ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วันนี้ในอดีต

ถวิล อุดล อุดมคติเพื่อราษฎรในปฏิบัติการเสรีไทย

3
พฤศจิกายน
2567

Focus

  • บทความนี้เสนอในวาระ 115 ปี ชาตกาลของนายถวิล อุดล นักการเมือง สส. จ.ร้อยเอ็ด หลายสมัย และเสรีไทยผู้ส่งสารสำคัญไปยังจีนโดยได้รับมอบหมายจากนายปรีดี พนมยงค์ บทความนี้ พล.อ.เนตร เขมะโยธิน เสนอในรูปแบบงานสารคดีเชิงนวนิยายประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเสรีไทยโดยชี้ให้เห็นบทบาทของนายถวิล และผลงานสำคัญคือ ปฏิบัติการด้านเสรีไทยของนายถวิลในช่วงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพาซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเดินทางไปติดต่อยังประเทศจีนที่เกี่ยวข้องกับนายปรีดี และเสรีไทยคนอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่งโดยแง่มุมปฏิบัติการเสรีไทยในจีนของนายถวิลมีการรับรู้ค่อนข้างน้อย 

 


นายถวิล อุดล (3 พฤศจิกายน 2452 - 4 มีนาคม 2492)

 

บาทหลวงต็องกับลูกศิษย์คนหนึ่ง ซึ่งเดินทางไปส่งเสรีไทย ๔ คนที่ชายแดนไทย กลับมาถึงกองบัญชาการเสรีไทยที่เมืองซือเหมา ท่ามกลางการต้อนรับและความปีติยินดีของบรรดาผู้ที่คอยอยู่ที่นั่น ประโยคแรกที่บาทหลวงต็องกล่าวขึ้นในขณะที่ทุกคนวิ่งไปต้อนรับก็คือ

ได้ข่าวจากพวกเราหรือยัง ?

เมื่อนิคอล สมิธ แจ้งข่าวดีให้ทราบ บาทหลวงดีใจมากทีเดียว

ผมเป็นห่วงพวกเราเหลือเกิน” บาทหลวงกล่าวต่อไป ขณะที่ถูกนําเข้าไปในห้อง บาทหลวงมีท่าทางอ่อนเพลียมาก

พวกเราได้ทราบข่าวการเจ็บป่วยของท่านแล้ว” นิคอล สมิธ กล่าวขึ้น

“เราเป็นไข้มาเลเรียกันทุกคน” บาทหลวงพูด

“แซมมี่” เป็นบิดด้วย ต้องกินยา ซัลฟากัวนาคืนถึง ๖๗ เม็ด ผมเองก็เป็นโรคเหน็บชาเข้าอีก ถึงต้องดึงเล็บเท้าออก

เราแปลกใจมากที่มีหน่วยลาดตระเวนของญี่ปุ่นออกมาตรวจตามชายแดนไกลเหลือเกิน” นิคอล สมิธ กล่าวสืบไป

 

“ความจริงไม่ใช่ญี่ปุ่นหรอก แต่เป็นหน่วยลาดตระเวนของไทยซึ่งมีญี่ปุ่นไปด้วย” บาทหลวงอธิบาย

“เพราะฉะนั้น เราจึงไม่สามารถใช้เส้นทางตอนแหลมยื่นเข้าไปในประเทศพม่าได้ ต้องเดินอ้อมลงไปทางตอนใต้ของมณฑลยูนาน แล้วจึงเข้าไปในประเทศอินโดจีน เราเดินทางกันถึง ๒๔ วัน แต่ก็ยังไม่พ้นดินแดนประเทศจีน”

“ท่านคงพบอุปสรรคมากมาย” เอกชัยซึ่งเพิ่งกลับมาถึงซื้อเหมาพร้อมกับ “ดิ๊ก” เอ่ยขึ้นบ้าง

“ที่เล่ามาแล้วเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ในระหว่างการเดินทางตอนแรกปืนกลเกิดตกหาย” กว่าเราจะรู้ก็ตอนค่ำ รุ่งขึ้นต้องเดินทางย้อนมาหาอีกตลอดทั้งวัน แต่ก็ไม่พบ หลังจากนั้นเล็กน้อย ม้าต่างเกิดพยศขึ้นมา เตะหม้อข้าวและมุ่งที่เรากางนอนเสียหายหมด

“พระเจ้าช่วย!” “นิ๊ค” ร้องขึ้น “ถ้ายังงั้นท่านก็ต้องนอนโดยไม่มีมุ้งละซี”

“ถูกแล้ว เป็นเรื่องไม่สนุกเลย ยิ่งกว่านั้น เมื่อเราเดินทางถึงแม่น้ำหรือลําห้วยก็ต้องหยุด เพื่อต่อแพไม้ไผ่ข้ามไป ต้องขนสัมภาระลงบรรทุกแพ ส่วนม้าต่างและล่อก็ให้ว่ายข้าม มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะที่ม้าของบันนี่ กําลังลงจากตลิ่งว่ายข้ามน้ำ เกิดตื่นขึ้นมาอย่างไรไม่ทราบเกือบจมน้ำตาย เดชะบุญ “บันนี่” คว้าแผงคอม้าไว้ทันแล้วพาขึ้นตลิ่งไปได้”

“เจ้าม้าตัวนั้นคงจะขอบใจมาก” วิคเตอร์ พูด

“เป็นเรื่องน่าขันพอใช้ เพราะหลังจากนั้น เจ้าม้าตัวนั้นก็เรียบร้อยขึ้น ก่อความยุ่งยาก ให้แก่เราน้อยกว่าตัวอื่น ๆ ทางที่เราไปลื่นมากเพราะเป็นทางบนภูเขา ม้าตกไปข้างทางบ่อย ๆ ต้องลากกันขึ้นมา แล้วจึงเดินทางต่อไปได้” บาทหลวงเล่าต่อไป พลางจิบกาแฟร้อนที่มีผู้นํามาให้

“อย่างไรก็ดี ต่อมาพวกม้าต่างก็เดินกันไปเรียบร้อยดี แต่ก่อนที่จะเป็นเช่นนั้น เราต้องเอาฝุ่นคลุกกับข้าวเปลือกให้มากินเพิ่มขึ้นกว่าที่เคยให้อีกเท่าตัว เพื่อให้มันกระปรี้กระเปร่าขึ้น “ท่านพบกับพวกเจ้าหน้าที่บ้างไหม ?” วิคเตอร์ถาม

