ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

“การเลือกตั้ง 15 ธันวาคม 2500” หลักการและรูปแบบการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร 2500

16
กันยายน
2567

Focus

  • บทความนี้เกิดขึ้นช่วงบริบทหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยนายปรีดี พนมยงค์ ส่งสาส์นถึงนายสุกิจ นิมมานเหมินท์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นแล้วเขียนวิเคราะห์ประวัติศาสตร์การเลือกตั้งนับจากการเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2476 ถึงการเลือกตั้งทั่วไป '15 ธันวาคม 2500' พร้อมตั้งข้อสังเกตเรื่องความชอบธรรมและความเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองถึงวิธีการเลือกตั้งแบบ 'รวมเขต' และ 'แบ่งเขต' ด้วยสถิติการเลือกตั้งจากเอกสารราชการคือ รายงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของกระทรวงมหาดไทยเล่มที่ 2

 

 

 

ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกอาชีพย่อมมีนักวิชาการของตน และมีปัญญาพอวินิจฉัยได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญใดเป็นประโยชน์แก่อาชีพของตนและแก่ส่วนรวมของชาติ ข้าพเจ้าได้เคยชี้แจงแก่นักเรียนไทยในอังกฤษในการชุมนุมที่สมาคมนั้นเรียกว่า “สภากาแฟ” ซึ่งดำเนินไปเมื่อวันที่ 26 และ 27 ก.ค. 2516 นั้น ขอให้นักเรียนทุกคนซึ่งมีความรู้ทางทฤษฎีสูงเพียงใดก็ตาม จงอย่าประมาทปัญญาของมวลราษฎรที่แม้จะอ่านหนังสือไม่ออก แต่มีความสันทัดจัดเจนในทางปฏิบัติ ซึ่งนักเรียนควรศึกษาเพราะมีหลายปัญหาที่ตำราทางทฤษฎีไม่กล่าวไว้ แต่เราสามารถศึกษาได้จากมวลราษฎร

 

สาส์นถึงรองนายกรัฐมนตรี

ชานกรุงปารีส

วันที่ 15 ธันวาคม 2516

เรียน ฯพณฯ สุกิจ นิมมานเหมินท์ รองนายกรัฐมนตรี

ข้าพเจ้าในฐานะราษฎรคนหนึ่งและในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ตามประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งนี้มาโดยถูกต้องตามกฎหมายจนถึงขณะนี้ ได้เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีโดยจดหมายลงวันที่ 8 เดือนนี้แล้ว 1 ฉบับ (สำเนาเอกสารหมายเลข 1) หวังว่านายกรัฐมนตรีคงได้แจ้งให้ท่านและรัฐมนตรีในคณะทราบแล้ว

บัดนี้ข้าพเจ้ามีเรื่องเพิ่มเติมขอเสนอผ่านมาทางท่าน เพราะเห็นว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และการเมือง และได้มีประสบการณ์ในการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญหลายฉบับ จึงสามารถใช้ความคิดอาศัยกฎวิทยาศาสตร์มาประยุกต์กับวิทยาศาสตร์สังคมให้เป็นสัจจะได้ เมื่อท่านพิจารณาแล้วโปรดเสนอนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในคณะด้วย เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของมวลราษฎร จะเป็นพระคุณมาก

อนึ่ง เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ปวงชนจะต้องพิจารณา ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงขออนุญาตมอบสำเนาจดหมายนี้ให้แก่ราษฎรที่สนใจด้วย

1. กระแสข่าวที่ยืนยันโดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับ 8 ธันวาคม 2516 คอลัมน์ “งาแซง” ว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในการประชุมครั้งที่ 16 ได้มีมติเด็ดขาดให้ใช้วิธี “รวมเขต” ในการเลือกตั้ง

จึงเป็นอันว่าเสียงข้างมากในคณะกรรมการนั้นเห็นชอบด้วยกับฝ่ายที่ต้องการให้ใช้วิธี “รวมเขต” ซึ่งตรงกับความประสงค์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งรับสนองพระบรมราชโองการรัฐธรรมนูญชั่วคราว 9 พ.ย. 2490 มาตรา 97 ที่บัญญัติว่า

“.....วิธีเลือกตั้งให้ใช้วิธีรวมเขตจังหวัด” นับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ใช้วิธีเลือกตั้งแบบ “รวมเขต” รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ก็รับมรดกวิธีนั้น โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 86 ว่า “การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยตรงและลับและวิธีรวมเขต”

การร่างรัฐธรรมนูญ 2492 นั้นมีสิ่งที่เรียกว่า “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” จำนวนสมาชิก 40 คน ตั้งโดยรัฐสภาตามฉบับใต้ตุ่มจากวุฒิสมาชิกตามฉบับใต้ตุ่ม 10 คน จากผู้แทนรวมเขตตามฉบับใต้ตุ่ม 10 คน จากนอกสภา 20 คน ในจำนวนนั้นมีสมาชิกประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายข้างมาก ซึ่งรวมทั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ฯ ด้วย ผมหวังว่าท่านรองนายกฯ เข้าใจดีถึงสิ่งที่เรียกว่า “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” นั้นคือ “คณะกรรมาธิการวิสามัญ” ของรัฐสภาฉบับใต้ตุ่มนั่นเอง และเมื่อร่างเสร็จแล้วก็เสนอรัฐสภาที่ตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญใต้ตุ่มนั่นเองเป็นผู้พิจารณาลงมติให้เสนอคณะทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามเป็นรัฐธรรมนูญ 2492

ฉะนั้นฝ่ายประชาธิปัตย์ซึ่งรวมทั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ฯ จึงมีความประสงค์ตรงกันกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ซึ่งมีจอมพลถนอมและจอมพลประภาสร่วมด้วยนั้นในวิธีเลือกตั้งแบบ “รวมเขต”

ต่อจากนั้นมาจนกระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2511 โดยจอมพลถนอมกับจอมพลประภาสเป็นนายกฯ กับรองนายกรัฐมนตรีนั้น ก็ใช้วิธีเลือกตั้งแบบ “รวมเขต” ต่อมาเมื่อรัฐบาลซึ่งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้แถลงว่าจะต้องจัดให้มีรัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมายเลือกตั้งภายใน 6 เดือน ม.ร.ว.เสนีย์ฯ ก็ได้แถลงข่าวในหนังสือพิมพ์ว่าต้องการมีการเลือกตั้งแบบ “รวมเขต” ฉะนั้นเมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลปัจจุบัน ได้ลงมติเด็ดขาดแล้วให้มีการเลือกตั้งแบบ “รวมเขต” จึงนับได้ว่าตรงกับความประสงค์ของจอมพล ป.พิบูลฯ, จอมพลถนอม, จอมพลประภาส, ม.ร.ว.เสนีย์ฯ กับชาวประชาธิปัตย์แล้ว

ท่านรองนายกฯ ย่อมทราบประวัติการเลือกตั้งว่า การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อ 15 พ.ย. 2476 นั้น ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในระหว่างเวลาที่ใช้บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม แก้ไขเพิ่มเติม 2476 เป็นการเลือกตั้งโดยทางอ้อม คือราษฎรเลือกผู้แทนตำบลก่อน แล้วให้ผู้แทนตำบลเลือกผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง,

การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งที่ 2 เมื่อ 7 พ.ย. 2480 ได้ดำเนินตาม พ.ร.บ. นั้นที่แก้ไขเพิ่มเติมให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนโดยตรงโดยใช้วิธี “แบ่งเขต” จังหวัดที่มีพลเมืองมากออกเป็นเขตๆ เขตหนึ่งเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้ 1 คน,

การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งที่ 3 เมื่อ 12 พ.ย. 2481 ใช้วิธี “แบ่งเขต” อย่างครั้งที่ 2 ผู้แทนชุดนี้อยู่ในตำแหน่งตลอดเวลาที่ประเทศไทย อยู่ในสถานะสงคราม,

