ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

การปฏิวัติทางเศรษฐกิจ : สืบสาวความคิดหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

9
เมษายน
2566

ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านในระบบการเมือง แม้จะได้เริ่มต้นและคลี่คลายมาอย่างรอมชอมกันทั้งฝ่ายอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ ทว่าปัญหาและความขัดแย้งใหญ่ก็ไม่ได้มลายหายไปตามความรู้สึก ในปีรุ่งขึ้นก็เกิดกรณีที่นำไปสู่วิกฤตและจนก่อให้เกิดใช้กำลังเข้าต่อต้านและโค่นล้มการปฏิวัติของคณะราษฎรในกรณีกบฏบวรเดช (2476) “รอยร้าวของมรกต” เริ่มร้าวลึกและชัดขึ้นเมื่อรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดามีความขัดแย้งกับฝ่ายนำของคณะราษฎรมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ฝ่ายรัฐบาลพระยามโนฯ ตัดสินใจใช้มาตรการเด็ดขาด ด้วยการประกาศใช้ “พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและตั้งรัฐบาลชุดใหม่” ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ทั้งนี้มีมูลเหตุใหญ่มาจากความขัดแย้งในการเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจโดยฝ่ายคณะราษฎร ดังรู้จักกันดีในชื่อของ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของนายปรีดี พนมยงค์[1] และเรื่องคำสั่งห้ามไม่ให้ข้าราชการเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง ซึ่งหมายถึงสมาคมคณะราษฎร (ธำรงศักดิ์, 2543) ทำไมแค่เค้าโครงการเศรษฐกิจก็ถึงกับทำให้บรรยากาศที่รอมชอมกันมาก่อนหน้านี้ต้องมืดครึ้มขึ้นมาทันใด

 

คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ที่มา : 1 ปี หลังการอภิวัฒน์ : การเสนอความคิดเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ในระบบรัฐสภา โดย รวินทร์ คำโพธิ์ทอง
คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์)
ที่มา : 1 ปี หลังการอภิวัฒน์ : การเสนอความคิดเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ในระบบรัฐสภา โดย รวินทร์ คำโพธิ์ทอง

 

การนำเสนอและวิเคราะห์เค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ในวันนี้จะไม่พูดถึงเรื่องที่ได้เคยมีการวิจารณ์กันมามากแล้ว อันได้แก่ปัญหาทางการเมืองที่สมาชิกคณะราษฎรจำนวนมากยังไม่เข้าใจ และการปฏิบัติของเค้าโครงฯ นี้ว่าจะทำได้จริงๆ ไหม หรือเป็นความคิดที่ลอกมาจากยุโรปอย่างไม่เข้ากับสภาพของสังคมสยามเลย

สิ่งที่ผมอยากทำในวันนี้คือการศึกษาเค้าโครงฯ นี้ ในฐานะที่เป็นเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของสยาม การศึกษาต้องการค้นหาว่าผู้เขียนคือนายปรีดี มีแนวความคิดและความเข้าใจในประเด็นทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ซึ่งจะครอบคลุมถึงการพิจารณาสถานภาพของวิชาเศรษฐศาสตร์ในสยามด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจคือการปรากฏตัวของวิชาเศรษฐศาสตร์ในกรุงสยามในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้สร้างแรงปฏิกิริยาและถึงต่อต้านจากชนชั้นนำและผู้มีอำนาจของรัฐอย่างมาก ถึงขั้นที่รัชกาลที่ 6 ทรงวิพากษ์วิจารณ์หนังสือทรัพยศาสตร์ที่เขียนโดยพระยาสุริยานุวัตอย่างหนัก ว่าไม่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริงและความต้องการของคนในสังคมสยามขณะนั้นเลย ที่สำคัญคือการไม่ยอมรับหลักการอันเป็นวิธีวิทยาในทางเศรษฐศาสตร์ที่วิเคราะห์และนำเสนอหนทางในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ เพราะการยอมรับทฤษฎีนั้นเท่ากับเป็นการยอมรับด้วยว่าในสังคมสยามมีคนจน มีคนที่ไม่ได้ทำการผลิตอย่างถูกต้องเหมาะสม มีการกระจายแจกจ่ายทรัพยากรในการผลิตรวมไปถึงผลิตผลและความมั่งคั่งอย่างไม่เป็นธรรม

นัยโดยรวมของการปล่อยให้มีการศึกษาและเผยแพร่ความรู้และความคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ดังกล่าว ในระยะยาวจะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานต่างๆ ของรัฐบาลอย่างมากมาย เพราะปัญหาเรื่องปากท้องนั้นไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเป็นเรื่องที่มีมาแต่ไหนแต่ไร ต่อให้ปกครองด้วยอำนาจและข้าราชการเก่งแค่ไหนก็หนีไม่พ้นที่จะต้องมีคนไม่พอใจและไม่เห็นด้วย