“พบซี” บาทหลวงต้องตอบ “เฉพาะอย่างยิ่งในอินโดจีน ที่เมืองสิงห์ เราเกือบจะเอาตัวไม่รอด วันนั้นบ่ายมากแล้ว เมื่อเราหยุดพัก ผมกําลังไปอาบน้ำ ปล่อยให้หนุ่ม ๆ ๔ คน กับลูกศิษย์ของผมจัดข้าวของที่นําไปขาย ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งซึ่งนึกว่าตนเองมีความสําคัญมากและเป็นคนสอดรู้สอดเห็น ได้มาพบ “เพา” กับ “พีท”

แล้วชี้ไปที่ตะกร้าซึ่งเราซ่อนเครื่องวิทยุไว้ถามว่า “นั่นอะไร ? พวกเราสองคนนั้นตอบว่า “ให้คอยถามคนแก่ (คือตัว บาทหลวง) ทั้งนี้เพราะเราได้นัดหมายกันไว้แล้วให้ตอบเช่นนั้น” เมื่อมีใครมาถาม

“ผมกลับมาถึงพอดีขณะที่เจ้าผู้ใหญ่บ้านคนนั้นกําลังรุกเร้าที่จะขอตรวจดูให้ได้”

“ข้าพเจ้าทํางานกับรัฐบาลฝรั่งเศส กําลังจะนําของเหล่านี้ไปส่งให้ที่ค่ายทหาร” ผมบอกเขาอย่างใจเย็น เพราะรู้ว่าบรรดาผู้ใหญ่บ้านเหล่านั้นได้รับคําสั่งให้รายงานการเคลื่อนไหวของบุคคลต่าง ๆ ที่ผ่านหมู่บ้านละแวกนั้น แล้วผมก็พูดต่อไปว่า

“ท่านคงจะต้องรายงานให้ ฝรั่งเศสทราบว่าพวกเรามาที่นี่ แม้ว่าที่กองบัญชาการฝรั่งเศสจะรู้จักข้าพเจ้าดีอยู่แล้ว คําสั่ง อย่างนี้บัดซบสิ้นดี เพราะว่าท่านจะต้องใช้เวลาถึง ๔ วัน คือเดินทางไป ๒ วัน และกลับอีก ๒ วัน แต่ท่านก็ต้องปฏิบัติตาม”

“แล้วผู้ใหญ่บ้านคนนั้นไปรายงานเรื่องของพวกท่านหรือเปล่า ?” วิคเตอร์ถาม

“เปล่า” บาทหลวงตอบ เขาให้เหตุผลว่า จะต้องเสียเวลา ๔ วันจะต้องรายงาน ทําไม ในเมื่อเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสทราบอยู่แล้ว เขาเห็นด้วยกับผมแล้วก็เดินจากไปโดยไม่ได้ถามอีกว่าในตะกร้านั้นมีอะไรบรรจุอยู่

“เรื่องการหลบหนีพวกหน่วยลาดตระเวน และเจ้าหน้าที่ตามชายแดน ยังลําบากน้อย กว่าการหาเสบียงอาหาร” บาทหลวงต้องเล่าต่อไปอีก

“เมื่อเราเข้าไปในดินแดนอินโดจีนแล้ว ธนบัตรเปียสไม่มีค่าเลย เพราะซื้อของได้เฉพาะตามเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น ในป่าใช้ไม่ได้ ตามเส้นทางที่เราผ่านไปนั้น ห่างไกลจากบ้านเมืองมาก การซื้อของจากชาวบ้านไม่มีใครเคยใช้ ทองคํา ฉะนั้น เราจึงต้องอาศัยใช้หยูกยา, เข็มเย็บผ้า, เข็มหมุด แลกเปลี่ยนกับอาหาร นอกจากนั้นก็อาศัยพวกญาติพี่น้องของลูกศิษย์ของผมที่ตามไปด้วยช่วยเหลือ”

“ผมเพิ่งทราบเดี๋ยวนี้เองว่า ลูกศิษย์ของท่านมีญาติอยู่แถวนั้น” นิคอล สมิธ พูดขึ้นอย่างประหลาดใจ

“ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกัน” บาทหลวงตอบ “แต่เขาก็ไปพบกันที่นั่น เพราะคนแถบนั้นเมื่อสอบถามกันพอเขามีครอบครัวและเผ่าพันธุ์ที่นับถือเป็นญาติพี่น้องกันมาช้านานสมควรแล้ว ก็นับถือว่าเป็นพวกเดียวกัน”

“แต่ถึงอย่างไรก็ดี ทองคําก็มีประโยชน์มากในท้องถิ่นที่มีการค้าฝิ่น” บาทหลวงต้อง เล่าต่อไป

“ในราวปลายเดือนมิถุนายน เราก็เดินทางไปถึงหมู่บ้านเย็น ที่นั่นเราพบพี่น้องซึ่งร่ำรวยจากการค้าของเถื่อนกับพวกลักลอบหนีภาษีจากเมืองจีนของเราขอแลกกับเหรียญเงินของอินโดจีน

เราจึงเอาทองคําก่อนที่จะยอมให้แลกเขาทดลองเอาน้ำกรดราดบนแท่งทองของเราเสียก่อน เจ้า ๔ คนนั้นดีใจมากเมื่อพบว่าเนื้อทองคําเราบริสุทธิ์กว่าแหวนทองที่เขาสวมอยู่เสียอีก เลยยอมแลกเปลี่ยนกับเราในอัตรา ๕๐ เหรียญอินโดจีน กับทองของเราหนึ่งแท่งด้วยประการดังนี้ การซื้อหาเสบียงอาหารของเราก็สะดวกขึ้น

“วันที่ ๑ กรกฎาคม เราเดินทางถึงบ้านโฮปิง” บาทหลวงเล่าต่อ

“เราก็จัดแจงตั้ง เครื่องวิทยุเพื่อติดต่อกับท่าน เพราะที่นั่นเหมาะดีเหลือเกิน พวกผู้ชายออกไปทํานากันหมด พวกผู้หญิงก็ทํางานนอกบ้าน เหลือแต่เด็ก ๆ วิ่งเล่นกันอยู่ “บันนี่” กับ “เพา” จึงตั้งเครื่องวิทยุในบ้านหลังหนึ่ง แต่เราพยายามติดต่ออยู่เกือบสองชั่วโมงก็ไม่ได้ผล ในวันที่ ๓ เราพยายาม อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ได้ยินเสียงแผ่ว ๆ ครู่หนึ่งก็เงียบไป ต่อจากนั้นก็ไม่ได้ยินอีกเลย แม้ว่าเราจะพยายามติดต่ออีกหลายครั้ง

