ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การก่อตั้ง “สถานกาซิโน” ในสมัยคณะราษฎร

4
กุมภาพันธ์
2568

Focus

  • การก่อตั้งสถานคาสิโนในสมัยคณะราษฎรมีหลักการมาจากการชดเชยงบประมาณเนื่องจากการยกเลิกภาษีรัชชูปการหลังการอภิวัฒน์ 2475 โดยมีการประชุมคณะรัฐมนตรีเรื่องนี้ครั้งสำคัญในช่วงทศวรรษ 2480 และมีการก่อตั้งสถานคาสิโนสำเร็จในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจ
  • พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 เป็นกฎหมายพนันฉบับแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับนี้ครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2501 และมีการออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็ตาม แต่ก็ยังมิได้ปรับปรุงเนื้อหาในประเด็นสำคัญ ทำให้พระราชบัญญัติการพนันเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดจากพนันในปัจจุบันที่มีลักษณะต่างไปจากเดิมมาก ระบบการควบคุมหรือกำกับดูแลผู้ที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการพนันตามกฎหมายก็มีความหละหลวม ไม่มีประสิทธิภาพ การดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับกรณีการพนันผิดกฎหมายก็เป็นปัญหาสำคัญที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ อีกทั้งยังมีปัญหาในการปรับใช้ การตีความบทบัญญัติบางประการโดยรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบตามพระราชบัญญัติการพนันฯ  คือ กระทรวงมหาดไทย

 


เหรียญที่ใช้ในสถานกาซิโน ออกโดยกระทรวงการคลัง
ที่มา : เมืองไทยเคยตั้งคาสิโนแล้วผลเป็นดังนี้

 

จากกระแสเรื่องการเปิดสถานคาสิโนในไทยได้หวนกลับมาได้รับความสนใจและมีการวิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อเสียกันในวงกว้างในระหว่าง 1 ปีที่ผ่านมา ดังนี้ ทางกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จึงขอเสนอเรื่องการก่อตั้ง “สถานกาซิโน” ในสมัยคณะราษฎร ในระหว่างทศวรรษ 2470-2480 ผ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อแสดงให้เห็นจุดตั้งต้นของหลักการก่อตั้งคาสิโนในสยามเปรียบเทียบกับห้วงเวลา ณ ปัจจุบัน รวมถึงข้อมูลที่มีการทดลองเปิดเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 และการทดลองเปิดประมาณ 4 เดือนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม พ.ศ. 2488

 

สังเขปประวัติการพนันสยาม

หากจะวิเคราะห์นโยบายบ่อนการพนันในสังคมไทย ก็จะพบว่ารัฐไทยเคยยอมรับให้การเล่นพนันในบ่อนเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย เพื่อดําเนินนโยบายบ่อนการพนันแบบแสวงประโยชน์มาก่อนเช่นกัน โดยได้ทําการจัดเก็บอากรบ่อนเบี้ยหารายได้ไปใช้ในการบริหารงาน แผ่นดิน แต่ทําให้เกิดปัญหาสังคมเพิ่มขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจ อาชญากรรม และกระบวนการค้าทาส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงตัดสินพระทัยดําเนิน นโยบายลดจํานวนบ่อนการพนันลง จนในที่สุดก็สามารถปิดบ่อนการพนันลงได้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย รัฐไทยได้สานต่อนโยบายบ่อนการพนันแบบควบคุม ด้วยการออกกฎหมายเป็น พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2473 และปรับปรุงเพิ่มเติมอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2478 โดยมีพื้นที่ไว้ให้กับการพนันในบางประเภท หากต้องการจะเล่นต้องขออนุญาตผ่านเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ใช้วิจารณญาณในการพิจารณาซึ่งการเล่นพนันในบ่อนคาสิโนนั้นถูกจัดให้อยู่ในการพนันประเภท ก. ที่รัฐห้ามเล่น เด็ดขาด แต่จะจัดให้มีขึ้นได้เฉพาะ “สถานคาสิโนของรัฐ” ที่มีพระราชกฤษฎีกาออกมาอนุญาตเท่านั้น

กำเนิดคาสิโนในสยามมีขึ้นในสมัยรัฐบาลสมัยนายควง อภัยวงศ์ อันเนื่องมาจากความตกต่ำทางเศรษญกิจหลังสงครามโดยได้แสวงหาผลประโยชน์จากบ่อนการพนัน ด้วยการออกพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2482 จัดให้มีบ่อนคาสิโนขึ้นที่อําเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยอนุญาตให้เล่นการพนันตามบัญชี ก. มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้มีฐานะดี แต่กลับมีประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปเล่นได้