ในประการสำคัญสุดท้าย คือความรู้แบบเศรษฐศาสตร์เช่นนี้ที่ทำตัวเหมือนกับเป็นความจริงสูงสุด จะเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงความล้มเหลวและความไม่เป็นธรรมในนโยบายและการบริหารปกครองของรัฐบาลนั้นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในทางความคิดการเมืองของสยามเก่านั่นคือสัญญาณของการเสื่อมสลายและสิ้นสุดบุญบารมีของพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้นการศึกษาและเผยแพร่วิชาเศรษฐศาสตร์จึงทำไม่ได้ในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

การที่ข้อเสนอและแนวความคิดในเค้าโครงฯ เป็นสิ่งที่ชนชั้นนำสยามเก่ารับไม่ได้ ก็เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นนั้น มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ทั้งต่อหน้าและลับหลังของคนที่มีฐานะและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทั้งหลาย นี่จึงเป็นพลังทางวัตถุที่จะเกิดขึ้น แต่มันไม่หยุดเพียงแค่นี้ นโยบายเศรษฐกิจใหม่นี้จะไปสร้างพลังให้แก่อุดมการณ์และความคิดทางการเมืองที่กำลังสถาปนาขึ้นมา อันจะทำให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยมีพลังและอำนาจที่เป็นวัตถุในมืออย่างแท้จริง มันจะไม่ใช่เป็นแค่การเปลี่ยนแปลง ทางการเมืองมีผลสะเทือนต่อความคิดนามธรรมในเรื่องอำนาจและสิทธิของบุคคลในรัฐ ซึ่งในที่สุดก็จะ “ดีแต่พูด” แต่ไม่ปรากฏผลในการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมแก่ราษฎรขึ้นมา ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจกระเทือนต่อผลประโยชน์อันแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมของคนในสังคม

การนำเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจมักมีการโต้เถียงกันมากจนทำให้รู้สึกว่าปัญหาเศรษฐกิจนี้กระทบกระเทือนอย่างมากต่อผู้คนในสังคมหรือประเทศมากกว่าการกระทบกระเทือนของปัจจัยอื่น ก็เนื่องมาจากว่าปัจจัยเศรษฐกิจอันนั้นกระเทือนใกล้กับการดำรงอยู่ของชนชั้นนำและชนชั้นปกครองมากที่สุด แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจสำคัญที่สุดและเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดชนชั้น ในความเป็นจริงชนชั้นปกครองเกือบทุกแห่งฉลาดพอที่จะรู้ว่าการท้าทายของอุดมการณ์บางชนิดนั้นมีอันตรายพอๆ กับผลกระทบทางเศรษฐกิจเหมือนกัน แต่พวกเขาจะไม่ตอบโต้อย่างเอาจริงเอาจังจนกว่าการท้าทายเหล่านั้นจะเป็นหรือมีแนวโน้มจะเป็นประเด็นทางการเมืองขึ้นมา

ยิ่งถ้ากลุ่มคณะที่ต้องการทำการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมีอำนาจปกครองในมือด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ฝ่ายที่ไม่มีอำนาจแต่มีอิทธิพลยอมรับการกระทำดังกล่าวนั้นไม่ได้ ดังที่นายปรีดีมีความเชื่อมั่นในพลังและความสมัยใหม่ของนโยบายเศรษฐกิจดังกล่าวอย่างมาก ถึงกับกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ไม่ใช่ Coup d’état เป็น revolution ทางเศรษฐกิจ ไม่มีในทางปกครองซึ่งเปลี่ยนจากพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายคนเท่านั้น” (เดือน, 2552, 128)

สิ่งที่เค้าโครงฯ จะทำการเปลี่ยนแปลงก็คือการย้ายอำนาจเหนือที่ดินจากพระเจ้าแผ่นดินที่เคยมีมาแต่โบราณกาลมาเป็นอำนาจเหนือที่ดินของรัฐ ซึ่งกำลังจะถูกทำให้เป็นรัฐของราษฎร ถ้าหากคณะราษฎรทำได้ตามจุดหมายในเค้าโครงการฯ นี้ ก็หมายความว่าการปฏิวัติยึดทั้งอำนาจในทางการเมืองและในทางเศรษฐกิจก็จะเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็จะกลายเป็นการปฏิวัติที่แท้จริงตามนิยามสมัยใหม่

ในระหว่างการต่อสู้อันแหลมคม เมื่อผลประโยชน์ของชนชั้นถูกท้าทายนี่แหละที่อุดมการณ์ของชนชั้นจึงแสดงบทบาทอันทรงพลังของมันออกมา จึงไม่ต้องแปลกใจที่ทำไมสมาชิกคณะราษฎรสายทหารกับพลเรือนต้องมาแตกกันอย่างแรงในปัญหาเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจ ไม่ใช่ในปัญหาในโครงการทางการเมือง นักประวัติศาสตร์ เช่น ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ฟันธงว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ นี่แหละเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่ความแตกแยกและความพ่ายแพ้ในที่สุดของคณะราษฎร

