ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ข้าพเจ้ารู้จักท่านปรีดี พนมยงค์

5
กันยายน
2567

Focus

  • ศ. ดร.เดือน บุนนาค บุคคลสำคัญผู้ใกล้ชิด ศ. ดร.ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน แม้ว่า ศ.ดร.เดือน บุนนาคไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎร แต่ด้วยสายสัมพันธ์ที่ยาวนานและความสามารถทางด้านกฎหมาย ทำให้ได้รับตำแหน่งทางการเมืองและเป็นบุคคลผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยดำรงตำแหน่ง เลขาธิการฯ คนแรก
  • ศ. ดร.เดือน บุนนาค บันทึกจุดเริ่มต้นเหตุการณ์ที่ทำให้ ศ. ดร.ปรีดี พนมยงค์ และ ศ. ดร.เดือน บุนนาค พัฒนาความสัมพันธ์ และบทความฉบับนี้ได้ใช้หลักฐานชั้นต้นทำให้ทราบถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่าง ศ. ดร.เดือน และ ศ. ดร.ปรีดี พนมยงค์

 


นายเดือน บุนนาค
ที่มา: พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเดือน บุนนาค ม.ว.ม., ป.ช.
ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 25 สิงหาคม 2525

 

ท่านปรีดี คุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ยศขั้นอํามาตย์ตรีนี้ บางท่านก็เรียกว่า ด็อกเตอร์ปรีดี ผู้นับถือในวิชาของท่านเรียกสั้น ๆ ว่า อาจารย์ หรือท่านอาจารย์ ท่านแปลกสมัยยศนายพันตรี เคยเรียกว่า คุณหลวงประดิษฐ์ หรืออาจารย์ พอท่านแปลกเป็นนายกรัฐมนตรีและจอมพล ก็เลยให้สมญาท่านปรีดีใหม่ว่า นายปรีดี ขรัวท่าช้าง หรือ ตาขรัว บ้าง คนเลยเอาอย่างท่านแปลกไปก็มี ควรสังเกตว่าการจะเรียกท่านปรีดีอย่างไรนั้น แล้วแต่สมัยท่านรุ่งเรืองหรือสมัยท่านตกต่ำ การเรียกอย่างไรเป็นปรอทวัด ความเคารพนับถือซึ่งขณะหนึ่งมี อีกขณะหนึ่งไม่มี เป็นการแสดงความ ไม่เสมอต้นเสมอปลาย

ท่านผู้อ่านคงอยากรู้ว่าข้าพเจ้าเรียกท่านอย่างไร ข้าพเจ้าก็ยินดีจะเล่าลําดับเรื่องนี้ให้ท่านฟัง ข้าพเจ้าเรียก ท่านปรีดีว่า นายปรีดี ก่อน ต่อมาเรียกว่า อาจารย์ แต่เวลาพูดกับคนอื่น ข้าพเจ้าเรียกว่า “ท่าน” เฉย ๆ เรียงความเป็นลำดับดังต่อไปนี้

ข้าพเจ้าไปถึงฝรั่งเศส เมืองเกรอนอเบลอ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2465 ข้าพเจ้าเกิด พ.ศ. 2448 จึงมีอายุขณะนั้นเพียง 17 ปีเต็ม ข้าพเจ้าพบกับท่านปรีดีเมื่อเมษายน 2467 เวลานั้นอายุข้าพเจ้าเพียง 19 ปี ข้าพเจ้าได้พบกับท่านปรีดีก็เพราะเสด็จพระองค์เจ้าจรูญฯ อัครราชทูตไทยขณะนั้นได้เรียกพวกนักเรียนฝรั่งเศสไปประชุมกันที่ปารีส นักเรียนได้ไปประชุมกันทั้งสิ้น 46 คน ก่อตั้งสมาคม ซึ่งมีชื่อว่า ส.ย.า.ม. ย่อมาจาก สามัคยานเตราสมาคม เจ้านายที่ทรงให้ความอุปถัมภ์แก่ สมาคมครั้งนั้น มี 1. พระปกเกล้าฯ (ขณะนั้นเป็นกรมขุนสุโขทัย) 2. กรมกําแพงฯ (ขณะนั้นเป็นกรมหลวง) 3. และท่านอัครราชทูต (เรียกสั้น ๆ ว่าพระองค์เจ้าจรูญฯ) เวลาที่ข้าพเจ้าพบกับท่านปรีดีเมื่อเมษายน 2467 ข้าพเจ้าจะเรียกท่านว่ากระไร ข้าพเจ้า ไม่มีหลักฐานอ้างอิง แต่เดือนธันวาคม 2467 ข้าพเจ้าได้เขียนจดหมายถึงคุณพ่อข้าพเจ้ากล่าวว่า

