE THEATRE มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างสรรค์งานร่วมกันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 ปีนี้ 2567 เปิดเวทีด้วยละครเบิกโรงจาก Original Play ในนามคณะ LiFE THEATRE นำเสนอเรื่องราวความรักเพศเดียวกันในมุมที่ลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณ ผ่านความรัก ความเจ็บปวด และความทรงจำ บอกเล่าถึงช่วงเวลาที่ผ่านพ้นไป ซึ่งยังคงทิ้งร่องรอยในจิตใจ ทั้งความจริงที่ต้องยอมรับกับปัจจุบัน และความฝันที่ยังไม่อาจปล่อยวาง ในแนวทางของเรื่องราวร่วมสมัย เชื่อมโยงสายใยกับพื้นที่เก่า ซึ่งไม่ใช่แค่มิติของ ‘ละคร’ แต่คือบริบทของสังคม และประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของละครเวทีไทยใน ‘ยุคฟื้นฟู ฝ่าฟัน’ (หลังโควิด19)
เป็นที่น่ายินดีกับการก่อเกิด OASIS อีกแห่งท่ามกลางความ ‘แล้ง’ ของโลกเศรษฐกิจ โรงละคร LiFE THEATRE มีขนาดเล็กรับผู้ชมได้ไม่เกิน 100 คน บนถนนย่านเมืองเก่า เป็นตึกแถวที่นำมาบูรณะใหม่ เพิ่งแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2567 ผู้ชมได้สัมผัส ประสบการณ์จากพลังของนักแสดงมากฝีมือทั้ง 5 คน บนพื้นที่ขนาด 100 กว่าตารางเมตร ได้ยินเสียงนักแสดง ทั้งเสียงพูดและเสียงร้องเพลงสด ๆ แบบไม่ผ่านไมโครโฟนใด ๆ เหมือนเราได้เข้าไปอยู่ในชีวิตของตัวละครเหล่านี้จริง ๆ ไปอยู่ร่วมห้องกับพวกเขา และเป็นส่วนหนึ่งในช่วงชีวิตนั้นของพวกเขาอย่างใกล้ชิด ด้วยความปรารถนาที่จะให้ผู้ชมได้ร่วมเป็น (อีกหนึ่ง) ส่วนสำคัญในการแสดงด้วย
‘เมื่อความทรงจำต้องเผชิญหน้ากับความจริง ในวันที่ความจริงยากเกินจะยอมรับ... เราจะเลือกอะไร?’ ละครส่งคำถามหวามใจให้ผู้ชมร่วมหาคำตอบ… ระหว่างเพื่อนเก่ากับคนแปลกหน้า ความรักที่หลากหลาย เศษเสี้ยวความทรงจำและความจริงที่ต้องเผชิญหน้า นำไปสู่จุดเปลี่ยนแปลงในชีวิตของมนุษย์ 5 คน นอกจากเนื้อหาร่วมสมัยสิ่งที่น่าสนใจใน “The Life That Was” คือพื้นที่แห่งการเก็บเกี่ยวพลังงานการแสดง จากละครเวทีโรงเล็กครั้งแรกของ นก สินจัย, ปาน ธนพร นักร้องแถวหน้าปรับสายงานเพิ่มประสบการณ์ใหม่ให้ตัวเอง, โอ อนุชิต ร่วมใช้พลังล้นเล่นอย่างล้ำลึก ล้วนนักร้องนักแสดงมากฝีมือที่ผู้ชมได้ดื่มด่ํากับการแสดงอย่างใกล้ชิดติดเวที ร่วมด้วยนักละครคู่ใหม่ฝีมือไม่ธรรมดา ลิลลี่ สรินยา และ วิน ดนัยนันท์ ร่วมเติมให้รสชาติเต็ม และแจ้งเกิดได้ไม่ยากจากละครเรื่องแรกของทั้งคู่
ประวัติศาสตร์ละครโรงเล็ก
โรงมหรสพ ประเภทโรงภาพยนตร์และโรงละครของไทยในกรุงเทพฯ (ไม่รวมสถานบันเทิงยามราตรีที่ต้องรับกับการปรับตัวไม่ต่างกัน) ได้มีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยที่มีสภาพเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของผู้คนเป็นคนกำหนด ปัจจุบันจึงมีขนาดเล็กและเป็นดาวกระจายไปในแต่ละพื้นที่ของผู้ลงทุน หรือผู้ให้การสนับสนุนระยะยาว (คนกล้าผู้ร่วมลงขันปันน้ำใจ) ให้เกิดเป็นโรงหนัง โรงละครขนาดเล็ก ที่ไม่จำเป็นต้องทุ่มทุนมหาศาลบนความเสี่ยงกับ ‘ธุรกิจเฉพาะกลุ่ม’ เพื่อรองรับการสร้างสรรค์งานนอกระบบ เอื้อต่อสิทธิ์เสรีในการสื่อสารความคิดต่อสังคมตามอุดมการณ์ โดยเฉพาะงานในสายของละครเวที มีดาวกระจายหลายย่าน ผ่านวิกฤตการณ์มาแล้วหลายยุค แต่ต้องลุกขึ้นสู้ เปิดประตูต้อนรับผู้ชมในบ้าน ในร้าน (ย่านสุขุมวิท สะพานควาย ซอยอารีย์ ล่าสุด ตึกแถวโบราณย่านแยกสำราญราษฎร์ฝั่งธนบุรีที่ generation ใหม่แทรกตัวหยัดยืน ฯลฯ) บนพื้นที่จำกัด ด้วยข้อผูกมัดที่มากกว่าเงื่อนไขสำคัญทางธุรกิจคือ ‘ความรัก’ ในศาสตร์และศิลป์ของการแสดงแขนงนี้ การก่อเกิดของโรงละครจึงเป็นความกล้าหาญทานกระแสแม้ยุคเศรษฐกิจพินาศ ขาดความมั่นคงในชีวิต
ละครโรงเล็กในยุโรปมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมาตัังแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เริ่มต้นจากความต้องการสร้างการแสดงที่เน้นความใกล้ชิด และเข้าถึงได้ง่ายกว่าละครในโรงใหญ่ โดยมีจุดเริ่มต้นในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน และปารีส ที่ศิลปินและผู้กำกับละครเริ่มใช้พื้นที่ขนาดเล็กอย่างตึกแถว หรือโกดังที่สามารถดัดแปลงพื้นที่ให้เหมาะกับการแสดงได้อย่างหลากหลาย
ละครนอกระบบ (Off-Broadway และ Fringe Theatre)
ในนิวยอร์กช่วงกลางศตวรรษที่ 20 แนวคิดของ ‘โรงละครนอกระบบ’ (Off-Broadway) เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการแสดงที่ท้าทายขนบและกฎเกณฑ์เดิม ๆ ของโรงละคร Broadway ที่เน้นการแสดงเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก โรงละคร Off-Broadway เช่น La MaMa Experimental Theatre Club และ The Public Theater ให้โอกาสนักเขียนบทและผู้กำกับในการทดลองสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ที่เข้าถึงผู้ชมในแบบที่แตกต่างจากเดิม ในอังกฤษก็เกิดกระแส Fringe Theatre หรือโรงละครนอกกระแส โดย Edinburgh Festival Fringe ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในปี 1947
โรงละครเล็กในสมัยใหม่ (ยุค 1970 - ปัจจุบัน)
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 โรงละครเล็กยังคงเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับนักแสดง และผู้กำกับที่ต้องการสร้างงานที่ท้าทาย และไม่ถูกจำกัดด้วยระบบดั้งเดิม โรงละครเหล่านี้มักอยู่ในพื้นที่ซึ่งดัดแปลงจากอาคารเก่า เช่น โรงงานหรือโกดัง ให้ความรู้สึกความอบอุ่นและเป็นกันเอง มีเสน่ห์ต่างจากโรงละครใหญ่ที่เน้นปริมาณผู้ชม ความหรูหรา เป็นทางการ และเทคนิคอลังการงานสร้าง
ปัจจุบันโรงละครเล็กยังคงเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมการแสดงในเมืองใหญ่ทั่วโลก ที่ผู้ชมสามารถเชื่อมต่อกับเรื่องราวและนักแสดงได้อย่างใกล้ชิดในแบบที่โรงละครขนาดใหญ่ไม่สามารถมอบให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงเล็กในโกดังเก่าในนิวยอร์ก หรือในตึกแถวแคบ ๆ กลางกรุงลอนดอน โรงละครเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่สถานที่แสดงละคร แต่ยังเก็บบรรยากาศจากอดีต ถ่ายทอดเรื่องราวทั้งบนเวทีและรอบ ๆ ตัว ที่ทำให้คนดูรู้สึกเหมือนได้เข้าไปอยู่ในโลกเดียวกันกับนักแสดง เพราะการแสดงในโรงเล็กนั้นมีความใกล้ชิดแบบที่หาไม่ได้จากโรงใหญ่ ทุกจังหวะการแสดง ทุกอารมณ์ของนักแสดงที่ส่งมาถึงคนดูนั้นลึกซึ้งและจับต้องได้ แทบจะได้ยินเสียงลมหายใจของนักแสดง เห็นแววตาที่สื่อถึงความรู้สึก ซึ่งทำให้ผู้ชมรู้สึกเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทาง ที่เรื่องราวนำพาพวกเขาไป…
Life THEATRE ได้แรงบันดาลใจจากโรงละครเล็กในต่างประเทศ ซุกตัวอยู่ในอ้อมกอดของพื้นที่ย่านเมืองเก่า เสาชิงช้า (Old Town) เคยเป็นตึกแถวซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวใหญ่มาหลาย generations ถูกปรับให้กลายเป็นโรงละครที่สร้างความทรงจำใหม่ เน้นการทำงานกับ space ไม่ว่าจะเป็นเสา บันได หรือมุมเล็ก ๆ ที่ร่วมสร้างเรื่องราว ทุกโครงสร้าง ทุกผนัง ถูกใช้เป็นองค์ประกอบของเรื่องราวที่ต้องการบอกเล่า ในบรรยากาศอบอุ่น สบาย ๆ เป็นกันเอง เหมือนเราเข้าไปนั่งชมการแสดงอยู่ในบ้านเพื่อน
