ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

บทบาทช่วงเสรีไทยของปรีดี พนมยงค์ ต่อสหรัฐอเมริกา ผ่านจดหมายของคอร์เดลล์ ฮัลล์

26
สิงหาคม
2567

“ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง ซึ่งแม้ผู้ไม่ได้ร่วมในองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ 17 ล้านคนที่ได้กระทำโดยอิสระของตนในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้น สามารถจะทำได้หรือเอากำลังใจช่วยขับไล่ให้ญี่ปุ่นพ้นไปจากประเทศไทยโดยเร็ว…”

ปรีดี พนมยงค์
ใน สุนทรพจน์ของรู้ธ, 25 กันยายน พ.ศ. 2488

 


คณะรัฐมนตรีช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484

 


ทหารญี่ปุ่นบุกขึ้นบกที่หาดสงขลา

 


ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยไปยังประเทศในอุษาคเนย์

 

เมื่อรัฐบาลไทยได้ยินยอมให้กำลังทหารญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ได้มีองค์การหรือขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นเกิดขึ้นทั้งในไทยและกลุ่มคนไทยในอังกฤษกับสหรัฐอเมริกา หรือต่อมารู้จักกันในนาม ขบวนการเสรีไทย โดยการเคลื่อนไหวเพื่อก่อตั้งองค์การฯ เหล่านี้ในเบื้องแรกเกิดขึ้นด้วยการปกปิดเป็นความลับและประสานกันอย่างที่มีผู้รู้แผนการ และขั้นตอนจำนวนน้อย

ดังนี้ การศึกษาเกี่ยวกับกำเนิดขบวนการเสรีไทยทั้งในและนอกประเทศจึงต้องพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทบันทึกและจดหมายของหัวหน้ากลุ่มผู้ก่อตั้งเสรีไทย และสมาชิกเสรีไทยสายต่าง ๆ รวมถึงเอกสารโต้ตอบระหว่างประเทศเป็นหลักทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ ขอเสนอบันทึกและเอกสารประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปฏิบัติการเสรีไทยของนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้ากลุ่มเสรีไทยไว้ในบทความนี้เพื่อส่งไม้ต่อให้ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยและสัจจะทางประวัติศาสตร์หลากแง่มุมสามารถนำไปต่อยอดองค์ความรู้เรื่องเสรีไทยในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาต่อไป

 

บริบทและปฐมบทขบวนการต่อต้านแสนยานิยมญี่ปุ่นในไทย

 


ปรีดี พนมยงค์ ขณะประชุมปรึกษางานกับเสรีไทยที่ทำเนียบท่าช้าง

 

การจัดตั้งขบวนการต่อต้านแสนยานิยมญี่ปุ่นของนายปรีดี พนมยงค์ ในไทย เริ่มต้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีปรีดีกลับมาที่บ้านแล้วก็คิดชักชวนผู้รักชาติ รัฐมนตรีที่ไม่ใช่พวกญี่ปุ่น และผู้แทนราษฎรออกจากกรุงเทพฯ เพื่อไปตั้งรัฐบาลเสรีของชาติไทยในภาคเหนือ จึงให้พูนศุขภรรยาโทรศัพท์เชิญชวนมิตรบางคนมาที่บ้าน และปรึกษาวิธีการเดินทางไปภาคเหนือกับ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ อธิบดีกรมทางในขณะนั้น หากต่อมาทางทหารญี่ปุ่นได้เข้าควบคุมชุมทางรถไฟและทางน้ำที่ปากน้ำโพจึงไม่สามารถปฏิบัติภารกิจจัดตั้งรัฐบาลเสรีที่ภาคเหนือได้

ปรีดีบันทึกถึงการก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในประเทศหลังวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ไว้ว่า       

         

“อีก 2-3 วันต่อมา ข้าพเจ้าได้รับวิทยุสัมพันธมิตรทราบข่าวด้วยความยินดีว่า คนไทยในสหรัฐอเมริกาและในอังกฤษได้จัดตั้งเป็น “เสรีไทย” ขึ้น ซึ่งข้าพเจ้ามีความหวังว่า ขบวนการต่อต้านภายในประเทศจะได้มีโอกาสร่วมมือกับขบวนการของคนไทยในต่างประเทศ ซึ่งมีอุดมคติตรงกันในการอุทิศตนเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติให้คงคืนบริบูรณ์”