“คงจะท้อใจกันมากนะครับ ?”  “นิ๊ค” พูดขึ้น

ถูกแล้ว เราทุกคนชักท้อใจ ความยากลําบากต่าง ๆ ทําให้เรารู้สึกเหน็ดเหนื่อยมาก เราต้องเดินทางวกไปเวียนมาตลอดเวลาเพื่อหลบหลีกพวกญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส และชาวพื้นเมืองที่มิได้เป็นมิตรกับเรา เราต้องต่อสู้กับภาวการณ์เช่นนั้นวันแล้ววันเล่า จนวันกลายเป็นสัปดาห์ สัปดาห์กลายเป็นเดือน ในที่สุดเราก็บรรลุถึงพรมแดนประเทศไทย ในเมื่อผมลาพวกเรา ๔ คนที่พรมแดนเพื่อจากมานั้น พวกเราทุกคนอยู่ในลักษณะเหมือนกับคนที่กําลังรอความตายมากกว่าจะมีชีวิต”

บรรยากาศในกองบัญชาการเสรีไทยที่ซือเหมาคึกคักและกระปรี้กระเปร่าขึ้น ทุกคนชื่นบานและยิ้มแจ่มใสเพราะงานที่มุ่งมาดปรารถนาถึงกับยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งชีวิตได้ลุล่วงไปแล้วขั้นหนึ่ง บัดนี้การติดต่อส่งข่าวคราวต่าง ๆ ระหว่างกรุงเทพฯ กับซือเหมา กระทําได้อย่างราบรื่นและสม่ําเสมอวันละ ๕ ครั้ง จากซื้อเหมาข่าวเหล่านั้นก็ส่งต่อไป ยังคนมิ่ง เมืองหลวงของยูนาน, แคนดีในเกาะลังกา และหน่วย ๑๐๑ ของ O.S.S. ใน ประเทศพม่า ภายในหนึ่งชั่วโมงข่าวภายในประเทศไทยก็กระจายไปถึงนครหลวงของประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร คือเมือง เดลี-จุงกิง-แคนดี-วอชิงตัน และลอนดอนได้อย่างรวดเร็ว ความมืดมนของเหตุการณ์ภายในประเทศไทยได้ปลาสนาการไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว

ในวันที่ ๒ ตุลาคมคือหลังจากการติดต่อกันได้เพียง ๒ วัน “เพา” ก็ได้ส่งข่าว บอกที่หมายสําคัญทางทหารหลายแห่งที่ขอให้สัมพันธมิตรส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิด การเคลื่อนกําลังและชื่อของหน่วยทหารญี่ปุ่นภายในประเทศไทย ถูกส่งไปให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบตลอดเวลา แม้กระทั่งรายงานอากาศในประเทศไทย

“เพา” ได้แจ้งนามบุคคลสําคัญหมายเลข ๒ ของขบวนการใต้ดินภายในประเทศไทยมาให้ทราบ คือ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ซึ่งมีฉายา (ทางด้านอเมริกัน) ว่า “เบ็ตตี้” แต่ต่อมาอีกหนึ่งสัปดาห์ “เพา” จึงแจ้งนามบุคคลสําคัญหมายเลข ๑ หรือหัวหน้าใหญ่ของขบวนการนั้นมาให้ทราบ บุคคลผู้นั้นคือ บุรุษผู้มีอายุ ๔๔ ปี นายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทย นายปรีดี พนมยงค์ เป็นญาติทางภรรยากับอาโนลท์ (อานนท์ ณ ป้อมเพชร) ที่เป็นเสรีไทยผู้หนึ่ง ซึ่งอยู่ที่เมืองซือเหมาในขณะนั้น

เมื่อการส่งเสรีไทยเข้าไปภายในประเทศสําเร็จลุล่วงไปด้วยดีดังกล่าวข้างต้น นิคอล สมิธก็ระลึกถึงคํามั่นสัญญาของตนที่เคยให้ไว้กับ นายพลเชลโนลท์ ผู้อุปการะให้เสรีไทยโดยสารเครื่องบินจากคุนมิงมาซือเหมาขึ้นมาได้ นิคอล สมิธ จึงบินไปพบกับนายพล เชลโนลท์ที่เมืองคุนมิง

“ขอแสดงความยินดีด้วย, นิคอล” นายพลเชลโนลท์กล่าวขึ้น เมื่อนิคอล สมิธ ไปพบ ผมได้ทราบข่าวว่าคุณได้ส่งคนของคุณเข้าไปอยู่ในกรุงเทพ ฯ สําเร็จแล้ว”

“๔ คนครับ” นิคอลตอบ เขาเหล่านั้นส่งวิทยุตรงมายังเราจากกรมตํารวจ

“จากกรมตํารวจ ไม่น่าเชื่อเลย !” นายพลร้องขึ้น

“ครับ เป็นความจริงเช่นนั้น” นิคอลกล่าวสืบไป นิคอลกล่าวสืบไป “เรามีสิ่งที่พิสูจน์ได้แน่นอนว่า เวลานี้ได้มีขบวนการต่อต้านขึ้นในประเทศไทยอย่างจริงจังแล้ว และหัวหน้าคนหนึ่งของขบวนการนี้คืออธิบดีตํารวจของไทย เขาผู้นั้นได้ส่งข่าวมาให้เราโดยตรงจากที่ทําการตํารวจสันติบาล นายพล เชลโนลท์ ยิ้มออกมาได้ แล้วลุกขึ้นมาจับมือของนิคอล สมิธ บีบไว้แน่น

“นี่เป็นข่าวดี, นิคอล” เขาพูด “ทีนี้ถึงคราวที่ผมจะขอความช่วยเหลือจากคุณบ้างละ” เชลโนลท์เดินตรงไปที่แผนที่ขนาดใหญ่ ซึ่งติดอยู่ที่กําแพงห้อง แล้วชี้ไปที่จุดหนึ่งบนแผนที่ ในดินแดนประเทศไทยใกล้พรมแดนพม่า แล้วกล่าวว่า

“ประมาณ ๓ ปีมาแล้ว บิลแม็คการี่ นักบินขับไล่ฝีมือดีคนหนึ่งของผม ถูกยิงตกในบริเวณนี้ นักบินที่ไปด้วยกันเห็นเครื่องบินของเขาดิ่งลงไปยังพื้นดิน เข้าใจว่าบิลคงยังไม่ตาย ถ้ายังมีชีวิตอยู่จริงก็คงตกเป็นเชลย คนของคุณจะส่งข่าวเรื่องนี้ให้ผมทราบได้หรือไม่ ?”