“The Life That Was” เป็นละคร Original Play ที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อให้เหมาะกับการใช้เปิดพื้นที่ ‘LiFE Studio’ ที่เป็นตึกแถวโบราณในย่านเมืองเก่าของ กลุ่มละคร ‘LiFE THEATRE’ ที่เล่าเรื่องความรักเพศเดียวกันในมุมที่หลากหลาย ผ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอดีตและความทรงจำ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสําคัญของตัวละครทั้ง 5 คน
- สินจัย เปล่งพานิช (เพชร)
- ธนพร แวกประยูร (นาว)
- สรินยา ออลสัน (ปูเป้)
- อนุชิต สพันธุ์พงษ์ (ต่อ)
- ดนัยนันท์ กฤดากร ณ อยุธยา (ภูมิ)
กำกับการแสดงโดย ครูหนิง พันพัสสา ธูปเทียน
เขียนบทละครโดย ครูบัว ปริดา มโนมัยพิบูลย์”
จัดแสดงทั้งหมด 10 รอบ เมื่อวันที่ 13-17 พฤศจิกายน / 20-22 พฤศจิกายน 2567 และได้รับเสียงเรียกร้องล้นหลามให้กลับมาจัดแสดงอีกครั้งใน วันที่ 23 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2568
‘LiFE THEATRE’
ครูหนิง พันพัสสา ธูปเทียน เป็นครูสอนการแสดง ผู้ก่อตั้งกลุ่มละคร และโรงละคร ‘LiFE THEATRE’ ที่โดดเด่นในการเล่าเรื่องความรักและชีวิต ในมิติที่ลุ่มลึก การทำงานสำคัญครั้งนี้เป็นการหวนคืนงานละครเวทีอย่างมีเป้าหมายระยะยาว หลังจากห่างหายไปกว่า 2 ปี ครั้งนี้กลับมาพร้อม ครูบัว ปริดา มโนมัยพิบูลย์ อาจารย์นักเขียนบท (ทั้งคู่ได้ร่วมสร้างบทและกํากับภาพยนตร์เรื่อง “แมนสรวง” ปี 2566 และล่าสุด ซีรีส์ “4MINUTES” (ปี 2567) ครูทั้งสองให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ และสนทนาหลังการแสดงท่ามกลางแฟนละครร่วมภาคภูมิใจในผลงานคุณภาพ
“โรงละคร LiFE THEATRE จุผู้ชมได้ 100 ที่นั่ง คนดูแถวหน้าสุดอยู่ห่างจากนักแสดงประมาณ 1 เมตร มันคือเสน่ห์ของละครโรงเล็กที่เราจะได้เห็นทุกอย่างตรงหน้าสด ๆ อย่างใกล้ชิด เป็นความท้าทายของนักแสดง และเป็นความสุข ความสนุกที่พวกเราเลือกจะก้าวข้ามเงื่อนไขต่าง ๆ แล้วมาทำงานร่วมกัน เรารู้สึกว่าความทรงจำมันน่าสนใจ บางทีมันทำให้เราขังตัวเองไว้ในโลกใบนั้น แต่บางครั้งมันก็ทำให้เราหายใจได้ในแต่ละวัน” ครูหนิง ผู้กำกับ กล่าวยืนยันอย่างมั่นใจในเสน่ห์เฉพาะตัวของละครโรงเล็กที่ ‘ปัจเจก’ สามารถสัมผัสได้ ร่วมเติมความหมายให้ชีวิต
ครูหนิง “เริ่มต้นจากโจทย์ว่าเราอยากทำละครที่เป็นละครเปิดพื้นที่ พอเป็นอาคารเก่าก็รู็สึกว่าน่าจะเป็นเรื่องราวที่เชื่อมระหว่างอดีตกับปัจจุบัน โยงกับความทรงจำเก่า ๆ เพราะคิดว่าความทรงจำมันน่าสนใจ บางทีมันทำให้เราขังตัวเองเอาไว้ในโลกใบนั้น แต่บางทีมันก็อาจจะทำให้เราหายใจได้ในแต่ละวัน
ทุกคนมีความทรงจำทุกคนมีอดีต แต่ละคนก็มีตัวเลือกที่แตกต่างกันออกไป ว่าจะอยู่กับมันยังไง จะยึดมันไว้ไหม หรือจะพยายามลืมมัน ความหลากหลายทางเพศ มุมมองที่มีต่อสิ่งนี้ก็แตกต่างกันตาม generation ด้วย เราก็อยากสะท้อนให้เห็นว่า บาง generation มันไม่ได้ง่าย บาง generation อาจไม่ใช่เรื่องความมยากในการยอมรับความเป็นตัวเอง แต่อาจจะเป็นเรื่องของการต่อสู้กับสิ่งรอบตัว ครอบครัว หรือว่าความสัมพันธ์ที่มันจะยั่งยืนไปได้แค่ไหน
เราเล่าความรักหลากหลายรูปแบบ ในแต่ละเรื่องที่เราทำ มันทำให้เราเป็นมนุษย์ มันทำให้เรารู้สึกบางอย่าง มัน effect ต่อ passion ของเรา มัน effect ต่อ conflict ในชีวิตเรา มันทำให้เราเดินหน้าต่อไปได้ บางทีมันก็ทำให้เราจมอยู่กับอะไรบางอย่าง แล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนใหญ่เราจะชอบเล่าเรื่องราวของชีวิตคนธรรมดา ๆ แล้วก็เรื่่องราวที่ไม่ถูกพูดถึง คนดูเขาได้เห็นทุกอย่างเกิดขึ้นข้างหน้าตรงนี้จริง ๆ เรียกว่าหายใจร่วมกับนักแสดงจริง ๆ เห็นการมีชีวิตอยู่ตรงหน้า ตรงนี้จริง ๆ โดยไม่ได้ผ่านการตัดต่อหรือว่าเทคนิคอะไร”
ครูบัว “เรามองถึงความหลากหลาย นอกจาก Gender แล้ว ก็เป็นเรื่องของ Generation ทำให้เราอยากเห็นนักแสดงหลายรุ่นมาทำงานด้วยกัน แล้วลองผสมดูว่าถ้าไม่ใช่แค่นักแสดงละครเวทีล่ะ ถ้าเราชวนนักแสดงที่เขาอาจจะเล่นหนังเล่นละครมาค่อนข้างเยอะ ลองมาทำงานกับโรงละครโรงเล็กดูจะเป็นยังไงนะ แล้วเราก็ได้นักแสดงที่มืออาชีพมาก ๆ มีทักษะการแสดงสูงมาก เราก็คุยกันว่าเราอยากเห็นอะไร อยากเห็นนักแสดงเหล่านี้ในบทอะไร คุยไอเดียแล้วลองร่างออกมา
เรารู้สึกว่าชีวิตมันถูกขับเคลื่อนด้วยความรัก เป็นประเด็นที่เราชอบเล่า ละครมันทำหน้าที่ขับเคลื่อนอะไรได้เยอะมากจริง ๆ สำหรับเรา ความรู้สึก ความรัก มันก็ขับเคลื่อนได้เหมือนกัน แล้วมันเป็นสิ่งที่บางทีเรามัวแต่ไปวิ่งหาอะไรกันเต็มไปหมดเลย แต่เราลืมไปว่า สิ่งเล็ก ๆ simple มาก ๆ เหล่านี้ในชีวิตมันทำงานของมัน ทำงานกับเราอยู่นะ มันคือเชื้อเพลิงของเรา ที่ผลักให้เราทำอะไรกันอยู่ทุกวันนี้น่ะ คนดูเขาอยู่ตรงนี้ใน moment นี้ เขาแชร์ moment จริง ๆ กับตัวละคร ละครเรื่องนี้เป็นงานที่นักแสดงและทีมงานได้ปล่อยของเต็มที่ และใส่ทุกอย่างที่มีลงไป”
ต้นทาง คือ สายธารวรรณกรรม
ในละครเวที “The Life That Was” ผู้ชมได้ร่วมรับรู้ความคิดของตัวละครบางด้าน เพราะถ่ายทอดผ่านความรู้สึกเชื่อมโยงกับวรรณกรรมและภาพยนตร์บางเรื่อง อาทิ “One Hundred Years of Solitude” – วงจรแห่งการวนเวียนและความทรงจำที่ไม่รู้จบ (“หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” งานเขียนต้นแบบนิยายแนว ‘สัจนิยมมหัศจรรย์’ หรือ Magical Realism โดยนักประพันธ์วรรณกรรมอมตะ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ Gabriel García Márquez) เรื่องราวของตระกูล Buendía ที่ดูเหมือนติดอยู่ในวงจรอันไม่สิ้นสุด ทั้งความรัก การสูญเสีย และความโดดเดี่ยวที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ตัวละครแต่ละรุ่นในตระกูล Buendía ล้วนเผชิญกับความท้าทายและความเจ็บปวดที่คล้ายกัน ราวกับว่าพวกเขาไม่อาจหนีพ้นคำสาปที่ยึดโยงชีวิตไว้ ทุกชีวิตดำเนินไปในรูปแบบซ้ำ ๆ พยายามหลุดพ้นจากอดีตและความทุกข์ แต่สุดท้ายก็ต้องกลับสู่จุดเริ่มต้นไม่ต่างจากวงจรชีวิตของธรรมชาติ
Eternal Sunshine of the Spotless Mind – เพราะการลบ ไม่ช่วยให้ลืม
ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครสองคนที่ตัดสินใจลบความทรงจำเกี่ยวกับกันและกันหลังจากเลิกรา เพื่อหลีกหนีจากความเจ็บปวด โจเอล ค้นพบว่า คลีเมนไทน์ อดีตคนรักได้ลบความทรงจำเกี่ยวกับเขาทิ้งไปจนหมดสิ้น โจเอลจึงตัดสินใจมุ่งหน้าไปในเส้นทางเดียวกัน นั่นคือการพยายามลบความทรงจำเกี่ยวกับคลีเมนไทน์ทิ้งไป แต่ระหว่างกระบวนการลบความทรงจำ Joel กลับเริ่มคิดถึงช่วงเวลาที่ดีของพวกเขา และพยายามเก็บความทรงจำเหล่านั้นไว้ เขาตระหนักว่าการลบความทรงจำไม่ใช่คำตอบ ความจริงก็คือความทรงจำเหล่านั้น ไม่ว่าหอมหวานหรือเจ็บปวด ล้วนมีส่วนสร้างความเป็นตัวเราทั้งสิ้น
Marvel Cinematic Universe – ความแน่นอนในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
โลกภาพยนตร์ของ Marvel ตัวละครหลักมักจะเต็มไปด้วยการต่อสู้ พลังพิเศษ และภารกิจในการปกป้องโลก ในขณะที่พวกเขามักจะเผชิญกับอุปสรรคหนักหนาสาหัส แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาก็สามารถควบคุมชะตาชีวิตของตัวเองและจบลงด้วยชัยชนะได้ แม้จะต้องแลกมาด้วยความท้าทายใหญ่หลวง บทสรุปของ Marvel จึงเป็นการให้ความหวังและความมั่นใจว่า “แม้โลกนี้จะมีความท้าทายเพียงใด เราก็ยังสามารถยืนหยัดและนำพาความยุติธรรมได้”
Production Design