 


ปรีดี พนมยงค์ ประชุมงาน​เสรีไทย​กับนายทหารฝ่าย​สัมพันธมิตร​

 

ในช่วงวันที่ 10 ธันวาคม เมื่อปรีดีทราบเรื่องการจัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นของคนไทยขึ้นในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษแล้ว จึงได้ส่งตัวแทนเสรีไทยในประเทศไปจีน บางคณะยังไปถึงอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ขณะที่เสรีไทยในต่างประเทศก็เริ่มเข้ามาปฏิบัติการในไทยด้วยการโดดร่มมาลงในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งเมื่อญี่ปุ่นขึ้นบกแล้วก็เริ่มขอความร่วมมือด้านอื่นๆ เช่น การเจรจาขอกู้เงินจากรัฐบาลไทย และเกิดการโต้แย้งเรื่องการให้ญี่ปุ่นพิมพ์ธนบัตรทหารใช้ในประเทศไทยขึ้น โดยนายปรีดีเสนอความคิดเห็นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า การที่ญี่ปุ่นขอกู้เงินนี้คงจะไม่ใช่งวดเดียว และเป็นการให้กู้เงินเพื่อประโยชน์ในการทำสงครามย่อมไม่มีหลักประกันให้รัฐบาลไทยทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศ

ดังนี้ นายปรีดีจึงเสนอให้ญี่ปุ่นพิมพ์ธนบัตรทหารของตนเองขึ้นใช้ในกรณีพิเศษ เพราะเห็นว่าเมื่อจบสงครามทางรัฐบาลไทยก็ประกาศยกเลิกได้โดยไม่กระทบต่อเศรษฐกิจและการเงินภายใน หากนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับนายปรีดีเพราะมองว่า การพิมพ์ธนบัตรของญี่ปุ่นในไทยเป็นการเสื่อมเสียต่อเอกราชและอธิปไตย ทางนายปรีดีจึงแย้งว่า การที่ไทยยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมากมายก็เป็นการเสื่อมเสียต่อเอกราชและอธิปไตยของประเทศอยู่แล้วมิใช่หรือ 

 

ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484

ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484

 

หากเพียงไม่กี่วันหลังจากญี่ปุ่นผ่านไทย ปรีดีได้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภายหลังการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีใหม่ โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 นับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 จะเห็นได้ว่า ปฐมบทการก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในประเทศมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวเนื่องและในกรณีนี้นายปรีดีชี้ว่าตนเองได้ 'ถูกผลัก' ออกจากตำแหน่งทางการเมืองเพื่อไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

ปฏิบัติการเสรีไทยในจดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิทเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามและการผ่อนหนักเป็นเบา

 


ภาพปฏิบัติการเสรีไทยในประเทศ

 

กองบัญชาการเสรีไทย มิได้คำนึงเพียงด้านต่อสู้ญี่ปุ่นแต่ด้านเดียวเท่านั้น หากได้ปฏิบัติการอีกด้านหนึ่งประกอบด้วย คือ ปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และ การปฏิบัติเพื่อให้สัมพันธมิตรผ่อนหนักเป็นเบาในการเรียกร้องค่าเสียหายจากประเทศไทยเพราะเหตุที่รัฐบาลไทยสมัยนั้นได้ทำความเสียหายแก่สัมพันธมิตร

คุณพระคงได้อ่านเอกสารหลักฐานที่สัมพันธมิตรเปิดเผยภายหลังสงครามบ้างแล้ว และรัฐบาล ส.ร.อ. ได้เปิดเผยเพิ่มเติมเมื่อเหตุการณ์พ้น 25 ปีแล้ว ส่วนรัฐบาลอังกฤษเปิดเผยเมื่อเหตุการณ์พ้น 30 ปีแล้ว คุณพระจึงได้ทราบว่ากองบัญชาการเสรีไทยรวมทั้งเสรีไทยหลายคนได้ปฏิบัติการเพื่อให้ ส.ร.อ. กับอังกฤษรับรองความจริงว่าการประกาศสงครามที่รัฐบาลไทยสมัยนั้น ทำต่อประเทศทั้งสองนั้นเป็นโมฆะและฝ่าฝืนต่อเจตนารมณ์ของปวงชนไทย และได้ปฏิบัติการให้รัฐบาลจีนรับรองความจริง ว่าการที่รัฐบาลไทยสมัยนั้นก่อสถานะสงครามต่อจีน เป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของประชาชนไทย

ความพยายามของกองบัญชาการเสรีไทยและเพื่อนเสรีไทยหลายคนที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการนั้นไม่อาจสำเร็จได้ง่ายๆ อย่างที่คำพังเพยไทยตั้งแต่โบราณกาลเรียกว่า “ไม่ง่ายเหมือนละเลงขนมเบื้องด้วยปาก” เพราะถ้าทำได้ง่ายๆ เพียงคำพูดเท่านั้นแล้ว ผู้รักชาติที่มีความสามารถในการพูดของประเทศอื่นๆ ที่รัฐบาลของตนมีสถานะสงครามกับสัมพันธมิตร ก็จะต้องใช้วิธีดังกล่าวช่วยให้ประเทศของตนหลุดพ้นจากการเป็นฝ่ายแพ้สงครามได้ง่ายๆ และเมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงก็จะไม่มีประเทศใดตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามเลย

อนึ่ง คนไทยส่วนมากก็สังเกตได้ว่าสัมพันธมิตรซึ่งได้รับความเสียหายจากการที่รัฐบาลของประเทศหนึ่งได้ประกาศสงครามหรือก่อสถานะสงครามก็มิใช่คนปัญญาอ่อนที่ยอมรับถือเอาคำพูดง่ายๆ นั้นว่าเป็นการเพียงพอแล้ว ฉะนั้น สัมพันธมิตรก็ต้องพิจารณาการปฏิบัติของขบวนการรักชาติแห่งประเทศที่รัฐบาลของประเทศนั้น ได้มีสถานะสงครามด้วยว่าได้มีการต่อสู้ศัตรูร่วมกันจริงจังตามแผนยุทธศาสตร์ของสัมพันธมิตรและมีคุณูปการแก่สัมพันธมิตรมากน้อยเพียงใดบ้าง

“ขบวนการเสรีไทย” ไม่ได้ใช้วิธีเจรจาโดยปากพูดกับสัมพันธมิตรเท่านั้น หากได้มีการปฏิบัติในการต่อสู้ญี่ปุ่นตามแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันของสัมพันธมิตรประกอบด้วย ต่อมาเมื่อสัมพันธมิตรเห็นการกระทำของเสรีไทยว่าปฏิบัติจริงด้วยความซื่อสัตย์ตามแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันและปฏิบัติการเป็นคุญูปการแก่สัมพันธมิตร สัมพันธมิตรจึงยอมรับว่าการประกาศสงครามและการก่อสถานะสงครามดังกล่าวเป็นโมฆะ แต่ท่วงท่าของ ส.ร.อ. อังกฤษ จีน ที่ยอมเลิกสถานะสงครามกับประเทศไทยนั้นต่างกัน คือ

1. รัฐบาลแห่งชาติจีน ในระยะแรกแห่งมหาสงครามก็แสดงเพียงความไม่พอใจที่รัฐบาลไทยสมัยนั้นร่วมมือกับญี่ปุ่น แต่ต่อมารัฐบาลไทยนั้นได้มีการปฏิบัติทางสงครามกับจีนดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลจีนก็โกรธประเทศไทยยิ่งขึ้น รัฐบาลแห่งชาติจีนถือตนว่าเป็นผู้ใหญ่จึงใช้ธรรมเนียมของจีนโบราณที่จะต้อง “ให้บทเรียน” หรือ “ทำการสั่งสอน”