“เมื่อเดือนที่แล้วมานี้ (ตุลาคม) นายปรีดีเขาได้มาที่เมืองเกรอนอเบลอ เขาเห็นการเล่าเรียนของผมเข้า เขาเลยออกความเห็นให้ผมขอเข้าสอบเดือนมีนาคม ผมได้เอาเรื่องไปบอก ม. เกแดล แกเห็นดีครับ” อนุมานได้ว่าขณะนั้นข้าพเจ้าเรียกท่านปรีดีว่า “นายปรีดี” ข้าพเจ้าได้เรียกท่านปรีดีว่า “นายปรีดี” อีก ดังปรากฏในหนังสือของข้าพเจ้าเองถึงคุณพ่อข้าพเจ้า ลงวันที่ 8 มกราคม 2468 ความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อปลายเดือนธันวาคมศกนี้ ผมได้เข้าไปปารีส เพื่อส่งเสด็จ อัครราชทูตกลับกรุงสยาม ผมได้พบนายปรีดี แกบอกว่าถ้าผมติดขัดอย่างหนึ่งอย่างใดให้บอกให้แกทราบ แกจะช่วยเหลือให้ ”

ในหนังสือนี้ยังมีข้อความอีกตอนหนึ่งว่า “นายปรีดีได้เชิญพวกผมไปรับประทานอาหารจีน” ข้าพเจ้าและพวกถูกท่านปรีดีหว่าน ชักจะทึ่งในท่านปรีดีขึ้นมา

 


ชุมนุมนักเรียนไทยของสมัคยานุเคราะห์สมาคมซึ่งนายปรีดีได้รับเลือกให้เป็นสภานายกฯ พ.ศ. 2468
ที่มา: คือวิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์

 

เมื่อสามัคยานเตราสมาคมได้เปลี่ยนชื่อเป็น สามัคยานุเคราะห์ ประชุมกันที่ ชาร์แตรทส์ เมื่อกรกฎาคม 2468 นักเรียนไทยที่ฝรั่งเศสมาร่วมประชุม ประมาณ 50 คน ในจดหมายของข้าพเจ้าลงวันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2468 ถึงคุณพ่อข้าพเจ้าตอนหนึ่งมีความว่า “การประชุมได้ดําเนินไปด้วยการเรียบร้อยและได้ผล คือ ความพร้อมเพรียงสามัคคีของพวกนักเรียน ไม่มีการถือเหล่า ถือพวก ถือฝูง จนถึงกับทูลกระหม่อมกรมขุนสงขลาฯ (สมเด็จพระราชบิดา) ซึ่งได้เสด็จมาเยี่ยมรับสั่งว่า “ถ้าพวกนักเรียนรู้จักพร้อมเพรียงกันเช่นนี้ ต่อไปในภายหน้าแล้ว ท่านจะต้องเป็นกําลังอันสําคัญของบ้านเราอันหนึ่ง” ข้าพเจ้าจําและเขียนไว้ดังนี้เมื่อ 2468 คือ 49 ปีมาแล้ว ในจดหมายที่ข้าพเจ้าเรียนให้คุณพ่อของข้าพเจ้าทราบว่า