ในละครเวที แสงและฉาก เปรียบเสมือนตัวละครอีกตัวหนึ่งที่คนดูอาจไม่เห็นแต่รู้สึกได้ถึงการมีอยู่ ช่วยเติมเต็มให้ผู้ชมเข้าถึงเรื่องราวและความรู้สึกของตัวละครได้ลึกซึ้ง “The Life That Was” เป็นการรวมตัวของเหล่า Designers ระดับแนวหน้าทุกแผนก ซึ่งมีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในไทยและระดับนานาชาติ มาร่วมกันสร้างสรรค์งานโปรดักชั้นงาม
สุพัตรา เครือครองสุข หรือ ครูสุ ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบแสงสำหรับละครเวทีที่มากฝีมืออันดับ Top ของประเทศ เป็นอาจารย์พิเศษในด้านการออกแบบแสงสำหรับละครเวที ให้กับหลากหลายมหาวิทยาลัย เป็นผู้ออกแบบแสงเสียงให้กับละครเวทีและการแสดงทั้งเล็กและใหญ่นับไม่ถ้วน และเป็นผู้สร้าง Lighting Designer และ Lighting Opertator รุ่นใหม่ให้กับวงการละครมากมาย
ณัฐพร ลีลาพิสุทธิ์ หรือ ปุ้ม นักออกแบบแสงอิสระและวิทยากรพิเศษสอนการออกแบบแสงในหลายสถาบัน เคยได้รับทุนไปฝึกที่ The Banff Centre ประเทศแคนาดา หลังจากนั้น ได้ออกแบบแสงให้กับบริษัทระดับโลก เช่น Norwegian Cruise Line และ Virgin Voyages โดยได้ศึกษางานจาก Paule Constable นักออกแบบแสงเจ้าของรางวัล Tony Awards งานล่าสุดคือเป็นผู้ออกแบบแสงหลักให้กับ Production Shows ของเรือสำราญระดับ 6 ดาว Silversea
รัถยา ตรีรัตน์ ไผ่ รัถยา Scene designer ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบฉากสำหรับละครเวที OPERA และ MUSICAL จบปริญญาตรีสถาปัตยกรรมศาสตร์และปริญญาโทศิลปะการออกแบบเพื่อการละครจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาต่อด้านการออกแบบเวทีที่ The Lir Academy ในดับลิน และจบการศึกษาด้วยเกียรตินิยม ผลงานล่าสุดได้แก่ Letters of a Country Postman, Baby Weather, Laramie Project, Twelfth Night, Our Town, Parcel from America, Volcano, Privilege: The Musical! และ Rough Weekend อีกทั้งยังเคยทำงานกับ Landmark Productions และ Rough Magic ในปี 2021 ได้เข้าร่วมโปรแกรม SEEDS Apprentices ของ Rough Magic และได้รับรางวัลการออกแบบฉากยอดเยี่ยมจาก Irish Times Theatre Awards สำหรับ Volcano ผลงานล่าสุดที่ไผ่ร่วมงานกับ LiFE คือออกแบบฉากละครเรื่อง Closer
ผู้แต่งเพลง บั๋ง สุทธิพงษ์ สมบัติจินดา นักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ชื่อดังของวงการเพลงไทย ผลงานของเขาเป็นที่จดจำจากบทเพลงที่สะท้อนอารมณ์ลึกซึ้ง เช่น “ตบมือข้างเดียว”, “เรื่องง่าย ๆ (ที่ผู้ชายไม่รู้)”, “หนุ่มบาวสาวปาน” และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งล้วนเป็นผลงานที่สร้างแรงบันดาลใจและความประทับใจให้กับผู้ฟัง ละครเวที “The Life That Was” ได้ศิลปินระดับแนวหน้ามาร่วมสร้างสรรค์เพลงและดนตรีประกอบ ช่วยเติมเต็มอารมณ์ความรู้สึกของเรื่องราวอย่างลงตัว
วิน-รพีเดช กุลบุศย์ และ พิซซ่า-ทฤษฎี ณ พัทลุง Sound Designer
วิน - รพีเดช กุลบุศย์ ผู้ก่อตั้ง 28Productions บริษัท music production ที่ทำงานเป็น partner กับ Studio28 ในการทำ Orchestra recording service สำหรับภาพยนตร์และงานต่าง ๆ วินได้นำความชำนาญในฐานะโปรดิวเซอร์และมิวสิคไดเร็กเตอร์ มาช่วยเสริมอารมณ์ของละครเรื่องนี้ เขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังดนตรีประกอบหลากหลายผลงานสำคัญ เช่น ละครเพลงเฉลิมพระเกียรติ ไกลกังวล เดอะมิวสิคัล หลายชีวิต The Concept Musical และผลงานดนตรีประกอบภาพยนตร์และซีรีส์อีกมากมาย ซึ่งทุกผลงานของเขาล้วนแล้วเปี่ยมคุณภาพ
พิซซ่า - ทฤษฎี ณ พัทลุง วาทยกรและนักประพันธ์ดนตรีระดับโลก ผู้สร้างสรรค์บทเพลงที่สะท้อนความงามของการผสมผสานดนตรีไทยกับดนตรีคลาสสิกตะวันตก หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นของเขาคือ ”Eternity“ ที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อถวายแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และยังเป็นวิทยากรคนไทยคนแรกที่ได้รับเชิญให้แสดงที่ Concertgebouw ในประเทศเนเธอร์แลนด์ หอแสดงดนตรีคลาสสิกชั้นนำของโลก พิซซ่าประพันธ์ดนตรีและอำนวยเพลงให้กับศิลปิน ภาพยนตร์ และซีรีส์มากมาย ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
ด้วยศิลปินดนตรีที่เต็มไปด้วยความสามารถและประสบการณ์ทั้งสาม “The Life That Was” จึงเป็นละครเวทีที่อวลไปด้วยดนตรีพลังอบอุ่น โอบอุ้มผู้ชมสู่บรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรู้สึกลึกซึ้งอ่อนโยน และสะเทือนใจ
อุดม แนวโนนทัน (ยุ่ง) Costume Designer ศิษย์เก่าหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิตศิลปการละคร สาขาวิชาการออกแบบ เป็น Costume designer เจ้าของ Jamsom Design เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชา ออกแบบฉากและออกแบบเครื่องแต่งกายสำหรับละครเวที ให้หลายมหาวิทยาลัย ร่วมงานในฐานะ Costume designer ให้กับ LiFE Theatre มาหลายงาน อาทิ ละครเวที Closer และ IT’S ALL POSSIBLE, FUTURVERSE MUSIC PERFORMANCE ในงานเปิด คิง เพาเวอร์ มหานคร
รพีพล ยูวะนิยม (อ่อง) Makeup Designer ผู้มีผลงานด้านการออกแบบการแต่งหน้าให้กับการแสดงบนเวทีมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบการแต่งหน้าให้กับทุกตัวละครใน ‘บัลเล่ต์มโนราห์’ และ ‘แม่น้ำของแผ่นดิน’ รวมไปถึงการออกแบบการแต่งหน้าให้กับบริษัทผลิตละครเพลงชื่อดังอย่าง Dreambox ทั้ง ‘แม่นาค เดอะมิวสิคัล’ และเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากการแต่งหน้าให้กับการแสดงละครเวทีแล้ว ปัจจุบันยังเป็นช่างแต่งหน้าในงาน fashion show งานอีเวนต์ต่าง ๆ รวมไปถึงโฆษณา และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาการแต่งหน้าสำหรับละครเวที ให้กับหลายมหาวิทยาลัยอีกด้วย
นก สินจัย เปล่งพานิช รับบทเป็น ‘เพชร’ ผู้มีอาการ ‘หลงผิด’ อยู่เป็นนิจ
นักแสดงระดับแถวหน้าของไทย คุณสมบัติของเธอกลายเป็นแบบอย่างของนักแสดงคุณภาพ ครั้งนี้ทำให้หลายคนประหลาดใจว่าทำไมถึงยอมแสดงละครโรงเล็ก ที่ถ้ามองในมุมของขนบเก่าจะดูเหมือนเป็นการ ‘ลดระดับ’ จากนักแสดงแถวหน้า โรงใหญ่ ลงมาเล่น โรงเล็ก แต่ในความจริงคือคุณนกเป็นศิลปินนักแสดงที่แสวงความรู้ในสาย Fine Art มาเป็นปกติตั้งแต่เริ่มต้นเข้าวงการ โดยเฉพาะงาน ละครเวที ที่เป็นฐานสำคัญในสาย ศิลปะการแสดง ผู้คนในแวดวงมักจะพบเห็นคุณนกไปปรากฏตัวชมละครโรงเล็กเป็นประจำ ด้วยความรักในศาสตร์และนำวิชามาพัฒนาความสามารถในการแสดง เพราะความสุขของเธอคือการได้ทำงานทุกวัน คุณนกเล่าในวงสนทนาหลังการแสดงอย่างเป็นกันเองว่า
“ปกติก็เป็นคนชอบดูละครโรงเล็กมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ว่าไม่มีโอกาสได้เล่น ไม่มีใครกล้าติดต่อหรือยังไงไม่ทราบไม่รู้เหมือนกัน พอครูหนิงติดต่อมาก็ดีใจเลยคุยกัน มาเห็นสภาพห้องโล่ง ๆ มีเสาตรงกลาง (โรงละคร LiFE Theatre ยังไม่ได้ตกแต่ง) เรารู้สึกมันสวย งานจะเกิดขึ้นที่นี่จริง ๆ เหรอ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีอะไรเลยเป็นงานพบปะสังสรรค์ มีโต๊ะกลมวางตรงกลางนั่งคุยกันว่า เราอยากทำ พี่นกอยากเล่นอะไร ไม่รู้สิ ตอนนั้นยังไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่างเลย ตอนนั้นบทยังไม่เสร็จ แต่ก็อยากเล่นพร้อมจะเล่น รายละเอียดเป็นใครมีอะไรค่อยว่ากัน หลังจากนั้นก็หายกันไปสองเดือน พอครูบัวเขียนบทเสร็จมาเจอกันอีกทีตอนตุลา เราซ้อมกันเดือนเดียวเองนะคะ ซ้อมไปพร้อมกับติดไฟ ติดวอลเปเปอร์ ติดผ้าม่าน run through กันไปแล้วก็เล่นเลย” (แรกเปิดจอง 4 ตุลาคม 2567 บัตร Early Bird “The Life That Was” SOLD OUT ทุกรอบแล้ว จึงมีเสียงเรียกร้องจากคนที่จองไม่ทันขอให้มี restage)