การเลือกตั้งครั้งที่ 4 เมื่อ 6 ม.ค. 2489 ใช้วิธีแบ่งเขตอย่างครั้งก่อนๆ การเลือกตั้งครั้งที่ 5 เมื่อ 5 ส.ค. 2489 อาศัยความตามมาตรา 91 แห่งรัฐธรรมนูญ 2489 ที่บัญญัติว่า “...ให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งในจังหวัดหนึ่งๆ ซึ่งมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนเพิ่มขึ้นกว่า 1 คน ให้มีจำนวนราษฎรใกล้เคียงกันเท่าที่จะแบ่งได้” (ท่านรองนายกฯ ได้รับเลือกจากองค์การเลือกตั้งของราษฎรให้เป็นพฤฒสมาชิก คงทราบหลักการตามรัฐธรรมนูญนี้ได้ดี)

2.1 ตามข่าวหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยฉบับที่ 4 ธ.ค. ปีนี้ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญฝ่ายเห็นควร “รวมเขต” ให้เหตุผลว่า

“ถ้าเลือกแบบแบ่งเขตจริงจะได้คน 2 จำพวก คือพวกประชาชนไม่ปรารถนาแต่มีเงินจะซื้อพรรคโดยไม่ต้องขอความนิยมจากประชาชน และพวกที่สองคือนักวิชาการศักดินาหรือขุนนางที่อยากเป็นผู้แทน แต่ไม่กล้าสู้หน้าประชาชน เป็นนักวิชาการขี้ขลาดที่เกาะชายกางเกงหัวหน้าพรรคเป็นการปล้นอำนาจปวงชนซึ่งถูกปล้นมา 40 ปีแล้ว”

สิ่งละอันพันละน้อยของคำกล่าวข้างบนนั้นตรงกับคำพูดของคนบางคนที่ดำเนินเป็นระยะๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา และข้อเขียนในหนังสือพิมพ์สยามรัฐบ้าง จึงมีข้อขัดแย้งอยู่ภายในตัวของคำพูดและข้อเขียนนั้นๆ เอง และขัดต่อข้อเท็จจริงที่ประจักษ์และเป็นการบริภาษไปถึง “ผู้แทนราษฎรชั่วคราว” เมื่อ 40 ปีก่อนนั้นด้วย และขัดต่อหลักวิชาสถิติซึ่งจะต้องนำมาประยุกต์แก่การเลือกตั้งที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านสำคัญรับรองว่าเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ (15 ธ.ค. 2500 สมัยนายพจน์ สารสิน นอกนั้นฝ่ายค้านสำคัญว่าไม่บริสุทธิ์ ยกเว้นสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ เมื่อ 2490) ซึ่งผู้ใช้ความคิดทางวิทยาศาสตร์และคำนวณสามารถรู้ความจริงว่าราษฎรไทยได้แสดงประชามติโดยตรงและโดยปริยายแล้วจากร้อยละของผู้มีสิทธิออกเสียงที่มาลงคะแนนว่าพอใจในวิธีแบ่งเขตหรือรวมเขต

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอชี้แจงเพื่อสัจจะตามข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ และตามหลักวิชาสถิติที่ประยุกต์ทางรัฐศาสตร์ไว้ในข้อต่อๆ ไป

2.2 ข้าพเจ้าหวังว่ามวลราษฎรจำนวนมากยังจำได้ว่าการเลือกตั้งวิธี “รวมเขต” เป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ของชาติไทยเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2491 ภายใต้ดำเนินการของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งมีนายควงฯ เป็นนายกรัฐมนตรี และ ม.ร.ว.เสนีย์ฯ เป็นรัฐมนตรีด้วยผู้หนึ่งนั้น เมื่อเลือกตั้งได้ผู้แทนชนิดดีตามเหตุผลของกรรมการฯ ดังกล่าวนั้น รัฐบาลฝ่ายประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งเมื่อ 21 ก.พ. ปีนั้น ครั้นถึงวันที่ 7 เม.ย. ปีนั้นเองรัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ลาออกเพราะนายทหารเพียง 4-5 คนขอให้ลาออก ในวันรุ่งขึ้นคือ 8 เม.ย. จอมพล ป.พิบูลฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

ครั้นถึงวันที่ 21 เม.ย. รัฐบาลพิบูลฯ ขอความไว้วางใจจากรัฐสภา เพราะตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2490 (ใต้ตุ่ม) บัญญัติไว้ว่าให้รัฐสภาอันประกอบด้วยวุฒิสมาชิกและสภาผู้แทนประชุมร่วมกันเป็นผู้ลงมติให้ความไว้วางใจในการที่รัฐบาลดำเนินการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสมาชิก ครั้งนั้นเป็นผู้ที่รัฐบาลประชาธิปัตย์เองเป็นผู้รับสนองฯ แต่งตั้ง ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนได้รับเลือกตั้งโดยวิธี “รวมเขต” ในวันประชุมนั้นจึงมีสมาชิกทั้งสองสภามาประชุมร่วมกันจำนวน 169 คน มีการพูดกันมากในที่ประชุม แต่ครั้นถึงเวลาลงมติมีผู้กล้าลงมติเพียง 96 คนเท่านั้น วุฒิสมาชิกและผู้แทนนอกนั้นเผอิญมีธุระไปห้องน้ำบ้าง ไปพักผ่อนที่สโมสรรัฐสภาบ้างเพราะพูดมาเหนื่อยแล้ว บางคนถือดีว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” ผลการลงมติคือให้ความไว้วางใจรัฐบาล 70 คะแนน ไม่ให้ความไว้วางใจเพียง 26 คะแนนเท่านั้น

ขอให้สังเกตว่าผู้กล้าคัดค้าน 26 คนนี้ มิใช่สมาชิกประชาธิปัตย์ทั้งหมดเพราะ ประชาธิปัตย์มีจำนวนมากกว่านั้น ฉะนั้นจึงมีผู้แทนอิสระ, ผู้แทนพรรคสหชีพ, ผู้แทนแนวรัฐธรรมนูญ ที่เคยสมัครโดยวิธีแบ่งเขตตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ร่วมอยู่ด้วย ชนรุ่นใหม่ควรใช้ความคิดตามตรรกวิทยาสามัญชนว่า เหตุไฉนผู้แทนชนิดรวมเขตซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นคนที่ประชาชนปรารถนา และไม่ขี้ขลาดจึงด้อยกว่าผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ซึ่งเลือกตั้งโดยวิธีแบ่งเขตประกอบด้วยสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งคนบางจำพวกเกลียดชังนักหนานั้นจึงกล้าร่วมสู้รัฐบาลพิบูลฯ เมื่อ 2487 คัดค้าน พ.ร.บ. ที่รัฐบาลพิบูลฯ เสนอจัดตั้งนครหลวงเพชรบูรณ์และพุทธบุรีมณฑล ซึ่งได้เกณฑ์ราษฎรไปทำงานในบริเวณที่สมัยนั้นมีไข้จับสั่นชุกชุม อันเป็นเหตุให้รัฐบาลพิบูลฯ แพ้คะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรแล้วต้องลาออก

2.3 เมื่อได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2492 ซึ่งมีผู้อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด อาทิ มีวุฒิสมาชิกซึ่งประธานองคมนตรีรับสนองฯ แต่งตั้ง และในบทเฉพาะกาลได้ยกยอดวุฒิสมาชิกซึ่งรัฐบาลประชาธิปัตย์รับสนองฯ แต่งตั้งตามฉบับใต้ตุ่มนั้นให้เป็นวุฒิสมาชิกตามฉบับ 2492 ด้วยนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2492

รัฐธรรมนูญ 2492 มาตรา 146 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อวุฒิสภาและสภาผู้แทน สภาผู้แทนเท่านั้นมีอำนาจลงมติให้หรือไม่ให้ความไว้วางใจ ส่วนวุฒิสภามีอำนาจตั้งข้อสังเกตไปยังสภาผู้แทนเพื่อประกอบการพิจารณาในการลงมตินั้นได้

รัฐบาลพิบูลฯ ได้เริ่มแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนเป็นเวลา 11 วัน นับตั้งแต่ 6 ก.ค. ปีนั้น และแถลงในวุฒิสภาอีก 3 วัน แล้วกลับมาลงมติในสภาผู้แทน ผลปรากฏว่าเมื่อวุฒิสมาชิกซึ่งบางคนถือว่าได้รับแต่งตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่สุดนั้น อภิปรายจบแล้วแต่ไม่มีข้อสังเกตไปยังสภาผู้แทนเพื่อประกอบการพิจารณาลงมติ