เพื่อจะเข้าใจและเห็นความคิดของนายปรีดีกระจ่างขึ้นในเรื่องแผนการปฏิวัติทางเศรษฐกิจนี้ เราเริ่มพิจารณาภาพรวมของโครงการเศรษฐกิจนี้ก่อน กล่าวกันว่านายปรีดีนำมาจากหลักเศรษฐศาสตร์การเมืองของศาสตราจารย์ชาร์ลส จี๊ด และ ชาร์ล รีส แห่งมหาวิทยาลัยกรุงปารีสสมัยที่นายปรีดีไปศึกษาในฝรั่งเศส ในการศึกษาของผมซึ่งให้น้ำหนักไปที่การผสมผสานระหว่างความคิดในประเทศกับนอกประเทศของปัญญาชนสยาม ผมจึงมองว่าแนวคิดในเค้าโครงการเศรษฐกิจก็เช่นกัน ที่นายปรีดีได้นำเอาความคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองยุโรปมาผสมกับความคิดความเข้าใจเศรษฐกิจในสยามเองด้วย

กล่าวกันว่าความคิดทฤษฎีทางเศรษฐกิจในตะวันตกนั้น เป็นการสร้างและต่อยอดขึ้นมาของนักคิดในสังคม โดยมีพัฒนาการมาจากแนวความคิดสองเรื่อง แนวคิดแรกเป็นแนวคิดเชิงปรัชญาของนักปรัชญาที่อภิปรายถึงประเด็นปรัชญาของสังคมและการเมือง กับ แนวคิดอันที่สอง ที่พูดถึงเรื่องราวที่เป็นการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เช่น การผลิต การวิภาคแจกจ่ายและการสร้างความมั่งคั่ง ความคิดทางเศรษฐศาสตร์จึงก่อรูปและพัฒนามาในประวัติศาสตร์ปรัชญาและปฏิบัตินิยม (Schumpeter, 1954) ทุกสังคมไม่ว่าสยามหรือยุโรปจึงสามารถค้นหาความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของตนเองได้ทั้งนั้น โดยพิจารณาศึกษาจากประวัติศาสตร์สองด้านดังกล่าวแล้ว

ในเรื่องความคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองของนายปรีดีก็เช่นกัน เราสามารถสืบค้นที่มาและการพัฒนาของความคิดทางเศรษฐกิจของท่านได้เหมือนกัน ก่อนที่จะไปได้รับอิทธิพลและแรงกระตุ้นในการคิดเชิงปรัชญาเศรษฐศาสตร์การเมืองจากบรรดานักคิดทฤษฎียุโรปหลายคน นักคิดคนสำคัญๆ ในสมัยนั้น เช่น ชาร์ล จี๊ด เป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งของฝรั่งเศส เป็นผู้พัฒนาและสืบทอดความคิดสังคมนิยมฝรั่งเศสของแซงต์ซิมอง, ฟูริแอร์, ปรูดอง, และหลุยส์ บลัง ต่อมาสร้างแนวคิดลัทธิโซลิดาริสม์ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากลัทธิสังคมนิยมสำนักต่างๆ

แกนหลักในความคิดเศรษฐศาสตร์ของนายปรีดีจึงได้แก่แนวคิดหลักของลัทธิโซลิดาริสม์ คือถือว่า “มนุษย์ที่เกิดมาย่อมเป็นเจ้าหนี้ต่อกัน เช่นคนจนนั้นเพราะฝูงชนทำให้จนก็ได้....หรือที่คนรวยเวลานี้ไม่ใช่เพราะแรงงานของตนเลย… ฉะนั้น จึงถือว่ามนุษย์ต่างมีหนี้ตามธรรมจริยาต่อกัน จึงจำต้องร่วมประกันภัยต่อกันและร่วมในการประกอบการเศรษฐกิจ” (เดือน, 2552, 128)

ในเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี แนวคิดที่สำคัญคือการมองสังคมแบบร่วมมือกันไม่ใช่แบบตัวใครตัวมัน มือใครยาวสาวได้สาวเอา ถามว่าแนวคิดและวิธีการมองแบบนี้เป็นของตะวันตกทั้งหมดหรือ คนที่ตอบว่าใช่ก็จะอธิบายว่าถ้าเช่นนั้นเค้าโครงฯ นี้ ก็มีอิทธิพลของลัทธิโซลิดาริสม์และสังคมนิยมแบบตะวันตกเป็นสำคัญ แล้วต่อไปถึงทำให้นายปรีดีกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วยเพราะเชื่อในระบบสังคมนิยม นั่นเป็นวิธีการมองแบบด้านเดียวและอัตวิสัย ด้านหนึ่งสะท้อนอคติของนักวิชาการไทยด้วยกันเอง ที่มักไม่คิดว่าคนไทยด้วยกันเองจะสามารถมีความคิดทันสมัยได้ นอกจากต้องเป็นการคิดเลียนแบบของตะวันตกเท่านั้น ดังได้วิเคราะห์แต่ต้นแล้วในเรื่องความคิดทางการเมืองของนักคิดและปัญญาชนสยามยุคหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างเก่ากับใหม่ ว่าความคิดสยามก็มีชุดความคิดของตนเองและมีการพัฒนาไปตามยุคสมัยด้วยเช่นกัน