“อาศัยโดยความดูแลอันละเอียดสุขุมของนายปรีดี พนมยงค์ ท่านสภานายกประจําปี พ.ศ. 2468 ซึ่งเวลานั้นกําลังจะเข้าสอบหมอกฎหมาย (Docteur en Droit) พวกที่มาประชุมต่างได้รับความสุขพร้อมทั่วทุกคน นายปรีดีได้บอกผมว่า เมื่อเวลาแกสอบกฎหมายภาคหนึ่งที่เมืองไทย คุณพ่อได้เป็นกรรมการสอบคุณพ่อคงจําแกได้ แกจะกลับกรุงเทพฯ ในราวปี พ.ศ. 2468 ตอนเดือนสิงหาคม พอได้รับตําแหน่งหมอกฎหมายแล้ว” (อักขระวิธีเป็นของข้าพเจ้าสมัย พ.ศ. 2469)

 ในจดหมายของข้าพเจ้าถึงคุณพ่อลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2468 ข้าพเจ้าได้เรียกท่านปรีดีเป็นคุณปรีดียกย่องขึ้นมาหน่อย มีความตอนหนึ่งดังนี้

“ที่ฝรั่งเศสเวลานี้มีคนเรียนกฎหมายอยู่ราว 15 คน คนที่ขึ้นหน้าก็คือ คุณปรีดี เวลานี้กําลังทํา Doctorat ภาคสอง (แผนกคนฝรั่งเศส de la République) ถ้าแกสอบได้ก็สําเร็จ และจะเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ตําแหน่ง Docteur en Droit (แผนกคนฝรั่ง เศส de la République) ถัดมาก็มี ถวิล อรรถยุติ แกกําลังจะเข้าเรียนปีที่สามของ Licence และต่อมาพวกที่จะอยู่ ห้องสองก็มี ศุภวาร ประยูร และเทอด พวกที่จะไปอยู่ห้องที่หนึ่งก็มี อาบ อุภัย เอ็ด ณ ป้อมเพ็ชร ผม และอีกสองสามคนซึ่งผมไม่รู้จักชื่อ”

ข้าพเจ้าขอขยายชื่อของท่านพวกที่กล่าวชื่อมานี้สักหน่อย “คุณปรีดี” นั้นไม่ต้องกล่าว ทุกคนรู้จักกันแล้ว ถวิล อรรถยุติ มีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงวิสูตรอรรถยุติ เวลานี้ใช้ชื่อว่า นายวิสูตร อรรถยุติ เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ “ศุภวาร” นั้นคือ คุณหลวงภัทรวาที (ศุภวาร วารศิริ) เคยเป็นเอกอัครราชทูตประจําประเทศต่าง ๆ “ประยูร” นั้นคือ คุณประยูร บูรณศิริ เคยเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่แห่งธนาคารชาติ เวลานี้ถึงแก่กรรมแล้ว “เทอด” นั่นคือ คุณเทอด บุนนาค คหบดีผู้ซึ่งไม่ชอบลงใคร ไปเมืองนอกทุกสองปี “อาบ” คือคุณอาบ คอมันตร์ บุตรเจ้าคุณพิพากษา ซึ่งนักเรียนเตรียมธรรมศาสตร์รู้จักดีในสมญาว่า ครูอาบ หรือมองซิเออร์เลอแบง อาจารย์ผู้ปกครองซึ่งเคยลงอาญาเฆี่ยน นักเรียนเตรียมที่ประพฤติไม่ดี แต่ไม่ปรากฏว่าใครเกลียดท่านเลย เสียดายกันในการที่ท่านเก็บตัวเสีย และก็ได้ถึงแก่กรรมแล้ว “อุภัย” ก็คือ ด็อกเตอร์หรืออาจารย์ อุภัย พินทุโยธิน อาจารย์ลัทธิเศรษฐกิจและพ่อค้าหมู เอ็ด ณ ป้อมเพ็ชร นี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเขียนรายงานผิด ความจริง ความจริงเอ็ดเรียนทางพิสูจน์หลักฐาน ต่อมาได้รับราชการกรมตํารวจ ยศนายพันมานานแล้ว แต่อ่อนแอ เจ็บป่วย จึงห่างไกลจากราชการไปเลยไม่ได้ใหญ่โตอย่างคนอื่น ๆ เขา