เด็กคือประเทศไทยที่ไม่เกรงใจผู้ใหญ่ สถานีวิทยุกระจายเสียงจุงกิงของรัฐบาลกลางจีน (เจียง ไคเช็ค) ก็ได้คุกคามทำนองดังกล่าวหลายครั้ง และคุกคามหนักยิ่งขึ้นตอนที่รัฐบาลไทยรับรองรัฐบาล “วังจิงไว” ดังที่คุณพระทราบแล้วจากเอกสารหลักฐานที่นายดิเรก ชัยนาม ได้อ้างไว้ในหนังสือชื่อ “ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2” หน้า 270 มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

 

“การรับรองรัฐบาลวังจิงไวครั้งนี้ รัฐบาลเจียง ไคเช็ค โกรธมาก เมื่อสงครามสิ้นสุดลงหนังสือพิมพ์ตากุงเป้าในจุงกิง ถึงกับลงบทความขอให้รัฐบาลไทยทำพิธียอมแพ้เช่นประเทศศัตรูอื่นๆ และให้จับตัวบุคคลสำคัญๆ ในรัฐบาลรวมทั้งจอมพลพิบูลสงครามส่งไปขึ้นศาลอาชญากรสงคราม”

(The Chinese in Southeast Asia ของ Dr. Victor Purcell หน้า 190)

 

คุณพระจึงทราบแล้วว่า เมื่อท่วงท่าของรัฐบาลแห่งชาติจีนซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็รับรองแล้วว่าเป็นรัฐบาลกลางของจีนต้องการ “ให้บทเรียน” หรือ “สั่งสอน” ประเทศไทยขนาดหนักดังกล่าวแล้ว กองบัญชาการเสรีไทยและเพื่อนเสรีไทยซึ่งได้ไปพบเจียง ไคเช็ค และที่ประจำอยู่ ณ นครจุงกิงนั้น ก็ได้พยายามหาทางผ่อนหนักเป็นเบาในส่วนที่เกี่ยวกับจีนให้คลายความโกรธประเทศไทยเป็นส่วนรวมที่มิได้เป็นศัตรูของจีน

2. ส่วนอังกฤษกับสหรัฐอเมริกา ที่ถูกรัฐบาลไทยประกาศสงครามและมีการปฏิบัติทางสงครามก็เป็นธรรมดาที่ประเทศใดๆ ซึ่งถูกเข้าเช่นนั้นจะต้องไม่พอใจ หลักฐานเอกสารของสัมพันธมิตรหลายฉบับที่เปิดเผยก็แสดงถึงความจริงดังกล่าวแล้ว

แต่น้ำหนักแห่งความไม่พอใจของอังกฤษต่อประเทศไทยต่างกับ ส.ร.อ. ทั้งนี้เพราะผลประโยชน์ของอังกฤษและ ส.ร.อ. เกี่ยวกับประเทศไทยในกาลสมัยนั้นถูกกระทบกระเทือนมากน้อยต่างกัน คือ

สมัยก่อนสงครามโลก อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมแห่งสหภาพมลายูและสหภาพพม่า (รวมทั้งสหพันธรัฐฉาน) อาณานิคมดังกล่าวถูกรุกรานโดยญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพ และรัฐบาลไทยในระหว่างสงครามได้มีส่วนในการนั้นด้วย เช่น การยกกองทัพไปยึดครองรัฐเชียงตุง เมืองพาน ฯลฯ และ การเอาไทรบุรี ปลิศ กลันตัน ตรังกานู มาอยู่ใต้ปกครองไทย อังกฤษเป็นประเทศทุนนิยมใหญ่ที่กุมเศรษฐกิจของไทยไว้ เช่น มีธนาคารอังกฤษ 3 ธนาคาร มีสัมปทานป่าไม้สักหลายแห่ง มีสัมปทานเหมืองแร่หลายแห่ง มีการค้าการเดินเรือและวิสาหกิจมากมาย ฯลฯ ฉะนั้น อังกฤษจึงไม่พอใจมากที่ตนได้รับความเสียหายจากการกระทำของรัฐบาลไทยสมัยนั้น