ต่อมาในวันที่ 29 เดือนนั้น สภาผู้แทนซึ่งสมาชิกได้รับเลือกตั้งตามวิธีรวมเขต ได้ประชุมเพื่อลงมติ มีผู้มาประชุม 102 คน มีผู้ให้ความไว้วางใจ รัฐบาลพิบูล 63 คน ไม่ให้ความไว้วางใจ 31 คน จึงมีผู้ถือคติ “อุเบกขา” 8 คน ในจำนวนคนที่กล้าไม่ให้ความไว้วางใจรัฐบาลพิบูลนั้นมีบุคคลสังกัดพรรคสหชีพ, แนวรัฐธรรมนูญ, อิสระ ที่เคย สมัครเป็นผู้แทนสมัยแบ่งเขตหลายคน มิใช่เพียงแต่สมาชิกประชาธิปัตย์เท่านั้นตามเหตุผลที่กล่าวในข้อ 2.2

2.4 ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับเลือกจากราษฎร เป็นผู้แทนราษฎรพระนครศรีอยุธยา เขต 2 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2489 และมีผู้แทนราษฎรมากหลายที่ได้รับการเลือกตั้งจากราษฎรโดยวิธีแบ่งเขต 4 ครั้ง ก่อนมีวิธีรวมเขตใน พ.ศ. 2490 นั้น ขอให้ราษฎรในเขตที่เลือกตั้งนั้น โปรดวินิจฉัยคำกล่าวของกรรมการฝ่ายรวมเขตว่ามีเหตุผลสมควรหรือไม่ที่จะประนามเราตามคำกล่าวอ้างนั้น

ในจำนวนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งโดยวิธีแบ่งเขตเมื่อ 6 ม.ค. 2489 นายควงฯ ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรพระนครเขต 2 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ เป็นผู้แทนราษฎรพระนครเขต 3, ต่อมาในการเลือกตั้งวิธีแบ่งเขตเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2489 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็ได้รับเลือกเป็นผู้แทนพระนครเขต 1 นิสิตนักศึกษามวลราษฎรน่าคิดว่าราษฎรในขณะนั้นมีความเห็นอย่างไรต่อท่านทั้งสาม แต่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญอาจถือว่าเป็นข้อยกเว้นเพราะภายหลังรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 แล้ว ท่านทั้งสามสมัครเป็นผู้แทนตามวิธีรวมเขต

2.5 ท่านนายกฯ ท่านรองนายกฯ และท่านรัฐมนตรีอีกหลายท่านที่เคยศึกษาในต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษและประเทศอื่นที่มีการเลือกตั้งวิธีแบ่งเขต ซึ่งราษฎรรู้จักระบบเลือกตั้งหลายชั่วคนก่อนท่านและข้าพเจ้าเกิดหลายร้อยปีนั้น คงทราบบ้างว่าคนอังกฤษและคนในประเทศที่ท่านเคยศึกษามีความเห็นอย่างไรต่อสมาชิกสภาผู้แทนของประเทศนั้น และท่านคงไม่เจาะจงปรักปรำเอาแต่ผู้แทนไทยที่เป็นคนในชาติเดียวกันกับท่าน ซึ่งเลือกตั้งโดยใช้วิธีแบ่งเขตว่าเป็นคนเลวตามที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวไว้

2.6 การหาว่าผู้แทนราษฎรหรือผู้แทนปล้นอำนาจปวงชนมา 40 ปีแล้วนั้น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิย่อมทราบรายชื่อของผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมานั้น เผอิญคำกล่าวว่าปล้นราษฎรมา 40 ปีกว่า แล้วนั้นได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ปีนี้ จึงมีเวลาเหลืออีก 6 วันที่ “ผู้แทนราษฎรชั่วคราว” ตั้งขึ้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2475 จะครบ 40 ปีภายหลังที่พ้นตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2476 นิสิตนักศึกษานักเรียนชนรุ่นใหม่อีกหลายคนยังไม่รู้จักรายชื่อ ข้าพเจ้าจึงขอนำรายชื่อผู้ที่ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารในนามของคณะราษฎรได้ตั้งให้เป็น “ผู้แทนราษฎรชั่วคราว” จำนวน 70 คน เพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ผู้แทนชุดนี้เองที่เป็นผู้พิจารณาลงมติขั้นสุดท้ายในร่างรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. 2475 ก่อนทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งหลายเรื่องพระองค์ได้สนพระทัยและพระราชทานพระราชดำริ ในจำนวน 70 นายนั้นมีสมาชิกคณะราษฎรเพียง 33 นายเท่านั้นอีก 77 นายเป็นผู้มีฐานันดรศักดิ์แห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และหลายราชตระกูลในพระราชวงศ์จักรี อาทิ

(1) เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (ม.ร.ว.สท้าน) แห่งราชตระกูลสนิทวงศ์ ผู้ซึ่งเป็นพระอัยกาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบัน นอกจากท่านเป็นผู้แทนราษฎรชั่วคราวแล้ว ท่านยังเป็น “กรรมการราษฎร” และเป็น “เสนาบดี” ชุดแรกของคณะราษฎรด้วย

(2) เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น) แห่งราชตระกูลเทพหัสดิน ซึ่งได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก ต่อมาท่านเป็นกรรมการราษฎรและเสนาบดีกระทรวงธรรมการอีกครั้งหนึ่ง เพราะคณะราษฎรปรารถนาดำเนินนโยบายขยายการศึกษาประถมศึกษาซึ่งท่านเป็นผู้ริเริ่มให้มี พ.ร.บ. ประถมศึกษา 2464 ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่สิ้นรัชกาลแล้วท่านพ้นจากตำแหน่ง การประถมศึกษาไม่ก้าวไปตามควร คณะราษฎรจึงเชิญท่านให้ดำเนินการก้าวหน้าต่อไป ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกประเภท 2 เมื่อ 9 ธันวาคม 2476 ท่านได้รับเลือกเป็นประธานสภาฯ อีกครั้งหนึ่งและดำรงตำแหน่งนี้ต่อมาอีกจนกระทั่งป่วยจึงขอลาออก

(3) เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น) แห่งราชนิกุลบุนนาค ซึ่งได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อจากเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

(4) นอกจากรายชื่อของท่านทั้งสามที่เป็นราชตระกูลและราชินิกุลแล้วก็ยังมีสมาชิกที่เป็นราชตระกูล “อิศรศักดิ์” “เดชาติวงศ์” “อิศรางกูร” และมีราชตระกูลเทพหัสดินอีก 1 ท่านและราชตระกูลสนิทวงศ์อีก 2 ท่าน คือ ม.ล.เดช กับ ม.ล.อุดม ซึ่งเป็นพระมาตุลาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2488 ม.ร.ว.เสนีย์ แห่งราชตระกูลปราโมชก็ได้รับเลือกจากสมาชิกประเภทที่ 2 ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกประเภทที่ 2 ท่านผู้นี้ก็เต็มใจโดยปฏิญาณในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า “จะรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนี้ (หมายถึงรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. 2475)” ต่อมาเมื่อถึงคราวเลือกตั้งวิธีแบ่งเขต ท่านก็สมัครตามที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้ว

ส่วนพระยามานวราชเสวีนั้น ท่านดำรงตำแหน่งผู้แทนราษฎรชั่วคราว, สมาชิกสภาผู้แทนประเภทที่ 2, พฤฒสมาชิก, ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, องคมนตรี ท่านเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และปัจจุบันเป็นองคมนตรี

ถ้าหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีวุฒิสภาซึ่งประธานองคมนตรีเป็นผู้เสนอพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้งวุฒิสมาชิก ในทางพฤตินัยประธานองคมนตรีก็ต้องได้รับความเห็นชอบจาก 2 ท่านนี้ด้วย หรือในกรณีที่ประธานองคมนตรีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้จึงให้คนใดใน 2 ท่านนี้อาจทำหน้าที่ประธานองคมนตรี

2.6 เรื่องการโกงปวงชนนั้น ถ้าเกิดขึ้นภายหลังรัฐประหาร 2490 ก็ดี หรือเกิดก่อนวันนั้น แต่คดียังไม่ขาดอายุความก็อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลภายหลังรัฐประหารนั้นที่จะต้องดำเนินการ และอยู่ในความรับผิดชอบของผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งโดยวิธีรวมเขตและวุฒิสมาชิกที่ได้รับแต่งตั้งตามที่บางคนอ้างว่าเป็นวิธีประชาธิปไตยที่สุดนั้น มีสิทธิเสนอให้รัฐบาลจัดการดำเนินคดีโดยตั้งเป็นกระทู้หรือให้ตั้งคณะกรรมาธิการของสภาฯ สอบสวนได้