เรื่องนักบินที่นายพลเชลโนลท์ต้องการทราบนี้ นิคอล สมิธ ได้บอกไปทางกองบัญชาการที่เมืองซือเหมาเมื่อเวลา ๑๘.๐๐ น. วันนั้น ครั้นแล้วก็ส่งต่อไปยังกรุงเทพฯ เมื่อ ๒๒.๐๐ น. วันเดียวกัน

๔ วันต่อมาก็ได้รับคําตอบว่า บิลแม็คการี่ยังมีชีวิตอยู่ และถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายกักกันเชลยศึกในกรุงเทพฯ ซึ่งมีทหารไทยรักษาการณ์ในความดูแลของทหารญี่ปุ่น นักบินอเมริกันผู้นี้ถูกยิงตกที่เชียงใหม่ในตอนต้นสงคราม แล้วถูกส่งตัวมาควบคุมไว้ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๕ นายพล เชลโนลท์ดีใจมากเมื่อทราบข่าวนี้ และได้พูดกับนิคอล สมิธว่า

“โปรดให้คนของคุณถามแม็คการี่ว่า ถ้าเรามีทางจะช่วยเหลือให้เขาหนีออกมาได้ เขาต้องการจะออกมาหรือไม่ ?”

อีก ๔ วันต่อมาก็ได้รับคําตอบว่า แม็คการี่อยากจะกลับออกมาเป็นอิสระอีก ต่อจากนั้นเขาก็ได้รับคําแนะนําจาก “ผู้ใหญ่” ของเสรีไทยออกเพทุบายให้เขาทําเป็นป่วย มีอาการหนักแล้วแกล้งทําตาย ครั้นแล้วก็นําโลงเปล่าไปทําพิธีฝัง ต่อมาเสรีไทยก็พานักบินอเมริกันผู้นั้นหนีออกจากค่ายกักกันในเวลากลางคืนไปลงเรือยนต์ ณ ที่แห่งหนึ่ง แล่นไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ออกคลองบางกอกน้อย-คลองด่านไปขึ้นเครื่องบินทะเลแบบคาตาลีนา ซึ่งมารับในบริเวณอ่าวไทยไปประเทศอินเดีย ในที่สุดแม็กการี่ก็ขึ้นเครื่องบินไปรายงานตัวต่อนายพล เชลโนลท์ ณ เมืองคุนมิง

นี่คือพฤติการณ์ตอนหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงการช่วยเหลือร่วมมืออย่างจริงจังและได้ผลของขบวนการเสรีไทยภายในประเทศที่ทําให้เกิดความเชื่อถือ และไว้วางใจแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นอันมาก

นิคอล สมิธ คงอยู่ที่คุนมิง เพื่อช่วยงานของ O. S. S. ที่นั่นอีกหลายวัน ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม นิคอล สมิธ ได้รับข่าวจากกรุงเทพ ฯ ว่า “เคน” (การุณ เก่งระดมยิง) จะเดินทางกลับออกมาเมืองจีนอีก พร้อมกับผู้แทนของ “รู้ธ” เพื่อมาติดต่อกับรัฐบาลจีน

ท่านผู้อ่านคงจําได้ว่า “เค็น” กับ “เอียน” เป็นเสรีไทยรุ่นแรกที่ถูกส่งเข้าไปปฏิบัติงานในประเทศไทยพร้อมกับ “คารี่” กับ “ซอล” ซึ่งถูกตํารวจไทยยิงทิ้งที่จังหวัดลานช้างและ “ปอล” ซึ่งไปปฏิบัติงานโดยอิสระ

ครั้นวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน “วิคเตอร์” ก็วิทยุมาว่า “เค็น” กับผู้แทนของ “รู้ธ” เดินทางมาถึงเมืองซือเหมาแล้ว พ.ต. ดิ๊ก (จํารัส ฟอลเล็ต) ได้ร่วมเดินทางมาด้วย อีก ๔ วันต่อมาบุคคลทั้งสามซึ่งมี “เค็น” เป็นผู้นําก็โดยสารเครื่องบินมาถึงคนถึง เสรีไทยคนแรกที่เข้าปฏิบัติงานในกรุงเทพฯ และกลับออกมาได้

ทันทีที่บุคคลทั้งสามก้าวลงจากเครื่องบิน พ.อ. เดอซ์บูร์ หัวหน้าหน่วย 0.S.S. ประจําคุนมิงกับนิคอล สมิธ ก็รีบไปต้อนรับ สุภาพบุรุษไทยคนหนึ่งรูปร่างอ้วนเตี้ย ในชุดแฟลนเนลสีเทากับ “ดิ๊ก” ก้าวลงมา แต่ก่อนที่นิคอลจะเข้าไปถึงตัวอาคันตุกะผู้นั้นก็มีชาวจีน ๓ คนรีบวิ่งไปฉุดเขาไปขึ้นรถยนต์บรรทุกที่จอดคอยอยู่ที่สนามบิน

คนนั้นคือ นายถวิล อุดล ผู้แทนของ “รู้ธ” ที่ส่งมาติดต่อกับจีน “เค็น” บอกกับนิคอล สมิธ ขณะที่จับมือกัน “คนของไต๋หลีรีบพาตัวไปจุงกิง โดยไม่ยอมให้พบปะพูดจากับคนอเมริกันเลย”

เพราะเหตุใด ?” นิคอลถามขึ้น “เพราะจีนโกรธว่า เมื่อสงวน ตุลารักษ์ กับแดง คุณะดิลก ซึ่งเป็นผู้แทนของ “รู้ธ” มาเมืองจีนครั้งก่อน แล้วก็เดินทางไปสหรัฐอเมริกา ไม่กลับมาอีก นอกจากนั้นจีนยังบอกว่า เรามีการติดต่อโดยตรงกับเมืองไทยอยู่แล้ว จีนต้องการจะมีสายการติดต่อโดยตรงกับเมืองไทยบ้าง”

“คุณได้พูดจากับถวิล อุดล บนเครื่องบินหรือเปล่า ?” นิคอล สมิธ ถาม

“เปล่า” ถูกตอบ “แต่เขาแอบส่งข่าวที่เขียนบนซองบุหรี่มาให้ผม”

“มีข้อความว่าอย่างไร ?”