นักแสดงควรจะมีโอกาสได้เล่นละครเวทีอย่างน้อยปีละเรื่องนะ ครั้งแรกที่ได้เล่นละครเวทีมีความรู้สึกอย่างนั้นเลยจริง ๆ เพราะเหมือนกับส่งเข้าโรงเรียน จะบอกโรงเรียนดัดสันดานก็เกินไป โรงเรียนประจำดีกว่า มันอิสระเหมือนไม่มีผู้ปกครองอยู่ด้วยก็จริง แต่ก็อยู่ในกรอบเพราะว่าเราต้องทำงานร่วมกับคนหลายคนมาก เล่นละครทีวีเราจะไม่ได้สัมผัสอะไรพวกนี้ เล่นหนังอาจจะใกล้เคียง คือละครเวทีมันอยู่คนเดียวไม่ได้บนเวที อย่าคิดว่าเดินเข้าฉากหนึ่งมีบทน้อย อย่าคิดว่าไม่สำคัญมันสำคัญหมดเลย เพราะทุกคนถูกคัดมาแล้ว ทุกหน่วย เสื้อผ้า หน้า ผม ไฟ อุปกรณ์ประกอบฉาก เพลง ยิ่งถ้าเป็นละครเพลงด้วย โหรายละเอียดเยอะมาก เลยทำให้รู้สึกเหมือนมาเข้าโรงเรียน มาทำใหม่ เรียนใหม่ มาฟื้นฟูตัวเองใหม่ ได้ทำทุกอย่างเหมือนหลุดออกมาจากโลกที่เราคุ้นชินมาก ๆ อย่างถ่ายละครวันละ 20 ฉาก ต้องท่องบท 20 ฉาก เดินออกมาปุ๊บเปลี่ยนฉากใหม่แล้ว คิดเรื่องใหม่แล้ว นกว่ามันไม่ค่อยไปไหนน่ะ พอทำนาน ๆ จบเรื่องทีทุกอย่างมันวนอยู่อย่างนี้ (ทำมือวนวงกลม) คือทำให้เสร็จ ๆ ไปก่อน
พอมาละครเวทีมีออกกำลังกาย อ่านบท ตีความ เหมือนได้อะไรใหม่ ๆ ทุกวัน ถึงแม้ว่าจะเล่นเหมือนเดิมแต่ก็ วันก่อนเจอแบบนี้ วันนั้นเป็นแบบนั้น หรือวันนี้พลาดมากมีอุบัติเหตุไม่คาดคิด ‘ความสด’ คือเสน่ห์ที่รู้สึกสัมผัสได้ก็เลย…ถ้าใครเป็นนักแสดง ถ้ามีโอกาส อยากให้เล่นละครเวทีบ้าง
เรื่องนี้รับบท ‘เพชร’ เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่กับความทรงจำ ความทรงจำนี้ก็มีอยู่ในหลายด้าน ซึ่งมีผลต่อคนอื่นในเรื่องด้วย กับบทของตัวละคร เพชร ยังไม่เคยประสพชะตากรรมอะไรที่ใกล้เคียงตัวเอง เลยรู้สึกยากเหมือนกันกับความเป็นตัวละครในเรื่องนี้ ทั้งเรื่องราว ความรู้สึก การนำเสนอของละครเรื่องนี้ เหมือนมาเรียนรู้ใหม่เหมือนกันค่ะ
เสน่ห์ของละครโรงเล็ก … เราอาจจะเห็นโปสเตอร์หรือเห็นตัวอย่างแล้วคิดว่า เราอยากดูดาราคนนี้ ชอบบรรยากาศแบบนี้หรืออะไร โดยไม่สนใจว่าเรื่องจะเป็นยังไง แค่อยากเข้าไปเห็นว่าโรงละครเป็นแบบนี้ มีเสาด้วย มีบันไดทางขึ้น ฉากเปลี่ยนไหมหรือไม่เปลี่ยน ตรงนี้เป็นเสน่ห์ที่ทำให้อยากเดินเข้ามาแล้วก็ดูสิเขาจะทำอะไร เป็นยังไง คือตรงนี้ที่อยากบอกทุกคนว่าละครเรื่องนี้เป็นแบบนั้นค่ะ
ละครพูดละครเพลง โรงใหญ่โรงเล็กเล่นมาหมดแล้ว เมื่อตอนเด็ก ๆ ก็ชอบดูละครเวทีอยู่แล้ว ที่นกเริ่มครั้งแรกในชีวิตคือจับพลัดจับผลูงานของหม่อมน้อย (หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ผู้กำกับระดับครู ทั้งภาพยนตร์ ละครเวที และละครโทรทัศน์ ผู้มีผลงานดีเด่นมากมาย) ตอนนั้นทำ “ปรัชญาชีวิต” เราก็ไปดู มันดีจังเลยเราคิดว่ามันได้รสชาติได้ความรู้สึกมาก เป็นมิวสิคัลที่พี่ตั้ว ศรัณยู วงษ์กระจ่าง เล่น พี่จ๋าย จำรัส เศวตาภรณ์ เป็นคนทำเพลง วันหนึ่งนักแสดงไม่สามารถเล่นได้หม่อมเรียกไปลอง สินจัยเธอมา ตกใจ ตายแล้วไม่เอา แต่ปฏิเสธไม่ได้ก็ต้องทำ ครั้งแรกที่ได้ลองเล่นเป็น out door กลางตึกร้างที่กำลังจะทุบทิ้ง เล่นท่ามกลางแสงเทียน เป็นการเรียนรู้ครั้งแรกว่าเล่นที่ไหนก็ได้ ถ้าเหมาะสมแล้วสร้างจินตนาการได้ ถือว่าเป็นโรงเล็กต้องเผชิญกับอะไรหลายอย่าง ค่อย ๆ เรียนรู้ว่าเป็นศาสตร์ที่ยาก
พอมาเล่น musical เต็มรูปแบบของคุณบอย (ถกลเกียรติ วีรวรรณ โรงละคร เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์) ก็เป็นอีกแบบที่ตื่นตาตื่นใจต้องทำอะไรหนักเข้าไปอีกแค่ไหน ต้องเรียนร้องเพลง ต้องฝึก เล่นไปไม่รู้กี่ร้อยรอบ วันดีคืนดีคุณบอยก็เอาละครพูดมาให้ปรับตัวไม่ทัน ตอนนั้นตกใจมาก เล่นยังไง จะจำบทได้ไหม คิวล่ะ ตอนไม่มีดนตรีแล้วฉันต้องทำอะไร เครียดมากว่าอะไรมันยากกว่ากัน จาก musical มาพูดล้วน ๆ ก็ยากแต่มีเสน่ห์คนละแบบ บอกไม่ได้สนุกทั้งสองเรื่อง ทุกครั้งที่เล่นละครเวทีมันคือการเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ โรงจะเล็กจะใหญ่ไม่สำคัญตรงนั้น สำคัญที่บทบาทมากกว่าค่ะ”
ปาน ธนพร แวกประยูร รับบทเป็น ‘นาว’ นักแต่งเพลง ผู้ปกปักความรักและชีวิต
ปาน ธนพร แวกประยูร จากนักศึกษา ป.ตรี ครุศาสตร์ สาขาดนตรีศึกษา (ดนตรีสากล) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (วุฒิล่าสุด ป.โท ดุริยางคศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสังคีตวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี 2557) ปานเริ่มจากการเป็นนักร้องเบื้องหลังทั้งร้องไกด์ ร้องประสานเสียง หลงรักการทำงานเบื้องหลัง มีความสุขอยู่กับการร้องเพลงที่ใช้ชีวิตอยู่ในห้องอัดเสียงสภาพเหมือนตู้ปลา ทำงานผ่านกระจกใสกับคนไม่กี่คน มีช่วงเวลาสุดปิติสุขของชีวิตคือขณะอยู่ในห้องบันทึกเสียง ที่ทำให้รู้สึกเสมือนการปฏิบัติธรรมกำลังฝึกสมาธิภาวนา จากครูวิทยาลัยนาฏศิลป์สู่ สู่บทบาทเบื้องหน้าเป็นนักร้องเดี่ยว เริ่มออกอัลบั้มแรก “ปาน ธนพร” ในปี 2543 ประสบความสำเร็จโด่งดังด้วยคุณภาพเสียงกับแนวเพลงที่มีเอกลักษณ์ ‘หัวหน้าพรรคพลังหญิง’ รับรางวัลประกันผลงานมากมาย แต่บางแผนงานใหญ่สำคัญของค่ายต้นสังกัด (Aborigines ในเครือ RS Promotion) เธอสามารถปฏิเสธการสั่งงานจากผู้บริหารอย่างอาจหาญด้วยเหตุผลเพราะ ‘เพลงไม่เข้าปาก’ เช่นเดียวกัน ปาน ประกาศอย่างหนักแน่นว่าเธอไม่ชอบการแสดงเลย และไม่มีวันจะทำได้เด็ดขาด เพราะมันไม่ใช่ตัวตน (แม้เคยมีผลงานละครเพลงกับ Dreamgirls โดย Dreambox ในปี 2555) แต่วันนี้เพียงงานละครพูดเรื่องแรก “The life that was” ทำให้ปานได้เป็น นักแสดง ในสายละครเวที ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นครูของศิลปะการแสดง อย่างสง่างาม
“เราไม่ใช่คนแสดง งานด้านการแสดงแตะน้อยมาก ตอนแรกก็ไงนะไม่ร้องเพลงแล้วใช้พูดยังไงนะ ประเด็นคือเคยทำงานกับพี่หนิงมาเรื่องหนึ่งแล้ว วันหนึ่งก็มาชวน ปานมาเล่นละครเวทีนะทำอะไรสนุก ๆ กัน สนุกของเขาฝ่ายเดียวน่ะเนาะ (ผู้ชมฮากันลั่นโรง) เล่นกับพี่นก นกไหน นกสินจัย!!! (ฮากันลั่นโรงอีกรอบ) โห ไปเล่นอะไรกับเขาพี่หนิง นี่มองโออยู่ ไอ้โออีกแล้วเหรอ (ฮาขำความปอดของปาน) เอาลองดูพี่ลองดู ถามว่าเวิร์คกับตัวละครยังไง สำหรับพี่ก็แล้วแต่ผู้กำกับเลย เขามีหน้าที่บอกเราอยู่แล้วว่าพื้นฐานตัวละครเป็นยังไง ใช่เป็นการพัฒนางานร่วมกัน
รับบทเป็น นาว นักดนตรี นักแต่งเพลงอินดี้มีชีวิตอิสระ มีความเกี่ยวโยงกับน้าเพชรกับทุกคน เราคิดว่าเป็นเรื่องที่มีเนื้อหากว้างมากแบบ ‘ปลายเปิด’ เพราะฉะนั้นคนดูที่มาจะได้อะไรกลับไปไม่เหมือนกัน อยู่ที่ว่าคนที่มาดูมีหัวจิตหัวใจภาชนะตัวเองไปในทางไหนด้วย แล้วถึงจะมีความเข้าใจในแบบของตัวเอง แต่จะชี้ให้เห็นอยู่เหมือนกันว่า เอ๊ะ…ระหว่างนี้มันเป็นความจริงไหม หรือคิดไปเอง หรือว่าอะไร ยังไง สารทุกอย่างเป็นปลายเปิดหมดเลย บทของนาวกับตัวเองมีบางอย่างที่ใกล้ แต่ก็มีบางอย่างที่ไกลมาก มีทั้งสองมุม ส่วนที่ใกล้ก็คืออยู่ในแวดวงความเป็นนักดนตรี นอกนั้นต้องทำความรู้จักใหม่เหมือนกัน เป็นความท้าทายที่ต้องข้ามอะไรบางอย่างไปรู้จักบางสิ่ง เป็นประสบการณ์ทางการแสดงค่ะ”