ก. นักกฎหมายและนักศึกษากฎหมายรวมทั้งสามัญชนที่ใช้สามัญสำนึกนั้น ถ้าได้ยินคำโฆษณาว่าเกิดการโกงขึ้นในสมัยก่อนรัฐประหาร 2490 แล้วก็ขอให้ถามผู้โฆษณาว่าการโกงนั้นขาดอายุความในสมัยที่ผู้พูดอยู่ในรัฐบาลหรือเป็นวุฒิสมาชิกหรือเป็นผู้แทนโดยวิธีรวมเขตแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ขาดอายุความในสมัยที่ผู้พูดอยู่ในรัฐบาล ก็ขอให้ถามผู้พูด ซึ่งถ้าหากเขาเป็นนักกฎหมายว่าเขารู้อยู่แล้ว มิใช่หรือว่าตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 200 บัญญัติว่าพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสืบสวน กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบเพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งใดมิให้ต้องโทษหรือรับโทษน้อยลง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึง 7 ปี ฯลฯ ดังนั้นถ้าผู้โฆษณาเป็นรัฐมนตรีในขณะที่การโกงยังไม่หมดอายุความก็ต้องมีความผิดตามกฎหมายอาญาด้วยเพราะรู้อยู่แล้วว่ามีความผิดเกิดขึ้นแต่ไม่สั่งให้พนักงานดำเนินคดี ผู้โฆษณาจึงเป็นผู้สมรู้ ผู้ใช้สามัญสำนึกก็จะเข้าใจได้ว่าคำโฆษณานั้นเป็นการหลอกลวงให้หลงเชื่อยิ่งกว่าจะพูดโดยมีหลักฐาน

ข. ส่วนผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งวิธีรวมเขตภายหลัง 2490 คนใดรู้เรื่องการโกงแล้วไม่ตั้งกระทู้ให้รัฐบาลดำเนินการหรือให้สภาฯ ของตนตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวน คนนั้นก็ทำผิดแทนปวงชน เข้าลักษณะเป็นคนที่ประชาชนไม่ปรารถนาและขี้ขลาดที่จะดำเนินตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย คือเป็นคนดีแต่พูดนอกสภาฯ เพื่อหลอกเด็ก จึงต่างกับกรณีที่รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติมาเมื่อก่อน 2490 คือ

(1) ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยที่ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย และอธิบดีกรมตำรวจ ได้เคยสั่งจับรัฐมนตรี 2 คน ฐานทุจริตต่อหน้าที่ คนหนึ่งถูกศาลตัดสินลงโทษ อีกคนหนึ่งทำอัตวินิบาตกรรมในที่คุมขัง

(2) เมื่อจอมพล ป. พ้นจากตำแหน่งนายกฯ แล้วสภาผู้แทนราษฎรสมัยนั้นได้ลงมติตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาการเงินที่จอมพลผู้นั้นจ่ายไปกรรมาธิการพิจารณาแล้ว สภาฯ ได้แจ้งผลการพิจารณาให้รัฐบาลควงสมัยนั้นรับไปดำเนินการเรื่องค้างอยู่จนเสร็จสงครามก็ไม่จัดการต่อมาถึงรัฐบาลทวีฯ อยู่ในตำแหน่งเพียง 17 วันก็ไม่มีเวลาพอจัดการ ต่อมารัฐบาลเสนีย์ฯ อยู่ในตำแหน่ง 4 เดือน 10 วันก็ไม่มีเวลาพอจัดการ ต่อมามีรัฐบาลควงครั้งที่ 2 อยู่ในตำแหน่ง 1 เดือน 23 วัน ก็ไม่มีเวลาพอจัดการ ต่อมาข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งเพียง 3 เดือน 28 วัน ก็ได้มอบสำนวนให้อธิบดีกรมตำรวจพิจารณาว่ามีหลักฐานหรือไม่ แต่ก็ยังไม่ทันได้รับรายงานจากกรมตำรวจ ข้าพเจ้าต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2490 ก็มิได้ดำเนินเรื่องต่อไปให้ได้ความว่ามีหลักฐานหรือไม่

(3) เมื่อมีผู้โฆษณาว่าสมาชิกเสรีไทยบางหน่วยใช้เงินของรัฐโดยไม่สุจริต ข้าพเจ้าได้เสนอสภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญสอบสวนเงินค่าใช้จ่ายของขบวนเสรีไทย คณะกรรมาธิการประกอบด้วยท่านผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมเป็นที่รับรองในวงการศาลคือ

1) พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี อดีตอธิบดีศาลฎีกาและอดีตเสนาบดีกับอดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม

2) พระยานลราชสุวัจน์ อดีตอธิบดีหลายศาลและอดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม

3) พระยาวิกรมรัตนสุภาษ อดีตอธิบดีศาลฎีกา

4) พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ อดีตอธิบดีศาลอาญา อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม

5) นายพิชาญ บุลยง (เรอเน กียอง) ที่ปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกา

เมื่อคณะกรรมการพิจารณาหลักฐานรวมทั้งการบัญชีถี่ถ้วนแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าสมาชิกเสรีไทยบริสุทธิ์ในการใช้จ่ายเงินของรัฐเพื่องานกอบกู้เอกราชของชาติ (รายงานนี้นายดิเรก ชัยนาม ได้พิมพ์ต่อท้ายในหนังสือที่ผู้นี้แต่งขึ้นแล้ว และข้าพเจ้าจะพิมพ์ไว้ในหนังสือ “โมฆสงคราม” อีกด้วย)

ค. ท่านรองนายกฯ ยังคงจำได้ว่าเมื่อท่านได้รับเลือกตั้งโดยองค์การเลือกตั้งของราษฎรให้ท่านเป็นพฤฒสมาชิกเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2489 โดยฝ่ายที่เริ่มดำริทำบัญชีชื่อ “ลิสท์” ผู้สมัครในนามประชาธิปัตย์ขึ้นเพื่อหวังเอาชนะแบบ “กินรวบ” ทั้ง 80 ตำแหน่งได้พ่ายแพ้มาเป็น “แพ้รวบ” ต่อฝ่ายแนวร่วมคือสหชีพ, แนวรัฐธรรมนูญ, อิสระ ซึ่งเดิมนั้นพรรคทั้งสามนี้ก็ให้แต่ละพรรคเสนอผู้สมัครแยกย้ายกัน แต่เมื่อสมาชิกประชาธิปัตย์คนหนึ่งนำความลับมาแจ้งแก่บุคคลหนึ่งว่าพรรคประชาธิปัตย์คิด “กินรวบ” เพราะหวังดึงสมาชิกของพรรคอื่นมาร่วมด้วยได้อันจะทำให้คะแนนประชาธิปัตย์ชนะคะแนนของแต่ละพรรคได้เช่นนั้นแล้ว พรรคทั้งสามจึงจำต้องทำแนวร่วมกันส่งผู้สมัคร 80 คนร่วมกันด้วยประนีประนอมระหว่างกันอันเป็นผลให้คะแนนของฝ่ายแนวร่วมสามพรรคเหนือฝ่ายประชาธิปัตย์ความพ่ายแพ้ของฝ่ายประชาธิปัตย์ก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างมาก จึงมีผู้โฆษณาหลอกเด็กตลอดมาจนปัจจุบัน ว่าการเลือกตั้งพฤฒสมาชิกครั้งนั้นเป็นการเล่นพรรคเล่นพวกซึ่งเป็นพวกข้าพเจ้าทั้งสิ้น ท่านรองนายกฯ ย่อมรู้ว่าข้าพเจ้ามิใช่หัวหน้าพรรคใด แต่ละพรรคก็มีหัวหน้าโดยเฉพาะ และเมื่อเลือกตั้งแบบพรรคแล้วก็เป็นธรรมดาที่พรรคใดได้คะแนนน้อยก็ต้อง “แพ้รวบ” ทั้งบัญชีชื่อ ท่านรองนายกฯ ย่อมเป็นสักขีได้ดีว่าการเลือกตั้งพฤษฒสมาชิกครั้งนั้นบริสุทธิ์