“ผมไม่ทราบ เพราะเป็นโค้ดลับขอให้เราส่งต่อไปยังสงวน ตุลารักษ์ ที่เมืองแคนดี ผมคิดว่าคงจะบอกสงวนไปว่า เขาถูกควบคุมในฐานะเป็นเชลยของจีน”

“ถ้าอย่างนั้นผมจะต้องไปพบเขาให้ได้” นิคอล สมิธ พูด พลางวิ่งไปที่รถยนต์บรรทุก ซึ่งคนจีนกําลังขนกระเป๋าเดินทางของถวิล อุดล ขึ้นรถบรรทุก ณ ที่นั้นมีนายพลจีน คนของไต๋หลียืนอยู่กับถวิล อุดล ด้วย

นายพลจีนแนะนําให้นิคอล สมิธ รู้จักกับถวิล อุดล แล้วก็ผลักถวิล อุดล ผู้แทน ขบวนการเสรีไทยขึ้นรถ ครั้นแล้วรถยนต์คันนั้นก็ติดเครื่องแล่นไปทันที นิคอล สมิธ ถึงกับตะลึงงัน

เมื่อไม่มีหนทางที่จะพูดจากันได้ นิคอล สมิธ กับคณะก็เดินทางกลับด้วยความหัวเสีย “คุณกับเอียน เข้าไปในกรุงเทพฯ ได้อย่างไร ?”

“เราสองคนเคราะห์ดีมาก” “เค็น” เล่า

“เราต้องระมัดระวังไม่ให้ใครรู้ว่าเรามีทองคําติดตัวไปด้วย ผมเอาทองคําของผมซ่อนในไม้เท้าซึ่งทําด้วยไม้ไผ่ และก็โชคดีที่ไม่มีใครหยิบดูเลย ที่จริงมันหนักมากทีเดียว พอหน่วยลาดตระเวนของไทยมาพบเราที่ชายแดน ผมก็โยนไม้เท้า อันนั้นเข้าไปในกองหญ้าข้างทาง แล้วจึงมาเก็บคืนภายหลัง

“เก่งมาก” นิคอล สมิธ ชมเชย

เอียน กับผมเคราะห์ดีมากที่ถูกตํารวจไทยของหลวงอดุลฯ จับที่ชายแดน “บันนี่” กับ “แซม” ก็เหมือนกัน พอเขาจับเราไปแล้ว ก็ส่งตัวไปกรุงเทพฯ ทันที

ความจริงการที่เสรีไทยเหล่านี้รอดชีวิตไปได้ก็เนื่องจาก พล.ต.อ. อดุล “เบ็ตตี้”  อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตํารวจ รองหัวหน้าใหญ่ของขบวนการเสรีไทยภายในประเทศ ได้ออกคําสั่งห้ามเด็ดขาดมิให้ตํารวจทําอันตรายแก่ ‘แนวที่ ๕’ ที่ตํารวจจับได้

ทั้งนี้เพราะได้บทเรียนจากการตายซึ่ง “คารี่” และ “ซอล” เคยประสบมาแล้ว มิฉะนั้นก็ไม่แน่ว่าบรรดาเสรีไทยที่ตํารวจจับนั้น จะมีชีวิตอยู่หรือไม่

ยิ่งกว่านั้น การดําเนินงาน “งานใต้ดิน” ของพล.ต.อ. อดุล “เบ็ตตี้” อดุลเดชจรัส ยังเป็นไปอย่างกว้างขวางและเป็นประโยชน์เป็นอันมาก ซึ่งท่านผู้อ่านจะได้ทราบต่อไป นิคอล สมิธ ถาม “เค็น” ต่อไปอีกว่า “ตําบลที่พวกเรารับส่งวิทยุนั้น ปลอดภัยดีหรือ ?”

“ปลอดภัยที่สุดเลยทีเดียว “เค็น” ตอบ “แม้แต่ในที่ทํางานของตํารวจที่เราถูกคุม ตัวอยู่ ก็มีบุคคลเพียง ๓ คนเท่านั้นที่ทราบว่า พวกเรามีเครื่องวิทยุ ถ้ามีใครกล้ำกรายเข้ามาใกล้เคียงกับห้องที่เราทํางานอยู่ ยามจะบอกให้เรารู้ล่วงหน้าทันที แล้วเราก็มีเวลาซุกซ่อนได้ทัน”

“เราประหลาดใจเหลือเกินว่า ทําอย่างไรข่าวเกี่ยวกับบิลแม็คการี่ จึงได้เรื่องราวรวดเร็ว เหลือเกิน ?” พ.อ. พ.อ. เดอซ์บูร์ ถามขึ้นบ้าง

“มันง่ายเหลือเกินครับ” “เค็น” ตอบ “เพราะว่า “รู้ธ” กับ “เบ็ตตี้” ได้เตรียม การในเรื่องเหล่านี้ไว้พร้อมแล้ว เมื่อพวกเราไปถึง ก็ดําเนินงานได้ทันที ที่แรก “รู้ธ” กับ “เบ็ตตี้” ก็ต่างคนต่างแยกกันดําเนินงานของตน ต่อมาภายหลังบุคคลทั้งสองรวมกันได้ งาน ของเราก็ยิ่งสะดวกขึ้น”

“หน้าที่ของคุณ เป็นเพียงแต่ทํางานติดต่อทางวิทยุเท่านั้นใช่ไหม ?” พ.อ. เดอซ์บูร์ ถามต่อไปอีก

ถูกแล้วครับ “เค็น” ตอบ “เบ็ตตี้ มีคนของเขาคนหนึ่ง มีนามสมญา “แพ็ทซี่” (พ.ต.อ.พโยม จันทะรัคคะ) สําหรับวิ่งติดต่อระหว่างพวกเรากับเบ็ตตี้ พอเราได้รับคําถามจากท่าน เราก็ส่งให้ “แพทซี่” “แพทซี่” ก็ไปตรวจค้นหลักฐานในแฟ้มของสันติบาล หรือมิฉะนั้นก็ออกสืบสวน เพื่อหาคําตอบมาส่งให้ท่าน

“คุณคิดว่า “แพทซี่” อาจจะยกเมฆหลอกเราได้บ้างไหม ?” พ.อ. เดอซ์บูร์ถาม “ทีแรก เราก็วิตกในเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน แต่หลังจากเขาให้ข่าวเรื่องบิลแม็คการ และ เขาพาผมไปพบ “รัฐ” แล้ว ผมก็มีความเชื่อถือในตัวเขาอย่างเต็มที่”