 


เหรียญที่ใช้ในสถานกาซิโน ออกโดยกระทรวงการคลัง
ที่มา : เมืองไทยเคยตั้งคาสิโนแล้วผลเป็นดังนี้

 

สถานคาสิโนที่รัฐบาลเปิดให้เล่นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2488 และรัฐบาลของนายควง มีการผลิตเหรียญนี้ขึ้นเพื่อใช้แทนชิพ มีจำนวนทั้งหมด 4 ราคา คือ 1, 10, 20 และ 100 ที่ขอบเหรียญมีการตอกเลข ระบุหมายเลขของเหรียญนั้นๆไว้ เหรียญดังกล่าวนี้ เป็นเนื้อนิเกิล ผลิตจากประเทศอังกฤษ ว่ากันว่า มีการเปิดบ่อนในยุคได้เพียงเเค่ 4 เดือน ประชาชนเล่นการพนันกันมากและพบว่ามีข้อเสียต่อชีวิตของประชาชนส่งผลให้ต่อมาทางการจึงสั่งปิดบ่อนคาสิโนดังกล่าว ในวันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2488

 

หลักการก่อตั้ง “สถานกาซิโน” สมัยคณะราษฎร ทศวรรษ 2480 จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์

 


พระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478
ที่มา : ราชกิจจานุเบกษา

 

หลังจากหมดสมัยรัฐบาลของพระยาพหลพลหยุหเสนา และการเลือกตั้งทั่วไปได้มีการจัดตั้งใหม่ โดยนายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมด้วย และมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม 2481 ได้มีการแถลงนโยบายการคลังสำคัญคือ จัดระบบภาษีให้มีความเป็นธรรมโดยยกเลิกเงินรัชชูปการและนโยบายที่จะจัดตั้งธนาคารชาติขึ้น

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กล่าวว่า

“เลิกรัชชูปการนั้นไม่มีปัญหา ปัญหาที่เถียงกันอยู่นี้ว่าจะเอาเงินจากไหนมาชดเชย”

โดยทางคณะรัฐมนตรีได้มีการเสนอให้ขึ้นภาษีสินค้าขาเข้า เก็บจังกอบการศึกษา ภาษีมหรศพ ค่าธรรมเนียมต่างด้าวเข้าเมือง และเสนอเรื่องภาษีพะนัน รวมถึงการก่อตั้งสถานกาซิโน (casino) โดยขุนสมาหารหิตะคดี และนายควง อภัยวงศ์

 

รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม 2481

ขุนสมาหารหิตะคดี : ปัญหาอยู่ในเรื่องการหาเงินชดเชย ข้าพเจ้ามีความเห็นอยู่อย่างหนึ่ง แต่เชื่อว่า นายพันตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัสจะไม่ชอบ เป็นปัญหาที่ง่าย หลักแรกคือจะควรมีการพะนันหรือไม่ เราไม่เลิกการพะนัน แต่เหตุไรไม่เอาผลจากการพะนัน วิธีของข้าพเจ้าเอาเงิน[พะนัน]จากคนจีน กล่าวคือ อนุญาตให้เล่นการพะนันแถวชายแดน และอนุญาตเฉพาะชาวต่างประเทศ ถ้าใครเล่นการพะนันโดยมิได้รับอนุญาตจะลงโทษจำคุกทีเดียว ทั้งนี้จะมีผู้เห็นด้วยหรือไม่ก็แล้วแต่จะพิจารณา

หลวงประดิษฐมนูธรรม : เรื่องเกี่ยวกับการพะนันนี้ เจ้าพระยายมราช [อดีตเสนาบดีคลังสมัยก่อน 2475] เคยเล่าให้ฟังว่า ได้เอาตัวเลขโพยก๊วนมาตรวจดู เมื่อครั้งมีบ่อน เงินส่งไปเมืองจีนน้อย ครั้นเลิกบ่อนแล้วเงินส่งไปเมืองจีนมาก [คือปรีดีเสนอว่า เมื่ออนุญาตให้มีการพะนัน เงินคนจีนก็ไม่รั่วไหลกลับประเทศจีน แต่อยู่ในสยามเอง]