แม้ ลอร์ด เมานท์แบทเตน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรได้ยอมรับรองขบวนการเสรีไทยที่ให้ความร่วมมือในการรบญี่ปุ่นก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่อังกฤษซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง และการเศรษฐกิจก็พยายามที่จะให้รัฐบาลอังกฤษถือว่าสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยกับอังกฤษคงมีอยู่ ประเทศไทยจึงจะต้องตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม กองบัญชาการเสรีไทยได้เจรจาและส่งเพื่อนเสรีไทยหลายคนและหลายชุดไปเจรจากับอังกฤษหลายครั้ง แต่ฝ่ายอังกฤษก็รีรออยู่โดยไม่รับรองให้แน่ชัดลงไปว่าการประกาศสงครามของรัฐบาลไทยต่อบริเตนใหญ่นั้นเป็นโมฆะ

3. ส่วน ส.ร.อ. สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผลประโยชน์มากในประเทศอื่น เช่น ส.ร.อ. เป็นเจ้าอาณานิคมฟิลิปปินส์ และ ส.ร.อ. มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากในประเทศจีน เช่น ธนาคารอเมริกันใหญ่ๆ มีสาขาตั้งอยู่ในประเทศจีน วิสาหกิจการค้าการเดินเรือของอเมริกันก็มีมากมายในประเทศจีน ฯลฯ ฉะนั้น คนจีนจึงมีความคิดถูกต้องตามทรรศนะของจีนแล้วที่ถือว่าสมัยนั้น ส.ร.อ. เป็นประเทศนายทุนใหญ่ประเทศหนึ่งในประเทศจีน

แต่สมัยเดียวกันนั้น ส.ร.อ. มีผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจน้อยมากในประเทศไทยเมื่อเทียบส่วนกับที่ ส.ร.อ. มีในประเทศจีนและเมื่อเทียบส่วนกับอังกฤษที่มีในประเทศไทย เช่น ส.ร.อ. มิได้มีสาขาธนาคารอเมริกันในประเทศไทย ส.ร.อ. มีบริษัทการค้าเล็กๆ อยู่บริษัทเดียวดังที่คุณพระอ้างถึงแล้ว เพราะเหตุที่ ส.ร.อ. สมัยนั้นมีผลประโยชน์น้อยในประเทศไทย สถานทูตอเมริกันสมัยนั้นจึงมีพนักงานการทูตเพียง 3 คนเท่านั้นคือ อัครราชทูตกับเลขานุการ 2 คน บางครั้งก็เหลือเลขานุการคนเดียวซึ่งคุณพระรู้จัก

ฉะนั้น ทรรศนะของคนไทยสมัยนั้นจึงเห็นตามรูปธรรมที่ประจักษ์ว่า ส.ร.อ. สมัยนั้นมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจน้อยในประเทศไทย ต่างกับคนจีนที่มีทรรศนะถูกต้องโดยเฉพาะของจีนตามสภาพเฉพาะของจีน แม้กระนั้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจีนและคนจีนก็ขอความช่วยเหลือ ส.ร.อ. ในการต่อสู้ญี่ปุ่นซึ่งเป็นศัตรูร่วมกัน รัฐบาลจีนจึงอนุโลมตามความเห็นของรัฐบาลอเมริกันเกี่ยวกับเรื่องประเทศไทย เช่น เรื่องเขตยุทธภูมิ เพราะถ้าประธานาธิบดีไม่ออกคำสั่งหมายเลข 1 ดังกล่าวแล้ว กองทัพจีนก็จะเข้ามาทางภาคเหนือของประเทศไทย

4. ในระหว่างที่อังกฤษรีรอการรับรองว่าประกาศสงครามของรัฐบาลไทยเป็นโมฆะนั้น ส.ร.อ. ได้มีนโยบายเกี่ยวกับประเทศไทยที่แจ้งต่อรองผู้อำนวยการสำนักงานบริการยุทธศาสตร์ โดยจดหมายของ มร.คอร์เดลล์ ฮัลล์ ฉบับเลขที่ 892.01/32 ลงวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1943 (พ.ศ. 2486) ซึ่งกล่าวถึงนโยบายของอเมริกันไว้ดังต่อไปนี้

 


ภาพถ่ายสำเนาจดหมายจากนายคอร์เดลล์ ฮัลล์ ถึง พันเอกกูดเฟลโลว์

 