“สําหรับตัว “รู้ธ” เองล่ะ ? เขาอาจจะซ้อนกลเราได้ไหม ?” นิคอล ซักถามบ้าง

“เค็น” ตอบทันทีโดยไม่ต้องตรึกตรองว่า

“สําหรับตัวผมเองไม่ติดใจสงสัยอย่างใด ในตัว “รู้ธ” เลย “รู้ธ” เป็นหัวหน้าขบวนการใต้ดินอย่างแท้จริง ถ้าท่านได้พบกับ เพียง ๒-๓ นาที ท่านจะต้องมีศรัทธาในตัวของท่านผู้นั้นอย่างมากทีเดียว

ในบ่ายวันนั้น “เค็น” ได้เล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เขาได้ประสบพบเห็นในเมืองไทยให้ พ.อ. เดอบูร์ และนายทหารอเมริกันในหน่วย O. S.S. นั่งโดยละเอียดแล้ว “เค็น” ได้พูดในที่สุดว่า

“เวลานี้ “รู้ธ” ได้จัดตั้งหน่วยพลพรรคใต้ดินไว้เป็นจํานวนมาก เขาได้ให้ตัวเลขแก่ผมโดยละเอียด ทั้งจํานวนที่เขาจัดตั้งไว้แล้ว และที่จะได้เพิ่มเติมในอีก ๒-๓ เดือนข้างหน้า พูด “รัฐ” ต้องการให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช หาทางช่วยเหลือขอให้สัมพันธมิตร นําอาวุธไปส่งให้พลพรรคเหล่านั้น”

ด้วยความมุ่งหมาย และหน้าที่ซึ่ง “รู้ธ” ได้มอบหมายดังกล่าวมานี้เอง “เค็น” กับ “ดิ๊ก” ก็ออกเดินทางโดยเครื่องบินต่อไปยังกรุงวอชิงตัน เพื่อไปพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในเวลา ๔๘ ชั่วโมงต่อมา...

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกด การเว้นวรรค และเลขไทยตามต้นฉบับ

เอกสารอ้างอิง :

  • พล.อ.เนตร เขมะโยธิน, “ถวิล อุดล” , ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเอกเนตร เขมะโยธิน ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2528, (นครปฐม: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2528), น.195-203.

 

ภาคผนวก 

การร่วมแนวคิดและอุดมการณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ ของนายถวิล อุดล ภายใต้ขบวนการเสรีไทย

สุวัฒน์ชัย แสนราช

นายถวิล อุดล เป็นชาวจังหวัดร้อยเอ็ดโดยกําเนิด มีโอกาสเข้าเรียนวิชากฎหมายและสอบไล่ได้เนติบัณฑิต ในปี พ.ศ. 2473 จากโรงเรียนกฎหมาย ซึ่งในขณะนั้น นายปรีดี พนมยงค์ เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมาย จึงได้รับการถ่ายทอดแนวคิดวิชาด้านการเมืองและร่วมถกปัญหาด้านการเมืองร่วมกับเพื่อนนักศึกษาในการสะท้อนภาพแนวคิดท้องถิ่นนิยม  ความผูกพันระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ส่งผลให้รับรู้และรับเอาแนวคิดที่สอดคล้องกับแนวคิดของนายถวิล โดยเฉพาะแนวคิดท้องถิ่นนิยมที่เรียกร้องให้รัฐบาลกระจายอํานาจการปกครองไปยังภูมิภาคต่าง ๆ

ด้วยแนวคิดที่สอดคล้องกันดังกล่าวส่งผลให้เกิดความผูกพันทางความคิดและได้รับเอาแนวคิดในแนวเสรีนิยมจากนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาท้องถิ่นเป็นสําคัญ จึงส่งผลให้เกิดแนวคิดท้องถิ่นนิยมขึ้น เพื่อที่ให้ท้องถิ่นของตนมีความเจริญก้าวหน้าตามอุดมการณ์ที่ว่า จะทํางานให้แก่ประเทศชาติและมาตุภูมิด้วยความเสียสละเพื่อประโยชน์ของชาติ ของท้องถิ่น ยิ่งกว่าชีวิตของตนเอง

ปัจจัยอีกส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดแนวคิดดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการดําเนินนโยบายของรัฐบาลในลักษณะตอบสนองความต้องการ และปกป้องผลประโยชน์ของราษฎรในกรุงเทพฯ มากกว่าท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคอีสาน ยิ่งกว่านั้นนโยบายการพัฒนาในส่วนที่เป็นการจัดโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การชลประทาน การคมนาคมขนส่ง เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลให้ความสําคัญกับภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ มากกว่าภาคอีสาน

แนวคิดท้องถิ่นนิยมดังกล่าวได้ปรากฏในหนังสือ สยามอุโฆษ บทความเรื่อง “เทศบาลเป็นหลักประกันประชาธิปไตย” โดยได้เสนอหลักการเป็นรากฐานของการพัฒนาการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญว่า การปกครองแบบเทศบาลจะเป็นหลักประกันของระบอบประชาธิปไตย ทั้งในระดับการปกครองของประเทศ และในส่วนของการบํารุงท้องถิ่น และมีผลให้นายถวิล อุดล เสนอร่างพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2480 เข้าสู่สภาฯ  ผู้ที่เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งเทศบาลไว้ คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) โดยได้เสนอพระราชบัญญัติเทศบาลออกบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2476 และมีการจัดตั้งเทศบาลขึ้นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2478

แนวคิดที่ปรากฏกับบทบาทของนายถวิล อุดล ดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดการรับเอาแนวคิดจากนายปรีดี พนมยงค์ และเป็นในการร่วมงานทางการเมืองและร่วมอุดมการณ์ในเวลาต่อมา

พ.ศ. 2483-2484 รัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเข้าสู่สภาฯ ปรากฏว่านายถวิล อุดล ได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตำแหน่งกรรมาธิการพิจารณางบประมาณดังกล่าว นับเป็นแกนนําอีสานเพียงคนเดียวในคณะกรรมาธิการนี้ นายถวิลทําหน้าที่เลขานุการคณะกรรมาธิการ ขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ ดํารงตําแหน่ประธานกรรมาธิการ นับว่าเป็นครั้งแรกที่นายถวิลได้มีโอกาสร่วมงานกับนายปรีดี

สําหรับความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ กับนายถวิล อุดล และแกนนําอีสานนั้น ก่อนหน้านี้สัมพันธ์กันในฐานะอาจารย์กับศิษย์ ที่ไม่เคยทํางานด้านการเมืองร่วมกันมาก่อน  มาในครั้งนี้นับเป็นโอกาสดีที่นายถวิลได้ร่วมงานกับนายปรีดีที่จะมีความคุ้นเคย หรือทํางานอย่างใกล้ชิดในฐานะคณะกรรมาธิการร่วมกัน และสามารถแลกเปลี่ยนแนวคิดทางการเมืองได้อย่างต่อเนื่อง นับเป็นจุดเริ่มแรกของความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่าย อันจะนําไปสู่ความร่วมมือทางการเมือง

ต่อมาในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 ได้มีการก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น… โดยเริ่มจากการที่รัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศหยุดยิงและยุติการสู้รบ ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 โดยยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยไปยังพม่าและมลายู นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ตกลงทําสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทําให้ชาวไทยทั้งภายใน และภายนอกประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวรวมกลุ่มกันขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายที่สําคัญเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นและเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของไทย

กลุ่มบุคคลที่ร่วมกันเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายจอมพล ป. ดังกล่าว อาทิ หลวงบรรณกรโกวิท (เปาว์ จักกะพาก)  นายสงวน ตุลารักษ์  นายเตียง ศิริขันธ์  นายถวิล อุดล  นายจํากัด พลางกูร ฯลฯ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายจํากัดเคยจัดตั้งคณะกู้ชาติ เพื่อต่อสู้กับจอมพล ป. พิบูลสงครามมาแล้ว แต่การจัดตั้งดังกล่าวยังเป็นไปอย่างลับ ๆ ร่วมกับกลุ่มของนายถวิล นายเตียง และนายจําลอง แต่ได้สลายไป ดังที่นายจํากัด พลางกูร ได้กล่าวไว้ว่า  “อันที่จริงเรื่องกู้ชาตินี้ เราได้คิดกันมานานแล้วตั้งแต่ก่อนญี่ปุ่นเข้าเมืองเสียอีกว่าได้”

เมื่อสถานการณ์ดังกล่าวได้อุบัติขึ้นประกอบกับความไม่พอใจนโยบายของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีอยู่ก่อนแล้ว นายจํากัด พลางกูร จึงได้รวบรวมพวกพ้อง เช่น นายเตียง ศิริขันธ์ เพื่อนสนิทของนายจํากัดเอง นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจําลอง ดาวเรือง และนายถวิล อุดล เป็นต้น ซึ่งนายเตียง นายจําลอง นายทองอินทร์ นายถวิล ล้วนเป็นสมาชิกพวกชั้นที่ 1 ของนายจํากัด และแผนการในครั้งนั้น คือ พยายามโค่นอํานาจจอมพล ป. หรือพากันหนีไปจัดตั้งรัฐบาลใหม่อยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศบางทีจะหนีไปตั้งรัฐบาลใหม่อยู่ทางภาคอีสาน แต่ไม่สามารถทําได้ เพราะญี่ปุ่นได้ยึดเส้นทางที่คณะกู้ชาติจะใช้หลบหนีก่อนแล้ว กอปรกับมีกําลังคน กําลังทรัพย์ และกําลังอาวุธไม่พอที่จะต้องสู้กับกองกําลังของญี่ปุ่นได้ อีกทั้งขาดผู้นําที่มีอํานาจพอที่จะเป็นกําลังสําคัญได้

นายจํากัด นายถวิล นายเตียง นายจําลอง และนายทองอินทร์ พร้อมสมาชิกคนอื่น ๆ จึงเข้าพบกับนายปรีดี พนมยงค์ ที่บ้านถนนสีลม [เมื่อวันที่ญี่ปุ่นไทย 8 ธันวาคม 2484]  ในการเข้าพบวันนั้น ที่ประชุมได้สรุปสาระสําคัญดัง ปรากฏในบันทึกของนายปรีดี พนมยงค์ว่า

“ผู้ที่มาประชุมวันนี้ ได้ตกลงพลีชีพเพื่อชาติเพื่อกอบกู้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย เพื่อการนั้นจึงตกลงจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น ประกอบด้วยคนไทยที่รักชาติทุกชั้นวรรณะ ทั้งอยู่ในประเทศไทยและที่อยู่ในต่างประเทศ ที่ประชุมได้มอบหมายภาระให้ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้า และกําหนดแผนการปฏิบัติต่อไป…”

แผนการของนายจํากัด และภารกิจขององค์การต่อต้านญี่ปุ่นที่มีขึ้นที่บ้านของนายปรีดี นั้นต่างมีจุดประสงค์และเป้าหมายอย่างเดียวกัน คือ ต่อต้านญี่ปุ่น ขณะนั้นการรวมตัวของคนไทยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น มีทั้งภายในและภายนอกประเทศ ภายหลังกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นดังกล่าวได้ร่วมปฏิบัติการเป็นขบวนการเดียวกัน ภายใต้ชื่อขบวนการเสรีไทย อีกทั้งยังทําการเคลื่อนไหวต่อสู้อยู่จนสงครามยุติและญี่ปุ่นยอมจํานน

จากที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความสําคัญและบทบาทของนายถวิล อุดล ที่มีส่วนสําคัญในการจัดตั้งขบวนการเสรีไทย พร้อมกันนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสายอีสาน อาทิ นายเตียง ศิริขันธ์ นายจําลอง ดาวเรือง และนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ก็ร่วมเป็นแกนนำสำคัญในครั้งนี้ด้วย ฉะนั้น กลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสายอีสานกลุ่มนี้ เป็นนักการเมืองที่มีบทบาทอย่างมากในขบวนการเสรีไทย

การรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า นายถวิลและนายเตียงเป็นตัวเชื่อมสําคัญ โดยจะเห็นได้จากเมื่อเริ่มจัดตั้งองค์การฯ ได้ปรากฏบุคคลทั้งสองในที่ประชุม นอกจากกลุ่มแกนนำดังกล่าวแล้วในตอนนั้นยืนยันได้ว่า ขบวนการเสรีไทยเป็นอํานาจที่อยู่เบื้องหลังคณะรัฐมนตรีที่เพิ่งขึ้นมาแทนรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม คณะรัฐมนตรีไม่ได้เป็นสมาชิกของขบวนการเสรีไทยทั้งหมด แต่รัฐมนตรีคนสําคัญ ๆ เป็นแน่  ส่วนรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ว่ากันว่าเป็นเพื่อนของนายปรีดีทั้งนั้น เช่น พลโท ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์  นายทวี บุณยเกตุ  นายเดือน บุนนาค  นาวาเอก หลวงศุภชลาลัย  นายดิเรก ชัยนาม  พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ  พลตํารวจเอก อดุล อดุลเดชจํารัส  นายสงวน ตุลารักษ์ และแกนนําสายอีสานทั้งสี่คน คือ นายเตียง ศิริขันธ์  นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์  นายจําลอง ดาวเรือง และนายถวิล อุดล ล้วนเป็นรัฐมนตรีที่เป็นสมาชิกเสรีไทยด้วยกันทั้งสิ้น