หลวงโกวิทอภัยวงศ์ : ข้าพเจ้าเห็นว่าควรตั้ง casino ตามชายแดนทีเดียว

หลวงประดิษฐมนูธรรม : เมื่อเลิกรัชชูปการก็มีปัญหาในเรื่องหาเงินชดเชย เราจะหาภาษีทางอ้อมบ้าง หาจาก[ค่าธรรมเนียมเข้าประเทศของ]คนต่างด้าวบ้าง หาจากจังกอบการศึกษาบ้าง ส่วนความเห็นที่ขุนสมาหารหิตะคดีเสนอ ข้าพเจ้าก็ไม่คัดค้าน แต่ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยดูก่อน

 

ต่อมาในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม 2481 (นับตามปฏิทินเก่า) หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้เสนอบันทึกเรื่องการปรับปรุงภาษีอากร โดยให้มีการยกเลิกรัชชูปการและอากรค่านาอันจะส่งผลให้รายได้ของรัฐบาลลดลงปีละกว่า 12 ล้านบาท และได้เสนอให้มีการจัดทำประมวลรัษฎากร (Revenue Code) ขึ้นเป็นครั้งแรกด้วยจึงนำมาสู่ข้อเสนอการก่อตั้ง “สถานกาซิโน” ขึ้นโดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ว่าผู้ที่จะเข้าไปได้จะต้องเสียค่าธรรมเนียม ดังนี้ คือ คนต่างด้าวเสียค่าธรรมเนียมต่อวัน คนละ 20 บาท ถ้าเป็นคนสยามวันละ 2 บาท โดยระบุสถานที่ตั้งกาซิโนอาทิ หัวหิน ลพบุรี พิษณุโลก หนองคาย และเบตงโดยมีกำหนดเปิดทำการคร่าว ๆ ในฤดูเทศกาลเป็นครั้งคราว และมีการเสนอความคิดเห็นบางประการไว้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2481 ดังนี้

หลวงอดุลเดชจรัส :  พระราชกฤษฎีกานี้อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ถ้าจะตั้งสถานกาซิโนที่ใด ขอได้ปรึกษากระทรวงมหาดไทยด้วย เพราะเกี่ยวกับกำลังตำรวจ

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม : จะตั้งที่ไหนจะได้ปรึกษากับกรมตำรวจ

กระทั่งในเ้ดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2482 ได้มีการทดลองเปิดสถานกาซิโนของรัฐบาลขึ้นที่หัวหินเป็นเวลา 2 วัน หากไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจจึงมีการแก้ไขกฎกระทรวงในการประชุมคณะรัฐมนตรีเวลาต่อมา

 

รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ วันจันทร์ที่  15 พฤษภาคม 2482

นายดิเรก ชัยนาม ในฐานะเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้นำเสนอหนังสือชี้แจงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเริ่มต้นดังนี้

“ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีถึงการหารายได้มาชดเชยภาษีอากรที่ได้ยกเลิกนั้น มีอยู่รายการหนึ่งคือสถานกาซิโนของรัฐบาล ซึ่งได้กำหนดไว้ว่าควรจะมีรายได้ปีหนึ่งราว 3,000,000 บาท และงบประมาณซึ่งได้ประกาศใช้แล้วนั้นก็ได้อาศัยการคำนวนตามนี้ด้วย แม้ว่าสถานกาซิโนของรัฐบาลจะเป็นสถานการพะนัน แต่ก็ได้ระมัดระวังมิให้ผู้ซึ่งมีรายได้น้อยเข้ามาในสถานที่นี้ เว้นแต่คนต่างด้าว และเมื่อพูดกันถึงความจริงแล้ว จำนวนผู้ที่ลักลอบเล่นการพะนันมีอยู่มากมาย แม้แต่การเล่นไพ่...กระทรวงการคลังได้ทดลองเปิดสถานกาซิโนของรัฐบาล ณ กิ่งอำเภอหัวหิน อำเภอปรานบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๓-๔ พฤษภาคมนี้ และรู้สึกว่าการทีได้ทดลองกระทำนั้นยังไม่ได้ผลสมความมุ่งหมายเต็มที่ ทั้งนี้ก็เพราะกฎกระทรวง ประกาศ และ ระเบียบการ ซึ่งได้กระทำไปนั้นยังไม่บริบูรณ์ สมควรที่จะได้แก้ไขเสียใหม่...