ละครเวทีเป็นงานกลุ่ม เป็นงานที่ต้องอยู่กับทุกศาสตร์ แสง สี เสียง stage เสื้อผ้า จริง ๆ คำว่า ‘เท่า’ มันคือต้อง ‘เท่าทัน’ ในแง่ที่…ต้องรู้เท่ากันหมดเลย ว่าอะไรจะเข้ายังไงจะออกแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นด้านไหนมันเป็นเรื่องของวินัย ที่สำคัญปานว่ามันได้ฝึกนิสัย ยังพูดกับเด็ก ๆ หลายคนที่รู้จักว่า ถ้าอยากฝึกให้เอาตัวเองเข้าไปฝึกในละครเวที จะไปเป็นตำแหน่งอะไรก็ได้ นั่นคือการฝึกนิสัย ฝึกวินัยที่ต้องอยู่และทำงานร่วมกับคนอื่น รู้จักที่จะเคารพคนอื่น เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันเพราะเป็นงานกลุ่ม ถ้าในแง่ของการแสดงเวลาที่เราทำซ้ำมันมักจะได้สิ่งใหม่ ไม่ได้แปลว่าทำซ้ำแล้วจะเหมือนเดิมนะคะ เพราะที่เล่นในแต่ละวันเราไม่รู้ว่าจะเจออะไร วันนี้อาจเจอเรื่องนี้พลาดตรงนี้
การแสดงละครเวทีเป็นการฝึกสติชั้นดีชนิดหนึ่งเลยค่ะ ไม่ได้เหมือนละครที่จำแล้วเลิก จำแล้วทิ้ง แต่เป็นความจำระยะยาว ต้องมีสติอยู่กับมันแล้วคิดก่อนก็ไม่ได้ ค่อนข้างจะอยู่กับปัจจุบัน ณ ขณะนั้นจริง ๆ เป็นการฝึกที่ดีมาก หลายคนบอกว่าละครเวทีไม่เคยทำให้ใครรวย ใช่ แต่ว่ามันได้อย่างอื่นมากกว่านั้น นั่นคือประสบการณ์ทางอารมณ์ การทำงานที่จะอยู่กับผู้คน เข้าใจผู้คน รู้จะเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น
ความเป็นโรงใหญ่มันค่อนข้างบังคับพลังงานเราเหมือนกัน เมื่อใหญ่ก็ต้องใช้พลังงานที่มากกว่าแน่นอนอยู่แล้ว ทำให้เราเป็นนักกะระยะพอสมควรเหมือนกันว่า แค่ไหนคือความพอดีสำหรับแต่ละที่ คล้าย ๆ ร้องเพลงค่ะ musical จะง่ายกว่าเวลาที่เป็นเพลง จะทำให้เราค่อนข้างจำเพราะมีทำนอง มี blocking มีดนตรีก็ได้อยู่ ความเหนื่อยคือต้องทำยังไงให้เสียง stable พอสมควร ทำยังไงถึงจะรักษามาตรฐานเสียงในแต่ละเรื่องที่ไม่เหมือนกัน เช่นถ้าเราไปเล่นเรื่องที่มีความ dark แล้วต้องใช้ช่องของเสียงแบบไหน สมมุติถ้าเป็นไอ้มืดผิวดำ เราอาจรักษาช่องตรงนั้นเอาไว้ให้ได้นานที่สุด ซึ่งมันจะยากแบบนี้สำหรับ musical แบบนั้น
แต่พอเป็นละครพูดมันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง เหมือนการร้องเพลงสุดท้ายมันคือการเรียนรู้พลังงาน เรียนรู้ที่จะควบคุมพลังงานที่เรามีให้เหมาะสมกับบทบาท เรื่อง สถานที่ ที่เราได้รับ ทั้งหมดทั้งมวลเวลาที่เล่นละครพวกนี้ แล้วเราเล่นกับคนอื่น Action - Reaction เขาส่งมาเท่านี้แล้วเราต้องรับแค่ไหน มันคือการเรียนรู้ที่จะควบคุมความสามารถและพลังงานของแต่ละคน ให้ส่งออกไปแล้วเกิดความกลมกลืน พอดีกันแล้วเป็นเนื้อเดียวกัน”
“ชีวิตที่เป็นอยู่” กับการตื่นรู้และเท่าทัน
โจทย์ของการเปิดพื้นที่โรงละครใหม่ในย่านเก่า คือการเฝ้ารังสรรค์อดีตกรีดปัจจุบันในวรรณกรรมบทละคร ทุกบทตอนของการเดินทางทิ้งร่องรอย… “The Life That Was” ร่วมบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ผ่านตัวละคร 5 คน บนชะตากรรมที่ต่างกัน ถูกสรรให้เป็นเสมือนตัวแทนของยุคสมัยในแต่ละ Generation ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันพร้อมบาดแผลจากอดีต ‘เพชร’ (สินจัย เปล่งพานิช) (คน Gen B - Baby Boomer คือกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2489-2507 หรือ ค.ศ. 1946-1964) บาดแผลจากความทรงจำที่ถูกสามีทอดทิ้ง ความจริงของชีวิตที่ต้องผจญบนความเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เปล่าเปลี่ยวเพียงลำพัง มีความหลังเป็นเพื่อน มีเสียงเพลงคอยเตือนความสุขลึกสุดใจ ก่อนมีโลก(โรค)ใหม่แทรกเข้ามา…
ในวันที่เพชรอยู่กับอาการไร้ตัวตนบนความเจ็บป่วยของจิตที่บอบช้ำจากชีวิตมาเกินพอ ‘นาว’ (ธนพร แวกประยูร) เพื่อนเก่ากลับเข้ามาหาเพชรอีกครั้งหลังหายไปนานในเส้นทางแสวงหาของอิสรชนคนเสรี (Gen X คือกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2508-2522 หรือ ค.ศ 1965-1979) นาวพยายามฟื้นคืนความทรงจำ พร้อมจะนำความรักป้องปกปักชีวิตบอบบาง บนเส้นทางที่เคยเป็น… นาวมักมาพร้อมของโปรด “ขนมบ้าบิ่นที่คุณยายทำทีละชิ้น ทีละชิ้น คนเข้าแถวรอยาว เร่งก็ไม่ได้แกจะด่าให้” เตือนใจจำย้ำวิถีที่เชื่อมกับสังคมผู้คน โยงเยื่อใยของสองหัวใจด้วยสิ่งเล็ก ๆ แต่ละเอียดอ่อนซ่อนความหมายลึกซึ้ง บอกถึงการดูแลทั้งกายใจ มีสายใยผูกพันที่วันเวลาไม่สามารถลบเลือน… แต่เพชรไม่อาจรับกับความจริง บางช่วงยังคงหลงไปอีกโลกที่ไม่มีใครตามไปได้ บางเวลาจิตหล่นอยู่กับความคิดหลอน บางช่วงตอนของชีวิตหล่นหายไป… แต่ยังมีต้นกระบองเพชรของนาวที่เคยให้ไว้ย้ำยืนยันความนัย “อะไรที่ใช้ใจดูแลยังไงมันก็ไม่ตาย” บทมีเป้าหมายเจาะจุดปัจเจกเอกอัตตา
เป็นขณะเดียวกับ ‘ภูมิ’ (ดนัยนันท์ กฤดากร ณ อยุธยา) ลูกชายเพชร (Gen Y หรือ Millennials คือ กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2523-2540 หรือ 1980-1997) เพิ่งกลับจากต่างประเทศพร้อมแฟนสาว ‘ปูเป้’ (สรินยาออลสัน) ที่เพชรรับเหมือนลูกผูกแผนจะให้แต่งงาน บ้านคงไม่เงียบเหงาอีกต่อไป คนรุ่นใหม่คือความหวัง เพชรพยายามฝังความจริง แต่ชีวิตคือสิ่งไม่แน่นอน… ลูกชายกลายเป็นอื่น ภูมิมี ‘ต่อ’ (อนุชิต สพันธุ์พงษ์) ชายหนุ่มรุ่นเดียวกันเข้ามาเป็นลมหายใจใหม่ในตัวตน คือการค้นพบความต้องการแท้จริง เป็นสิ่งที่ผลักให้พร้อมสู้ ไม่ยอมฝืนทนอยู่กับปูเป้ (Gen Z คือ คนที่เกิดหลัง พ.ศ. 2541-2565 หรือ ค.ศ 1998-2024) หญิงสาวพยายามตามแชร์ชีวิต ขอเพียงบางส่วนกลับคืน ยืนยันยอมอยู่กับความสุข (ปลอม ๆ ) แม้เป็นแค่ชั่วขณะในปัจจุบัน ไม่สำคัญว่ามันจะนานแค่ไหน อนาคตจะเป็นอย่างไร อยากใช้ชีวิตให้ (ดูเหมือน) เต็ม ในขญะที่ยังเติม (ส่วนขาด) เองไม่ได้… เหมือน ‘ความรัก’ คือ ‘ความหมาย’ ที่เข้ามาขยาย ‘คุณค่า’ ขึ้นอยู่กับว่า ‘ชีวา’ ของเราต้องการอะไร
โรคหลงผิดกับจิตหลงทาง[1]
“The Life That Was” ตัวละคร เพชร มีอาการของคน จิตหลง ซึ่งน่าเป็นห่วงมากหากอยู่คนเดียว นักแสดงได้เรียนรู้ไปพร้อมกับคนดูว่า โรคหลงผิดเป็นโรคจิตชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจผิดหรือความเชื่อที่ไม่เป็นความจริง หรือเกินจริง ความเชื่อที่ผิดเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยตีความความเป็นจริงผิด หรือรับรู้ความเป็นจริงไม่ถูกต้อง คนส่วนใหญ่ที่มีอาการหลงผิดมักจะใช้ชีวิตได้ตามปกติ และไม่ดูแปลกหรือประหลาดในสายตาคนอื่น เพราะพวกเขามักจะเก็บงำความหลงผิดของตนเอาไว้ (บางรายอาจเกิดจากความไม่รู้ตัว หรือรู้แต่ไม่อาจยอมรับความจริง) ในบางกรณีอาการดังกล่าวอาจทำให้เกิดความบกพร่องได้ เช่น หากเชื่อว่ามีคนพยายามจะฆ่าพวกเขา อาจทำให้ไม่สามารถออกจากบ้าน และอาจไม่สามารถไปทำงานได้
โรคจิตหลงผิดสามารถจำแนกได้เป็นหลายประเภท ขึ้นอยู่กับความหลงผิดหรือความเชื่อผิด ๆ ที่บุคคลมี ดังนี้
- Erotomantic Delusional Disorder โรคจิตหลงผิดประเภทนี้ผู้ป่วยเชื่อว่ามีใครบางคนตกหลุมรักตน ซึ่งมักจะเป็นคนดังหรือคนมีชื่อเสียงโด่งดัง โรคหลงผิดอาจนำไปสู่พฤติกรรมสะกดรอยตาม ทำให้มีปัญหากับกฎหมายได้
- Grandiose Delusional Disorder อาการหลงผิดคิดว่าตัวเองเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ทำให้บุคคลนั้นรู้สึกว่าตนเองมีค่า หรือมีความสามารถและพรสวรรค์สูงส่ง