ในจดหมายลงวันที่ 17 มีนาคม 2468 ข้าพเจ้าขณะนั้นเข้าเรียนเรียนปีที่ 1 ของคณะนิติศาสตร์ ได้ให้คํามั่นต่อคุณพ่อของข้าพเจ้าว่า

“ผมจะต้องเอาคะแนน Assez bien ดีพอใช้ หรือ Bien ดีให้ได้ คะแนนนี้ในฝรั่งเศส เวลานี้มีอยู่สามคนเท่านั้นที่เคยได้ “ปรีดี พนมยงค์” “ถวิล อรรถยุติ” “ศุภวาร วารศิริ”” ข้าพเจ้าต่อมาสอบได้ที่หนึ่งและได้เกียรตินิยมดีมาก (Très bien) ทั้งปีที่หนึ่ง ปีที่สอง และปีที่สาม

ในปี พ.ศ. 2469 มีเรื่องยุ่ง ๆ เกี่ยวกับนักเรียนไทย ซึ่งท่านปรีดีเป็นนายก เวลานั้นท่านแปลก ท่านทัศนัย ท่านควง ท่านตั้ว ท่านเดช ท่านประยูร ท่านชม และท่านอื่น ๆ เป็นพวกอาวุโส ข้าพเจ้านั้นรุ่นยูเนียร์ ได้แต่ฟัง ก็อดไม่ได้ที่จะรายงานให้คุณพ่อของข้าพเจ้าทราบ ว่านักเรียนไทยเกิดขัดแย้งกับท่านเอกอัครราชทูตอย่างไร

ขอนําบันทึกของข้าพเจ้าในสมัยเมื่อข้าพเจ้ามีอายุ 21 ปี สอบได้ปีที่ 1 ของคณะนิติศาสตร์ของฝรั่งเศสได้แล้วมาให้ท่านวิจารณ์ว่าความรู้สึกขณะอายุ 21 ของข้าพเจ้านั้นเป็นอย่างไร ท่านพวกอายุ 21 ปัจจุบันอาจมีความคิดรุนแรงยิ่งกว่าข้าพเจ้าก็ได้ ข้าพเจ้าได้เขียนหนังสือกราบเท้ามายังคุณพ่อของข้าพเจ้าเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2469 ความใน ป.ล. มีดังนี้ “เรื่องพระองค์เจ้าจรูญกับนักเรียนไทยซึ่งผมเล่ามานี้ เล่ามาอย่างไม่ละเอียด อนึ่งการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวล้มสมาคมนั้นก็ถูก เพราะธรรมดา” ผู้น้อยต้องนบนอบผู้ใหญ่เสมอ “แม้ผู้ใหญ่จะผิดก็จริง แต่ถ้าพระองค์ (หมายถึงพระเจ้าอยู่หัว คือพระปกเกล้าฯ) จะมียุติธรรมดี ควรจะตัดสินพระองค์เจ้าจรูญที่ถูกฟ้องมาด้วย”

แนบท้ายหนังสือนี้มีบันทึกของข้าพเจ้าดังนี้

 

นักเรียนไทยและพระองค์เจ้าจรูญฯ

ในระหว่างที่เกิดเรื่องนั้น ผมอยู่ที่ Marseilles ไปรับยนต์ สดํา ต่อเมื่อกลับ Paris จึงได้ทราบและได้เห็นผลของเรื่องอันนั้น

มูลเดิม นักเรียนไทยที่อังกฤษได้ส่งผู้แทนมาประชุมของนักเรียนไทยที่ฝรั่งเศส พร้อมด้วยความเชื้อเชิญให้นักเรียนที่นี่ส่งผู้แทนไปประชุมของเขาที่อังกฤษ ซึ่งจะมีในเดือนสิงหาคม ในระหว่างที่ประชุม ท่านสภานายก (ปรีดี) ได้อ่านจดหมายเชื้อเชิญที่นักเรียนทุกคนพร้อมเห็นดีที่จะรับคําเชิญอันนี้ จึงได้เลือกผู้แทน (ม.จ.ลักษ กับ ม.จ. ธัญ) รุ่งขึ้นสภานายกจึงเขียนจดหมายถึงอัครราชทูตเพื่อขออนุญาตให้นักเรียนทั้งสองซึ่งเป็นผู้แทนไปในการประชุมที่อังกฤษ ที่ทําเช่นนี้ก็เพราะนักเรียนสองคนนี้ขึ้นแก่สถานทูต ทูตไม่ยอมให้อนุญาต อ้างว่า สมาคมอังกฤษเป็นสมาคมไม่ดี ไม่มีการปรานีปรานอม ถ้านักเรียนสองคนนี้ไปจะได้รับความอับอาย