สมัยที่นายปรีดีเป็นนักเรียนนอกที่ฝรั่งเศส นักเรียนไทยในปารีสมีการพูดถึงบทบาทของ “ภูมิปัญญา” และ “การอนุเคราะห์” กันและกัน แน่นอนว่าแนวคิดทำนองนี้เป็นของสำนักฝ่ายหัวเอียงซ้ายทั้งหลาย แต่จริงๆ ก็มีรากเหง้าจากความคิดทางศาสนาคริสเตียนด้วยเช่นกัน ทำนองเดียวกับการคิดเรื่องการช่วยเหลือเกื้อกูลพึ่งพากันก็มีมาก่อนแล้วในสังคมเกษตรกรรมสยามไทยแต่โบราณ ซึ่งมีการสั่งสอนและปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาในเรื่องของความเมตตากรุณาระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก่อนแล้ว

หลังจากกลับมาทำงานในกระทรวงยุติธรรม นายปรีดีให้ความสนใจในปัญหาของความจน โดยมองว่า คือมาจาก “ความขาดแคลนในสิ่งที่จำเป็นสำหรับความเป็นอยู่ เช่นการขาดอาหาร สถานที่อยู่ เครื่องอุปโภคต่างๆ หรือนัยหนึ่งที่เราเรียกกันว่า “ความจน” นายปรีดีอธิบายต่อไปว่า ความจนอาจเกิดขึ้นจากสภาพธรรมดา เช่น ฝูงชนที่อยู่ในภูมิประเทศ หรืออากาศที่ไม่เหมาะและความจนอาจเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลซึ่งอาจเป็นได้จากการที่บุคคลใดๆ ได้ทำตนของตนเองอย่างหนึ่งมีอาทิ ความเกียจคร้าน ความสุรุ่ยสุร่าย ความไม่เหมาะแก่ภูมิประเทศ การเสพของมึนเมาจนติดตัว ….ความสุรุ่ยสุร่ายหรือความจนอาจเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลอื่น เช่นชาวนาที่ทำการเพาะปลูกได้ข้าวดี แต่ถูกพวกซึ่งเรียกกันว่า “เจ้าทุ่ง” กดราคาเสียให้ต่ำดั่งนี้เป็นต้น” ข้อความท่อนสุดท้ายนี้ อาจแรงที่สุดในการวิเคราะห์ปัญหาความจน ว่าไม่ใช่เกิดจากกรรมของคนคนนั้นแต่อย่างเดียว หากแต่ยังอาจเกิดขึ้นมาจากการกระทำของคนอื่นที่มีอิทธิพลในท้องถิ่นได้ด้วย

จึงเป็นการวิเคราะห์ที่แคบและตื้นเขินมากหากจะเหมาว่าความคิดในการอนุเคราะห์กันนั้นไปถึงระบบสหกรณ์เป็นเพียงความคิดโซเชียลลิสม์ของตะวันตกฝ่ายเดียว ดังที่นายปรีดีอธิบายว่ามนุษยชาติตั้งแต่ปฐมกาลมีทรรศนะประชาธิปไตย “ปวงชนชาวไทยก็ยังรักษาคติประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและทางทรรศนะไว้ได้หลายประการ เช่น การร่วมมือกันลงแขกในการทำนา การสร้างโรงเรือนบ้านพักในชนบท และการประพฤติตามธรรมจริยาหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” (ปรีดี 2517, 146)

ลักษณะเด่นประการแรกในเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ได้แก่การที่มันไม่ได้ให้น้ำหนักและจุดหมายไปที่การสร้างและพัฒนาระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมหรือเสรีที่กำลังเติบโตแพร่หลายไปทั่วโลกในสมัยนั้นแต่ประการใด ตรงกันข้ามความคิดหลักในเค้าโครงฯ คือระบบหรือลัทธิสหกรณ์ อันเป็นรูปแบบของการผลิตและกรรมสิทธิ์ที่ไม่ใช่ของปัจเจกบุคคลหรือทุน หากแต่เป็นของส่วนรวมหรือชุมชนและรัฐ

รูปแบบหลักของการผลิตในเค้าโครงการฯ คือการใช้ระบบสหกรณ์ เพราะลำพังรัฐบาลไม่อาจควบคุม และดำเนินการเศรษฐกิจให้ทั่วถึงได้ จำต้องแบ่งการประกอบการออกเป็นสหกรณ์ต่างๆ สหกรณ์เหล่านี้จะประกอบการเศรษฐกิจครบรูป คือในด้านการผลิตด้านการจำหน่ายและขนส่ง ไปถึงการหาเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่สมาชิก ร่วมกันสร้างสถานที่อยู่อาศัย ไปถึงการปกครองตนเองในรูปของเทศบาล สหกรณ์ยังสามารถดำเนินการด้านการศึกษาให้แก่สมาชิก การสาธารณสุข การป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ไปถึงด้านการทหารอีกด้วย