อนึ่ง สถานที่ซึ่งกระทรวงการคลังเห็นว่าควรจะเปิดต่อไปนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เคยปรึกษาหารืออธิบดีกรมตำรวจเป็นส่วนตัวว่า ควรที่จะจัดให้มีดังต่อไปนี้ (1) หัวหิน (2) เชียงรายหรือเชียงแสน (3) หนองคาย (4) นครพนม (5) มุกดาหาร (6) อุบลราชธานี (7) คลองใหญ่หรือตราด (8) สงขลาหรือหาดใหญ่ (9) ภูเก็ด (10) เบตง และ (11) สุไหงโกล๊ก”

 

หลวงประดิษฐมนูธรรม : สถานกาซิโนนั้น ได้ทดลองเปิดดูแล้ว ผลที่ได้ไม่เต็มที่ บางคนยังมีความกระดากอยู่ เท่าที่ได้ทำไปแล้ว ทำไปในแง่กฎหมายมากเกินไป ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องนี้ไหนๆก็ได้เสนอรัฐบาลมาแล้ว จึ่งเห็นว่า ควรแก้ไขเสียใหม่ดั่งที่เสนอมา

นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม : ข้าพเจ้าไม่ขัดข้องประการใด แต่ที่หัวหินไม่อยากให้มีสถานกาซิโน เพราะเกรงว่าคนจะไม่ไปเที่ยวหัวหิน โดยเกรงว่าจะถูกหาว่าไปสถานกาซิโน

หลวงประดิษฐมนูธรรม : ที่หัวหินนั้น ต้องการทำเป็น weekend โดยจัดให้มีรถพิเศษ

นายตั้ว ลพานุกรม : ตั้งที่หัวหิน ไม่ได้ผล ตอนท้ายคนจะกลัวไม่ไปหัวหิน ส่วนคนที่สมัครเล่น ก็เล่นที่บ้านพักเสียมากกว่า

นาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย : เรื่องนี้ยังใหม่อยู่ ควรลองดูสัก 1 ปี

พันตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส : ตามที่กระทรวงการคลังเสนอมา สถานที่ตั้งเป็นชายแดนทั้งนั้น เว้นแต่หัวหิน ถ้าถือว่าเป็นการทดลอง จะใช้ที่หัวหินไปก่อนก็ได้ แต่ถ้าพูดถึงใจข้าพเจ้า ไม่อยากให้มีสถานกาซิดนในภาคกลาง

นายพันเอก หลวงพรหมโยธี : ถ้าจะบอกว่าเป็นโรงบ่อน ก็ควรทำเป็นรูปโรงบ่อน การไปตั้งเก็บค่าผ่านประตู เกรงว่าจะไม่มีใครเข้าไป เพราะตามชายแดนของเขาเปิดให้เล่นฟรี

หลวงประดิษฐมนูธรรม : ค่าผ่านประตูสำหรับคนไทย เป็นจริงอย่างนายพันเอกหลวงพรหมโยธี กล่าว แต่เรื่องนี้ เราประสงค์จะล่อคนต่างด้าว

นายพันเอก หลวงพรหมโยธี : ควรมีสถานคาซีโน อย่างสถานคาซีโนชายทะเล

หลวงวิจิตรวาทการ : ความคิดอย่างนายพันเอกหลวงพรหมโยธี ว่าถูกแล้ว ควรทำเป็นสถานคาซีโนอย่างแท้จริง แต่จะต้องใช้เงินมาก ในชั้นนี้ ควรจะทำดั่งนี้ (1) คนที่จะเข้าไปในสถานคาซีโน (ก) เข้าไปดู ควรเก็บ 1 บาท (ข) เข้าไปเล่น ควรเก็บ ๑๐ บาท คนที่เข้าไปดู เกิดกระหายจะเล่น ก็ไปซื้อตั๋วเข้าเล่นได้ (2) ชะนิดของการเล่น ควรแบ่งออกเป็น 2 อย่าง (ก) การเล่นที่ต้องมีเจ้ามือ (ข) การเล่นที่คนเล่นๆกันเอง เราจัดโต๊ะไว้ให้ แล้วเก็บเงินค่าโต๊ะ คนไปเล่นจะเล่นอะไรก็ได้ เช่น บริดจ์ ไพ่ตอง โป๊กเกอร์

นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม : เรื่องนี้ได้ทำมาแล้ว ก็ต้องทำต่อไป แต่ขอให้ออกไปชายแดน เพื่อจะได้ ไม่มีใครว่า