เรื่องเกิดใหญ่ขึ้น เมื่อได้รับคําตอบของทูต เช่นนี้ สภานายกก็ให้ประชุมและเอาคําตอบขึ้นอ่านให้ฟัง นักเรียนพร้อมเห็นว่าคําตอบอันนี้ไม่มีหลักฐาน พระองค์เจ้าจุมพตซึ่งเป็นพวกนักเรียนอังกฤษได้ลุกขึ้นยืนพูดว่า การที่ทูตพูดว่าพวกอังกฤษนี้เป็นการไม่จริงเลย ท่านขอค้านว่าเป็นความเหลวไหล นายแนบผู้แทนอังกฤษก็ได้ พูดทํานองเดียวกับพระองค์เจ้าจุมพต ตกลงเป็นว่าทูตไม่มีอํานาจที่จะห้ามไม่ให้นักเรียนฝรั่งเศสเข้าประชุมกับพวกนักเรียนอังกฤษ เพราะว่าทูตไม่ถูกกับเจ้าคุณภรตผู้ปกครองนักเรียนที่อังกฤษ ที่ประชุมจึงเขียนหนังสือถึงทูตอีกเป็นคํารบสอง ทีนี้ทูตอ้างว่าผู้แทนที่ที่ประชุมจัดไปนั้นเป็นนักเรียนของสถานทูต เขามีอํานาจที่จะห้ามไม่ให้ไปได้ และอีกอย่างหนึ่ง ทําไมไม่มาปรึกษาหารือกับเขาเสียก่อน

สภานายกก็เอาคําตอบให้นักเรียนดู เห็นว่าคําแก้ตัวอันนี้ไม่ถูก การส่งผู้แทนไปไม่ใช่เป็นของเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดเลย ตกลงจะส่งนักเรียนส่วนตัวไปแทน พอผมและเข็ม (คือเข็ม ณ ป้อมเพ็ชร พี่ท่านผู้หญิง พูนศุข ภรรยาท่านปรีดี) จะไปอังกฤษจึงเลยรับปากว่า จะไปแทน มีนักเรียนอีกคนหนึ่ง ประยูร (คือ คุณประยูร ภมรมนตรี) รับปากจะไปเหมือนกัน เมื่อมีสามคนจึงทําความตกลง เป็นอันว่าประยูรและเข็มจะเป็นผู้แทน ผม นั้นจะไปแทนสมาคมสําหรับแผนกกีฬาต่าง ๆ

ต่อมาราชทูตได้มาดูการประชุม พูดติฉินนินทา พวกกรรมการต่าง ๆ วันนั้นฝนตกหนักท่านอุตส่าห์เดิน ตากฝนใส่หมวกแก๊บ จะกางร่มก็ไม่เอา เขาเชิญให้เข้าบ้านก็ไม่เข้า ท่านเดินตรวจสถานที่เกือบชั่วโมงแล้วก็กลับสถานทูต รุ่งขึ้นท่านเกิดทะเลาะกับคุณหลวง...คนทํางานของท่าน จนถึงกับเขาต้องลาออกกลับเมืองไทยมูลเหตุก็คือคุณหลวงเป็นเพื่อนของนายปรีดี (คุณหลวง ผู้นี้คือ คุณหลวงวิจิตรวาทการ กิมเหลียง วัฒนปรีดา ซึ่งเคยเรียนกฎหมายที่เมืองไทยกับท่านปรีดี และคุณพ่อ ข้าพเจ้าเคยเป็นผู้สอบความรู้ท่านทั้งสอง)