แนวคิดสหกรณ์ที่เป็นสมัยใหม่นี้ทราบกันดีว่าเป็นของนักสังคมนิยมฝรั่งเศสชาร์ลส ฟูริแอร์ (ทิพวรรณ, 2531) ซึ่งเสนอให้สร้างหมู่บ้านหรือโรงแรมสหกรณ์ที่เรียกว่า ฟาลังสะแตร์ (Phalanstere) แต่ระบบสหกรณ์ของนายปรีดีแตกต่างจากฟาลังสะแตร์ของฟูริแอร์ ตรงที่สหกรณ์ควบคุมและเกิดจากรัฐ ในขณะที่ฟาลังสะแตร์จัดตั้งขึ้นโดยสมัครใจของสมาชิก รวมทั้งเงินทุนด้วยก็ไม่ได้มาจากของรัฐ ข้อแตกต่างอีกประการของความคิดทั้งสองท่าน คือฟูริแอร์เสนอให้กลับไปหาธรรมชาติ กลับไปหาผืนดินและเกษตรกรรม เป็นการปฏิเสธลัทธิอุตสาหกรรม ตรงกันข้ามนายปรีดีซึ่งอยู่ในสังคมเกษตรกรรมและยังไม่ได้ถูกขูดรีดโดยลัทธิอุตสาหกรรม นายปรีดีจึงไม่เสนอให้สหกรณ์สยามกลับไปสู่ทฤษฎีธรรมชาตินิยม (ผืนดิน) ดังเช่นของฟูริแอร์

ความคิดในประเด็นต่อมาคือว่าด้วยแรงงาน ซึ่งสะท้อนปรัชญาสังคมของนายปรีดีด้วยคือมโนทัศน์ที่เห็นว่า แรงงานที่มีประโยชน์คือแรงงานที่มีงานทำ ไม่ใช่อยู่ว่างเปล่าเฉยๆ ดังเช่นพวกหนักโลกหรือโซเชียลปาราสิต นายปรีดีไม่ได้มองแรงงานว่าคือแหล่งที่มาของทรัพย์สินหรือความมั่งคั่ง จึงไม่เห็นมูลค่า (ในความมั่งคั่ง) ว่ามีที่มาจากแรงงาน หากแต่มุ่งความสนใจไปที่การทำงานและการให้ความเสมอภาคแก่ราษฎรผู้ใช้แรงซึ่งในความคิดของนายปรีดีคือการทำราชการ เพราะ “นิสัยคนไทยชอบทำราชการ คือชอบเอาแรงงานของตนมาแลกกับเงินเดือนของรัฐบาล” (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, 2476) ดังนั้นแรงงานและการทำงานในทรรศนะของนายปรีดีจึงไม่ได้มีจุดหมายที่จะนำไปสู่ความเป็นอิสระเสรีของราษฎรแต่ละคนโดยผ่านการใช้แรงงานไปสร้างมูลค่าขึ้นมา ดังทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คลาสสิก (ล๊อคและอดัม สมิธ) ที่ให้ความสำคัญแก่มูลค่าและทรัพย์สินส่วนตัวว่าเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการสร้างเสรีภาพให้แก่คน

น่าสังเกตยิ่งว่า แม้ปมเงื่อนอันเป็นใจกลางของการคัดค้านและโค่นล้มเค้าโครงฯ นี้ จริงๆ แล้วคือปัญหาว่าใครเป็นเจ้าของแผ่นดินสยามนี้ทั้งหมด แต่ในการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ในเอกสารที่เรียกกันว่า “พระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 7” หรือ “สมุดปกขาว” นั้น ประเด็นใหญ่ๆ ที่โต้เถียงกันกลับหนักไปทางอุดมการณ์ในปัญหาเรื่องความเป็นมนุษย์หรือเป็นทาสของราษฎรไม่ใช่ปัญหาในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ดังข้อความที่ว่า

 

“แต่ผู้เขียน (พระบรมราชวินิจฉัย) นึกว่าสภาพการเป็นสัตว์หรือทาสกับความเป็นมนุษย์และความเป็นไทยนั้นมีข้อสำคัญที่ต่างๆ กันอยู่คือ มนุษย์นั้นย่อมต้องได้เสรีภาพ จึงจะจัดว่าอยู่ในสภาพของมนุษย์ ถ้ามนุษย์ไม่มีเสรีภาพความเป็นไทยที่จะทำอะไรในทางที่ถูกกับกฎหมายได้ด้วยใจสมัครตลอดชีวิตแล้ว เมื่อนั้น ความเป็นมนุษย์กลายเป็นสัตว์หรือเป็นทาสทันที การที่ระวังมิให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์นั้นก็ต้องระวังในข้อนี้เท่านั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพียงแต่จะจัดให้มีเบี้ยบำนาญ ให้มีของกิน ให้มีบ้านอยู่ ให้มีกฎหมายลักษณะ ผัวเมียเท่านั้นไม่ใช่ข้อสำคัญเพราะสัตว์ที่เราเลี้ยง เราใช้ก็ย่อมต้องให้สิ่งเหล่านี้อยู่เหมือนกัน” (เน้นโดยผู้เขียน)

 

เค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือ สมุดปกเหลือง และ พระบรมราชวินิจฉัย หรือ สมุดปกขาว จัดพิมพ์ในทศวรรษ 2490 ที่มา : 1 ปี หลังการอภิวัฒน์ : การเสนอความคิดเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ในระบบรัฐสภา โดย รวินทร์ คำโพธิ์ทอง
เค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือ สมุดปกเหลือง และ พระบรมราชวินิจฉัย หรือ สมุดปกขาว
จัดพิมพ์ในทศวรรษ 2490
ที่มา : 1 ปี หลังการอภิวัฒน์ : การเสนอความคิดเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ในระบบรัฐสภา โดย รวินทร์ คำโพธิ์ทอง