- Jealous Delusional Disorder ความหลงผิดคิดอิจฉาริษยาจะมุ่งเน้นไปที่คู่ครองของบุคคลอื่น และการรับรู้ถึงความไม่ซื่อสัตย์ หรือระแวงการนอกใจ
- Somatic Delusional Disorder มีอาการหลงผิดคิดว่าตนเองป่วย มีโรคภัยไข้เจ็บ หรือมีร่างกายพิการหรือบกพร่อง
- Mixed Delusional Disorder หรือโรคหลงผิดแบบผสม ผู้ป่วยจะมีอาการหลงผิดมากกว่า 1 ประเภทข้างต้น ไม่ชัดเจนในอาการใดอาการหนึ่ง
การรักษาโรคหลงผิดสามารถช่วยได้หากผู้ป่วยเต็มใจไม่ต่อต้าน และสามารถลดความรุนแรงของอาการหลงผิดได้ มักเกี่ยวข้องกับการใช้ยารักษาโรคจิตและการบำบัดเป็นประจำ ยาที่ใช้รักษาโรคหลงผิดมากที่สุดคือ Risperidone กับ Olanzapine จิตบำบัดสามารถช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะจดจำความเชื่อที่เป็นเท็จ การบำบัดพฤติกรรมช่วยให้ผู้ป่วยตั้งเป้าหมาย และดำเนินการเชิงบวกเพื่อเปลี่ยนรูปแบบความคิดที่ผิด และพฤติกรรมเชิงลบที่เป็นผลตามมา สมาชิกในครอบครัวสามารถช่วยทำการบำบัดได้ โดยเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคนี้ และหาวิธีช่วยคนที่ตนรัก โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่มักจะคงอยู่ต่อไป แต่ถึงแม้จะไม่ได้รับการรักษา ผู้คนจำนวนมากยังคงใช้ชีวิตปกติอย่างมีสุขภาพดีและประสบความสำเร็จได้
แซฟฟิก (Sapphic)[2] : มากกว่าหญิงรักหญิง
“The Life That Was” พูดถึงประเด็นสำคัญเรื่องความรักในเพศเดียวกันบนความผูกพันที่หลากหลายทั้งชายและหญิง ในช่วงต้นที่มีการศึกษาวิจัยพัฒนาการของเพศสภาพและรสนิยมทางเพศ ผู้คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการแยกกลุ่มรักร่วมเพศออกเป็นสองกลุ่มใหญ่แค่คำว่า Gay (ชาย) และ Lesbien (หญิง) แต่ปัจจุบันมีวิวัฒนาการต่อแตกแยกย่อยออกเป็นหลายประเภทอย่างชัดเจนคือ L G B T Q I [3]
Lesbian (L) หมายถึงผู้หญิงที่มีความรักต่อผู้หญิงด้วยกัน เป็นการอธิบายความต้องการทางเพศและความต้องการฉันคู่รัก (romantic desire) ระหว่างผู้หญิงด้วยกันคำว่า "เลสเบี้ยน" อาจใช้เป็นคำนาม หมายถึง ผู้หญิงที่นิยามหรือถูกผู้อื่นมองว่ามีลักษณะรักเพศเดียวกัน หรือเป็นคำ คุณศัพท์ ใช้อธิบายลักษณะเฉพาะของวัตถุหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความปรารถนาในการรักเพศเดียวกันของผู้หญิง
Gay (G) หมายถึงผู้ชายที่มีความรักต่อผู้ชายด้วยกัน
ผู้ชายที่มีลักษณะทางกายภาพเป็นผู้ชายโดยจะมีความรักและความปรารถนาในระหว่างเพศเดียวกันการมีความสัมพันธ์ในแบบคู่รักหรือการมีเพศสัมพันธ์ (Sex) อาจจะไม่กำหนดว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเป็นฝ่ายรับหรือรุกเท่านั้นแต่อาจจะเป็นได้ทั้งสอง
Bisexual (B) หมายถึงบุคคลที่สามารถมีความรักได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ไบ (Bi) เป็นรสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation) หรือความสนใจทางเพศที่มีต่อบุคคลอื่น คนที่มีรสนิยมแบบไบเซ็กชวลอาจมีประสบการณ์ทางเพศ อารมณ์ ความรัก กับคนที่มีลักษณะทางเพศ (Sexual Characteristics) ที่เป็นเพศเดียวกับตัวเองหรือเพศตรงข้ามและยังหมายถึงความรู้สึกส่วนตัวและอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity) โดยยึดจากความสนใจทางเพศ (Sexual orientation) การแสดงออกทางพฤติกรรม (Gender expression)
Transgender (T) หมายถึงผู้ที่ได้รับการแปลงเพศตามที่ต้องการ ทรานส์เจนเดอร์ คือบุคคลที่รู้สึกพึงพอใจกับอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity) ที่ตรงข้ามกับเพศกำเนิดของตน ซึ่งมักจะหมายถึงผู้ที่ได้รับการแปลงเพศที่ตัวเองต้องการแล้ว ซึ่งเเบ่งออกเป็น Male to female Transgender (MtF) และ Female to Male Transgender (FtM)
- Male to female Transgender (MtF) คือ ผู้หญิงที่ได้รับการแปลงเพศมาจากเพศชายเรียบร้อยแล้วหรือเรียกว่า ผู้หญิงข้ามเพศ (transwoman)
- Female to Male Transgender (FtM) คือ ผู้ชายที่ได้รับการแปลงเพศมาจากเพศหญิงเรียบร้อยแล้วหรือเรียกว่า ผู้ชายข้ามเพศ (transman)
Queer (Q) หมายถึง บุคคลที่มีความรักโดยไร้กฎเกณฑ์ (ทางเพศ) เป็นคำเรียกกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ใด ๆ ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นเพศไหน จะรักใคร จะชอบเพศไหน ไม่จำกัดว่าจะต้องรักชอบกับเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น คนที่ไม่จำกัดว่าเป็นเพศใดและต้องรักเพศใด ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity) ที่อยู่เหนือคำจำกัดความทางเพศโดยสิ้นเชิง
Intersex (I) หมายถึงบุคคที่เกิดมามีลักษณะทางกายภาพโดยมีอวัยวะสืบพันธ์ุของทั้งสองเพศ อินเตอร์เซ็กส์ คือคนที่ไม่สามารถระบุเพศของตัวเองได้อย่างชัดเจน มีทั้งคนที่เกิดมามีอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งสองเพศ ปริมาณฮอร์โมนหรือโครโมโซมเพศที่ผิดปกติ หรือแม้กระทั่งลักษณะด้านอื่น ๆ ที่ค่อย ๆ ปรากฏเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ การเป็นอินเตอร์เซ็กส์มักจะหมายถึงลักษณะทางเพศที่แสดงออก ไม่ได้หมายถึงเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศ ซึ่งชาวอินเตอร์เซ็กส์ก็สามารถมีอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายได้เหมือนบุคคลทั่วไป
แต่ก็มีผู้คนกลุ่มใหญ่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าตัวเองอยู่กลุ่มไหน ต้องการให้เรียกว่าอย่างไร หรืออาจจะยังไม่พร้อมที่จะถูกระบุอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) คำว่า ‘แซฟฟิก’ (Sapphic) ที่ใช้เรียกบุคคลที่มีแนวโน้มจะชอบผู้หญิงจึงถูกนำมาใช้ ในความหมายครอบคลุมสำหรับคนที่มีรสนิยมทางเพศหลากหลายประเภท ที่ไม่ใช่เฉพาะ Lesbian เท่านั้น แต่ประกอบไปด้วย Bisexual , Pansexual , Omnisexual , Queer และรวมถึง Non-binary อีกด้วย ดังนั้นหากจะระบุเพศในการพูดถึงกรณี ผู้หญิงรักผู้หญิง จึงสามารถแทนได้ด้วยคำว่า Sapphic เพราะ “แซฟฟิก” สามารถใช้ร่วมกับแนวคิดอื่น ๆ หรือใช้เป็นแนวคิดกว้าง ๆ ก็ได้หลายวิธี เช่น
- เพื่อเน้นย้ำถึงความดึงดูดต่อผู้หญิง/บุคคลที่สนับสนุนผู้หญิง
- เป็นคำที่มีความหมายกว้างกว่าและมีความหมายไม่ชัดเจนนัก
- เป็นวิธีการปฏิเสธเงื่อนไข/ป้ายกำกับ ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น
- เมื่อใครบางคนไม่แน่ใจว่าตนเองอยู่ในกลุ่มรสนิยมทางเพศใด แต่รู้ว่าตนเองมีแรงดึงดูดแบบเลสเบี้ยน
- เป็นคู่หูที่ไม่ผูกขาดของเลสเบี้ยน
คำที่เทียบเท่าเพศชายของคำนี้คือ Achillean เป็นคำที่มีความหมายกว้างมาก ใช้เรียกผู้ชายหรือบุคคลที่มีแนวโน้มจะชอบผู้ชาย และสามารถใช้ร่วมกับแนวคิดอื่น ๆ หรือใช้เป็นแนวคิดกว้าง ๆ ก็ได้ สามารถใช้ได้หลายวิธี เช่น
- เพื่อเน้นย้ำถึงความดึงดูดใจต่อผู้ชาย/บุคคลที่มีความเป็นชาย
- เป็นคำที่มีความหมายกว้างกว่าและมีความหมายไม่ชัดเจนนัก
- เป็นวิธีการปฏิเสธเงื่อนไข/ป้ายกำกับที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น
- เมื่อใครบางคนไม่แน่ใจว่าตนเองอยู่ในกลุ่มรสนิยมทางเพศใด แต่รู้ว่าตนเองกำลังประสบกับความดึงดูดแบบอะคิลเลียน
- เป็นคู่หูที่ไม่ผูกขาดกับเกย์
โรคตื่นตระหนก (Panic Disorder)[4]