892.01/32

The Secretary of State to the Deputy Director of the Office of Strategic Services (Goodfellow)

Washington, August 26, 1943

My Dear Colonel Goodfellow: In reply to your oral inquiry of August 4 relating to possible American operations conducted in connection with a Free Thai movement, the position of the Department of State is as follows:

The United States recognizes Thailand as an independent state which is now under the military occupation of Japan. This Government does not recognize the Thai Government as it is now constituted; but this Government has refrained from declaring war on Thailand, has continued to recognize as “Minister of Thailand” the Thai Minister in Washington who has denounced his Government's cooperation with Japan, and has sympathetically regarded a Free Thai movement in which he is prominent.

The Government of the United States looks forward to the reestablishment of Thailand's independence as quickly as possible. Available information indicates that there remain in the present Thai Government a number of officials who opposed the capitulation of that Government to Japanese pressure. It is understood that Luang Pradist Manudharm (known also as Nai Pridi Bhanomyong), a member of the Council of Regents, is one of these officials and that he has participated prominently in a secret movement which aims to restore the Government as it was constituted prior to the Japanese invasion.

In the light of this understanding Luang Pradist Manudharm is presumed by the Government of the United States to represent a continuity in the Government of Thailand as it was constituted prior to the defection of the Thai Prime Minister to the Japanese at the time of The Japanese invasion and to be one of the outstanding leaders in the movement for Thai independence. Accordingly, until this Government has indications to the contrary from the Thai people, it feels warranted, without in any way committing itself in respect to the future, in regarding Luang Pradist as one of the leading representatives in Thailand of the Thai nation.

The attitude of this Government, as above outlined, is a provisional position pending a free expression of the wishes of the Thai people following the liberation of Thailand by United Nations forces. The efforts of the Government of the United States are and should be limited to assisting the Thai people to restore a native regime capable of discharging its responsibilities and free from foreign control. The final choice of the leaders of such a government is a matter for the Thai people alone to decide.

It is believed that this will give you information you wished.

Sincerely yours,
Cordell Hull.

 

แปลเป็นภาษาไทย

  

ที่ 892.01/32

จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงรองผู้อำนวยการสำนักงานยุทธศาสตร์ (กูดเฟลโลว์)

วอชิงตัน, 26 สิงหาคม 1943

พันเอก กูดเฟลโลว์ที่รัก ในการแถลงตอบข้อถามของท่านด้วยวาจาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม เกี่ยวกับปฏิบัติการอันพึงเป็นไปได้ของฝ่ายอเมริกันกับขบวนการเสรีไทยนั้น กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงท่าทีของตนดังต่อไปนี้

สหรัฐอเมริกาถือประเทศไทยว่าเป็นรัฐเอกราชที่บัดนี้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองด้วยกำลังทหารญี่ปุ่น รัฐบาลนี้ (สหรัฐอเมริกา) ไม่รับรองรัฐบาลไทยที่ประกอบอยู่ในปัจจุบัน (รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม) แต่รัฐบาลนี้ (สหรัฐอเมริกา) ยับยั้งการประกาศสงครามต่อประเทศไทยไว้ และคงรับรอง “อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน” เป็น “อัครราชทูตของประเทศไทย” ต่อไป อัครราชทูตผู้นี้ (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช) ได้ประณามความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่น และ (สหรัฐ) ได้นับถือด้วยความเห็นอกเห็นใจต่อขบวนการเสรีไทยซึ่งอัครราชทูตคนนั้น (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช) เป็นบุคคลสำคัญ

รัฐบาลสหรัฐอเมริกามองไปข้างหน้าถึงการที่จะสถาปนาเอกราชของประเทศไทยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จากข่าวสารต่างๆ ที่ได้รับ แสดงให้เห็นว่าในรัฐบาลไทยปัจจุบันก็ยังมีข้าราชการส่วนหนึ่งที่คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไทยยอมจำนนต่อการกดดันของฝ่ายญี่ปุ่น เป็นที่ทราบกันดีว่าในบรรดาข้าราชการดังกล่าวนี้ มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (หรือที่รู้จักกันในนามนายปรีดี พนมยงค์) ผู้สำเร็จในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รวมอยู่ด้วยผู้หนึ่ง และยังได้ทราบต่อไปอีกว่าผู้นี้ได้มีส่วนอย่างสำคัญร่วมมือในขบวนการลับที่มีจุดประสงค์เพื่อฟื้นขึ้นซึ่งรัฐบาลไทยที่เคยเป็นอยู่ก่อนหน้าการรุกรานของญี่ปุ่น