เมื่อการเลือกตั้งเสร็จไปเพียง 16 วันเท่านั้นคือวันที่ 9 มิถุนายน รัชกาลที่ 8 ได้สวรรคต ผู้ที่ไม่มีจิตใจนักกีฬาทางการเมืองได้ถือเอาการสวรรคตนั้นเป็นเครื่องโจมตีใส่ร้ายข้าพเจ้าทั้งทางสิ่งพิมพ์เลวและที่พวกเขาเรียกว่า “หนังสือพิมพ์ปาก” พร้อมทั้งให้คนร้องตะโกนที่โรงภาพยนต์ว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” และร่วมมือกับคณะรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 และโฆษณาใส่ร้ายข้าพเจ้าตลอดมาจนกระทั่งข้าพเจ้ามาอยู่ในฝรั่งเศสเมื่อ 2513 แล้ว สยามรัฐกับพวกก็ลงข้อความใส่ร้ายข้าพเจ้าอีกข้าพเจ้าจึงจำต้องมอบให้นายวิชา กันตามระ เป็นตัวแทนฟ้อง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์กับพวกต่อศาลซึ่งในที่สุดจำเลยยอมขอขมา ดังปรากฏในหนังสือที่นายเปรื่อง ศิริภัทร์ อดีตผู้ถวายพระอักษรภาษาไทยรัชกาลที่ 8 ได้รวบรวมสำนวนศาลพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มแล้ว ต่อมาภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคมก็มีนักเขียนประจำสยามรัฐบางคนเขียนสาปแช่งคนมีอายุที่อยู่ในต่างประเทศเวลานี้หาว่าไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตรย์จะต้องตายในต่างประเทศอย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ตามพฤติการณ์ดังกล่าวมาแล้วย่อมแสดงว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์ซึ่งนายควงเป็นนายกรัฐมนตรี และ ม.ร.ว.เสนีย์ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2490 นั้น ย่อมไม่มีความปรานีแก่ข้าพเจ้าที่พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ถ้าหากมีการโกงในสมัยข้าพเจ้าเพราะการโกงโดยทุจริตของบุคคลใดที่เป็นพนักงานหรือผู้แทนต้องระวางโทษจำคุกกว่า 10 ปี หรืออาจถึงจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตอายุความระหว่าง 10 ถึง 20 ปี ข้าพเจ้าพ้นจากตำแหน่งนายกฯ 22 ส.ค. 2489 พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ 8 พ.ย. 2490 ถ้ามีการโกงในสมัยข้าพเจ้าและพล.ร.ต.ถวัลย์ฯ คดีก็ยังไม่ขาดอายุความ ขณะที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ดำรงหน้าที่ เหตุใดรัฐบาลประชาธิปัตย์นั้นจึงไม่ดำเนินตามกฎหมาย แม้ข้าพเจ้าจะไม่อยู่ในประเทศไทย แต่ผู้แทนที่ถูกหาว่าโกงต่างๆ รวมทั้งโกงจอบโกงเสียมก็ยังอยู่ในประเทศไทย รัฐบาลก็ดำเนินคดีได้โดยเฉพาะรัฐบาลนั้นก็มีนักกฎหมายลือชื่อร่วมในคณะรัฐบาลนั้น และในคณะรัฐบาลต่อมารวมทั้งในคณะของจอมพลสฤษดิ์ ถนอม ประภาส เช่น

พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ พี่ชายนายเล็ก จุณนานนท์ อัยการคดีสวรรคต  พระดุลยพากย์สุวมันฑ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกาคดีสวรรคตที่ยังมีชีวิตเหลืออยู่คนเดียว และยังมีพระพินิจชนคดี กับหลวงแผ้วพาลชนผู้สามารถทำสำนวนคดีสวรรคต

3. เท่าที่ข้าพเจ้าสดับตรับฟังข่าวที่ได้มาทางหนังสือหลายฉบับ ไม่ปรากฏว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญผู้ใดได้แถลงถึงความจัดเจนของตนว่า จากสถิติผู้มีสิทธิออกเสียงได้มาลงคะแนนร้อยละเท่าใด โดยจำแนกเป็นจังหวัดรวมเขต, จังหวัดแบ่งเขตและจังหวัดมีพลเมืองน้อยที่มีผู้แทนได้คนเดียว ซึ่งตามวิชาสถิติให้อนุโลมเสมือนเลือกตั้งในเขตที่ถ้ามีการแบ่งเขตก็เป็นการเลือกตั้งในเขตหนึ่งๆ นั้น มีผู้มาลงคะแนนร้อยละเท่าใด เพื่ออาศัยเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าราษฎรพอใจในระบบใดมากกว่ากัน

ข้าพเจ้าได้ยินแต่อ้างว่าตนเองเป็นผู้แทนปวงชน ส่วนคนอื่นไม่ใช่ ข้าพเจ้าจึงขอร้องท่านรองนายกฯ และท่านรัฐมนตรีที่มีพื้นทางวิทยาศาสตร์และทางคำนวณโปรดพิจารณาสถิติเป็นรายจังหวัดด้วย ขณะนี้ข้าพเจ้ามีแต่หนังสือรายงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของกระทรวงมหาดไทยเล่ม 2 (เล่มต่อๆ มายังไม่ได้รับ) แต่เห็นว่าสถิติการลงคะแนนเลือกตั้งรายจังหวัดเมื่อ 16 ธ.ค. 2500 ในหนังสือเล่มนั้นพอใช้เป็นพื้นฐานได้ เพราะการเลือกตั้งครั้งนั้นทั้งพรรคสหภูมิฝ่ายรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายค้านสำคัญรับรองว่าเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ที่จัดให้มีขึ้นภายหลังที่จอมพล ป. ถูกให้ออกแล้ว และโดยเฉพาะท่านรองนายกฯ ก็ได้สมัครที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนการเลือกตั้งต่อๆ มานั้น พรรคฝ่ายค้านสำคัญก็โต้แย้งว่าไม่บริสุทธิ์ ข้าพเจ้าจึงไม่ขอใช้สถิติการเลือกตั้งนั้นเป็นบรรทัดฐาน ข้าพเจ้าได้อัดสำเนาภาพจากหนังสือนั้นแนบมาพร้อมจดหมายนี้ (เอกสารหมายเลข 2) ในช่องหมายเหตุข้าพเจ้าได้เขียนจำนวน ที่แต่ละจังหวัดมีผู้แทนได้ ข้าพเจ้าได้จัดลำดับเพื่อแสดงว่าการเลือกตั้งประเภทรวมเขตจังหวัดนั้นจังหวัดใดบ้างที่มีผู้ลงคะแนนร้อยละเท่าใด และจังหวัดที่มีผู้แทนได้คนเดียวซึ่งตามวิชาสถิติถือว่าอนุโลมเปรียบเสมือนแบ่งเขตภายในจำนวนพลเมืองที่เขตหนึ่งๆ มีผู้แทนได้

ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นประชามติดียิ่งกว่าสำรวจแบบที่อังกฤษเรียกว่า “Poll” จึงขอให้รัฐบาลและมวลราษฎรวินิจฉัยว่าผู้มีสิทธิออกเสียงพอใจลงคะแนนเลือกผู้แทนวิธีใดมากกว่าวิธีอื่น ส่วนการอภิปรายโดยไม่ใช้ความคิดเยี่ยงนักวิทยาศาสตร์นั้นนำไปสู่ความคิดที่ทางปรัชญาเรียกว่า “subjectivism” หรือแปลเป็นไทยว่า “อัตวิสัย” คือนึกคิดเดาๆ เอาเอง ซึ่งมิใช่สัจจะทาง “objectivism” หรือแปลเป็นไทยว่า “ภววิสัย”

ร้อยละของผู้มีสิทธิออกเสียงที่ลงคะแนนในการเลือกตั้งวิธีรวมเขตจังหวัด เมื่อ 15 ธ.ค. 2500 ทุกจังหวัดที่มีผู้แทน 9 คน, 7 คน, 5 คน, 4 คน มีผู้ลงคะแนนไม่ถึงร้อยละ 50 ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง

ลำดับที่ จังหวัด ผู้แทน (คน) ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงร้อยละ
1 พระนคร 9 33.96
2 อุบลราชธานี 7 41.17
3 นครราชสีมา 6 38.08
4 เชียงใหม่ 5 49.66
5 เชียงราย 5 41.32
6 ขอนแก่น 5 34.14
7 นครศรีธรรมราช 4 31.01
8 นครสวรรค์ 4 33.62
9 ร้อยเอ็ด 4 40.26
10 ศรีษะเกษ 4 41.84
11 อุดรธานี 4 30.22

 

ท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ย่อมทราบว่า ตามหลักการให้คะแนนสอบไล่ถือว่าผู้ใดได้คะแนนร้อยละ 30 อยู่ในขั้น “เลว”

 

ข. ในบรรดา 13 จังหวัดที่มีผู้แทน 3 คนนั้น 2 จังหวัดเท่านั้นที่มีผู้ลงคะแนนเกินกว่าร้อยละ 50 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง อีก 11 จังหวัดต่ำกว่าร้อยละ 50 คือ

(1) จังหวัดนครพนม ร้อยละ 64.98

(2) จังหวัดราชบุรี ร้อยละ 50.56

อีก 11 จังหวัดต่ำกว่าร้อยละ 50 คือ

ลำดับที่ จังหวัด ผู้แทน (คน) ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงร้อยละ
1 ธนบุรี 3 43.35
2 กาฬสินธิ์ 3 48.13
3 ชัยภูมิ 3 49.64
4 บุรีรัมย์ 3 41.12
5 พระนครศรีอยุธยา 3 49.34
6 มหาสารคาม 3 44.76
7 ลำปาง 3 45.53
8 สกลนคร 3 35.85
9 สงขลา 3 43.30
10 สุพรรณบุรี 3 35.59
11 สุรินทร์ 3 36.74

 

ค. ในบรรดา 17 จังหวัดที่มีผู้แทน 2 คนนั้น 6 จังหวัดเท่านั้นที่มีผู้ลงคะแนนเกินกว่าร้อยละ 50 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง คือ

 

ลำดับที่ จังหวัด ผู้แทน (คน) ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงร้อยละ
1 เพชรบุรี 2 55.47
2 แพร่ 2 53.92
3 นครปฐม 2 53.10
4 ฉะเชิงเทรา 2 51.58
5 ราชบุรี 2 50.56
6 สุโขทัย 2 50.47

 

อีก 11 จังหวัดต่ำกว่าร้อยละ 50 คือ

 

ลำดับที่ จังหวัด ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงร้อยละ
1 ชลบุรี 46.49
2 ปราจีนบุรี 49.99
3 ปัตตานี 46.50
4 พัทลุง 49.56
5 พิจิตร 38.84
6 นราธิวาส 35.28
7 พิษณุโลก 48.84
8 เพชรบูรณ์ 47.36
9 ลพบุรี 47.17
10 ลำพูน 45.55
11 สระบุรี 48.75

ง. ในบรรดา 30 จังหวัดที่มีผู้แทน 1 คน เปรียบเหมือนแบ่งเขตโดยเขตหนึ่งเลือกผู้แทนได้คนเดียวนั้น 15 จังหวัดมีผู้ลงคะแนนเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง และถ้าคิดตามการให้คะแนนสอบไล่ มีบางจังหวัดได้เกียรตินิยม “ดีมาก” และหลายจังหวัดได้เกียรตินิยม “ดี” คือ

ลำดับที่ จังหวัด ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงร้อยละ
1 ระนอง 72.83 (ดีมาก)
2 ภูเก็ต 67.66
3 ตราด 63.15
4 จันทบุรี 62.73
5 อุทัยธานี 59.97
6 ระยอง 57.36
7 กระบี่ 57.96
8 ปทุมธานี 57.21
9 ชุมพร 56.43
10 กำแพงเพชร 54.70
11 พังงา 54.50
12 กาญจนบุรี 53.03
13 น่าน 51.91
14 สมุทรสาคร 51.64
15 สิงห์บุรี 50.20

 

จังหวัดที่มีผู้แทนคนเดียวและมีผู้ลงคะแนนน้อยกว่าร้อยละ 50 คือ

 

ลำดับที่ จังหวัด ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงร้อยละ
1 พัทลุง 49.56
2 สมุทรสงคราม 48.16
3 นครนายก 48.11
4 นนทบุรี 48.04
5 แม่ฮ่องสอน 47.72
6 อ่างทอง 45.23
7 สมุทรปราการ 45.62
8 ตรัง 44.06
9 ยะลา 42.52
10 หนองคาย 42.07
11 ประจวบคีรีขันธ์ 41.15
12 สตูล 40.64
13 เลย 39.19
14 ตาก 38.39
15 ชัยนาท 37.63

 

ขอให้พึงสังเกตว่าจังหวัดที่มีผู้แทนคนเดียวเปรียบเหมือนแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 เขตต่อผู้แทน 1 คนนั้นมีเพียง 3 จังหวัดเท่านั้นที่มีผู้ออกเสียงร้อยละ 30 เศษของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง แม้กระนั้นจังหวัดชัยนาทที่ได้ร้อยละ 37.63 ซึ่งถือว่าได้คะแนนต่ำที่สุด แต่ก็สูงกว่าจังหวัดที่มีการเลือกตั้งแบบรวมเขตคือพระนครได้เพียงร้อยละ 33.96, ขอนแก่นร้อยละ 34.14, นครศรีธรรมราชร้อยละ 31.01 นครสวรรค์ร้อยละ 33.62 อุดรธานีร้อยละ 30.22, สกลนครร้อยละ 35.85, สุพรรณบุรีร้อยละ 35.49, สุรินทร์ร้อยละ 36.74, นราธิวาสร้อยละ 35.28

 

ส่วนจังหวัดรวมเขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนได้จังหวัดละ 9 คน, 7 คน, 6 คน, 5 คน, 4 คน, 3 คน, 2 คนนั้นมีถึง 11 จังหวัดที่ได้คะแนนร้อยละ 30 เศษ ตามการให้คะแนนสอบไล่ให้เกียรตินิยม “เลว” คือสอบไล่ตกถึงขนาดที่บางมหาวิทยาลัยในต่างประเทศไม่ยอมให้มีการสอบแก้ตัว ต้องเรียนซ้ำชั้นและถ้าตกอีกครั้งหนึ่งรวมเป็นตกได้คะแนน “เลว” ซ้ำกัน 2 ครั้งก็ต้องถูกคัดชื่อออกจากมหาวิทยาลัย ถ้านำหลักนั้นมาประยุกต์แก่วิธีเลือกตั้งแบบรวมเขตในประเทศไทยแล้วก็ควรถือว่าวิธีรวมเขตต้องถูกคัดออกจากระบบเลือกตั้งในประเทศไทยแล้ว

4. ท่านรองนายกฯ และท่านรัฐมนตรีที่ใช้ความคิดทางวิทยาศาสตร์และอาศัยคำนวณทางสถิติ เป็นหลักย่อมเห็นได้ว่าสรุปยอดของผู้มีสิทธิออกเสียงมาลงคะแนนเมื่อ 15 ธ.ค. 2500 (ทุกฝ่ายรับว่าบริสุทธิ์) ซึ่งกระทรวงมหาดไทยถัวเฉลี่ยทั่วราชอาณาจักรว่าร้อยละ 44.06 นั้น ก็เป็นธรรมดาที่คะแนนของจังหวัดที่มีผู้แทนคนเดียวถูกเฉือนไปคละเคล้ากับจังหวัดใหญ่ที่มีร้อยละน้อยกว่า แม้กระนั้นก็ปรากฏว่า 18 จังหวัดที่มีผู้แทนตั้งแต่ 2 คนถึง 9 คน เลือกตั้งโดยวิธีรวมเขตได้คะแนนต่ำกว่าส่วนถัวเฉลี่ย 40.06 นั้น ส่วนจังหวัดที่มีผู้แทนคนเดียวเปรียบเสมือนการเลือกตั้งแบ่งเขตนั้น 3 จังหวัดเท่านั้นที่ได้คะแนนต่ำกว่าส่วนถัวเฉลี่ยนั้น