ใน “The Life That Was” ตัวละคร ต่อ เกย์นักออกแบบตกแต่งภายใน เป็นคนไข้หนัก โรคตื่นตระหนก และมันตกเป็นคีย์สำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างเขากับคนรัก สังคมปัจจุบันคุ้นเคยและให้ความสำคัญกับคำว่า Panic และใช้คำนี้แพร่หลายในบริบทของคนที่มีอาการตื่นตระหนก วิตกกังวลจนเกินเหตุ ซึ่งพบเห็นกันได้หลากหลายกลุ่มโดยไม่จำกัดเพศ อายุ เช่นเดียวกับ โรคซึมเศร้า (Clinical depression) ซึ่งกลายเป็นเงาของคนยุคใหม่
โรคตื่นตระหนก (Panic Disorder) เป็นโรควิตกกังวลประเภทหนึ่งทำให้เกิดอาการตื่นตระหนกซ้ำ ๆ ซึ่งเป็นอาการหวาดกลัวอย่างกะทันหัน ไม่สบายใจ หรือรู้สึกว่าควบคุมตัวเองไม่ได้ แม้ว่าอาการจะไม่มีอันตรายใด ๆ แต่มักทำให้มีผลทางกาย เช่น หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นแรง และรู้สึกเหมือนกำลังจะเป็นโรคหัวใจวาย โรคตื่นตระหนกไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่สามารถสร้างความไม่สบายใจและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้ และหากไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่นภาวะซึมเศร้าและโรคติดสารเสพติดได้
สาเหตุของโรคไม่แน่ชัดนักวิจัยคิดว่าอาจมีปัจจัยจากพันธุกรรม ชีววิทยา และเคมีของสมอง สภาพแวดล้อม ความเครียดหนัก โรคตื่นตระหนกมักเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยมักเริ่มในช่วงวัยรุ่นตอนปลายหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น บางครั้งอาจเริ่มเกิดขึ้นเมื่อบุคคลนั้นอยู่ภายใต้ความเครียดสูง ผู้ที่เคยประสบเหตุการณ์เลวร้าย โดยเฉพาะในวัยเด็ก มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคตื่นตระหนกมากกว่า
อาการของโรคตื่นตระหนก
- อาการตื่นตระหนกฉับพลันและซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งเต็มไปด้วยความวิตกกังวลอย่างรุนแรงและความกลัวอย่างล้นหลาม
- ความรู้สึกควบคุมตัวไม่ได้ หรือกลัวความตายระหว่างเกิดอาการตื่นตระหนก
- ความกลัวหรือการหลีกเลี่ยงสถานที่และสถานการณ์ที่เคยเกิดอาการตื่นตระหนกมาก่อน
- สภาพที่เกิดขึ้นในระหว่างเกิดอาการตื่นตระหนก เช่น หัวใจเต้นแรงหรือเร็ว เหงื่อออกหรือหนาวสั่น สั่นหรือสั่นสะเทือนหายใจลำบาก รู้สึกเหมือนจะหายใจไม่ออก อ่อนแรงหรือเวียนศีรษะ เจ็บหน้าอก ปวดท้องหรือคลื่นไส้
อาการตื่นตระหนกอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อโดยไม่ทันตั้งตัว อาจกินเวลาเพียงไม่กี่นาทีหรือนานกว่าหนึ่งชั่วโมง
การรักษาโรคตื่นตระหนก
- บำบัดด้วยการพูดคุย หรือที่เรียกว่า จิตบำบัด (ให้คำปรึกษา ซึ่งสามารถช่วยให้คนไข้สามารถเข้าใจความรู้สึกของตนเองได้) อาจรวมถึงการบำบัดทางพฤติกรรมและความคิด (CBT) ซึ่งเป็นการบำบัดด้วยการพูดคุยประเภทหนึ่ง ที่จะช่วยให้คนไข้เปลี่ยนความคิดเชิงลบ และวิธีตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้รู้สึกวิตกกังวล
- รักษาด้วยยาต่าง ๆ ได้แก่:
- ยาต้านอาการซึมเศร้าเช่น ยากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) และยากลุ่ม selective serotonin-norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs)
- ยาคลายความวิตกกังวล
ชีวิตที่เราเลือกได้
ท่ามกลางเสียงสะท้อนที่ผู้ชมชื่นชมในอีกหนึ่งผลงาน Master Piece ของ ครู ผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานทุกส่วน แต่มีบางเสียงที่สื่อสารได้น่าสนใจในประเด็นความเห็นต่างระหว่าง ‘ความจริง’ กับ ‘สิ่งเกินจริง’[5] ที่ละครป้อนคนดู มีผู้ชมบางคนไม่เข้าใจความรู้สึกตัวเองว่า เหตุใดในความสมจริงทั้งหมดทั้งมวลที่ล้วนสมบูรณ์แบบบนองค์ประกอบศิลป์ แต่เขาแอบไม่ in ในขณะที่มหาชน fin กับความประณีตที่ perfect ของงานสร้าง และแนวทางการแสดงของทั้ง 5 คน บนเวที (ในระยะประชิด ที่แทบจะแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกับนักแสดง) อาจเพราะ ‘แว่น’ ที่เลือกสวมใส่ในขณะชม (คือส่วนผสมของประสบการณ์เป็นฐานทัศนคติ ที่มีผลต่อการ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ฯลฯ) และอุดมไปด้วย ‘ภาพจำ’ จาก ‘ภาพจริง’ ของผู้แสดงที่มีตัวตนเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแจ่มแจ้ง ใจจึงไม่สัมผัสสารที่ผู้แสดงพยายามสื่อ ในขณะที่นักแสดงต่างสวมบทบาทแบบแทบแยกไม่ออกว่า ไหนตัวจริง ไหนการแสดง เป็นที่น่าสนใจในวิธีคิดกับปัจจัยที่เอื้อให้เป็นไปในโลก Realistic
โดยเฉพาะ โอ (อนุชิต สพันธุ์พงษ์) ผู้แสดงเป็น ‘ต่อ’ ซึ่งพ้นเงื่อนไข ‘ภาพจำ’ จาก ‘ภาพจริง’ เพราะละครเรื่องนี้เป็นงานที่ไม่ซ้ำแนวกับบทบาทเดิมที่เคยแสดง และบทเอื้อให้โอถ่ายทอดได้อย่างเข้าถึงคนที่เป็น โรคตื่นตระหนก (Panic Disorder) ที่ชัดเจนในความต้องการของตัวเอง และนักเลงพอต่อการตัดสินใจ ทุกก้าวขยับ ทุกลำดับของความรู้สึกที่ไต่ระดับสูงขึ้นตามเส้นเรื่อง ทั้งน้ำเสียง สายตา เสื้อผ้าท่าทาง โอถ่ายทอดความเป็น ‘ผู้มีปม’ จนผู้ชมเชื่อได้สนิทใจว่าเขาคือ ต่อ คนป่วยตัวจริง
นาว - น้ามาเยี่ยมเปียโน
ต่อ - น้าดูรักเปียโนตัวนี้มากเลย ไม่บอกให้ภูมิเขาซื้อกลับไปล่ะครับ
นาว - อย่าเลย ให้อยู่ตรงนี้ดีแล้ว น้าเคยคิดนะ เขากลับมาคราวนี้ อะไรอะไรมันก็จะเปลี่ยนไปหมด พอได้มานั่งต่อหน้าเปียโนตัวนี้จริง ๆ บางอย่างมันก็ยังอยู่ที่เดิม
ต่อ - บางอย่างมันก็คงอยู่ที่เดิมจริง ๆ น่ะครับ เพียงแต่ที่เดิมที่มันอยู่ก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่
นาว - ไม่ได้ดีเท่าไหร่แต่ก็ต้องกลับมา
ต่อ - เพราะยังค้างคาเหรอครับ
นาว - ค้างคามากเลยล่ะ เหมือนดูหนังค้างไว้กลางเรื่อง แล้วก็ทิ้งมันไปไม่ได้ซักที
ต่อ - แต่บางทีหนังบางเรื่องเราไม่ต้องทนดูให้จบก็ได้นะ เราก็แค่หยุดดู
นาว - การลุกออกจากหนังกลางเรื่องมันไม่ง่ายนะ
ต่อ - แต่ถ้าทนดูต่อไปมันก็อาจไม่จบแบบที่หวังอยู่ดี บางคนเขาก็เลยเลยที่จะลุกออกไปกลางคัน
นาว - บางคนก็เลยเลือกที่จะดูตอนจบ แล้วหวังว่าตอนจบจะดีเหมือนที่คิด
ต่อ - ก็เลยหรอกตัวเองว่ามันจะ Happy Ending
นาว - ใช่
ต่อ - น้าเก่งมากนะที่กล้าดูจนจบ
นาว - ไม่เก่งหรอกค่ะ แต่มันเพราะว่าถ้าไม่จบก็ไปต่อไม่ได้
ต่อ - แต่บางทีการไปต่อมันก็อาจน่ากลัวกว่าสิ่งเดิม ๆ ที่เรารู้จักดีอยู่แล้วก็ได้นะครับ
นาว - แต่การหยุดค้างคามันอาจจะแย่กว่าก็ได้นะ
บทสะท้อนความซับซ้อนทางจิต ทำให้ต้องคิดสองชั้น โดยเฉพาะในองก์สุดท้ายบนหาดทรายชายทะเล ทุกคนเทใจใส่วิญญาณเป็นตัวละคร ที่สะท้อนทั้งความคิดหลอนและความจริง เห็นการต่อสู้ของจิตใต้สำนึกกับความรู้สึกของปุถุชน งานออกแบบเทคนิคแสง ดนตรี ช่วยเสริมบทที่เล่นกับความคิดความรู้สึกผู้ชมให้เกิดมิติใด ๆ ในจินตนาการที่แตกต่าง บางช่วงชวนดำดิ่งกับบางสิ่งเหมือนตกอยู่ในภวังค์ บางครั้งรั้งจิตกระจัดกระจาย ก่อให้เกิดการต่อยอดได้ในหลายประเด็น เป็นปลายเปิด เอื้อให้เกิดความเห็นต่างอย่างน่าค้นหา อะไรคือคุณค่าที่เราควรรักษาไว้ อะไรคือสิ่งที่ควรตัด-แต่งเพื่อให้ ‘ต้นไม้แห่งชีวิต’ เติบโตต่อไป
ป.ล. ละครเลือกจบแบบใส่ใจท่านผู้ชม ไม่ทับถมตัวละคร สอนให้ ‘สุขนิยม’ (ในขณะที่ผู้ชมบางคนอยากให้จบช่วงจิตหลอนซ่อนความจริง แล้วทิ้งปริศนาไว้ให้ค้นหาริมทะเล… เป็นซีนที่สุดเท่ของเรื่อง ไม่ต้องเปลืองมุขหักมุม) เชียร์ชัดว่าทุกชีวิตต่างมีสิทธิ์เลือกทิศทางที่ตัวตนดลเองได้ เพราะสุดท้าย…มีเพียงความตายเป็นตัวตัดสิน.