ด้วยความกระจ่างแจ้งเช่นนี้ รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาจึงถือว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นตัวแทนแห่งการสืบต่อของรัฐบาลแห่งประเทศไทยตามที่เป็นอยู่ก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) จะไปเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่นในตอนที่ญี่ปุ่นบุก และยอมรับว่า (หลวงประดิษฐ์) เป็นผู้นำคนสำคัญในขบวนการเพื่อเอกราชของชาติไทย ด้วยเหตุนี้ ตราบเท่าที่รัฐบาลนี้ (สหรัฐอเมริกา) มิได้รับแจ้งการตรงข้ามจากประชาชนไทย จึงเป็นประกันได้โดยไม่ผูกมัดรัฐบาล ส.ร.อ. ในอนาคตในการถือว่าหลวงประดิษฐ์เป็นผู้แทนชั้นนำคนหนึ่งของประชาชนไทยในประเทศไทย

ท่าทีของรัฐบาล (สหรัฐอเมริกา) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ เป็นท่าทีชั่วคราวระหว่างการแสดงออกอย่างเสรีแห่งความปรารถนาของประชาชนไทย ภายหลังจากกองกำลังแห่งสหประชาชาติได้ทำการปลดแอกประเทศไทยแล้ว ความพยายามของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่เป็นอยู่และที่พึ่งเป็นจะจำกัดเพียงแค่การให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนไทยในการสถาปนารัฐบาลของประเทศตนที่สามารถดำเนินความรับผิดชอบของตนและเป็นอิสระจากการควบคุมของต่างชาติ ส่วนการคัดเลือกผู้นำรัฐบาลในบั้นปลายนั้นเป็นเรื่องที่ประชาชนไทยเท่านั้นจะเป็นผู้วินิจฉัย

เป็นที่เชื่อได้ว่าคำชี้แจงนี้คงจะให้ความกระจ่างแก่ท่านได้ตามที่ต้องการ

ด้วยความซื่อสัตย์ต่อท่าน
(ลงนาม) คอร์เดลล์ ฮัลล์
(ร.ม.ต. ว่าการต่างประเทศ)

 

ข้อสังเกต

รัฐบาลอเมริกันได้ใช้วิธีประดุจผ่าเส้นผมออกเป็น 2 ซีก โดยถือว่าประเทศไทยมี 2 รัฐบาล คือ รัฐบาลที่ประกอบขึ้นก่อนญี่ปุ่นรุกรานซึ่งรัฐบาลอเมริกันถือว่ายังคงมีอยู่ โดยถือว่าผมเป็นตัวแทนดำเนินต่อไป (Continuity) ของรัฐบาลนั้นซึ่งรัฐบาลอเมริกันรับรอง ส่วนอีกรัฐบาลหนึ่งซึ่งประกอบขึ้นภายหลังญี่ปุ่นรุกรานโดยมีจอมพลพิบูลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นรัฐบาลอเมริกันไม่รับรอง ปัญหาจึงมีว่า วิธีการของรัฐบาลอเมริกันที่เป็นประวัติการณ์ครั้งแรกในโลกเช่นนั้นจะถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่

 


ภาพถ่ายสำเนาโทรเลขจากกงสุลสวิสประจำกรุงเทพฯ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

 