ฉะนั้นวิญญูชนย่อมเห็นได้ว่าถ้ารัฐบาลและสภานิติบัญญัติลงมติขั้นสุดท้ายให้ใช้วิธีรวมเขตในการเลือกตั้งแล้ว มวลราษฎรคนไทยก็จะได้สิ่งที่เรียกกันว่าของขวัญปีใหม่หรือเทศกาลใดนั้นที่ตรงกับความประสงค์ของผู้ที่เริ่มวิธีรวมเขตตั้งแต่ 2490 เป็นต้นมา คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม, จอมพลถนอม, จอมพลประภาส, พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งรวมทั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ฯ และสยามรัฐที่เรียกร้องวิธีรวมเขตนี้สืบต่อๆ มาด้วย อันเป็นการขัดต่อประชามติที่ราษฎรได้แสดงโดยตรงและโดยปริยายในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2500 ซึ่งทุกพรรคทุกฝ่ายรับรองว่าเป็นการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยิ่งกว่าครั้งใดๆ นับตั้งแต่ใช้วิธีรวมเขต

ผลที่ได้รับในทางปฏิบัติจากวิธีรวมเขตนั้นก็ไม่เหลือวิสัยที่สามัญชนจะคาดการณ์ได้ คืออาจเป็นพรรคหนึ่งพรรคใดที่เคยสังกัดจอมพลทั้งสามหรือพรรคประชาธิปัตย์ที่จะมีโอกาสดีกว่าพรรคอื่นและผู้สมัครอิสระ (หากไม่บังคับให้สังกัดพรรค) ในการชนะแบบ “กินรวบ” ในจังหวัดพระนครซึ่งมีผู้ใช้สิทธิ์ออกเสียงเพียงร้อยละ 33.96 ต่ำกว่าส่วนถัวเฉลี่ยตามสถิติที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้ว ในบางครั้งพรรคประชาธิปัตย์ก็เกื้อกูลแก่ผู้เคยสังกัดเสรีมนังคศิลาของจอมพลพิบูลฯ เช่นในการเลือกตั้ง 15 ธ.ค. 2500 ซึ่งจังหวัดพระนครมีผู้แทนได้ 9 คน นั้นพรรคประชาธิปัตย์ได้ 8 ที่นั่ง พล.อ.เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ ซึ่งเคยสังกัดเสรีมนังคศิลาได้ 1 ที่นั่งต่อจากบัญชีชื่อของประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ฝ่ายประชาธิปัตย์ก็แถลงเองว่าพลเอกผู้นี้เป็นคนดี ฝ่ายประชาธิปัตย์จึงไม่กีดกัน ผลก็คือประชาธิปัตย์ชนะแบบ “กินรวบ” ในจังหวัดพระนคร โดยมีสมาชิกฝ่ายตน 8 ที่นั่ง และผู้เป็นแนวร่วมของประชาธิปัตย์ 1 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งเมื่อ 10 ก.พ. 2512 พรรคประชาธิปัตย์ชนะแบบ “กินรวบ” 15 ที่นั่งครบอัตราที่จังหวัดพระนครมีผู้แทนได้

5. ข้าพเจ้าขอสนับสนุนให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลตั้งขึ้นแล้วนี้คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป แต่ขอเสนอรัฐบาลว่าให้ตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมขึ้นอีกให้ได้ส่วนสัดที่เป็นธรรมตามอาชีพของปวงชนชาวไทย โดยอาศัยสถิติของทางราชการที่ได้พิมพ์เผยแพร่แล้ว เพราะนักสถิตินั้นได้สำรวจทำขึ้นตามข้อเท็จจริงและตามหลักวิชาสถิติโดยไม่อยู่ใต้อิทธิพลของลัทธิการเมืองใด จึงย่อมเป็นสถิติที่ควรเชื่อได้ยิ่งกว่าที่พูดๆ กันโดยอัตวิสัย ส่วนกรรมการที่ตั้งไว้แล้วนั้นก็ขอให้รัฐบาลพิจารณาว่าผู้ใดเข้าลักษณะแทนอาชีพใด ถ้าไม่ทราบว่าเป็นตัวแทนอาชีพใดก็จัดเข้าอยู่ในประเภทที่หนังสือสถิติของทางราชการจัดไว้เป็นประเภท

“อาชีพที่จัดจำแนกเข้าประเภทใดไม่ได้หรือไม่ทราบ” (ซึ่งหนังสือสถิติรวมยอดประเภทนี้ไว้ว่ามีจำนวนที่เป็นชาย 84,848 คน หญิง 14,471 คน) ครั้นแล้วขอให้รัฐบาลคิดตามส่วนของอาชีพต่างๆ ตามสถิติทางราชการว่าชายและหญิงอาชีพใดควรมีตัวแทนในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกี่คน เช่น หนังสือสถิติแจ้งว่า ชายประเภทอาชีพเกษตรกร ชาวประมง นักล่าสัตว์ และคนงานป่าไม้มีจำนวน 5,574,571 คน ซึ่งจำแนกเป็นนายจ้าง 15,793 คน ธุรกิจส่วนตัว 2,942,557 คน ฯลฯ ส่วนชายอาชีพนักรัฐประศาสนศาสตร์และผู้จัดการนั้นตามสถิติรวมยอดว่ามี 23,643 คน ฯลฯ ดังนั้นขอให้เพิ่มจำนวนตัวแทนของชายเกษตรกรให้มากกว่านักรัฐประศาสนศาสตร์ ความเป็นธรรมภายในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงจะมีขึ้นซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรและอาชีพต่างๆ รวมทั้งประเภทเป็นกรรมกร และลูกจ้างยอมรับว่ารัฐธรรมนูญนั้นได้ร่างและลงมติในที่ประชุมคณะกรรมการตามส่วนสัดที่เป็นธรรมตามอาชีพของตน

ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกอาชีพย่อมมีนักวิชาการของตนและมีปัญญาพอวินิจฉัยได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญใดเป็นประโยชน์แก่อาชีพของตนและแก่ส่วนรวมของชาติ ข้าพเจ้าได้เคยชี้แจงแก่นักเรียนไทยในอังกฤษในการชุมนุมที่สมาคมนั้นเรียกว่า “สภากาแฟ” ซึ่งดำเนินไปเมื่อวันที่ 26 และ 27 ก.ค. 2516 นั้นขอให้นักเรียนทุกคนซึ่งมีความรู้ทางทฤษฎีสูงเพียงใดก็ตาม จงอย่าประมาทปัญญาของมวลราษฎรที่แม้จะอ่านหนังสือไม่ออกแต่มีความสันทัดจัดเจนในทางปฏิบัติ ซึ่งนักเรียนควรศึกษาเพราะมีหลายปัญหาที่ตำราทางทฤษฎีไม่กล่าวไว้ แต่เราสามารถศึกษาได้จากมวลราษฎร

เพื่อประกอบการพิจารณาของรัฐบาลและมวลราษฎร ข้าพเจ้าได้คัดสถิติของทางราชการเพื่อเสนอท่านทั้งหลายดั่งต่อไปนี้

จำนวนประชากรอายุ 11 ปีขึ้นไปที่กระทำงานเชิงเศรษฐกิจ จำแนกตามประเภทอาชีพสถานภาพในการทำงานและเพศ พ.ศ. 2503 (คัดจากสมุดสถิติรายปีประเทศไทย บรรพ 28 พ.ศ. 2510 - 2512 หน้า 59-60)

ก. รวมยอด

13,772,104 = นายจ้าง 43,600, ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว 4,084,792, ลูกจ้างรัฐบาลและเทศบาล 489,452, ลูกจ้างอื่นๆ 1,143,234, ผู้ทำธุรกิจให้แก่ครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง 7,982,836, ไม่ทราบสถานภาพ 28,190

ข.ชาย

(1) ผู้ปฏิบัติงานอาชีพ วิชาชีพ และอาชีพอื่นๆ ที่เกียวข้อง รวมยอด 114,941 = นายจ้าง 479, ธุรกิจส่วนตัว 9,200, ลูกจ้างรัฐบาลและเทศบาล 88,884, ลูกจ้างอื่นๆ 15,385, ธุรกิจให้แก่ครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง 957, ไม่ทราบสถานภาพ 36,