ภายหลังที่ได้มีการตกลงและเสนอแผนปฏิบัติการร่วมกัน และกลุ่มแกนนําสายอีสานได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบขบวนการเสรีไทยในฐานะหัวหน้าหน่วยพลพรรคเสรีไทยของเขตจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน ได้แก่ นายถวิล อุดล รับผิดชอบหน่วยจังหวัดร้อยเอ็ด  นายเตียง ศิริขันธ์ รับผิดชอบหน่วยจังหวัดสกลนคร  นายจําลอง ดาวเรือง รับผิดชอบหน่วยจังหวัดมหาสารคาม  และนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ รับผิดชอบหน่วยจังหวัดอุบลราชธานี จึงนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการเสรีไทยสายอีสาน

หน่วยพลพรรคในจังหวัดดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรต่อต้านญี่ปุ่นในภาคอีสาน ด้วยการจัดตั้งค่ายฝึกอาวุธให้กองกําลังเสรีไทย จะเห็นได้ว่า การมอบหมายภาระหน้าที่ให้รับผิดชอบในจังหวัดต่าง ๆ นั้นจะแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดที่สังกัดอยู่ทั้งสิ้น ซึ่งอย่างน้อยก็มีความใกล้ชิดกับประชาชน และสะดวกในการหาสมาชิกเพื่อร่วมขบวนการ

การที่กลุ่มผู้นําเสรีไทยสายอีสานได้แสดงออกถึงแนวคิดในเรื่องความรักชาติและความไม่พอใจในการใช้อำนาจเผด็จการของจอมพล ป. พิบูลสงครามดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มผู้นําอีสานได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจ จากนายปรีดี พนมยงค์ มากขึ้นเป็นลําดับ จะเห็นได้จากการมอบหมายให้เป็นหัวหน้าหน่วยในจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสานจนระยะต่อมาเมื่อนายปรีดีส่งตัวแทนชุดต่าง ๆ ไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่ประเทศจีน  นายถวิล หนึ่งในกลุ่มผู้นําเสรีไทยสายอีสาน จึงได้รับมอบหมายจากนายปรีดีให้เป็นหัวหน้าผู้แทนชุดที่ 4 ร่วมกับนายมาโนช วุธาทิตย์  นายประยูร อินทรรัมพรรณ และพลโท พระอภัยพลรบ โดยเริ่มออกเดินทางวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487

คณะผู้แทนชุดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดต่อกับรัฐบาลจีนและมาประจําอยู่ประเทศจีนเพื่อให้ความสะดวกแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรที่อยู่ในจีนด้วย รวมทั้งเพื่อติดต่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีนเกี่ยวกับการดําเนินงานใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น และการมาครั้งนี้ของนายถวิลยังได้นำสาส์นจากนายปรีดีถึงจอมพล เจียงไคเช็ค ซึ่งมีความว่า “ข้าพเจ้าขอส่งผู้แทนมาพบท่าน เพื่อขอให้ท่านรับรองรัฐบาลพลัดถิ่นที่เราจะตั้งขึ้นในดินแดนกลุ่มประเทศสัมพันธมิตร เพราะมาตรการนี้จะเป็นหนทางเดียวที่จะกระตุ้นคนไทยให้หลุดพ้นจากการรุกรานของญี่ปุ่น”

การเดินทางไปจุงกิง ประเทศจีนในครั้งนี้ นายถวิลได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะทูตพิเศษเพื่อไปพบจอมพลเจียงไคเช็ค เพื่อขอความสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ให้การรับรองการจัดตั้งรัฐบาลไทยชั่วคราวหรือองค์การอื่นที่มีลักษณะทํานองเดียวกันขึ้นในดินแดนของพันธมิตร ในการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวนั้นมีรูปแบบเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น การขอคํารับรองจากประเทศจีนจึงเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ประกาศให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรู้ว่าประเทศไทยไม่ได้สนับสนุนญี่ปุ่นทําสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะขณะนั้นอเมริกามีกองบัญชาการกองทัพอากาศอยู่ที่คุณหมิง

ถึงแม้ว่านายถวิลจะยุติบทบาททางการเมืองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังได้แสดงบทบาททางการเมืองร่วมกับอดีตเสรีไทยคนอื่น ๆ เช่น นายสงวน ตุลารักษ์ นายจําลอง ดาวเรือง นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และนายเตียง ศิริขันธ์ ด้วยการจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคสหชีพขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2489 มีนายดิเรก ชัยนาม เป็นหัวหน้าพรรค ภายหลังการเลือกตั้งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 10 พฤษภาคม 2489 นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ได้รับตําแหน่งหัวหน้าพรรค และนายถวิล อุดล เป็นเลขาธิการพรรค

พรรคสหชีพตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ สมาชิกส่วนใหญ่ ได้แก่ พวกเสรีไทย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความนิยมในตัวนายปรีดี พนมยงค์ โดยมีนโยบายแบบสังคมนิยมหรือแนวโซเซียลลิสม์ (Socialism)  แนวนโยบายดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี ขณะเดียวกันกลุ่มที่สนับสนุนนายปรีดีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายพรรคสหชีพ ได้ร่วมกับหลวงธํารงนาวาสวัสดิ์ ตั้งพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญเพื่อสนับสนุนนายปรีดีเช่นเดียวกัน  อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2489 พรรคสหชีพและพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญได้ร่วมกันสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ ขึ้นดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นการร่วมมือของอดีตเสรีไทย และผู้สนับสนุนนายปรีดีครั้งสําคัญ หลังจากประกาศตัวเองเป็นพรรคการเมืองอย่างเปิดเผย

 

หมายเหตุ :

  • บทความนี้ตัดเฉพาะส่วนขบวนการเสรีไทยมาจาก สุวัฒน์ชัย แสนราช,  “ถวิล อุดล กับ ปรีดี พนมยงค์ ความสัมพันธ์ในฐานะลูกศิษย์ อาจารย์ “กับการรับแนวความคิดทางการเมือง”,”  ใน คือผู้อภิวัฒน์ฯ (2543), น. 96-103.