ตอนหลังท่านเขียนจดหมายถึงสมาคม หาว่าเป็น บอลเชวิก กล่าวจะล้มสมาคมและอะไรต่ออะไรใหญ่โต เห็นว่าท่านโกรธอย่างที่สุด ท่านนั้นเรียนกฎหมายเป็น ทนาย (ท่านอ้างอย่างนี้จริงเท็จอยู่ที่ท่าน)

เรื่องเกิดใหญ่ขึ้นทุกที ความต่อมาว่ารับสั่งให้ ปรีดีมาสู่ความกับท่าน สมาคมเขียนตอบไปว่าท่านไม่ควร โกรธ สมาคมไม่ได้ทําอะไรผิดเลย แล้วเรื่องก็ชักราไป วันที่ 1 สิงหาคม ผม เข็มไปขอ Visa-Passe=port ท่านชมผมถึงการสอบแล้วก็พูดถึงเรื่องของท่านกับนักเรียน ท่านโกรธมากทีเดียว ท่านพูดเกือบชั่วโมงแล้ว จึงทํา Passe = port ให้ผม (เมื่อก่อนวันที่ 1 สิงหาคม Visa- Passe = port นั้น Secretary เป็นคนทํา) สําหรับเข็มนั้น ท่านรู้ว่าเขาจะไปประชุมอังกฤษ ท่านไม่ยอมทํา หนังสือเดินทางให้ เข็มต้องเขียนหนังสือเป็นประกันไว้ ว่า “จะไม่ไปประชุมที่อังกฤษ” ท่านจึงออกหนังสือเดินทางให้ สําหรับนายประยูรนั้นเขาไปขอหนังสือเดินทางที่ท่านเพื่อไปอังกฤษ ท่านไม่ให้ เพราะเขาจะไปประชุม เขาต้องไป Belgium ไป Holland จึงได้หนังสือเดินทางไปอังกฤษ

เรื่องถึงที่สุด วันที่ 3-4 ทูตได้พูดกับปรีดี และคณะกรรมการปรากฏว่าเรื่องจะถึงที่สุด ทูตแสดง ความเสียใจสิ่งที่ทํามากับนักเรียน คณะกรรมการก็เหมือนกัน แต่ตอนหลังราชทูตรู้ว่านักเรียนได้เซ็นชื่อจะขอเงินขึ้น เลยพื้นเสียใหญ่ จัดการฟ้องนักเรียนไปยังเมืองไทย เมื่อเห็นภัยมาถึงเช่นนี้ กรรมการพร้อมด้วยความเห็นของ นักเรียนที่เป็นสมาชิกที่ได้เซ็นชื่อ จึงจัดนําความทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระปกเกล้าฯ) ให้ทรงวินิจฉัยคําฟ้องหา หนึ่ง ราชทูตโกงเงินหลวง เงินที่จ่าย สําหรับค่าเล่าเรียนของนักเรียน สอง ราชทูตได้ทําความเสียหายถูกเขาฟ้องฐานเป็นชู้ ศาลตัดสิน 100,000 ฟรังค์ สาม ในที่ประชุมสหชาติได้ทําความเสียหายให้แก่รัฐบาลไทย

ต่อมาได้รับข่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ล้มสมาคม หาว่าเป็นซีนดิเคต (Syndicate) เรียก ให้ปรีดีกลับ แล้วโทรเลขไม่ให้กลับ สั่งให้ล้มสมาคมแล้ว ยังอนุญาตให้ตั้งขึ้นใหม่อีก จะจัดการเรียกทูตกลับ จะให้ ม.จ. วรรณไวทยากร มาเป็นทูตแทน พระองค์เจ้าจรูญ พอรู้เรื่องเข้าแทบเป็นบ้า เขียนหนังสือถึงนักเรียนทําเป็น ที่จะสั่งสอนและขอลากลับ แต่ความจริงการที่ท่านเขียนหนังสือเช่นนี้จะมุ่งหมายถึงอะไรยังไม่มีใครเดาถูกได้