 

พื้นฐานของคำวิจารณ์นี้อยู่ที่ว่า เค้าโครงฯ จะต้องบังคับให้ราษฎรทำราชการแบบ “ออกแรงขุดดิน” ซึ่งคนส่วนใหญ่คงไม่ต้องการ ส่วนภาพรวมของระบบโซลิดาริสม์และระบบสหกรณ์นั้น พระบรมราชวินิจฉัยฯ ไม่ได้มองไปที่แนวคิดลัทธิสังคมนิยมฝรั่งเศส ซึ่งหลายอันก็เป็นลักษณะเพ้อฝัน หากแต่พิเคราะห์และจินตนาการเอาเองจากหนังสือที่เล่าถึงสภาพสังคมและเศรษฐกิจสังคมนิยมในสหภาพโซเวียต ซึ่งคือระบบกรรมสิทธิ์รวมหมู่ (คอมมูน) โดยรัฐและต้องใช้กำลังบังคับเข่นฆ่ากันตายเป็นเบือ จนเกิดการอดอยากอาหารเครื่องใช้ขาดแคลนในสังคมโซเวียตสมัยสตาลินขึ้น

การที่ “สมุดปกขาว” ต้องการวิพากษ์และโค่นล้มหลักการให้ราษฎรเป็น “ข้าราชการ” ได้ตามใจ ซึ่งตรงกันข้ามกับสภาพที่เป็นจริงที่ผ่านมาของราษฎรในระบอบเก่า ว่าสิ่งที่ราษฎรเป็นสุขยิ่ง คือการที่ไม่ต้องมาทำราชการให้หลวงนั่นเอง ดังนั้น ตรรกและปรัชญาที่สามารถใช้โต้เถียงกับลัทธิสังคมนิยมได้อย่างถึงลูกถึงคนก็ต้องมาจากลัทธิเสรีนิยมนั่นเอง ด้วยการให้ความสำคัญกับเสรีภาพของปัจเจกชน อันถือเป็นบรรทัดฐานของความเป็นมนุษย์ในความคิดทางการเมืองของกระฎุมพีตะวันตกที่ทรงพลังในศตวรรษก่อนหน้านั้น เช่นการอ้างถึงเสรีภาพในทรัพย์สินส่วนตัว กับสิทธิในการประกอบอาชีพและจับจองที่ดินเป็นต้น

ประวัติศาสตร์ของระยะผ่านในระบบราชาธิปไตยฯ นี้ จึงมีความย้อนแย้ง (irony) ที่น่าสนใจ กล่าวคืออุดมการณ์ของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ได้นำเสนอใน “พระบรมราชวินิจฉัยฯ” นั้นกลายเป็นอุดมการณ์ลิเบอรัลหรือเสรีนิยม ไม่ใช่อนุรักษนิยมหรือจารีตนิยมดังที่ควรจะเป็น

 

“เมืองไทยเรานั้น เมื่อครั้งยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ ราษฎรก็ไม่เคยถูกตัดเสรีภาพถึงเพียงนี้ ใครจะทำมาหากินอย่างไรในทางที่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่มีใครห้าม นอกจากนั้นพระเจ้าแผ่นดินของไทยยังสั่งให้เลิกทาส แต่มาบัดนี้เมื่ออำนาจสูงสุดตกอยู่กับราษฎรแล้ว แทนที่จะมีเสรีภาพมากขึ้น พวกท่านที่ชำนาญต่างๆ กลับตัดเสรีภาพของเขามากขึ้นเสียกว่าเดิมอีก และตัดสิทธิไม่ให้ราษฎรทำนา ตัดสิทธิไม่ให้ราษฎรทำอาชีพตามลำพัง โดยสะดวกและห้ามไม่ให้จับจองที่ดินโดยง่าย สิทธิเหล่านี้ล้วนเป็นมรดกตกลงมาแต่โบราณกาล มาบัดนี้ราษฎรกลับกลายเป็นทาสไปอีก เพราะโครงการเศรษฐกิจอันนี้ แต่ไม่ใช่ทาสของคนธรรมดา เป็นรัฐทาสซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงสมบูรณาญาสิทธิก็ไม่ทรงทำความเดือดร้อน…” (“พระบรมราชวิจฉัยฯ” , อ้างใน, เดือน, 2552)

 

ฝ่ายคณะราษฎรและเค้าโครงฯ เชื่อว่าเสรีภาพและความเสมอภาคนั้นอยู่ที่ท้อง ไม่ได้อยู่ที่หัวหรือใจ ซึ่งสอดคล้องกับการประกาศและพูดถึงหลักการมีสิทธิเสมอกันและหลักการเสรีภาพของราษฎรในแถลงการณ์ ซึ่งนับแต่วันแรกของการประกาศคณะราษฎร ก็ไม่ได้พูดถึงเสรีภาพอย่างนามธรรมที่มีลักษณะทั่วไป หากแต่เป็นเสรีภาพที่ “ไม่ขัดกับหลักอื่นๆ” กล่าวคือเป็นเสรีภาพที่มีขอบเขตนั่นเอง