“จากความรักที่ไม่อาจเปิดเผยในวันก่อน สู่ส่วนเสี้ยวของความทรงจำในวันนี้”
“From the unspoken love of the old days, to the fragments of memory today.”
ความรัก ความฝัน ความจริง ความทรงจำ และความปรารถนาที่ไม่อาจเติมเต็ม… เมื่อความทรงจำต้องเผชิญหน้ากับความจริง ในวันที่ความจริงยากเกินจะยอมรับ เราจะเลือกอะไร?
Love, dreams, reality, memories, and unfulfilled desires… When memories are forced to face the truth, on a day when the truth becomes too difficult to accept, what will we choose?
“เมื่อการจะได้เป็นส่วนหนึ่งของใครสักคนเหมือนอยู่ใกล้แค่เอื้อม …แต่ความรู้สึกที่คิดว่าเราไม่ดีพอ ยังคงค้างอยู่ข้างใน”
“In the echoes of yesterday, the life that was is found”
“ทะเลลึกไร้ขอบเขต ยิ่งดำดิ่งก็ยิ่งว่างเปล่า …ไม่ต่างอะไรกับความรัก”
“The sea is boundless, and the deeper you dive, the emptier it becomes, …much like love.”
เพลง “มีจริง” ปาน ธนพร (The Life That Was OST)
"มีจริง" - ปาน ธนพร (The Life That Was OST)
Original Soundtrack for “The Life That Was”, an Original Play by LiFE THEATRE
แต่งเพลง โดย สุทธิพงษ์ สมบัติจินดา ร้อง โดย ธนพร แวกประยูร
ตกอยู่ในความฝัน ตั้งแต่นาทีที่ฉันสบตา
เธอคือความงามที่เคยตามหามานานแสนนาน
คนที่กุมมือไว้ ออกเดินทางไปพรุ่งนี้ด้วยกัน
เขียนความทรงจำต่างต่างข้างข้างกันไปจนตาย
เธอรู้มั้ยฉันรักเธอไม่เคยหมด ไม่เคยลดลงไป
ยังละมุนยังอุ่นหัวใจดวงนี้ ตอนที่คิดถึงเธอ
วันที่ไม่พบกัน ฉันยังอยู่ตรงนี้
ร้องเพลงเพลงเดิม ยิ้มให้ดังเดิม ยังกอดเธอไว้ทุกยาม
ไม่มีคำพูดใด ไม่ต้องเอ่ยคำถาม
ทุกวินาที ทุกภาพดีงาม
ความทรงจำจะทำให้มันมีจริง
ตกอยู่ในความรัก อยากจะมองเธอชัดชัดอย่างนี้
เก็บวันเวลาดีดีเก็บไว้ให้นานแสนนาน
อยากให้กุมมือไว้ หากไม่ได้ไปพรุ่งนี้ด้วยกัน
ทุกความทรงจำจะอยู่กับฉันที่เดิมต่อไป
เธอเห็นมั้ยรักของเราไม่เคยหมด ไม่เคยลดลงไป
ยังละมุนยังอุ่นหัวใจตอนนี้ ตอนที่คิดถึงกัน
วันที่ไม่พบกัน ฉันยังอยู่ตรงนี้
ร้องเพลงเพลงเดิม ยิ้มให้ดังเดิม ยังกอดเธอไว้ทุกยาม
ไม่มีคำพูดใด ไม่ต้องเอ่ยคำถาม
ทุกวินาที ทุกภาพดีงาม
ความทรงจำจะทำให้มันมีจริง
หากว่าไม่เห็นกัน ฉันยังอยู่ เห็นเธออยู่
ยังกอดเธอไว้ทุกยาม
ให้เธออุ่นหัวใจ ไม่ต้องเอ่ยคำถาม
ทุกวินาที ทุกภาพดีงาม
ความทรงจำจะทำให้มันมีจริง
...รักของเรามีจริง
"Make it real"
Lost in a dream.
From the moment I met your gaze.
You are the beauty I’ve searched for so long.
The one I hold hands with.
To journey together tomorrow.
Writing memories side by side, until the end.
Don't you see, our love has never faded, never lessened.
My heart is still warm and soft when I think of you.
On the days we don’t meet, I’m still right here.
Singing the same song, smiling just the same.
Holding you close, every time.
No words are needed, no questions asked.
Every second, every beautiful image.
Memories will make it real.
Falling in love.
I just want to see you clearly like this.
Keeping all the good times, holding them forever.
I want you to hold my hand.
Even if we can’t go together tomorrow.
Every memory will stay with me, right where they belong.
Don't you see, our love has never faded, never lessened.
My heart is still warm and soft when I think of you.
On the days we don’t meet, I’m still right here.
Singing the same song, smiling just the same.
Holding you close, every time.
No words are needed, no questions asked.
Every second, every beautiful image.
Memories will make it real.
Even when we don’t see each other.
I’m still here, seeing you here.
Still holding you close forever.
To warm your heart, with no questions asked.
Every second, every beautiful image.
Memories will make it real.
...Our love is real.
“The Life That Was” จัดแสดงอีกครั้งวันที่ 23 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2568
“The Life That Was” เพิ่มรอบการแสดง
- พฤหัสบดี 23 มกราคม 2568 รอบ 19.30 น.
- (หยุดศุกร์ 24 มกราคม’68)
- เสาร์ 25 มกราคม’68 รอบ 14.00 น. และ รอบ 19.30 น.
- อาทิตย์ 26 มกราคม’68 รอบ 14.00 น. และ รอบ 19.30 น.
- ศุกร์ 31 มกราคม’68 รอบ 19.30 น.
- เสาร์ 1 กุมภาพันธ์’68 รอบ 14.00 น. และ รอบ 19.30 น.
- อาทิตย์ 2 กุมภาพันธ์’68 รอบ 14.00 น. และ รอบ 19.30 น.
บัตรราคา 1,350 บาท / บัตรนักเรียนนักศึกษา 1,000 บาท
จองบัตรที่ https://www.ticketmelon.com/lifecreator/thelifethatwas
“CharacterCraft” workshop โดยครูหนิง ที่รวมเทคนิคการสร้างตัวละครให้มีมิติ และแตกต่าง สามารถนำไปปรับใช้ได้เองในอนาคต
- เข้มข้นด้วยกระบวนการสอนผ่านแบบฝึกหัดที่หลากหลาย การ feedback ละเอียดรายคน และการเรียนรู้ผ่านตัวละครต่าง ๆ จากเพื่อนร่วมคลาส
- ได้ลองทำงานกับ Monologue ที่แตกต่างจากตนเอง เพื่อขยายศักยภาพในการแสดงและออกไปจากกรอบที่คุ้นชิน
- สามารถนำไปทำงานกับการแสดงทุกสไตล์ 7-8 ธันวาคม 10:00-16:00 น.
ค่าใช้จ่าย 7,950 บาท
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลข่าวจาก
LiFE THEATRE
[1] โรคหลงผิด, brightquest.com, สืบค้น 25 พฤศจิกายน 2567, https://www.brightquest.com/delusional-disorder/
[2] Lesbian, queerdom.fandom.com, สืบค้น 22 ตุลาคม 2567 https://queerdom.fandom.com/wiki/Sapphic
[3] LGBTQI ตัวย่อที่มีความหมาย, amnesty.or.th, สืบค้น 22 ตุลาคม 2567 https://www.amnesty.or.th/latest/blog/860
[4] โรคตื่นตระหนก, medlineplus.gov/panicdisorder, สืบค้น 25 พฤศจิกายน 2567 https://medlineplus.gov/panicdisorder.html
[5] Tananop Kanjanawutisit, The Life That Was, สืบค้น 3 พฤศจิกายน 2567 https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=10231660930881020&id=1074286352&rdid=kvF0fjyad7NY9gnn