ป.ล.ตามความเห็นของผม ผมเห็นว่าผิดด้วยกันทั้งสองฝ่าย ผู้ใหญ่เมาอํานาจ ส่วนผู้น้อยก็นบนอบน้อยไป

ท่านปรีดีกลับเมืองไทยแล้ว ข้าพเจ้าได้ข่าวก็เลยเรียนให้คุณพ่อของข้าพเจ้าทราบ มีข้อความในจดหมาย ของข้าพเจ้าถึงคุณพ่อลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2470 ซึ่งข้าพเจ้าได้เรียนให้ท่านทราบเกี่ยวกับท่านปรีดีอีกดังนี้

“ปรีดี พนมยงค์ นั้น เวลานี้ผมได้ข่าวว่าแกทํางาน อยู่ที่ศาลฎีกา และได้เป็นครูของโรงเรียนกฎหมาย ถ้าทํางานได้ดีมาก ผมควรจะเอาตามรอยแกดีหรือไม่ แต่ใจผมเกลียด ต่อการเป็นครูเหลือเกิน บางทีในภายหน้านิสัยอาจเปลี่ยนได้”

และข้าพเจ้าก็เปลี่ยนนิสัยกลายเป็นครูจนได้ เพราะเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ. 2475 ข้าพเจ้าเรียนกฎหมายไทยอยู่ภาคสอง เวลานั้นโรงเรียนกฎหมายกลายเป็นคณะนิติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแล้ว ท่านปรีดีเป็นอาจารย์สอนกฎหมายปกครองคนแรกสอน ปีที่ 1 พ.ศ. 2474 ข้าพเจ้าก็เรียนกับท่าน ข้าพเจ้า ก็เรียกท่านแต่บัดนั้นว่า “อาจารย์” พอเปลี่ยนการปกครอง 2475 แล้ว ท่านปรีดีก็เปลี่ยนฐานะข้าพเจ้า จากนักเรียนกฎหมายมาเป็นผู้สอนกฎหมายฝรั่งเศสแทน ท่านดูปลาตร์ สอนความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายแทนท่านเอกูต์ซึ่งไปพักผ่อนยังต่างประเทศแล้วเลยช่วย เปลี่ยนคณะนิติศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มาเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

เนื่องจากเป็นผู้สอนแล้วก็ ยังได้ตําแหน่งเป็นเลขาธิการมหาวิทยาลัย ได้ค่าป่วยการเดือนละ 200 บาทอีกด้วย การเป็นผู้สอนของข้าพเจ้าชั้นยูเนียร์ นักเรียนกฎหมายเรียกข้าพเจ้าว่า “ครู” สงวนคําว่า “อาจารย์” ไว้เรียกสําหรับท่านปรีดีเท่านั้น ศาสตราจารย์เวลานั้นยังไม่นิยมเรียก ดูครึ ๆ พวกฝรั่งเขา อยากเป็นก็ให้เขาเป็น เช่น ศาสตราจารย์ดูปลาตร์ ฮัจเจสสัน และคนอื่น ๆ ใครอยากเป็นโปรเฟสเซอร์ ก็เป็นเถิด แต่เวลานี้คําว่า “ครู” ก็ต่ำไป คําว่า “อาจารย์” ก็ต่ำและเวลานี้ผู้สอนเขาอยากเป็นด็อกเตอร์ และศาสตราจารย์กันทั้งนั้น อยากได้ดุษฎีกันก็เยอะ การเฟ้อซึ่งเป็นเรื่องของธนบัตรเงินตราเลยเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิชาการ การศึกษา ว่ากันสนุกไป ไหน ๆ พูด มาแล้วก็อยากพูดอีกนิดว่า เวลานี้ด็อกเตอร์ มาสเตอร์ มีเยอะแยะ แต่วิชามาตรฐาน บี.เอ. บาร์ริสเตอร์ ลีซังซีเอ ไม่ยักมี จึงเกิดคิดว่าอะไรมันยากกว่ากันแน่

 


พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาทรงไขประตูเปิดตึกโดม ผู้สวมเสื้อครุยคือ นายเดือน บุนนาค เลขาธิการ มธก. คนแรก
ที่มา: จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2547-พฤษภาคม 2548

 

ท่านปรีดีมิได้ฉุดรั้งข้าพเจ้ามาในเรื่องครูบาอาจารย์สอนหนังสืออย่างเดียวในเรื่องการร่างกฎหมายท่านก็ดึงข้าพเจ้ามาเกี่ยวข้อง ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้าพเจ้าเป็นผู้พิพากษาอยู่ศาลอาญา เรียกกันว่า พิพากษาสามชั่ง (240 บาท) พอเปลี่ยนการปกครอง ก็เลยถูกย้ายเข้ามาอยู่ในกรมร่างกฎหมาย ซึ่งเวลานั้นที่ปรึกษาการร่างกฎหมายเป็นชาวฝรั่งเศส ทั้งหมดมีถึง 4 คน เวลานี้เหลือเพียงคนเดียว แปลงสัญชาติเป็นไทยนมนานแล้ว คือท่านพิชาญ บุลยง หรือ เรอเน กียอง หน้าที่ในทางผู้พิพากษาของข้าพเจ้าเลยยุติเพียงเท่านี้ เปลี่ยนมาเป็นหน้าที่ร่างพิจารณากฎหมาย หน้าที่สอนวิถีชีวิตแห่งคนนี้ก็แปลกหมุนเวียนไป สิ่งที่ว่าเกลียดกลับต้องทํา และเมื่อทําแล้วกลับชอบ อย่างเช่นข้าพเจ้าก็เคยเกลียดการเรียนกฎหมาย อยากเรียนอินยิเนียร์การค้า แต่ก็ต้องมาเรียนกฎหมาย เกลียดการเป็นครู ก็เลยมา กลายเป็นครู การเมืองข้าพเจ้าก็ว่าเลิกแล้ว เพราะเต็มไปด้วยการอิจฉาริษยา ชิงดีชิงเด่น แต่คนเขาก็ว่ากาลข้างหน้าจะรู้ได้อย่างไร เมื่อข้างหน้ายังไม่มาถึง เอากันขณะนี้ เขียนหนังสือให้ท่านอ่าน ถ้าเป็นประโยชน์ไม่น้อย ข้าพเจ้าก็ดีใจและพอใจแล้ว

เมื่อท่านทราบว่าข้าพเจ้าได้รู้จักท่านปรีดีในขณะที่เรียนกฎหมายอยู่ที่ฝรั่งเศสมาอย่างไร ข้าพเจ้าก็จะพาท่านไปรู้จักท่านปรีดีในลักษณะอื่นต่อไป จะเน้นในฐานะ นักกฎหมายและนักเศรษฐกิจ ซึ่งย่อมรวมถึงนักปกครองด้วย เพราะการปกครองก็ต้องอาศัยกฎหมายและการเศรษฐกิจ ท่านปรีดีมีลักษณะอย่างอื่นอีก เป็นนักสร้างภาพยนตร์ก็เคยเป็น (ผู้สร้างภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก ผลิตจาก Pridi Production) อื่น ๆ ก็ยังมีอีก แต่ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวถึง เพราะไม่ได้เป็นจุดหมายของการเขียนหนังสือนี้ ซึ่งมุ่งจะแสดงว่าท่านปรีดีเป็นนักแปลนเนอร์ของประเทศไทยคนแรกเป็นคนทําอะไรต้องมีโครงการ ไม่ใช่โครงการทุลักทุเล วันนี้เหไปซ้าย พรุ่งนี้เหไปขวา หรือเรียกชื่อว่าพวกนักฉวยโอกาส นักถือทําตาม เหตุการณ์และนักอวดวิเศษโกงกินทั้งหลาย

 

 

หมายเหตุ : 

  • คงอักขร วิธีการสะกด และการเว้นวรรคตามต้นฉบับ

 

บรรณานุกรม :

  • เดือน บุนนาค, ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก (กรุงเทพฯ: สายธาร, 2552)