(2) นักรัฐประศาสนศาสตร์และผู้จัดการ รวมยอด 23,643 = นายจ้าง 5,406, ธุรกิจส่วนตัว 5,332, ลูกจ้างรัฐบาลและเทศบาล 8,316, ลูกจ้างอื่นๆ 4,516, ไม่ทราบสถานภาพ 13

(3) เสมียนพนักงาน รวมยอด 133,716 = ธุรกิจส่วนตัว 231, ลูกจ้างรัฐบาลและเทศบาล 108,021, ลูกจ้างอื่นๆ 25,145, ธุรกิจให้แก่ครอบครัว 239, ไม่ทราบสถานภาพ 80

(4) ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการค้า รวมยอด 325,254 = นายจ้าง 5,844, ธุรกิจส่วนตัว 198,714, ลูกจ้างรัฐบาลและเทศบาล 659, ลูกจ้างอื่นๆ 40,039, ธุรกิจให้แก่ครอบครัว 79,967, ไม่ทราบสถานภาพ 31

(5) เกษตรกร ชาวประมง นักล่าสัตว์ และคนงานป่าไม้ รวมยอด 5,574,571 = นายจ้าง 15,793, ธุรกิจส่วนตัว 2,942,557, ลูกจ้างรัฐบาลและเทศบาล 2,555, ลูกจ้างอื่นๆ 226,392, ธุรกิจให้แก่ครอบครัว 2,387,213 ไม่ทราบสถานภาพ 1,661

(6) คนทำเหมืองแร่ คนต่อยย่อยหิน รวมยอด 19,347 = นายจ้าง 211, ธุรกิจส่วนตัว 3,302 ลูกจ้างรัฐบาลและเทศบาล 356, ลูกจ้างอื่นๆ 13,631, ธุรกิจให้ครอบครัว 1,844

(7) ผู้ปฏิบัติงานอาชีพเกี่ยวกับการขนส่งและคมนาคม รวมยอด 138,145, นายจ้าง 1,245, ธุรกิจส่วนตัว 4,506, ไม่ทราบสถานภาพ 50

(8) ช่าง คนปฏิบัติงานในการผลิตและกรรมกร รวมยอด 539,837, = นายจ้าง 5,612, ธุรกิจส่วนตัว 95,936, ลูกจ้างรัฐบาลและเทศบาล 67,671, ลูกจ้างอื่นๆ 343,559, ธุรกิจให้ครอบครัว 26,828, ไม่ทราบสถานภาพ 231

(9) บริการ รวมยอด 152,310 = นายจ้าง 1,728, ธุรกิจส่วนตัว 37,051, ลูกจ้างรัฐบาลและเทศบาล 59,731, ลูกจ้างอื่นๆ 42,933, ธุรกิจให้ครอบครัว 10,831, ไม่ทราบสถานภาพ 36

(10) อาชีพที่จัดจำแนกเข้าประเภทใดไม่ได้หรือไม่ทราบ รวมยอด 84,848 = นายจ้าง 44, ธุรกิจส่วนตัว 454, ลูกจ้างรัฐบาลและเทศบาล 66,396, ลูกจ้างอื่นๆ 1,002, ธุรกิจให้แก่ครอบครัว 282, ไม่ทราบสถานภาพ 16,670

ค.หญิง

(1) ผู้ปฏิบัติงานอาชีพ วิชาชีพ และอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมยอด 59,019 นายจ้าง 168, ธุรกิจส่วนตัว 3,202, ลูกจ้างรัฐบาลและเทศบาล 39,948, ลูกจ้าง อื่นๆ 14,039, ธุรกิจให้แก่ครอบครัว 1,599, ไม่ทราบสถานภาพ 63

(2) นักรัฐประศาสนศาสตร์ และผู้จัดการ รวมยอด 2,548 นายจ้าง 865, ธุรกิจส่วนตัว 955, ลูกจ้างรัฐบาลและเทศบาล 352, ลูกจ้างอื่นๆ 369, ธุรกิจให้แก่ครอบครัว - ไม่ทราบสถานภาพ 7

(3) เสมียนพนักงาน รวมยอด 20,587 = ธุรกิจส่วนตัว 70, ลูกจ้างรัฐบาลและเทศบาล 14,744, ลูกจ้างอื่นๆ 5,538, ธุรกิจให้แก่ครอบครัว 201, ไม่ทราบสถานภาพ 34

(4) ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการค้า รวมยอด 410,203 = นายจ้าง 1,104 ธุรกิจส่วนตัว 161,554, ลูกจ้างรัฐบาลและเทศบาล 227, ลูกจ้างอื่นๆ 11,147, ธุรกิจให้แก่ครอบครัว 236,147, ไม่ทราบสถานภาพ 24

(5) เกษตรกร ชาวประมง นักล่าสัตว์และคนงานป่าไม้ รวมยอด 5,757,918, = นายจ้าง 3,502, ธุรกิจส่วนตัว 492,927, ลูกจ้างรัฐบาลและเทศบาล 290, ลูกจ้างอื่นๆ 122,592, ธุรกิจให้แก่ครอบครัว 5,138,557, ไม่ทราบสถานภาพ 50

(6) คนงานทำเหมืองแร่ คนต่อยย่อยหิน รวมยอด 6,908 = นายจ้าง 17, ธุรกิจส่วนตัว 1,295, ลูกจ้างรัฐบาลและเทศบาล, ลูกจ้างอื่นๆ 1,783, ธุรกิจให้แก่ครอบครัว 3,662, ไม่ทราบสถานภาพ 2

(7) ผู้ปฏิบัติงานอาชีพเกี่ยวกับการขนส่งและคมนาคม รวมยอด 6,465 = นายจ้าง 38, ธุรกิจส่วนตัว 1,018, ลูกจ้างรัฐบาลและเทศบาล 506, ลูกจ้างอื่นๆ 1,879, ธุรกิจให้แก่ครอบครัว 2,916,

(8) ช่างคนปฏิบัติงานในการผลิต และกรรมกร รวมยอด 256,368 = นายจ้าง 717, ธุรกิจส่วนตัว 58,535, ลูกจ้างรัฐบาลและเทศบาล 7,054, ลูกจ้างอื่นๆ 147,253, ธุรกิจให้แก่ครอบครัว 52,716, ไม่ทราบสถานภาพ 93

(9) บริการ รวมยอด 121,065 = นายจ้าง 736, ธุรกิจส่วนตัว 22,527, ลูกจ้างรัฐบาลและเทศบาล 2,249, ลูกจ้างอื่นๆ 62,058, ธุรกิจให้แก่ครอบครัว 33,472, ไม่ทราบสถานภาพ 23

(10) อาชีพที่จัดจำแนกเข้าประเภทใดไม่ได้หรือไม่ทราบ รวมยอด 14,411 = นายจ้าง 91, ธุรกิจส่วนตัว 683, ลูกจ้างรัฐบาลและเทศบาล 549, ลูกจ้างอื่นๆ 1,548, ธุรกิจให้แก่ครอบครัว 854, ไม่ทราบสถานภาพ 10,686

6. ข้าพเจ้าจึงหวังว่ารัฐบาลคงรู้สึกถึงความรับผิดชอบในการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งเพื่อให้ราษฎรทุกชนชั้นวรรณะและทุกชนชาติไทยได้มีตัวแทนตามสัดส่วนแห่งอาชีพในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และดำเนินการร่างที่ให้ความสะดวกเข้ามาต่อสู้อย่างสันติในรัฐสภาดีกว่าจะสร้างสิ่งกีดกันในทางกฎหมายและการปฏิบัติที่ปิดช่องให้ราษฎรส่วนมากไม่มีทางเลือกอย่างอื่นนอกจากวิธีต่อสู้นอกรัฐสภา

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(นายปรีดี พนมยงค์)
รัฐบุรุษอาวุโส

 

ภาคผนวก

ภาพจากชมรมอนุรักษ์ฟิล์มเก่า ฟิล์มกระจก

การปราศรัยหาเสียงของพรรคสหภูมิ ณ ท้องสนามหลวงเพื่อการเลือกตั้ง '15 ธันวาคม 2500'

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500

 

 

สถิติการลงคะแนนเลือกตั้งรายจังหวัดของการเลือกตั้ง '15 ธันวาคม 2500'

 

 

เอกสารอ้างอิง

  • ปรีดี พนมยงค์, “สาส์นถึงรองนายกรัฐมนตรี” ใน แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535), น. 110-124.