ลองเปรียบเทียบกับคำประกาศเอกราชของสหรัฐฯ ซึ่งเจฟเฟอร์สันร่าง จะเห็นพลังของอุดมการณ์สิทธิเสรีภาพในทางนามธรรม หรือเสรีภาพที่ไม่มีขอบเขตเพราะเขาเชื่อว่ามันเป็นสิ่งทั่วไปดำรงอยู่ในทุกแห่งและเป็นนิรันดร์ ความคิดเรื่องเสรีภาพและสิทธิแบบเสรีนิยมจึงสอดคล้องกับท่าทีและนโยบายเศรษฐกิจลัทธิเสรีนิยมและระบบทุนนิยม ซึ่งนายปรีดีเรียกว่า “เศรษฐกิจปล่อยให้ต่างคนต่างทำ” อันจะนำมาซึ่งความปั่นป่วนและไร้หลักประกันในชีวิตของคนธรรมดา

ความไร้ศรัทธาในระบบทุนเห็นได้แจ่มชัดในการวิพากษ์เรื่องเงินตราในการเศรษฐกิจ โดยนายปรีดีกล่าวว่าเงินนั้นไม่สำคัญ (ที่สุด) ต่อการมีชีวิตของคนกระทั่งเสรีภาพในลัทธิเสรีนิยมก็เปรียบเสมือน “เสรีภาพในกรงสุนัขจิ้งจอก” การให้ราษฎรทั้งหมดเข้าเป็นข้าราชการและรัฐบาลประกอบการเศรษฐกิจเองนั้นจึงไม่ใช่เป็นการตัดเสรีภาพของราษฎร ซึ่งไม่ได้รับเสรีภาพจริงๆ อยู่แล้วภายใต้ระบบเศรษฐกิจศักดินานิยม แต่ภายใต้เค้าโครงฯ และระบบสหกรณ์ราษฎรยังคงมีสิทธิเสรีภาพในเรื่องอื่นๆ เช่น ในร่างกาย ในทรัพย์สิน ในเคหะสถาน ในการพูด การศึกษาและสมาคม

นายปรีดีสรุปว่าประการสำคัญการมีความสุขภายในเศรษฐกิจต่างหาก ที่จะช่วยทำให้ราษฎรมีความสุขกายไปด้วย “ราษฎรจะต้องการเสรีภาพโดยไม่มีอาหารรับประทานเช่นนั้นหรือทั้งนี้ไม่ใช่ความประสงค์ของราษฎรเลย” (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, 2476, 103) ส่วนการให้ราษฎรเข้าเป็นข้าราชการได้นั้น เป็น “ความเสมอภาค” ซึ่งนอกจากเสมอภาคกันบนกระดาษยังเป็นการเสมอภาคที่จะเข้ารับราชการ แม้จะเป็นในทางปกครองและในทางเศรษฐกิจก็ดี “ราษฎรจะมีสิทธิเสมอภาคกันในการที่จะไม่อดตาย”

กล่าวได้ว่าเป้าหมายหลักของการปฏิวัติซึ่งรัฐบาลคณะราษฎรแสดงออกผ่านกฎหมายและการดำเนินการปกครอง คือ การปลดปล่อยชนชั้นชาวนาหรือพลังการผลิตในสังคมศักดินา เช่น ภายในเดือนแรกรัฐสภาออกพระราชบัญญัติยกเลิกภาษีอากรที่ตกค้างมาจากระบอบศักดินา ในการเก็บค่าเช่าส่วนเกินจากชาวนาชาวไร่ในการผลิตและใช้แรงงานของพวกเขา เช่น ยกเลิกอากรนาเกลือ ยกเลิกภาษีสมภักษรอันได้แก่ภาษีเก็บจากไม้ล้มลุก ซึ่งคู่กับภาษีสวนหรืออากรสวนใหญ่อันเป็นไม้ผลยืนต้น แต่สองรายการนี้ก็ยังเป็นเงินรายได้ไม่มากนัก ที่มากกว่านั้นคือการลดพิกัดเก็บเงินค่านาซึ่งมีรายได้เข้ารัฐถึงปีละ 1 ล้าน 5 แสนบาท ทำให้เกิดการลดค่าภาษีอีกหลายรายการ เช่น ลดภาษีค่าที่ไร่อ้อย ภาษีต้นตาล โฉนด ภาษีไร่ยาสูบ เงินอากรสวนจาก ลดเงินค่าที่สวนในมณฑลนครศรีธรรมราชและตามมาด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการยึดทรัพย์สินของกสิกร อันเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวนาไทย จมปลักอยู่ในวัฏจักรแห่งความยากจนและความไม่รู้ในเรื่องของโลกและสังคมมาช้านาน