ผู้ที่สนใจกฎหมายระหว่างประเทศ และระเบียบการปฏิบัติในทางการทูตย่อมทราบว่าอัครรัฐทูตนั้น รัฐบาลของตนแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนประจำประมุขของอีกประเทศหนึ่ง มิใช่ตั้งให้เป็นตัวแทนประจำนายกรัฐมนตรีของอีกประเทศหนึ่ง อัครรัฐทูตอเมริกันก็ได้ยื่นสาส์นของประธานาธิบดีต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระประมุขของประเทศไทย และเมื่อรัฐบาลอเมริกันถือว่าผมเป็นผู้ดำเนินต่อไปของรัฐบาลที่ประกอบขึ้นก่อนญี่ปุ่นรุกราน ความสัมพันธ์ทางไมตรีกับประเทศไทยจึงคงมีอยู่แต่ปัญหาก็มีต่อไปอีกว่าผู้สำเร็จราชการฯ มี 3 คนประกอบเป็น “คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ผมคนเดียวไม่มีสิทธิทำการแทน “คณะ” ได้ แต่ปัญหานี้ได้หมดสิ้นไปภายหลังที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 แต่งตั้งให้ผมคนเดียวเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

จากสำเนาจดหมายจากนายคอร์เดลล์ ฮัลล์ ถึงรองผู้อำนวยการสำนักงานยุทธศาสตร์ (กูดเฟลโลว์) ฉบับเลขที่ 892.01/32 ลงวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1943 (พ.ศ. 2486) ข้างต้นสรุปมุมมองของสหรัฐอเมริกาต่อนายปรีดีในช่วงปฏิบัติการเสรีไทยไว้ว่า

“...ในรัฐบาลไทยปัจจุบันก็ยังมีข้าราชการส่วนหนึ่งที่คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไทยยอมจำนนต่อการกดดันของฝ่ายญี่ปุ่น เป็นที่ทราบกันดีว่าในบรรดาข้าราชการดังกล่าวนี้มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (หรือที่รู้จักกันในนามนายปรีดี พนมยงค์) ผู้สำเร็จในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รวมอยู่ด้วยผู้หนึ่ง และยังได้ทราบต่อไปอีกว่าผู้นี้ได้มีส่วนอย่างสำคัญร่วมมือในขบวนการลับที่มีจุดประสงค์เพื่อฟื้นขึ้นซึ่งรัฐบาลไทยที่เคยเป็นอยู่ก่อนการรุกรานของญี่ปุ่น ด้วยความกระจ่างแจ้งเช่นนี้ รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาจึงถือว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นตัวแทนแห่งการสืบต่อของรัฐบาลแห่งประเทศตามที่เป็นอยู่ก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรีไทยสมัยนั้น (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) จะไปเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่นในตอนที่ญี่ปุ่นบุก

และยอมรับว่า (หลวงประดิษฐ์) เป็นผู้นำคนสำคัญในขบวนการเพื่อเอกราชของชาติไทย ด้วยเหตุนี้ ตราบเท่าที่รัฐบาลนี้ (สหรัฐอเมริกา) มิได้รับแจ้งการตรงข้ามจากประชาชนไทย จึงเป็นประกันได้โดยไม่ผูกมัดรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในอนาคต ในการถือว่าหลวงประดิษฐ์เป็นผู้แทนชั้นนำคนหนึ่งของประชาชนไทยในประเทศไทย…” 

สหรัฐอเมริกาถือว่าประเทศไทยเป็นรัฐเอกราชที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองด้วยกำลังทหารของญี่ปุ่น รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่รับรองรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ยับยั้งการประกาศสงครามต่อประเทศไทยไว้และยังคงรับรอง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันในสำเนาจดหมายสะท้อนว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ ในทางการทูตของสหรัฐฯ นั้นมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในขบวนการเสรีไทย

 

 

หมายเหตุ: 

  • ได้คงตัวสะกด ชื่อบุคคล และสำนวนการแปลไว้ตามต้นฉบับของนายปรีดี พนมยงค์
  • ภาพประกอบจากหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

บรรณานุกรม

  • ปรีดี พนมยงค์, “การปฏิบัติด้าน 2 ปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามและการผ่อนหนักเป็นเบา” ใน จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิท เรื่องหนังสือจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฏิบัติการในแคนดี นิวเดลฮี และ สหรัฐอเมริกา (กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์. 2522), น. 20-29.
  • ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558)
  • ปรีดี พนมยงค์, (25 กันยายน 2563), สุนทรพจน์ของรู้ธ, https://pridi.or.th/th/content/2020/09/431