นายพันเอก หลวงเสรีเริงฤทธิ์ : ถ้าตั้งที่หาดใหญ่แล้ว ที่หัวหินก็ไม่จำเป็น

หลวงประดิษฐมนูธรรม : เมื่อรู้ความประสงค์อย่างนี้แล้ว ก็จะได้ไปทำมาใหม่ ส่วนที่หัวหินนั้น จะได้ปรึกษาอธิบดีกรมรถไฟดูก่อน

นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม : ขอให้เริ่มทางใต้ก่อน

หลวงประดิษฐมนูธรรม : ข้าพเจ้าขอรับไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่งก่อน นโยบายจะดำเนินทางใต้ก่อน และจะได้แก้พระราชกฤษฎีกาให้งดงาม ไม่ต้องออกกฏกระทรวงกันบ่อย ๆ

บทสรุปในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนี้คือ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรับเรื่องการก่อตั้งสถานกาซิโนไปพิจารณาอีกครั้ง

กระทั่งในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2488 ได้เกิดเหตุภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจตกต่ำระหว่างสงครามทำให้รัฐบาลของนายควงจึงได้รื้อฟื้นพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ออกมาใช้บังคับและจัดตั้งสถานกาซิโนขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม พ.ศ. 2488 ประมาณ 4 เดือน ในกรุงเทพ โดยรัฐมีรายได้จากสถานกาซิโนประมาณ 13 ล้านบาท และมีรายได้รวมจากสถานกาซิโนทั้งประเทศ ประมาณ 24 ล้านบาท แต่ต่อมาสถานกาซิโนดังกล่าวก็ได้ปิดตัวลงด้วยเหตุผลสำคัญคือส่งผลด้านลบต่อชีวิตของพลเมืองสยามในยุคนั้น

 

 

ที่มาของภาพประกอบ : สถาบันปรีดี พนมยงค์, ราชกิจจานุเบกษา, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และวิกิพีเดีย

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขระ การสะกดคำ และการเว้นวรรคตามต้นฉบับ

 

บรรณานุกรม :

หนังสือ งานวิจัย และวิทยานิพนธ์ :

  • กองบรรณาธิการ โพสต์ทูเดย์, (8 พฤษภาคม 2567), TDRI เปิด 3 รูปแบบ ข้อดี ข้อเสีย คาสิโนถูกกฎหมายในไทย, สืบค้นได้ที่เว็บไซต์:   https://www.posttoday.com/columnist/708696
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, ตำนานการเลิกอากรบ่อนเบี้ยและหวย ใน นายปุ๊ ประไพลักษณ์ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางหุ่น ประไพลักษณ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 16 มีนาคม 2500
  • ฐานเศรษฐกิจ, (16 ม.ค. 2566), “อนุสรณ์ ธรรมใจ” วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสียบ่อนคาสิโนถูกกฎหมายในไทย, สืบค้นได้ที่เว็บไซต์:   https://www.thansettakij.com/news/general-news/553126
  • พระราชบัญญัติการพะนัน พุทธศักราช 2473 (พระนคร : กรุงเทพบรรณาคาร, 2473)
  • ไพศาล ลิ้มสถิต. (2556). บทวิเคราะห์ปัญหาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478. เอกสารประกอบการประชุมชิงปฏิบัติการเรื่อง “ทิศทางการขบเคลื่อนเรื่องพนันในภาคเหนือ” 30 เมษายน 2556, เชียงใหม่
  • เล้ง ศรีสมวงศ์, อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายเล้ง ศรีสมวงศ์ (กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2524)
  • ภิเษกศักดิ์ ศักดิ์สมบูรณ์. มุมมองของภาคส่วนทางสังคมต่อการเปิดคาสิโนอย่างถูกกฎหมายในประเทศไทย. รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2566.
  • สฤษดิ์ ศรีโยธิน. สถานะแห่งบ่อนการพนันในสังคมไทย : กรณีศึกษาบ่อนคาสิโน. สังคมสงเคราะห์ศาสตรดุษฎีบัณฑิต (การบริหารสังคม). คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553.
  • เสถียร วิชัยลักษณ์. พระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 พร้อมด้วยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยเงื่อนไขการพนันและกฎกระทรวง ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนันและตามความในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงื่อนไขการพนัน (พระนคร: นีติเวชช์, 2503)
  • อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. (12 มิถุนายน 2565). วงพนัน : กลอุบายของการประชุมผู้ก่อการ 2475, สืบค้นได้ที่เว็บไซต์ : https://pridi.or.th/th/content/2022/06/1133