กล่าวโดยสรุป จากการพิจารณาถึงต้นตอที่มาและการก่อรูปของอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองของฝ่ายนำคณะราษฎร ทำให้ได้ข้อสังเกตว่า แนวคิดเศรษฐศาสตร์ในขณะนั้น ได้พัฒนาก้าวข้ามแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบเสรีนิยม ที่มองแรงงานว่าเป็นปัจจัยหนึ่งในกระบวนการผลิตแบบทุน หากแต่ได้นำเสนอมโนทัศน์ของแรงงานและราษฎร ในอีกลำดับขั้นของการพัฒนาที่เหนือกว่าและเป็นผลต่อเนื่องจากพัฒนาการในระบบทุนนิยมเอง เข้าสู่การเป็นเจ้าของและเป็นนายเหนือทุนและที่ดินเลย ในทางประวัติศาสตร์เป็นการนำเสนอที่ล้ำหน้าและราดิคัลยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นการยกระดับและนำราษฎรไทยจากระบบไพร่และแรงงานภายใต้พันธนาการ (unfree labor) ไปสู่ระบบสหกรณ์และสังคมนิยมโดยรัฐ ที่ราษฎรและแรงงานหลุดจากพันธนาการและอยู่ใต้การอุปถัมภ์ของนาย กลายเป็นนายเหนือตัวเองและไม่ใช่กลายไปเป็นแรงงานเสรีในตลาดทุนนิยม ที่ไม่มีเสรีภาพของตนเอง ด้วยการเป็นข้าราชการภายใต้รัฐโดยสมัครใจ เป็นแรงงานที่เป็นเจ้าของตัวเองและมีกรรมสิทธิ์ร่วมในปัจจัยการผลิตและในการปกครองด้วยอย่างเสมอภาคกัน

ในทางทฤษฎีกระบวนการดังกล่าวจึงเป็นการปฏิวัติอย่างแท้จริงและไม่น่าแปลกใจที่ เค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือพูดให้เจาะจงก็คือความคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองภายในเค้าโครงฯ ซึ่งอยู่ในมือของระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยได้นำไปสู่การเผชิญหน้าและการปะทะกันทางการเมืองระหว่างกลุ่มพลังต่างๆ ทั้งในคณะราษฎรกันเองและกับคณะเจ้านายอย่างที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้ อันนำไปสู่การยึดอำนาจคืน ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นการยุติการรอมชอมระหว่างคณะราษฎรกับคณะเจ้าลง จากนั้นเริ่มสถาปนารัฐบาลของคณะราษฎรขึ้นมาอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก.

 

คณะรัฐมนตรีและที่ปรึกษา ในสมัยรัฐบาลของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พุทธศักราช 2480
คณะรัฐมนตรีและที่ปรึกษา ในสมัยรัฐบาลของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พุทธศักราช 2480

 

บรรณานุกรม :

  • เดือน บุนนาค, 2552, ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผน เศรษฐกิจไทยคนแรก พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ, สายธาร.
  • ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, 2531, ปฐมทรรศน์ทางการเมือง ของ ปรีดี พนมยงค์, กรุงเทพฯ, สถาบันสันติประชาธรรม.
  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2543, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ, กรุงเทพฯ, สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • ปรีดี พนมยงค์, 2517, “ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ” ใน ปรีดีกับสังคมไทย, กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, 2476, “เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (สมุดปกเหลือง)” ใน เดือน บุนนาค ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผน เศรษฐกิจไทยคนแรก, พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ, สายธาร 2552.
  • Schumpeter, Joseph. 1954. Economic Doctrine and Method: An Historical Sketch. Tr. R. Aris. New York: Oxford University Press.

ที่มา : ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. การปฏิวัติทางเศรษฐกิจ ใน. แปดทศวรรษสยามปฏิวัติ: ความคิดว่าด้วยระบบประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่าน : ปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี พ.ศ. 2555 วันที่ 24 มิถุนายน 2555. (ม.ป.ท.: สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2555). หน้า 33-49.

หมายเหตุ : ตัดตอน, แก้ไขเล็กน้อย และตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ

 

[1] ในความเป็นจริงเรื่องราวของ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของนายปรีดี นี้ ไม่เป็นที่รับรู้และศึกษาอภิปรายกันอย่างกว้างขวางเปิดเผยมากนัก กล่าวได้ว่าภายหลังการรัฐประหาร 2490 เป็นต้นมาจนถึงปี 2500 แทบไม่มีใครเคยเห็นหรือได้ยินการพูดถึงหนังสือเล่มนี้เลย จน ดร.เดือน บุนนาค เขียนและพิมพ์ “ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส” ออกมาในปี 2500 แต่ก็ไม่มีการพูดถึงในทางวิชาการ กระทั่ง ชัยอนันต์ สมุทวณิช วิจารณ์หนังสือเล่มนี้ใน วารสารพัฒนบริหารศาสตร์ (ต.ค. 2512) อันนำไปสู่การเริ่มต้นอภิปรายโดยนักวิชาการรุ่นใหม่ในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ในปี 2513 ระหว่าง ปรีชา อารยะ (นามปากกาของวรพุทธิ์ ชัยนาม) ในเรื่อง “โปรดรอให้สุนัขตามวัดอดตายเสียก่อน” (มิ.ย. - ส.ค. 2513) ตามด้วยบทปฏิกิริยาจากชัยอนันต์ สมุทวณิช ใน “ปัญหาสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์” (ก.ย. - พ.ย. 2513) จากนั้นมาจึงกล่าวได้ว่าเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ได้มีการอภิปรายและศึกษากันอย่างจริงจังในวงวิชาการไทย.